Shall We Dance (1937) : Mark Sandrich ♥♥♥♥
ผลงานลำดับที่ 7 ของคู่ขวัญ Fred Astaire กับ Ginger Rogers ครานี้มี George Gershwin มาทำเพลงให้, แต่เหมือนทั้งสองจะเริ่มเบื่อหน้ากันแล้ว (ผู้ชมก็ด้วย) มีเต้นคู่กันแค่ 2 เพลงครึ่ง กระนั้นนี่กลับเป็นเรื่องที่ผมชอบสุดของทั้งคู่
ไม่มีอะไรยืนยงในวงการมายา ต่อให้เป็นคู่ขาที่เข้ากันได้ดี เคยยิ่งใหญ่ขนาดไหน สักวันชื่อเสียงความสำเร็จก็ต้องร่วงโรยรา
Shall We Dance เป็นหนังที่ได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์ จัดเป็นอันดับ 3 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่สุดของคู่ขวัญ Fred Astaire กับ Ginger Rogers จากทั้งหมด 10 ครั้งที่ร่วมงานกัน (รองจาก Top Hat กับ Swing Time) ในช่วงระหว่างปี 1933-1939 มีผลงานร่วมกันถึง 9 เรื่อง ถือว่าเยอะนะครับ (แต่ก็สู้คู่ขวัญพระนางเมืองไทยไม่ได้หรอก อย่าง มิตร-เพชรา เคยได้ยินว่าช่วงโด่งดังสุดๆ แทบทุกสัปดาห์จะมีหนังใหม่เข้าฉาย) ร่วมงานกันหลายๆครั้งย่อมต้องเบื่อหน้ากันเป็นธรรมดา (แถมคู่นี้ไม่มีเรื่องชู้สาวกันด้วย ไม่น่าเชื่อเท่าไหร่) Rogers น่าจะเป็นฝ่ายตีตนออกห่างก่อน เพราะต้องการเล่นหนังแนวอื่นด้วย ผิดกับ Astaire ที่ยังคงยึดมั่นจะเล่นแต่หนังเพลง กระนั้นเธอก็ยังกลับมาถ้าเขาเป็นฝ่ายขอ จนเมื่อผู้สร้างเห็นว่าคู่นี้คงจบแล้ว จึงไม่ได้ร่วมงานกันอีก (จนสิบปีให้หลัง)
ปัญหาของหนังเรื่องนี้ที่ผู้ชมบ่นกันขรมคือ การเต้นคู่ของ Fred Astaire กับ Ginger Rogers มีน้อยเกินไป (เอาใจยากแหะ!) เมื่อเทียบกับผลงานก่อนหน้าที่อย่างน้อยจะต้องมี 3-4 เพลงขึ้นไป แต่หนังเรื่องนี้มีแค่ 2 เพลงเต็มกับอีกนิดหน่อย ส่วนใหญ่จะเป็น One-Man-Show ของ Astaire และตอนจบแทนที่จะได้เต้นกันยาวๆปิดท้าย กลับลีลาใส่หน้ากาก และมีเต้นคู่กันจริงๆแค่ครึ่งเพลง แบบนี้ไม่เต็มอิ่ม ไม่เห็นเหมือนดั่งชื่อหนัง Shall We Dance สักนิดเดียว
แต่ถ้าคุณไม่ได้ตามติดหนังของคู่ขวัญพระนางนี้บ่อยนัก อาจสามารถมองข้ามข้อเสียที่ผมว่ามานี้ได้ เห็นว่าเป็นหนังที่มีความลงตัว มีมุกตลกขบขัน โดดเด่นกว่ายิ่งกว่า Top Hat หรือ Swing Time เสียอีกอีก และการเต้น Tab Dance ด้วย Roller Skates เป็นอะไรที่บ้าบอ อันตราย หวาดเสียวสุดๆเลย
Mark Sandrich หลังทำหนังกับ Astaire และ Rogers มาสามเรื่องติด The Gay Divorcee (1934), Top Hat (1935), Follow the Fleet (1936) แวบหนีไปสร้าง A Woman Rebels (1936) ให้กับ Katharine Hepburn (ทำให้เธอ Flop เรื่องที่สามติดกันจนการันตีฉายา Boxoffice Poison) กลับมาร่วมงานครั้งที่ 4 กับ Shall We Dance เป็นชื่อหนังที่ได้รับคำแนะนำจาก Vincente Minnelli (ที่ตอนนั้นยังไม่ดังเท่าไหร่) ในตอนแรกคือ Shall We Dance? มีเครื่องหมายคำถามต่อท้ายด้วย แต่ไม่มีใครรู้ทำไมเจ้าเครื่องหมายปริศนาถึงหายไป
พล็อตหนังได้แรงบันดาลใจมาจากละครเพลง Broadway เรื่อง On Your Toes (1936) ของ Richard Rodgers กับ Lorenz Hart (Hart คือคู่หูแรกของ Rodgers หลังจากเสียชีวิต ได้คู่ใหม่คือ Oscar Hammerstein II กลายเป็น Rodgers and Hammerstein ตำนานแห่ง Broadway) เป็นเรื่องราวของนักเต้นอเมริกันที่จับพลัดจับพลูไปเกี่ยวข้องกับวงบัลเล่ต์ของรัสเซีย (แต่ RKO ไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์นี้มานะครับ คิดเรื่องราวขึ้นใหม่เลย)
George Gershwin คีตกวี นักดนตรีสัญชาติอเมริกา กับพี่ชาย Ira Gershwin สองพี่น้องเป็นนักแต่งเพลงชื่อดัง แต่คนน้องจะมีชื่อเสียงกว่า (เพราะเป็นคนแต่งทำนอง ส่วนพี่แต่งเนื้อร้อง) บอกชื่อผลงานเพลงไปเชื่อว่าหลายคนอาจรู้จักแน่ อาทิ Rhapsody in Blue, An American in Paris, โอเปร่าเรื่อง Porgy and Bess ฯ นี่เป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องที่สองของทั้งคู่ถัดจาก Delicious (1931) ที่นำแสดงโดย Janet Gaynor, Charles Farrell และ Virginia Cherrill
Fred Astaire รู้จักกับสองพี่น้อง Gershwin มาตั้งแต่เป็นนักแสดง Broadway ร่วมกับพี่สาว Adele เคยแสดงในละครเพลงของพวกเขา 2 เรื่องคือ Lady Be Good! (1924) กับ Funny Face (1927), เช่นกันกับ Ginger Rogers ที่เคยได้แสดงละครเพลงของพวกเขาเรื่อง Girl Crazy (1930) จนทำให้มีแมวมองพาเข้าวงการ Hollywood
สไตล์เพลงของ Gershwin ขึ้นเชื่อเรื่องการผสมผสาน Jazz เข้ากับเพลงคลาสสิก, สำหรับหนังเรื่องนี้ ได้ประพันธ์แต่ละเพลงให้มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพื่อเข้ากับรูปแบบการเต้นที่หลากหลาย เห็นว่ามีจำนวนกว่า 50 บทเพลงที่เขียนขึ้น แต่ใช้จริงแค่ 10 กว่าเพลงเท่านั้น แถมโชคไม่ดีมีไม่กี่บทเพลงที่ยังหลงเหลือถึงปัจจุบัน
Slap That Bass: ในห้องเครื่องของเรือ ร่วมกับนักดนตรีผิวสี (African-American) Dudley Dickerson ร้องท่อนแรกนำ จากนั้น Fred Astaire ร้องเล่นเต้นฉายเดี่ยว, ออกแบบฉากได้แรงบันดาลใจจากงานศิลปะ Art Deco ขณะร้องเล่นเต้นจะเห็นเงาของเครื่องจักรเคลื่อนไหว พร้อมเพียงกับเสียง(เครื่องจักร) ประสานเป็นจังหวะได้ลงตัว
เกร็ด: ชื่อเพลงคือสไตล์การเล่น Double Bass ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงเวลานั้น
ผมเพิ่งมาเอะใจตอนดูเพลงนี้อีกรอบ ไม่คิดมาก่อนว่าหนังของ Astaire จะแฝงประเด็น Racist อยู่ด้วย คือเขาเป็นคนเดียวในกลุ่มที่เป็นคนผิวขาว ที่ขณะเต้นจะเดินขึ้นบันไดอยู่สูงกว่าคนอื่น, และถ้าสังเกตเครื่องจักรที่เป็นสีขาว มีนัยยะถึง คนผิวสีต้องเป็นผู้ดูแลคนผิวขาว (ดูแลเครื่องจักรให้ทำงาน)
They All Laughed: ขับร้องโดย Ginger Rogers นี่เป็นบทเพลงสอนประวัติศาสตร์โลก ผู้คนชอบที่จะหัวเราะเยอะผู้อื่น Christopher Columbus, Thomas Edison ล้วนเคยถูกหัวเราะเยาะมาแล้วทั้งนั้น แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ‘Who’s got the last laugh now?’
จบเพลงร้อง พิธีกรเชิญ Fred Astaire ขึ้นมาเต้น ตอนแรกจะหมุนๆเลียนแบบท่าเต้นบัลเล่ต์ของรัสเซีย แต่ก็ทำได้ไม่นานกลับมาเต้น Tab Dance
ชุดของ Rogers ตอนเต้นเพลงนี้ เวลาหมุนตัวพริ้วไหวได้ลายตางดงามดั่งดอกไม้ ผมรู้สึกว่าสวยที่สุดตั้งแต่ที่เคยเห็นมา (แน่นอนสวยกว่าชุดขนนกใน Top Hat เป็นไหนๆ)
Let’s Call the Whole Thing Off: ขับร้องโดย Fred Astaire กับ Ginger Rogers, เป็นเพลงเชิงเสียดสี แซวการออกเสียงตามสำเนียงภาษาอังกฤษที่มีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค จะโทเมโท้ หรือ โตมาโต้ มันก็ Tomato เหมือนกัน จะเถียงกันไปทำไม Let’s Call the Whole Thing Off
เพลงนี้ติดอันดับ 34 ของ AFI’s 100 Years… 100 Songs
สำเนียงที่ต่างกัน ไม่ได้มีนัยยะแค่ความแตกต่างทางภูมิภาคเท่านั้น แต่รวมถึงระดับชนชั้นในสังคม (แบบเดียวกับ My Fair Lady) เสียงพูดสามารถใช้แบ่งแยกคนชั้นสูงกับคนชั้นต่ำออกจากกันได้ (สมัยนี้คงไม่เท่าไหร่แล้วกระมัง แต่สมัยก่อนนี่ชัดเลยละ)
เนื่องจากผมไม่อยากสปอยฉากเต้นไฮไลท์ Roller Skates ที่เกิดขึ้นหลังจบเพลงนี้ จึงเอาฉบับขับร้องโดย Ella Fitzgerald กับ Louis Armstrong ในอัลบัม Ella and Louis (1957) พร้อมคลิปที่สอนวิธีการออกเสียง มาให้รับชม
They Can’t Take That Away from Me: เพลงจังหวะ Foxtrot ที่เป็นการประกาศความรักของพระเอกต่อนางเอก ขับร้องโดย Fred Astaire, นี่เป็นเพลงโปรดของ George Gershwin ที่ตอนแรกตั้งใจพอจบคำร้องจะมีการเต้นคู่ด้วยกันต่อ แต่ไม่รู้ทำไมถึงถูกตัดออก
สิบปีถัดมาเมื่อ Astaire กับ Gingers ได้เล่นหนังร่วมกันอีกครั้งเรื่อง The Barkleys of Broadway (1949) เขาได้นำเพลงนี้กลับมาขับร้องอีกครั้งและได้เพิ่มฉากเต้นต่อท้าย เพื่อเป็นการเติมเต็มสิ่งที่เขาพลาดไปจากครั้งนั้น (เป็นครั้งแรกครั้งเดียวที่ Astaire ร้องเพลงเดิมซ้ำ)
เกร็ด: George Gershwin เสียชีวิตหลังจากหนังฉาย 2 เดือน บทเพลงนี้ทำให้ได้เข้าชิง Oscar: Best Original Song ย้อนหลัง แต่ไม่ได้รางวัล
ผมนำคลิปเพลงนี้ ที่นำฉากเต้นจากหนังเรื่อง The Barkleys of Broadway (1949) ต่อท้ายมาให้ชม
Shall We Dance: เพลงสุดท้ายของหนัง ขับร้องโดย Fred Astaire ไหนๆก็แทบไม่มีโอกาสได้เต้นกับ Roger Gingers สักเท่าไหร่ ให้นักเต้นหญิงทั้งหลายเอาหน้ากากมาใส่ เชิงประชดประชันแสดงให้เห็นว่าฉันเต้นกับใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเธอ … แต่สุดท้ายหญิงสาวก็แอบขึ้นมาใส่หน้ากากปกปิดไว้ และเขาก็ตามหากันจนเจอ
เป็นเพลงจบที่ห้วนไปหน่อย คือมีแค่นี้แหละครับเพลงสุดท้าย เห็น Astaire เต้นคู้กับ Gingers แค่ประมาณนาทีกว่าๆเอง แบบนี้แฟนเดนตายของคู่นี้ ไม่คลั่งก็แปลกแล้ว
หนังแนว Screwball Comedy ใจความของมันไม่มีอะไรน่าสนใจเท่าไหร่ ในความจับพลัดจับพลู ชายหนุ่มตกหลุมรักหญิงสาว พบเจออุปสรรคเกิดความเข้าใจผิดพลาด หญิงสาวไม่พอใจต้องการแก้ไข ไปๆมาๆเกิดการยอมรับเข้าใจ เริ่มตกหลุมรักอีกฝ่าย ตอนจบหันหน้าพูดคุยเข้าใจกัน Happy Ending, นี่ผมหลับหูหลับตาเขียนขึ้นมานะครับ พล็อตมันเชยๆประมาณนี้แหละ ไม่ต้องไปสนใจทำความเข้าใจมันเลยก็สามารถดูหนังให้สนุกได้
ความเบื่อหน่ายในการเล่นคู่กันของ Fred Astaire กับ Ginger Rogers ถูกนำเสนอออกมาในเชิงเปรียบเทียบ ประชดประชัน กับหลายๆบทเพลง อาทิ
– Slap That Bass ตบหน้ามัน (อาจจะ โปรดิวเซอร์ หรือ Rogers)
– They All Laughed …
– Let’s Call the Whole Thing Off บอกเป็นนัยกับ Rogers เลิกเล่นคู่กันเถอะ
– Shall We Dance ให้นักเต้นใส่หน้ากาก Rogers ประมาณว่า ฉันไม่มีเธอ ก็ยังเต้นกับใครก็ได้
ซึ่งเพลง They Can’t Take That Away from Me ผมตีความประมาณว่า อดีตสิ่งที่เราทำร่วมกันมา ยังไงมันก็อยู่ในความทรงจำของทุกคน ไม่มีวันหายไปไหน
ว่าไปเนื้อเรื่องช่วงหนึ่งก็ประมาณนี้เช่นกัน คือตัวละครของ Astaire และ Gingers ต่างพยายามหลบหนีนักข่าว เล่น Roller Skates เพื่อวิ่งหลบให้เร็วที่สุด
ด้วยทุนสร้าง $991,000 เหรียญ ทำเงิน $2.168 ล้านเหรียญ ยังพอมีกำไรบ้างแต่ลดลงกว่าเก่าเกินครึ่ง ซึ่งหลังจากนี้ Carefree (1938) กับ The Story of Vernon and Irene Castle (1939) ถึงระดับขาดทุนแล้ว (ไม่นับผลงานเรื่องสุดท้าย The Barkleys of Broadway แสดงร่วมกันสิบปีให้หลัง ที่เป็นหนังทำเงินสูงสุดของทั้งคู่)
สิ่งที่ทำให้ผมหลงรักหนังเรื่องนี้ คือพล็อตที่ลงตัวที่สุดของทั้งคู่ แม้จะในสูตรสำเร็จเดิมๆคาดเดาได้ แต่ก็มีอะไรใหม่ที่แตกต่าง และบทเพลง Let’s Call the Whole Thing Off ที่เหมือนพวกเขาพูดกับตนเอง (จริงๆถ้านี่เป็นหนังเรื่องสุดท้ายของทั้งคู่ บทเพลงนี้จะทำหน้าที่ของมันได้สมบูรณ์แบบ)
ฉากการเต้น Tab Dance ด้วย Roller Skates ผมพยายามหลีกเลี่ยงไม่พูดถึง เพราะนี่คือไฮไลท์ของหนัง และคือการเต้นที่ผมชอบที่สุดของพวกเขา, ได้ยินว่ากว่า 150 เทค พอถ่ายเสร็จทิ้งตัวลงบนเนินหญ้าไม่มีใครอยากลุก จินตนาการไม่ออกเลยว่ายากลำบาก เหน็ดเหนื่อยแค่ไหน
แนะนำกับคอหนังเพลงยุคเก่าๆ รู้จักกับ George Gershwin และแฟนๆคู่ขวัญ Fred Astaire & Ginger Rogers
จัดเรตทั่วไป ดูได้ทั้งบ้าน
They Can’t Take That Away from Me มีสองครั้งจริงๆด้วย เสียใจมากถ้าจะไม่มีฉากเต้นเพลงนี้นะคะ ดีใจที่ยังมีเพลงนี้ซ้ำในอีกสิบปีให้หลัง
เราดูเรื่องนี้เรื่องแรกเลยค่ะของทั้งคู่ เพราะเราติ่ง George Gershwin เดิม เสียดายมาก พูดถึงชีวิต George Gershwin แล้วเราจะอีโม T^T เขาป่วยอายุสั้น ถ้าอายุยืนกว่านี้คงมีเพลงฮิตออกมาอีกมาก แล้วหนังเรื่องนี้ก็รวมเพลงฮิตของ Gershwin เลยตามมาด้วยกลายเป็นชอบคู่ขวัญนี้ไปเลย ถ้าไม่นับ The Barkleys of Broadway (1949) ที่เป็นหนังสี เราชอบShall we dance สุดเลยนะคะ แม้จะใจเอียงๆTop hatหน่อยๆ
ขอบคุณสำหรับรีวิวค่ะ เห็นด้วยที่เต้นด้วยกันน้อยมาก แล้วก็เสียดายด้วยที่สองเรื่องหลังไม่กำไรแล้ว Carefree (1938) ก็ดูสนุกอยู่ แต่พล็อตเรื่องหมิ่นเหม่จริยธรรมทางการแพทย์มาก 5555 ส่วน The Story of Vernon and Irene Castle ยกให้เป็นดราม่าที่ดีที่สุดของทั้งคู่เลยค่ะ