shall-we-dance

Shall We Dance? (1996) Japanese : Masayuki Suo ♥♥♥♥♡

คว้า 13 รางวัลจาก Japan Academy Prize (เทียบเท่ากับ Oscar ของญี่ปุ่น), ชายวัยกลางคนแต่งงานมีลูกโตเป็นสาวแล้ว แต่รู้สึกชีวิตมันขาดอะไรบางอย่าง วันหนึ่งมองขึ้นไปเห็นหญิงสาวคนหนึ่ง ท่าทางสวยสง่าแต่มีใบหน้าตาเศร้าๆ ป้ายโฆษณาด้านข้างเขียนว่า ‘รับสอนเต้นลีลาศ’ ลองดูสักหน่อยจะเป็นไรไป นับจากวันนั้นชีวิตเขาก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

หลายคนอาจรู้จักหนังเรื่อง Shall We Dance? (2004) นำแสดงโดย Richard Gere, Jennifer Lopez และ Susan Sarandon เป็นการ remake จากหนังของญี่ปุ่นเรื่องนี้ ได้ยินว่าคุณภาพ … ก็ตามสมควรของหนัง Remake ผมไม่ขอเสียเวลาหามารับชมนะครับ

ส่วน Shall We Dance (1937) ของ Fred Astaire กับ Ginger Rogers ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับหนังเรื่องนี้ แค่ชื่อตรงกันเฉยๆ

ชื่อหนังจริงๆคือ “Shall we ダンス?” (อ่านว่า Sharu wi Dansu?) คำว่า Dance เขียนเป็นคะตะกะนะ มีนัยยะสะท้อนถึงค่านิยมการเต้นลีลาศของคนญี่ปุ่นสมัยนั้น ที่ยังแบ่งแยกไม่ยอมรับ เพราะมองว่าการจับไม้จับมือหญิงอื่นที่ไม่ใช่คู่รักภรรยาของตน เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมต่อวัฒนธรรมญี่ปุ่น

นี่เป็นหนังที่ให้ความรู้สึกเป็น ‘ผู้ใหญ่’ (ไม่ใช่หนังผู้ใหญ่ AV อะไรแบบนั้นนะครับ) พระเอกเป็นชายวัยกลางคน ดำเนินเรื่องด้วยความเรียบง่ายนุ่มนวล ไม่ได้มีอะไรหวือหวาอะไรมาก พูดคุยสนทนากันประสาผู้ใหญ่ และหนังสร้างแนวคิดให้แรงบันดาลใจกับคนวัยกลางคนได้เป็นอย่างดี, แต่ไม่ใช่ว่าหนังไม่เหมาะกับเด็กๆ/วัยรุ่น หรือวัยอื่นๆนะครับ เหมือนว่ากลุ่มเป้าหมายหลักในความตั้งใจของผู้กำกับจะคือ ผู้ใหญ่วัยกลางคน นี่เป็นหนังแนวที่ผมไม่ค่อยพบเห็นเท่าไหร่ ขณะรับชมรู้สึกแก่ขึ้นอีกหลายปี พอดูจบจะรู้สึกหนุ่มขึ้นอีกหลายปี … เอะยังไง!

สร้างโดยผู้กำกับชาวญี่ปุ่น Masayuki Suo (เกิดปี 1956) เกิดที่ Tokyo เริ่มต้นจากการเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ จากนั้นมีผลงานเป็นหนังแนว Pink Film (คล้ายๆแนว Erotic แต่จะมีฉาก Sex ที่สมจริงกว่า) กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Abnormal Family: Older Brother’s Bride (1984) เรื่องราวเพื่ออุทิศและล้อเลียน Tokyo Story (1953) มีนักวิจารณ์หลายคนยกย่องให้เป็น Masterpiece ยอดเยี่ยมที่สุดของหนังแนว Pink Film

ต้องถือว่า Suo ได้อิทธิพลแรงบันดาลใจการสร้างภาพยนตร์มาจาก Yasujirō Ozu ทั้งงานภาพและสไตล์การเล่าเรื่อง จนได้รับยกย่องว่าเป็น Oeuvre (ภาษาฝรั่งเศส แปลว่า ตัวตายตัวแทน) แต่หนังของ Suo ไม่ได้หยุดในกรอบ มีข้อจำกัดในครอบครัวเหมือนกับ Ozu คือเขาได้ทำการแผ่ขยายเรื่องราวให้กว้างออกไป พูดถึงชุมชน สังคม และพื้นฐานวัฒนธรรมญี่ปุ่น โดยใช้การเล่าเรื่องราวที่แสนเรียบง่าย นุ่มนวล ลุ่มลึกและทรงพลัง(โดยเฉพาะกับคนญี่ปุ่น)

ถึงปีปัจจุบัน Suo มีผลงานเพียง 7 เรื่อง (และสารคดีอีก 3 เรื่อง) แทบทั้งนั้นได้รับการยกย่องชื่นชอบของนักวิจารณ์ กวาดรางวัลมากมาย อาทิ
– Fancy Dance (1989) ได้รางวัล Directors Guild of Japan: New Directors Award
– Sumo Do, Sumo Don’t (1992) เข้าชิง Japan Academy Prize สาขา 7 ได้มา 5 รางวัล รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี
– I Just Didn’t Do It (2006) เข้าชิง Japan Academy Prize สาขา 11 ได้มา 3 รางวัล
– A Terminal Trust (2012) ได้รางวัล Mainichi Film Award: Best Film, Kinema Junpo Award: Best Director
ฯลฯ

“The most important thing for me in movie making is to love the characters of the movie, so even though you only have a few seconds with a character, that person has to have his own life. Therefore, I want to respect it, I want to make movies where each character has his own individuality.”

– Masayuki Suo

Shall We Dance? ได้แรงบันดาลใจจากบทเพลงชื่อ Shall We Dance? จากหนังเรื่อง The King and I (1956) ที่ดัดแปลงมาจากบทละครเวทีชื่อเดียวกันของ Rodgers and Hammerstein II ที่นำมาจากนิยายเรื่อง Anna and the King of Siam ในเรื่องมีการพูดถึงหนังเรื่องนี้และนักแสดงนำ Yul Brynner และ Deborah Kerr ขอนำคลิปการเต้นนั้นมาให้รับชมก่อนนะครับ

ผมเคยเขียนบทความถึงหนังเรื่อง The King and I ไปแล้ว นี่เป็นหนังที่หาดูไม่ได้ในเมืองไทย ถูกแบนเนื่องจากมีเนื้อหาล่อแหลมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าคุณโตพอและมีความสามารถหามารับชมได้ แนะนำให้ลองหามาชมด้วยวิจารณญาณดูนะครับ

แต่หนังไม่ได้นำเรื่องราวอะไรมาจาก The King and I หรือนิยาย Anna and the King of Siam เลยนะครับ นำแค่บทเพลงนี้มาใช้เป็นแรงบันดาลใจกับหนังเท่านั้น

ฉากแรกของหนัง เห็นว่าต้นฉบับที่ฉายในญี่ปุ่นกับฉายต่างประเทศมีความแตกต่างกันเล็กน้อยในคำบรรยาย (แต่จะเป็นภาพการเต้นลีลาศที่ Blackpool เหมือนกัน)
– ฉบับญี่ปุ่น จะเป็นคำบรรยายแนะนำประวัติศาสตร์ของการเต้นลีลาศ
– ฉบับฉายต่างประเทศ จะเป็นการแนะนำวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่น การจับมือถือแขนเต้นระหว่างชายหญิงที่ไม่ใช่แฟนสาวหรือภรรยาของตน ถือเป็นสิ่งไม่เหมาะสมในวัฒนธรรมญี่ปุ่น

การเปลี่ยนคำบรรยายฉากแรกนี้ ก็เพื่อให้ชาวต่างชาติอย่างเราๆ ที่ไม่รู้จักเข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่น ได้เรียนรู้ถึงเหตุผลที่ทำไม กับแค่การเรียนเต้นลีลาศถึงเป็นเรื่องใหญ่ น่าอับอายขายหน้า ต้องแอบๆปกปิดไว้ ราวกับว่า เป็นการมีกิ๊กมีชู้ นอกใจภรรยา … คนญี่ปุ่นมองหนังถึงระดับนั้นเลยนะครับ

นำแสดงโดย Kōji Yakusho รับบท Shohei Sugiyama พนักงานกินเงินเดือนบริษัท (Salaryman) มีชีวิตวันๆอย่างเบื่อหน่าย เหมือนมันขาดอะไรบางอย่าง ครั้งหนึ่งมองขึ้นไประหว่างรอรถไฟ พบกับหญิงสาวคนหนึ่ง (มองขึ้น เหมือนเห็นนางฟ้าบนสวรรค์) ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเขาตกหลุมรักเธอ กว่าจะขึ้นไปข้างบนได้ ลับๆล่อๆยังกะจะเข้าซ่อง การเรียนลีลาศคือข้ออ้างเพื่อจะได้อยู่ใกล้ชิด จริงอยู่เรื่องชู้สาวมันเป็นไปไม่ได้ เพราะเขาแต่งงานจนมีลูกโตเป็นสาวแล้ว และหญิงสาวคนนั้นก็เคยปฏิเสธแบบตรงไปตรงมา แต่เขาไม่กลับยอมแพ้ เมื่อไม่ได้หญิงแต่ลีลาศมันก็สนุกดีแหะ ยังคงฝึกฝนการเต้นต่อจนเริ่มไปวัดไปวาออกงานได้ สำหรับเธอนั้นแปรสภาพกลายเป็น Idol แรงบันดาลใจ ความเพ้อฝัน กับคำพูดที่ว่า ‘สักครั้งในชีวิตถ้าได้เต้นกับเธอ มันคงจะดีไม่น้อย’ นี่เป็นคำพูดจากใจจริงแท้ไม่มีอะไรแอบแฝงเจือปนแน่นอน

ชื่อจริงคือ Kōji Hashimoto (เกิดปี 1956) นักแสดงชาวญี่ปุ่น, ตอนวัยรุ่นได้มีโอกาสชมละครเวทีเรื่อง The Lower Depths (1976) เกิดความประทับใจอย่างยิ่ง จึงตัดสินใจว่าชีวิตนี้ต้องกลายเป็นนักแสดงให้ได้ มีผลงานแรกๆจากการแสดงละครโทรทัศน์ สำหรับภาพยนตร์เริ่มได้รับการจดจำจาก Tampopo (1985), Kamikaze Taxi (1995) จนมีชื่อเสียงระดับนานาชาติกับ Shall We Dance? หลังจากนี้ได้นำแสดงในหนังญี่ปุ่นรางวัล Palme d’Or เรื่อง The Eel (1997) นอกจากนี้อาทิ License to Live (1999), Memoirs of a Geisha (2005), Babel (2006), 13 Assassins (2010), พากย์เสียง Kumatetsu ใน The Boy and the Beast (2015) ฯ

ต้องถือว่านี่เป็นการแสดงระดับชีวิตของ Kōji Yakusho ใส่ตัวตน ความเพ้อฝันสมัยเป็นวัยรุ่นลงไป แม้ตอนเล่นหนังเรื่องนี้จะอายุเกือบ 40 แล้ว แต่เขาคงกลับกลายเป็นหนุ่มอีกครั้งเมื่อหนังจบ, ใบหน้าอันนิ่งๆ ท่าทางป้ำๆเป๋อๆ เก้งๆก้างๆ ในระยะแรก ต่อมาค่อยๆพัฒนาดีขึ้น ผู้ชมจะรู้สึกเป็นกำลังใจให้เขาทุกขณะเต้น เติบโตไปกับตัวละคร มองเป็น Coming-Of-Age ก็ได้ แต่วัยนี้น่าจะเรียกว่า Middle-Age แล้วนะ

Naoto Takenaka รับบท Tomio Aoki เพื่อนร่วมงานของ Sugiyama ที่ชอบเดินเป็นเส้นตรง และแอบเป็นนักเต้น Rumba ที่ชอบออกลีลาท่าทางอย่างเว่อๆ มีอะไรใส่ไปหมดไม่เคยยั้ง, Takenaka เป็นนักแสดง นักร้อง ตลก ชื่นชอบการแย่งซีนในหนังแทบทุกเรื่อง การแสดงของเขาสร้างสีสันให้กับหนังได้อย่างมีชีวิตชีวา ไม่ให้ทำรู้สึกเบื่อเลย (นักแสดงที่รับบทนี้ใน Shall We Dance? ฉบับของ Hollywood คือ Stanley Tucci)

Tamiyo Kusakari รับบท Mai Kishikawa หญิงสาวที่เปรียบเสมือนนางฟ้าของ Sugiyama, เรื่องราวของเธอ เปรียบได้กับนางฟ้าตกสวรรค์ เคยอาศัยอยู่แต่เบื้องบน พอต้องมาคลุกคลีกับมนุษย์บนโลกก็รับไม่ได้เท่าไหร่ แสดงความเย่อหยิ่งจองหองเห็นแก่ตัว วิธีเดียวที่จะกลับขึ้นไปได้ ต้องเข้าใจความหมายของชีวิตอย่างชัดเจน … แน่นอนคนที่จะสอนเธอได้ก็คือพระเอก Sugiyama นะแหละ

อ่านเข้าใจกันไหมเนี่ย ผมเทียบเสียเว่อเลย จริงๆมันคือ Kishikawa เป็นนักเต้นลีลาศระดับโลก แต่เพราะอุบัติเหตุในการแข่งขันรอบตัดเชือก ทำให้คู่ของเธอไม่อยากเต้นด้วยกันอีก ปัจจุบันในหนังยังไม่สามารถหาคู่เต้นใหม่ ระหว่างรอคอย พ่อ(ที่เป็นเจ้าของโรงเรียนสอนลีลาศ) จึงขอให้มาเป็นอาจารย์สอน แต่เธอไม่ค่อยพึงพอใจเท่าไหร่ ฉันมันระดับโลกจะให้มาสอนมือสมัครเล่นที่ยังเต้นยังไม่เป็นเนี่ยนะ!

การแสดงของ Kusakari ผมไม่รู้สึกว่าจะยอดเยี่ยมอะไรนะ นอกจากการเต้นลีลาศที่มีความสวยสง่างดงามมากๆ (ก็แน่ละตัวจริงเธอเป็นนักเต้นลีลาศ) หลังจากหนังเรื่องนี้ก็มีผลงานประปราย เฉพาะกับหนังของผู้กำกับ Suo เท่านั้น

Eriko Watanabe รับบท Toyoko Takahashi สาวร่างท้วมผู้มีความฝันอยากเป็นนักเต้นลงแข่งได้รางวัล แต่ไม่ค่อยมีใครอยากคู่กับเธอ จับพลัดจับพลูเลือก Sugiyama กับ Aoki มาเต้นร่วมด้วย, นิสัยของ Takahashi เป็นคนผีเข้าผีออก อารมณ์เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็น คงเพราะสามีจากไปเหลือแต่ลูกสาว ตนเองจึงทำงานหนักเพื่อลูก ชีวิตไม่ค่อยสมหวัง และตอนนี้พอลูกโต เลยเริ่มที่จะทำตามความฝันของตนเอง,

ผมยอมรับความทุ่มเทของ Watanabe เลยนะครับ เธอไม่ใช่นักแสดงที่มีชื่อเสียงนักในญี่ปุ่น นักเต้นก็ไม่ใช่ เห็นว่าซ้อมเต้นอยากหนักเพื่อรับบทนี้ ผลลัพท์ก็ถือว่าคุ้มค่า แย่งซีนเคียงคู่กับ Takenaka ได้เรื่อยๆ

ป้า Reiko Kusamura รับบท Tamako Tamura อาจารย์สูงวัยที่สอน Sugiyama เต้นลีลาศ, นี่คือตัวละครที่มีความเป็นผู้ใหญ่มากๆ สงบเสงี่ยมเรียบร้อย สำเนียงเป็นผู้ดีมีสกุล นี่เป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของป้าแก (แสดงดีมากจนนึกว่าอยู่ในวงการมานานแล้ว) ไม่มีใครแก่เกินแกงจริงๆ

ถ่ายภาพโดย Naoki Kayano, กับฉากทั่วๆไปที่ไม่ใช่การเต้น ส่วนใหญ่กล่องจะนิ่งอยู่กับที่ แทบจะไม่มีการเคลื่อนไหวเท่าไหร่ แต่เมื่อใดที่เป็นการเต้น (รวมตอนซ้อมด้วยนะ) กล้องมักจะเคลื่อนไหวตามติดคู่เต้นอย่างมีชีวิตชีวา จะช้าเร็วขึ้นอยู่กับทำนองของเพลงนั้น ถ้าเป็น Waltz ก็จะค่อยๆติดตามอย่างเนิบนาบ แต่ถ้าจังหวะเร็วๆอย่าง Quickstep ก็จะเคลื่อนเร็วมากๆเพื่อให้ทันนักแสดงขณะวิ่งไปรอบๆ

การถ่ายขณะเต้นลีลาศ ส่วนใหญ่จะเห็นเต็มตัวนักแสดง (Full Shot และ Long Shot) ตั้งแต่หัวจรดเท้า เพื่อให้เห็นการเคลื่อนไหวทั้งหมด ไม่แค่ส่วนขาเคลื่อนเป็นสเต็ป หรือเฉพาะใบหน้าอารมณ์ของนักแสดง แต่ถ้าเป็นตอนซ้อม จะมีถ่ายเฉพาะเท้าบ้าง ใบหน้าบ้าง ให้เกิดความเข้าใจว่าลีลาศมันเต้นยังไง

ถ้าคุณตั้งใจรับชมหนังเรื่องนี้มากๆ ดูจบอาจเต้นเป็นสักสเต็ปนึงเลยนะครับ

ในบางครั้งขณะกำลังเต้น จะมีอีกเหตุการณ์เกิดขึ้นเป็นพื้นหลังด้วย เช่น Kishikawa ที่ชอบแอบดู Sugiyama ขณะเต้น, หรือคู่ปรับของ Aoki ที่มองหน้าพาลหาเรื่องตลอดเวลา ฯ อย่าเอาแต่จ้องอยู่แค่กับการเต้นนะครับ มองไปรอบๆด้วย อาจจะเห็นอะไรที่คุณเซอร์ไพรส์ก็ได้

ตัดต่อโดย Junichi Kikuchi, ช่วงที่ไม่ใช่การเต้น เรื่องราวแต่ละฉากมักจะดำเนินขึ้นในช็อตเดียว อธิบายได้ทุกสิ่งอย่าง การตัดต่อจะใช้เพื่อเปลี่ยนทิศทางมุมมองหรือเปลี่ยนฉากไปเลย, ส่วนช่วงการเต้น การตัดต่อมักสลับกันระหว่าง คู่เต้นหลักกับอะไรสักอย่าง (ที่ไม่ใช่การเต้น) เช่น ผู้ชม, กองเชียร์ ฯ หรือไม่ก็กับคู่เต้นคู่อื่น

การเล่าเรื่องใช้มุมมองของ Sugiyama เป็นหลัก แต่เพราะการเรียนลีลาศมีแค่ทุกวันพุธสัปดาห์ละครั้ง หนังใช้การตัดต่อแบบกระโดดข้ามแบบเร็วๆ จากสัปดาห์ไปอีกสัปดาห์จนผู้ชมแทบไม่รู้ว่า เวลาผ่านไปเท่าไหร่แล้ว (จบหนังทั้งเรื่องคือผ่านไป 1 ปี … ไวเหมือนโกหก), บางครั้งเพื่อเป็นการรวบรัดให้เร็วขึ้นอีก หนังเปลี่ยนไปใช้มุมมองของนักสืบ (เพราะความสงสัยของภรรยา Sugiyama ว่าทำไมสามีดูมีความสุขขึ้นผิดปกติ จึงไปจ้างนักสืบ) ช่วงนี้เราจะเห็น Sugiyama เป็นพื้นหลัง ซึ่งเมื่อปริศนากระจ่าง ก็จะกลับไปมุมมองของพระเอกอีก (แล้วนักสืบกลายเป็นพื้นหลัง ที่ยังโผล่มาแย่งซีนอยู่เรื่อยๆ)

สองนักสืบในหนังถือเป็นตัวละครน่าพิศวงมาก ค่าจ้างสืบไม่รับ แต่กลับมีความสนใจเรื่องชาวบ้านนี้อย่างยิ่ง คงเพราะความฉงนสงสัยในกิจกรรมลีลาศ อะไรกันที่ทำให้ชายธรรมดาคนหนึ่ง คลั่งไคล้หลงใหลแบบไม่ยอมเลิกได้ขนาดนี้ (ผมคิดว่าสองตัวละครนี้ เปรียบแทนได้ด้วย ผู้ชมอย่างเราๆ เพราะต่างก็มีความสงสัยแบบเดียวกันว่า ลีลาศมันมีอะไรดี เลยติดตามอยากรู้อยากเข้าใจคำตอบ)

เพลงประกอบโดย Yoshikazu Suo พี่ชายของผู้กำกับ

ทำนองลีลาศมาตรฐาน เห็นอยู่ 5 สเต็ป คือ วอลซ์ (Waltz), ควิกสเต็ป (Quickstep), แทงโก (Tango), ฟอกซ์ทรอท (Fox-trot) และรุมบ้า (Rumba) [ที่ไม่ค่อยเหมือนเท่าไหร่] ใครฟังแยกทำนองได้หรือเต้นเป็น คงสามารถรับรู้ได้ทันทีเมื่อได้ยิน และคงขยับขาตามได้ (ผมแค่โยกหัวตาม จำทำนองได้แต่ไม่ได้เต้นนานแล้ว เริ่มลืม)

บทเพลงที่เป็นไฮไลท์คือการ Cover เพลง Shall We Dance จาก The King and I ขับร้องโดย Taeko Ohnuki คำร้องเหมือนเดิม แค่เปลี่ยนทำนองให้มีความนุ่มนวล เรียบง่าย โรแมนติก ให้ความรู้สึกล่องลอยไปบน Floor พื้นเวทีเต้นราวกับบินได้จริงๆ (ผมรู้สึกมีความไพเราะกว่าต้นฉบับอีกนะครับ)

เพลงนี้สามารถแทนอารมณ์ของหนังทั้งเรื่องได้เลย ชิลๆ เพลิดเพลิน ฟังสบาย บรรยากาศแบบนี้ตลอดทั้งเรื่อง มีช่วงตื่นเต้นหวือหวาไม่เยอะเท่าไหร่ นอกนั้นก็เหมือนชีวิตประจำวัน ดำเนินไปเรียบง่าย ธรรมดา แต่มีความสนุกสนานตื่นเต้นมีชีวิตชีวา

“Bid me discourse, I will enchant thine ear”

– จากบทกวีในเรื่อง Venus and Adonis ของ William Shakespeare

สังคมของคนเต้นลีลาศ ถือว่ามีความสุภาพและเป็นผู้ใหญ่พอสมควร เพราะเราต้องให้เกียรติคู่เต้น ผู้ชายต้องนำผู้หญิง มีมารยาทและให้การปกป้องดูแล, ความเป็นสุภาพบุรุษสามารถสังเกตได้จากตอนเต้นนี้เลย คือถ้าฝ่ายชายเอาใจให้ทะนุถนอมคู่เต้นเป็นอย่างดี นำได้อย่างลื่นไหลต่อเนื่อง ผู้หญิงมักจะเกิดความชื่นชอบหลงใหล เพราะนิสัยชีวิตจริงของเขาก็มักเป็นเช่นนั้น

ผิดกับท่าเต้น Rumba, Tango, Samba ฯ เพลงฝั่งละติน นักเต้นมักจะชอบแสดงลีลา passion ความต้องการออกมา, คู่ที่จะสามารถเต้นเพลงเหล่านี้ได้ดี จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีความรู้สึกที่รุนแรงต่อกัน ทั้งต้องการและโหยหา แต่บางครั้งถ้ามากเกินไป ไม่ตรงกัน ก็จะเป็นแบบ Aoki ถูกฝ่ายหญิงแสดงความรังเกียจออกมา เห็นว่าผู้ชายที่ถูกตอกหน้าเช่นนี้ มันแรงมากๆนะครับ

Shall We Dance? เป็นหนังเกี่ยวกับการค้นพบความกล้าในการทำสิ่งแตกต่างจากที่เคยเป็นอยู่ สิ่งแท้จริงที่คือความต้องการในใจของตนเอง
– Sugiyama ได้ทำในสิ่งที่ไม่มีใครคิดมาก่อนว่าเขาจะทำได้ ช่วงท้ายแม้ปากและกายจะบอกไม่เต้นแล้ว แต่ใจก็ไม่สามารถหักห้ามได้
– Kishikawa เรียนรู้ค้นพบสิ่งที่เป็นข้อบกพร่องของตนเอง (คือการไม่ยอมทำความเข้าใจคนอื่น) ลีลาศมีอะไรมากกว่าการแข่งขันและชัยชนะ นั่นคือความสุขสนุกที่ได้เรียนรู้ ฝึกฝน และเต้นร่วมกับคนที่ตนอยากเต้นด้วย
– Aoki ได้ค้นพบตัวเอง ช่วงท้ายยอมถอดวิกปลอมออก แล้วแสดงตัวตนความต้องการแท้จริงออกมาโดยไม่มีอะไรยั้งไว้อีก
– Takahashi มีความสุขกับคู่เต้น ได้เต้นจนสมใจอยาก ตามความฝันที่ได้ร่วมแข่ง (แม้จะมีอะไรหลายๆอย่างที่ทำให้เธอผิดหวัง แต่คงไม่ยอมแพ้ง่ายๆหรอก)

หนัง feel good ลักษณะนี้ ตอนจบมันก็เลย Happy Ending เป็นเรื่องปกติ แต่ไม่ใช่กับแค่ตัวละครในหนังเท่านั้น ผู้ชมจะรู้สึกเต็มอิ่มเป็นสุข รู้สึกเด็กขึ้น (สำหรับคนมีอายุ) และรู้สึกคันอกคันใจ คันไม้คันมือ อยากลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง หัดเรียนเต้นลีลาศเป็นไง อายุมากแค่ไหนก็ไม่แก่เกินแกงนะครับ

ไม่มีรายงานทุนสร้างของหนัง แต่สามารถทำเงินในอเมริกาได้ถึง $9.5 ล้านเหรียญ ถือว่าสูงทีเดียวสำหรับหนังที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษสมัยนั้น

จริงๆหนังเข้าชิง Japan Academy Prize ทั้งหมด 14 รางวัล 13 สาขา น่าจะเยอะที่สุดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นแล้วนะครับ ประกอบด้วย
– Best Film
– Best Director
– Best Actor (Kôji Yakusho)
– Best Actress (Tamiyo Kusakari)
– Best Supporting Actor (Naoto Takenaka)
– Best Supporting Actress (Eriko Watanabe)
– Best Supporting Actress (Reiko Kusamura) ** เป็นคนเดียวที่พลาดรางวัล
– Best Screenplay
– Best Cinematography
– Best Editing
– Best Art Direction
– Best Music Score
– Best Sound

หนังยังได้อีกรางวัลพิเศษคือ Newcomer of the Year (Tamiyo Kusakari) รวมแล้วเป็น 14 รางวัล, รู้สึกว่ามันมากเกินไปหน่อยนะ แต่ผมยังไม่เคยรับชมหนังที่เข้าชิงปีนั้น เลยไม่สามารถบอกได้ว่าเกินไปจริงๆหรือเปล่า

ผมหลงรักใน Direction ของหนังเรื่องนี้ คือมันก็ไม่ได้มีความคล้ายกับของ Ozu เท่าไหร่นะครับ เพียงแต่ความเรียบง่ายนุ่มนวล แก่นของการเล่าเรื่องมีสัมผัส กลิ่นอาย ใกล้เคียงอยู่บ้าง, สิ่งที่ไม่ชอบเท่าไหร่ คือส่วนเนื้อเรื่องรู้สึกว่าเชยไปเสียหน่อย นี่เป็นพล็อตสูตรสำเร็จที่เห็นได้บ่อยในอนิเมะซีรีย์ของญี่ปุ่น … แต่เดี๋ยวนะ ถ้าดูจากปีที่สร้าง ไม่แน่นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวลักษณะนี้ก็เป็นได้!

หนังเพลงแนว Ballroom Dance เท่าที่ผมเห็นมีอยู่ไม่กี่เรื่องเท่านั้นที่พอจะเป็นที่รู้จัก ใครสนใจลองหามารับชมดู อาทิ
– Dirty Dancing (1987) เข้าชิง Golden Globe: Best Picture – Musical or Comedy
– Strictly Ballroom (1992) ของผู้กำกับ Baz Luhrmann
– Dance of a Dream (2001) หนังฮ่องกง ของผู้กำกับ Andrew Lau นำแสดงโดย Andy Lau
– Innocent Steps (2005) หนังสัญชาติเกาหลีใต้ นำแสดงโดย Moon Geun-young, Park Gun-hyung
– Take the Lead (2006) นำแสดงโดย Antonio Banderas

แนะนำกับผู้ใหญ่วัยกลางคน ที่มีชีวิตเรื่อยเปื่อยเฉื่อยชา เกิดความเบื่อหน่ายในชีวิต/การทำงาน แต่งงานมีลูกแล้วยังหาความสุขไม่ค่อยได้ นี่ถือเป็นหนังสร้างแรงบันดาลใจที่อาจทำให้คุณกล้าลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง

กับผู้หลงใหล ชื่นชอบการเต้นลีลาศ ไม่จำเป็นต้องกับวัยรุ่น นักกีฬา แม้แต่ผู้สูงวัย ก็สามารถตกหลุมหลงรักในความนุ่มนวลน่ารักของหนังได้

ดูหนังเรื่องนี้แล้วรู้สึก อยากหาคู่มาเต้นลีลาศเสียเหลือเกิน

จัดเรต PG กับบรรยากาศของความหวาดระแวง และการกระทำบางอย่างที่เห็นแก่ตัวเสียนิด

TAGLINE | “Shall We Dance? ต้นฉบับญี่ปุ่นของ Masayuki Suo มีความเรียบง่ายนุ่มนวล ทำให้คุณตกหลุมรักและอยากลุกขึ้นมาเต้นลีลาศเสียเหลือเกิน”
QUALITY | RARE
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: