Shanghai Triad (1995) : Zhang Yimou ♥♥
หลังเสร็จจาก To Live (1994) ผู้กำกับจางอี้โหมวจงใจเลือกผลงานถัดไปเกี่ยวกับกลุ่มอาชญากร เจ้าพ่อมาเฟีย (ที่สามารถสื่อถึงชนชั้นผู้นำประเทศจีน) พอดิบพอดีใกล้จะเลิกราแฟนสาวกงลี่ นี่คือการร่วมงานครั้งสุดท้าย (ขณะนั้น) จึงแทรกใส่เรื่องราวของคนทรยศหักหลัง … เป็นหนังที่สวยแต่รูป จูบไม่หอมสักเท่าไหร่
ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กำกับจางอี้โหมว และกงลี่ อาจตั้งแต่หย่าร้างภรรยาเก่า (เพราะคำยั่วยุของกงลี่) ลึกๆเขาจึงยังคงรู้สึกผิดเสมอมา ยื้อยักความสัมพันธ์เดี๋ยวรัก-เดี๋ยวเลิกรา เมื่อเธอยื่นคำขาดเรื่องแต่งงานแต่ได้รับคำตอบปฏิเสธ อดรนทนจนถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้เสร็จค่อยบอกเลิกรา จากกันโดยดี … มั้งนะ
ผู้ชมหลายคนน่าจะสัมผัสถึงความหงุดหงิด น่ารำคาญใจของกงลี่ หลายฉากดูดัดจริต แรดร่านเกินไป ร้องเพลงก็ไม่ได้ไพเราะสักเท่าไหร่ แถมตัวละครคือต้นสาเหตุโศกนาฎกรรม ก่อนไคลน์แม็กซ์เฉลยเรื่องราวเกี่ยวกับการทรยศหักหลัง … เมื่อแรกรักน้ำต้มผักยังว่าหวาน เมื่อจืดจางน้ำตาลยังว่าขม ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เฉกเช่นเดียวกัน (ได้รับการยกย่องเมื่อตอนออกฉาย กาลเวลาทำให้ค่อยๆเสื่อมคลายคุณค่านั้นลง)
Shanghai Triad (1995) มีการถ่ายภาพสวยงามมากๆ ตากล้อง Lü Yue สามารถคว้ารางวัล Technical Grand Prize จากเทศกาลหนังเมือง Cannes และยังเข้าชิง Oscar: Best Cinematography แต่ปัญหาคือการดำเนินเรื่องที่แสนเอื่อยเฉื่อย น่าเบื่อหน่าย มุมมองการนำเสนอใส่มาทำไม? โดยเฉพาะผู้กำกับจางอี้โหมวแสดงสันดานน่ารังเกียจมากๆ พยายามทำให้กงลี่ดูอัปลักษณ์ โฉดชั่วร้ายอย่างสุดๆ
คือผมรู้สึกว่าผู้กำกับจางอี้โหมว ขณะนั้นเต็มไปด้วยอคติต่อกงลี่ รับรู้กำลังจะต้องเลิกรา ฟางเส้นสุดท้าย หลังจากอดกลั้นฝืนทนมานาน เลยทำการประจานพฤติกรรมแย่ๆ ให้แสดงฉากที่ไม่เหมาะกับตนเอง เน้นย้ำคำพูด ‘เด็กบ้านนอกคอกนา’ โดยเฉพาะเรื่องราวการทรยศหักหลัง คบชู้แล้วถูกจับได้ นั่นสะท้อนสิ่งบังเกิดขึ้นในชีวิตจริงของพวกเขาอย่างแน่นอน!
จางอี้โหมว, Zhang Yimou (เกิดปี 1951) ตากล้อง/นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่ซีอาน, เมืองหลวงของมณฑลส่านซี บิดาเป็นนายทหารในกองทัพปฏิวัติแห่งชาติจีน (National Revolutionary Army) หรือพรรคก๊กมินตั๋ง ภายใต้การนำของนายพลเจียงไคเช็ก หลังความพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองต่อพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อปี 1949 ทำให้ครอบครัวตกที่นั่งลำบาก มีเพียงลุงกับพี่ชายเลือกอพยพสู่ไต้หวัน ส่วนตัวเขาต้องเผชิญหน้าความขัดแย้งเห็นต่างทางการเมืองอย่างรุนแรง
ช่วงระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) จางอี้โหมวต้องออกจากโรงเรียนมาเป็นกรรมกรแรงงานอยู่สามปี ตามด้วยโรงงานปั่นฝ้ายอีกเจ็ดปี เวลาว่างก็เขียนภาพวาด หาเงินซื้อกล้อง ค้นพบความหลงใหลด้านการถ่ายรูป จนกระทั่งสถาบัน Beijing Film Academy เปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่เมื่อปี 1978 แม้อายุเกินกว่าเกณฑ์ แต่ได้รับอนุญาติจากรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม เพราะชื่นชอบประทับใจผลงานถ่ายภาพ เลยอนุญาตให้เข้าศึกษาเป็นกรณีพิเศษ
เมื่อสำเร็จการศึกษาได้รับมอบหมายทำงานยัง Guangxi Film Studio ในฐานะตากล้อง One and Eight (1983), Yellow Earth (1984), เมื่อหมดสัญญาเดินทางกลับบ้านเกิดที่ซีอาน ได้รับการชักชวนจาก วูเทียนหมิง (Wu Tianming) เข้าร่วม Xi’an Film Studio ถ่ายภาพ/แสดงนำ Old Well (1987) และกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Red Sorghum (1988) คว้ารางวัล Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin
หลังเสร็จจาก To Live (1994) ผู้กำกับจางอี้โหมวก็เตรียมงานสร้างผลงานถัดไปทันที มอบหมายให้ไบเฟย์หยวี, Bi Feiyu ดัดแปลงนวนิยายอาชญากรรม Rules of a Clan (1994) แต่งโดยหลี่เซียว, Li Xiao โดยได้รับทุนสนับสนุนจากหลากหลายสตูดิโอของประเทศฝรั่งเศส Alpha Films, La Sept Cinéma, Ministère des Affaires Étrangères และ Union Générale Cinématographique (UGC Images)
แต่หลังจาก To Live (1994) ถูกทางการจีนสั่งแบน ผู้กำกับจางอี้โหมวโดนห้ามยุ่งเกี่ยววงการภาพยนตร์ห้าปี! โปรดักชั่นหนังเรื่องนี้เลยต้องหยุดชะงักลงชั่วขณะ เพื่อยื่นคำร้องต่อรอง มองหางบประมาณเพิ่มเติมจาก Shanghai Film Studios เพื่อให้ทางการมองว่าเป็นภาพยนตร์ภายใน ‘local production’ สุดท้ายแล้วไม่ถึงขวบปีด้วยซ้ำนะ Shanghai Triad ก็ได้เริ่มต้นถ่ายทำ! ไม่มีใครพูดเรื่องจะแบนจางอี้โหมวอีกต่อไป
เกร็ด: ชื่อหนังภาษาจีน 搖啊搖,搖到外婆橋 อ่านว่า Yáo a Yáo, Yáo Dào Wàipó Qiáo แปลว่า Row, row, row to Grandma Bridge เป็นคำร้องบทเพลงกล่อมเด็กที่จะได้ยิน 2-3 ครั้งในหนัง
พื้นหลังทศวรรษ 30s, เด็กชายถังเสี่ยวเซิน เดินทางจากบ้านนอกมาถึงนครเซียงไฮ้ ได้รับความช่วยเหลือจากลุงหลิว ทำงานเป็นคนรับใช้เซียวจินเป่า (รับบทโดย กงลี่) ชู้รักของเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้แซ่ถัง (รับบทโดย หลี่เป่าโถว) มีลูกน้องสนิทสองคน รองหัวหน้าซ่ง (รับบทโดย Sun Chun) และเจิ้ง (รับบทโดย Fu Biao)
เรื่องราวดำเนินไปในระยะเวลา 7-8 วัน นำเสนอผ่านมุมมองสายตาของถังเสี่ยวเซิน พบเห็นความอันตรายของวงการอาชญากรรม ใครทำอะไรผิดใจก็พร้อมตอบโต้ เข่นฆ่า นำมาสู่ความตายของลุงหลิว นิสัยเห็นแก่ตัวเอาแต่ใจของจินเป่า แอบลักลอบคบชู้กับรองหัวหน้าซ่ง แถมครุ่นคิดแผนการโค่นล้มเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ สุดท้ายแล้วใครจะรอด? ใครจะมอด? ทำไมโลกใบนี้มันช่างกลับหัวกลับหาง กลับตารปัตรทุกสิ่งอย่าง!
กงลี่, Gong Li (เกิดปี 1965) นักแสดง สัญชาติจีน เกิดที่นครเสิ่นหยาง, มณฑลเหลียวหนิง เป็นบุตรคนสุดท้องจากพี่น้องสี่คน บิดา-มารดาต่างทำงานสอนหนังสือ วัยเด็กหลงใหลด้านการร้องเพลง เต้นรำ วาดฝันโตขึ้นโตขึ้นอยากเป็นศิลปินออกอัลบัม ระหว่างเข้าศึกษาต่อ Central Academy of Drama ได้รับการค้นพบโดยผู้กำกับจางอี้โหมว แสดงภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Red Sorghum (1988) ทำให้มีโอกาสร่วมงานกันอีกหลายครั้ง (รวมถึงสานสัมพันธ์โรแมนติกช่วงระยะเวลาหนึ่ง) อาทิ Ju Dou (1990), Raise the Red Lantern (1991), The Story of Qiu Ju (1992), To Live (1994), Curse of the Golden Flower (2006), ส่วนผลงานเด่นๆผู้กำกับอื่น อาทิ Farewell My Concubine (1993), 2046 (2004), Memoirs of a Geisha (2005) ฯ
รับบทเซียวจินเป่า, Xiao Jinbao นักร้อง-เต้น แสดงคาบาเร่ต์ แม้ยังสวยสาวแต่ไม่ได้มีความสามารถ(ด้านการร้องเพลง)โดดเด่นนัก เพียงเพราะเป็นชู้รักเจ้าพ่อมาเฟียแซ่ถัง เลยได้รับการส่งเสริมสนับสนุนอย่างดี ตัวตนแท้จริงคือหญิงสาวบ้านนอกคอกนา ต้องการไต่เต้า ไขว่คว้าดาวดารา ลาภยศสรรเสริญ ยินยอมพร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อสนองกิเลสตัณหา ความพึงพอใจ โดยไม่สนต้องเหยียบย่ำซ้ำเติมผู้ใด
เมื่อแรกพบเจอเสี่ยวเซิน พยายามเน้นย้ำเรียกว่า ‘เด็กบ้านนอก’ ไม่ใช่เพื่อตอกซ้ำเติม แต่เพราะไม่ต้องการหวนระลึกถึงตนเองเมื่อครั้นเพิ่ง(บ้านนอก)เข้ากรุง เคยกระทำอะไรๆผิดพลาดมากมาย ป้ำๆเป๋อๆ ไร้เดียงสาแบบเดียวกัน … แม้ปากจะชอบพ่นคำร้ายๆ แต่จิตใจก็เป็นห่วงเป็นใยเสี่ยวเซิน ให้คำแนะนำเก็บสะสมเงินทองเพียงพอเมื่อไหร่ ก็หาหนทางออกไปจากสังคมต่ำตม เติมเต็มความเพ้อฝันของตนเอง
นี่เป็นตัวละครที่ไม่ได้มีความโดดเด่นอะไรในต้นฉบับนวนิยาย แต่เพราะจางอี้โหมวเริ่มตระหนักว่าต้องเลิกรากงลี่อย่างจริงๆจังๆ เลยขยับขยายบทบาทนี้โดยอ้างอิงอุปนิสัยใจคอ ธาตุแท้ตัวตน (จากมุมมองของเขาเอง) แล้วปรับเปลี่ยนเรื่องราวให้สอดคล้องบางสิ่งอย่างที่ประสบพบเจอกับเข้าตนเอง
บ่อยครั้งที่ผมรู้สึกว่ากงลี่เต็มไปด้วยความกระอักกระอ่วน โล้เล้ลังเล อารมณ์กวัดแกว่งผิดปกติ นั่นไม่น่าจะเพราะบทบาทหรอกนะครับ แต่คือความไม่เต็มใจที่ถูกจางอี้โหมวบีบบังคับให้ทำในสิ่งที่ตนเองไร้ซึ่งความมั่นใจ … โดยเฉพาะการร้องเพลง-เต้นรำ แม้นั่นคือความเพ้อฝันตั้งแต่วัยเด็ก เคยฝึกฝนร่ำเรียน แต่ก็ค่อนข้างชัดเจนว่านั่นไม่เหมาะกับเธอสักเท่าไหร่ เสียงร้องธรรมดาเกินไป ไร้พลังที่สามารถสร้างแรงดึงดูด (เมื่อเทียบกับฝีไม้ลายมือด้านการแสดง)
ฉากที่ผมประทับใจสุดๆไม่ใช่ตอนเธอ ‘pretender’ แต่งตัวสวยหรู เครื่องสำอางค์หนาเตอะ ดัดจริตปั้นแต่ง มารยาร้อยเล่มเกวียน แต่คือขณะสวมใส่ชุดธรรดาๆ บ้านนอกคอกหน้า ร่วมร้องเพลง เล่นเต้น เริงระบำกับเด็กๆ นั่นต่างหากคือธาตุแท้ตัวตน สิ่งที่จางอี้โหมวไม่สามารถมองเห็นจากกงลี่ได้อีกต่อไป
ถ่ายภาพโดย Lü Yue (เกิดปี 1957) ตากล้อง/ผู้กำกับชาวจีน เกิดที่เทียนจิน สำเร็จการศึกษาจาก Beijing Film Academy รุ่นเดียวผู้กำกับรุ่นห้า จบออกมาร่วมงานผู้กำกับเทียนจวงจวงเรื่อง On the Hunting Ground (1985), ผลงานเด่นๆ อาทิ To Live (1994), Shanghai Triad (1995), Breaking the Silence (2000), Red Cliff (2008) ฯ
ก่อนหน้านี้ผู้กำกับจางอี้โหมว แทบไม่เคยต้องออกเดินทางจากมณฑลส่านซี (บ้านเกิด) แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะเป็นครั้งแรกๆที่ถ่ายทำยังต่างมณฑล นครเซี่ยงไฮ้ นั่นเพราะต้องมองหาสถานที่ที่มีความทันสมัย โมเดิร์น และดูหรูหราฟุ่มเฟือย (แต่ผมไม่สามารถหารายละเอียดได้ว่าถ่ายทำยังแห่งหนไหนบ้างนะครับ)
งานภาพของหนังจะมีความฟุ้งๆ เบลอๆ ให้ความรู้สึกเหมือนฝัน หลุดล่องลอยในโลกแฟนตาซี แต่จะมีลักษณะแอบถ้ำมองผ่านสายตาของถังเสี่ยวเซิน จึงเต็มไปด้วยความลึกลับ พิศวง ใคร่อยากรู้อยากเห็น นำเสนอผ่านทั้งมุมมองบุคคลหนึ่ง และบุคคลที่สาม (ต้องมีเด็กชายปรากฎอยู่ทุกฉาก)
แทบทั้งเรื่องจะมีการจัดแสงจากหลอดไฟ นีออน สป็อตไลท์ ซึ่งสามารถสื่อถึงความจอมปลอม เสแสร้งสร้างภาพ ‘pretender’ แต่จะมีอยู่สองสามฉากถ่าย(ครึ่งหลัง)พบเห็นพระอาทิตย์ นั่นสะท้อนธรรมชาติชีวิต ตัวตน ธาตุแท้จริงของมนุษย์ ที่แทบไม่หลงเหลืออยู่บนโลกปัจจุบัน
ถังเสี่ยวเซิน รับบทโดยหวังเซียวเซีย, Wang Xiaoxiao ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกเรื่องเดียวในชีวิต คงได้รับการคัดเลือกจากดวงตาที่เต็มไปด้วยความใคร่รู้ใคร่เห็น เมื่อเบิกพองโตจะดูมีความหวาดหวั่นสั่นสะพรึง ซึ่งเหมาะกับตัวละครที่ชอบแอบถ้ำมองโลกแห่งอาชญากรรม พบสิ่งไม่ควรเห็น/ไม่สมควรเห็น ซึ่งสามารถเทียบแทนมุมมองผู้ชม คนนอก หรือถ้าเราเปรียบกลุ่มอาชญากร/แก๊งมาเฟีย = ชนชั้นผู้นำชาวจีน, เด็กชายสามารถเป็นตัวแทนคนจีนรุ่นใหม่ กำลังจะได้พบเห็น รับเรียนรู้ ตระหนักถึงตัวตน/ธาตุแท้จริงของประเทศแห่งนี้!
ภาพแรกของหนัง Close-Up ใบหน้าของถังเสี่ยวเซิน ดวงตาเบิกพองโต หันมองซ้ายมองขวา ผู้คนเดินทางไปมาขวักไขว่ เต็มไปด้วยความหวาดกลัว กระวนกระวาย หลังสิ้นสุด Opening Credit ถึงรับรู้ว่าเขาอยู่ยังท่าเรือ กำลังจับจ้องหาลุงหลิว ไม่ต้องการถูกทอดทิ้งยังสถานที่ไม่รู้จักแห่งนี้ … ภาพแรกนี้อาจไม่ได้แฝงนัยยะอะไรเกี่ยวกับหนัง แต่เป็นการปรับตัวผู้ชม ให้รับรู้ว่าต่อจากนี้จะนำเสนอผ่านมุมมองสายตาเด็กชายคนนี้
ทุกช็อตฉากของหนังจะต้องอยู่ในรัศมีสายตาของเสี่ยวเซิน ยกตัวอย่างชั้นล่างของโกดังร้างแห่งหนึ่ง (สามารถสื่อถึงโลกใต้ดิน/อาชญากร) เด็กชายนั่งหลบซ่อนตัวอยู่ด้านหลังรถบรรทุก พบเห็นเพียงเหตุการณ์ด้านล่าง ไม่รับรู้อะไรเกิดขึ้นด้านบนบ้าง แต่ก็ได้ยินเสียงปืนลั่น ใครต่อใครกำลังเร่งรีบหลบหนี สร้างความลึกลับ พิศวง ฉงนสงสัยให้ผู้ชมได้เฉกเช่นเดียวกัน … แต่ใครๆคงคาดเดาได้อยู่แล้วว่าเกิดเหตุอะไร
ชนชั้นผู้นำเพราะมีอำนาจ เงินทอง พรรคพวกพ้อง จึงชอบกระทำสิ่งลับๆล่อๆ ในมุมของเด็กชายอาจเคยได้ยิน เสียงลือเสียงเล่าอ้าง ย่อมสร้างความฉงนสงสัย อยากรู้อยากเห็นว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร
แม้ปฏิกิริยาของเสี่ยวเซิน จะตกตะลึง อ้าปากหวอ ต่อความงดงามของจินเป่า แต่ผู้ชมส่วนใหญ่คงไม่ทันสังเกต/สัมผัสได้สักเท่าไหร่ เพราะการมุมกล้องช็อตนี้มีลุงหลิว และฝรั่งซ้ายมือ แย่งความน่าสนใจไปโดยสิ้นเชิง (คงเป็นความจงใจเพื่อเทียบแทน ‘มุมมองต่างชาติ’ สามารถมองผ่านสายตาเด็กชายได้เช่นกัน)
ฉากภายใน Dancing Hall ถูกวิพากย์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่าไม่ได้สนความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ (ช่วงทศวรรษ 30s) บทเพลง-เต้นรำก็ดูสมัยใหม่ เหมือนได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์ Hollywood มากเกินไป! … สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะแทบไม่หลงเหลือบันทึกประวัติศาสตร์ช่วงเวลาดังกล่าว (ถูกทำลายแทบหมดสิ้นในช่วงปฏิวัติทางวัฒนธรรม) ทีมงานจึงครุ่นคิดออกแบบงานสร้างขึ้นเอง โดยอ้างอิงจากหนังสือ Orientalism (1978) เขียนโดย Edward W. Saïd
อย่างที่ผมแสดงความคิดเห็นไปว่า กงลี่แทบไม่มี Charisma ในการร้องเพลง-เต้นรำ ฉากเปิดตัวที่ควรโดดเด่น ก็มีเพียงชุดแดงแรงฤทธิ์ แค่นั้น! (เอาจริงๆแค่สาดแสงสป็อตไลท์ไปที่ตัวละคร ก็ช่วยสร้างความเจิดจรัสได้แล้วนะ) คงก็ต้องโทษว่ากล่าวผู้กำกับจางอี้โหมวด้วยละมั้ง ชัดเจนเลยว่าไม่มีความถนัด ไร้ประสบการณ์ต่อภาพยนตร์ที่ถ่ายทำในเมืองใหญ่ๆ/การจัดแสงจากหลอดไฟ (หรือเพราะหมดรักไปแล้วก็ไม่รู้นะ)
แต่เราสามารถมองความธรรมดาๆในการร้องเพลง-เต้นรำของจินเป่า ในแง่มุมของการมีเส้นสาย พรรคพวกพ้อง บุคคลอยู่เบื้องหลังให้การส่งเสริมสนับสนุน ถ้าเป็นคนมีอำนาจใหญ่โต ใครไหนจะกล้าหือรือ (แบบพวกแก๊งทั้งสี่ มีอำนาจล้นฟ้าช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม)
หลายคนอาจไม่ทันสังเกตว่าช็อตนี้คือภาพสะท้อนในกระจก (เพราะเห็นภาพเบลอๆด้านหลังศีรษะของกงลี่) ราวกับต้องการสื่อว่า พฤติกรรมน่ารำคาญของเธอฉากนี้ ล้วนเป็นการเสแสร้ง ปรุงปั้นแต่ง เล่นละคอนตบตา หาได้สะท้อนตัวตนแท้จริงของเธอออกมา … แต่มันก็โคตรน่ารำคาญสุดๆ แค่จุดบุหรี่ยังจุ้นจ้าน เรื่องมากๆๆ ยืดยาวไร้ความจำเป็น (แต่ก็แสดงถึงความบ้านนอกคอกนา ไร้เดียงสาของเด็กชายได้เป็นอย่างดี)
ลักษณะการแอบถ้ำมอง (ในสายตาของเด็กชาย) สังเกตว่าหนังจะเลือกมุมกล้องถ่ายจากระยะไกล ผ่านสิ่งกีดขวาง มีบางอย่างบดบังวิสัยทัศน์ และมักไม่ค่อยได้ยินเสียงพูดคุยสนทนา ผู้ชมเพียงรับรู้เพียงแค่ว่าพวกเขาทำอะไร (แต่ไม่รู้ว่ามีแผนการชั่วร้ายอะไร)
แม้เป็นความไม่ระวังของเสี่ยวเซิน ทำให้กระจกในห้องของจินเป่าแตกร้าว นอกจากสื่อถึงสภาพจิตใจแตกร้าวของเด็กชาย (ไม่ต้องการถูกกดขี่ บีบบังคับ อยากออกไปจากสถานที่แห่งนี้) ยังแฝงนัยยะหญิงสาวที่กำลังจะเปิดเผยธาตุแท้ตัวตน จากเคยเริดเชิดเย่อหยิ่ง เสแสร้งเล่นละคอนตบตา ดึกดื่นเมื่อใครๆหลับนอนก็แอบย่องไปเปิดประตูหลังบ้าน ให้รองหัวหน้าซ่งแอบเข้ามาเติมเต็มตัณหา สนองความต้องการของกันและกัน
เสี่ยวเซินแสดงความไม่ต้องการจะเป็นคนรับใช้ ทำงานยังสถานที่แห่งนี้อีกต่อไป แต่ถูกลุงหลิวตำหนิต่อว่า พูดจาบีบบังคับ ใช้กำลังตบหน้า นี่สะท้อนถึงแนวคิดถ้าเกิดเป็นชาวจีนย่อมไม่สามารถหลบหนีความเป็นจีน จำต้องมีวิถีชีวิตตามคำสั่งของท่านผู้นำ เหมือนกับขี้ข้าทาส สุนัขรับใช้ (ทฤษฎีการเรียนรู้ของ Pavlov สั่นกระดิ่งแล้วน้ำลายไหล)
นี่ทำให้ผมนึกถึงทิเบต ไต้หวันอยู่เล็กๆนะครับ รัฐบาลจีนพร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ทั้งสองดินแดนนี้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของตนเอง(ในอนาคต) เกิดเป็นจีนย่อมหนีความเป็นจีนไม่พ้น!
ยามค่ำคืนดึกดื่นจินเป่าแอบไปเปิดประตูหลัง เพื่อให้ชู้รักรองหัวหน้าซ่งสามารถลักลอบเข้ามาในบ้าน จากนั้นเขาหยิบกุหลาบขึ้นมาเด็ดดอมดม และโปรยลงบนใบหน้า … นัยยะของการเด็ดดอกไม้ ‘defloration’ แทนการร่วมรัก สูญเสียความบริสุทธิ์ แต่ขณะเดียวกันมันก็มีหนามแหลม พร้อมทิ่มแทงได้รับความเจ็บปวดแสนสาหัส (สื่อถึงการทรยศหักหลังได้เช่นเดียวกัน)
หนังแอบบอกใบ้เกี่ยวกับรองหัวหน้าซ่งอยู่หลายครั้ง อย่างช็อตนี้ที่คนอื่นๆต่างสวมใส่ชุดสีดำเข้ม แต่พี่แกกลับสร้างความแตกต่างด้วยการสวมสูทขาว ถือว่ามีความลับลมคม ผิดแผกแตกต่างพวกพ้องอย่างชัดเจน
รถไฟขบวนเซี่ยงไฮ้-USA เนื้อคำร้องก็ไม่ได้แฝงนัยยะอะไร อาจสื่อถึงอิทธิพลชาติตะวันตกที่แผ่เข้ามาในประเทศจีน หรือไม่ก็พยากรณ์การกำลังต้องออกเดินทางของตัวละคร (ไปยังเกาะห่างไกลแห่งหนึ่ง) … บอกตามตรงว่าผมไม่เห็นความจำเป็นของการแสดงชุดนี้เลยนะ!
หลังจากหนังพยายามปกปิด ซุกซ่อนเร้นสิ่งต่างๆไม่ให้เสี่ยวเซินพบเห็น กระทั่งเมื่อเกิดเหตุบางอย่างต่อลุงหลิว (ถือเป็นสมาชิกในครอบครัว คนใกล้ตัวเด็กชาย) ทั้งฉากอาบด้วยแสงสีแดง พื้นเต็นไปด้วยเลือด สัญลักษณ์ของความตาย หายนะ โศกนาฎกรรม ดวงตาของเขาเบิกโพลงโต พยายามกระเสือกกระสน ดิ้นรน แต่ก็ถูกใครบางคนฉุดเหนี่ยวรั้งไว้ด้านหลัง
ถือเป็นครั้งแรกที่เด็กชายได้พบเห็นสิ่งชั่วร้าย เกิดขึ้นกับคนใกล้ตัว แม้ว่าเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้อ้างว่าเป็นการกระทำของศัตรู (แท้จริงแล้วมันคือแผนการตลบหักหลัง ผมครุ่นคิดว่าน่าจะบอสนะแหละที่ลงมือเข่นฆ่าลุงหลิว) หลอกล่อให้เขาหลงเชื่อ เกิดความโกรธเกลียด อาฆาตมาดร้าย
แวบแรกที่ผมเห็นเกาะนี้ ชวนให้นึกถึงเกาะไต้หวัน ที่หลังจากนายพลเจียงไคเชกแห่งพรรคก๊กมินตั๋น พ่ายแพ้สงครามกลางเมืองจีนครึ่งหลัง (1945-49) ต้องอพยพหลบลี้หนีพรรคคอมมิวนิสต์มุ่งสู่เกาะประมงแห่งหนึ่ง ซึ่งถ้าเราเปรียบเทียบเรื่องราวในแต่ละวัน 1-7 สามารถเทียบเท่าศตวรรษ 10s-70s (ยกเว้นไคลน์แม็กซ์ที่กลับตารปัตรจากข้อเท็จจริง) พวกเขาเริ่มออกเดินทางดึกดื่นวันที่สาม และมาถึงเกาะแห่งนี้เช้าวันที่สี่
ใครว่างๆก็ลองเอาแนวคิดนี้ไปต่อยอดดูนะครับ ผมไม่ได้ชื่นชอบหนังมากพอจะเปรียบเทียบตีความมุมมองนี้สักเท่าไหร่
หนังทั้งเรื่องมีเพียงฉากนี้ที่ผมรู้สึกเจ็บจี๊ดทรวงใน เด็กสาวไม่รับรู้ตัวหรอกว่ากำลังถูกใช้ทำอะไร แต่ผู้ชมส่วนใหญ่น่าจะตระหนักได้ทันที ว่าไอ้หมอนี่กำลังตรวจสอบว่าในอาการแอบใส่ยาพิษหรือเปล่า? เห้ย กับเด็กสาวเนี่ยนะ!
ผมมองนัยยะถึงการยัดเยียดแนวคิด (วางยาพิษ) ปลูกฝังอุดมการณ์ความคิดให้เด็กรุ่นใหม่ (เธอคนนี้ยังถูกเสี้ยมสอนต่อว่า โตขึ้นต้องสวย ต้องรวย เหมือนพี่สาวสวย และต้องอาศัยอยู่เมืองใหญ่) ไม่สนหรอกว่าดีชั่ว-ถูกผิด แค่สามารถตอบสนองความต้องการของชนชั้นผู้นำก็เพียงพอแล้ว!
การนำเสนอในลักษณะแอบถ้ำมอง ย่อมต้องมีฉากตัวละครมองลอดรู แอบดูสิ่งที่อยู่ภายในกระท่อมของคุยเฮา จะว่าไปพฤติกรรมสอดรู้สอดเห็นของทั้งจินเป่าและเสี่ยวเซิน ถือว่าเข้าขากันดี (มาจากรากเหง้า บ้านนอกคอกนาเดียวกัน) แต่การกระทำของเธอหลังจากนี้ เข้าไปยุ่งวุ่นวาย ขัดขวางความสุขคู่รักชาย-หญิง เป็นการแอบเสียดสีนโยบายลูกคนเดียวอยู่เล็กๆ (สะท้อนพฤติกรรมของชนชั้นผู้นำ พยายามเข้าไปจุ้นจ้าน เจ้าจี้เจ้าการกับเรื่องส่วนตัว/ภายในครอบครัว)
เกาะแห่งนี้แม้อยู่ห่างไกลความเจริญ แต่แสงจากดวงอาทิตย์มอบสัมผัสธรรมชาติชีวิต ซึ่งเมื่อจินเป่าสวมใส่ชุดบ้านๆ เข้าไปร้องเพลง-เต้นรำกับเด็กๆ ช่างเป็นช่วงเวลาแห่งความสนุกสนาน เบ่งบานรอยยิ้มจากภายใน (เป็นช็อตสวยสุดในหนังแล้วกระมัง)
แต่ระหว่างช่วงเวลาแห่งความสุขนั้น จินเป่าก็แอบพบเห็นศพขึ้นอืดลอยน้ำมา นั่นคือชายคนรักของคุยเฮา ถูกเก็บเพราะความสอดรู้สอดเห็นของเธอเอง (คือถ้าค่ำคืนก่อนจินเป่าไม่ได้ไปบ้านของคุยเฮา ย่อมไม่มีใครรับล่วงรู้การมีตัวตนของชายคนนี้) นั่นสร้างความรู้สึกผิดแก่ใจขึ้นอย่างรุนแรง
ค่ำคืนนั้นจินเป่าหวนกลับไปที่บ้านของคุยเฮา พยายามพูดโน้มน้าวชักชวนทั้งแม่-ลูก ให้เดินทางสู่เซี่ยงไฮ้ด้วยกัน จะได้ช่วยเหลือ ส่งเสริมสนับสนุน ชดใช้ความผิดเคยก่อกรรมไว้ … แต่ทั้งสองก็ปฏิเสธเสียงขันแข็ง ตั้งคำถามย้อนกลับ มีชีวิตเรียบง่ายแบบนี้ไม่ดียังไง? การสานตะกร้าสามารถสื่อถึงความต้องการก่อร่างสร้างชีวิตด้วยสองมือตนเอง ไม่ต้องการเป็นข้าทาส คนรับใช้ เลียแข้งเลียขาผู้ใด
แม้ภายในบ้านมีแสงสว่างอบอุ่น แต่ท้องฟ้าครามภายนอกมืดครื้ม พบเห็นลมพายุพัดแรง มรสุมที่ไม่มีใครควบคุมได้ กำลังใกล้เข้ามาทำลายล้างทุกสรรพสิ่งอย่างบนเกาะแห่งนี้
เสียงกระซิบที่ล่องลอยตามลมระหว่างเสี่ยวเซินกำลังปลดทุกข์ ท้องเสีย (แฝงนัยยะถึงความปั่นป่วน/ขัดแย้งภายใน) ทำให้เขาเกิดความตระหนักตกใจ วิ่งตรงเข้ามายังห้องของบอสใหญ่ ทั้งสี่ตัวละครหลักกำลังนั่งเล่นไพ่นกกระจอก วัดดวง วัดโชคชะตากรรม ใครจะเป็นผู้แพ้-ผู้ชนะ ในการเดิมพันครั้งนี้!
ปล. ตำแหน่งของหมอ นั่งอยู่ภายในกรอบด้านหลังจินเป่า สามารถสื่อถึงการเป็นคนนอก (ไม่มีอำนาจในแก๊งมาเฟีย) แต่ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากๆ (เป็นผู้ดูแล/คนสนิทชิดใกล้บอสมากที่สุด)
เมื่อแรกพบเจอเสี่ยวเซินเต็มไปด้วยอคติต่อนายหญิงจินเป่า ไม่ชอบที่เธอพูดคำเหยียดหยามดูถูก แต่หลังจากเรียนรู้พบเห็นตัวตนอีกฝั่งฝ่าย ชีวิตประสบเรื่องยุ่งๆวุ่นวาย แต่ก็มีความจงรัก ซื่อสัตย์ ไม่สามารถยินยอมรับการสูญเสีย ด้วยเหตุนี้จึงถูกบอสลงโทษด้วยการห้อยหัวต่องแต่งระหว่างขึ้นเรือเดินทางกลับนครเซี่ยงไฮ้
นัยยะทั่วไปของปัจฉิมบทนี้คือมุมมองที่กลับตารปัตร ซึ่งสามารถสื่อถึงผลลัพท์ไม่เป็นไปตามที่เสี่ยวเซินคาดหวัง หรือคือชัยชนะของเจ้าพ่อมาเฟีย (มันเหมือนว่านายพลเจียงไคเชกได้เดินทางกลับจีนแผ่นดินใหญ่ แต่นั่นคือโลกที่กลับตารปัตร ‘Multiverse’ เสียมากกว่า)
เช่นกันกับเด็กหญิงที่ยังไม่รับรู้ตัวว่าได้สูญเสียมารดาและพี่สาว(จินเป่า) ถูกลวงล่อหลอกจากคำพูดของบอสใหญ่ ทำให้ชีวิตของเธอหลังจากนี้จักกลับตารปัตรตรงกันข้ามกับที่เคยเป็นมา
และอาจจะสื่อถึงความรักของผู้กำกับจางอี้โหมวต่อกงลี่ จากเคยลุ่มหลงใหล คลุ้มคลั่งไคล้ มาบัดนี้ทุกสิ่งอย่างได้กลับตารปัตรตรงกันข้าม หมดซึ่งความรู้สึก ร่ำลาจากเกาะสวรรค์ ใกล้ถึงเวลาบอกเลิกรา
ตัดต่อโดย ดูหยวน, Du Yuan ในสังกัด Xi’an Film Studio ขาประจำผู้กำกับจางอี้โหม่วในยุคแรกๆ ตั้งแต่ Ju Dou (1990), Raise the Red Lantern (1991), The Story of Qiu Ju (1992), To Live (1994), Shanghai Triad (1995) ฯ
ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาเด็กชายถังเสี่ยวเซิน ตั้งแต่เดินทางมาถึงท่าเรือแห่งหนึ่งในนครเซี่ยงไฮ้ ได้รับคำแนะนำจากลุงหลิว สอนให้เรียนรู้จักหน้าที่การงาน เป็นคนรับใช้เซียวจินเป่า พบเห็นเหตุการณ์ต่างๆบังเกิดขึ้นในระยะเวลา 7-8 วัน
- วันที่หนึ่ง, เสี่ยวเซินเดินทางมาถึงเซี่ยงไฮ้ ได้รับความช่วยเหลือจากลุงหลิว เสี้ยมสอนการเป็นคนรับใช้จินเป่า
- วันที่สอง, นำเสนอชีวิตวันๆของเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ และจินเป่า
- วันที่สาม, เกิดเหตุการณ์ต่อสู้ระหว่างแก๊ง ทำให้เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ได้รับบาดเจ็บ ลุงหลิวถูกเข่นฆาตกรรม ทั้งหมดจึงออกเดินทางมุ่งเกาะห่างไกลแห่งหนึ่ง
- วันที่สี่, เดินทางมาถึงเกาะห่างไกล วันๆไม่มีอะไรทำ จินเป่าเลยหยอกล้อเล่นกับคุยเฮา (คุณแม่ยังสาวที่พักอาศัยอยู่บนเกาะกับลูกสาว)
- วันที่ห้า, ช่วงหัวค่ำจินเป่า แอบไปถ้ำมองบ้านของคุยเฮา สอดรู้สอดเห็น และเข้าไปก่อกวนขัดจังหวะความสุข
- วันที่หก, จินเป่ารู้สึกผิดที่เป็นต้นสาเหตุให้คนรักของคุยเฮาถูกเข่นฆาตกรรม พยายามพูดโน้มน้าวอยากให้ความช่วยเหลือถ้าเธอและบุตรตัดสินใจไปอยู่เซี่ยงไฮ้ด้วยกัน แต่กลับถูกบอกปัดปฏิเสธ
- วันที่เจ็ด, สองลูกน้องคนสนิท ซ่งและเจิ้ง เดินทางมาหาเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ที่เกาะแห่งนี้ และความจริงทั้งหมดก็ได้รับการเปิดเผย
- ปัจฉิมบท (เช้าวันที่แปด) เดินทางกลับเซี่ยงไฮ้
การดำเนินเรื่องผ่านสายของเด็กชาย ทำให้บ่อยครั้งมีการตัดสลับไปมาระหว่างมุมมองบุคคลที่หนึ่ง และบุคคลที่สาม (เพื่อสื่อถึงการแอบถ้ำ จับจ้องมอง ลอดพานผ่านอะไรสักอย่าง) นั่นทำให้หนังมีความลึกลับพิศวง ฉงนสงสัย ใคร่อยากรู้อยากเห็น มันจะมีอะไร(หักมุม)เกิดขึ้นบ้างไหม
แต่ผมรู้สึกว่านั่นไม่ใช่วิธีการดำเนินเรื่องที่เหมาะสมสักกับหนังประเภทนี้สักเท่าไหร่ ลักษณะการแอบถ้ำมองโลกของอาชญากร (ผ่านสายตาเด็กชายไร้เดียงสา) นำพาให้ผู้ชมรู้สึกล่องลอยไป ไร้อารมณ์/ความรู้สึกร่วม ราวกับจมอยู่ในความเพ้อฝัน ใครจะเป็นจะตายก็ตามสบาย พอถึงมาไคลน์แม็กซ์(ที่เป็นการหักมุม) มันเลยไม่ตึ่งโป๊ะ! จบแล้วเหรอ??? เหมือนไม่เคยมีอะไรบังเกิดขึ้น
เพลงประกอบโดย จางกวงเทียน, Zhang Guangtian (เกิดปี 1966) ผู้กำกับ นักเขียน นักแต่งเพลง เคยร่ำเรียนเภสัชยัง Shanghai College of Chinese Medicine แต่เหมือนยังไม่ทันสำเร็จการศึกษา ถูกส่งไปใช้แรงงานหนักเพราะทัศนคติทางการเมือง เป็นพวกซ้ายจัด (New Left) คนหัวรุนแรงมากๆ ยึดถือมั่นในวัฒนธรรมจีน ต่อต้านถูกกลืนกินโดยอเมริกัน (Americanization), ช่วงทศวรรษ 90s หันมาออกอัลบัม เขียนเพลงประกอบซีรีย์ กำกับละครเวที และภาพยนตร์
นี่เป็นครั้งแรกของจางอี้โหมวไม่ได้ร่วมงานเจ้าจี้ผิง (และไม่เคยร่วมงานกันอีกหลังจากนี้) ไม่แน่ใจว่ามีความขัดแย้งอะไรกันหรือเปล่า แต่อีกเหตุผลหนึ่งเพราะหนังเรื่องนี้ไม่ได้มีความพื้นเมือง หรือต้องใช้บทเพลงประจำถิ่น(ส่านซี)อีกต่อไป! … เป็นครั้งแรกที่จางอี้โหมวก้าวออกมาจากสร้างภาพยนตร์นอกถิ่นฐานบ้านเกิดด้วยนะ
ตัวเลือกจางกวงเทียน เหมือนจะด้วยทัศนคติทางการเมือง (มากกว่าความสามารถในการแต่งเพลง) ด้วยข้อเรียกร้องใช้เครื่องดนตรีตะวันตกผสมผสาน สร้างกลิ่นอายความเป็นตะวันออกให้มากที่สุด (เพราะจางกวงเทียนเต็มไปด้วยอคติต่ออเมริกา น่าจะสามารถรังสรรค์สร้างบทเพลงที่มีกลิ่นอายความเป็นจีนออกมาได้)
ในส่วนของ Soundtrack แม้สามารถสร้างบรรยากาศลึกลับ ซุกซ่อนเร้นภยันตราย ความโฉดชั่วร้ายของโลกอาชญากรรม แต่หนังนำเสนอในมองมุมของเด็กชาย มันควรจะเป็นความฉงนสงสัย ใคร่อยากรู้อยากเห็น ใส่ความไร้เดียงสาลงไปมากกว่านี้ … แม้ความไพเราะของบทเพลงค่อนข้างใช้ได้ แต่ดูไม่ค่อยสอดคล้องเข้ากับวิธีการนำเสนอสักเท่าไหร่
ขณะที่บทเพลงคำร้องซึ่งน่าจะจุดขายของหนัง กลับดับดิ้นเพราะเสียงร้องของกงลี่ ไร้ซึ่งพลัง เสน่ห์หลงใหล ไม่มีความน่าประทับใจเลยสักนิด! (ใครฟังแล้วรู้สึกว่าเพราะก็เพราะนะครับ นี่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวล้วนๆ) ซึ่งบทเพลง The Pretender ก็แฝงนัยยะชัดเจนมากๆว่าต้องการเสแสร้งถึงอะไร
Pretending, you’re pretending
Don’t bother pretending
You can’t wait to look at me
Don’t be shy, take a good look
Don’t bother pretending
We have the same tastes!
อีกบทเพลงไฮไลท์ของหนัง Bright Moon พรรณาความโรแมนติกของคู่รักหนุ่มสาว ที่ฟังแล้วรู้สึกอิจฉาริษยาชอบกล เลยไม่น่าแปลกใจที่เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้จะสั่งห้ามร้องเพลงนี้ แต่จินเป่าสนใจเสียที่ไหน ต้องการขับร้องให้ชู้รักรองหัวหน้าซ่ง ทุกค่ำคืนบังเกิดความเคลิบเคลิ้มหลงใหล เพื่อว่าหลังจากนี้จักได้ …
Far away the clouds are fading
My lover appears in the moonlight
Tonight we are happy together again
On the crystal water swims a pair of ducksGreen leaves, red petals
The lotus flowers open
A pair of ducks and you and I together
The playful breeze caresses the flowers
And our love lights up the world
สำหรับบทเพลงชื่อหนัง(ภาษาจีน) Yáo a Yáo, Yáo Dào Wàipó Qiáo แปลว่า Row, row, row to Grandma Bridge (ย่อๆว่า Grandma’s Lullaby) เป็นเพลงกล่อมเด็ก (Nursery Song) ที่สร้างสัมผัสหวนระลึกถึงให้กับจินเป่า เพราะอดีตเธอก็เคยเป็นหญิงสาวบ้านนอกคอกนา ชุดสามัญชนที่กำลังสวมใส่ ดูสวยงามกว่าเดรสหรูๆ เครื่องสำอางค์หน้าเตอะๆ มีความเป็นธรรมชาติ ธาตุแท้จริงมากกว่า
Row, row, row
Over Grandma’s bridge
Grandma says I’m good as gold
I know how to laugh
I know how to cry
Two yellow dogs carry the litter
On the bridge the birds are tweeting
Shanghai Triad (1995) นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าพ่อมาเฟีย สังคมอาชญากรรม โลกใต้ดิน พานผ่านมุมมองสายตาหนุ่มน้อยวัยสิบสี่ เต็มไปด้วยความระริกระรี้ อยากรู้อยากเห็น แต่แล้วเมื่อประจักษ์เหตุการณ์ชั่วร้ายทั้งหลาย พฤติกรรมคบชู้สู่ชาย ทรยศหักหลังพวกพ้อง เข่นฆาตกรรมอีกฝั่งฝ่าย ทุกสิ่งอย่างภายในความครุ่นคิด/จิตใจ โลกทัศน์ของเด็กชายก็เริ่มกลับตารปัตรตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง!
ด้วยวิธีการนำเสนอของผู้กำกับจางอี้โหมว ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเกี่ยว ‘มุมมอง’ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ชมสามารถครุ่นคิดเห็นอะไรได้บ้าง, โดยพื้นฐานเจ้าพ่อมาเฟีย สามารถเทียบแทนด้วยชนชั้นผู้นำการปกครองจีน ซึ่งเราสามารถไล่ย้อนไปตั้งแต่นายซุนยัดเซ็น รัฐบาลยุคนั้นมีการจับมือร่วมกันระหว่างพรรคก๊กมินตั๋น กับพรรคคอมมิวนิสต์ (เพื่อโค่นล้มราชวงศ์ชิง เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองสู่สาธารณรัฐจีน) แต่หลังจากการเสียชีวิตของ ‘บิดาของชาติ’ ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในอย่างรุนแรง พัฒนากลายมาเป็นสงครามกลางเมือง ยืดเยื้อยาวนานจนกระทั่งนายพลเจียงไคเช็กต้องหลบหนีซมซานสู่เกาะไต้หวัน เพ้อฝันสักวันจะมีโอกาสหวนกลับจีนแผ่นดินใหญ่ (เรื่องราวในหนังบอสใหญ่แซ่ถังสามารถหาหนทางกำจัดผู้ทรยศหักหลังและได้เดินทางกลับบ้าน แต่มันคือจักรวาลคู่ขนานของโลกความจริง หรือคือเด็กชายพบเห็นทุกสิ่งอย่างกลับตารปัตรบน-ล่าง)
นับตั้งแต่เติ้งเสี่ยงผิงผลักดันนโยบาย ‘เปิดประตู’ เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศเมื่อปี 1986 ก็ทำให้ชาวต่างชาติเริ่มไหลมาเทมา เข้ามาปักหลักอยู่อาศัยในประเทศจีนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อิทธิพลตะวันตกค่อนข้างสร้างความหวาดสะพรึงกลัวต่อนักอนุรักษ์นิยม ซ้ายจัดรุนแรง (ผู้กำกับจางอี้โหมว คงเฉกเช่นเดียวกัน) พยายามหาหนทางต่อต้านการเข้ามา Westernization และ Americanization ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้แม้มีเรื่องราวช่วงทศวรรษ 30s (นั่นคือยุคแรกๆที่ต่างชาติเริ่มเข้ามาในจีน แต่ก็สาปสูญหายไปแทบหมดสิ้นในช่วงสงครามกลางเมือง และการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ปิดประเทศไปหลายทศวรรษ!) แต่สามารถสะท้อนสิ่งกำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน(นั้น)ไม่ต่างกัน … ในส่วนนี้อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องราวโดยตรง แต่คืออิทธิพลที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต สภาพสังคม โดยเฉพาะค่านิยมของตัวละคร และภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างชัดเจน
แซว: ผู้กำกับจางอี้โหมวสรรค์สร้าง Shanghai Triad (1995) ก็มีความเป็น ‘ตะวันตก’ ได้รับอิทธิพลจากหนังอาชญากรรมฝั่ง Hollywood ไม่น้อยเลยละ!
มุมมองของผู้กำกับจางอี้โหมว เทียบแทนตนเองเหมือนบอสใหญ่/เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ ให้การส่งเสริมสนับสนุน (เคย)ตกหลุมรักคลั่งกงลี่ แต่แท้จริงยัยคนนี้คือจอม ‘pretender’ อดีตเป็นเพียงหญิงสาวบ้านนอกคอกนา ถูกนำพาเข้าเมืองหลวง แต่งหน้าทำผม แต่งองค์ทรงเครื่อง เสแสร้งสร้างภาพให้ดูดี ความสามารถ(ในการร้องเพลง-เต้นรำ)ก็ไม่ได้โดดเด่นสักเท่าไหร่ แถมยังแอบลักลอบคบชู้นอกใจ พร้อมคิดคดทรยศหักหักหลังได้ทุกเมื่อ … หลังถ่ายทำหนังเรื่องนี้เสร็จสิ้น จางอี้โหมวก็เป็นฝ่ายบอกเลิกรากงลี่ แบบเดียวกับบอสใหญ่ที่จับได้ไล่ทันจินเป่า การมายังสถานที่ห่างไกลแห่งนี้/สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็ด้วยแผนการครุ่นคิดตลบหลังมาตั้งแต่ต้น!
ผมไม่ชอบความตั้งใจดังกล่าวของจางอี้โหมวเลยนะ ดั่งบทกวีสุนทรภู่จากพระอภัยมณี
เขาย่อมเปรียบเทียบความว่ายามรัก
พระอภัยมณี, ประพันธ์โดยสุนทรภู่
แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน
ครั้งรักจางห่างเหินไปเนิ่นนาน
แต่น้ำตาลว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล
ภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้าล้วนพยายามส่งเธอให้เจิดจรัส กลายเป็นดาวดาราประดับฟากฟ้า แต่ผลงานเรื่องสุดท้ายก่อนบอกเลิกรา กลับเต็มไปอคติ นำเสนอพฤติกรรมโฉดชั่วร้าย พยายามทำให้เธอรู้สึกอับอายขายขี้หน้า … จริงอยู่นี่ลักษณะของศิลปินสรรค์สร้างผลงานศิลปะ แต่พฤติกรรมดังกล่าวมันแสดงถึงความอ่อนแอ ขี้ขลาดเขลา ไม่ใช่ลูกผู้ชาย (สันดานเดียวกับ François Truffaut รักใครชอบใครก็สรค์สร้างภาพยนตร์สรรเสริญเยินยอ บอกเลิกราเมื่อไหร่ก็แสดงออกธาตุแท้ตัวตน)
ส่วนตัวไม่ได้มีอคติต่อจางอี้โหมว (หรือแม้แต่ Truffaut นะครับ) เพียงแต่ภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจากความตั้งใจลักษณะนี้ คือสิ่งที่ผมโคตรจะไม่ชอบอย่างสุดๆๆ เพราะมันสะท้อนสันดานธาตุแท้ของผู้สร้าง แสดงถึงความ ‘abuse’ ในฐานะผู้กำกับ ใช้ศิลปะด้อยค่าผู้อื่น มันไร้สำนึกมโนธรรมเกินไป
แม้ตลอดทั้งเรื่องผู้กำกับจางอี้โหมวเหมือนพยายามด้อยค่ากงลี่ ทำให้ดูไร้ความสามารถ เต็มไปด้วยร้อยเล่ห์มารยาหญิง ต้องการเข่นฆ่าใต้ตกตาย ยินยอมรับไม่ได้ต่อการทรยศหักหลัง! แต่ปัจฉิมบทที่นำเสนอภาพในทิศทางกลับตารปัตร เพราะโลกความจริงไม่มีทางที่เขาจะสามารถกระทำได้เช่นนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเพียงความเพ้อฝัน ล่องลอยไป ค่อยๆห่างไกลออกจากเกาะสวรรค์
ผมแอบแปลกใจเล็กๆที่หนังผ่านกองเซนเซอร์ประเทศจีน ทั้งๆกลุ่มอาชญากรรม เจ้าพ่อมาเฟีย สามารถตีความถึงชนชั้นผู้นำประเทศ (จะมองว่าคือรัฐบาลคอมมิวนิสต์ก็ได้เช่นกัน) เต็มไปด้วยความคอรัปชั่น การทรยศหักหลัง ฯลฯ แต่พวกเขาอาจมองประเด็นเหล่านั้นมีความเป็นส่วนตัวผู้กำกับจางอี้โหมวมากกว่า เลยไม่ติดใจอะไร
หนังเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes เสียงตอบรับแค่กลางๆ แต่ได้รับรางวัล Technical Grand Prize ด้านการถ่ายภาพ ซึ่งน่าจะคือเหตุผลหลักๆทำให้เข้าชิง Oscar: Best Cinematography แต่พ่ายให้กับ Braveheart (1995) รวมถึงฟลุ๊คเข้าชิง Golden Globe: Best Foreign Language Film (พ่ายให้กับ Les misérables (1995) ของผู้กำกับ Claude Lelouch)
ความที่หนังไม่ได้โดดเด่นน่าจดจำนัก โอกาสได้รับการบูรณะคงยากสักหน่อย ฉบับที่ผมรับชมคือ Blu-Ray ของ Film Movement (สัญชาติอังกฤษ) เป็นการสแกน 1080p เมื่อปี 2020 แต่คุณภาพแค่พอใช้ คาดว่าฟีล์ม(ที่สแกน)คงมีความเสื่อมสภาพพอสมควร
ผมเคารพในฝีไม้ลายมือ วิสัยทัศน์ในการสรรค์สร้างภาพยนตร์ของจางอี้โหมวมากๆนะ แต่ไม่ใช่กับ Shanghai Triad (1995) ที่มีความ’ตั้งใจ’นำเสนอความอัปลักษณ์ ตีแผ่พฤติกรรมโฉดชั่วร้าย ต้องการสร้างความอับอายขายขี้หน้าให้(อดีต)แฟนสาวกงลี่ แม้อ้างว่าทั้งหมดนี้คือผลงานศิลปะ ก็หาใช่พฤติกรรมลูกผู้ชายสักเท่าไหร่! … แม้ผมไม่ได้ชื่นชอบตัวจริงของกงลี่มากนัก แต่ก็รู้สึกเห็นใจเธอไม่น้อยเลยละ
พอตระหนักว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการประจาน(อดีต)แฟนสาว ผมก็ไม่ค่อยอยากแนะนำใครสักเท่าไหร่ แต่งานภาพที่สวยมากๆ ใครเป็นตากล้อง ช่างถ่ายรูป ไม่ควรพลาดเลยนะ, หรือคนหลงใหลหนังแนวอาชญากร มาเฟีย เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ทศวรรษ 30s ลองหามารับชมดูก็แล้วกัน
จัดเรต 13+ กับอาชญากรรม เจ้าพ่อมาเฟีย การทรยศหักหลัง
Leave a Reply