The Chess Player

Shatranj Ke Khiladi (1977) Indian : Satyajit Ray ♥♥♥

The Chess Player ของ Satyajit Ray เป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ที่ใช้กลยุทธ์หมากรุกเป็นสิ่งเปรียบเทียบ เมื่ออังกฤษเข้ายึดครองอินเดียเป็นเมืองขึ้น ปี 1856 เหลือกษัตริย์พระองค์สุดท้าย Wajid Ali Shah แห่ง Awadh วิธีการที่นายพล James Outram ใช้คือคือต้อนให้จนมุมแล้วรุกฆาต

หมากรุก (ภาษาอังกฤษ Chess, ภาษาฮินดี Shatranj) เป็นเกมกระดานชนิดหนึ่ง จำลองการสงคราม ใช้ผู้เล่น 2 คน แต่ละฝ่ายต้องพยายามรุกไล่อีกฝ่ายให้จนมุม (ไม่สามารถเดินต่อไปได้) ถือกำเนิดในประเทศอินเดีย ตั้งแต่ประมาณศตวรรษที่ 6 ยุคสมัยของ Gupta Empire ได้อิทธิพลแรงบันดาลใจจากตำนาน เมื่อครั้งพระรามไปล้อมเมืองลงกา นางมณโฑเห็นทศกัณฐ์เป็นกังวลกับการสงคราม จึงได้นำกระบวนสงครามตั้งทำเป็นหมากรุกให้เล่นแก้รำคาญ ชาวอินเดียเรียกหมากรุกว่า ‘จตุรังกา’ (ภาษาสันสกฤต Chaturanga) เพราะเหตุที่นำกระบวรพล 4 เหล่าทำเป็นตัวหมากรุก คือ พลช้าง 1 พลม้า 1 พลเรือ 1 พลราบ (เบี้ย) 1 มีพระราชา (ขุน) เป็นจอมทัพ ตั้งเล่นบนแผ่นกระดานจัดขึ้นเป็นตาราง 64 ช่อง

ปัจจุบันหมากรุกมีกฎกติกาการเล่นแตกต่างไปตามภูมิภาค สากลเล่นอย่างหนึ่ง, อินเดียก็อย่างหนึ่ง, เมืองไทยก็อีกอย่างหนึ่ง ขอไม่อธิบายความแตกต่างนะครับ แต่ทุกกระดานมีจุดมุ่งเป้าหมายเดียวกันคือ ไล่ต้อนพระราชา (ขุน) ฝ่ายตรงข้ามให้จนมุม ไม่สามารถเดินไปไหนต่อได้ (หรือเดินไปทางไหนก็ตาย) เกมก็จะจบลงด้วยคำพูด รุกฆาต (Checkmate)

ดัดแปลงจากเรื่องสั้น Shatranj ke khiladi เขียนโดย Munshi Premchand (Munshi เป็นคำนำหน้าเกียรติศักดิ์ ที่ในภาษา Hindi-Urdu ใช้ยกย่องนักเขียนผู้เป็น บรมครู/ปรมาจารย์/ยอดฝีมือ) เมื่อปี 1924 เป็นภาษา Hindi ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆมากมาย มี 2 เรื่องราวที่เล่าคู่ขนานกัน

เรื่องแรกกษัตริย์พระองค์สุดท้าย (Nawab) ผู้ครองเมือง Awadh (ปัจจุบันคือเมือง Lucknow) ชื่อ Wajid Ali Shah มีความสนใจในกวีนิพนธ์, บทละคร, ร้องเล่นเต้น, ทุ่มเทกายใจในศรัทธาพระศาสนา แต่ไม่สนใจการบริหารปกครองบ้านเมือง ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของที่ปรึกษาฝ่ายต่างๆ [โคน/ม้า/เรือ] ทำให้นายพลจากอังกฤษ General James Outram ตัดสินใจเข้ายึดอำนาจ ซึ่งพระองค์ทรงพระราชทานให้โดยดี ไม่เกิดการนองเลือดสูญเสียใดๆ

อีกเรื่องราวหนึ่ง ขุนนางสองคน Mirza Sajjad Ali กับ Mir Raushan Ali ต่างหลงใหลคลั่งไคล้ (obsessed) ในเกมกระดานหมากรุก ความต้องการอยากเล่นของพวกเขา รุนแรงขนาดไม่สนความรับผิดชอบ หน้าที่การงาน ครอบครัว สังคม ขนาดว่าขณะทหารอังกฤษกำลังกรีธาทัพเข้าไปในเมือง พวกเขาหนีออกมาหาที่เล่นหมากรุกนอกเมือง

สองเรื่องราวนี้ถือว่าสะท้อนซึ่งกันและกัน แทบทุกสิ่งอย่าง
– กษัตริย์ Wajid Ali Shah เทียบกับ Mirza Sajjad Ali (หรือจะ Mir Raushan Ali ก็ได้)
– General James Outram เทียบกับ Mir Raushan Ali (หรือจะ Mirza Sajjad Ali)
– กษัตริย์สนใจแต่ศิลปะ ดนตรี กวีนิพนธ์ เทียบกับ ขุนนางทั้งสองสนใจแต่จะเล่นหมากรุก
– กษัตริย์ไม่สนใจใยดีในการบริหารปกครองบ้านเมือง เทียบกับ ขุนนางทั้งสองไม่สนใจใยดีในหน้าที่การงานความรับผิดชอบ
– กษัตริย์หนีความรับผิดชอบ ยินยอมให้อังกฤษยึดอำนาจโดยง่าย เทียบกับ ขุนนางทั้งสองหนีไปเล่นหมากรุกนอกเมือง โกรธเคืองกันแต่ไม่นานก็ให้อภัย (เพราะกลัวจะไม่มีเพื่อนเล่นหมากรุก)
ฯลฯ

Amjad Khan รับบทกษัตริย์ Wajid Ali Shah ผู้หลงใหลในศิลปะและความงามของชีวิต ไม่ชื่นชอบความขัดแย้งวุ่นวาย, นี่เป็นการพลิกบทบาทครั้งใหญ่สุดของ Amjad เพราะปกติมักรับบทตัวร้าย โฉดชั่วอมตะตลอดกาลจากหนังเรื่อง Sholay (1975) แต่เรื่องนี้รับบทตัวละครที่ไม่มีความรุนแรงในจิตใจแม้แต่น้อย!, ผมทึ่งสุดวินาทีที่พระองค์ประทับเหม่อมองพระอาทิตย์ขึ้น (หรือตกดินหว่า) เหล่าขุนนางกำลังรายงานความคืบหน้าของการเตรียมทัพ รอตรัสของกษัตริย์ แต่แทนที่จะทรงดำริอะไร กลับนิพนธ์กลอนขึ้นมาบทหนึ่ง บร่ะ!

Richard Attenborough นักแสดง/ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษชื่อดัง รับบท General James Outram นายพลผู้ไม่พยายามทำความเข้าใจวัฒนธรรมตะวันออกแม้แต่น้อย ยึดถือตั้งมั่นในความคิดความต้องการของตนเอง, เห็นว่า Attenborough มีความฝันมานานที่อยากทำหนังเกี่ยวกับ Mahatma Gandhi การได้มาอินเดียครั้งนี้ ถือว่าเป็นโอกาสและได้สำรวจความเป็นไปได้ หลายปีถัดมาจึงสามารถทำความฝัน เป็นผู้กำกับสร้าง Gandhi (1982) ได้สำเร็จ

Sanjeev Kumar รับบท Mirza Sajjad Ali นักเล่นหมากรุกผู้ไม่สนใจภรรยาของตัวเอง จนเธอต้องขโมยตัวหมากไปซ่อน แต่เขาก็หาทางเล่นจนได้, Sanjeev คืออีกหนึ่งนักแสดงในตำนานของอินเดีย คว้า National Film Award: Best Actor ถึง 2 ครั้งจาก Dastak (1970) กับ Koshish (1972) ผมว่าการเลือกมารับบทนี้เพื่อเป็นกระจกสะท้อนกับ Amjad แบบเดียวกับที่ทั้งสองเป็น ฝั่งดี-ฝั่งร้าย ใน Sholay (1975)

Saeed Jaffrey รับบท Mir Roshan Ali นักเล่นหมากรุกผู้ไม่รู้ตัวเองด้วยซ้ำว่าภรรยานอกใจมีชู้, Jaffrey เกิดที่อินเดีย แต่มีผลงานการแสดงแจ้งเกิดโด่งดังที่ประเทศอังกฤษ เห็นว่า Ray เลือกเขาหลังเห็นการแสดงจาก The Man Who Would Be King (1975) ความสำเร็จของหนังเรื่องนี้ ทำให้มีโอกาสเล่นหนังอินเดียดังๆอีกหลายเรื่อง อาทิ Gandhi (1982), Masoom (1983), A Passage to India (1984), Ram Teri Ganga Maili (1985), Henna (1991) ฯ

สำหรับ 2 ภรรยาของ Mirza กับ Mir ก็เป็นนักแสดง High-Profile เช่นกันนะครับ
– Shabana Azmi รับบท Khurshid ภรรยาของ Mirza Sajjad Ali, Azmi เป็นเจ้าของสถิติ National Film Award: Best Actress สูงสุดถึง 5 รางวัล
– Farida Jalal รับบท Nafisa ภรรยาของ Mir Roshan Ali, นักแสดงผู้รับบทแม่ในหนังดังอย่าง Paras (1971), Henna (1991), Dilwale Dulhania Le Jayenge (1995) ฯ

ถ่ายภาพโดย Soumendu Roy ขาประจำของ Ray หลังจาก Subrata Mitra มีปัญหาเรื่องสายตา, หนังใช้ฉากไม่เยอะมาก ส่วนใหญ่เป็นภายในน่าจะเป็นถ่ายแบบ Long Take แล้วนำไปตัดต่อภายหลัง

มีการใช้ภาพวาด/อนิเมชั่น เล่าเรื่องแทนเหตุการณ์ ในฉากที่คงจะสิ้นเปลืองเกินไปถ้าใช้การถ่ายทำ ซึ่งมีการนำสิ่งสัญลักษณ์แทรกใส่เข้าไปด้วย เช่น ลูกเชอรี่ นี่ผมก็ไม่รู้ทำไมถึงมีนัยยะแทน ‘กษัตริย์ของอินเดีย’ การได้กินลูกเชอรี่คือสามารถยึดครองเมือง ขับไล่กษัตริย์ออกไปได้สำเร็จ

ตัดต่อโดย Dulal Dutta ขาประจำตลอดกาลของ Ray, หนังมี 2 เรื่องราวเล่าคู่ขนานกัน ใช้การเล่าทีละเรื่องจนจบค่อยตัดไปอีกเรื่องราวหนึ่ง แต่ความน่าเบื่อรุนแรงอยู่ที่แต่ละเรื่องมีความยาวมาก และสองตัวละครมักจะสนทนากันอยู่นั่นไม่จบสักที ฉากหนึ่งก็ไม่ต่ำกว่า 10 นาที ถึงหนังจะมีความลึกล้ำแต่ก็สร้างความเบื่อหน่ายให้กับผู้ชมอย่างยิ่ง

ให้เสียงบรรยายโดย Amitabh Bachchan ที่ตอนนั้นยังเป็นใครที่ไหนไม่รู้ แต่ถ้าคุณคุ้นเสียงของปู่ Big B เป็นอย่างดีน่าจะจดจำได้, การใช้เสียงบรรยาย ถือเป็นวิธีรวบรัดการอธิบาย สอนประวัติศาสตร์และอธิบายสิ่งอยู่ในจิตใจของตัวละคร

เพลงประกอบโดย Satyajit Ray ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านของอินเดียเป็นหลัก, มีฉากการเต้นที่ค่อนข้างตราตรึงพอสมควรอยู่กลางเรื่อง แม้การออกแบบฉากจะไม่ยิ่งใหญ่เทียบเท่า Mughal-E-Azam (1960) แต่ลีลาของนักเต้นถือว่า พอดูทีเดียว

บทเพลงชื่อ Kanha Main Tose Haari ขับร้องโดย Birju Maharaj เต้นโดย Saswati Sen

‘เสือหมากรุก’ ผมว่าคงก็ไม่ต่างกับ ‘เสือกระดาษ’ สักเท่าไหร่ คือเก่งแต่ในกระดานโลกของพวกเขา แต่ชีวิตจริงมักจะ… ไม่มีอะไรให้น่าพูดถึง, นี่ผิดกับคนที่เก่งในการชีวิต การสงคราม มักจะเล่นเกมพวกนี้เก่งโดยไม่ต้องเล่นฝึกซ้อมมากนัก เพราะพวกเขาสามารถจะเอาชีวิตจริงมาเปรียบเทียบ คิดแทนในรูปของหมากกระดาน อาจไม่ถึงระดับ Maestro แต่คงไม่แพ้ง่ายๆแน่

ผมไม่ใช่เซียนหมากรุก แต่คิดว่าคนที่เล่นเก่งๆย่อมสามารถอ่านใจคู่ต่อสู้ได้ระดับหนึ่ง หรือพยากรณ์หมากข้างหน้าได้หลายชั้น มีคำเรียกว่า ‘การอ่านเกมออก’ ถ้าสามารถควบคุมให้คู่ต่อสู้เดินตามเส้นทางที่ตนวางไว้ โอกาสได้รับชัยคงเกินครึ่ง แต่อย่าลืมว่าบางทีมันก็มีหมากประเภท ยอมตกหลุมพรางให้ชะล่าใจ แล้วแว้งกัดอย่างรุนแรงจนอาจพลิกกระดานชนะได้

เรื่องราวของกษัตริย์ Mirza Sajjad Ali กับนายพล James Outram เปรียบได้กับการเล่นกระดานหมากรุก ที่ต่างใช้จินตาการอ่านเกมของฝั่งตรงข้าม พยายามวางกลยุทธ์ หาวิธีการเพื่อต่อสู้เอาชนะ ต้อนฝ่ายตรงข้ามให้จนมุม, ใครเป็นผู้แพ้ผู้ชนะคงเห็นชัดอยู่ แต่การต่อสู้นี้มิได้ใช้กำลังเข้าห้ำหั่นตัดสิน ใช้แค่การวางหมากขู่ไว้ พอถึงขณะกำลังจะรบสู้ ฝั่งหนึ่งก็ประกาศยอมแพ้โดยศิโรราบ ไม่ยอมเล่นต่อเลย!

Satyajit Ray สร้างหนังเรื่องนี้ คงเพราะความเอือมระอาต่อระบอบชนชั้นของอินเดีย การยอมแพ้โดยไม่สู้มีนัยยะถึงความขาดเขลา มากกว่าการไม่ชอบความขัดแย้ง, ผู้คนส่วนใหญ่อาจรู้สึกยินดี ที่ผลลัพท์ของเกมกระดานนี้ไม่ต้องมีการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อ แต่การเสียดินแดนตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เทียบเท่ากับการกระชากจิตวิญญาณของผู้คนออกจากร่าง สูญเสียศรัทธา ผู้นำที่พึ่งทางใจ ‘เจ็บปวดทางกาย รุนแรงไม่เท่าเจ็บปวดทางใจ’ นะครับ

ผมชื่นชอบ Satyajit Ray เพราะ Direction แนวทางการกำกับ ที่ไม่ลืมจะนำเสนออีกด้านหนึ่งของเรื่องราว ทำไมตัวละครถึงมีความคิด ความเชื่อ กระทำแบบนี้ เพราะเมื่อถึงวินาทีแห่งการตัดสินใจ ผู้ชมจะสามารถรับรู้เข้าใจ และอาจ’เห็นใจ’ ต่อการกระทำนั้นๆ ทำให้บางครั้งเราไม่อาจตัดสินใจได้ว่านั่นเป็นสิ่งที่ ถูกต้องหรือเปล่า

มันไม่ผิดอะไรที่เราจะยอมแพ้ทั้งๆที่การต่อสู้ยังไม่เริ่มต้นขึ้น แต่คุณคิดว่ามันเป็นการเหมาะสมในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหรือเปล่า? การยอมแพ้ครั้งนั้นถือเป็นตราบาปที่ชาวอินเดียคงไม่อยากพูดถึงเท่าไหร่ มันกลายเป็นว่าเพราะครั้งหนึ่งประเทศเคยเป็นแบบนั้น ปัจจุบัน (ในยุคสมัยของ Satyajit Ray) มิน่าละ ก็ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่ แทบไม่เคยเปลี่ยนแปลง แบบนี้จะไม่ให้เบื่อหน่าย เอือมระอาได้อย่างไร ชนชั้นผู้นำของประเทศนี้เต็มไปด้วยความขาดเขลาโง่งม!

หนังเป็นตัวแทนของอินเดีย ส่งเข้าชิงชัย Oscar: Best Foreign Language Film ไม่ผ่านเข้ารอบใดๆ

คว้า 2 รางวัล National Film Award
– Best Feature Film in Hindi
– Best Cinematography (Color)

ส่วน Filmfare Award มีความแปลกประหลาด ในปี 1978 คว้ามาได้ 1 รางวัล
– Best Film – Critics

ส่วนปี 1979 เข้าชิง 3 สาขาได้มา 1 รางวัล
– Best Film
– Best Director ** ได้รางวัล
– Best Supporting Actor (Saeed Jaffrey)

นี่ผมก็ไม่รู้สาเหตุนะครับว่าทำไม แต่คิดว่าตอนปีหลัง 1979 น่าจะเป็นการยกย่องเกียรติคุณ มอบรางวัลย้อนหลังให้ Satyajit Ray มากกว่า

ส่วนตัวแค่ชอบหนังเรื่องนี้ ไม่ประทับใจเท่าไหร่กับความเวิ่นเว้อ การสนทนาที่ยาวนานน่าเบื่อ ที่ทำเอาผมนั่งสัปหงกจนหลับไปเรียบร้อย ตื่นขึ้นมาต้องย้อนกลับไปเริ่มต้นดูใหม่ ก็พบว่าปัญหาอยู่ครึ่งแรกทั้งหมด ไม่สามารถสร้างความน่าสนใจได้อย่างต่อเนื่อง แต่พอเข้าครึ่งหลังทุกอย่างดูดีลงตัวขึ้นกว่าเดิมเยอะเลย

ผมรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ทำความเข้าใจค่อนข้างยาก เพราะต้องใช้การเปรียบเทียบสองเรื่องราวเข้าด้วยกัน กับคนที่ไม่ชอบการครุ่นคิดวิเคราะห์จะไม่น่าจะมองเห็นความสัมพันธ์ ความสวยงามของหนังแน่ๆ เพราะถือว่า ‘คนละเรื่องเดียวกัน’ จัดระดับความยากที่ Professional

แนะนำกับแฟนหนัง Satyajit Ray ที่อยากเห็นผลงานยากๆ ต้องใช้การคิดวิเคราะห์อย่างเยอะ เน้นขายความเป็นศิลปะล้วนๆ, นักเล่นหมากรุก ลองอ่านเกมในกระดานดูนะครับ (ถึงบางฉากมองเห็นแค่ด้านข้าง แต่ก็ยังอ่านได้อยู่นะ), และแฟนๆนักแสดง อาทิ Amjad Khan, Richard Attenborough, Sanjeev Kumar, Saeed Jaffrey และสองสาว(ขณะนั้น) Shabana Azmi, Farida Jalal

จัดเรต PG กับความยากในการรับชม

TAGLINE | “ถ้าคุณสามารถเข้าใจกลของหมากรุก ก็อาจสามารถรับชม Shatranj Ke Khiladi ของผู้กำกับ Satyajit Ray ได้รู้เรื่อง”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: