Sherlock Jr

Sherlock Jr. (1924) hollywood : Buster Keaton ♥♥♥♥♡

ในบรรดาสามหนังเงียบที่ดีที่สุดของ Buster Keaton ผลงานเรื่อง Sherlock Jr. ได้รับการยอมรับว่ามีเทคนิคแพรวพราวที่สุด ทั้งการถ่ายภาพ ตัดต่อ และวิธีเล่าเรื่อง และยังถือว่า film within a film เรื่องแรกของโลก, หนังติดอันดับ 59 ของนิตยสาร Sight & Sound (ขณะที่ The General ติดอันดับ 34) และติด All-TIME 100 Movies ของนิตยสาร Time (เรื่องเดียวของ Keaton ที่ติดชาร์ทนี้)

ด้วยความยาวแค่เพียง 45 นาที (เกิน 40 นาทีถือว่าเป็น Feature Length) Sherlock Jr. อัดแน่นไปด้วยเทคนิคทางภาพยนตร์ที่ถือว่าเป็นแนวหน้าของวงการในยุคนั้นเลย ทั้งการถ่ายภาพ (ซ้อนภาพ) ตัดต่อ และเทคนิคการเล่าเรื่อง ‘หนังซ้อนหนัง’ หลุดเข้าไปอีกโลกที่อยู่ในหนัง, ใครเคยดู The Purple Rose of Cairo (1985) ของ Woody Allen คงพอจะนึกภาพออก (หนังได้แรงบันดาลใจมาจาก Sherlock Jr. นี่แหละครับ) ตัวละครเดินเข้าไปในหนังที่กำลังฉายอยู่, เห้ย! แต่นี่มันเมื่อเกือบศตวรรษที่แล้วนะ ไม่มี CG แล้วหนังทำได้ยังไง? ก็ว่ากันตามที่เห็นอย่างไรก็เ ป็นแบบนั้น เทคนิคในหนังเรื่องนี้ถือว่าตรงๆ คิดอะไรได้นำเสนอแบบนั้น ผมดูไปก็ทึ่งไป และฉงนสงสัย Buster Keaton กำกับ-นำแสดงเรื่องนี้ เจ๋งกว่าหนังเรื่องใดๆของ Charlie Chaplin อีก แต่ทำไมเขาถึงเป็นได้แค่ที่ 2 ไม่ใช่ที่ 1 ?

เรื่องราวของชายคนหนึ่งที่ในชีวิตมีสองด้าน
1) เป็นเด็กฉายหนังทำงานในโรงหนัง มีหน้าที่เก็บกวาด ทำความสะอาด และเปิดเครื่องฉายหนัง
2) ความฝันอยากเป็นนักสืบ ในกระเป๋าจะมีแว่นขยายและหนังสือวิธีการเป็นนักสืบ (How To Be A Detective)

ในชีวิตจริงตามธรรมเนียม Stoneface พระเอกจะเป็นคนไม่เอาอ่าว ทำอะไรเล็กๆน้อยๆผิดพลาดไปหมด ซื้อของขวัญให้แฟนสาว แต่กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวขโมย, ส่วนในความฝัน จินตนาการถึงตัวเองเป็นนักสืบชื่อดัง สามารถไขปริศนาคดีต่างๆได้อย่างง่ายดาย จับคนร้ายไล่ล่าสุดมัน

หนังแบ่งออกเป็น ความจริง (reality) และ ความฝัน (dream) ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างแทบจะสะท้อนตรงข้ามกันทั้งหมด
โลกความจริง: พระเอกเป็นแค่คนธรรมดาจนๆ ไม่มีเงินจะซื้อของมีค่าเพื่อจีบหญิง และไม่สามารถไขปริศนาคดีแถมถูกป้ายสีใส่ความอีก
โลกความฝัน: เขาเป็นนักสืบชื่อดัง Sherlock Jr. เงินทองมากมี สามารถไขแก้ปริศนา ค้นหาหัวขโมย เอาชนะผู้ร้าย และจีบสาวติด

แต่หนังไม่ใช่แค่ครึ่งหนึ่งจริงครึ่งหนังฝันนะครับ มีช่วงเวลาที่ความจริงกับความฝัน เสมือนว่าดำเนินขึ้นพร้อมกัน นั่นคือขณะที่เราเห็น Keaton 2 คนในซีนเดียวกัน (นี่ใช้เทคนิคการถ่ายภาพซ้อน ถ่ายโดยใช้ฟีล์มม้วนเดิมซ้ำ 2 ครั้ง จะเห็นภาพซ้อนกัน) เราจะเห็น Keaton คนที่จางกว่า (บางคนเรียกว่าเป็น dream-self) เดินเข้าไปในจอภาพยนตร์ที่กำลังฉายอยู่ (เหมือนเดินเข้าไปในความฝัน), การเดินเข้าไปคือเดินเข้าไปจริงๆนะครับ สมัยนั้นมันไม่มีเทคนิคอื่น อาทิ Rear Projector หรือ Blue Screen ทุกอย่างที่เราเห็นใช้การตัดต่อช่วยเท่านั้น ฉากที่เดินเข้าไป ก็คือฉากจริงที่สร้างขึ้นด้านหลังจอภาพยนตร์, สำหรับภาพป่า, ภูเขา, หิมะ นี่คือ Keaton และตากล้อง Byron Houck เดินทางไปถ่ายยังสถานที่จริง ใช้อุปกรณ์สำรวจคำนวณตำแหน่ง ระยะห่างของระหว่างกล้องกับนักแสดง ที่ต้องเปะมากๆ แล้วใช้ตัดต่อแปะเข้าไปในฟีล์ม ทำให้เห็นความต่อเนื่องได้อย่างไม่สะดุด

นี่เป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนในโลกภาพยนตร์ ซึ่งก็มีนักวิจารณ์สมัยนั้นทั้งชื่นชม และบอกไร้สาระ มันจะเป็นไปได้ยังไงกัน!

ยุคสมัยนั้น Surrealism เพิ่งเริ่มต้นขึ้นไม่นาน หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (ประมาณต้นทศวรรษ 20s), Surrealism = ‘resolve the previously contradictory conditions of dream and reality’ เซอเรียลิสม์ มีความหมายว่า ‘เหนือความจริง’ มักเป็นเรื่องราวเหนือธรรมชาติ หรือสิ่งที่อยู่ในความฝัน งานศิลปะเซอเรียลิสม์มีความสำคัญอยู่ที่ การแสดงออกของจิตใต้สำนึกอย่างอิสระ-ปราศจากการควบคุมของเหตุผล มีความฝันและอารมณ์ จินตนาการ

หนังเรื่องนี้ถือว่าเป็นส่วนผสมของ Surrealism แต่ทว่าโดย Keaton ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ เคยมีนักข่าวไปสัมภาษณ์ถามเมื่อปี 1965 คิดยังไงถึงสร้างหนัง Surrealistic แบบ Sherlock, Jr. ซึ่ง Keaton ตอบว่า

“I did NOT mean it to be surrealistic. I just wanted it to look like a dream”.

มีอุบัติเหตุรุนแรงเกิดขึ้นในหนัง เป็นฉากที่ตัวละครของ Keaton กำลังตามติดชายผู้ต้องสงสัยคนหนึ่ง แล้วถูกขังในรถไฟ เขาปืนขึ้นไปด้านบน แล้วรถไฟกำลังเคลื่อนตัวออก เขารีบวิ่งๆๆ ไปจนสุดขบวน กระโดดไปจับท่อส่งน้ำ แล้วค่อยๆตกลงมาถึงพื้น, ฉากนี้ขณะที่นำไหลออกมา มันกระแทกโดนหลังคอของ Keaton รุนแรงมากจนเกิดอาการเคล็ดอย่างรุนแรง ทนอยู่หลายปีไม่เคยไปหาหมอ จนกระทั่ง 1930 ทำการ X-Ray ถึงค้นพบว่ากระดูกคอร้าวเกือบหัก

ฉากขี่มอเตอร์ไซต์กลับหลังนี่ก็ดูอันตรายสุดๆ เลยละครับ (แต่คนดูคงหัวเราะกันท้องแข็ง) ไม่มีทริคใดๆ ไม่มีมุมกล้อง Keaton ขับอย่างนั้นจริงๆ ขณะวิ่งผ่านรถไฟ มันก็รถไฟจริงๆนะครับ เพียงแต่ฉากนี้มีการเปิดเผยตอนหลังว่าเป็นการตัดต่อถอยหลัง (Backward) คือรถไฟวิ่งถอยหลัง ไม่ใช่วิ่งเข้ามาหา แล้วใช้การตัดต่อจากหลังไปหน้า ทำให้เราเห็นเป็นรถไฟวิ่งเข้ามา (ถ้ารถไฟวิ่งเข้าหานี่จะโคตรอันตรายเลย นี่เป็นเทคนิคหลอกตาคนดูที่เนียนมากๆ)

ทริคการเล่นพูล เห็นว่า Keaton ไปเรียนแทงพูลกับผู้เชี่ยวชาญอยู่เป็นเดือนๆ ในหนังเขาใช้เวลาถึง 5 วันถ่ายฉากนี้ เพื่อให้ได้ทุกช็อตที่สมบูรณ์ที่สุด และใช้การตัดต่อพลิกแพลงเอา ว่ากันว่านี่เป็นทริคของ Keaton ที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่ปรากฏในหนังของเขาเลย

ฉากจบในความฝัน มันคือขณะที่ Keaton ขับรถพุ่งลงในอ่าวแห่งหนึ่ง และค่อยๆจมลง มันเหมือนการจมดิ่งลงสู่ความฝัน (หลับลึก) ที่เต็มเปี่ยมด้วยสุขสมหวัง แต่เขาดันสะดุ้งตื่นขึ้นเสียอย่างนั้น

ส่วนฉากจบในชีวิตจริง ขณะที่ Keaton มองดูหนังที่กำลังฉาย สองพระนางกำลังทำอะไรกันบ้าง แล้วเขาก็เลียนแบบทำตามแบบนั้นกับนางเอก เห้ย! นี่เจ๋งมากๆ ดูในหนังอาจจะแค่อมยิ้ม แต่ถ้าคิดให้ดี มันสะท้อนถึงอิทธิพลของภาพยนตร์ที่มีต่อผู้คน ไม่ใช่แค่ยุคสมัยนั้น แต่นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และเรื่องราวของหนัง โลกในชีวิตจริง กับโลกภาพยนตร์ (หรือความฝัน) กำลังถูกผสมผสาน ราวกับกลายเป็นสิ่งเดียวกันที่แยกไม่ออก (ความฝันที่กลายเป็นความจริง)

เรื่องราวของหนังแฝงข้อคิดหนึ่ง ‘ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย’ เพราะการที่ตัวละครของ Keaton ถือว่าเป็นคนจริงๆ ไม่ใช่โกหกลักขโมยของใครมา (นี่มองข้ามเรื่องโอ้อวด เขียนเติม 1 เป็น 4 ไปเสียนะครับ) แม้จะถูกใส่ร้ายป้ายสีแต่เมื่อทุกสิ่งได้รับการเปิดเผย ก็เสมือนว่าความฝันได้กลายเป็นจริงเสียที

เกร็ด: ชื่อหนังแรกสุดคือ The Misfit

แฟนเดนตายของ Buster Keaton มักจะยก Sherlock Jr. ยิ่งใหญ่กว่าหนังเรื่องใดๆของ Charlie Chaplin, จุดนี้ผมเห็นด้วย แต่ Chaplin มีสิ่งหนึ่งที่ Keaton ขาดหายไป นั่นคือเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เคยเปลี่ยน

Keaton เปลี่ยนตัวเองมากเกินไปในยุคหนังพูด (talkie) แต่ Chaplin ยังคงยึดอุดมการณ์เดิมอยู่กว่าทศวรรษ ซึ่งถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า หนังสามเรื่องเยี่ยมสุดของ Keaton จะอยู่ในช่วงปลายทศวรรษ 20s ส่วนสามเรื่องยอดเยี่ยมที่สุดของ Chaplin จะอยู่ทศวรรษ 30s นี่หมายถึง Keaton ยืนอยู่จุดสูงสุดมาก่อน Chaplin นะครับ ในกรณีต้องบอกว่า ‘มาทีหลังดังกว่า’ เห็นท่าจะจริง

แนะนำกับแฟนหนังของ Buster Keaton คนที่ชอบดูหนังเก่าๆเต็มไปด้วยเทคนิคแพรวพราว และนักเรียนภาพยนตร์ที่ไม่ควรพลาด, ถึงหนังจะชื่อ Sherlock Jr. แต่ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับ Sherlock Holmes เลยนะครับ (แค่เอาชื่อมาอ้างใช้เฉยๆ) จัดเรต General ทั่วไป

TAGLINE | “Sherlock Jr. คือผลงานเทคนิคแพรวพราวที่สุดของ Buster Keaton สมจริงยิ่งกว่าความฝัน”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE 

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: