Shiraz (1928)
: Franz Osten ♥♥♥
ทัชมาฮาล อนุสรณ์สถานแห่งรัก ได้รับการยกย่องว่ามีความสวยงามที่สุดในโลก สร้างโดยสมเด็จพระจักรพรรดิ Shah Jahan อุทิศให้พระมเหสีเอก Mumtaz Mahal แต่หนังเงียบนี้คือเรื่องราวของ Shiraz หนุ่มปั้นหม้อผู้ตกหลุมรักเจ้าหญิง และออกแบบสิ่งมหัศจรรย์ของโลกแม้สายตามืดมิดบอด
ภาพยนตร์เรื่องนี้ ดัดแปลงจากบทละครเวทีของ Niranjan Pal เปิดการแสดงยังกรุง London ช่วงประมาณต้นทศวรรษ 20s ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดในส่วน Shiraz เป็นการปรุงปั้นแต่ง สร้างสมมติฐานขึ้นมา! เพราะไม่มีรายละเอียดทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้ ว่าใครคือผู้ออกแบบทัชมาฮาล
สมมติฐานผู้ออกแบบทัชมาฮาล มีด้วยกันสองนาม
– Ustad Ahmad Lahori สถาปนิกชาวอิหร่าน เคยเป็นผู้ออกแบบวางรากฐาน Red Fort ที่กรุง Delhi ถือว่าคือช่างยอดฝีมือแห่งยุคสมัยนั้น
– Mir Abd-ul Karim สถาปนิกคนโปรดของสมเด็จพระจักรพรรดิ Jahangir (องค์ก่อนหน้า Shah Jahan) และยังได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นผู้ควบคุมดูแล (Supervisor) ช่วงระหว่างการก่อสร้างทัชมาฮาล
ขณะที่ตำนานเล่าว่า สมเด็จพระจักรพรรดิ Shah Jahan เมื่อทรงตัดสินพระทัยในพิมพ์เขียว สั่งให้ควักลูกนัยน์ตาสถาปนิกผู้ออกแบบ เพื่อมิให้สรรค์สร้างอะไรอื่นยิ่งใหญ่กว่า ทัชมาฮาล … เรื่องนี้ก็ไม่มีหลักฐานบันทึกไว้เช่นกันนะครับ
Himanshu Rai (1892 – 1940) นักบุกเบิกวงการภาพยนตร์อินเดีย ว่าที่ผู้ก่อตั้งสตูดิโอ Bombay Talkies เกิดยัง Cuttack, Bengal Presidency ในครอบครัวชนชั้นสูง ร่ำเรียนจบกฎหมายจาก Kolkata แล้วมุ่งสู่ London ตั้งใจเป็นทนายความ แต่มีโอกาสพบเจอนักเขียนร่วมชาติ Niranjan Pal (1889 – 1959) ประทับใจในบทละคร กลายมาเป็นนักแสดงบนเวที พบเห็นอนาคตของภาพยนตร์เลยชักชวนมาทดลองสร้าง แต่ไร้ประสบการณ์เลยมุ่งหน้าสู่ Germany เพื่อหาใครใจกว้างให้ความช่วยเหลือแนะนำ
Franz Osten ชื่อเกิด Franz Ostermayr (1876 – 1956) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ German เกิดที่ Munich โตขึ้นเป็นนักถ่ายภาพผู้หลงใหลการแสดง เมื่อปี 1907 ร่วมกับน้องชาย Peter Ostermayr ก่อตั้ง Original Physograph Company ก่อนเปลี่ยนมาเป็น Bavaria Film Studios สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Erna Valeska (1911)
Osten ประทับใจการบุกเดี่ยวมาถึงเยอรมันของหนุ่มหน้าใสผู้นี้ จึงอาสาจัดหาทุนสร้าง อุปกรณ์ และทีมงาน (ผู้กำกับ/ตากล้อง) โดยให้ Rai ตระเตรียมบท นักแสดง สถานที่ถ่ายทำ และสาธารณูปโภคอื่นๆระหว่างเดินทางไปถ่ายทำยังอินเดีย กลายมาเป็นภาพยนตร์เรื่องแรก Prem Sanyas (1925) อัตชีวประวัติเจ้าชายสิทธัตถะ แม้ไม่ถึงขั้นประสบความสำเร็จแต่ก็มีอีกสองผลงานติดตามมา Shiraz (1928) และ Prapancha Pash (1929)
สำหรับ Shiraz: a Romance of India ดัดแปลงจากบทละครเวทีชื่อเดียวกันของ Niranjan Pal พัฒนาบทภาพยนตร์โดย William A. Burton (คงเพราะต้องการมุมมองนักเขียนตะวันตก เพื่อให้เรื่องราวมีความสากลขึ้น) ได้รับทุนสร้างร่วมจาก British Instructional Films (ของอังกฤษ), Universum Film/UFA (ของเยอรมัน) และ Himansu Rai Film (ของอินเดีย)
Shiraz (รับบทโดย Himanshu Rai) บุตรชายช่างปั้นหม้อ เติบโตขึ้นพร้อมกับน้องสาวกำพร้า Selima (รับบทโดย Enakshi Rama Rau) แท้จริงเป็นเจ้าหญิงชนชั้นสูง แต่ถูกโจรดักปล้นกลางทางแล้วได้รับความช่วยเหลือมา, ระยะเวลาพัฒนาความสัมพันธ์ให้ชายหนุ่มตกหลุมรักหญิงสาว แต่แล้วเธอถูกโจรลักพาตัวไปขายเป็นทาส ซื้อต่อโดยเจ้าชาย Khurram (รับบทโดย Charu Roy) ติดตามจนพบเจอ อาสาเข้าไปช่วยเหลือ แต่เธอกลับตกหลุมรักว่าที่สวามีเรียบร้อยแล้ว
เมื่อมิอาจสมหวังในรัก Shiraz ก็ได้แต่จับจ้องมอง ใคร่ครวญโหยหา จนสายตาค่อยๆพร่ามัวเลือนลาง พบเห็นเจ้าชายกลายเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิ Shah Jahan และเจ้าหญิงทรงพระนามใหม่ Mumtaz Mahal แต่แล้ววันหนึ่งทรงสวรรคตก่อนวัยอันควร (ตายท้องกลม) ต้องการอุทิศฝีมือช่าง เลยออกแบบปั้นทัชมาฮาลเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความทรงจำ
Rai หลังจากแสดงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะใน Prem Sanyas (1925) มาครานี้รับบทบาท Shiraz ที่ค่อนข้างมีความท้าทาย เพราะต้องแสดงอารมณ์โหยหา ครุ่นคิดถึง ใจจะขาด ถ่ายทอดออกมาในลักษณะ German Expressionism แม้ดูเว่อวังแต่ก็พอสัมผัสได้ว่ารู้สึกจริง
Enakshi Rama Rau กับบทบาท Selima กลายเป็นพระราชินี Mumtaz Mahal เธอไม่ได้โดดเด่นด้านการแสดงมากนัก แค่ภาพลักษณ์ราวกับเทพธิดา/นางฟ้า และมีความกล้ายืนขึ้นแบบไม่กลัวเกรงใคร นั่นทำให้บุรุษไม่ว่าจะขี้ข้าหรือเจ้าชายหน้าไหน ต่างตกหลุมรักหลงใหล ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของเพียงเธอ
Charu Roy ในบทเจ้าชาย Khurram ภาพลักษณ์คมเข้ม ดุดัน ใครดีมาดีตอบ ใครร้ายมาร้ายตอบ ซึ่งพอพบเจอ Selima แสดงสีหน้าแห่งความลุ่มหลงใหล เคลิบเคลิ้ม หลอมละลาย ชีวิตนี้ฉันอยู่ไม่ได้ถ้าขาดเธอ
อีกหนึ่งนักแสดงที่ถือเป็นไฮไลท์คือ Seeta Devi ชื่อจริง Renee Smith (1912–1983) ลูกครึ่ง Anglo-Indian รับบทเจ้าหญิง Dalia ผู้เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา วางแผนชั่วร้ายกาจเพื่อผลักไส Selima จักได้ครอบครองเจ้าชาย Khurram แต่เพียงผู้เดียว, คือบทบาทนางมาร้ายลักษณะนี้ ตรงข้ามจริตชาวอินเดียยุคสมัยนั้น ต้องเรียบร้อยงดงามดั่งผ้าพับไว้ แต่เพราะ Devi เป็นลูกครึ่งเติบโตขึ้นที่อังกฤษ เรื่องพรรค์นี้เลยแสดงออกได้อย่างไม่ตะขิดตะขวง เหนียมอาย เลยกลายเป็นหนึ่งในเพื่อนร่วมงานขาประจำของ Rai ก็ตั้งแต่ Prem Sanyas (1925)
ถ่ายภาพโดย Emil Schünemann (เยอรมัน) และ Henry Harris (อังกฤษ), หนังทั้งเรื่องถ่ายทำในอินเดีย ยังสถานที่จริง ประมาณตัวประกอบ 50,000 คน, อูฐ 300 ตัว, ช้างอีก 7 เชือก ซึ่งไหนจะเสื้อผ้าหน้าผม เครื่องประดับ เพื่อความยิ่งใหญ่อลังการสมจริง
แม้ส่วนใหญ่ของงานภาพจะตั้งกล้องแช่ทิ้งไว้เฉยๆ แต่มีการตัดต่อสลับเปลี่ยนระยะ Extreme/Long Shot สำหรับภาพมุมกว้าง, Medium/Close-Up Shot ระหว่างสนทนา แสดงสีหน้าปฏิกิริยานักแสดง นั่นเองทำให้ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ถึงอารมณ์ความรู้สึก
– Shiraz เต็มไปด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว โหยหา ครุ่นคิดถึงอดีตคนรัก
– เจ้าหญิง Dalia พบเห็นสีหน้าแห่งความอิจฉาริษยา วางแผนครุ่นคิดการร้าย จ้องแต่หวังทำลาย
การดำเนินเรื่องจะพบเห็น Time Skip สามครั้ง
– จากวัยเด็กสู่ผู้ใหญ่ ด้วยการ Cross-Cutting
– ผู้ใหญ่สู่ 18 ปีถัดมา/วันสวรรคตของ Mumtaz Mahal คั่นด้วย Title Card
– และกระโดดสู่วันสร้างทัชมาฮาลเสร็จสิ้น
ทัชมาฮาล อนุสรณ์สถานของจักรพรรดิผู้ลุ่มหลงใหลในมเหสี ไม่สามารถตัดใจปลดปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกหลังจากสูญเสีย เป็นเหตุให้ต้องทำอะไรสักสิ่งอย่าง ประกาศกึกก้องให้ทั่วผืนปฐพี ความรักของข้านี้ยิ่งใหญ่มหาศาลที่สุด ไม่มีอื่นใดสามารถเท่าทัดเทียม
ถึงทัชมาฮาลและ Shiraz จะมีงานสร้างยิ่งใหญ่อลังการ แต่โดยรวมหนังเงียบเรื่องนี้ถือว่าห่างไกลความลงตัวสมบูรณ์แบบ เนื้อหาค่อนข้างสั้นเกินไป ไม่ค่อยน่าเชื่อถือในความรักของสมเด็จพระจักรพรรดิต่อพระชายา แถมช่วงท้ายยังมาเร่งรีบร้อนรน กระโดดข้ามโน่นไปนั่น จบแบบไม่เต็มอิ่มหนำสักเท่าไหร่
ว่ากันตามตรง Shiraz ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่แลเห็นประโยชน์ แฝงสาระความรู้ หรือข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ นำเสนอเรื่องราวความรัก เทิดทูนให้สูงส่งเลอค่า ยิ่งใหญ่อลังการงานสร้าง สุดท้ายหลงเหลือเพียงสนองบันเทิงเริงรมณ์ ดูจบก็อาจแค่เพลิดเพลินหัวใจ
แต่สำหรับชาวอินเดีย Shiraz ถือเป็นภาพยนตร์มีความสำคัญระดับชาติ! เปรียบเทียบคล้ายๆ พระเจ้าช้างเผือก (พ.ศ. ๒๔๘๓) ที่ดีงามกว่าหลายสิบร้อยเท่า! สร้างความซาบซึ้ง ตราตรึง ภาคภูมิในประวัติศาสตร์ เชื้อชาติพันธุ์ และทัชมาฮาลได้กลายเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ ตัวแทนเอกลักษณ์ วัฒนธรรม เผยแพร่สู่สายตาชาวโลกได้อย่างสมเกียรติ
Shiraz ถูกค้นพบหลงเหลือในคลังเก็บของ BFI National Archive คุณภาพค่อนข้างย่ำแย่ แต่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมโดยทีมงานระดับมืออาชีพที่สุดในโลก สำเร็จเสร็จนำออกฉาย London Film Festival เมื่อปี 2017 คุณภาพ 4K ควบคู่การบรรเลงเพลงประกอบโดย Anoushka Shankar ถือว่าเป็นไฮไลท์ของงาน เรียกเสียงฮือฮา และผู้ชมต่างยืนปรบมือนานกว่าหลายนาที
ส่วนตัวไม่ค่อยซาบซึ้งกับเรื่องราวรักโรแมนติก หรือสาเหตุผลที่เด็จพระจักรพรรดิ Shah Jahan สร้างทัชมาฮาลอุทิศให้พระมเหสีเอก Mumtaz Mahal แต่ทั้งหมดสามารถกลบเกลื่อนได้จากโปรดักชั่น ความอลังการงานสร้าง เสื้อผ้าหน้าผมจัดเต็ม น่าเสียดายฉบับใน Youtube คุณภาพไม่ไหวเกินทน ว่าจะลองค้นหาฉบับบูรณะของ BFI มารับชม เชื่อว่าคงคุ้มค่าสมการรอคอยอย่างแน่นอน!
แนะนำสำหรับคนชื่นชอบหลงใหลหนังเงียบ อยากพบเห็นความอลังการงานสร้างของโปรดักชั่นยุคสมัยก่อน และถ้ามีโอกาสแนะนำต่อเรื่อง Taj Mahal (1963) น่าจะช่วยเติมเต็มสีสันจินตนาการ ประวัติสิ่งก่อสร้างสุดมหัศจรรย์นี้ได้มากทีเดียว
จัดเรตทั่วไป ดูได้ทุกเพศวัย
Leave a Reply