Sholay (1975) : Ramesh Sippy ♥♥♥♥♥
(22/12/2016) ภาพยนตร์ Bollywood เรื่องที่ได้รับการกล่าวถึงมากสุดในอินเดีย Sholay หนัง Curry Western นำแสดงโดย Amitabh Bachchan, Dharmendra, Sanjeev Kumar และ Amjad Khan จริงอยู่ที่หนังไม่ได้มีสมบูรณ์แบบ ตอนฉายคำวิจารณ์ค่อนข้างย่ำแย่ แต่ได้รับความนิยมจนครั้งหนึ่งทำเงินสูงสุดตลอดกาลในอินเดีย และกาลเวลาทำให้ภาพลักษณ์ดูดีขึ้นเรื่อยๆ
ถ้าคุณเป็นคอหนัง bollywood จำเป็นอย่างยิ่ง ที่สักครั้งหนึ่งในชีวิตต้องดูภาพยนตร์เรื่องนี้นะครับ
ผมหยิบ Sholay มารับชมอีกครั้ง เพราะอยากเก็บตกสิ่งที่ยังไม่ได้เขียนไปเมื่อคราวก่อน พบว่ามีเยอะเลยละ และอะไรที่ทำให้ Sholay ฮิตถล่มทลายในอินเดีย บทความนี้อาจมีคำตอบ
จุดเริ่มต้นของ Sholay เกิดขึ้นจาก ข้อความ 4 บรรทัดของนักเขียน Salim-Javed (Salim Khan และ Javed Akhtar) เสนอต่อ G. P. Sippy และ Ramesh Sippy ทีมผู้สร้าง/ผู้กำกับของ Sippy Films ทีแรกถูกบอกปัด แต่ Ramesh Sippy ได้อ่านแล้วชื่นชอบแนวคิด จึงว่าจ้างให้ทั้งพัฒนาเป็นบทหนัง, สำหรับข้อความ 4 บรรทัด มีใจความประมาณว่า นายทหารคนหนึ่ง ตัดสินใจว้าจ้างสองอดีตนายทหารเก่า เพื่อตามล่าแก้แค้นฆาตกรที่ฆ่าล้างครอบครัวของเขา
แรงบันดาลใจของหนัง ได้อิทธิพลอย่างมากจาก Seven Samurai (1954) กับ The Magnificent Seven (1960) ว่าจ้างยอดฝีมือเพื่อปกป้องหมู่บ้าน, ใครเป็นเซียนหนัง Western ลองมาไล่ดูนะครับ ฉากปล้นรถไฟจาก North West Frontier (1959), ตัวร้ายคล้ายๆกับ For a Few Dollars More (1965), สังหารหมู่ครอบครัวมาจาก Once Upon a Time in the West (1968), The Wild Bunch (1969), Butch Cassidy and the Sundance Kid (1969), Billy the Kid (1973) ฯ
Sholay เป็นหนังที่นักวิจารณ์ตะวันตกเรียกว่า Curry Western คล้ายๆกับที่เรียกหนังคาวบอยของอิตาลีว่า Spaghetti Western ต่างกันที่ หนังใส่วัฒนธรรมของอินเดียเข้าไป (จึงเรียกว่า Curry, Sholey ถือเป็นหนังเรื่องแรกของแนวนี้ด้วยนะครับ) อาทิ ร้องเล่นเต้น เรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัว และมีดาราชื่อดังนำแสดง/สมทบ
Dharmendra เป็นดาราค้างฟ้าแห่งยุค 60s มีหนังฮิตถล่มทลายมากมาย มีชื่อเล่นว่า Action King หรือ He-Man (ถ้าเทียบกับปัจจุบัน คงระดับ Salman Khan) เคยเป็นนักแสดงค่าตัวสูงสุดใน bollywood เมื่อปี 1966 แต่หนังทุกเรื่องในทศวรรษนั้น เทียบไม่ได้กับ Sholay เรื่องนี้แม้แต่น้อย
รับบท Veeru ชายหนุ่มนิสัยขี้คุย ขี้โม้ ขี้โอ่ ขี้เล่น เหมือนจะกะล่อนปลิ้นปล้อน แต่ในใจลึกๆเป็นคนจริงใจ รักเพื่อน และพร้อมยอมตายแทนได้ตลอด
คู่ของ Veeru คือ Basanti รับบทโดย Hema Malini ภรรยาคนที่สองของ Dharmendra แต่งงานกันหลังหนังฉาย 4 ปี (ครองรักจนถึงปัจจุบัน), Basanti เป็นผู้หญิงที่พูดน้ำไหลไฟดับตับแลบ เข้าคู่กับ Veeru ที่สุดแล้ว
เนื่องจากหนังมีดาราดังแล้วหลายคน บท Jai เลยตกเป็นของดาราที่ยังไม่ดังมากขณะนั้น Amitabh Bachchan, นี่เป็นหนังที่ทำให้ Amitabh กลายเป็นดาราดัง (Superstar) หลังจากก่อนหน้านี้สองปี เพิ่งเริ่มมีชื่อเสียงจากหนังเรื่อง Zanjeer (1973) แม้นี่จะเป็นเหมือนบทสมทบ แต่ผู้คนต่างจดจำเขาในฐานะ Jai หัวใจของหนังเรื่องนี้
Jai เป็นผู้ชายพูดน้อย แต่หลักแหลมคมคาย วางมาดหล่อเท่ห์ไว้ก่อน มีจิตใจรักเพื่อน สนิทกับ Veeru รู้ใจกันแทบทุกอย่าง และถ้ามีเหตุอันตรายอะไร ก็พร้อมยอมเสียสละตนเอง เพื่อผู้อื่น
คู่ของ Jai คือ Radha ลูกสาวของ Thakur รับบทโดย Jaya Bhaduri ภรรยาตัวจริงของ Amitabh, เห็นว่าแต่งงานกันก่อนเปิดกล้อง 4 เดือน และทำให้การถ่ายทำล่าช้า เพราะ Jaya ท้อง, บท Radha เต็มไปด้วยความทุกข์โศกเศร้า (จะเห็นว่าเธอใส่ชุดสีขาวไว้ทุกข์ตลอดเวลา) ก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ ว่าในหนัง Radha ตกหลุมรัก Jai ได้ยังไง แถมตอนจบยังจะ… เป็นตัวละครที่ทุกข์ซ้ำซ้อนเสียจริง
หนังไม่ได้บอกว่าทำไม Veeru และ Jai ถึงกลายเป็นโจร พูดเป็นนัยๆว่า โลกนี้มีตำรวจก็ต้องมีโจรเป็นของคู่กัน ตำรวจที่เก่งต้องมีความกล้าหาญ ไม่เกรงกลัว โจรก็เช่นกัน ปากบอกว่าต้องการเงิน แต่บางครั้ง ศักดิ์ศรี ศีลธรรมนำหน้ามาก่อน (เหมือนว่าสองคนนี้ คงมีตรรกะบางอย่างเพี้ยนอยู่นะครับ)
เกร็ด: ภาษาฮินดี Jai แปลว่า ชัยชนะ และ Veeru แปลว่า ฮีโร่
Sanjeev Kumar รับบท Thakur Baldev Singh นายตำรวจผู้มีความเชื่อมั่นในความถูกต้อง แต่เมื่อได้พบกับมหาโจร และถูกย่ำยีทำลายจิตใจจนป่นปี้ ตัวเขาจึงจมอยู่กับความแค้น ต้องเอาคืนถึงที่สุดให้จงได้
Sanjeev จริงๆเป็นนักแสดงรุ่นเดียวกับ Dharmendra (อ่อนกว่า) และ Amitabh (แก่กว่า) แต่ในหนังรับบทเป็นผู้ใหญ่สูงวัยกว่าทั้งสอง (ไว้หนวดแล้วดูแก่ขึ้นเยอะ), ต้องยอมรับว่า Sanjeev เป็นนักแสดงยอดฝีมือ ที่เฉียบคม หลักแหลม มุมมืดนี่โหดลึก เคยได้ National Film Awards สาขา Best Actor ถึง 2 ครั้งจาก Dastak (1971) และ Koshish (1973) น่าเสียดายอายุสั้นไปหน่อย เสียชีวิตเมื่อปี 1985 หัวใจล้มเหลวขณะอายุได้ 47 ปี
ตัวร้าย Gabbar Singh ได้แรงบันดาลใจมาจากมหาโจรตัวจริง มีชีวิตอยู่ในยุค 50s แถวๆหมู่บ้าน Gwalior นายตำรวจที่ถูก Gabbar จับได้ จะถูกตัดหู/ตัดจมูก แล้วปล่อยตัวคืนทางการ เพื่อเป็นคำเตือนต่อตำรวจคนอื่น
นำแสดงโดย Amjad Khan ที่เพิ่งมีผลงาน debut เรื่อง Hindustan Ki Kasam (1973) ได้รับเลือกให้รับบท Gabbar Singh จากภาพลักษณ์ที่ดูโหดเหี้ยม โดย Salim Khan หนึ่งในนักเขียนบทหนัง, นี่ถือเป็นหนังที่ทำให้ Amjad มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด
การแสดงของ Amjad ทำให้ภาพลักษณ์ของตัวละครนี้โหดเหี้ยม บ้าคลั่ง จริงจัง กับการกระทำที่ไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้ เช่น กำลังหัวเราะอยู่ดีๆ ก็หันไปยิงปืนฆ่าลูกน้องสามคน มันช่างบ้าเลือด ไร้เหตุผลเสียจริง, จนได้รับการยกย่องว่าเป็นตัวร้ายสุดอมตะในหนัง bollywood กลายเป็นอิทธิพล แรงบันดาลใจต่อตัวร้ายชื่อดังอื่นๆอย่าง
– Shakal (รับบทโดย Kulbhushan Kharbanda) เรื่อง Shaan (1980)
– Mogambo (รับบทโดย Amrish Puri) จากเรื่อง Mr. India (1987)
– และ Bhujang (รับบทโดย Amrish Puri) จากเรื่อง Tridev (1989)
ในปี 2013 นิตยสาร Filmfare จัดอันดับตัวร้ายที่เป็น iconic ได้รับการยกย่อง พูดถึงมากที่สุดในวงการภาพยนตร์อินเดีย Gabbar Singh ได้อันดับ 1 แบบไร้คู่แข่ง
หลังจากหนังเรื่องนี้ Amjad Khan มันได้รับบทเป็นตัวร้ายเสมอๆ จนถูกแซวว่า ‘ทำให้แม่ต้องพาเด็กๆ เข้านอน’ (is still invoked by mothers to put their children to sleep) แม้จะไม่ค่อยประสบความสำเร็จอีกเท่าไหร่ แต่ก็ไม่มีใครลืมการแสดงอันตราตรึงของ Singh ไปได้เป็นแน่
ในยุคสมัยที่ภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ใช้เวลาถ่ายทำ 2-3 เดือน Sholay ใช้เวลาถ่ายทำถึง 3 ปี
ถ่ายภาพโดย Dwarka Divecha, ในสายตาคอหนังทั่วไป อาจไม่พบอะไรน่าตื่นเต้น สดใหม่ แต่หลายๆอย่างในหนังเรื่องนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในหนัง bollywood, อย่างฉากไล่ล่าบนรถไฟ ถือได้ว่าเป็น Action Sequence ที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของอินเดีย
ฉากไล่ล่าบนรถไฟ ต้องถือว่าทีมงานมีความทะเยอทะยานสูงมาก เพราะแทบทุกช็อตถ่ายจากบนรถไฟขณะกำลังแล่นอยู่ด้วยความเร็วสูง โจรปล้นรถไฟควบม้าไล่ตามติดๆ ถูกยิงตกจากหลังม้า (ตกน้ำ) คือเห็นแบบนี้มันก็อันตรายนะครับ เพราะม้าก็วิ่งด้วยความเร็ว ซึ่งผลลัพท์ออกมาก็น่าทึ่ง ตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจ รู้สึกอึ้งประทับใจไม่น้อย (ผมแอบหัวเราะ ยิ้มกริ่ม)
กับฉากที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก Seven Samurai (1954) การสนทนาโต้เถียงล้อมวงของคนในหมู่บ้าน หลังจากที่มีชายหนุ่ม ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ กลายเป็นเหยื่อผู้บริสุทธิ์ของ Gabbar Singh, ชาวบ้านน่าจะทั้งหมดยืนล้อมเป็นวง ตั้งกระทู้ถาม Thakur ที่เดินไปตอบทีละคนรอบวง ส่วนใหญ่เห็นขัดแย้งต่อสิ่งที่เขาทำ แต่เมื่อพ่อของชายหนุ่มผู้โชคร้ายลุกขึ้นยืน พูดสิ่งที่อยู่ในใจ ชาวบ้านทั้งหลายต่างก้มหน้าก้มตา พูดอะไรไม่ออก, ผมชอบ direction แนวทางการกำกับของฉากนี้ที่สุดแล้วนะครับ คือฉากที่สวยงาม และเป็นศิลปะที่สุดของหนังแล้ว
ตัดต่อโดย M. S. Shinde, มุมมองการเล่าเรื่องถือว่าไม่มีตำแหน่งตายตัว ใช้การตัดสลับไปมา ระหว่างจากสองโจรหนุ่ม, ย้อนอดีตของ Thakur และมหาโจร Gabbar Singh
ฉากย้อนอดีต (Flashback) มักใช้เพื่อเล่าถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น มีความกระทบกระเทือนต่อจิตใจผู้เล่า (มีย้อนอดีตแค่ของ Thakur คนเดียวเท่านั้น), จะว่าหนังใช้มุมมองของ Thakur เป็นหลักก็ได้ แต่เขาเหมือนเป็นแค่คนเล่าเรื่อง ยืนมอง จัดเตรียมทุกอย่างให้พร้อม ไม่ใช่คนที่สามารถทำอะไรได้ในช่วงเวลาปัจจุบัน
ไฮไลท์ของการตัดต่อ ขณะกำลังเล่าเรื่องย้อนอดีตอยู่ พอถึงจุดไคลน์แม็กซ์ก็ตัดฉับกลับมาปัจจุบัน เห็นผลลัพท์ที่เกิดขึ้นจากความหลังนั้น ผมเรียกการตัดแบบนี้ว่า ตรึงตะลึง คือคาดไม่ถึง มีความตั้งใจให้ผู้ชมอึ้งทึ่ง อ้าปากค้าง แบบตราตรึง ตะลึงงันไปเลย.. มีแบบนี้เกิดขึ้นหลายครั้งทีเดียวในหนังนะครับ
ด้วยธรรมเนียมของหนัง bollywood หนังยาวกว่า 3 ชั่วโมงถือว่าเป็นเรื่องปกตินะครับ, หลายคนคงรู้สึกว่า มีบางฉากสามารถตัดออกทำให้กระชับได้ แต่เพราะค่านิยม ความเชื่อของคนอินเดียที่ว่า ดูหนังเรื่องหนึ่งต้องให้คุ้มค่าตั๋ว ก็เอาว่าคุ้มแน่นอนละนะ นั่งดูให้ตูดแฉะกันไปเลย (หนังมีพักครึ่ง ก็ไปพักสักหน่อยก็ได้นะครับ ไม่ต้องนั่งยาวตลอด 204 นาที)
เพลงประกอบโดย R. D. Burman เนื้อร้องโดย Anand Bakshi สำหรับเพลงที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดมี 2 เพลง
Mehbooba Mehbooba (แปลว่า Beloved, ที่รัก) ขับร้องโดย R. D. Burman (ผู้แต่งเพลงเองเลย) ได้มีแรงบันดาลใจมาจากเพลง Say You Love Me ของ Demis Roussos ร้องขึ้นขณะคาราวาน Gypsy ร้องเล่นเต้นต่อหน้า Gabbar Singh ท่าเต้นแบบว่าเต็มที่ แรงมว๊ากๆ
เพลงนี้ได้เข้าชิง Filmfare Award สาขา Best Playback Singer, Male
แต่ผมชอบเพลง Yeh Dosti (แปลว่า Friendship, มิตรภาพ) มากกว่านะครับ เห็นว่านี่กลายเป็นเพลงชาติของเพื่อนแท้/มิตรภาพ (ultimate friendship anthem) ที่ชาวอินเดียมักจะร้องตามได้, ในหนังมี 2 ฉบับ Kishore Kumar และ Manna Dey ร้องคู่กันในฉบับสนุกสนาน และ Kishore Kumar ร้องเดี่ยวในฉบับเศร้า
ใจความของหนังเรื่องนี้ คือการเอาคืน แก้แค้น สังเกตว่า แทบทุกตัวละครหลักที่ได้รับความเจ็บปวด ทุกข์ทรมานจากคนอื่น มักมีความต้องการแก้แค้น และสามารถเอาคืนอะไรได้สักอย่างหนึ่งเสมอ
– Gabbar ถูกจับเข้าคุก หนีออกมาได้จึงเอาคืน Thakur อย่างสาสม
– Thakur ที่ถูก Gabbar ตัดแขนสองข้าง ใช้ขาเผด็จศึกจัดการ
– Veeru ถูก Gabbar จับทรมาน ให้แฟนสาวเต้นเท้าไฟกับเศษแก้ว, จัดการต่อสู้เอาชนะ Gabbar
ขณะที่ศัตรูได้รับความเกลียดชังจากผู้ชม หนังได้สร้างคู่มิตรสหาย เพื่อนแท้ร่วมเป็นร่วมตาย ไม่ใช่แค่ Veeru กับ Jai นะครับ แต่ยังรวมถึงคู่ของพวกเขาด้วย Veeru กับ Basanti และ Jai กับ Radha
มันคงเป็นกฎและกรรมของหนัง กับคนที่ยึดติดกับความเจ็บปวดและต้องการแก้แค้น ล้วนต้องทนทุกข์ทรมานจากสิ่งที่ตนทำกับคนอื่น และคนอื่นทำกับตัว, หนัง Cowboy Western ส่วนใหญ่ก็เป็นแบบนี้ ไม่ค่อยสอนแนวคิดอะไรเท่าไหร่ ให้แต่ความบันเทิงสูงสุด
ซึ่งสาเหตุที่ Sholay อยู่ดีๆก็ฮิตถล่มทลาย มีคนวิเคราะห์แยกไว้เป็นข้อๆดังนี้
บริบทของหนัง
ในปี 1975 ถือเป็นช่วงกลียุคของอินเดียในเรื่องการเมืองภายใน ที่มีการคอรัปชั่นรุนแรง การประท้วงก็ถึงเลือดถึงเนื้อ ซึ่งหนังเรื่องนี้นำเสนอประเด็น ความดี/ความชั่ว ออกมาแบบตรงไปตรงมา สมมาตรชัดเจน สะท้อนความต้องการที่แฝงความรุนแรงออกมาได้ ถูกใจผู้ชมอย่างยิ่ง
บทหนังที่หักมุม สะเทือนใจผู้ชม
จุดนี้ผมคงไม่ขอสปอยอะไร แต่ถือว่าหนังสร้างความตื่นเต้น ตกใจ ประหลาดใจให้ผู้ชมที่ดูหนังครั้งแรกแท้แน่นอน เพราะไม่มีใครคาดคิดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น (ปกติหนัง bollywood มันต้องจบแบบ happy ending แต่หนังกล้าแหวกประเพณี ทำในสิ่งที่แตกต่าง) นี่ถือเป็นสิ่งใหม่ ที่ชาวอินเดียสมัยนั้นคงอึ้งทึ่งช็อค ตราตรึง จดจำ ยากจะลบเลือนไปจากหัวสมอง
ตัวละครที่น่าจดจำ
โดยเฉพาะตัวร้ายที่ชัดเจนว่านิสัยเลวมาก หาด้านดีไม่ได้เลย แต่ก็มีความเท่ห์ คาดเดาไม่ได้อย่างเหลือเชื่อ นี่ทำให้ผู้ชมเด็กๆหวาดกลัว จดจำไม่ลืมเลือน สู่ผู้ชมผู้ใหญ่ ก็คงกลายเป็นชื่นชอบ Anti-Hero ไม่น้อยกว่าพระเอกเป็นไหนๆ
บทสนทนาที่คมคาย
กลายเป็นเทรนด์ขึ้นมาทันที เมื่อมีการนำคำพูดเท่ห์จากในหนัง นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ประโยคที่ฮิตติดปากชาวอินเดียขณะนั้น อาทิ
– Kitne aadmi the (How many men were there?)
– Jo dar gaya, samjho mar gaya (One who is scared is dead)
– Bahut yaarana laagta hai (Looks like you two are very close)
– Loha garam hai maar do hathoda (Basanti don’t dance in front of these dogs)
ความตื่นตาของภาพและเสียง
Sholay เป็นหนัง bollywood เรื่องแรกที่ถ่ายทำด้วยฟีล์ม 70mm บันทึกเสียงแบบ Dolby sound ซึ่งคงสร้างประสบการณ์การรับชมภาพยนตร์ ได้เท่าเทียมกับ Hollywood, ซึ่งตอนที่ Veeru พบว่า เหรียญของ Jai เป็นยังไง ตอนข้างเหรียญ เสียงกริ้งของหนัง สร้างความสั่นสะเทือนถึงใจผู้ชมเลยละ
ฉาก Action
เราสามารถเรียก Sholay ว่า Epic Action เพราะถือว่ามีความยิ่งใหญ่อลังการ สมจริงที่สุดในสมัยนั้น โดยเฉพาะฉากบนรถไฟ ที่ใครต่อใครในปัจจุบันยังคงพูดถึง ชื่นชมไม่ขาดสาย ว่ายังคงมีพลัง ความตื่นเต้นไม่เสื่อมคลาย
เพลงประกอบ
ทั้ง Yeh Dosti ที่กลายเป็นเพลงชาติของเพื่อนแท้/มิตรภาพ และ Mehbooba Mehbooba ด้วยน้ำเสียงของ R.D. Burman ที่ทรงพลังและกึกก้องติดหูของผู้ชมไปนานแสนนาน
สรุปคือ สิ่งที่ Sholay ได้สร้างปรากฏการณ์ขึ้น คือสิ่งที่โลกตะวันตกเรียกว่า Cult Culture คือในรูปแบบของการแสปากต่อปาก ว่าหนังมีความสนุก แตกต่างจากหนัง bollywood เรื่องอื่น (แต่ก็ยังคงในกลิ่นอาย ธรรมเนียมของหนัง bollywood) จาก 1 เป็น 2 เป็น 4 เป็น 8 คนที่หลงใหลคลั่งไคล้ กลับไปดูซ้ำนับไม่ถ้วน นี่คือปรากฎการณ์ครั้งสำคัญของวงการภาพยนตร์อินเดีย
เข้าฉาย Mumbai เมืองแรกเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1975 (วัน Indian Independence Day) ผลกระทบจากคำวิจารณ์ที่ค่อนข้างแย่ ทำให้ 2 สัปดาห์แรกทำเงินไม่ได้เท่าไหร่ แต่กระแสปากต่อปากเริ่มแรงขึ้นในสัปดาห์ที่ 3 จนกลายเป็น ‘overnight sensation’ เมื่อออกฉายต่างเมืองได้รับความสนใจล้นหลาม จนรายรับทำลายสถิติของ Mughal-e-Azam (1960) ที่เคยทำไว้ ₹55 ล้าน ($11.5 ล้านเหรียญ) จากการประเมินของ Box Office India ในการฉายครั้งแรกทำเงินได้ ₹150 ล้าน (เทียบค่าเงินตอนนั้น เท่ากับ $16.7 ล้านเหรียญ) ถ้าปรับค่าเงินเป็นปัจจุบัน ในปี 2012 จะทำเงินได้ ₹1.63 พันล้าน (=$24 ล้านเหรียญ), หนังฉายต่อเนื่องยาวนาน 286 สัปดาห์ (เกือบๆ 6 ปี) เป็นสถิติยืนโรงยาวนานสูงสุดเช่นกัน
เกร็ด: สถิติหนังทำเงินสูงสุดของ Sholay ถูกทำลายโดย Hum Aapke Hain Koun..! (1994), ส่วนยืนโรงฉายนานที่สุด ถูกทำลายโดย Dilwale Dulhania Le Jayenge (1995)
ในอินเดีย Kismet (1943), Mother India (1957), Mughal-e-Azam (1960), Hum Aapke Hain Koun..! (1994) ฯ เหล่านี้เป็นหนังที่ตอนฉายได้รับความนิยมล้นหลาม ทำรายได้ทุบสถิติสูงสุดตลอดกาล จนกลายเป็นกระแสวัฒนธรรมครั้งสำคัญของประเทศ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Sholay (1975) ถือว่ายิ่งใหญ่กว่านั้น นักวิเคราะห์ชาวอินเดียบอกว่า
“It’s no longer just a film, [but] an event of our country.”
และมีการเรียกยุคสมัย Sholay BC/Sholay AD ยุคก่อน/หลัง Sholay แสดงถึงอิทธิพลที่หนังเรื่องนี้มีต่อวงการภาพยนตร์อินเดีย ทั้งผู้สร้างและผู้ชม
Sholay ได้รับการ remaster บูรณะฟีล์มภาพยนตร์เป็นดิจิตอลในปี 2004 จัดฉายจำกัดโรงที่ Mumbai เต็มทุกรอบ, มีความพยายาม remake หนังเรื่องนี้ Aag (2007) โดยผู้กำกับ Ram Gopal Varma มี Amitabh Bachchan เป็นตัวร้าย ผลลัพท์คือหายนะ
เมื่อปี 2010 มีความพยายามโดย G. P. Sippy หลานชายของ Ramesh Sippy ทำการดัดแปลง Sholay ให้กลายเป็นภาพยนตร์ 3 มิติ, ใช้ทุนสร้างประมาณ ₹250 ล้าน ($3.7 ล้านเหรียญ) เสร็จออกฉายเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2014 ทำเงินได้แค่ ₹100 ล้าน ($1.5 ล้านเหรียญ) … ถ้าใครสนใจก็ลองหามาดูนะครับ
นี่เป็นหนึ่งในหนัง bollywood เรื่องโปรดของผม ประทับใจตั้งแต่ครั้งแรกที่ดู แม้จะมีหลายๆอย่าง มากล้นเกินไป แต่ยังรู้สึกว่า ช่วงเวลาสำคัญของหนัง ชั่วโมงสุดท้าย ยังคงตราตรึง ลึกซึ้ง โดนใจ และคงหาตอนจบแบบนี้จากหนัง Western ประเทศใดๆไม่ได้อีกแน่
ข้อคิดสำคัญสุดของหนังคงเป็น ‘มิตรภาพ’ ระหว่างเพื่อนรักสองคน ที่ไม่ใช่แค่ในจอแต่ทั้งชีวิตจริงของ Amitabh Bachchan กับ Dharmendra ตราตรึง กินใจ สายใยที่ไม่มีวันตัดขาด
ถ้าคุณชื่นชอบแนว Western, Cowboy ลองให้โอกาส Curry Western เรื่องนี้ดูนะครับ ไม่ผิดหวังแน่, แฟนหนัง bollywood ชื่นชอบปู่ Amitabh Bachchan, Dharmendra, Sanjeev Kumar และตัวร้ายสุดอมตะโดย Amjad Khan ไม่ควรพลาดเลย
จัดเรต 15+ กับเลือด ความรุนแรง และการแก้แค้น
TAGLINES | “Sholay เป็น Curry Western ที่แม้จะไม่สมบูรณ์แบบ แต่จะได้รับการยกย่องเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | FAVORITE
Sholay (1975)
(19/11/2015) หนัง bollywood เรื่องที่สองที่ผมจะรีวิวนี้ เป็นหนัง bollywood ที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด ในแทบทุกสำนักวิจารณ์ ทุกชาร์ทจะต้องมีหนังเรื่องนี้ติดอันดับสูงๆแทบทั้งนั้น และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา TIME of India ก็เลือกให้ Sholay เป็นหนังแห่งศตวรรษของวงการหนัง bollywood
ก่อนอื่นเลยต้องพูดถึงนักแสดง นี่ถือว่าเป็นหนังเก่าแต่ไม่เก่ามาก นักแสดงที่เล่นหนังเรื่องนี้ส่วนใหญ่ยังมีชีวิตอยู่ และมีคนหนึ่งที่ยังโลดแล่นอยู่บนโลกภาพยนตร์ เขากลายเป็นหนึ่งในตำนานนักแสดงที่ยังมีชีวิตอยู่ของวงการหนัง bollywood ฉายาเขาคือ “The Big B” พี่ใหญ่บี เขาคือ Amitabh Bachchan ใน Sholay บทของเขาอาจจะเป็นแค่พระรอง แต่ก็ถือว่าเทียบเท่าระดับพระเอกได้ การแสดงยอดเยี่ยมไม่แพ้นักแสดงนำอย่าง Dharmendra หรือตัวประกอบในตำนานอย่าง Sanjeev Kumar และตัวร้ายในตำนานที่ใครๆยังคงกล่าวถึงอยู่อย่าง Amjad Khan
ผมดูหนังของ Amitabh Bachchan มาก็หลายเรื่อง สมัยหนุ่มปู่แกชอบเล่นหนังแนว Action เสียเยอะ พออายุมากเข้าก็ยังเล่นหนังอยู่ แต่จะไปเน้นดราม่ามากขึ้น ยิ่งแก่ยิ่งมีมนต์เสน่ห์ ถ้าเปรียบเทียบ ผมมองว่าปู่แกจะเรียกว่า Clint Eastwood ของอินเดียก็ว่าได้ เห็นว่า Amitabh ได้ถือสถิตินักแสดงที่แก่ที่สุดที่ได้รางวัลนักแสดงจากงานประกาศรางวัล Filmfare ด้วย
ใน Sholay ฉากหนึ่งที่ว่ากันว่าเป็นโคตรแห่งตำนาน คือฉากเปิดตัวของผู้ร้าย ที่ตลกร้ายที่สุด ฉากหัวเราะนั้น เป็นอะไรที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน เป็นการหัวเราะที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่เป็น “laugh of dead” ที่น่าสะพรึงกลัวมากที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ การแสดงของ Amjad Khan ที่ต่อมาได้รับการยกย่องอย่างมากจากบทนี้จนได้รับการจัดอันดับว่าเป็นหนึ่งในตัวร้ายที่ร้ายที่สุดในวงการภาพยนตร์ bollywood น่าเสียดายที่ตลอดทั้งชีวิตของเขาไม่มีโอกาสได้สัมผัสรางวัลอะไรเลย แต่การแสดงของเขาใน Sholay ก็จะได้รับการกล่าวขานไปอีกนาน
ตอนหนังเรื่องนี้ฉาย ผมได้ยินว่าตัวหนังไม่ได้รับการตอบรับที่ดีเลย นักวิจารณ์หนัง bollywood สมัยนั้นมองว่าหนังเรื่องนี้เหมือนสูตรสำเร็จ ที่ดัดแปลงจากหนัง Cowboy Spaghetti คล้ายๆหนังของ Sergio Leone หนังเองแทบจะไม่ได้รางวัลอะไรเลยจากงานประกาศรางวัล Filmfare ที่เปรียบเสมือนรางวัล Oscar ของ Bollywood เลย แต่กระนั้น กาลเวลาได้พิสูจน์แล้ว ว่าหนังเรื่องนี้แหละ กลายเป็นหนังในตำนานระดับ Classic ที่สามารถเทียบชั้นได้กับ The Good, The Bad and the Ugly.เลยทีเดียว
เรื่องบทหนัง จะว่าไปถ้าผมเป็นนักวิจารณ์สมัยนั้น ในยุคที่หนัง Cowboy เต็มไปหมด ก็เชื่อว่าผมคงมีความรู้สึกไม่ต่างกันนัก นี่เป็นหนังธรรมดาๆเรื่องหนึ่ง องค์ประกอบหนัง ความรู้สึก แนวคิด มันก็คล้ายๆเดิม เป็นหนังตลาดทั่วๆไป ขี้ขโมยสองคนกลายเป็นฮีโร่ต่อสู้กับตัวร้ายเพื่อปกป้องเมือง แต่สิ่งที่แตกต่างถ้าสังเกตให้ดีๆ จะพบว่า Sholay ได้นำเสนอวิถีชีวิตของคนอินเดียเข้าไปด้วย คือไม่ใช่ Cowboy ที่หาเจอเกลื่อนๆในหนัง Hollywood สมัยนั้น แต่วิถีชีวิต การแต่งงาน แนวคิดของคนอินเดียสมัยนั้น ถูกถ่ายทอดลงไปใน Sholay ด้วย นักวิจารณ์ของ bollywood ยุคนั้นคงมองไม่เห็นจุดนี้ แต่เมื่อหนังได้เผยแพร่ไปสู่ชาวโลก ในมุมมองต่างชาติ จะมองว่าหนังเรื่องนี้ขายวัฒนธรรมที่เป็นจุดเด่นของอินเดียด้วย ถือว่าเป็นการผสมผสานที่แปลกใหม่ ลงตัวและสวยงามมากๆทีเดียว
งานภาพ แสง สี เสียง เพราะหนังเป็นฟีล์มยุคเก่า การบันทึกเสียง ความสว่างของภาพอาจจะไม่ดูดีนัก (เห็นว่ามีเวอร์ชั่น Remaster และ 3D ด้วย แต่เวอร์ชั่นที่ผมดูมันเป็น Original) ถึงกระนั้นมันก็ยังตราตรึงพอสมควร โดยเฉพาะเพลง Yeh Dosti เพราะมากๆ เป็นการร้อง Duel ของผู้ชายสองคน ประกอบกับการตัดต่อเรื่องราวในหนัง นำเสนอนิสัยของสองตัวพระเอกกับพระรองได้สนุกสนานมาก
งาน Art Direction นั้นก็ไม่มีที่ติทีเดียว ตอนผมดู รู้สึกเลยว่า เห้ยนี่จัดฉากคล้าย Seven Samurai เลยนิ มีหมู่บ้าน พระเอกเป็นฮีโร่ปกป้องหมู่บ้าน โจรผู้ร้าย กลุ่มพระเอกปกป้องหมู่บ้าน ก็คิดไม่ผิดครับ ผมเช็คดูเรื่องนี้ก็ Inspired มาจาก Seven Samurai เยอะเหมือนกัน การจัดฉากที่ผมชอบที่สุด ถือเป็นฉากขึ้นหิ้งเลย ที่คนในหมู่บ้านล้อมวงเถียงกันหลังจากมีคนในหมู่บ้านตาย กล้องหมุนไปรอบๆ ตัดไปที่คนในหมู่บ้านแต่ละคนแสดงความคิดเห็น และคนตอบยืนอยู่ตรงกลาง ฉากนี้ถือเป็นฉาก Classic เลยนะครับ เพราะองค์ประกอบ การจัดวางทุกอย่างอยู่ในจุดที่เราสามารถตีความหมายทางภาพยนตร์ได้สวยงามมากๆ
ฉาก Action ในเรื่องนี้ถือว่า Classic มากๆ โดยเฉพาะฉากไล่ล่าบนรถไฟ มีการถ่ายทำที่เยี่ยมตัดต่อได้ลงตัวมากๆ เราจะเห็นคนตกจากหลังม้าจริงๆ ยกนิ้วให้กับ Stunt เรื่องนี้ทุ่มเทมากๆ ฉาก Action กลางๆเรื่อง และท้ายๆเรื่อง ก็ไม่ใช่มีแค่ Action แต่มาพร้อมกับเรื่องราว และการสรุปฉากต่อสู้ในบทที่หักมุมสุดๆ คาดไม่ถึงเลยทีเดียว ถือเป็น Action ที่มีเหตุมีผล สมเหตุสมผลมาก ไม่ใช่ Action แบบขอให้ Action เหมือนหนังสมัยนี้ ดูแล้วยังรู้สึกลุ้น ตื่นเต้นตามตัวละครเลยนะครับ
สำหรับจุดสำคัญที่สุดที่ผมมองว่า Sholay กลายเป็นหนังที่ดีที่สุดของ Bollywood คือวิธีการเล่าเรื่อง หนังไม่ได้ยึดสูตรสำเร็จจากได้ เริ่มเรื่องเป็นการแนะนำวีรกรรมของกลุ่มพระเอกจากอดีตตำรวจ ที่แสดงโดย Sanjeev Kumar จากนั้นก็เริ่มแนะนำพระเอก พระรอง เปรียบเหมือนถนนสองสายที่มาบรรจบกัน จากนั้นก็เริ่มเดินไปด้วยกัน มีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นที่เป็นการผสมผสานที่วัฒนธรรมที่ลงตัว จากนั้นเปิดตัวผู้ร้าย นี่ฉากเด็ดเลย จากนั้นก็เรื่องราวก็ดำเนินไป จนกระทั่งถึงจุดเปิดเผยความจริงทุกอย่าง จากนั้นก็สู่การตัดสินใจ ความผิดพลาด การปกป้อง และการล้างแคน ผมว่าการเล่าเรื่องแบบนี้เป็นกลยุทธ์ที่ดึงดูดให้คนอยากติดตามว่าเรื่องจะดำเนินต่อไปได้น่าสนใจมากๆ ซึ่งการที่เรื่องจะดำเนินไปถึงแต่ละจุด ก็มักจะมีอะไรหลายๆอย่างผสมเข้ามา ไม่น่าเชื่อว่าส่วนผสมเหล่านี้ถูกคลุกเคล้าอย่างครุกรุ่น และอร่อยมาก การตัดของ M. S. Shinde ถือว่าป็นระดับ Masterpiece จริงๆ และปู่แกเป็นคนเดียว เป็นอย่างเดียวที่ Sholay ได้รับรางวัลจากงาน Filmfare ในสาขาตัดต่อภาพยนตร์
สิ่งที่น่าจะเป็นข้อเสียเดียวของเรื่องนี้คือ ความรุนแรง ผมว่าคนสมัยนั้นเมื่อได้เจอกับฉากช่วงท้ายๆ ผมว่ามันคงเป็นอะไรที่เจ็บปวดและรุ่นแรงมาก กับสมัยนี้ตอนที่ผมดูก็ยังรู้สึกเลยว่า เป็นตอนจบที่ปวดร้าว แต่ก็ต้องยกนิ้วให้ที่ผู้กำกับ Ramesh Sippy กล้าที่จะนำเสนอแบบนี้ ผมได้ยินว่าตอนหนังฉาย ช่วงแรกๆทำเงินไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ก็คิดกันว่าจะถ่ายตอนจบใหม่ เปลี่ยนตอนจบ แต่พอสัปดาห์ต่อๆมา กระแสปากต่อปาก ทำให้หนังทำรายได้สูงขึ้นเรื่อยๆ แนวคิดเรื่องถ่ายใหม่ก็ล้มไปทันที ต่อจากนั้น หนังเรื่องนี้ก็กลายเป็นหนังที่ทำเงินสูงที่สุดในอินเดีย (ในตอนนั้น) ไปในที่สุด เรื่องความรุนแรงในสมัยนี้ผมว่าอยู่ในจุดที่คนรับได้กันแล้วนะ แต่ผมเชื่อว่าฉากไคลน์แม็กซ์นั้น ใครได้ดูก็คงตราตรึงไม่น้อยทีเดียว
สรุปแล้ว นี่คือ Masterpiece เพชรของแท้ของ Bollywood เลยนะครับ ใครก็ตามที่ชอบดูหนัง bollywood แล้วไม่เคยดูเรื่องนี้ ถือว่าคุณไม่เคยดูหนังที่เยี่ยมยอดที่สุดของ bollywood นะครับ แน่นอนว่าหาดูใน youtube ได้พร้อมซับ eng หนังยาวเกือบ 3 ชั่วโมง ผมให้เรต PG-15 ด้วยความรุนแรงของหนังนะครับ ใครยังไม่ได้ดูเสียชาติเกิดแน่นอน!
คำโปรย : “Sholay หนังระดับตำนานของ bollywood ที่ใครยังไม่ได้ดูก็เสียชาติเกิดแล้ว”
เรตติ้ง : PG-15
คุณภาพ : LEGENDARY
ความชอบ : FAVORI
Leave a Reply