Shoplifters

Shoplifters (2018) Japanese : Hirokazu Kore-eda ♥♥♥♥

วัตถุสิ่งของทุกชนิดในโลกสามารถลักขโมยครอบครองเป็นเจ้าของได้ แต่ไม่ใช่จิตใจที่ต้องใช้เวลาศึกษาเรียนรู้ ฟูมฟักเฝ้าทะนุถนอมเอ็นดู แม้มิได้มีสัมพันธ์ทางกายสายเลือด ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งครอบครัวเดียวกันได้, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ใครติดตามรับชมผลงานของผู้กำกับ Hirokazu Kore-eda มาตั้งแต่เรื่องแรกๆ อาจรู้สึกผิดหวังเล็กๆที่ไม่พบเห็นอะไรใหม่ใน Manbiki Kazoku (แปลตรงตัวคือ Shoplifting Family) แต่แทบทุกอณูของหนังเกิดจากประสบการณ์ ประมวลผลความคิด และสไตล์ลายเซ็นต์ สะสมพอกพูนมากกว่าสองทศวรรษ ไต่เต้าถึงจุดสูงสุดด้วยการคว้ารางวัล Palme d’Or จากเทศกาลหนังเมือง Cannes และเป็นเต็งจ๋าสำหรับงานประกาศรางวัล Best Foreign Language Film ปลายปี

สิ่งที่เป็นไฮไลท์ของหนังเรื่องนี้คือการตีความคำว่า ‘การลักขโมย’ ไม่ใช่แค่รูปธรรมจับต้องได้ เหมารวมนามธรรมดังที่ผมเกริ่นไว้ในย่อหน้าแรก สิ่งที่ลักขโมยมาไม่ใช่แค่ข้าวของเครื่องใช้อาหารการกิน แต่ยังจิตใจและสายสัมพันธ์ครอบครัว ว่าไปนั่นถือเป็นทรัพย์สมบัติล้ำค่ายิ่งกว่าสิ่งอื่นใดในโลกนี้

Hirokazu Kore-eda (เกิดปี 1962) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo ตอนเด็กอาศัยอยู่กับแม่ (พ่อเป็นคนพึ่งพาไม่ค่อยได้เท่าไหร่) มีพี่สาวสองคน ตอนหกขวบพบเห็นปู่เสียชีวิตด้วยอัลไซเมอร์เป็นอะไรที่ฝังใจมากๆ โตขึ้นวาดฝันเป็นนักเขียนนิยาย เข้าเรียนสาขาวรรณกรรมจาก Waseda University แต่ออกมาเลือกทำงานเป็นผู้ช่วยกำกับสารคดีโทรทัศน์อยู่ถึง 3 ปี ฉายเดี่ยวเรื่องแรก Lessons from a Calf (1991), แจ้งเกิดกับภาพยนตร์ Maborosi (1995) เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Venice คว้ารางวัล Golden Osella ได้รับการจับตามองจากทั่วโลกโดยทันที

สไตล์ของ Kore-eda มีคำเรียก ‘Cine-Poems’ เรื่องราวสะท้อนความสัมพันธ์เข้ากับชุมชน/เมือง/ป่าเขาธรรมชาติ รับอิทธิพลจาก Yasujirō Ozu, Hou Hsiao-hsien ในความเชื่องช้า นุ่มนวล ลุ่มลึกซึ้ง ชอบสร้างสถานการณ์ข้อจำกัด ตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิต ครอบครัว การมีตัวตน/สูญหาย และมุ่งค้นหาหนทางออกดีสุดของปัญหาที่ไม่มีคำตอบ, ผลงานเด่นๆ อาทิ After Life (1998), Nobody Knows (2004), Still Walking (2008), Like Father, Like Son (2013), Our Little Sister (2015), The Third Murder (2017), Shoplifters (2018) ฯ

จุดเริ่มต้นของ Shoplifters เป็นแนวคิดต่อยอดจาก Like Father, Like Son ตั้งคำถามว่า ‘อะไรคือสิ่งประสานครอบครัวเข้าด้วยกัน?’

“I wanted to continue with the theme I explored in Like Father, Like Son – what is it that ties families together? Is it blood or the time you spend together?”

ขณะที่เรื่องราวได้แรงบันดาลใจจากข่าวดังเมื่อหลายปีก่อน คุณย่าเสียชีวิตจากไปแล้วแต่ครอบครัวกลับไม่รายงานแจ้งตายต่อทางการ ขุดหลุมฝังศพเธอไว้ใต้บ้าน แล้วอาศัยอยู่กินกับเงินบำนาญจนถูกจับได้

นอกจากนี้ยังเป็นการ Revisit หลายๆแนวคิดจากผลงานเก่าๆของ Kore-eda อาทิ
– Maboroshi no Hikari (1995) ความตายที่มาถึงโดยไม่รู้ตัว
– Nobody Knows (2004) เด็กๆถูกแม่ทอดทิ้งไว้ในอพาร์ทเม้นท์หลังเล็กๆ
– ตรงกันข้ามกับ Our Little Sister (2015) ความสัมพันธ์สายเลือดที่ตัดไม่ขาด, รับคนอื่นมาเลี้ยงดู
– After the Storm (2016) แม่อาศัยอยู่ลำพังในอพาร์ทเม้นท์เล็กๆคับแคบ [อิทธิพลต่อการถ่ายภาพ บ้านถูกห้อมล้อมด้วยตึกสูงรอบด้าน]
– The Third Murder (2017) ตัดสินถูกผิด ด้วยการกระทำหรือความตั้งใจ

เรื่องราวของครอบครัว Shibata อาศัยอยู่บ้านหลังเล็กๆสภาพซอมซ่อ ท่ามกลางอพาร์ทเม้นท์สูงใหญ่ในกรุง Tokyo, วันหนึ่งพ่อ Osamu (รับบทโดย Lily Franky) กับเด็กชาย Shota (รับบทโดย Kairi Jō) หลังจากลักเล็กขโมยของในห้างสรรพสินค้าเสร็จสิ้น ระหว่างเดินทางกลับบ้านพบเจอเด็กหญิง Yuri (รับบทโดย Miyu Sasaki) ถูกทอดทิ้งไว้ตรงระเบียง ด้วยความสงสารเห็นใจไม่รู้เมื่อไหร่พ่อ-แม่จะกลับ เลยพามาที่บ้านเลี้ยงดูปูเสื่อจนอิ่มหนำ ขณะร่วมกับภรรยา Nobuyo (รับบทโดย Sakura Ando) ตั้งใจนำไปส่งคืน แต่กลับได้ยินเสียงทะเลาะเบาะแว้งใช้ความรุนแรงตบตี เลยตัดสินใจเก็บเธอรับเลี้ยงไว้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว พร้อมด้วยคุณยาย Hatsue (รับบทโดย Kirin Kiki) และหลานสาว Aki Shibata (รับบทโดย Mayu Matsuoka)

Lily Franky ชื่อจริง Masaya Nakagawa (เกิดปี 1963) หลังจากรับบทสมทบในหนังของ Kore-eda มาหลายเรื่อง ก็ถึงคราขึ้นมาได้รับบทนำเสียที, รับบทพ่อ Osamu Shibata นิสัยง่ายๆเป็นกันเอง ทำงานกรรมกรก่อสร้าง ไม่เคยร่ำเรียนหนังสือหรือวิชาความรู้ติดตัวดูแล้วคงเป็นหัวขโมยตั้งแต่เด็ก สะสมประสบการณ์จนสามารถเสี้ยมสั่งสอน Shota ทำงานร่วมกันไม่เคยโดนจับได้ และความขี้สงสารเห็นใจเลยทนเห็น Yuri ถูกทิ้งไว้เช่นนั้นไม่ได้ ลักพาตัวกลับมาเลี้ยงที่บ้าน เกิดเป็นความสุขสำราญเล็กๆขึ้นภายในจิตใจ

ภาพลักษณ์ทึ่มๆทื่อๆ หน้าซื่อๆเหมือนคนบื้อๆ แต่พอวินาทีจริงจังกับการลักขโมย สายตาเปลี่ยนไปเป็นคนละคน มาดมั่นแน่วแน่ด้วยลีลาและชั้นเชิง ส่งซิกสายตาอย่างมืออาชีพตัวจริง!, ปกติแล้ว Franky มักเป็นผู้สร้างสีสันให้หนัง อย่าง Life Father, Like Son รับบทพ่อที่ดูเหมือนพึ่งพาไม่ได้เท่าไหร่ แต่มีเวลาให้กับลูกมากจนสนิทสนมชิดเชื้อไม่ถือตัว เรื่องนี้ก็เช่นกันแทบไม่แตกต่าง นี่เหมารวมถึงฉาก Sex Scene ของตัวละคร วัยทองมันเป็นแบบนี้เองสินะ!

Sakura Ando (เกิดปี 1986) นักแสดงหญิงยอดฝีมือล่ารางวัล ผลงานเด่น อาทิ Our Homeland (2012), For Love’s Sake (2012), 100 Yen Love (2014), รับบทแม่ Nobuyo Shibata ตอนแรกปฏิเสธเสียงขันแข็งไม่อยากรับเลี้ยงดู Yuri แต่พอพบเห็นสถานการณ์ครอบครัวของเธอเลยเอ็นดูทะนุถนอม รักมากกอดแน่นไม่ยอมปล่อย ทำงานร้านซักรีดแต่ภายหลังถูกไล่ออกเพราะเงินเดือนสูงเกินไป ยินยอมเสียสละตนเองเพื่อ Yuri และติดคุกแทน Osamu จดจำช่วงเวลาดังกล่าวไว้ไม่ลืมเลือน

Ando ไม่ใช่ผู้หญิงที่สวยเท่าไหร่ แต่เต็มไปด้วย Passion ทั้งความต้องการร่าน Sex และเอ็นดูทะนุถนอมลูกรัก ถ่ายทอดออกมาผ่านสีหน้าสายตาความรู้สึก โดยเฉพาะตอนถูกซักถามแล้วร่ำไห้ออกมา พยายามเอามือเช็ดปาดน้ำตาแต่ทำยังไงก็หยุดไม่ได้ พูดซ้ำๆอยู่ประโยคหนึ่ง รวดร้าวไปถึงขั้วหัวใจ

Kirin Kiki (เกิดปี 1943) คุณยายขาประจำของ Kore-eda (ต้องถือว่าเป็นคุณแม่คนที่สองได้แล้วกระมังนะ), รับบท Hatsue ยายจอมงกที่อาศัยอยู่ด้วยเงินบำราญของรัฐ พยายามละลายทรัพย์ด้วยการเล่นปาจิงโกะ เบื้องหน้าแสดงออกเหมือนรักใคร่เอ็นดูลูกๆหลานๆ แต่ลับหลังกลับกลอกปลิ้นปล้อนสิ้นดี ถึงกระนั้นเธอก็ยังยินดีสุขใจที่ได้มีพวกเขาทั้งหลายข้างกายในวันสุดท้ายของชีวิต

ยังดีที่ยาย Kiki ไม่ตายทรมานแบบ Tokyo Tower: Mom and Me, and Sometimes Dad (2008) กระนั้น Death Flag ถ้าใครสังเกตหน่อยก็จะพบตั้งแต่ต้นๆ ใบหน้าซีดเซียว ดวงตาหมองคล้ำ หงำเหงือก ไร้วี่แววของการมีชีวิต และยิ่งท่าทางเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าตอนเที่ยวทะเล ทีแรกผมนึกว่าจะไปตั้งแต่ตอนนั้น ตัดมาเมื่อหวนกลับบ้าน ค่อยยังชั่วหน่อยไม่ใช่ตอนทุกคนกำลังมีความสุขสำราญ

Mayu Matsuoka (เกิดปี 1955) นักแสดงสาวหน้าใสที่เพิ่งเริ่มคุ้นหน้าจากบทสมทบ Chihayafuru (2016), Tremble All You Want (2017), รับบท Aki พี่สาวที่หนีออกจากบ้าน ยังหลับนอนกับย่า โหยหาต้องการเติมเต็มสิ่งขาดหายไป ทำงานเป็น Call Girl โชว์เรือนร่างของตนเองให้คนตรงข้ามกระจกเกิดความสุขสำราญใจ

เห็นอาชีพนี้ชวนให้นึกถึง Paris, Texas (1984) ขึ้นมาเลย กับคนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกระจกมักรับชมเพื่อสนองตัณหาร่านราคะความต้องการ ขณะที่ผู้แสดงสาวโยกส่ายสะบัดขายของลับของหวงของมีค่าของตนเอง แปรสภาพกลายเป็นของไร้ค่า (มักเป็นการประชดประชันพ่อ-แม่ ที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญมีค่ากับเธอ)

Kairi Jō รับบท Shota เด็กชายที่กำลังเติบโตเป็นหนุ่ม ฮอร์โมนเพศเริ่มสร้างความฉงนสงสัยในชีวิต อารมณ์แปรปรวนเรียกร้องความสนใจ ได้พ่อที่ตนเองยังไม่ยอมเรียกว่าพ่อพูดคุยบอกจนเกิดความเข้าใจ เป็นปกติของผู้ชายที่ใคร่อยากรู้เห็นของลับของหวงของหญิงสาว

ค่อนข้างเหมือน Yūya Yagira นักแสดงหนุ่มน้อยจาก Nobody Knows (2004) ดูแล้วผู้กำกับ Kore-eda คงเลือกที่รูปลักษณ์หน้าตาก่อนแน่แท้ สายตาเต็มไปด้วยความฉงนสงสัย โล้ลังเลไม่แน่ใจ ถือเป็นช่วงปกติวัยของเด็กอายุประมาณนี้ (ที่ยังดูเหมือนเด็ก แต่เดี๋ยวเถอะโตสูงวันสูงคืนเลยละ)

Miyu Sasaki รับบท Juri/Yuri/Lin น้องสาวหน้าตาจิ้มลิ้มใสซื่อบริสุทธิ์ เพราะเธอยังไม่รู้ประสีประสาอะไรทั้งนั้น เลยไม่สามารถถ่ายทอดอารมณ์หรือความเข้าใจใดๆต่อตัวละครออกมาได้ แต่ผู้กำกับก็สามารถสร้างสถานการณ์ให้แสดงออกดั่งที่ความต้องการของเขาได้

ไดเรคชั่นกำกับการแสดงของ Kore-eda บทหนังมักมีแค่โครงสร้างร่างเรื่องราวคร่าวๆ ไร้ซึ่งบทพูดสนทนาให้อิสระนักแสดงครุ่นคิดสรรสร้างขึ้นเอง (ยกเว้นนักแสดงเด็กๆ ที่ถ้าไม่รู้จะพูดอะไรก็จะถูกขอให้พูดตามผู้กำกับ) ด้วยเหตุนี้การแสดงจึงมีความเป็นธรรมชาติสูงมาก เต็มไปด้วยรายละเอียดให้เลือกนำมาใช้ในกระบวนการตัดต่อ

ถ่ายภาพโดย Ryûto Kondô เป็นการร่วมงานครั้งแรกกับ Kore-eda, ความโดดเด่นของงานภาพ คือการเลือกใช้โทนสีฟ้า-น้ำเงิน และกล้องฟีล์มที่ให้สัมผัสหยาบๆเหมือนความทรงจำ

สไตล์งานภาพของหนังเรื่องนี้ถือว่าแตกต่างจากปกติก่อนหน้านี้ของ Kore-eda พอสมควร เหมือนจะพยายามฉีกตัวเองจากคำของนักวิจารณ์ที่เปรียบเทียบเขาเหมือน Yasujirō Ozu แต่เจ้าตัวบอกตนเองเหมือน Mikio Naruse กับ Ken Loach เสียมากกว่า

วิธีการที่หนุ่มๆใช้ขโมยของในห้างสรรพสินค้า ส่งซิกผ่านสัญญาณมือ มองผ่านกระจกเห็นพนักงานขาย และให้อีกคนหนึ่งยืนบดบังระหว่างนำสิ่งของยัดใส่กระเป๋า จากนั้นทำตัวเนียนๆแล้วค่อยเดินออก (วิธีการนี้ใช้ไม่ได้กับร้านที่ติดกล้องวงจรปิดนะครับ)

เกร็ด: ผมคิดว่าภาษามือที่เด็กชายทำก่อนลงมือปล้นทุกครั้ง มันน่าจะมีความหมายอะไรมากกว่าพิธีกรรม/การขอขมา/ขออนุญาตลักขโมยสิ่งของ เหมือนการไขว้นิ้วเวลาจะพูดโกหก จะได้ไม่รู้สึกผิดหลอกลวงตนเอง

บ้านคุณย่าตั้งอยู่ท่ามกลางอพาร์ทเมนท์สูงใหญ่ขึ้นรอบด้านจนแทบไร้แสงสว่างสาดส่องลงมา นี่สะท้อนถึงสถานะของครอบครัวนี้ที่เป็นอาชญากร ทำตัวตกต่ำ จุดใต้ตำตอ แปลกแตกต่างจากวิถีสังคมที่เคลื่อนผ่านพัฒนาไป

นี่เช่นกันสะท้อนถึงความเห็นแก่ตัว มองได้สองมุมมอง
– ในมุมของคุณย่าเจ้าของบ้านหลังนี้ รอบข้างคือตึกสูงใหญ่แทนถึงคนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นแต่กลับไม่คำนึงคิดถึงคนรุ่นเก่าที่ตามไม่ทัน
– กลับกันกับเจ้าของอพาร์ทเมนท์เหล่านี้ คุณย่าคือพวกดื้อรั้นหัวโบราณ โลกพัฒนาไปไหนต่อไหนไม่สนใจปรับเปลี่ยนแปลงตาม กลายเป็นมุมมืดที่ไม่มีใครใคร่สนใจ

ไดเรคชั่นการถ่ายภาพภายในบ้านหลังนี้ก็มักเต็มไปด้วยความอึดอัดคับแคบ (แบบเดียวกับ After the Storm) เดินเบียดกันไปมา รกรุงรังด้วยข้าวของเครื่องใช้ ขยะทั้งนั้นเลยกระมัง

เด็กหญิง Yuri ถูกทิ้งขว้างเหมือนขยะอยู่ตรงระเบียงห้อง ภาพช็อตนี้มีนัยยะถึงการมีตัวตนอันน้อยนิด ผ่านช่องว่างเล็กๆของเธอที่น้อยคนจะมองเห็นให้ความสนใจ ในมุมกลับกันก็เช่นกัน เพราะพ่อ-แม่ ไม่เคยให้ความสนใจใยดี เลยมองคนอื่นออกสู่ภายนอกด้วยความกว้างประมาณนี้แหละ

นี่คือ Cliché ของการลักพาตัว ด้วยการแค่เอาของกินมาล่อ เด็กๆก็ยอมติดตามไป พ่อ-แม่ควรเสี้ยมสอนลูกๆให้ดีว่าอย่ารับของใครจากคนไม่รู้จัก โดยเฉพาะของกิน

ถ้าเป็นปกติของหนัง Kore-eda นี่จะเป็น Tatami Shot ภาพถ่ายระดับต่ำกว่าสายตาตัวละครเล็กน้อย แต่นี่ไม่น่าจะใช่นะ คงอย่างที่ผมบอกจริงๆว่าต้องการฉีกตัวเองออกจากกฎกรอบต่างๆ [Kore-eda เริ่มเป็นแบบนี้ตั้งแต่ The Third Murder (2015) ฉีกตัวเองจาก Family Drama กลายเป็นอาชญากรรม Courtroom Drama]

อาหารโปรดของครอบครัวนี้คือมาม่าสำเร็จรูป … เราคงสามารถเรียกพวกเขาได้ว่า ‘ครอบครัวสำเร็จรูป’ คือก็มีครบสามรุ่นเลยนะ ย่า พ่อ-แม่ ลูกชาย-สาว

ตกปลา เป็นกีฬาใช้ดวงกับความอดทน ปลาในน้ำก็เหมือนเด็กๆพวกนี้ที่ถูกทิ้งขว้าง เคว้งคว้างแหวกว่ายไม่รู้จะสามารถหาเหยื่อเอาตัวรอดได้หรือเปล่าในสังคม ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อถูกเกี่ยวขึ้นมาก็จักกลายเป็นอาหารกลางวันอันโอชา ลาภปากของผู้ประสงค์หวังร้าย

เหยื่อมีสองประเภทขนาดเล็ก-ใหญ่ ไว้หลอกล่อปลาต่างขนาดให้มากิน นี่อาจเป็นการสื่อถึงพ่อ-ลูกคู่นี้ ที่ช่วงท้ายมีการหักเหลี่ยมเฉือนคมกัน, พ่อตั้งใจจะทิ้งลูกแล้วเอาตัวรอดหลบหนี ขณะที่เด็กชายจงใจกระโดดลงจากสะพานเพื่อเรียกร้องความสนใจ

เกร็ด: นิทานเด็ก Swimmy แต่งโดย Leo Lionni (1910 – 1999) นักเขียนวรรณกรรมเด็กสัญชาติ Dutch ที่ภายหลังอพยพสู่อิตาลีตามด้วยอเมริกา แต่งหนังสือเด็กกว่า 40 เล่ม มี 4 เรื่องคว้าที่รางวัล Inch by Inch (1961), Swimmy (1964), Frederick (1968), Alexander and the Wind-Up Mouse (1970)

ผมชอบการใช้แสงสีม่วงอ่อนๆของฉากนี้อย่างมาก คือส่วนผสมของความรัก (ชมพู) กับ Sex (น้ำเงิน) เป็นความต้องการเติมเต็มซึ่งกันและกัน กอดอย่างแนบแน่น สนิทสนมรักใคร่ไม่ใช่ด้วยคำพูดแต่ความรู้สึกจากใจ แทบจะเข้าใจกันและกันโดยทันทีว่าชีวิตผ่านอะไรๆมา

น่าเสียดายที่หนังจะตัดข้ามประเด็นนี้ไปเลย ไม่เอ่ยถึงว่าเกิดอะไรขึ้นต่อหลังจากถูกจับได้ พวกเขามีโอกาสพบเจอกันอีกไหม นี่คงเป็นการปลดปล่อยให้ผู้ชมครุ่นคาดคิดกันไปเองตามสไตล์ Kore-eda

จับจ้องมองในกระจกน้องสาวนั่งตักพี่สาว ทั้งสองราวกับถอดแบบพิมพ์เดียวกัน ทั้งๆที่สายเลือดก็ไม่ใช่ หรือว่าสายสัมพันธ์ทางใจที่แนบแน่นทำให้พวกเขาดูคล้ายคลึงกันก็ไม่รู้

ถ้าผมจะไม่ผิดน่าจะเริ่มที่ Like Father, Like Son (2013) ที่ตัวละครเริ่มกอดกัน ก่อนหน้านี้คงเพราะผู้กำกับ Kore-eda ยังไม่เห็นคุณค่าความสำคัญของการกอด (ตอน Still Walking แม่แค่จับมือลูกชาย คิดได้ไง!) คงสร้างความกระอักกระอ่วนทุกครั้งที่ถูกแม่กอด แต่เมื่อท่านจากโลกนี้ไปและเขามีลูกของตนเอง จึงเริ่มตระหนักเข้าใจเหตุผลของการกระทำนี้

ระดับความเบลอและระยะห่างของตัวละคร สะท้อนถึงความส้มพันธ์ระหว่างพวกเขากับ Nobuyo ด้วยนะ รักมากคือเด็กหญิง รองลงมาคือเด็กชาย สามี และพี่สาวที่เหมือนแค่ญาติห่างๆ ไม่ได้สนิทชิดเชื้ออะไร

เป็นอีกครั้งที่ Kore-eda หาทางหลีกเลี่ยงไม่โชว์พลุดอกไม้ไฟ อ้างว่าได้ยินเสียงแล้วเหม่อมองขึ้นไปบนท้องฟ้า นี่เฉกเช่นเดียวกับ Our Little Sister (2015) [เรื่องนี้แอบใช้ CG เห็นไกลลิบๆ ไม่คุ้มกับที่อุตส่าห์รอคอย]

ความน่าสนใจของช็อตนี้คือการถ่ายจากมุมสูงก้มลงมา (Bird Eye View) ไม่แน่ใจว่าด้วยโดรนหรือถ่ายจากตึกชั้นบนลงมา เห็นแสงสว่างเฉพาะพวกเขาทั้งห้า ขณะรอบข้างแทบจะมืดมิดสนิท

ทั้งห้าพยายามต่อสู้กับคลื่นที่พัดโถมเข้ามาริมฝั่ง แม้จะแค่ลูกเล็กๆไม่ได้ใหญ่โตอะไรมาก กระโดดเล่นเพื่อก้าวข้ามผ่านอุปสรรค์ ได้รับชัยชนะเหนือปัญหาขวากหนามใดๆในในชีวิต

ชายหาดริมทะเลในหนังของ Kore-eda คือสัญลักษณะของเป้าหมายปลายทางชีวิตที่สามารถไปถึงได้ (Death Flag ของความตาย) เหม่อมองท้องฟ้าไกลคือบางสิ่งอย่างที่เกินเอื้อมมิอาจไขว่คว้าถึง สำหรับบางคนที่ยังไร้ซึ่งความสนใจใคร่มองหา ก็มักมีชีวิตอย่างสนุกสนานครื้นเครงสำราญ แบบพวกเขาทั้ง 5 ที่ยังว่ายเวียนวนอยู่บนโลกใบนี้

เอ… ในหนังมันเซ็กซี่กว่านี้นะ สงสัยนี่คือ Photo Shoot

หลังโดนจับกุมตัว ทั้งหกคนจะถูกเจ้าหน้าที่ซักสัมภาษณ์ถาม-ตอบ นำเสนอด้วยภาพหน้าตรง (Portrait Shot) เพื่อให้ผู้ชมพิจารณาตัดสินว่าทั้งหมดที่พวกเขากระทำมา และกำลังจะพูดแก้ตัว มีความถูก-ผิดประการใด

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นำเสนอการสะท้อนจิตวิทยาตัวละครออกมาแบบนี้นะครับ ผมนึกออกแค่ซีรีย์ Neon Genesis Evangelion (1995-96) กับสองตอนสุดท้ายที่โคตรโด่งดังระดับหยุดโลก แต่เหตุผลของเรื่องนั้นที่ทำลักษณะนี้เพราะทำตอนจบไม่ทันฉาย เลยรวบรัดโยนไปเป็นฉบับภาพยนตร์แทน

ตัดต่อโดย Hirokazu Kore-eda, หนังไม่ได้ใช่การเล่าเรื่องผ่านตัวละครหนึ่งใด แต่เหมารวมทั้ง 6 คน ไกล่เกลี่ยด้วยเรื่องราวของตนเอง และความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว เกิดกลายเป็นสายใยรักเชื่อมโยงพัวพันอย่างแยกแยะตัดไม่ขาด

แบ่งหนังง่ายสุดก็คือสององก์ โดยมีย่าเป็นจุดหมุน
– ครึ่งแรก ช่วงเวลาแห่งการพบเจอ ความสุขช่างแสนสั้น กึ่งกลางพอดีตอนที่ไปเที่ยวทะเลพร้อมหน้า
– ครึ่งหลัง ช่วงเวลาแห่งความพลัดพรากจาก เติบโต และสูญเสีย

เพลงประกอบโดย Haruomi Hosono สมาชิกวง Rock ชื่อ Happy End เป็นนักร้อง เล่นเบส และหลายครั้งเครื่องสังเคราะห์เสียง ก่อนหน้านี้เคยทำเพลงประกอบอนิเมะ Appleseed Ex Machina (2007)

ลักษณะของบทเพลงถือเป็นการทดลอง Experimental ใช้ส่วนผสมของเครื่องดนตรีที่มีความแตกต่างขัดแย้ง อาทิ เปียโน-กลอง กีตาร์ Bells/กระดิ่ง ฯ ถ้าบรรเลงเล่นคู่ก็มักตัวใครตัวมันไม่ได้ให้มีความกลมกลืนผสมผสานเข้ากัน สื่อถึงความแปลกแยกแตกต่าง หลากหลายตัวละครทั้งหกที่มีความแตกต่างสุดขั้ว แต่เมื่อมาอาศัยอยู่ร่วมชายคากลับมีสายสัมพันธ์ทางใยทางใจที่มิอาจตัดขาดได้

เสียงกีตาร์ มักมอบสัมผัสเต็มไปด้วยความโดดเดี่ยวอ้างว้าง แต่เมื่อดีดรัวๆราวกับบางสิ่งอย่างได้เข้าใกล้มาหา เกิดเป็นประกายความหวังของชีวิตที่จะได้พบเจอใครสักคนมาทำให้ไม่ต้องเดียวดายอีกต่อไป และถ้าดีดหมดทั้ง 5 สาย (+กลอง) ก็ครบทั้ง 6 คนครอบครัวนี้พอดิบพอดี

การลักขโมย ใครๆคงรู้ได้ว่าเป็นสิ่งผิดศีล/กฎหมาย/จริยธรรมของสังคม แต่…
– ในกรณีของศีล จะมีทั้งหมด 5 องค์ประกอบ (วัตถุสิ่งของที่มีเจ้าของ, รับรู้ว่าวัตถุสิ่งของนั้นมีเจ้าของ, มีจิตคิดจะลัก, ทำความเพียรเพื่อขโมย, ได้สิ่งของนั้นมาด้วยความเพียร) ครบถ้วนจึงถือว่าผิดศีลขาด ในกรณีลักขโมยแบบไม่ได้ตั้งใจก็แค่ศีลเบาบาง รับรู้ตัวเมื่อไหร่ถือสิทธิ์เป็นเจ้าของก็ขาดสะบั้นลงเมื่อนั้น
– กฎหมาย วัดกันที่การกระทำและหลักฐานจับต้องมองเห็นได้ รอดไม่รอดบางทีก็อยู่ที่ลูกขุน/ผู้พิพากษา จะมองการกระทำนั้นตั้งใจหรือไม่
– จริยธรรมของสังคม นี่เป็นสิ่งคลุมเคลือที่มักอ้างผลประโยชน์คนหมู่มากเป็นหลัก อาทิ นำของโจรไปช่วยเหลือผู้อื่นแบบ Robin Hood (ได้รับการยกย่องนับถือ), ขโมยเพื่อความอยู่รอดของตนเอง บางครั้งสามารถยินยอมให้อภัยได้ ฯ

มองกันแบบไม่สองสามมาตรฐาน การลักขโมยสิ่งที่ไม่ใช่เจ้าของถือว่ามีความผิดทั้งหมด แต่นั่นเหมารวมถึงการโจรกรรมทางคำพูดและจิตใจด้วยหรือเปล่า? รู้สึกว่าสองอย่างนี้จะไม่ใครเขานับกันนะ

การลักพาตัว/ขโมยเด็กหญิง Yuri เป็นสิ่งผิดกฎหมายอย่างแน่นอน แต่ศีลธรรมกับจริยธรรมถือว่ามีความคลุมเคลืออย่างยิ่ง
– ตอนแรกที่พาตัว Yuri มาที่บ้าน ไม่ได้มีความตั้งใจจะลักพาตัวเลยถือว่ายังไม่ผิดศีล, แต่ตอนหลังเมื่อได้ยินพ่อ-แม่ของเธอทะเลาะโต้เถียง เกิดความตั้งใจนั่นถือว่าผิดแล้ว, ต่อมาเพราะพวกเขาไม่เข้าแจ้งความ เหมือนเกิดความตั้งใจยินยอมให้ถูกลักพาตัว จุดนี้คือผมก็ตอบไม่ได้แล้วว่าจะยังผิดไม่ผิดอยู่หรือเปล่า
– แง่ของจริยธรรม มองในมุมของครอบครัว Shibata นี่ถือเป็นการกระทำอันมีมนุษยธรรมที่สุดแล้ว, เฉกเช่นเดียวกันกับพ่อ-แม่ของ Yuri ดีใจที่ผลักไสลูกให้หมดภาระ, แต่กับสังคมต่างยินยอมรับไม่ได้ ลักพาตัวเป็นโทษขั้นรุนแรง ผลักภาระให้กฎหมายตัดสิน

ในเรื่องของการตัดสินถูก-ผิด หนังเรื่องนี้ก็เช่นกันผลักภาระให้คนดูค้นหาคำตอบด้วยตนเอง แต่ก็ถือเป็นประเด็นหนึ่งที่หาคำตอบไม่ได้อย่างแน่นอน ดังนั้นสาสน์สาระ/ความตั้งใจจริงของผู้กำกับ Kore-eda คือชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดหาวิธีป้องกัน ไม่ให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นในชีวิตจริง นั่นย่อมดีกว่านั่งคุยถกเถียงไก่ไข่อะไรเกิดก่อนกัน

ปัญหาสังคมที่หนังเรื่องนี้นำเสนอตีแผ่ออกมา คือการปล่อยปละละเลยไม่สนใจ หรือถูกทิ้งขว้าง ประกอบด้วย
– เด็กหญิง: พ่อ-แม่ไม่สนใจ ไม่อยากให้เกิดมามีชีวิต
– เด็กชาย: แม้จะโดนลักพาตัวมา แต่เมื่อสร้างปัญหาเลยกำลังจะถูกทอดทิ้ง
– พี่สาว: หนีออกจากบ้านเพราะไม่ได้รับความสนใจจากครอบครัว
– พ่อ: ได้รับบาดเจ็บ ไร้ซึ่งค่ารักษาพยาบาล
– แม่: เงินเดือนสูงเกินไปเลยโดนไล่ออกจากงาน, ถูกสามีเก่าจับได้ตั้งใจฆ่าให้ตายเลยต้องตอบโต้ป้องกันตัว
– ยาย: ลูกหลานไม่ให้ความสนใจ

ทั้งหกตัวละครที่หนังนำเสนอมานี้ น่าจะครอบคลุมทุกระดับปัญหาครอบครัว
– ท้องก่อนแต่ง ไม่พร้อมมีลูก
– ความหัวขบถเกเรของเด็กวัยกำลังเติบโตเป็นวัยรุ่น ช่วงเวลาแห่งการอยากรู้อยากลอง เรียกร้องความสนใจ
– ขาดความอบอุ่นในครอบครัว แสวงหาเพื่อน/คนรัก เติมเต็มสิ่งหายไปในชีวิต
– สวัสดิการสังคมไม่ดีพอ รัฐไม่สามารถดูแลอย่างทั่วถึง
– ความเห็นแก่ผลประโยชน์ของบริษัท, ปัญหาสามี-ภรรยา ขัดแย้งเลิกรา
– ผู้สูงวัยถูกทอดทิ้ง

ส่วนใหญ่ของปัญหาเหล่านี้สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเราเอง ไม่อยากท้องก่อนแต่งก็รู้จักหักห้ามอารมณ์ควบคุมตนเอง, ให้ความรักสนใจกับลูกๆในทุกช่วงวัย รับฟังปัญหา ร่วมหาหนทางแก้ไข, กับคนรักสามี/ภรรยา พูดคุยกันตลอดเวลา, พ่อ-แม่ ผู้สูงวัยก็อย่าทอดทิ้งให้โดดเดี่ยวเดียวดาย

แต่บางอย่างก็ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเราเอง อาทิ สวัสดิการรัฐ, บริษัทที่ทำงาน ฯ อันนี้ผมก็จนปัญญาจะให้คำแนะนำ เลือกคนดีเข้าสภา? หาบริษัทดีๆทำงาน? ของแบบนี้ในยุคสมัยปัจจุบันมันเลือกกันได้ที่ไหน ช่างหัวมันแล้วเอาตัวเองให้รอดก่อนดีกว่า!

คนที่มีปัญหาอะไรๆคล้ายกัน มักสามารถปรับตัวเข้าหาได้โดยง่าย นี่คงคือเหตุผลให้ทั้ง 6 กลายเป็นครอบครัวลับๆ สามารถเติมเต็มกันและกันได้ตลอดเวลา
– เด็กหญิงขาดความอบอุ่น ได้รับการกอดอันแนบแน่นจากแม่
– เด็กชายเต็มไปด้วยฮอร์โมนแห่งความลังเลสงสัย ได้พ่อที่เข้าใจและบอกว่าเป็นเรื่องปกติของชีวิต
– พี่สาวมีย่าเคียงข้างกาย และได้พบเจอชายคนหนึ่งแม้ไม่พูดอะไรแต่ก็เข้าใจกันหลายๆอย่าง
– พ่อได้รับการเติมเต็มความรักจากแม่ และลูกๆที่เพ้อฝันอยากมี
– แม่ได้รับการเติมเต็มความรักจากพ่อ และลูกๆที่เพ้อฝันอยากมีเช่นกัน
– ยาย แม้จะโดนลูกๆในไส้ทอดทิ้งแต่ก็ได้พวกเขาเหล่านี้เคียงข้างในวันโรยรา

ความสัมพันธ์ของมนุษย์ก็มักเป็นเช่นนี้เองแหละ ต่างสามารถเติมเต็มความต้องการให้แก่กันและกัน แต่ก่อนจะเริ่มนั้นจำก็ต้องสังเกตเรียนรู้เสียก่อนว่าพวกเขาขาดหายอะไรไป จึงสามารถตักใส่ให้ได้ถูกต้อง

ชีวิตจริงมันไม่เหมือนในหนังที่สามารถวิเคราะห์แยกแยะออกมาได้ง่ายๆแบบนี้ (แต่มันก็ไม่ง่ายเลยนะ!) จะเข้าใจปัญหาต้องเริ่มจากการสังเกต พูดคุย ครุ่นคิดคาดการณ์ อย่ามัวแต่เอ้อระเหยลอยชายมโนว่าลูกๆไม่มีวันเป็นทำตัวแย่ๆให้ผิดหวัง ไม่มีใครทุกวันนี้เกิดมาสมบูรณ์แบบนะครับ หลายสิ่งอย่างเก็บกดสะสมอัดอั้นไว้ภายในดั่งระเบิดเวลารอวันปะทุ และถ้าถึงตอนนั้นเมื่อมันระเบิดออก อะไรๆก็สายเกินแก้ไขแล้ว

Cate Blanchett ประธานกรรมการตัดสินรางวัล Palme d’Or ให้เหตุผลคำตัดสินว่า

“We were completely bowled over by Shoplifters. How intermeshed the performances were with the directorial vision”.

เกร็ด: เป็นหนังรางวัล Palme d’Or เรื่องที่ 5 ของญี่ปุ่นถัดจาก Gate of Hell (1954), Kagemusha (1980), The Ballad of Narayama (1983) และ The Eel (1997)

เข้าฉายในญี่ปุ่นสุดสัปดาห์แรกรายรับ 444.7 ล้านเยน ติดอันดับ 1 อยู่สามสัปดาห์ ล่าสุดทำเงินเกิน 4 พันล้านเยน ทุบสถิติ Like Fater, Like Son (2013) กลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดของ Kore-eda เรียบร้อยแล้ว

กระนั้นในญี่ปุ่นก็มีเสียงต่อต้านจากบรรดานักอนุรักษ์นิยมที่ดูหนังไม่ค่อยเป็น

 “a global embarrassment that a Japanese person has won an award for making a film about a family of Japanese shoplifters”.

ในบรรดาผลงานของ Kore-eda ผมยังคงชื่นชอบประทับใจ Nobody Knows (2004), Still Walking (2008) และ Like Father, Like Son (2013) มากกว่า นั่นเพราะแต่ละเรื่องราวมีประเด็นความเฉพาะเจาะจงของมันเอง ขณะที่ Shoplifters (2018) คือการผสมผสานหลากแนวคิดจากหนังหลายๆเรื่อง แล้วหาจุดร่วมสร้างความสัมพันธ์ ระหว่าง 1-to-1 กับ many-to-1 รสนิยมส่วนตัวคือแบบแรกนะครับ

ถึงกระนั้นก็ยังควรค่าระดับ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” คนเป็นพ่อ-แม่ ต้องทำความเข้าใจให้ได้ว่าการเป็นครอบครัว ไม่ใช่สิ้นสุดยุติแค่สายเลือดเนื้อเชื้อไขเท่านั้น สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือความสัมพันธ์ภายในจิตใจ อย่าปล่อยให้สิ่งนี้ถูกลักขโมยไป เพราะมันจะหายสาปสูญชั่วนิรันดร์มิอาจทวงคืนได้

แนะนำโดยเฉพาะอย่างยิ่งหนุ่ม-สาว กำลังจะแต่งงานมีครอบครัว, พ่อ-แม่ กำลังจะมีลูก, คนทำงานสถานสงเคราะห์ รับเลี้ยงเด็ก, คอหนังดราม่าครอบครัว และแฟนๆผู้กำกับ Hirokazu Kore-eda ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรต 13+ กับทัศนคติผิดๆค้อการลักขโมยของ

TAGLINE | “Shoplifters คือการขโมยเล็กๆน้อยๆจากผลงานเก่าของ Hirokaza Kore-eda แล้วหาจุดร่วมสร้างความสัมพันธ์เพื่อโจรกรรมจิตใจความรู้สึกของผู้ชม”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: