Shree 420 (1955) : Raj Kapoor ♥♥
พบกับ Charlie Chaplin แห่ง bollywood, Raj Kapoor เล่นเองกำกับเองแสดงเป็น Little Tramp ประกบ Nargis สองคู่รักบนจอที่เคมีเข้ากันที่สุดแล้ว, ถึงรองเท้าที่ฉันมีจะเป็นของญี่ปุ่น กางเกงที่สวมเป็นของอังกฤษ หมวกที่ใส่เป็นของรัสเซีย แต่หัวใจฉันยังเป็นอินเดีย
หนังเรื่องนี้ตอนฉายได้กลายเป็นทำเงินถล่มทลายสูงสุดตลอดกาลใน Boxoffice ของอินเดีย ทำลายสถิติเดิมของ Kismet หนัง Blockbuster เรื่องแรกของอินเดียที่ทำรายได้ Rs 1 crore ไปไกลถึง Rs 2 crore (=$21 ล้านดอลลาร์ในปี 2016) ก่อนจะถูก Mother India (1957) ทำเงินแซงในอีกสองปีถัดมาที่ Rs 4 crore
Raj Kapoor นักแสดงและผู้กำกับชื่อดังของ bollywood ด้วยความที่ตัวตนของเขามีความสนุกสนาน ร่าเริง จึงชอบทำหนังที่ตัวละครมีความจริงใจ ซื่อสัตย์, ตัวละครของเขามักจะได้แรงบันดาลใจมาจาก Little Tramp ของ Charlie Chaplin ซึ่งหน้าตาของทั้งสอง ถ้าได้แต่งตัวเหมือนกันละก็ อาจแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าใครเป็น Chaplin ใครเป็น Kapoor
ผลงานที่โดดเด่นที่สุดของ Raj Kapoor คือ Awaara (1951) ที่นำแสดงโดย Raj Kapoor ประกบกับ Nagis ทั้งสองทำหนังร่วมกันทั้งหมด 16 เรื่อง เพราะ Nargis พยายามเกี้ยวพาราสี Kapoor ให้เลิกกับภรรยาแล้วมาแต่งงานกับเธอ แต่ไม่สำเร็จ หนังเรื่องสุดท้ายที่ทำด้วยกันคือ Jagte Raho (1956) เป็นบทรับเชิญเล็กๆ ก่อนที่เธอจะพบรักใหม่แล้วจาก Kapoor ไป, กับหนังเรื่องนี้ ถ้าสังเกตให้ดีๆ เราจะรู้สึกว่า Kapoor พยายามหลบตา Nargis นะครับ (สงสัยเธออ้วนขึ้นด้วยมั้ง) เคมีของทั้งสองแม้จะเริ่มไม่เข้มข้นเท่าตอน Awaara แต่ยังถือว่าทำให้ผู้ชม(และผม)ใจละลายได้
เขียนบทโดย Khwaja Ahmad Abbas เจ้าของผลงาน Neecha Nagar (1946) หนัง Palme d’Or เรื่องแรกและเรื่องเดียวของอินเดีย, Shree 420 เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มต่างจังหวัด ที่ออกเดินทางสู่เมืองใหญ่ Bombay เพื่อพบกับโลกกว้าง, เขาจะได้พบกับผู้คนหลากหลาย ทั้งดีเลว ได้ตกหลุมรักกับหญิงสาว จากคนจนกลายเป็นคนรวย จากคนธรรมดากลายเป็นคนมีชื่อเสียง เรื่องราววุ่นๆที่มีความพลิกผันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เหมือนชีวิตที่ไม่มีความแน่นอน
Raj Kapoor รับบท Raj เริ่มต้นจากชายหนุ่มผู้ยังใสซื่อต่อโลก มีอะไรในชีวิตอีกมากที่ต้องเรียนรู้ หนังทำให้ชีวิตเขาตกต่ำถึงขีดสุดและสดใสรุ่งโรจน์ถึงสูงสุด จากเคยเป็นขอทานข้างถนนกลายมาเป็นมหาเศรษฐีอยู่ในคฤหาสถ์ แต่นั่นยังไม่พอทำให้เขาเข้าใจโลก และความหมายของการชีวิต
Nagis รับบท Vidya หญิงสาวจนๆที่มีความตั้งใจดี เปิดโรงเรียนเล็กๆ เพื่อสอนเด็กยากจนให้มีความรู้ อ่านออกเขียนได้ โตขึ้นจะไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนรวย, Vidya ตอนแรกไม่ได้ตกหลุมรัก Raj คิดว่าเขาเป็นพวกปลิ้นปล้อนหลอกลวง แต่เขาได้พิสูจน์ให้เธอเห็น ‘คุณค่าของคน ไม่อยู่ที่หน้าตา รูปลักษณ์ภายนอกหรือการแต่งตัว’, ชื่อตัวละคร วิทยา แปลว่า ความรู้ (เมืองไทยชื่อนี้มักเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง)
สิ่งหนึ่งที่ผมไม่เข้าใจหนังเลย คือ Raj ที่สามารถสอด Vidya ให้เข้าใจตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์ แต่ตัวเองกลับเกิด ‘กลืนคำพูด’ สับสนตัวเองได้อย่างไร
Nadira รับบทเป็น Maya เป็นผู้หญิงชั้นสูงที่มีความหลงใหลในเงินทอง เธอไม่สนวิธีการ ขอแค่เธอมีชุดสวยๆ ได้อยู่กับคนรวยๆ ดังชื่อของเธอ ‘มายา’ แสดงถึงความลุ่มหลงที่เป็นภาพไม่จริง, Maya เป็นผู้ดึง Raj เข้ามาสู่สังคมของการหลอกลวง ทำให้เขามีเงินทอง มีเสื้อผ้าหล่อๆสวมใส่ ได้กินอาหารชั้นเลิศ
มันอาจเป็นเหมือนคำสาป ที่ใครได้หลงเข้ามาติดกับแล้ว ถึงข้างในจิตใจจะรู้ว่ามันเป็นสิ่งไม่ดี ไม่ถูกต้อง แต่ก็ไม่สามารถเอาตัวออกห่างจากมันได้
Nemo รับบท Seth Sonachand Dharmanand ชายผู้เป็นมหาเศรษฐี มีคฤหาสถ์ เป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่าง แต่การได้มาเหล่านี้ล้วนมาจากการโกงกิน คอรัปชั่น, เขาเป็นคนมองเห็นอนาคตของ Raj ว่าจะต้องลุ่มหลงมัวเมาในเงินทอง ความร่ำรวย ซึ่งจริงๆแล้วสิ่งที่เขาต้องการ แค่เพียงหลอกใช้ Raj เท่านั้น
Vidya พยายามช่วยเหลือ Raj แต่เธอก็ไม่สามารถรั้งเขาไว้ได้ ต้องเป็นตัวของ Raj เอง ที่ต้องได้พบกับที่สุดของความชั่วร้าย การหลอกลวงที่มีผู้คนนับล้านเป็นเดิมพัน นี่ถึงทำให้เขาตระหนักได้ว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้นไม่ถูกต้อง แต่เขาถลำลงไปลึกมากแล้ว ต้องอาศัยปาฏิหารย์เท่านั้นที่จะแก้ปัญหาได้
ถ่ายภาพโดย Radhu Karmakar คนนี้ถือว่าฝีมือเยี่ยมมากๆ โดยเฉพาะเทคนิคการซ้อนภาพ ในเพลง O Janewale แต่งโดย Hasrat Jaipuri ร้องโดย Lata Mangeshkar ที่เห็นจากคลิป ไม่ใช่ผีหรือวิญญาณออกจากร่างนะครับ แต่เป็นความต้องการภายในจิตใจของ Vidya ที่ต้องการเหนี่ยวรั้ง Raj ไว้ ตัวของเธอไม่อาจเดินเข้าไปรั้ง จึงส่งใจไปอ้อนวอน ขอให้เขาอย่างน้อยหันกลับมา
มีหลายฉากที่ใช้การเร่งความเร็ว ผมไม่แน่ใจ หนังใช้เทคนิคตอนถ่ายหนัง หรือมาตัดต่อเอาตอนหลังถ่ายเสร็จ, เหตุที่ต้องเร่งความเร็ว คงเพื่อให้มันเป็น slapstick สร้างจังหวะตบมุกของหนัง (ผมเคยอธิบาย slapstick ไว้แล้วในหนังของ Charlie Chaplin เรื่อง Modern Time ไปลองหาอ่านดูนะครับ)
ตัดต่อโดย G.G. Mayekar, เพลง Ramayya Vastawaiyya แต่งโดย Shailendra ร้องโดย Mohammed Rafi, Lata Mangeshkar และ Mukesh ในช่วง 1 นาทีแรก การถ่ายภาพและการตัดต่อ สุดยอดมากๆ (น่าจะยอดเยี่ยมที่สุดในหนังแล้ว) ทุกจังหวะมีความลงตัว, การเต้นของ Nadira ในบท Maya สายตาเธอแบบจิกกัดมาก ชุดก็ระยิบระยับแสบตา แล้วหมุน หมุน หมุน ทุกอย่างหมุน กล้องก็หมุน เห็นแล้วมึนแทน Raj
เพลงประกอบโดย Shankar-Jaikishan มีทั้งหมด 8 เพลง Shailendra แต่ง 5 เพลงและ Hasrat Jaipuri แต่ง 3 เพลง, สำหรับเพลงที่ดังที่สุดของหนัง Mera Joota Hai Japani ร้องโดย Mukesh แต่งโดย Shailendra โดยเฉพาะท่อน
Mera joota hai Japani (My shoes are Japanese)
Ye patloon Inglistani (These trousers are English)
Sar pe lal topi Roosi (The red cap on my head is Russian)
Phir bhi dil hai Hindustani (But still, however, my heart is Indian)
Mera Joota Hai Japani กลายเป็นเพลงฮิตแห่งทศวรรษของอินเดีย เพราะเป็นเพลงที่แสดงถึงความภูมิใจในความเป็นอินเดีย ทั้งที่เสื้อ รองเท้า กางเกง หมวกเป็นของชาติอื่น แต่หัวใจยังคงเป็นอินเดีย, เพลงนี้กลายเป็นเพลงประจำตัวของ Raj Kapoor ไปด้วยนะครับ ที่เวลาใครพูดถึงเขา ก็ต้องพูดถึงเพลงนี้เสมอ ลองไปฟังดูนะครับ
ช่วง 15 นาทีสุดท้าย บอกเลยว่าเป็นอะไรที่เลวร้ายมากๆ หนังเล่าเรื่องได้อย่างสับสน งงงวย อลม่าน มั่ว และแถมยังนำเสนอทางออกที่ไร้สาระมากๆ, มันอาจเพราะหนังมีประเด็น (พล็อต) มากเกินไป ผู้กำกับก็พยายามยัดเยียดใส่ทุกสิ่งอย่าง ทำให้ตอนจบไม่สามารถขมวดปมหาบทสรุปที่ดีได้ และหนังยังยึดกับรูปแบบที่ว่าต้องจบแบบ happy ending เลยกลายเป็นว่า wtf ending ไปเสียงอย่างนั้น, นี่เป็นเหตุที่ผมให้คะแนนหนังเรื่องนี้ UNDERESTIMATE ละครับ ผิดหวังกับตอนจบสุดๆ
ปัญหาใหญ่เลยของตอนจบมี 2 จุด 1)การแกล้งตาย ผมเรียกว่า ‘ตบหัวแล้วลูบหลัง’ นี่เป็นการหักมุมที่ทรยศคนดูอย่างมาก 2)ตอนจบที่ตัวละครหันมองกล้อง แล้วพยายามพูดสอนอะไรผู้ชม ว่าอย่าไปยึดติดกับเงินทอง ลาภยศ ชื่อเสียง อย่าโกหก อย่าหลอกลวง อย่าลักทรัพย์ ฯ, พูดออกมาแบบนี้มีค่าอะไร การกระทำย่อมแสดงออกได้ดีกว่าคำพูด หนังควร ‘แสดง’ ออกมาให้เห็นสิว่าควรทำยังไง พูดไปเข้าหูซ้าย เดี๋ยวก็ลืมทะลุออกหูขวา ไม่มีใครได้คิดหรอก
ผมมองเห็นทางออกเดียวของหนังเรื่องนี้คือ Raj ต้องตาย และตายจริงๆ ไม่ใช่แกล้งตายแล้วฟื้นแบบในหนัง ให้ความจริงได้รับการค้นพบ ผู้ร้ายอาจจะโยนความผิดใส่เขา แต่ก็จะแพ้ภัยตนเอง ถูกสังคมครหา (เงินอยู่ในเซฟ ไม่ได้ถูกขโมย แต่ถูกยิงตายเพราะเสียผลประโยชน์) วิธีนี้จะทำให้ Raj กลายเป็น Idol ตัวแทนของคนจนที่ยิ่งใหญ่ จบแบบนี้ดูดีกว่าในหนังมากๆเลยละครับ
จบห่วย ไม่ได้แปลว่าหนังจะทำเงินไม่ได้นะครับ มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้หนังทำเงินถล่มทลาย กับหนังเรื่องนี้ นักแสดงชื่อดัง Raj Kapoor และ Nargis คู่นี้เรียกคนดูได้เยอะเลยละ หรือเพลงเพราะๆ Mera Joota Hai Japani ที่ฟังง่าย ติดหู ความหมายดี ร้องตามได้แทบจะทันที ฯ แค่ 2 เหตุผลนี้ก็เหลือเฟือแล้วนะครับที่จะทำให้หนังทำเงินถล่มทลาย
นอกจากในอินเดียแล้ว หนังยังได้รับความนิยมอย่างสูงใน Soviet Union, Romania และ Israel, ใน Russia เห็นว่า Raj Kapoor ได้รับความนิยมเทียบเท่ากับ Jawaharlal Nehru นายกรัฐมนตรีของอินเดียเลยละ
ชื่อหนัง Shree 420 เป็นมาตรากฎหมายของอินเดีย Section 420 ของ Indian penal code ที่อธิบายบทลงโทษของการหลอกลวงและลักทรัพย์ ซึ่งสะท้อนการกระทำของตัวละครในหนังที่ทั้งโกหก หลอกลวงและลักทรัพย์ เอามาเป็นชื่อหนังเพื่อบอกว่านี่เป็นหนังเกี่ยวกับอะไร และคำนี้ถือเป็นคำพูดเชิงสามัญ (คล้ายๆกับที่ปัจจุบันเรามักเรียก มาตรา 44)
หนังเรื่องนี้กลายเป็น Cult Classic ไปแล้วนะครับ เพราะถือว่าครั้งหนึ่งเคยได้รับความนิยมสูงที่สุดในอินเดีย คุณภาพย่อมเทียบกับหนังปัจจุบันไม่ได้ ห่างชั้นกันเยอะมาก แต่ถ้าคุณเป็นคอหนัง bollywood แฟนๆ Raj Kapoor และ Nargis ควรอย่างยิ่งที่จะหามาดู ชื่นชม และอาจตกหลุมรักหนังก็ได้
จัดเรต PG ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำในแนวคิดบางอย่างของหนัง
Leave a Reply