Silence (2016)
: Martin Scorsese ♥♥♥
นี่อาจคือ passion โปรเจคของ Martin Scorsese ต่อการพิสูจน์ศรัทธา และความเชื่อในพระเจ้า แต่แท้จริงแล้วตัวเขาก็ดั่งตัวละคร Missionary ทั้งหลายในหนัง ไม่สนใจที่จะเปิดรับแนวคิด เรียนรู้วัฒนธรรม ศึกษาศาสนาของต่างชาติแม้แต่น้อย
Ingmar Bergman, Robert Bresson, Carl Theodor Dreyer ฯ ผมคงต้องใส่ชื่อของ Martin Scorsese เข้าไปอีกคน ในฐานะปรมาจารย์ผู้กำกับที่มีศรัทธายึดมั่นในคริสต์ศาสนาแรงกล้า สร้างภาพยนตร์อ้างว่าเพื่อท้าทายความเชื่อศรัทธาของตนเอง แต่แท้จริงแล้วกลับต้องการเผยแพร่แนวคิด ปลูกฝังสร้างค่านิยมชวนเชื่อ มองดูแล้วมีลักษณะไม่แตกต่างจาก Missionary สมัยก่อนสักเท่าไหร่
ว่าไป Martin Scorsese เคยสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับพุทธศาสนาเรื่องหนึ่ง Kundun (1997) ชีวประวัติของ Tenzin Gyatso องค์ดาไลลามะที่สิบสี่ ผู้นำทางจิตวิญญาณสูงสุดของทิเบตที่ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ หลังจากถูกรุกรานโดยกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน แต่หนังเรื่องนี้ไม่ได้เน้นรายละเอียดเกี่ยวกับพุทธศาสนามากนัก และ Marty ก็สร้างขึ้นในทัศนคติ มุมมองความเข้าใจของต่างชาติต่างศาสนา ไม่มีโอกาสซึมซับรับเอาแก่นแท้จิตวิญญาณของพุทธศาสนาเสียเท่าไหร่
ถือเป็นความผิดหวังของผมอย่างยิ่งยวดในการรับชมหนังเรื่องนี้ เพราะคาดหวังว่า Marty จะให้เหตุผลในการเลิกศรัทธา เปลี่ยนศาสนาของบาทหลวงทั้งหลายในเชิงที่สร้างสรรค์กว่านี้ เหตุผลที่การเผยแพร่ไม่สำเร็จนั้นพอเข้าใจได้ แต่กลับสร้างสถานการณ์ให้ถูกบีบบังคับถึงขีดสุด จนยินยอมจำนนพ่ายแพ้เจ็บปวดรวดร้าว แบบนี้ทั้งญี่ปุ่นและพุทธศาสนาได้กลายเป็นศัตรูผู้ชั่วร้ายในสายตาชาวโลก ยกย่องศาสนาคริสต์นี่แหละถูกต้องจริงแท้สากล!, ถึงคุณภาพโปรดักชั่นของหนังจะยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่อลังการสมบูรณ์แบบขนาดไหน ผมคงไม่ขอยกย่องการดูหมิ่นศาสนาอื่นของ Marty ครั้งนี้แน่ๆ
เมื่อปี 1989 ผู้กำกับ Akira Kurosawa ชักชวนให้ Martin Scorsese เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อรับบท Vincent van Gogh ในภาพยนตร์เรื่องใหม่ Dream (1990) ระหว่างการเดินทางมีโอกาสอ่านนิยายที่มอบให้โดย Reverend Paul Moore เรื่อง Silence (1966) [沈黙, Chinmoku] เขียนโดย Shūsaku Endō ได้แรงบันดาลใจจากบาทหลวงสองคนที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ Father Cristóvão Ferreira (1580–1650) [ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Sawano Chūan] และ Giuseppe di Chiara (1602 – 24 August 1685) [ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Okada San’emon]
เรื่องราวมีพื้นหลังต้นศตวรรษที่ 17 ยุค Edo Period กลุ่ม Missionary ชาว Portuguese นำโดยบาทหลวง Ferreira (รับบทโดย Liam Neeson) หลังจากเดินทางเข้าไปเผยแพร่ศาสนาคริสต์ คณะเยสุอิต ในประเทศญี่ปุ่นอยู่หลายปี ภายหลังได้รับการปฏิเสธต่อต้านจากคำสั่งจักรพรรดิ ถูกบีบบังคับให้ละทิ้งเปลี่ยนศาสนา (Apostasy) จากจดหมายส่งไปถึงบาทหลวง Alessandro Valignano ผู้ก่อตั้ง St. Paul’s College ที่ Macau ได้รับการร้องขอจากลูกศิษย์สองคน Sebastião Rodrigues (รับบทโดย Andrew Garfield) และ Francisco Garupe (รับบทโดย Adam Driver) ตัดสินใจเดินทางสู่ Nagasaki เพื่อค้นหาความจริงที่เกิดขึ้น
สำหรับคนที่สนใจอ่านประวัติศาสตร์พื้นหลังของญี่ปุ่น ที่มาที่ไปทำไมถึงต่อต้านคริสต์ศาสนา
LINK: https://pantip.com/topic/36778129
เกร็ด: Shūsaku Endō ได้รับการยกย่องว่า ‘Japanese Catholic Author’ เป็นนักเขียนสัญชาติญี่ปุ่นไม่กี่คน ที่ทั้งชีวิตสนใจแต่นำเสนอเรื่องราวมุมมองของชาว Christian ในประเทศญี่ปุ่น
เกร็ด 2: นิยาย Silence (1966) คว้ารางวัล Tanizaki Prize ทำให้ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘supreme achievement’ และหนึ่งในนิยายดีที่สุดในศตวรรษ 20 (one of the twentieth century’s finest novels)
เกร็ด 3: นิยายเรื่องนี้เคยได้รับการดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วครั้งหนึ่ง Silence (1971) โดยผู้กำกับ Masahiro Shinoda คว้ารางวัล Mainichi Film Award: Best Film
Marty มีความหลงใหลในนิยายเล่มนี้อย่างมาก ตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์จาก Shūsaku Endō โดยทันที แต่กว่าจะได้สร้างก็ติดปัญหามากมาย เรื่องเงินทุนคงเป็นปัจจัยหลัก เพราะไม่มีสตูดิโอใหญ่ค่ายไหนให้ความสนใจโปรเจคแนวศาสนาลักษณะนี้อีกแล้ว และยิ่งความล้มเหลวที่เป็นบทเรียนจาก The Last Temptation of Christ (1988) [ถึงหนังได้รับคำชมล้นหลาม แต่กลับขาดทุนย่อยยับ และมีการประท้วงรุนแรงรับไม่ได้ ถูกสั่งห้ามฉายในหลายรัฐ/หลายประเทศ] ทำให้ต้องขึ้นหิ้งทิ้งไว้จนฝุ่นหนาเกรอะ
หลังผลัดวันประกันพรุ่งมาแสนนาน โปรเจคก็เริ่มเดินหน้าเมื่อปี 2009 ทีมงานออกแสวงหาสถานที่ถ่ายทำในญี่ปุ่น, แคนาดา ฯ ติดต่อนักแสดงนำอย่าง Daniel Day-Lewis, Benicio del Toro, Gael García Bernal, Ken Watanabe แต่ก็ไม่วายเงินทุนไม่เพียงพอ ทำให้ต้องชะลอการสร้าง นักแสดงถอนตัวออกไป Marty เซ็นสัญญากำกับหนังเรื่องอื่น Shutter Island (2010), Hugo (2011) จนกระทั่ง The Wolf of Wall Street (2013) ก็ตั้งปฏิธาณแน่แน่วว่าจะไม่รออีกแล้ว หนังเรื่องต่อไปต้องเป็น Silence เท่านั้น!
มีนักข่าวถาม Marty เป็นเวลา 26 ปี ที่คั่งค้างคาโปรเจคนี้ เพราะอะไรถึงยังคงมีความสนใจต้องการสร้างขึ้นมาอยู่อีก
“As you get older, ideas go and come. Questions, answers, loss of the answer again and more questions, and this is what really interests me. Yes, the cinema and the people in my life and my family are most important, but ultimately as you get older, there’s got to be more… Silence is just something that I’m drawn to in that way. It’s been an obsession, it has to be done… it’s a strong, wonderful true story, a thriller in a way, but it deals with those questions.”
สำหรับบทภาพยนตร์ Marty ร่วมกับ Jay Cocks พัฒนาขึ้นตั้งแต่ได้ลิขสิทธิ์มาเมื่อปี 1991 ใช้เวลาขัดเกลาต่อเนื่องยาวนานถึง 15 ปี และพอกำลังได้สร้าง ติดต่อ Van C. Gessel นักแปลนิยายฉบับทางการของ Shūsaku Endō มาให้คำปรึกษาและช่วยตรวจทานบทภาพยนตร์ ให้มีความใกล้เคียงตรงต่อต้นฉบับนิยายภาษาญี่ปุ่นที่สุด
สำหรับนักแสดงนำ Andrew Garfield (เกิดปี 1983) หนุ่มแมวหน้าเด็กสัญชาติอังกฤษ-อเมริกัน เกิดที่ Los Angeles County, California แต่ไปเติบโตขึ้นที่ Epsom, Surrey ประเทศอังกฤษ ครอบครัวเชื้อสาย Jews ตอนเด็กมีความสนใจยิมนาสติกและว่ายน้ำ เมื่ออายุ 16 ถึงเริ่มสนใจการแสดง เข้าเรียน Central School of Speech and Drama ที่ University of London
มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก Lions for Lambs (2007) ก่อนเป็นที่รู้จักจาก The Social Network (2010) และกลายเป็น Peter Parker ในทวิภาค The Amazing Spider-Man, ปี 2012 ได้แสดงนำละคร Broadway เรื่อง Death of a Salesman เข้าชิง Tony Award: Best Actor ในปี 2016 มีหนังถึงสองเรื่องติดที่ได้รับบทบาทคล้ายๆกัน คือ Hacksaw Ridge กับ Silence (2016)
รับบทบาทหลวง Sebastião Rodrigues ผู้มีความเชื่อมั่นศรัทธาในพระศาสนาเป็นอย่างยิ่งที่สุด พร้อมยินยอมเสียสละเลือดเนื้อกายใจให้กับผู้เปี่ยมด้วยศรัทธาแรงกล้า แต่มิอาจทนเห็นความทุกข์ทรมานจากการท้าให้พิสูจน์สัจธรรมความจริง เพราะพระเจ้าในมุมมองของเขาช่างเงียบงันไร้สุ่มเสียง มีแต่ความเชื่อมั่นศรัทธาในตัวเองเท่านั้นที่สามารถจับต้องได้
Garfield เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า ตอนเด็กเป็นคนเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งเรื่องพระเจ้า แต่พอโตขึ้นมามันเหมือนโชคชะตาฟ้าลิขิต ให้ต้องเล่นหนังเกี่ยวกับการพิสูจน์ศรัทธา มาตอนนี้คงเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมว่าพระองค์มีจริง, เห็นว่าใช้เวลาเตรียมรับบทยาวนานเป็นปี อาศัยศึกษาเรียนรู้อยู่กับพระอาจารย์ James Martin ที่ New York ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างจริงจังเคร่งขัด ถึงขนาดน้ำหนักลดลงกว่า 40 ปอนด์ (=18 กิโลกรัม)
การแสดงของ Garfield ในครึ่งแรก สายตาท่าทางคำพูดเต็มไปด้วย passion ในความหวังและศรัทธา ส่วนครึ่งหลังอัดแน่นไปด้วยความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ท้อแท้สิ้นหวัง ภายในจิตใจล้วนๆ (ตัวละครของ Garfield แทบไม่เคยถูกทรมานทางกายเลย แต่จิตใจกลับต้องพบความรวดร้าวแสนสาหัส), ต้องชมเลยว่า Garfield สามารถลบภาพลักษณ์เด็กเนิร์ด Peter Parker ไปได้อย่างหมดสิ้น เมื่อเทียบกับ Hacksaw Ridge (2016) ที่ออกฉายปีเดียวกัน ต้องถือว่ากับ Silence มีความหนักแน่น ทรงพลัง และเป็นผู้ใหญ่กว่ามาก
Adam Douglas Driver (เกิดปี 1983) นักแสดงหนุ่มสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Fontana, San Bernardino County, California เติบโตขึ้นที่ Mishawaka, Indiana ตั้งแต่เด็กเป็นนักร้อง Choir ในโบสถ์ แต่มีนิสัย ‘misfit’ ชื่นชอบการปีนป่าย เข้าร่วม fight club (เพราะติดจากหนังเรื่องนั้นมา) หลังจาก 9/11 สมัครเป็นทหารเรือ รับใช้ชาติอยู่ 2 ปีกว่าๆ ได้รับอุบัติเหตุกระดูกสันอกหักขณะเล่น Mountain Bike ทำให้ถูกปลดประจำการก่อนเดินทางไป Iraq, เข้าเรียน University of Indianapolis อยู่ปีกว่าๆ แล้วย้ายไป Juilliard School สาขาการแสดง จบมาเริ่มมีผลงาน Broadway และ Off-Broadway ก่อนมีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก J. Edgar (2011) เริ่มมีชื่อเสียงจากซีรีย์ Girls (2012–2017), Inside Llewyn Davis (2013), Hungry Hearts (2014) คว้ารางวัล Volpi Cup: Best Actor จากเทศกาลหนังเมือง Venice และประสบความสำเร็จล้นหลามจากการรับบท Kylo Ren ใน Star Wars: The Force Awakens (2015)
รับบท Francisco Garupe พระสหายร่วมเดินทางกับบาทหลวง Rodrigues ทั้งสองมีแนวคิด ทัศนคติค่อนข้างแตกต่างตรงกันข้ามพอสมควร เช่นในเรื่องการเหยียบภาพพระคริสต์ หลวงพ่อ Rodrigues บอกว่าเหยียบไปเลย แต่ Garupe ไม่ว่ายังไงห้ามเหยียบ ยึดถือมั่นในศรัทธาของตนเองไว้จนตัวตาย นี่คือความเย่อหยิ่งในศักดิ์ศรี ที่ทำให้บาทหลวงทั้งสองเมื่อถึงจุดหนึ่งต้องแยกทางกัน
Driver ก็เหมือน Garfield ใช้เวลาเตรียมรับบท อาศัยศึกษาเรียนรู้อยู่กับพระอาจารย์ James Martin ที่ New York ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างจริงจังเคร่งขัด ถึงขนาดน้ำหนักลดลงกว่า 50 ปอนด์ (= 22 กิโลกรัม) แล้วพวกเขายังอธิษฐานไม่พูด (Silent Prayer Vigil) เป็นเวลา 7 วัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาในตัวเอง
ผมค่อนข้างติดตาภาพลักษณ์ Kylo Ren ของ Driver มาพอสมควร มันมีความคล้ายคลึงบางอย่างในด้านมืดของตัวละคร การกระทำที่ Rodrigues ทำไม่ได้ แต่ไม่ใช่กับ Garupe ผมไม่แน่ใจนักว่าคืออะไร เพราะหลังจากทั้งสองแยกจากก็แทบจะไม่เห็นเรื่องราวของตัวละครนี้เลย พบเจออีกทีก็ …
Liam John Neeson (เกิดปี 1952) นักแสดงสัญชาติ Northern Ireland เกิดที่ Ballymena, County Antrim ในครอบครัว Roman Catholic ตอนอายุ 11 รับบทนำในการแสดงละครโรงเรียนครั้งแรก ทำให้เกิดความสนใจด้านนี้ตั้งแต่นั้น ด้วยภาพลักษณ์ที่ราวกับออกมาจากคัมภีร์ไบเบิ้ล มักได้รับบทตัวละครที่มีความทรงภูมิ เป็นผู้ยิ่งใหญ่ มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกๆ Pilgrim’s Progress (1978) [รับบท Jesus Christ], Excalibur (1981) โด่งดังกลายเป็นที่รู้จักทั่วโลกจาก Schindler’s List (1993) [ครั้งแรกครั้งเดียวที่เข้าชิง Oscar: Best Actor] ผลงานอื่นๆ อาทิ Master Qui-Gon Jinn ใน Star Wars: Episode I – The Phantom Menace (1999), Gangs of New York (2002), Batman Begins (2005), ให้เสียง Aslan ในแฟนไชร์ The Chronicles of Narnia, เคยจะรับบท Abraham Lincoln ให้กับ Steven Spielberg เรื่อง Lincoln (2012) แต่ด้วยความล่าช้านับสิบปี เลยบอกปัดเมื่อหนังกำลังจะเริ่มถ่ายทำ (บทจึงตกเป็นของ Daniel Day-Lewis ทำให้คว้า Oscar: Best Actor ตัวที่สามไปครอง)
รับบท Father Cristóvão Ferreira บาทหลวงผู้ซึ่งประกาศละทิ้งเปลี่ยนศาสนา ใช้ชีวิตแต่งงานมีครอบครัวอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นจนเสียชีวิต, หนังทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าหลวงพ่อ Ferreira ไม่ได้มีความต้องการที่จะเปลี่ยนออกจากภายในแท้จริง ยังคงมีความเชื่อมั่นศรัทธาในพระเจ้า ศาสนาของตนเองอยู่ตลอดเวลา แค่โชคชะตานำพาให้ไม่สามารถเอาชนะปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบสะเทือนเข้าไปในจิตใจตนเองได้
Neeson ก็น้ำหนักลดลงเช่นกัน ประมาณ 20 ปอนด์ จากที่เคยอวบๆ (ในฉากที่พบเจอกับบาทหลวง Rodrigues เหมือนว่าถ่ายก่อน ร่างกายยังอิ่มหนำสมบูรณ์ดี) ฉากเปิดตัวต้นเรื่อง เห็นร่างซูบซีดผอม ทั้งๆที่เหมือนจะไม่ได้ถูกทรมานใดๆ แต่ก็กินไม่ได้นอนหลับไม่หลับ ทุกข์ทรมานทางใจอย่างเหลือล้น
ปรากฎการณ์น้ำหนักลดของสามตัวละครหลัก ไม่ได้เกิดจากความทุกข์ทรมาน เจ็บป่วย ทางร่างกายของตัวละคร แต่เป็นผลกระทบที่เกิดจากสภาพจิตใจ ทนรับต่อสิ่งที่พบเจอ เห็นผู้อื่นถูกฆ่าทรมาน หรือทำให้ตายทั้งเป็น (เพื่อปกป้องพวกเขาทั้งสาม), ทุกข์ใจหนักกว่าทุกข์กายมากๆเลยนะครับ แถมยังส่งผลกระทบต่อร่างกาย กินไม่ได้นอนไม่หลับไร้ซึ่งเรี่ยวแรงอีก
Yōsuke Kubozuka (เกิดปี 1979) นักแสดง โมเดลลิ่งสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Yokosuka, Kanagawa, มีผลงานเด่นกับละครโทรทัศน์ Kindaichi Case Files (1995), GTO (1998), Ikebukuro West Gate Park (2000)
รับบท Kichijiro ไกด์ชาวญี่ปุ่นที่โคตรความเห็นแก่ตัว สนแต่การมีชีวิตเอาตัวรอด ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีกแต่ยังขอให้พระเจ้ายกโทษให้อภัย นี่เป็นตัวละครที่ท้าทายความเชื่อศรัทธาของชาวคริสต์อย่างมาก ในมุมมองของมนุษย์ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะสมควรยกโทษให้ แต่พระเยซูคริสต์ย่อมสามารถให้อภัยบุตรของพระองค์ได้เสมอ
การทำงานของ Marty ในหนังเรื่องนี้ Neeson เล่าว่ามีความ ‘intimidating’ เป็นอย่างยิ่ง ทุกคนในกองถ่ายต้องเงียบสนิท ห้ามส่งเสียงรบกวนใดๆระหว่างการถ่ายทำ ซึ่งถ้าเกิดอะไรดังขึ้นเพียงเล็กน้อย จะทำให้เขาหงุดหงิดหัวเสียเป็นอย่างมาก สูญเสียสมาธิ ต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด
ผมค่อนข้างรู้สึกว่านักแสดงญี่ปุ่นสมทบในหนังเรื่องนี้ เล่นแบบฝืนๆขัดๆไม่เป็นธรรมชาติเสียเท่าไหร่ คิดว่ามี 2 สาเหตุ หนึ่งคือการสื่อสาร ภาษาความเข้าใจ และสองคือความแตกต่างในศาสนา ชาวญี่ปุ่นสมัยนี้ส่วนใหญ่นับถือ(พุทธ)ชินโต มันเลยทำให้เกิดความเก้งๆกังๆ ไม่รู้จะแสดงออกมาอย่างไรให้เป็นธรรมชาติเสมือนจริง
ถ่ายภาพโดย Rodrigo Prieto ตากล้องสัญชาติ Mexican เจ้าของผลงานเด่น Frida (2002), Brokeback Mountain (2005), Babel (2006), Lust, Caution (2007) ฯ เคยร่วมงานกับ Marty เรื่อง The Wolf of Wall Street (2013) ซึ่งกับหนังเรื่องนี้ได้เข้าชิง Oscar: Best Cinematography เป็นครั้งที่ 2 แต่พลาดให้กับ Linus Sandgren จาก La La Land (2016)
ด้วยความเส้นใหญ่ของ Marty ทำให้หนังเรื่องนี้ยังถ่ายทำด้วยฟีล์ม 35mm ทั้งๆที่ต้องแบกเข้าไปในป่าดงพงไพร เว้นแต่ฉากกลางคืนแสงน้อยๆไม่มีแหล่งกำเนิดไฟ ใช้เพียงแสงเทียน ถึงจะถ่ายทำด้วยกล้องดิจิตอล Arri Alexa เลนส์ Zeiss
เริ่มต้นด้วยหมอกควันสีขาว ความมืดมัวที่ทำให้มองไม่เห็นสิ่งต่างๆตรงหน้า นี่มีนัยยะถึงดินแดนญี่ปุ่นในทัศนะของ Missionary มืดมัว อันตราย คาดเดาสิ่งเกิดขึ้นไม่ได้ ไร้ซึ่งอนาคตอันสดใส
ในช่วงแรกๆจะมีช็อตที่ผมขอเรียกว่า God’s Eye View ภาพถ่ายลงมาตรงๆจากเบื้องบน ตั้งฉาก 90 องศา ราวกับพระเจ้ามองลงมาจากสรวงสวรรค์ เห็นอยู่ 2-3 ครั้ง หลังๆจะไม่มีมุมนี้แล้ว (คงมีนัยยะว่า พระเจ้าไม่มองลงมาในดินแดนประเทศญี่ปุ่น)
หนังถ่ายทำที่กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ด้วยเหตุผลค่าใช้จ่ายค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับการไปถ่ายทำยังญี่ปุ่น ที่ตอนนี้กลายเป็นชุมชนเมืองตึกรามบ้านช่องไปหมดแล้ว (ได้รับคำแนะนำ ช่วยจัดหาโลเกชั่นโดยผู้กำกับ Ang Lee)
– ครึ่งแรกของหนังจะเน้นภาพของธรรมชาติพงไพร ป่าเขาลำธาร ต้นไม้ใบหญ้าสีเขียว โขนหิน คลื่นลมซัดริมฝั่ง ฯ ชาวบ้านตาดำๆยากจนข้นแค้น อาศัยอยู่ในกระท่อมผุพัง หากินมีชีวิตอยู่อย่างลำบากยากแค้น นี่มีนัยยะเปรียบเทียบการต่อสู้เอาตัวรอดระหว่าง มนุษย์vsธรรมชาติ จะพบว่าผู้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเฉลียวฉลาด ไร้การศึกษา จึงหันพึ่งพานับถือคริสต์ศาสนาเป็นเสียส่วนใหญ่
– ครึ่งหลังเมื่อหลวงพ่อ Rodrigues ถูกจับได้ จะเป็นฉากในคุกเสียส่วนใหญ่ เดินผ่านชุมชนเมือง ผู้คนมากหน้าหลายตา เกอิชา พ่อค้ามั่งคั่ง ซามูไร ฯ นี่แสดงถึงอารยธรรม วิวัฒนาการของมนุษย์ ไม่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับธรรมชาติอีกต่อไป แต่กลายมาเป็นแก่งแย่งเอาชนะ ขัดแย้งกันเอง มนุษย์vsมนุษย์ ที่นี่แทบจะไม่มีชาวคริสต์อาศัยอยู่เลย ทุกคนมีความคิดเฉลียวฉลาด เห็นต่าง มีศรัทธาเป็นของตนเอง
ภาพวาดพระเยซูคริสต์ ที่หลวงพ่อ Rodrigues หลงใหลยึดติด เป็นผลงานของ Doménikos Theotokópoulos (1541 – 1614) หรือ El Greco จิตรกร/นักแกะสลัก/สถาปนิก สัญชาติกรีก โด่งดังในยุคสมัย Mannerism, การเห็นภาพของพระองค์สะท้อนเป็นเงาประทับบนใบหน้าของตัวเอง มีนัยยะถึง ‘พระเจ้าสถิตกับตัวท่าน’
พิธีการเหยียบแผ่นโลหะรูปพระคริสต์หรือพระแม่มารีย์ที่เรียกว่า Fumi-e (แปลว่า stepping-on picture) ในประวัติศาสตร์มีจริงนะครับ จุดประสงค์เพื่อพิสูจน์ผู้นับถือ Kirishitan (Christians) ว่าไปก็คล้ายๆการหาแม่มดของชาวยุโรปยุคกลาง (Middle Age) แผ่นโลหะที่ว่านี้ยังมีหลงเหลือถึงปัจจุบัน สร้างเลียนแบบอ้างอิงในหนัง

ตัดต่อโดย Thelma Schoonmaker ขาประจำแทบจะคนเดียวของ Marty, หลังการถ่ายทำเสร็จสิ้น ช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2015 ใช้เวลาปีกว่าๆในกระบวนการตัดต่อและ Post-Production ได้ยินว่าฉบับแรกๆความยาวเกินกว่า 5-6 ชั่วโมง ก่อนลดทอนลงเรื่อยๆจนเหลือ 3 ชั่วโมง ได้ฉบับออกฉาย 161 นาที
หนังใช้การเล่าเรื่องโดยมุมมองผ่านเสียงอ่านจดหมาย ของ 3 ตัวละคร
– เริ่มจากของหลวงพ่อ Ferreira เป็นจดหมายฉบับสุดท้ายที่ส่งไปหา Alessandro Valignano
– เมื่อหลวงพ่อ Rodrigues เดินทางไปญี่ปุ่น ก็จะเป็นในมุมมองเรื่องเล่าของเขา จนกระทั่งฉบับสุดท้ายหลังจากที่เหยียบ Fumi-e ละทิ้งศาสนา
– เรื่องเล่าจากจดหมายของ Dieter Albrecht (รับบทโดย Béla Baptiste) พ่อค้าสัญชาติ Dutch ที่เดินทางมาค้าขายกับญี่ปุ่น
เป้าหมายของบาทหลวง Rodrigues และ Garupe ในการเดินทางสู่เกาะญี่ปุ่น เพื่อค้นหาหลวงพ่อ Ferreira (เหตุผลของศรัทธาที่สูญหาย) แต่กว่าจะได้พบตัวก็ค่อนไปทางครึ่งหลังของหนัง โดยในช่วงแรกๆจะเป็นการแนะนำชาวคริสต์ที่อาศัยอยู่แบบหลบๆซ่อนๆ Kakure Kirishitan (Hidden Christian) พูดถึงผู้ตรวจการ (Inquisitor) และสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อชาวคริสเตียนถูกค้นพบจับได้ จบองก์แรกด้วยการแยกย้ายไปตามทางของบาทหลวงทั้งสอง
ครึ่งหลังจะเป็นการสำรวจจิตใจของหลวงพ่อ Rodrigues เมื่อถูกจับได้คุมขัง ได้พบเจอกับที่ปรึกษาจักรพรรดิ Inoue Masashige (รับบทโดย Issey Ogata) ที่พยายามใช้กลวิธีการต่างๆ โน้นน้าว ชักจูง หลอกล่อเพื่อให้ละทิ้งเปลี่ยนศาสนา หนึ่งในนั้นก็คือพาตัวอดีตหลวงพ่อ Ferreira ให้มาพูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยน จนกระทั่งสุดท้ายกับการบีบคั้นถึงขีดสุด เมื่ออดรนทนต่อไปไม่ได้ก็คราวพ่ายแพ้ใจตนเอง
Epilogue จะเป็นเรื่องราวหลังจาก Rodrigues กลับกลายเป็นคนธรรมดาสามัญ เลิกนับถือศาสนาคริสต์ งานที่ทำเพื่อมีชีวิตอยู่ แต่งงาน (เหมือนจะไม่มีลูก) จนกระทั่งเสียชีวิต และถูกเผาตามความเชื่อของศาสนาชินโต
เพลงประกอบโดย Kathryn Kluge และ Kim Allen Kluge อดีตผู้ควบคุมวง Quad City Symphony Orchestra, บอกตามตรงผมแทบจะไม่ได้ยิน Soundtrack ใดๆทั้งนั้น รับรู้ได้แต่เสียงของธรรมชาติ ฝนตก ลมแรง จิ้งหรีดเรไร คลื่นซัดริมฝั่ง ฯ ซึ่งเท่าที่ผมฟังจากอัลบัมเพลงประกอบ จึงได้ค้นพบว่า นั่นแหละครับเพลงประกอบของหนัง ผสมผสานแนบเนียนเข้าไปกับหนังอย่างกลมกลืน ถ้าไม่สังเกตตั้งใจฟังย่อมไม่สามารถได้ยินอยู่แล้ว
ผมไม่ค่อยแน่ใจกับสไตล์เพลงของหนังนัก เป็นส่วนผสมของ Medieval กับ Naturalist ให้สัมผัสคล้ายๆกับ New Age จับต้องไม่ได้ ล่องลอยราวกับความฝัน โลกที่คนทั่วไปไม่คิดว่าจะมีอยู่จริง แต่มันคือดินแดนที่มนุษย์มิสมควรย่างกรายเข้าไป, นี่มันดนตรีระดับ Masterpiece เลยนะครับ
สำหรับ Sound Effect ผมค่อนข้างติดใจเสียงของจักจั่น เมื่อตอนชื่อหนังปรากฎขึ้นต้นเรื่อง นี่เป็นเสียงที่ดังขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ แทนที่ Silence จะมีนัยยะถึงความเงียบสงัด แต่ Marty กลับใช้เสียงจักจั่นนี้เป็นสัญลักษณ์แทนความเงียบ, ผมมองนัยยะของความเงียบนี้คือ ‘ธรรมชาติ’ ไม่ได้หมายถึงพระเจ้าไม่มีตัวตน แต่พระองค์อยู่รอบๆตัวเรา
เราจะได้ยินเสียงจักจั่นดังขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญอีกครั้งหนึ่งช่วงท้าย ไม่ขอสปอยแล้วกันว่าฉากไหน ลองตั้งใจสังเกตฟังให้ดีๆ เป็นวินาทีที่ทรงพลังอย่างยิ่งทีเดียง
ตอนขณะที่บาทหลวง Rodrigues ย่างเท้าเหยียบ Fumi-e (นี่ผมไม่ได้ทันสังเกตนะครับ) ได้ยินว่าจะมีเสียงไก่ขัน, ตามคัมภีร์ไบเบิ้ลอ้างว่า หลังจาก Saint Peter กล่าวถ้อยคำปฏิเสธพระเยซูคริสต์ถึงสามครั้ง จะมีเสียงไก่ขันดังขึ้น
After a little while, those standing there went up to Peter and said, “Surely you are one of them, for your accent gives you away.” Then he began to call down curses on himself and he swore to them, “I don’t know the man!” Immediately a rooster crowed. Then Peter remembered the word Jesus had spoken: “Before the rooster crows, you will disown me three times.” And he went outside and wept bitterly.
Matthew 26 : 73-75
ใช่ว่าทุกเมล็ดพันธุ์จะสามารถงอกงามได้ทุกผืนดินบนโลกที่กว้างใหญ่ใบนี้ อย่างน้อยก็เมล็ดพันธุ์ของศาสนาคริสต์ ไม่สามารถหยั่งรากลงสู่หนองบึง (Swamp) ผลิดอกแตกใบบนเกาะญี่ปุ่นนี้ได้, นี่เป็นประโยคที่คัดลอกมาจากนิยายของ Shūsaku Endō ตรงๆเลยนะครับ ที่มักเปรียบประเทศญี่ปุ่นเสมือนหนองบึง โคลนตม แตกต่างจะสถานที่อื่นในโลก ทำให้อะไรหลายๆอย่างมีความผิดแผกแปลกต่างออกไป ความไม่เหมือนนี้สามารถมองได้คือจุดแข็ง/จุดเด่น แต่ขณะเดียวกันก็คือความโดดเดี่ยว อ้างว้าง ลำพัง ไม่มีคนนอกทั่วไปจะสามารถเข้าใจให้การช่วยเหลือได้เมื่อมีปัญหา
Martin Scorsese ให้นิยามกับ Silence สั้นๆว่า ‘the necessity of belief fighting the voice of experience.’
ไม่มีสามัญชนคนไหนสามารถรับรู้ทุกสิ่งอย่างในสากลโลกและจักรวาล ดังนั้นกับสิ่งที่มนุษย์ไม่รู้ไม่เข้าใจ จึงมักเกิดเป็น ‘ความเชื่อ’ สมมติฐาน คาดการณ์ ได้ยินบอกต่อ เสียงลือเสียงเล่าอ้าง ฯ ตราบใดที่ยังไม่ตรัสรู้แจ้งในสิ่งๆนั้น ก็มิอาจหาข้อสรุปเท็จจริงของสิ่งที่เราเรียกว่าความเชื่อนี้ได้ (แต่มันก็มีมนุษย์บางประเภท ที่ต่อให้เราสามารถพิสูจน์รู้แจ้งเห็นจริงได้แล้ว ก็ยังปฏิเสธไม่ยอมรับว่านั่นคือสิ่งถูกต้อง)
มนุษย์ทุกคนในโลกจำเป็นต้องมี ‘ความเชื่อ’ ต่ออะไรสักอย่าง (ไม่จำเป็นต้องต่อศาสนานะครับ) เช่นว่า ทำแบบนี้แล้วมีใครสักคนได้รับประโยชน์, ตายไปแล้วชีวิตไม่สูญเปล่า ฯ นี่ก็เพื่อว่าจะเป็นแรงจูงใจ ผลักดันให้เกิดเป้าหมายการมีชีวิตอยู่ สามารถดำรงชีพไปสู่ปลายทางสำเร็จของความเชื่อนั้นได้
แต่ความเชื่อเป็นสิ่งที่มักจะมาพร้อมกับอุดมการณ์ และศรัทธาที่เหนียวแน่นมั่นคง ตามเสียงลือเสียงเล่าอ้าง, ประชาคมหมู่, เสี้ยวความจริงบางส่วนที่ได้ค้นพบ, หรือตามบรรพบุรุษสั่งสมสร้างคัมภีร์สรุปรวบรวมคำสอนสั่งไว้เป็นแนวทาง ฯ เพราะแต่ละบุคคล ภาคส่วนของโลก ได้เรียนรู้สืบทอดแนวคิด ความเชื่อ ศรัทธา ค่านิยม ของชาติพันธุ์ตนเองไว้ มันจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนนอกจะสามารถเข้ามาทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลง เพราะมันหมายถึงเป้าหมาย วิถีชีวิตที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง
ลองคิดจินตนาการดูนะครับ สำหรับชาวพุทธ ความทุกข์ทรมานลำบากแสนเข็นในชีวิตชาตินี้ พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นผลกรรมจากอดีตชาติที่เคยสะสมก่อกระทำไว้ เราอาจเคยไปทำให้ผู้อื่นใดเกิดความเดือดร้อนทุกข์ใจ ชาตินี้จึงถูกเขากระทำกลับเป็นกงเกวียนกำเวียน วนเวียนซ้ำๆซากๆอยู่อย่างนี้จนกว่าจะหลุดพ้นวัฏฏะสังสาร, สำหรับบางคนที่ได้ยินเช่นนี้ แทนที่จะเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายท้อใจ หวาดหวั่นเกรงกลัว กลับพยายามแสวงหาความจริงช่องทางอื่นเพื่อเอาหนีตัวรอด ซึ่งเรื่องราวเดียวกันนี้ ศาสนาคริสต์ให้คำแนะนำสั่งสอนว่า ก็จงอดทนไปต่อไปก่อน เชื่อมั่นศรัทธาในพระเจ้าเข้าไว้ พอถึงวันตายเสียชีวิตดวงจิตวิญญาณของเราจะได้เป็นสุขขึ้นสู่สรวงสวรรค์ อาศัยอยู่เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าตราบจนชั่วนิรันดร์ … คำสอนแบบนี้มันช่างยั่วยวนใจเสียเหลือเกินนะครับ แต่ความจริงสากลสัจธรรม มันควรจะมีแค่เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นนะที่ถูกต้อง!
ผมไม่ได้มีความต้องการอยากจะวิพากย์พาดพิง แต่มันก็อดไม่ได้ในเรื่องการสารภาพบาป เพราะหนังจงใจให้ชาวคริสต์ได้ครุ่นคิดกับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย กับคนที่ยากจะให้อภัยแบบ Kichijiro ทรยศหลักหลังผู้อื่นซ้ำแล้วซ้ำอีก ซ้ำซากจนน่ารำคาญ แต่ตามหลักคำสอนพระผู้เป็นเจ้ากลับสามารถให้อภัย ยินยอมแบกรับความผิดทุกสิ่งอย่าง ให้เขากลับกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่องได้ นี่เป็นสิ่งที่ชาวพุทธแท้ๆไม่สามารถยินยอมรับได้เลย เพราะเรามีคำสอนที่ว่า ‘กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมคืนสนอง’ สิ่งที่เขาเคยทำ สักวันย่อมได้รับผลตอบแทนกลับคืน วนเวียนกลับมาซ้ำรอยไม่ในชาตินี้ก็ภพหน้าต่อๆไป สารภาพบาปเพื่อให้รู้สึกนึก ย่อมไม่เพียงพอที่จะลบล้างมลทินความผิดนี้
ผมอาจจะเข้าใจอะไรผิดๆต่อแนวคิดของศาสนาคริสต์ แต่ที่เล่ามานี่คือจากมุมมองของคนนอกศาสนาที่เห็นจากหนังเรื่องนี้ เชื่อว่าคนไทยชาวพุทธหลายๆคนขณะรับชมหนัง คงจะต้องแอบให้กำลังใจเชียร์ฝั่งญี่ปุ่น บางคนอาจลุ้นให้พระเอกได้เรียนรู้ทำความเข้าใจ และแปรพักตร์เปลี่ยนมาเป็นศาสนาของเราแบบเข้าใจในแก่นแท้ แต่เพราะอย่างที่ผมบอกไปตั้งแต่ต้น หนังเรื่องนี้ไม่ใช่มุมมองของชาวคริสต์ที่อยากเปลี่ยนแปลงศาสนา แต่เพราะการถูกกดดันบีบบังคับ แบบไม่สมยอม นี่ทำให้ศาสนาอื่นสามารถมองญี่ปุ่นและศาสนาเราเป็นศัตรูทางความเชื่อศรัทธา ซึ่งผมมองเห็นว่านี่เป็นแนวคิดที่ชั่วร้าย แอบแฝงการมุ่งทำลายศาสนาอื่น โกหกโป้ปดหลอกลวง ยกย่องพระเจ้าของตนเองถูกต้องจริงแท้สากล
มีสิ่งหนึ่งที่ผมอยากรู้มากๆว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อผู้มีศรัทธาเชื่อมั่นในศาสนาตนเองอย่างแรงกล้า ค้นพบสัจธรรมความจริงของโลก ว่ามันมิได้เป็นเช่นดังคำสอนที่ตนเรียนรู้มา จิตใจของคนเหล่านั้นจะเป็นเช่นใด, นี่ก็เช่นเดียวกันกับพุทธศาสนานะครับ พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้คุณเชื่อแบบหลับหูหลับตา หรือแม้แต่หัวปลักหัวปลำกับคำสอนของพระองค์เอง
กาลามสูตร คือ พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ชาวกาลามะ หมู่บ้านเกสปุตตนิคม แคว้นโกศล (เรียกอีกอย่างว่า เกสปุตตสูตร) กาลามสูตรเป็นหลักแห่งความเชื่อที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ให้แก่พุทธศาสนิกชน ไม่ให้เชื่อสิ่งใดๆ อย่างงมงายโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นจริงถึงคุณโทษหรือดีไม่ดีก่อนเชื่อ มีอยู่ 10 ประการ ได้แก่
- มา อนุสฺสวเนน – อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามๆ กันมา
- มา ปรมฺปราย – อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆ กันมา
- มา อิติกิราย – อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ
- มา ปิฏกสมฺปทาเนน – อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
- มา ตกฺกเหตุ – อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเดาว่าเป็นเหตุผลกัน
- มา นยเหตุ – อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมานคาดคะเน
- มา อาการปริวิตกฺเกน – อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเดาจากอาการที่เห็น
- มา ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา – อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
- มา ภพฺพรูปตา – อย่าปลงใจเชื่อ เพราะผู้พูดมีลักษณะน่าเชื่อถือ
- มา สมโณ โน ครูติ – อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา
“เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เมื่อนั้นท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่ เพราะอาศัยคำที่เราได้กล่าวไว้แล้วนั้น เราจึงได้กล่าวไว้ดังนี้”
reference: http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=20&A=4930&Z=5092
“You may trample. You may trample. I more than anyone know of the pain in your foot. You may trample. It was to be trampled on by men that I was born into this world. It was to share men’s pain that I carried my cross.”
เพราะการดังขึ้นประโยคนี้ ไม่สมควรอย่างยิ่งเลยที่นิยาย/หนังจะใช้ชื่อว่า Silence มีนักวิจารณ์ตั้งชื่อใหม่ให้หนังว่า Message of God เสียด้วยซ้ำ, แต่ถ้ามองว่า Silence คือสภาวะของความคาดหวังการช่วยเหลือจากพระเจ้า นี่เป็นสิ่งที่พระองค์ไม่มีวันแสดงออก พูดความต้องการออกมาแน่ๆ
ด้วยทุนสร้างประมาณ $50 ล้านเหรียญ หนังทำเงินได้ทั่วโลก $23.7 ล้านเหรียญ ขาดทุนย่อยยับ ก็แน่ละหน้าหนังแทบไม่มีความน่าสนใจในกระแสของผู้ชมแม้แต่น้อย กว่าจะเริ่มโปรโมท ออกโปสเตอร์ Trailer ก็ใกล้ๆวันออกฉายแล้ว อีกทั้งยังถูกมองข้ามจากงานประกาศรางวัลปลายปี แม้ได้รับคำยกย่องว่าคือ Masterpiece แต่กลับเข้าชิง Oscar เพียงสาขาเดียว (Best Cinematography) เรียกว่าแทบไม่มีอะไรเป็นจุดขายแม้แต่น้อย นอกจากแฟนเดนตายของผู้กำกับ Martin Scorsese (แต่ชื่อนี้ก็ไม่ได้การันตีว่า หนังจะประสบความสำเร็จทำเงินสักเท่าไหร่)
ก่อนหนังจะออกฉายตอนสิ้นปี เห็นว่ามีการจัดรอบพิเศษให้บาทหลวงที่กรุงโรม, และปฐมทัศน์ที่วาติกัน ให้พิจารณารับชมก่อนเลย ว่าควรยกย่องสรรเสริญหรือต่อต้าน Blasphemous, แต่ผลลัพท์กลับเงียบฉี่ ไม่ได้ยินโป๊ปออกมาพูดอะไรถึงหนังทั้งนั้น (แต่มีภาพข่าวที่เห็น Marty จับมือกับ Pope Francis อยู่นะครับ)
จริงๆหนังถือว่าดูสนุกตื่นเต้น กดดันลุ้นระทึก แฝงสาระแนวคิดเกี่ยวกับศาสนาและประวัติศาสตร์ แต่เหตุผลที่ผมไม่ชื่นชอบเลยสักนิด เพราะประเด็นชวนเชื่อของศาสนาคริสต์ และการปฏิเสธต่อต้านแนวคิด วัฒนธรรม ศาสนาอื่นโดยสิ้นเชิง ซึ่งนี่ไม่ใช่แค่เรื่องราวของหนัง แต่ยังสะท้อนถึงตัวผู้กำกับ Martin Scorsese ที่ผมอุตส่าห์คาดหวังคิดว่า เขาจะเปิดใจกว้างรับเอาแนวคิด ศึกษาให้เข้าถึงศาสนาอื่นบ้าง แต่นี่… และตอนจบที่ภาพค่อยๆไหลเข้าไปจนเห็นมือของบาทหลวง Rodrigues กำไม้กางเขนอยู่ (ฉากนี้ไม่มีในนิยาย เป็น Marty ที่คิดใส่เพิ่มเข้าไปเอง) จบสิ้นกัน เพราะมันหมายถึงพี่แกทำหนังด้วย passion ในความเชื่อศรัทธาต่อพระเจ้าอันล้นพ้นเต็มเปี่ยม ไม่มีที่ว่างหลงเหลือให้ศาสนาเติมน้ำใส่แก้วแม้แต่น้อย
ถ้าคุณนับถือศาสนาคริสต์ แนะนำว่านี่เป็นหนัง “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แต่ถ้าเป็นชาวพุทธแนะนำให้หลีกเลี่ยงไปเลยจะดีกว่า ยกเว้นถ้าคิดว่าตัวเองมีวุฒิภาวะดีพอ แยกแยะตัดสินเรื่องราวต่างๆได้ ก็ลองหามารับชมเสี่ยงดูเองนะครับ
แนะนำกับคอหนังประวัติศาสตร์ Epic Drama ญี่ปุ่นยุคสมัย Edo Period, แฟนๆผู้กำกับ Martin Scorsese นักแสดงนำอย่าง Andrew Garfield, Adam Driver และ Liam Neeson ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ กับปมประเด็นขัดแย้งทางความเชื่อ ศรัทธา และศาสนา
Leave a Reply