
Simon of the Desert (1965)
: Luis Buñuel ♥♥♥♡
ตั้งใจให้เป็นภาพยนตร์ขนาดยาวสร้างโดยสามผู้กำกับดัง แต่สำเร็จเสร็จสรรพเพียงส่วนของ Luis Buñuel เลยแปรสภาพสู่หนังสั้นความยาว 45 นาที เรื่องราวของของนักพรต Simón ยืนอยู่บนแท่นสูงกลางทะเลทรายนาน 6 ปี 6 สัปดาห์ และ 6 วัน, คว้ารางวัล Grand Jury Prize (ที่สอง) จากเทศกาลหนังเมือง Venice
มองผิวเผิน Simon of the Desert (1965) น่าจะเป็นเรื่องราวชีวประวัติอิงศาสนา ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากนักบุญ/นักพรต Simeon Stylites หรือ Symeon the Stylite (390-459) สัญชาติ Syrian ว่ากันว่ายืนอยู่บนแท่นหิน (ตอนแรกสูงเพียง 3 เมตร ก่อนย้ายไป 15 เมตร) ใกล้ๆกับ Aleppo (ปัจจุบันคือประเทศ Syria) เพื่อพิสูจน์ความจริงใจ อุทิศทั้งชีวิตต่อพระเจ้า และมักเทศนาสั่งสอนศิษยานุศิษย์ที่มาเดินทางมาแสวงบุญ ยาวนานถึง 37 ปี!

แต่ภาพยนตร์เรื่อง Simon of the Desert (1965) ของ Luis Buñuel กลับนำเสนอในลักษณะ Dark Comedy เต็มไปด้วยการล้อเลียนเสียดสี ชี้นำทางให้เห็นว่า การปฏิบัติดังกล่าวเป็นสิ่งไร้สาระ! ขำกลิ้งสุดก็คือเอาซาตานในคราบหญิงสาวมายั่วราคะ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนในที่สุดนักพรต Simón ก็พ่ายแพ้ภัยพาล (ในหนังอ้างว่า Simón เป็นบุตรหลานของ Simeon Stylites) แล้วตัดกลับมาปัจจุบันพบเห็นความสุดเหวี่ยงของมนุษย์ราวกับวันสิ้นโลก
แม้ผมรู้สึกว่าหนังค่อนข้างน่าสนใจในแนวคิด ไดเรคชั่น และภาพสวยๆของ Gabriel Figueroa แต่เมื่อดูจบแล้วกลับรู้สึกเวิ้งว่างเปล่ายังไงชอบกล เรื่องราวดำเนินไปอย่างล่องลอย ไร้จุดหมาย เหมือนมีเพียง Dark Comedy แค่ต้องการล้อเลียนเสียดสีความเชื่อศรัทธา ฉุดคร่านักบุญ/นักพรตให้ตกลงมาเบื้องล่าง และสะท้อนยุคสมัยปัจจุบันนี้-นั้น เท่านั้นเองฤา?
มันอาจเพราะว่า Simon of the Desert (1965) มีความตั้งใจดั้งเดิมให้เป็นหนังยาว (Feature Length) แต่ด้วยข้อจำกัดอย่างที่เกริ่นนำ เนื้อหาสาระแท้จริงเลยปลิดปลิวไปกับสายลม
เกร็ด: Simon of the Desert (1965) คือภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของ Luis Buñuel ที่สร้างขึ้นในช่วง Mexican Period (1956-64)
Luis Buñuel Portolés (1900 – 1983) สัญชาติ Spanish เกิดที่ Calanda, Aragon เป็นบุตรคนโตมีน้อง 6 คน, เมื่อตอนอายุได้ 4 ขวบครี่ง ครอบครัวอพยพย้ายสู่ Zaragoza ถิ่นที่อยู่อาศัยของคนมีฐานะ ชนชั้นกลาง ถูกส่งไปศีกษาร่ำเรียนเป็นบาทหลวงยัง Colegio del Salvador แต่หลังจากได้พานพบเห็นอะไรบางอย่าง จึงหมดสิ้นเสื่อมศรัทธาในศาสนา, อายุ 16 เข้าเรียนต่อยัง University of Madrid แรกเริ่มคณะเกษตร เปลี่ยนมาวิศวะ สุดท้ายคือปรัชญา, ความสนใจในภาพยนตร์เมื่อโอกาสรับชม Der müde Tod (1921) ของผู้กำกับ Fritz Lang, เมื่อปี 1925 มุ่งสู่กรุง Paris ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Jean Epstein, สรรค์สร้างผลงานเรื่องแรก Un Chien Andalou (1929), L’Age d’Or (1930)
การมาถึงของจอมพล Francisco สงครามกลางเมือง Spanish Civil War (1936-39) และภาพยนตร์/สารคดี Las Hurdes (1933) ถูกแบนห้ามฉายในสเปน ทำให้ Buñuel ตัดสินใจเดินทางมุ่งสู่ Hollywood ครุ่นคิดพัฒนาหลากหลายโปรเจคแต่ก็ไม่เป็นรูปเป็นร่าง เป็นชิ้นเป็นอัน จนกระทั่งได้รับชักชวนจากโปรดิวเซอร์ Oscar Dancigers อพยพย้ายมาประเทศ Mexico ตั้งแต่ปี 1946 เริ่มต้นสรรค์สร้าง Gran Casino (1947) ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ แต่ยังได้รับโอกาสอีกครั้ง El Gran Calavera (1949) คราวนี้สามารถทำเงินถล่มทลาย จากนั้นก็สรรค์สร้างภาพยนตร์ในช่วง Mexican Period (1946-64) มีผลงานทั้งหมด 20 เรื่อง
ช่วงปี 1960, หลังจาก Buñuel มีโอกาสรับรู้จักโปรดิวเซอร์ Gustavo Alatriste จึงร่วมกันสรรค์สร้างภาพยนตร์ Viridiana (1961) ติดตามมาด้วย The Exterminating Angel (1962) ซึ่งก็ได้เสนอแนะโปรเจคถัดไป ร่วมงานสร้าง 3 ผู้กำกับดัง ประกอบด้วย Federico Fellini (เรียกร้องขอให้ศรีภรรยา Giulietta Masina แสดงนำ) และ Jules Dassin (เรียกร้องขอให้ศรีภรรยา Melina Mercouri แสดงนำ) ต่างคนต่างต้องการให้เมียตนเองรับบทนำ แต่ Alatriste ยืนกรานต้องให้ศรีภรรยา Silvia Pinal แสดงนำเท่านั้น!
เกร็ด: หลังจากติดต่อใครอื่นไม่ได้ Gustavo Alatriste เลยต้องการกำกับเองอีกสักตอน แต่ Silvia Pinal ไม่เอาด้วยกับสามี นั่นคือจุดเริ่มต้นความบาดหมาย และหย่าร้างไม่กี่ปีถัดมา
Buñuel ได้แรงบันดาลใจ Simon of the Desert (1965) หลังจากมีโอกาสอ่านหนังสือ Golden Legend (ภาษาละติน Legenda aurea หรือ Legenda sanctorum) รวมรวบชีวประวัตินักบุญ/นักพรต (เรียกว่า Encyclopaedia ก็ไม่ผิดอะไร) เรียบเรียงโดย Jacobus de Varagine (1230-98) นักบวชชาวอิตาเลี่ยน และเป็นอัครมุขนายก (Archbishop) ประจำเมือง Genoa ซึ่งฉบับดั้งเดิมเขียนเสร็จช่วงปี 1259-66 แต่ก็ได้มีการเพิ่มเติมบุคคลสำคัญๆในประวัติศาสตร์มาเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน
ในบรรดานักบุญ/นักพรตจากหนังสือ Golden Legend ผู้กำกับ Buñuel ค้นพบเรื่องราวที่น่าสนใจของ Simeon Stylites เลยร่วมงานพัฒนาบทกับ Julio Alejandro (1906-95) นักเขียนสัญชาติ Spanish ร่วมงานขาประจำมาตั้งแต่ Nazarín (1959), Viridiana (1961) และอีกผลงานถัดจากนี้ Tristana (1970)
Claudio Brook ชื่อจริง Claude Sydney Brook Marnat (1927-95) นักแสดงสัญชาติ Mexican เกิดที่ Mexico City บิดาเป็นนักการทูตชาวอังกฤษ แต่งงานมารดาเชื้อสาย French-Mexican เลยสามารถพูดคล่องแคล่วทั้งสามภาษา โตขึ้นเริ่มจากเป็นนักพากย์หนัง ตามด้วยละครเวที และภาพยนตร์ ผลงานเด่นๆ อาทิ The Exterminating Angel (1962), Simon of the Desert (1965), รับบท Jesus Christ เรื่อง La vida de nuestro Señor Jesucristo (1986) ฯ
รับบทนักพรต Simón ตั้งใจอุทิศตนเพื่อพิสูจน์ความเชื่อศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า ประกาศกร้าวจะอาศัยอยู่บนแท่นเหนือพื้นดินตลอดชีวิต ซึ่งหลังจากอาศัยอยู่บนเสาสูงแปดเมตรกลางทะเลทรายมานาน 6 ปี 6 สัปดาห์ และ 6 วัน ได้รับคำเชื้อเชิญจากบรรดาบาทหลวงและประชาชน ให้ย้ายมาประดิษฐานยังเสาต้นใหม่สูง 15 เมตร แสดงปาฏิหารย์มอบแขนใหม่แก่คนพิการ พบเห็นซาตานพยายามยั่วเย้ายวนให้เขาก้าวลงจากแท่น จนในที่สุดก็ถูก(ซาตาน)ลักพาตัวอย่างไม่เต็มใจ กระโดดข้ามเวลามายังไนท์คลับแห่งหนึ่ง (ช่วงทศวรรษ 1960s) เรียกร้องขอให้ส่งตัวกลับบ้าน แต่ถูกบอกปัดปฏิเสธเพราะตนเองก็มิอาจกระทำได้
หนังไม่ได้อธิบายเหตุผล ที่มาที่ไป เพราะเหตุใด Simon ถึงตัดสินใจอาศัยอยู่บนแท่นสูง นำเสนอเรื่องราวตั้งแต่ที่เขาเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดัง ได้รับการอุปถัมภ์ให้เปลี่ยนเสา เข้าใกล้สรวงสวรรค์/พระเป็นเจ้ามากขึ้น ขณะเดียวกันซาตานก็มีบังเกิดความลุ่มร้อนรน ปรากฎตัวออกมาให้พบเห็นบ่อยครั้งเช่นเดียวกัน
พอไว้หนวดเครา น้อยคนคงจะจำใบหน้าอันเกลี้ยงเกลาของ Claudio Brook ซึ่งแลดูคล้ายฤษี นักพรต ไม่ยึดติดรูปลักษณ์ภายนอก ทั้งยังอากัปกิริยาเล่นน้อยได้มาก ค่อยๆขยับเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้าแต่มั่นคง สีหน้านิ่งสงบสติอารมณ์ ยกเว้นเพียงขณะเผชิญหน้าซาตาน มักแสดงอาการเกรี้ยวกราด ขึ้นเสียง ไม่พึงพอใจ พยายามขับไล่ผลักไสส่ง จนกระทั่งเมื่อถูกลักพาตัว สูบไปป์ ใส่เสื้อไหมพรม หวีผม โกนหนวดเครา นี่มันคนๆเดียวกันจริงๆนะหรือ
บทบาทนี้ของ Brook กลายเป็นภาพจำของผู้ชม ผลงานเด่นๆของเขาก็มักบทบาทนักพรต นักบุญ บุคคลผู้มีศีลธรรม นั่นรวมไปถึง Jesus Christ ฉบับ Mexican ถึงผมไม่เคยรับชมก็ครุ่นคิดว่าคงไม่น่าผิดหวัง
Silvia Pinal Hidalgo (เกิดปี 1931) นักแสดงสัญชาติ Mexican เกิดที่ Guaymas, Sonora, วัยเด็กมีความสนใจภาพยนตร์ ภาพยนตร์ ชื่นชอบการเขียน บทกวี พอโตขึ้นได้เข้าประกวดเวทีนางงาม ได้รับรางวัล Student Princess of Mexico, ตัดสินใจร่ำเรียนการขับร้องโอเปร่า แต่พอออดิชั่นไม่ผ่านได้รับคำแนะนำให้เปลี่ยนมาด้านการแสดง Instituto Nacional de Bellas Artes ไม่นานนักก็มีผลงานละครเวทีที่ Ideal Theater, ภาพยนตร์เรื่องแรก Bamba (1949), The Doorman (1949), El rey del barrio (1949), ได้รับคำชมล้นหลามกับ Un rincón cerca del cielo (1952), โด่งดังระดับนานาชาติจากการได้ร่วมงาน Luis Buñuel ถึงสามครั้ง Viridiana (1961), El ángel exterminador (1962) และ Simón del desierto (1964)
รับบทซาตาน พยายามก่อกวน ยั่วเย้ายวน สร้างความหงุดหงิดไม่พึงพอใจต่อ Simón มาในหลายรูปลักษณ์ อาทิ หญิงสาวสวยเดินถือไหดินเผา, เด็กหญิงเล่นสนุกไร้เดียงสา, ปลอมตัวเป็นพระเยซู, เข้าสิงบาทหลวง พยายามพูดใส่ร้ายป้ายสี, ครั้งสุดท้ายขึ้นจากโลงศพ แล้วลักพาตัวเดินทางสู่อนาคต ลุกขึ้นเต้นเริงระบำแล้วสูญหายตัวท่ามกลางฝูงชน
Pinal หลังร่วมงานผู้กำกับ Buñuel มาแล้วสองครั้ง มีความเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ พร้อมทำทุกสิ่งอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ ให้เปลือยอก แต่งกายล้อเลียนพระเยซู ฯ น่าเสียดายที่พวกเขาไม่โอกาสได้ร่วมงานกันอีก … จริงๆ Pinal หมายมั่นปั้นมือจะเล่น Diary of a Chambermaid, Belle de Jour และอีกหลายโปรเจค แต่ก็มีเหตุให้ถูกขัดขวาง (โดยโปรดิวเซอร์ที่อยากได้นักแสดงมีชื่อเสียงมากกว่า) ซึ่งหลังจากเลิกราโปรดิวเซอร์ Gustavo Alatriste ก็ไม่มีใครสนับสนุนผลักดันให้ได้รับโอกาสแบบนี้อีก
ถ่ายภาพโดย Gabriel Figueroa (1907-97) ตากล้องระดับตำนาน สัญชาติ Mexican เกิดที่ Mexico City, โตขึ้นร่ำเรียนการวาดรูป Academy of San Carlos และไวโอลิน National Conservatory แต่เมื่อครอบครัวประสบปัญหาการเงิน ทำให้ต้องลาออกมาทำงานยังสตูดิโอ Colonia Guerrero แรกเริ่มออกแบบสร้างฉาก จากนั้นกลายเป็นผู้ช่วยช่างภาพนิ่ง Juan de la Peña, José Guadalupe Velasco, ก่อนออกมาเปิดสตูดิโอ(ถ่ายภาพนิ่ง) แล้วได้รับคำชักชวนให้เข้าสู่วงการภาพยนตร์ มีโอกาสเดินทางไป Hollywood ศึกษาการทำงานของ Gregg Toland จากเรื่อง Splendor (1935) เลยมุ่งมั่นเอาดีด้านนี้ แจ้งเกิดโด่งดังทันทีกับ Allá en el Rancho Grande (1936), ผลงานเด่นๆ อาทิ María Candelaria (1944), The Fugitive (1947), The Pearl (1947), The Unloved Woman (1949), Los Olvidados (1950), Nazarín (1959), The Exterminating Angel (1962), The Night of the Iguana (1964) ** ได้เข้าชิง Oscar: Best Cinematography
หนังปักหลักถ่ายทำยัง Los Médanos หรือ Samalayuca Dune Fields ตั้งอยู่บริเวณ Samalayuca, Chihuahua ทางตอนเหนือของประเทศ Mexico ติดกับชายแดนรัฐ New Mexico ประเทศสหรัฐอเมริกา
โดยปกติแล้วหนังของ Buñuel จะไม่เน้นการถ่ายภาพให้มีความสวยงามตระการตา เพราะมันจะไปแก่งแย่งความสนใจจากเนื้อหาสาระที่ต้องการนำเสนอ แต่คงยกเว้นกับ Simon of the Desert (1965) เพราะท้องฟากฟ้า ทะเลทราย ล้วนมีอิทธิพลต่อตัวละครเป็นอย่างยิ่ง
คนทำงานเบื้องหลังน่าจะตระหนักได้ไม่ยากว่า การถ่ายทำบนความสูง 15 เมตร มีความยุ่งยากเกินไป (โดยเฉพาะการ Close-Up) ซี่งภาพยนตร์สามารถหลอกลวงผู้ชมโดยการถ่ายมุมเงย สร้างเสาเตี้ยๆอีกต้น เผื่อนักแสดงกลัวความสูงจะได้ไม่มีปัญหาอะไร (แต่เสาขนาดเท่าของจริงก็มีอยู่นะครับ มองไกลๆก็ดูไม่ออกหรอกว่านักแสดงหรือตัวแทน/สตั๊นแมน)

เสาหินและการเปลี่ยนเสา ผมมองในเชิงสัญลักษณ์ของดุ้นอันใหญ่ ความพยายามทำตัวสูงส่ง ยกยอปอปั้นตนเองให้เหนือกว่าผู้อื่น มองลงมาเห็นมนุษย์ผู้ต่ำต้อย นอกจากนี้ยิ่งสูงยิ่งใกล้ชิดท้องฟ้า สรวงสวรรค์ พระเป็นเจ้า (จะมองว่าทำตัวเหมือนพระเจ้า ก็ได้เหมือนกัน)

นักพรต Simón แม้จะสอบถามคนพิการว่าทำไมถีงแขนขาด (ถูกตัดเพราะลักขโมย) เพียงแค่อ้างว่ารู้สำนีกผิด ก็สำแดงปาฏิหารย์ให้แขนทั้งสองข้างงอกขี้นใหม่ แต่ไม่ทันไรหลังจากนั้น กลับตบหัวบุตรสาวอย่างไม่รู้สำนีกคุณค่าของสิ่งได้รับ … เฉกเช่นนั้นแล้ว ปาฏิหารย์ดังกล่าวสำแดงไป มีประโยชน์อันใดเล่า?

ภาพแรกของซาตานสุดสวย สวมชุดแม่ชี แบกไหดินเผาเดินผ่านหน้ากล้อง สัญลักษณ์ของความเปราะบาง แค่โยนทิ้งตกลงพื้นก็แตกสลาย เฉกเช่นเดียวกับความเชื่อศรัทธาของมนุษย์ ที่ซานตาตนนี้ครุ่นคิดวางแผนฉุดคร่า Simón ให้ล่วงหล่นลงจากสรวงสวรรค์
ผมเชื่อว่าใครๆย่อมมองเห็นซาตานคนนี้มีตาสองข้างเป็นปกติ แต่การที่ Simón ยืนกรานว่าถ้ามองลีกเข้าไปในจิตใจจะพบเห็นเพียงดวงตาข้างเดียว ซี่งสะท้อนถีงความมืดบอด โฉดชั่วร้ายของหญิงสาว (สังเกตนิ้วยาว เล็บเรียวแหลมผิดธรรมชาติ) ซี่งเธอพยายามล่อตาล่อใจให้ทุกผู้คนตกหลุมรักหลงใหล

หลังจากพบเห็นบาทหลวงหนุ่ม ทำตัวร่าเริงสนุกสนาน Simón (จะมองว่าเก็บภาพมาฝันก็ได้เหมือนกัน) พบเห็นซาตานปลอมตัวเป็นเด็กหญิงสาว ขับร้องเพลง กระโดดโลดเต้น เริงระบำไปมา จากนั้นโชว์เรียวขา เปิดหน้าอก สำหรับยั่วเย้ายวนกามารณ์ แต่นักพรตก็หลับตาสวดอธิษฐาน เสียงฟ้าผ่ามาพร้อมภาพความจริง หญิงชราเนื้อหนังแห้งเหี่ยว ไม่หลงเหลือความน่าดูชมอันใด

เป็นเรื่องปกติของบุคคลทำความดี ย่อมมีศัตรูผู้มีความอิจฉาริษยา ครุ่นคิดวางแผนประทุษร้าย พูดโป้ปดให้สูญเสียชื่อเสียง เกิดข้อครหานินทา ซี่งเรายังสามารถมองสิ่งบังเกิดขี้นกับบาทหลวงคนนี้ คือถูกซาตานเข้าสิง แล้วใช้มารยาลวงล่อหลอกผู้คน แต่หลังจากนักพรตสวดอธิษฐาน ก็ทำให้ชายคนนี้น้ำลายฟูมปาก มิอาจเอ่ยปากพูดอะไรออกมาได้อีก

ซาตานในคราบพระเยซูคริสต์ อุ้มลูกแกะ ทำการเทศนาสั่งสอน โน้มน้าวชักจูงให้ลงมาจากแท่นสูง ตอนแรก Simón เกือบจะหลงเชื่อทำตาม แต่ไม่นานก็ตระหนักได้ว่านี่คือภาพลวงตา ปีศาจชั่วร้ายปลอมตัวมาทดสอบจิตใจ ว่ามีความเข้าใจต่อคำสอนของพระเป็นเจ้ามากน้อยเพียงใด ซี่งหลังจากความจริงได้รับการเปิดเผย ซาตานตนนี้ก็แสดงธาตุแท้ พูดถ้อยคำสาปแช่งหยาบคาย แล้วเตะลูกแกะโดยไม่สนอะไร (นั่นทำให้ Simón ยืนกระต่ายขาเดียว เพื่อชดใช้ความผิดที่(ซาตาน=สิ่งชั่วร้ายภายในจิตใจ)เคยกระทำ)
Come down off that column. Taste earthly pleasures till you’ve had your fill. Till the very word pleasure fills you with nausea.
The Devil

ซาตานลุกขี้นจากโลงศพ (น่าจะล้อกับการฟื้นคืนชีพของพระเยซูคริสต์) แต่คราวนี้ไม่ได้พูดคำโน้มน้าว Simón อีกต่อไป (จะสื่อถีงความตายของ Simón ก็ได้เหมือนกัน) แค่จู่ๆลักพาตัว ออกเดินทางสู่อนาคต ศตวรรษ 1960s เพื่อแสดงให้เห็นถีงโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป มุ่งสู่หายนะ วันโลกาวินาศ
Simon of the desert, you may not believe it, but you and I are very much alike. Like you, I believe in God the Father Almighty, because I’ve been in his presence.
The Devil
แซว: ผู้กำกับ Luis Buñuel เขียนบทรำพันย่อหน้าสุดท้ายในหนังสือชีวประวัติ Mon Dernier Soupir (1982) ให้ความรู้สีกคล้ายๆฉากนี้เลยนะ ถ้าเลือกได้อยากฟื้นคืนชีพทุกๆสิบปี ลุกขี้นมาซื้อหนังสือพิมพ์ อ่านข่าวสารความเป็นไปของโลก ก่อนกลับลงโลงหลับสบายอย่างปลอดภัย ไร้สิ่งกังวลอีกต่อไป

ปฏิกิริยาของ Simón ดูหมดสิ้นหวังกับภาพที่พบเห็น มนุษย์ต่างกระโดดโลดเต้น ‘Radioactive Flesh’ ใช้ชีวิตอย่างสุดเหวี่ยง บ้าคลั่ง เมามันส์ โลกอนาคต/ปัจจุบันช่างมีเสื่อมทราม หมดสิ้นหวัง ผู้คนไร้สามัญสำนีก ถูก-ผิด ชอบ ชั่ว-ดี นี่มันขุมนรก ราวกับวันสิ้นโลกก็ไม่ปาน
ภาพลักษณ์ของ Simón แปรสภาพจากนักพรตกลายมาเป็น(เหมือน)ศาสตราจารย์ ผู้มีความรู้มาก ดูเฉลียวฉลาด ทรงภูมิปัญญา หรือในเชิงสัญลักษณ์สามารถเทียบแทนด้วย Luis Buñuel ก็ไม่ผิดอะไร
ส่วนซาตานก็มีความเต็มที่สุดเหวี่ยงกับชีวิต บัดนี้ไม่ต้องต่อสู้ขัดแย้งกับใคร สามารถเสพกระสันต์ เริงระบำ สูญหายตัวท่ามกลางฝูงชน … หรือจะเรียกว่าทุกๆคนในยุคสมัยนี้ ต่างมี ‘ซาตาน’ ซ่อนเร้นอยู่ภายใน

ตัดต่อโดย Carlos Savage (1919-2000) สัญชาติ Mexican ขาประจำของ Luis Buñuel ตั้งแต่ Los Olvidados (1950), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ La guerra santa (1979), El principio (1973) ฯ
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาของ Simón ตั้งแต่อาศัยอยู่บนแท่นหิน 6 ปี 6 สัปดาห์ และ 6 วัน เริ่มจากวันเปลี่ยนเสา ดำเนินไปข้างหน้าแบบไม่รู้วันรู้คืน ร้อยเรียงความพยายามของซาตาน ฉุดคร่านักพรตลงมาจากด้านบน และที่สุดก็ตัดสินใจลักพาตัวกระโดดข้ามเวลามายุคสมัยปัจจุบัน ทศวรรษ 1960s
ผมขอแบ่งเรื่องราวออกเป็นตอนๆ จะมองเห็นภาพชัดเจนกว่า
- หลังจากอาศัยอยู่บนแท่นหินครบ 6 ปี 6 สัปดาห์ และ 6 วัน ได้รับการอุปถัมภ์เสาหินต้นใหม่ที่มีความสูงใหญ่กว่า
- แสดงปาฏิหารย์คืนมือชายแขนขาดให้กลับมาเหมือนใหม่
- การมาถีงของซาตานในคราบแม่ชีถือไห และบาทหลวงที่ยังมองโลกเพียงเปลือกภายนอก
- การมาถีงของบาทหลวงหนุ่มผู้ยังลุ่มหลงใหลทางโลกียะ
- ซาตานในคราบเด็กสาว ร่าเริงสนุกสนาน ไร้เดียงสา ก่อนกลายสภาพเป็นหญิงชรา
- ซาตานเข้าสิงบาทหลวงคนหนี่ง พยายามให้ร้ายป้ายสี ก่อนถูกชำระล้าง (ไล่ผี) ออกจากร่าง
- ซาตานปลอมตัวเป็นพระเยซูคริสต์ พยายามโน้มน้าวให้ Simón ลงมาจากแท่นหิน
- ช่วงเวลาแห่งการอำนวยอวยพรของทุกสรรพชีวิตของ Simón
- การมาถีงของโลงศพ แล้วซาตานลักพาตัว Simón ออกเดินทางสู่อนาคต
- ไนท์คลับแห่งหนี่ง มนุษย์ดิ้นพร่านสุดเหวี่ยง ราวกับพรุ่งนี้จะเป็นวันสุดท้ายของชีวิต
สำหรับบทเพลง ผมมีความก้ำกี่งเล็กๆว่าจะเรียกเพลงประกอบหรือ Sound Effect เพราะมีเพียงเสียงรัวกลองที่สะท้อนสภาวะทางจิตใจตัวละคร มักดังขี้นช่วงขณะ Simón ต้องต่อสู้กับตัวตนเอง อาศัยอยู่โดยลำพัง หรือกำลังเผชิญหน้ากับซาตาน (สิ่งชั่วร้ายภายในจิตใจ)
Rebelde Radioactivo (1965) แต่ง/บรรเลงโดย Los Sinners วงดนตรี Rock and Roll สัญชาติ Mexican ซี่งก็มารับเชิญแสดงสดช่วงท้ายของหนัง, หนี่งในสมาชิกวง Federico Arana เล่าว่า Buñuel แค่รู้จัก/เคยได้ยินบทเพลงของวง (ไม่ได้เป็นแฟนคลับแต่อย่างใด) ต้องการร่วมงานเพราะมองว่านี่คือสไตล์เพลงแห่งยุคสมัยนั้น ขอแค่ดนตรีจังหวะสนุกสุดมันส์ ‘tremendous rock’ ไม่ต้องการเนื้อคำร้องใดๆ เสนอบทเพลงนี้ซี่งเขาก็มีความชื่นชอบมากๆ ถีงขนาดจะนำมาตั้งชื่อหนัง แต่ถูกโปรดิวเซอร์ Gustavo Alatriste ทัดทานเพราะกลัวต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์สูงขี้นกว่าเดิม
Buñuel came to us asking. He needed a suitable song for the final scene and he arrived at Café Milleti and where we performed. Don Luis asked us to play tremendous rock. I asked him if he wanted something sung or instrumental? And he said that it was instrumental but very strong. He meant very sinister and very beast. I offered him ‘Rebelde Radioactivo’ and not only did he find the piece suitable, but he also communicated his intention to name the film after the not very fine and inspired melody. The bad thing is that Gustavo Alatriste, producer on duty, said no because then they would have to pay me a lot more for the rights.
Federico Arana
ความกลัวในสิ่งไม่สามารถอธิบายได้ ทั้งปรากฎการณ์(เหนือ)ธรรมชาติ ชีวิตหลังความตาย คนเราเกิดมาทำไม เป็นเหตุให้มนุษย์ต้องการที่พึ่งพักพิงทางร่างกาย-จิตใจ ซึ่งปรัชญา/วิถีความเชื่อชาวตะวันตก ถกเถียงกันมาแต่โบราณกาลว่า จักรวาล/โลกใบนี้ต้องมีใครสักคนสรรค์สร้างขึ้น นั่นก็คือพระบิดาสูงสุด พระเจ้าผู้สร้าง และเมื่อสิ่งมีชีวิต/ลูกหลานของพระองค์หมดสิ้นอายุไขบนโลก ก็ต้องหวนกลับสู่สรวงสวรรค์ อาศัยอยู่บนความนิจนิรันดร์
บุคคลผู้มีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าต่อพระเจ้าอย่าง Simón หรือ Simeon Stylites มองในมุมหนึ่งต้องการพิสูจน์ศรัทธา ว่าจักสามารถต่อสู้ซาตาน เอาชนะมารผจญ กิเลสความต้องการภายในตัวตนเองได้หรือไม่ แต่ถ้าเรามองกลับตารปัตร พฤติกรรมดังกล่าวมันไม่ต่างจากเรียกร้องความสนใจ (จากพระเจ้า และบุคคลผู้รับรู้/พบเห็น) งมงายในสิ่งจับต้องไม่ได้ เสียชาติเกิดในสิ่งไร้สาระทั้งเพ!
สำหรับผู้กำกับ Buñuel แน่นอนว่าสามารถเทียบแทนกับนักพรต Simón เชื่อมโยงกันด้วยความเชื่อศรัทธาต่อพระเจ้าอย่างแรงกล้า ใช้ชีวิตท่ามกลางทะเลทรายบนเสาสูง (ปักหลักใช้ชีวิตใน Mexico สรรค์สร้างภาพยนตร์ทรงคุณค่าต่อมนุษยชาติ) เผชิญหน้าซาตานในรูปแบบต่างๆ (Buñuel ถูกสังคม/ผู้ชมท้าทายบ่อยครั้ง เพราะผลงานมีความหมิ่นเหม่ ขัดแย้งต่อหลักศีลธรรม) และแม้ถูกลักพาตัวมาสู่ปัจจุบัน ก็มิได้เริงรื่นครื้นเครงไปกับโลกใบนี้สักเท่าไหร่
แต่เอาจริงๆผมมีความสับสนพอสมควรว่า ผู้กำกับ Buñuel สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยจุดประสงค์อันใดกันแน่? แม้เจ้าตัวมีความเชื่อศรัทธาต่อพระเจ้าอย่างแรงกล้า แต่การนำเสนอด้วยไดเรคชั่นที่ดูขบขัน (Dark Comedy) ทำให้เราสามารถมองเป็นการล้อเลียน เสียดสีบุคคลผู้มีความเชื่อศรัทธา พระเยซู=ซาตาน วิถีปฏิบัติแบบ Simón หรือ Simeon Stylites ช่างดูไร้สาระทั้งเพ!
มันอาจเพราะว่า (ความเห็นส่วนตัวล้วนๆนะครับ) Buñuel ไม่เห็นด้วยกับวิธีการของ Simón หรือ Simeon Stylites การจะอุทิศตนเพื่อพระเจ้านั้นมีมากมาย แต่การปฏิบัติของพวกเขาเอาแต่เผชิญหน้าจิตใต้สำนีก ต่อสู้ซาตานเพียงลำพัง สนเพียงเข้าใกล้สรวงสวรรค์ เรียกร้องให้พระเจ้าหันมาสนใจ(ตนเอง) นั่นไม่ได้ก่อประโยชน์อันใดต่อสาธารณะ หนำซ้ำเป็นการสร้างค่านิยมชวนเชื่อให้งมงาย กลายเป็นเครื่องมือคริสตจักรกอบโกยผลประโยชน์ในยุคสมัยปัจจุบัน
(เพราะความสับสน/ขัดแย้งกันดังกล่าว ผมเลยมองหนังในลักษณะ ‘High Art’ แทนผู้กำกับ Buñuel คือนักพรต Simón แล้วเรื่องราวทั้งหมดจะมีลักษณะแค่คือกี่งอัตชีวิตประวัติ มันก็จะไม่มีนงงอะไรไปมากกว่านั้น)
การถูกลักพาตัวละครมาสู่ยุคสมัยปัจจุบัน ยังสามารถสื่อถึงผู้กำกับ Buñuel หลังจากนี้จะไม่ได้สรรค์สร้างภาพยนตร์ที่ Mexico อีกต่อไป (มันอาจเป็นความบังเอิญที่คาดไม่ถีงจริงๆนะ) ซี่งหกผลงานที่เหลือ ล้วนได้ทุน/ถ่ายทำยังฝรั่งเศสหรือสเปน เรียกว่าทอดทิ้งจากการปักหลักอาศัยอยู่บนยอดเสากลางทะเลทราย หวนกลับสู่โลกความจริง (ที่ได้กลายเป็นตำนานเรียบร้อยแล้ว)
หนังออกฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Venice ได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม คว้ารางวัลประกอบด้วย
- Special Jury Prize ร่วมกับ I Am Twenty (1965) และ Modiga mindre män (1965)
- FIPRESCI Prize ร่วมกับ Gertrud (1964)
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ (hi-def restoration) แปลงเป็นไฟล์ digital โดย Criterion และสามารถหารับชมได้ทาง Criterion Channel
Simon of the Desert (1965) เป็นภาพยนตร์ที่มีความน่าสนใจมากๆในช่วงแรกๆ แต่พอรับชมไปได้สักพักผมก็รู้สึกว่ามันไม่อะไรให้น่าติดตามสักเท่าไหร่ 45 นาทียังยาวไปเสียด้วยซ้ำ! ถึงแม้ Buñuel จะพยายามแทรกใส่ซาตาน การต่อสู้/ขัดแย้งภายในจิตใจ เรียกเสียงหัวเราะขบขัน Dark Comedy แต่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเข้าถึง และทำให้ภาพรวมของหนังถูกตีตราว่าคือ การล้อเลียนเสียดสีความเชื่อศรัทธาเท่านั้นเอง
แนะนำเฉพาะกับคอหนัง Dark Comedy, มีความสนใจในนักบุญ/นักพรต Simeon Stylites, และแฟนๆหนัง Luis Buñuel ที่ไม่มีอคติต่อผลงานของเขา ถึงค่อยลองหามารับชมนะครับ
จัดเรต pg แต่เด็กๆอาจดูไม่รู้เรื่องสักเท่าไหร่
Leave a Reply