Singin’ in the Rain (1952) : Gene Kelly, Stanley Donen ♥♥♥♥♥
(11/3/2018) นี่คือภาพยนตร์ที่รวบรวมหลากหลายบทเพลง Musical สุดฮิตในยุคคลาสสิก Remix ไว้ในอัลบัมเดียว ขับร้องท่ามกลายสายลมฝนเปียกโชกโชนหนาวเน็บ แต่เหมือนพระอาทิตย์สาดส่องอบอุ่นกายใจ, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
เชื่อว่าหลายคนที่เคยได้ยินกิตติศัพท์ของ Singin’ in the Rain เมื่อมีโอกาสรับชมหนังจบจะเกิดเครื่องหมายคำถามตัวโตๆ นี่มันหนังเพลงยอดเยี่ยมที่สุดในโลกได้อย่างไง? จะบอกว่าตอนที่ผมรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ครั้งแรกๆ ยังมีความหลงใหลชื่นชอบ An American in Paris (1951) มากกว่าเสียอีก แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป หวนกลับมารอบสองสามสี่ห้า กลับกลายเป็นว่าหนังเรื่องนี้มีบางสิ่งอย่างที่โคตรดึงดูด ทำให้คุณเกิดอารมณ์ความรู้สึกบางอย่าง เรียกว่าคลาสสิกอมตะกว่าหนังเพลงเรื่องอื่นๆใด (ตอนนี้ผมก็ชอบมากกว่า An American in Paris ไปแล้วนะครับ)
นี่เช่นกันกับตอนหนังออกฉายครั้งแรก ทำเงินได้กำไรนิดหน่อย คำวิจารณ์กลางๆ (ไม่ติดอันดับลิสภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี ของนักวิจารณ์สำนักไหนๆ) และเข้าชิง Oscar เพียงสองสาขา นี่แปลว่ากาลเวลาเท่านั้นเป็นสิ่งตัดสินชี้ชะตาคุณค่าของภาพยนตร์เรื่องนี้
โดยครั้งแรกสุดที่มีนักวิจารณ์พูดยกย่องคือ Pauline Kael ตอนนั้นยังเป็นหน้าใหม่ในวงการ เขียนคำอธิบายสั้นๆขณะนำมาฉายซ้ำเมื่อปี 1958
“just about the best Hollywood musical of all time,”
เรียกเสียงฮือฮาสร้างความสนใจให้กับผู้ชมอย่างมาก เพราะขณะนั้นยุคทองหนังเพลงแห่ง Hollywood ได้ถึงกาลจบสิ้นไม่ได้รับความนิยมอีกแล้ว ทั้งการเปลี่ยนผ่านสู่ยุค New Hollywood กำลังเพิ่งเริ่มต้นขึ้น, จะเรียกได้ว่า Singin’ in the Rain คือประมวลหนังเพลง ‘Musical’ จุดสูงสุดแห่งยุคคลาสสิก
จุดเริ่มต้นของโปรเจคนี้เกิดจากโปรดิวเซอร์/นักแต่งเพลง Arthur Freed (1894 – 1973) หัวหน้ากลุ่มชื่อว่า Freed Unit หลังจากสร้างหนังเพลงคลาสสิกให้ MGM หลายสิบเรื่อง มอบหมายให้ลูกน้องภายใต้สังกัด สองคู่หูดูโอ้นักแต่งเพลง Comden and Green (Betty Comden กับ Adolph Green) โดยพูดบอกว่า
“Kids, you’re going to write a movie called ‘Singin’ in the Rain’. Just put all of my songs in it.”
สิ่งแรกที่พวกเขารับรู้ก็คือ จะต้องมีฉากหนึ่งร้องเพลงขณะฝนตก จากนั้นทำการเลือกบทเพลงและพัฒนาเรื่องราวที่มีความสอดคล้องเข้ากัน แต่ก็มีสองเพลงใหม่ที่แต่งเพิ่มคือ Make ‘Em Laugh และ Moses Supposes
เกร็ด: หลายๆตัวละครในหนัง อ้างอิง/ได้แรงบันดาลใจจากผู้คนจริงๆ
– R.F. Simpson หัวหน้าสตูดิโอ เป็นภาพหลอนๆของ Louis B. Mayer ผสมกับ Arthur Freed
– Dora Bailey รับอิทธิพลเต็มๆจาก Louella Parsons
– Zelda Zanders หรือ Zip Girl อ้างอิงจาก Clara Bow
– It Girl มาจาก Roscoe Dexter
– ขณะที่ผู้กำกับในกองถ่าย เหมือนมากๆ Erich von Stroheim
– แม่หญิงแวมไพร์ Olga Mara มาจาก Pola Negri ผสมกับ Gloria Swanson
Gene Kelly ชื่อจริง Eugene Curran Kelly (1912 – 1996) นักแสดง นักเต้น ผู้กำกับสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Pittsburgh, Pennsylvania ตั้งแต่เด็กแม่ส่งเข้าเรียนเต้นกับพี่ชาย แต่เพราะความไม่ชอบเลยออกมาเป็นนักเลง จนอายุ 15 ถึงค่อยยอมไปเรียนเต้นแค่จะไปเป็นเพื่อนน้องชายอีกคน แต่กลับเต้นเก่งจนคว้ารางวัล Local Talent Contest จากนั้นเข้าเรียน University of Pittsburgh สาขาเศรษฐศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งของชมรม Cap and Gown Club จนมีโอกาสได้เป็นผู้กำกับโปรดักชั่นละครเพลงอยู่หลายปี แล้วออกมาเปิดโรงเรียนสอนเต้นชื่อ The Gene Kelly Studio of the Dance กลายเป็นนักเต้นเต็มตัว และเริ่มมุ่งหน้าสู่วงการแสดง ประสบความสำเร็จล้นหลามกับ Broadways เซ็นสัญญาทาสกับ David O. Selznick มุ่งหน้าสู่ Hollywood ผลงานเรื่องแรก For Me and My Gal (1942) ประกบ Judy Garland ที่ได้ช่วยเหลือให้คำแนะนำอย่างมาก, เข้าชิง Oscar: Best Actor ครั้งแรกครั้งเดียวจาก Anchors Aweigh (1945), กลายเป็นตำนานกับ On the Town (1949), An American in Paris (1951), Singin’ in the Rain (1952) และ Invitation to the Dance (1956)
Kelly ถือเครดิตผู้กำกับครั้งแรกร่วมกับ Stanley Donen เรื่อง On the Town (1949) [เขียนบทโดย Comden and Green ด้วยนะ] ก่อนแยกไปฉายเดี่ยวจนความสำเร็จของ An American in Paris (1951) ที่ถึงกำกับโดย Vincente Minnelli แต่ Kelly เข้ามาคุมงานเองหลายๆฉาก (เพราะตอนนั้น Minnelli กำลังเสียสติแตกกับการเลิกราของ Judy Garland) ซึ่ง Singin’in the Rain หวนกลับมาถือเครดิตกำกับร่วมครั้งที่สอง
Stanley Donen (เกิดปี 1924) ผู้กำกับสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Columbia, South Carolina, ในครอบครัวเชื้อสาย Jews สมัยเด็กมักถูกกลั่นแกล้งทำร้ายจากเพื่อนๆกลุ่ม Anti-Semitic จึงมักโดดเรียนไปดูหนัง ชื่นชอบ Western, Comedy, Thriller หลงใหลสุดๆกับ Flying Down to Rio (1933) ผลงานแรกสุดของคู่ขวัญ Fred Astaire กับ Ginger Rogers ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เข้าเรียนการเต้น สานฝันสู่ New York กลายเป็นนักร้อง/นักเต้นคอรัสละครเพลง Broadway เรื่อง Pal Joey (1940) ทำให้รู้จักกับ Gene Kelly ที่รับบทนำ ไม่นานนักกลายเป็นเพื่อนสนิทร่วมด้วยช่วยออกแบบท่าเต้น (Choreographer) จนกระทั่งไปเข้าตาโปรดิวเซอรื Arthur Freed ชักชวนจับมาเซ็นสัญญาปีต่อปี จากนักออกแบบท่าเต้น กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก On the Town (1949) ประสบความสำเร็จทั้งรายรับและคำวิจารณ์ เลยได้เซ็นสัญญา 7 ปีกับ MGM
ในการร่วมงานกันของทั้งสอง Donen มักจะอยู่หลังกล้องคอยควบคุมไดเรคชั่นและทิศทางการถ่ายภาพ ขณะที่ Kelly มักกำกับไดเรคชั่นและท่าเต้นของนักแสดง ทั้งคู่ถือว่าเติมเต็มกันและกันได้อย่างลงตัว และยังได้ร่วมงานกันอีกครั้ง It’s Always Fair Weather (1955) แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่แล้ว (ถึงยุคตกต่ำของหนังเพลง)
Don Lockwood (รับบทโดย Gene Kelly) เป็นนักแสดงหนุ่มชื่อดังในยุคหนังเงียบของสตูดิโอ Monumental Pictures มักประกบคู่ขวัญกับดาราในจอ Lina Lamont (รับบทโดย Jean Hagen) จนใครๆหลงคิดว่าชีวิตจริงพวกเขาก็อาจเป็นเช่นนั้น แต่ตรงกันข้ามไม่ใช่เลย เพราะทั้งน้ำเสียงและความดัดจริตของเธอเกินกว่าจะที่ใครๆจะยินยอมรับอดทนไหว จนกระทั่งการมาถึงของหนังพูดเรื่องแรก The Jazz Singer (1927) ทำให้สตูดิโอปวดเศียรเวียนเกล้าไม่รู้จะทำยังไง จนกระทั่งเพื่อนสนิทรู้จักร่วมงานกันตั้งแต่เด็ก เติบโตไต่เต้ามาด้วยกันตั้งแต่สมัยเป็นนักแสดงเร่ Cosmo Brown (รับบทโดย Donald O’Connor) แนะนำว่าให้ใช้เสียงของ Kathy Selden (Debbie Reynolds) นักร้องนักเต้นสาวที่บังเอิญจับพลัดจับพลูพบเจอร่วมงานกัน แทนน้ำเสียงคำพูดขับร้องของ Lamont จนผู้ชมเกิดความเคลิบเคลิ้มหลงใหล แล้วเรื่องวุ่นๆจึงได้บังเกิดขึ้น
Gene Kelly ในบท Don Lockwood ถึงประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่เมื่อพบเจอกับ Kathy Selden ทำให้แทบสูญเสียความมั่นใจในตนเอง เก็บไปครุ่นคิดจนหนักหัว หลงเสน่ห์ในความก้าวร้าวดื้อด้านไม่ยอมคน ตามตื้อจนตกหลุมรักหลงใหลคลั่งไคล้ เมื่อสมหวังก็เกิดความพึงพอใจสูงสุด เพ้อฝันแสดงออกมาแบบตรงไปตรงมา
สิ่งโดดเด่นในสไตล์การเต้นของ Kelly คือการผสมผสานบัลเล่ต์เข้าไปในรูปแบบการเต้นปกติ (บ้างเรียกว่า Sport Dancing) เน้นความเว่อๆอลังการเข้าไว้ แตกต่างตรงกันข้ามกับ Fred Astaire ที่มีความเป็น Tradition ค่อนข้างสูง, สำหรับหนังเรื่องนี้ ลีลาการเต้นที่โดดเด่นคือการทดลองกับอะไรหลายๆอย่าง อาทิ เต้นรำท่ามกลางสายฝนเปียกปอนชุ่มฉ่ำ, กระโดดโลดโผนไปมาบนโต๊ะเก้าอี้กับเพลง Moses Supposes (ร้องเล่นคำด้วยนะ), ขึ้นลงบันไดกับ Good Morning ฯ
สำหรับเรื่องการแสดง อย่าไปคาดหวังอะไรมากกับ Kelly นอกจากรอยยิ้มกว้างฟันสวยมีเสน่ห์ ที่ครองใจสาวๆในยุคนั้นได้ไม่น้อย และผมเพิ่งสังเกตเวลาพี่แกเต้น มักจะอ้าปากค้างให้เห็นลิ้นด้วย ดูเหมือนตัวตลกเรียกเสียงหัวเราะเฮฮาสนุกสนานได้มากทีเดียว
Donald David Dixon Ronald O’Connor (1925 – 2003) นักร้อง-เล่น-เต้น สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Chicago, Illinois, พ่อ-แม่เป็นนักแสดงเร่ Vaudeville ทำให้กลายเป็นนักแสดงตั้งแต่เด็ก เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตอนอายุ 11 ขวบ เรื่อง It Can’t Last Forever (1937)
รับบท Cosmo Brown เพื่อนเก่าแก่สนิทสนมที่สุดของ Lockwood จากเคยร้อง-เล่น-เต้น เติบโตมาด้วยกัน แต่เพราะหน้าตาไม่หล่อเหลาดูตลก เลยเป็นได้แค่นักดนตรีอยู่เบื้องหลัง จากที่เคยเป็นแค่เล่นเปียโตสร้างบรรยากาศในการถ่ายทำหนังเงียบ เลื่อนขั้นเป็นนักแต่งเพลง/หัวหน้าแผนกดนตรีในยุคหนังพูด
คงไม่มีใครหลงลืมใบหน้าประหลาดๆที่ O’Connor ปรับแต่งเปลี่ยนไปในบทเพลง Make ’em Laugh ซึ่งถือเป็นไฮไลท์ในอาชีพที่เกิดจากประสบการณ์สั่งสมมาจนถึงจุดสูงสุดในชีวิต แย่งซีนความโดดเด่นได้ถึงคว้ารางวัล Golden Globe: Best Actor in Comedy or Musical
Debbie Reynolds หรือ Mary Frances Reynolds (1962 – 2016) นักร้อง นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ El Paso, Texas, วัยเด็กที่บ้านมีฐานะยากจน แต่พอครอบครัวย้ายมาอยู่ Burbank, California ถูกแมวมองเข้าตาจับเซ็นสัญญากับ Warner Bros. ตามด้วย MGM ขับร้องบทเพลง Aba Dada Honeymoon ประกอบ Two Weeks with Love (1950) ติดอันดับชาร์ท Billboard สูงถึงที่ 3 ได้ Gold Record จึงไปเข้าตา Gene Kelly เลือกให้เธอมารับบทนำใน Singin’in the Rain ทั้งๆที่ไม่เคยมีประสบการเต้นมาก่อน
รับบท Kathy Selden หญิงสาวตัวเล็กหัวขบถปากดี สิ่งที่เธอไขว่คว้าหาคือความสำเร็จที่ได้มาด้วยน้ำมือตนเอง แต่เจ้าตัวยังไม่รับรู้ว่ามีใครคนหนึ่งต้องการช่วยเหลือหนุนหลังผลักดัน เลยทำให้เกิดความผิดใจขัดแย้งต่อกันอยู่เรื่อยไป
มีสองสิ่งในชีวิตของ Reynolds เคยพูดว่าทนทรมาน ยากที่สุดในชีวิต
“Singin’ in the Rain and childbirth were the two hardest things I ever had to do in my life.”
เพราะความที่ Kelly มีความเผด็จการอย่างยิ่งในกองถ่าย Reynolds ต้องฝึกซ้อมเต้นทำงานอย่างหนัก ไม่เคยได้รับคำชื่นชมสรรเสริญ มีแต่ตำหนิติต่อว่า ครั้งหนึ่งแอบหนีไปร้องไห้อยู่ใต้เปียโน Fred Astaire บังเอิญไปเห็นสอบถามให้กำลังใจ แถมยังอาสาช่วยเหลือฝึกซ้อมจนสามารถเต้นออกมาได้ดี
ถึงรอยยิ้มที่ Reynolds แสดงออกมา จนปนเปลื้อนด้วยเลือดและหยาดเหงื่อ แต่ต้องถือว่าเป็นความทุ่มเทที่ไม่เสียเปล่าแม้แต่นอน ความน่ารักน่าชังน่าเอ็นดู ชวนให้ใครๆต่างหลงใหลคลั่งไคล้เชิดชู กลายเป็นจุดเริ่มต้นของดาวดวงใหม่ที่เจิดจรัสจ้าใน Hollywood
Jean Hagen หรือ Jean Shirley Verhagen (1923 – 1977) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดทีี่ Chicago, Illinois ครอบครัวอพยพจาก Dutch เข้าเรียนการแสดงที่ Northwestern University พักห้องเดียวกับ Patricia Neal จบออกมาเป็นนักแสดงละครวิทยุ, Broadway ภาพยนตร์เรื่องแรก The Asphalt Jungle (1950), โด่งดังสูงสุดกับการดัดจริตเสียง Singin’in the Rain เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress
รับบทโดย Lina Lamont เจ้าหญิงแห่งยุคสมัยหนังเงียบ ที่หลังจากประสบความสำเร็จร่ำรวยด้วยชื่อเสียงเงินทอง เลยดัดจริตทำตัวเป็นไฮโซเลิศหรู ทั้งท่าทางและสำเนียงการพูด เป็นที่เอือมละอาของทุกคนในสตูดิโอ จนกระทั่งการมาถึงของยุคหนังพูด ตัวตนแท้จริงของเธอกำลังจะได้รับการเปิดเผยสู่สาธารณะ
แรกสุดบทบาทนี้เขียนขึ้นโดยมี Judy Holliday อยู่ในใจ แต่เพราะเธอคว้า Oscar: Best Actress จากเรื่อง Born Yesterday (1950) ต่างเชื่อว่าเธอคงไม่สนใจรับบทบาทสมทบนี้ ส้มหล่นกลายเป็นของ Jean Hagon ที่เคยเป็น ‘understudy’ ของ Holliday ในละคร Broadway เรื่อง Born Yesterday และผลงานล่าสุดไปเข้าตาโปรดิวเซอร์อย่างยิ่ง
เสียงดัดจริตของ Hagen โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์อย่างยิ่ง ว่ากันว่าเป็นเหตุให้ไม่มีใครอยากจ้างเธอเล่นหนังอีกเลยละ นี่เลวร้ายยิ่งกว่า Typecast เสียอีกนะ เพราะผู้ชมจดจำภาพลักษณะนี้ตราติดตรึงฝังใจไปตลอดกาลเลยละ
ถ่ายภาพโดย Harold Rosson ตากล้องยุคคลาสสิกที่มีผลงานดังอย่าง Treasure Island (1934), The Wizard of Oz (1939), On the Town (1949), Singin’ in the Rain (1952) ฯ
ทั้งหมดของหนังสร้างฉากถ่ายทำในสตูดิโอ MGM ทำให้สามารถควบคุมการจัดแสงสี เครื่องแต่งกายมีความฉูดฉาด คลาสสิกแห่งยุคสมัยนั้น
ตัดต่อโดย Adrienne Fazan ผลงานเด่น อาทิ An American in Paris (1951), Singin’ in the Rain (1952), Kismet (1955) ฯ คว้า Oscar: Best Edited เรื่อง Gigi (1958)
Prologue เริ่มต้นด้วยรอบปฐมทัศน์ภาพยนตร์เรื่อง The Royal Rascal มีการสัมภาษณ์ Don Lockwood ให้เล่าถึงอดีตก่อนจะมาประสบความสำเร็จระดับนี้ ซึ่งจะมีการแทรกภาพ Flashback ประกอบคำบรรยาย อธิบายเล่าพื้นหลังของตัวละคร
เรื่องราวถัดจากนี้จะดำเนินไปข้างหน้าเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงช่วงกลางเรื่อง ขณะทดลองฉาย The Dancing Cavalier ฉบับพากย์เสียงใหม่ มีการจินตนาการภาพในหัวของ Lockwood ซึ่งจะมองว่านั่นคือผลลัพท์จากการถ่ายทำจริงๆก็ได้ แต่ยังมีขณะหนึ่งที่เป็น ฝันซ้อนฝัน หรือหนังซ้อนฝัน ในจินตนาการของเขากับหญิงสาวขายาว เพ้อฝันว่าได้เต้นรำ ไขว่คว้าวิ่งไล่จับกันและกัน
เนื่องจากหนังใช้การเล่าเรื่องโดยอ้างอิงจากบทเพลงเสียเป็นส่วนใหญ่ เรื่องราวที่เกิดขึ้นคือส่วนประกอบอื่นที่นำมาเสริมแต่งเพิ่มเข้าไปให้มีอรรถรส เนื้อหนัง ความต่อเนื่องขึ้น เวลาจึงหาใช่สิ่งสำคัญใดๆของหนัง โดยไม่รู้ตัวแค่เพียงพริบตาผ่านไป 3 สัปดาห์ ทั้งๆที่เหมือนจะเมื่อวาน แต่นี่เป็นสิ่งที่ตัวละครพูดออกมาตรงๆ ผู้ชมสามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยากนัก
เพลงประกอบของหนัง รวบรวมนำเอาโคตรเพลงฮิตของ MGM Musical ในช่วงปี 1929-39 ที่แต่งตำร้องโดย Arthur Freed และทำนองโดย Nacio Herb Brown เรียบเรียง/ขับร้องใหม่แทบทั้งหมด (มี Original อยู่ 2 เพลง) ประกอบด้วย
บทเพลง Make ’em Laugh เป็นหนึ่งในสอง Original ของหนัง ขับร้อง-เล่น-เต้น ฉายเดี่ยวของ Donald O’Connor มีความคล้ายคลึงกับบทเพลง Be a Clown แต่งโดย Cole Porter ประกอบภาพยนตร์เรื่อง The Pirate (1948)
O’Connor ขณะนั้นเป็นคนสูบบุหรี่จัดวันละ 4 ซอง เมื่อต้องเต้นแบบสุดเหวี่ยงบ้าคลั่งของเพลงนี้ ถ่ายทำเสร็จไปนอนโรงพยาบาลอยู่หลาย แต่ทีมงานดันมาบอกข่าวร้าย ฟีล์มที่ถ่ายไปเสียหายต้องเริ่มต้นใหม่หมด เล่นเอาแทบทรุด ยังไม่ทันหายดีต้องรีบกลับไปถ่ายทำต่อ
บทเพลงนี้มีนัยยะสื่อถึงใครก็ตามที่สามารถเรียกเสียงหัวเราะได้ จะพบเห็น การเล่นขยับใบหน้ายาว/สั้น จมูก/ปากของ O’Connor, เจ้าหุ่นไร้หัวขยับจับเคลื่อนไหวทำอะไรก็ได้, เต้นกับอากาศธาตุ ฯ และการกระโดดหมุนตัวลงจากกำแพง ราวกับเป็นความทะเยอทะยานที่จะเรียกเสียงหัวเราะ สำเร็จสองครั้ง เว้นสุดท้ายทะลุไปเลย แต่ก็ยังสามารถปีนป่ายกลับขึ้นมาเรียกเสียงหัวเราะ/ปรบมือ ในความทุ่มเทสุดกำลังได้
เกร็ด: เพลงนี้ติดอันดับ 49 จัดอันดับ AFI’s 100 Years…100 Songs
อีกหนึ่งบทเพลง Original ของหนัง Moses Supposes แต่งทำนองโดย Roger Edens คำร้องโดย Comden and Green ขับร้องโดย Gene Kelly, Donald O’Connor และ Bobby Watson
การเรียนพูดออกเสียงให้ได้ถูกต้องตามสำเนียง จำเป็นต้องมีการฝึกฝนพูดคำที่มีความสอดคล้องกัน แต่เมื่อพูดไปนานๆเริ่มเชี่ยวชำนาญช่ำชอง ก็ไม่ต้องใช้ครูเสี้ยมสั่งสอนแล้ว เลยลุกขึ้นมาเล่น-เต้น กระโดดโลดโผนไปมาบนโต๊ะเรียน ราวกับฉลองจบการศึกษาใหม่, คำร้องลงท้ายของหนังคือ A นี่น่าจะตัดเกรดให้ตัวเองกระมัง
ได้ยินเพลงนี้ทำให้ผมนึกถึง The Rain in Spain ที่ Rex Harrison พยายามเสี้ยมสอน Andrey Hepburn ให้สามารถพูดสำเนียงเสียงภาษาอังกฤษในหนังเรื่อง My Fair Lady (1964)
บทเพลง Good Morning แรกสุดประกอบภาพยนตร์เรื่อง Babes In Arms (1939) ขับร้องโดย Judy Garland กับ Mickey Rooney แต่ฉบับนี้ขับร้องโดยสามคน Debbie Reynolds, Gene Kelly และ Donald O’Connor
ทั้งๆที่เวลาตีหนึ่งแต่ก็เรียก Good Morning เพราะถือว่าได้ขึ้นวันใหม่เรียบร้อยแล้ว โดยไม่รู้ตัว ค่ำคืนแห่งความเคร่งเครียดได้จบสิ้นลง หลังการพูดคุยสนทนาจนหาได้ข้อสรุป เวลาช่างผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็วเสียเหลือเกิน
สังเกตว่าเพลงนี้เมื่อเริ่มต้น ลำดับหน้ากระดานจะเข้าสูตร (Formation) O’Conner-Reynolds-Kelly ไล่เรียงตามลำดับ (คงเพราะ Reynolds ตัวเตี้ยสุด ขณะที่ O’Conner กับ Kelly สูงใกล้ๆกัน) เวลาจบการเต้นท่อนหนึ่ง ตัวละครจะเดินจากฉากไปอีกฉากหนึ่ง (เดินไล่เรียงจากบ้านฝั่งขวาไปซ้าย) เริ่มจากห้องครัว -> (น่าจะ)ห้องอาหาร -> เดินไปห้องโถง มีบันไดขึ้นลงชั้นบนล่าง -> กล้องหันข้างไปที่บาร์ -> จบที่ห้องนั่งเล่นหมดแรงบนโซฟาที่พลิกกลับด้าน
นัยยะของเพลงนี้คงเป็นการบอกว่า เวลามันผ่านไปเร็วนะ แปปเดี๋ยวเดียวก็ขึ้นวันใหม่แล้ว ฉากการเต้นก็มีการเคลื่อนเปลี่ยนห้อง สะท้อนวิถีชีวิตที่วันๆหนึ่งเราต้อง รับประทานอาหาร-ออกเดินทาง (ใส่ชุดกันฝน)-หลับนอน ฯ
เกร็ด: เพลงนี้ติดอันดับ 72 จัดอันดับ AFI’s 100 Years…100 Songs
บทเพลง Singing in the Rain แรกสุดเลย ประกอบภาพยนตร์เรื่อง The Hollywood Revue of 1929 (1929), บันทึกลงแผ่นเสียงครั้งแรกปี 1936, กลายเป็น Stock Music ประกอบภาพยนตร์หลายเรื่อง โด่งดังสุดก่อนถึงหนังเรื่องนี้ขับร้องโดย Judy Garland เรื่อง Little Nellie Kelly (1940)
ว่ากันว่าขณะถ่ายทำฉากนี้ Kelly ป่วยเป็นไข้สูง 103 องศาฟาเรนไฮต์ (39 องศาเซลเซียส) ทั้งๆที่ผู้กำกับ Donen ยืนกรานอยากให้ไปพักผ่อน แต่เขาก็ฝืนแสดงเทคเดียวผ่าน กลับไปนอนซมอยู่หลายวัน
อารมณ์แห่งความอิ่มเอิบ ดีใจสุขล้น ถูกแสดงออก Expression ออกมาในบทเพลงนี้ แม้จะเป็นช่วงเวลาฝนตก ก็มิมีสิ่งไหนหักห้ามความรู้สึกที่แตกออกมานี้ได้ เริ่มจากขับร้องเพลงเดินไปมา จากนั้นก็เริ่มเต้นแทปแดนซ์ กระโดดโลดเต้นเล่นกับทุกสิ่งอย่างที่เป็นสายน้ำ/สายฝน จนกระทั่งมีนายตำรวจเดินมาแสดงความคับข้องใจ นายทำบ้าอะไร… ‘I’m dancing and singing in the rain.’
เกร็ด: เพลงนี้ติดอันดับ 3 จัดอันดับ AFI’s 100 Years…100 Songs
โปรดิวเซอร์ Freed หลังจากพบเห็นความสำเร็จ Dream Sequence เรื่อง An American in Paris จึงขอให้ Kelly เพิ่มฉากลักษณะเดียวกัน กลายเป็น Broadway Melody Ballet ประกอบด้วยบทเพลง
– Broadway Melody ประกอบภาพยนตร์เรื่อง The Broadway Melody (1929)
– Broadway Rhythm จากเรื่อง Broadway Melody of 1936 (1935) ร้อง-เล่น-เต้น โดย Judy Garland กับ Charles Walters
– Broadway Ballet เรียบเรียงโดย Nacio Herb Brown
Cyd Charisse นักเต้นขายาวสวยเซ็กซี่ เล่น-เต้น รับเชิญในฉากนี้แทน Reynolds ที่ประสบการณ์ฝีมือยังไม่ถึง สวมชุดสีเขียวไว้ผมบ็อบสไตล์ Louise Brooks ดูราวกับแวมไพร์ที่สนแต่จะดูดสูบกินเลือดเนื้อเงินทองของผู้มีัฐานะร่ำรวย
เกร็ด: Charisse ตัวสูงกว่า Kelly พอสมควร นี่สร้างปัญหาให้เขาอย่างมาก จึงออกแบบท่าเต้นให้เธอต้องย่อเข่าอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้ดูเหมือนตัวเตี้ยกว่า
ไฮไลท์ของบทเพลงนี้ คือฉากเต้น(บัลเล่ต์)ในฝันหวานของพระเอก, ชุดสีขาวของ Charisse มีหางพริ้วยาวลมพัดไสว สะท้อนถึงระยะห่างระหว่างความจริงกับความฝัน เขากับเธอ มิอาจเอื้อมมือถึงกัน ได้แต่วิ่งไล่ไขว่คว้า โอบกอดรัดแต่สุดท้ายก็มิอาจเป็นของกันและกัน
เกร็ด: ฉากนี้ใช้ทุนสร้างสูงสุดของหนัง $600,000 เหรียญ ซ้อมอยู่เดือน ถ่ายทำสองสัปดาห์
สำหรับบทเพลงอื่นๆของหนัง
– The Wedding of the Painted Doll จากเรื่อง The Broadway Melody (1929)
– You Were Meant for Me จากเรื่อง The Broadway Melody (1929)
– Should I? จากเรื่อง Lord Byron of Broadway (1930)
– Temptation นำมาเฉพาะทำนองจากเรื่อง Going Hollywood (1933)
– Beautiful Girl จากเรื่อง Stage Mother (1933)
– Fit as a Fiddle (And Ready for Love) จากเรื่อง College Coach (1933) (เพลงนี้แต่งโดย Al Hoffman กับ Al Goodhart, ทำนองโดย Freed)
– All I Do Is Dream of You จากเรื่อง Sadie McKee (1934)
– You Are My Lucky Star จากเรื่อง Broadway Melody of 1936 (1935)
– I’ve Got a Feelin’ You’re Foolin จากเรื่อง Broadway Melody of 1936 (1935)
– Would You? จากเรื่อง San Francisco (1936)
เมื่อเวลามีปัญหาคนส่วนใหญ่มักจะก้มหน้าก้มตา เคร่งเครียด หงุดหงิด ท้อแท้สิ้นหวัง ก็เปรียบเสมือนสภาพอากาศช่วงเวลาฝนตก ไม่ค่อยมีใครอยากเปียกปอนชุ่มแฉะ แต่ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองโลกทัศน์ เงยหน้าขึ้นมายิ้มร่า คิดมากทำไม ออกมาร้อง-เล่น-เต้นระบำ ให้สายฝนเปียกปอนชุ่มฉ่ำ นี่มักทำให้หนทางออกแก้ปัญหาพบเจอได้ง่ายโดยไม่รู้ตัว
ใครที่เคยรับชม The Broadway Melody (1929) และหรือภาคต่อที่ก็เนื้อหาเดิมๆอย่าง
– Broadway Melody of 1936 (1935)
– Broadway Melody of 1938 (1937)
– Broadway Melody of 1940 (1940)
น่าจะสามารถคาดเดาเนื้อหาใจความหลักของหนังได้ไม่ยาก เกี่ยวกับใครสักคนหรือกลุ่มหนึ่ง วาดฝันอยากเป็นดาวดารา ประสบความสำเร็จค้างฟ้า เริ่มต้นจากไม่มีใครรู้จักยอมรับ ไต่เต้าจนสามารถไขว่คว้าสำเร็จได้, สำหรับ Singin’in the Rain เรื่องราวของทั้ง 3-4 ตัวละครหลักก็มีลักษณะคล้ายๆกันนี้ มีทั้งคนที่ประสบความสำเร็จแล้ว (Don Lockwood) และกำลังเพ้อฝันไขว่คว้า (Kathy Selden) เรื่องราวถือเป็น American Dream สถานที่ซึ่งผู้มีความสามารถ สักวันถ้าไม่ย่อท้อย่อมได้รับประสบความสำเร็จ
สิ่งที่โดยส่วนตัวคิดว่าทำให้ Singin’ in the Rain เป็นอมตะ เพราะเป็นภาพยนตร์ที่สร้างนิยามให้อารมณ์หนึ่งของมนุษย์ บุคคลผู้สามารถยิ้มออกแม้ในช่วงเวลาปัญหา หรือหลังจากแก้ไขอะไรบางอย่างจนสำเร็จพึงพอใจแล้ว เกิดความอยากจะฮัม ผิวปาก ร้อง-เล่น-เต้น บทเพลงนี้ขึ้นมาผ่อนคลายอารมณ์
เห็นได้จากบรรดาภาพยนตร์เลื่องชื่อที่นำส่วนหนึ่ง/บทเพลง/แรงบันดาลใจ
– A Clockwork Orange (1971) กำกับโดย Stanley Kubrick บทเพลง Singin’ in the Rain ขับร้องโดย Alex DeLarge (รับบทโดย Malcolm McDowell) ใช้เป็นสัญลักษณ์ของการผ่อนคลายอารมณ์ความตึงเครียด ขณะตัวละครกำลังอาบน้ำอยู่ (เปียกปอนเหมือนกัน)
– อีกเรื่องหนึ่งคือ Crimes and Misdemeanors (1989) กำกับโดย Woody Allen ครั้งหนึ่ง Cliff (รับบทโดย Woody Allen) พา Halley (รับบทโดย Mia Farrow) รับชม Singin’ in the Rain ในอพาร์ทเม้นต์ แล้วพูดว่า
“I watch the film every few months to keep my spirits up”.
เจ้าอารมณ์ Singin’ in the Rain นี่แหละครับ ที่ถ้าคุณสามารถซึมซับรับมันเข้าไปในจิตวิญญาณ เผลอฮัมขับร้องออกมาโดยไม่รู้ตัวเมื่อไหร่ ก็จะพบเห็นความสวยงามล้ำค่าเหนือกาลเวลาของภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่ครองใจผู้คนมากนักต่อนัก ไม่มีหนังเพลงเรื่องอื่นใดสามารถสร้างอิทธิพลต่อผู้ชมได้ถึงขนาดนี้ และเชื่อว่าคงไม่ถูกโค่นลงได้แน่ๆ
ด้วยทุนสร้าง $2.5 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกาตอนออกฉายครั้งแรก $3.26 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $5.63 ล้านเหรียญ กำไรนิดหน่อย, เข้าชิง Oscar 2 สาขา ไม่ได้สักรางวัล
– Best Supporting Actress (Jean Hagen)
– Best Music, Scoring of a Musical Picture
ขณะที่ Golden Globes Award ได้เข้าชิง 2 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Best Motion Picture – Comedy or Musical
– Best Actor – Comedy or Musical (Donald O’Connor) ** คว้ารางวัล
สิ่งที่ยังทำให้ Singin’in the Rain ยังคงเป็นหนังเรื่องโปรดตลอดกาลของผม เพราะบ่อยครั้งมากๆเวลาฝนตก มีสามบทเพลงที่ยังคงฮัมขึ้นเป็นประจำ ฝนตกที่หน้าต่าง (เสก โลโซ), น้ำหอม (โปเตโต้) และ Singin’in the Rain ก็อยู่ที่ว่าขณะนั้นจะมีห้วงอารมณ์ไหน ถ้ารู้สึกโหยหาคิดถึงก็บทเพลงแรก อยู่ป้ายรถเมล์เห็นสาวน่ารักๆก็เพลงสอง และอารมณ์ดีจัดๆก็เพลงหลัง นึกรอยยิ้มเสน่ห์ของ Gene Kelly ตามไป ชวนให้หลงใหลได้ทุกที
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” รับชมหนังเรื่องนี้ถ้าทำให้คุณเกิดอารมณ์ที่จะร้อง-เล่น-เต้น เพลิดเพลินสุขใจได้แม้ขณะเวลาฝนตก ก็แสดงว่าชีวิตย่อมสามารถยิ้มสู้มีกำลังใจแม้วันสิ้นหวัง
แนะนำกับคอหนัง Musical หลงใหลบทเพลง-ท่าเต้น Tab Dance ยุคคลาสสิก, แฟนๆนักแสดง Gene Kelly, Donald O’Connor, Debbie Reynolds ไม่ควรพลาด
จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศทุกวัย
TAGLINE | “Singin’ in the Rain คือรีมิกซ์หนังเพลง ยอดเยี่ยมที่สุดแห่งยุคทองคลาสสิก”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | FAVORITE
Singin’ in the Rain (1952)
(25/1/2016) หนังเพลงของ hollywood ที่สวยงามที่สุดในโลก ใครที่คอหนัง Musical ถ้ายังไม่เคยดูหนังเรื่องนี้ถือว่าพลาดแล้ว อำนวยการสร้างโดย Arthur Freed หนึ่งในโปรดิวเซอร์ชื่อดังที่สุดแห่งยุค นำแสดงและร่วมกำกับโดย Gene Kelly และกำกับโดยหนึ่งในผู้กำกับมือทองแห่งยุค Stanley Donen ไม่มีเพลงไหนในหนังเรื่องนี้ที่เราจะไม่ฮัมตาม ไม่โยกหัวตาม พลังของหนังเรื่องนี้คือประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของโลก
AFI จัดอันดับหนังเรื่องนี้ครั้งล่าสุดอยู่อันดับ 5 นิตยสาร Sight & Sound ครั้งล่าสุดจัดหิ้งไว้ที่อันดับ 20 (เคยติดอันดับก่อนหน้าครั้งล่าสุด ใน Top 10 ถึง 2 ครั้ง) คงการันตีความสุดยอดได้เป็นอย่างดี แต่กระนั้นหนังพลาด Oscar ไปให้กับ The Greatest Show on Earth ของ Cecil B. DeMille ที่อลังการมากๆ สาขา Director เสียให้กับ John Ford กำกับ The Quiet Man ส่วนนำชายเสียให้กับ Gary Cooper แสดงเรื่อง High Noon
ก่อนหน้าที่ Stanley Donen จะมากำกับ Singin’ in the Rain เขากำกับ An American in Paris มาร่วมกับ Gene Kelly ซึ่งเรื่องนั้นก็ถือเป็นอีกเรื่องที่ขึ้นหิ้งมากๆเรื่องหนึ่ง และด้วยความกำลังเข้าสู่จุดสูงสุดของหนังเพลง Singin’ in the Rain คือผลงานการสร้างที่เป็นที่สุดของหนังเพลงในศตวรรษ ในตอนแรก Donen มีความคิดที่จะทำหนังที่สร้างมาจากเพลง โดยเขาตั้งใจเลือกเพลงในยุคทศวรรษที่ 20-30 ซึ่งคิดไปคิดมา ช่วงนั้นเป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากหนังเงียบกลายเป็นหนังมีเสียง พอได้ไอเดียนี้ เขาก็ไปไล่สัมภาษณ์ทุกคนในสตูดิโอ ที่เกิดทันยุคนั้นว่าเกิดเป็นส่วนผสมมากมายในหนังเรื่องนี้
Donen จ้าง Betty Comden และ Adolph Green มาช่วยเกลาบทให้ หนังใช้หนังจริงๆ เพลงจริงๆที่มีอยู่ในยุคนั้น คนที่เกิดทันก็น่าจะจำหลายๆฉากได้ บทของหนังเรื่องนี้แทบจะไม่มีอะไรมากเลย แต่ใช้เพลงเป็นส่วนผสมในการเล่าเรื่องตามสไตล์ทั่วๆไปของหนังเพลงยุคนั้น แต่ความลงตัวของมัน และการนำเสนอเรื่องราว ณ จุดเปลี่ยนผ่านของหนัง มันกลายเป็นเรื่องราวที่เข้าถึงคนทุกยุคทุกสมัย บทหนังของทั้งคู่ได้รางวัลจาก Writers Guild of America ในสาขา Best Written American Musical ซึ่งแม้จะไม่ได้เข้าชิง Oscar ด้วยซ้ำ แต่ก็ถือเป็นหนังเพลงที่มีเนื้อเรื่องที่สนุก ผ่อนคลาย ดูจบแล้วประทับใจ (อาจจะมีน้ำตาคลอนิดๆด้วย)
Gene Kelly หลังจากได้ร่วมงานกับ Donen มาก็เชื่อมือค่อนข้างมาก เขาเข้ามาร่วมงานตั้งแต่ขั้นตอน production และออกแบบท่าเต้น เป็น Chronographer ด้วย เรื่องการแสดงผมยอมรับว่าเขาเป็นนักเต้นที่สุดยอดมาก แต่อาจจะไม่ใช่นักแสดงที่ดีเท่าไหร่ ทั้งชีวิตเคยเช้าชิง Oscar แค่ครั้งเดียวเท่านั้น แต่เขาก็ได้รับเกียรติ Academy Honorary Award ในปี 1952 ผมชอบลีลาการเต้นของเขานะ ว่าเป็นนักแสดงเต้นๆในยุคนั้นคนแรกๆที่ผมรู้จักเลย
อีกสองคนที่ต้องพูดถึงด้วยคือ Donald O’Connor และ Debbie Reynolds ถ้าไม่ได้สอคนนี้ ผมก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าหนังจะออกมาสวยงามขนาดนี้ได้ยังไง Donald เป็นพระรองที่คอยช่วยพระเอกอยู่เสมอ ลีลาการเต้นของเขา สีหน้าท่าทางก็ตลกได้ใจ แย่งซีนอยู่เรื่อยๆ ส่วน Debbie ก็สวยสง่า เป็นนางเอกที่ฉลาด มีความมั่นใจสูง มีความคิดเป็นของตัวเอง เสียงของเธอก็ไพเราะเป็นที่จดจำมากๆ และยังมีอีกคนหนึ่ง Jean Hagen ผมชอบการดัดจริตเสียงของเธอนะ การแสดงก็โคตรดัดจริตด้วย เธอเป็นคนเดียวในหนังเรื่องนี้ที่ได้เข้าชิง Best Support Actress ของ Oscar แต่ก็ไม่ได้
ถ่ายภาพโดย Harold Rosson นี่อาจไม่ใช่หนังที่มีการทดลองอะไรใหม่ แทบทุกฉากถ่ายทำในสตูดิโอ มีเครน มีการเคลื่อนไหวกล้องตามตัวละคร เคลื่อนเข้าเคลื่อนออก เล่นกับแสงและการจัดฉาก มีฉากหนึ่งที่ผมชอบมากๆ เป็นฉากที่มีพื้นหลังวาดยาวลึกเข้าไป มุมกล้องมันทำให้เรารู้สึกเหมือนมันไกลสุดหูสุดตา เป็นการเล่นกับเส้นในภาพที่เจ๋งมากๆ ฉาก Broadway Melody ตอนผมดูครั้งแรกก็ไม่เข้าใจว่าจะใส่เข้ามาทำไม มันเป็นอะไรที่แปลกมาก จะว่าความฝันเหรอ ไม่น่าใช่ มันคือฉากหนึ่งของหนังในหนัง คงเพราะมีการเคลื่อนกล้องและทิศทางของฉากที่แปลกประหลาดมาก ทำให้คนดูจับทิศทางไม่ถูกเลย แต่ความหมายมันก็ชัดเจน
ตัดต่อโดย Adrienne Fazan ต้องยอมรับว่าจังหวะในหนังเพลงแทบทุกเรื่องมี 2 จุดที่ยอดเยี่ยมมาก คือการกำกับการเต้นและการตัดต่อ ด้วยจังหวะเพลงที่ต่อเนื่อง ทำให้การตัดต่อต้องไม่พลาดเลย แม้ฉากเพลงส่วนใหญ่ในหนังเรื่องนี้จะใช้ long-take แต่ก็มีบางจังหวะที่ใช้การตัดต่อช่วย ซึ่งยอดเยี่ยมทีเดียว
เพลง โอ้! หนังเรื่องนี้มีเพลงประกอบที่เพราะมากๆ ทุกเพลงเราสามารถฮัมตาม ขยับหัว ขยับขาเข้าจังหวะ บางขณะก็หวานมากๆ แต่คงไม่มีฉากไหนที่จะสู้ฉากอารมณ์ที่สุดของหนัง และที่สุดการแสดงของ Gene Kelly กับเพลง Sining’ in the Rain ผมเชื่อว่าจะมีบางคนที่พอเห็นฉากนี้แล้วไม่รู้สึกอะไรเท่าไหร่ แต่อยากให้สังเกตสักหน่อย ทุกเพลงในหนังเรื่องนี้จะมีการบิ้วอารมณ์ของเพลงขึ้นเรื่อยๆ จากบทพูด พูดไปพูดมากลายเป็นทำนองร้องเพลง พอมีเพลงก็จะเริ่มเต้น พอเริ่มเต้นจังหวะมันก็จะเร็วขึ้นเรื่อยๆ บางทีมีแต่เครื่องดนตรีล้วนๆ ถ้าเป็นคำร้องก็จะร้องเล่นเต้นเร็วขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดสูงสุดของเพลงในฉากนั้น และตบท้ายด้วย Freeze ภาพ หรือซูมออกตามอารมณ์ของแต่ละฉาก ทุกเพลงในหนังมี pattern แบบนี้ แต่เพลงที่สามารถทำอารมณ์ได้มากที่สุดคือ Sining’ in the Rain
ในความจริงแล้ว ทุกเพลงในหนังเรื่องนี้ไม่ใช่เพลงที่แต่งขึ้นใหม่เลย เป็นเพลงดังในยุคทศวรรษที่ 20-30 ตามแนวคิดของผู้กำกับที่ต้องการนำเพลงในยุคนั้นมา Mixed รวมเป็นเหมือนอัลบัมเดียวกัน เพลง Singin’ in the Rain นั้นมาจากหนังเรื่อง The Hollywood Revue of 1929 ฉายปี 1929 ผมไม่เคยดูนะครับ ว่าจะลองหามาดู
ว่าไปนี่ก็เป็นหนังเพลงของ hollywood ที่ผมชอบที่สุด ครั้งหนึ่งเคยเป็นของ An American in Paris แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป นี่เป็นหนังที่ผมเปิดคลิปใน Youtube บ่อยที่สุดแล้ว และบางขณะเมื่อมีอารมณ์อิ่มเอิบมากๆ จะนึกถึงเพลง Singin’ in the Rain แทบจะทุกที แสดงถึงอิทธิพลของหนังเรื่องนี้ต่อชีวิตได้เป็นอย่างดี และผมเคยเอ่ยไว้แล้ว ผมดู A Clockwork Orange หลังจากได้ดู Singin’ in the Rain ได้เห็นถึงอิทธิพลของหนังเรื่องนี้ต่อหนังเรื่องอื่นๆมากมาย แฟนยุคแรกๆของหนังเรื่องนี้อาทิ Charlie Chaplin, François Truffaut ขนาดว่า Billy Wilder บอกว่า นี่เป็นหนึ่งในห้าหนังที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่มีการสร้างมา “one of the five greatest pictures ever made.”
เป็นผมคงไม่รอช้า ผมรีบหาหนังเรื่องนี้ดูแทบจะทันทีเมื่อถึงช่วงที่ผมเริ่มติดใจหนังเพลง จำได้ว่าตอนนั้นหลังจากดู Singin’ in the Rain จบผมก็หาหนังเพลงดูอีกเป็นสิบๆเรื่องเลย แต่ก็ไม่มีหนังเรื่องไหนที่ทำให้ผมรู้สึกประทับใจได้มากเท่า Singin’ in the Rain แล้ว (จะมีอีกทีก็ A Star is Born) ด้วยเนื้อเรื่องที่เป็นประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์จริงๆ นี่เป็นส่วนผสมที่ยอดเยี่ยมมากๆ เหมือนอัลบัม Hit ของ Hollywood ยุคนั้น เชื่อว่าถ้าใครเกิดทันยุคนั้นและยังมีชีวิตอยู่ได้ดูหนังเรื่องนี้ อารมณ์ ความรู้สึกมันคงสุดยอดมากๆ
น่าเสียดายที่ปัจจุบัน hollywood ยุคหนังเพลงได้จบสิ้นลงไปแล้ว แต่ Golden Globe ยังคงให้เกียรติตั้งชื่อรางวัลสาขา Best Comedy and Musical film ไม่เปลี่ยนแปลง คงเพราะ hollywood ได้ถ่ายโอนสายเลือดหนังแนวนี้ไปสู่ bollywood อย่างหมดตัวแล้ว ซึ่งไม่มีท่าทีที่ bollywood ยุคหนังเพลงจะเปลี่ยนไป มันกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่มีชาติไหนทำได้อีกแล้ว ในยุคที่หนังเพลงของ hollywood ถึงจุดสูงสุด (ผมมองว่าเป็นช่วยทศวรรษ 50) นั่นคือจุดเริ่มต้นของหนังเพลง bollywood และเมื่อหนังเพลงของ hollywood ถึงจุดดับ หนังเพลงของ bollywood ก็ไต่ไปใกล้ถึงจุดสูงสุด
นี่เป็นหนังที่ “ห้ามตายถ้ายังไม่ได้ดู” เราสามารถหาซื้อ DVD/Blu-ray ได้ตามร้านขายแผ่นหนังในเมืองไทยนะครับ นี่เป็นหนัง classic สุดฮิตที่แทบทุกร้านจะมีไว้ คงเพราะสตูดิโอที่สร้างคือ MGM ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นของ Sony แผ่นหนังเลยยังหาได้ง่ายอยู่ นี่เป็นหนังครอบครัว หนังที่ใช้เวลาไหนก็ได้ดู จะเป็นของขวัญปีใหม่ หรือส่งให้คนรักก็ย่อมได้ แนะนำว่าถ้าชอบหนังก็ลองหา soundtrack ฟังดูนะครับ และไล่ดูหนังที่เพลงถูกนำมาใช้จะยิ่งได้ความชื่นชอบมากขึ้น (ผมไม่เคยไปไล่ดูนะ แต่ว่าจะลองหามาดูอยู่) ดูจบแล้วคุณจะหลงรักหนังเรื่องนี้อย่างแน่นอน
คำโปรย : “Singin’ in the Rain นี่คือหนังที่ห้ามตายก่อนดู นำแสดงโดย Gene Kelly กำกับโดย Stanley Donen หนังเพลงที่สวยที่สุด ไพเราะที่สุด สนุกที่สุด และเป็นจุดสูงสุดของหนังเพลง hollywood”
คุณภาพ : LEGENDARY
ความชอบ : FAVORI
Leave a Reply