Smiles of a Summer Night (1955) : Ingmar Bergman ♥♥♥♥
ถึงจะเป็นคนที่เต็มเปี่ยมด้วยศรัทธา เคร่งครัดศาสนา แต่ปรมาจารย์ผู้กำกับ Ingmar Bergman กลับเป็นเด็กเก็บกด มีความวุ่นวายกับผู้หญิงค่อนข้างมาก แต่งงานถึง 5 ครั้ง นี่ไม่รวมการเกี้ยวพาราสี เป็นชู้กับนักแสดงขาประจำทั้งหลายของเขาอีก, หนังเรื่องนี้มองได้คือกึ่งอัตชีวประวัติของผู้กำกับ แนวตลกชู้ (Adultery Comedy) และเป็นครั้งแรกที่ชื่อของ Bergman ได้กลายเป็นที่รู้จักทั่วโลก
ผมชื่นชอบหนังเรื่องนี้ทั้งๆที่จิตสำนึกบอกว่าไม่ควรแม้แต่น้อย เพราะรอยยิ้มในค่ำคืนฤดูร้อน เป็นหนัง Erotic เชิงสังวาส มีเรื่องราวของ โคแก่กินหญ้าอ่อน, ลูกชายลักลอบมีชู้กับแม่, สามีนอกใจภรรยา ฯ แม้หนังจะไม่มีฉากเลิฟซีนโจ๋งครึ่ง แค่คำพูดคำจา สายตาการแสดงออก ล้วนเป็นเรื่องใต้สะดือในกระโปรงกางเกง ว่าไปก็คล้ายๆหนังเรื่อง Lolita (1962) ของ Stanley Kubrick ซึ่งถ้าเป็นหนังเกรด B ห่วยๆก็ว่าไปอย่าง แต่นี่หนังของปรมาจารย์ผู้กำกับชั้นนำของโลก ซึ่งได้สร้างให้มีความสมบูรณ์แบบระดับ Masterpiece ผมเลยชั่งใจไม่ได้ จะรู้สึกอย่างไรต่อหนังเรื่องนี้ดี
ถ้า Ingmar Bergman เป็นคนไทย ทำหนังสอนพุทธศาสนา แต่ตัวเองกลับมีเมียหลายคน นอกใจภรรยา มีชู้เยอะ แต่งงานกับเด็กหญิงอายุ 16 ปี ผมเชื่อว่าสังคมเราคงไม่มีใครยอมรับชายคนนี้เป็นแน่แท้ แต่เพราะในยุโรปและอเมริกา ส่วนตัวคือเรื่องส่วนตัว ผลงานเป็นคนละเรื่องกัน ต่อให้ชีวิตจริงนิสัยเxยมากขนาดไหน ก็มิใช่สิ่งตัดสินความยิ่งใหญ่ของคน, ผมไม่ขอวิพากย์ว่านี่เป็นแนวคิดที่ถูกหรือผิดนะครับ เพราะโลกมันก็เป็นแบบนี้ กับบางคนในบริบทหนึ่งของสังคมยอมรับไม่ได้ แต่อีกสังคมหนึ่งที่เห็นต่างตรงกันข้ามกลับยกย่องเชิดชู ซึ่งในแง่มุมของงานศิลปะเราควรพิจารณาที่ตัวผลงานโดยไม่สนใจพื้นหลังของผู้สร้าง แต่การรับรู้ชีวิตชีวประวัติเรื่องราวความเป็นมา จะทำให้เราเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างโดยแจ่มแจ้ง
Ernst Ingmar Bergman (1918 – 2007) ปรมาจารย์ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติ Swedish เกิดที่ Uppsala ทางตะวันตกของประเทศ พ่อ Erik Bergman เป็นพระผู้สอนศาสนาในนิกาย Lutheran ของชาวเดนมาร์ก (ต่อมาได้กลายเป็น Chaplain/อนุศาสนาจารย์ของกษัตริย์สวีเดน) ส่วนแม่มาจากครอบครัวฐานะร่ำรวย, ชีวิตวัยเด็กไร้ความสุขสบาย ได้รับการเลี้ยงดูอย่างเคร่งครัด เคยถูกพ่อขังในตู้เสื้อผ้าที่มืดมิดหลายครั้ง ด้วยเหตุนี้ผลงานภาพยนตร์ของ Bergman จึงมักตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็น ศาสนา-ความเชื่อ-ศรัทธา บทบาทของพ่อ และความเจ็บปวดทุกข์ทรมานของลูกชาย ซึ่งเพื่อนที่ดีที่สุดขณะนั้นก็คือแม่ของเขาเอง
เพราะความที่ครอบครัวเลี้ยงดูอย่างเข้มงวดกวดขัน หนทางผ่อนคลายความเครียดเดียวของ Bergman คือการรับชมภาพยนตร์ เคยให้สัมภาษณ์พูดถึงนิยามในความคิดของเขาเปรียบเสมือน ‘ความฝัน’
“Film as dream, film as music. No art passes our conscience in the way film does, and goes directly to our feelings, deep down into the dark rooms of our souls.”
ด้วยเหตุนี้จึงมีความชื่นชอบคลั่งไคล้ในผลงานของผู้กำกับ Andrei Tarkovsky เป็นอย่างมาก ผู้ขึ้นชื่อเรื่องทำหนังเกี่ยวกับความฝัน เช่นกันกับ Federico Fellini, Victor Sjöström, Akira Kurosawa ฯ
“When film is not a document, it is dream. That is why Tarkovsky is the greatest of them all. He moves with such naturalness in the room of dreams. He doesn’t explain. What should he explain anyhow? He is a spectator, capable of staging his visions in the most unwieldy but, in a way, the most willing of media. All my life I have hammered on the doors of the rooms in which he moves so naturally. Only a few times have I managed to creep inside.”
“Tarkovsky is for me the greatest, the one who invented a new language, true to the nature of film, as it captures life as a reflection, life as a dream.”
เกร็ด: สองผู้กำกับดังที่ Bergman ไม่เคยชื่นชอบผลงานของพวกเขาเลยคือ Orson Welles เรียกว่า hoax (หลอกลวง, ว่างเปล่า) และ Jean-Luc Godard ที่สนแต่ทำหนังให้นักวิจารณ์ชม
ปมความเก็บกดในวัยเด็ก มีแม่เป็นที่พึ่งหนึ่งเดียว ทำให้ Bergman เมื่อโตขึ้นกลายเป็นผู้โหยในหาความรัก แต่งงานครั้งแรกเมื่อปี 1943 กับ Else Fisher นักเต้นสาวที่พบเจอขณะทำงานโรงละครเวที หย่าขาดใน 2 ปีถัดมา, ชีวิตคู่ส่วนใหญ่ไม่ยั่งยืน แต่งงานทั้งหมด 5 ครั้ง ระหว่างนั้นยังคบชู้กับนักแสดงขาประจำ อาทิ Harriet Andersson, Bibi Andersson, Liv Ullmann ฯ มีบุตรทั้งหมด 9 คน แน่นอนว่ามีลูกของเขาคนหนึ่งพูดกับพ่อว่า
Bergman “I know I’ve been a lousy father”
“A father? You haven’t been a father at all!”
เริ่มเข้าสู่วงการภาพยนตร์ จากการเป็นนักเขียนบทและผู้ช่วยผู้กำกับเรื่อง Hets (1944) กำกับโดย Alf Sjöberg ผลงานเดี่ยวเรื่องแรก Crisis (1946) จากนั้นได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง ประสบความสำเร็จบ้างล้มเหลวบ้าง ลองผิดลองถูกมาก็เยอะ จนกระทั่ง Sommarnattens leende ผลงานเรื่องแรกที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ ออกฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes (โดยที่ Bergman ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าหนังของตนถูกส่งไป) สามารถคว้ารางวัล Best Poetic Humor
สวีเดน เป็นหนึ่งในประเทศแถมสแกนดิเนเวียที่ถูกขนานนามว่า ‘ดินแดนพระอาทิตย์เที่ยงคืน’ (Midnight Sun) เมื่อโลกเอียงเอาขั้วโลกเหนือหันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์ช่วงฤดูร้อน (ระหว่างเดือนเมษายนถึงสิงหาคม) บริเวณนี้จะได้รับแสงสว่างตลอดเวลา 24 ชั่วโมง พระอาทิตย์จะโคจรเป็นทางโค้งอยู่เหนือขอบฟ้า พอขึ้นสูงพ้นยอดไม้ก็จะค่อยลดต่ำลงแต่จะไม่ลับขอบฟ้า และกลับสูงขึ้นเหนือศีรษะตอนเวลาเที่ยงคืน
สถานที่แห่งนี้คงเป็นดินแดนในฝันของใครหลายๆคน ที่อยากไปสัมผัสพบเจอสักครั้งหนึ่งในชีวิต แต่อยากให้ลองครุ่นคิดพิจารณาดูสักนิด กับผู้คนที่อาศัยอยู่ประเทศแถบนี้ มันไม่ง่ายเลยนะครับที่จะใช้ชีวิตปรับตัว ไม่ใช่แค่ท้องฟ้าสว่างตลอด 24 ชั่วโมง แต่ในฤดูหนาวก็จะมืดมิด 24 ชั่วโมงเช่นกัน กับคนท้องถิ่นคงเคยชินกับการเห็นแสงตะวัน/ความมืดมิดตลอดเวลา แต่ชาวต่างชาติที่ไม่คุ้นเคย ร่างกาย การปรับตัวย่อม สภาพจิตใจ ไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน
ผู้กำกับ Bergman ชอบที่จะสร้างหนังในช่วงฤดูร้อน เพราะแสงแดดที่มีตลอดทั้งวันทั้งคืน ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน พยายามหลีกเลี่ยงช่วงฤดูหนาวที่มืดมิด มักใช้เวลาช่วงนั้นในการค้นหาความสนใจ พัฒนาบทภาพยนตร์ เตรียมงานสร้าง และติดต่อนักแสดง ฯ
เรื่องราวของหนังอยู่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ประเทศสวีเดน ช่วงฤดูร้อน Fredrik Egerman (รับบทโดย Gunnar Björnstrand) ทนายความวัยกลางคน มีลูกชายชื่อ Henrik (รับบทโดย Björn Bjelfvenstam) หลังจากแม่เสียพ่อได้แต่งงานกับเด็กหญิงสาว Anne (รับบทโดย Ulla Jacobsson) เธอมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับลูกชายของเขา, ก่อนหน้านั้น Fredrik เคยมีความสัมพันธ์ชู้สาวกับ Desiree Armfeldt (รับบทโดย Eva Dahlbeck) นักแสดงสาวสุดสวยวัยกลางคน ที่ขณะนั้นกำลังมีการแสดงละครเวที เป็นที่กล่าวขานทั่วเมือง
Desiree Armfeldt ขณะนั้นเป็นชู้ของนายพลทหาร Count Carl-Magnus Malcolm (รับบทโดย Jarl Kulle) ที่แต่งงานแล้วกับ Countess Charlotte Malcolm (รับบทโดย Margit Carlqvist) ได้บังเอิญพบเจอกับ Fredrik Egerman ในบ้านของ Desiree Armfeldt เรื่องราววุ่นๆ เพื่อตอบสนองตัณหาของพวกเขาทั้ง 4-5 คน แถมด้วยคนใช้ Petra (รับบทโดย Harriet Andersson) ที่คอยออกมายั่วแย่งซีนอยู่เรื่อยๆ
อ่านพล็อตคร่าวๆ หลายคนคงเกิดอาการมึนงงสับสน อธิบายง่ายๆ นี่เป็นหนังรวมดาราที่มีเรื่องราวจับพลัดจับพลู Screwball Comedy แต่ผมขอเรียกว่า ตลกชู้ (Adultery Comedy) ของกลุ่มคน 4-5 คน ที่กำลังหาทางออกเพื่อสนองกามารมณ์ของตนเอง
ชื่อหนังได้แรงบันดาลใจจากบทละครเรื่อง A Midsummer Night’s Dream ของ William Shakespeare ไม่แน่ใจว่านำโครงสร้างพล็อตเรื่องมาด้วยหรือเปล่า (ผมไม่เคยอ่านเรื่องนี้เลยบอกไม่ได้) เคยให้สัมภาษณ์ถึงความท้าทายในการสร้างหนังเรื่องนี้ คือ ‘เป็นความท้าทางทางด้านเทคนิคในการเขียนสมการคณิตศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่าง สามี-ภรรยา ผู้ชาย-ผู้หญิง … รวมแล้วสี่คู่ คิดคำนวณเปลี่ยนข้างไปมา ทำยังให้ให้แก้ปัญหาได้’
“thought of it as a technical challenge to write a comedy with a mathematical relationship: man-woman, man-woman . . . four pairs. Scramble them and then solve the equation.”
ขณะสร้างหนังเรื่องนี้ Ingmar Bergman แต่งงานอยู่กินกับภรรยาคนที่ 3 ชื่อ Gun Grut มีความสัมพันธ์โรแมนติกชู้สาวกับ Harriet Andersson ซึ่งกำลังเกิดความกระท่อนกระแท่น สร้างความกระทบกระเทือนชอกช้ำใจให้เขาอย่างมาก ใช้เวลาตลอดช่วงฤดูหนาวครุ่นคิดพัฒนาบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ยื่นขอทุนสร้าง ซึ่งถ้าไม่ผ่านขณะนั้น Bergman บอกว่าเขาอาจจะฆ่าตัวตาย, Harriet Andersson รับบทในหนังเรื่องนี้ โดยไม่มีความคับข้องเคืองใจใดๆ (เธอยังเล่นหนังของ Bergman อีกหลายเรื่องเลยนะ) ซึ่ง Bergman ก็เหมือนประชดให้อิจฉา ด้วยการหยอดขนมจีนชิ้นใหม่ให้กับ Bibi Andersson (เธอรับบทเล็กๆในหนังเรื่องนี้ เป็นหนึ่งในนักแสดงตัวประกอบละครเวที)
เกร็ด: ถึง Bibi และ Harriet จะนามสกุลเดียวกัน แต่ไม่ได้เป็นญาติหรือพี่น้องอะไรกันนะครับ นามสกุลนี้ในสวีเดนถือว่ามีเกลื่อนไป
Gunnar Björnstrand (1909 – 1986) นักแสดงสัญชาติ Swedish ขาประจำที่สุดของ Bergman (ร่วมงานกัน 23 ครั้ง) เกิดที่ Stockholm ในครอบครัวนักแสดง โตขึ้นเข้าเรียนกลายเป็นนักแสดงที่ Royal Dramatic Theatre ได้รู้จักร่วมงานกับ Bergman ก็ตั้งแต่ตอนนั้น ชักชวนกันมาสู่วงการภาพยนตร์ เซ็นสัญญาในสังกัด Svensk Filmindustri สำหรับผลงานเอกของทั้งคู่ อาทิ Smiles of a Summer Night (1955), The Seventh Seal (1957), Wild Strawberries (1957), Through a Glass Darkly (1961), Winter Light (1963), Fanny and Alexander (1982) ฯ
รับบท Fredrik Egerman ทนายความที่มีภาพลักษณ์เปะเนี๊ยบ ทรงผมกับหนวดเคราราวกับนักมายากล (ตัวละครนี้ถือเป็นตัวแทน พ่อ ของผู้กำกับ Bergman แน่ๆ) ด้วยนิสัยเจ้าชู้ประตูดิน ไม่รู้พลาดท่าไหนตกหลุมรักกับเด็กหญิงสาว Anne แต่งงานกลายเป็นสามีภรรยา แต่เพราะรักมากเลยยินยอมทะนุถนอม ให้เวลาแก่เธอ แต่ก็ผ่านมาพักใหญ่แล้วยังมิอาจเด็ดดอมดม
ตัวละครมาดเข้มๆแบบนี้ เวลาถูกทำให้ฝืนธรรมชาติของตนเองมักจะเรียกเสียงหัวเราะได้มาก ผมขำหนักตอนใส่ชุดนอนแล้วสวมหมวก พบเจอกับ Count Malcolm ที่ของเขาแรงกว่า แถมถูกบังคับให้กลับบ้านสภาพนั้น (นี่ทำให้ผมเพิ่งตระหนักได้ว่า หนังตลกนี่หว่า!) สายตาที่โหยหาความรัก จริงๆแล้วอยู่ใกล้ตัวแต่แสร้างทำเป็นไม่สังเกตเห็น ตอนที่ลูกชายพาภรรยาของตนขึ้นรถม้าหนีไป หัวใจของเขาแตกสลาย
Jarl Lage Kulle (1927 – 1997) นักแสดงสัญชาติ Swedish เกิดที่ Truedstorp ไม่ใช่ขาประจำเท่าไหร่ของ Bergman แต่ภาพลักษณ์ ท่าทาง การแสดงแย่งซีนได้ทุกครั้งไป โดยเฉพาะกับเรื่อง Fanny and Alexander (1982)
รับบท Count Carl-Magnus Malcolm เป็นนายพลทหาร ฐานะร่ำรวย ถึงจะชอบวางมาดคุยโวโอ้อวดข่มคนอื่น แต่เป็นคนจริงและโชคดีเป็นว่าเล่น มีตรรกะมึนๆอย่าง ‘ชู้ของตนมีชู้ได้ แต่ภรรยาแท้ๆมีชู้ยอมรับไม่ได้’ การได้พบเจอกับ Fredrik Egerman ทั้งสองต่างก็เป็นเสือ(ผู้หญิง) ซึ่งเสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันได้ที่ไหน จึงจำต้องใช้การตัดสินด้วย Russian Roulette
Björn Bjelfvenstam นักแสดงหนุ่มสัญชาติ Swedish รับบท Henrik Egerman ลูกชายที่มีปมรับไม่ได้กับพ่อตัวเอง ส่วนหนึ่งเพราะความเข้มงวดจริงจังเกินไป และพฤติกรรมเจ้าชู้ประตูดิน แต่งงานกับหญิงสาวอายุดันรุ่นราวคราวเดียวกับตน (ตัวละครนี้ถือเป็นตัวแทนของผู้กำกับ Bergman ได้เลยนะครับ) ซึ่งการลักลอบมีชู้หนีไปกับเธอ เป็นการกระทำที่ wtf มาก แต่ก็พอเข้าใจได้เพราะฮอร์โมนวัยรุ่นหนุ่มสาว อยู่ใกล้กันยังไงก็ขับเคลื่อนไปด้วยกันได้
Eva Dahlbeck (1920 – 2008) นักแสดงหญิงสัญชาติ Swedish เกิดที่ Saltsjö-Duvnäs เข้าเรียนการแสดงที่ Royal Dramatic Theatre น่าจะรุ่นราวคราวเดียวกับ Bergman และ Björnstrand, ร่วมงานกับ Bergman ทั้งหมด 3 ครั้ง ในช่วงแรกๆ Secrets of Women (1952), A Lesson in Love (1954), Smiles of a Summer Night (1955) ประสบความสำเร็จสูงสุดก็เรื่องนี้แหละ
รับบท Desiree Armfeldt นักแสดงสาวสวย ฝีมือการแสดงก็ลึกล้ำไม่ธรรมดา ถึงหนังจะไม่ได้พูดไว้แต่ลูกชายของเธอ Fredrik คงไม่ใช่ใครอื่นนอกจากของ Fredrik Egerman ผู้ชายที่เธอตกหลุมรัก แต่ที่ต้องเลิกกันเพราะความเจ้าชู้ประตูดิน กลับมาครั้งนี้กำลังเป็นชู้อยู่กับ Count Malcolm แต่ก็กำลังจะเลิกแล้ว เพราะต้องการหวนคืนสู่อ้อมอกชายคนที่เธอรักสุด ซึ่งก็ได้วางแผนอย่างดิบดีเพื่อจะทวงของๆตนคืนมา
ความเจ้าเล่ห์ เฉลียวฉลาด ยั่วยวนอย่างมีเสน่ห์ นี่ผิดภาพลักษณ์ของ Dahlbeck ไปสักนิด (ผมรู้สึกใบหน้าของเธอเหมือน Marilyn Monroe มากเลย) แต่การแสดงต้องถือว่าเฉียบขาด มองตาก็รู้ว่าคิดอะไร ภาษากายบ่งบอกความต้องการในใจได้อย่างลึกล้ำ นี่ถ้าเป็นสมัยนี้ น่าจะได้เข้าชิงกวาดรางวัลของหลายๆสำนักเลยละ
Ulla Jacobsson (1929 – 1982) นักแสดงสาวสวยสัญชาติ Swedish เกิดที่ Gothenburg เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละครเวที เป็นที่รู้จักทั่วโลกจากการแสดงฉากนู้ดในเรื่อง One Summer of Happiness (1951) พูดภาษาอังกฤษคล่องแคล่ว เล่นหนัง Hollywood เรื่อง Zulu (1964), Love Is a Ball (1963), The Heroes of Telemark (1965) จนได้กลายเป็น sex symbol แห่งยุค น่าเสียดายอายุสั้นไปนิด เสียชีวิตจากโรคมะเร็งกระดูกตอนอายุ 53 ปี
รับบท Anne Egerman เด็กหญิงสาวแรกรุ่น ร่าเริงสดใส เต็มเปี่ยมด้วยอารมณ์ ความรัก ความอิจฉาริษยา, ความรู้สึกที่เธอมีต่อ Fredrik Egerman ก็อย่างที่ตัวละครวิเคราะห์บอก เหมือนพ่อมากกว่าสามี คงด้วยอายุที่ห่างกันน่าจะอย่างน้อย 2 เท่า จึงเกิดความหวาดหวั่นกลัว ไม่แน่ใจในการตัดสินใจของตนเอง(ที่แต่งงาน) คงเพราะเธอยังคงไร้เดียงสาต่อความรัก ยังไม่เข้าใจว่าแตกต่างจาก Sex อย่างไร
Margit Carlqvist นักแสดงสัญชาติ Swedish ที่มีผลงานไม่มาก โด่งดังสุดก็จากเรื่องนี้, รับบท Countess Charlotte Malcolm เป็นหญิงแกร่งที่รักสามีมาก รับรู้เข้าใจความเจ้าชู้ของเขา จึงพยายามหาทางยกตัวเองเทียบเคียง ให้มีความเย่อหยิ่งจองหองมาดร้าย ให้เกิดความน่าพิศวงหลงใหล Count Malcolm จะได้ไม่มีวันแปรพักตร์ไปจากเธอ
สำหรับนักแสดงแย่งซีนที่สุดของหนัง Harriet Andersson (เกิดปี 1932) นักแสดงหญิงสัญชาติ Swedish เกิดที่ Stockholm ตอนอายุ 15 เข้าเรียนโรงเรียนสอนการแสดง Calle Flygare จบออกมาเป็นนักแสดงละครเวที, ผลงานดังของทั้งคู่ อาทิ Smiles of a Summer Night (1955), Through a Glass Darkly (1961), Cries and Whispers (1972), Fanny and Alexander (1982) ฯ
รับบท Petra สาวใช้ของ Fredrik Egerman หญิงสาวแรกรุ่นที่เต็มเปี่ยมด้วยประสบการณ์รัก มีความหื่นกระหาย ชอบการยั่วยวนหยอกเย้าเล่นกับ Henrik Egerman แต่ความทีเล่นทีจริงของเธอก็ต้องสยบกับคนขับรถ ที่ถือว่าเป็นชนชั้นระดับเดียวกัน
หนังรวมดาราลักษณะนี้ นักแสดงทุกคนต่างประชันความสามารถกันแบบสุดฤทธิ์สุดเดช ไม่มีใครยอมใคร นี่ต้องชม direction ของผู้กำกับด้วย ที่สามารถขับเน้นพลังการแสดงของพวกเขาออกมาให้ถึงที่สุดได้
ถ่ายภาพโดย Gunnar Fischer หนึ่งในสองตากล้องขาประจำของ Bergman ที่เป็นเจ้าของผลงาน Smiles of a Summer Night (1955), The Seventh Seal (1957), Wild Strawberries (1957) ฯ ทุกการเคลื่อนไหว มุมกล้อง ทิศทาง ตำแหน่ง ต่างมีนัยยะสำคัญที่สวยงามลงตัวแทบทุกกระเบียดนิ้ว
สิ่งที่โดดเด่นในหนังของ Bergman คือ direction กำกับการแสดง ให้สังเกตทิศทางการเคลื่อนไหวของตัวละคร ใบหน้าสายตาที่พวกเขาหันมอง ล้วนมีนัยยะสำคัญแทนทั้งนั้น, อย่างช็อตนี้การประจันหน้าระหว่าง Fredrik Egerman กับ Count Malcolm โดยมี Desiree Armfeldt อยู่กึ่งกลาง
สำหรับช็อตที่อธิบายความสัมพันธ์ของเหล่าผู้เล่นทั้งหลายในหนังได้ชัดเจนสุด ใครมองอะไรทางไหนลองสังเกตดูเอานะครับ
ตัดต่อโดย Oscar Rosander ขาประจำของ Bergman ในยุคแรกๆ อาทิ Smiles of a Summer Night (1955), Wild Strawberries (1957), The Magician (1958), The Virgin Spring (1960) ฯ ต้องชมเลยว่ามีความต่อเนื่องลื่นไหลไม่มีสะดุด ใช้มุมมองของ Fredrik Egerman เป็นหลัก แต่หลายครั้งก็เปลี่ยนไปเป็นมุมของ Desiree Armfeldt และ Anne Egerman ถ้าไม่สังเกตก็อาจไม่รับรู้เลย
ฉากบนโต๊ะอาหาร ณ คฤหาสถ์ของแม่ Desiree Armfeldt นอกจากการออกแบบฉากที่มีความสวยงามวิจิตร เต็มไปด้วยเทียนไข เครื่องเงิน จานผลไม้ รูปวาดฝาผนังสวยๆแล้ว การตัดต่อก็มีเฉลียวฉลาด จัดแบ่งตัวละครออกเป็นคู่ๆแล้วตัดสลับกันไปมา ไฮไลท์อยู่ที่เมื่อแม่ยายยกแก้วไวน์ขึ้นบรรยายสรรพคุณ ขณะยกดื่มจะตัดให้เห็นใบหน้าของแต่คน ที่มีปฏิกิริยาต่อน้ำอมฤตนี้ก่อนยกซดกระดกขึ้นหมดแก้วต่างกันไป เลือกดื่มดินเองก็ต้องรับผิดชอบตนเอง
ราวกับราชินี (Queen of Sex)
สามคู่หลัก
– ไม่ได้เต็มใจนัก
– รั้งรีรอ บางสิ่งอย่างค้ำคอ
– ยิ้มแย้มยินดี ไม่มีอะไรต้องห้าม เข้าใจโดยแท้ว่านี่คือเกมกีฬาแห่งความรัก
ไฮไลท์ของการตัดต่ออยู่ช่วงท้าย เมื่อคู่ของคนใช้สาว Petra แฟนคนขับรถกำลังสารธยาย มีรอยยิ้ม 3 อย่างที่เกิดขึ้นในค่ำคืนพระอาทิตย์เที่ยงคืน ซึ่งหนังใช้การตัดสลับให้เห็นผลลัพท์ของสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งจะสะท้อนตรงกับรอยยิ้มทั้งสามคู่ที่เกิดขึ้นพอดี
1. รอยยิ้มของคู่รักหนุ่มสาว ระหว่าง Henrik กับ Anne
2. รอยยิ้มของตัวตลก Count Malcolm ที่สามารถหลอก Fredrik ให้คิดจริงจังกับ Russian Roulette
3. รอยยิ้มของคนโง่ก็คือ Fredrik Egerman ที่มองไม่เห็นความรักใกล้ตัวของ Desiree Armfeldt
เพลงประกอบโดย Erik Nordgren คนนี้ก็ขาประจำยุคแรกของ Bergman มีผลงาน Smiles of a Summer Night (1955), The Seventh Seal (1957), Wild Strawberries (1957), The Virgin Spring (1960) ฯ ไม่ได้มีความโดดเด่นมากกับบทเพลง ส่วนใหญ่จะเป็นเสียงร้อง/ดนตรีที่ดังขึ้นในหนัง เว้นแต่ฉากที่ต้องการขับเน้นอารมณ์ความรู้สึกเป็นพิเศษ บทเพลงจะมีลักษณะเสริมเติมแต่ง เพื่อให้ผู้ชมเกิดความดื่มด่ำในอารมณ์ขณะนั้นมากขึ้น
ค่านิยมของชาวตะวันตกผูกทัศนคติการแต่งงานกับ Sex มองเรื่องมีชู้เป็นสิ่งยอมรับไม่ได้ … แล้วกับคนเจ้าชู้ละ? พวกเขาไม่เอาตัวเองจับยัดลงใส่กรอบแนวคิดทัศนคติค่านิยมนี้อย่างแน่ เพราะการนอกใจมันคือความตื่นเต้น สนุกสนาน ท้าทาย มองได้คือเกมกีฬา (Sport) มีการแข่งขัน ผู้แพ้ชนะ ซึ่งอาจเขียนกฎกติกาเพิ่มเข้าไปก็ยังได้, นอกจากสมการคณิตศาสตร์ที่ Bergman เปรียบกับหนังเรื่องนี้ไว้แล้ว ยังสามารถมองได้คือ เกมกีฬา ชนิดหนึ่ง ผมเรียกว่า เกมแห่งชู้ (Adultery Game)
“My dear children and friends. According to legend, the wine is pressed from grapes whose juice gushes out like drops of blood against the pale grape skin. It is also said that to each cask filled with this wine was added a drop of milk from a young mother’s breast and a drop of seed from a young stallion. These lend to the wine secret seductive powers. Whoever drinks hereof does so at his own risk and must answer for himself.”
สุนทรพจน์ที่เหมือนจะไร้สาระนี้ กลับแฝงแนวคิดที่ลึกล้ำอย่างยิ่ง โดยเฉพาะประโยคสุดท้าย ‘ใครก็ตามที่ดื่มด่ำกับไวน์แก้วนี้ จำต้องยินยอมรับความเสี่ยง และรับผิดชอบตัวของตนเอง’ นี่ไม่ได้หมายถึงแค่การเมามายขาดสติ แต่พูดถึงความสัมพันธ์ของ Screwball Adultery ความลุ่มหลงใหล รักใน Sex นอกใจ และการมีชู้ ทุกการกระทำที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องรับผิดชอบด้วยตนเองตามผลกรรมที่ทำ
สำหรับวัยรุ่นหนุ่มสาว พวกเขายังขาดประสบการณ์ในชีวิต จิบไวน์เพียงเล็กน้อยก็เพื่อมึนเมาไร้สติ สังเกตว่า Henrik พอเหล้าเข้าปากก็หมดสิ้นสภาพ ไม่ต่างกับ Anne ทั้งสองรีบลาจากกลุ่มกลับไปนอน แต่ที่นั่นก็ทำให้พวกเขาพบเจอเข้าใจซึ่งกันและกัน
สำหรับผู้ใหญ่ ไวน์แก้วเดียวย่อมไม่สามารถมอมเมาพวกเขาให้ขาดสติสมประดีได้ แต่มันมีความเหนือล้ำกว่านั้น มองความรักและ Sex คือเกมกีฬา แก่งแย่งชิงดีเอาชนะ เพื่อครอบครองเป็นเจ้าของหนึ่งเดียว, กับคนโสดคงไม่สนุกสนานเท่าไหร่ เพราะยังโหยหาคู่ชีวิน แต่กับคนแต่งงานแล้ว การแอบภรรยาไปคบชู้ มันเป็นอะไรที่ตื่นเต้น สนุกสนาน เร้าใจ ไม่ต่างอะไรกับเกม Russian Roulette มีเพียง 1 ใน 6 ลำกล้องที่มีกระสุนปืน … โชคดีก็รอดตัว โชคร้ายก็อาจต้องตายทั้งเป็น
ผู้ชายเจ้าชู้มักถูกเปรียบกับเสือผู้หญิง ลวดลายครามเต็มตัว, ส่วนผู้หญิงเจ้าชู้มักเปรียบกับนางแมวร้ายยั่วสวาท เวลาที่เจ้าเสือกับนางแมวมาพบเจอกัน มักจะรู้เล่ห์เหลี่ยมลาย มีความเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างดี เรียกว่าคู่แท้เลยละ แต่เพราะการรู้ลายทำให้ต่างพยายามหลีกเลี่ยง เพราะ ‘เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้’ แต่การที่พญาเสืออยู่กับลูกแมวตัวน้อย นั่นก็เกินไป เข้าคู่กันได้ที่ไหน
จริงอยู่ที่ตอนต้นผมเปรียบตัวละคร Fredrik Egerman แทนด้วยพ่อของ Bergman และตัวละครลูกชาย Henrik แทนด้วยตัว Bergman เอง แต่นั่นมันเรื่องจริงในอดีตของเขา, ปัจจุบัน (ตอนที่สร้างหนัง) ว่ากันตามตรง ผมคิดว่า Fredrik Egerman แทนได้คือ Bergman ตรงๆแล้วละ เพราะ ‘ลูกเสือสักวันย่อมโตกลายเป็นพ่อเสือ’ วัฏจักรเช่นนี้เปลี่ยนแปลงได้ที่ไหนกัน
โปรดิวเซอร์นำหนังไปฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes โดยไม่ได้บอก Ingmar Bergman วันหนึ่งเปิดหนังสือพิมพ์อ่าน พาดหัวว่ามีหนังจากประเทศสวีเดนสร้างชื่อเสียงด้วยการคว้ารางวัล Best Poetic Humor (คงเป็นรางวัลพิเศษของปีนั้น) จนกระทั่งอ่านเนื้อหาข่าวถึงค่อยรู้ว่าเป็นหนังของตนเอง … เป็นความสำเร็จเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวแม้แต่น้อย
นอกจากนี้หนังได้เข้าชิง BAFTA Award 3 สาขา ไม่ได้สักรางวัล
– Best Film from any Source
– Best Foreign Actor (Gunnar Björnstrand)
– Best Foreign Actress (Eva Dahlbeck)
เกร็ด: Woody Allen นำแรงบันดาลใจของหนังเรื่องนี้ สร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง A Midsummer Night’s Sex Comedy (1982)
ถือว่าส่วนตัวชอบหนังเรื่องนี้แล้วกัน เพราะถ้ามองว่า Comedy คือขบขันไร้สาระ ไม่ยึดมั่นเอาศีลธรรมจรรยาเป็นที่ตั้ง ก็สามารถมองเป็นความบันเทิงสนุกสนานได้ขนานใหญ่, จริงๆหนังก็แอบแฝงสาระไว้เหมือนกันที่ตอนจบ เมื่อ Count Malcolm ยินยอมทำข้อตกลงกับภรรยา กลับตัวจะเลิกนอกใจ แต่เราต้องดูเหตุผลด้วยว่าทำไมเสือหญิงรายนั้นถึงยอมละทิ้งลายครามของตนเอง นั่นเพราะ Countess Malcolm ได้กลางร่างเป็นนางแมวที่มีความยั่วยวนเร้าใจกว่าหญิงอื่นใด … ชีวิตจริงจะมีสักกี่คนที่สามารถคิดทำแบบนั้นได้
แนะนำกับคอหนังตลก ติดเรท มือถือสากปากถือศีลทั้งหลาย, คนทำงานสายภาพยนตร์/โรงละครเวที/นักแสดงทั้งหลาย ศึกษาวิธีการ การแสดง กำกับภาพยนตร์ เชื่อว่าได้นำไปใช้ประโยชน์แน่, ชื่นชอบผู้กำกับ Ingmar Bergman และแฟนๆนักแสดงนำ Gunnar Björnstrand, Harriet Andersson, Eva Dahlbeck ห้ามพลาดเด็ดขาด
จัดเรต 15+ กับ Adultery
Leave a Reply