Snow White and the Seven Dwarfs (1937) Anime Film ♥♥♥♥
สโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด ภาพยนตร์อนิเมชั่นสีขนาดยาวเรื่องแรกของ Walt Disney และ Hollywood ที่ใช้การวาดด้วยมือ (Cel Animated) ดัดแปลงมาจากเทพนิยายของ Brothers Grimm, ทุกความยิ่งใหญ่มีจุดเริ่มต้น แม้เรื่องราวจะเรียบง่าย เน้นความบันเทิง แต่แฝงอะไรแนวคิดบางอย่างไว้ และเทคนิค ลูกเล่น ชั้นเชิงในการนำเสนอ เป็นสิ่งควรค่าที่จะ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ผมจำไม่ได้ว่าสมัยตอนเป็นเด็กเคยดูอนิเมชั่นเรื่องนี้หรือเปล่า แต่อาจเคยได้ยินหรือได้อ่านจากที่ไหนสักที่ และจดจำเรื่องราวได้เป็นอย่างดี คงไม่ถือเป็นการสปอยนะครับ เพราะผมเชื่อว่าใครๆก็คงน่าจะรู้จักเรื่องราวนี้กันอยู่แล้ว, สโนไวท์มีแม่เลี้ยงที่ชอบถามกระจกวิเศษว่า ‘กระจกวิเศษ จงบอกข้าเถิด ใครงามเลิศในปฐพี’ กระจกจะตอบว่า ‘สโนวไวท์’ แม่เลี้ยงได้ยินก็หัวเสียอย่างมาก ครั้งหนึ่งปลอมตัวเป็นยัยแก่ เอาแอปเปิ้ลเคลือบยาพิษไปหลอกให้สโนไวท์ที่อยู่กับคนแคระทั้งเจ็ดกิน แล้วเธอก็สลบไสลหลับไม่ตื่นจนกว่าจะมีเจ้าชายที่มีรักแท้มาจุมพิตจึงจะฟื้นคืนชีพขึ้นมา
ตอนสมัยผมเรียนมหาวิทยาลัย เริ่มไล่หาหนังเก่าๆดู ก็เป็นเหมือน ‘คนไทย’ ทั่วๆไป ที่ไม่ได้มีความสนใจหนัง ‘การ์ตูน’ เรื่องนี้ เพราะคิดว่าคงเป็นเรื่องสำหรับเด็ก แต่พอมาได้ยินกิตติศัพท์ ว่าเป็นอนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรกของสตูดิโอ Walt Disney และของ Hollywood อีกทั้งยังติดชาร์ท AFI: Greatest American Films Of All Time (2007) [ตอนนั้นกำลังเห่อดูชาร์ทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม] ก็ถึงคราต้องหามาดู แม้เรื่องราวจะเป็นแบบที่ผมเข้าใจจดจำได้เปะๆ แต่ก็มีบางสิ่งบางอย่างที่เห็นแล้วทึ่งมากๆ นับจากนั้นทัศนคติของผมต่ออนิเมชั่น Disney ก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง มุมหนึ่งที่ไม่คิดอะไรเด็กๆดูได้ อีกมุมหนึ่งผ่านการคิดวิเคราะห์ ผู้ใหญ่น่าจะเห็นอะไรบางอย่าง แม้จะไม่ลึกซึ้งเท่ากับอนิเมะจากสตูดิโอ Ghibli ของญี่ปุ่น แต่ก็ถือว่า ‘น่าติดตาม’ นับจากนั้นผมก็ไล่ล่าหาอนิเมชั่นเรื่องอื่นๆของค่ายนี้มาดู ถ้านับแค่ในช่วงชีวิตของนาย Walt Disney มีอนิเมชั่นที่เขาเป็นโปรดิวเซอร์ทั้งหมด 19 เรื่อง (เรื่องสุดท้ายคือ The Jungle Book-1967) ปัจจุบัน (2016) มีอนิเมชั่นที่สร้าง Disney มากกว่า 50 เรื่องแล้วนะครับ ถ้าใครจะไล่ดูให้หมด คงต้องใช้เวลาพอสมควรเลยละ
กับคนที่เคยอ่าน Snow White ที่เป็นต้นฉบับเทพนิยายของ Brothers Grimm จะรู้ว่าสิ่งที่ผมเล่ามาไม่ใช่เรื่องราวที่ตรงตามต้นฉบับทั้งหมด มีหลายอย่างที่ Disney ได้ทำการแก้ไขดัดแปลงเปลี่ยนไป อาทิ ขณะที่สโนว์ไวท์วิ่งหนีเข้าไปในป่าลึก มาถึงกระท่อมขนาดเล็ก รู้สึกเหน็ดเหนื่อย หมดแรงจนผลอยหลับไป พอตื่นขึ้นจึงได้พบกับคนแคระทั้ง 7 ที่ช่วยดูแลเธอ และเสนอให้อาศัยอยู่ที่นี่ แลกกับการที่เธอจะทำอาหารและทำความสะอาดบ้านให้, นายพราน (Huntsman) หลังจากที่ปล่อยสโนว์ไวท์ให้หนีไป เนื่องจากราชีนิ (แม่เลี้ยงสโนว์ไวท์) สั่งให้เอาตับและปอดของเธอใส่กล่อง นายพรานจึงฆ่าหมูป่า (Boars) เอาตับกับปอดมอบให้ราชินี ซึ่งเธอก็หยิบกินทั้งดิบๆแบบนั้น มารู้ภายหลังโดยกระจกวิเศษ ที่บอกว่าที่กินไปนั้นเป็นตับและหัวใจปลอม, แม่เลี้ยงพยายามฆ่าสโนไวท์ถึง 3 ครั้ง โดยปลอมตัวเป็นหญิงชราไม่ซ้ำหน้า ครั้งแรกขายสายรัดตัว (Corset) ทำให้เธอหายใจไม่ออก แต่รอดมาได้เพราะคนแคระช่วยไว้ ครั้งที่ 2 มอบหวีเคลือบยาพิษ (poisoned comb) รอดเพราะเหล่าคนแคระช่วยไว้ได้ทัน และครั้งสุดท้าย หลอกล่อให้เธอกินแอปเปิ้ลเคลือบยาพิษ จนกลายเป็นเจ้าหญิงนินทรา, เหล่าคนแคระคิดว่าเธอเสียชีวิตไปแล้ว จึงได้สร้างโลงแก้วเก็บรักษาร่างเธอเอาไว้ วันหนึ่งเจ้าชายสุดหล่อเดินทางผ่านมาและเห็นสโนว์ในโลงแก้ว เขาตกหลุมรักเธอทันที และพูดจาเกลี้ยกล่อมให้คนแคระอนุญาติให้เขาเอาโลงแก้วและร่างของเธอกลับเข้าเมืองเพื่อประกอบพิธีศพที่ยิ่งใหญ่สมเกียรติ ซึ่งขณะขนย้าย คนแบกโลงได้สะดุดรากต้นไม้ล้ม และยาพิษในคอสโนไวท์ไหลออกมา ทำให้เธอได้สติฟื้นคืนชืพ เจ้าชายเห็นดังนั้นจึงประกาศตน แสดงความรักและขอเธอแต่งงาน พวกเขาใช้ชีวิตอย่างมีความสุข Happily ever after!, ส่วนชะตากรรมของแม่เลี้ยงผู้ชั่วร้าย เมื่อเจ้าชายกลับเข้าเมือง ก็เชิญเธอไปร่วมงานแต่งงาน และถูกสั่งให้แม่เลี้ยงใส่รองเท้าเหล็กร้อนๆ และบังคับให้เต้นรำจนขาดใจตาย
ในเวอร์ชั่นของ Brothers Grimm ดูจะมืดหม่นกว่ามากนะครับ แน่นอนเรื่องราวเช่นนี้จะถูกดัดแปลงไปเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นให้เด็กดูได้ยังไง
หลังจากทำอนิเมชั่นขนาดสั้นมาหลายเรื่อง เมื่อปี 1934 นาย Walt Disney ได้ประกาศลงหนังสือพิมพ์ The New York Times ว่าจะทำภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรก โดยดัดแปลงเรื่องราวเทพนิยายของ Brothers Grimm เรื่อง Snow White and the Seven Dwarfs ทุนสร้างเริ่มต้น $250,000 แต่ไปๆมาๆ ใช้ทุนสร้างเกินไปถึง $1.48 ล้านดอลลาร์ จนใครๆใน Hollywood ต่างเรียกหนังเรื่องนี้ว่า ‘Disney’s Folly’
ในการดัดแปลง Snow White นาย Disney พุ่งเป้าไปที่ การพัฒนาตัวละครแต่ละตัว ให้มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ มากกว่าเนื้อเรื่องด้วยซ้ำ โดยใส่ Comedy เข้าไปเพื่อสร้างบรรยากาศสนุนสนานครื้นเครง, แม้ตัวละครหลักๆจะคือ แม่เลี้ยงใจร้ายและสโนว์ไวท์ แต่ตัวละครที่แย่งซีนทั้งหมด คือคนแคระทั้งเจ็ด และสรรพสัตว์ที่เคลื่อนไหวอย่างไหลลื่น มีชีวิตชีวาราวกับเข้าใจภาษามนุษย์
สโนว์ไวท์ (Snow White) องค์หญิงที่มีความงดงามที่สุด ผมสีดำขลับเหมือนไม้ตะโก (Ebony) ริมฝีปากสีแดงฉานราวกับดอกกุหลาบ และผิวขาวผุดผ่องประหนึ่งหิมะ, มีชุดของสโนไวท์ 2 ชุดในหนัง ตอนต้นเป็นผ้าขี้ริ้วขาดๆ และตอนหลังชุดที่ถือว่าเป็น iconic dress เสื้อท่อนบนสีน้ำเงิน กระโปรงยาวสีเหลือง ปกเสื้อสูงสีขาว ผูกโบว์สีแดง และสวมรองเท้าสีเหลือง, สโนว์ไวท์เป็นหญิงสาวที่มีจิตใจบริสุทธิ์ไร้เดียงสา อ่อนหวาน ร่าเริง ด้วยความที่มีจิตใจโอบอ้อมอารี เธอจึงชอบช่วยเหลือผู้อื่น และเชื่อคนง่าย นี่เองที่ทำให้ใครๆ (โดยเฉพาะแม่เลี้ยง) ชอบเอารัดเอาเปรียบเธอ, พากย์เสียงโดย Adriana Caselotti นี่เป็นบทแรกและบทเดียวของเธอ เพราะนาย Disney ได้ทำสัญญาถาวรกับเธอไว้ว่า จะต้องไม่ให้เสียงหรือแสดงในหนังเรื่องใดอีก (เพื่อเป็นการรักษาเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของ Snow White เอาไว้)
คนแคระทั้ง 7 กับคนที่ชอบอนิเมชั่นเรื่องนี้มากๆคนจดจำชื่อของพวกเขาได้หมด Doc, Grumpy, Happy, Sleepy, Bashful, Sneezy และ Dopey นี่ไม่ใช่ชื่อของคนแคระจากต้นฉบับของ Brothers Grimm นะครับ เป็นชื่อที่นาย Disney เลือกมาจาก 50 ชื่อที่มีแนวโน้มใช้ได้เหมาะสม, จะสังเกตว่าชื่อของคนแคระส่วนใหญ่เป็นคำคุณศัพท์ (Adj) ที่แสดงถึงนิสัยของตัวละครนั้นตรงๆเลย ยกเว้น Doc ที่เป็นคำนาม และเขาเป็นเหมือนผู้นำกลุ่ม
เกร็ด: เดิมนั้น Dopey มีบทพูด และ Disney ตั้งใจให้ Mel Blanc เป็นคนพากย์ แต่เพราะ Blanc บอกปัดหรือไม่สะดวกสักอย่าง ทำให้ Disney ตัดเสียงพูดของ Dopey ทิ้งไปเลย ให้เขากลายเป็นใบ้ไปเสียงอย่างนั้น
เกร็ด 2: ชื่ออื่นๆที่ลิสรายชื่อคนแคระ อาทิ Jumpy, Deafy, Dizzey, Hickey, Wheezy, Baldy, Gabby, Nifty, Sniffy, Swift, Lazy, Puffy, Stuffy, Tubby, Shorty, Burpy, Scrappy, Hoppy, Awful, Weepy, Gloomy, Snoopy, Silly, Blabby, Flabby, Biggy-Wiggy ฯ
เกร็ด 3: ในขณะตั้งชื่อ Dopey เป็นชื่อสุดท้ายที่ถูกเลือก ก่อนหน้านั้นจะใช้คำเรียกว่า คนแคระคนที่ 7 (Unnamed Seventh Dwarf), และ Sneezy เคยใช้ชื่อว่า Jumpy
มีทฤษฎีสมคบคิดหนึ่ง ที่ผมอ่านแล้วก็ทึ่งว่าคิดไปได้ยังไง แต่ก็ไม่ได้มองว่าเป็นไปไม่ได้นะครับ รู้ไว้เป็นความรู้รอบตัวเหมือนกัน, ในสมัยนั้น (ยุค 30s) มีคำเรียกหรือชื่อเล่นหรือคำแสลงของโคเคน (cocaine) สารเสพติดประเภทกระตุ้นประสาท (ประเภท 2 ยาเสพติดให้โทษทั่วไป) ว่า Coke, Snow, White ฯ และสำหรับคนแคระทั้ง 7 เปรียบเสมือนอาการของคนที่เสพโคเคน เริ่มต้นจากมีความสุข (Happy) จากนั้นเกิดอาการมึนเมา (Dopey) แล้วก็เริ่มคันจมูก จาม (Sneezy) หลังจากยาหมดฤทธิ์ก็เริ่มง่วง (Sleepy) เมื่อไม่ได้ใช้นานๆจะเกิดอาการหงุดหงิด (Grumpy) อารมณ์จะแกว่งๆ บางครั้งก็จะอับอาย (Bashful) เลวร้ายต้องไปหาหมอ (Doc), อย่างที่บอกไปตอนแรก นี่เป็นทฤษฎีสมคบคิดนะครับ ใครอยากเชื่อก็เชื่อ ไม่อยากเชื่อก็ฟังหูไว้หู รู้ไว้ไม่เสียหาย
สำหรับแม่เลี้ยงผู้ชั่วร้าย ผู้หลงใหลคลั่งไคล้ในความงามของตนเอง ทำให้เธอเกิดความอิจฉาริษยาต่อสโนวไวท์ที่สวยงามกว่าตนอย่างรุนแรง ถึงกับวางแผนฆ่าเธอโดยใช้วิธีการอันชั่วร้าย, ตัวละครนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นบทเรียนสอนเด็ก ต่อความน่ารังเกียจของคนที่หลงตนเอง (Narcissism) และหยิ่งในศักดิ์ศรี (Pride) ที่สุดท้ายแล้วสังคมก็ไม่ยอมรับ (เธอถูกประหารในเวอร์ชั่นของ Brothers Grimm), ในเวอร์ชั่นของ Disney เธอตกหน้าผาตาย นี่มองได้ว่าเป็นการ ‘ทำตัวเอง’ จากที่เคยอยู่จดสูงสุด เป็นถึงราชินี ตกลงสู่เบื้องล่างต่ำสุด กลายเป็นยัยแก่ที่มีจิตใจต่ำช้า, ให้เสียงโดย Lucille La Verne เธอเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงพอสมควรตั้งแต่ยุคหนังเงียบ แต่พอเปลี่ยนมาเป็นยุคพูด เธอกลับมักไม่ค่อยได้รับบทให้พูดเสียเท่าไหร่ ซึ่งพอนาย Disney เลือกเธอมาให้เสียงตัวละครนี้ ก็ทำสัญญาแบบเดียวกันกับ Adriana Caselotti (ที่พากย์สโนว์ไวท์) คือจะต้องไม่ให้เสียงหรือแสดงหนังอีกต่อไป ทำให้นี่กลายเป็นหนังเรื่องสุดท้ายของเธอ
เกร็ด: เสียงราชินีกับยัยแก่ ที่ได้ยินเสียงไม่เหมือนกันแต่คนพากย์คนเดียวกันนะครับ, Caselotti ถอดฟันปลอมออก ขณะให้เสียงหญิงชรา
หนึ่งในฉากไฮไลท์ของหนังเลย คือการแปลงร่างของแม่เลี้ยง จากราชินีสุดสวยกลายเป็นยัยแก่สุดงอม ต้องบอกว่าเป็นอะไรที่สร้างสรรค์มากๆ มุมกล้องหลากหลายในทิศทางที่ถ่ายภาพปกติไม่สามารถทำได้ ภาพมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ถ้าไม่ใช่ตัวละครเคลื่อนก็เป็นฉาก เงา อีกา ฟ้าแลบ ฯ ขณะที่แม่เลี้ยงดื่มยาแปลงร่าง พื้นหลังหมุนแล้วค่อยๆเปลี่ยนไปเป็นภาพ Abstrat ที่มีสีสันเคลื่อนไหว แฝงด้วยความหมายที่ดูแล้วเข้าใจได้, ผมนั่งดูฉากนี้วนๆอยู่หลายรอบเพื่อเขียนย่อหน้านี้นะครับ ดูไปก็ทึ่งไป ใจคิดว่า สมัยนั้นทำแบบนี้เนี่ยนะ จินตนาการคนทำฉากนี้นี่สุดยอดจริงๆ ต้องยกนิ้วให้เลย
สำหรับ กระจกวิเศษ ของวิเศษในเรื่องหนังเรื่องนี้ มีคนวิเคราะห์เปรียบได้กับสายลับ ที่มักมีหูมีตาอยู่ทุกๆที่ ล่วงรู้ทุกสิ่งอย่าง นั่นทำให้กระจกวิเศษสามารถบอกได้ว่า สโนวไวท์ยังมีชีวิตอยู่ และใครเป็นคนที่สวยที่สุดในโลก
Huntsman ในหนังมีบทนิดเดียวในหนังนะครับ (อยากเห็นเยอะๆไปหาหนังเรื่อง Snow White and the Huntsman ดูเอง) ในอนิเมะเรื่องนี้ตั้งชื่อ Huntsman ว่า Humbert ซึ่งหลังจากส่งมอบหัวใจ(ปลอม) ให้กับราชินีผู้ชั่วร้าย เขาก็หนีหายเข้าไปในป่าไม่ปรากฏตัวอีกเลย, Huntsman เป็นตัวแทนของคนที่มีจิตสำนึก ไม่สามารถทำในสิ่งที่ขัดกับจริยธรรมของตนเองได้
งานสร้างของ Snow White ตัวละครจะถูกวาดด้วยมือลงบนแผ่น Celluloid โปร่งใสที่เรียกย่อๆว่า ‘เซล (Cel)’ ทีละภาพแล้วจึงนำไปลงสี ก่อนจะวางซ้อนลงบนภาพพื้นหลังแล้วใช้กล้องบันทึกภาพแต่ละช็อตไว้ ซึ่งเมื่อนำไปฉายภาพต่อเนื่องด้วยความเร็วสูงก็จะเกิดเป็นภาพลวงตาของการเคลื่อนไหว, สำหรับอนิเมชั่นเรื่องนี้ ว่ากันว่าใช้นักวาดกว่าร้อยคน (บางสำนักว่า 570 คน บ้างว่า 750 คน) ทำหน้าที่ลอกลายเส้นที่ศิลปินร่างไว้ลงบนแผ่นเซล กระบวนการซ้อนแผ่นเซลและบันทึกภาพเกิดขึ้นมากกว่า 5 แสนครั้ง รวมแล้วมีภาพถูกวาดขึ้นเกือบ 2 ล้านภาพ และมีเพียง 166,000 ภาพที่ได้ปรากฏในภาพยนตร์
นาย Disney ได้ว่าจ้าง Don Graham อาจารย์ศิลปะจากสถาบันศิลปะ Chouinard Art Institute ซึ่งปัจจุบันคือสถาบันศิลปะ California Institute of the Arts มาเป็นหัวหน้าชั้นเรียนฝึกอบรมประจำสตูดิโอระหว่างปี 1932-1940 ซึ่งได้นำแนวคิดการคัดเลือกนักแสดงมาเป็นต้นแบบของตัวละครเอกในเรื่อง โดยศิลปินจะศึกษาบุคลิก สีหน้าท่าทาง อารมณ์ และการเคลื่อนไหวของนักแสดงก่อนวาดภาพออกมา ทำให้ตัวละครมีความสมจริงที่สุด นี่กลายเป็นหนึ่งในเทคนิคที่สตูดิโอใช้ในการสร้างภาพยนตร์เรื่องต่อๆ มา
reference : http://www.tcdc.or.th/creativethailand/article/ClassicItem/20009
กระนั้นสิ่งที่นาย Disney ต้องการ คือ เขาไม่ต้องการให้ศิลปินวาดภาพ เลียนแบบการกระทำหรือการเคลื่อนไหวแบบเปะๆ แต่วาดออกมาในเชิงเสมือน ทำความเหมือนให้แตกต่าง (give a caricature of life and action), ให้สิ่งที่ปรากฎบนจอภาพยนตร์ วิ่งผ่านจินตนาการของผู้ชม นำความฝัน สร้างสรรค์แฟนตาซี กับสิ่งต่างๆที่พบเจอในชีวิตประจำวัน ถ่ายทอดออกมาในรูปลักษณะที่แตกต่างออกไป
นาย Disney ได้นำเข้ากล้อง Multiplane Camera ที่สร้างโดย Lotte Reiniger มาใช้ เพื่อบันทึกภาพจากเซลลงแผ่นฟีล์ม ซึ่งเจ้าเครื่องนี้สามารถแบ่งองค์ประกอบของฉากตามระยะใกล้-ไกล ใช้กำหนดระยะห่าง ควบคุมทิศทางและความเร็วในการเคลื่อนที่ของเซลแต่ละแผ่น ทำให้ภาพที่ได้มีมิติความลึกที่สมจริง, ไม่มีหลักฐานบันทึกไว้ว่าอนิเมชั่นเรื่องนี้ใช้เซลซ้อนทับกันกี่ชั้น ในหลายๆฉาก เราเห็นสัตว์ชนิดต่างๆไม่รู้กี่ตัวเคลื่อนไหว เราสามารถมองว่า สัตว์ 1 ตัวคือเซล 1 แผ่น แต่ละตัวก็ไม่ได้เคลื่อนไหวพร้อมกัน เหมือนกันไปหมด (แม้จะมีเคลื่อนไหวพร้อมเพรียงเป็นกลุ่มบ้าง แต่มันก็ตัวใครตัวมันนะครับ) อนิเมเตอร์ต้องวาดสัตว์ทุกตัว ทุกการเคลื่อนไหว และหลายครั้งสร้างอารมณ์ขันให้มันด้วย
Roger Ebert ได้ชี้ให้เห็นในบทวิจารณ์ของเขา ว่าหนังเรื่องนี้ มีจุดเด่นมากๆในการนำเสนอรายละเอียดเล็กๆน้อย ที่ว่ากันตามตรงไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องราวหลักของหนังเลย อาทิ ขณะสโนไวท์ร้องเพลง I’m Wishing เธอมองลงไปในบ่อน้ำ ภาพตัดไปที่นกพิราบ (Dove) ตกใจบินหนีกระจัดกระจาย แต่ไม่นานนัก เมื่อได้ยินเสียงร้องของเธอไม่ได้ทำอันตรายอะไรพวกมัน เหล่านกพิราบก็บินกลับเข้ามา, Ebert ตั้งคำถามว่า จินตนาการแบบนี้ วาดออกมาคงไม่ยาก แต่คิดออกมาได้ยังไงกัน!
Comedy ในหนังเรื่องนี้ ล้วนมาจากการแสดงออกของของตัวละคร (body language) นิสัย บุคคลิกหรือท่าทาง ไม่ได้เกิดจากการพยายามทำหน้าทำตาหรือวาดให้ออกมาตลกขบขัน เช่น เจ้าเต่าผู้เชื่องช้า ที่มักจะเดินตามหลังเพื่อนเสมอ มีครั้งหนึ่งตอนเดินขึ้นบันได เจ้าเต่ากว่าจะขึ้นถึงชั้นบนสุด สัตว์ต่างๆก็ไปเจออีกเหตุการณ์ที่ทำให้ตกใจวิ่งหนี ชนเจ้าเต่าหล่นตกกลับมาอยู่ชั้นล่างเสียอย่างนั้น (แล้วแกจะไต่ขึ้นไปทำไม!) นี่ถือเป็น gag เล็กๆที่มีอยู่เต็มไปหมดในหนังเรื่องนี้ ซึ่งผมบอกได้เลยว่าเห็นกับหนังของ Disney เท่านั้น ถือเป็นสไตล์และจุดเด่นที่สุด ที่ทำให้อนิเมชั่นค่ายนี้ดูมีชีวิตชีวา จับต้องได้ เพราะความสนใจในรายละเอียดรอบข้าง ที่เล็กๆน้อยๆ ดูไม่น่ามีความสำคัญแต่มีความลึกล้ำอันน่าหลงใหล
เพลงประกอบ เขียนโดย Frank Churchill, Larry Morey และ Leigh Harline ส่วนทำนองประกอบ (Score) ประพันธ์โดย Paul J. Smith และ Leigh Harline เห็นว่าพวกเขาแต่งเพลงประกอบไว้กว่า 25 เพลง แต่ใช้จริงแค่ 7 เหลือรอดมาอีก 2 เท่านั้น, นี่เป็นหนังเรื่องแรกของโลกที่มีการบันทึกเพลงประกอบ (Soundtrack) ใส่แผ่นเสียง วางขายพร้อมไปกับตอนหนังฉาย ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีมาก่อนนะครับ (ก็ยุค Talkie Era เพิ่งจะมีมายังไม่ถึง 10 ปีเลย จึงยังไม่มีใครคิดทำ) ลงแผงเมื่อเดือนมกราคม 1938 ในชื่ออัลบัม Songs from Walt Disney’s Snow White and the Seven Dwarfs, ขณะนั้น Disney ยังไม่มีบริษัทของตนเอง สิทธิ์ในอัลบัมนี้จึงตกเป็นของ Bourne Co. Music Publishers (ที่ปัจจุบัน 2016 ก็ยังถือลิขสิทธิ์อยู่), เสียงร้องในหนัง ส่วนใหญ่จะเป็นเสียงของสโนวไวท์ หนึ่งในเหตุผลที่นาย Disney เลือก Adriana Caselotti ก็เพราะเธอเป็นนักร้องเสียงดีมากๆด้วย หวานแหวว นุ่มนวล ลุ่มลึก เพลงดังๆอาทิ I’m Wishing, Whistle While You Work, Some Day My Prince Will Come และเพลงที่คนแคระทั้ง 7 ร้อง Heigh-Ho กลายเป็นเพลงโคตรฮิตในสมัยนั้น และทุกเพลงจะติด TOP 10 ของ Billboard Chart
มี Delete Scene และ Delete Song ที่ถูกตัดออกไปด้วยนะครับ มี 2 ฉาก ผมเลือก Music in Your Soup มาให้ฟังนะครับ, ในหนังหลังจากสโนวไวท์ซื้อใจคนแคระทั้ง 7 ได้แล้ว และกำลังทำอาหารเย็น เธอสั่งให้พวกเขาไปล้างมือก่อนกินข้าว ก็จะมีเพลงสำหรับตอนล้างมือ พอล้างเสร็จแล้วก็จะกินข้าวเย็นร่วมกัน แต่คนแคระกินข้าวได้ทรามมาก จนสโนว์ไวท์ต้องสอนวิธีกินข้าวที่ถูกต้อง ฉากนี้ถูกตัดออกไป เพราะมันดูไม่เหมาะสมนะครับ
ว่าไปตัวละครสโนว์ไวท์ในหนังเรื่องนี้ถือเป็นตัวแทนของ พฤติกรรมที่ดี เธอสอนให้คนแคระ (เด็กๆ) ไปล้างมือก่อนกินข้าว, ทานข้าวยังไงให้เหมาะสม ฯ แต่เพราะหนังของ Disney ขึ้นชื่อเรื่องชาตินิยม (Chauvinistic) และการเหยียด (Racist) ตัวละครสโนไวท์ (Snow White) ที่ชื่อก็เปรียบได้กับคนผิวขาว การที่ดูดีสมบูรณ์แบบไปเสียทุกอย่าง กลับแสดงออกถึงการดูถูกคนเหยียดหยามคนชาติพันธุ์อื่น ด้วยการมองแบบอคติว่า คนผิวขาวดีกว่าทุกเหล่า
ตอนจบของหนังที่เจ้าชายจุมพิตสโนว์ไวท์ มองทั่วๆไปก็แฟนตาซี เพ้อฝันดีนะครับ แต่ก็มีคนวิเคราะห์ฉากนี้ว่า แท้จริงแล้วอาจเป็นไปได้ว่า เจ้าชาย อาจจะคือสัญลักษณ์แห่ง ‘ความตาย’, สำหรับหนังเรื่องนี้เจ้าชายมีบทน้อยมาก และดูบังเอิญเสียเหลือเกิน ตอนที่เจอกับสโนว์ไวท์ครั้งแรก ขณะนั้นเธอกำลังร้องเพลงและชะโงกหน้าดูเงาในบ่อน้ำแห่งหนึ่ง เจ้าชายเดินมาทัก แล้วสโนว์ไวท์ตกใจกลัวรีบวิ่งหนี ทั้งๆที่เธอไม่ควรจะดูตื่นกลัวมากขนาดนั้นก็ได้ มีคนเปรียบว่าเหมือนว่า เสมือนเธอได้พบกับประสบการณ์เฉียดตาย (เกือบตกลงไปในบ่อน้ำ) จึงได้มีโอกาสเห็น และเกรงกลัวต่อความตาย, ช่วงท้ายเมื่อเจ้าชายขี่ม้าขาวได้พบกับเธออีกครั้ง หลังจากสโนว์ไวท์ทานแอปเปิ้ลเคลือบยาพิษ แล้วเธอนอนสลบใสในโลงแก้ว แนวคิดนี้ บอกว่า สโนว์ไวท์นั้นเสียชีวิตไปแล้ว การจุมพิตของเจ้าชายคือ ‘kiss of death’ เปรียบเขาเป็นเหมือนยมทูต ที่จะพาเธอไปสู่สถานที่ที่เหมือนเป็นโลกหน้า (ปราสาทตอนจบปรากฎออกมาท่ามกลางท้องฟ้า เมฆหมอก ราวกับอยู่บนสวรรค์), ส่วนตัวผมชอบแนวคิดนี้นะครับ แม้มันจะดูเพ้อไม่ต่างกับการมองแค่หน้าหนัง ที่ชอบเพราะคิดว่ามันจับต้องได้มากกว่า เป็นประเด็นที่คนโตแล้วจะถกเถียงกัน ส่วนคนที่ดูแบบเด็กก็ได้แต่มองหน้าทำตางงๆ
หนังฉายรอบปฐมทัศน์ที่ Carthay Circle Theatre เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 1937 มีคนมีชื่อเสียงมากมายที่ได้รับเชิญให้มาดูหนัง อาทิ Cary Grant, Shirley Temple, Judy Garland, George Burns, Charlie Chaplin, Marlene Dietrich และ Ginger Rogers.เมื่อหนังจบได้รับการยืนปรบมือจากผู้ชม, 6 วันถัดจากนั้น นาย Walt Disney และคนแคระทั้ง 7 ปรากฏตัวบนปกนิตยสาร TIME และ The New York Times ได้เขียนว่า ‘Thank you very much, Mr. Disney’, ไม่นานนักหนังก็ทำรายได้ถล่มทลาย รวมรายได้ในการฉายครั้งแรก $7.84 ล้านเหรียญ นี่เป็นหนังพูดที่ทำเงินสูงสุดในขณะนั้น แต่ว่ากันว่ายังน้อยกว่า The Birth of a Nation (1915) อยู่มาก และไม่นานนักสถิตินี้ก็ถูกทำลายด้วยการมาของ Gone with the Wind (1940)
หนึ่งในดาราดังที่ได้ชมหนังเรื่องนี้ในรอบปฐมทัศน์ Charlie Chaplin บอกกับ Los Angeles Times ว่าตัวละคร Dopey ว่าเป็น ตัวตลกที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก (Dopey was one of the greatest comedians of all time.)
เกร็ด: นี่ยังเป็นหนังเรื่องโปรดของ Sergei Eisenstein และยกย่องว่าเป็นหนังที่ยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
ในงานประกาศรางวัล Oscar หนังเรื่องนี้ได้เข้าชิงสาขาเดียวคือ Best Musical Score (ไม่ได้รางวัล) แต่นาย Walt Disney ได้รับ Honorary Award จากความมหัศจรรย์ในความคิดสร้างสรรค์ ที่บุกเบิกโลกภาพยนตร์สู่ความบันเทิงยุคใหม่ (As a significant screen innovation which has charmed millions and pioneered a great new entertainment field) ซึ่งเขาได้รูปหล่อ Oscar ทั้งหมด 8 ตัว (1 ตัวเป็นขนาดปกติ และอีก 7 ตัวเป็นไซส์จิ๋ว) คนที่คิดไอเดียนี้คือ Frank Capra คนที่มอบรางวัลคือ Shirley Temple วัย 10 ขวบ มีคลิปให้ดูด้วยนะครับ
หนังติดอันดับ 49 จากการจัดอันดับ AFI: Greatest American Films Of All Time 1998
อันดับ 34 จากการจัดอันดับ AFI: Greatest American Films Of All Time 2008
อันดับ 1 จากการจัดอันดับ AFI: Top 10 Animated film
อันดับ 10 จากการจัดอันดับ AFI’s 100 Years… 100 Heroes and Villains: The Queen (ตัวร้าย)
อันดับ 19 จากการจัดอันดับ AFI’s 100 Years… 100 Songs: เพลง Someday My Prince Will Come
ความยิ่งใหญ่ของหนังเรื่องนี้ ทำให้นาย Disney สามารถสร้างสตูดิโอของตนเองที่ Burbank (ปัจจุบันสำนักงานใหญ่ก็ยังอยู่ที่นั่น), สร้าง Theme Park, Live-Action เกิดขึ้นมากมาย ฯ ไม่เพียงเท่านี้ หนังยังได้ส่งอิทธิพลกึกก้องต่อวงการอนิเมชั่นทั่วโลก ขนาดว่าผู้นำระดับโลก Adolf Hitler ยังยกให้เป็นหนึ่งในหนังเรื่องโปรด (และเขาชอบสเก็ตรูปคนแคระ หัดวาดรูปก็จากหนังเรื่องนี้แหละ), วงการอนิเมชั่นของญี่ปุ่น, จีน, ไทย และแทบทุกๆชาติ ต่างเรียกว่าได้แรงบันดาลใจ อิทธิพลมาจากหนังเรื่องนี้ จะไม่ให้เรียกว่าโคตรยิ่งใหญ่ โคตรสำคัญ และจะไม่ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ได้ยังไง!
ผมเชื่อว่ายังมีคนอีกมาก โดยเฉพาะ ‘คนไทย’ ที่มีอคติต่อภาพยนตร์อนิเมชั่น และมองว่าหนังประเภทนี้ไม่เหมาะกับตน มันเป็นของสำหรับเด็ก, ทัศนคตินี้ยังถือว่าไม่ดีเลยนะครับ มันเป็นการดูถูกตัวเอง และคนทำงานอาชีพสายนี้ เหมือนเวลา ถ้ามีใครมาดูถูกพ่อแม่ ครอบครัวของคุณ คงรู้โกรธแค้นเคืองโกรธ เช่นกันกับการดูถูกว่าอนิเมชั่นเป็นเรื่องของเด็กไร้สาระ คนที่เขาทำงานสายนี้ก็จะเคืองโกรธคุณอย่างมาก, อย่าเอาทัศนคติผิดๆ โลกแคบๆของของตนเองมาทำใหญ่โตเหนือความจริงของโลก นี่แสดงถึงคุณยังไม่เข้าใจว่าสื่ออนิเมชั่น มีความสำคัญต่อโลกนี้ขนาดไหน ตั้งแต่อดีตกาล มนุษย์วาดภาพเป็น ก่อนเขียนตัวอักษรได้อีกนะครับ อคตินี้พยายามลบมันออกจากหัวให้ได้ เปิดใจรับ แล้วคุณจะพบ paradise แห่งใหม่ ที่อาจสวยงามกว่าที่คุณรับรู้ และไม่คิดว่ามีอยู่จริง
ถ้าคุณเป็นคนรักนิเมชั่น, แฟนเดนตายของ Walt Disney Pictures, ชอบเรื่องราวเทพนิยาย (Fairy Tale), Princess หรือ Prince Charming, และนิทานของ Brothers Grimm ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง
จัดเรตทั่วไป การตีความอาจมีอะไรแฝงไว้ แต่เด็กๆไม่น่าจะคิดได้
[…] Snow White and the Seven Dwarfs (1937) Anime Film ♥♥♥♥ […]