Solaris (1972)
: Andrei Tarkovsky ♥♥♥♥♡
(10/4/2019) ความครุ่นคิดเห็นต่อยุคสมัยสงครามเย็นของปรมาจารย์ผู้กำกับ Andrei Tarkovsky สิ่งที่มนุษยชาติกำลังร้องเรียกโหยหา ไม่ใช่การแพร่ขยายอาณาเขตพรมแดนบนโลกหรือห้วงอวกาศ แต่คือ ‘กระจก’ สำหรับสะท้อนตัวตนเองออกมา, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
“I must tell you that we really have no desire to conquer any cosmos. We want to extend the Earth up to its borders. We don’t know what to do with other worlds. We don’t need other worlds. We need a mirror. We struggle to make contact, but we’ll never achieve it”.
– Dr. Snaut
โคตรภาพยนตร์อภิมหาปรัชญา Sci-Fi ที่แม้ต้องขึ้นยานอวกาศออกเดินทางไปนอกโลก เพื่อทำการศึกษาวิจัยดาวเคราะห์สมมติ Solaris แต่แท้จริงแล้วมันคือการสำรวจตัวตนเราเอง ติดต่อสื่อสารจิตใต้สำนึก หวนระลึกความทรงจำ ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งคิดเห็นต่าง สักวันจักได้พบเจอความสงบสุขเกิดขึ้นภายใน
ร้อยทั้งร้อยของนักวิจารณ์และผู้ชม มักเปรียบเทียบ Solaris (1972) คือขั้วตรงกันข้ามกับ 2001: A Space Odyssey (1968) เพราะยุคสมัยนั้นสองประเทศผู้นำโลก สหภาพโซเวียต vs. สหรัฐอเมริกา กำลังขับเคี่ยวเที่ยวทำสงครามเย็นเพื่อพิสูจน์ความเป็นมหาอำนาจบาดใหญ่ แต่ความจริงแล้วผู้กำกับ Andrei Tarkovsky ไม่ได้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เพราะ Stanley Kubrick เลยนะครับ!
Tarkovsky เริ่มต้นต้องการดัดแปลงนวนิยาย Solaris (1961) ผลงานของ Stanisław Lem ตั้งแต่เสร็จจาก Andrei Rublev (1966) กระทั่งได้ลิขสิทธิ์มาประมาณปี 1968 ขณะที่ 2001: A Space Odyssey แม้ออกฉายสหรัฐอเมริกาปีเดียวกัน แต่กว่าจะไปถึงรัสเซียก็เมื่อครั้นเทศกาลหนัง Moscow Film Festival ปี 1969
แน่นอนว่าเมื่อมีโอกาสรับชม Tarkovsky ได้แสดงความคิดเห็นส่วนตัว
“2001: A Space Odyssey is phony on many points, even for specialists. For a true work of art, the fake must be eliminated”.
– Andrei Tarkovsky
คำอธิบายของ Tarkovsky มอง 2001: A Space Odyssey เป็นภาพยนตร์ที่ขาด ‘Emotional Truth’ เพราะการใส่รายละเอียดของสิ่งประดิษฐ์/เทคโนโลยีเหนือจินตนาการ ทำให้ผู้ชมขาดการติดต่อสื่อสาร/รับรู้จักเข้าถึงตัวละคร ไม่สามารถจับต้องอารมณ์ความรู้สึกใดๆได้ กลายเป็นอนาคตที่ไร้จิตวิญญาณหลงเหลือนอกจากความเยือกเย็นชา
แซว: ตรงกันข้ามกับ Kubrick ที่หลังจากได้รับชม Solaris มีความชื่นชอบประทับใจอย่างมาก
Andrei Arsenyevich Tarkovsky (1932 – 1986) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Russian เกิดที่ Zavrazhye, Yuryevetsky District บุตรชายของกวีคนสำคัญของรัสเซีย Arseni Tarkovsky (1907-1989) และ Maya Ivanovna Vishnyakova ครอบครัวมีน้องสาว Mariana อีกคน, ช่วงสงครามโลกที่สอง ครอบครัว Tarkovsky อพยพย้ายไปอยู่ทางชนบทของเมือง Yuryevets อาศัยอยู่กับตายายยังบ้านไม้หลังเก่าๆผุพัง ส่วนพ่อไปรบอยู่แนวหน้ากลับมาสูญเสียขาไปข้างหนึ่ง, โตขึ้นสมัครเรียนสาขาผู้กำกับ State Institute of Cinematography (VGIK) สร้างภาพยนตร์นักศึกษาสามเรื่อง The Killers (1956), There Will Be No Leave Today (1959), The Steamroller and the Violin (1961) เรื่องสุดท้ายได้รับคำชมล้นหลามจนมีได้รับโอกาสจาก Mosfilm กำกับหนังเรื่องแรก Ivan’s Childhood (1962) คว้ารางวัล Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice Film Festival
การที่ Andrei Rublev (1966) สร้างเสร็จนานแล้วแต่ยังไม่ได้ออกฉายสักที (ได้ออกฉายวงกว้างปี 1971) สร้างแรงกดดันมหาศาลให้ Tarkovsky จำต้องมองหาเรื่องราวที่สามารถเข้าถึงผู้ชม และคาดหวังประสบความสำเร็จทำกำไร ตัดสินใจดัดแปลงผลงานของ Stanisław Herman Lem (1921 – 2006) นักเขียนนวนิยายไซไฟ สัญชาติ Polish ที่กำลังได้รับความนิยมล้นหลาม มีหนังสือขายดีหลายเล่มในกลุ่มประเทศสหภาพโซเวียตขณะนั้น
เกร็ด: ก่อนหน้านี้ Solaris ได้รับการดัดแปลงสร้าง mini-Series ความยาวสองตอน ออกฉายช่องหนึ่ง Soviet Central Television เมื่อเดือนตุลาคม 1968, ไม่รู้เหมือนกันว่า Tarkovsky มีโอกาสได้รับชมแล้วเกิดแรงบันดาลใจสร้างภาพยนตร์หรือเปล่านะ
หลังจากได้ลิขสิทธิ์ดัดแปลง Tarkovsky ร่วมงานกับนักเขียน Fridrikh Gorenshtein พัฒนาบทร่างแรกที่ค่อนข้างแตกต่างจากนวนิยาย สองในสามของเรื่องราวเกิดขึ้นบนโลก (นวนิยายดำเนินเรื่องบนสถานีอวกาศเหนือดาวเคราะห์ Solaris ทั้งหมด) ซึ่งพอนำไปยื่นของบจาก Mosfim ถูกตีกลับให้ไปแก้ไขปรับปรุง และพอทราบถึงเจ้าของนวนิยาย Lem แสดงความไม่พึงพอใจที่เนื้อหาสาระสำคัญถูกปรับเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปมาก
ความสนใจของผู้เขียนนวนิยาย นำเสนอความล้มเหลวของมนุษย์ ที่ไม่สามารถพยายามเข้าใจในสิ่งเหนือธรรมชาติ/มนุษย์ต่างดาว, ขณะที่ฉบับภาพยนตร์ Tarkovsky คือความไม่สามารถพยายามเข้าใจตัวตนเองของมนุษย์
ความคิดเห็นของ Lem ต่อฉบับภาพยนตร์ Solaris ซึ่งเหมารวมถึงฉบับปี 2001 กำกับโดย Steven Soderbergh,
…to my best knowledge, the book was not dedicated to erotic problems of people in outer space… As Solaris’ author I shall allow myself to repeat that I only wanted to create a vision of a human encounter with something that certainly exists, in a mighty manner perhaps, but cannot be reduced to human concepts, ideas or images. This is why the book was entitled ‘Solaris’ and not ‘Love in Outer Space’.
– Stanisław Lem
เรื่องราวของนักจิตวิทยา Kris Kelvin (รับบทโดย Donatas Banionis) ได้รับมอบหมายให้ออกเดินทางท่องอวกาศ มุ่งสู่สถานีประจำดาวเคราะห์ Solaris เพื่อประเมินสภาพจิตใจลูกเรือว่ามีความผิดปกติดอะไรหรือเปล่า? โดยวันสุดท้ายบนโลกมีโอกาสพบเจออดีตนักบิน Berton (รับบทโดย Vladislav Dvorzhetsky) นำวีดิโอบันทึกการสัมภาษณ์ของตนเองหลังกลับจาก Solaris เมื่อหลายปีก่อนมาเปิดให้รับชม คาดหวังว่าเขาจะตระเตรียมกายใจไว้ให้พร้อมรับบางสิ่งอย่างคาดไม่ถึงเมื่ออยู่บนนั้น
เมื่อเดินทางไปถึง Solaris ไม่นานนัก Kris ก็ได้ค้นพบความผิดปกติอย่างคาดไม่ถึง อดีตภรรยา Hari (รับบทโดย Natalya Bondarchuk) ปรากฎตัวขึ้นในห้องทั้งๆมีข้าวของวางกองขวางประตู เข้ามาได้อย่างไร? เธอมีภาพลักษณ์เหมือนเปะแต่จดจำบางสิ่งอย่างไม่ได้ แรกเริ่มทำให้เขาเกิดความตื่นตระหนกหวาดสะพรึงกลัว เลยส่งเธอขึ้นจรวดขับออกนอกสถานีอวกาศ แต่แค่เพียงข้ามคืน Hari คนที่สองก็หวนกลับมาหาอย่างรวดเร็ว เลยปิดอกโอบกอดรับ ปฏิบัติต่อเธอด้วยความรักเอ็นดูทะนุถนอม พยายามครุ่นคิดทำความเข้าใจร่วมกับนักวิจัยคนอื่น แต่เหตุการณ์กลับตารปัตรเมื่อหญิงสาวรับรู้ความจริงเกี่ยวกับตนเอง พยายามคิดสั้นฆ่าตัวตายหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ภาพความทุกข์ทรมานค่อยๆกัดกร่อนทำร้ายจิตใจ Kirs จนทรุดลงล้มป่วย เป็นเหตุให้ต้องมีใครบางคนเสียสละบางสิ่งอย่าง
Donatas Banionis (1924 – 20114) นักแสดงสัญชาติ Lithuanian เกิดที่ Kaunas ครอบครัวเป็นกรรมกรแรงงาน เรียนจบจาก First Kaunas Handicraft School เชี่ยวชาญงานเซรามิก ระหว่างนั้นก็มีโอกาสเข้าร่วมชมรมการแสดงเกิดความชื่นชอบหลงใหล เลยตัดสินใจศึกษาต่อ State Conservatory of the Lithuanian SSR (ปัจจุบันคือ Lithuanian Academy of Music and Theater) กลายเป็นนักแสดงละครเวที, ภาพยนตร์เรื่องแรก Adam wants to be a Man (1959), เริ่มมีชื่อเสียงกับ Nobody Wanted to Die (1965), Dead Season (1968), และกลายเป็นตำนาน Solaris (1972)
รับบท Kris Kelvin นักจิตวิทยาผู้ยังหวนระลึกคร่ำครวญหา Hari อดีตภรรยาเสียชีวิตจากไปเมื่อหลายปีก่อน ตัดสินใจทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างบนโลกเพื่อหลบลี้หนีไปยัง Solaris ได้รับภารกิจประเมินสภาพจิตใจลูกเรือ แต่เมื่อเขาประสบพบเจอความผิดปกติเข้ากับตัว ใช้โอกาสนั้นกอบโกยแสวงหาความสุข เติมเต็มช่วงเวลาที่ขาดหายไปในชีวิต ขณะเดียวกันก็เริ่มเกิดความขัดแย้งขึ้นภายใน เพราะตระหนักรู้ว่านั่นก็แค่เพียงภาพลักษณ์ความทรงจำไม่ใช่จิตวิญญาณคนเดิม สุดท้ายแล้วจะสามารถเรียนรู้จักการปลดปล่อยวาง ผ่อนคลายความหมกมุ่นยึดติดนั้นได้เองหรือเปล่่า
เป็นบทบาทที่มีความผันแปรเปลี่ยนไปตามเรื่องราว ตัวละครใช้อารมณ์นำทางชีวิต ตอบสนองจริตพึงพอใจส่วนตนเท่านั้น ซึ่งต้องชม Banionis แสดงความหมกมุ่น ครุ่นยึดติด คิดเห็นแก่ตัวออกมาทางสีหน้าท่าทางได้ชัดเจนดี และภาพลักษณ์มีทรงผมแซมขาว สะท้อนถึงบางสิ่งอย่างหลบซ่อนเร้นอยู่ภายใน
จุดเด่นที่สุดของ Banionis น่าจะเป็นบทโรแมนติก เมื่อเริ่มยินยอมรับการกลับมาของ Hari แสดงออกมาดแมนลูกผู้ชาย พร้อมปกป้องดูแลและคุกเข่าสยบแทบเท้า นั่นเองเมื่อถึงจุดๆหนึ่งทำให้เกิดความขัดย้อนแย้งขึ้นภายใน ความรักของฉันเกิดขึ้นเพราะภาพลักษณ์ดูเหมือน หรือจิตวิญญาณตัวตนของเธอกันแน่?
Natalya Sergeyevna Bondarchuk (เกิดปี 1950) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติ Russian เกิดที่ Moscow บุตรของผู้กำกับ Sergei Bondarchuk และนักแสดง Inna Makarova โตขึ้นดำเนินตามรอยเท้าพ่อ-แม่ เข้าเรียนที่ Gerasimov Institute of Cinematography, ภาพยนตร์เรื่องแรก By the Lake (1969), You and Me (1971), โด่งดังกลายเป็นตำนานกับ Solaris (1972)
รับบท Hari ร่างนิวตรอนที่ดาวเคราะห์ Solaris โคลนสร้างขึ้นเพื่อสะท้อนความต้องการเบื้องลึกภายในจิตใจของ Kris แม้ใบหน้าภาพลักษณ์ ลักษณะนิสัยเหมือนเปี๊ยบเมื่อวันฉีดยาพิษฆ่าตัวตาย แต่กลับสูญเสียความทรงจำบางส่วนและระลึกใบหน้าตนเองไม่ได้ ซึ่งพอเธอค่อยๆรับล่วงรู้ข้อเท็จจริงก็มิอาจอดรนทนฝืน พยายามเข่นฆ่าตัวตายไม่ต่างจากเมื่อครั้นยังมีชีวิตอยู่
แรกเริ่มบทบาทนี้ Tarkovsky ต้องการให้อดีตภรรยา Irma Raush แต่พวกเขาเลิกราหย่าร้างก่อนเริ่มต้นถ่ายทำ ต่อมามีโอกาสพูดคุย Bibi Andersson แสดงความสนใจอยากร่วมงาน แต่สุดท้ายลงเอยที่ Natalya Bondarchuk ได้พบเจอระหว่างยังร่ำเรียนอยู่ Gerasimov Institute of Cinematography และเห็นว่าเป็นผู้แนะนำนวนิยาย Solaris ให้กับผู้กำกับอีกด้วย
ความเยาว์ของ Bondarchuk ทำให้ตัวละครเหมือนคงอายุ ความสวยบริสุทธิ์ไร้เดียงสาเมื่อครั้นยังสาวไว้ แม้หนังไม่อธิบายเหตุผลทำไมถึงฆ่าตัวตายครั้งก่อนหน้า แต่จากสีหน้าท่าทางอันเต็มไปด้วยความว้าวุ่นวาย สับสนอลม่าน ขัดย้อนแย้งภายใน ราวกับทุกสิ่งอย่างได้เคยเกิดขึ้นและกำลังหวนกลับมาซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
กล่าวคือ เราสามารถทำความเข้าใจเหตุผลการฆ่าตัวตายของตัวละครเมื่อครั้งกระนั้น ได้จากการเหตุการณ์ปัจจุบันที่เธอร่ำลาไปเพื่อช่วยเหลือปกป้องเขา ไม่ให้ต้องทุกข์ทรมานจากความขัดแย้งภายในต่อตนเอง ซึ่งรอบหลังนี้ทำให้ Kris สามารถปลดปล่อยวางจากความหมกมุ่นครุ่นยึดติด และหวนกลับบ้านเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างแท้จริง
เกร็ด: ผู้กำกับ Tarkovsky ชื่นชอบประทับใจการแสดงของ Bondarchuk ที่สุดในหนัง จดบันทึกไว้ว่า “Natalya B. has outshone everybody”.
ถ่ายภาพโดย Vadim Yusov (1929 – 2013) ชาวรัสเซีย ตากล้องขาประจำของ Tarkovsky ตั้งแต่ The Steamroller and the Violin (1960) แต่ผลงานนี้คือเรื่องสุดท้าย เพราะพวกเขามีเรื่องขัดแย้งเห็นต่างระหว่างถ่ายทำ จนไม่ต้องการร่วมงานกันอีกต่อไป
งานภาพจัดเต็มด้านเทคนิคที่ค่อนข้างล้ำยุคสมัยนั้น พบเห็นการซูมเข้า-ออก เคลื่อนหมุน-แพนนิ่ง ปรับโฟกัสใกล้-ไกล ไล่ระดับมืดมิด-แสงสว่าง ซ้อนภาพ ปรับโทนสี แถมท้ายด้วยเฮลิคอปเตอร์ ฯ น่าจะเป็นผลงานครบเครื่องที่สุดของ Tarkovsky แล้วกระมัง
และเพราะผู้กำกับ Tarkovsky เพิ่งสดๆร้อนๆมาจาก Andrei Rublev (1966) จึงพบเห็นภาพวาด งานศิลปะ และบางฉากได้รับอิทธิพลจากผลงานจิตรกรเลื่องชื่อ อาทิ Old Masters, Pieter Brueghel the Elder, Rembrandt, หรือแม้แต่ภาพวาดของ Andrei Rublev ก็พบเจอในห้องของ Kris
สายน้ำ คือสัญลักษณ์แห่งกาลเวลาเคลื่อนไหลไม่มีหยุดนิ่ง ซึ่งไม่เพียงช็อตแรกนี้เท่านั้น แต่ยังกลายเป็นดาวเคราะห์ Solaris ที่มีลักษณะเหมือนมหาสมุทรสุดกว้างใหญ่ แผ่รังสีอะไรสักอย่างออกมีผลกระทบถึงโสตประสาทมนุษย์, สำหรับแพรกสาหร่าย รากหยั่งลงดินแต่พริ้วไหวตามน้ำ สื่อได้ถึงชีวิต ความทรงจำ ความผันแปรเปลี่ยนที่มิอาจคาดเดาได้แห่งชีวิต
ม้า สัตว์สัญลักษณ์ของชีวิต จิตวิญญาณ อิสรภาพที่มนุษย์ใคร่โหยหา ฉากบนโลกมีลักษณะรูปธรรมตัวตนพบเห็นสองครั้ง ภายนอกกำลังวิ่งเล่น และถูกกักขังในโรงนา, ซึ่งพออยู่บนสถานีอวกาศ จะพบเห็นภาพวาดนามธรรมจับต้องไม่ได้
เทคนิคที่พบเห็นบ่อยครั้งอย่างแรกคือ การปรับโฟกัสเบลอ-ชัด มักกับระยะใกล้-ไกล สามารถเทียบแทนได้ด้วย ภายนอก-ใน ร่างกาย-จิตวิญญาณ … เป็นเทคนิคที่เหมาะสมกับแนวคิดหนังมากๆเลยละ
นกในกรงขัง และหุ่นกายวิภาคมนุษย์ เป็นสัญลักษณ์ที่ความหมายเข้ากับหนังอย่างมาก
– จิตใจของ Kris ไม่ต่างอะไรจากนกในกรงขัง ต้องการทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างบนโลกนี้ โหยหาอิสรภาพโบยบินเมื่อออกเดินทางสู่ Solaris
– หุ่นกายวิภาค พบเห็นภายนอก-ภายในของมนุษย์
อยู่ดีๆห่าฝนก็ตกแบบไม่มีปี่ขลุ่ย แถมหาความสมจริงไม่ได้เท่าไหร่ ดูราวกับหยาดน้ำตาของ Kris ที่กำลังตระเตรียมตัวร่ำลาทุกสิ่งอย่างจากโลกนี้ นั่นทำให้เขาตัดสินใจที่จะโอบรับมันไม่วิ่งหลบฝน เพราะมันอาจเป็นครั้งสุดท้ายแห่งความเปียกปอนชุ่มฉ่ำ
แซว: ฉากนี้มันจะล้อกับช่วงท้ายที่ฝนตกภายในบ้าน ซึ่งสะท้อนถึงความโศกเศร้าภายใน
ไทนสีของหนัง เท่าที่ผมสังเกตไม่ได้จะสื่อถึง ภาพเก่า-ใหม่ อดีต-ปัจจุบัน ความจริง-เพ้อฝัน ฯ แต่มีลักษณะตามอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครในฉากนั้นๆ
– ถ้าเป็นปกติ ก็โทนสีปกติ
– รู้สึกเศร้าๆ หดหู่ เจ็บปวดทุกข์ทรมาน หรือยามเย็นค่ำ จะออกโทนสีน้ำเงิน
– ลังเลไม่แน่ใจ ใช้โทนน้ำตาล
คลิปสัมภาษณ์ซักถามนักบิน Berton สังเกตว่านักแสดงจับจ้องมองพูดคุยต่อหน้ากล้องตลอดเวลา (คนสัมภาษณ์ก็เช่นกัน) นี่ถือว่าค่อนข้างผิดปกตินะครับ (ปกติเวลาสัมภาษณ์ กล้องมักถ่ายมุมมองบุคคลที่สาม ไม่ใช่แทนสายตาคู่สัมภาษณ์แบบนี้) คงต้องการให้ตัวละครเผชิญหน้า ราวกับกำลังสนทนากับผู้ชม ชักชวนให้ครุ่นคิดว่าหมอนี่เล่าเรื่องจริงอยู่หรือเปล่า?
แต่ระหว่างที่ Berton พยายามพูดบอกเล่าถึงสิ่งที่เขาประสบมากับตัว ด้านหลังมักพบเห็นผู้คนเดินไปมาขวักไขว่ ดึงดูดความสนใจ ก่อร่างสร้างความน่ารำคาญจนอาจสูญเสียสมาธิในการรับฟังไปเลย! นี่สะท้อนมุมมองใครต่อใคร เพราะมิได้พบเห็นด้วยสายตาตนเอง จึงไร้ความเชื่อถือศรัทธาต่อสิ่งกำลังได้ยินนี้
แซว: ผมว่าหลายคนอาจไม่ทันสังเกตว่า นักบิน Berton ในคลิป กับคนที่กดกรอเทปคือคนๆเดียวกัน แค่กาลเวลาเคลื่อนผ่าน อายุเพิ่มมากขึ้น หนุ่ม-แก่ ผมดก-หัวล้าน ว่าไปนี่เป็นการสอดแทรกทฤษฎี Sculpting in Time ของผู้กำกับ Tarkovsky ได้อย่างชาญฉลาดทีเดียว
การใช้เสียงที่น่าสนเท่ห์สุดของหนัง ระหว่างการเดินทางกลับของอดีตนักบิน Berton ขับรถท่องโลกอนาคต (ถ่ายทำที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะความเจริญของกรุงโตเกียวราวกับโลกอนาคตจริงๆ) Soundtrack ดังเบาๆคลอประกอบ Sound Effect ที่ไม่เพียงแค่เครื่องยนต์รถ ตั้งใจฟังดีๆให้ความรู้สึกเหมือนกระสวยอวกาศกำลังพุ่งทะยานออกนอกโลก ซึ่งเราสามารถเปรียบเทียบทั้ง Sequence คือการเดินทางสู่ห้วงอวกาศของ Kris Kelvin โดยมี Berton อดีตนักบินอวกาศ คือคนขับรถยนต์อัตโนมัตินี้
ฉากเผาทำลายเอกสารของ Kris แม้แทรกเข้ามาหลังการขับรถท่องกรุงโตเกียว (ที่ในเชิงสัญลักษณ์สื่อถึงการออกเดินทางท่องอวกาศ) แต่ยังพอมองได้ว่ามีนัยยะความหมายต่อเนื่องกัน คือการทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้เบื้องหลัง
ปกติแล้วการนำเสนอแบบเรียงลำดับตามเวลา มันควรที่จะเผาทำลายทุกสิ่งอย่างแล้วค่อยออกเดินทาง แต่ในมุมมองผู้กำกับ Tarkovsky เห็นว่าสองเหตุการณ์นี้สื่อความหมายอย่างเดียวกัน มันจึงสามารถสลับเล่นคำ ออกเดินทางเพื่อทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง
สำหรับคนที่ยังงงเป็นไก่ตาแตก ลองสังเกตความแตกต่างของสองประโยคนี้นะครับ
– Kris เผาทำลายทุกสิ่งอย่างแล้วเริ่มต้นออกเดินทางครั้งใหม่
– Kris เริ่มต้นออกเดินทางครั้งใหม่ด้วยการทอดทิ้งเผาทำลายทุกสิ่งอย่าง
มันคล้ายๆ Passive กับ Active มุมมองบุคคลที่หนึ่ง-บุคคลที่สาม นัยยะความหมายเดียวกันแต่พูดคนละประโยค … นี่คือนัยยะอันโคตรลุ่มลึกซึ้งของฉากนี้!
หนังไม่ได้ใช้ Visual Effect หวือหวามากมายกับมหาสมุทร Solaris ดูแล้วน่าจะถ่ายทำกลางทะเล/มหาสมุทรจริงๆ (ตากล้องถ่ายจากบนเฮลิคอปเตอร์ มันเลยเห็นเป็นกระเพื่อม) แล้วใช้ฟิลเลอร์หรือสารเคมีบางอย่าง เพื่อให้ผลลัพท์หลังจากล้างฟีล์มดูผิดแผกแปลกตา ออกมาคล้ายกำลังล่องลอยเคว้งคว้าบนอวกาศ และซ้อนภาพโมเดลจำลองสถานีเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง
เดินสะดุดเชือกรองเท้าตั้งแต่ฉากแรกที่มาถึง ถือเป็นลางสังหรณ์ร้ายๆ ไม่ว่าฝรั่งหรือไทยก็เชื่อกันทั้งนั้น …ฮา!
ลักษณะของสถานีอวกาศ เปรียบเทียบดูคล้ายคลึงกับหัวใจมนุษย์ แถมมี 4 ห้องนอน (+1 ห้องสมุด) รายล้อมไปด้วยท่อและสายไฟ/หลอดเลือดสำหรับหล่อเลี้ยงชีวิตให้ดำเนินไปได้
ในห้องของ Dr. Snaut พบเห็นงานอดิเรกคือ สตั๊ฟผีเสื้อ (จะว่าไปที่บ้านของ Kris ก็พบเห็นกล่องเก็บผีเสื้อนี้เหมือนกันนะ) สัญลักษณ์ของวิวัฒนาการ เติบโตปรับเปลี่ยนแปลง เลือกสรรค์ในสิ่งที่ครุ่นคิดว่าดีสุด เหมาะสมกับตนเอง … สะท้อนถึงบุคลิกตัวตนของ Dr. Sanut ได้เลยนะ
หนังมีการเล่นกับความมืด-แสงสว่าง ได้อย่างชาญฉลาดไม่น้อยทีเดียว, ฉากการพบเจอ Dr. Sartorius เริ่มต้นจากความมืดมิดยามค่ำคืน ซึ่งเขาก็พยายามปกปิดบางอย่างไม่ให้ Kris พบเห็น/เข้าไปในห้อง ขณะเดียวกันเหมือนว่าพระอาทิตย์กำลังขึ้น แสงจากภายนอกค่อยๆส่องสว่างขึ้นเรื่อยๆ จนวินาทีปิดประตูไว้ไม่อยู่เลยจำต้องเปิดออก แล้วมีเด็กชายวิ่งออกมา ใครว่ะ? สับสนงงงวง นั่นภาพลวงตาหรือมันเกิดบ้าอะไรขึ้น!
Kris หวนกลับมาสนทนากับ Dr. Snaut ทั้งคู่ต่างเดินวนรอบห้อง เช่นกันกับกล้องเคลื่อนหมุนรอบตัว 360 องศา ซึ่งมันจะมีว่า
– แรกเริ่มเมื่อ Kris เดินเข้ามา พยายามซักถาม Dr. Snaut ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่พี่แกเล่นเดินหนีทำให้ผู้มาใหม่หยุดนิ่งชั่วคราวแล้วติดตามต่อไป
– มันจะมีจังหวะคำถามสุดอึ้ง สองตัวละครยืนทึ่ง กล้องเคลื่อนผ่านกระป๋องใส่อาหาร พบเห็นมีดตก แล้วมาจบที่ Dr. Snaut พยายามหลีกเลี่ยงยังไม่พร้อมตอบ
– รอบสองของการหมุน นึกว่าหนังของ Godard! ประมาณว่า Kris ยืนอยู่ฝั่งขวา ขณะที่กล้องเคลื่อนหมุนไปทางซ้าย แล้วอยู่ดีๆพี่แกมาย้ายมายืนฝั่งซ้ายซะงั้น ราวกับกระจกสะท้อนกัน (แต่จริงๆคงวิ่งหอบแหกๆ เพราะต้องเปลี่ยนตำแหน่งสลับด้านยืน)
– และท้ายสุดก็คือ Dr. Snaut นั่งอยู่บนเก้าอี้ เมื่อ Kris เดินออกจากห้องไปถึงหมุนหันมาหน้ากล้อง
นี่เป็นฉาก Long Take 360 องศา ที่มีความเจ๋งเป้งน่าประทับใจมากๆ ไม่เพียงสะท้อนชีวิตว่ายเวียนเป็นวงกลม ยังหมุนซ้ำสองรอบ (อดีตที่เคยเกิดขึ้นกับ Kris หวนกลับมาพานพบเจอในอีกไม่กี่นาทีข้างนี้) และตัวละครยังยืนสลับสับเปลี่ยนตำแหน่ง ออกมาดูสะท้อนกันคล้ายกระจกเงาอีก!
ตรงกันข้ามกับม้า ที่บนโลกมีตัวตนจับต้องได้ บนยานอวกาศพบเห็นเพียงรูปภาพถ่าย, Hari จากเคยพบเห็นแค่ในรูปบนโลก บนยานอวกาศกลับมีรูปร่างตัวตนจับต้องได้
Hari คนแรก ปรากฎตัวขึ้นยามกลางวัน (แสงปกติ) แต่เธอกลับสูญเสียความทรงจำ ระลึกถึงใบหน้าตนเองไม่ได้ ต้องส่องกระจกเพื่อค้นพบจิตวิญญาณของตนเอง
หนังไม่ได้มีพูดถึงความรุนแรงหรือสงคราม แต่ปืนกระบอกนี้ที่ปลายเท้าของ Hari สื่อถึงความไม่จำเป็น สิ่งต่ำทราม ถูกถีบตกข้างเตียง สะดีดสะดิ้งคิดว่ากลั่นแกล้งเล่น
ความตื่นตระหนก หวาดสะพรึงกลัว ทำให้ Kris ครุ่นคิดวิธีกำจัดสิ่งมีชีวิตต่างดาวนี้ พาขึ้นจรวดส่งไปนอกสถานีอวกาศ, บอกตามตรงว่าผมครุ่นคิดหาความหมายงามๆของฉากนี้ไม่ออกนอกจากเสื่อมๆ เพราะลักษณะแท่งยาวๆของจรวด แถมทำให้ตัวละครลูกเปลวไฟมอดไหม้เกือบตาย สื่อได้ถึงเพลิงราคะ ตัณหา บำบัดความใคร่ ฯลฯ
สำหรับ Hari คนที่สอง เธอปรากฎตัวขณะ Golden Hour ช่วงเวลาระหว่างพระอาทิตย์กำลังขึ้น/ตกดิน แสงสีส้มเหลืองทองอร่าม มันช่างงดงามจนทำให้ Kris โอบกอดยินยอมรับการมีตัวตนของเธอ ราวกับความผิดพลาดในอดีตกำลังมีโอกาสแก้ไข ช่วงเวลาชีวิตที่สูญเสียไปได้รับการเติมเต็ม
แค่ปิดประตูก็ทำให้คลุ้มคลั่ง นั่นเพราะ Hari คือภาพสะท้อนสิ่งที่อยู่ในความทรงจำของ Kris ดังนั้นเธอจึงไม่สามารถมีตัวตนอยู่ห่างจากเขาได้นานนัก (เช่นเดียวกันกับเด็กชายที่ถูกกักขังในห้องของ Dr. Sartorius เมื่อตอนพบเจอกันครั้งแรก)
ทำไมสถานีอวกาศแห่งนี้มันไมมันช่างรก เต็มไปขยะ แถมตู้ก็ดูเอียงๆ ยังกะ German Expressionism, อย่างที่อธิบายไปตอนต้นว่า สถานีอวกาศแห่งนี้เทียบแทนได้ด้วยสี่ห้องหัวใจ เมื่อมันรกๆแสดงว่าขาดการดูแลเอาใจใส่ ไม่เคยย้อนมองดูศึกษาเรียนรู้ตัวตนเอง
แม้ว่า Kris พยายามทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้บนโลก แต่ก็อดไม่ได้ที่จะนำคลิปวีดีโอ ภาพความทรงจำออกเดินทางติดตัวมาด้วย ซึ่งก็นำมาเปิดให้ Hari หวนระลึกความทรงจำ
สังเกตลักษณะ องค์ประกอบ โทนสีของภาพช่างดูละม้ายคล้ายคลึงภาพวาด The Hunters in the Snow (1565) ของจิตรกร Pieter Bruegel the Elder ที่ตัวละครจับจ้องมองขณะอยู่ในห้องสมุด
ห้องสมุด ศูนย์รวมองค์ความรู้ สถานที่สำหรับสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ ‘ความเป็นมนุษย์’
แสงเทียน คือสัญลักษณ์แห่งความหวัง มักปรากฎพบเห็นโดดเด่นชัดอยู่กับใบหน้าของ Kris และ Hari แต่หลังจากถูก Dr. Sartorius พูดพร่ำอธิบายด้วยเหตุผลข้อเท็จจริง สร้างความรวดร้าวฉานต่อหญิงสาวจนปัดเทียนตกพื้นมอดดับลม อนาคตระหว่างพวกเขากลายเป็นมืดมิดสนิทไร้หนทางออก
ขณะกำลังสนทนาเข้าด้ายเข้าเข็ม อยู่ดีๆแว่นหลุดออกจากกรอบ นี่ถือว่าสั่นสะเทือนองค์ความรู้ที่มนุษย์พึงมี ไม่สามารถไขปริศนาบางอย่างของจักรวาลได้ทุกสิ่งอย่าง
ความเป็นมนุษย์ วัดกันที่อะไร? รูปลักษณ์ภายนอกมีชีวิตลมหายใจ หรือการกระทำอันสื่อถึงความมีมนุษยธรรม?
นี่เป็นคำถามปรัชญาที่ Dr. Sartorius พยายามถกเถียงว่า Hari แม้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนมนุษย์แต่ก็ไม่ใช่มนุษย์ ซึ่งเธอก็ได้สวนกลับคำพูดด้วยการเดินตรงมาลูบศีรษะของ Kris บุคคลที่มีความครุ่นคิดแสดงออกถึง ‘มนุษยธรรม’ ต่างหากถึงเหมาะสมควรจะเรียกตนเองว่ามนุษย์
Kris หลังจากหลั่งไหลธารน้ำตาออกมา เดินผ่านชุดภาพวาด The Series of the Months (1565) ผลงานของ Pieter Bruegel the Elder ประกอบด้วย
– Hunters in the Snow, คนล่าสัตว์ในหิมะ หรือการกลับบ้านของคนล่าสัตว์
– The Gloomy Day, วันหมองหม่น
– The Hay Harvest, การเกี่ยวหญ้า
– The Harvesters, คนเกี่ยวข้าว
– The Return of the Herd, การต้อนฝูงสัตว์กลับบ้าน
ทั้งสี่ห้าภาพนี้สะท้อนสิ่งคือ วัฏจักรของมนุษย์ในรอบเดือน/ปี ทำทุกสิ่งอย่างซ้ำๆเพื่อให้แต่ละวันสามารถมีชีวิต ดิ้นรนเอาตัวรอด ลมหายใจตราบจนกว่าวันตาย
Kris เป็นมนุษย์ที่ไม่ถือตนว่าสูงส่งเหนือใคร เทิดทูนความรักไว้เหนือเกล้า นั่งลงคุกเข่า กล้องค่อยๆเคลื่อนไหลลงสู่แทบเท้าของ Hari ยินยอมศิโรราบให้ ไร้ซึ่งความเย่อหยิ่งทะนง
นั่นสร้างความไม่พึงพอใจ รับไม่ได้ต่อ Dr. Sartorius ซึ่งช็อตต่อไปของเขา พบเห็นกระจกเงาสะท้อนภาพด้านหลัง และมือยกขึ้นมาจับคอตนเอง (คอ คือสัญลักษณ์ของเกียรติ ศักดิ์ศรี ความทะยาน)
ฉากการล่องลอยในสภาวะไร้น้ำหนัก สะท้อนถึงความสิ้นหวัง/เวิ้งว้างว่างเปล่าของ Hari เธอรับรู้ตนเองดีว่าไม่ใช่มนุษย์ แต่จะให้ทำอย่างไรเพราะ Kris ยินยอมพร้อมให้เธอทุกสิ่งอย่าง
น่าสนใจมากๆกับหนังสือที่ล่องลอยมา เห็นว่าคือ Don Quixote อ้างอิงคำพูดสนทนากับ Sancho (ภาพของอัศวินขี่ Rosinante)
“I know only one thing. when i sleep, i know no fear, no, trouble no bliss. blessing on him who invented sleep. the common coin that purchases all things, the balance that levels shepherd and king, fool and wise man. there is only one bad thing about sound sleep. they say it closely resembles death”.
เพราะมิอาจทนเห็น Hari ทุกข์ทรมาน สภาพจิตใจของ Kris จึงค่อยๆเกิดความสับสน ขัดแย้ง พบเห็นการซ้อนทับ Cross-Cutting ราวกับจิตวิญญาณของเขาไม่สงบอยู่ในร่างเดียวถึงสองครั้งครา
จากนั้นวินาทีนี้ต้องให้สองข้างแบกหาม เดินไปตามท่อพบเห็นแสงไฟ Lens Flare สว่างจร้าเบื้องหน้า ความจริง-ความฝัน-ความทรงจำ นับจากนี้เริ่มเลือนลางเข้าหากัน (แบบ 8½)
เห็นเบื้องหลังฉากนี้เลยนำมาให้ชมดีกว่า, ถือได้ว่าสะท้อนฉากอนาคตอันไกลโพ้นของ 2001: A Space Odyssey (1968) ตรงกันข้ามกับห้องสีขาวโพลนว่างเปล่า กระจกสะท้อนตัวตน จิตวิญญาณ และความเป็นไปได้ไม่มีที่สุด
อย่างที่บอกไปว่า อดีต-ปัจจุบัน ความจริง-เพ้อฝัน กำลังซ้อนทับกันในมุมมองสายตาของ Kris ทำให้เขาพบเห็นแม่ ภรรยา สุนัข เดินขวักไขว่ในห้องบนสถานีอวกาศ
จากนั้นเฉดโทนสีภาพเปลี่ยนแปลงไป Kris ก็โผล่ยังบ้านหลังเก่าของตนเอง โอบกอดแม่ ชำละล้างมือที่เหมือนจะเปลื้อนรอยเลือด ชักชวนให้ฉงนเล็กๆว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่
มองในเชิงสัญลักษณ์ของมือเปลื้อนเลือด อาจจะท้อนถึงการฆ่าตัวตายของ Hari (เมื่อหลายปีก่อน) ล้วนมีสาเหตุมาจากตัวเขาที่ได้กระทำบางสิ่งอย่าง ซึ่งขณะนี้กำลังล้างออกสามารถหมายถึง ค่อยๆปล่อยวางความหมกมุ่นยึดติด ผ่อนคลายปม Trama ครั้งนั้นให้เบาบางลง สะอาดขึ้น
การเดินทางกลับบ้านของ Kris แต่ทุกสิ่งอย่างกลับตารปัตรตรงกันข้าม ต้นไม้มอดไหม้เหลือเพียงกิ่งก้าน ผืนผิวน้ำดำทึม ขณะที่ภายในบ้านกลับฝนตกชุ่มฉ่ำ
ความ Surrealist ของฉากนี้ถือเป็นการอารัมบทช็อตสุดท้ายของหนัง สะท้อนว่าตัวละครอาจไม่ได้กลับโลกจริงๆ บ้านหลังนี้คือสถานที่ภายในจิตใจตัวละคร เดินทางไปเพื่อพบความสงบสุข(ภายในจิตใจ)
การได้หวนกลับบ้านทำให้ Kris คุกเข่าโถมเข้ากอดพ่อ เห็นว่าอ้างอิงจากภาพวาด The Return of the Prodigal Son (1669) ผลงานของ Rembrandt รูปลักษณะนี้เลยนะ!
กล้องค่อยๆเคลื่อนถอยจากมุมสูงด้วยเฮลิคอปเตอร์ ก่อนถูกตัดแต่งซ้อนภาพให้เห็นเสมือนว่า บ้านของ Kris อยู่ท่ามกลางมหาสมุทรของ Solaris
นัยยะของช็อตสุดท้ายนี้เปิดกว้างตีความได้ร้อยแปด แต่ที่ฮ็อตฮิตสุดก็คือพระเอกไม่ได้เดินทางกลับโลก แต่ค้นพบบ้านแห่งความสงบสุขขึ้นภายในจิตใจของตนเอง
ตัดต่อโดย Lyudmila Feiginova ขาประจำของผู้กำกับ Tarkovsky ร่วมงานกันตั้งแต่ Ivan’s Childhood (1962), ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาของ Kris Kelvin ปรากฎตัวอยู่แทบทุกช็อตฉากในหนัง
แม้หนังถูกแบ่งออกเป็นสองภาค แต่สามารถแบ่งองก์ออกได้เป็น
– องก์ 1 วันสุดท้ายบนโลก
– องก์ 2 วันแรกบนสถานีอวกาศ Solaris, พบเจอ Hari คนแรก
– องก์ 3 วันถัดๆมา การยินยอมรับ Hari คนที่สอง สนทนาปรัชญาหัวข้อ ‘ความเป็นมนุษย์’
– องก์ 4 การฆ่าตัวตาย และจุดจบของความทรงจำ
– ปัจฉิมบท เดินทางกลับบ้าน
เพลงประกอบโดย Eduard Artemyev (เกิดปี 1937) สัญชาติรัสเซีย โดดเด่นกับแนวเพลง Electronic ด้วยเครื่องสังเคราะห์เสียง ทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องแรก Solaris (1972), ผลงานเด่นๆอาทิ The Mirror (1975), Stalker (1979), The Bodyguard (1979), Burnt by the Sun (1994) ฯ
ขณะที่ 2001: A Space Odyssey (1968) มีสองบทเพลงได้รับการจดจำคู่กับหนัง Richard Strauss: Also sprach Zarathustra และ Johann Strauss II: The Blue Danube, สำหรับ Solaris (1972) ก็มีเฉกเช่นกัน แม้อาจไม่ยิ่งใหญ่ตราตรึงเทียบเท่า แต่คือสองบทเพลงที่มอบสัมผัสแห่งจิตวิญญาณ ความโหยหาต้องการบางสิ่งอย่างของชีวิต บรรเลงออร์แกนโดย Leonid Roizman
– Johann Sebastian Bach: Ich Ruf Zu Dir, Herr Jesu Christ – BWV 639
– Johann Sebastian Bach: Prelude and Fugue in F minor – BWV 881
นอกจากสองบทเพลงหลักของ Bach คำเรียกร้องของ Tarkovsky ต่อ Artemyev อยากได้สัมผัสของ Ambient Sound ด้วยเครื่องดนตรี Electronic ที่มีความคลุมเคลือคลอประกอบพื้นหลังเบาๆ ซึ่งเป็นเสียงแทนดาวเคราะห์ Solaris (ตรงกันข้ามกับโลกที่ใช้บทเพลงคลาสสิก)
Solaris นำเสนอสิ่งต่างดาวที่สุดในมุมมองมนุษย์ยุคสมัยนั้น ไม่ได้อาศัยอยู่กาแลคซี่อันไกลโพ้น แต่คือภายในจิตใจเราเองที่ถูกมองข้าม ปราศจากการติดต่อสื่อสาร หลงลืมเลือนว่าเคยมีรูปร่างตัวตนอยู่ ถึงกระนั้นก็ใช่ว่ามันจะหายสาปสูญ แค่ต้องให้เวลาความสนใจสักหน่อย การศึกษาเรียนรู้ ยินยอมรับ และเข้าใจในความต้องการแท้จริงของตนเอง
สมาชิกที่(เคย)อาศัยบน Solaris ต่างมีมุมมองทัศนคติต่อการพบเจอตัวตนเองแตกต่างกันออกไป
– เริ่มจาก Berton ปฏิบัติภารกิจจนครบกำหนดและเดินทางกลับสู่โลกเรียบร้อยแล้ว ต้องการสื่อสารกับเพื่อนมนุษย์ให้รับรู้เข้าใจถึงสิ่งที่พวกตนค้นพบ แต่กลับไม่มีใครใคร่เปิดใจใคร่รับฟัง หนำซ้ำยังมองว่าคือปัญหาทางจิต พบเห็นภาพหลอนหลอกตา กระนั้นลึกๆก็ยังเชื่อว่าสิ่งที่ตนค้นพบนั้นคือเรื่องจริง!
– Dr. Gibarian ตัดสินใจฆ่าตัวตายก่อนหน้าที่ Kris จะเดินทางไปถึง Solaris, มองมุมหนึ่งคือความขี้ขลาดเขลา หวาดสะพรึงกลัว ไม่สามารถยินยอมรับเผชิญหน้า ต่อสิ่งเกิดขึ้นในสายตาตนเอง ขณะเดียวกันคือบุคคลผู้มากล้นด้วยอุดมการณ์ เย่อหยิ่งทะนงในเกียรติศักดิ์ศรี ไม่ต้องการสูญเสีย ‘ความเป็นมนุษย์’ ไปกับสิ่งลวงตาที่เกิดขึ้น
– Dr. Sartorius มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมุมนักวิทยาศาสตร์ คิดเห็นนั่นไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเรียกว่ามนุษย์ จึงทำการทดลองโน่นนี่นั่นเพื่อค้นหาคำตอบรูปธรรมจับต้องได้ จนที่สุดหมดสิ้นสูญคุณธรรม/มโนธรรม ความเป็นมนุษย์โดยสิ้นเชิง
– Dr. Snaut เป็นคนชอบศึกษาเรียนรู้ เปิดใจรับฟัง ปรับเปลี่ยนตัวเอง เลือกเอาหนเหมาะสมต่อตนที่สุด แรกเริ่มจงใจปล่อยให้ Kirs พบเจอทุกสิ่งอย่างเสียก่อน จากนั้นค่อยเข้าไปพูดคุยอธิบาย ให้คำชี้แนะแนวทาง แต่เขาเองกลับลุ่มหลงมัวเมามาย เพราะไร้ซึ่งเป้าหมายความต้องการส่วนตัว
และ Kris Kelvin ถือเป็นส่วนผสมของทุกตัวละครที่กล่าวมา เริ่มต้นจากความหวาดสะพรึงกลัว (ต่อ Hari ตนแรก) ทำการทดลองพาเธอขึ้นจรวดปล่อยอวกาศ จากนั้นพอรับรู้ว่านั่นไม่ใช่จุดสิ้นสุดก็ค่อยๆเรียนรู้ปรับตัว ยินยอมรับในความเป็นเธอ และพร้อมพิสูจน์ให้ผู้อื่นเห็นพ้องตาม
การแสดงออกของ Kris ต่อ Hari มองมุมหนึ่งคือหวนระลึกนึกย้อนความทรงจำ, เติมเต็มช่วงเวลาที่สาปสูญหาย, สะท้อนจิตสำนึกความมีมนุษยธรรมประจำใจ และเป็นการต่อสู้เผชิญหน้า ก้าวข้ามผ่านปม Trama ฝึกลึกภายในจิตใจ
ผู้กำกับ Andrei Tarkovsky มีชีวิตวัยเด็กพานผ่านสงครามโลกครั้งที่สองอย่างทุกข์ยากลำบาก อาศัยอยู่บ้านชนบทแถมอยู่ไม่ห่างจากตะเข็บสนามรบ ได้ยินเสียงระเบิด วิ่งหลบห่ากระสุน [คล้ายๆ Ivan’s Childhood (1962)] เลยไม่แปลกจะต่อต้านสงครามความขัดแย้งทุกรูปแบบ
กองเซนเซอร์ของสหภาพโซเวียตยุคสมัยนั้น คงมองว่า Solaris (1972) เป็นภาพยนตร์ที่ตอบโต้การแข่งขันด้านอวกาศกับ 2001: A Space Odyssey (1968) เลยมองข้ามเนื้อหาสาระที่ค่อนข้างโดดเด่นชัดเจนว่า แฝงแนวคิดต่อต้านสงครามเย็น (Anti-War)
แต่ประเด็นดังกล่าวแค่เสี้ยวเศษหนึ่งที่สามารถตีความได้เท่านั้นนะครับ เพราะสไตล์ Tarkovsky สรรค์สร้างผลงานให้เปิดกว้างทางความคิด ขึ้นอยู่กับผู้ชมจะมองเห็นหมกมุ่นครุ่นยึดติดกับสิ่งใด วิเคราะห์ได้ก็ตามนั้นเลยไม่มีถูกผิด
มุมมองที่ผมใคร่สนใจมากสุดของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือปรัชญาการค้นหาตัวตนเอง ซึ่งสอดคล้องใกล้เคียงพุทธศาสนาอย่างยิ่งเลยละ! การฝึกสมาธิ ก็เพื่อเรียนรู้จับต้องจิตตนเอง ขณะนี้กำลังแสดงออกอะไร? มโนกรรม วจีกรรม กายกรรม เมื่อใดเกิดสติก็สามารถควบคุมตนเอง ยับยั้งชั่งใจต่อกิเลสลุ่มหลงใหลภายนอก ท้ายสุดบ่อเกิดปัญญา เข้าใจเหตุผลการกระทำ และสัจธรรมความจริงแห่งสากลจักรวาล
ฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ามา 2 รางวัล
– Grand Prize of the Jury (ที่สอง)
– FIPRESCI Prize (ของนักวิจารณ์)
ด้วยทุนสร้างประมาณ SUR 1,000,000 (=$829,000 เหรียญ) ไม่มีรายงานตัวเลขรายรับ แต่ยอดขายตั๋วในสหภาพโซเวียต 10.5 ล้านใบ ต่อเนื่องระยะเวลา 15 ปี (เห็นว่าหนังเข้าฉายเพียง 5 โรงเท่านั้นด้วยนะ)
“one of the biggest events in the Soviet science fiction cinema”
– นักวิจารณ์ M. Galina
รับชมรอบนี้ทำให้ผมชื่นชอบคลั่งไคล้หนังเพิ่มขึ้นมากๆ อาจเพราะจับประเด็นสำคัญไว้ได้ก่อนแล้วเลยไม่ต้องหมกมุ่นครุ่นคิดอะไรอีก แค่คอยสังเกตรายละเอียด เนื้อหาสนทนา ภาษาภาพยนตร์ ทำให้ค้นพบความลุ่มลึก ละเอียดอ่อน ทั้งยังไม่รู้สึกถึงความเชื่องช้าเฉื่อยชา ทุกสิ่งอย่างช่างลงตัวพอดิบดี มีจังหวะสอดคล้องลมหายใจกลายเป็นสมาธิได้เลย
ในบรรดาผลงานของผู้กำกับ Tarkovsky เรื่องที่ส่วนตัวชื่นชอบสุดยังคงเป็น Andrei Rublev (1966) แต่ความประทับใจครั้งนี้ต่อ Solaris (1972) กำลังไล่กระชั้นมาติดๆ จะแซงได้ไหมรอผมกลับไป Revisit เรื่องนั้นก่อนแล้วกันนะ … ฮา!
แม้ได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม นักวิจารณ์หลายๆคนยกย่องคือ Masterpiece แต่ผู้กำกับ Tarkovsky กลับมองว่า Solaris คือผลงานด้อยคุณภาพสุด ‘artistic failure’
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ถึงหนังจะดูยากชิบหาย! แต่ถ้าคุณสามารถครุ่นคิดทำจนค้นพบสิ่งสำคัญสุดที่อยู่ภายในจิตใจ ก็อาจทำให้มุมมองต่อการใช้ชีวิตปรับเปลี่ยนแปลงไปก็เป็นได้
จัดเรต 15+ กับความเชื่องช้าสร้างบรรยากาศอึดอัดตึงเครียด และมุมมองสุดโต่งของตัวละครต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
คำโปรย | การค้นพบอันยิ่งใหญ่ที่สุดของผู้กำกับ Andrei Tarkovsky ในภาพยนตร์ Solaris คือวิธีติดต่อสื่อสารกับจิตวิญญาณเราเอง
คุณภาพ | ลุ่มลึก–ทรงคุณค่า
ส่วนตัว | คลั่งไคล้
Solaris (1972)
(10/2/2016) เมื่อวานพูดถึง A Space Odyssey ของทางฝั่งอเมริกาไป คราวนี้มาพูดถึงการโต้กลับของ Russia กันบ้าง Andrei Tarkovsky ปรมาจารย์ผู้กำกับฝั่ง USSR เขาเลือก Solaris นิยายไซไฟจากนักเขียนชาว Polish ที่มีแนวคิดตรงกันข้ามกับ A Space Odyssey โดยสิ้นเชิง ถ้าบอกว่า A Space Odyssey คือด้านสว่างเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโลก-จักรวาล-มนุษย์ Solaris จะคือด้านมืด เกี่ยวกับโลก-จักรวาล-ในจิตใจของมนุษย์
เห็นว่าต้นฉบับนิยายเรื่องนี้ เหตุการณ์จะเกิดขึ้นบนยานอวกาศ ที่โคจรรอบดาวเคราะห์ที่ชื่อ Solaris แทบจะทั้งเรื่อง แต่กับหนัง คงเพราะด้วยงบประมาณที่ค่อนข้างจำกัด เรื่องราวครึ่งแรกถูกเขียนขึ้นใหม่ และดำเนินเรื่องอยู่บนโลก ที่เหลือก็เซ็ตฉากขึ้นในยาวอวกาศที่โคจรรอบดาวเคราะห์ Solaris เช่นกัน ผู้แต่งนิยายต้นฉบับ Stanisław Lem ไม่ได้ร่วมในกระบวนการสร้างเหมือน Clark กับ Kubric ผลลัพธ์คือเขาไม่ชอบบทที่ได้รับการตัดแปลงเท่าไหร่ แต่ก็เคารพงานของ Fridrikh Gorenshtein ที่ร่วมเขียนบทกับ Andrei Tarkovsky
ตอนหนังฉายปี 1972 ที่ Cannes Film Festival ได้รางวัล Grand Prix Spécial du Jury และกลายเป็นหนังฮิตของ USSR เห็นว่ายืนโรงฉายอยู่ 15 ปีถึงลาโรง นิตยสาร Empire จัดอันดับ 68 กับ The 100 Best Films of World Cinema พูดกันตามตรง นี่เป็นอีกครั้งที่ตัวแทนจาก Russia ตกอยู่ภายใต้เงามืดของอเมริกา คนทั้งโลกพูดถึงแต่ A Space Odyssey แต่น้อยคนจะรู้จัก Solaris ให้ผมประเมิน ผมคิดว่า Solaris มีมุมมองการเล่าที่น่าสนใจกว่า A Space Odyssey มาก คือการเล่าถึงแนวคิดข้างใจจิตใจของมนุษย์เมื่อได้เจอกับ extra-terrestrial life แต่ในแง่ของความเป็นศิลปะ A Space Odyssey มีอะไรที่โดดเด่นและน่าจดจำกว่ามาก คงเพราะเหตุนี้ เป็นอีกครั้งที่น่าจะถือว่า รัสเซีย แพ้ให้กับ อเมริกา
ใน A Space Odyssey เราจะไม่เห็นสิ่งมีชีวิตอื่นนอกจากมนุษย์ และแท่งดำๆนั้นเลย เราไม่สามารถสื่อสารกับมัน ทำความเข้าใจกับมันได้สักนิด แต่ Solaris เราสามารถสื่อสารกับ extra-terrestrial life แต่เป็นในรูปแบบที่คาดไม่ถึง แนวคิดนี้ผมชอบมากๆ คือ Alien ไม่จำเป็นต้องมีอะไรที่แตกต่างจากมนุษย์ ไม่จำเป็นต้องเหมือนในหนังอย่าง Star Wars, Star Trek ที่มีรูปลักษณ์ต่างออกไป แต่นี่เป็นหนังที่นำเสนอ Alien ในรูปแบบนามธรรม มาในรูปลักษณ์ของมนุษย์ที่เกิดจากการปรุงแต่งของจิตใจของผู้ได้รับการสื่อสาร แต่ข้างในรูปลักษณ์นั้น เต็มไปด้วยความฉงนสงสัย ว่าฉันเป็นใคร ทำไมฉันถึงเกิดมา
หนังของ Tarkovsky เป็นหนังที่ใช้ความอดทนในการดูพอสมควร ผมเริ่มจับจุดบางอย่างของเขาได้ ผู้กำกับเป็นคนที่ชอบการปล่อยให้คนดูค่อยๆสัมผัสเรื่องราวจากหนังทีละเล็กละน้อย ค่อยเป็นค่อยไป หนังเขาเขาทุกเรื่องยาว (มากๆด้วย เกิน 2 ชั่วโมงครึ่ง) มีการตัดต่อที่ช้าๆ มีช่องว่างให้หายใจ คนที่ไม่ชอบอะไรที่ละเมียดละไม เขาจะรู้สึกว่าหนังน่าเบื่อ แต่เราสามารถมองได้ว่า ช่วงเวลาที่ผู้กำกับปล่อยให้หนังค่อยๆไปนี้ เราสามารถคิดทบทวน หรือสัมผัสกับอารมณ์บางอย่างในฉากก่อนหน้านั้นๆได้ ผมดูหนังเรื่องนี้จบโดยแทบไม่ต้องคิดอะไรต่อเลย เพราะช่วงเวลาเอื่อยๆของหนัง ทำให้ผมมีเวลาคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้น มีเวลาทำความเข้าใจเหตุการณ์ ตัวละครคิดอะไร มีการนำเสนออย่างไร ดูจบแล้วเราสามารถอิ่มกับมันได้เลย ไม่ต้องมาคิดต่อมากนัก มีคนเรียกหนังของ Tarkovsky ว่าเป็นแนว Mediation คือดูแล้วต้องหายใจเข้าออก ค่อยๆทำสมาธิ จับลมหายใจของตัวเองให้เข้ากับลมหายใจของหนัง กำลังคิดอะไรร้อนๆอยู่ มาดูหนัง Tarkovsky ถ้าไม่เย็นไปเลย ก็จะลุกไหม้ไปเลยนะครับ หุๆ
Solaris ตั้งคำถาม และเสียดสีข้างในจิตใจของมนุษย์ เราจะคิดยังไง ทำอะไรเมื่อเราเจอกับ Alien หนังใส่ตัวละครที่มีมุมมองหลากหลาย เช่น นักวิทยาศาสตร์ นักจิตวิทยา นักบิน แต่ละตัวละครมีแนวคิด มุมมองต่อ Alien ต่างออกไป จุดนี้คนดูอาจเห็นไม่ชัดนัก ผมมาเห็นเอาช่วงหลังๆ กว่าที่พระเอก Donatas Banionis ที่เล่นเป็น Psychologist Kris Kelvin จะได้เจอกับเอเลี่ยน ก็เล่นเราไปครึ่งเรื่องแล้ว ครึ่งแรกเป็นการตั้งคำถาม เหตุการณ์ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบนโลก หนังตั้งคำถามเราว่า ถ้าเกิดคุณเจอ Alien คุณจะ….ยังไง (คิด,ทำ,รู้สึก) ครึ่งหลังคือเมื่อตัวละครได้มีปฏิสัมพันธ์กับ Alien จริงๆ ผมชอบการแสดงของ Banionis นะ เพราะเขานำเสนอออกมาให้เรารู้สึกชัดเจนมากๆ เมื่อเจอกับสิ่งที่ไม่รู้ครั้งแรกคือหวาดกลัว แต่หลังจากนั้นเขายอมรับมัน มองเป็นโอกาส ทำในสิ่งที่อดีตเขาไม่สามารถทำได้ เป็นคุณจะทำยังไง เมื่อเห็น Alien หน้าตาพิมพ์เดียวกับคนรักเก่าที่ตายไปของคุณ ขณะที่ตัวละครอื่นๆ เช่น นักวิทยาศาสตร์ เขา Dr.Snaut แสดงโดย Jüri Järvet และ Dr. Sartorius แสดงโดย Anatoly Solonitsyn การโต้ตอบกับสิ่งที่ไม่รู้ คือการหาคำตอบ เขาทำการทดลองต่างๆนานากับ Alien เราจะได้ยินพวกเขาสารธยายการกระทำแปลกๆ เช่น แช่แข็ง จับมัด การกระทำที่ดูไม่มีมนุษยธรรมเสียเลย อีกตัวละครหนึ่งที่ฆ่าตัวตายก่อนที่พระเอกเราจะไปถึงสถานี นั่นคือเขายอมรับไม่ได้ จริงๆมีอีกตัวละครหนึ่งตอนต้นเรื่อง (Berton) ที่กลับไปยังโลกแล้วเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้กับคนบนโลกฟัง เขากลับถูกกล่าวหาว่ามีอาการทางจิตประสาท นั่นคือภาพความคิดของคนทั่วไปต่อสิ่งไม่รู้
เป็นคุณเจอกับสิ่งที่ไม่รู้ จะทำยังไง?
กำกับภาพโดย Vadim Yusov ในหนัง 2001 เราจะเห็นภาพสวยๆของท้องฟ้า ยานอวกาศ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ แต่กับ Solaris เราจะเห็นตรงข้ามกันทั้งหมด เปิดเรื่องเราจะเห็นพื้นน้ำ ต้นไม้ (ชีวิต) และม้า บนยานอวกาศ เราแทบจะไม่เห็นอะไรข้างนอกเลย เห็นแต่ภาพภายในที่ดูเหมือนเขาวงกต ลึกลับ ซับซ้อน จะมีก็แต่ตอนจบกระมังที่เราเห็นดาวเคราะห์ Solaris เต็มๆดวง
ถ้าใครสังเกตหน่อย เหตุการณ์บนโลก หนังใช้ญี่ปุ่นเป็นฉากหลังนะครับ ผมสังเกตเห็นตัวอักษรตามร้านค้า ตามถนนมันเป็นภาษาญี่ปุ่นเลยเอะใจทีเดียว ผมคิดว่าฉากนั้น หนังตั้งใจนำเสนอโลกอนาคต แต่ไม่มีทุนจะสร้างให้อลังการแบบ Star Wars เลยใช้เมือง Akasaka ของ Tokyo เป็นตัวแทนของโลกอนาคต ผมดูแล้วบรรยากาศเหมือนกรุงเทพฯ เราปัจจุบันเลย ตึกสูงใหญ่ ทางด่วนเต็มไปหมด มันอาจจะยังไม่สูงระฟ้า เพราะหนังถ่ายทำปี 197x แต่เหตุการณ์ในหนัง ผมเชื่อว่าอาจจะสักปี 21xx นะครับ (หนังไม่ได้บอก แต่ถ้าจะให้คาดการณ์คงประมาณช่วงนี้)
ตัดต่อโดย Lyudmila Feiginova จุดสังเกตของหนัง Tarkovsky ถ้าคุณได้ดูหนังของเขาสัก 2 เรื่องก็จะจับได้ชัดเจนมากๆ เขาเป็นคนชอบแช่ภาพอะไรสวยงามๆไว้หลายวินาที เพื่อเป็นเวลาให้ครุ่นคิดสาสน์ในหนัง ภาพพวกนั้นก็จะมีความหมายของมัน ดูเหมือนว่า Tarkovsky จะแอบใส่ Easter Egg หนังเก่าๆของเขาด้วย ในเรื่องนี้ผมแอบเห็นภาพวาดของ Andrei Rublev อยู่ด้วย
เพลงประกอบเมื่อ Kubrick ใช้เพลง classic ดังๆแล้ว ทำไมหนังเรื่องนี้ถึงจะไม่มีบ้าง Ich ruf’ zu dir, Herr Jesu Christ (BWV 639) โดย Johann Sebastian Bach เคยได้ยินกันไหมเอ่ย ช่วงหลังๆของหนัง จะใช้เพลงสไตล์ electronic ประพันธ์และเล่นโดย Eduard Artemyev
อารมณ์เพลงของ Bach จะออกหม่นๆแบบนี้แทบทุกเพลงนะครับ ซึ่งเมื่อบรรเลงโดยเครื่องดนตรีอย่าง Organ ในโบสถ์ ความรู้สึกโหยหวน วาบหวิว ฟังแล้วหลอนๆ (ผมไม่ค่อยชอบเพลงลักษณะนี้เท่าไหร่) ในหนัง จะได้ยินเพลงนี้ตอนต้นเรื่อง แสดงถึงอารมณ์ของตัวละคร ภาพบรรยายประกอบเพลงจะเป็นสาหร่ายในน้ำที่ค่อยๆไหลตามกระแสน้ำ ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าแปลว่าอะไร แต่ความรู้สึกมันเหมือนชีวิตที่คล่อยๆเคลื่อนไหว ตามสายน้ำ กาลเวลา เราจะลู่ตามหรือสู้ตามกระแส (รู้สึกหนังจะออกไปทางลู่ตามมากกว่า)
คงแล้วแต่รสนิยมของคนดูนะครับ มันไม่แน่ว่าถ้าคุณชอบ 2001 แล้วจะชอบ Solaris หรือถ้าชอบ Solaris จะชอบ 2001 ผมมองว่าหนัง 2 เรื่องนี้ถูกสร้างเพื่อให้แข่งขัน เปรียบเทียบกัน มันเป็นเหรียญคนละด้าน เป็นหนังคนละมุมมอง จากผู้กำกับที่อยู่กันคนละขั้วโลก สมัยสงครามเย็น อเมริกา สู้กับ รัสเซีย มันไม่ใช่แค่นิวเคลียร์นะครับ แต่รวมถึงผลงานที่ออกมาสู่สายตาโลกด้วย ผมคิดว่าถ้า Solaris ออกฉายก่อน 2001 และรัสเซียเอาชนะอเมริกาได้ คนจะบ้าฮิต Solaris มากกว่า 2001 แน่ๆ
ผมแนะนำจริงๆนะครับ ถ้าคุณดู 2001 แล้วไม่รู้จัก Solaris ให้ลองหามาดู หนังเข้าใจยากพอๆกันนะแหละ ถ้าดู 2001 ได้ คุณก็ควรจะต้องดู Solaris ได้ ผมคิดว่า Solaris ดูง่ายกว่าด้วย ไม่จำเป็นต้องหาบทวิเคราะห์มาอ่านก็น่าจะจับใจความ ตีความ วิเคราะห์หนังได้ เห็นว่ามีเวอร์ชั่น Remake กำกับโดย Steven Soderbergh นำแสดงโดย George Clooney เมื่อปี 2002 ฉบับนั้นยาว 99 นาทีเท่านั้น หนังอาจจะสวยงามไม่เท่า แต่ก็ถือว่าไม่เลว มีอะไรหลายๆอย่างที่อธิบายได้เด่นชัดกว่าหนังต้นฉบับ จะดูเวอร์ชั่นไหนก็ได้ถ้าจะดูเอาเนื้อเรื่อง แต่ถ้าดูเอาความรู้สึก ให้หาดูต้นฉบับนี้นะครับ
คำโปรย : “Solaris กำกับโดย Andrei Tarkovsky สวยงาม ลึกซึ้ง ถ้าเปรียบ 2001 A Space Odyssey คือด้านสว่างของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับจักรวาล Solaris คือด้านมืดที่อยู่ข้างในจิตใจของมนุษย์และจักรวาล”
คุณภาพ : LEGENDARY
ความชอบ : LIKE
Leave a Reply