Oh, Sun (1970) , : Med Hondo ♥♥♥♥
กลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania หลังเข้าร่วมพิธีศีลจุ่ม อพยพเดินทางสู่ฝรั่งเศสเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่พอมาถึงกลับไม่สามารถหาทำงาน ถูกปฏิเสธต่อต้าน ขับไล่ ผลักไส หวาดกลัวการรุกรานของ ‘Black Invasion’ นำเสนอด้วยวิธีการที่หลากหลาย ท้าทาย คล้ายศิลปะภาพแปะติด (Collage)
Hondo offers a stylistic collage to reflect the protagonist’s extremes of experience, from docudrama and musical numbers to slapstick absurdity, from dream sequences and bourgeois melodrama to political analyses.
Richard Brody นักวิจารณ์จาก The New Yorker
ขณะที่ Ousmane Sembène คือบุคคลแรกที่บุกเบิกวงการภาพยนตร์แอฟริกัน จนได้รับฉายา “Father of African Cinema” แต่ลูกเล่น ลีลา ภาษาภาพยนตร์ ไม่ได้มีความแปลกใหม่ ประดิษฐ์คิดค้นอะไรให้โลกตกตะลึง, Med Hondo ถือเป็นผู้กำกับคนแรกๆ(ของแอฟริกา) ที่พยายามรังสรรค์สร้างภาษาภาพยนตร์ในสไตล์ของตนเอง ด้วยเหตุนี้เลยได้รับคำยกย่อง “Founding Father of African Cinema” … แค่เพิ่มคำว่า Founding ทำให้ความหมายเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง
สไตล์ภาพยนตร์ของผกก. Hondo ถือว่ามีความสุดโต่ง บ้าระห่ำ ด้วยวิธีการดำเนินเรื่องที่หลากหลาย มากมายแนวทาง (Genre) อย่างที่นักวิจารณ์ Richard Brody ให้คำเรียกศิลปะภาพแปะติด (Collage) ยกตัวอย่าง
- เริ่มต้นด้วยภาพอนิเมชั่นเคลื่อนไหว
- ให้นักแสดงเล่นละคอนสมมติ ที่สามารถตีความในเชิงสัญลักษณ์
- บางครั้งทำออกมาในเชิงสารคดี มีการพูดคุย สัมภาษณ์ สอบถามความคิดเห็นบุคคลต่างๆ (มีการสบตาหน้ากล้อง)
- ตัวละครนอนหลับฝัน จินตนาการเหตุการณ์ที่อาจบังเกิดขึ้น
- เข้าห้องเรียน อาจารย์สอนทฤษฎี อธิบายแนวคิด วิเคราะห์การเมืองโน่นนี่นั่น
- ระหว่างนั่งดื่ม ก็มีการร้องรำทำเพลง โดยเนื้อเพลงมักมีเนื้อหาที่สอดคล้อง เข้ากับหัวข้อขณะนั้นๆ
เอาจริงๆผมไม่รู้จะให้คำนิยาม เรียกสไตล์ผกก. Honda ว่ากระไรดี? เป็นความพยายามครุ่นคิดค้นหา พัฒนาภาษาสื่อสาร เพื่อให้ได้มาซึ่งอัตลักษณ์ภาพยนตร์แอฟริกัน ซึ่งจะว่าไปสารพัดวิธีการดำเนินเรื่อง ดูสอดคล้องเข้าความหลากหลายทางชาติพันธุ์
ในการจัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลครั้งล่าสุดของนิตยสาร Sight & Sound: Critic’s Poll 2022 มีผลงานของผกก. Hondo ติดอันดับถึงสองเรื่อง ประกอบด้วย
- Soleil Ô (1970) ติดอันดับ 243 (ร่วม)
- West Indies: The Fugitive Slaves of Liberty (1979) ติดอันดับ 179 (ร่วม)
นี่การันตีถึงอิทธิพล ความสำคัญ ไม่ใช่แค่ต่อวงการภาพยนตร์แอฟริกัน แต่สามารถเปิดโลกทัศน์ให้กับผู้ชมทั่วโลก แต่ขอเตือนไว้ก่อนว่า Soleil Ô (1970) มีความยากในการรับชมระดับสูงสุด (Veteran) ถ้าครึ่งชั่วโมงแรกคุณยังไม่สามารถทำความเข้าใจอะไร ก็อย่าเพิ่งเร่งรีบร้อน รอสะสมประสบการณ์ให้มากกว่านี้ก่อน
Med Hondo ชื่อเกิด Mohamed Abid (1935-2019) นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่ Ain Bni Mathar, French Morocco (ในวิกิพีเดียฝรั่งเศสบอกว่าเกิดปี 1936 ที่ Atar, Colonial Mauritania) บิดาสัญชาติ Senegalese แต่งงานกับมารดาชาว Mauritanian พอเติบใหญ่เดินทางสู่ Rabat (Morrocco) ฝึกฝนการเป็นเชฟ ก่อนแอบขึ้นเรืออพยพสู่ฝรั่งเศสตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959 รับจ้างทำงานสารพัด (Jack of all trades) พ่อครัว แรงงาน พนักงานเสิร์ฟ ขับรถส่งของ ฯ
ระหว่างนั้น Hondo ก็หาโอกาสเข้าเรียนการแสดง กลายเป็นลูกศิษย์ของ Françoise Rosay ได้ทำการแสดงละคอนเวทีหลายเรื่อง จนเมื่อปี ค.ศ. 1966 รวบรวมผองเพื่อนชาวแอฟริกัน ก่อตั้งคณะการแสดงของตนเอง Shango Company ระหว่างนั้นก็เริ่มเก็บหอมรอมริด ครุ่นคิดวางแผนสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก
Soleil Ô แปลว่า Oh, Sun นำเรื่องราวจากประสบการณ์ตรง กึ่งๆอัตชีวประวัติของผกก. Hondo ตั้งแต่มาถึงฝรั่งเศส พบเห็นความทุกข์ยากลำบากของเพื่อนผู้อพยพชาวแอฟริกัน เดินทางมาไล่ล่าความฝัน แต่กลับถูกพวกคนขาวกดขี่ข่มเหงสารพัด ไร้งาน ไร้เงิน แล้วจะชวนเชื่อให้พวกฉันมายังสรวงสวรรค์ขุมนรกแห่งนี้ทำไมกัน??
เกร็ด: Soleil Ô คือชื่อบทเพลงของชาว West Africa (หรือ West Indian) รำพันความทุกข์ทรมานจากการถูกจับ พาตัวขึ้นเรือ ออกเดินทางจาก Dahomey (ปัจจุบันคือประเทศ Benin) มุ่งสู่หมู่เกาะ Caribbean เพื่อขายต่อให้เป็นทาส
นำแสดงโดย Robert Liensol (1922-2011) เกิดที่ Saint-Barthélemy, French West Indies (หมู่เกาะในทะเล Caribbean ที่เป็นอาณานิคมฝรั่งเศส) โตขึ้นอพยพย้ายสู่กรุง Paris ทำงานตัวประกอบละคอนเวที/ภาพยนตร์ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1954 ร่วมก่อตั้งคณะการแสดง Compagnie des Griots (ถือเป็นคณะของชาวแอฟริกันกลุ่มแรกในฝรั่งเศส) จนกระทั่งควบรวมกับคณะของ Med Hondo เมื่อปี ค.ศ. 1972 เปลี่ยนชื่อเป็น Griot-Shango Company
รับบทชาวชาว Mauritanian หลังเข้าพิธีศีลจุ่ม เดินทางสู่ฝรั่งเศสเพื่อเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน แต่พอมาถึงกลับไม่สามารถหางานทำ แถมยังถูกพวกคนขาวมองด้วยสายตาดูถูก แสดงความหมิ่นแคลน ใช้คำพูดเหยียดหยาม (Racism) เลวร้ายสุดคือโดนล่อหลอกโดยหญิงผิวขาว ครุ่นคิดว่าคนดำมีขนาดยาวใหญ่ สามารถเติมเต็ม ‘Sexual Fantasy’ พอเสร็จสรรพก็แยกทางไป นั่นคือฟางสุดท้าย แทบอยากระบายอารมณ์คลุ้มบ้าคลั่ง
เกร็ด: ทุกตัวละครในหนังจะไม่มีชื่อเสียงเรียงนาม เพียงคำเรียกขานอย่าง Visitor, Afro Girl, White Girl ฯ เพื่อเป็นการเหมารวม ไม่จำเพาะเจาะจงตัวบุคคล
บทบาทของ Liensol ก็คือตัวตายตัวแทนผกก. Hondo เหมารวมผู้อพยพชาวแอฟริกัน เริ่มต้นเดินทางมาถึงฝรั่งเศสด้วยรอยยิ้ม อิ่มหฤทัย เอ่อล้นด้วยพลังใจ คาดหวังจะได้เติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน แต่หลังจากอาศัยอยู่สักพัก ประสบพบเห็น เรียนรู้สภาพเป็นจริง ค่อยๆตระหนักว่าสถานที่แห่งนี้หาใช่สรวงสวรรค์ ตรงกันข้ามราวกับขุมนรก แสดงสีหน้าเคร่งขรึม บึ้งตึ้ง เก็บกดอารมณ์เกรี้ยวกราด ก่อนแหกปากตะโกน กรีดร้องลั่น ไม่สามารถอดกลั้นฝืนทนได้อีกต่อไป
ในบรรดากลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritanian ตัวละครของ Liensol ถือว่ามีภาพลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นสง่า ร่างกายกำยำ รูปร่างสูงใหญ่ ใบหน้าหล่อเหลา กิริยาท่าทาง วางตัวเหมือนผู้มีการศึกษาสูง หลังพานผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายในฝรั่งเศส บังเกิดแรงกระตุ้น ผลักดัน ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำการปฏิวัติ เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม
ถ่ายภาพโดย François Catonné (เกิดปี 1944) สัญชาติฝรั่งเศส ในตอนแรกเข้าศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ ก่อนเปลี่ยนไปเรียนการถ่ายภาพ École nationale supérieure Louis-Lumière ทำงานเป็นช่างภาพในกองทัพ ปลดประจำการออกมาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องแรก Soleil Ô (1970), West Indies (1979), Indochine (1992) ฯ
ผกก. Hondo เก็บหอมรอมริดได้ประมาณ $30,000 เหรียญ เพียงพอสำหรับซื้อกล้อง 16mm ส่วนค่าจ้างนักแสดง-ทีมงาน ทั้งหมดคือผองเพื่อนคณะนักแสดง Compagnie des Griots และ La compagnie Shango มาด้วยความสมัครใจ ไม่ได้รับค่าจ้างใดๆ (แถมยังต้องหยิบยืม ซื้อเสื้อผ้า สิ่งข้าวของเครื่องใช้ด้วยเงินส่วนตัว)
เห็นว่าทีมงานมีอยู่แค่ 5 คน ผกก. Hondo, ผู้ช่วยกำกับ Yane Barry, ตากล้อง François Catonné, ผู้ควบคุมกล้อง Denis Bertrand และผู้บันทึกเสียง (Sound Engineer) การทำงานจึงดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ไม่เร่งรีบ ให้นักแสดงฝึกซ้อมจนเชี่ยวชำนาญ สำหรับถ่ายทำน้อยเทค (ประหยัดฟีล์ม) รวมระยะเวลาโปรดักชั่นยาวนานถึง 3 ปี
แม้เต็มไปด้วยข้อจำกัดในการถ่ายทำมากมาย แต่งานภาพของหนังแพรวพราวด้วยลูกเล่น หลากหลายเทคนิคที่น่าสนใจ ปรับเปลี่ยนภาษาภาพยนตร์ไปเรื่อยๆจนไม่สามารถคาดเดา ผู้ชมต้องคอยสังเกต ขบครุ่นคิดวิเคราะห์ ค้นหาจุดประสงค์? เคลือบแฝงนัยยะความหมายอะไร? ไม่ใช่เรื่องง่าย เต็มไปด้วยความท้าทาย
ช่วงระหว่าง Opening Credit มีการใช้อนิเมชั่นสองมิติในการเล่าประวัติ ความเป็นมาของชาวแอฟริกัน จนกระทั่งการมาถึงของพวกคนขาว ในตอนแรกยืนค้ำศีรษะ (การกดขี่ข่มเหงในช่วงอาณานิคม) จากนั้นเข้ามาโอบกอด พยุงขึ้นยืน มอบหมวกให้สวมใส่ จากนั้นท้าวไหล่ กลายเป็นพวกพ้องเดียวกัน … จากเสียงหัวเราะกลายเป็นกรีดร้องลั่น
การสวมหมวกสีขาวให้กับชาวผิวสี ดูไม่ต่างจากการล้างสมอง ฟอกขาว (Whitewashing) ถูกบีบบังคับให้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ปลูกฝังแนวคิด สร้างค่านิยมชวนเชื่อ ตกเป็นเหยื่อพวกฝรั่งเศส ชักนำทางไปไหนก็คล้อยตามไป ค่อยๆถูกกลืนกิน จนสูญสิ้นจิตวิญญาณแอฟริกัน
พิธีศีลล้างบาป (Baptism) หรือพิธีศีลจุ่ม เป็นพิธีกรรมแรกที่ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์จะต้องรับเพื่อเป็นการล้างบาปมลทิน เพราะชาวคริสต์เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีบาปติดตัวมา เป็นการล้างบาปกำเนิด และบาปทุกอย่างที่ติดตัวมาก่อนหน้า เพื่อให้กลับไปเป็นบุตรของพระเจ้าและสมาชิกของคริสตจักร
โดยปกติแล้วพิธีศีลจุ่ม จะแฝงนัยยะถึงการถือกำเนิด เกิดใหม่ หรือในบริบทนี้ก็คือกลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania กำลังจะละทอดทิ้งตัวตนแอฟริกัน ตระเตรียมอพยพย้ายถิ่นฐานสู่ฝรั่งเศส หรือก็คือการเริ่มต้นชีวิตใหม่
แต่การอพยพย้ายสู่ฝรั่งเศส ดินแดนที่ควรเป็นดั่งสรวงสวรรค์ แท้จริงแล้วนั้นกลับคือขุมนรก ต้องตกอยู่ในความอัดอั้น ทุกข์ทรมาน เราจึงต้องมองซีเควนซ์นี้ใหม่ในทิศทางลบ ใจความประชดประชัน ต่อต้านศาสนาคริสต์ (Anti-Christ) พระเจ้าจอมปลอม (Anti-God)
ผมมองทั้งซีเควนซ์นี้คือการเล่นละคอน ที่สามารถขบครุ่นคิดตีความในเชิงสัญลักษณ์ เริ่มต้นจากกลุ่มชายฉกรรจ์แบกไม้กางเขน ก้าวเดินเข้ามาอย่างสะเปะสะปะ (สามารถสื่อถึงแอฟริกันยุคก่อนหน้าอาณานิคม) จนกระทั่งได้ยินเสียงออกคำสั่ง “French-American-English” จึงเปลี่ยนมาสวมใส่เครื่องแบบ เรียงแถว หน้าตั้ง (กลับหัวไม้กางเขน) ก้าวเดินอย่างเป็นระเบียบ (การมาถึงของพวกจักรวรรดินิยม เข้ามาควบคุม ครอบงำ บีบบังคับให้ทำโน่นนี่นั่น)
ผู้บังคับบัญชาผิวขาว ยืนอยู่บนแท่นทำตัวสูงส่งกว่าใคร แม้ไม่ได้พูดบอกอะไร เพียงส่งสัญญาณสายตา บรรดานายทหารจึงทำการรบพุ่ง ต่อสู้ เข่นฆ่าศัตรูให้ตกตาย แม้ทั้งหมดคือการเล่นละคอน แต่สามารถสะท้อนถึงการใช้อำนาจบาดใหญ่ เอาเงินมาเป็นสิ่งล่อหลอก ตอบแทน พอการแสดงจบสิ้นก็เก็บเข้ากระเป๋า … เหล่านี้คือสิ่งที่พวกฝรั่งเศสทำกับประเทศอาณานิคม เข้ามาควบคุมครอบงำ บีบบังคับให้ทำโน่นนี่นั่น สนองความพึงพอใจ ให้ค่าตอบแทนน้อยนิด แล้วกอบโกยทุกสิ่งอย่างกลับไป
แม้ว่าตอนเข้าพิธีศีลจุ่มจะได้พบเห็นตัวละครของ Robert Liensol แต่หลังจบจากอารัมบท เรื่องราวจะโฟกัสที่ชายคนนี้ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการถ่ายภาพหน้าตรง (Mug Shot) ระหว่างยืนเก๊กหล่อ แสยะยิ้มปลอมๆ โดยรอบทิศทาง … ถ้าผมจำไม่ผิด ภาพถ่ายกายวิภาคใบหน้าตัวละครลักษณะนี้ มีจุดเริ่มต้นจาก Vivre sa vie (1962) ของ Jean-Luc Godard
ตัวละครของ Liensol เดินทางมาถึงฝรั่งเศสด้วยรอยยิ้ม อิ่มเอมหฤทัย แต่หลังจากเริ่มออกหางาน กลับได้รับคำตอบปฏิเสธ โดนขับไล่ ไม่ใครว่าจ้าง ภาพช็อตนี้ระหว่างเดินเลียบกำแพงสูงใหญ่ ราวกับหนทางตัน ถูกปิดกั้น มีบางสิ่งอย่างกั้นขวางระหว่างคนขาว vs. ชาวแอฟริกัน
ตลอดทั้งซีเควนซ์ระหว่างการหางานทำ สังเกตว่ามีการดำเนินไปอย่างเอื่อยเฉื่อย เชื่องช้า แถมยังไร้เพลงประกอบ ซึ่งสร้างความหงุดหงิด กระวนกระวาย บรรยากาศอัดอั้น ตึงเครียด ซึ่งสอดคล้องเข้ากับความรู้สึกตัวละคร ผิดหวังอย่างรุนแรง นี่นะหรือสรวงสวรรค์ที่ฉันใฝ่ฝัน
วันหนึ่งพอกลับมาถึงห้องพัก เคาะประตูเพื่อนข้างห้อง เหมือนตั้งใจจะขอคำปรึกษาอะไรบางอย่าง แต่พอเปิดประตูเข้ามาพบเห็นสามี-ภรรยา ต่างคนต่างนั่งดูโทรทัศน์เครื่องของตนเอง ไม่ได้สนใจใยดี แถมยังมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง ขึ้นเสียงใส่อารมณ์ กล้องส่ายไปส่ายมา ฟังอะไรไม่ได้สดับ เลยขอปิดประตูดีกว่า … นี่เป็นการสะท้อนสภาพสังคมชาวยุโรป ต่างคนต่างอยู่ ไม่ได้สนใจกันและกัน เหมือนมีกำแพงบางๆกีดขวางกั้น แตกต่างจากวิถีแอฟริกันที่เพื่อนบ้านต่างรับรู้จัก ชอบช่วยเหลือกันและกัน
คาดเดาไม่ยากว่า สิ่งที่ตัวละครของ Liensol ต้องการขอคำปรึกษา ถ้าไม่ใช่เรื่องเงินก็เรื่องหางาน แต่กลับถูกเพิกเฉย ไม่ได้รับความสนใจใยดี ทำให้เขาตกอยู่ในสภาพหดหู่ สิ้นหวัง ศรัทธาสั่นคลอน ซึ่งหนังใช้การเทศนาสั่งสอนของบาทหลวงจากโทรทัศน์ (ของคู่สามี-ภรรยาที่กำลังถกเถียงกันนั้น) พูดแทนความรู้สึกตัวละครออกมา
หนังไม่ได้มีคำอธิบายอะไรเลยนะ จู่ๆตัวละครของ Liensol ก็กลายเป็นนักสัมภาษณ์ พูดคุยสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับแรงงานแอฟริกัน ผมเลยคาดเดาว่าชายคนนี้อาจคือรัฐมนตรีแรงงาน (หรือหน่วยงานเกี่ยวข้อง) ซึ่งระหว่างอธิบายแนวคิด เป้าหมายของหน่วยงานรัฐ จะมีการซูมเข้า เบลอใบหน้า ให้สอดคล้องประโยคคำพูดว่า “อีกไม่นานพวกคนดำจะกลายเป็นคนขาว” เลือนลางระหว่างสีผิว/ชาติพันธุ์
ทางกายภาพ แน่นอนว่าคนผิวดำไม่มีทางกลายเป็นผิวขาว (ถ้าไม่นับการศัลยกรรม) แต่คำพูดดังกล่าวต้องการสื่อถึงชาวแอฟริกันที่จะถูกเสี้ยมสอน ผ่านการล้างสมอง เรียนรู้จักแนวคิด ซึมซับวิถีชีวิต ปรับเปลี่ยนความเชื่อศรัทธา รวมถึงอุดมการณ์ชาติพันธุ์ ซึ่งถ้าทำได้เช่นนั้น บุคคลดังกล่าวย่อมกลายสภาพเป็น(หุ่นเชิดชักของ)ฝรั่งเศสโดยปริยาย
ระหว่างการสัมภาษณ์ดำเนินไป หลายครั้งจะมีแทรกภาพสำหรับขยับขยายหัวข้อการสนทนา ฉายให้เห็นว่าบังเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ยกตัวอย่าง
- ระหว่างกำลังอธิบายถึงวิธีการล้างสมองชาวแอฟริกัน ก็แทรกภาพการศึกษาในห้องเรียน กำลังเสี้ยมสอนคำศัพท์ภาษาฝรั่งเศสง่ายๆ
- พอเล่าถึงชาวแอฟริกันที่อพยพเข้ามาในฝรั่งเศสมากขึ้น ก็ปรากฎภาพบรรดาชายฉกรรจ์ยืนเรียงรายหลายสิบคน เพื่อจะสื่อว่าพวกนี้แหละที่อาศัยอยู่ในห้องเช่าเดียวกัน
- ระหว่างให้คำแนะนำว่าชาวแอฟริกันควรได้รับการตรวจสอบ คัดเลือก ว่าจ้างงานก่อนเดินทางสู่ฝรั่งเศส ฉายให้เห็นภาพความพยายาม(ของตัวละครของ Liensol)มาตายเอาดาบหน้า เลยไม่สามารถหางานทำได้สักที!
- และเมื่อพูดถึงวิวัฒนาการที่ไม่สามารถหยุดยับยั้ง ยังไงชาวแอฟริกันย่อมแห่กันอพยพเข้าสู่ฝรั่งเศส แทรกภาพตัวแทนบริษัทแห่งหนึ่งเข้ามาต่อรอง ขอจ่ายเงินใต้โต๊ะ เพื่อให้หยุดยั้งการชุมนุมประท้วง แต่กลับถูกโต้ตอบกลับว่ามันเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อบทสัมภาษณ์กล่าวถึง ‘Black Invasion’ จะมีการร้อยเรียงภาพบรรดาผู้อพยพชาวแอฟริกัน แทรกซึมไปยังสถานที่ต่างๆทุกแห่งหนในฝรั่งเศส คลอประกอบบทเพลงชื่อ Apollo เนื้อคำร้องเกี่ยวกับยานอวกาศอพอลโล่ที่ถูกส่งไปสำรวจ/ยึดครองดวงจันทร์ (=ชาวแอฟริกันเข้ายึดครองฝรั่งเศส)
- ชายคนหนึ่งพบเห็นเล่น Pinball นี่ถือเป็นการเคารพคารวะ French New Wave และแฝงนัยยะสะท้อนถึงผู้อพยพชาวแอฟริกันในฝรั่งเศส ดำเนินชีวิตไปอย่างเรื่อยเปื่อย ไร้เป้าหมาย เพียงเอาตัวรอดไปวันๆ
- ระหว่างร้อยเรียงภาพบนท้องถนน มีกลุ่มชายฉกรรจ์จับจ้องมองเครื่องประดับ สร้อยคอหรูหรา ทำราวกับว่ากำลังตระเตรียมวางแผนโจรกรรม (คล้ายๆแบบพวกจักรวรรดินิยมที่เข้าไปกอบโกย แสวงหาผลประโยชน์จากประเทศอาณานิคม)
- และอีกกลุ่มชายฉกรรจ์ ทำเหมือนบุกรุกเข้าไปยังคฤหาสถ์หรูหลังหนึ่ง (นี่ก็สอดคล้องเข้ากับแนวคิด ‘black invasion’ ตรงๆเลยนะ)
พ่อ-แม่ต่างผิวขาว แต่กลับมีบุตรผิวสี? หลายคนอาจครุ่นคิดว่าฝ่ายหญิงคบชู้นอกใจ สงสัยแอบร่วมเพศสัมพันธ์กับชาวแอฟริกัน แต่มันไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนะครับ มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นไปได้อยู่ … แต่นี่เป็นสิ่งที่คนสมัยนั้นอาจยังไม่สามารถทำความเข้าใจ
ยีนที่ควบคุมลักษณะผิวขาวเป็นแอลลีลด้อย (Recessive Allele) ส่วนยีนที่ควบคุมผิวดำเป็นแอลลีลเด่น (Dominant Allele) หมายความว่า ผิวขาวจะปรากฏออกมาได้ก็ต่อเมื่อแอลลีลด้อยจากทั้งฝ่ายบิดาและมารดาจับคู่กันหรือเป็นพันธุ์แท้ (Homozygous), ขณะที่ผิวดำปรากฏได้ทั้งในกรณีที่แอลลีลเด่นจับคู่กัน และแอลลีลเด่นจับคู่กับแอลลีลด้อยหรือพันธุ์ทาง (Heterozygous) หากเป็นการข่มสมบูรณ์ (Complete Dominance) ทว่ายีนที่ควบคุมลักษณะทางสีผิวยังมีการข่มไม่สมบูรณ์ (Incomplete dominance) ซึ่งทำให้มีการแสดงลักษณะที่อยู่ตรงกลางระหว่าง ส่งผลให้มนุษย์มีสีผิวเข้ม-อ่อน แตกต่างกันไป
จริงอยู่ว่าชายชาวแอฟริกันมักมีอวัยวะเพศ(โดยเฉลี่ย)ขนาดใหญ่ยาวกว่าคนปกติ แต่มันไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องมีลีลารสรักอันโดดเด่น ความสนใจใน “Sexual Fantasy” ของหญิงชาวฝรั่งเศสคนนี้มีคำเรียกว่า “Sexual Objectification” มองชายชาวแอฟริกันไม่ต่างจากวัตถุทางเพศ สำหรับตอบสนองตัณหาความใคร่ พึ่งใจส่วนบุคคล
แซว: ผมว่าคนไทยน่าจะสังเกตได้ว่ารูปภาพด้านหลัง มันคือลวดลายไทย หาใช่ศิลปะแอฟริกัน ส่วนลำตัวสีดำเกิดจากการถูหิน (Stone Rubbing)
ชาวแอฟริกันชื่นชอบการร้องรำทำเพลง ถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ระหว่างเฮฮาสังสรรค์ สังเกตว่าชายคนนี้ทำการแยกเขี้ยวเหมือนแวมไพร์ดูดเลือด ชวนให้นึกถึงพวกลัทธิอาณานิคม ที่สนเพียงกอบโกย แสวงหาผลประโยชน์ ดูดเลือดดูดเนื้อชาวแอฟริกัน ไม่แตกต่างกัน!
ปล. แทบทุกบทเพลงในหนังจะมีการขึ้นคำแปลภาษาอังกฤษ เพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าใจเนื้อคำร้อง มีความสอดคล้องเรื่องราว/ตัวละครขณะนั้นๆ แต่จะมีบทเพลงหนึ่งที่ชายผิวสีบรรเลงพร้อมกีตาร์เบาๆ อาจไม่ใช่ภาษาฝรั่งเศสเลยไม่มีคำแปล แต่ผมพยายามเงี่ยหูฟัง เหมือนจะได้ยินคำร้อง Soleil Ô อาจจะแค่หูแว่วกระมัง … ชื่อหนังมาจากบทเพลงนี้ มันคงแปลกถ้าไม่มีการแทรกใส่เข้ามา
ภายหลังการสังสรรค์ปาร์ตี้ ตัวละครของ Liensol ในสภาพมึนเมา กลับมาถึงห้องทิ้งตัวลงนอน กลิ้งไปกลิ้งมา จากนั้นแทรกภาพความฝัน อันประกอบด้วย …
ในห้องเรียนที่เคยเสี้ยมสอนภาษาฝรั่งเศสวันละคำ คราวนี้อาจารย์นำรูปปั้นคนขาวมาตั้งวางเบื้องหน้านักเรียนผิวสี จากนั้นเหมือนพยายามทำการสะกดจิต ล้างสมอง ปลูกฝังแนวคิดโน่นนี่นั่น เพื่อให้พวกเขาทอดทิ้งจิตวิญญาณชาวแอฟริกัน แล้วเปลี่ยนแปรสภาพมาเป็นคนขาว … กระมังนะ
ความฝันถัดมา ตามความเข้าใจของผมก็คือ หนึ่งในชายฉกรรจ์ได้รับเลือกตั้’เป็นประธานาธิบดี Mauritania แต่แท้จริงแล้วก็แค่หุ่นเชิดฝรั่งเศส บอกว่าจะรับฟังคำแนะนำรัฐบาล(ฝรั่งเศส) รวมถึงนำเอาแผนการ ข้อกฎหมายที่ได้รับไปประกาศใช้ ไม่ได้มีความสนใจใยดีประชาชนในชาติแม้แต่น้อย … พอได้ยินสุนทรพจน์ดังกล่าว ทำให้สะดุ้งตื่นขึ้นมาโดยพลัน!
แต่ถึงแม้สะดุ้งตื่นขึ้น หนังยังคงแทรกภาพความฝันถัดๆมา ราวกับว่ามันคือภาพติดตราฝังใจ ยังคงจดจำได้ไม่รู้ลืม
- อนิเมชั่นแผนที่ทวีปแอฟริกา ทำสัญลักษณ์การอพยพย้ายถิ่นฐานจากทางตอนใต้ขึ้นเบื้องบน
- กล้องเคลื่อนลงจากรูปปั้นสีขาว จากนั้นชายชาวฝรั่งเศส(ที่กำลังจูงสุนัข)กล่าวถ้อยคำ “You are branded by Western civilization. You think white.”
- ตัวละครของ Liensol นั่งอยู่ท่ามกลางเศษซากปรักหักพัง (น่าจะสื่อถือความเป็นแอฟริกันที่พังทลาย) ร่างกายแปะติดด้วยธนบัตร ล้อกับคำกล่าวของชายฝรั่งเศสก่อนหน้า คุณได้ถูกตีตราจากอารยธรรมตะวันตก
- ระหว่างวิ่งเล่นกับสุนัข ตัวละครของ Liensol กำหมัด ยกมือขึ้น เป็นสัญญาณให้กระโดด นี่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างคนขาวกับชาวแอฟริกันที่ถูกล้างสมอง (ให้กลายเป็นคนขาว) เชื่องเหมือนสุนัข พร้อมปฏิบัติทำตามคำสั่ง
- แม้เป็นสุนัขคนละตัวกับของชายชาวฝรั่งเศส แต่ถือว่าแฝงนัยยะเดียวกัน
พอฟื้นคืนสติขึ้นมา ตัวละครของ Liensol ก็ไม่สามารถควบคุมตนเอง จัดการเขวี้ยงขว้างสิ่งข้าวของในห้องพัก พยายามระบายอารมณ์อัดอั้น พอสามารถสงบสติอารมณ์ ก้าวออกเดินอย่างเร่งรีบ เลียบทางรถไฟ มาถึงยังบริเวณชานเมืองที่ยังเป็นผืนป่า พบเจอสามีภรรยาคู่หนึ่ง ชักชวนมาร่วมรับประทานอาหารกับบุตรชาย
หลายคนอาจรู้สึกว่าซีเควนซ์นี้ดูผิดที่ผิดทาง แต่นั่นคือความตั้งใจของผกก. Hondo ต้องการนำเสนอความผิดที่ผิดทางของชาวแอฟริกันที่อพยพย้ายเข้ามาปักหลักอาศัยอยู่ในฝรั่งเศส สถานที่แห่งนี้ไม่ใช่ผืนแผ่นดิน/บ้านเกินของตนเอง เลยถูกเด็กๆกลั่นแกล้งสารพัด (มองเผินๆเหมือนการเล่นสนุกสนานของเด็กๆ แต่เราสามารถเปรียบเทียบตรงๆถึงพฤติกรรมหมิ่นแคลน ดูถูกเหยียดหยามของชาวฝรั่งเศส) ท้ายสุดเลยไม่สามารถอดรนทน ก้าวออกวิ่งหนีอีกครั้ง … กล่าวคือเป็นซีเควนซ์ที่ทำการสรุปโดยย่อเรื่องราวทั้งหมดของหนัง (ในเชิงจุลภาค)
ผมตั้งชื่อซีเควนซ์นี้ว่า ป่าแห่งการกรีดร้อง (Forest of Scream) เมื่อตัวละครของ Liensol วิ่งเข้ามาในผืนป่าแห่งนี้ ราวกับหูแว่ว ได้ยินเสียง(กรีดร้อง)ดังกึกก้องจากทั่วทุกสารทิศ ไม่นานนักเขาก็ส่งเสียงโต้ตอบ ระบายความอัดอั้นที่อยู่ภายในออกมา
และเมื่อมาทรุดนั่งยังโขดหิน/ขอนไม้ใหญ่ ดูราวกับรากฐานชาวแอฟริกัน แต่ละกิ่งก้านมีรูปภาพวาดนักปฏิบัติ (ที่เหมือนจะถูกลอบสังหาร) ซึ่งระหว่างกล้องถ่ายให้เห็นใบหน้าบุคคลสำคัญเหล่านั้น บางครั้งซ้อนภาพเปลวไปกำลังเผาไหม้ และบางครั้งแทรกภาพถ่ายแบบชัดๆ ผมพอดูออกแค่ Patrice Lumumba (Congo) และ Mehdi Ben Barka (Morroco) … นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่าหลากหลายประเทศในแอฟริกัน ต่างประสบปัญหา(การเมือง)คล้ายๆกัน เก็บกดอารมณ์อัดอั้น อยากจะกรีดร้องลั่น จึงรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องสิทธิ เสมอภาค และภารดรภาพ ปลดแอกจากการเป็นประเทศอาณานิคมอย่างแท้จริง
ตัดต่อโดย Michèle Masnier, Clément Menuet
หนังนำเสนอเรื่องราวกลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania (ประมาณ 9-10 คน) หลังเข้าร่วมพิธีศีลจุ่ม อพยพเดินทางสู่ฝรั่งเศส แต่โดยส่วนใหญ่เล่าเรื่องผ่านมุมมองตัวละครของ Robert Liensol (ไม่มีชื่อ) เริ่มต้นด้วยด้วยรอยยิ้ม ความคาดหวัง ก่อนค่อยๆตระหนักถึงสภาพเป็นจริง เลยตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง
- อารัมบท
- Opening Credit ทำออกมาในลักษณะอนิเมชั่นสองมิติ เล่าอธิบายปรัมปรา ต้นกำเนิดชาวแอฟริกา
- ชายฉกรรจ์ชาว Mauritania เข้าร่วมพิธีศีลจุ่ม ถือกำเนิดใหม่ในศาสนาคริสต์
- ชายฉกรรจ์ทำการแสดงละคอน ต่อสู้ด้วยไม้กางเขน
- เดินทางสู่ฝรั่งเศส
- ตัวละครของ Liensol เดินทางมาถึงฝรั่งเศส
- พยายามมองหางานทำ แต่ไปที่ไหนกลับไม่ใครยินยอมรับเข้าทำงาน
- พบเห็นเพื่อนข้างห้องต่างคนต่างดูโทรทัศน์ แล้วเกิดการโต้ถกเถียงอย่างรุนแรง
- มีการพูดคุยสัมภาษณ์ถึงแรงงานแอฟริกัน
- ตัดสลับกับห้องเรียนสอนคำศัพท์ภาษาฝรั่งเศส
- ตัวละครของ Liensol ไม่สามารถหางานทำได้สักที ถึงขีดสุดแห่งความสิ้นหวัง
- พบเห็นตัวละครของ Liensol ทำงานในสหภาพแรงงาน พบเห็นชายคนหนึ่งต้องการจ่ายใต้โต๊ะเพื่อแลกกับการยุติชุมนุมประท้วง
- กลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania กับความฝันที่พังทลาย
- ร้อยเรียงภาพกลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania ที่ต่างตกงาน ใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อย ไร้แก่นสาน
- ตัวละครของ Liensol รวมกลุ่มชายกรรจ์ชาว Mauritania เพื่อพูดคุย หาข้อเรียกร้องต่อทางการ
- ร้อยเรียงสารพัดอคติ (Racism) ของชาวฝรั่งเศส ต่อพวกแอฟริกัน
- หญิงผิวขาวชาวแอฟริกัน ทำการเกี้ยวพาราสีตัวละครของ Liensol ร่วมรักหลับนอน เพื่อเติมเต็ม ‘Sexual Fantasy’
- กลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania ระหว่างนั่งดื่มในบาร์ ร่วมกันร้องทำเพลง Soleil Ô
- ระบายอารมณ์เกรี้ยวกราด
- ค่ำคืนนั้นกลับมายังห้องพัก ตัวละครของ Liensol นอนหลับฝัน
- คาบเรียนที่อาจารย์คนขาว พยายามล้างสมองชาวแอฟริกัน
- หนึ่งในกลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี กำลังให้สัมภาษณ์นักข่าว
- ภาพกราฟฟิกการอพยพของชาวแอฟริกัน
- ราวกับเกิดเหตุการณ์ก่อการร้าย ตัวละครของ Liensol นั่งอยู่ในเศษซากปรักหักพัง ร่างกายถูกแปะด้วยเงิน
- วิ่งเล่นกับสุนัข สั่งให้มันนั่งลง
- เมื่อตื่นขึ้นมา ระบายอารมณ์อัดอั้น ทำลายสิ่งข้าวของในห้อง
- ก้าวออกเดิน ไปถึงยังผืนป่า ได้รับชักชวนจากชาวบ้าน รับประทานอาหารกับครอบครัว
- วิ่งกลับเข้าป่าอีกครั้ง ตะโกนโหวกเหวก กรีดร้องลั่น ตกอยู่ในสภาพหมดสิ้นหวัง
- ค่ำคืนนั้นกลับมายังห้องพัก ตัวละครของ Liensol นอนหลับฝัน
วิธีการดำเนินเรื่องที่ผันแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เอาจริงๆไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ (ยกตัวอย่าง Citizen Kane (1941) ก็มีทั้ง Newsreel, บทสัมภาษณ์นักข่าว, หวนระลึกความทรงจำ ฯ) แค่ว่ามันไม่มากมายแทบจะทุกซีเควนซ์เหมือนภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งสร้างความท้าทายในการรับชมอย่างมากๆ แต่ถ้าคุณสามารถทำความเข้าใจเหตุผลการกระทำ ย่อมตระหนักถึงอัจฉริยภาพของผกก. Hondo สมฉายา “Founding Father of African Cinema” สะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชนชาวแอฟริกัน
สำหรับเพลงประกอบก็เต็มไปด้วยความหลากหลายเช่นเดียวกับวิธีการดำเนินเรื่อง อาทิ เพลงพื้นบ้านแอฟริกัน, ดนตรีคำร้องฝรั่งเศส, บรรเลงกีตาร์ Folk Song ฯ ทั้งหมดเรียบเรียงโดย George Anderson ศิลปินสัญชาติ Cameroonian และเนื้อร้องมักมีความสอดคล้องเรื่องราว หรือเคลือบแฝงนัยยะความหมายบางอย่าง
น่าเสียดายที่ผมหารายละเอียดเพลงประกอบไม่ค่อยจะได้ ค้นพบเพียง Apollo บทเพลงเกี่ยวกับยานอวกาศที่ส่งขึ้นไปสำรวจดวงจันทร์ จุดประสงค์เพื่อทำการยึดครอบครอง ‘Colonization’ ร้อยเรียงเข้ากับภาพชาวแอฟริกันเดินทางไปยังสถานที่สำคัญๆในฝรั่งเศส ดูเหมือนการบุกรุกราน ‘Black Invasion’ … เราสามารถเปรียบเทียบเนื้อคำร้อง มนุษย์ส่งยานอวกาศไปยึดครองดวงจันทร์ = ชาวแอฟริกันอพยพย้ายถิ่นฐานสู่ฝรั่งเศส
Some men went
Apollo, to the Moon to look for summer
Apollo, they challenged the cosmos
Apollo, they sang without echo
Apollo, leaving the Earth and its miseryI don’t know why
Apollo, they went round in circles
Apollo, did they want to discover
Apollo, diamonds or sapphires?
Apollo, leaving the Earth and its miseryLove is there, open-armed
Why leave if you can’t cure it?
Towards the immensity that dazzles us
Day and night
We are all crazy
We are all crazy
We are all crazyThey left without passports
Apollo, for the unknown, the infinite
Apollo, they could not resist
Apollo, within our limited frontiers
Apollo, leaving the earth and its miseryBut the wars continue
Apollo, on the earth between tribes
Apollo, and hunger already has a hold
Apollo, in towns far and wide
Apollo, on this earth and its miseryLove is there, open-armed
Why leave if you can’t cure it?
Towards the immensity that dazzles us
Day and night
We are all crazy
We are all crazy
We are all crazy
ไม่ใช่แค่บทเพลงที่โดดเด่น แต่หลายๆครั้งความเงียบงัน รวมถึงการใช้เสียงประกอบ (Sound Effect) ก็แฝงนัยยะอย่างลุ่มลึกล้ำ ยกตัวอย่าง
- เมื่อตัวละครของ Liensol เดินทางมาถึงฝรั่งเศส พยายามออกหางานทำ ช่วงนี้แทบจะไม่มีเพลงประกอบ สถานที่แห่งนี้มีเพียงความเงียบงัน สร้างบรรยากาศตึงเครียด กดดัน หาใช่สรวงสวรรค์ดั่งที่ใครต่อใครว่ากล่าวไว้
- สามี-ภรรยา จากขึ้นเสียง ทะเลาะเบาะแว้ง ค่อยๆแปรสภาพกลายเป็นกรีดร้อง ฟังไม่ได้สดับ ตามด้วยเสียงเทศนาของบาทหลวงในโทรทัศน์ สามารถสะท้อนความรู้สึกภายในจิตใจตัวละคร
- ระหว่างที่หญิงชาวฝรั่งเศสทำการเกี้ยวพาราสี ล่อหลอกให้ตัวละครของ Liensol ตกหลุมรัก ผู้ชมจะได้ยินเสียงสรรพสัตว์นานาสายพันธุ์ เรียกร้องหาคู่ผสมพันธุ์
- หลังถูกหญิงชาวฝรั่งเศสหลอกให้รัก ซีนถัดมาตัวละครของ Liensol ระหว่างยืนรอรถไฟ เสียงเครื่องยนต์ช่างบาดหู เจ็บปวดใจยิ่งนัก!
- ตัวละครของ Liensol นั่งอยู่ท่ามกลางเศษซากปรักหักพัง แต่ได้ยินผู้คนกรีดร้อง ตะโกนโหวกเหวก เสียงปืน ระเบิด ตึกรามบ้านช่องถล่มทลาย
- ช่วงท้ายระหว่างออกวิ่งเข้าไปในป่า (Forest of Scream) ได้ยินเสียงกรีดร้องดังมาโดยรอบ จนตนเองต้องเลียนแบบตาม
ตั้งแต่โบราณกาล ชาวแอฟริกันให้ความเคารพนับถือสุริยเทพ หรือเทพแห่งพระอาทิตย์ เชื่อว่าอวตารลงมาเป็นผู้นำชนเผ่าปกครองชาวแอฟริกัน จนกระทั่งการมาถึงของพวกคนขาวในช่วงศตวรรษ 16-17 ทำการยึดครอบครอง แล้วทำการ ‘Colonization’ พยายามปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ปลูกฝังแนวคิด สร้างค่านิยมชวนเชื่อ บีบบังคับให้ล้มเลิกนับถือเทพเจ้า เข้าพีธีศีลจุ่ม ถือกำเนิดใหม่ในศาสนาคริสต์ แต่งตั้งตนเองให้กลายเป็นเทพเจ้าองค์ใหม่
ผมมองความตั้งใจของผกก. Hondo ต้องการเปรียบเทียบฝรั่งเศส = สุริยเทพองค์ใหม่ ที่แม้ชาวแอฟริกันได้รับการปลดแอก ประกาศอิสรภาพ แต่ยังคงมีอิทธิพลต่อประชาชน ปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ที่เรียกว่า Neo-Colonialism ไม่ใช่การเข้าไปยึดครองพื้นที่ชาวพื้นเมือง ปรับเปลี่ยนมาแทรกแซงเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เข้าไปลงทุนค้าขายในรูปแบบบริษัทข้ามชาติ แสวงหาผลประโยชน์เพื่อให้ได้ทรัพยากร วัตถุดิบ และแรงงานราคาถูก
หนึ่งในนั้นคือการสร้างค่านิยมชวนเชื่อ ฝรั่งเศสเปรียบดั่งสรวงสวรรค์ ดินแดนแห่งโอกาส สถานที่สำหรับเริ่มต้นชีวิตใหม่ ทำให้ในช่วงทศวรรษ 60s มีชาวแอฟริกันจำนวนมหาศาลตัดสินใจอพยพย้ายถิ่นฐาน ทั้งถูกและผิดกฎหมาย ทำทุกวิถีทางเพื่อข้ามน้ำข้ามทะเล เติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน
แต่พอมาถึงดินแดนแห่งสรวงสวรรค์ แทบทั้งนั้นจะค้นพบว่าสถานที่แห่งนี้แม้งไม่มีอะไรเหมือนดั่งคำโฆษณาชวนเชื่อ ไร้งาน ไร้เงิน แถมยังถูกชาวฝรั่งเศสมองด้วยสายตาดูถูก เหยียดหยาม (Racism) พยายามขับไล่ ผลักไส อยากจะเดินทางกลับบ้านเกิดแต่ไม่รู้ทำยังไง จำต้องอดกลั้นฝืนทน รวมกลุ่มกันลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และภารดรภาพ
แซว: Soleil Ô (1970) ราวกับภาคต่อ(ทางจิตวิญญาณ)ของ Touki Bouki (1973) ที่สามารถเติมเต็มกันและกัน อธิบายความพยายามชวนเชื่อ สร้างภาพให้ฝรั่งเศสเปรียบดั่งสรวงสวรรค์ แต่แท้จริงนั้น … ไม่ต่างจากขุมนรกบนดินสำหรับชาวแอฟริกัน!
สำหรับผกก. Hondo ภาพยนตร์เรื่องนี้มีลักษณะกึ่งๆอัตชีวประวัติ เพราะตนเองก็เป็นหนึ่งในบุคคลผู้ลุ่มหลงคำชวนเชื่อ อพยพย้ายถิ่นฐานสู่ฝรั่งเศส โชคยังดีพอหาทำงาน สะสมเงินทอง เก็บหอมรอมริด สรรค์สร้าง Soleil Ô (1970) เพื่อเป็นบทเรียน/คำตักเตือนแก่ชาวแอฟริกันที่ครุ่นคิดจะเดินทางมาแสวงโชค รวมถึงพยายามให้คำแนะแนวทางว่าควรหางานให้ได้ก่อนย้ายมา (ผ่านพวกบริษัทจัดหาแรงงาน) อย่าคาดหวังมาตายเอาดาบหน้า เพราะอาจจะได้ดับดิ้นสิ้นชีวินเข้าจริงๆ
เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes ในสาย International Critics’ Week เสียงตอบรับถือว่าดียอดเยี่ยม เลยมีโอกาสเดินทางไปฉายยังประเทศต่างๆมากมาย รวมถึง Quintette Theater ณ กรุง Paris ยาวนานถึงสามเดือนเต็ม! ถือว่าประสบความสำเร็จ สร้างชื่อเสียงให้ผกก. Hondo มีโอกาสสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องถัดๆไป
Soleil Ô (1970) คือภาพยนตร์เรื่องแรกๆที่ได้รับการบูรณะในโครงการ African Film Heritage Project ริเริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 2017 โดย The Film Foundation (ของผกก. Martin Scorsese) ร่วมกับ Pan African Federation of Filmmakers และองค์การ UNESCO เพื่อซ่อมแซมฟีล์มหนังเก่าจากทวีปแอฟริกันสู่สายตาชาวโลก
ฟีล์มต้นฉบับ 16 mm ของหนังมีความเสียหายหนักมากๆ จนต้องนำเอาฟีล์มออกฉาย 35mm มาแปะติดปะต่อให้ครบถ้วนสมบูรณ์ แล้วทำการบูรณะ 4K ผ่านการตรวจอนุมัติโดยผกก. Hondo สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray ของค่าย Criterion รวบรวมอยู่ในคอลเลคชั่น Martin Scorsese’s World Cinema Project No. 3 ประกอบด้วย Dos monjes (1934), Soleil Ô (1970) และ Downpour (1972)
ระหว่างรับชม ผมมีความก้ำๆกึ่งๆว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ฉงนสงสัยว่าจะทำออกมาให้สลับซับซ้อน ท้าทายผู้ชมไปถึงไหน จนกระทั่งซีเควนซ์ที่ชายชาวแอฟริกันตกเป็นเหยื่อวัตถุทางเพศ (Sexual Objectification) นั่นสร้างความสยดสยอง ขนลุกขนพอง แผดเผาทรวงใน เข้าใจอารมณ์เกรี้ยวกราดของชาวแอฟริกัน อยากแหกปากกรีดร้องลั่น ไม่ต่างจากตอนจบของหนัง
จัดเรต 15+ กับบรรยากาศเหนือจริง (Surrealism) คำอธิบายแนวคิดจักรวรรดินิยม (Colonialism) สารพัดการดูถูกเหยียดหยาม (Racism) ชายชาวแอฟริกันตกเป็นเหยื่อวัตถุทางเพศ (Sexual Objectification)
Leave a Reply