Son of Saul (2015)
: László Nemes ♥♥♥♥
ในค่าย Auschwitz ชายชาวยิวเชื้อสาย Hungarian ชื่อ Saul (รับบทโดย Géza Röhrig) ทำงานเป็น Sonderkommando ผู้เก็บกวาดทำความสะอาดหลังการรมแก๊สมรณะเสร็จสิ้น แต่มีครั้งหนึ่งเด็กชายยังไม่สิ้นใจตาย ดิ้นรนเฮือกสุดท้ายก่อนหมดลม ทั้งๆที่ก็ไม่ใช่ลูกแท้ๆของตนเอง แต่เขากลับอยากทำพิธีศพกลบฝังให้ไปสู่สุขคติ, การันตีด้วยรางวัล Grand Prix จากเทศกาลหนังเมือง Cannes และ Best Foreign Language Film จาก Oscar, Golden Globe, BAFTA
Son of Saul เป็นภาพยนตร์ที่น่าจะถือว่า มีพลังความปั่นป่วนท้องไส้ใกล้เคียงกับ Night and Fog (1956) ที่สุดแล้ว Schindler’s List (1993) หรือ The Pianist (2002) ชิดซ้ายตกกระป๋องไปเลย ทั้งๆที่กว่า 80% ของหนังเป็นภาพเบลอๆนอกโฟกัส แต่จินตนาการของมนุษย์มันสามารถล้ำไปไกล ในระดับที่หลายคนคงทนรับไม่ไหวอย่างแน่นอน
ก็ขนาดผมเองเพิ่งมีโอกาสได้รับชม ก็ยังอึ้งทึ่งตะลึงงัน มิเคยคาดคิดมาก่อนจะมีภาพยนตร์กล้านำเสนอด้วยวิธีการสมจริงจังขนาดนี้ แต่น่าเสียดายที่ปี 2015 มันล่วงเลยผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแสนไกลแล้ว คือถ้าสร้างสักทศวรรษ 50s – 70s หนังคงกลายเป็นตำนานโลกไม่รู้ลืมเลยละ
László Nemes (เกิดปี 1977) นักเขียน ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Hungarian เกิดที่ Budapest แม่มีเชื้อสาย Jews ส่วนพ่อเป็นผู้กำกับละครเวที ตอนอายุ 12 ครอบครัวอพยพสู่ Paris ด้วยความสนใจด้านภาพยนตร์ตั้งแต่เด็ก ชื่นชอบแนว Horror โตขึ้นได้กลายเป็นผู้ช่วย Béla Tarr ถ่ายทำ The Man from London (2007) ก่อนไปเรียนต่ออเมริกาที่ Tisch School of the Arts จบมาฉายเดี่ยวเรื่องแรก Son of Saul (2015) ประสบความสำเร็จล้มหลาม โด่งดังไปทั่วโลก
เกร็ด: ผู้กำกับคนโปรดของ Nemes ประกอบด้วย Michelangelo Antonioni, Andrei Tarkovsky, Ingmar Bergman, Terrence Malick และ Stanley Kubrick
ระหว่างเป็นผู้ช่วย Béla Tarr อยู่นั้น Nemes มีโอกาสพบเจอหนังสือ The Scrolls of Auschwitz (1985) รวบรวมเขียนโดย Bernard Mark จากคำให้การของเหล่าสมาชิก Sonderkommando พอได้มาเรียนต่อยังอเมริกา พบเจอร่วมงานกับ Clara Royer นักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส ร่วมกันพัฒนาบทภาพยนตร์ร่างแรกเสร็จปี 2011 นำไปเสนอหาทุนสร้างจากหลายแหล่ง แต่เพราะชื่อของ Nemes ยังไม่เป็นที่รู้จัก สุดท้ายจึงได้งบประมาณมาเพียง €1.5 ล้านยูโร จากกองทุน Hungarian National Film, Hungarian Tax Credits และองค์กร Claims Conference
นำแสดงโดย Géza Röhrig (เกิดปี 1967) กวี นักแสดงเชื้อสาย Hungary เกิดที่ Budapest แม่ทิ้งเขาไว้ตั้งแต่เกิด พ่อเสียชีวิตตอนอายุ 4 ขวบ เติบโตขึ้นในครอบครัวบุญธรรมเชื้อสาย Jews มีความสนใจเป็นนักดนตรีใต้ดิน ก่อนพบความหลงใหลในภาพยนตร์ Shaoh (1985) เคยออกเดินทางสู่ Poland ทัวร์ค่าย Auschwitz สมัยเรียนมหาวิทยาลัย และยังแต่งบทกลอนเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิต รวบรวมเป็นหนังสือชื่อ Hamvasztókönyv (1995) และ Fogság (1997) จบจาก Academy of Drama and Film in Budapest ได้เป็นนักแสดงภาพยนตร์โทรทัศน์อยู่สักพัก ก่อนอพยพย้ายสู่อเมริกาเพื่อเขียนบทกวีขาย ถูกชักชวนดึงตัวกลับมาแสดงภาพยนตร์ Son of Saul กวาดรางวัลประสบความสำเร็จมากมาย
Saul Ausländer ชาวยิวเชื้อสาย Hungarian ทำงานเป็น Sonderkommando ในค่าย Auschwitz วันๆก็เหนื่อยแทบแย่แล้ว แต่เมื่อพบเห็นเด็กชายหนุ่มคนหนึ่งยังมีลมหายใจรอดชีวิตออกจากห้องรมแก๊ส เกิดความต้องการอยากทำพิธีฝังศพตามศาสนาให้ แม้จะต้องเสี่ยงชีวิตเกือบตายออกตามหาแรบไบ แถมยังทำให้ภารกิจลุกฮือขึ้นต่อสู้กับนาซีตกอยู่ในความเสี่ยงอันตราย แต่ความดื้อรั้นเห็นแก่ตัวนี้ เหมือนเพื่อให้ตัวเองยังคงรู้สึกถึง ‘ความเป็นมนุษย์’ หลงเหลืออยู่
เกร็ด: Sonderkommando (แปลว่า Special Unit) คือกลุ่มชาวยิวที่ทำงานในค่าย Death Camp ของนาซี มีหน้าที่เก็บกวาด ทำความสะอาด กำจัดร่างของผู้เสียชีวิตจากห้องรมแก๊สมรณะ
ใบหน้าของ Röhrig เต็มไปด้วยความตึงเครียด เหน็ดเหนื่อย ทุกข์ทรมาน เบ้าตาลึก ดำคล้ำ ปากแห้ง สีหน้าซีดเผือก ก้มหน้าก้มตาเหมือนศพเดินได้ ไร้ซึ่งจิตวิญญาณเป้าหมายชีวิต แต่ทั้งๆที่ไม่ควรมีใครยิ้มออกในค่ายกักกันนาซี วินาทีสุดท้ายของตัวละครนี้ รอยยิ้มของเขาคือประกายแห่งความหวัง บ่งบอกถึงสิ่งที่เขากระทำ ว่ายังทำให้มีความเป็นมนุษย์หลงเหลืออยู่
เนื่องจากนักแสดงมาจากหลายสัญชาติ ผู้กำกับเลยให้พวกเขาพูดภาษาปากของตนเอง เห็นว่ามีประมาณ 8 ภาษาที่บันทึกสด
ถ่ายภาพโดย Mátyás Erdély สัญชาติ Hungarian ได้รับคำแนะนำจากผู้กำกับทั้งหมด 5 ข้อ
– ภาพยนตร์ที่ถ่ายออกมาห้ามดูสวยงาม
– ภาพยนตร์ที่ถ่ายออกมาห้ามดูน่าสงสารเห็นใจ (Appealing)
– เราไม่ได้สร้างหนัง Horror
– อยู่ติดกับ Saul จะต้องไม่เคลื่อนออกไปไกลจากทัศนวิสัยของเขา
– กล้องเปรียบเสมือนคู่หา เพื่อนสนิท อยู่ติดตัวไปด้วยกันตลอดในนรกขุมนี้
หนังใช้เลนส์ 40mm ที่สามารถปรับโฟกัสได้ทันที ด้วยภาพอัตราส่วน 1.375 : 1 (มีชื่อเรียกว่า Academy Ratio) เทียบเท่ากับภาพถ่ายหน้าตรง (Portrait) นี่เพื่อเป็นการสะท้อนทัศนวิสัยของตัวละครที่มองเห็นออกมา, มีมุมกล้องทั้งหมดเพียง 3 แบบ
– มุมมองบุคคลที่ 1 แทนด้วยสายตาของตัวละคร
– (มุมมองบุคคลที่ 2) ภาพหน้าตรง เห็นใบหน้าปฏิกิริยาของตัวละคร
– มุมมองบุคคลที่ 3 กล้องเดินติดตาม ถ่ายจากด้านหลังข้ามบ่าของตัวละคร
แรงบันดาลใจในการถ่ายภาพสไตล์นี้ มาจากหนังสั้นเรื่อง With a Little Patience (2007) ตามติดบันทึกชีวิตประจำวันของหญิงสาวคนหนึ่ง ที่พอมองออกไปนอกหน้าต่าง เห็นกลุ่มนักโทษชาวยิวถูกปลดเปลื้องเสื้อผ้าโดย Sonderkommando และ SS Officers, สามารถหารับชมหนังสั้นเรื่องนี้ได้ใน Youtube
ความน่าทึ่งของการถ่ายทำลักษณะนี้ คือการจงใจทำให้ภาพเบลอหลุดโฟกัส เพื่อปกปิดบังสิ่งอันน่าหวาดกลัว ขยะแขยง ปั่นป่วนท้องไส้ โดยเฉพาะเรือนร่างอันเปลือยเปล่าไร้วิญญาณของชาวยิวหลังจากถูกรมแก๊สพิษ ลดความรุนแรงทางภาพลงได้บางส่วน ปลดปล่อยให้จินตนาการของผู้ชมคิดเห็นกันเอาเองว่าเป็นอย่างไร
เนื่องจากภาพมันเบลอๆมองอะไรไม่ค่อยเห็น เสียง Sound Effect จึงเป็นส่วนสำคัญยิ่ง ออกแบบ Sound Designer โดย Tamás Zányi อดีตครูสอนดนตรี ผันตัวมาทำงานเบื้องหลัง เคยให้สัมภาษณ์บอกว่าหนังมีประมาณ 270 Tracks ซึ่งหลายครั้งในบทหนังเขียนส่งมาลักษณะนามธรรมมากๆ อาทิ ‘เสียงของ Crematorium’ (สถานที่เผาศพ) ต้องมาไล่ดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในฉากนั้น อาทิ เสียงไฟปะทุ, ไม้หัก, สายลมพัด, ผู้คนตะโกน กรีดร้อง ฯ รวมๆแล้วบางครั้งอาจมีถึง 12-14 Layers/เสียงย่อย ในหนึ่งแทร็คเดียว
ความท้าทายของการออกแบบเสียง คือความดังที่ผู้ชม/ตัวละครจะได้ยินจากสิ่งต่างๆรอบข้าง เพราะเรื่องราวดำเนินไปโดยใช้มุมมองของตัวละครหนึ่งเป็นหลัก เขามักเดินไปมาผ่านโน่นนี่นั่นมากมาย การไล่ระดับเสียงต่างๆจึงมีความจำเป็นและยุ่งยากถึงที่สุด รวมๆแล้วใช้เวลา 4-5 เดือนเฉพาะส่วนของ Sound Design
ตัดต่อโดย Matthieu Taponier สัญชาติ Hungarian, ใช้มุมมองของ Saul Ausländer ในการดำเนินเล่าเรื่องทั้งหมด
หนังเน้นถ่ายทำแบบ Long Take แต่ก็มี Montage สั้นๆตัดสลับคั่นไปมา ระหว่างภาพที่เห็น (มุมมองบุคคลที่ 1) กับปฏิกิริยาสีหน้าของตัวละคร (มุมมองบุคคลที่ 2) รวมๆแล้วมีทั้งหมด 85 คัท ยาวสุดไม่มีเกิน 4 นาที
ลักษณะของ Long Take มักเป็นช่วงที่ตัวละครออกเดินไปมา (ถ่ายด้วยมุมมองบุคคลที่ 3 เห็นด้านหลัง) จากสถานที่หนึ่งลากยาวไปยังอีกสถานที่หนึ่ง แต่เมื่อไหร่ที่เขาหยุดนิ่ง จับจ้องมองบางสิ่ง ถึงค่อยมีการตัดต่อสลับมุมมองภาพที่เห็น
เพลงประกอบโดย László Melis (1953 – 2018) นักไวโอลิน/แต่งเพลง สัญชาติ Hungarian ที่มีความหลงใหลในสไตล์ Minimalist เชื่อว่าหลายคนคงไม่ทันได้ตั้งใจฟังสักเท่าไหร่ มีลักษณะเป็น Subtle คอยสร้างบรรยากาศอยู่ห่างๆ, ถ้าไม่รู้ตัวก็ฟัง Ending Score ไปแล้วกันนะครับ
รับชมหนังเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึง Saving Private Ryan (1998) มันคุ้มแล้วหรือกับการกระทำบางสิ่งอย่างเพื่อใครคนหนึ่ง (ที่ไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าคือใคร) แลกกับความเสี่ยงตาย และสูญเสียโอกาสของส่วนรวม, มันคงไม่มีคำตอบที่ถูกต้องของการกระทำลักษณะนี้ เพราะต่อให้คนทั้งโลกมองว่าเป็นสิ่งไม่มีค่าไร้สาระ แต่ถ้าจิตใจของเขามีความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยม เมื่อได้กระทำแล้วจะทำให้ตนเองรู้สึกแตกต่างไปจากที่เป็นอยู่เดิม นั่นถือเป็นชัยชนะเล็กๆที่มีความสุดแสนยิ่งใหญ่
แต่ผมค่อนข้างแอบดีใจที่เขากระทำสิ่งนั้นไม่สำเร็จ ซึ่งหนังได้สอดแทรกแนวคิดของผู้กำกับผ่านไดเรคชั่นฉากว่ายน้ำข้ามลำธารลึก มุมกล้องของฉากนี้เป็นภาพเหนือน้ำทั้งหมด ไม่มีสะเทิ้นใต้ผืนผิวน้ำแม้แต่ช็อตเดียว นั่นมีนัยยะสื่อถึงว่า การกระทำนี้มีลักษณะเป็นเพียงเปลือกนอกด้านบน หาได้มีคุณค่าความสำคัญแท้จริงที่อยู่ภายในจิตใจของคนไม่
แต่วินาทีที่เขามองเห็นเด็กชายผมทองน่าจะเชื้อสายเยอรมัน ราวกับจินตนาการเห็นหนุ่มชาวยิวคนนั้นได้กลับฟื้นคืนชีพมีชีวิต รอยยิ้มที่ค่อยๆแย้มออกหลังจากเดินละห้อยเหี่ยหมดอาลัย มันทำให้เขารับรู้ถึง ‘ความเป็นมนุษย์’ ที่ยังหลงเหลืออยู่ในตนเอง แม้จะไม่สำเร็จลุล่วงดั่งใจหวัง แต่ก็เหลือเฟือเพียงพอแล้ว ความหวังเล็กๆที่โหยหาได้สำเร็จลุล่วงโดยพลัน
ในสถานการณ์ลักษณะนี้ หลายคนย่อมไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพระเอก แต่อยากให้ลองจินตนาการกันสักนิดว่า ถ้าเด็กชายคนนั้นคือลูกของคุณจริงๆ ดั่งชื่อหนัง Son of Saul เชื่อว่าบางคนอาจจะดื้อรั้น เห็นแก่ตัว ไม่ยอมปล่อยให้ล่องลอยไปตามสายน้ำ (อาจจะได้จมน้ำตายไปอีกคน) ยิ่งว่าที่พบเห็นในหนังเสียอีกนะ
ผมคงได้แค่แนะนำว่า ‘ปล่อยวาง’ มันเสียบ้างถ้าคุณตกอยู่ในสถานการณ์ลักษณะคล้ายๆกันนี้ ครุ่นคิดถึงว่า ชีวิตไม่ได้มีแค่ชาตินี้จบสิ้น ร่างกายเป็นเพียงวัตถุหนึ่งไม่ต่างจากก้อนดินหินอากาศธาตุ สิ่งที่มองไม่เห็นอยู่ภายในเรียกว่าจิตวิญญาณ นั่นต่างหากมีความสำคัญกว่าที่สุด
มนุษยธรรม คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่นๆ หรือธรรมที่เราควรปฏิบัติมีต่อกัน อาทิ เมตตากรุณา, เอื้อเฟื้อเผื่อแฟ่, มีน้ำใจโอบอ้อมอารี ฯ ในทางพุทธเปรียบเทียบใกล้เคียงสุดก็คือ เบญจธรรม (เบญจศีล คือข้อห้าม ๕ ประการ, เบญจธรรม คือข้อแนะนำปฏิบัติ ๕ ประการ) ประกอบด้วย
๑. เมตตา กรุณา
๒. สัมมาอาชีวะ
๓. กามสังวร
๔. สัจจะ
๕. สติ สัมปชัญญะ
บทเรียนจากภาพยนตร์เรื่องนี้ คือการตั้งคำถามว่า ในสถานการณ์ตกอยู่ในนรกทั้งเป็น เราจะยังสามารถมี ‘มนุษยธรรม’ หรือเบญธรรม หลงเหลืออยู่ได้หรือเปล่า? คำตอบคือได้แน่นอน, อันนี้แนะนำฝากไว้กับคนที่เชื่อมั่นว่า ชาตินี้ทำกรรมชั่วไว้มาก ตายไปตกนรกอย่างแน่นอน ว่ากันว่าดินแดนแห่งนั้นจะทำให้คุณทุกข์ทรมานแสนสาหัส ถ้ามีโอกาสเล็กๆ ลองทำสักอย่างที่คือเบญจธรรมนี้ดู มันอาจช่วยเหลือกันไม่ได้สักเท่าไหร่ แต่จักทำให้จิตใจสูงส่งขึ้นโดยไม่รู้ตัว
Claude Lanzmann ผู้กำกับโคตรสารคดี Shoah (1985) ชื่นชอบยกย่องหนังเรื่องนี้อย่างมาก จนมีโอกาสได้กลายเป็นเพื่อนรู้จักกับ Nemes เป็นการส่วนตัว
“It’s a very new film, very original, very unusual. It’s a film that gives a very real sense of what it was like to be in the Sonderkommando. It’s not at all melodramatic. It’s done with a very great modesty”.
แรกสุดหนังได้รับเชิญเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Berlin แต่กลับถูกขอให้อยู่การประกวดสายรอง Panorama Section ไม่ใช่ Main Competition ทีมงานเลยไม่ยอมส่งไป รอคอยเทศกาลหนังเมือง Cannes ซึ่งพอออกฉายกลายเป็นเต็งหนึ่งข้ามคืนที่จะคว้า Palme d’Or แต่คณะกรรมการนำโดยสองพี่น้อง Coens เลือก Dheepan (2015) ภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส ของผู้กำกับ Jacques Audiard ให้คว้ารางวัลใหญ่แทน, กระนั้น Son of Saul ก็ยังสามารถกวาดมาได้ถึง 4 รางวัล
– Grand Prix du Jury (อันดับสองของเทศกาล)
– FIPRESCI Prize (รางวัลของนักวิจารณ์)
– François Chalais Prize
– Vulcain Prize for the Technical Artist มอบให้ Tamás Zányi ผู้เป็น Sound Designer
ด้วยทุนสร้างประมาณ $1.8 ล้านเหรียญ ใน Hungary สามารถทุบสถิติภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดในประเทศลงได้ ตั้งแต่ก่อนหน้าเริ่มเดินหน้ากวาดรางวัลปลายปีเสียอีก ทำเงินรายรับทั่วโลก $9.7 ล้านเหรียญ
สำหรับรางวัล Best Foreign Language Film ปลายปีที่สามารถกวาดมาครองได้ ประกอบด้วย
– Academy Award
– Golden Globe Award
– BAFTA Award
ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องที่สองของ Hungary ที่สามารถคว้า Oscar: Best Foreign Language Film มาครองได้ โดยเรื่องแรกคือ Mephisto (1981) ระหว่างนั้นก็มีที่ได้เข้าชิง The Boys of Paul Street (1968), Cats’ Play (1974), Hungarians (1978), Confidence (1980), Job’s Revolt (1983), Colonel Redl (1985), Hanussen (1988) และปีล่าสุด On Body and Soul (2017)
เริ่มต้นมาส่วนตัวค่อนข้างชอบพล็อต แนวคิด และไดเรคชั่นของหนังมากๆ แต่สักประมาณกลางเรื่องเริ่มรับไม่ได้กับความดื้อด้านหัวรั้นของตัวละคร มันจะยึดติดในรูปตัวตนมากเกินไปไหม ครุ่นคิดว่าถ้าตอนจบทำพิธีฝังสำเร็จนะ จะโคตรเกลียดเลยละ แต่พอถึงฉากลอยคอกลางแม่น้ำ แค่ตนเองยังเอาตัวไม่รอด ตบโต๊ะฉาด! ใช่เลยละนี่คือสิ่งที่ผมรอคอย ความชื่นชอบประทับใจหวนกลับคืนมาอีกครั้ง
ใจจริงอยากจัดหนังให้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แต่คิดว่าคนส่วนใหญ่คงทนดูไม่ไหวแน่ ยิ่งจินตนาการของคนสมัยนี้เตลิดเปิดเปิงไปไกล คงมองไม่เห็นคุณค่าใจความเนื้อใน สิ่งสำคัญล้ำค่ามีมนุษยธรรมที่สุดในเหตุการณ์ลักษณะนี้ คือการ ‘ปล่อยวาง’ จากความยึดติดทุกสิ่งอย่าง
แนะนำกับคอหนังรางวัล ขาโหด ชื่นชอบความรุนแรง Sadist, สนใจประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่องราวในค่ายกักกันนาซี โดยเฉพาะการทำงานของ Sonderkommando ในค่าย Auschwitz
จัดเรต 18+ กับภาพ ความรุนแรง และจินตนาการที่จะทำให้ผู้ชมเตลิดเปิดเปิงไปไกล
Leave a Reply