Song at Midnight (1937) : Ma-Xu Weibang ♥♥♥♡
ภาพยนตร์ Horror เรื่องแรกของประเทศจีน ดัดแปลงจาก The Phantom of the Opera สอดไส้แนวคิดชวนเชื่อต่อต้านรัฐบาลคอรัปชั่นของพรรคก๊กมินตั๋ง ตอนฉายผู้สร้างถูกจับติดคุกเกือบเอาตัวไม่รอด กาลเวลาผ่านไปได้รับการยกย่องอย่างสูงจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ติดหนึ่งในร้อยหนังจีนยอดเยี่ยมตลอดกาล
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้กลายเป็น Public Domain ไปเรียบร้อยแล้วนะครับ สามารถหารับชมได้บน Youtube พร้อมซับภาษาอังกฤษ แต่คุณภาพไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ คงยังไม่ได้รับการบูรณะซ่อมแซม
บอกเลยว่าผมค่อนข้างเซอร์ไพรส์กับหนังอย่างยิ่งทีเดียว ช่วงแรกๆอาจดูไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่เพราะความขมุกขมัวของงานภาพ แต่ความน่าสนใจจะทวีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พบเห็นรับอิทธิพลจาก Universal Monsters อาทิ The Hunchback of Notre Dame (1923), เรื่องราวและการแต่งหน้าจาก The Phantom of the Opera (1925), อิทธิพลการเคลื่อนกล้อง ถ่ายฉากภายใน The Cat and the Canary (1927), ตอนจบคล้าย Frankenstein (1931)
Ma-Xu Weibang (1905 – 1961) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติจีน เกิดที่ Hangzhou, Zhejiang พ่อ-แม่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก แต่ได้รับการส่งเสียให้เข้าเรียน Shanghai Institute of Fine Arts จบออกมาเป็นนักแสดงสังกัด Mingxing Film Company ภาพยนตร์เรื่องแรก The Marriage Trap (1924)[สูญหายไปแล้ว], ผันตัวมาทำงานเบื้องหลัง เริ่มจากผู้ช่วยกำกับ จนได้ฉายเดี่ยว The Love Freak (1926) [สูญหายไปแล้ว], แต่กว่าจะเริ่มประสบความสำเร็จก็ Song at Midnight (1937) ดังไกลระดับโลกทีเดียว
ด้วยความหลงใหลคลั่งไคล้ในหนัง Horror หลังความสำเร็จของ Song at Midnight (1937) สร้างแนวนี้ต่ออีกสองเรื่อง Walking Corpse in an Old House (1938), The Lonely Soul (1938), ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองสร้างภาคต่อ Song at Midnight, Part II (1941) ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่, ตามด้วยภาพยนตร์ชวนเชื่อให้ญี่ปุ่น Eternity (1943) ด้วยเหตุนี้หลังสงครามสิ้นสุดเลยต้องอพยพลี้ภัยมา Hong Kong ก่อนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ สิริอายุ 56 ปี
Yè bàn gē shēng (ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Midnight Song, Singing at Midnight, แปลกตรงๆคือ Voice of Midnight) ดัดแปลง/สร้างใหม่จาก Le Fantôme de l’Opéra (หรือ The Phantom of the Opera) ผลงาน Masterpiece ของนักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส Gaston Leroux (1868 – 1927) ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์รายวัน Le Gaulois ตั้งแต่ 23 กันยายน 1909 ถึง 8 มกราคม 1910 รวมเล่มวางขายมีนาคม 1910
Le Fantôme de l’Opéra ส่วนหนึ่งได้แรงบันดาลใจจากข่าวลือ/เหตุการณ์เกิดขึ้นจริงที่ Paris Opera ระหว่างโปรดักชั่นโอเปร่าเรื่อง Der Freischütz (1841) [แปลว่า The Marksman/The Freeshooter, ถือเป็น Romantic Opera เรื่องแรกด้วยภาษาเยอรมัน] มีการนำศพ/โครงกระดูกของนักเล่ต์ Carl Maria von Weber มาใช้ประกอบการแสดง
ฉบับหนังเงียบ The Phantom of the Opera (1925) นำแสดงโดย Lon Chaney ได้รับการยกย่องอย่างสูงถึงบรรยากาศอันน่าสะพรึงกลัว และการแต่งหน้าที่ทำให้ผู้ชมกรี๊ดลั่นเป็นลมสลบคาโรง รับชมในสมัยปัจจุบันผมยังรู้สึกสั่นสะท้านสยิวกายเล็กๆ โคตรหลอนตราตรึงสุดๆ
Weibang พัฒนาหนังเรื่องนี้ โดยคงบรรยากาศน่าหวาดสะพรึงกลัว และการแต่งหน้าโคตรหลอนของ The Phantom แล้วปรับเปลี่ยนเรื่องราวให้มีความเป็นจีน สอดแทรกแนวคิด ทัศนคติ และประเด็นชวนเชื่อในความสนใจตัวเองเข้าไป
Song Danping (รับบทโดย Gu Menghe) เป็นนักร้องโอเปร่าชื่อดัง ตกหลุมรักหญิงสาว Li Xiaoxia (รับบทโดย Hu Ping) อาศัยอยู่บ้านคฤหาสถ์หลังใหญ่ฐานะร่ำรวย แต่ขณะนั้นมีชายหนุ่มผู้มากด้วยอิทธิพลเจ้าของโรงละครเวที Tang Jun พยายามใช้วิธีการชั่วร้ายหยุดยั้งไม่ให้ทั้งสองลงเอยแต่งงาน ปลอมตัวเอาน้ำกรดสาดหน้าจนมีสภาพดูไม่ได้ ฝากข่าวไปบอกคนรักให้คิดว่าตนเองเสียชีวิตจากไปแล้ว ด้วยอาการช็อคของเธอทรุดล้มลงหมดสติ จากนั้นมาวิญญาณก็แทบไม่เคยสิงสถิตอยู่ในร่าง ล่องลอยไปมาราวกับแวมไพร์ ทุกค่ำคืนเมื่อได้ยินบทเพลงคุ้นหูออกมายืนฟังนอกหน้าต่าง ครุ่นคิดว่านั่นคือเสียงร้องของวิญญาณอดีตคนรักที่ยังไม่ได้ไปผุดไปเกิด
หลายปีผ่านไป มีคณะการแสดงใหม่เดินทางมายังโรงละครแห่งนี้ ชายหนุ่ม Sun Xiao-au แม้จะรับบทนำแต่ยังขาดความมั่นใจในตนเอง ค่ำคืนหนึ่งบังเอิญได้รับคำชี้แนะนำจาก Song Danping ที่หลบซ่อนตัวอยู่บนชั้นดาดฟ้า จนประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงล้นหลาม ข้อแลกเปลี่ยนคือได้รับการร้องขอให้ช่วยปลอมเป็นตนเอง แล้วตกหลุมรัก Li Xiaoxia ปลดปล่อยเธอให้คลายจากความทุกข์โศก
หนังดำเนินเรื่องในมุมมองของ Song Danping เริ่มจากยามเที่ยงคืนที่เขาร้องเพลงให้คนรักอีกฟากฝั่งหนึ่งได้ยินฟัง จากนั้นเป็นการมาถึงของคณะการแสดงชุดใหม่ เมื่อชายหนุ่ม Sun Xiao-au ซักซ้อม ได้รับการช่วยเหลือ กระโดดข้ามไปเมื่อประสบความสำเร็จ และได้พบเจอกันต่อหน้าครั้งแรก ถึงค่อยเล่าย้อนอดีต Flashback ว่าเกิดอะไรขึ้นกับ Song Danping จนเมื่อใบหน้าแห่งความอัปลักษณ์พิศดารปรากฎขึ้น ตัดกลับมาปัจจุบันแล้วเล่าเรื่องต่อไป
ในช่วงแรกๆ การปรากฎตัวของ Song Danping จะมาเพียงเงา เสียง หรือไม่ก็สวมผ้าคลุมสีดำ ปกปิดความอัปลักษณ์พิศดารของใบหน้าตนเอง จนกระทั่งเมื่อได้รับการเปิดเผยกลางเรื่อง แรกๆผู้ชมจะตกใจกลัว แต่พอเห็นบ่อยๆคงเริ่มชินชา, นี่ถือเป็นวิธีการสุดคลาสสิกในการนำเสนอสัตว์ประหลาด หรืออะไรที่ต้องการสร้างความประหลาดใจให้ผู้ชม เกิดความใคร่สงสัยอยากรู้ในตอนแรก สักพักก็จักปรับตัวได้
เกร็ด: การแสดงละครเวทีเรื่อง Yellow River Love ถือเป็น Play within Film แต่งขึ้นใหม่สำหรับหนัง ดำเนินขึ้นปี ค.ศ. 1125 ระหว่างเหตุการณ์จิ้งคัง [การสู้รบระหว่างจักรพรรดิซ่งชินจง แห่งราชวงศ์ซ่งเหนือ กับจักรพรรดิจินไท่จง แห่งราชวงศ์จิน] ชายหนุ่มอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำ ตกหลุมรักหญิงสาวที่อาศัยอยู่ตอนเหนือของแม่น้ำ แต่เมื่อสงครามปะทุเลยทำให้พวกเขามิอาจพบเจอครองรัก สุดท้ายร่วมกันฆ่าตัวตายกระโดดลงแม่น้ำฮวงโห (แม่น้ำเหลือง ได้รับฉายาแม่น้ำวิปโยค)
วิธีการสร้างบรรยากาศให้เกิดความหวาดสะพรึงกลัว คือออกแบบโรงละครให้มีความเก่าขลัง เต็มไปด้วยหยากไย่รกรุงรัง ค่อยๆย่างเดินเข้ากระโผลกกระเผลกเข้าไป และใช้แสงจากเทียนไขให้ความสว่างเท่านั้น ด้วยเหตุนี้พื้นหลังรอบข้างจึงมืดมิดสนิท ประกอบกับคุณภาพของฟีล์มที่เริ่มเสื่อมสภาพ เพิ่มความหลอนไปได้อีกเกือบเท่าตัว
ไดเรคชั่นขณะเปิดเผยใบหน้าของ Song Danping เกิดขึ้นในฉากย้อนอดีต วันนั้นฝนฟ้าคะนองแลบแปลบจะได้ยินเสียงคำรามดังขึ้นเรื่อยๆ เริ่มต้นจากหมอกำลังค่อยๆนำผ้าพันแผลเปิดออก จากนั้นฟ้าผ่าโครม!ทุกคนแสดงปฏิกิริยาสีหน้าตกใจกลัว แม่ลูกวิ่งหนีไปกอดกันกลม จากนั้นชายหนุ่มค่อยๆลุกขึ้นเห็นด้านหลัง เดินตรงเข้าไปหากระจกถ่ายภาพสะท้อน อึ้งทึ่งตะลึงพูดไม่ออก นำเทียนมาจ่อใกล้ๆเพื่อยืนยัน จากนั้นร้องลั่นทำลายข้าวของทุกสิ่งอย่าง
ไฮไลท์ของหนังอยู่ตอนที่ Li Xiaoxia ได้ยินคำจากเด็กหญิงบอกว่า Song Danping เสียชีวิตแล้ว การแสดงของ Hu Ping ถ่ายทอดความรู้สึกออกมาทางมือยกขึ้นกวัดแกว่งไปมา (นี่รับอิทธิพลจาก German Expressionism) จากนั้นตรงออกไปนอกหน้าต่าง ตัดภาพโรงละครสั่นโคลงเคลง กลับเข้ามามุมเอียงกระเท่เล่ Dutch Angle ตรงเข้าหาภาพแม่ถ่ายด้วยมุมมองบุคคลที่หนึ่งเลื่อนเข้าจนเบลอไม่เห็นชัด ถอยออกมาเกิดอาการวิงเวียนสองภาพหมุนซ้อน โยกตัวไปมาก่อนล้มลงหมดสติ … ทั้งหมดนี้คือ Expression ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครออกมาด้วยภาษาภาพยนตร์ ใครดูหนังเงียบเป็นจะรู้เลยว่านี่เป็นไดเรคชั่นที่เจ๋งเป้งมากๆ
ระหว่างที่ Li Xiaoxia กำลังเดินอย่างไร้วิญญาณ (เหมือนแวมไพร์) ล่องลอยผ่านสวนที่ขณะนั้นรกชัญไม่ได้รับการตัดแต่งดูแล หนังเลือกใช้บทเพลง Bach: Air on a G string สร้างสัมผัสที่รวดร้าวบาดลึก โหยหวนทุกข์ทรมาน, อีกครั้งหนึ่งที่ผมจดจำบทเพลงได้ คือขณะ Tang Jun เข้ามาในห้องของนักแสดงสาวคนหนึ่ง เตรียมตัวจะข่มขืน ดังขึ้นด้วย Gershwin: Rhapsody in Blue
ไคลน์แม็กซ์ตอนจบการต่อสู้ Slapstick ระหว่าง Song Danping กับ Tang Jun ผลลัพท์ทำให้ฝูงชนลุกฮือขึ้นต่อต้านยินยอมรับไม่ได้ วิ่งไล่พร้อมจะรุมประชาทัณฑ์ไปจนถึงหอคอยแห่งหนึ่ง [ส่วนผสมของ The Hunchback of Notre Dame กับ Frankenstein] เมื่อไม่สามารถขึ้นไปชั้นบนได้ก็เลยจุดไฟเผาให้วอดวายเสียเลย, ฉากนี้ตัดสลับไปมากับ Sun Xiao-au เล่าความจริงทั้งหมดให้ Li Xiaoxia และบอกว่าต่อจากนี้ชีวิตต้องมองไปแต่ข้างหน้าสถานเดียว อย่าหันหลังย้อนมองกลับมา จบด้วยการกระโดดน้ำฆ่าตัวตายของ Song Danping [นี่ล้อกับเรื่องราวของละครเวที Yellow River Love] และภาพสองหนุ่มสาวโอบกอดเหม่อมองออกไปในทิศทางเดียวกัน
ในยุคสมัย Leftist Cinematic Movement [คล้ายพวก German Expressionist, Italian Neorealist, French New Wave] กระแสภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งในประเทศจีนจะมีลักษณะสะท้อนปัญหาสังคมในช่วงทศวรรษนั้น เน้นปลูกฝังค่านิยมยุคสมัยใหม่ ชาย-หญิง มีความเสมอภาค ได้รับโอกาสเท่าเทียมในสังคม
ผู้กำกับ Ma-Xu Weibang ก็ถือเป็นหนึ่งในพวกซ้ายจัด สร้างตัวร้าย Tang Jun มีรูปลักษณ์หน้าตาหล่อเหลา หนุ่มแน่น ร่ำรวย เจ้าของโรงละครเวที (เปรียบสถานที่โรงละครได้กับประเทศจีน, ตัวละครนี้แทนด้วยผู้นำรัฐบาลของพรรคก๊กมินตั๋ง) จิตใจเต็มไปด้วยความคิดคดชั่วร้ายหลอกลวง สาดกรดใส่ Song Danping ทำให้สูญเสียสิ้นหน้าตาความน่าเชื่อถือ ทั้งยังวางแผนข่มขืนหญิงสาว เลวโฉดชั่วร้ายแบบไม่น่าให้อภัย
สำหรับตัวละคร Song Danping คือสัญลักษณ์ของผู้นำการปฏิวัติ ก็ไม่เชิงสื่อถึงเหมาเจ๋อตุง แต่เหมารวมถึงผู้รักชาติเสียสละตนเองเพื่อพรรคคอมมิวนิสต์ แล้วถูกกระทำร้ายทรมาน หรือเสียชีวิตจากความคอรัปชั่นของรัฐบาลสาธารณรัฐจีนขณะนั้น
Sun Xiao-au ถือเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ บุคคลผู้สืบสานต่ออุดมการณ์ของคนรุ่นก่อน (ได้ Song Danping คืออาจารย์/เงา/อยู่ด้านหลังผลักดัน) แต่เพราะเขาก็มีความคิดอ่านต้องการของตนเอง ก็ไม่จำเป็นต้องด้วยวิธีการเดียวเสมอไป ปรับประยุกต์ไปตามความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย แค่ให้ได้ผลลัพท์เป้าหมายความสำเร็จก็เพียงพอแล้ว
หนึ่งในผู้เสียสละเพื่อชาติของหนังเรื่องนี้คือ นักแต่งเพลง Tian Han เพราะเนื้อร้องมีใจความต่อต้านรัฐบาลจีนอย่างเด่นชัด เลยถูกจับขังคุกทรมาน ก็น่าจะสามารถเอาตัวรอดผ่านช่วงเวลาปฏิวัติและเปลี่ยนผ่านมาได้อยู่
ด้วยความนิยมอย่างสูงของ Song at Midnight ในประเทศจีน ทำให้ได้รับการสร้างใหม่ถึง 4 ครั้ง (ไม่นับรวมภาคต่อของ Weibang)
– The Mid-Nightmare แบ่งออกเป็นสองภาค Part I (1962) และ Part II (1963) ของสตูดิโอ Shaw Brother
– Song of Midnight (1985)
– The Phantom Lover (1995) นำแสดงโดย Leslie Cheung ** น่าสนใจสุด เผื่อใครอยากหามารับชม
– Song of Midnight (2005) ฉบับ TV-Series
สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้ คือการใช้แสงเงาสร้างบรรยากาศอันหลอนสะพรึง ใบหน้าของ Jin Shan น่ากลัวยิ่งกว่า Lon Chaney เสียอีกนะ (แต่ตราตรึงไม่เท่าเพราะไม่ใช่ครั้งแรก) และเรื่องราวที่แม้จะมีความคุ้นเคย แต่พอแทรกใส่นัยยะแอบแฝงซ่อนเร้น ชักชวนให้น่าค้นหาอย่างยิ่งว่าสื่อความถึงอะไร
แนะนำคอหนัง Mystery Horror, แฟนๆของ Universal Monsters ถึงจะคนละซีกโลก แต่ถือว่าอยู่รับอิทธิพลมาเต็มๆ, หลงใหลในนิยาย The Phantom of the Opera ไม่ควรพลาด
จัดเรต 13+ กับบรรยากาศหลอนๆ พฤติกรรมแย่ๆของคน และประเด็นชวนเชื่อ
Leave a Reply