Song of the Sea

Song of the Sea (2014) Irish : Tomm Moore ♥♥♥♥

อนิเมชั่นงานภาพโคตรสวยเรื่องนี้ สร้างโดยผู้กำกับชาวไอริช Tomm Moore ได้เข้าชิง Oscar: Best Animated Feature น่าเสียดายไม่ได้รางวัล, ดัดแปลงจากเรื่องเล่าตำนาน Celtic Mythology การผจญภัยของเด็กชาย เพื่อช่วยเหลือน้องสาวที่เป็น Selkie (ครึ่งมนุษย์ครึ่งแมวน้ำ) ที่ทำให้เขาค้นพบกับโลกแฟนตาซีล้ำจินตนาการ, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

นี่เป็นอนิเมะที่มีงานภาพสวยม๊ากกก ไม่ใช่ในความสมจริง เลิศหรู อลังการ แต่เป็นความวิจิตรงดงาม ลวดลายล้ำลึกตระการตา และมีกลิ่นอายที่ตลบอบอวลด้วยความหอมกรุ่น นุ่มนวล อ่อนหวาน, โดยปกติแล้วอนิเมชั่นลักษณะนี้จะพบเห็นได้เฉพาะที่ญี่ปุ่นเท่านั้น ไม่ค่อยพบเห็นในฝั่งอเมริกาหรือยุโรป (อนิเมชั่นฝั่งอเมริกาจะเน้นขายตลาด, ยุโรปเน้นขายงานศิลปะ, เอเชียเน้นขายอารมณ์และวัฒนธรรม) แต่เมื่อโลกปัจจุบันแคบลง ผลงานฝั่งตะวันออกได้เผยแพร่เข้าสู่ฝั่งตะวันตก นี่น่าจะเป็นสตูดิโอแรกๆที่ผสมผสานอิทธิพลจากโลกตะวันออกเข้ากับโลกตะวันออก (ยุโรป) กลายมาเป็นอนิเมชั่นที่มีความโดดเด่นในด้านศิลปะ อารมณ์และวัฒนธรรม

ในปีนั้น Oscar: Best Animated Feature น่าผิดหวังมาก เพราะเรื่องที่ได้รางวัลคือ Big Hero 6 ของ Walt Disney เอาชนะทั้ง The Boxtrolls, Song of the Sea, The Tale of the Princess Kaguya และ The Lego Movie (ที่ไม่ได้เข้าชิง) ผมถือว่าเป็นปีอัปยศที่สุดของสาขานี้ แปลกที่กลับไม่มีใครออกมาโวยวายเรียกร้อง, นับตั้งแต่มี Oscar: Best Animated Feature ตั้งแต่ปี 2001 มีเพียง 2 ครั้งเท่านั้นที่อนิเมะต่างชาติ ไม่ได้สร้างโดยอเมริกาได้รางวัล, ถ้าใครยังเชื่อถือสาขานี้ว่าคือ อนิเมชั่นที่ดีที่สุดแห่งปีจริงๆ แสดงว่าคุณไม่ใช่คออนิเมะเลยนะครับ (ผมเรียก Oscar สาขานี้ว่า อนิเมชั่นของอเมริกาที่ดีที่สุดแห่งปี, ดูสิว่าจะเป็นแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน)

เกร็ด: อนิเมชั่น 2 เรื่องที่ไม่ใช่ของอเมริกาแล้วได้ Oscar: Best Animated Feature คือ
– Spirited Away (2001) [เข้าชิงปี 2002] สตูดิโอ Ghibli ประเทศญี่ปุ่น
– Wallace & Gromit: The Curse of the Were-Rabbit (2005) สตูดิโอ Aardman ประเทศอังกฤษ

Cartoon Saloon สตูดิโออนิเมชั่นของประเทศ Ireland ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1999 โดย Tomm Moore, Nora Twomey และ Paul Young ที่ได้พบกันขณะเรียนทำอนิเมชั่นที่ Ballyfermot Senior College, Dublin เมืองหลวงของประเทศ Ireland, หลังตั้งบริษัท ช่วงแรกๆมีผลงานอนิเมชั่นขนาดสั้นหลายเรื่อง จนกระทั่งปี 2010 ได้มีผลงาน debut อนิเมชั่นขนาดยาว The Secret of Kells ที่ได้เข้าชิง Oscar: Best Animated Feature ในปีนั้นด้วย

Song of the Sea เป็นผลงานลำดับที่ 2 ของสตูดิโอนี้ ใช้เวลานับตั้งแต่เตรียมการจนเสร็จสิ้นเกือบ 5 ปี จุดเริ่มต้น ได้แรงบันดาลใจมาการไปเที่ยวทะเลกับลูกชายของผู้กำกับ Tomm Moore บริเวณทะเลฝั่งตะวันตกของประเทศ Ireland แล้วได้พบเห็นแมวน้ำเกยตื้นเสียชีวิตอยู่บนหาดจำนวนมาก คนพื้นที่บอกว่า ชาวประมงฆ่าพวกมันเพราะความโกรธแค้นที่หาปลาไม่ได้ (ถูกแมวน้ำแย่งจับกินปลาหมด) ถ้าเป็นเมื่อหลายปีก่อนคงไม่มีทางเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นแน่ เพราะพวกเรามีความเชื่อว่า แมวน้ำเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือวิญญาณของมนุษย์ที่เสียชีวิตในทะเล ล่องลอยกลับมาเกิดเป็นแมวน้ำ (ตามตำนานของ Selkie)

Selkies เป็นสัตว์ในเรื่องเล่าปรัมปรา (Mythological) ค้นพบได้ในเรื่องเล่าพื้นบ้าน (folklore) ของ Irish, Scottish และ Faroese ว่ากันว่า Selkies มี 2 ร่างในตัว อาศัยอยู่ในทะเลเป็นแมวน้ำ (Seals) แต่เมื่อขึ้นบกก็สลัดผิวแล้วกลายเป็นมนุษย์, ตามตำนานเล่าว่า Selkies ผู้ชายในร่างมนุษย์จะหล่อมาก และมีความสามารถทำให้มนุษย์ผู้หญิงเกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ (เน้นจีบหญิงหม้าย ที่สามีออกทะเลไม่ยอมกลับบ้าน), ส่วน Selkies ผู้หญิง มักจะไม่ค่อยปรากฎตัวให้เห็น จะมีจุดอ่อนคือ ถ้ามนุษย์ผู้ชายคนใดขโมยผิวหนังของเธอไป (ผิวที่สลัดออกขณะขึ้นบก) จะทำให้พลังลดลงและยอมทำทุกอย่าง รวมถึงเป็นภรรยาของเขา, ตำนานบอกว่า Selkies เป็นภรรยาที่สวยและนิสัยดีมากๆ ชอบนั่งเหม่อลอยดูท้องทะเล (เพราะคิดถึงบ้าน) ผู้ชายต้องซ่อนผิวนั้นไว้ให้ดีละ เพราะถ้าเธอค้นพบเจอก็จะขโมยแล้วหนีกลับลงทะเลโดยทันที ไม่กลับมาหาอีก (ยกเว้นถ้ามีลูกกันแล้ว เธอมักจะกลับมาหาลูกนานๆครั้ง)

เรื่องราวของ Song of the Sea เป็นการผจญภัยของ Ben (ภาษา Hebrew แปลว่าลูกชาย) [พากย์เสียงโดย David Rawle] ที่ได้สูญเสียแม่ไปตั้งแต่เด็ก (เพราะคิดว่าแม่จมน้ำตาย ทำให้กลายเป็นโรคกลัวน้ำ) มีน้องสาว Saoirse (แปลว่า อิสระภาพ, freedom) [พากย์เสียงโดย Lucy O’Connell] ที่ยังพูดไม่ได้ ไม่มีท่าทีว่าจะพูดได้ และหมาเพื่อนรัก Cú (ภาษา Irish แปลว่า Hound) ที่จงรักภักดีอย่างยิ่ง, ครั้งหนึ่งย่าจอมเจ้ากี้เจ้าการ ได้บังคับพาสองพี่น้องให้ออกจากอ้อมอกพ่อ (ที่ยังโศกเศร้า อมทุกข์ ทำใจในความสูญเสียภรรยาไม่ได้) ไปอยู่ในเมืองที่มีความสับสนวุ่นวาย นั่นไม่ใช่ที่ของพวกเขาทั้งสอง จึงแอบหนีออกมาเพื่อเดินทางกลับบ้าน

ระหว่างทาง สองพี่น้องได้ใช้ชีวิตร่วมกัน พบปะผู้คน เรื่องราวอะไรแปลกๆมากมาย ซึ่งเรื่องราวในโลกแฟนตาซี จะสอดคล้อง ใกล้เคียงหรือสะท้อนเหตุการณ์กับโลกความจริงที่สองพี่น้องได้พบเจอ (นี่ถ้าใครเคยทำความเข้าใจ Pan’s Laybrith มา ก็อาจจะมองเห็น ตีความได้ในลักษณะเดียวกัน)

พ่อ ผู้มีความทุกข์โศกเศร้าเสียใจจากการที่แม่จากไป ในโลกแฟนตาซีเขาเปรียบได้กับ Mac Lir ยักษ์ที่ร้องไห้จนน้ำท่วมโลกด้วยความเศร้าโศกเสียใจ จน Macha ต้องทำให้เขากลายเป็นหินจึงหยุดร้องไห้, ดูจากภาพยิ่งชัด พ่อที่ยืนอยู่ กับภาพวาดพื้นหลัง Mac Lir โน้มหัวไปข้างหน้าเหมือนกัน สีผม เสื้อผ้าก็ยังคล้ายๆกันเลย

ย่า/ยายจอมเจ้ากี้เจ้าการ เรื่องมาก เอาแต่ใจ หลายคนคงเดาได้ ในโลกแฟนตาซีก็คือ Macha แม่มดนกฮูก ผู้ซึ่งเชื่อว่า มนุษย์ไม่ควรมีความรู้สึกใดๆ เธอสามารถเอาความสุข ความทุกข์ โกรธ เศร้า ใส่ไว้ในกระปุก แต่เมื่อทำอย่างนั้น ร่างกายจะค่อยๆกลายเป็นหิน (ก้อนหิน เป็นสิ่งสัญลักษณ์ที่ไม่มีชีวิต แข็งทื่อ เย็นชา หมายถึงคนไม่มีอะไรให้เดือดเนื้อร้อนใจ ไม่มีความคิดรู้สึกใดๆ), ดูจากรูป จะเห็นห้องของย่าและ Macha คล้ายๆกันอยู่ แค่โทนสีตรงข้าม (ออกแบบตัวละครได้คล้ายกันด้วย)

อีกตัวละครที่หลายคนอาจคิดไม่ถึง คนขับ Ferry ที่พาย่าไปส่งขึ้นเกาะ ในโลกแฟนตาซีเขาคือ The Great Seanachaí ตาเฒ่าผมยาว ที่เป็นคนเชื่อมต่อระหว่างอดีตกับปัจจุบันและอนาคต มีเส้นผมที่นำทาง Ben ไปหา Saoirse

3 ตัวละครชุดนี้ เพื่อต้องการสะท้อนโลกจริงและโลกแฟนตาซี อนิเมะจงใจใช้นักพากย์คนเดียวกันด้วยนะครับ ฟังออกหรือเปล่าเอ่ย?

เรื่องราวเล่าโดยใช้มุมมองของ Ben ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ตอนที่ยังเล็ก โตขึ้น อยู่บ้านยาย และเป็นคนที่พาน้องกลับบ้าน, จุดเริ่มต้นของการมองเห็นโลกแฟนตาซีของ Ben เกิดขึ้นหลังจากที่เขามุดทางเข้าหนึ่ง (นี่คล้ายๆกับ Spirited Away ตอนที่เด็กหญิงเดินเข้าอุโมงค์กับครอบครัว แล้วไปโผล่ในโลกแห่งวิญญาณ)

หลังจากช็อตนี้ Ben ก็จะได้พบกับ Fairy (Færie) สามตน ที่คาดหวังให้ Saoirse พาพวกเขาไป Tír na nÓg (Land of Youth) หรือโลกหลังความตาย สถานที่ที่พวกเขาจะกลายเป็นเด็กและอมตะ (นี่เป็นความเชื่อในสวรรค์ของคน Irish ก่อนการเข้ามาของ Christian), นี่ทำให้ Ben รู้ว่า แท้จริงแล้ว Saoirse เป็น Selkies

สิ่งหนึ่งที่ค้างคาอยู่ในใจของ Ben มานาน นั่นคือปมเรื่องแม่ เขาสูญเสียแม่ไปในวัยเด็ก เพราะคิดว่าท้องทะเลกลืนกินแม่ไป นั่นคือสาเหตุทำให้ Ben กลัวน้ำ (ไม่ใช่โดนน้ำไม่ได้ แต่เป็น Trama ความวิตกกังวล) การผจญภัยครั้งนี้ถือเป็นการพิสูจน์ตัวเอง และเอาชนะความกลัว มีหลายครั้งที่ Ben ต้องว่ายน้ำ ดำลึกลงไป นั่นก็เพื่อช่วยเหลือ Saoirse น้องสาวคนเดียวที่เป็นตัวตายตัวแทนของแม่

ตอนต้นเรื่อง Ben ไม่ค่อยชอบ Saoirse เสียเท่าไหร่ เพราะเธอเป็นเด็กเอาแต่ใจและเขาเป็นพี่ชายที่เห็นแก่ตัว ไม่ค่อยสนใจน้องของตัวเท่าไหร่ แต่เมื่อทั้งคู่ต้องออกมาผจญภัยร่วมกัน ทำให้ Ben รู้จักที่ต้องรับผิดชอบในตัวน้องสาวที่มีร่างกายอ่อนแอ นั่นทำให้เขาตระหนักได้ว่า หน้าที่ของพี่มีอะไรบ้าง และเธอมีความสำคัญกับเขามากแค่ไหน

สาเหตุที่ Saoirse ไม่ยอมพูด ไม่ใช่เพราะมีปัญหา ไม่เข้าใจหรือออกเสียงไม่ได้นะครับ เราจะเห็นอยู่ดีๆตอนท้ายเธอก็พูดออกมาได้เอง นี่แสดงว่าไม่อยากพูดมากกว่า, เราจะเห็นว่า Saoirse มักจะเดินอยู่ข้างหลัง หรือถูก Ben ใช้เชือกเกี่ยวบังคับให้เดินตามติดตลอดเวลา นี่แสดงถึงการที่ต้องคอยทำตามคนอื่นอยู่ร่ำไป ไม่มีอิสระเสรีในการพูดคิดทำอะไร และพี่ชายก็ไม่ได้ให้ความสนใจดูแลแม้แต่น้อย กระนั้นจะเห็นว่ามีหลายครั้งที่ Saoirse เดินนำหน้า Ben นั่นเฉพาะกับสิ่งที่เธอสนใจอย่างยิ่งเท่านั้น, การแสดงออกก็เหมือนคำพูด เพราะเธอไม่มีอะไรที่เป็นอิสระอยากพูดออกมา ก็เลยไม่พูด ซึ่งคำพูดแรกของ Saoirse คือ ‘Ben’ นี่ย่อมคือสิ่งที่เธออยากพูดที่สุดสินะ

เหตุการณ์ที่ทำให้ Ben ตระหนักถึงความรับผิดชอบได้นั้น คือการได้เห็นภาพย้อนอดีต Flashback ของแม่ที่เสียสละตนเอง คลอดน้องออกมา แต่เพราะความสูญเสียแม่ที่เป็นที่รัก ทำให้เขาไม่กล้าที่จะยอมรับ รักน้องคนนี้ ซึ่งขณะที่ Ben เห็น Flashback นี้ Saoirse ได้ถูกนกฮูกลักพาตัวไป เป็นความรู้สึกแบบเดียวกับตอนที่เขาเสียแม่ เจ็บปวด รวดร้าว และเข้าใจหัวอกของความเสียสละ วินาทีนั้น Ben จึงเข้าใจความหมายของ ความรับผิดชอบ การเป็นพี่ที่ดี และการเสียสละเพื่อคนอื่น

การต่อสู้กับ Macha คือการเอาชนะใจตนเองต่อความเพิกเฉย เฉื่อยชา เฉยเมย เหมือนกับที่ Ben เคยมีต่อน้องสาว, มันง่ายที่จะไม่สนใจ ไม่รับรู้อะไร แค่เอาความรู้สึกนั้นเก็บไว้ในใจลึกๆ แต่มันยากกว่ากับการกระทำที่แสดงออกมาว่า ฉันต้องเป็นพี่ที่ดี นั่นคือเขาต้องดูแลเอาใจใส่ ทำความเข้าใจ รับรู้ทุกข์สุข อารมณ์ดีชั่วของตนเองและคนอื่น, ซึ่งขณะที่ Macha ได้รับอารมณ์ทุกอย่างที่เคยทิ้งไว้กลับคืนมา เธอตระหนักได้ถึงสิ่งที่ตนกระทำ การไม่ยอมรับโชคชะตา เสมือนคนวิ่งหนีจากความจริง ไม่สนที่จะแก้ปัญหา มีแต่พอกพูนให้มันลุกลามใหญ่โต

สำหรับ The Great Seanachaí ผู้มีเส้นผมโคตรยาว เส้นไหนที่ยังยาวได้อีก แสดงว่าเป็นเรื่องราวที่ยังไม่จบ, Seanachaí เป็นเทพที่ไม่มีความทรงจำ มีหน้าที่แค่คอยจดบันทึก เฝ้ามอง และชี้ชักนำ เฉกเช่นเดียวกับคนขับเรือ Ferry ที่รับส่งผู้โดยสารจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่งก็เท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินใจอะไร แล้วนำพา เฝ้ามอง และแนะนำเท่านั้น (มีสิทธิ์ออกเสียง แต่ไม่ได้ทำอะไร)

การต่อสู้กับพ่อ ที่กักขังตนเองอยู่ในหอคอย (เหมือนนกในกรง) ไม่สามารถเอาชนะความสูญเสีย แล้วก้าวเดินต่อไป, สิ่งที่ Ben ทำคือการเสี่ยงชีวิตเพื่อน้อง เขาไม่ใช่นักดำน้ำที่เก่ง (เพราะกลัวทะเลมาตลอดชีวิต จะไปดำน้ำเป็นได้ยังไง) จึงแทบปางตายเมื่อทำสำเร็จ คนที่ช่วยเขาคือเหล่าแมวน้ำ และพ่อที่ตัดสินใจดำลงไปช่วย ขณะนั้นพ่อคงเกิดคำถาม ทำไมลูกของตนถึงทุ่มเทเสียสละตนเพื่อน้องขนาดนั้น, ความเชื่อที่เคยมีแต่สูญหายได้กลับมา พ่อตระหนักได้ว่า เขาไม่ได้ตัวคนเดียว และความสูญเสียไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเขา แต่ยังมีลูกรักอีกสองคนที่รอวันพ่อกลับมา ซึ่งขณะที่พ่อเปิดประตูกรงขังในหอคอยนั้นออกมา พวกเขาก็ได้พบกับปาฏิหารย์

เจ้าหมา Cu สัตว์เลี้ยงที่สุดแสนจงรักภักดี มีความแน่วแน่มั่นคง เข้าใจมนุษย์ทุกอย่าง แต่แค่พูดไม่ได้ (เหมือน Saoirse) ถ้าเจ้า Cu พูดได้ มันคงอยากบอกประมาณว่า ฉันรักนายที่สุดเลย, นี่เป็นตัวละครที่ใส่มาเพื่อเสียดสีประชดประชันมนุษย์ แต่ถ้าเป็นเด็กมอง คงจะเห็นแค่ความซื่อสัตย์ จริงใจ จงรักภักดี เพื่อนแท้ของมนุษย์ รักแบบไม่ต้องการสิ่งตอบแทน

การตัดสินใจของ Saoirse คือผลลัพท์การกระทำของ Ben ที่แม้ทั้งชีวิตเธอ พี่ชายจะไม่ค่อยเอาใจใส่สนใจดูแลนัก แต่แค่เพียงวันนี้ที่พี่ชายแสดงความจริงใจ ห่วงใย ดูแล ปกป้อง นั่นทำให้เธอมีความสุขที่สุดในชีวิต, คำพูดแรกของเธอ ก็แสดงถึงความต้องการในใจได้เป็นอย่างดี

สำหรับแม่ (Brónach แปลว่า เศร้าเสียใจ, sorrow) เธอเปรียบ ตัวละครเชิงสัญลักษณ์ มีหมายถึงแทนความทรงจำ ผู้ให้กำเนิด จุดเริ่มต้น, คำพูดสุดท้ายของเธอก่อนลาจาก

My son.
Remember me, in your stories and in your songs.
Know that I will always love you.
Always.

สัญลักษณ์ก้นหอย (Spiral) ก็คงมีความหมายแทนด้วยบทเพลง (เหมือนก้นหอยที่ถ้าเอาหูฟังจะได้ยินเพลง เอาปากเป่าจะดังเป็นทำนอง) เหมือนเรื่องเล่าที่เป็นตำนาน ชีวิตที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เริ่มต้น-ดำเนินไป-สิ้นสุด เป็นวัฎจักรเวียนวนไม่รู้จักจบจักสิ้น

Song of the Sea บทเพลงแห่งท้องทะเล, ชื่ออนิเมะสื่อความหมายถึง เรื่องเล่าตำนานปรัมปรา เทพนิยาย ที่ปัจจุบันผู้คนเริ่มลืมเลือนสูญหาย เพื่อเป็นการย้ำเตือนว่า มนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเดียวในโลก ยังมีเพื่อนร่วมโลกอีกมากมาย อย่ามัวแต่เห็นแก่ตัว คิดถึงคนรอบข้าง สหายร่วมโลกบ้าง

สรุปใจความสำคัญของอนิเมะเรื่องนี้ คือ การผจญภัยของเด็กชายเพื่อพิสูจน์คุณค่าของตัวเอง และการเสียสละเพื่อผู้อื่น, เด็กๆดูแล้วคงมีประโยชน์แน่ ส่วนผู้ใหญ่ ถ้าได้คิดวิเคราะห์คงเห็นอีกมุมหนึ่ง แนวคิดที่มีความน่าทึ่ง การนำเสนอที่มีน่าสนใจไม่น้อย นี่คือเหตุผลที่ผมจัดให้อนิเมะเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

อนิเมะเรื่องนี้มีทีมงานอยู่ถึง 5 ประเทศ, สตูดิโอหลักอยู่ที่ Ireland, อนิเมชั่นส่วนใหญ่ทำที่ Denmark, พื้นหลังวาดออกแบบขึ้นใน Luxembourg, รวมงานใส่สีที่ Belgium, post-production และเพลงประกอบทำที่ France

สมัยก่อน Tradition Animation ใช้การวาดภาพลงใน Cels แล้วบันทึกภาพผ่านกล้อง multi-plane camera ทีจะถ่ายทีละภาพแทนการเคลื่อนไหว, แต่สมัยนี้ แค่วาดภาพๆหนึ่งลงในกระดาษ ก็สามารถสแกนเข้าคอมพิวเตอร์แล้วไปทำ animation ต่อได้เลย (ไม่ต้องเสียเวลาวาดภาพซ้ำๆ เพื่อทำให้รูปภาพเคลื่อนไหว) นี่เป็นการเปิดประตูสู่รูปแบบของงานศิลปะที่หลากหลายขึ้น อาทิ ภาพวาดสีน้ำ, สีน้ำมัน ฯ (Cel สมัยก่อน วาดด้วยสีน้ำไม่ได้นะครับ เพราะน้ำไม่สามารถได้ซึมเข้าใน Cel เหมือนวาดลงบนกระดาษ สีที่วาดบน Cel ต้องเป็นพวกสีโปสเตอร์ สีอะคลีลิก ที่ติดหนึบแห้งทันที ไม่ใช้การซึมเข้าเนื้อเหมือนสีน้ำ)

งานภาพของอนิเมะเรื่องนี้ ผมอ่านจากบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับ บอกว่าใช้การวาดเส้นลวดลาย ตัวละครลงในกระดาษ และลงสีน้ำสำหรับทำพื้นหลัง แล้วเอาไปสแกนเข้าคอมพิวเตอร์ ตกแต่งทำอนิเมชั่นในนั้น, ซึ่งนี่ทำให้สามารถส่งไฟล์ข้ามประเทศ คุยงานประชุมผ่าน Skype … โห! เป็นสตูดิโออินดี้ที่ไฮเทคมาก

การมีคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยทุ่นแรง ทำให้ย่นระยะเวลาการทำอนิเมชั่นไปได้มาก แต่ทีมงานก็เอาเวลานั้นไปสร้าง Layer ให้กับงานภาพมากขึ้น และทำการเคลื่อนไหว (อนิเมชั่น) ให้มีความลื่นไหลสมจริงมากขึ้น, ผู้กำกับเปรยถึงความตั้งใจของเขาคือ ‘ให้เหมือนภาพวาดที่เคลื่อนไหวได้’ (makes the movie look even more like a moving painting)

เพลงประกอบประพันธ์โดย Bruno Coulais ร่วมงานกับวงดนตรีพื้นบ้าน Irish ที่ชื่อ Kila, เสียงดนตรีที่ได้ยิน ล้วนเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านทั้งหมดนะครับ แต่คุณคงรู้สึกคุ้นเคย เพราะมันคือเสียง ไวโอลิน, ฟลุต, กีตาร์, พิณ ฯ ต้องบอกว่าจุดเริ่มต้นของเครื่องดนตรีคลาสสิกพวกนี้ มีต้นกำเนิดมาจากแถวๆนี้แหละครับ แต่ได้รับการพัฒนาไปไกลกว่า, เครื่องดนตรีพื้นบ้าน Ireland อย่าง Fiddle มีรูปลักษณ์ภายนอกเหมือน violin เปะๆ แต่เสียงที่ออกมาจะต่างกันนิดหน่อย (หูผมยังแยกไม่ออก), Irish flute, Tin whistle นี่ก็เสียงเหมือน Flute, Uilleann pipes, Harp (พิณใหญ่), Banjo, Mandolin, Bouzouki, Harmonica ฯ ที่ยกมาคือเครื่องดนตรีพื้นบ้าน Irish ทั้งหมด และใช้บรรเลงประกอบอนิเมะเรื่องนี้

จุดประสงค์ของการใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน เพลง folksong เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ เป็นการสืบสานรักษาและเผยแพร่อารยธรรมในอดีตของชนชาติตน สู่สายตาชาวโลก แม้คนที่ไม่เคยไปเยี่ยมเยือนก็น่าจะรับบรรยากาศนั้นได้ (หรือเปล่า)

บอกตามตรงผมยังแยกไม่ออกระหว่าง Irish, Scottish, Walesese (ทีแรกนึกว่า Ireland เป็นหนึ่งใน United Kindgom แต่ไม่ใช่นะครับ นั่นมัน Northern Ireland) ชาวยุโรป คนท้องถิ่นคงแบ่งแยกได้ จากสำเนียง การพูด นิสัย กิริยาท่าทาง ผมไม่เคยไปแถวนั้น เลยแยกไม่ออก และเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ที่ไม่เคยไปหมู่เกาะ Britain ก็คงแยกไม่ออกเช่นกัน, ดูอนิเมะเรื่องนี้ ผมพยายามจดจำกลิ่นอายของดนตรีพื้นบ้าน Irish ไว้นะครับ เผื่อในอนาคตมีโอกาสได้ดูหนังของกลุ่มประเทศแถบนี้ จะได้พอแยกออก ว่าประเทศไหนมีลักษณะอย่างไร (ถ้าคุณไม่สนใจก็ช่างมันก็ได้ ไม่มีใครว่าหรอก)

ผมเอาเพลง Song of the Sea (Lullaby) ขับร้องโดย Nolwenn Leroy มาให้ฟังนะครับ เป็นเพลงที่ฟังแล้วเคลิบเคลิ้ม น่าจะหลับฝันดีมากๆ

หลังจากได้ดูอนิเมชั่นเรื่องนี้ ผมเกิดความสนใจในสตูดิโอนี้อย่างมาก มีแนวโน้มความเป็นไปได้สูง ที่ Catoon Saloon จะกลายเป็น The New Ghibli ไม่ใช่ผลงานอนิเมชั่นที่มีความคล้ายคลึงกัน แต่คือปรัชญาการสร้างอนิเมชั่น ที่ได้อิทธิพล แรงบันดาลใจ แนวคิดมาจากอนิเมชั่นของ Hayao Miyazaki และ Isao Takahata เป็นอย่างมาก และเชื่อว่าสักวันหนึ่งสตูดิโออินดี้เล็กๆนี้ จะต้องประสบความสำเร็จใหญ่ๆ แบบที่ Ghibli ยึดครองญี่ปุ่นมาแล้ว

มีนักวิเคราะห์เปรียบเทียบว่า อนิเมะเรื่องนี้ มีความคล้ายคลึงกับ Spirited Away อยู่มาก ในโครงสร้างและแรงบันดาลใจ อาทิ การใช้พื้นหลังเป็นวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น, นำเสนอประเด็นการค้นหาพิสูจน์ตนเอง ที่ต้องใช้จิตวิญญาณสัมผัส ไม่ใช่แค่ร่างกาย ฯ ถ้าเทียบกันเปะๆคงไม่ใช่ แต่ถ้าเรียกว่า แรงบันดาลใจก็คงไม่ผิด

ส่วนตัวผมรู้สึก แค่ชอบ อนิเมชั่นเรื่องนี้, สิ่งที่ประทับใจคือ ความงดงามของงานภาพ ความไพเราะของเพลงประกอบ และเรื่องราวสอดแทรกแนวคิดความกล้าหาญ การเอาชนะตัวเอง ฯ แต่ความตื้นลึกของตัวละคร และเรื่องราวที่มีมิติเดียว ทำให้อนิเมะขาดความตื่นเต้น ลุ้นระทึก … มันดูธรรมดาเกินไปเสียนิด เมื่อเทียบกับความยิ่งใหญ่ด้านอื่นๆ, ถ้าคุณยังเป็นเด็ก/วัยรุ่น ก็คงสนุกตื่นตาตื่นใจกับมันได้เต็มที่ แต่ผู้ใหญ่โตขึ้นมาหน่อย นอกจากชื่นชมความสวยงามของงานศิลปะแล้ว ก็เท่านั้นละครับ ไม่มีอะไรอย่างอื่นให้น่าค้นหาเท่าไหร่

กับคนที่สามารถฟัง/อ่านภาษาอังกฤษในระดับ Fluent จะสามารถทำความเข้าใจคำพูด ข้อความที่เป็นบทกวี มีสัมผัสคล้องจอง ลงตัว งดงาม, อย่างกลอนบทแรกของอนิเมะ นำมาจากบทกวีเขียนโดย W.B. Yeats ชื่อว่า The Stolen Child

Come away, O human child!
To the waters and the wild
With a faery, hand in hand,
For the world’s more full of weeping than you can understand.

แนะนำกับคออนิเมชั่น ชื่นชอบงานภาพสวยๆ เพลงเพราะๆ, โลกแฟนตาซีล้ำจินตนาการ และเทพนิยายยุโรป Celtic, Irish Mythology

แนะนำอย่างยิ่งกันคนชื่นชอบวัฒนธรรมของประเทศ Ireland หรือต้องการไปเที่ยวประเทศนี้ ลองสัมผัสกลิ่นอายของอนิเมชั่น แล้วเปรียบเทียบดู ว่าที่นั่นให้ความรู้สึกเช่นเดียวกันหรือเปล่า

จัดเรต PG ในบรรยากาศที่มีความหดหู่ และการสูญเสียเป็นที่ตั้ง

TAGLINE | “Song of the Sea เป็นอนิเมชั่นที่มีความสวยงามระดับจิตวิญญาณ ภาพสวย เพลงเพราะ เรื่องราวแฝงข้อคิดดีๆ เด็กๆดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: