Songs from the Second Floor

Songs from the Second Floor (2000) Swedish : Roy Andersson ♥♥♥♥

หนังรางวัล Jury Prize จากเทศกาลหนังเมือง Cannes เรื่องนี้ เป็นแนว Surrealist ที่ดูยากมากๆ แต่มีความลึกล้ำน่าค้นหา คล้ายๆกับ The Color of Pomegranates (1969) ใช้การตั้งกล้องทิ้งไว้เฉยๆ นักแสดงทำอะไรบางอย่าง บางครั้งน่าขบขัน บางครั้งจุกอก รวมๆเรียกว่า ‘ชีวิต’

เป้าหมายของมนุษย์ เราเดินทางไปไหน? สำหรับคนที่รับชมหนังเรื่องนี้รู้เรื่อง น่าจะเกิดคำถามข้อสงสัยนี้ … ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน หนังไม่ได้ให้คำตอบอะไรเลย ทิ้งไว้แต่คำถามมากมาย บอกแค่ว่าชีวิตมันต้องมีเป้าหมายบางอย่าง แต่ใช่ว่าทุกคนจะค้นหาคำตอบได้

Roy Arne Lennart Andersson (เกิดปี 1943) ผู้กำกับสัญชาติ Swedish ได้รับการยกย่องว่าเป็นทายาทของ Ingmar Bergman ผู้กำกับในตำนานของสวีเดน, เกิดที่เมือง Gothenburg เรียนจบ Swedish Film Institute ปี 1969 มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก A Swedish Love Story (1970) ฉายในเทศกาลหนังเมือง Berlin ได้รับเสียงตอบรับล้นหลาม แต่ผลงานถัดมา Giliap (1975) ย่อยยับทุกสิ่งอย่างจน Andersson เลิกสร้างภาพยนตร์ไปเลย ผันตัวเปลี่ยนไปกำกับโฆษณาแทน จำนวนกว่า 400 เรื่อง จน Ingmar Bergman ที่ตอนยังมีชีวิตอยู่ยกย่องว่า ‘the best TV commercials in the world’

ใครอยากเห็นผลงานโฆษณาแนวๆของ Andersson หารับชมได้ใน Youtube เลยนะครับ

25 ปีถัดมา ก็ไม่รู้คิดอะไรถึงกลับมาสร้างภาพยนตร์อีกครั้ง คงเพราะประสบการณ์เต็มเปี่ยม ทั้งชีวิต และการทำงาน ได้ค้นพบสร้างสไตล์ แนวทางของตนเอง ที่ผมจะขอเรียกว่า ‘โลกของ Andersson’ (World of Andersson) มีลักษณะกล้องหยุดนิ่ง, ถ่ายภาพ long take, พื้นหลังเป็นภาพวาดโลกบิดเบี้ยว (grotesque), สะท้อน เสียดสี ล้อเลียน พฤติกรรมของมนุษย์ ฯ เป็นไตรภาคมีชื่อเรียก ‘Living Trilogy’ ประกอบด้วย
– Songs from the Second Floor (2000) หนังรางวัล Jury Prize จากเทศกาลหนังเมือง Cannes
– You, the Living (2007)
– A Pigeon Sat on a Branch Reflecting on Existence (2014) หนังรางวัล Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice

มีนักวิจารณ์ให้คำนิยาม Andersson ว่าคือ ‘slapstick Ingmar Bergman’ ถือว่าตรงมากๆนะครับ แต่หลายคนคงไม่เข้าใจ
– Slapstick เป็นคำใช้เรียกแนวหนังประเภทหนึ่งในยุคหนังเงียบ อาจมีคนรู้จัก Comedy Slapstick ตลกแบบเจ็บตัว ของ Charlie Chaplin, Buster Keaton, Harold Lloyd ฯ คือใช้ร่างกายแสดงออกให้ดูขบขัน, กับหนังของ Andersson มีความคล้ายกับ Slapstick พอสมควร เช่น ตั้งกล้องไว้เฉยๆ (หนังเงียบส่วนใหญ่ก็มักตั้งกล้องไว้เฉยๆนะครับ) และความขบขันที่เกิดจากการกระทำของตัวละคร ฯ … คนอื่นไม่รู้นะ แต่ผมขำหนักมาก เช่น ชายคนหนึ่งถูกไล่ออก เขาเกาะขาหัวหน้าแล้วโดนลากไปกับพื้น คนอื่นแอบมองผ่านประตูห้อง, ฝูงชนต่างลากรถเข็นของตัวเองกำลังจะไปเช็คอิน แต่กลับบรรทุกอะไรก็ไม่รู้หนักอึ้ง ทิ้งไว้บ้างก็ได้ไม่เห็นต้องขนไปเยอะขนาดนั้นเลย! ฯ

– ถ้าคุณคิดวิเคราะห์ทำความเข้าใจหนัง จะพอรับรู้ความสนใจของ Andersson ว่ามีความคล้ายกับ Ingmar Bergman พอสมควร นั่นคือการ ‘ตั้งคำถามชีวิต’ แม้จะไม่เคร่งศาสนาเท่า แต่ถือว่ามีแนวคิดไปในทางเดียวกัน

Songs from the Second Floor ได้แรงบันดาลใจมาจากบทกวีของ César Vallejo ชาว Peruvian (เปรู) เรื่อง Stumble Between to Stars ทั้งมีชีวิตเขียนรวมรวมบทกวีได้แค่ 3 เล่ม แต่ได้รับการยกย่องว่า ‘the greatest twentieth-century poet in any language.’

“Beloved be those who sit down.”

– César Vallejo

ลักษณะของหนัง กล้องจะหยุดนิ่งตั้งทิ้งแช่ไว้ (แต่มีครั้งหนึ่งที่กล้องเคลื่อนไหว) ไม่มีบท ไม่มีสคริป ไม่มี Storyboard นักแสดงสมัครเล่นทั้งหมด เคลื่อนไหวกระทำการตามคำแนะนำของผู้กำกับ บางฉากเห็นว่าถ่ายถึง 100 เทค ผลลัพท์ใช้ไม่ได้ก็รื้อฉากทิ้งสร้างใหม่เลย

การคัดเลือกนักแสดง ไม่ใช่ที่ควา่มสามารถแน่นอน แต่คือรูปลักษณ์ภายนอก หน้าตาของพวกเขามีนัยยะบางอย่าง, ผมรู้สึกว่านักแสดงส่วนใหญ่รูปร่าง ‘อ้วน’ แสดงถึงความอิ่มหนำสำราญ แต่ชีวิตพวกเขากลับไม่มีความสุขเท่าไหร่ มีนัยยะถึง บางสิ่งอย่างที่สะสมพอกพูน อึดอัดอั้นพร้อมจะระเบิดออกมา (หรือคือความอัดอั้นตันใจ) เพราะความใหญ่ของร่างกายทำให้เคลื่อนไหวได้ช้า ไม่สามารถตามทันคนรุ่นใหม่ (ที่รูปร่างผอมเพียว) ต่อสู้เดินทาง พวกเขาจึงสนใจหยุดอยู่กับที่ พอใจกับสิ่งที่มีอยู่

มีทั้งหมด 46 ฉาก ถ่ายทำใน 2 สตูดิโอใหญ่ บางฉากใช้เวลาสร้าง 5 สัปดาห์ รวมแล้ว 4 ปี ทุนสร้างทั้งหมด $5.5 ล้านเหรียญ มากกว่าทุนตั้งต้นถึง 5 เท่า (ก็แน่ละ สิ้นเปลืองกับค่าก่อสร้างฉาก) แต่เห็นว่าส่วนหนึ่งควักจากกระเป๋าของ Andersson เองเลย ขนหน้าแข้งคงไม่ร่วง เพราะเงินเหลือจากการกำกับโฆษณามากโข

“People have wondered how to classify my film. Absurdism or surrealism? What the hell is it?… This film introduces a style that I’d like to call ‘trivialism.’ Life is portrayed as a series of trivial components. My intention is to touch on bigger, more philosophical issues at the same time.”

– Roy Andersson พูดถึงหนังของตนเอง

วิธีที่ผมใช้ทำการเข้าใจหนังเรื่องนี้ คือรับชมฉากๆหนึ่งให้จบไป แล้วครุ่นคิดทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง สังเกตสิ่งเกิดขึ้นกับตัวละคร พวกเขาพูดคุยสนทนากระทำอะไร มองไปรอบๆเห็นฉากพื้นหลัง ตัวประกอบ มีนัยยะความหมาย การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า, ถ้าในฉากๆนั้นคุณสามารถมองเห็น คิดเข้าใจทุกสิ่งอย่าง ก็ไม่จำเป็นต้องหยุดครุ่นเมื่อจบฉาก แต่ถ้าตามหนังไม่ทันย้อนกลับไปดูก็ได้ ไม่มีใครว่าหรอกนะครับ เริ่มต้นพยายามเคลียร์แต่ละฉากให้ได้ก่อน จากนั้นค่อยมองหาความสัมพันธ์แต่ละฉาก กระนั้นเราก็จะไม่พบโดยทันทีหรอก เพราะหนังไม่ได้มีความต่อเนื่องแม้แต่น้อย แค่มีใจความบางสิ่งอย่างที่คล้ายคลึงกันเท่านั้น

ก่อนผมจะเขียนหนังเรื่องนี้ ได้มีโอกาสรับชม You, the Living (2007) ค้นพบความคล้ายคลึง ความสัมพันธ์ของหนังทั้งสองเรื่องพอสมควรเลยละ ถ้าครึ่งชั่วโมงแรกคุณยังไม่สามารถจับทางได้ว่า หนังมีใจความอะไร มันจะมีฉากหนึ่งที่เป็นเหมือนการเฉลยอยู่ประมาณกลางเรื่อง, กับหนังเรื่องนี้ผมครุ่นคิดได้ก่อน พอถึงฉากนั้นถือว่าเป็นการยืนยันความเข้าใจ แต่กับ You, the Living ครึ่งชั่วโมงแรกผมยังจับใจความไม่ได้ แต่พอถึงจุดเฉลยก็จะร้องอ๋อเข้าใจโดยทันที … ผมขอเฉลยฉากของหนังเรื่องนี้เลยแล้วนะครับ เป็นตอนที่ชายคนหนึ่งขึ้นแท็กซี่ เดินทางไปอวยพรวันเกิดใครสักคนที่อายุครบ 100 แล้วเขาก็พร่ามอะไรก็ไม่รู้ออกมา สิ่งนั้นแหละคือใจความสำคัญของหนัง

ในโลกของ Andersson ผู้คนเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัวเอาแก่ใจ (ชายคนหนึ่งถูกกลุ่มนักเลงซ้อม แต่ทุกคนยืนมองราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น) ผู้คนสนแต่ผลประโยชน์ ความสุขของตนเอง (หญิงสาวสนแค่จะมี Sex กับชายคนรัก โดยไม่สนใจว่าวันนั้นเขาพบเจอกับอะไรมา) โทษความผิดพลาดว่ามาจากผู้อื่น ไม่ใช่ตัวเอง (ไม่พอใจกิจการตัวเอง เลยเผาทุกอย่างทิ้งแม้งเลย เพื่อเรียกเอาเงินประกัน)

ในบรรดาเรื่องราวความแปลกประหลาดที่เกิดขึ้นนี้ มีสิ่งที่เป็นใจความร่วมคือ “จิตวิญญาณของมนุษย์ กำลังสูญสิ้นไป” สิ่งที่คนสมัยนี้กระทำแทบทุกอย่าง เปรียบเสมือนการฆาตกรรมคนรุ่นใหม่โดยทางอ้อม (หนังจะนำเสนอภาพนั้นให้เห็นจริงๆ) ยกตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งป่าไม้ในเมืองไทยอุดมสมบริบูรณ์ดี แต่ถูกพวกลักลอบตัดไม้นำไปขายโดยไม่คิดถึงอนาคต พอถึงสมัยนี้ป่าไม้แทบหมดไป นี่เท่ากับคนรุ่นหลังลูกหลานเหมือนถูกคนรุ่นก่อนฆ่าตายทางอ้อม

หนังออกฉายปี 2000 จุดเปลี่ยนของสหัสวรรษและเหตุการณ์ Y2K ผ่านมาเกือบจะ 2 ทศวรรษแล้ว คนที่มีชีวิตผ่านตอนนั้นมาจนถึงปัจจุบันน่าจะสามารถมองเห็น โลกปัจจุบันนี้เปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมาก ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีความเจริญของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ แต่รวมถึงจิตใจความคิดของผู้คน ผมรู้สึกเหมือนคนหัวโบราณหยุดอยู่นิ่งกับที่ มองเห็นเด็กรุ่นใหม่ ก็ไม่รู้พวกเขารีบร้อนไปไหนกัน ในแทบจะทุกเรื่อง

ก็น่าคิดนะครับว่าเรื่องราวต่างๆที่ Andersson นำเสนอใส่หนังเรื่องนี้ คือสิ่งที่เขา’เห็น’ในยุคสมัยนั้น หรือเป็นสิ่งที่เขา’คิด’ พยากรณ์ว่าจะเกิดขึ้น, ถ้าเป็นแบบแรกถือว่าน่าตกใจไม่น้อย เพราะมันแปลว่าโลกเรามีการเปลี่ยนแปลงทาง ‘จิตวิญญาณ’ อย่างต่อเนื่องยาวนานไม่เคยอยู่นิ่ง ขนาดว่ารับชมสมัยนี้ยังรู้สึกถึงความแตกต่าง และอนาคตต่อไปเล่า เป็นสิ่งยากเกินคาดคิดจินตนาการ

ข้อคิดที่ได้จากหนังเรื่องนี้ ชีวิตมนุษย์ไม่ได้’หนัก’ ขนาดนั้น เราถืออะไรต่ออะไรไว้มากมาย ทั้งสัมภาระและความคิดยึดติด ส่วนใหญ่แทบทั้งนั้นจะไม่จำเป็นต่อการใช้/มีชีวิตเลย เป็นความ’หลง’ในการมีตัวตน คิดว่าเกิดแล้วฉันต้องใช้ชีวิตตามโลกที่ดำเนินไป นี่ไม่จำเป็นเลยนะครับ ปล่อยของหนัก’วาง’ลงเสียบ้าง จะยื้ออยู่ทำไมสัมภาระที่หนักอึ้ง ลากไปจนตายสุดท้ายก็เอาติดตัวไปไม่ได้สักอย่าง แบบนั้นมีประโยชน์อะไร

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ ในแนวคิดและ direction ‘โลกของ Andersson’ มีความลึกล้ำพิศดาร สะท้อนเสียดแทงสีมนุษย์ได้อย่างเจ็บปวด, แต่เพราะความยากในการคิดทำความเข้าใจ ทำให้หนังไม่สามารถส่งถึงผู้ชมในระดับกว้างได้ มันจะมีประโยชน์อะไรถ้าหนังดีเลิศแต่ไม่มีใครเห็นคุณค่า!

นักวิจารณ์ชื่อดัง Roger Ebert ให้คะแนนเต็มหนังเรื่องนี้ แล้วบอกว่า “You may not enjoy it but you will not forget it.”

แนะนำกับคอหนัง Art-House ศิลปิน Surrealist ชื่นชอบการคิดวิเคราะห์ทำความเข้าใจ, นักสังคมนิยม นักปรัชญาค้นหาเป้าหมายชีวิต, นักเรียน คนทำงานสายภาพยนตร์ ศึกษาไว้ได้ประโยชน์แน่

จัดเรต 15+ กับความ absurd บ้าบอคอแตกของหนัง เด็กเล็กที่ยังคิดวิเคราะห์ไม่เป็นดูไม่เข้าใจแน่

TAGLINE | “Songs from the Second Floor ของผู้กำกับ Roy Andersson บ้าบอคอแตก ดูไม่สนุก แต่ไม่มีวันหลงลืมแน่”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
5 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
1 Comment authors
ร.น.ก. Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
ร.น.ก.
Guest
ร.น.ก.

ว่าตามตรง เป็นหนังที่ให้อารมณ์แบบ Jacques Tati (โดยเฉพาะ Playtime (1967)) เวอร์ชั่นตลกร้าย กับหนัง Luis Buñuel มากกว่า Bergman อีกนะ (ที่คนเทียบกับ Bergman เหมือนแค่เพราะสัญชาติกับฉายาผู้กำกับซะมากกว่า แต่สไตล์การดำเนินเรื่อง ภาพ เทคนิคต่างๆของหนังสองคนนี้นี่ไกลกันเลย)

%d bloggers like this: