seopyeonje

Sopyonje (1993) Korean : Im Kwon-taek ♥♥♥♥♡

จากหนังที่คิดว่าต้องขาดทุนแน่ๆ กลายเป็นหนังเกาหลีใต้เรื่องแรกที่ทำเงินถล่มทลาย มียอดจำหน่ายตั๋วเกิน 1 ล้านใบ, โดยผู้กำกับ Im Kwon-taek (Painted Fire-2002) ในหนังที่ขายวัฒนธรรม การแสดงพื้นบ้านของเกาหลี pansori, เรื่องราวของพ่อเป็นนักร้อง pansori ที่ถูกเนรเทศ หมายมั้นปลุกปั้นเด็กชายหญิงสองคน ให้กลายเป็นที่สุดของการแสดงนี้

pansori (pan แปลว่า สถานที่ที่ผู้คนมารวมตัวกัน ส่วน sori แปลว่า เสียง) เป็นการแสดงขับร้องเพลงประกอบเรื่องเล่า (musical storytelling) ของประเทศเกาหลี ประกอบด้วยนักแสดง 2 คน หนึ่งคือนักร้องที่เรียกว่า sorikkun อีกหนึ่งคือคนตีกลองประกอบจังหวะที่เรียกว่า gosu (กลองมีชื่อว่า buk), ว่ากันว่าการแสดงนี้ถือกำเนิดในช่วง Joseon Dynasty (1392-1897) ศตวรรษที่ 19 ถือว่าเป็นยุคทอง (Golden Age) ของ pansori ทั้งความนิยมและเทคนิคการแสดงที่ได้รับพัฒนาถึงจุดสูงสุด, ศตวรรษที่ 20 หลังจากประเทศเกาหลีถูกญี่ปุ่นยึดครองและตามมาด้วยการเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตก ทำให้ pansori ได้เสื่อมความนิยมลง จนแทบหมดไปในช่วงทศวรรษ 1960s รัฐบาลเกาหลีจึงต้องประกาศให้การแสดง pansori เป็นสมบัติวัฒนธรรมของชาติในปี 1964 เพื่อป้องกันไม่ให้การแสดงนี้สูญสิ้นหมดไป

Sopyonje ไม่ใช่หนังที่ได้รับการคาดหวังว่าจะได้รับความนิยม เห็นว่าเริ่มจากฉายเพียงโรงภาพยนตร์เดียวเท่านั้นในกรุง Seoul แต่กระแสปากต่อปากและความยอดเยี่ยมของหนัง ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่ชาวเกาหลีเริ่มตื่นตัวและหันกลับมาฟื้นฟูวัฒนธรรม สิ่งที่แสดงความเป็นตัวตนของชาติ Sopyonje กลายเป็นหนังถูกที่ถูกเวลา เป็นสิ่งที่ตรงความต้องการของผู้คน ทำให้หนังได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ ยืนโรงฉายนาน 6 เดือน และเป็นหนังเกาหลีเรื่องแรกที่มียอดขายตั๋วแค่ใน Seoul ว่ากันว่าเกิน 1 ล้านใบ, กระแสความนิยมของหนังเรื่องนี้ทำให้ชาวเกาหลีแห่กันไปเรียน pansori เพิ่มขึ้นอย่างมาก และผมได้ยินว่าโรงเรียนสอนภาษาเกาหลีที่กระจายอยู่ทั่วโลก มักจะเปิดหนังเรื่องนี้ เพื่อแนะนำวัฒนธรรมแก่ชาวต่างชาติผู้มีความสนใจในประเทศเกาหลี

ผู้กำกับ Im Kwon-taek หลังจากค้นพบแนวทางที่ตนสนใจในทศวรรษที่ 1980s เขาก็ทำหนังแต่ที่เกี่ยวกับประเพณี วัฒนธรรมของชาติ บันทึกไว้ส่งต่อให้คนรุ่นหลัง, สำหรับหนังเรื่องนี้ หน้าหนังที่เห็นคือการแสดง pansori แต่ว่ากันว่ามีการแฝงไว้ด้วยชีวประวัติของผู้กำกับเอง นี่คือสิ่งที่ทำให้เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินที่ความเป็นตัวของตนเองสูง

ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นชื่อเดียวกันของ Lee Chung-joon โดย Kim Myung-gon ที่เป็นนักแสดงนำของหนังด้วย, เรื่องราวของพ่อที่เป็นนักร้อง pansori ถูกเนรเทศ ออกเดินทางร่อนเร่กับลูกเลี้ยงสองคน หนึ่งหญิง Song-hwa (Oh Jung-Hae) ที่มีพรสวรรค์ในการร้อง pansori และหนึ่งชาย Dong-ho (Kim Kyu-chul) ที่ไม่ได้มีพรสวรรค์อะไรจึงกลายเป็น gosu (คนตีกลอง), หนังพาเราเดินทางไปตามชนบท ผ่านร้อน ผ่านฝน ผ่านหนาว (จะว่าเป็นหนัง Road Movie ก็ได้) แต่ยุคสมัยทำให้ความนิยมของ pansori ลดลง ลูกชายจึงตัดสินใจทิ้งทั้งสองหนีไป เหลือแค่พ่อกับลูกสาวที่ยังคงเดินทางต่อด้วยกันสองคน

Kim Myung-gon รับบท Yu-bong หนังไม่ได้เล่าออกมาว่าทำไมเขาถึงถูกเนรเทศ (น่าจะเพราะมีชู้กับอาจารย์) ตัวละครนี้เป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง (หลงตัวเอง) ข้อเสียคืออารมณ์ฉุนเฉียวง่าย ชอบกินเหล้าและใช้ความรุนแรง เชื่อว่าถ้าไม่ถูกขับไล่ก็อาจกลายเป็นนักแสดง pansori ยอดฝีมืออันดับ 1, แต่เมื่อถูกขับไล่ วิธีเดียวที่เขาจะสามารถพิสูจน์ตนเอง คือการส่งต่อความรู้ความสามารถสู่คนรุ่นถัดไป, ตัวละครนี้สามารถเปรียบได้กับตัวผู้กำกับเลย ถ้าใครได้อ่านชีวประวัติจะรู้ว่า Im Kwon-taek เป็นคนเรียนไม่จบ ม.ต้น (middle school) ต้องออกกลางคัน กลายมาเป็นผู้กำกับเพราะเป็นอาชีพที่ทำให้เขามีกิน ไม่ใช่เพราะความชื่นชอบในภาพยนตร์แต่อย่างใด, ใครจะไปเชื่อ Im Kwon-taek วันนี้ได้กลายเป็นยอดฝีมือ หนึ่งในตำนานของวงการภาพยนตร์เกาหลี แบบเดียวกับตัวละคร Yu-bong แทบจะเปะๆเลย

Song-hwa นำแสดงโดย Oh Jung-Hae ไม่แน่ใจว่าเธอเป็นนักร้อง pansori หรือเปล่า? คิดว่าน่าจะใช่นะครับ และน่าจะยอดฝีมือด้วย ด้านการแสดงต้องบอกเลยว่า ไม่ธรรมดา แต่ตอนร้อง pansori ที่ทุ่มแบบสุดตัวสุดเสียง ทำเอาผมเจ็บคอไปด้วยเลย, มันมีประเด็นที่หนังไม่ได้นำเสนอออกมา แต่มีคนวิเคราะห์กันว่ามีความเป็นไปได้สูงมาก เพราะพ่อที่กลัวว่า Song-hwa จะทิ้งเขาไป จึงทำให้เธอตาบอด นี่อาจมีความต้องการทางเพศเกี่ยวเนื่องด้วย เพราะในทางจิตวิทยา ความอิจฉาที่รุนแรงที่สุดคือ การสูญเสียคนรักที่ตนมี sex ด้วย และยิ่ง Song-hwa ไม่ใช่ลูกแท้ๆ จึงมีความเป็นไปได้สูงมากว่าพ่อจะกระทำไม่ดีไม่ร้ายกับเธอ

การผลักดันของ Yu-bong ต่อ Song-hwa เป็นระดับที่สูงมากๆ โดยปกติทั่วไประดับความคาดหวังของอาจารย์ต่อศิษย์มักจะไม่สูงมาก ยิ่งระดับของ Yu-bong นี่เป็นได้ยาก แต่เหตุผลที่เขาต้องผลักดันเธอขนาดนั้น เพราะความต้องการพิสูจน์การมีตัวตนของตัวเอง ว่าฉันนี่แหละอันดับ 1 แม้จะพิสูจน์ตัวเองไม่ได้ แต่ Song-hwa จะเป็นคนทำให้ความฝันเขาเป็นจริง, อะไรที่ฉันเคยทำได้ เธอก็ต้องทำได้ แล้วถ้ามีสิ่งที่ฉันทำไม่ได้ เธอต้องทำได้

Dong-ho รับบทโดย Kim Kyu-chul, ตัวละครนี้โผล่มาตั้งแต่ฉากแรกสุดเลย แต่กว่าจะรู้ว่าเขาเป็นใคร มีจุดประสงค์อะไรก็สักกลางเรื่อง, กับคนที่ไม่ได้มีพรสวรรค์อะไร ย่อมรู้ตัวเองดีว่าไม่สามารถไปถึงที่สุดอย่างที่พ่อคาดหวังให้เป็น, เขารักและเป็นห่วงพี่สาวที่ถูกพ่อเข้มงวดอย่างหนัก ตัวเขาเองไม่ถือว่าถูกเข้มงวดมากนัก แต่ก็ทนแทนไม่ได้, การหนีไปของเขาได้รับการเปรียบกับคนรุ่นใหม่ ที่เวลาทำอะไรนิดหน่อยแล้วรู้สึกเหนื่อย ท้อแท้ก็ทอดทิ้งหรือเลิกไป นีคือเหตุผลที่ทำให้อะไรๆที่เป็นพื้นบ้านได้สูญสิ้นไป น่าแปลกที่เมื่อเวลาผ่านไป คนพวกนี้จะหวนนึกถึงช่วงเวลาในอดีต และคิดว่า ถ้าตอนนั้นฉันยอมอดทนทำตามเสียหน่อยนะ…, หลังจากได้ยินข่าวว่าพ่อเสีย Dong-ho จึงออกตามหาพี่สาว เป็นการค้นหาที่ยาวนาน และเมื่อพบกัน คำสนทนาของทั้งคู่ ไม่ใช่คำพูดปากต่อปาก แต่เป็น sorikkun กับ gosu (นักร้องกับนักตีกลอง) ที่ถือว่ามีความทุ่มเท สื่อสาร สัมผัสกันได้ราวกับ คนที่มี sex กันโดยไม่ได้สัมผัสตัว

ถ่ายภาพโดย Jeong Il-seong, ใครเคยดู Painted Fire จะพบว่าหนังเรื่องนี้มีงานภาพไม่ต่างกันเลย ให้ความรู้สึกเหมือนกันเปะ (ตากล้องคนเดียวกัน), มีภาพสวยๆมากมาย แต่มีฉากหนึ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นอมตะ ตากล้องอาจไม่ได้ทำอะไรมากแค่ตั้งไว้เฉยๆ แต่นักแสดง 3 คน ที่เดินมาจากไกลลิบ สองข้างทางเป็นทุ่งนาในชนบท พวกเขาร้องเล่นเต้น pansori เพลง Arirang กันอย่างสนุกสนาน จนเดินผ่านหน้ากล้องไป ผมไม่ได้มองว่ากี่นาที แต่นี่เป็นฉากที่สวยงามที่สุดของหนังแล้ว

ตัดต่อโดย Park Soon-deok และ Park Gok-ji นี่เช่นกัน มีการดำเนินเรื่องเหมือน Painted Fire แทบจะเปะๆเลย เริ่มต้นจากปัจจุบัน แล้วย้อนเล่าอดีต เมื่อช่วงเวลาทั้งสองประจบกันก็ดำเนินต่อไปข้างหน้าจนถึงตอนจบ, ผมสังเกตหนังไม่ได้นำเสนอช่วงเวลาการตายของ Yu-bong แค่พูดถึงผ่านๆเท่านั้น แต่ใช้การบรรยายผ่านการตามหาของ Dong-ho และการเดินทางของ Song-hwa แทนความรู้สึกโศกเศร้าที่เสียพ่อไป

เพลงประกอบโดย Kim Soo-chul, ผมไม่แน่ใจพี่แกแต่งคำร้อง pansori ด้วยหรือเปล่า หรือเพลงที่ได้ยินเป็น tradition ของ pansori ที่ตกทอดกันมา, หนังไม่ได้มีแค่เสียงกลองและเสียงร้องของ pansori นะครับ ยังมีอีกเพลง เป็นเสียงคล้ายขลุ่ย (แต่น่าจะเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านของเกาหลีที่ผมไม่รู้จักมากกว่า), และในช่วงสุดท้ายขณะ Song-hwa และ Dong-ho ร้องเล่น pansori ร่วมกัน หนังค่อยๆใช้การเฟดเสียงทั้งสองให้เบาลง แล้วค่อยๆเร่งเสียงเพลงประกอบดังขึ้น บอกตามตรงฉากนี้ผมชอบมากกว่าถ้าจะได้ฟัง pansori จนจบ ให้ผู้ชมได้สัมผัสอารมณ์ของหนังเอง การทำเช่นนี้เป็นการไปบีบบังคับอารมณ์ของผู้ชม ให้เป็นตามความรู้สึกที่ผู้กำกับต้องการเท่านั้น น่าเสียดาย

Sopyonje (หรือ Seopyeonje) คือเพลง pansori ที่ผู้ร้องต้องมีความทุกข์ใจ เศร้าโศก ราวกับหัวใจที่แตกสลาย นี่เป็นเพลงสุดท้ายที่ Yu-bong สอน Song-hwa ก่อนเสียชีวิต โดยเปรียบเทียบตรงข้ามกับเพลง Dongpyonje ที่มีความกระฉับกระเฉง, ถ้า Song-hwa สามารถก้าวผ่านความเศร้าเสียใจนี้ได้ มันจะไม่ใช่ Dongponje หรือ Sopyonje แต่คือเสียงที่เป็นที่สุดของ pansori

ในหนังมีการเปรียบเทียบ pansori กับ enka ของญี่ปุ่น และเพลง pop ของอเมริกา ที่เข้ามามีอิทธิพลในเกาหลี ทำให้ pansori ไม่เหลือที่ว่างในสมัยนิยมอีกต่อไป, นี่เป็นความจริงของแทบทุกเพลงพื้นบ้าน พื้นเมืองในหลายๆประเทศเลยนะครับ ประเทศไทยก็ไม่เว้น ความนิยมนาฎศิลป์ โขน ดนตรีไทยลดลงมากอย่างน่าใจหาย แทนที่ด้วยเพลงสมัยใหม่ที่ฟังง่าย เล่นง่าย เข้าใจง่าย ลื่นหู, ‘อะไรที่ได้มาง่ายๆ มันย่อมเสียไปง่ายๆ อะไรที่กว่าจะได้มา ฝึกฝนยาก เก่งยาก คงไม่มีใครยอมเสียไปง่ายๆ’

นี่เป็นหนังที่ขายวัฒนธรรมเต็มๆเลยนะครับ เอาจริงๆก็ไม่น่าเชื่อที่หนังกลับได้รับความนิยมสูงขนาดนั้น ถ้าเป็นคนไทย หนังขายอะไรแบบนี้ ถ้าไม่ใช่ระดับตำนาน ก็ไม่มีทางทำได้เลย ภาคหลังๆมาคนก็ไม่ให้ความสนใจเท่าไหร่แล้ว หม่อมน้อยพยายามทำอยู่หลายเรื่องแต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จในระดับที่เกินความคาดหมาย นี่แสดงถึงยุคสมัยนี้หนังแนว ‘ชาตินิยม’ ไม่ได้อยู่ในกระแสนิยมอีกต่อไปแล้ว

สำหรับคนที่ชื่นชอบหนังแนวลักษณะนี้ ขายวัฒนธรรม การแสดงพื้นบ้าน มีหนังหลายเรื่องเลยที่ผมแนะนำได้ ถ้าเป็น pansori ยังมีหนังเรื่อง Chunhyang (2000) และ Beyond the Years (2007) ของผู้กำกับ Im Kwon-taek ทั้งคู่ ซึ่งเรื่องหลังเห็นว่าทำเป็นภาคต่อของ Sopyonje ด้วยนะครับ, สำหรับประเทศอื่น ญี่ปุ่นไม่ค่อยเห็นหนังประเภทนี้เท่าไหร่, จีนจะมี Yellow Earth (1984), หนังรางวัล Palme d’Or เรื่อง Farewell, My Concubine (1993), The Puppetmasters (1993), หนังไทยก็ ตั้งวง (พ.ศ.2556), หนัง bollywood มี The Music Room (1958) ของ Satyajit Ray

แนะนำกับคนที่ชอบวัฒนธรรมเกาหลี รู้จัก pansori ไม่ควรพลาดเลย, นักประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ อักษรศาสตร์ นักแสดงนาฎศิลป์ โขน ดนตรีไทย ดูหนังเรื่องนี้ไว้เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศอื่น, คอหนังรางวัล สุดยอดการแสดง ภาพสวย เพลงเพราะ เนื้อเรื่องดี แฝงแนวคิด

จัดเรต 13+ กับ Sex Scene และการกระทำของพ่อขี้เมาที่ใช้ความรุนแรง

TAGLINE | “Sopyonje คือหนังขายวัฒนธรรมของ Im Kwon-taek ที่มีความสวยงาม ตราตรึง น่าสนใจ แม้ไม่ใช่ชาวเกาหลี ก็สามารถชื่นชมการแสดง pasori ได้”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: