South Pacific (1958) : Joshua Logan ♥♥
จากบทละครเพลงของ Rodgers & Hammerstein ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือรางวัล Pulitzer Prize เรื่อง Tales of the South Pacific ของ James A. Michener, ระหว่างอุดมการณ์เพื่อชาติกับความสุขส่วนตน ลูกผู้ชายจะเลือกแบบไหน, เข้าชิง Oscar 3 สาขาได้มา 1 รางวัล
ที่โม้ไปในคำนำ หนังเรื่องนี้ดูดีมว๊ากกก แต่จริงๆผมโคตรจะผิดหวังเลยละ เป็นหนังเพลงที่ขาดลีลาการนำเสนอให้เร้าใจ ไร้รสนิยม ถ้าต้องโทษคงเป็นผู้กำกับ Joshua Logan ที่ขาดวิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่ ทั้งๆที่พื้นหลังของเรื่องราวมีความน่าสนใจขนาดนี้ แต่กลับไม่สามารถนำเสนอออกมาให้สมราคาคุยได้เลย
เริ่มต้นจากความสำเร็จของ Oklahoma! (1955) สตูดิโอ 20th Century Fox มีความสนใจนำละครเพลงของ Rodgers & Hammerstein มาดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์อีก
สำหรับคนไม่รู้จัก Rodgers & Hammerstein เป็นคู่หูผู้สร้างละครเพลงที่ประสบความสำเร็จที่สุดใน Broadways ยุค 40s-50s, Richard Rodgers (1902–1979) นักเขียนบทดราม่าและแต่งเนื้อร้อง Oscar Hammerstein II (1895–1960) นักแต่งเพลง, ในยุคสมัยของพวกเขาถูกเรียกว่ายุคทอง ‘golden age of musical theatre’ มี 5 ผลงานที่โดดเด่นยิ่งใหญ่ หลายคนคงรู้จักเพราะเคยได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ทั้งหมดแล้ว ประกอบด้วย Oklahoma! (1955), Carousel (1956), The King and I (1956), South Pacific (1958) และ The Sound of Music (1965), ทั้งคู่ได้ 34 รางวัล Tony Awards, 15 รางวัล Oscar, Pulitzer Prize และ Grammy Awards 2 รางวัล
Joshua Lockwood Logan III (1908-1988) ผู้กำกับภาพยนตร์/ละครเวที และนักเขียน สัญชาติอเมริกัน, ฝีมือการกำกับละครเวทีนั้นมิอาจเถียงได้ว่าสุดยอด เป็นผู้กำกับละครเพลง South Pacific สามารถคว้ารางวัล Tony Award: Best Direction of a Musical และ Pulitzer Prize for Drama แต่นี่ไม่ได้การันตีเลยว่าเขาจะสร้างภาพยนตร์ออกมาได้ดี
ผลงานภาพยนตร์ที่ทำให้ Logan มีชื่อเสียง ถึงขนาดได้เข้าชิง Oscar: Best Director คือ Picnic (1955) และ Sayonara (1957) [เรื่องแรกได้ Golden Globe: Best Director] ทั้งสองเรื่องมีลักษณะคล้ายกันคือ ดัดแปลงจากบทละครเวที ด้วยเหตุนี้จึงได้รับการไว้วางใจจากโปรดิวเซอร์เต็มที่ ให้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้โดยปริยาย
ปัญหาของ Logan เท่าที่ผมสังเกตเห็นคือ เขายึดติดกับรูปแบบละครเวทีมากไป สร้างหนังเรื่องนี้ในรูปแบบนั้นเปะๆ แค่เปลี่ยนพื้นหลังเป็นสถานที่จริง และใส่ Special Effect ให้มีความอลังการมากขึ้นเท่านั้น, จริงๆมันไม่ผิดอะไรที่จะมีผู้สร้างหนัง ยึดติดกับกรอบของละครเวทีนะครับ เพียงแต่เรื่องนี้ไม่สามารถทำให้ผมรู้สึกว่ากำลังดูหนังอยู่ แต่เป็นรับชมละครเวทีเรื่องหนึ่ง
ละครเพลง South Pacific (1949) ของ Rodgers & Hammerstein ดัดแปลงมาจาก Tales of the South Pacific หนังสือรางวัล Pulitzer Prize ของ James A. Michener ตีพิมพ์ปี 1947, มีลักษณะรวมเรื่องสั้นเกี่ยวกับสงครามโลกที่ 2 ขณะที่ผู้เขียนเป็นนาวาตรี (Lieutenant Commander) ให้กับ US Navy ประจำการอยู่ที่เกาะ Espiritu Santo บริเวณ New Hebrides Islands (หรือที่รู้จักในชื่อ Vanuatu)
ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์โดย Paul Osborn
เรื่องราวเกิดขึ้นที่ Norfolk Island บริเวณ Coral Sea ที่หมู่เกาะ Solomon, South Pacific, US Navy ได้วางแผนให้สายสืบเข้าไปสอดส่องสังเกตการณ์ รหัส ‘Alligator’ เพื่อรายงานข้อมูลการเคลื่อนไหวของกองทัพเรือญี่ปุ่น เป็นต้นเหตุให้เกิดปฏิบัติการ Battle of the Coral Sea เมื่อปี 1942 (ที่กองทัพเรือของญี่ปุ่นถูกโจมตีโดยไม่รู้ตัว พ่ายแพ้ย่อยยับ)
ความตั้งใจแรกของผู้สร้าง ต้องการให้ Ezio Pinza และ Mary Martin สองนำแสดงนำในละครเพลง Broadway กลับมารับบท แต่บารมีไม่ถึง Pinza เสียชีวิตไปก่อนไม่กี่เดือน ทำให้ผู้สร้างตัดสินใจคัดเลือกนักแสดงใหม่ทั้งหมด
Rossano Brazzi นักแสดงสัญชาติอิตาเลี่ยน รับบท Emile de Becque ชาวฝรั่งเศส (หน้าของ Brazzi ก็มีเค้าคนฝรั่งเศสอยู่บ้างนะ) อาจจะมีคนรู้จัก Brazzi อยู่บ้าง เพราะเคยประกบ Katharine Hepburn ในหนังเรื่อง Summertime (1955) ของ David Lean, The Story of Esther Costello (1957) ประกบ Joan Crawford, The Italian Job (1969) รับบท Beckerman ฯ
Emile de Becque เกิดที่ฝรั่งเศส แต่ไฉนข้ามโลกมาอาศัยอยู่ South Pacific? ผมคงไม่สปอยเหตุผลว่าทำไม แต่จะบอกว่าชายคนนี้ผ่านอะไรๆมามาก มีความเข้าใจว่าสิ่งสำคัญสุดในชีวิต ไม่ใช่เพื่อประเทศชาติหรือคนอื่น แต่เพื่อ’ตนเอง’เท่านั้น, แม้การตัดสินใจตอนหลังของเขา จะดูเหมือนเปลี่ยนใจเพื่อความสงบสุขของโลก แต่ผมยังมองว่า วินาทีที่ตัดสินใจ เขายังคงทำเพื่อ’ตนเอง’ มากกว่าอุดมการณ์ของการเสียสละ
การแสดงของ Brazzi เต็มเปี่ยมไปด้วย passion ทั้งสีหน้าท่าทาง แต่เสียงพูดที่ได้ยินไม่ใช่ของเสียงเขานะครับ เนื่องเพราะ Brazzi ร้องเพลงไม่ได้ จึงให้ Giorgio Tozzi พากย์ทับแทน นี่ทำให้หลายๆอย่างดูไม่สมจริงเอาเสียเลย
Mitzi Gaynor รับบท Nellie Forbush พยาบาลสาวที่ตกหลุมรักกับ Becque, Gaynor เป็นนักแสดงที่มีฝีมือปานกลาง เสียงร้องใช้ได้ แต่บารมีไม่ถึงเท่าไหร่ พอมีผลงานภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอยู่บ้าง แต่ไม่นานก็ผันตัวไปเป็นนักแสดงโทรทัศน์ ไม่เคยกลับมาเล่นภาพยนตร์อีกเลย
Nellie Forbush หญิงสาวผู้ซึ่งไม่ต้องการเป็นนกในกรง ออกจากบ้านเกิด Little Rock, Arkansas มาเป็นพยาบาลประจำการอยู่ South Pacific ไม่รู้ไปทำท่าไหน หลงในเสน่ห์คารมของ Emile de Becque จนหัวปลักหัวปลำ แต่พอรับรู้ถึงบางสิ่งที่เขาเคยทำมา ก็ต่อต้านยอมรับไม่ได้ (จิตใจยังเป็นปิดกั้นความคิดบางอย่าง เหมือนนกน้อยในกรง) เอาใจช่วยว่าตอนจบเธอจะสามารถโบยบินออกมาได้เองหรือเปล่า
บท Forbush มีนักแสดงหลายคนที่ได้รับข้อเสนอ อาทิ Doris Day, Elizabeth Taylor (เห็นว่าไม่ผ่านการทดสอบหน้ากล้อง) สุดท้ายมาลงเอยที่ Gaynor, การแสดงของเธอเต็มเปี่ยมไปด้วย passion อันทรงพลัง แต่หนังกลับไม่สามารถทำให้เธอดูโดดเด่น หรือเปร่งรัศมีได้เลย (เพลงในหนัง Gaynor ร้องเองทุกเพลงนะครับ, เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่า ค่าลิขสิทธิ์แผ่นเพลงเหมือนจะได้มากกว่าค่าตัวที่ได้จากหนังเสียอีก)
John Kerr นักแสดงละครเวทีเจ้าของรางวัล Tony Award ที่มีผลงานภาพยนตร์บ้างประปราย รับบท Lieutenant Joseph Cable ร้อยโทผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจลับ ตัวเขาอาศัยอยู่ในโลกอันกว้างใหญ่ มีความลุ่มหลงใหล แต่จิตใจยังคับแคบเหมือนนกในกรง
เหมือนว่าทุกตัวละครในหนังเรื่องนี้ หนีอะไรมาสักอย่างหนึ่งลงเอยที่เกาะแห่งนี้ แล้วลุ่มหลงใหลในมนต์เสน่ห์ของดินแดน จนยากจะที่ถอนตัวออกมา, Cable และ Forbush มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ จิตใจเหมือนนกที่อยู่ในกรง ยึดติดในบางสิ่งบางอย่างที่ก็ไม่รู้ว่าคืออะไร หนังพยายามหลีกเลี่ยงการพูดถึง นี่มองว่าเป็นความตั้งใจที่ดี แต่กับคนที่คิดได้จะรู้สึกเลยว่าทั้งสอง ‘เหยียด’ เชื้อชาติรุนแรงมากๆ
ความกลัวของ Forbush เมื่อได้ล่วงรู้ว่า Becque เคยแต่งงานมีลูกกับหญิงพื้นเมือง ผมไม่คิดว่าเพราะเด็กๆสองคนหรอกนะครับ เธอขยะแขยงเขาด้วยเหตุผล เอาไปได้ยังไงผู้หญิงพื้นเมืองชั้นต่ำ, เฉกเช่นกับ Cable ที่ไม่ยอมแต่งงานกับ Liat ทั้งๆที่ร่วมหลับนอนกันแล้ว เพราะรับตัวเองไม่ได้ที่จะลดตนเองลงต่ำคู่กับคนต่างสีผิว, นี่ถือเป็นเรื่องปกติของคนอเมริกา ที่ขึ้นชื่อเรื่องการ’เหยียด’อยู่แล้ว กับคนผิวสีนั้นชัดเจน ส่วนคนเอเชียจริงๆก็ไม่ต่างกันมากแค่ไม่รุนแรงเท่า
ผมรู้สึกการเหยียดเชื้อชาติ นี่เป็นประเด็นรองมาจากศัตรูของอเมริกาในหนังเรื่องนี้ ที่เป็นญี่ปุ่นด้วยนะครับ เรียกว่าเหมารวมชนพื้นเมืองทั้งหมด มีความต่ำต้อยกว่าตนเอง, นี่ถือเป็นประเด็นแฝงที่รุนแรง คนส่วนใหญ่คงไม่เห็น แต่ผมจำเป็นต้องชี้ให้ชัด มีหนัง hollywood ลักษณะนี้เกิดขึ้นมากมายในศตวรรษนั้น ถ้าคุณเป็นคนเอเชียแล้วหลงรักหนังโดยไม่รู้ว่ามีประเด็นนี้ แสดงว่าคุณไร้เดียงสาเกินไปแล้วนะครับ
ถ่ายภาพโดย Leon Shamroy ตากล้องในตำนาน เข้าชิง Oscar 18 ครั้งได้มา 4 รางวัล นี่เป็นหนังเรื่องหนึ่งที่ได้เข้าชิง, แต่บอกตามตรงผมไม่ชอบงานภาพของหนังเท่าไหร่ มีการทำ Color Filter ปรับเฉดสีของภาพในฉากที่มีการร้องเพลง เช่น สีส้มเหลือง (อารมณ์รัก), สีน้ำเงิน (อารมณ์เศร้าเสียใจ เยือกเย็น), สีม่วง (อารมณ์พิศวงสงสัย) ฯ นี่เป็นการทำเพื่อปรับอารมณ์ของผู้ชมให้เข้ากับเฉดสีและฉากนั้น เป็นความตั้งใจที่ดูดีแต่กลับทำให้หนังหมดความสวยงาม ทั้งๆที่การถ่ายทำยังสถานที่จริง เกาะ Ibiza (ประเทศ Spain), เกาะ Kauai (Hawaiian Islands) ฯ มีภาพพื้นหลังวิวทิวทัศน์ที่งดงาม แต่กลับทำให้หงุดหงิดด้วยเฉดสีที่ฝืนธรรมชาติไม่สมจริง
แต่ผมไม่โทษ Shamroy นะครับ เพราะตัวตั้งตัวตีเรื่องการใส่ Color Filter คือผู้กำกับ Logan เพราะหนังประสบปัญหาเรื่องแสงสีของอากาศที่เปลี่ยนไปมาตลอดเวลา (คือควบคุมดินฟ้าอากาศไม่ได้) แต่ไปๆมาๆ กลับใส่ filter มากเกินไปจนล้น แล้วแก้ไขไม่ทัน จึงต้องนำออกฉายทั้งๆแบบนั้น, Logan เคยออกมาให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า การทำ Color Filter ในหนังเรื่องนี้ถือว่าเป็นการตัดสินใจผิดพลาดที่สุดในชีวิต
เหมือนว่าหนังจะไม่มี Choreographer (คนที่ออกแบบท่าเต้น) เวลานักแสดงขับร้องเพลง ส่วนใหญ่จะยืนทึ่มทื่ออยู่ตรงนั้น ทำท่าทางร้องอย่างทรงพลัง (แต่เสียงที่ได้ยิน มักไม่ใช่เสียงของนักแสดง) กล้องก็จะจับภาพอยู่ตรงนั้นไม่มีการเคลื่อนไหวมากนัก, กับฉากที่ควรยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับ Singin’ in the Rain (1952) ขณะที่ Forbush ร้องเพลงอยู่ริมชายหาดเพลง I’m In Love With A Wonderful Guy [แต่เพลงนี้เป็นเสียงร้องของ Mitzi Gaynor เองเลยนะครับ] คลื่นซัดเข้าฝั่ง นักแสดงพยายามสร้างสรรค์อารมณ์และท่าทางออกมา แต่กล้องกลับแน่นิ่ง ถ่ายหน้าตรงแบบตรงไปตรงมา (สงสัยกลัวกลัวโดนน้ำทะเลเปียก)
ตัดต่อโดย Robert L. Simpson หนังยาว 171 นาที ทำให้ผมสัปหงกอยู่หลายรอบ, มุมมองของหนังควรจะเป็นของเกาะแห่งนี้แต่ก็ไม่เชิงแบบนั้น, มีตัวละครหลักอยู่ 3 คน คือ Becque, Cable และ Forbush ใช้การตัดสลับเรื่องราวไปมา ชีวิตของทั้งสามเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไม่ตั้งใจ
หนังน่าเบื่อเพราะแต่ละฉากปล่อยเรื่อยเปื่อยยาวมาก โดยที่เรื่องราวไม่เคลื่อนขยับไปไหน ซึ่งแค่ร้องเพลงอย่างเดียวก็ 4-5 นาทีแล้ว แถมกล้องก็ยังไม่ค่อยเคลื่อนขยับไปไหนด้วย (มีแค่เฉดสีของภาพที่เปลี่ยนไปมายังน่าสนใจกว่าเลย)
เพลงประกอบนำมาจากละครเพลงของ Rodgers & Hammerstein ทั้งหมด มีการสลับลำดับตอนต้นเรื่องเล็กน้อย (คือหนังให้เรื่องของ Cable ขึ้นก่อน ตามด้วย Becque ซึ่งในละครเพลงจะสลับตำแหน่งกัน)
มีเพลงที่ติด AFI’s 100 Years…100 Songs อันดับ 28 ชื่อเพลง Some Enchanted Evening เป็นเพลงจีบเกี้ยวกันระหว่าง Becque กับ Forbush ขับร้องโดย Giorgio Tozzi (ร้องแทน Rossano Brazzi) และ Mitzi Gaynor เห็นว่าตอนทำ Broadway เพลงนี้ได้รับความนิยมสูงมาก จริงอยู่มีความไพเราะ แต่ผมไม่รู้สึกตราตรึงเท่าไหร่ ก็ลองดูในคลิปแทบไม่มีการเคลื่อนไหวของนักแสดงเลย ยืนทิ่มทื่อจ้องตา พรอดรักกัน เหมือนการแสดงละครเวทีไม่ผิดเลย (คือถ้าเป็นหนัง มันควรที่จะมีการเคลื่อนไหว เล่นแง่เล่นงอน ให้ดูมีชีวิตชีวาเป็นศิลปะมากกว่านี้)
อีกเพลงหนึ่งที่เข้าชิงแต่ไม่ติดอันดับ Bali Ha’i ขับร้องโดย Muriel Smith (นักร้องแทนเสียงของ Juanita Hall ที่รับบท Bloody Mary) เป็นชื่อของเกาะแห่งหนึ่งที่มีความพิศวง ยั่วยวนให้หลงใหล คำว่า Bali Hai ไม่มีความหมายอะไร แต่ได้ยินแล้วใครๆคงอยากไป (ภาพเกาะที่เห็นในหนังเป็น Special Effect สร้างขึ้น ส่วนเกาะจริงๆอยู่ Hawaii)
ผมชอบสุดเพลง Honey Bun ร้องเล่นเต้นโดย Mitzi Gaynor เป็นเพลงเต้นโชว์ให้กับเหล่าทหารที่ประจำการ ณ เกาะแห่งนี้, ลีลาของ Gaynor น่ารักมาก จนผมเกือบที่จะตกหลุมรักเธอเสียแล้ว
ใจความของหนังเรื่องนี้ เป็นการตั้งคำถามเรื่องอุดมการณ์ชีวิต ระหว่างเพื่อตนเองกับเพื่อส่วนรวม คุณจะเลือกอะไร?, Becque เลือกเพื่อตนเอง ส่วน Cable เลือกเพื่อส่วนร่วม
แต่กว่าที่หนังจะไปถึงจุดของการเลือก มีการแวะออกนอกเส้นทางมากมาย เพื่อนำเสนอสิ่งที่ทำให้ความตั้งใจแรกของทั้ง Becque และ Cable เปลี่ยนไป นี่แสดงถึงต่อให้เป็นอุดมการณ์ชีวิตก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้
ด้วยทุนสร้าง $5.61 ล้านเหรียญ หนังทำเงินไปถึง $36.8 ล้านเหรียญ กำไรเนาะๆ, เข้าชิง Oscar 3 สาขา ได้มา 1 รางวัล
– Best Cinematography, Color
– Best Sound ** ได้รางวัล
– Best Music, Scoring of a Musical Picture
ส่วนตัวไม่ค่อยชอบหนังเรื่องนี้เท่าไหร่ ในแนวทางการกำกับที่ทำออกมาน่าเบื่อ จืดชืด ไร้รสนิยม นี่ทำให้สิ่งที่เป็นสาระของหนัง ดูไร้ค่าลงทันที แต่เพิ่มคะแนนให้นิดนึงตรงเพลงเพราะ มีที่ติดหูหลายเพลงทีเดียว
ส่วนประเด็นเรื่องการเหยียด สำหรับผมรู้สึกว่ามันรุนแรงมาก แม้ตอนจบเหมือนว่าหญิงสาวจะมีทัศนคติเปลี่ยนไป ยอมรับได้ แต่กับ Cable เพราะเขา…เพื่ออุดมการณ์ โดยไม่ได้เปลี่ยนทัศนคติ เห้ย!
แนะนำกับ … ไม่รู้สิครับ คนที่ชื่นชอบหนังดัดแปลงจากละครเพลงของ Rodgers & Hammerstein, สนใจหนังรางวัล Pulitzer Prize, ชื่นชอบแนวทางของละครเวที, อยากฟังเพลงเพราะๆ และหลงรัก Mitzi Gaynor
จัดเรต 13+ กับความ’เหยียด’เชื้อชาติ
Leave a Reply