South Park

South Park: Bigger, Longer & Uncut (1999) hollywood : Trey Parker ♥♥♡

Guinness World Records เมื่อปี 2001 ได้จดบันทึกไว้ว่า South Park: Bigger, Longer & Uncut เป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นใช้คำหยาบคายมากที่สุด 399 ครั้ง เป็น f-word ถึง 146 แค่บทเพลง Uncle Fucka ก็ฟักไป 31 ครั้งแล้ว!

เกร็ด: สถิติภาพยนตร์ที่ใช้คำหยาบคายมากสุดในปัจจุบัน ค.ศ. 2019 คือ Swearnet: The Movie (2014) จำนวน 935 ครั้ง

ในบรรดาอนิเมชั่นเสื่อมๆเรต R ที่ยืนยงคงกระพันในสหรัฐอเมริกา นอกเสียจาก The Simpsons ฉายมาตั้งแต่ปี 1989 อีกเรื่องก็ South Park เริ่มต้นฤดูกาลแรกปี 1997 ปัจจุบันยังได้รับความนิยมล้นหลามอยู่ ผมว่ามันสะท้อนถึงธาตุแท้ ตัวตน ค่านิยมสังคม(อเมริกัน)อยู่ไม่น้อยเลยนะ

ใครๆก็รู้ว่านี่คืออนิเมชั่นสำหรับผู้ใหญ่ … แต่เมื่อไหร่ที่คุณรับชม South Park: Bigger, Longer & Uncut (1999) ถ้ายังฝืนพูดประโยคนี้ต่อไปอีก แสดงว่าหน้ามืดตาพร่ามัว มองไม่เห็นความจริงบางประการที่น่าสะพรึงกลัว โดยเฉพาะโลกออนไลน์ยุคสมัยนี้ มันไม่ประโยชน์อันใดอีกแล้วในการควบคุม กีดกัน เข้ารหัส เซนเซอร์ ยกตัวอย่าง Clitoris คืออะไร? เด็ก 5 ขวบ เล่นอินเตอร์เน็ตค้นใน Google ก็ได้รับคำตอบ แถมมีคลิปให้ดูอีกต่างหาก!


จุดเริ่มต้นของ South Park เกิดจากสองผู้สร้าง Trey Parker (1969-) และ Matt Stone (1971-) เพื่อนสนิทร่วมชั้นเรียนภาพยนตร์ University of Colorado รู้จักกันมาตั้งแต่ปี 1992 มีความชื่นชอบซีรีย์ Monty Python เหมือนกัน เริ่มต้นจากสร้าง Cut-Out Animation ขนาดสั้น The Spirit of Christmas (บางทีก็เรียก Jesus vs. Frosty) ด้วยการตัดกระดาษ ทากาว ค่อยๆจับขยับเคลื่อนไหวทีละเฟรม (Stop-Motion) ประกอบด้วยสี่ตัวละครหลัก (ที่ได้กลายเป็นต้นแบบของ South Park) และถ่ายทำโดยกล้อง 8mm ออกฉายในงานโรงเรียนเดือนธันวาคม 1992 ได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดี

Brian Graden จาก Fox Network พบเห็นอนิเมชั่นเรื่องนี้แล้วเกิดความชื่นชอบ เลยอาสาออกทุนให้พวกเขาสร้างอีกตอนสั้นของ The Spirit of Christmas (ตั้งชื่อว่า Jesus vs. Santa) เสร็จแล้วนำมาอัดวีดีโอ จัดจำหน่ายในหมู่เพื่อนฝูง อัพโหลดลงอินเตอร์เน็ต กลายเป็น Viral Video แพร่กระจายสู่วงกว้างอย่างรวดเร็ว

ความสำเร็จอันล้นหลามของ Jesus vs. Santa ทำให้ Parker และ Stone ครุ่นคิดจริงจังจะทำอนิเมชั่นซีรีย์ฉายโทรทัศน์ แต่ Fox Network ปฏิเสธที่จะให้ทุนต่อ จึงไปต่อรองกับ Comedy Central เมื่อผู้บริหาร Doug Herzog ได้มีโอกาสรับชม จรดปากกาเซ็นสัญญาให้สร้างตอน Pilot ขึ้นทันที รวมรวบทีมงามกลุ่มเล็กๆใช้เวลา 3 ครึ่งเดือน ทุนสร้าง $300,000 เหรียญ ปักหลังทำงานยัง Celluloid Studios ณ Denver, Colorado ตั้งชื่อตอนว่า Cartman Gets an Anal Probe แม้เสียงตอบรับจากรอบทดลองฉายจะค่อนข้างย่ำแย่ แต่กระแสในอินเตอร์เน็ตดีล้นหลาม ซีซันแรกเลยอนุมัติทั้งหมด 6 ตอน เริ่มฉายวันที่ 13 สิงหาคม 1997

ตอนแรกของ South Park ประมาณการผู้ชม 980,000+ คน ก่อนค่อยๆเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนตอนสุดท้ายของซีซันแรก เกือบ 3.5 ล้านคน กลายเป็นหนึ่งในรายการที่มีคนดูมากสุดของช่อง นั่นทำให้ผู้บริหารเร่งอนุมัติอีก 7 รวมทั้งหมดเป็น 13 ตอน โดยทันที!

ระหว่างการพัฒนาอนิเมชั่นซีซันแรก ประมาณเดือนมกราคม 1998, สองผู้สร้าง Parker และ Stone นอกจากได้เซ็นสัญญาต่อเนื่องกับ Comedy Central ถึงปี 1999 ยังนำเสนอโปรเจคภาพยนตร์ เพื่อหวังขยายฐานผู้ชมให้กว้างมากขึ้น ด้วยข้อแม้คือต้องเรต R เท่านั้น นั่นทำให้โดนกดดันจากสตูดิโอจัดจำหน่าย Paramount Pictures ที่อยากได้เรต PG-13 แต่สุดท้ายก็ยินยอมความให้กับผู้สร้างทั้งสอง

แทนที่จะครุ่นคิดพล็อตใหม่สำหรับภาพยนตร์ Parker และ Stone เลือกเอาตอนที่หกของซีซันแรก Death ออกฉายวันที่ 17 กันยายน 1997 นำมาเป็นพื้นฐานให้กับเนื้อเรื่องราว

“we sort of thought this episode would make the best model just because we liked the sort of pointing at ourselves kind of thing”.

– Trey Parker

แซว: จริงๆนั่นไม่น่าใช้สาเหตุผลหลักนะครับ เพราะ Parker และ Stone คงกำลังงุ่นง่วนซีซัน 2-3 ต้องครุ่นคิดสร้างไปพร้อมๆกัน เลยไม่มีเวลามากเพียงพอจะมองหาเนื้อเรื่องราวใหม่ เลยทำการรีไซเคิลตอนที่พวกเขาสนใจมากสุด

เรื่องราวเริ่มต้นเช้าวันอาทิตย์ ณ South Park, Colorado (เมืองสมมติ) สี่เด็กชายประกอบด้วย
– Stan Marsh (พากย์เสียงโดย Trey Parker) เด็กชายซื่อๆ ตรงไปตรงมา กลัวๆกล้าๆ มักจะเรียบร้อยเวลาอยู่กับครอบครัว แต่เมื่อพูดคุยกับเพื่อนเต็มไปด้วยคำหยาบโลน ถึงกระนั้นถือว่าเป็นคนมีเหตุผลมากสุดในกลุ่ม และแรงผลักดันเกิดจากตกหลุมรัก Wendy (ต้องการแสดงความเป็นลูกผู้ชายให้เธอเห็น)
– Kyle Broflovski (พากย์เสียงโดย Matt Stone) เพื่อนสนิทที่สุดของ Stan เป็นคนอ่อนไหว ไร้เดียงสาสุดในกลุ่ม แต่มีความเฉลียวฉลาด และยึดถือมั่นในหลักศีลธรรมจรรยา ความถูกต้องเหมาะสมควร ไม่ชิบให้ใครมาพูดจาดูถูกหมิ่นแคลนตนเอง ครอบครัว และเชื้อสาย Jews ของตนเอง
– Kenny McCormick (พากย์เสียงโดย Matt Stone และ Mike Judge) เด็กชายผู้มีความขี้อาย สวมใส่ฮู้ดปิดบังใบหน้าตลอดเวลา (แต่ฉบับภาพยนตร์นี้ คือครั้งแรกที่ถอดฮู้ดออก) แถมครอบครัวมีความยากจนข้นแค้น เพราะเหตุนี้เลยไม่ค่อยชอบพูดคุยอะไรกับใคร และมักถูกทำให้เสียชีวิตอย่างเหี้ยมโหดร้าย (แทบทุกตอนในซีรีย์) จนมีคำพูดติดปาก “Oh my God! They killed Kenny!” [ล้อเลียน John F. Kennedy หรือเปล่านะ?]
– Eric Cartman (พากย์เสียงโดย Trey Parker) เด็กชายร่างใหญ่ ได้รับการเลี้ยงดูอย่างเอาใจ ทำให้กลายเป็นคนนิสัยเสีย ปากร้าย ชอบพูดจาล้อเลียนขัดแย้ง Kyle สนองความพึงพอใจส่วนตนเท่านั้น และเมื่อไม่มีอะไรได้ดั่งใจ “Screw you guys… I’m going home!”

สหายทั้งสี่ต้องการรับชมภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของคู่ดูโอ้คอมเมอเดี้ยน Terrance และ Phillip สัญชาติ Canadian แต่เพราะได้รับจัดเรต R จึงว่าจ้างชายนิรนามไร้บ้านให้ซื้อตั๋วหนังให้ ลุ่มหลงใหลในคำพูดสุดหยาบโลน จดจำลอกเลียนแบบมาใช้ในชีวิตประจำวัน จนครูอาจารย์และผู้ปกครอง ต่างยินยอมรับสิ่งบังเกิดขึ้นไม่ได้ ทำการโบ้ยบ้ายป้ายสีใส่ประเทศ Canada ว่าคือต้นสาเหตุทำให้เด็กๆสูญเสียความใสซื่อบริสุทธิ์ไร้เดียงสา

เว้นเพียงตอน Pilot ของ South Park ที่ยังใช้เทคนิค Cut-Out Animation ต่อจากนั้นรวมทั้งภาพยนตร์เรื่องนี้ ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สามมิติชื่อ PowerAnimator ของบริษัท Alias|Wavefront (ปัจจุบันคือ Alias Systems Corporation) ทำงานบนเครื่อง Workstation เรนเดอร์ด้วยคอมพิวเตอร์ 200 ตัว แต่ยังออกแบบตัวละครให้มีลักษณะสองมิติ แลดูคล้าย Cut-Out Animation แต่ผมว่าก็ไม่เหมือนสักทีเดียวนะ

เกร็ด: เห็นว่าตั้งแต่ SS5 เป็นต้นไป เปลี่ยนมาใช้โปรแกรม Maya แทน PowerAnimator

งานศิลป์มีกลิ่นอาย Minimalist เน้นความเรียบง่าย ออกแบบแค่ให้พอแยกแยะออกว่าคืออะไร มิได้ลงรายละเอียดอะไรๆเยอะนัก (นี่ทำให้ลดระยะเวลาการสร้างได้เยอะทีเดียว) ถ้าเทียบกับอนิเมชั่นของ Walt Disney เรื่องหนึ่งใช้เวลา 3-4-5 ปี ฉบับภาพยนตร์ของ South Park ใช้ระยะเวลาสร้างเพียง 6 เดือน เท่านั้นเอง!

แซว: ปัจจุบันนี้ตอนๆหนึ่ง 20-25 นาที ของซีรีย์ South Park ใช้ทีมงาน 70 คน สามารถเสร็จสิ้นได้ในระยะเวลาเพียง 3-4 วัน

สี่ตัวละครหลัก เอาจริงๆหน้าตาเหมือนกันหมด (เสียงพากย์ก็คล้ายๆกันด้วยนะ) แต่ผู้ชมสามารถแบ่งแยกออกได้จากโทนสีสัน (Primary Color) รูปทรงร่างกาย การแต่งตัว และลักษณะนิสัย ซึ่งมักถูกนำเสนอในระนาบ 2 มิติ จากมุมมองเดียว (เพื่อสะท้อนถึงอิทธิพลของ Cut-Out Animation)
– Stan Marsh พระเอกสุดในกลุ่ม แต่มีความจืดชืดอันดับหนึ่ง
– Kyle Broflovski หน้าตาเอ๋อๆเหรอๆ สวมหมวกทหารสีเขียว มักคอยข้ดแย้งกับ Eric เป็นประจำ
– Kenny McCormick สวมฮู้ดคลุมหน้าตลอดเวลา พูดจางึมงัมฟังไม่รู้เรื่องสักเท่าไหร่ (ต้องรอให้ใครบางคนแปลให้)
– Eric Cartman เด็กร่างใหญ่ พูดหยาบคายสุดในกลุ่ม

สิ่งที่ผมถือว่าสร้างสรรค์มากๆ (แต่ไม่น่าใช่ครั้งแรกจากอนิเมชั่นเรื่องนี้นะครับ) คือการขยับปากของบางตัวละคร Terrance, Phillip, Saddam Hussein พะงาบๆเหมือนปลา ซึ่งใช้การตัดแปะ สลับขึ้นลงทั้งศีรษะไปมา คือมันดูยียวนกวนบาทา ไม่ได้ต้องสิ้นเปลืองอะไรไปมากกว่าทำอนิเมชั่นขยับเคลื่อนไหว (คือแทบไม่ต้องวาดรูปอะไรเพิ่ม สามารถเอาใบหน้าใครก็ได้มาตัดแปะ ล้อเลียน ทำให้เสียคนไปเลยก็ยังได้)

ตัดต่อโดย John Venzon, แม้อนิเมชั่นจะมีจุดหมุนคือเมืองสมมติ South Park, Colorado แต่เรื่องราวได้ขยายใหญ่ออกไปเรื่อยๆ โดยมีการตัดต่อสลับไปมาระหว่าง
– 3-4 เด็กชาย กับภารกิจกอบกู้โลกยัง South Park
– เรื่องราวของแม่ ชมรมผู้ปกครอง เพื่อปกป้องลูกๆสุดที่รัก
– สหรัฐอเมริกา ประกาศทำสงครามกับ แคนาดา
– และ Kenny McCormick กับโปรแกรมทัวร์สวรรค์-นรก

เพลงประกอบโดย Marc Shaiman (1959-) สัญชาติอเมริกัน มีผลงานหลากหลายกับภาพยนตร์ โทรทัศน์ ละครเวที ผลงานเด่นๆ อาทิ The Addams Family (1991), Sleepless in Seattle (1993), The American President (1995), Patch Adams (1998), South Park: Bigger, Longer & Uncut (1999), Hairspray (2007), Mary Poppins Returns (2018) ฯ

งานเพลงถูกทำออกมาให้มีลักษณะของ Broadway-style ซึ่งมักจะคัทลอก/ล้อเลียน จากหลายๆผลงานดังในอดีต อาทิ
– Mountain Town สัมผัสคล้ายๆบทเพลง Belle เรื่อง Beauty and the Beast (1991)
– La Resistance ได้แรงบันดาลใจจาก Les Misérables
– I’m Super คล้ายๆ Be Our Guest ของ Beauty and the Beast (1991) ผสมกับ Honey Bun เรื่อง South Pacific (1958)
– Kyle’s Mom’s a Bitch จากบทเพลง Up There เรื่อง Chitty Chitty Bang Bang (1968)
– I Can Change กับ Mountain Town (Reprise) คัทลอกจาก The Little Mermaid (1989) บทเพลง Part of Your World, Poor Unfortunate Souls และ Part of Your World (Finale)

บทเพลงที่โดยส่วนตัวรู้สึกว่าติดหูสุดคือ Uncle Fucker แต่งโดยสองผู้สร้าง Stone & Parker ซึ่งยังขับร้อง/พากย์เสียง Terrance & Phillip และใส่ทำนองโดย Marc Shaiman

แต่บทเพลงที่กลายเป็นตำนานคือ Blame Canada ซึ่งมีเนื้อใจความใส่ร้ายป้ายสีประเทศผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องด้วยเลยกลับกลายเป็นแพะรับบาป ให้ถูกด่ากราด ล้อเลียน เสียดสี … ถือว่าสะท้อนตัวตนชาวอเมริกันได้เป็นอย่างดี เวลามีอะไรผิดพลาดไม่เคยมองตนเอง ต้องหาผู้เคราะห์ร้ายให้ป้ายสีไว้ก่อน

เพราะเนื้อคำร้องบทเพลงนี้เต็มไปด้วยคำสถบหยาบคาย แต่เมื่อได้เข้าชิง Oscar: Best Original Song จะแสดงออกอากาศสดได้อย่างไร ซึ่งวิธีที่ใช้รับชมจากคลิปนี้นะครับ ขับร้องโดย Robin Williams

อิสรภาพ เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการควบคุม เซนเซอร์
– อิสรภาพที่มีมากล้นจนเกินไป ทำให้มนุษย์ครุ่นคิดแสดงออกโดยไม่สนหัวผู้อื่นใด ไร้จิตสำนึกผิด-ชอบต่อสังคม มองว่าตนเองเท่านั้นถูกต้อง เมื่อเกิดความผิดพลาดต้องหา ‘แพะรับบาป’ เพื่อป้ายสีเทความผิดใส่
– การควบคุมครอบงำที่มากเกินไป ย่อมทำให้ประชาชน/ผู้อยู่อาศัย เต็มไปด้วยความอึดอัด คับข้องแค้น สะสมความโกรธเกลียดชัง เมื่อถึงจุดๆหนึ่งอดรนทนไม่ได้ก็จักปะทุระเบิดออกมา ทำลายล้างทุกสิ่งอย่างขวางหน้า

ไม่ว่าอิสรภาพ หรือการถูกควบคุมครอบงำ เมื่อมนุษย์ได้รับฝั่งฝ่ายใดสุดโต่งมากเกินไป ย่อมเป็นบ่อก่อเกิดแห่งหายนะ ความขัดแย้ง สงคราม ความตาย ภัยพิบัติ และวันสิ้นโลกติดตามมา

เช่นกันกับความรักระหว่างแม่-ลูก รวมไปถึง ซัดดัม-ซาตาน ฝั่งหนึ่งสนเพียงผลประโยชน์ส่วนตน ต้องการควบคุมครอบงำ ให้ทุกสิ่งอย่างเป็นไปดั่งใจฉัน ขณะที่เด็กๆและซาตาน โหยหาอิสรภาพ ต้องการบางสิ่งอย่างมากกว่าแค่ Sex หรือคือการสื่อสาร ความเข้าใจ เพื่อว่าโลกจะได้มีอนาคตต่อไป (ไม่ถูกทำลายล้างจากสงคราม ความขัดแย้ง และวันโลกาวินาศ)

แต่ถึงกระนั้น South Park: Bigger, Longer & Uncut คือภาพยนตร์อนิเมชั่นที่พยายามเสี้ยมสอนสั่ง ปลูกฝัง ครอบงำผู้ชม ว่าสิ่งถูกต้องเหมาะสมในการใช้ชีวิต คืออิสรภาพทางความครุ่นคิด … สังเกตไหมว่าผมจงใจใช้คำพูดที่มันขัดย้อนแย้งกันเอง เพื่อสะท้อนโลกทัศน์ของผู้สร้าง พวกเขามองเพียงด้านที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง แล้วปัญหาเด็กๆพูดจาหยาบคาย สุดท้ายมันมีคำตอบ/หนทางออกเสียที่ไหน ไอ้เด็กเวรพวกนี้ก็ยังคงพูดฟักๆต่อไป

ผมว่าสิ่งน่าสะพรึงกลัวสุด ไม่ใช่เด็กๆทำการลอกเลียนแบบผู้ใหญ่ หรือพ่อ-แม่พยายามปกป้องลูกๆมากเกินไป แต่คืออิสรภาพของศิลปินในการสร้างสรรค์ผลงานโดยไม่รับผิดชอบสังคม ไม่ใช่แค่ Tery Parker และ Matt Stone สองผู้ให้กำเนิด South Park เท่านั้นนะครับ วิวัฒนาการ/ความเจริญสังคม ทำให้จิตสำนึกคุณธรรม-มโนธรรมของมนุษย์ย่ำแย่ลงทุกวี่วัน ต่อให้อ้างว่าสร้างขึ้นโดยมีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ นี่ก็แค่คำลวงหลอกตนเองประการหนึ่งเท่านั้น

อิสรภาพ เป็นสิ่งที่สมควรต้องมาพร้อม ความรับผิดชอบ แต่ยุคสมัยนี้คำหลังได้แปรเปลี่ยนเป็น ผลประโยชน์ กำไร ชื่อเสียง และความสำเร็จ, การมาถึงของภาพยนตร์อนิเมชั่น South Park ผมมองว่าคือจุดเริ่มต้นแห่งหายนะ โลกาวินาศ เพราะคุณค่าแห่งศีลธรรมมโนธรรมกำลังใกล้หมดสิ้นสูญ

สุดท้ายผมครุ่นคิดว่า โลกจะเสื่อมทรามเพียงใดก็ช่างหัวมันเถอะ เพราะไม่มีทางที่ใครจะทำให้อะไรๆมันดีขึ้นไปกว่านี้ สิ่งสำคัญสุดอยู่ที่การพัฒนาจิตใจตัวเราเอง เรียนรู้จักปล่อยวางความหมกมุ่นครุ่นยึดติด พบเห็นค่านิยมโทรมๆแบบอนิเมชั่นเรื่องนี้ จดจำไว้เป็นบทเรียนแบบอย่าง ไม่ใช่ลอกเลียนทำตาม หรือเสพเพื่อความบันเทิงเริงใจ (เพราะมันจะซึมซับ ติดเข้ามาในสันดานคุณเอง)


สิ่งที่อนิเมชั่น South Park ได้รับคำชมล้นหลามคือ ความเรียบง่ายในการนำเสนอ

“Although the ‘primitive’ animation of South Park is supposedly a joke, it’s really a secret weapon. The simplicity of Parker and Stone’s technique is what makes it so effective”.

– Stephanie Zacharek นักวิจารณ์ชื่อดัง

ด้วยทุนสร้าง $21 ล้านเหรียญ ทำเงินในสหรัฐอเมริกา $52 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $83.1 ล้านเหรียญ กลายเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นเรต R ทำเงินสูงสุดขณะนั้น [ถูกทำลายสถิติโดย Sausage Party (2016)] ถือว่าได้ขยายฐานผู้ชมออกไปทั่วโลกได้สำเร็จจริงๆ

เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มี Oscar: Best Animated Feature (เริ่มปี 2001) แต่อนิเมชั่นเรื่องนี้จับพลัดจับพลูได้เข้าชิง Oscar: Best Original Song บทเพลง Blame Canada พ่ายให้กับ You’ll Be in My Heart จากเรื่อง Tarzan (1999)

มีความพยายามจะสร้างภาคต่อมาสักพักใหญ่แล้ว แม้แต่ผู้กำกับ Christopher Nolan ยังเคยแสดงความสนใจหลังเสร็จจาก Interstellar (2014) แต่ข่าวคราวก็เงียบหายไปกับสายลม สองผู้สร้างคงดื่มด่ำความสำเร็จฉบับซีรีย์ ไม่ต้องทำอะไรก็แทบจะรวยล้นฟ้าอยู่แล้ว

ซึ่งพอภาพยนตร์อนิเมชั่นไม่ได้รับการสร้าง กลายมาเป็นเเกม South Park: The Stick of Truth (2014) และ South Park: The Fractured but Whole (2017) โดยสตูดิโอ Ubisoft เสียงตอบรับค่อนข้างดีเชียวนะ

ส่วนตัวชื่นชอบแนวความคิดและการสร้างสรรค์อนิเมชั่นเรื่องนี้มากๆนะ แต่ก็ต่อต้านความหยาบโลนไร้สาระ ไม่รู้สึกว่ามันสมควรเป็นความบันเทิงเลยสักนิด คล้ายๆภาพยนตร์แนว ‘ชวนเชื่อ’ พยายามครอบงำ ปลูกฝัง ค่านิยมผิดๆเพี้ยนๆให้คนในสังคม หลงระเริงไปกับอิสรภาพไร้ขอบเขต

อนิเมชั่นเรื่องนี้สมควรถูกจัดเรตติ้ง NC-17 ห้ามไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 17-18 รับชมโดยเด็ดขาด! แต่เพราะยุคสมัยนี้ไม่มีอะไรสามารถปกปิดบังการชื่อเสียงของ South Park ผมเลยให้เรต R ขึ้นอยู่กับสำนึกมโนธรรมตัวคุณเอง สมควรสรรหามาให้ผู้เยาว์รับชมหรือเปล่า

คำโปรย | South Park คือความบันเทิงที่เป็นจุดสิ้นสุดของศีลธรรมมโนธรรม
คุณภาพ | ยอดเยี่ยมในความสร้างสรรค์
ส่วนตัว | ขยะสังคม

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: