Soy Cuba

Soy Cuba (1964) : Russia,Cuba – Mikhail Kalatozov

I Am Cuba อาจไม่ใช่หนังที่มีเนื้อเรื่องดีมากนัก แต่งานภาพของ Sergey Urusevsky ได้ก้าวผ่านขอบเขตของความสวยงาม ไปถึงระดับที่ไม่มีใครรู้ว่าเขาถ่ายภาพออกมาได้ยังไง โดยเฉพาะฉากเปิดเรื่องที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น long-shot ที่สวยที่สุดในโลก หนัง Anti-American Propaganda เรื่องนี้กำกับโดย Mikhail Kalatozov ผู้กำกับในตำนานของ Russia ที่ได้รับการกล่าวถึงน้อยมาก (underrated) ในระดับโลก

ผมรู้จักหนังเรื่องนี้จากการอ่านบทสัมภาษณ์หนึ่งของ Alejandro González Iñárritu ขณะเดินสายประชาสัมพันธ์หนังเรื่อง The Revenant เขาบอกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน Martin Scorsese ได้แนะนำหนังให้เขา 2 เรื่องคือ The Crane Are Flying ที่ผมได้เคยรีวิวไปแล้ว และอีกเรื่องคือ Soy Cuba ซึ่งหลังจากได้ชมก็เกิดความประทับใจต่องานภาพของหนังอย่างมาก ถือเป็นแรงบันดาลใจลึกๆให้เขาสร้าง Birdman และ The Revenant ด้วยการใช้ long-shot ที่สวยงาม, Iñárritu พูดถึงการเตรียมงานสร้างโดยเฉพาะฉาก long-shot เป็นอะไรที่ยาก นักแสดงอาจจะต้องเล่นจริงเจ็บจริง ไม่สามารถใช้มุมกล้องบังได้ ทุกอย่างจึงต้องตระเตรียมและซักซ้อมกันจนขึ้นใจ และจะผิดพลาดเล็กน้อยไม่ได้เลย ฉากพวกนี้เตรียมงานกันเป็นวันเพื่อถ่ายจริงแค่ 5-10 นาทีเท่านั้น และยิ่งสมัยก่อนยังไม่มีกล้องที่เป็นแบบ Hand-Held ผู้กำกับภาพต้องยกกล้องที่ไม่รู้หนักเท่าไหร่ เดินถ่ายไปรอบๆ แค่คิดก็เหนื่อยแทนแล้ว

งานภาพในหนังเรื่องนี้ ใครเห็นย่อมรู้สึกได้ว่ามันแปลกๆ ดูไม่สมส่วน แตกต่างไปจากปกติ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะหนังใช้เลนส์ Extreme-Widescreen ในการถ่ายทำ คนเล่นกล้องคงจะรู้จักเลนส์ Wide กันอย่างดี ภาพจากเลนส์ชนิดนี้ตรงกลางจะใหญ่กว่าด้านขอบข้างซ้ายขวา เห็นเหมือนกำลังส่องด้วยแว่นขยายที่เป็นเลนส์นูน ตากล้องเก่งๆเวลาใช้เลนส์ Wide เขาจะมองหาจุดศูนย์กลางที่เป็นเส้น และให้เส้นนั้นอยู่กลางรูป ภาพที่ออกมามันจะโค้งพอดีดูสมส่วน แต่ถ้าเราเอาเส้นนั้นไว้จุดอื่นของรูป ภาพที่ออกมามันจะเบี้ยวๆ และขอบข้างซ้ายขวาจะดูเล็กผิดปกติ สำหรับคนที่ดู The Revenant มาแล้วก็น่าจะรู้สึกคุ้นๆนะครับ เพราะหนังใช้เลนส์ Wide ถ่ายเหมือนกัน แต่ The Revenant ฉายในโรงเป็น Anamorphic Widescreen แต่ Soy Cuba เป็นแค่ Widescreen ธรรมดา เราจึงจะรู้สึกว่าภาพมันดูผิดเพี้ยนเกินจริงไปเยอะ มันมีเหตุผลของการที่จะถ่ายแบบนี้อยู่นะครับ เพราะหนังทั้งเรื่องเป็นการแทนตัวเองด้วย ข้าคือคิวบา (I am Cuba) การถ่ายแบบนี้ให้ความรู้สึกเหมือนเราเป็นบุคคลที่ 3 ที่มองเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังทั้งหมด

แล้วแบบนี้เรียกว่าสวยเหรอ… ใช่ครับ จะเรียกว่าอยู่ที่รสนิยมก็ได้ ภาพที่บิดเบี้ยวนี้มันมีความงดงามในความสร้างสรรค์ คืองานศิลปะ (art) ที่มีความหมายและโดดเด่น ต้องถามว่าคุณดูภาพเป็นหรือเปล่า, เข้าใจไหมว่ามันสวยยังไง, และทำยังไงถึงได้ภาพแบบนี้มา คนที่เล่นกล้องเห็นหนังเรื่องนี้ เชื่อว่าส่วนใหญ่จะบอกว่าภาพสวยมากๆ ยิ่งคนที่เข้าใจวิถีของเลนส์ wide จะเห็นความงดงามของมันในระดับที่คนทั่วไปมองยังไงก็มองไม่เห็น แต่ผมขอไว้นะครับถ้าคุณเห็นว่ามันไม่สวยก็คือไม่สวยนะครับ อย่ากระแดะพูดตามคนอื่นเขาว่าสวยทั้งๆที่ใจเราไม่เข้าใจว่าสวยยังไง มีวิธีที่ผมสามารถแนะนำได้ถ้าคุณอยากเข้าใจ และเห็นความสวยงามของงานภาพหนังเรื่องนี้ คือให้ลองเล่นกล้อง และหาเลนส์ Wide มาถ่ายรูปดู ฝึกถ่ายให้เก่งๆ เลนส์ Wide ถือว่าเล่นไม่ยากนัก แต่มีเทคนิคบางอย่างที่ต้องเรียนรู้ ไม่เช่นนั้นถ่ายยังไงก็ออกมาไม่สวยแน่ ซึ่งถ้าถึงขั้นถ่ายเป็นแล้ว ยังรู้สึกว่าภาพหนังไม่เห็นจะสวยเลย แนะนำว่าอย่าเสียเวลาดูมันหนังเรื่องนี้เลยนะครับ เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า

ฉากเปิดเรื่องเริ่มต้นจากผืนน้ำไปสู่แผ่นดิน โคลัมบัสค้นพบอเมริกา แต่แท้จริงแล้วที่โคลัมบัสค้นพบคือคิวบา ภาพตัดไปที่คนกำลังพายเรือแสดงถึงวิถีชีวิตของผู้คน จากนั้นตัดไปในเมืองปาร์ตี้บนตึกสูง กล้องถ่ายไปรอบๆ จากนั้นเคลื่อนลงลิฟท์ไปชั้นล่าง เดินไปเดินมาแล้วจบลงที่ถ่ายลงในสระน้ำ กล้องสมัยก่อนมันกันน้ำไม่ได้นะครับ (กล้องสมัยนี้ก็ใช่ว่าจะกันน้ำได้ทุกรุ่น) แล้วฉากนี้มันไม่มีตัดเลย แสดงว่ามันต้องมีการทำอะไรสักอย่างกับกล้องตั้งแต่แรก (เช่น เอากล้องใส่ตู้กระจก) ถึงจะสามารถพากล้องลงน้ำได้ ความสวยงามของฉากนี้ไม่ใช่แค่การถ่าย long-shot ที่แสนยาก แต่มีความหมายของการเคลื่อนกล้องที่ลึกซึ้งมากด้วย ตอนสมัยเรียนที่ผมทำหนังสั้นฉาย ก็เคยใช้การเล่าเรื่องคล้ายๆกันนี้ ภาพที่เคลื่อนขึ้นแสดงถึงการไต่เต้า ไขว่คว้า แสวงหาให้ได้มา ภาพที่เคลื่อนลงจะตรงกันข้าม คือ ความตกต่ำ การสูญเสีย และการเคลื่อนลงไปในน้ำ มันคือการจมดิ่งลงสู่จุดต่ำสุด คนที่ดูหนังจบแล้ว จะสามารถบอกได้ว่าหนังเรื่องนี้เป็น Anti-American Propaganda เหตุเกิดจากการที่อเมริกาพยายามเข้ามาแทรกแซงการเมืองในประเทศ Cuba ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น Cuba หลังสงครามจบจึงไปเข้าข้าง Russia และเพื่อเป็นการต่อต้านอเมริกา ฉากเปิดเรื่องนี้จึงเป็นเหมือนการสาปแช่ง (พยากรณ์) ให้ความรุ่งเรืองของอเมริกาตกต่ำลงจนถึงจุดสิ้นสุด

มันไม่ใช่แค่ฉากเปิดเรื่องที่เป็น long take ยากๆนะครับ ในหนังยังมีอีกหลายฉากเลยที่น่าพิศวงมากๆว่าทำได้ยังไง โดยเฉพาะฉากงานแห่ศพ (ซีนหนึ่งในเรื่องที่ 3 ของหนัง) เริ่มถ่ายจากพื้นท่ามกลางฝูงชน จากนั้นกล้องค่อยๆเลื่อนขึ้นไปบนตึกถึงชั้น 3 แล้วเคลื่อนผ่านโรงงานบุหรี่ (cigar factory) ถ่ายออกไปข้างนอกหน้าต่าง แล้วยังเคลื่อนต่อไปอีกเป็น Bird-eye-View จังหวะสุดท้ายนี่ผมอ้าปากค้างเลย มันถ่ายได้ยังไงว่ะ ไม่มีตัดเลย! ช่วงแรกที่ยกกล้องขึ้น 3 ชั้นอาจจะใช้เป็นลิฟต์หรือเครนยกขึ้นได้ แต่ตอนที่กล้องเคลื่อนออกไปนอกหน้าต่างแล้วยังไปต่อได้อีก ทั้งๆมันมีกำแพงขวางเครนไว้ และข้างล่างคือฝูงชน หนังทำได้ยังไง! ใครรู้บอกผมทีนะครับ

หลังจากประสบความสำเร็จกับ The Crane Are Flying ที่ทำให้ Mikhail Kalatozov ได้ Palme d’Or จากเทศกาลหนังเมือง Cannes เขาได้รับความเชื่อมั่นจาก USSR หลังจากที่ Cuba เป็นอิสระจากอเมริกา ได้ส่งสาสน์ขอเป็นพันธมิตรกัน และร่วมมือให้สร้างหนังที่เป็นแนวชวนเชื่อเพื่อต่อต้านอเมริกาโดยเฉพาะ Kalatozov ได้รับโอกาสนั้น น่าเสียดายที่ผลตอบรับของหนังเมื่อสร้างเสร็จ กลับได้รับเสียงวิจารณ์รับที่แย่มากๆ ทั้งใน Cuba และ Russia ทำให้หนังถูกทิ้งลืมอยู่หลายปี ไม่ได้รับโอกาสให้ฉากในยุโรปหรืออเมริกาด้วย (หนังสร้างโดย USSR มักจะถูกจำกัดให้ฉายเฉพาะในกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์เท่านั้น) จนกระทั่งปี 1990 USSR ล่มสลาย ปี 1992 หนังได้ถูกการค้นพบ ปี 1993 ถึงได้ฉายในอเมริกา และปี 1994 Martin Scorsese ได้มีโอกาสดูหนังเรื่องนี้ และรู้สึกประทับใจถึงขนาดให้ใช้ชื่อเขาเพื่อโปรโมทหนังสู่วงกว้าง

บทหนังเขียนโดย Enrique Pineda Barnet และ Yevgeny Yevtushenko ความตั้งใจเดิมจะให้มีเรื่องสั้น 5 เรื่อง แบบเดียวกับที่ Sergei Eisenstein สร้าง Battleship Potemkin แต่ไม่รู้ติดข้อจำกัดอะไรถึงสร้างได้แค่ 4 เรื่องเท่านั้น สำหรับคนที่ดูทั้ง Soy Cuba และ Battleship Potemkin มาแล้วจะพบว่า มีอยู่เรื่องหนึ่งใน Soy Cuba ที่ถือว่าคล้ายๆกับเรื่องหนึ่งใน Battleship Potemkin นั่นคือความตั้งใจของ Kalatozov เลยนะครับ Battleship Potemkin ถือว่าเป็นหนังที่มีอิทธิพลอย่างมากในการชวนเชื่อของ Russia ซึ่งการพยายามสร้างความรู้สึกให้คล้ายๆกันนี้กับประเทศ Cuba มันก็น่าจะให้ผลลัพท์เดียวกัน แต่มันกลับล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า ผมลองวิเคราะห์ดู อาจด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ 1) หนังเรื่องนี้เกิดในประเทศ Cuba ไม่ใช่ Russia 2) Kalatozov ไม่สามารถเข้าถึงวิถีคน Cuba ได้ เพราะเขาเป็น Russia ทีมสร้างก็ Russia มีแค่นักแสดงบางคนที่เป็น Cuba หนังเรื่องนี้จึงดูเหมือน มุมมองของ Russia ต่อคน Cuba ไม่ใช่หนังของคน Cuba 3) หนังทำให้คน Cuba นึกถึงตอนสมัยสงครามกับอเมริกามากเกินไป จุดนี้อาจเป็นที่สนใจของ Kalatozov แต่ไม่ใช่กับชาว Cuba ที่ต้องการลืมความโหดร้ายต่างๆที่อเมริกาทำกับพวกเขา 4) ถึงงานภาพจะยอดเยี่ยม แต่มันยิ่งใหญ่ได้ไม่เท่ากับต้นตำฉบับ Battleship Potemkin

Sergey Urusevsky คงไม่มีอะไรต้องบรรยายมากกับผู้กำกับภาพในตำนานคนนี้ ใน Russia คงไม่มีใครไม่รู้จักเขาคนนี้ แต่ในระดับโลก ผมก็เพิ่งมารู้จักเขาตอนที่ได้ดูหนังของ Kalatozov นี่แหละ เขาได้สร้างภาษาของการถ่ายภาพขึ้นในหนังที่ถือว่าเป็นสากลมากๆ เราสามารถเข้าใจเรื่องราวของหนังได้จากภาพ ทุกภาพถ่ายจะมีเรื่องราวของตัวเอง จากการเคลื่อนไหวกล้อง แพนกล้อง ซูมเข้า ซูมออก ทุกสิ่งทุกอย่างที่กล้องตัวหนึ่งสามารถทำได้ Urusevsky สร้างความหมายให้กับมัน ผมว่าพี่แกคงแข็งแรงมากๆด้วยนะครับ เพราะ long-take ทุกฉากที่จะเห็นกล้องเดินไปเดินมาตลอดเลย และแต่ละช็อตก็ไม่ต่ำกว่านาทีทั้งนั้น film reel สมัยนั้นประมาณ 10 นาที นั่นคือยาวสุดที่ 1 ช็อตจะเกิดขึ้นได้ มีผู้กำกับภาพสมัยนี้คนเดียวเท่านั้น ที่ผมถือว่ามีฝีมือเทียบเท่ากับ Sergey Urusevsky หลายคนคงเดากันได้ Emmanuel Lubezki

ตัดต่อโดย Nina Glagoleva ด้วยเพราะงานภาพของหนังเรื่องนี้โดดเด่นมากๆ และการมี long-take ยาวๆ ทำให้การตัดต่อถูกมองข้ามไปเลย กระนั้นการให้ความสำคัญกับการถ่ายภาพมากเกินไป ก็ทำให้เกิดปัญหาได้ หลายๆฉากมีความยาวเกินไปจนเกิดความเบื่อหน่าย การดำเนินเรื่องไปได้ช้า เพราะมันเดินตามตัวละคร ไม่ใช่เดินตามเนื้อเรื่อง โดยเฉพาะช่วงในบาร์ตอนต้นเรื่อง กล้องเคลื่อนไปเรื่อยๆ อยากถ่ายอะไรก็ถ่าย เป็นช็อตที่ยาวมากๆ และไม่มีความสำคัญอะไรเลยด้วย ถ้าหนังให้ความสำคัญกับการตัดต่อมากกว่านี้สักหน่อยคงจะดูดีขึ้นเยอะเลย

เพลงประกอบโดย Carlos Fariñas ให้ความรู้สึก Hawaii มากๆ เสียง Saxophone, Trumpet, เน้นเครื่องเป่า ดนตรี Jazz ฟังแล้วได้บรรยากาศไปเที่ยวทะเลพักผ่อน ในช่วงหลังๆที่มีความมืดหม่นมากขึ้น เพลงประกอบมันช่างบีบคั้นหัวใจเหลือเกิน และยิ่งประกอบเข้ากับงานภาพ ตอนฉากเผาบ้าน กล้องซูมเข้าไปที่ดวงอาทิตย์ เพลงประกอบที่เร้าใจ จบด้วยการล้มลงของ รู้สึกเหมือนเราจะหมดลมหายใจไปกับเขาด้วย

ใน 4 เรื่องสั้นของหนัง ตอนที่ผมชอบที่สุดคือเรื่องที่ 2 ในทุ่ง Sugar Cane ภาพของไร่อ้อยที่กว้างใหญ่ ภาพสีแปลกๆ เห็นว่าบางช็อตใช้ infrared film (มันคือภาพ infrared นะแหละครับ) พ่อกับลูกชายและลูกเขย กำลังตัดอ้อยเพื่อเตรียมนำไปขาย แต่เจ้าหนี้ซึ่งพ่อเอาที่ดินไปจำนำ ขายที่ดินให้กับ United Fruit เพราะพ่อไม่ได้ใช้หนี้ตามระยะเวลาที่กำหนด เรื่องราวก็ดูธรรมดาๆนะครับ แต่การตอบโต้ของพ่อคือ เขาให้เงินที่ตนเหลืออยู่กับลูกๆเพื่อให้ไปพักผ่อน ส่วนตนก็เลือกเผาไร่อ้อยทั้งหมด การกระทำนี้มันไม่มีค่าอะไรเลย แต่มันแสดงถึงความบอบช้ำในใจของพ่อที่รุนแรงสาหัสมากๆ บางคนอาจรำคาญการตัดอ้อยที่แสนยาวนาน ไม่รู้กี่นาทีถ่ายแต่การตัดอ้อยนะแหละ แต่ผมกลับชอบมากๆ เพราะสังเกตเห็นช่วงหลังๆ ที่พอพ่อรู้ว่าที่ดินถูกขายไปแล้ว และที่นี่ไม่ใช่ที่ของเขาอีกต่อไป พ่อเริ่มตัดอ้อยอย่างบ้าคลั่ง เหมือนเขาอยากตะโกนออกมาแต่ทำไม่ได้ เลยไปลงกับการตัดอ้อย น่าสงสารน้องอ้อย … ในความหมายของฉากนี้ก็ชัดเจนนะครับ มันเหมือนกับการที่รัฐบาลขายประเทศ/ที่ดินให้อเมริกา ผู้คนตาดำๆจึงลุกฮือกันต่อต้าน ไฟคือการต่อสู้ เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นเพื่อเป็นการตอบโต้กับการกระทำนี้

สิ่งที่ผมไม่ชอบ ก็คือมีช่วงที่หนังพยายามทำตาม Battleship Potemkin อย่างชัดเจน ในฉากการเดินประท้วง และทหารยิงประชาชนตาย ตอนผมเห็นทหารเดินลงบันไดปุ๊ป ภาพของ Battleship Potemkin ผุดขึ้นในหัวผมทันที มันเลี่ยงไม่ได้เลยสำหรับคนที่เคยดูมาแล้วที่จะเปรียบเทียบหนังทั้งสองเรื่อง ซึ่งมันเห็นชัดเลยว่า Soy Cuba สู้ไม่ได้สักนี้ จุดนี้เกิดเป็นความผิดหวังที่รุนแรง และทำให้ความชอบที่สะสมมาก่อนหน้าหล่นฮวบฮาบทันที คนที่ไม่เคยดู Battleship Potemkin มาอาจจะไม่เห็นอะไรนะครับ ถือว่าโชคดีไป แนะนำให้ไปหา Battleship Potemkin มาเปรียบเทียบกับหนังเรื่องนี้เลยนะครับ จะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนแน่ๆ

ด้วยความที่เป็นหนังแนวชวนเชื่อ ผมคิดว่าคงมีหลายคนไม่อยากเสียเวลาดูแน่ๆ มองให้กว้างขึ้นหน่อย จะเห็นมันเป็นหนังแนวสงคราม, การต่อสู้กับคอรัปชั่น, คณะปฏิวัติ, ดราม่าชีวิต ฯ แบบนี้อาจดูน่าสนใจขึ้น(มั้ง) ข้อเสียของหนัง ผมว่าเรื่องราวมันธรรมดาไปนิด ไม่ค่อยมีความน่าสนใจนัก ผู้ชมไม่ต้องคิดวิเคราะห์ลึกมากก็เห็นได้ว่าต้องการสื่ออะไร สำหรับข้อดี มีสิ่งเดียวจริงๆที่ผมบอกได้คือการถ่ายภาพ มันเกินหน้าเกินตาทุกอย่างในหนัง ในแต่ละตอนของหนัง จะต้องมีอย่างน้อย 1 ช็อตที่คุณต้องตั้งคำถามว่า มันถ่ายได้ยังไงว่ะ!

ผมลองวิเคราะห์สไตล์ของ Kalatozov เขาน่าจะมีความเชื่อว่า ‘ภาพคือสิ่งที่ทำให้หนังทรงพลัง’ เพราะ ภาพถือว่ามีอิทธิพลต่อหนังมากที่สุด มากกว่าเสียง มากกว่าการแสดง สิ่งที่ Kalatozov และ Urusevsky ได้สร้างขึ้นมาคือ ภาษาของการถ่ายภาพ ที่ต่อให้เราไม่เข้าใจเนื้อเรื่อง แต่แค่เห็นภาพก็สามารถเข้าใจได้ว่า หนังมีเรื่องราวอะไร ต้องการสื่อถึงอะไร ใน The Crane Are Flying ถือว่างานภาพกับการเล่าเรื่องมีความสมดุลกัน แต่กับ Soy Cuba งานภาพกลับโดดเด่นในระดับที่เหนือมากๆ การเล่าเรื่องกับไม่แข็งแกร่งเท่าที่ควร ทำให้หนังเกิดการไม่สมดุล ผลลัพท์เลยออกมาไม่น่าประทับใจเท่าที่ควร กระนั้นงานภาพใน Soy Cuba ได้ทำในสิ่งที่เป็นที่สุดของการถ่ายภาพในสมัยนั้นจริงๆ ทุกอย่างที่คิดได้มีปรากฏอยู่ในหนัง นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ผมเลือกหนังเรื่องนี้ขึ้นมา เพื่อกล่าวยกย่อง ชื่นชม ไม่ว่าภาพรวมหนังจะห่วยแค่ไหน แต่ภาพสวยเว่อแบบนี้ อดทนดูไปนะครับ

ผมแนะนำหนังเรื่องนี้กับคนทำหนัง ชอบการถ่ายภาพ ชอบแนวสงคราม เสพย์ความสวยงามของภาพที่ถือว่าอยู่ในระดับที่สุดยอดสุดๆ ไม่แนะนำหนังกับคนดูหนังทั่วๆไปและเด็ก จัดเรต 15+ กับแนวคิดและความรุนแรง

คำโปรย : “Soy Cuba หนัง Russia-Cuba กำกับโดย Mikhail Kalatozov หนังอาจจะไม่สนุกเท่าไหร่ แต่มีการถ่ายภาพโดย Sergey Urusevsky อันสวยงาม โดดเด่นและยอดเยี่ยมที่สุดในโลก”
คุณภาพ : THUMB UP
ความชอบ : LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: