
The Cremator (1969)
: Juraj Herz ♥♥♥♥
ชายชาว German อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ยัง Czechoslovakia ประกอบอาชีพสัปเหร่อในฌาปนสถาน (The Cremator) ถูกเพื่อนเก่าชักชวนเข้าร่วมพรรคนาซี ได้รับการปลูกฝังอุดมการณ์ Aryanism คาดเดาไม่ยากเลยว่าหมอนี่จะทำหน้าที่อะไรในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
ในทวีปยุโรปที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ นิยมทำการกลบฝังศพ (burial) ถือเป็นการให้เกียรติผู้ตาย และเผื่ออนาคตจักได้มีโอกาสฟื้นคืนชีพ (resurrection) แบบเดียวกับ Jesus Christ การเผาหรือฌาปนกิจ (cremator) จนหลงเหลือเพียงเถ้ากระดูก จักเหมือนการสาปแช่งให้ตกนรกมอดไหม้ ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดอีกต่อไป … แต่มันก็แล้วแต่ความเชื่อส่วนบุคคลนะครับ ยุคสมัยนี้ชาวคริสต์ที่นิยมการเผาศพก็มากมายถมไป พุทธศาสนาสอนให้ทำการณาปนกิจ เพื่อคนเป็นจักได้ตระหนักถึงความไม่จีรังของชีวิต
The Cremator (1969) ได้รับการโหวตอย่างเอกฉันท์! ภาพยนตร์แนว Horror อันดับหนึ่งของประเทศ Czech Republic แม้เอาจริงๆออกไปทาง Dark Comedy แต่โลงศพ ความตาย เต็มไปด้วยบรรยากาศหลอกหลอน ขนหัวลุกพอง โดยเฉพาะชนชาวยิวที่เคยพานผ่านประสบการณ์ Holocaust คงหัวเราะไม่ออกอย่างแน่แท้
ถ้าคุณสามารถก้าวข้าม Aryanism (เป้าหมายของผกก. Herz ทำออกมาในลักษณะ Dark Comedy ไม่ได้จะขยี้จิตใจชนชาวยิวแต่อย่างใด) จะพบเห็นความงดงามระดับวิจิตรศิลป์ ด้วยสัมผัส German Expressionism โลกหมุนรอบนักแสดงนำ Rudolf Hrušínský ถ่ายทำด้วยเลนส์มุมกว้าง (Wide Angle) หลายครั้งใช้เลนส์ตาปลา (Fisheye) สร้างภาพออกมาบิดๆเบี้ยวๆ ไร้ซึ่ง ‘Establishing Shot’ ร้องเรียงชุดภาพตัดต่อ (Montage) และเพลงประกอบของ Zdeněk Liška ท่วงทำนอง Waltz ผสมเสียงกริ่ง ฆ้อง ระฆัง ทำให้รู้สึกหวาบหวิว สั่นสะท้านทรวงใน … ครบเครื่องขนาดนี้ก็ต้องยกให้เป็นมาสเตอร์พีซ
และอีกสิ่งที่ผมคาดไม่ถึงอย่างสุดๆกับ The Cremator (1969) คือการสอดแทรกแนวคิด Tibetan Buddhism ที่แม้จะบิดเบือนไปค่อนข้างมาก เพื่อนำทางสู่อุดมการณ์ Aryanism … สำหรับชาวพุทธควรต้องรู้จักขบครุ่นคิด ค้นหาข้อเท็จจริง ไม่ปล่อยให้สิ่งที่บิดเบือนสร้างความเข้าใจผิดๆ
Juraj Herz (1934-2018) ผู้กำกับสัญชาติ Slovak เกิดที่ Kežmarok, Czechoslovakia (ปัจจุบันคือประเทศ Slovakia) ในครอบครัวเชื้อสาย Jews ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองถูกส่งไปค่ายกักกัน Ravensbrück สมาชิกครอบครัวส่วนใหญ่เสียชีวิตจาก Holocaust, พอเติบใหญ่ค้นพบความสนใจด้านการถ่ายรูป เข้าเรียนต่อ University of Applied Arts ตามด้วยสาขากำกับหุ่นเชิด Theatre Faculty of the Academy of Performing Arts in Prague (DAMU) รุ่นเดียวกับ Jan Švankmajer จากนั้นทำงานเป็นนักเชิดหุ่นอยู่ยัง Semafor Theatre ก่อนย้ายมา Barrandov Studios
ความที่ Barrandov Studios คือสตูดิโอภาพยนตร์ Herz จึงต้องปรับตัว สังเกต ฝึกฝน ศึกษาเรียนรู้จักการกำกับด้วยตนเอง เริ่มจากเป็นผู้กำกับกองสอง Transport from Paradise (1962) และ The Shop on Main Street (1965), สรรค์สร้างหนังสั้นเรื่องแรก The Junk Shop (1965) ทีแรกจะรวมอยู่ในภาพยนตร์ Pearls of the Deep (1966) แต่ความยาวเกินไปเลยถูกตัดออก, ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Sign of the Cancer (1967)
เกร็ด: Juraj Herz ถือเป็นหนึ่งในผู้กำกับรุ่น Czechoslovak New Wave แต่ไม่ค่อยได้สุงสิงกับ Miloš Forman, Jiří Menzel, Věra Chytilová เพราะไม่ได้ร่ำเรียนภาพยนตร์จาก Film and TV School of the Academy of Performing Arts in Prague (FAMU) และมาจากสายหุ่นเชิด/อนิเมเตอร์ (ยุคสมัยนั้นยังไม่มีการแบ่งแยกสัญชาติ Czech กับ Slovak แต่ปัจจุบันจะถือว่า Herz มาจากฟากฝั่ง Slovak film)
The Cremator (1969) คือภาพยนตร์ขนาดยาวลำดับที่สองของผกก. Herz ดัดแปลงจากนวนิยาย Spalovač mrtvol (1967) แปลว่า Burner of the dead แต่งโดย Ladislav Fuks (1923-94) นักเขียนสัญชาติ Czech ที่แม้ไม่ได้มีเชื้อสาย Jewish แต่เคยพบเห็นทหารนาซีเข่นฆ่าเพื่อนสนิทตนเอง แล้วถูกบีบบังคับให้ทำงานเป็นผู้ดูแลค่ายกักกันแรงงาน Arbeitseinsatz ณ เมือง Hodonín, South Moravian
ผกก. Herz มีความสนใจชื่อนวนิยายเล่มนี้มากๆ แต่อ่านแล้วรู้สึกผิดหวังพอสมควรเพราะเต็มไปด้วยถ้อยคำบรรยาย บทสนทนาเยิ่นเย้อยืดยาว ไม่ค่อยเหมาะกับการดัดแปลงภาพยนตร์สักเท่าไหร่ ถึงอย่างนั้นด้วยความที่สามารถเชื่อมโยงตนเองเข้ากับประสบการณ์ Holocaust เลยติดต่อชักชวน Fuks ใช้เวลาร่วมกันปีครึ่ง ถึงพัฒนาบทหนังแล้วเสร็จ
ถึงอย่างนั้นภาพยนตร์ก็ยังคงใช้บทพูดสนทนาส่วนใหญ่จากหนังสือ แต่มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดบ้างเล็กๆน้อยๆที่ไม่ค่อยสลักสำคัญสักเท่าไหร่ เว้นเพียงตอนจบที่เห็นว่าถ่ายทำไว้แล้วแต่ถูกสตูดิโอตัดออก สาปสูญหาย น่าจะโดนทำลายไปเรียบร้อย, เริ่มต้นซีนถ่ายภาพหน้าร้านกาแฟ มีรถถังของสหภาพโซเวียตกำลังเคลื่อนผ่าน ภายในร้านพนักงานณาปนกิจหญิงสองคนกำลังซุบซิบถึงนายจ้าง Karel Kopfrkingl ว่าปฏิบัติต่อพวกเธอเป็นอย่างดี ฉงนสงสัยว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเขา แล้วทันใดนั้นร้านกาแฟกล่าวก็ถูกระเบิด พังทลาย กลายเป็นเศษซากปรักหักพัง ตัดไปใบหน้าของ Kopfrkingl ยืนอยู่ท่ามกลางฝูงชน ยิ้มกริ่มแฝงความชั่วร้าย
เกร็ด: ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นในช่วง Prague Spring (5 มกราคม – 21 สิงหาคม ค.ศ. 1968) อิสรภาพเล็กๆของชาว Czechoslovak ได้รับการผ่อนคลายสิทธิ เสรีภาพ ข้อจำกัดในการพูดคุย แสดงความคิดเห็น จนกระทั่งวันที่ 20-21 สิงหาคม สหภาพโซเวียตส่งกองทัพทหารเข้ามาปราบปรามการจราจล/ยึดอำนาจในกลุ่มประเทศ Warsaw Pact … นั่นน่าจะคือที่ผู้กำกับจงใจใส่เป็นตอนจบของหนัง (แถมใช้รถถังของสหภาพโซเวียตด้วยนะ) จึงถูกตัดออก สาปสูญหาย น่าจะโดยทำลายไปเรียบร้อย
พื้นหลังทศวรรษ 1930s ณ ประเทศ Czechoslovak, เรื่องราวของสัปเหร่อ Karel Kopfrkingl (รับบทโดย Rudolf Hrušínský) ทำงานฌาปนสถาน ณ กรุง Prague เริ่มต้นพาภรรยาและบุตรชาย-สาว เดินทางไปท่องเที่ยวสวนสัตว์ สถานที่ที่เขาแรกพบเจอภรรยาเมื่อ 17 ปีก่อน
Kopfrkingl เป็นชาวเยอรมันที่อพยพมาอาศัยอยู่ Czechoslovak ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มีความอ่อนไหว โรแมนติก ชอบฟังเพลงคลาสสิก ศรัทธาใน Tibetan Buddhism ถึงขนาดตั้งชื่อภรรยา Lakmé (ชื่อเดิมคือ Marie) ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ เพียงจิบกาแฟรสอ่อนๆ จริงจังต่อหน้าที่การงาน แต่ทั้งหมดล้วนเป็นการเสแสร้งสร้างภาพให้ดูดี แท้จริงแล้วเป็นคนเรื่องมาก เจ้ากี้เจ้าการ จอมบงการ (ชอบจับต้นคอเพื่อบีบบังคับ/นำทางผู้อื่น) ว่างเมื่อไหร่มักแวะเวียนไปหาโสเภณีขาประจำ และเมื่อได้รับการชักชวนเข้าร่วมพรรคนาซี ก็ยินยอมพร้อมเสียสละทุกสิ่งอย่าง เพื่ออุดมการณ์ Aryanism
Rudolf Hrušínský (1920-94) นักแสดงเจ้าของฉายา “the Czech Jean Gabin” เกิดที่ Nová Včelnice (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของ Czech Republic) แล้วมาเติบโตยังกรุง Prague, โตขึ้นสอบเข้าโรงเรียนกฎหมาย แต่ไม่ทันไรก็ลาออกมาทำตามความฝัน โด่งดังจากเป็นนักแสดงละครเวที ภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ Dobrý vojak Švejk (1956), Poslušně hlásím (1957), Capricious Summer (1967), The Cremator (1969), Larks on a String (1969), The Mysterious Castle in the Carpathians (1981)
รับบท Karel Kopfrkingl ชายชาว German ที่แม้อพยพมาปักหลักอาศัย Czechoslovak นานหลายทศวรรษ แต่เมื่อได้รับการกระตุ้นจากเพื่อนร่วมชาติ ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมพรรคนาซี ปลุกตื่นสายเลือด Arayan ถึงขนาดยินยอมเสียสละภรรยาและบุตร (ที่มีเชื้อสาย Jewish) เพื่อความยิ่งใหญ่ของชนชาติพันธุ์ … นั่นคืออาการหลอกหลอน หลงผิด (delusional) คลุ้มบ้าคลั่ง ไม่ต่างจากคนวิกลจริต
Hrušínský เป็นนักแสดงโด่งดังจากบทบาทคอมเมอดี้ พยายามบอกปัดปฏิเสธภาพยนตร์เรื่องนี้หลายครั้งครา เพราะไม่เข้าใจว่าเรื่องราวมีลักษณะ Dark Comedy เช่นไร? และพี่แกมาจากสายละครเวที ไม่ชอบหนังที่มีฉากเยอะๆ ตัดต่อบ่อยครั้ง รู้สึกเหมือนตนเองไม่ได้แสดงความสามารถ (ชื่นชอบการถ่ายทำแบบ Long Take และเทคเดียวผ่าน!) … ผกก. Herz เคยเผื่อใจไว้ถ้าไม่ได้ Hrušínský ก็อาจเลือกนักแสดง Josef Somr
แวบแรกที่ผมเห็นใบหน้ากลมๆ ทรงผมเนี๊ยบๆ (สไตล์ Hitler) ชวนนึกถึงฆาตกรต่อเนื่องของ Peter Lorre ภาพยนตร์ M (1931) และในบทวิจารณ์จาก Criterion เปรียบเทียบภาพลักษณ์ของ Hrušínský ดูละม้ายคล้ายตุ๊กตาขยับปาก (Ventriloquist’s Doll) … นั่นเพราะผกก. Herz สำเร็จการศึกษาคณะหุ่นเชิด เลยไม่น่าแปลกใจที่จะรับอิทธิพลนั้นมา
หนังดำเนินเรื่องโดยมี Karel Kopfrkingl เป็นจุดศูนย์กลาง ผู้ชมจะได้ยินทั้งคำพูดคุยสนทนา เสียงจากความครุ่นคิดเห็น หลายครั้งยังเหมือนหันมาสบตาหน้ากล้อง “Breaking the Fourth Wall” แต่ภาพลักษณ์ภายนอกสุดเนี๊ยบ ซุกซ่อนตรรกะเพี้ยนๆ ทัศนคติบิดเบี้ยว ถ้อยคำลวงล่อหลอก อาการหลงผิด เมื่อผู้ชมสามารถตระหนักข้อเท็จจริง ย่อมรู้สึกวาบหวิว สยิวทรวงใน สัมผัสอันตราย หายนะ และความตาย
ผมไม่รู้ Hrušínský รับรู้ตัวเองหรือเปล่าว่านี่คือบทบาททำให้เขากลายเป็นตำนาน! (เจ้าตัวเหมือนจะไม่ค่อยชอบภาพยนตร์เรื่องนี้สักเท่าไหร่) ดูหลอกหลอน ขนลุกขนพอง น่าหวาดสะพรึงไม่ด้อยไปกว่า Peter Lorre โดยเฉพาะการแสดงสีหน้า ท่าทางสุดเนี๊ยบ ถ้อยคำเล่นลิ้น ล่อหลอก ทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนกำลังถูกดึงดูดเข้าสู่โลกแห่งความตาย ภยันตรายรายล้อมรอบ ไม่มีหนทางไหนจะสามารถดิ้นหลุดพ้น
Vlasta Chramostová (1926-2019) นักแสดงสัญชาติ Czech เกิดที่ Brno (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของ Czech Republic) โตขึ้นร่ำเรียการแสดงยัง Brno Conservatory จากนั้นเข้าร่วมโรงละคร Moravian Theater Olomouc มีผลงานแสดงละครเวที รับงานภาพยนตร์ประปราย อาทิ The Trap (1950), The Cremator (1969), Sekal Has to Die (1998) ฯ
รับบท Lakmé (ชื่อจริงๆ Marie) ภรรยาสุดที่รัก ‘trophy wife’ ของ Karel Kopfrkingl ดูเป็นคนซื่อสัตย์ จริงใจ อุทิศตนให้กับสามี แต่อาจเพราะแต่งงานกันมากว่า 17 ปี ทำให้ลึกๆเธออาจรับรู้ตัวธาตุแท้จริงอีกฝ่าย หลายครั้งแสดงท่าทางหวาดกังวล กลัวว่าเขาจะทำสิ่งมิดีมิร้าย ตอบรับสมัครเข้าร่วมพรรคนาซี
เกร็ด: ชื่อตัวละครนำจากอุปรากรสามองก์ Lakmé (1883) ประพันธ์โดยคีตกวีฝรั่งเศส Léo Delibes … พระลักษมี เป็นเทวีในศาสนาฮินดู เจ้าแห่งความมั่งคั่ง โชคลาภ และความเจริญรุ่งเรือง
แม้บทบาทของ Chramostová อาจดูเหมือนแค่ตัวประกอบ แทบไร้ซึ่งตัวตน เพียงหุ่นเชิดชัดสามี แต่นอกจากรับบทภรรยา Lakmé ยังเล่นเป็นโสเภณีชื่อ Dagmar (อ่านออกเสียงคล้ายๆ Lakmé) ขาประจำที่ Kopfrkingl มาใช้บริการเดือนละครั้ง ซึ่งสามารถตีความถึงปม Madonna–Whore Complex ภรรยาเป็นทั้งแม่พระและโสเภณี ทั้งชื่นชอบ-รังเกียจชัง วัตถุทางเพศสำหรับระบายความใคร่ เทิดทูนไว้ในฐานะบุคคลผู้เสียสละเพื่อครอบครัว … แต่เมื่อเขารับรู้ว่าเธอมีเชื้อสาย Jews จึงกลายเป็นเป้าหมายแรกที่ต้องจัดการ
เมื่อตอนหนังถูกแบนห้ามฉาย Chramostová และสามีตากล้อง Stanislav Milota ถูกเรียกตัวเข้าให้การกับหน่วยงานสืบสวน โดนซักถามเกี่ยวกับฉากภรรยาแขวนคอตาย Milota ตอบแบบประชดประชันว่า “Like it’s your last shot.” ปรากฎว่าทั้งคู่ถูกแบนห้ามยุ่งเกี่ยวกับวงการภาพยนตร์นานถึงสิบปี! นั่นทำให้ Chramostová เกือบจะล้มเลิกความตั้งใจเป็นนักแสดง
ถ่ายภาพโดย Stanislav Milota (1933-2019) ตากล้องสัญชาติ Czech เกิดที่ Prague โตขึ้นระหว่างร่ำเรียน Graphic Design ได้มีโอกาสฝึกงานกับสตูดิโอ Barrandov Studio ช่วงอาสาสมัครทหารเลยถูกส่งไป Czechoslovak Army Film, จากนั้นกลายเป็นตากล้องถ่ายหนังสั้น หลังถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องสุดท้าย The Cremator (1969) ถูกแบนห้ามยุ่งเกี่ยววงการภาพยนตร์นานสิบปี ระหว่างนั้นสูญเสียดวงตาข้างหนึ่ง จึงผันตัวไปทำงานการเมือง ที่ปรึกษาสำนักเลขาธิการปธน. Václav Havel และยังเคยเป็นสมาชิกสภา Council for Radio and Television Broadcasting
ในตอนแรกผกก. Herz ครุ่นคิดจะถ่ายทำด้วยฟีล์มสี แต่เพราะบรรยากาศของหนัง เสื้อผ้าตัวละคร ล้วนมีแต่โทนเข้มๆ สีเทา-ดำ มีเพียงเลือดในฉากฆาตกรรมที่โดดเด่นขึ้นมา ตากล้อง Milota เลยยืนกรานว่าควรใช้ฟีล์มขาว-ดำน่าจะดีกว่า ซึ่งช่วยเสริมความทะมึน อึมครึม กลิ่นอายแห่งความตาย
ด้วยความที่หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมอง/สายตาตัวละคร Karel Kopfrkingl จึงมีการเลือกใช้เลนส์มุมกว้าง (Wide Angle) และบางครั้งเลนส์ตาปลา (Fisheye) เพื่อทำให้ภาพพบเห็น สะท้อนโลกทัศน์บิดๆเบี้ยวๆ ความครุ่นคิดที่เกิดจากอาการหลงผิด (delusional) แต่ผมครุ่นคิดว่าความตั้งใจจริงๆของผู้สร้าง ต้องการให้ใบหน้าของนักแสดงนำ Hrušínský ดูตลกขบขันเสียมากกว่า
เกร็ด: ในประเทศ Czechoslovakia ไม่เคยการใช้เลนส์ตาปลาในสื่อภาพยนตร์มาก่อน นั่นทำให้ตากล้อง Milota ต้องเดินทางไปหาซื้อมาจากกรุง Paris ซึ่งหนังมีช็อตเบียวๆจากการใช้เลนส์ชนิดนี้ค่อนข้างเยอะ จนผกก. Herz รู้สึกว่ามันมากเกินไป ถึงอย่างนั้นกลับได้รับเสียงยกย่องสรรเสริญจากผู้ชม/นักวิจารณ์อย่างถ้วนหน้า
สำหรับคนช่างสังเกตจะพบว่าหนังไม่มี ‘establishing shot’ ภาพมุมกว้างสำหรับนำเข้าสู่ฉากใหม่ๆ นั่นเพราะการดำเนินเรื่องผ่านมุมมอง/สายตาของ Karel Kopfrkingl เลยมีเฉพาะภาพที่ตัวละครจับจ้อง พบเห็น มุ่งเน้นให้เกิดความติดต่อเนื่องลื่นไหล … เช่นเดียวกับเหตุผลที่ไม่ใช้การบันทึกเสียงบนฟีล์ม (sound of film) แต่นำไปพากย์ทับภายหลัง (post-synchronization) เพื่อให้เกิดความติดต่อเนื่องลื่นไหล เหมือนกำลังล่องลอยไปในโลกเบียวๆของตัวละคร
สำหรับสถานที่ที่ใช้ถ่ายทำ Temple of Death ไม่ได้มาจากณาปนกิจสถานเพียงแห่งเดียว แต่มาจากสามสถานที่ จากสามเมือง ประกอบด้วย
- ฉากภายในถ่ายทำยัง Strašnice Crematorium ตั้งอยู่ในกรุง Prague ณาปนกิจสถานแห่งใหญ่ที่สุดในประเทศ Czech Republic เต็มไปด้วยโลงศพ รอคอยเวลานำเข้าเตาเผา
- ในแต่ละวัน ทีมงานพยายามเร่งรีบถ่ายทำให้เสร็จก่อนบ่ายสามโมง เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีการเผาศพจริงๆ
- สุสานเก็บอัฐิ (Columbarium) ไม่ได้มีการระบุสถานที่ เพียงบอกว่าตั้งอยู่ในเมือง Plzeň เท่าที่ผมหาข้อมูลได้คาดว่าน่าจะคือ Columbarium II
- ส่วนฉากภายนอกคือ Pardubice Crematorium ตั้งอยู่ยัง Pardubice ออกแบบโดยสถาปนิก Pavel Janák ในสไตล์ Czech Art Deco (Cubism Style) สร้างขึ้นระหว่างค.ศ. 1921-23 ซึ่งถือเป็นณาปนกิจสถานแห่งแรกของประเทศ ปัจจุบันได้กลายเป็น National Cultural Monument ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี



หนังเริ่มต้นด้วยการ ‘show off’ ตัดสลับไปมาระหว่างมนุษย์ vs. สรรพสัตว์ในกรงขัง เป็นการเปรียบเทียบอย่างตรงไปตรงมาว่า ‘มนุษย์ไม่ต่างจากสัตว์’ ซึ่งจะมีช็อตที่เด็กๆเข้าไปอยู่ในกรง (แต่กลับไม่มีสัตว์ออกมาเดินนอกกรง) สะท้อนมุมมอง/ทัศนคติของ Karel เต็มไปด้วยความเย่อหยิ่ง ทะนงตน หัวสูงส่ง ชอบดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น ใครที่ไม่ใช่ตนเองล้วนต่ำต้อยด้อยกว่า “Cages are for dumb creatures.”

เหตุผลที่หนังเลือกใช้เลนส์มุมกว้าง (Wide Angle) และเลนส์ตาปลา (Fisheye) ไม่ใช่สะท้อนโลกทัศนคติเบียวๆของ Karel แต่เพราะหลากหลายสถานที่ในหนัง โดยเฉพาะณาปนกิจสถาน มีความแออัดคับแคบ เลนส์เหล่านี้จะช่วยบิดเบือนให้ภาพดูกว้างขวาง โอ่งโถง รโหฐาน เว่อวังอลังการเกินจริง … สะท้อนเข้ากับการนิยมสร้างภาพของ Karel แสดงออกภายนอกให้ใครพบเห็นว่าฉันดูดี แต่ตัวตนธาตุแท้จริงนั้นโคตรจะ !@#$%^

Opening Credit เต็มไปด้วยการแยกชิ้นส่วนร่างกายมนุษย์ นำมาตัดแปะ ฉีกขาด วางรางเรียงราย ช่วงท้ายๆก็จะเป็นการขยับเคลื่อนไหวแบบภาพนิ่ง เหล่านี้ไม่ได้สร้างความหวาดสะพรึง ขนลุกของพอง เมื่อเทียบกับเสียงขับร้องโหยหวน แต่ชวนรู้สึกตลกขบขัน ขัดย้อนแย้งระหว่างภาพและเสียง ล้อเลียนความตาย … นี่คือลักษณะของ ‘Dark Comedy’ ตลกร้ายที่สะท้อนมุมมืดของมนุษย์



หลายคนอาจมักคุ้นกับคู่สามี-ภรรยา ที่เข้ามาสร้างความวุ่นๆวายๆ พูดคุยส่งเสียงดัง แสดงความคิดเห็นขัดแย้งกันและกัน เรียกเสียงหัวเราะขบขัน ในสถานการณ์หัวร่อไม่ออกสักเท่าไหร่ แต่จริงๆแล้วยังมีอีกหลายคู่ฮาไม่แพ้กัน หญิงชราเรียกร้องหา coffin meringue (Meringue คือชื่อขนมสวิตและฝรั่งเศส มีความนุ่ม ฟู ดูเหมือนวิป และหวานอย่างมาก) และคู่รักหนุ่ม-สาวที่ไม่มีบทพูด แต่ฝ่ายหญิงชอบทำหน้านิ่งๆ ส่วนฝ่ายชายพยายามโน้มตัวเข้าใกล้
แซว: ใครที่ปรากฎตัวในงานเลี้ยง/สัมมนาครั้งนี้ ก็มักโผล่มาก่อกวน วุ่นๆวายๆ สร้างเสียงหัวเราะขบขันอีกหลายครั้ง


Karel มีการกล่าวอ้างถึงหนังสือของ Alexandra David-Néel (1868-1969) นักเขียน/นักสำรวจหญิงชาว Belgian-French โด่งดังจากการเดินทางไป Lhasa, Tibet เมื่อปี ค.ศ. 1924 ในยุคสมัยที่ชาว Tibetan ยังคงปิดกั้นชาวต่างชาติ แล้วกลับมาเขียนหนังสือ Magic and Mystery in Tibet (1929) ขายดีเทน้ำเทท่า
ผมเห็นแวบๆหน้าปกหนังสือเล่มนี้ขึ้นข้อความ Duše Tibetu แปลว่า Soul of Tibet ซึ่งไม่มีอยู่ในคอลเลคชั่นใดๆของ David-Néel อาจเป็นชื่อแปลภาษา Czech แต่เชื่อว่าคงอ้างอิงถึง Magic and Mystery in Tibet

หนังไม่ได้พูดบอกตรงๆว่านี่คืองานเลี้ยง งานสัมมนา พบปะสังสรรค์อะไร แต่พอจะคาดเดาได้จากคำกล่าวสุนทรพจน์ของ Karel เทศนาถึงความตาย และภาพสองช็อตนี้สังเกตกันออกหรือเปล่าว่า
- ภาพถ่ายจากมุมมองผู้ชม จริงๆผมแยกแยะไม่ออกว่าใช้เลนส์ธรรมดาหรือเลนส์มุมกว้าง (Wide Angle)
- แต่ช็อตถ่ายจากแท่นโพเดี้ยม ตำแหน่งที่ Karel กำลังยืนกล่าวสุนทรพจน์ ภาพมีความบิดๆเบี้ยวๆ โค้งมน ห้องโถงดูกว้างใหญ่เกินจริง เพราะเกิดจากการใช้เลนส์ตาปลา (Fisheye)


ช่วงระหว่างที่ Karel กำลังอ้างอิงข้อความจากหนังสือ จะมีการร้อยเรียงชุดภาพวาด (ก็จากภาพวาดฝาผนังในห้องประชุมแห่งนี้) ซึ่งจะมีความสอดคล้องในแง่มุมหนึ่งกับถ้อยคำที่ได้ยิน อาทิ “Suffering is an evil we must elimated…” พบเห็นภาพการต่อสู้ นักรบควบขี่ม้ากำจัดศัตรู

ชุดภาพที่น่าสนใจมากๆ ผมขอเรียกว่าวิวัฒนาการจากความตาย -> กลายเป็นโครงกระดูก -> ดูเหมือนพระเยซูฟื้นคืนชีพ -> ถือกำเนิดใหม่ -> กลายมาเป็น Karel
สังเกตว่าคำพูด “reincarnated” พอดิบพอดีตรงกับใบหน้า Karel ทำราวกับหมอนี่คือพระผู้ไถ่ที่ลงมาจุติใหม่ ใครรับชมหนังจนจบแล้ว คงตระหนักว่านี่ไม่ใช่สิ่งเกินเลย แต่มันคืออาการหลงผิด พี่แกครุ่นคิดเพ้อเจ้อแบบนี้จริงๆ (ว่าตนเองคือ Dalai Lama กลับชาติมาเกิด)





ณ ร้านขายภาพวาด สิ่งแรกที่ Karel ให้ความสนใจอย่างมากคือภาพนู๊ด หญิงเปลือย ซึ่งจะมีการร้อยเรียงสารพัดชุดภาพ พร้อมใบหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้มกริ่ม แต่ก็มิอาจพูดแสดงความคิดเห็น
โดยภาพแรกที่เลือกผมดูไม่ออกว่าคือ Queen Victoria แห่งสหราชอาณาจักร หรือ Catherine the Great จักรพรรดิดินีแห่งรัสเซีย แต่นัยยะของภาพคือการโค้งคำนับ ก้มศีรษะศิโรราบ ซึ่งสะท้อนอุปนิสัย/สันดานธาตุแท้ของ Karel ชื่นชอบทำตัวหัวสูงกว่าใคร เหมือนจักรพรรดิ/พระราชาผู้ยิ่งใหญ่
ส่วนภาพที่สองถูกบดบังโดย Adolf Hitler และ Alexei Rykov เลือกภาพวาด(ที่ไม่มีใครรับรู้จัก) Emiliano Chamorro (1871-1966) ประธานาธิบดีแห่ง Nicaraqua ระหว่าง ค.ศ. 1917-21 และช่วงสั้นๆในปี ค.ศ. 1926 แล้วเรียกร้องขอให้เอากระดาษปิดชื่อ แล้วแอบอ้างว่าคือ Louis Marin (1871-1960) นักการเมืองชาวฝรั่งเศส เคยเป็นรัฐมนตรีหลากหลายกระทรวง (ที่ก็ถูกหลงลืมตามกาลเวลาเช่นกัน) … ผมมองว่า Karel ไม่ได้สนใจหรอกว่าชายคนนี้คือใคร เคยมีประวัติทำอะไร แค่ต้องการสร้างภาพทำเหมือนว่าสนใจการเมืองเท่านั้นเอง



พนักงานใหม่ Dvořák รับบทโดย Jiří Menzel หลายคนอาจไม่รับรู้จักชายคนนี้ แต่เขาคือสมาชิกคนสำคัญของ Czechoslovak New Wave กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Closely Watched Trains (1966) คว้ารางวัล Oscar: Best Foreign Language Film, Larks on a String (1969) คว้ารางวัล Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin ฯลฯ
แซว: ในกองถ่ายไม่มีใครมีปัญหากับการถ่ายทำในณาปนกิจสถาน ยกเว้นเพียง Jiří Menzel ดูเคร่งเครียด ผะอืดผะอม สูบบุหรี่มวนต่อมวน ปฏิกิริยาแบบเดียวกับตัวละครนี้เป๊ะๆ

Karel พาภรรยาและบุตรมาท่องเที่ยวสวนสนุก นี่เป็นซีเควนซ์ที่แพรวพราวด้วยเทคนิค ลูกเล่น ทั้งการถ่ายภาพ-ตัดต่อ-เพลงประกอบ และโดยเฉพาะปฏิกิริยาสีหน้าของสมาชิกครอบครัวนี้
- ในขณะที่เครื่องเล่นม้าหมุน การแสดงโชว์บนเวที (ล้วนอยู่ภายนอก ท่ามกลางแสงอาทิตย์) สร้างรอยยิ้มให้กับภรรยาและบุตรชายสาว แต่เมื่อตัดมาใบหน้าของ Karel กลับดูบูดบึ้ง ตึงเครียด รู้สึกไม่พึงพอใจสักเท่าไหร่
- แต่เมื่อเข้ามาภายในพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง (ปกคลุมด้วยความมืด) เต็มไปด้วยรูปปั้นฆาตกร ความตาย ใครต่อใครแสดงสีหน้าบึ้งตึง Karel กลับแสยะยิ้มแย้มด้วยความพึงพอใจ


ถัดจากพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง Karel ยังมีโอกาสเข้ามาเยี่ยมชมสถานที่เก็บศพมนุษย์ ล้วนคือบุคคลผู้มีความผิดปกติทางร่างกาย หนึ่งในนั่นคือผู้ป่วยซิฟิลิส (ทางเพศสัมพันธ์) ซึ่งสร้างความหวาดวิตกกังวล จนต้องทำการตรวจเลือด เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ติดโรคจากโสเภณี
แซว: ด้วยความที่ขณะนี้ยังไม่ได้เปิดเผยว่า Karel มีความสัมพันธ์กับโสเภณี ผมละครุ่นคิดอย่างจริงจังว่าเขาอาจเคยร่วมเพศสัมพันธ์กับศพ (Necrophilia) เพราะก่อนหน้านี้ระหว่างเปิดโลงศพหญิงสาวสวย มีการปัดหวีผมให้เธอ แล้วหวีให้กับตนเองต่อ (มันช่างดูมีลับลมคมในยิ่งนัก) ซึ่งนั่นสามารถเป็นเหตุผลของอาการหวาดวิตกกังวล จนต้องตรวจเลือดให้แน่ใจ

ถ้าตรวจเลือดยังไม่ทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงลับลมคมในของ Karel ฉากนี้ที่กำลังจะยื่นมือไปจับต้นคอพนักงานสาวในณาปนกิจสถาน มันคือลักษณะการลวนลาม แต๊ะอั๋ง โดยฝ่ายหญิงไม่อนุญาต เธอจึงส่งเสียงร้อง แสดงความไม่พึงพอใจ … สองช็อตนี้ยังถ่ายทำด้วยเลนส์ตาปลา (Fisheye) ภาพออกมาบิดๆเบี้ยวๆ เพื่อสื่อถึงการกระทำที่ขัดต่อหลักศีลธรรมจรรยา


มันช่างเป็นความต่อเนื่องที่ลื่นไหล ดูน่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก! ระหว่างที่ Karel ออกจากที่ทำงาน เข้าใช้บริการโสเภณี ระหว่างกำลังถอดเสื้อผ้า โดยไม่รู้ตัวตัดกลับมาอพาร์ทเม้นท์ (นำแมลงวันสตั๊ฟติดฝาผนัง) ในห้องนอนกับภรรยา กำลังสวมใส่เสื้อผ้า และเตรียมตัวออกไปทำงาน
อย่างที่บอกไปแล้วว่าโสเภณี Dagmar และภรรยา Lakmé คือนักแสดงคนเดียวกัน Vlasta Chramostová แต่ทั้งสองตัวละครมีความแตกต่างตรงกันข้าม!
- ภรรยา Lakmé มีความสุภาพ สงบเสงี่ยมเจียมตน มัดผมเรียบร้อย แต่งตัวมิดชิด มักสวมใส่ชุดสีอ่อน
- ตรงกันข้ามกับโสเภณี Dagman ดูระริกระรี้แรดร่าน ปล่อยผมฟูป่อง สวมใส่น้อยชิ้น ชุดสีคมเข้ม


เอาจริงๆผมเพิ่งรับรู้ว่า The Cremator (1969) คือภาพยนตร์เรื่องแรกที่นำกล้องเข้าไปถ่ายทำบนสังเวียนมวย ภายในหุ้มเชือก พบเห็นมุมมองด้านข้าง เงยขึ้นจากพื้นด้านล่าง และบางครั้งยังแทนสายตานักมวย (มุมมองบุคคลที่หนึ่ง) กำลังถูกคู่ต่อสู้ออกหมัดรัวๆ … แต่การเอากล้องเข้าไปถ่ายทำในเวที ไม่ได้มีนัยยะอะไรซ่อนเร้นอันลึกล้ำเหมือน Raging Bull (1980)
การที่ Karel นำพาบุตรชายมารับชมการต่อยมวย เพื่อให้เข้าใจสันดานธาตุแท้ของมนุษย์ การต่อสู้ย่อมมีผู้แพ้-ผู้ชนะ ผู้เข้มแข็ง-อ่อนแอกว่า นั่นคือตรรกะของ Nazi Germany เช่นเดียวกัน

ปลาคาร์ปเป็นอาหารยอดนิยมของชาวยิว เพราะถือเป็นเมนูสอดคล้องกับ Kosher Dietary Law (คล้ายๆอาหาร Halal ของศาสนาอิสลาม) และต้องฆ่าด้วยวิธีการที่พระคัมภีร์ไบเบิลกำหนดไว้ด้วยนะ นิยมรับประทานช่วงเทศกาลวันหยุดเทศกาล Shabbat, Rosh Hashanah, ซึ่งในหนังตรงกับค่ำคืน Christmas Eve
วิธีการเตรียมปลาคาร์ปตาม Kosher Dietary Law ผมสอบถามจาก ChatGPT สรุปใจความได้ประมาณนี้
- ตรวจสอบปลาสด: ให้เริ่มด้วยปลาคาร์ปที่ยังมีชีวิต หรือถึงเพิ่งตายได้ไม่นาน พยายามทำให้สดที่สุดเท่าที่จะทำได้
- วิธีการฆ่าปลาที่ได้รับอนุญาต ต้องทำอย่างมีมนุษยธรรมที่สุด! ใช้มีดปลายแหลมตัดแนวตั้งบริเวณต้นคอปลาด้วยความรวดเร็ว ให้ขาดจากระบบประสาทสันหลัง จะทำให้ปลาตายโดยทันที แม้บางครั้งมันอาจยังขยับเคลื่อนไหว แต่จะไม่รับรู้สึกถึงความเจ็บปวดอีกต่อไป
- วิธีเตรียมตาม Kosher Dietary Law เพื่อขจัดเลือดออกจาตัวปลา มีคำเรียกว่า Kashering
- ล้างปลา: ล้างปลาคาบอย่างถี่ให้ใช้น้ำเย็นล้างทั้งในและนอก
- ขูดเกล็ดปลา: ใช้เครื่องขูดเกล็ดปลา หรือมีดเพื่อถอดเกล็ดปลา
- ถอดเนื้อใน: ให้หั่นปลาที่ท้องและถอดเนื้อใน โดยต้องระมัดระวังอย่างมากเพื่อไม่ทำรอยรูให้ถูกกระตุกเป็นสาเหตุที่ทำให้เนื้อมีรสขม จากนั้นล้างด้านในของปลาอย่างละเอียดเพื่อล้างเลือดและสิ่งสกปรกที่เหลือ
- โรยเกลือสไตล์ยิว: โรยเกลือบนผิวทั้งของปลา ทั้งในและนอก มันช่วยดูดเลือดที่เหลือและเป็นส่วนสำคัญของการ Kashering แล้วทิ้งไว้ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง
- นำปลามาล้างอีกครั้ง: หลังจากเกลือได้ล้างปลาด้วยน้ำเย็นอีกครั้งเพื่อถอดเกลือและสิ่งสกปรกที่เหลืออย่างละเอียด

ต้นฉบับนวนิยาย Karel ปลอมตัวเป็นขอทานเพื่อเข้าร่วมงาน Chevra seudah (งานเลี้ยงรับประทานอาหารหลังพิธีศพของชาว Jews) แต่ในหนังเขากลับเดินเข้างานอย่างเปิดเผย (โดยได้รับชักชวนจากหมอ Bettleheim อาศัยอยู่อพาร์ทเม้นท์เดียวกัน) สายตาเต็มไปด้วยความชื่นชม ลุ่มหลงใหล ขณะเดียวกันก็จับจ้องมองรูปภาพวาด ล้วนเกี่ยวกับพิธีศพ ความตายของชาวยิว และภาพสุดท้ายก็คือ Chevra seudah งานเลี้ยงรับประทานอาหารแบบเดียวกับที่กำลังร่วมงานอยู่นี้
ในหนังทำเหมือนว่า Karel มีความสนใจในพิธีศพของชาวยิว แต่แท้จริงแล้วเขาได้รับมอบหมายจาก Reinke ให้ทำการสอดแนม ค้นหาว่ากำลังวางแผนทำอะไรชั่วร้ายอยู่หรือไม่??





ต่อด้วยงานเลี้ยง(น่าจะปีใหม่)ของพรรคนาซี บรรดาสมาชิกต่างดื่มด่ำ เต้นรำ สังสรรค์เฮฮากันอย่างสุดเหวี่ยง โดยไม่สนห่าเหวอะไรทั้งนั้น แตกต่างตรงกันข้ามกับงานเลี้ยงชาวยิว ที่มีความเรียบง่าย งดงาม เป็นไปตามจารีตประเพณี อ้างอิงตามพระคัมภีร์ไบเบิล
สิ่งที่ผมอยากให้สังเกตเพิ่มเติมคือมุมกล้องของทั้งสองซีเควนซ์
- งานเลี้ยงชาวยิว, Karel มักอยู่ท่ามกลางฝูงชน มีการจัดวางองค์ประกอบภาพให้เหมือนมีบางสิ่งอย่างห้อมล้อมรอบ (สื่อถึงกฎกรอบ ขนบประเพณี อ้างอิงพระคัมภีร์ไบเบิล) ไม่พบเห็นพื้นหรือเพดาน มนุษย์ทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียม
- ผิดกับงานเลี้ยงพรรคนาซี, กล้องมักขยับเคลื่อนไหว ส่ายไปส่ายมา ถ่ายมุมเงยติดเพดาน (แสดงถึงการวางตัว หัวสูงส่งกว่าใคร) พบเห็นหลอดไฟละลานตา (ลุ่มหลงใหลในแสงสีสัน) Karel นั่งสนทนากับ Reinke หันหลังให้ฟลอร์เต้นรํา ดื่มด่ำ เมามาย (ขัดต่อวิถีของตนเองที่เคยยึดถือปฏิบัติมาตั้งแต่ตอนต้น) และอยากรับรู้จริงจังว่าเธอกำลังทำอะไรอยู่ใต้โต๊ะ (สื่อถึงการมีลับลมคมใน สิ่งชั่วร้ายของพรรคนาซีที่ถูกปกปิดซุกซ่อนเร้นไว้)


หลังส่งลูกๆไปเข้าค่ายฤดูร้อน Karel ก็ใช้เวลาสองต่อสองกับภรรยา หลายครั้งมุมกล้องแทนสายตา (ด้วยเลนส์ตาปลา) มีความบิดๆเบี้ยวๆ ล่อหลอกเธอให้เข้ามาในห้องน้ำ สบโอกาสก็จัดฉากทำเหมือนผูกคอฆ่าตัวตาย!
ในบริบทของหนัง คอ (Neck) คือสัญลักษณ์การถูกควบคุมครอบงำ Karel ชื่นชอบจับต้นคอใครต่อใคร ทั้งภรรยา บุตรชาย-สาว เพื่อนร่วมงาน (รวมถึงเจ้าแมวเหมียว และวิธีฆ่าปลาคาร์ปอย่างมีมนุษยธรรม) เพื่อเป็นการแสดงอำนาจ กำหนดทิศทาง บีบบังคับให้อีกฝ่ายกระทำสิ่งต่างๆตามใจ การผูกคอตายก็เฉกเช่นเดียวกัน (เป็นการบีบบังคับให้ภรรยาเป็นผู้เสียสละเพื่อผลประโยชน์/ความก้าวหน้าในพรรคนาซี)

ทุกครั้งหลังเสร็จการฆาตกรรม (ภรรยา, บุตรชาย-สาว) Karel จะพบเห็นนิมิต/ภาพตนเองสวมใส่ชุดนักบวชเดินตรงมาหา ดูราวกับวิญญาณองค์ดาไลลามะ (Dalai Lama) เข้ามาแสดงความนอบน้อม ก้มศีรษะ โดยกล้องจะเลื่อนขึ้นสูงแล้วก้มลงมา (ทำเหมือนว่าตนเองคือผู้สูงส่ง/พระผู้ไถ่) พูดบอกว่ากำลังเข้าใกล้เป้าหมาย จะได้ช่วยเหลือ ปลดปล่อยมนุษยชาติจากความทุกข์ทรมาน … นี่คืออาการพบเห็นภาพหลอน เป็นความผิดปกติที่เข้าขั้นวิกฤตแล้วนะครับ

ระหว่างที่ Karel เข้าพบเจอหัวหน้าสาขาพรรคนาซี พูดคุยการทดลองลับๆเกี่ยวกับการรมแก๊ส (Gas Furnaces) สังเกตภาพด้านหลังมีชื่อว่า The Garden of Earthly Delights (1490-1510) ภาพวาดสีน้ำมันบนพานพับไม้โอ๊ค (Triptych) ผลงานชิ้นเอกของ Hieronymus Bosch (1450-1516) จิตรกรชาว Dutch แห่งยุคสมัย Early Netherlandish ปัจจุบันจัดการแสดงอยู่พิพิธภัณฑ์ Museo del Prado ณ กรุง Madrid, Spain ตั้งแต่ปี ค.ศ.1939
สามภาพวาดบนสามบานพับประกอบด้วย The Garden of Eden, The Garden of Earthly Delights และสุดท้าย(ที่นำมาใช้ในหนัง)คือ The Hell แค่ชื่อก็บอกใบ้/อธิบายเหตุการณ์กำลังจะบังเกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งยังมีการตัดต่อร้อยเรียงองค์ประกอบต่างๆ รวมถึงซ้อนภาพชาวยิวที่รู้จักของ Karel นำมาหมุนติ้วๆ (ทำเหมือนให้พวกเขาตกนรกหมกไหม้)


ในขณะที่ฉากฆาตกรรมบุตรชาย จะมีความมึนๆเบลอๆ หลุดโฟกัส (เพราะกำลังถอดเช็ดแว่น) ถ่ายภาพจากระยะไกล (มุมมองบุคคลที่สาม) ก่อนตัดไปพบนอนจมกองเลือด แต่สำหรับบุตรสาวกลับให้กล้องแทนมุมมองสายตา Karel (มุมมองบุคคลที่หนึ่ง) พยายามไล่ล่า ติดตาม เอาเหล็กฟาดศีรษะ เธอกลับสามารถดิ้นหลบหนี ใช้โลงศพเหล่านี้เป็นเกราะกำบัง เอาตัวรอดออกจากณาปนกิจสถานได้สำเร็จ


แม้ว่า Karel จะประสบความล้มเหลวในการเข่นฆาตกรรมบุตรสาว แต่เขาก็ยังได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี (จากวิญญาณ Dalai Lama) ก้าวออกจากณาปนกิจสถาน (ด้วยเลนส์มุมกว้าง) สู่โลกภายนอกที่ในตอนแรกมีแสงสว่างเจิดจร้า แล้วจู่ๆฝนตกพรำลงมา ราวกับมรสุมลูกใหญ่กำลังถาโถมเข้าใส่โลกใบนี้ (หายนะจากสงครามโลกครั้งที่สอง)
เกร็ด: Rinpoche เป็นคำยกย่องในภาษาทิเบต ส่วนผสมของ rin (คุณค่า), po (คำเชื่อม), chen (ใหญ่), มีความหมายตรงตัวว่า “รัตนะ” หรือ “สิ่งอันมีค่า” ใช้เรียกบุคคลหรือวัตถุที่ได้รับการยกย่องอย่างสูง, บุคคลที่เชื่อว่าอวตารมาเกิด, ผู้อาวุโส, เป็นที่เคารพ, เป็นที่รู้จัก, เป็นผู้แก่วิชา, เป็นภิกษุผู้สำเร็จในการศึกษาธรรม, เป็นผู้เผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้า, นอกจากนี้ยังเป็นคำเรียกเจ้าอาวาสในพุทธารามแบบทิเบตด้วย

หญิงสาวผมยาวดำ สวมชุดสีดำ พบเห็นอยู่แทบทุกแห่งหน แต่ไม่เคยแสดงออกทางอารมณ์ เข้ามาพูดคุยสนทนากับใคร ได้รับการตีความว่าคือสัญลักษณ์ยมทูต, ความตาย คล้ายๆแบบ The Seventh Seal (1957) ล่องลอยอยู่ในจิตใต้สำนึกของ Karel เหมือนคอยพยายามตักเตือนอะไรๆหลายสิ่งอย่าง … แต่เขาก็ไม่เคยให้ความสนใจอะไรเธอเลย
หรืออาจตีความว่าเธอคือภาพหลอน (เพราะตัวละครก็มีจิตไม่ปกติสักเท่าไหร่) หรือวิญญาณอาฆาตที่คอยติดตามรังควาญ Karel คงเคยทำมิดีมิร้าย แล้วพยายามปกปิดซุกซ่อนเร้นไว้ … เอาว่าเป็นตัวละครที่เปิดกว้างให้ผู้ชมขบครุ่นคิดได้อย่างอิสรภาพ





ภาพสุดท้ายของหนัง Karel ขึ้นรถออกเดินทาง มองออกไปนอกกระจกพบเห็นภาพซ้อนพระราชวังโปตาลา (Potala Palace) ตั้งอยู่ Lhasa, เมืองหลวงของเขตปกครองตนเอง Tibet เคยเป็นสถานที่ประทับฤดูหนาวขององค์ดาไลลามะตั้งแต่ ค.ศ. 1649-1959 ปัจจุบันถูกแปรสภาพมาเป็นพิพิธภัณฑ์ และได้รับสถานะมรดกโลก ค.ศ. 1994
พระราชวังโปตาลา ถือเป็นสถานที่ในอุดมคติของ Karel (พบเห็นบนหน้าปกหนังสือของ Alexandra David-Néel) ราวกับสรวงสวรรค์ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ จิตวิญญาณมนุษย์ได้รับการปลดปล่อย แม้ภารกิจล่าสุดของเขาจะล้มเหลว (ไม่สามารถฆาตกรรมบุตรสาว) แต่หลังจากนี้ถือว่าพร้อมแล้วจะทำการเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพื่อให้การช่วยเหลือมนุษยชาติ … นี่ถือว่ากู่ไม่กลับแล้วนะครับ
For the nation. For humankind. No one will suffer. I shall save them all. I shall save them all. The whole world.
Karel Kopfrkingl

ตัดต่อโดย Jaromír Janáček,
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมอง/สายตาของ Karel Kopfrkingl ในโลกที่มีความบิดๆเบี้ยวๆ ได้ยินทั้งคำพูดคุยสนทนา รวมถึงเสียงจากความครุ่นคิดเห็น (จะมองว่าพูดคุยกับตนเอง หรือสนทนากับผู้ชม “Breaking the Fourth Wall” ก็ได้เช่นกัน) เริ่มต้นจากวันครบรอบแต่งงาน 17 ปี ได้รับชักชวนเข้าร่วมพรรคนาซี จากนั้นทุกสิ่งอย่างก็พลิกกลับตารปัตรจากที่เคยเป็นมา
- อารัมบท ความรัก 17 ปี
- Karel นำพาครอบครัวไปท่องเที่ยวสวนสัตว์ หวนระลึกความหลังพบเจอภรรยาเมื่อ 17 ปีก่อน
- งานเลี้ยงสำหรับผู้สนใจเกี่ยวกับพิธีศพ ชีวิตหลังความตาย Karel กล่าวสุนทรพจน์โดยอ้างอิงคำสอน Tibetan Buddhism
- Karel ชักชวนเพื่อนเก่า Reinke เคยร่วมสู้รบสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มาร่วมรับประทานอาหารที่บ้าน ระหว่างพูดคุยสนทนา ได้รับชักชวนให้เข้าร่วมพรรคนาซี
- อาชีพสัปเหร่อ
- Karel ให้คำแนะนำพนักงานใหม่ Dvořák พาทัวร์ณาปนกิจสถาน Temple of Death
- ภายนอก Karel อาจดูเป็นคนซื่อตรง จริงจัง แต่แท้จริงแล้วเป็นจอมบงการ เคยลวนลามเพื่อนร่วมงาน ดูถูกเหยียดหยามชนชาวยิว และทุกเดือนจะแวะเที่ยวซ่องโสเภณี
- พาภรรยาและลูกๆไปเที่ยวงานวัด รับชมพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง และพาบุตรชายรับชมการชกต่อมวย
- ค่ำคืน Christmas Eve ก่อนรับประทานปลาคาร์ป Karel ได้รับการชักชวนอีกครั้งจาก Reinke ให้เข้าร่วมพรรคนาซี (โดยนำเอารูปภาพสาวเปลือยมาหลอกล่อ)
- Karel เข้าร่วมพรรคนาซี
- หลังจาก Karel ตอบตกลงเข้าร่วมพรรคนาซี เข้าร่วมงานเลี้ยงปาร์ตี้ ปลดปล่อยชีวิตอย่างสุดเหวี่ยง
- Reinke แจ้งข่าวกับ Karel บอกว่าภรรยาของเขาเป็นชนชาวยิว จำเป็นต้องทำการเสียสละ
- หลังจากส่งลูกๆไปเข้าค่ายฤดูร้อน ทำการฆาตกรรมแขวนคอภรรยา
- Karel ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการประจำณาปนกิจสถาน แทนหัวหน้าคนก่อนที่ถูกจับกุมตัว
- ต่อมาได้รับคำแนะนำให้กำจัดบุตรทั้งสอง เพราะต่างมีเลือดของชาวยิว นำพาบุตรชายไปทัวร์ณาปนกิจสถาน แล้วจัดการ…
- ท้ายสุดคือบุตรสาว พาไปทัวร์ณาปนกิจสถาน แล้วจัดการ…
ลีลาการตัดต่อมีความโฉบเฉี่ยว ฉวัดเฉวียน รวดเร็วฉับไว เต็มไปด้วยการร้อยเรียงชุดภาพ ‘Montage’ ตั้งแต่อารัมบทก็สามารถสร้างความประทับใจ ด้วยการตัดสลับไปมาระหว่างมนุษย์-สรรพสัตว์ (ลักษณะดังกล่าวคือการเปรียบเทียบ มนุษย์ไม่ต่างอะไรจากสัตว์)
ซึ่งสิ่งที่ผมรู้สึกอึ้งทึ่ง ประทับใจมากสุด เนื่องจากหนังไม่มี ‘establishing shot’ การเปลี่ยนฉากหนึ่งสู่อีกฉากหนึ่ง จึงดูราวกับมายากล เต็มไปด้วยความพิศวง ครุ่นคิดคาดไม่ถึง เพื่อให้ความติดต่อเนื่องลื่นไหล เหมือนกำลังล่องลอยไปในโลกเบียวๆของตัวละคร
เพลงประกอบโดย Zdeněk Liška (1922-83) สัญชาติ Czech เกิดที่ Smečno, Bohemia ทั้งปูและบิดาต่างเป็นนักดนตรีสมัครเล่น ทำให้วัยเด็กมีโอกาสฝึกฝนไวโอลิน แอคคอร์เดียน แต่งเพลงแรกสมัยเรียนมัธยม จากนั้นเข้าศึกษาต่อ Prague Conservatory ทำงานเป็นวาทยากร ครูสอนดนตรี ก่อนเข้าร่วม Zlín Film Studios กลายเป็นขาประจำผู้กำกับอนิเมชั่น Jan Švankmajer, ผลงานเด่นๆ อาทิ The Fabulous Baron Munchausen (1962), The Shop on Main Street (1965), Marketa Lazarová (1967), The Valley of the Bees (1968), The Cremator (1969), Fruit of Paradise (1970), Shadows of a Hot Summer (1977) ฯ
ด้วยความที่หนังเต็มไปด้วยบรรยากาศหลอกหลอน ขนหัวลุกพอง ผกก. Herz แจ้งกับ Liška ว่าแค่นั้นก็น่าหวาดสะพรึงมากเพียงพอแล้ว ต้องการเพลงประกอบที่มีความไพเราะ “melodious and lovely” ท่วงทำนองโรแมนติก ดนตรีคลาสสิก กลิ่นอาย Nocturne (บทเพลงได้แรงบันดาลใจจากยามค่ำคืน) ให้สอดคล้องรสนิยมเพลงของ Karel Kopfrkingl ชื่นชอบ Johann Strauss II, Antonín Dvořák, Camille Saint-Saëns และ Gustav Mahler
ผมมีความประทับใจงานเพลงของ Liška มาจากภาพยนตร์ Marketa Lazarová (1967) เลยค่อนข้างคาดหวังไม่น้อยกับ The Cremator (1969) ซึ่งแค่บทเพลง Main Theme ก็ทำเอาผมแทบน้ำตาคลอเบ้า เสียงร้องโหยหวนในท่วงทำนอง Waltz สร้างความวาบหวิว สยิวกาย สั่นสะท้านทรวงใน ดนตรีอาจฟังดูขัดแย้ง (Waltz คือท่วงทำนองสนุกสนาน เหมาะสำหรับการเต้นรำ ไม่ใช่กับหนัง Horror) เช่นเดียวกับภาพ Opening Credit มีความขี้เล่น ซุกซน นำภาพอวัยวะมาฉีกกระชาก ตัดแปะ แต่นั่นคือความตลกร้าย ‘Dark Comedy’ เอาหายนะมาล้อเลียนได้อย่างเจ็บแสบซ่าน
แต่ถึงผกก. Herz จะเรียกร้องขอเพลงประกอบที่มีความไพเราะเสนาะหู แต่บทเพลงส่วนใหญ่ของ Liška ล้วนมีความหลอกหลอน ขนหัวลุกพอง ทั้งยังใส่เสียงกริ่ง ฆ้อง ระฆัง (แอบชวนให้นึกถึง Black Narcissus (1947)) เพื่อสร้างกลิ่นอาย Tibetan Buddhism มีความลึกลับ ต้องมนต์ขลัง 35:12 Running Zina/The Stars Are Above Us
น่าเสียดายที่ผมหาได้เพลงคลิปรวมอัลบัม Soundtrack เลยไม่สามารถลงรายละเอียดบทเพลงต่างๆ แต่ไฮไลท์ที่อยากแนะนำให้ฟังกันคือ 13:06 Waxworks/The Baths Of Franzensbad ดังขึ้นฉากพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง ช่างมีความขี้เล่น ซุกซน เสียงหยดน้ำเต็มไปด้วยความฉงน นำเสนอโลกอันบิดเบี้ยว ท่วงทำนองผิดๆเพี้ยนๆๆ แต่กลับเต็มไปด้วยความน่าพิศวงหลงใหล
The Cremator (1969) มองมุมหนึ่งคือการศึกษา ‘character study’ ตัวละคร Karel Kopfrkingl ชายผู้มีความเพรียบพร้อม การงานมั่นคง ครอบครัวอยู่ร่วมกันพร้อมหน้า แต่หลังจากถูกเพื่อนเก่าชักชวนเข้าร่วมพรรคนาซี ได้รับการปลูกฝังอุดมการณ์ Aryanism จึงเกิดอาการลุ่มหลงผิด (delusional) ครุ่นคิดว่าเชื้อสายเลือด German ยิ่งใหญ่เหนือใคร ได้รับมอบหมายให้กำจัดพวกชนชาว Jews ยินยอมเสียสละไม่เว้นแม้ภรรยา บุตรชาย-สาว … นี่มันเกิดความผิดปกติ โลกทัศนคติบิดเบี้ยวเช่นนี้ได้อย่างไรกัน?
Suffering is an evil we must eliminate or at least alleviate. The sooner a person returns to dust, the sooner that person will be liberated, transformed enlightened reincarnated.
จากหนังสือของ Alexandra David-Néel
ยุคสมัยนั้นคงไม่มีใครตอบได้ว่า ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับ Karel Kopfrkingl รวมถึง Nazi Germany มาจากสาเหตุผลใด? อิทธิพลสภาพแวดล้อม? บรรยากาศสุดขั้วทางการเมือง? ชีวิตที่สมบูรณ์เพรียบพร้อมเกินไป? แต่สำหรับผู้ชมสมัยใหม่ย่อมตระหนักว่ามันเป็นเรื่องน่าหัวร่อ ตลกขบขัน การอ้างเชื้อสายเลือด Arayan สูงส่งกว่าใคร แม้งโคตรเพ้อเจ้อไร้สาระ หลงเชื่อกันไปได้อย่างไร???
ความตั้งใจของนักเขียน Ladislav Fuks และผู้กำกับ Juraj Herz ไม่ได้ต้องการจะขยี้ความรู้สึกชาวยิวที่เคยผ่านพานเหตุการณ์ Holocaust แต่พยายามแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมบิดๆเบี้ยวๆ บ้าๆบอๆ วิกลจริต สูญเสียสติแตกของพวก German ทำการดูถูกเหยียดหยามชนชาว Arayan ว่ามีความโง่งม หลงผิด ไม่ต่างหุ่นเชิดที่ถูกชักใยโดยผู้นำ Adolf Hitler เข่นฆ่าได้กระทั่งภรรยา บุตรชาย-สาวของตนเอง ชาติพันธุ์นี้ช่างไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์ … การนำเสนอลักษณะนี้แม้งก็งี่เง่าพอๆกัน มันคือตรรกะเพี้ยนๆของชาวยุโรป Nazi ดูถูกชาว Jews ว่าต่ำตม <> คนเชื้อสาย Jewish ก็หัวร่อกับโลกทัศน์บิดๆเบี้ยวๆของพวก German
การบิดเบือนคำสอน Tibetan Buddhism ทำให้ผมรู้สึกหงุดหงิดใจอยู่พอสมควร มันเป็นการจับแพะชนแกะที่มั่วซั่ว ไม่ได้ทำการศึกษาอย่างถ่องแท้ ซึ่งอาจทำให้ชาวตะวันตกมีทัศนคติแย่ๆต่อพุทธศาสนา … จริงๆมันก็ย่ำแย่อยู่แล้วละ ฟากฝั่งนั้นเชื่อว่าการได้ครอบครองเป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่างคือจุดสูงสุด แต่ฟากฝั่งตะวันออกเสี้ยมสอนให้รู้จักปล่อยวางจากทุกสรรพสิ่ง มันเลยไม่มีทางที่สองขั้วปรัชญาจะสามารถเข้าใจกันและกัน
“Suffering is an evil we must eliminate or at least alleviate.” สิ่งชั่วร้ายที่เราควรกำจัดไม่ใช่คน-สัตว์-สิ่งของ หรือชนชาวยิว แต่คือกิเลสตัณหาที่อยู่ภายในจิตใจ ความอยากได้อยากมี อยากครอบครองเป็นเจ้าของ โลภะ-โทสะ-โมหะ เมื่อรู้จักควบคุมความต้องการ จะเริ่มสามารถปล่อยวางสรรพสิ่งอย่าง
“The sooner a person returns to dust, the sooner that person will be liberated, transformed enlightened reincarnated.” ความตายคือการแปรสภาพจากร่างกายสู่จิตวิญญาณ มันไม่ได้หมายความว่าตายแล้วจะบรรลุหลุดพ้น หมดทุกข์หมดโศก ก้าวออกจากวังวนวัฏฏะสังสาร เมื่อเป็นวิญญาณก็ยังคงเวียนว่ายตายเกิด บ้างไปสวรรค์ บ้างตกนรกหมกไหม้ ชดใช้หนี้กรรมเคยกระทำไว้
“May all beings be liberated from the suffering that may await them.” การปลดปล่อยที่แท้จริงนั้นไม่ได้มาจากการเข่นฆ่า ณาปนกิจ ทำให้หมดสิ้นความทุกข์ทรมานทางโลก แต่คือการสอนผู้อื่นให้พบเห็นทางธรรม เข้าถึงสัจธรรมความจริงได้ด้วยตนเอง สามารถปล่อยละวางจากความหมกมุ่นยึดติด และเมื่อไหร่สามารถเข้าถึงธรรมขั้นสูง บรรลุหลุดพ้น นั่นต่างหากคืออิสรภาพอย่างแท้จริง!
เอาว่า The Cremator (1969) รับชมแบบเพลินๆ ‘Dark Comedy’ ที่พยายามปู้ยี้ปู้ยำ Nazi Germany ไม่ได้มุ่งเน้นเนื้อหาสาระอะไร ขอแค่ผู้ชมรู้สึกบันเทิงเริงใจ หลอกหลอน สั่นสยอง หวาดสะพรึงกลัว ช่วงเวลาแห่งหายนะได้พานผ่านไปแล้ว ไม่มีประโยชน์อันใดที่ยังจะหมกมุ่นยึดติดอยู่กับความสูญเสีย … ทั้งนักเขียน Ladislav Fuks และผู้กำกับ Juraj Herz ต่างก็เคยพานผ่านค่ายกักกันนาซี แต่กลับยังหาญกล้าเขียนนวนิยาย สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ นั่นเพราะพวกเขาได้ก้าวผ่านโศกนาฎกรรม หัวเราะ ร้องไห้ และสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ (เผาทำลายอดีตเบื้องหลัง และถือกำเนิดขึ้นใหม่จากเศษเถ้าถ่าน)
เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ใน Czechoslovak วันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1969 ได้เสียงตอบรับจากทั้งผู้ชมและนักวิจารณ์ดีล้นหลาม สามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีจาก Czech Film and Television Union เลยได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film น่าเสียดายไม่ผ่านเข้ารอบใดๆ
ทั้งๆเสียงตอบรับดีล้นหลาม แต่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1973 หนังกลับถูกนำไปตีความว่าจุดเริ่มต้น Holocaust เกิดจากณาปนกิจสถาน/สิ่งประดิษฐ์ของชาว Czech (ทั้งๆไม่ได้เกี่ยวอะไรกันเลย) ผลลัพท์ถูกแบนห้ามฉายในประเทศ จนกระทั่งสหภาพโซเวียตล่มสลายถึงสามารถนำออกฉายใหม่ (Re-Release) เมื่อปี ค.ศ. 1990
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ คุณภาพ 4K โดย Karlovy Vary International Film Festival ร่วมทุนกับ Narodni filmovy archiv และ Czech Film Fund เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2019, ฉบับ Blu-Ray ของค่าย Criterion นอกจากสารคดีเบื้องหลังงานสร้าง ยังจะมีหนังสั้นเรื่องแรก The Junk Shop (1965) ของผกก. Herz ทำการแสกนคุณภาพ HD ให้รับชมด้วยนะครับ
The Cremator (1969) เป็นภาพยนตร์ที่ค้างอยู่ในรายการอยากรับชมมาหลายปี แค่ได้ยินชื่อก็เกิดความยั่วเย้ายวนใจอะไรบางอย่าง พอมีโอกาสรับชมแค่อารัมบทก็ทำให้ผมเกิดความชื่นชอบประทับใจ ครึ่งเรื่องผ่านไปรู้สึกขนลุกขนพอง ภาพรวมถือว่างดงาม วิจิตรศิลป์ สมควรค่าการรอคอย … เสียอย่างเดียวมันไม่ค่อยมีเนื้อหาสาระอะไรสักเท่าไหร่
ความน่าประทับใจโคตรๆของ The Cremator (1969) ทำให้ผมค่อนข้างคาดหวังกับผลงานถัดๆไปของผกก. Herz เรื่อง Beauty and the Beast (1978) ฉบับ Fantasy Horror เหมาะแก่การรับชมในช่วงสัปดาห์ Halloween อย่างยิ่งนัก!
จัดเรต 18+ กับบรรยากาศชวนขนหัวลุก ความตาย และทัศนคติบิดๆเบี้ยวๆของนาซี
Leave a Reply