Spartacus (1960) : Stanley Kubrick ♥♥♥
เพราะความที่รู้จักกับ Kirk Douglas ทำให้ Stanley Kubrick ยอมมาเป็นมือปืนรับจ้าง กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้, ว่าไปก็น่าเสียดาย ถ้า Kubrick ได้ควบคุมงานสร้างเองทั้งหมด ผลลัพท์ออกมาคงยิ่งใหญ่กว่านี้ นี่มันเหมือนเขาตกเป็นทาสของสตูดิโอ ถูกบังคับให้กลายเป็น Gladiator เหมือน Spartacus ไม่มีผิด
หลังจากหนังเรื่องนี้ ความสัมพันธ์ระหว่าง Stanley Kubrick กับ Kirk Douglas ก็ขาดสะบั้นลง เพราะความไม่ลงรอยในทิศทางของหนัง (ที่ Kubrick เป็นแค่เหมือนหุ่นเชิด มีหน้าที่แค่กำกับ ไม่ได้ควบคุมงานสร้างทั้งหมด) และไม่เคยได้ร่วมงานกันอีก
เชื่อว่าสักครั้งหนึ่งในชีวิต คุณต้องเคยรู้จัก ‘นักรบ Gladiator’ เกมกีฬาของชนชาติโรมัน ที่นำทาสมนุษย์มาต่อสู้ เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ในสนามประลองเวที และมีผู้ชมเชียร์มากมาย, จริงอยู่กีฬาประเภทนี้ให้ความบันเทิง ระดับอะดรีนาลีนพุ่งกระฉูด บาดแผล คราบเลือด ความเจ็บปวดทรมานของเหล่านักรบ มันกระชากใจผู้ชม ให้รู้สึกมีชีวิตชีวา แต่ขอเถอะครับ ถ้าคุณดูการต่อสู้บ้าเลือดนี้ลักษณะแล้วชื่นชอบหลงใหล ลองสำรวจจิตใจตัวเองดู ว่ายังมีความเป็นมนุษย์อยู่หรือเปล่า
Gladiator ถือเป็นกีฬาสุดป่าเถื่อน ของคนที่คิดว่าตัวเองสูงศักดิ์ใหญ่ เป็นความบันเทิง สุขที่ได้เห็นความเป็นความตายของผู้อื่น สิ่งที่ต่อสู้กันในสนามนั้นไม่ใช่มนุษย์ แต่คือข้าทาสที่ไม่มีค่าอะไร ใช้เงินทองซื้อหาครอบครองได้ เสมือนสัตว์เลี้ยงเดรัจฉาน, นี่คือความคิดของคนเมื่อหลายพันปีก่อน ที่ว่ามนุษย์มิได้เกิดมาเท่าเทียมกัน ถูกแบ่งแยกด้วยชาติกำเนิด ความรู้ ฐานะ ทรงภูมิ ฯ ถ้าคุณเกิดเป็นทาสในสมัยนั้น ชีวิตก็ไร้ค่าโดยสิ้นเชิง ความตายคือหนทางเดียวสู่อิสระภาพ แต่ถ้าครั้งหนึ่งคุณเคยเป็นคนเชียร์อยู่บนอัฒจรรย์ แล้ววันดีคืนดี ต้องลงมาอยู่ในสนามประลอง เมื่อนั้นคงเริ่มประจักษ์กับตนเอง นี่ไม่ใช่กีฬาของมนุษยชาติ แต่คือสัตว์เดรัจฉานที่เอาสันดานความสุขของตนเป็นที่ตั้ง
ผมไม่เคยชอบหนังเกี่ยวกับ Gladiator เลยสักเรื่อง ยิ่งซีรีย์ Spartacus ที่โคตรบ้าเลือด ทนดูก็รู้สึกขยะแขยง ผู้สร้างคงมีความรุนแรง กระหายเลือดในจิตใจค่อนข้างมาก ถึงสามารถสร้างหนังลักษณะนี้ออกมาได้ และคนที่รับชมแล้วเกิดความชื่นชอบ หลงใหล ยกย่อง เชิดชู … ก็ไม่รู้สิครับ รสนิยมของคุณมันคง S & M ที่เห็นความเจ็บปวดของคนอื่นคือความสุข บันเทิงเริงรมณ์ของตนเอง, ถึงจะเป็นแค่หนัง แต่สำหรับผมมันสมจริงมากๆ เวลาดูหนังคุณลองเอาจิตใจใส่ลงไปในตัวละครนั้นๆ หรือตั้งคำถาม ถ้าสมมติฉันเกิดอยู่ในเหตุการณ์ลักษณะนั้น จะคิดรู้สึกอย่างไร แล้วคุณจะรับรู้ความเจ็บปวดทรมานของพวกเขาได้ทันที
จุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้ เกิดจากความผิดหวังของ Kirk Douglas ที่พลาดโอกาส ไม่ได้แสดงนำในหนังเรื่อง Ben-Hur (1959) ของผู้กำกับ William Wyler โปรดิวเซอร์ Edward Lewis จึงได้ส่งนิยาย Spartacus ให้ Douglas อ่านแล้วเกิดความชื่นชอบ เพราะใจความของหนังเกี่ยวกับ ชายคนหนึ่งท้าทาย Roman Empire ที่ยิ่งใหญ่, จึงตัดสินซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงภาพยนตร์ ด้วยเงินทุนของตนเองในทันที ต่อมา Universal Studios จึงอาสาออกทุนสร้างหนังให้
Spartacus เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ แต่งโดย Howard Fast ตีพิมพ์ด้วยตนเองในปี 1951 เรื่องราวของทาสชาวโรมันชื่อ Spartacus ที่แสวงหาอิสรภาพให้กับตนเอง, ได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์จริง การลุกฮือขึ้นก่อนกบฏของทาสชาวโรมัน ในช่วง Third Servile War (หรือ Gladiator War, หรือ War of Spartacus), ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์โดย Dalton Trumbo ที่ขณะนั้นเป็น 1 ใน 10 ผู้ถูก Blacklisted ของ Hollywood (เพราะเป็นนักเขียนที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์)
เกร็ด: Howard Fast ก็ติด Blacklisted ของอเมริกาเช่นกันนะครับ เขาเลยต้องใช้ทุนตัวเองเพื่อตีพิมพ์นิยาย ไม่พึ่งสำนักพิมพ์ใดๆ
เกร็ด 2: ใครอยากรู้เรื่องราวของ Dalton Trumbo ลองหา Trumbo (2015) มาดูนะครับ จะได้รู้ว่าเขาถูก Blacklisted ยังไง และหนังเรื่อง Spartacus ถือว่าเป็นการนำชื่อเครดิตของเขากลับมาสู่วงโคจร Hollywood อีกครั้ง
สำหรับผู้กำกับที่ Douglas คาดหวังไว้ คนแรกคือ David Lean ที่ขณะนั้นเพิ่งเสร็จจาก The Bridge on the River Kwai (1957) และกำลังมองหาโปรเจคใหม่ แต่ก็บอกปัดไป (แล้วไปสร้าง Lawrence of Arabia) ถัดมาเป็น Anthony Mann ที่มีชื่อเสียงจากหนังแนว Western เรื่อง Winchester ’73 (1950) และ The Naked Spur (1953) แต่เปิดกล้องถ่ายทำได้สัปดาห์เดียวก็ถูก Douglas ไล่ออก เพราะ ‘เหมือนว่าเขาจะควบคุมงานสร้างไม่ได้ (He seemed scared of the scope of the picture.) แต่หลังจากนั้น Mann ก็พิสูจน์ว่าเขาทำหนัง Epic ได้ คือสร้าง El Cid (1961) ประสบความสำเร็จ
Stanley Kubrick ในวัย 30 ที่ Kirk Douglas เคยร่วมงานกันมาใน Paths of Glory ได้ถูกติดต่อให้มาเป็นผู้กำกับแทน, ด้วยทุนสร้างสูงถึง $12 ล้านเหรียญ (เทียบกับปี 2015 =$98 ล้านเหรียญ) เทียบกับหนังเรื่องก่อนที่ใช้ทุนเพียง $935,000 เหรียญ นี่เป็นการพิสูจน์ตัวเองอย่างมาก ว่า Kubrick จะสามารถคุมงานสร้างที่ใหญ่โตได้หรือเปล่า, แต่สิ่งที่เขาทำได้ในหนังเรื่องนี้ ไม่ถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ทั้งหมดของเขา เพราะโปรดักชั่นได้เริ่มต้นไปหมดแล้ว ตนเองเป็นเหมือนมือปืนรับจ้าง มีหน้าที่กำกับภาพยนตร์/การแสดง เท่านั้น
นำแสดงโดย Kirk Douglas รับบท Spartacus, เทียบกับหนังเรื่องอื่นแล้ว Douglas ไม่ได้โชว์ฝีมือการแสดงที่น่าจดจำนัก นอกจากความทุ่มเท เห็นว่าไปตากแดดจนผิวไหม้เกรียม, อดข้าวอดน้ำให้ผอมกะหร่อง จนหมดสภาพความหล่อเหลา เพื่อรับบทนี้, ก็ต้องยอมรับว่าพี่แกทุ่มเท ผลลัพท์คงเป็นที่พอใจอย่างมาก แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป การแสดงของพี่แก ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงเสียเท่าไหร่
Laurence Olivier รับบท Crassus ที่ต้นเรื่องเป็นนายพลและนักการเมืองของโรมัน แต่ต่อมาได้กลายเป็นผู้นำเผด็จการ (Dictatorship) มีอำนาจสูงสุดของกรุงโรม นำกองกำลังทหารโรมัน เข้าสู้รบกับเหล่ากบฎทาส
หนังเรื่องนี้สร้างให้ Crassus ตรงข้ามกับ Spartacus แทบทุกอย่าง เป็นศัตรู คู่แข่ง ทั้งทางกายและหัวใจ, ทั้งสองตกหลุมรักหญิงสาวคนเดียวกัน Crassus พยายามใช้อำนาจทางกายยึดครองเธอ แต่ Spartacus เป็นผู้เอาชนะจิตใจเธอได้, ถึง Crassus จะเป็นผู้ชนะในสงครามตอนจบ แต่ Spartacus ถือว่าชนะใจทาสทุกคนและได้กลายเป็นตำนาน
Jean Simmons รับบท Varinia หญิงสาวที่คนรักของ Spartacus ที่ Crassus ก็หมายปองเธออยู่ และพยายามใช้อำนาจควบคุม บีบบังคับเธอ แต่ก็กลับถูกเธอค้นพบด้านที่อ่อนแอในใจของเขา, Simmons ถือเป็นนักแสดงหญิงมากฝีมือ แต่กลับไม่ค่อยได้รับโอกาสให้แสดงความสามารถออกมาได้เต็มที่ ครั้งหนึ่งเคยได้ Volpi Cup for Best Actress ของเทศกาลหนังเมือง Venice จากหนังเรื่อง Hamlet (1948) ในบท Ophelia และเคยได้รางวัล Golden Globe: Best Actress จากหนังเรื่อง Guys and Dolls (1955)
Peter Ustinov รับบท Gracchus ผู้น่าสงสาร (ทีแรกอาจรู้สึกสมเพศ แต่เห็นโชคชะตาพี่แกแล้วอดสงสารไม่ได้) เป็นชนชั้นพ่อค้า ระดับกลาง มีท่าทางลุกรี้ลุกรน เหงื่อออกท่วมตัวตลอดเวลา ชีวิตสนแต่เงินๆทองๆ และความสะดวกสบายในชีวิต, มีความต้องการแก้แค้น Crassus ที่ทำให้เขาตกต่ำ แต่ไปๆมาๆผลประโยชน์ครอบงำเหนือความแค้น แล้วโชคชะตาก็เล่นตลก ถูกหักหลังแบบไม่เหลือเยื่อใยดี, ต้องถือว่าตอนจบโชคดี ได้นายใจบุญมีบารมี เงินถุงสองล้านคงออกไปตั้งตัวเริ่มต้นใหม่ได้, นี่เป็นการแสดงที่สมควรเขวี้ยง Oscar ให้เลยนะครับ สุดยอดมากๆ
Charles Laughton รับบท Batiatus นักการเมืองชาวโรมัน ผู้ควบคุม ครอบงำรัฐสภากรุงโรมไว้อยู่หมัด แต่ภายหลังเมื่อ Crassus ขึ้นมาเถลิงอำนาจ ก็ถูกผลักไสไล่ส่ง (เพราะเป็นศัตรูทางความคิดกัน), กับฉากที่โดดเด่นที่สุด คือตอนท้าย เมื่อ Gracchus นำ Varinai มามอบให้ มันคือชัยชนะเล็กๆต่อ Crassus และคำร้องขอสุดท้ายให้ Gracchus พาเธอออกนอกเมือง มอบเงินล้านให้ 2 ถุง พร้อมกับจดหมายอิสระภาพแก่ Varinai แล้วตัวเองหยิบมีดอันเล็กขึ้นมา เดินหายเข้าไปด้านหลัง (เชื่อว่าคงไปฆ่าตัวตาย) ระหว่างศักดิ์ศรีกับชีวิต … เกิดเป็นชายชาติโรมัน ฆ่าได้หยามไม่ได้
สำหรับนักแสดงสมทบชื่อดังคนอื่นๆ อาทิ
– Tony Curtis รับบท Antoninus ชายนักดนตรีที่เคยเป็นทาสของ Crassus ภายหลังเปลี่ยนไปเข้าข้างกับ Spartacus
– John Gavin รับบท Julius Caesar ที่ยังหนุ่มแน่น ละอ่อนมาก ทีแรกเป็นลูกศิษย์ของ Batiatus ต่อมาได้เข้าร่วมสนับสนุน Crassus เป็นคนที่มองอนาคตได้ไกลมากๆ (เพราะถ้า Caesar ไม่แปรพักตร์เข้าหา Crassus คงมีชะตากรรมไม่ต่างกับ Batiatus เป็นแน่)
– John Dall รับบท Marcus Glabrus ชายหน้าหวาน ผู้มาให้ Spartacus เชือดเล่นในครึ่งแรก เขารอดชีวิตเพราะความปราณี แต่ Crassus ก็ไม่ให้อภัยเขาเพราะความขายหน้า
ถ่ายภาพโดย Russell Metty ใช้ฟีล์ม 35 mm Super 70 Technirama แล้วขยายขนาดฟีล์มเป็น 70 mm film ที่ทำแบบนี้เพราะ Kubrick ต้องการภาพที่ความละเอียดคมชัดสูง ฉายในจอภาพขนาดใหญ่ จะได้ความรู้สึกเต็มตา (ถ้าใครมีโอกาสได้เห็นในโรงภาพยนตร์คงจะ ตะลึงงันไปเลย)
ระหว่าง Kubrick กับ Metty ถือว่าไม่ค่อยลงรอยกันเท่าไหร่ เพราะผู้กำกับชอบที่จะลงมาถ่ายภาพ กำหนดจัดแสงสีด้วยตนเอง ไม่สนใจแนวทางของผู้กำกับภาพ นี่ทำให้ Metty ไม่พอใจเท่าไหร่ ถึงเขาจะได้ Oscar: Best Cinematography แต่ไม่ใช่เพราะฝีมือตนเองล้วนๆ
กับฉากอลังการที่สุดของหนัง การรบสู้ในสงคราม Third Servile War ระหว่างกองทัพทหารโรมันหลักหมื่นคน กับข้าทาสเรือนแสน ถ่ายทำกันที่นอกเมืองกรุง Madrid, Spain ยืมกำลังทหารกว่า 8 พันคนเข้าฉาก, Kubrick สร้างหอคอยขึ้นมา เพื่อใช้กำกับและถ่ายภาพ ให้ทุกอย่างในอยู่เฟรมเดียว (Extreme Long-Shot) เห็นกองกำลังทหารโรมัน เรียงแถวแปรขบวนเป็นระเบียบเดินเข้ามา ผิดกับข้าทาสที่ยืนมองอย่างไร้ระเบียบ เป็นกลุ่มก้อนกระจุกตัวอยู่ด้านล่าง, นี่เป็นช็อตที่บ้ามากๆนะครับ คน 8 พันคน ยัดเข้าไปอยู่ในเฟรมนี้ ได้ยังไงกัน! และการกำกับ ขณะเดินทัพ ตำแหน่งมันต้องเปะมากๆ คำนวณถ่ายทำยังไงให้เห็นได้เป็นระเบียบขนาดนี้!
ตัดต่อโดย Robert Lawrence, ถึงหนังจะใช้ชื่อ Spartacus แต่ไม่ได้เล่าผ่านมุมมองของเขาทั้งหมด บางครั้งมีการตัดสลับเล่าเรื่องฝั่งของ Roman Empire ที่มีการพูดถึง Spartacus (จะว่าทุกฉาก ต้องมีการพูดถึงทาส/Spartacus เสมอ)
ครั้งหนึ่งกับการประลองของ Gladiator ที่ต้องฆ่ากันให้ตายสองคู่ Spartacus เป็นคู่ที่สอง, หนังไม่ได้ตัดให้เราเห็นการต่อสู้ของคู่แรก แต่นำเสนอในมุมของ Spartacus ขณะรอคอยการต่อสู้ แล้วการแอบมอง (ผ่านช่องของห้องขัง) เห็นการต่อสู้ของคู่แรก นี่เป็นการสร้างความระทึก ตื่นเต้น เหมือนขณะเรากำลังรอทำอะไรบางอย่าง (เช่น รอสัมภาษณ์, รอขึ้นเวที ฯ) แต่ลองคิดตามว่า รอขึ้นจะไปถูกประหารดูสิครับ มันน่าหวั่นวิตกขนาดไหน
ฉากสงคราม ใช่ว่าจะมีภาพการรบพุ่ง ดวลดาบ ฆ่าฟันกันตายบ้าเลือด ให้เห็นเต็มตา, หนังใช้การ Intro เล่าขณะกำลังเข้าสู่สงคราม มีการเดินทัพ วิ่งพุ่งเข้าชน พอเริ่มสู้กันก็ตัดควับ ไปที่สงครามจบ เห็นซากศพคนตายนอนเกลื่อนกลาด, จริงๆเห็นว่าหนังถ่ายการต่อสู้ไว้ด้วย แต่ Kubrick ตัดออกทั้ง Sequence เพราะได้การตอบรับไม่ดีเท่าไหร่จากผู้ชมรอบฉายทดลอง
ในฉบับ Restored ฉลองครบรอบ 50 ปีของหนังเรื่องนี้ มีการใส่ฟุตเทจเพิ่มเข้าไป 1 ฉาก และเพิ่มเพลง Overtune เข้าไป จากเดิมหนังยาว 184 นาที กลายเป็น 196 นาที, ฉากนั้นคือ Antoninus เปลือยกายอาบน้ำให้ Crassus แล้วบทสทนาคือ ‘Do you prefer eating oysters or eating snails’ (ฉากนี้ถูกตัดเพราะกองเซ็นเซอร์มองว่ามัน สองแง่สองง่าม) ผมเจอคลิปนี้ใน Youtube เอามาแทรกให้รับชม สำหรับคนที่ยังไม่เคยเห็นฉากนี้
เพลงประกอบโดย Alex North ก่อนหน้านี้เข้าชิง Oscar มาแล้ว 6 ครั้งยังไม่เคยได้ กับเรื่องนี้มีหรือจะได้ (ทั้งชีวิตเข้าชิง Oscar 15 ครั้ง กับหนัง 13 เรื่อง ไม่เคยได้สักครั้ง จน Oscar ต้องมอบ Honorary Award ให้ในปี 1986) หนังเรื่องนี้มีการใช้เครื่องดนตรีระดับ Antique หลายชิ้น ไม่ใช่แค่ของกรีก-โรมันอย่างเดียว อาทิ Sarrusophone, Israeli recorder, Chinese oboe, Lute, Mandolin, Yugoslav flute, Kythara, Dulcimer และ Bagpipes ซึ่งเครื่องดนตรีโปรดที่เขาค้นพบ และใช้ในหนังเรื่องนี้เป็นครั้งแรกคือ Ondioline มีเสียงที่คล้ายกับเครื่องสังเคราะห์เสียง (Electronic Synthesizer)
การทดลองนำเครื่องดนตรีใหม่ๆ มาใช้ประกอบภาพยนตร์ ทำให้หนังมีความสดใหม่ แปลกแตกต่าง ไม่ค่อยคุ้นหู ผมฟังก็ยังรู้สึกแปลกๆ เพราะก็สัมผัสได้ว่ามันไม่ใช่เสียงดนตรีที่คุ้นเคย ถึงสามารถจำแนกได้ว่าเป็นเครื่องเป่า เครื่องสาย แต่เสียงมันไม่ใช่ไวโอลิน ฟลุต แบบที่คุ้นเคย, ผมแนะนำถ้าคุณอยากลองฟัง Soundtrack ประกอบหนังเรื่องนี้ ให้หาฟังใน Youtube แบบเปิดวนไปวนมา ถึงจะเห็นความไพเราะสุดงดงาม ที่ต่างจากได้ยินในหนังอย่างมาก ฟังไปเรื่อยๆจะเริ่มหลงใหล หลงรัก โดยเฉพาะ Love Theme ระหว่าง Spartacus กับ Varinia ที่หวานแหววมากๆ นำมาให้ฟังกันด้วย
ตอนจบ Spartacus จากชายคนหนึ่ง ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ ‘ทาสผู้มีอิสระภาพ’, แม้สงครามจะพ่ายแพ้ แต่ก็เป็นการประกาศ จารึกให้โลกได้รับรู้ว่า ครั้งหนึ่งเคยมีข้าทาส ผู้แสวงหาอิสระภาพเหนือสิ่งใด ได้กระทำการที่ ข้าทาสคนไหนๆก็ไม่เคยคิดมาก่อน รวบรวมผู้คน ต่อกรกับโรมันผู้ยิ่งใหญ่โดยไม่ยำเกรง แม้จักพ่ายแพ้ แต่ตำนานนี้ได้ถูกจดจำ เป็นกำลังใจ ความหวัง ความฝันของข้าทาสทุกคน ให้สามารถมีชีวิตอยู่ อดทนเพื่ออิสระภาพ ที่สักวันเราต้องจะได้มา
Spartacus เป็นเรื่องราวของทาส ที่โหยหาแสวงอิสรภาพ เพราะการเกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะระดับชนชั้นใด ก็ควรที่จักได้รับการปฏิบัติโดยเท่าเทียมกันและกัน ‘ข้าไม่ใช่สัตว์’ ดังนั้นข้าจึงไม่ขอทำตัวเยี่ยงสัตว์ เกิดมามีสองแขนสองขา เดินได้พูดได้เหมือนกัน แล้วทำไมฉันถึงไม่มีสิทธิ์เท่าเทียมกับผู้อื่น
ผมไม่รู้ว่า ‘ทาส’ เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคสมัยไหน คงเริ่มต้นพร้อมๆกับความอารยธรรมของมนุษย์ตั้งแต่แรกเริ่ม แนวคิดเรื่องความเสมอภาค เพิ่งเป็นทฤษฎีสร้างขึ้นเมื่อไม่กี่ศตวรรษที่ผ่านมานี้เองนะครับ ทั้งๆที่นักปราชญ์เก่งๆ ก็มีมาตั้งแต่สมัยกรีก โรมัน แต่คนพวกนั้นกลับกีดกันเรื่องความเท่าเทียม แบบหาความเสมอภาคไม่ได้ ก็ไม่รู้ทำไมเหมือนกันนะครับ …
มันอาจเพราะว่า มนุษย์ รู้โดยสันดานอยู่แล้วว่า คนเราเกิดมาไม่มีทางเท่าเทียมกัน โชคชะตา บุญญาบารมี วาสนา มันจึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จักต้องแสดงความเท่าเทียมกับคนทุกระดับออกมา
บุคคลแรก น่าจะเป็น พระพุทธเจ้า กระมัง ที่สอนให้มนุษย์รู้จักคำว่า ‘เท่าเทียม’ ไม่ใช่กับแค่เพื่อนมนุษย์ แต่ทุกสรรพสัตว์ในโลก เพราะทุกสิ่งที่มีชีวิต ลมหายใจ ล้วนมีจิตวิญญาณ ไม่มีใครที่ไหนต้องการถูกทรมาน รังแก หรือถูกฆ่า ถ้าเราให้ความเท่าเทียมกับผู้อื่น ใครๆก็จะมองเราอย่างเคารพ ให้เกียรติ เสมอภาค
Stanley Kubrick ตัดสินใจทำหนังเรื่องนี้ ผมคิดว่าเพราะเขาต้องการเปรียบ ทาส กับบางสิ่งบางอย่าง, นี่มองเห็นได้หลากหลายระดับ อาทิ เปรียบทาสในหนัง กับคนผิวสี (ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่มีการเหยียดสีผิว ค่อนข้างรุนแรงมากในอเมริกา), เปรียบกับระบบ Hays Code ที่ควบคุมจริยธรรมของวงการภาพยนตร์อย่างเข้มงวด, ระบบสตูดิโอ ที่ควบคุมการทำงานของผู้กำกับในสังกัดเยี่ยงทาส ฯ
มองลักษณะนี้จะเห็นว่า ระบบทาส ยังมิได้หมดไปจากโลกเลยนะครับ เพียงแต่แปรเปลี่ยนสภาพ จากทาสแรงงาน ใช้เงินซื้อขาย กลายมาเป็นทาสของระบบ ที่ถูกควบคุมโดยกรอบ กฎระเบียบ ฯ ฤานี่คือสิ่งที่ Kubrick คิดได้ ‘มนุษย์ทุกคนเกิดมาก็คือทาส ที่พยายามแสวงหาอิสระ แต่เราจะรู้ตัวเองหรือเปล่า และสามารถค้นพบเจออิสรภาพได้ไหม’
ด้วยทุนสร้าง $12 ล้านเหรียญ หนังทำเงินทั่วโลก $60 ล้านเหรียญ กลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดของ Universal Studio ในทศวรรษที่ 60s ก่อนที่จะถูกแซงโดยหนังตลก Airport (1970)
เข้าชิง Oscar 6 สาขา ได้มา 4 รางวัล
– Best Supporting Actor (Peter Ustinov)
– Best Art Direction
– Best Cinematography, Color
– Best Costume Design, Color
สาขาที่เข้าชิง แต่ไม่ได้รางวัล
– Best Film Editing
– Best Music, Scoring of a Dramatic or Comedy Picture
หนังมีประโยคฮิตหนึ่ง ตอนที่ Crassus ถามเชลยที่จับได้ว่า ใครคือ Spartacus แล้วทุกคนยืนขึ้นพูดว่า “I’m spartacus!” ว่ากันว่าประโยคนี้ เป็นความตั้งใจของ Dalton Trumbo ในการตอบโต้ข้อกล่าวหาที่ว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์ และถูก Blacklisted
ในหนังเรื่อง Lolita (1962) ของ Stanley Kubrick มีการล้อคำพูดนี้ ในขณะที่ Humbert ถาม Quility ว่า ‘Are you Quilty?’ แล้วเขาตอบว่า ‘No, I’m Spartacus. Have you come to free the slaves or something?’
ส่วนตัว ถึงผมจะไม่ค่อยชอบเรื่องราวของ Gladiator แต่หนังเรื่องนี้มีสาระที่ทำให้ฉุกคิด เข้าใจความรู้สึกของเหล่านักรบ ที่ลุกขึ้นฮือต่อต้านชาวโรมัน สะท้อนความอัปยศ ชั่วร้ายของคนสมัยก่อน ที่คิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่คับฟ้า และดูถูกข้าทาสว่าเป็นเหมือนสัตว์เดรัจฉาน ไม่ใช่มนุษย์ นี่ทำให้เรารู้สึกโชคดีที่ไม่ได้เกิดมาในยุคสมัยสุดป่าเถื่อนนั้น
ปัญหาของหนัง มีอยู่ 2 วาระสำคัญ
1) การตัดข้ามฉากสู้รบสงคราม ระหว่างกองทัพโรมัน กับข้าทาสเรือนแสน นี่เป็นสิ่งที่ผมสะดุ้ง ตกใจ คาดไม่ถึง เพราะมันทำให้อารมณ์ที่บิ้วสร้างขึ้นมา ว่าจะได้เห็นฉากการต่อสู้ที่ตระการตา นั้นขาดสะบั้น ดิ่งลงเหว นี่ทำให้หนังขาดไคลน์แม็กซ์ที่ตื่นเต้นเร้าใจ
2) และ Epilogue หลังสงคราม อันน่าเบื่อบัดซบมาก ไม่สามารถสร้างอารมณ์ใดๆให้กับหนังได้แล้ว คือเหมือนหนังมันจบลงแล้วตั้งแต่ Spartacus แพ้ แต่ยังดั้นด้นมีต่อไม่ยอมจบ (นี่เหมือน Lord of the Ring: Return of the King ที่สงครามสุดท้ายจบแล้ว แต่ยังมีอะไรก็ไม่รู้ต่ออีก 40 นาที)
แนะนำกับชาว S & M ผู้ชื่นชอบความกระหายเลือดของ Gladiator, คอหนังประวัติศาสตร์สุดอลังการ ยุคสมัย Roman Empire และแฟนหนัง Stanley Kubrick, Kirk Douglas, Laurence Oliver ไม่ควรพลาด
จัดเรต 13+ มีฉากรุนแรง แต่ไม่ได้บ้าเลือด
Leave a Reply