speedy

Speedy (1928) hollywood : Ted Wilde 

(mini Review) หนังเงียบเรื่องสุดท้ายของ Harold Lloyd สร้างโดยผู้กำกับ Ted Wilde ได้เข้าชิง Oscar: Best Director, หนุ่มแว่นผู้มีปัญหาเกี่ยวกับการทำงาน เขาชื่นชอบเบสบอล พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ รถรางเลื่อนคันสุดท้ายของครอบครัว ไม่ถูกฮุบกิจการโดยนายทุนหน้าเลือด

Ted Wilde ผู้กำกับ นักเขียนบทชาวอเมริกัน สมาชิกของกลุ่มนักเขียนบทของ Harold Lloyd (ร่วมกับ John Grey, Tim Whelan และ Sam Tayler) ภายหลังได้รับโอกาสให้ขึ้นมากำกับภาพยนตร์ มีทั้งหมด 6 เรื่อง นำแสดงโดย Harold Lloyd 2 ครั้งจาก The Kid Brother (1927) และ Speedy (1928) เรื่องหลังในงานประกาศรางวัล Oscar ครั้งแรก ทำให้เขาได้เข้าชิงสาขา Best Director of a Comedy แต่ไม่ได้รางวัล, น่าเสียดายเป็นผู้กำกับที่อายุสั้นไปหน่อย เสียชีวิตจากหลอดเลือดในสมองแตก (Stroke) เมื่อเดือนธันวาคม 1929 สิริอายุ 40 ปี

เกร็ด: ในงานประกาศรางวัล Oscar ครั้งที่ 1 มีการแยกสาขา Best Director ออกเป็น 2 สาขาคือ Comedy กับ Drama ครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ (ครั้งถัดมารวบเป็น Best Director สาขาเดียว)

เรื่องราวของหนัง นำเสนอความฝันของคนอเมริกา (American Dream) ที่ต้องการประสบความสำเร็จ ร่ำรวยเงินทอง มีชื่อเสียง ฯ แต่ชีวิตจริงใครๆก็รู้ มันไม่ง่ายดั่งฝัน, ใน New York City การจะเอาตัวรอดในท้องถนนที่เต็มไปด้วยผู้คน รถยนต์แออัดไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยและทุกวัน ไม่ใช่แค่คนหนุ่มสาว แต่รวมถึงคนแก่สูงวัย (ตัวแทนของโลกยุคเก่าๆ) ที่ต้องสู้ยื้อลมหายใจสุดท้ายของตนไว้

ความสำเร็จ ก็เหมือนการตีได้โฮมรัน โอกาสมีไม่เยอะ แต่ไม่ใช่ทำไม่ได้ ถ้าเรามีความสามารถ อดทน ขยันขันแข็ง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค สักวันหนึ่งก็ย่อมทำได้สำเร็จ

Harold Lloyd รับบท Speedy (Speedy คือชื่อเล่นจริงๆของ Harold Lloyd ที่พ่อของเขาตั้งให้) หนุ่มแว่นผู้ไม่หยี่หร่ากับชีวิต ชื่นชอบเบสบอล มักตกงานวันเสาร์ พาแฟนสาวไปเที่ยววันอาทิตย์ แล้วได้งานใหม่วันจันทร์ ชีวิตเป็นวงเวียนวัฏจักรแบบนี้มานมนาน (เหมือน Rat Race, หนังใช้เปรียบเทียบกับเครื่องเล่นหมุนๆ ซ้อนภายในฉาก Coney Island) เป้าหมายชีวิตของ Speedy ก็คือ American Dream อยากประสบความสำเร็จ ร่ำรวยเงินทอง มีชื่อเสียง แต่กลับไม่เคยคิดที่จะปรับปรุง ทำตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเมื่อวาน ไม่มีการงานไหนเลยที่ Speedy ทำแล้วจะประสบความสำเร็จ (เรียกว่า คนไม่เอาอ่าว) แต่เขาไม่เคยยอมแพ้ต่ออุปสรรค ยังคงสู้ชีวิตต่อไปอย่างไม่ท้อถอย

เกร็ด: ฉากที่ถ่ายที่ Coney Island ต้องใช้การถ่ายทำแบบแอบๆ ไม่ให้ดูผิดสังเกต เพราะ Harold Lloyd ขณะนั้นโด่งดังมาก ถ้ามีคนรู้เห็นอาจเกิดม็อบของแฟนๆได้

เมื่อกลับมาบ้าน Speedy มีหน้าที่หนึ่ง คือดูแลพ่อสะใภ้ (รับบทโดย Bert Woodruff) ต้องมานวดคอ นวดไหล่ บรรเทาความเหนื่อยอ่อนเมื่อยล้าให้ เป็นการเอาอกเอาใจ (ติดสินบนพ่อสะใภ้) ซึ่งเมื่อกิจการรถม้ารางเลื่อน (horse-drawn streetcar) มาถึงทางตัน เขาจึงพยายามทำทุกอย่าง เพื่อไม่ให้ครอบครัวต้องเสียประโยชน์จากนายทุนผู้เห็นแก่ตัว

ฉากไล่ล่าของหนัง แม้จะไม่ตื่นเต้น ตระการตาเท่า Shy Girl (1924) แต่เพราะหนังถ่ายทำในเมืองจึงถือว่ามีความยากกว่ามาก เสี่ยงตายและอันตรายกว่าเป็นไหนๆ, ฉากที่เป็นไฮไลท์ของหนังคือ ตอนที่รถม้ารางเลื่อนชนเข้ากับเสาอย่างจัง (จริงๆนี่ถือว่าผิดคิว ไม่มีในบท) ทีมงานแก้ปัญหาโดยใช้ฝาท่อ (แบบเดียวกับในหนัง) ทำเป็นล้อ แล้วเอาตัวรอดวิ่งต่อได้ นี่ถือว่าเป็นฉากที่เกิดจากความผิดพลาด แต่ได้รับการตอบรับที่ดีระดับคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

นี่ถือเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จเรื่องสุดท้ายในยุคหนังเงียบของ Harold Lloyd แม้ความบันเทิงจะเทียบไม่ได้กับ 2 เรื่องที่ผมเขียนรีวิวไปแล้วอย่าง Safety Last! (1924) และ Shy Girl (1925) แต่ในแง่งานสร้าง ต้องถือว่ามีความสร้างสรรค์ บ้าบิ่น ไม่แพ้เรื่องอื่นเลย

ส่วนตัวแค่ชอบหนังเรื่องนี้ เป็นความบันเทิงแฝงสาระของการไม่ยอมแพ้ แต่มันก็มีอะไรดูไร้สาระจำเจ วกวนเป็นอยู่เยอะ และตอนจบที่ … อะไรกัน ฝั่งผู้ร้าย แพ้แค่นี้ยอมเลยเหรอ มันดูขัดๆ ฝืนธรรมชาติ เกินจริงไปเสียหน่อย

แนะนำกับคอหนังเงียบ ชื่นชอบหนังตลกของ Harold Lloyd และคนต้องการเห็นตึกรามบ้านช่อง ถนนหนทาง ซอกซอย วิถีชีวิตของคน New York ในยุค 20s

จัดเรต PG กับความรุนแรงในการปะทะ ตะลุมบอน

TAGLINE | “Speedy ของ Harold Lloyd มีความตั้งใจดี สนุกสนาน บันเทิงสาระ แต่ยังขาดๆเกินๆ และไม่สมเหตุสมผลในตอนจบ”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: