Spellbound

Spellbound (1945) hollywood : Alfred Hitchcock ♥♥♥♡

โปรดิวเซอร์ David O. Selznick แม้เพิ่งคว้า Oscar ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสองปีติดๆจาก Gone With The Wind (1940) และ Rebecca (1941) แต่ทว่ากลับตกอยู่สภาวะหดหู่ ล้มป่วยซึมเศร้า (Depression) จนต้องเข้ารับการบำบัดในสถาบันจิตเวชศาสตร์ พอหายดีกลับมาเกิดความกระตือรือร้น ต้องการสรรค์สร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับความมหัศจรรย์ของจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis)

บรรดาผู้กำกับในสังกัดของโปรดิวเซอร์ Selznick มีเพียงบุคคลเดียวที่โดดเด่นกับภาพยนตร์แนว Psychological Thriller นั่นก็คือ Alfred Hitchcock แม้ก่อนหน้านี้ทั้งสองจะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ไม่ลงรอย ระหว่างร่วมงาน Rebecca (1940) เลยยินยอมปล่อยให้สตูดิโออื่นหยิบยืมตัวอยู่หลายปี แต่ด้วยข้อสัญญาที่ยังคงผูกมัด พันธนาการเหนี่ยวรั้ง เลยตัดสินใจเรียกตัวกลับมาควบคุมงานสร้างโปรเจคในฝันนี้

แม้ว่า Spellbound (1945) จะประสบความสำเร็จทั้งเสียงตอบรับ และทำรายได้กลับคืนมามหาศาล แต่ทว่าความสัมพันธ์ระหว่างผกก. Hitchcock กับโปรดิวเซอร์ Selznick กลับยิ่งเลวร้าย น่าจะขาดสะบั้นไปนานแล้วละ ต่างฝ่ายต่างพยายามงัดข้อ หักเหลี่ยมเฉือนคม จนท้ายที่สุดภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องถือว่ามี ‘ความเป็น Selznick’ มากกว่า Hitchcock พร่ำบ่นกับ François Truffaut ว่าตนเองก็แค่มือปืนรับจ้าง

Well, It’s just another manhunt story wrapped up in pseudo-psychoanalysis. The whole thing’s too complicated, and I found the explanations toward the end very confusing.

Alfred Hitchcock

Spellbound (1945) แม้พอจะมีความระทึกขวัญ, พระ-นาง Gregory Peck & Ingrid Bergman อินเลิฟกันจัง (ทั้งใน-นอกจอ), ซีเควนซ์ความฝันสร้างโดย Salvador Dalí ดูน่าตื่นตาตื่นใจ, Miklós Rózsa ประพันธ์เพลงประกอบได้อย่างหลงใหล, แต่หนังอาจไม่เหมาะสำหรับผู้ชมทั่วไป เพราะเรื่องราวค่อนข้างซับซ้อน ไม่ค่อยมีแอ๊คชั่นสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่คือบทสนทนา จิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ต้องใช้สติปัญญาขบครุ่นคิดพอสมควร

ผมแนะนำให้รับชมตัวอย่างหนัง (Trailer) มีการนำเอาฉากรับเชิญ (Cameo) ของผกก. Hitchcock มาใช้ประโยชน์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ระทึกขวัญ สร้างความสนอกสนใจให้ผู้ชมสมัยนั้น … นี่อาจคือสาเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หนังประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม

Sir Alfred Joseph Hitchcock (1899-1980) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ เจ้าของฉายา ‘Master of Suspense’ เป็นชาวอังกฤษ เกิดที่ Leytonstone, Essex ครอบครัวเปิดกิจการร้านขายของชำ (grocery shop) ช่วงวัยเด็กมีความสนใจภูมิศาสตร์ แผนที่ ขบวนรถไฟ ใฝ่ฝันอยากเป็นวิศวกร เข้าศึกษาภาคค่ำยัง London County Council School of Engineering and Navigation แต่พอบิดาเสียชีวิต เลยต้องแบ่งเวลามาทำงานเสมียนบริษัทโทรเลข Henley Telegraph and Cable Company, หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มมีความสนใจด้านการเขียน กลายเป็นบรรณาธิการรุ่นก่อตั้ง The Henley Telegraph ก่อนย้ายมาแผนกโฆษณา ทำให้มีโอกาสรับชมภาพยนตร์ ‘Motion Picture’ เกิดความชื่นชอบหลงใหล Der müde Tod (1921) ของผู้กำกับ Fritz Lang

ต่อมายื่นใบสมัครเข้าทำงานสตูดิโอ Famous Players–Lasky เปิดสาขาใหม่ที่ London เริ่มจากเป็นนักออกแบบ Title Card, ร่วมเขียนบท, ออกแบบศิลป์, ผู้จัดการกองถ่าย, ผู้ช่วยตัดต่อ ฯ เรียนรู้งานแทบจะทุกสิ่งอย่าง ไต่เต้าสู่ผู้ช่วยผู้กำกับ Woman to Woman (1923), ได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Pleasure Garden (1925), แจ้งเกิดกับ The Lodger: A Story of the London Fog (1927), ผลงานโดดเด่นในยุคแรกๆ อาทิ Blackmail (1929), The Man Who Knew Too Much (1934), The 39 Steps (1935), The Lady Vanishes (1938) ฯ

เมื่อปี ค.ศ. 1939, ผกก. Hitchcock เซ็นสัญญา(ทาส)กับโปรดิวเซอร์ David O. Selznick เดินทางมาสรรค์สร้างภาพยนตร์ Hollywood เรื่องแรก Rebecca (1940) แต่ทั้งสองเต็มไปด้วยขัดแย้ง แนวทางทำงานที่แตกต่าง แม้ยังติดสัญญากันอยู่ Selznick กลับปล่อยให้ Hitchcock ถูกหยิบยืมโดยโปรดิวเซอร์/สตูดิโออื่น RKO Radio Pictures, Universal Pictures และ 20th Century Fox

กระทั่งปลายปี ค.ศ. 1943 หลังจากโปรดิวเซอร์ Selznick ผ่านการบำบัดรักษาอาการป่วยซึมเศร้าด้วยวิธีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) จึงเรียกตัวผกก. Hitchcock บอกว่าอยากสรรค์สร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับ “Psychiatric”

ผกก. Hitchcock จึงเสนอแนะนวนิยายที่อยู่ในการครอบครอง The House of Dr. Edwardes (1927) แต่งโดย Francis Beeding นามปากกาของคู่หู Hilary A. Saunders (1898-1951) และ John Palmer (1885-1944) นักเขียนชาวอังกฤษ มีผลงานร่วมกันกว่า 31 เรื่อง แทบทั้งหมดล้วนคือ Spy Novels

โปรดิวเซอร์ Selznick ยินยอมซื้อต่อลิขสิทธิ์นวนิยายในราคา $40,000 เหรียญ มอบหมายร่างบท ‘Treatment’ โดย Angus MacPhail (บุคคลผู้ให้คำแนะนำแนวคิด ‘MacGuffin’ แก่ผกก. Hitchcock ระหว่างโปรดักชั่น The 39 Steps) และพัฒนาบทภาพยนตร์โดย Ben Hecht (The Front Page, Scarface, Notorious)

เกร็ด: Hitchcock พบเจอกับนักเขียน Hecht ครั้งแรกที่ New York เดือนมีนาคม ค.ศ. 1944 เริ่มต้นที่ห้องประชุม จากนั้นเดินทางไปสถานพยาบาลจิตเวชหลากหลายแห่ง เพื่อสังเกตการณ์ ค้นคว้าข้อมูล แล้วมาปรับปรุงแก้ไขเรื่องราวให้มีความสมจริงยิ่งขึ้นกว่าเก่า

ภาพยนตร์มีการเปลี่ยนแปลงจากนวนิยายพอสมควร ตั้งแต่พื้นหลังสถานพยาบาลตั้งอยู่ยังปราสาทยุคกลาง (medieval Château) ติดเทือกเขา French Alps รายล้อมรอบด้วยโขดหิน คละคลุ้งบรรยากาศ Gothic, เรื่องราวเริ่มต้นที่จิตแพทย์สาวจบใหม่ Dr. Constance Sedgwick เดินทางมาทำงานยังสถานพยาบาลแห่งนี้ ได้ยินว่าผู้อำนวยการ Dr. Edwardes อยู่ในช่วงลาพักร้อน มอบหมายให้ Dr. Murchison เป็นผู้ดูแลกิจการงานต่างๆ หลังจากปรับตัว เรียนรู้งาน ค่อยๆตระหนักว่าสถานที่แห่งนี้มีลับลมคมในอะไรบางอย่าง … ช่วงท้ายเปิดเผยว่าผู้อำนวยการ Dr. Edwardes คือผู้ป่วยจิตเภทขั้นรุนแรง (Psychopaths)

เท่าที่ผมหาอ่านหลากหลายความคิดเห็น กล่าวว่าต้นฉบับนวนิยายจะออกไปทาง Horror, Psychological Thriller, คละคลุ้งบรรยากาศ Gothic ไม่ได้มุ่งเน้นการรักษา วิเคราะห์อาการป่วย หรือความโรแมนติกประการใด แต่ข้อเรียกร้องของโปรดิวเซอร์ Selznick ต้องการนำประสบการณ์ ‘ที่ดี’ ของตนเองมาเผยแพร่ ให้คำแนะนำผู้ชม และเพิ่มเติมเรื่องราวรักๆใคร่ๆ เพื่อสร้างมุมมองผู้ป่วยจิตเวชในทิศทางใหม่

อีกสิ่งหนึ่งที่สร้างปัญหาให้กับหนังไม่น้อยก็คือ Hays Code ถูกตีกลับคำต้องห้ามอย่าง “sex menace”, “frustrations”, “libido”, “tomcat”, “nymphomaniac”, ความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างจิตแพทย์-ผู้ป่วย และไคลน์แม็กซ์การฆ่าตัวตาย แต่ที่ยินยอมอนุญาตให้เพราะผู้เสียชีวิตมีอาการป่วยจิต “obviously of unsound mind”

เกร็ด: ผกก. Hitchcock อยากใช้ชื่อหนัง The House of Dr. Edwardes ไม่ก็ Hidden Impulse แต่โปรดิวเซอร์ Selznick ได้รับแนะนำจากเลขาส่วนตัว Ruth Rickman ซึ่งเมื่อนำเอา Spellbound ไปสอบถามผู้ชมรอบทดลองฉาย เสียงตอบรับค่อนข้างดี เลยยืนกรานจะใช้ชื่อนี้


ผู้อำนวยการ Dr. Murchison (รับบทโดย Leo G. Carroll) ทำงานอยู่สถานพยาบาล Green Manors นานกว่ายี่สิบปี วันหนึ่งถูกบีบบังคับให้เกษียณอายุ โดยบุคคลเข้ามาแทนที่คือจิตแพทย์หนุ่ม Dr. Anthony Edwardes (รับบทโดย Gregory Peck) สังเกตจากปฏิกิริยาแสดงออก ดูไม่ค่อยพึงพอใจสักเท่าไหร่

จิตแพทย์สาว Dr. Constance Petersen (รับบทโดย Ingrid Bergman) เมื่อแรกพบเจอ Dr. Edwardes ตกหลุมรักโดยพลัน! แต่หลังจากนั้นค่อยๆสังเกตเห็นอาการผิดปกติหลายอย่าง จนเกิดความตระหนักว่าเขาอาจไม่ใช่ Dr. Edwardes ตัวจริง! แล้วมันเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกันแน่?

แม้รับรู้ว่าอีกฝ่ายไม่ใช่ตัวจริง แต่ทว่า Dr. Constance ยังแสดงความรัก ความห่วงใย ต้องการให้ความช่วยเหลือ สืบค้นเข้าไปในความฝัน วิเคราะห์หาเบื้องหลังความจริง ตระหนักว่าเขาเป็นเพียงแพะรับบาป ถูกใส่ร้ายป้ายสี แล้วใครกันคือฆาตกรเข่นฆ่า Dr. Edwardes?


Ingrid Bergman (1915-82) นักแสดงสัญชาติ Swedish เกิดที่ Stockholm มารดาจากไปตั้งแต่ยังไม่รู้เดียงสา บิดาใฝ่ฝันให้บุตรสาวเป็นนักร้องอุปรากร ส่งไปเรียนร้องเพลงตั้งแต่อายุสามขวบ หลังบิดาเสียชีวิตอาศัยอยู่กับลุง-ป้า เข้าศึกษาด้านการแสดง Royal Dramatic Theatre School (โรงเรียนเดียวกับ Greta Garbo) แค่เพียงปิดเทอมแรกก็ได้ทำงานตัวประกอบ Swedish Film Studio ปีถัดมาเลยตัดสินใจลาออก ทุ่มเทเวลาให้กับการแสดงเต็มตัว เครดิตภาพยนตร์เรื่องแรก Munkbrogreven (1935), Intermezzo, (1936), แจ้งเกิดกับ A Woman’s Face (1938) คว้ารางวัล Special Recommendation จากเทศกาลหนังเมือง Venice, เซ็นสัญญาสามปีกับ UFA แต่มีโอกาสแสดงหนังเยอรมันแค่เรื่องเดียว The Four Companions (1939), จากนั้นตอบตกลง David O. Selznick เดินทางสู่ Hollywood เริ่มจากสร้างใหม่ Intermezzo: A Love Story (1939) ตอนนั้นยังพูดอังกฤษไม่ชัดเท่าไหร่ ครุ่นคิดว่าถ่ายเสร็จคงกลับสวีเดน ที่ไหนได้ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม, ผลงานเด่นๆ อาทิ Casablanca (1942), For Whom the Bell Tolls (1943), Spellbound (1945), The Bells of St. Mary’s (1945), Notorious (1946), Joan of Arc (1948), Stromboli (1950), Europe ’51 (1952), Journey to Italy (1954), Autumn Sonata (1978), คว้ารางวัล Oscar ทั้งหมดสามครั้ง Gaslight (1944), Anastasia (1956) และสาขาสมทบ Murder on the Orient Express (1974)

เกร็ด: Ingrid Bergman ในชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Stars ฟากฝั่ง Female Legends ติดอันดับ #4

รับบทจิตแพทย์สาว Dr. Constance Petersen ผู้มีความเยือกเย็นชา ไม่ใช่แค่กับผู้ป่วยจิตเวช แต่ยังบรรดาเพื่อนร่วมงานที่ต่างเป็นชายสูงวัย (พวกเขาต่างจับจ้อง ห้อมล้อม อยากครอบครอง สายตาหื่นกระหาย) กระทั่งการมาถึงของผู้อำนวยการคนใหม่ Dr. Anthony Edwardes ราวกับต้องมนต์สะกด ตกหลุมรักแรกพบโดยพลัน หลังจากนั้นค่อยๆสังเกตเห็นอาการผิดปกติ จนเกิดความตระหนักว่าเขาอาจไม่ใช่ผู้อำนวยการคนใหม่ แม้ถูกตำรวจหมายหัว กลับพยายามให้ความช่วยเหลือ เชื่อว่าอีกฝ่ายต้องถูกใส่ร้าย พากันหลบหนี สืบค้นเข้าไปในความฝัน จนสามารถวิเคราะห์หาฆาตกรตัวจริง

ความตั้งใจแรกเริ่มของโปรดิวเซอร์ Selznick วางนักแสดง Joseph Cotten ประกบ Dorothy McGuire แต่ยังไม่ทันไรก็โยกย้าย Cotten ไปเล่นหนังอีกเรื่อง I’ll Be Seeing You (1944) แล้วตัดสินใจเลือก Gregory Peck ที่กำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง, ส่วนนักแสดงหญิงเคยครุ่นคิดจะชักชวน Greta Garbo แต่ก็ไม่สามารถโน้มน้าวให้หวนกลับมา สุดท้ายยินยอมเลือก Ingrid Bergman ที่เพิ่งคว้ารางวัล Oscar: Best Actress ภาพยนตร์ Gaslight (1944)

บางคนอาจมองว่า Bergman ดูอ่อนวัยเกินไป (แต่ขณะนั้นเธออายุย่าง 30 แค่ว่ายังดูสวยเหมือนสาวแรกรุ่น 20 ต้นๆ) ไม่ค่อยเหมือนคนเฉลียวฉลาดสักเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ต้องชมคือวิวัฒนาการตัวละคร เริ่มต้นจากแสดงสีหน้าเย็นชา ไม่ยี่หร่าอะไรใคร แล้วจู่ๆกลายมาเป็นคนคลั่งรัก แม้เต็มไปด้วยความเคลือบแคลง-ระแวง-สงสัย กลับยังคงเชื่อมั่น ดื้อรั้น ตัดสินใจให้ความช่วยเหลือสืบค้นหาข้อเท็จจริง อย่างเร่งรีบ ร้อนรน กระวนกระวาย ก่อนตกอยู่ในสภาพสิ้นหวังหลังเขาถูกจับกุม และท้ายที่สุดเผชิญหน้ากับฆาตกรอย่างไร้ความหวาดกลัวเกรง

เอาจริงๆไฮไลท์ของ Bergman คือแววตาแห่งรัก เต็มไปด้วยความเชื่อมั่น ดื้อรั้น พร้อมยินยอมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อชายคนรัก แม้อีกฝ่ายพยายามปิดกั้น ไม่แสดงออกอะไรใดๆ ผู้ชมยังคงสัมผัสได้ถึงเยื่อใยความสัมพันธ์ … เห็นว่า Bergman & Peck อาจตกหลุมรักกันจริงๆในกองถ่าย คงเพราะอารมณ์พาไป เกินเลยขนาดไหนไม่รู้ แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อคู่ครองของพวกเขาในชีวิตจริง

All I can say is that I had a fiery kinda love for her, and I think that’s where I ought to stop… I was young. She was young. We were involved for weeks in close and intense work.

Gregory Peck

แซว: ในบรรดาบุคคลเซ็นสัญญา(ทาส)กับโปรดิวเซอร์ Selznick สองคนที่สร้างปัญหาให้มากที่สุดประกอบด้วย Alfred Hitchcock (คงไม่ต้องอธิบายอะไรมาก) และ Ingrid Bergman รายหลังเลื่องชื่อในความเรื่องมาก ยากจะต่อรอง ตอนชักชวนมา Hollywood ขอให้เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนทรงผม แนะนำให้ครอบฟัน ดัดคิ้ว ฯลฯ แต่เธอกลับปฏิเสธหัวชนฝา นายมีสิทธิ์อะไรในเรือนร่างกายฉัน ถึงขนาดขู่ว่าถ้าจะบีบบังคับกัน ขอกลับไปสวีเดนดีกว่า

แต่ทว่าการร่วมงานระหว่าง Hitchcock และ Bergman กลับดำเนินไปอย่างราบรื่น ด้วยความเป็นมืออาชีพ ทั้งสองชื่นชอบการทำงานของกันและกันอย่างมากๆ จนกลายเป็นเพื่อนสนิทสนมในชีวิตจริง มักได้รับเชิญมาร่วมรับประทานอาหารกันบ่อยครั้ง


Eldred Gregory Peck (1916-2003) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ San Diego, California บิดาเป็นนักเคมี/เภสัชกร เคร่งครัด Catholic หย่าร้างกับมารดาตั้งแต่เขาอายุ 5 ขวบ อาศัยอยู่กับคุณย่าพาไปดูหนังทุกสุดสัปดาห์ โตขึ้นมีความใฝ่ฝันอยากเป็นหมอ เข้าศึกษาเตรียมแพทย์ University of California, Berkeley แต่ไปๆมาๆมีโอกาสเข้าร่วมชมรมการแสดง Little Theater เลยตัดสินใจออกเดินทางสู่ New York ฝึกฝนการแสดงอย่างจริงจังกับ Neighborhood Playhouse พอมีชื่อเสียงกับ Broadway เซ็นสัญญา RKO Radio Pictures เล่นหนังเรื่องแรก Days of Glory (1944), แจ้งเกิดกับ The Keys of the Kingdom (1944), Spellbound (1945), The Yearling (1946), Duel in the Sun (1946), Gentleman’s Agreement (1947), Twelve O’Clock High (1949), Roman Holiday (1953), The Guns of Navarone (1961), Cape Fear (1962), The Omen (1976), The Boys from Brazil (1978), และคว้ารางวัล Oscar: Best Actor จากภาพยนตร์ To Kill a Mockingbird (1962)

เกร็ด: Gregory Peck ในชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Stars ฟากฝั่ง Male Legends ติดอันดับ #12

ในตอนแรกแอบอ้างตนเองว่าคือ Dr. Anthony Edwardes ผู้อำนวยการสถานพยาบาลคนใหม่ แต่ด้วยท่าทางลับๆล่อๆ แสดงอาการหวาดกลัว (Phobia) ต่อลายเส้นตรงบนผ้าพื้นขาว ทั้งยังหลงๆลืมๆ (Amnesia) เกิดความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ป่วย ‘Guilt Complex’ และเป็นลมล้มพับระหว่างการผ่าตัด ทำให้ความจริงประจักษ์ว่าชายคนนี้ไม่จิตแพทย์ ไม่ใช่ผู้อำนวยการสถานพยาบาลคนใหม่ เช่นนั้นแล้วเขาคือใคร?

ถึงอย่างนั้นรักแรกพบที่มีต่อจิตแพทย์สาว Dr. Constance Petersen คือความรู้สึกออกมาจากข้างในจริงๆ ซึ่งทำให้เธอบังเกิดความเชื่อมั่นว่าเขาต้องถูกใส่ร้ายป้ายสี จึงพยายามหาหนทางช่วยเหลือ พามาพบเจออาจารย์ Dr. Alexander Brulov (รับบทโดย Michael Chekhov) ช่วยกันวิเคราะห์ความฝัน ทำให้ข้อเท็จจริงค่อยๆได้รับการเปิดเผยออกมา

บางคนอาจรู้สึกผิดหวังกับการแสดงของ Peck (รวมถึงผกก. Hitchcock ด้วยเช่นกัน) ดูราบเรียบ นิ่งเฉย ไม่สามารถแสดงปฏิกิริยาบนใบหน้า แข็งทื่อจนกลายเป็นทึ่มทื่อ เหมือนคนไร้อารมณ์ร่วม แต่เจ้าตัวแก้ต่างว่า

I couldn’t produce the facial expressions that Hitch wanted turned on. I didn’t have that facility. He already had a preconception of what the expression ought to be on your face, he planned that as carefully as the camera angles. Hitchcock was an outside fellow, and I had the Stanislavski training from the Neighborhood Playhouse, which means you work from the inside.

Gregory Peck

Peck เป็นนักแสดงที่ต้องการการซักซ้อม ทำความเข้าใจตัวละครจากภายใน ถึงสามารถถ่ายทอดอารมณ์/ความรู้สึกนั้นๆออกมา แต่สไตล์การกำกับของ Hitchcock มักไม่ค่อยให้คำแนะนำอะไรใดๆ เพียงบอกว่าให้ทำโน่นนี่นั่น แสดงอย่างนั้นโน่นนี่ ถ่ายทำตามภาพวาด Storyboard ไม่หลงเหลือพื้นที่สำหรับพวกนักแสดงสาย ‘Method Acting’ สักเท่าไหร่

ผมรู้สึกว่า Peck ทำดีที่สุดแล้วในสถานการณ์ดังกล่าว! พยายามจะทำเรียนรู้จักตัวละครจากภายใน แต่ด้วยวิธีการของผกก. Hitchcock เขาจึงไม่มีเวลา ไม่สามารถทำความเข้าใจอะไรใดๆ หลงเหลือเพียงสัญชาตญาณ ดูเคว้งคว้างว่างเปล่า ซึ่งก็ดันเหมาะสมกับตัวละคร ผู้ป่วยจิตเวช หลงๆลืมๆ ทั้งหวาดกลัว ทั้งรู้สึกผิด แถมยังถูกสะกดจิต … เอาจริงๆต่อให้ Peck มีเวลาศึกษา ทำความเข้าใจตัวละครอย่างลึกซึ้ง ผมก็ไม่คิดว่าเขาจะถ่ายทอดการแสดงอันซับซ้อนระดับนี้ได้ดีสักเท่าไหร่ เลือกนักแสดงผิดมาตั้งแต่แรก!


ถ่ายภาพโดย George S. Barnes (1892-53) ตากล้องสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Pasadena, California เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ มีผลงานเข้าชิง Oscar: Best Cinematography ทั้งหมด 8 ครั้ง แต่ไม่เคยได้รับสักรางวัล ประกอบด้วย The Devil Dancer (1927), The Magic Flame (1927), Sadie Thompson (1928), Our Dancing Daughters (1928), Rebecca (1940), The Spanish Main (1945), Spellbound (1945), Samson and Delilah (1950), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Jane Eyre (1943), The Bells of St. Mary’s (1945) The Greatest Show on Earth (1952), The War of the Worlds (1953) ฯ

ถ้าไม่นับบรรดาภาพยนตร์ฉากเดียว (อย่างพวก Lifeboat, Dial M for Murder, Rear Window) ผมรู้สึกว่า Spellbound (1945) เกือบที่จะเป็น ‘All-Talk’ เต็มไปด้วยบทพูดสนทนา วิเคราะห์โน่นนี่นั่น นอกจากซีเควนซ์ในความฝันออกแบบโดย Salvador Dalí และไคลน์แม็กซ์เล่นสกี ก็แทบจะไม่มีฉากแอ๊คชั่น ลุ้นระทึก น่าตื่นตาตื่นใจ

หนังถ่ายทำในโรงถ่ายของ Universal Studio โดดเด่นกับการจัดแสง-เงามืด ยกเว้นเพียงฉากปิคนิกที่เดินทางไปยัง Cooper Ranch ตั้งอยู่ Northridge, Los Angeles ไม่ได้ห่างไกลจาก Hollywood มากนัก! ส่วนซีเควนซ์เล่นสกี กองสองไปถ่ายทำยัง Alta Ski Area ตั้งอยู่ Alta, Utah (เป็นการโปรโมทสถานที่ท่องเที่ยวไปในตัว) นำกลับมาฉายพื้นหลังผ่านเครื่อง Rear Projection


เมื่อตอน Rebecca (1940) มีการออกแบบคฤหาสถ์ Manderley สร้างขึ้นโดยโมเดลจำลอง (Miniatures) ฉากภายในมีการประดับตกแต่ง สร้างบรรยากาศ Gothic ให้ดูลึกลับ หลอกหลอน ขนหัวลุกพอง ซึ่งไม่แตกต่างจากสถานพยาบาลในต้นฉบับนวนิยาย The House of Dr. Edwardes

แต่เพราะโปรดิวเซอร์ Selznick ต้องการปรับเปลี่ยนมุมมองผู้ชมต่อโรงพยาบาลจิตเวช ปัจจุบันหาใช่สถานที่ลึกลับ อันตราย แหล่งซ่องสุมคนบ้า จึงพยายามสร้างภาพ Green Manors ให้ดูโมเดิร์น หรูหรา ทันสมัยใหม่ สีสันสว่างสดใส ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ใครๆครุ่นคิดจินตนาการไว้

The fault, dear Brutus, is not in our stars, but in ourselves, that we are underlings.

William Shakespeare บทละคอน Julius Caesar (1599) องก์ที่หนึ่ง ซีนที่สอง Cassius กล่าวกับ Brutus

คำกล่าวแรกของหนังมีความลุ่มลึกซึ้ง เหนือกาลเวลา ในบริบทของบทละคอนอาจเพียงกล่าวถึงการกระทำ ความผิดพลาดของตนเอง แต่สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ “But in ourselves” สามารถครอบคลุมถึงปัญหาภายในจิตใจ

อีกสิ่งน่าสนใจคือภาพทางเข้าสถานพยาบาล Green Manors ยังสามารถสื่อถึง ‘ประตูหัวใจ’ เรื่องราวต่อจากนี้จะนำพาผู้ชมออกสำรวจสภาพจิตใจ ค้นหาสิ่งที่ซุกซ่อนเร้นอยู่ภายใน

การมาถึงของ Dr. Anthony Edwardes ได้รับการต้อนรับจากบรรดาแพทย์สมาชิก ยังทำห้องทำงานของ Dr. Murchison แต่สังเกตแสงสว่างภายนอกสาดส่องลอดบานเกล็ด ทำให้ใครต่อใครอาบฉาบด้วยเงาลายขวาง แลดูไม่ต่างจากซี่กรงขัง ในบริบทนี้ผมมองว่าต้องการสร้างลึกลับลมคมในให้กับผู้อำนวยการคนใหม่มากกว่า

วินาทีแรกพบเจอระหว่าง Dr. Constance และ Dr. Edwardes ภาพโคลสอัพใบหน้าฝ่ายชายไม่ได้มีอะไรผิดปกติ แตกต่างจากเดิม แต่ฝั่งหญิงสาวกลับมีการจัดแสงฟุ้งๆ พื้นหลังเบลอๆ ดวงตาเปร่งประกอบ (สะท้อนดวงไฟ) แสดงปฏิกิริยาตกตะลึง ‘spellbound’ ราวกับต้องมนต์สะกด ตกหลุมรักแรกพบโดยพลัน

ตอนพบเห็นภาพช็อตนี้ทำให้ผมเกิดความเอะใจขึ้นได้ว่า สถานพยาบาลแห่งนี้เต็มไปด้วยจิตแพทย์ชายสูงวัย ห้อมล้อมรอบ Dr. Constance หญิงสาวตัวคนเดียว! มันเลยไม่น่าแปลกใจที่พวกเขาจะชอบกล่าวคำยั่วเย้า เกี้ยวพาราสี ‘Sexual Harrasment’ นี่ไม่เพียงสะท้อนสังคมยุคสมัยนั้น ยังคงยึดมั่นวิถีชายเป็นใหญ่ ยังเหมารวมถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานของผกก. Hitchcock ถูกควบคุมครอบงำ ชี้นิ้วสั่งโดยสตูดิโอ/โปรดิวเซอร์

ยามค่ำคืนนอนไม่ค่อยหลับ Dr. Constance กลิ้งไปกลิ้งมา ท่าทางร้อนรน กระวนกระวาย สังเกตว่าภาพช็อตนี้อาบฉาบด้วยเงาของบานเกล็ดอีกแล้ว! สามารถสื่อถึงความเคลือบแคลง ระแวง ฉงนสงสัย บางสิ่งอย่างติดค้างคาใจ เลยลุกขึ้นไปหยิบหนังสือมาอ่าน

ระหว่างกลับจากห้องสมุด สังเกตเห็นแสงไฟในห้องพักของ Dr. Edwardes ยังคงสว่างไสว เลยตัดสินใจเปิดประตูเข้าไปทักทาย ภาพถ่ายมีการไล่ระยะจากเต็มตัว (Full Shot) → ครึ่งตัว (Medium Shot) → โคลสอัพใบหน้า (Close-Up) → เคลื่อนเข้าไปถึงดวงตา (Extreme Close-Up) → พอหลับตาลงมีการ ‘Cross Cutting’ แทรกภาพบานประตู(หัวใจ)กำลังค่อยๆเปิดออกอย่างช้าๆ

ก่อนหน้านี้ Dr. Constance เป็นหญิงสาวที่มีความเยือกเย็นชา ไม่เคยคบหา เปิดใจให้กับใคร แต่หลังจากแรกพบเจอ ตกหลุมรัก (บุคคลอ้างว่าคือ) Dr. Edwardes เกิดความร้อนรน กระวนกระวาย จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว อยากพบเจอ อยู่เคียงชิดใกล้ และในวินาทีนี้ก็มิอาจหักห้ามใจตนเองอีกต่อไป นำเสนอด้วยภาพเชิงสัญลักษณ์ประตู(หัวใจ)ทุกบานเปิดออก พร้อมต้อนรับเขาเข้ามาภายใน เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

เกร็ด: ผมไม่ได้สนใจว่าทำไมต้องประตูสามสี่บาน แต่เกิดความเอะใจว่าระยะภาพไกลขนาดนี้ทำไมถึงยังคมชัด นั่นเพราะเทคนิค ‘Deep Focus’ นี่คือลูกเล่นที่ผกก. Hitchcock บุกเบิก พัฒนามาก่อนหน้า Citizen Kane (1941) ด้วยซ้ำไป!

นี่เป็นอีกช็อตที่ผมสังเกตได้ว่ามีการใช้เทคนิค ‘Deep Focus’ ภาพเบื้องหน้าวิทยุ นาฬิกา ยังถือว่ามีความคมชัด ขณะที่หญิงสาวเริ่มจากยืนฟังข่าวจากวิทยุ แล้วเดินผ่านประตูเข้าห้องนอน หยิบกระเป๋า เก็บเสื้อผ้า เตรียมออกเดินทางติดตามหาชายคนรัก … แล้วทำไมต้องทำให้ภาพคมชัดทั้งภายนอก-ใน อาจจะเพื่อสื่อถึงความตั้งใจจริงของ Dr. Constance ต้องการให้ความช่วยเหลือชายคนรักอย่างไม่มีอะไรเคลือบแฝงซ่อนเร้น

นี่เป็นอีกซีนที่หญิงสาวถูกคุกคามทางเพศ ที่นั่งว่างเยอะแยะ แต่ชายแปลกหน้ากลับตรงเข้ามานั่งเคียงข้าง กระซิบกระซาบ กระเถิบตนเองเข้าหา มันอาจดูไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของหนัง แต่คือภาพสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างผกก. Hitchcock กับสตูดิโอ/โปรดิวเซอร์ Selznick

ผกก. Hitchcock ก้าวออกมาจากลิฟท์ ถือกระเป๋าใส่ไวโอลิน พ่นบุหรี่ควันฉุย ไม่รู้เหมือนกันว่าจะสื่อถึงอะไร?

ทีแรกผมหลงลืมไปแล้วว่ายุคสมัย Hays Code มีกฎห้ามจูบกันนานเกิน x วินาที ซึ่งบุคคลผู้พยายามแหกกฎไร้สาระนี้ก็คือผกก. Hitchcock โด่งดังจากภาพยนตร์สุดอื้อฉาว Notorious (1946) ซึ่งสำหรับ Spellbound (1945) น่าจะเรียกได้ว่าลองผิดลองถูก พยายามท้าทาย Joseph Breen ว่าจะโต้ตอบอะไรยังไง

  • จุมพิตครั้งแรกใช้เทคนิคซ้อนภาพกับประตูเปิดออก ทำให้ดูเลือนลาง หลายวินาที
  • เทคนิคการจุมพิตก็คือเอาปากบด 3-4 วินาที จากนั้นถาโถม โอบกอด บดบังไม่ให้เห็นปากชนกัน
  • และที่กวนxีนที่สุดคงหนีไม่พ้นที่สถานีรถไฟ ใครต่อใครต่างพร้อมใจกันจุมพิต ก่อนร่ำลา พลัดพรากจาก

นี่ถือเป็นช็อตคลาสสิกในหนังของผกก. Hitchcock กล้องจับจ้องที่มือตัวละคร ถืออาวุธ มีดโกน เหมือนกำลังจะเข้าจู่โจมเป้าหมาย บุคคลที่อยู่ห่างออกไป สร้างความตื่นเต้น ลุ้นระทึก เสียวสันหลัง หลงเข้าใจว่าอาจเกิดเหตุการณ์ฆาตกรรม … แต่ซีเควนซ์นี้กลับเป็นการล่อหลอกผู้ชม ‘misdirection’ ไม่ได้มีอะไรเลวร้ายบังเกิดขึ้นทั้งนั้น! แค่เพิ่มความเคลือบแคลง หวาดระแวง ฉงนสงสัย ชายคนนี้คือฆาตกรหรือไม่?

คนที่รับชมภาพยนตร์ของผกก. Hitchcock เรื่อยๆมาเรียงๆ ไล่เรียงตามลำดับ พอมาถึง Suspicion (1941) ก็จักจดจำ ‘แก้วนม’ ไม่รู้ลืมเลือน! แม้เป็นเครื่องดื่มสำหรับเด็ก เหมือนจะไร้พิษภัย แต่กลับซุกซ่อนอันตรายเอาไว้ ยาพิษ ยานอนหลับ และเมื่อแก้วนมเคลื่อนผ่านความมืด มักพบเห็นการเรืองแสงไฟ (เอาหลอดไฟใส่ลงในนม)

สำหรับ Spellbound (1945) น่าจะเป็นครั้งแรกที่พบเห็นตัวละครดื่มนม แทรกภาพยกกระดก เห็นก้นแก้ว ขณะกลืนลงคอ มันช่างดูผิดแผกพิศดาร ช่วยสร้างความรู้สึกว่านมแก้วนี้มันต้องมีอะไรบางอย่าง!

ผมขอไม่ลงรายละเอียดซีเควนซ์ในความฝัน เพราะหนังมีการวิเคราะห์ให้ฟังโดยละเอียด ว่าภาพปรากฎขึ้นแฝงนัยยะความหมายอะไร จะได้ไม่เป็นการสปอยเนื้อเรื่องราวไปในตัว

แต่สิ่งที่จะกล่าวถึงก็คือเบื้องหลังงานสร้าง ผกก. Hitchcock มีความชื่นชอบประทับใจผลงานศิลปิน Salvador Dalí ครุ่นคิดว่าภาพบิดๆเบี้ยวๆ นามธรรมในความฝัน ก็ต้องชายคนนี้เท่านั้น! พยายามโน้มน้าวโปรดิวเซอร์ Selznick ทีแรกไม่เห็นด้วยก่อนตระหนักว่าสามารถใช้ชื่อของ “Dalí’s Dream” ในการประชาสัมพันธ์เลยยินยอมตอบตกลง!

When we got to the dream sequences, I really wanted to break with the tradition of cinematic dreams which are usually hazy and confusing, with the screen shaking, etc. I asked Selznick to make sure the Salvador Dalí’s collaboration. Selznick agreed but I’m sure he thought I wanted Dalí because of the publicity it would give us.

I wanted to convey the dream with great visual sharpness and clarity–sharper than film itself. I wanted Dalí because of the architectural sharpness of his work. Chirico has the same quality, you know, the long shadows, the infinity of distance and the converging lines of perspective. But Dalí had some strange ideas. He wanted a statue to crack like a shell falling apart, with ants crawling all over it. And underneath, there would be Ingrid Bergman, covered by ants! It just wasn’t possible. I was anxious because the production did not want to make certain expenses. I would have liked to shoot Dalí’s dreams on location so that everything would be flooded with light and become terribly high-pitched, but I was refused this and had to shoot in the studio.

Alfred Hitchcock กล่าวถึงการร่วมงานกับ Dali

ในตอนแรกผกก. Hitchcock อยากให้ Josef von Sternberg มาช่วยถ่ายทำฉากความฝันของ Dalí ก่อนเปลี่ยนใจดูแลงานสร้างด้วยตนเองดีกว่า ลงทุนไปไม่น้อยเพื่อ 5 ความฝัน รวมระยะเวลา 20 นาที แต่พอฟุตเทจถึงมือโปรดิวเซอร์ Selznick บอกว่ายาวเกินไป “It is the photography, set-ups, lighting, etc., all of which is completely lacking in imagination.” ทำการว่าจ้าง William Cameron Menzies (ไม่ได้รับเครดิต) ถ่ายซ่อม ตัดต่อใหม่ (โดยทั้ง Hitchcock และ Dalí ไม่มีส่วนใดๆ) สุดท้ายเหลือแค่ 3 ความฝัน 2 นาที … น่าเสียดายที่ฟุตเทจ 20 นาที สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย

เอาจริงๆผมว่า 20 นาทีมันยาวเกินไป! เท่าที่พบเจอรายละเอียดซีเควนซ์ความฝัน แทบไม่แตกต่างจากคำบรรยายตัวละคร เพียงค่อยๆดำเนินเรื่องแบบปกติทั่วไป, แต่ทว่าฉบับตัดต่อใหม่เหลือแค่ 2 นาที ดูเร่งรีบ รวบรัดตัดตอน ยังไม่ค่อยรู้สึกเต็มอิ่มหนำสักเท่าไหร่

I was dressed in a Greek robe, with a crown on my head, an iron necklace around the neck and an arrow embedded in that necklace. I had a pipe in my mouth, threw out the tobacco and a statue was formed with that smoke. Suddenly the statue broke and I entered the cabaret dressed like this.

Ingrid Bergman กล่าวถึงซีเควนซ์ในความฝันที่สูญหายไป เต้นรำกับหุ่นคนแคระ

และถ้าใครติดตามผลงานของ Dalí น่าจะสังเกตเห็นความเชื่อมโยง แนวคิดละม้ายคล้ายคลึง โดดเด่นชัดเจนที่สุดก็คือดวงตาน้อยใหญ่ ชวนให้นึกถึงโคตรภาพยนตร์ Un Chien Andalou (1929)

บางแหล่งข่าวบอกว่าโปรดิวเซอร์ Selznick ไม่พึงพอใจเพลงประกอบของ Miklós Rózsa ในซีเควนซ์เล่นสกี แต่อีกแหล่งข่าวกล่าวว่ามีการสื่อสารเข้าใจ Rózsa ครุ่นคิดว่างานเสร็จแล้วจึงไปรับงานภาพยนตร์ The Lost Weekend (1945), อย่างไรเสียในซีเควนซ์นี้ Selznick เลือกใช้เพลง Too Fast (ฉากไคลน์แม็กซ์ ขับรถเฉียดตกเหว) ของ Franz Waxman จากภาพยนตร์ Suspicion (1941) ที่สร้างความตื่นเต้น ลุ้นระทึก เฉียดเป็นเฉียดตา … จะว่าไปก็อารมณ์เดียวกันเป๊ะเลยนะ เฉียดตกหน้าผาคล้ายๆกันอีกต่างหาก

แต่ความน่าสนใจของซีเควนซ์นี้ คือวินาทีเฉียดเป็นเฉียดตาย ทำให้ชายหนุ่มระลึกความหลัง ปรากฎภาพ ‘Flash’ ความทรงจำ ต้นสาเหตุอาการ ‘Guilt Complex’ เพราะครุ่นคิดว่าตนเองเข่นฆ่าน้องชาย (หรือพี่ชายก็ไม่รู้ละ) ทั้งๆแท้จริงแล้วไม่ใช่ความผิดของเขาเลยสักนิด!

เมื่อตอนที่ชายคนรักถูกจับกุม คุมขัง ต้องโทษในเรือนจำ แถมศาลตัดสินเสร็จสรรพ สังเกตว่ามีการร้องเรียงสารพัดภาพหญิงสาว อยู่ด้านหน้า-หลังกรงขัง อาบฉาบด้วยเงา (ที่ก็มีทั้งเบื้องหน้า-หลัง) เรียกได้ว่าถูกห้อมล้อม ไร้หนทางออก (สุนัข)จนตรอก ไม่รู้จะทำอะไรยังไง หมดสิ้นเรี่ยวแรงกาย-ใจ ทำได้เพียงพูดร่ำลา ในสภาพห่อเหี่ยว ท้อแท้สิ้นหวัง

เดี๋ยวนะ? นี่หนังขาว-ดำ ไม่ใช่หรือ? แต่ทำไมตอนปืนลั่นถึงปรากฎภาพสีแดง? นี่คือความตั้งใจของผกก. Hitchcock แทรกใส่เข้ามาเพียงสองเฟรม ไม่ใช่จะสื่อถึงระเบิด ความตาย ยังช่วยสร้างสัมผัสทางอารมณ์ คาดไม่ถึง ตกอกตกใจ สายตาฉันไม่มีความผิดปกติใช่ไหม? … แต่ไม่ใช่ทุกฟีล์มหนังที่นำออกฉายจะมีภาพสองเฟรมนี้

ผู้ชมส่วนใหญ่น่าจะสังเกตออกว่ามือฆาตกร ไม่ใช่มือมนุษย์จริงๆ มีการขยับเคลื่อนไหวที่ดูผิดธรรมชาติ คาดว่าน่าจะเพราะข้อจำกัดการถ่ายทำยุคสมัยนั้น (กล้องขนาดใหญ่เทอะทะ มันจึงไม่สะดวกในการเอามือวางไว้หน้ากล้อง แล้วหันเข้าหาตัวเอง)

อย่างที่บอกไปตอนต้นว่ายุคสมัยนั้น Hays Code ไม่อนุญาตให้มีฉากฆ่าตัวตาย แต่หนังเรื่องนี้สามารถเอาตัวรอดไปได้เพราะตัวละครแสดงอาการผิดปกติ ป่วยจิตอย่างชัดเจน “obviously of unsound mind” ซึ่งการใช้มือปลอม รวมถึงย้อมภาพสีแดงสองเฟรม ช่วยสร้างบรรยากาศผิดปกติ ผู้ชมตระหนักว่านี่ไม่ใช่เหตุการณ์เกิดขึ้นจริง

ตัดต่อไม่มีเครดิต นั่นเพราะโปรดิวเซอร์ Selznick ทำการควบคุมดูแล ปรับแก้ไขโน่นนี่นั่นด้วยตนเอง โดยมอบหมาย Hal C. Kern (1894-1985) ได้รับเครดิต Supervising Editor

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Dr. Constance Petersen ตั้งแต่แรกพบเจอ ตกหลุมรัก Dr. Anthony Edwardes ก่อนสังเกตพบว่าเขาอาจไม่ใช่ผู้อำนวยการสถานพยาบาลคนใหม่ ทำให้ตกเป็นผู้ต้องหาคดีฆาตกรรม ถึงอย่างนั้นกลับยังยินยอมให้ความช่วยเหลือ เชื่อว่าถูกใส่ร้าย แพะรับบาป ร่วมออกเดินทาง รวมถึงสืบค้นเข้าไปในความฝัน วิเคราะห์หาเบื้องหลัง และได้พบเจอกับฆาตกรตัวจริง!

  • Overtune
  • แนะนำตัวละคร
    • Dr. Constance ทำการรักษาผู้ป่วยโรค Nymphomaniac ก่อนถูกขัดจังหวะโดย(อดีต)ผู้อำนวยการสถานพยาบาล Dr. Murchison
    • การมาถึงของผู้อำนวยการสถานพยาบาลคนใหม่ Dr. Anthony Edwardes
  • รักแรกพบของ Dr. Constance
    • Dr. Constance แรกพบเจอถูกชะตากับ Dr. Edwardes ระหว่างร่วมรับประทานอาหารค่ำ ขณะเดียวกันยังสังเกตเห็นความผิดปกติบางอย่าง
    • วันถัดมา Dr. Edwardes ชักชวน Dr. Constance ไปนัดเดทสองต่อสอง
    • ค่ำคืนนั้นทั้งสองก็มิอาจอดกลั้นฝืนทน ถาโถมเข้าใส่ ทำให้ประตูทุกบานเปิดออก
  • ใครคือ Dr. Edwardes?
    • เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินทำให้ต้องมีการผ่าตัด แต่ทว่า Dr. Edwardes กลับหน้ามืด เป็นลมล้มพับ สร้างความเคลือบแคลง ฉงนสงสัย
    • สารภาพกับ Dr. Constance ว่าตนเองไม่ใช่ Dr. Constance ก่อนตัดสินใจหลบหนีออกจากสถานพยาบาล
  • ความเชื่อมั่นในรักของ Dr. Constance
    • แม้ถูกตำรวจไล่ล่า แต่ทว่า Dr. Constance ตัดสินใจเดินทางไปหาชายคนรัก
    • พากันออกเดินทางไปยัง Rome, Georgia ขอความช่วยเหลือจากอาจารย์ Dr. Alexander Brulov
    • วิเคราะห์ความฝัน
    • Dr. Constance พาชายคนรักไปยังสถานที่ในความทรงจำ เล่นสกี ระลึกความหลัง
  • ใครคือฆาตกร?
    • พอกลับมาที่บ้านพัก ถูกตำรวจล้อมจับ
    • Dr. Constance พยายามทบทวนความฝันของชายคนรัก ทำให้ค้นพบฆาตกรตัวจริง
  • Exit Music

ตัวหนังฉบับดั้งเดิมของผกก. Hitchcock เห็นว่ามีความยาวกว่านี้ แต่ถูกโปรดิวเซอร์ Selznick หั่นฉากโน่นนี่นั่นออกไปกว่าสิบนาที (ยังไม่นับรวมฉากความฝันที่จาก 20 นาที เหลือแค่ 2 นาที) และยังตัดทิ้ง Overtune กับ Exit Music (ฉบับบูรณะนำกลับมาใส่ภายหลัง) เป็นการใช้อำนาจโปรดิวเซอร์ มีสิทธิ์ขาดเหนือกว่าผู้อื่นใด


เพลงประกอบโดย Miklós Rózsa (1907-95) คีตกวีสัญชาติ Hungarian เกิดที่ Budapest (ขณะนั้นคือประเทศ Austria-Hungary) มีมารดาเป็นนักเปียโน และลุงเล่นไวโลินให้กับ Budapest Opera เลยเริ่มเล่นเปียโนและวิโอล่าตั้งแต่อายุ 5 ขวบ แสดงอัจฉริยภาพแต่งเพลงตอน 8 ขวบ, เข้าศึกษาดนตรีที่ University of Leipzig ก่อนย้ายไป Leipzig Conservatory เพื่อเอาจริงจังด้านการประพันธ์จาก Hermann Grabner แล้วเริ่มเขียนบทเพลงคลาสสิก Concerto, Symphony, เมื่อย้ายมา London ได้ทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องแรก Knight Without Armour (1937), เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Four Feathers (1939), The Thief of Bagdad (1940), To Be or Not to Be (1942), Double Indemnity (1944), The Lost Weekend (1945), Spellbound (1945), A Double Life (1947), เมื่อเซ็นสัญญากับ M-G-M เลื่องลือชาในโคตรภาพยนตร์แนว Historical Epic อาทิ Quo Vadis (1951), Lust for Life (1956), Ben-Hur (1959), King of Kings (1961), El Cid (1961) ฯ

แรกเริ่มนั้นโปรดิวเซอร์ Selznick พยายามติดต่อ Bernard Herrmann แต่อีกฝ่ายคิวงานไม่ว่าง เลยเปลี่ยนมาเป็น Miklós Rózsa ผู้บุกเบิกนำเครื่องดนตรีสังเคราะห์เสียง Theremin (บรรเลงโดย Dr. Samuel Hoffmann) มาใช้ประกอบภาพยนตร์ เพื่อสร้างบรรยากาศลึกลับ หลอกหลอน สัมผัสเหนือจริง/เหนือธรรมชาติ เหมือนมีบางสิ่งอย่างซุกซ่อนเร้น เต็มไปด้วยลับลมคมใน

แม้ว่า Spellbound (1945) จะถือเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของ Rózsa (ครั้งแรกที่คว้ารางวัล Oscar) แต่ไม่ใช่สำหรับผกก. Hitchcock มองว่าบทเพลงโดดเด่นเกินหน้าเกินตา

Alfred Hitchcock didn’t like the music — said it got in the way of his direction. I haven’t seen him since.

Miklós Rózsa กล่าวถึงการร่วมงานกับ Alfred Hitchcock

หลายคนอาจมีความเข้าใจผิดๆว่า Overtune, Intermission, Entr’acte และ Exit Music มักใช้กับภาพยนตร์มหากาพย์ ทุนสูง ความยาวเกินกว่าสองชั่วโมง แต่จริงๆแล้วมันขึ้นอยู่กับอารมณ์ผู้สร้างเสียมากกว่า! ซึ่งในกรณีของ Spellbound (1945) เกิดจากโปรดิวเซอร์ Selznick พยายามโปรโมทหนังด้วยการใช้เพลงประกอบผ่านวิทยุ และสื่อกระจายเสียงอื่นๆ นั่นสร้างแรงบันดาลให้ Rózsa ทำการเรียบเรียงบทเพลงสำหรับออร์เคสตรา, Concerto for Piano และ Theremin นำมาใช้เป็น Overtune, Exit Music และกลายเป็น Image Album (รวมเพลงที่ถูกตัดทิ้งออกไปในหนัง) จัดจำหน่ายโดย Intrada Records, บันทึกเสียงโดย Slovak Radio Symphony Orchestra

บทเพลง First Meeting ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าได้ยินในหนังหรือเปล่า แต่เหตุผลที่เลือกมาให้รับฟัง เพราะจากท่วงทำนองอันสนุกสนานครื้นเครง จู่ๆมีการใช้เครื่องดนตรีสังเคราะห์เสียง Theremin สร้างความลึกลับ หลอกหลอน ขนหัวลุกพอง เหมือนมีบางสิ่งอย่างซุกซ่อนเร้น เต็มไปด้วยลับลมคมใน … หลายๆบทเพลงก็มีลักษณะเช่นนี้ เมื่อไหร่ได้ยินเสียง Theremin มันต้องมีอะไรน่าฉงนสงสัย

นอกจากความไพเราะ ท่วงทำนองติดหู อีกบทเพลงที่ถือเป็นไฮไลท์ของหนังคือระหว่างสำรวจความฝัน เอาจริงๆน่าจะเรียกว่า Theremin Concerto เพราะมีการใช้ Theremin เป็นเครื่องดนตรีหลัก แล้วคลอประกอบพื้นหลังด้วยวงออร์เคสตรา เพื่อให้ผู้ชมเกิดความตระหนักว่าสิ่งกำลังพบเห็น ภาพในความฝัน/จิตใต้สำนึก มีความเหนือจริง นามธรรมจับต้องไม่ได้ ลึกลับ หลอกหลอน ราวกับต้องมนต์สะกด

Spellbound นำเสนอเรื่องราวของหญิงสาว เมื่อได้ตกหลุมรักชายคนหนึ่ง ราวกับต้องมนต์ ถูกสะกดจิต พร้อมทุ่มเทเสียสละ ยินยอมทำทุกสิ่งอย่าง โดยไม่สนเหตุผล ข้อมูลหลักฐาน เพียงสันชาตญาณเชื่อว่าเขาเป็นคนดี ไม่มีวันทำสิ่งชั่วร้าย เข่นฆ่าคนตาย

คล้ายผลงานก่อนหน้าของผกก. Hitchcock เรื่อง Suspicion (1941) หญิงสาวบังเกิดความเคลือบแคลง ระแวง ฉงนสงสัยชายคนรัก แต่ปรับเปลี่ยนจากกลัวว่าตนเองจะถูกฆาตกรรม มาเป็นให้ความช่วยเหลือ สืบค้นเข้าไปในความฝัน วิเคราะห์หาเบื้องหลัง ใครกันคือฆาตกรตัวจริง?

ความสนใจของผกก. Hitchcock น่าจะคือการวิเคราะห์ความฝัน เพราะซีเควนซ์ทำร่วมกับ Salvador Dalí ยาวนานกว่ายี่สิบนาที! ผมจินตนาการไม่ออกเลยว่าจะออกมาเช่นไร ถ้าไม่ถูกโปรดิวเซอร์ Selznick ตัดเหี้ยนเหลือแค่เพียงสองนาที T_T

แซว: ผมแอบรู้สึกว่าผกก. Hitchcock จงใจออกแบบตัวละครผู้อำนวยการสถานพยาบาล Dr. Murchison ให้สามารถเปรียบเทียบถึงโปรดิวเซอร์ Selznick มีความจอมปลอม เผด็จการ โฉดชั่วร้าย และช่วงท้ายยังได้พยากรณ์หายนะ จุดจบที่กำลังคืบคลานเข้ามา

ภาพยนตร์เรื่องนี้แม้ถ่ายทำโดย Hitchcock แต่ต้องถือเป็นโปรเจค ‘ส่วนตัว’ ของโปรดิวเซอร์ Selznick (ทำไมไม่กำกับหนังเสียเองเลยว่ะ??) พยายามนำเสนอความมหัศจรรย์ของจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ที่สามารถขบไขปริศนา แก้ปัญหาความซับซ้อนจิตใจ ค้นหาคำตอบใครคือฆาตกรตัวจริง

เรื่องราวความรักระหว่างจิตแพทย์สาวกับผู้ป่วยหนุ่ม จึงสามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ถึงโปรดิวเซอร์ Selznick เกิดความรู้สึก ‘spellbound’ ตกหลุมรัก อัศจรรย์ใจต่อประสบการณ์รักษาโรคซึมเศร้า ด้วยวิธีการจิตวิเคราะห์ จนสามารถฟื้นฟู หายป่วย และสะสางปัญหาที่เคยติดค้างคาใจ … คนสมัยก่อนมักเหมารวมผู้ป่วยจิตเวชว่าต้องเป็นคนบ้า รักษาไม่หาย Spellbound (1945) ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกๆที่นำเสนอวิธีรักษารูปแบบใหม่ ปลอดภัย ไม่ใช้ยาใดๆ พอหายดีก็สามารถหวนกลับไปใช้ชีวิตอย่างคนปกติ


ด้วยทุนสร้าง $1.696 ล้านเหรียญ เข้าฉายในช่วงเทศกาล Halloween (ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง) สามารถทำเงินในสหรัฐอเมริกา $4.975 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลกประมาณว่าอาจจะถึง $7 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม

(ว่ากันว่าเมื่อตอนเข้าฉายในประเทศอังกฤษ สามารถทุบทุกสถิติภาพยนตร์ในกรุง London น่าเสียดายที่ยุคสมัยนั้นยังไม่มีรายงานตัวเลข ผลกำไร)

ช่วงปลายปี หนังได้เข้าชิง Oscar จำนวน 6 สาขา สามารถคว้ามาเพียง 1 รางวัล

  • Best Motion Picture พ่ายให้กับ The Lost Weekend (1945)
  • Best Director
  • Best Supporting Actor (Michael Chekhov)
  • Best Cinematography
  • Best Scoring of a Dramatic or Comedy Picture ** คว้ารางวัล
  • Best Visual Effects

เหตุผลที่ Gregory Peck & Ingrid Bergman หลุดโผสาขาการแสดง ไม่ได้เกิดจากการถูกมองข้าม (SNUB) แต่ทั้งสองเข้าชิงจากภาพยนตร์เรื่องอื่นที่โดดเด่นกว่า … แต่ก็แห้วทั้งคู่

  • Gregory Peck เข้าชิง Best Actor จากภาพยนตร์ The Keys of the Kingdom (1944)
  • Ingrid Bergman เข้าชิง Best Actress จากภาพยนตร์ The Bells of St. Mary’s (1945)

ส่วนชัยชนะสาขาเพลงประกอบของ Miklós Rózsa ถือว่าไม่ธรรมดา! เพราะปีนี้มีหนังเข้าชิงพร้อมกันถึงสามเรื่อง Spellbound, The Lost Weekend, A Song to Remember (จากทั้งหมด 21 เรื่อง)

นอกจากนี้หนังยังได้เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Venice เมื่อปี ค.ศ. 1947 ในเว็บไซด์ IMDB ระบุว่า Ingrid Bergman คว้ารางวัล Biennale Award: Best Actor แต่ใน Wikipedia ไม่ได้มีการกล่าวถึงใดๆ

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ 4K โดย The Film Foundation ร่วมกับ Walt Disney Studios เข้าฉายรอบปฐมทัศน์เทศกาลหนัง 2023 Cannes Classic ยังไม่เห็นว่าค่ายไหนได้ลิขสิทธิ์จัดจำหน่าย แต่ถ้าจะรับชมแก้ขัด(ฉบับยังไม่ได้บูรณะ)แนะนำ DVD ของ Criterion และ Blu-Ray ของ M-G-M

สิ่งแรกที่ผมรู้สึกตราตรึง ‘Spellbound’ คือบทเพลง Prologue ของ Miklós Rózsa ช่างมีความไพเราะจับใจ ต่อจากนั้นคือความสัมพันธ์แรกรักระหว่าง Gregory Peck & Ingrid Bergman และไฮไลท์ที่แม้ถูกตัดเหี้ยนเหลือแค่ไม่กี่นาที แต่ยังต้องชมว่าการร่วมงานระหว่างผกก. Hitchcock และ Salvador Dalí เป็นอะไรที่คาดไม่ถึง ตราตรึง ราวกับต้องมนต์

ถึงผมไม่แนะนำ Spellbound (1945) กับผู้ชมทั่วๆไป แต่ยกเว้นสำหรับจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หมอรักษาอาการป่วยทางจิต ห้ามพลาดภาพยนตร์เรื่องนี้โดยเด็ดขาด! มันอาจมีทฤษฎีผิดๆเพี้ยนๆ วิธีการเฉิ่มเชยตกยุคสมัย ถึงอย่างนั้นเรายังสามารถศึกษา ใช้เป็นบทเรียนจิตวิเคราะห์ ไม่ใช่แค่ตัวละคร ลองต่อยอดไปถึงผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ ซุกซ่อนอะไรเอาไว้หรือเปล่า?

จัดเรต 13+ กับจิตวิเคราะห์ ต้องสงสัยฆาตกรรม

คำโปรย | Spellbound เรื่องราวความรักและจิตวิเคราะห์ของ Ingrid Bergman สำรวจความฝันของ Gergory Peck ได้อย่างตราตรึง ต้องมนต์สะกด
คุณภาพ | ตราตรึง
ส่วนตัว | ราวกับต้องมนต์

2
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
1 Thread replies
1 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
2 Comment authors
ณ.คอน ลับแลZadrAuin Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
ZadrAuin
Guest
ZadrAuin

แอดจะเขียนถึง Raul Ruiz กับ Pedro Costa มั้ยครับ ผมว่าสองคนนี้น่าสนใจอยู่นะ

%d bloggers like this: