Spirited Away (2001)
: Hayao Miyazaki ♥♥♥♥♥
(12/1/2018) ในโลกแห่งวิญญาณใบนี้ ไม่ได้แค่สะท้อนจิตใจของเหล่ามนุษย์ทุนนิยมออกมาเท่านั้น แต่ยังนำเสนอวิธีการชะล้าง พ่นเอาสิ่งที่เป็นขยะชีวิตออกมา เมื่อหลงเหลือเพียงความว่างเปล่า เด็กหญิงสาวก็สามารถครุ่นคิดตัดสินใจเลือก ว่าจะกลายเป็นผู้ใหญ่เช่นไรในสังคม, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
หวนกลับมา Revisit บทความนี้ เพราะความอยากที่จะลงรายละเอียด วิเคราะห์เจาะลึก ท้าทายขีดความสามารถของตนเองในการทำความเข้าใจอนิเมชั่นเรื่องโปรดนี้ ว่ายังมีอะไรที่ไม่เข้าใจมองข้ามไปจากการรับชมครั้งก่อนๆหรือเปล่า … ก็พบว่า บานตะไท ความเข้าใจครั้งก่อนเป็นเพียงแค่ ‘Tip of the iceberg’ เท่านั้นเอง
สิ่งที่โดยส่วนตัวรู้สึกว่าทรงพลังลึกล้ำที่สุดในอนิเมชั่นเรื่องนี้ คือช่องว่างระหว่าง ‘ลมหายใจ’ หรือการสร้างสัมผัสบรรยากาศ อันทำให้ผู้ชมสามารถซึมซับรับ เกิดความสัมพันธ์กับโลกใบนี้ได้ถึงระดับจิตวิญญาณ
บุคคลแรกที่สังเกตพบเจอคือนักวิจารณ์ชื่อดังของอเมริกา Roger Ebert ครั้งหนึ่งมีโอกาสสัมภาษณ์ Hayao Miyazaki ที่เทศกาลหนังเมือง Toronto เมื่อปี 2002 เอ่ยถึงช่วงเวลาที่เหมือนเป็นช่องว่างระหว่างเรื่องราว ด้วยคำเรียก ‘gratuitous motion’ หลายครั้งตัวละครจะนั่งนิ่งอยู่เฉยๆ เหม่อมองลอยออกไปภายนอก พูดคุยเรื่อยเปื่อย แสดงความหวาดหวั่นกลัว ทำตัวไร้สาระ
“We have a word for that in Japanese. It’s called ‘ma.’ Emptiness. It’s there intentionally. The time in between my clapping is ‘ma.’ If you just have non-stop action with no breathing space at all, it’s just busyness.”
Miyazaki วิพากย์สิ่งที่ผู้สร้างภาพยนตร์สมัยนี้-นั้น มีความหวาดวิตกกลัวก็คือ ‘ความเงียบจะทำให้ผู้ชมรู้สึกเบื่อหน่าย’ แอ๊คชั่นต้องมีความต่อเนื่อง กราฟอารมณ์ต้องชันขึ้นอยู่เรื่อยๆ แต่สำหรับเด็กๆ สมาธิของพวกเขามิอาจจดจ่ออยู่กับความซีเรียสจริงจังได้ตลอดเวลา ซึ่งสิ่งที่ควรสอดสอดแทรกเข้าไปนั้น คือสัมผัสทางอารมณ์ที่หลบซ่อนอยู่ภายในสถานที่ บรรยากาศ มีความพักผ่อนคลาย
“What my friends and I have been trying to do since the 1970’s is to try and quiet things down a little bit; don’t just bombard them with noise and distraction. And to follow the path of children’s emotions and feelings as we make a film. If you stay true to joy and astonishment and empathy you don’t have to have violence and you don’t have to have action. They’ll follow you. This is our principle.”
‘อารมณ์ไม่จำเป็นต้องคือความรุนแรง’ คนเรามักมีความเข้าใจว่า เหตุการณ์ที่ตื่นเต้น หักมุม แปลกใหม่พิศดาร เป็นสิ่งกระตุ้นสร้าง ‘อารมณ์’ ให้เกิดขึ้นภายในจิตใจเท่านั้น แต่หลายๆครั้งแค่ชีวิตที่ดำเนินไป มีสัมผัสบรรยากาศจับต้องได้ แม้ไม่ได้มีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้น ก็สามารถทำให้เกิดความรู้บางสิ่งอย่างขึ้นได้เช่นกัน
Hayao Miyazaki (เกิดปี 1940) ผู้กำกับ อนิเมเตอร์ สร้างอนิเมชั่นสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Bunkyō, Tokyo, มีพี่น้อง 4 คน พ่อเป็นเจ้าของบริษัทผลิตเครื่องบิน Miyazaki Airplane ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนั้นอายุ 4-5 ขวบต้องอพยพหนีระเบิดจาก Tokyo ไปยัง Utsunomiya, Kanuma โชคดีเอาตัวรอดมาได้, ตั้งแต่เด็กมีความฝันต้องการเป็นนักวาดการ์ตูน รับอิทธิพลจาก Tetsuji Fukushima, Soji Yamakawa และ Osamu Tezuka แต่หลังจากรับชมอนิเมชั่นเรื่อง Panda and the Magic Serpent (1958) เกิดตกหลุมรักนางเอกอย่างรุนแรง เลยเบี่ยงเบนความสนใจไปทางนี้
หลังเรียนจบมหาลัย สมัครงานเป็น In-Between Artist กับ Toei Animation ไต่เต้าจนกลายเป็น Chief Animator, Concept Artist, Scene Designer ถูกดึงตัวไปสตูดิโอ A-Pro ร่วมกับ Isao Takahata สร้างอนิเมะซีรีย์ Lupin the Third (1971), ฉายเดี่ยวกับซีรีย์ Future Boy Conan (1978), ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรก The Castle of Cagliostro (1979) แม้ได้รับคำชมเรื่องสไตล์และวิสัยทัศน์ แต่ผู้ชมกลับไม่ให้ความสนใจสักเท่าไหร่, ดิ้นรนอยู่พักใหญ่จนได้สร้าง Nausicaä of the Valley of the Wind (1984) ได้รับการยกย่องไม่ใช่แค่อนิเมชั่น แต่คือภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมที่สุดของของประเทศญี่ปุ่น
จากความสำเร็จของ Nausicaä ทำให้ Miyazaki ร่วมกับเพื่อนอีกสามคน Toshio Suzuki, Isao Takahata และ Yasuyoshi Tokuma ก่อตั้งสตูดิโอ Ghibli ขึ้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 1985 มีผลงานเรื่องแรก Laputa: Castle in the Sky (1986) สะสมความสำเร็จไปเรื่อยๆกับ My Neighbor Totoro (1988), Kiki’s Delivery Service (1989), Porco Rosso (1992) ล่าสุดก็ Princess Mononoke (1997) ทุบสถิติกลายเป็นภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดตลอดกาลในประเทศญี่ปุ่น และคว้ารางวัล Japan Academy Prize: Picture of the Year กลายเป็นอนิเมชั่นเรื่องแรกที่ได้รับการยกย่องเหนือภาพยนตร์ Live-Action อื่นใดในปีนั้น
ในตอนแรก Miyazaki ตั้งใจให้ Princess Mononoke คือผลงานภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องสุดท้าย ปิดฉากการทำงานของตนเอง แต่ขณะกำลังพักผ่อนอยู่กับครอบครัวที่บ้านชนบทหลังเขา พบเห็นเด็กสาวกลุ่มหนึ่งที่ต่อมาได้กลายเป็นเพื่อนสนิท ก็หวนระลึกขึ้นมาได้ว่า ตนเองยังไม่เคยสร้างภาพยนตร์ที่เหมาะกับ เด็กหญิงอายุ 10 ขวบ
ด้วยความตั้งใจนี้ เริ่มต้นหาหนังสือการ์ตูน Shōjo Manga ที่เหมาะกับเด็กหญิงสาว กลับพบว่าส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องราวรักโรแมนติก ‘crushes and romance’ แต่ในความสนใจของเขาต้องการเรื่องราวที่ ให้ความสำคัญกับจิตใจ ‘held dear in their hearts’ เมื่อพวกเธอรับชมสามารถชื่นชอบ ทำตาม เป็นแบบอย่างให้กับตนเอง
ยื่นเสนอ 2-3 โปรเจคที่ตนเองสนใจให้กับสตูดิโอ ซึ่งทุกเรื่องล้วนแต่มีเรื่องราววนเวียนอยู่กับโรงอาบน้ำ (Bathhouse) สถานที่สุดพิศวงในความทรงจำของ Miyazaki ตั้งแต่เด็ก ประตูเล็กๆด้านหลังเปิดเข้าไปข้างในมีอะไร? ซึ่งเรื่องราวที่ได้รับการอนุมัติมีชื่อว่า Sen to Chihiro no Kamikakushi แปลว่า Sen and Chihiro’s Spiriting Away หรือย่อๆก็คือ Spirited Away
แต่ใช่ว่า Miyazaki จะพัฒนาบท/เรื่องราว จนเสร็จสิ้นเสียก่อนเริ่มต้นโปรดักชั่น ด้วยเพราะเวลาการสร้างที่มีจำกัด จึงมักข้ามไปวาด Storyboard เลย
“I don’t have the story finished and ready when we start work on a film. I usually don’t have the time. So the story develops when I start drawing storyboards. The production starts very soon thereafter, while the storyboards are still developing.”
แซว: ผลงานยุคหลังๆของ Miyazaki ด้วยอายุมากขึ้นเรื่อยๆ จึงถูกขอให้วาด Storyboard ของอนิเมชั่นเรื่องใหม่ให้เสร็จก่อนค่อยว่ากัน คือถ้าเสียชีวิตหลังจากนั้นก็ไม่ต้องห่วงอะไร เพราะทีมงานสามารถไปต่อกันเองได้ แต่ถ้า Storyboard ไม่เสร็จก็เป็นอันจบกัน
เคยให้ความเห็นว่า ตัวเขาไม่ใช่ผู้สร้างเรื่องราวให้กับอนิเมชั่น แต่คือทิศทาง สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นต่างหาก จะชี้ชักนำเรื่องราวไปถึงตอนจบของมันเอง
“It’s not me who makes the film. The film makes itself and I have no choice but to follow”.
ครอบครัว Ogino กำลังเดินทางสู่บ้านหลังใหม่ในเขตชนบท Chihiro (พากย์เสียงโดย Rumi Hiiragi) ลูกสาววัยสิบขวบ ไม่ค่อยเต็มใจกับการย้ายมาครั้งนี้นัก ระหว่างทางพ่อขับรถเลี้ยวผิดพบเจอทางตัน ด้านหน้ามีอุโมงค์พิศวง ตัดสินใจออกเดินสำรวจ ปลายทางคือทุ่งหญ้ากว้างขวาง เมืองเล็กๆไร้ผู้คน และร้านอาหารแห่งหนึ่งของกินเรียงราย เด็กหญิงปฏิเสธที่จะรับประทานของพวกนี้เพราะไม่รู้เป็นของใคร ไปต่ออีกหน่อยพบเจอโรงอาบน้ำขนาดใหญ่ และเด็กชายหนุ่มน่าพิศวง Haku (พากย์เสียงโดย Miyu Irino) บอกให้เธอรีบกลับบ้านไป สายัณต์ตะวันคล้อย Chihiro รีบวิ่งย้อนมาเห็น พ่อ-แม่ กลายร่างเป็นหมูพูดไม่ได้ อุโมงค์ทางออกจมน้ำทะเลสาบ ขณะไม่รู้จะทำอะไรต่อไป ร่างกายค่อยๆเลือนลางจางหาย นี่มันเกิดหายนะอะไรขึ้นกันแน่!
เรื่องราวของ Spirited Away คือการผจญภัยของ Chihiro เพื่อหาทางช่วยเหลือพ่อ-แม่ ที่กลายร่างเป็นหมู แต่ก่อนอื่นตัวเธอได้รับการช่วยเหลือชี้ชักนำทางจาก Haku ทำงานลูกจ้างโรงอาบน้ำของ Yubaba (พากย์เสียงโดย Mari Natsuki) ขายชื่อ/วิญญาณ เอาตัวเองให้รอดเสียก่อนถึงค่อยคิดช่วยเหลือผู้อื่น
Rumi Hiiragi (เกิดปี 1987) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo เข้าสู่วงการตั้งแต่เด็กจากผลงาน Suzuran (1999) ฉายช่อง NHK ได้รับการติดต่อจาก Miyazaki ให้พากย์เสียงอนิเมะเรื่อง Spirited Away (2001) สร้างความประทับใจให้กับทีมงานอย่างมาก เลยได้หวนกลับมาพากย์เสียงอีกสองครั้งเรื่อง Ponyo on the Cliff by the Sea (2008) และ From up on Poppy Hill (2011)
พากย์เสียง Chihiro/Sen เด็กหญิงสาวตัวเล็กๆ จอมซุ่มซ่าม ขวัญอ่อน หวาดขลาดกลัวแม้ในสิ่งเล็กๆ (เดินลงบันได, กลัวที่จะเคาะประตู ฯ) แต่ค่อยๆเรียนรู้จักที่จะมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว คิดตัดสินใจทำอะไรด้วยตนเอง และเป็นผู้มีความกตัญญูรู้คุณ เมื่อเห็น Haku ทุกข์ทรมานก็พร้อมยินยอมให้การช่วยเหลือเสียสละ ชื่อเสียงเงินทองไม่ใช่สิ่งสำคัญ กลับบ้านพร้อมครอบครัวต่างหากคือเป้าหมายสูงสุด
เกร็ด: Chi,/Sen/千 แปลว่า หนึ่งพัน (ตัวอักษรเดียวกันแต่อ่านออกเสียงได้หลายอย่าง), Chihiro/千尋 แปลว่าความลึกหนึ่งพันฟาทอม (Fathom), ยากจะหยั่งรู้จิตใจ
น้ำเสียงของ Hiiragi ในช่วงแรกๆเต็มไปความหวาดหวั่นสั่นกลัว (คงเพราะยังไม่คุ้นเคยกับการพากย์เสียงสักเท่าไหร่) แต่จักค่อยๆมีความมั่นใจขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเต็มเปี่ยมด้วยความเด็ดเดี่ยวหนักแน่นในช่วงท้าย สะท้อนพัฒนาการของตัวละครออกมาได้อย่างลงตัว
ในมุมของ Miyazaki เล่าว่าได้สร้าง Chihiro เป็นเพียงเด็กหญิงสาวธรรมดาๆ แต่ผู้ชมจะรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ห่วงใย รู้สึกสงสาร ซึ่งสิ่งที่เธอแสดงออกมามิใช่วิวัฒนาการเจริญเติบโต แต่คือบางสิ่งอย่างอยู่ในตัวละครอยู่แล้ว ค่อยๆเรียนรู้วิธีการนำเสนอออกมา
“I created a heroine who is an ordinary girl, someone with whom the audience can sympathize. It’s not a story in which the characters grow up, but a story in which they draw on something already inside them, brought out by the particular circumstances.”
Miyu Irino (เกิดปี 1988) นักพากย์จาก Tokyo ต้องถือว่าแจ้งเกิดกับ Spirited Away (2001) ตามด้วย Sena Kobayakawa เรื่อง Eyeshield 21, Kōyō Kasugai เรื่อง Fafner in the Azure, Emiya Kiritsugu วัยเด็ก เรื่อง Fate/Zero, Todomatsu Matsuno เรื่อง Osomatsu-san ฯ
พากย์เสียง Haku เด็กชายหนุ่มครึ่งมังกร ลูกน้องคนโปรดของ Yubaba ดูเป็นคนนิสัยดีเพราะให้การช่วยเหลือชี้นำ Chihiro แต่กลับมักทำสิ่งร้ายๆตามคำสั่งของเจ้านาย ให้ไปขโมยของ Zeniba ถูกทำร้ายบาดเจ็บสาหัส โชคดีได้รับการช่วยเหลือจึงสามารถเอาตัวรอด รู้สำนึกบุญคุณเลยต้องการตอบแทนเด็กหญิงที่ยังช่วยให้ระลึกชื่อจริงของตนเองได้อีก
ตัวตนแท้จริงของ Haku คือวิญญาณของแม่น้ำสาย Kohaku River ซึ่งครั้งหนึ่งเคยช่วยเหลือชีวิต Chihiro ให้รอดพ้นจากการจมน้ำ การสูญเสียความทรงจำและอดีตของเขา สะท้อนถึงสภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปของโลกมนุษย์ จากเคยมีที่อยู่อาศัยในแหล่งน้ำใสสะอาด พอถูกมลภาวะของมนุษย์ทอดทิ้งขยะสิ่งปฏิกูลลงไปก็มิอาจอยู่ต่อได้ ต้องมาหลบซ่อนติดกับอยู่ที่โรงอาบน้ำแห่งนี้
ซึ่งช่วงเวลาที่ Haku ระลึกถึงอดีตของตนเองได้ นั่นคือขณะที่จิตใจของ Chihiro ผ่านการชะล้าง มีความสดใสบริสุทธิ์ ราวกับทำให้อนาคตของ Kohaku River กลับคืนมาน่าอยู่อีกครั้งหนึ่ง คำสัญญาของทั้งสองว่าสักวันอาจได้พบกันอีก มองได้คือการพยากรณ์ของผู้กำกับ Miyazaki สักวันหนึ่งในอนาคตเมื่อมนุษย์มีดวงจิตผ่องแผ้วบริสุทธิ์ดีงาม เมื่อนั้นธรรมชาติก็ยอมหวนกลับคืนมาสะอาดสดใสได้อีกครั้ง
เกร็ด: ชื่อจริงของ Haku คือ Nigihayami Kohakunushi เป็นชื่อเทพเจ้าแห่งสายน้ำสีอำพัน Nigihayahi, ซึ่งคำว่า Haku/Kohaku แปลว่า สีเหลืองอำพัน
เสียงนุ่มๆของ Irino มีความสุภาพอ่อนโยน สร้างมิติให้ตัวละครเหมือนผู้ดีมีระดับชนชั้นสูง แม้การกระทำจะตรงกันข้ามแสนชั่วร้าย แต่ใครๆคงรับรู้ได้ว่ามิใช่จากความต้องการตัวตนแท้จริง, ผมค่อนข้างคุ้นเสียงนักพากย์คนนี้พอสมควร นึกตั้งนานว่าเคยได้ยินที่ไหน หาข้อมูลพบเลยร้องอ๋อ นี่คงเป็นเรื่องแจ้งเกิดสินะ ปัจจุบันกลายเป็น Seiyuu ชื่อเสียงโด่งดัง ฝีมือเยี่ยมทีเดียว
Mari Natsuki ชื่อจริง Junko Nakajima (เกิดปี 1952) นักร้อง นักเต้น นักแสดงจาก Tokyo โด่งดังมีชื่อเสียงจากการเป็นนักร้องตั้งแต่เด็ก ตามด้วยละครเพลง ให้เสียงพากย์ รับเล่นภาพยนตร์บ้างประปราย
พากย์เสียง Yubaba (แปลว่า Bathhouse Witch) กับ Zeniba (แปลว่า Money Witch) ฝาแฝดแม่มดที่ไม่ถูกชะตากันสักเท่าไหร่,
– Yubaba เป็นเจ้าของดูแลโรงอาบน้ำ อาศัยอยู่ชั้นบนสุด ร่ำรวยฐานะเงินทอง แต่เย่อหยิ่งยโส โลภมาก ไม่สนใจอย่างอื่น มีหลานคนหนึ่งชื่อ Boh (แปลว่า Baby) ตัวใหญ่โตแต่ชอบกกตัวอยู่ในห้องนอนใต้สุมหมอน และยังชอบรุกราน Zeniba ไม่รู้ด้วยเรื่องอะไร
– Zeniba ตรงกันข้ามเป็นคนง่ายๆ อาศัยอยู่ชนบทโดดเดี่ยว มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมตตาปราณี ไม่ชอบรุกรานใคร แต่กลับมักถูก Yubaba หาเรื่องเหมือนเรียกร้องความสนใจ จึงตอบโต้กลับด้วยการใช้เวทย์มนต์แปลงร่างหลาน Boh ให้กลายเป็นหนูตัวเล็กๆ ได้รับการเยี่ยมเยือนตอนดึกดื่น
ก่อนที่ Yubaba จะยินยอมรับ Chihiro เข้าทำงานในโรงอาบน้ำ จะต้องมีการเซ็นสัญญา เปลี่ยนชื่อของเธอเป็น Sen เพื่อให้หลงลืมอดีต ตัวตน ความตั้งใจของตนเอง กลายเป็นเพียงข้าทาสรับใช้ผู้ซื่อสัตย์ ก้มหัวหลับหูหลับตาทำงาน ไม่สนใจอะไรอย่างอื่นนอกจากเงิน นี่เรียกว่าเป็นการ ‘ขายวิญญาณ’ ให้กับปีศาจโดยแท้, ซึ่งนัยยะนี้เป็นการสะท้อนถึง มนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย ต่างก้มหน้าก้มตาทำงานงกๆ เงินเดือนก็แสนน้อยนิด ไม่สนอย่างใจอะไรอย่างอื่นนอกจากการมีชีวิตเอาตัวรอด
เสียงพากย์ของ Natsuki แม้จะเหมือนกันเปะๆ แต่อารมณ์ที่ถ่ายทอดออกมาตรงกันข้าม กับ Yubaba มักเต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราดโกรธแค้น, Zeniba จะนุ่มนวลอ่อนหวาน มองหน้าสองตัวละครอาจแยกไม่ออก แต่ถ้าหลับตาตั้งใจฟังน่าจะพอมองเห็นภาพได้ (นี่สะท้อนถึงภาพลักษณ์ภายนอกของคน มิอาจพิสูจน์ตัวตนแท้จริงภายในได้)
เกร็ด: ตัวละคร Yubaba มักได้รับการเปรียบเทียบว่าคล้ายกับ The Coachman จากอนิเมชั่นเรื่อง Pinocchio มีความสามารถในการแปลงเด็กชายให้กลายเป็นลิงที่ Pleasure Island
Bunta Sugawara (1933 – 2014) นักแสดงรุ่นใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Sendai, Miyagi Prefecture มีชื่อเสียงโด่งดังจากแฟนไชร์ Battles Without Honor and Humanity (1973), Torakku Yarō (1975) ฯ พอสูงวัยได้รับการชักชวนให้พากย์เสียงอนิเมชั่น นอกจาก Spirited Away ก็ยังมี Tales from Earthsea (2006), Wolf Children (2012) ฯ
พากย์เสียง Kamaji (แปลว่า Boiler Wizard) ชายสูงวัยหัวล้าน สวมแว่นดำ หนวกดก มีหกมือยืดหดได้ มีหน้าที่ต้มน้ำบดยาสมุนไพร ก่อนส่งไปเพื่อใช้อาบน้ำลูกค้าด้านบน, เพราะต้องทำงานตามหน้าที่ไม่มีหยุดพัก เลิกไม่ได้ ราวกับเครื่องจักร กลไกสำคัญของโรงอาบน้ำนี้ ยิ่งกว่าแรงงานทาส บ่นเยอะแต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะทุกชีวิตขึ้นอยู่กับเขาเพียงคนเดียว
ภาพลักษณ์ของ Kamaji คือแมงมุม (Spider Yōkai) ชักใยบงการอยู่เบื้องหลัง แต่จริงๆแล้วเหมือนข้าทาสคนรับใช้ ทำงานหนักแต่ก็ไม่รู้ได้อะไรตอบแทน
เสียงพากย์ของ Sugawara สร้างสีสันให้กับตัวละครพอสมควร แม้จะไม่มีบทบาทอะไรมาก หลับหูหลับตาทำงานตามหน้าที่ แต่เมื่อเห็นผู้อื่นเดือดร้อนก็อดใจให้ความช่วยเหลือไม่ได้
ลูกน้องของ Kamaji คือ Susuwatari (ปีศาจฝุ่น) ตัวกลมๆสีดำๆ หน้าที่ของพวกมันคือแบกถ่านหินโยนใส่เตาไฟเพื่อต้มน้ำให้เดือด, สติปัญญาของพวกมันราวกับเด็ก 5 ขวบ ดีใจเว่อเมื่อได้ลูกกวาดดาว (Kompeitô) ตอนที่เห็น Chihiro ทำงานโยนถ่านหินแทนพวกของตน ตัวอื่นๆเลยเรียกร้องเลียนแบบอย่าง แต่ก็ไม่เป็นผลอะไร
ในบริบทนี้ Susuwatari เปรียบได้กับกรรมกรชั้นต่ำ ไม่มีสิทธิ์เสียงหน้าตา หรือคำพูดเรียกร้องอะไรได้ทั้งนั้น วันๆเอาแต่ใช้แรงงาน ได้ลูกกวาดดาวที่แทบไร้ค่ากลับดี๋ด๋าดีใจเสียเหลือเกิน ซึ่งเมื่อครั้งหนึ่งเห็นใครสักคนทำบางสิ่งแล้วได้ดี ก็แห่กันเลียนแบบตาม Strike นัดหยุดงาน เพื่อเรียกร้องขอบางสิ่งอย่าง
เกร็ด: Susuwatari เป็นปีศาจฝุ่นตัวเดียวกับ My Neighbor Totoro (1988)
ครั้งหนึ่งในโรงอาบน้ำ มีปีศาจตนหนึ่งร่างกายเต็มไปด้วยสิ่งโสโครกส่งกลิ่นคละคลุ้ง ใครๆต่างเรียกว่า Stinky Spirit แต่แท้จริงแล้วคือ River Spirit (คำเรียกภาษาไทยคือ ผีเสื้อน้ำ) วิญญาณแห่งสายน้ำ ที่ถูกมนุษย์ทิ้งๆขว้างๆ มีขยะก็โยนลงน้ำ ไม่ช่วยกันดูแลรักษาจนสกปรกโสโครก แม้แต่ฝูงปลาก็มิอาจว่ายเวียนอาศัยอยู่
แรงบันดาลใจของฉากนี้ได้มาจากเหตุการณ์จริง ครั้งหนึ่งที่ Miyazaki น่าจะสมัยเด็กๆเคยช่วยขุดลอกคูคลอง ทำความสะอาดลำธารแถวบ้าน จดจำฝังใจกับเศษซากรถจักรยาน (ดีไม่เจอโครงกระดูก) เลยนำมาเป็นแบบอย่างไฮไลท์ของซีนนี้
นัยยะของฉากนี้มี 2 ระดับ
1) สะท้อนพฤติกรรม สันดานของมนุษย์ ที่โดยไม่รู้ตัวชอบโยนนี่นั่นลงแม่น้ำลำคลองท้องทะเล ทำให้สิ่งแวดล้อมเต็มไปด้วยมลพิษ ขยะเกลื่อนกลาด แบบนี้ชุนชมมันจะน่าอยู่อาศัยกันได้อย่างไร
2) นัยยะของอนิเมะ เป็นการชะล้างสิ่งสกปรกที่อยู่ในจิตใจของตัวละคร
สิ่งตอบแทนที่ Chihiro ได้มาจาก River Spirit คือลูกกลอนอาเจียน (Emetic Dumpling) ไม่ว่าเคยกินอะไรเข้าไปก็จะคายออกหมด
Chihiro สามารถนำลูกกลอนนี้ไปให้พ่อ-แม่ ที่กลายเป็นหมูกิน ก็น่าจะสามารถคายอาหารทุกอย่างออกหมด หวนกลับคืนเป็นมนุษย์ได้แน่ แต่เธอกลับนำไปใช้ช่วย Haku และ Kaonashi (No-Face) คายสิ่งชั่วร้ายที่อยู่ในท้องพวกเขาออกมา เรื่องราวมันเลยนำไปสู่มิตรภาพและความคาดไม่ถึง (นี่คงเป็นสิ่งที่ Miyazaki บอกว่า ‘ตัวเขาไม่สามารถคาดการณ์ตอนจบของเรื่องราวได้’ เพราะเจ้าลูกกลอนนี้ คงตั้งใจใส่เข้ามาเพื่อให้ Chihiro ช่วยเหลือพ่อแม่ แต่กลับพลิกผันถูกนำไปใช้อย่างอื่นแทน)
แซว: ยัย Yubaba เป็นผู้นำที่โคตรเห็นแก่ตัว ให้คนอื่นใช้แรงงานแล้วตัวเองออกเชียร์ ไม่ยอมเปลอะเปลื้อนตัวเองเลยสักนิด (ตอนดึงออก จะเห็นยัยแกหลบแอบซ่อนอยู่หลังฉาก)
Kaonashi (No-Face, Faceless, ไร้หน้า) วิญญาณล่องลอยไร้หลักแหล่ง ลำตัวโปร่งใส สวมหน้ากาก มีความสามารถเสกทองขึ้นจากอากาศได้
ด้วยความมีเมตตาของ Chihiro ที่เห็นยืนตากฝนเลยเรียกให้เข้ามาหลบ โดยไม่รู้เหมือนจะชื่นชอบตกหลุมรัก ให้ความช่วยเหลือด้วยการนำเอาแผ่นยาสมุนไพรมอบให้ตอนทำความสะอาด River Spirit พบเห็นผู้คนมากมายหลงใหลในทองจึงเสกมันขึ้นมากลางอากาศ เรียกร้องความสนใจจากผู้คนมากมายที่เต็มไปด้วยความโลภละโมบ ปรนเปรอบำเรอนิบัติ พยายามอย่างยิ่งจะยื่นมอบทองให้กับเด็กหญิงสาว แต่เธอกลับไม่สนใจรับ สร้างความเกรี้ยวกราดให้อย่างรุนแรง
ตัวละครและเรื่องราวนี้ สะท้อนถึงความละโมบโลภมากของมนุษย์ที่ไม่รู้จักพอ บริโภคมันทุกสิ่งอย่าง เห็นใครร่ำรวยก็ประจบสอพลอ ไร้หน้าไร้ตาแปลว่าเป็นใครก็ได้ ที่คิดว่าเงินทองสามารถแลกทุกสิ่งอย่าง แต่กลับมิอาจซื้อจิตใจของคนที่ตนตกหลุมรักได้ จนสุดท้ายเมื่อไม่รู้จักพอเหมือนชูชก ทุกสิ่งที่กลืนกินถูกคะยอกคายออกมาหมดสูญสิ้นไม่หลงเหลืออะไร
เป็นอีกครั้งที่ Miyazaki ออกแบบตัวละครให้นั่งยองๆเหมือนกบ สะท้อนถึงวิวัฒนาการของตัวละคร จากตอนแรกที่ยืนเหมือนมนุษย์ แต่กลับถดถอยย้อนเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเสียอย่างนั้น (เหตุผลของหนังที่ไร้หน้าต้องนั่งยองๆ เพราะสัตว์ตัวแรกที่กินเข้าไปก็คือกบ)
Art Direction โดย Yôji Takeshige จากเป็นนักวาดพื้นหลังเรื่อง My Neighbor Tororo (1988) ก้าวขึ้นมาเป็น Art Director เรื่อง Princess Mononoke (1997) หลังจากนี้คือ Howl’s Moving Castle (2004) และ The Wind Rises (2013)
เมืองในโลกวิญญาณ ได้แรงบันดาลใจจาก Edo-Tokyo Open Air Architectural Museum ตั้งอยู่ที่ Koganei, Tokyo พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง รวบรวมสิ่งก่อสร้างต่างๆของญี่ปุ่น สถาปัตยกรรมในยุค Meiji Era, สถานที่นี้ Miyazaki เวลาครุ่นคิดอะไรไม่ออก ชอบที่จะไปแวะเยี่ยมเยือน เพราะทำให้เขาเกิดความรู้สึกหวนระลึก (Nostalgia) เป็นสุขใจ
“especially when I stand here alone in the evening, near closing time, and the sun is setting – tears well up in my eyes.”
สำหรับโรงอาบน้ำ ได้แบบอย่างจาก Dōgo Onsen ตั้งอยู่ที่ Matsuyama, Ehime Prefecture บนเกาะ Shikoku สถานที่แห่งนี้เป็นหนึ่งในบ่อน้ำร้อน/ออนเซ็น เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น อายุเกิน 1,000 ปี
ชั้นบนสุดของโรงอาบน้ำ ห้องทำงาน/อพาร์ทเม้นท์ของ Yubaba สังเกตว่าแทบทุกสิ่งอย่างจะอ้างอิงจากยุโรป สถาปัตยกรรม, เฟอร์นิเจอร์, เสื้อผ้าตัวละคร, เครื่องประดับ ฯ ล้วนเป็นสิ่งของที่ประเทศญี่ปุ่น ในยุคสมัย Meiji Era รับอิทธิพลความหรูหราไฮโซราคาแพงเข้ามา สะท้อนความร่ำรวยอู้ฟู่ ยึดติดในเงินตราทุนนิยม
ขณะที่บ้านนอกของ Zeniba มีความตรงกันข้ามกับชื่อ อาศัยอยู่ชนบทอย่างเรียบง่าย ไม่มีอะไรฟุ่มเฟ้อสิ้นเปลือง กระท่อมหลังเล็กๆ แต่เอ่อล้นด้วยความสุขกายสบายใจ
เพลงประกอบโดย Joe Hisaishi นักแต่งเพลงขาประจำของ Miyazaki ที่ร่วมงานกันมานับครั้งไม่ถ้วน ใช้บริการของ New Japan Philharmonic จัดเต็มทรงพลังอลังการ สวยงาม ไพเราะ ตราตรึงทุกบทเพลง
ลักษณะบทเพลงของ Hisaishi คือการสร้าง Impression ให้กับตัวละครและเรื่องราว ไม่เน้นกรีดกราย Expression ด้วยเหตุนี้จึงมีสัมผัสอันงดงาม ตราตรึง เข้ากับพื้นหลังบรรยากาศ เสริมสร้างโลกใบนี้ให้มีความน่าจดจำยิ่งขึ้น
เพราะผมฟัง Soundtrack ของอนิเมะเรื่องนี้มาบ่อยมากเกิน จนรู้สึกทุกบทเพลงมีความไพเราะเหมือนกันไปหมด ไม่รู้จะเลือกอะไรมานำเสนอดี หลับหูหลับตาหยิบ Reprise/Again บทเพลงขณะที่มังกรกำลังโบยบินบนท้องฟ้า แล้วอยู่ดีๆ Chihiro หวนระลึกนึกชื่อจริงของ Haku ขึ้นมาได้ ตอนที่เกร็ดมังกรแตกสลาย (พร้อมเสียงกระจกแก้วแตกร้าว) แถมด้วยหยดน้ำตาเม็ดเป้งๆจากความดีใจ นี่เป็นฉากทีี่อนิเมชั่นมีความละเอียดอ่อน ระยิบระยับตระการตา ซาบซึ้งกินใจน่าจะที่สุดในเรื่องแล้ว
กระนั้นฉากที่มีภาพวาดสวยงามตราตรึงที่สุด คือช่วงขณะบทเพลง Sixth Stop ฉากที่ Chihiro และผองเพื่อนโดยสารรถไฟ เดินทางสู่สถานีที่หก ตะวันค่อยๆเคลื่อนคล้อยตกดิน ไม่มีคำพูดสนทนาใดๆดังขึ้น (ฉากนี้คือเสี้ยวหนึ่งของ ‘ลมหายใจ’ ที่เกริ่นไปตอนต้นนะครับ)
นัยยะของฉากนี้ รถไฟเคลื่อนคล้อย ตะวันตกดิน ต่างสะท้อนถึงวัยเด็กที่กำลังจะจบสิ้นลงของ Chihiro พร้อมแล้วที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ไม่ต้องมีคำบรรยายใดๆ ทุกสิ่งดำเนินเป็นไปโดยธรรมชาติ
One Summer’s Day คือ Main Theme ของอนิเมะเรื่องนี้ เดิมเป็นบทเพลงไม่มีคำร้อง แต่ภายหลังเมื่อใส่เข้าไปเปลี่ยนชื่อเป็น The Name of Life (Inochi no Namae) [เรียกได้ทั้งสองชื่อ] ขับร้องโดย Ayaka Hirahara
ฉบับในอนิเมะก็ไพเราะอยู่นะ แต่เทียบไม่ได้เลยกับตอนที่ Hirahara ขับร้องตอนคอนเสิร์ต Studio Ghibli 25 Years Concert ที่ Budokan ปี 2008
สำหรับบทเพลง Ending Credit ชื่อว่า Always With Me (Itsumo Nando-demo) แต่งทำนอง/ขับร้องโดย Youmi Kimura ส่วนคำร้องโดย Wakako Kaku
เดิมนั้น Miyazaki ตั้งใจให้บทเพลงนี้ใช้ประกอบอนิเมชั่นอีกเรื่อง Rin the Chimney Painter แต่กลับไม่เคยได้สร้างสักที ซึ่งเห็นว่าระหว่างโปรดักชั่น Spirited Away ตัวเขาชื่นชอบเปิดบทเพลงนี้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ จนสุดท้ายตัดสินใจใส่เป็น Ending Credit เสียเลย
พ่อ-แม่ ของ Chihiro ด้วยความละโมบโลภ เมื่อมาถึงสถานที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแห่งหนไหน ก็ทำการบริโภคกอบโกย ตะกละตะกลามก่อนเลยไร้สามัญสำนึก นี่สะท้อนถึงค่านิยมของมนุษย์สมัยนี้-นั้น ที่กินไม่เลือกเหมือนหมู แถมไม่รู้จักพออีกต่างหาก ทำให้ค่อยๆสูญเสียจิตวิญญาณ คุณค่าความเป็น ‘มนุษย์’ สิ้นไป
Spirited Away เป็นเรื่องราวของการกอบกู้ ฟื้นฟู จิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ที่สูญเสียไปให้หวนคืนกลับมา ไม่ใช่แค่กับพ่อ-แม่ แต่รวมถึง Chihiro ต้องเรียนรู้ เติบโต เลือกที่จะไม่ให้กลายเป็นอย่างพวกเขา ปลูกฝังแนวคิดค่านิยม ชื่อเสียงเงินทองหาใช่สิ่งสำคัญที่สุดของชีวิต
โรงอาบน้ำ สถานที่ชะล้างทำความสะอาดร่างกาย (และจิตใจ) แต่การบริหารจัดการ สามารถมองเป็นตัวแทนของชนชั้นทางสังคมในระบอบทุนนิยม, Chihiro ต้องเริ่มไต่เต้าจาก
– ชนชั้นล่างสุดพบเจอ Kamaji และ Susuwatari ตัวแทนของกรรมกรผู้ใช้แรงงาน (Chihiro ทำงานแค่โยนถ่านหินก้อนเดียว ก็สามารถก้าวหน้าเลื่อนขั้นได้เลย)
– ชนชั้นกลาง เต็มไปด้วยพนักงานจำนวนมากหน้าหลากหลาย (ประชากรส่วนใหญ่ของโรงอาบน้ำอยู่ที่นี่) ทำงานงกๆ เหมือนพนักงานบริษัทกินเงินเดือน
– ชนชั้นสูง ระดับผู้บริหาร Yubaba อาศัยอยู่ชั้นบนสุด ร่ำรวยเงินทอง เอ่อล้นด้วยอำนาจ
แซว: แต่ก็มีคนที่ใหญ่กว่า Yubaba นะครับ นั่นคือลูก/หลานชาย Boh เห็นร้องไห้งอแงทีไร แม่ก็จ้าละหวั่นโดยทันที
มีสองเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้นในโรงอาบน้ำแห่งนี้ มีความตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง
– การมาถึงของ River Spirit เริ่มต้นด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นวิญญาณสิ่งสกปรก แต่เมื่อชะล้างดึงความโสโครกออกไป ก็กลับกลายเป็นบริสุทธิ์สดใสใหม่เอี่ยมสะอาด นี่ทำให้ Chihiro ได้รับการยกย่องเชิดชู
– ขณะที่ Kaonashi มาด้วยคำสรรเสริญเยินยอ เสกทองขึ้นมาแจกจ่ายจนผู้คนคลั่งไคล้ แต่ไม่นานสันดานความชั่วร้ายเริ่มออก เมื่อล้วงคอนำทุกสิ่งอย่างออกมา ก็แทบไม่หลงเหลืออะไรมีค่าให้น่านับถือ ซ้ำร้าย Chihiro ยังถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดปัญหา
ทั้งสองเหตุการณ์ จะเห็นว่ามี Chihiro เป็นจุดศูนย์กลาง คือผู้ชำระล้างดึงความสกปรกโสโครกชั่วร้ายออกจากร่างกาย ให้กลับกลายเป็นบริสุทธิ์เหมือนใหม่ นี่ย่อมสะท้อน/แสดงออก/ทำให้จิตใจของเด็กหญิง มีความสดใสไร้มลทินเหมือนกันด้วย
การเดินทางขึ้นรถไฟสู่บ้านของ Kamaji สะท้อนถึงความเพียงพอแล้วกับโลกระบอบทุนนิยม ที่พบเจอแต่ความเหน็ดเหนื่อยยุ่งยาก ว้าวุ่นวายใจ มุ่งหาความสงบสุขสันติยังบ้านนาชนบท ซึ่ง Chihiro ในช่วงขณะนี้ ราวกับว่าได้เติบโต มีความคิดอ่าน กลายเป็นผู้ใหญ่กล้าตัดสินใจอะไรๆด้วยตนเองแล้ว, แต่ขณะที่คนอื่นๆในรถไฟขบวนนี้มีลักษณะโปร่งแสง หน้าดำ ไร้ตัวตน สะท้อนถึงจิตวิญญาณของมนุษย์ทำงานทั้งหลายที่กำลังเดินทางกลับบ้าน พวกเขาเหมือนคนที่ไร้ชีวิตชีวา ถูกสูบเลือดเนื้อกายใจไปหมดสิ้น ไร้เป้าหมายรอวันตายก็แค่นั้นเอง
สำหรับสัญลักษณ์ที่บ่งบอกการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของ Chihiro คือที่รัดผม อันเกิดจากน้ำพักกำลังแรงของ Zenibaba และผองเพื่อนๆทั้งหลายของเธอ ร่วมกันหมุนปั่นถักร้อย มอบให้เป็นของที่ระลึก และความทรงจำของชีวิต
ยางรัดผม เป็นของที่เด็กผู้หญิงผมยาวมักต้องมีติดตัวตลอดเวลา ไว้ใช้มัดรวบให้เกิดความเรียบร้อยสวยงาม ถือเป็นสิ่งสัญลักษณ์สะท้อนการเติบโตเป็นสาว/ผู้ใหญ่ ได้เป็นอย่างดี
นี่เป็นช็อตๆเล็กๆที่น่ารักดีนะ สะท้อนตรงๆถึงคำว่า Rat Race สะท้อนชีวิตของมนุษย์เงินเดือน ที่วิ่งวนไปเรื่อยๆในกงล้อ จนกว่าจะครุ่นคิดได้หรือค้นพบทางออก ถึงสามารถหลุดพ้นออกมาจากวงจรวัฏจักรชีวิตนี้
‘หมูตัวไหนคือพ่อและแม่ของเธอ?’ เชื่อว่าหลายคนคงเกิดคำถามค้างคาใจ ทำไม Chihiro ถึงสามารถตอบคำถามนี้ได้ถูกต้อง? อันนี้ผมก็ไม่รู้นะ ความทรงจำของเธออาจดีจริงๆก็ได้ (เพราะรักและเป็นห่วงพ่อแม่ของตนเองมาก เลยจดจำได้ทุกรายละเอียด)
แต่ถ้ามองเป็นคำถามเชิงปรัชญา น่าจะทำความเข้าใจได้ง่ายกว่า เพราะ ‘หมู’ คือสัตว์สัญลักษณ์ของความโลภละโมบ บริโภคกอบโกย แนวคิดหลักการของระบอบทุนนิยม ซึ่งการที่เด็กหญิงไม่เลือกหรือไม่พบเจอพ่อ-แม่ เป็นหนึ่งในนั้น นั่นเพราะเธอไม่ต้องการเติบโตขึ้นกลายเป็นส่วนหนึ่ง หรือบุคคลลักษณะนั้น (การไม่ปรากฎอยู่ของ พ่อ-แม่ ไม่ได้แปลว่าพวกเขาหลุดออกจากการเป็นผู้ยึดติดในระบอบทุนนิยมหรอกนะ คำถามนี้สื่อถึงเฉพาะ ‘การเลือก’ เด็กหญิงเท่านั้น)
ไฮไลท์ของช็อตนี้คือการจัดวางองค์ประกอบ Chihiro เดินข้ามสะพานมาเลือก สองคนที่ขัดขวางคือ เด็กและคนแก่ ขณะที่บริเวณรอบข้างมีกองเชียร์ล้นหลาม (ทุกคนล้วนเป็นหมูในคอก ผู้พ่ายแพ้ต่อการเลือกทั้งนั้น)
ตอนต้นเรื่อง พ่อ-แม่ และ Chihiro เดินทางมาถึง Spirit World พวกเขาเดินขึ้นในทิศทางไปทางซ้าย (ด้านย้อนศรความปกติ แบบเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง The Graduate)
ขณะที่ตอนจบจะพบเห็นเพียง Chihiro วิ่งลงเขากลับมาในทิศทางไปทางขวา นั่นเพราะมีเธอคนเดียวที่สามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติความคิดไปในทิศทางตรงกันข้าม (ตรงนี้เป็นการสื่อกลายๆ ว่าพ่อ-แม่ ของเธอไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไร คงไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเกิดอะไรขึ้น)
สังเกตก้อนเมฆก็มีลักษณะแตกต่างออกไปด้วย จากรวมเพียงหนึ่งแยกออกสองเป็น นัยยะถึงความเป็นเอกเทศน์ตัวตนของ Chihiro เลิกที่จะกระจุกตัวพึ่งพาตนเองได้ ไม่จำเป็นต้องเดิน-วิ่ง ตามหลังพ่อ-แม่ ของอีกต่อไป
คำว่า ‘ผู้ใหญ่’ มันไม่ใช่แค่ร่างกายเจริญเติบโตเต็มวัย อายุ 18-20-25 ปี แต่ยังรวมถึงวุฒิสภาวะทางจิตใจอารมณ์ ที่สามารถเรียนรู้ ทำความเข้าใจ มีสติปัญญาครุ่นคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ตัดสินใจด้วยตนเองได้, มีเยอะแยะถมไปคนที่ร่างกายเติบโตเต็มวัยแต่จิตใจยังเหมือนเด็ก และตรงกันข้ามตัวยังเล็กแต่มีความคิดอ่านเหมือนผู้ใหญ่ สิ่งที่จะเป็นดัชนีชี้วัดความเป็นผู้ใหญ่ ในมุมมองของผมคือ การรู้จักคำว่า ‘รับผิดชอบ’ ต่อตนเองและสังคม
โลกเราทุกวันนี้พบเจอได้บ่อย กับคนที่ร่างกายเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่จิตใจ สติปัญญา ยังขาดการครุ่นคิดให้รอบคอบ แสดงออกเหมือนกับเด็กน้อย ขาดสติ ไร้สามัญสำนึก Spirited Away ขายจิตวิญญาณให้กับปีศาจ แล้วสุดท้ายหลงลืมชื่อตนเอง ความต้องการ เป้าหมายสูงสุดของชีวิต ถูกกลืนกินกลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวงเวียนวัฏจักรชีวิตไม่มีที่สิ้นสุด
ระดับสูงสุดของภาพยนตร์เรื่องนี้ เมื่อการชำระล้างความชั่วร้ายในจิตวิญญาณ ถึงระดับหมดสิ้นแล้วซึ่งกิเลส ไร้ความหลงใหลยึดติดต่อสิ่งใดๆ ย่อมเกิดความพอเพียง สันโดษ มุ่งสู่ปลายทาง คือการหลุดพ้นไม่กลับมาเกิด, เอาจริงๆ Miyazaki สามารถนำทางอนิเมะเรื่องนี้ให้ไปถึงจุดนั้นได้สบายๆ แต่เป้าหมายความสนใจของเขาคือ เพื่อให้เด็กหญิงอายุ 10 ขวบ เมื่อพวกเธอรับชมสามารถชื่นชอบ ทำตาม เป็นแบบอย่างให้กับตนเอง ‘held dear in their hearts’ นี่แหละชีวิตที่ฉันวาดฝันต้องการ
การจะรับชมอนิเมชั่นเรื่องนี้ ไม่จำเป็นต้องจินตนาการตัวเองให้กลายเป็นเด็กหญิงอายุ 10 ขวบนะครับ วัยไหนก็สามารถรับชมได้ และอาจพบเห็นเข้าใจ มีทัศนคติมุมมองที่แตกต่างออกไป นี่สะท้อนถึงความมหัศจรรย์ยิ่งของอนิเมะเรื่องนี้ที่เหมาะกับทุกคนทุกเพศทุกวัย
ด้วยทุนสร้าง ¥1.9 พันล้านเยน (=$15 ล้านเหรียญ) สตูดิโอ Disney ร่วมออกให้ประมาณ 10% ทำเงินเฉพาะในญี่ปุ่นทุบสถิติของ Princess Mononoke และ Titanic ลงได้อย่างราบคาบ กลายเป็นภาพยนตร์/อนิเมชั่น ทำเงินสูงสุดในญี่ปุ่นที่ ¥30.4 พันล้านเยน (=$229.6 ล้านเหรียญ) ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของโลกด้วย ที่ทำเงินทั่วโลกก่อนฉายอเมริกาเกิน $200 ล้านเหรียญ
ในญี่ปุ่นอนิเมชั่นเรื่องนี้กวาดเรียบทุกสถาบัน ไม่ใช่แค่สาขา Best Animated Film แต่ยังไปแย่งภาพยนตร์ยอดเยี่ยม Best Film มาจนหมดเกลี้ยง
- Animation Kobe: Theatrical Film
- Blue Ribbon Awards: Best Film
- Mainichi Film Awards:
- Best Film
- Best Animated Film
- Best Director
- Japan Academy Award:
- Best Film
- Award for Distinguished Service from the Chairman (สำหรับ Hayao Miyazaki)
- Special Award from the Association (Youmi Kimura ขับร้อง Theme Song)
ออกฉายต่างประเทศครั้งแรกในเทศกาลหนังเมือง Berlin คว้ารางวัล Golden Berlin Bear เคียงคู่กับ Bloody Sunday (2002) ของผู้กำกับ Paul Greengrass
สำหรับอเมริกา มีการเปิดฉายรอบพิเศษที่สตูดิโอ Pixar โดย John Lasseter ตามด้วยได้รับการพากย์เสียงอังกฤษจากสตูดิโอ Walt Disney ฉายรอบปฐมทัศน์ครั้งแรกที่เทศกาลหนังนานาชาติ Toronto ออกฉายจำกัด 151 โรง แต่พอคว้า Oscar: Best Animation Feature ก็ขยายเพิ่มขึ้นเป็น 714 โรง ทำเงินได้ตลอดโปรแกรม $10 ล้านเหรียญ รวมทั้วโลกทั้งหมด $264.8 ล้านเหรียญ (อ้างอิงจาก Boxofficemojo.com)
ถือเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นสองมิติ จากประเทศอื่นที่ไม่ใช่อเมริกาเรื่องแรก ที่คว้ารางวัล Oscar: Best Animation Feature แต่ผู้กำกับ Hayao Miyazaki ปฏิเสธไม่เข้าร่วมงาน เพราะตัวเขาไม่เห็นด้วยต่อต้านการที่สหรัฐอเมริกาทำสงครามกับประเทศอิรัก ซึ่งตอนได้รางวัล Cameron Diaz ผู้เป็นพิธีกรประกาศรางวัลนี้ พูดขอบคุณแทน
อีกเหตุผลที่ได้ Oscar ปีนั้น เพราะอนิเมชั่นเรื่องอื่นๆคุณภาพตามมีตามเกิดอย่างยิ่ง อาทิ Ice Age, Lilo & Stitch, Treasure Planey, Spirit: Stallion of the Cimarron
แม้ในบรรดาผลงานของ Hayao Miyazaki ที่โดยส่วนตัวชื่นชอบสุดจะคือ Howl’s Moving Castle แต่คุณภาพ แนวคิด และความลึกซึ้งของ Spirited Away เหนือชั้นกว่าแทบทุกระดับ คลั่งไคล้มากๆกับไดเรคชั่น ‘ลมหายใจ’ และเพลงประกอบของ Joe Hisaishi ขโมยจิตวิญญาณของผมไปตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้รับชม
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เหมาะสำหรับเด็กตั้งแต่อายุ 10 ขวบขึ้นไปที่กำลังใกล้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ แม้พวกเขาอาจไม่เข้าใจเรื่องราวทั้งหมด แต่จะจดจำนิสัยภาพลักษณ์ของตัวละคร ไม่ต้องการเลียนแบบความชั่วร้ายต่างๆนานา และอยากทำในสิ่งดีๆน่ายกย่องเหมือน Chihiro
สำหรับผู้ใหญ่ มักมองอนิเมชั่นเรื่องนี้คือการสะท้อนภาพของสังคมทุนนิยม พบเห็นหลายสิ่งชั่วร้ายอยู่รอบตัว บางคนอาจอิจฉาเด็กๆที่ยังไม่ถูกเจือปนด้วยความเห็นแก่ตัวคอรัปชั่น ถ้าคุณรู้สึกอย่างนี้ก็จงเลิกในสิ่งที่กระทำอยู่เสียนะครับ ละอายขายขี้หน้าเด็กมันบ้าง
แนะนำโดยเฉพาะคออนิเมชั่น สองมิติจากญี่ปุ่น, ชื่นชอบเรื่องราวแฟนตาซี ผจญภัย โลกวิญญาณ, ศิลปิน จิตรกร ทำงานสายอนิเมชั่น, นักปรัชญา คิดวิเคราะห์ความหมายเชิงสัญลักษณ์, แฟนๆผู้กำกับ Hayao Miyazaki และนักแต่งเพลง Joe Hisaishi ไม่ควรพลาด
จัดเรตทั่วไป ดูได้ทุกเพศวัย
TAGLINE | “ถอดวิญญาณล่องลอยไปกับ Spirited Away ในโลกของ Hayao Miyazaki แค่เพียงบทเพลงของ Joe Hisaishi ก็ทำให้คุณไม่อยากหวนกลับคืนร่างแล้ว”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | FAVORITE
Spirited Away (2001)
(17/1/2016) หนึ่งในผลงาน masterpiece ของปรมาจารย์ด้านอนิเมชั่น Hayao Miyazaki นี่เป็นอนิเมะสัญชาติญี่ปุ่นเรื่องแรกและเรื่องเดียวที่ได้ Oscar สาขา Best Animated Feature และหนังอนิเมะเรื่องนี้ทำเงินสูงสุดในญี่ปุ่นแซงหน้า Titanic ไปอย่างขาดลอย นักวิจารณ์ต่างประเทศหลายสำนักต่างยกย่องให้ Spirited Away เป็นหนังอนิเมะที่ดีที่สุดในโลก และดีที่สุดของ Miyazaki ด้วย
ผมดู Spirited Away ครั้งแรกตอนอยู่มหาลัย เป็นหนังเรื่องที่ 2 ของสตูดิโอ Ghibli หลังจาก Howl’s Moving Castle คงเพราะเหตุนี้กระมังนี่ที่ทำให้ผมชอบ Howl’s Moving Castle มากกว่า ตอนนั้นผมดู Spirited Away ก็เข้าใจแค่เรื่องราวกว้างๆที่อนิเมะนำเสนอ แต่เมื่อเวลาผ่านไปได้กลับมาดูอนิเมะเรื่องนี้หลายครั้ง ก็เริ่มเห็นสิ่งต่างๆที่หนังซ่อนไว้ นี่เป็นหนังอนิเมะที่มีความในแฝงเชิงจิกกัด เสียดสีสังคม ความแตกต่างของชนชั้น ผสมผสานกับค่านิยม และวัฒนธรรมของญี่ปุ่น นี่เป็นอนิเมะที่มีความซับซ้อนหลายชั้น แต่มีการเล่าเรื่องที่เข้าใจง่าย และเข้าถึงคนทุกวัยไม่มีพิษภัยต่อเด็ก
ตอนจะสร้างอนิเมะเรื่องนี้ Miyazaki มีความต้องการที่จะทำหนังอนิเมะที่คล้ายๆกับ My Neighbor Tororo อีก เป็นอนิเมะที่สามารถให้เด็กๆดูได้ไม่หนักเกินไปเหมือน Princess Mononoke โดยเป้าหมายหลักคือเด็กหญิง เขาได้แนวคิดจากการอ่านนิตยสาร Shojo ที่มีเรื่อราวรักๆใคร่ๆของเด็กหญิง ที่ส่วนใหญ่พออ่านจบแล้วก็จะทิ้งไว้ Miyazaki รู้สึกว่ามันมีแต่เรื่องความรักชั่ววูบและฉาบฉวยของหนุ่มสาว นี่ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาจะประทับใจและจดจำมันไปตลอดไป จึงเกิดเป็นที่มาของการให้ผู้หญิงเป็นตัวเอกใน Spirited Away
กระบวนการสร้างนั้น เพราะ Miyazaki เริ่มอายุมากขึ้น เขาจึงไม่สามารถที่จะวาดทุกฉากทุกเฟรมได้ทั้งหมด จึงใช้ Computer เข้ามาช่วยในหลายกระบวนการ แต่ก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของภาพวาดไว้ ตอนที่อนิเมะเรื่องนี้สร้างเสร็จ รวมเวลาแล้วกว่า 3 ชั่วโมง ก็ถูกตัดทอนลงพอสมควรจนเหลือ 125 นาที โดยตัดฉากพวก “eye candy” ออกเพื่อให้อนิเมะมีความเรียบง่าย ซึ่งเราจะเห็นว่านางเอกช่วงแรกๆจะดูไม่ค่อยน่ารักเท่าไหร่ แต่เมื่อดูไปเรื่อยๆนางเอกจะน่ารักขึ้นเรื่อยๆจากนิสัยของเธอ (ไม่ใช่หน้าตา)
เครดิตนักพากย์ Rumi Hiiragi พากย์เสียง Chihiro นางเอก เธอไม่ใช่นักพากย์นะครับ ผมเห็นเครดิตส่วนใหญ่อยู่กับงานแสดงละครทีวี มีพากย์อนิเมะก็กับหนังของ Ghibli อยู่อีก 2 เรื่อง คือ Ponyo และ From up on Poppy Hill สำหรับคนพากย์ Haku คือ Miyu Irino เขาไม่ใช่นักพากย์ที่ชื่อดังเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะพากย์เป็นตัวประกอบ ที่ดังสุดคงเป็น Syaoran Li ใน Tsubasa Reservoir Chronicle, Sena Kobayakawa ใน Eyeshield 21, Jinta ใน Anohana ผมชอบเสียงของทั่งคู่นะ Haku จะออกนุ่มๆ เหมือนเด็กหนุ่มที่ดูอบอุ่น ส่วน Chihiro จะออกแหลมๆ เหมือนเด็กสาววัยรุ่นจอมแก่นแสนซน อีกคนหนึ่งที่ต้องให้เครดิตคือ Mari Natsuki พากย์ Yubaba เธอเป็นนักแสดงที่มารับจ็อบพากย์ เสียง Yubaba นี่ร้ายสุดๆเลย (ในหนังเธอก็มักจะได้บทร้ายมากกว่าบทนางเอก)
เพลงประกอบโดย Joe Hisaishi ไพเราะมากๆ ดนตรีของ Spirited Away มีความนุ่มนวล เสียงเปียโนนุ่มๆ คลอกับ Orchrestra ฟังแล้วรู้สึกเหมือนจะลอยได้ เหมือนกับวิญญาณออกจากร่างตามชื่ออนิเมะจริงๆ ในขณะเดียวกันเราก็จะรู้สึกถึงความเหงา ความโหยหวนที่มากับเสียงเพลง ในบรรดางานเพลงของ Hisaishi เพลงของ Spirited Away ผมจะได้ยินบ่อยมากตามร้านอาหาร เป็นเพลงที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกผ่อนคลาย บรรยากาศชิวๆ
เพลง The Name of Life เพลงเสียงร้องของ Spirited Away นี่เพราะมากๆ ความหมายก็ดีด้วยพูดถึงชีวิตที่เติบโตขึ้น เด็กน้อย พระเจ้าและอนาคต คลิปนี้เป็นเพลงจากอนิเมะ แต่ถ้าใครเคยได้ยิน concert Ghibli Anniversary ของ Joe Hisaishi แล้วละก็ จะบอกว่าเพราะกว่านี้อีกหลายเท่าเลยละครับ
ตอนที่ผมดู Spirited Away ครั้งแรก ความเข้าใจของผมมีเพียงแค่ นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กสาวที่หลุดเข้าไปในโลกของวิญญาณ และหาวิธีช่วยเหลือพ่อแม่ของตน เป็นเรื่องราวการผจญภัย การเอาตัวรอด แฟนตาซี มีพระเอกที่คล้ายๆกับพ่อแม่ของนางเอกแต่เพียงถูกขโมยชื่อไป … ที่เล่ามาคือความเข้าใจจากเรื่องราวของหนังเท่านั้น ซึ่งแค่นั้นมันก็สวยงามมากๆ เพลงเพราะๆ เรื่องราวสนุกกินใจ ลุ้นระทึก ฉากในโรงอาบน้ำนั้นสุดยอดมาก งานภาพนี่สุดยอดเลย ลื่นไหล ลงตัวเหมือนคลื่นทะเล
แต่เมื่อเวลาผ่านไป นี่เป็นเรื่องราวเกี่ยวชีวิต พ่อแม่ที่กินอย่างตระกระกลายเป็นหมู เปรียบกับความโลภละโมบ ต้องการทุกอย่างไม่มีความพอเพียง ชีวิตมีเพียงสิ่งเดียวและไม่รู้จักพอ Spirited Away เปรียบได้กับโลกแห่งจิตใจของมนุษย์ ที่มีทั้งความสกปรก โสโครก มีความต้องการ มีความรัก โลภ โกรธ หลง โรงอาบน้ำเป็นเหมือนสถานที่ชำระล้างทางจิตใจ River Spirited ยังมีความแฝงเกี่ยวสิ่งที่มนุษย์โยนลงแม่น้ำ ไม่ใช่แค่ขยะ แต่ยังรวมถึงหลายสิ่งหลายอย่าง หลายครั้งที่เราไม่ยอมรับผิดในสิ่งที่ตนทำ โยนความผิดนั้นให้ผู้อื่น ให้แพะรับบาป ให้กับธรรมชาติ ให้กับสิ่งที่ไม่มีตัวตน River เป็นตัวแทนของสายธารแห่งความผิดที่มนุษย์เก็บสะสมและโยนให้สิ่งอื่น หลังจากชำระล้างความสกปรกแล้ว ก็ใช่ว่าจิตใจของมนุษย์จะสะอาดแจ่มใส ผมชอบแนวคิดทุนนิยมที่ใส่มานะ คนเราเห็นทองก็อยากได้ ทั้งๆที่จริงๆแล้วมันก็ก้อนดินไม่มีค่าอะไรเลย การเดินทางไปยังจุดเริ่มต้น ผมชอบบรรยากาศช่วงนี้นะ นั่งรถไฟที่รางอยู่บนผิวน้ำ มีไม่กี่สิ่งเท่านั้นที่จะเดินทางไปกับรถไฟขบวนนี้ พอตะวันตกดินก็มีโคมไฟเล็กๆนำทางไปสู่จุดเริ่มต้น
มีหลายสิ่งหลายอย่างที่แฝงในอนิเมะเรื่องนี้ ให้ผมร่ายมาก็คงไม่หมด มันมีหลายมิติด้วย ผมชอบแรงบันดาลใจหรือที่มาของมันนะ เพราะที่ Miyazaki เลือกใช้โรงอาบน้ำเป็นสถานที่สำคัญหนึ่งในเรื่องเพราะเป็นสถานที่หนึ่งในเมืองบ้านเกิดของเขาที่มีความลึกลับ มีประตูเล็ก ๆ อยู่ถัดจากอ่างน้ำในโรงอาบน้ำ เขาอยากรู้อยากเห็นว่ามีอะไรอยู่หลังประตูบานนั้น แนวคิดของโรงอาบน้ำไม่ใช่แค่สิ่งที่อยู่เบื้องหน้าเท่านั้น แต่เบื้องหลังมันก็มีความสับสนวุ่นวาย มีการต่อสู้ การเอาตัวรอด ตัวละครอย่างตาเฒ่าหม้อต้มน้ำ (Kamaji) ผู้มี 3 มือที่อยู่เบื้องหลังน้ำร้อนๆและการใส่สมุนไพร ดูยังไงเขาก็เหมือนแมงมุมที่คอยชักใยอยู่เบื้องหลัง (หน้าตาก็ใช่ ใส่แว่น มีหนวด) ลูกน้องคนสำคัญของเขาคือกลุ่มฝุ่น ที่คอยสุมไฟใส่เพลิงให้หม้อเดือด ถ้าพูดกันจริงๆในโรงอาบน้ำนี่ ตาเฒ่า Kamaji สำคัญกว่า Yubaba ที่อยู่เบื้องหน้าอีก แต่ทั้งสองก็ขาดกันไม่ได้ เพราะมีคนเบื้องหน้าก็ต้องมีคนเบื้องหลัง
ผมมาคิดดู Chihiro เป็นตัวละครที่เปรียบกับอะไร ความคิดผมคือ เธอเป็นตัวแทนของการเติบโต ด้วยวัยวุฒิที่ไม่เด็กเกินไป ไม่โตเกินไป เรื่องราวเริ่มต้นจากการย้ายบ้าน เปรียบเหมือนจุดเปลี่ยนของชีวิตจากเด็กไปวัยรุ่น หรือจากเด็กไปเป็นผู้ใหญ่ เธอจะกลายเป็นผู้ใหญ่แบบไหน นี่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการตัดสินใจ การเลือก คำตอบในอนิเมะก็ชัดเจนว่าเธอเลือกแบบไหน ฉากก่อนสุดท้ายที่ให้เลือกว่าหมูตัวไหน ผมชอบฉากนี้นะ เพราะมันเป็นการคิดนอกกรอบที่น่าสนใจ คำตอบของเธอไม่ได้อยู่ในกรอบที่ผู้ใหญ่วางไว้ แต่เป็นสิ่งที่เธอเห็นเองและคิดได้จากประสบการณ์ชีวิตของเธอเอง ไม่มีใครตัดสินใจแทนเธอได้ ไม่มีใครที่จะคอยจูงจมูกหรือบังคับเธอให้เป็นอย่างที่ใครเขาต้องการ นี่คือเหตุผลที่ทำให้ตัวละครหน้าตาเชยๆอย่างเธอ กลับดูน่ารักขึ้นเรื่อยๆ และน่ารักที่สุดในตอนจบ
สิ่งที่ผมชอบที่สุดในอนิเมะเรื่องนี้คือ “การเติบโตของตัวละคร” จากความที่ไม่รู้อะไร นิสัยแก่นก้าน กลายเป็นคนที่เข้าใจว่าชีวิตคืออะไร มีคุณค่าอะไร องค์ประกอบอื่นๆเป็นส่วนสนับสนุนเรื่องราวหลักมีความแข็งแกร่งอย่างมาก ความนุ่มนวลของดนตรีที่ค่อยๆเพราะขึ้นเรื่อยๆ เหมือนตัวละครที่น่ารักขึ้นเรื่อยๆ เป็นความรู้สึกที่สะสมขึ้นพร้อมกับตัวละคร เหลือเชื่อว่าภายใน 2 ชั่วโมง จะผ่านไปอย่างรวดเร็วขนาดนี้ บอกตามตรงว่าผมไม่ค่อยชอบเรื่องแนว Coming of Age นัก แต่กับ Spirited Away เป็นข้อยกเว้น เพราะมันไม่ใช่ตัวละครที่โตขึ้น แต่เป็นความคิด เวลาในอนิเมะมันอาจจะแค่ไม่กี่วันผ่านไป แต่แค่ช่วงเวลาเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้นแหละที่ทำให้คนโตขึ้น
เนื้อเรื่องที่ทรงพลัง เมื่อได้เข้าคู่กับเพลงประกอบที่ยิ่งใหญ่อลังการแล้ว ผมเชื่อว่าใครที่ได้ดูหนังอนิเมะเรื่องนี้จะรู้สึกเลยว่า นี่ไม่ใช่หนังอนิเมะธรรมดาๆทั่วไป แต่มันคือสุดยอดและเป็นที่สุดของวงการอนิเมชั่น คนที่เคยดูแต่อนิเมะของ hollywood ไม่ว่าใครก็ตามพอได้ดูอนิเมะของญี่ปุ่นเรื่องนี้จะรู้เลยว่า นี่มันคนละระดับเลย อนิเมะของญี่ปุ่นเหนือชั้นกว่าอนิเมะของ hollywood เป็นไหนๆ ความสวยงาม ความยิ่งใหญ่ เรื่องราวที่ลึกซึ้งกินใจ ใครยังไม่ได้ดูหนังอนิเมะเรื่องนี้ถือว่าเสียชาติเกิดแน่นอน
คำโปรย : “Spirited Away ผลงาน Masterpiece ของ Hayao Miyazaki นี่คือหนังอนิเมะที่สวยงามและมีความหมายที่สุดในโลก ภาพ สี เรื่องราว เพลงประกอบ ไม่ใช่แค่เรื่องราวที่ฉาบหน้า แต่เนื้อหาและความหมายที่ลึกซึ้ง กินใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ดูแล้วต้องหลงรักอย่างแน่นอน”
คุณภาพ : LEGENDARY
ความชอบ : FAVORI
Leave a Reply