Spring, Summer, Fall, Winter... and Spring

Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring (2003) Korean : Kim Ki-duk ♥♥♥♥♥

(28/9/2024) เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย วัฏจักรชีวิตก็เหมือนฤดูกาลเคลื่อนพานผ่าน ตราบใดยังว่ายเวียนวนอยู่ในวัฏฏะสังสาร ย่อมมิอาจดิ้นหลุดพ้นบ่วงกิเลสกรรม เคยกระทำอะไรกับใครไว้ สักวันย่อมต้องได้รับผลนั้นคืนตอบสนอง, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring (2003) คือภาพยนตร์ที่ไม่ใช่แค่พุทธศาสนิกชน แต่ยังทุกความเชื่อ-ศรัทธา-ศาสนา ไม่ว่าจะนับถือพระเจ้าองค์ใด ลัทธิ-นิกายไหน ถ้าสนใจในปรัชญาชีวิต ก็ควรต้องลองหาหนังเรื่องนี้มารับเชยชมสักครั้งหนึ่ง เพราะนำเสนอสิ่งที่เรียกว่า’หัวใจ’แห่งธรรมะ กฎแห่งธรรมชาติ มีความเป็นสากลจักรวาล ไม่แน่ว่าดูจบอาจพบเห็นสัจธรรมบางอย่าง

Rarely has a movie this simple moved me this deeply. I feel as if I could review it in a paragraph, or discuss it for hours. The South Korean film Spring, Summer, Fall, Winter … and Spring (2003) is Buddhist, but it is also universal. It takes place within and around a small house floating on a small raft on a small lake, and within that compass, it contains life, faith, growth, love, jealousy, hate, cruelty, mystery, redemption … and nature. Also a dog, a rooster, a cat, a bird, a snake, a turtle, a fish and a frog.

นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนน 4/4 พร้อมจัดเป็น Great Movie

ที่สุดของหนังคือความงดงามทางศาสตร์ศิลปะ ไม่ใช่แค่ภาพถ่ายทิวทัศน์สวยๆ ธรรมชาติผันแปรเปลี่ยนตามฤดูกาล กิริยาท่าทาง ทุกการกระทำของตัวละคร ภาษากายล้วนซ่อนเร้นนัยยะสื่อความหมาย แม้อ้างอิงจากพุทธปรัชญา แต่ก็สามารถครุ่นคิดทำความเข้าใจได้ด้วยภาษาสากล

ทีแรกผมไม่ตั้งใจจะหวนกลับมารับชมหนังเรื่องนี้ แต่หลังจากเรียนรู้จักตัวตนของผกก. Kim Ki-duk ผ่านภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ (โดยเฉพาะ Arirang (2011)) เลยรู้สึกว่าสมควรต้องปรับปรุงบทความนี้ให้สอดคล้องความเข้าใจใหม่ นี่ไม่ใช่แค่หนัง(พุทธ)ศาสนา แต่ยังสะท้อนประสบการณ์ สีสันของจิตวิญญาณ ค้นหาความสุขสงบภายในจิตใจ

It’s not a religious film. It’s really about people living their lives–life happening. I’m just trying to create films that reflect life, and what I feel about life… [The film] does reflect my experience in life. It is personal, but it’s really as you live life, what life is about. You live and you die. Our lives are similar to the seasons–we’re born and we die. As the seasons change, as human beings we change as well. The seasons are reflections of the different points in our lives, the different changes.

Kim Ki-duk

Kim Ki-duk, 김기덕 (1960-2020) ศิลปิน/จิตรกร ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติเกาหลี เกิดที่หมู่บ้านเล็กๆบนภูเขา Bonghwa, North Kyŏngsang วัยเด็กมักโดนกลั่นแกล้ง ดูถูกเหยียดหยาม เพราะสถานะทางสังคมต่ำกว่าใคร แถมบิดายังกระทำร้ายร่างกายบ่อยครั้ง, พออายุ 9 ขวบ ครอบครัวอพยพย้ายมาอยู่ Ilsan ชานกรุง Seoul เข้าโรงเรียนมัธยม Samae Industrial School ฝึกฝนด้านการเกษตร แต่หลังพี่ชายถูกไล่ออกจากโรงเรียน บิดาบีบบังคับลูกๆให้เลิกเรียนหนังสือ ออกมาทำงานโรงงาน รับจ้างก่อสร้าง ก่อนสมัครทหารเรือ (เพราะต้องการหนีออกจากบ้าน) แล้วอาสาทำงานให้กับโบสถ์ Baptist วาดฝันอยากเป็นบาทหลวงนักเทศน์

พออายุสามสิบเดินทางสู่ฝรั่งเศส เติมเต็มความใฝ่ฝันอยากเป็นศิลปิน รับจ้างวาดภาพข้างถนน (Sidewalk Artist) ก่อนค้นพบความสนใจภาพยนตร์จาก The Silence of the Lambs (1991) และ The Lovers on the Bridge (1991) จึงตัดสินใจเดินทางกลับเกาหลีใต้ เข้าคอร์สเรียนเขียนบทกับ Korea Scenario Writers Association พัฒนาบทหนังส่งเข้าประกวด Korean Film Council (KOFIC) ลองผิดลองถูกอยู่หลายเรื่องจนกระทั่ง Illegal Crossing สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศเมื่อปี ค.ศ. 1995 น่าเสียดายไม่เคยถูกดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ (เพราะสตูดิโอที่ซื้อบทหนัง ล้มละลายไปเสียก่อน), ผลงานเรื่องแรก Crocodile (1996), แจ้งเกิดระดับนานาชาติกับ The Isle (2000)

ผลงานของผกก. Kim Ki-duk มักสะท้อนมุมมองส่วนตัว (มีความเป็นศิลปิน ‘auteur’) ความสนใจเกี่ยวกับธรรมชาติชีวิต โดดเด่นกับการถ่ายภาพที่มีความงดงามเหมือนภาพวาดศิลปะ (เป็นจิตรกรมาก่อน) มักสื่อสารด้วยภาพ การแสดงออกภาษากาย เต็มไปด้วยความรุนแรงสุดโต่ง และมอบอิสระผู้ชมในการครุ่นคิดตีความ

สำหรับ Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring (2003) สร้างขึ้นด้วยความตั้งใจวาดภาพอารมณ์ผ่านสีสันฤดูกาล

I intended to portray the joy, anger, sorrow and pleasure of our lives through four seasons and through the life of a monk who lives in a temple on Jusanji Pond surrounded only by nature.

Kim Ki-duk

ในตอนแรกผกก. Kim Ki-duk วาดภาพอารามบนภูเขา แต่เนื่องจากไม่สามารถค้นหาสถานที่เหมาะสม เลยมองหาแหล่งอื่นๆจนพบเจอ Jusanji Pond, 주산지 ทะเลสาปขุด (Artificial Lake) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1720-21 ตั้งอยู่ยัง Juwangsan National Park, อำเภอ Cheongsong County, จังหวัด North Gyeongsang Province ทางภาคตะวันออกของเกาหลีใต้

แต่ทะเลสาปแห่งนี้ก็แค่ทะเลสาป ไม่ได้มีสิ่งก่อสร้างใดๆล่องลอยอยู่กลางน้ำ เพียงต้นไม้เก่าแก่อายุกว่า 150+ ปี (ในบทสัมภาษณ์ผกก. Kim Ki-duk น่าจะเข้าใจผิดๆ เพราะต้นไม้ดังกล่าวเพิ่งปลูกหลังขุดทะเลสาปเสร็จสิ้น) ด้วยเหตุนี้ ผกก. Kim Ki-duk จึงลงมือสร้างวัดลอยน้ำขึ้นมา แล้วเริ่มพัฒนาเรื่องราวแบ่งออกเป็น 4+1 ฤดูกาล

Initially, I didn’t imagine a floating temple on the water and had never seen one. At first I wanted to build a temple in the mountains, but I was unable to find a suitable place. I kept thinking of a way around this and then finally, I happened upon Jusanji Pond. Korea has lots of beautiful scenery but Jusanji Pond is a very unique place since it has 300-year-old trees growing out of the water. And I felt like this would be an interesting challenge, to build a floating temple, which was built from scratch… I scratched out a few ideas on paper. But I made this film without a script.


พระสงฆ์นิรนาม (รับบทโดย O Yeong-su) อาศัยอยู่กับลูกศิษย์ ณ อารามกลางทะเลสาป Jusanji Pond รายล้อมรอบด้วยธรรมชาติ ผืนป่า ขุนเขา พานผ่านสี่ฤดูกาลแห่งชีวิต

  • ฤดูใบไม้ผลิ (Spring), สามเณรน้อยระหว่างกำลังเก็บเกี่ยวสมุนไพร ได้กลั่นแกล้งปลา กบ และงู ด้วยการผูกมัดกับก้อนหิน ทำให้พวกมันมีชีวิตอย่างทุกข์ยากลำบาก พอหลวงพ่อมาพบเห็นเข้าจึงสั่งสอนด้วยการผูกมัดเด็กชายแบกลากหินก้อน ตื่นเช้าขึ้นมาค่อยสำนึกผิด รีบเร่งไปปลดปล่อยสรรพสัตว์ทั้งหลาย แต่…
  • ฤดูร้อน (Summer), สามเณรน้อยเติบใหญ่เป็นวัยรุ่นหนุ่ม แรกพบเจอตกหลุมรักหญิงสาวแรกรุ่น เดินทางมารักษาโรคป่วยใจ แอบคบหา สานสัมพันธ์ ร่วมรักหลับนอน โดยไม่รู้ตัวอาการของเธอหายเป็นปลิดทิ้ง หลวงพ่อจึงสั่งให้เดินทางกลับบ้าน ทำเอาหัวใจลูกศิษย์หนุ่มแทบแตกสลาย เลยตัดสินใจหลบหนีออกจากวัด ติดตามไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเธอ
  • ฤดูใบไม้ร่วง (Fall หรือ Autumn), หลายปีผ่านไป ชายหนุ่มได้หวนกลับมาหลังจากเข่นฆาตกรรมภรรยาคบชู้นอกใจ เต็มไปด้วยอารมณ์เก็บกดอัดอั้น สับสนวุ่นวาย พยายามจะฆ่าตัวตายอยู่หลายครั้ง เลยถูกสั่งให้แกะสลักหฤทัยสูตร (The Heart Sūtra) เพื่อสามารถสงบจิตสงบใจ ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะควบคุมตัวไปพิจารณาโทษทัณฑ์
  • ฤดูหนาว (Winter), อีกหลายปีผ่านไป ชายวัยกลางคน (รับบทโดย Kim Ki-duk) ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ เดินทางกลับมาอารามกลางทะเลสาปกลายเป็นหลวงพ่อคนใหม่ เพื่อฝึกฝนร่างกาย-จิตใจ นำพระธาตุของอาจารย์เก็บไว้ในน้ำแข็งแกะสลัก อธิษฐานจิตตั้งมั่นขณะปีนป่ายขึ้นสู่ถึงยอดเขา พอกลับลงมาพบเจอหญิงสวมผ้าคลุมใบหน้า ฝากฝังทารกน้อยให้ช่วยเลี้ยงดูแล ก่อนที่จะ …
  • ฤดูใบไม้ผลิหวนกลับมาอีกครั้ง (and Spring) จากลูกศิษย์กลายเป็นอาจารย์ ต้องคอยเสี้ยมสอนสั่งสามเณรน้อยที่กำลังกระทำสิ่งย้อนรอยตนเอง ให้เข้าใจวิถีทางของโลกใบนี้

ในส่วนของนักแสดง ผกก. Kim Ki-duk พยายามเลือกนักแสดงสมัครเล่น ยังไม่เป็นที่คุ้นหน้าคาดตา เพราะไม่ได้มุ่งเน้นความสมจริงอะไรหนักหนา แสดงออกด้วยภาษากาย ขยับเคลื่อนไหวอย่างแลดูเป็นธรรมชาติ เว้นไว้กับเสียงหัวเราะของสามเณร อารมณ์เกรี้ยวกราดของชายหนุ่ม นั่นเกิดจากการปรุงแต่งทางอารมณ์ ประดิษฐ์ประดอยให้เว่อวังอลังการผิดมนุษย์มนา

  • O Yeong-su, 오영수 (เกิดปี ค.ศ. 1944) เป็นนักแสดงละคอนเวทีชื่อดัง มีผลงานกว่า 200+ โปรดักชั่น ก่อนหน้านี้เพิ่งแสดงภาพยนตร์ A Little Monk (2003) เลยได้รับเลือกมาเล่นบทหลวงพ่อ (Old Monk) ใน Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring (2003), แต่หลายคนอาจจดจำจากบทบาทในซีรีย์ Squid Game (2021) คว้ารางวัล Golden Globe Award: Best Supporting Actor in a Series, Miniseries or Television Film
    • หลวงพ่อ (Old Monk) นักบวชผู้รักความสันโดษ จำพรรษาอยู่อารามกลางทะเลสาป คอยดูแลเสี้ยมสอนลูกศิษย์ ไม่ให้เกิดความลุ่มหลงผิด ระเริงไปกับกิเลสตัณหา คาดว่าน่าจะบรรลุธรรมขั้นสูง ถึงมีฤทธิ์เดชสามารถเรียกเรือ เหาะเหินเดินอากาศ และหลังจากมรณภาพยังหลงเหลือสรีระธาตุให้กราบไหว้บูชา
  • Kim Young-min, 김영민 (เกิดปี ค.ศ. 1971) ก็มาจากสายละคอนเวทีเช่นกัน ก่อนหน้านี้เพิ่งร่วมงานผกก. Kim Ki-duk ภาพยนตร์ Address Unknown (2001) บทบาท Ji-Hum, ติดตามด้วย Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring (2003), ปัจจุบันกลายเป็นเจ้าพ่อซีรีย์ อาทิ Beethoven Virus (2008), My Mister (2018), Crash Landing on You (2019), The World of the Married (2020) ฯ
    • รับบทชายหนุ่ม (ฤดูกาล Fall/Autumn) ผู้เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด แทบอยากจะคลุ้มบ้าคลั่ง ผิดหวังที่ภรรยาคบชู้นอกใจ เลยลงมือเข่นฆาตกรรม แล้วหลบหนีกลับมาพึ่งใบบุญหลวงพ่อ แต่ยังไม่สามารถสงบสติอารมณ์ พยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง ก่อนถูกบังคับให้แกะสลักหฤทัยสูตรลงบนพื้นไม้ โดยไม่รู้ตัวค่อยๆบังเกิดความสุขสงบขึ้นภายใน และยินยอมให้ตำรวจควบคุมตัวกลับไปรับโทษทัณฑ์
  • สำหรับบทบาทชายวัยกลางคน (ฤดูกาล Winter และ … and Spring) ดั้งเดิมนั้นมีการติดต่อนักแสดงเอาไว้ ก่อนถูกยกเลิกก่อนหน้าการถ่ายทำเพียงไม่กี่วัน พยายามมองหานักแสดงคนอื่นแทนแต่มันกระชั้นชิดเกินไป ผกก. Kim Ki-duk จึงตัดสินใจเลือกเล่นบทบาทนี้ด้วยตนเอง
    • หลังครบกำหนดโทษทัณฑ์ ได้รับการปล่อยตัว เดินทางกลับมาอารามกลางทะเลสาป เริ่มต้นฝึกฝนตนเองท่ามกลางสภาพอากาศหนาวเหน็บ แบกลากก้อนหินปีนป่ายขึ้นสู่ยอดเขา ก่อนกลับลงมาพบเจอหญิงสวมผ้าคลุมใบหน้า ฝากฝังทารกน้อยให้ช่วยเลี้ยงดูแล แล้วทุกสิ่งอย่างก็พลันหวนกลับสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง

This is the first time that I’ve actually been in the film… Actually, the actor that was supposed to do it was a last-minute cancellation. I didn’t want to do it, but I had to. We couldn’t lose the opportunity with the snow. It was a timing situation. We had to grab that opportunity and complete the film. The seasons are more important than the characters themselves in this film, so we had to capture the seasons. The time period for the snow to cover that lake and freeze over is not very long.

I just did whatever I wanted to do–I’m the director. (But) I don’t think I’ll do it again. It was too cold, and it was a lot of work.

Kim Ki-duk

ถ่ายภาพโดย Baek Dong-hyeon, 백동현 ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานกับ Kim Ki-duk เรื่อง The Coast Guard (2002),

ผกก. Kim Ki-duk ใช้เวลานานถึงหกเดือน! กว่าจะโน้มน้าวรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม เพื่อขออนุญาตสร้างอารามลอยน้ำบนทะเลสาป Jusanji Pond, 주산지 ณ อุทยานแห่งชาติ Juwangsan National Park และสามารถปล่อยทิ้งไว้ตลอดหนึ่งปีถ่ายทำ (ถ่ายทำจริงๆฤดูกาลละแค่ 4-5 วัน รวมๆแล้ว 20 กว่าวันเท่านั้น) น่าเสียดายเมื่อถ่ายทำเสร็จสิ้นจำต้องรื้อถอนทุกสิ่งอย่างออกหมด

The location is a national park, and you’re not allowed to to build any kind of housing there. [But] for the whole year [of shooting] it was there. We got permission to leave it there for the whole year… We shot the whole year there; for every season, we had to come back and shoot for about five days… If you count all the actual days it took to make the film, it only took twenty-two days. That’s not a whole lot of time, so you have to film very quickly… We had only one or two takes to get the shots.

Kim Ki-duk

ปล. แม้อารามหลังนี้จะถูกรื้อถอนไปแล้ว แต่ผกก. Kim Ki-duk ก็ยังแอบคาดหวังให้ผู้ชม หรือคนที่มาท่องเที่ยวทะเลสาป Jusanji Pond จดจำสถานที่แห่งนี้เอาไว้ในใจ “I hope it still exists in people’s minds after seeing the movie.”

ด้วยความที่เป็นทะเลสาปขุด เก็บกักน้ำไว้สำหรับทำการเกษตร จึงมีคลองเชื่อมต่อกับภายนอก ระดับน้ำเลยมีขึ้นมีลงอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้จึงสร้างอารามกลางน้ำบนแพขนาดใหญ่ จึงต้องขึงเชือกรอบผูกกับต้นไม้โดยรอบเพื่อไม่ให้ล่องลอยไปมา … แต่มันก็มี ‘Time Lapse’ ที่พบเห็นอารามกลางทะเลสาปเคลื่อนไหลไปตามธรรมชาติด้วยนะครับ

ปล. แม้มันไม่ใช่ความตั้งใจแต่แรกของผกก. Kim Ki-duk ที่จะสร้างอารามกลางทะเลสาป ผลลัพท์ทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับรีสอร์ทกลางอ่างเก็บน้ำของ The Isle (2000) ละม้ายคล้ายกันในแง่ของสถานที่ปลีกวิเวก หลบหนีมาซ่อนตัว (พระเอกต่างเคยเข่นฆ่าภรรยาคบชู้นอกใจ) และสถานที่แห่งนี้ราวกับสรวงสวรรค์ (เรื่องนั้นคือบุรุษตกเป็นทาสบำเรอกาม, เรื่องนี้ทำให้ปล่อยวาง บังเกิดความสุขสงบภายในจิตใจ)

Spring, Summer, Fall, Winter... and Spring

ระหว่างรับชมผมไม่ทันสังเกตเห็น เพิ่งมาค้นพบเจอตอนใกล้เขียนบทความนี้เสร็จ ข้อความแต่ละฤดูกาลจะมีลวดลาย สีสัน ตัวอักษรพื้นหลัง (น่าจะคัดพระสูตรหฤทัยนะแหละ) มอบสัมผัสแตกต่างออกไป (ตามฤดูกาล) ผมไม่ขอลงรายละเอียด แค่เห็นภาพรวม ความแตกต่าง ก็เพียงพอแล้วละ

ประตูวัดเมืองไทย มักมียักษ์ทวารบาล (บริวารท้าวเวสสุวรรณ) ถืออาวุธ รูปร่างหน้าตาน่าเกรงขาม เพื่อปกป้องความศักดิ์สิทธิ์ในศาสนสถาน, ทวารบาลในหนังดูแล้วน่าจะรับอิทธิพลจากญี่ปุ่น Kongō & Rikishi (金剛力士) ต่างเป็นบุรุษ เปลือยด้านบน แสดงความบึกบึนกำยำ นอกจากคอยปกป้องพระพุทธศาสนา ทวารบาลทั้งสองยังช่วยปัดเป่าอันตรายที่เกิดจากภัยธรรมชาติอีกด้วย

  • ทวารบาลองค์หนึ่งจะอ้าปาก “อะ” ทำท่าเหมือนปลดปล่อยความโกรธออกมา
  • ส่วนอีกรูปทวารบาลปิดปาก “อุน” จะเก็บความโกรธไว้อยู่ข้างใน

ทำไมต้องเรียกอะและอุน? ว่ากันว่าเสียง “อะ” เป็นเสียงเริ่มแรกของสรรพสิ่งตอนเริ่มเปิดปาก, ส่วนเสียง “อุน” เป็นเสียงสุดท้ายของสรรพสิ่งตอนปิดปาก เปรียบได้กับจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดของจักรวาล

สายน้ำคือธารแห่งชีวิต วัดกลางน้ำ/อารามกลางทะเลสาปถือเป็นสถานที่แห่งจิตวิญญาณ เปิดประตูสู่ศูนย์กลางความสุขสงบที่หลบซ่อนอยู่เบื้องลึกภายในจิตใจ แม้สภาพแวดล้อมภายนอกปรับเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล ยังว้าวุ่นวายไม่มากเท่ากิเลสตัณหา ราคะ-โทสะ-โมหะ เข้ามากระทบกระทั่งจิตใจ

การเดินเข้าออกทางประตู คือข้อตกลง กฎทางจิตใจสำหรับฝึกฝนตนเอง (ก็คล้ายๆศีลห้า, ศีลสิบ, ศีล 227) ให้รู้จักมีสติ และบังเกิดปัญญา ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม สามารถเดินเฉียงๆ เข้าออกเอียงๆ กระทำสิ่งสนองใจอยาก หลงระเริงไปกับอิสรภาพ แต่นั่นเป็นการบ่อนทำลายตัวเราเอง เพราะการปล่อยตัวปล่อยใจ สักวันหนึ่งอาจสูญเสียการควบคุม ตกเป็นทาสกิเลสตัณหา ใช้ชีวิตสนองอารมณ์ สันชาตญาณ

สามเณรน้อยยังมีความละอ่อนเยาว์วัย ไร้เดียงสาต่อโลก เลยไม่รับรู้ถึงภยันตราย เจ้างูกำลังค่อยๆเลื้อยคลานเข้ามา แต่เพราะเขายังไม่รู้จักความหวาดกลัว (ผู้ชมหลายคนคงแอบเสียวสันหลังวาบ) จึงกล้าหยิบมันมาเล่น กลั่นแกล้ง โดยไม่รู้ประสีประสา … สิ่งที่เรามองว่าอันตราย แท้จริงแล้วมันไม่มีอะไรเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับการปรุงแต่งของจิตใจล้วนๆ

แบบเดียวกับการจับงูมาเล่น สามเณรน้อยเก็บสมุนไพรโดยไม่รู้ว่าต้นไหนกินได้ ต้นไหนเป็นอันตราย เพราะมันหน้าตาละม้ายคล้ายกันไปหมด ต้องได้รับการเสี้ยมสอนจากหลวงพ่อ อย่างไหนถูก อย่างไหนผิด สำหรับเป็นบทเรียนชีวิต ปรับปรุงตนเองในกาลต่อไป

และการที่สามเณรน้อยยังไม่สามารถแยกแยะสมุนไพรกินได้-กินไม่ได้ ยังเคลือบแฝงถึงความเลือนลางระหว่างชีวิต-ความตาย เริ่มต้น-สิ้นสุด ว่ายเวียนวนอยู่ในวัฏฏะสังสาร

แต่ละฤดูกาลจะมีสัตว์สัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของตัวละคร ซึ่งฤดูใบไม้ผลิ (Spring) คือลูกสุนัข พบเห็นวิ่งเล่นสนุกสนานกับสามเณรน้อย ทั้งสองต่างละอ่อนเยาว์วัย ไร้เดียงสาต่อโลกภายนอก เลยยังต้องได้รับการสั่งสอนจากหลวงพ่อ, สุนัข เป็นสัตว์ที่มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดี เชื่อฟังเจ้าของ ยินยอมปฏิบัติตามคำสั่ง

การผูกมัดและแบกหิน มักถูกใช้เปรียบเทียบถึงกิเลสตัณหา ภาระของมนุษย์ ชอบที่จะถือครอบครอง เป็นเจ้าข้าวเจ้าของ แบกเอาไว้บนบ่ามากมาย (ทั้งรูปธรรม-นามธรรม) รถราบ้านช่อง สิ่งข้าวของ เงินทอง อำนาจบารมี เกียรติยศ ศักดิ์ศรี ความมีหน้ามีตาในสังคม ฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเต็มไปด้วยน้ำหนัก แรงกดดันถาโถมเข้าใจ จนบางคนแทบก้าวเท้าเดินต่อไปไม่ไหว ถ้าเรารู้จักละทอดทิ้ง ปล่อยวางมันลงเสียบ้าง ชีวิตย่อมรู้สึกผ่อนคลาย เบาสบาย และอาจพบเจอความสุขสงบขึ้นภายใน

ในบริบทของหนังมีความแตกต่างออกไปพอสมควร สามเณรน้อยทำการผูกเชือกล่ามหินกับสัตว์สามชนิด ปลา (สัตว์น้ำ) กบ (สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ) และงู (สัตว์เลื้อยคลาน) ผมมองว่าคือตัวแทนของสรรพสัตว์ที่ต้องแหวกว่าย ตะเกียกตะกาย เลื้อยชอนไช สัญลักษณ์ของการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาชีพรอด เช่นนั้นแล้วการกระทำของสามเณรก็เท่ากับไปขัดขวาง ฉุดเหนี่ยวรั้ง สร้างความทุกข์ทรมาน ยากลำบากในการใช้ชีวิต พอพวกมันตกตายไป (กบยังรอดชีวิตเพราะมันเป็นสัตว์ที่สามารถปรับตัว ครึ่งบกครึ่งน้ำ) ก้อนหินที่เคยแบกไว้บนหลัง จึงกลายมาเป็นภาระทางใจ หรือก็คือเวรกรรมติดตัวไปจนวันตาย

ระหว่างที่ผมศึกษาพุทธศาสนา นิกายมหายาน ได้เรียนรู้จักภวจักร/วงล้อแห่งชีวิต เป็นสื่อการสอนด้วยภาพ เครื่องมือทำสมาธิที่แสดงถึงสังสารวัฏ (หรือการดำรงอยู่เป็นวัฏจักร) บริเวณดุมวงล้อมีสัตว์สามชนิด หมู ไก่ งู เป็นตัวแทนอกุศลมูล (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Three Poison) รากแห่งกิเลสทั้ง 3 คือ ราคะ (ไก่) โทสะ (งู) โมหะ (หมู) .. นี่อาจจะเป็นสิ่งที่ผกก. Kim Ki-duk พยายามเลียนแบบโดยเปลี่ยนมาใช้ ปลา กบ และงู กระมังนะ!

ปล. เช้าตื่นขึ้นมา สามเณรน้อยร้องขอให้คลายเชือกล่ามหิน สังเกตว่าหลวงพ่อกำลังปัดฝุ่นพระพุทธรูป สามารถสื่อถึงการนำเอาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาปัดฝุ่น ปรับใช้ เสี้ยมสอนสามเณรน้อยด้วยวิธีการใหม่ๆ ให้เข้ากับโลกยุคสมัยใหม่ ซึ่งสามารถเหมารวมถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เช่นกัน

ภาพสุดท้ายของฤดูใบไม้ผลิ (Spring) คือธารน้ำตกเล็กๆ กระแสธาราไหลจากบนลงล่าง ก็เหมือนกาลเวลาดำเนินไปข้างหน้าอย่างไม่มีวันหวนย้อนกลับ สิ่งต่างๆที่เราเคยกระทำ เวรกรรมมันจักติดตัวเราตราบชั่วนิรันดร์ … ไม่ใช่แค่วันตายแล้วทุกสิ่งอย่างจักเลือนหายไปนะครับ

ฤดูร้อน (Summer) ช่วงเวลาที่จิตใจมีอาการร้อนลุ่ม เริ่มต้นด้วยการให้วัยรุ่นหนุ่มพบเห็นงูสองตัวเลื้อยพัน กำลังผสมพันธุ์กัน ก็เพื่อนำเข้าสู่เรื่องราวความรักแรกพบหญิงสาว เดินทางมารักษาแผลใจ ช่วงแรกๆเขาพยายามอดกลั้น ควบคุมตนเอง มองเป็นสิ่งชั่วร้าย แต่ท้ายสุดก็มิอาจทนต่อกิเลสตัณหา ฮอร์โมนเพศ สันชาติญาณมนุษย์ โอบรัดฟัดเหวี่ยงไม่ต่างจากวิถีเดรัจฉาน … เปรียบเทียบงูผสมพันธุ์ = มนุษย์ร่วมเพศสัมพันธ์

เมืองไทยมีพญานาคคาบแก้ว ครุฆคาบแก้ว ทางฝั่งเอเชียตะวันออก (จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลี) จะมีปลาหลีฮื้อ หรือปลาคาร์ป (Carp, Koi Fish) สัตว์สัญลักษณ์แห่งความเพียรพยายาม สามารถว่ายทวนน้ำ กระโดดข้ามประตูมังกร แล้วกลายเป็นมังกรทะยานขึ้นฟ้า (Dragon Fish) … แล้วไปคาบแก้วตอนไหนกัน?

ส่วนเหตุผลที่หลวงพ่อเคาะปลาหลีฮื้อ อันนี้ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน อาจเหตุผลเดียวกับการเคาะบักฮื้อ เพื่อให้ปลาหลีฮื้อคายพระไตรปิฏก (เดี๋ยวจะเขียนอธิบายย่อหน้าถัดๆไป) เรียกขวัญกลับสู่หญิงสาว กระมัง?

พฤติกรรมของหญิงสาว สร้างความเอือมละอาให้พระพุทธรูป ลองสังเกตความแตกต่างทั้งสามภาพนี้ มีการละเล่นกับแสง-เงา สอดคล้องกับความตั้งใจของเธอเมื่อเริ่มต้นสวดมนต์ (แสงสว่างอาบใบหน้าพระพุทธรูป) หลับคาที่นั่ง (มีเงาปกคลุมครึ่งหนึ่ง) แล้วนอนแผ่ผังผาบ (ปกคลุมด้วยความมืดมิด)

น่าเสียดายที่ผมไม่สามารถอ่านภาษาเกาหลี (หรือภาษาจีนก็ไม่รู้นะ) เลยไม่รู้เคลือบแฝงความหมายอะไร แต่การเขียนด้วยน้ำ (แทนน้ำหมึก) ทำให้ตัวอักษรค่อยๆเลือนลางจางหาย สะท้อนถึงคำสอนหลวงพ่อพยายามพร่ำพูดกับลูกศิษย์หนุ่ม กลับเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา แสดงอารยะขัดขืน ดื้อรั้น ดึงดัน ปฏิเสธทำตามคำสั่ง เชื่อมั่นว่าความครุ่นคิดตนเองนั้นถูกต้อง … เป็นไปตามช่วงวัยรุ่น อยากรู้อยากลอง ฮอร์โมนเพศพลุกพล่าน

สัตว์สัญลักษณ์ของฤดูร้อน คือไก่ และภาพช็อตนี้สามารถใช้อธิบายในเชิงเปรียบเทียบได้เป็นอย่างดี

  • หลวงพ่อกำลังให้อาหารไก่
  • วัยรุ่นหนุ่มกำลังหยอกล้อเล่นกับหญิงสาว

มองจะเห็นความสัมพันธ์ไหมเอ่ย? หลวงพ่อ = ลูกศิษย์หนุ่ม, หญิงสาว = ไก่ (Chick) ชวนให้ผมนึกถึงสำนวนไทย “ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง” จะว่าไปเสียงขันของมัน ช่วยปลุกตื่น ยืนเคารพธงชาติ 😏 สิ่งมีชีวิตที่ช่วยกระตุ้นอารมณ์ทางเพศให้เกิดความระริกระรี้ เร่าร้อนทรวงใน

เกร็ด: พุทธศิลป์ (Buddhist Art) สัตว์ปีก นก ไก่ (เพศเมีย) มักเป็นตัวแทนของความอยากได้อยากมี อยากครอบครองเป็นเจ้าของ (Desire and Craving) หรือในภวจักรตรงกับอกุศลมูล “ราคะ”

เรือ/ภาพวาดเรือ สามารถสื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่ม-สาว สถานที่ที่พวกเขาแอบพากันไปร่วมรัก หลับนอน ล่องลอยคอด้วยกัน แต่ทว่ายามเช้าพบเห็นโดยหลวงพ่อ จึงแอบเปิดรูให้เรือรั่ว พยากรณ์จุดจบในอนาคต ย่อมต้องลงเอยด้วยหายนะ ‘ชู้รักเรือล่ม’ ไม่สามารถเอาตัวรอดไปตลอดรอดฝั่ง

การกระทำของหลวงพ่อ ยังสามารถเป็นบทเรียนสอนลูกศิษย์หนุ่ม ทำอะไรให้คิดหน้าคิดหลัง คิดการอันใดให้รอบคอบ ไม่ใช่ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับกิเลส ตัณหา อารมณ์ จนไม่สนห่าเหวอะไรใคร ไม่รับรู้ตนเองว่ากำลังทำอะไร สุดท้ายจักพลอยทำให้ทุกสิ่งอย่างอับปาง ล่มสลาย

ตอนหลวงพ่อพายเรือพาหญิงสาวกลับขึ้นฝั่ง ผมพอคาดเดาความตั้งใจของผกก. Kim Ki-duk ว่าอยากให้ฝนตกหนักๆ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์แทนหยาดน้ำตานองภายในจิตใจวัยรุ่นหนุ่ม แต่ทว่าระยะเวลาถ่ายทำฤดูกาลละแค่ 4-5 วัน มันจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเฝ้ารอคอยฟ้าฝน สภาพอากาศตรงตามใจปรารถนา ภาพช็อตนี้ที่พอเห็นแค่ผืนน้ำพริ้วไหว ก็น่าจะพึงพอใจในจำกัดเวลาเท่าที่มี

ท้ายที่สุดแล้ววัยรุ่นหนุ่มก็มิอาจอดรนทน แรงกระตุ้นของกิเลสตัณหา เช้าตื่นขึ้นมาทำการลักขโมยพระพุทธรูป แบกไว้บนหลังแบบเดียวกับตอนเป็นสามเณรน้อยถูกเชือกล่ามก้อนหิน แต่ในบริบทนี้อาจต้องการสื่อถึงการยังยึดถือคำสั่งสอนของหลวงพ่อ มีพุทธศาสนาติดตัวไปด้วย

ถึงแม้จะถูกลูกศิษย์ลักขโมยพระพุทธรูปไป แต่สำหรับหลวงพ่อยังคงสวดมนต์ นับลูกประคํา เคาะบักฮื้อ พุทธศาสนานั้นอยู่ที่ใจ ไม่ใช่วัตถุสิ่งข้าวของ หรือก้อนหินแกะสลักอันใด

เกร็ด: บักฮื้อ, 木魚 แปลตรงตัว ปลาไม้ เป็นไม้แกะสลักคล้ายๆรูปปลา, เหตุผลที่เคาะบักฮื้อเวลาสวดทำพิธีมาจากตำนานพระถังซำจั๋งเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎก เมื่อครั้นต้องข้ามมหาสมุทรได้รับความช่วยเหลือจากเต่ายักษ์ ฝากคำถามถึงพระโพธิสัตว์ว่าเมื่อใดตนจะบรรลุมรรคผลนิพพาน? แล้วขากลับพระถังซำจั๋งดันลืมถาม เต่าจึงโมโหดำลงใต้น้ำ ทำให้พระไตรปิฎกที่อัญเชิญมากระจายทั่วมหาสมุทร ถูกกลืนกินโดยปลาหลีฮื้อ หรือก็คือบักฮื้อ เวลาทำพิธีการเคาะบักฮื้อ ก็เพื่อให้ปลาหลีฮื้อคายพระไตรปิฎกออกมา

สองภาพสุดท้ายของฤดูร้อน (Summer) เริ่มจากปล่อยไก่เข้าป่า หรือก็คือวัยรุ่นหนุ่มได้รับอิสรภาพ(ทางเพศ) ต่อด้วยพบเห็นก้อนเมฆฝนเคลื่อนเข้ามาบดบังพระอาทิตย์ หรือก็คือวัยรุ่นหนุ่มที่ถูกกิเลสตัณหา บดบังสายตา ทำให้ไม่สามารถควบคุมตนเอง ปล่อยตัวปล่อยใจ ปล่อยชีวิตล่องลอยไป

การหวนกลับมาของชายหนุ่ม เต็มไปด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราดโกรธา (Agonizing) หลวงพ่อสอบถามความเป็นมาก็ขึ้นเสียงใส่ ภาพช็อตนี้ทั้งสองนั่งอยู่ชายแพที่ค่อยๆเคลื่อนไหล มุมกล้องให้พื้นที่กับผืนป่า ทิวทัศน์ธรรมชาติ ใบไม้เต็มไปด้วยสีสันแห่งฤดูกาล (Fall หรือ Autumn) มันอาจดูสวยงามตา แต่เคลือบแฝงนัยยะความเปลี่ยนแปลง จิตใจมนุษย์ก็เฉกเช่นเดียวกัน

สัตว์สัญลักษณ์ของฤดูใบไม้ร่วงคือเจ้าแมวสีขาว มักพบเห็นมันกำลังจับจ้อง สนใจปลาทองในบ่อ รอคอยที่จะตะคลุบเหยื่อ ทีแรกผมครุ่นคิดว่าอาจเป็นตัวแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจรอคอยการจับกุมชายหนุ่ม (ระหว่างแกะสลักพระสูตรหฤทัย) จนกระทั่งบังเอิญเจอความเชื่อทางพุทธศาสนาของชาวญี่ปุ่น

In Japan, there is a myth that cats turn into super spirits when they die. According to the Buddhist religion, the body of the cat is the temporary resting place of the soul of very spiritual people.

เช่นนั้นแล้วการใช้หางแมวเขียนพระสูตรหฤทัย ก็เพื่อช่วยให้จิตวิญญาณของชายหนุ่มบังเกิดความสุขสงบ ผ่อนคลายจากอารมณ์เกรี้ยวกราดโกรธา

ชายหนุ่มพยายามทำสารพัดวิธีที่จะระบายอารมณ์อัดอั้น ร่ำร้อง กรีดกราย กลั้นลมหายใจ แขวนบนเส้นเชือก ฯ เหล่านี้อาจจะเรียกว่าทุกขกิริยา (Self-Mortification) ทัณฑ์ทรมานร่างกาย เพื่อชำระตนให้บริสุทธิ์จากบาป แต่วิธีการอันสุดโต่งเหล่านี้กลับไม่สามารถทำให้บรรลุธรรม ภายในยังคงเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน

มีดเคยใช้เข่นฆาตกรรมภรรยา ยังคงเปลอะเปลื้อนคราบเลือด ชายหนุ่มนำมาปลงผม โกนศีรษะ ทั้งสองการกระทำนี้ต่างสื่อสัญญะทางธรรมถึงการตัดกิเลส เข่นฆ่าสิ่งเคยหมกมุ่นยึดติด ปล่อยละวางทุกสิ่งอย่างทอดทิ้งไว้เบื้องหลังก่อนเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ และมีดเล่มนี้ยังถูกนำมาใช้แกะสลักพระสูตรหฤทัย จารึกหัวใจพุทธศาสนาให้ตราฝังอยู่ภายในจิตวิญญาณ

การแกะสลักพระสูตรหฤทัยลงบนพื้นไม้ มองผิวเผินเหมือนช่วยระบายอารมณ์ กระทำสิ่งเบี่ยงเบนความสนใจ ไม่ให้หมกมุ่นครุ่นคิดถึงความทุกข์ทรมาน/อดีตพานผ่านไป แต่ขณะเดียวกันยังถือเป็นการแกะสลักพระสูตรภายในจิตใจ ให้สามารถตราฝัง ‘หัวใจ’ พุทธศาสนา นั่นต่างหากคือสิ่งทำให้ชายหนุ่มบังเกิดความสุขสงบขึ้นอย่างแท้จริง

เกร็ด: ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร เรียกโดยย่อ หฤทัยสูตร (The Heart Sūtra) คือพระสูตรในหมวดปรัชญาปารมิตา ที่มีความสำคัญและได้รับความนิยมในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ความหมายตามตัวอักษรว่า “พระสูตรอันเป็นหัวใจแห่งปฏิปทาอันยวดยิ่งแห่งความรู้แจ้ง” อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ “พระสูตรว่าด้วยปัญญาอันเป็นหัวใจพาไปถึงฝั่งพระนิพพาน”

มีลักษณะเป็นโศลกภาษาสันสกฤตจำนวน 14 โศลก แต่ละโศลกมี 32 อักขระ ส่วนพระสูตรที่ได้รับการแปลเป็นภาษาจีนโดยพระเสวียนจั้ง (ถังซำจั๋ง) มีทั้งหมด 260 ตัวอักษรจีน ในภาษาอังกฤษมักแปลออกมาได้จำนวน 16 บรรทัด เนื้อหาโดยสังเขปพรรณนาถึงการบรรลุธรรมของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร อันเกิดจากการเพ่งวิปัสนาอย่างล้ำลึก จนบังเกิดปัญญา (ปรัชญา) ในการพิจารณาเล็งเห็นว่าสรรพสิ่งต่างๆ ล้วนว่างเปล่า และประกอบด้วยขันธ์ ๕ (ปัญจสกันธะ) อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา (สังชญา) สังขาร (สังสการ) และวิญญาณ (วิชญาน)


สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประทับอยู่ ณ เขาคิชฌกูฏใกล้กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ และพระโพธิสัตว์จำนวนมาก ก็ในสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสแสดงธรรมโดยปริยายแล้ว ได้ทรงธำรงอยู่ในสมาธิชื่อว่า คัมภีรโอภาส

ณ เวลาเดียวกันนั้นแล พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ผู้ทรงคุณอันประเสริฐพระผู้เป็นมหาสัตว์ ได้บำเพ็ญอยู่ซึ่งปรัชญาปารมิตาภาวนาอันละเอียดลึกซึ้งจนหยั่งลงเห็นขันธ์ ๕ โดยสภาวะความหมายแห่งความเป็นศูนย์

ขณะนั้นแลด้วยพุทธานุภาพแห่งพระพุทธองค์ ได้ดลบันดาลให้พระสารีบุตรกล่าวถามพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ผู้ทรงคุณอันประเสริฐว่า หากแม้นมีกุลบุตรกุลธิดาผู้ใดปรารถนาความรู้แจ้ง ประสงค์จะบำเพ็ญปรัชญาปารมิตาภาวนาอันลึกซึ้งนี้ เธอผู้นั้นพึงฝึกฝนภาวนาอย่างไร?

ภาษาอังกฤษภาษาไทย(แปลจากจีน)ภาษาไทย(ฉบับสังกษิปตะมาตฤกา)
The Bodhisattva of Compassion,
When he meditated deeply,
Saw the emptiness of all five skandhas
And sundered the bonds that caused him suffering.

Here then,
Form is no other than emptiness,
Emptiness no other than form.
Form is only emptiness,
Emptiness only form.
Feeling, thought, and choice,
Consciousness itself,
Are the same as this.

All things are by nature void
They are not born or destroyed
Nor are they stained or pure
Nor do they wax or wane

So, in emptiness, no form,
No feeling, thought, or choice,
Nor is there consciousness.
No eye, ear, nose, tongue, body, mind;
No colour, sound, smell, taste, touch,
Or what the mind takes hold of,
Nor even act of sensing.

No ignorance or end of it,
Nor all that comes of ignorance;
No withering, no death,
No end of them.
Nor is there pain, or cause of pain,
Or cease in pain, or noble path
To lead from pain;
Not even wisdom to attain!
Attainment too is emptiness.

So know that the Bodhisattva
Holding to nothing whatever,
But dwelling in Prajna wisdom,
Is freed of delusive hindrance,
Rid of the fear bred by it,
And reaches clearest Nirvana.

All Buddhas of past and present,
Buddhas of future time,
Using this Prajna wisdom,
Come to full and perfect vision.
Hear then the great dharani,
The radiant peerless mantra,
The Prajnaparamita
Whose words allay all pain;
Hear and believe its truth!

Gate Gate Paragate Parasamgate Bodhi Svaha
Gate Gate Paragate Parasamgate Bodhi Svaha
Gate Gate Paragate Parasamgate Bodhi Svaha
พระสูตรหัวใจแห่งปัญญาและบารมี
พระผู้ทอดสายตาคอยช่วยเหลือสรรพสัตว์ ยามปฏิบัติลึกซึ้งซึ่งปัญญาและบารมี
เห็นแจ้งว่าสิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นมนุษย์ล้วนว่างเปล่า จึงข้ามพ้นทุกข์ทั้งหลาย

สารีบุตร, รูปลักษณ์ไม่ต่างจากความว่างเปล่า, ความว่างเปล่าไม่ต่างจากรูปลักษณ์
รูปลักษณ์คือความว่างเปล่าโดยแท้ ความว่างเปล่าโดยแท้คือรูปลักษณ์
ความรู้สึก ความจำ การปรุงแต่ง และการรับรู้ ก็เช่นเดียวกัน

สารีบุตร, ธรรมชาติทั้งปวงล้วนแต่มีลักษณะที่ว่างเปล่า
ไม่เกิด ไม่ดับ, ไม่มัวหมอง ไม่ผ่องแผ้ว, ไม่เต็ม ไม่พร่อง

ดังนั้น ภายในความว่างเปล่าจึงปราศจากรูปลักษณ์
ไร้ความรู้สึก ความจำ การปรุงแต่ง และการรับรู้; ไร้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ไร้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และอารมณ์ที่ใจคิด, ไร้ผัสสะแห่งดวงตา แม้กระทั่งไร้ผัสสะแห่งดวงใจ
ไร้ซึ่งความไม่รู้แจ้ง และยังไร้การสิ้นสุดของความไม่รู้แจ้ง กระทั่งความไม่แก่ชราและความตาย ยังรวมถึงการสิ้นไปของความแก่ชราและความตาย
ไม่มีทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การสิ้นไปแห่งทุกข์และวิถีแห่งการสิ้นทุกข์ ไม่มีความรอบรู้ ไม่มีการได้มาซึ่งความรอบรู้

ด้วยเหตุที่ไร้การจะได้มาซึ่งความรอบรู้ พระโพธิสัตว์จึงดำเนินตามครรลองแห่งปัญญาและบารมีดังนี้
จิตใจจึงไร้ความกังวล เมื่อจิตใจไร้ความกังวลดังนี้
จึงปราศจากความกลัว ห่างไกลภาพฝันอันเป็นมายา บรรลุความหลุดพ้นเป็นแน่แท้

พระพุทธเจ้าทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เนื่องด้วยปัญญาและบารมีดังนี้
จึงบรรลุถึงความรู้แจ้งอันสูงสุด
ด้วยเหตุนี้ พึงเข้าใจว่าปัญญาและบารมีนั้น
คือคำภาวนาอันทรงศักดาอานุภาพ คือคำภาวนาอันแจ่มแจ้ง
คือคำภาวนาที่สูงสุด คือคำภาวนาที่ไร้เทียมทาน
สามารถเยียวยาความทุกข์ทรมานทั้งหลาย เป็นความจริงแน่แท้ไม่แปรผัน
จึงพึงสาธยายคำภาวนาแห่งปัญญาและบารมีดังนี้
เอ่ยคำภาวนาดังนี้ว่า

คเต คเต ปารคเต ปารสังคเต โพธิ สวาหา
(ไป ไป ข้ามไปให้พ้น ให้พ้นที่สุด ถึงความรู้แจ้ง เทอญ)
พระอารยาวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ เมื่อทรงได้บำเพ็ญปัญญาบารมี
จนบรรลุถึงโลกุตรธรรมอันลึกซึ้งแล้ว พิจารณาเล็งเห็นว่าที่แท้
จริงแล้วขันธ์ ๕ นั้นเป็นสูญ จึงได้ก้าวล่วงจากสรรพทุกข์ทั้งปวง

ดูก่อนท่านสารีบุตร รูปคือความสูญ ความสูญนั่นแหละคือรูป
ความสูญไม่อื่นไปจากรูป รูปไม่อื่นไปจากความสูญ
รูปอันใด ความสูญก็อันนั้น ความสูญอันใด รูปก็อันนั้น
อนึ่ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นสูญอย่างเดียวกัน

ท่านสารีบุตร ก็สรรพธรรมทั้งปวงมี ความสูญเป็นลักษณะ
ไม่เกิด ไม่ดับ ไม่มัวหมอง ไม่ผ่องแผ้ว ไม่หย่อน ไม่เต็ม อย่างนี้

เพราะฉะนั้นแหละท่านสารีบุตร ในความสูญ
จึงไม่มี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ไม่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรม
ไม่มีจักษุธาตุ จนถึงมโนธาตุ ธรรมชาตินั้น วิญญาณธาตุ
ไม่มีวิชชา ไม่มีอวิชชา ไม่มีความสิ้นไปแห่งวิชชา และอวิชชา
จนถึงไม่มี ความแก่ ความตาย ไม่มีความสิ้นไปแห่ง ความแก่ ความตาย
ไม่มีทุกข์ สมุห์ทัย นิโรธ มรรค ไม่มีญาณ ไม่มีการบรรลุ ไม่มีการไม่บรรลุ

พระโพธิสัตว์ผู้วางใจในปัญญาบารมี จะมีจิตที่เป็นอิสระจากอุปสรรคสิ่งกีดกั้น
เพราะจิตของพระองค์เป็นอิสระจาก อุปสรรคสิ่งกีดกั้น พระองค์จึงไม่มีความกลัวใดๆ
ก้าวล่วงพ้นไปจากมายาหรือสิ่งลวงตา ลุถึงพระนิพพานได้ในที่สุด

อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในตรีกาล (อดีต ปัจจุบัน และอนาคต)
ด้วยเหตุที่ทรงอาศัยปัญญาบารมีจึงได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ด้วยเหตุฉะนี้จึงสมควรทราบว่าปัญญาบารมีนี้
คือมหาศักดามนตร์(เป็นมหามนต์อันศักดิ์สิทธิ์)
คือมหาวิทยามนตร์(เป็นมนต์แห่งความรู้อันยิ่งใหญ่)
คืออนุตรมนตร์(เป็นมนต์อันไม่มีมนต์อื่นยิ่งกว่า)
คืออสมสมมนตร์(เป็นมนต์อันไม่มีมนต์อื่นใดมาเทียบได้)
สามารถขจัดสรรพทุกข์ทั้งปวง นี่เป็นสัจจะ เป็นอิสระจากความเท็จทั้งมวล
จึงเป็นเหตุให้กล่าวมนตร์แห่งปัญญาบารมีว่า

โอม คเต คเต ปารคเต ปารสังคเต โพธิ สวาหา

ท่านสารีบุตร ! พระโพธิสัตว์ผู้หวังรู้แจ้งพึงบำเพ็ญปรัชญาปารมิตาภาวนาอย่างนี้แล

ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงออกจากคัมภีรโอภาสมาธิ แล้วได้ประทานสาธุการแก่พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรว่า สาธุ… สาธุ… ชอบแล้ว… ถูกแล้ว… กุลบุตรกุลธิดาผู้ปรารถนารู้แจ้ง พึงบำเพ็ญปรัชญาปารมิตาภาวนาอย่างนี้แล พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ย่อมอนุโมทนาสรรเสริญความหมายที่ท่านยกขึ้นมาแสดงไว้ดีแล้วนี้

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระพุทธดำรัสจบแล้ว พระสารีบุตร พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พุทธบริษัททุกหมู่เหล่า พร้อมทั้งมนุษย์และเทวดา อสูร ครุฑ คนธรรพ์ ต่างมีจิตเบิกบาน ชื่นชมพุทธภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยประการฉะนี้

ผมละขำกลิ้งกับเสียงวิพากย์วิจารณ์ความไม่สมจริง ถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสอง มันมีที่ไหนอนุญาตให้ฆาตกรแกะสลักตัวอักษรเสร็จก่อน หรือพอว่างๆก็หยิบปืนขึ้นมายิงนกยิงไม้ (ประมาณว่ากระสุนทุกนัดต้องลงบันทึกว่ายิงไปทำไม ไม่สามารถยิงทิ้งยิงขว้างได้แบบนี้)

เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสองพยายามยิงกระป๋องน้ำอัดลม แต่จนแล้วจนรอด จบตำรวจมาได้ยังไงก็ไม่รู้ ยิงนกตกไม้ ไม่โดนสักที ทว่าหลวงพ่อบังเกิดความรำคาญใจ หยิบก้อนหินขึ้นมาเขวี้ยงขว้าง ทีเดียวถูกเป้าอย่างจัง … อันนี้ผมนึกถึงคิวโด (弓道) แปลตรงตัว วิถีแห่งธนู คือศิลปะการยิงธนูของญี่ปุ่นที่มีความเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา นิกายเซน ซึ่งไม่ใช่แค่ยิงธนูเข้าเป้า (กายภาพ) แต่ยังต้องจิตว่างเปล่าถึงสามารถยิงธนูเข้าเป้า (มโนภาพ) ก็เหมือนกับสองนายตำรวจยิงนกตกไม้ สนเพียงจับกุมฆาตกรเข้าเรือนจำ ทว่าหลวงพ่อผู้มีความเข้าใจสัจธรรมชีวิต เสี้ยมสอนบทเรียนสุดท้ายให้ลูกศิษย์ ทำสิ่งนี้แล้วจักสามารถสงบจิตสงบใจ เขวี้ยงขว้างอะไรเลยถูกเป้าหมาย

ผมยังคงมองว่าการลงสีข้อความแกะสลักเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นสักเท่าไหร่ เพราะธรรมะ/ธรรมชาติ ควรมีความกลมกลืน ไม่ใช่โดดเด่นชัดเจนขึ้นมาเช่นนั้น แต่เราอาจจะตีความถึงสีสันแห่งชีวิต ฤดูกาลผันแปรเปลี่ยน (ประกอบด้วยสีส้ม, เขียว, น้ำเงิน และม่วง) บทเรียนดังกล่าวจักช่วยให้ชายหนุ่มเข้าใจหลักธรรมคำสั่งสอน หัวใจของพุทธศาสนา

ช่วงเวลาเล็กๆหลังเสร็จจากแกะสลักพระสูตรหฤทัย ชายหนุ่มนั่งเหม่อมองทิวทัศน์ธรรมชาติค่อยๆเลื่อนไหล แต่เมื่อสลับมุมกล้องถ่ายจากภายนอกเข้ามา กลับพบเห็นเพียงอารามกลางทะเลสาปกำลังล่องลอยออกห่าง

บทเรียนจากสองภาพนี้เกี่ยวกับเรื่องจิตปรุงแต่ง มีเพียงตัวเราที่อยากได้อยากมี อยากเป็นเจ้าข้าวเจ้าของโน่นนี่นั่น จะเป็นจะตายเพื่อให้ได้มาครอบครอง โลกต้องหมุนรอบตัวฉัน! แต่ถ้ามองจากภายนอกย้อนกลับเข้ามา จักค้นพบว่าสิ่งต่างๆรอบข้างล้วนหยุดนิ่ง เพียง(จิต)เราเองที่ล่องลอยเวียนวนอยู่ในกระแสธารา

ตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิ (Spring) หลายคนอาจสงสัยว่าหลวงพ่อคือผู้มีอิทธิฤทธิ์ สามารถเหาะเหินเดินบนน้ำ แอบติดตามสามเณรน้อยไปยังสถานที่ต่างๆได้อย่างไร? หนังเปิดเผยช่วงท้ายของฤดูใบไม้ร่วง (Fall หรือ Autumn) ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังจะพาลูกศิษย์กลับไปรับโทษทัณฑ์ จู่ๆไม่สามารถพายเรือไปข้างหน้า เหมือนมีบางสิ่งอย่างฉุดเหนี่ยวรั้ง ทำใจอยู่สักพักหลวงพ่อถึงยินยอมปล่อยละวาง บังเกิดความเข้าใจวิถีสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

และเมื่อเรือพายส่งลูกศิษย์ถึงอีกฟากฝั่ง จู่ๆเรือลำนี้ก็ล่องตรงกลับมาหาหลวงพ่ออย่างน่าพิศวง (ใครช่างสังเกตจะพบว่ามีเชือกเส้นเล็กๆดึงเข้ามา) คนที่ไม่เชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติจะมองแค่ความบังเอิญ พอดิบพอดีกระแสน้ำพัดพามา แต่อิทธิฤทธิ์ลักษณะนี้ไม่ใช่สิ่งเหนือจริงเกินไปสำหรับพุทธศาสนา

หลายคนอาจเข้าใจผิดๆว่าหลวงพ่อปิดทวารทั้งห้า เผาตัวเอง? ฆ่าตัวตาย? ไม่ใช่นะครับ นี่เป็นการนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ที่สอดคล้องเข้ากับแนวคิดพุทธศาสนา นิพพานคือการดับทุกข์ สิ้นกิเลสตัณหา เหมือนเปลวไฟที่ดับมอดจนสิ้นเชื้อ ไม่สามารถปะทุลุกลามขึ้นมาได้อีก (ไฟคือตัวแทนของกิเลสและกองทุกข์ ไม่ใช่ชีวิตและจิตวิญญาณ)

บุคคลที่สร้างบุญบารมีไว้เยอะ ฝึกฝนตนเองจนบรรลุญาณระดับสูง เมื่อร่างกายถูกเผามอดไหม้ อวัยวะต่างจะแปรสภาพ ตกผลึก กลายเป็นเหมือนอัญมณี มีคำเรียกว่าสรีระธาตุ เพื่อเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้กราบไหว้บูชา … นี่เป็นอีกสิ่งที่วิทยาศาสตร์ยังหาข้อพิสูจน์ไม่ได้ ทำไมสรีระธาตุถึงพบเจอเฉพาะกับบุคคลผู้บำเพ็ญเพียรบารมีในพุทธศาสนาเท่านั้น?

ส่วนงูที่แหวกว่ายออกมาจากเรือกำลังมอดไหม้ อันนี้ก็แล้วแต่จะครุ่นคิดตีความว่าคือการเกิดใหม่ วิญญาณเข้าสิงสถิต หรือก็แค่งูธรรมดาๆบังเอิญแหวกว่ายผ่านมา ซึ่งจุดประสงค์ของหนังน่าจะต้องการทำออกมาให้สอดคล้องแนวคิดเวียนว่ายตายเกิด ความตายของหลวงพ่อทำให้เกิดการถือกำเนิดใหม่ในรูปแบบสิ่งมีชีวิตอื่น … แล้วทำไมต้องเป็นงู? ในทางพุทธศาสนา นิกายมหายาน งู คือหนึ่งในสัตว์ภวจักร/วงล้อแห่งชีวิตที่ก่อให้เกิดสังสารวัฎ หรือวังวนแห่งการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลกหรือในภพต่างๆ

สองภาพสุดท้ายของฤดูใบไม้ร่วง (Fall หรือ Autumn) พบเห็นหมอกควันปกคลุมทะเลสาป จนมองแทบไม่เห็นอะไร สร้างสัมผัสลึกลับ พิศวง ขณะเดียวกันก็ดูหมองหม่น บรรยากาศหนาวเหน็บ เพราะหลวงพ่อเพิ่งมรณภาพไม่นาน ฤาว่านี่คือโลกหลังความตาย และภาพสุดท้ายราวกับอารามกลางน้ำได้สูญหายไป

หมอกควัน ยังคือสัญลักษณ์ความคลุมเคลือ มองไม่เห็นเบื้องหน้า สามารถสื่อถึงอนาคตอารามกลางทะเลสาปแห่งนี้ เพราะหลังจากหลวงพ่อมรณะภาพ ทำให้ไม่มีใครพักอาศัยอยู่ ก็ไม่รู้อีกนานเท่าไหร่กว่าลูกศิษย์หนุ่มจะได้รับการปล่อยตัว แต่เขาจะหวนกลับมาหรือไม่? หรือใครอื่นเข้ามาพักอาศัยแทน?

การปรับเปลี่ยนนักแสดงจาก Kim Young-min (ฤดูใบไม้ร่วง) มาเป็น Kim Ki-duk (ฤดูหนาว) อาจทำให้หลายคนมองว่าไม่ใช่ตัวละครเดียวกัน? นั่นคืออิสระที่ผู้สร้างเปิดกว้างเอาไว้ ขึ้นอยู่กับศักยภาพผู้ชมจักสามารถครุ่นคิดเข้าใจ สิ่งน่าสนใจกว่านั้นคือการเล่นเองของผู้กำกับ เหตุผลเพราะนักแสดงติดต่อไว้ยกเลิกกลางคัน ถึงอย่างนั้นกลับช่วยให้หนังมีความเป็นส่วนตัว เชื่อมโยงตัวละคร = Kim Ki-duk และยังเหนือกว่านั้นในภาพยนตร์ Arirang (2011)

ผมไม่อยากสปอย Arirang (2011) ในบทความนี้! เลยขออธิบายแค่ว่าเรื่องนั้นมีการเชื่อมโยง Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring (2003) ที่จักช่วยให้ผกก. Kim Ki-duk สามารถก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาซึมเศร้าโศก แล้วได้ถือกำเนิด เริ่มต้นชีวิตใหม่แบบเดียวกับการมาถึงของตัวละคร(ของตนเอง)ในช่วงฤดูหนาว

สัตว์สัญลักษณ์ของฤดูหนาว (Winter) ก็คือเจ้างูสิงตัวนี้ที่ราวกับเป็นตัวแทน(อดีต)หลวงพ่อ แม้มรณะภาพไปแล้วยังฝึกบำเพ็ญเพียร เฝ้ารอคอยลูกศิษย์หวนกลับมา สวมใส่ชุดของอาจารย์ เลื่อนสถานะตนเองกลายเป็นหลวงพ่อคนใหม่ เริ่มต้นฝึกฝน ดำเนินรอยตามวิถีธรรม นำบทเรียนเคยได้รับมาปรับใช้

สิ่งแรกเมื่อชายวัยกลางคนเดินทางมายังอารามกลางทะเลสาป (ที่กลายเป็นน้ำแข็ง) คือขุดอัฐิ/สรีระธาตุของหลวงพ่อขึ้นจากเรือ จากนั้นแกะสลักพระพุทธรูปน้ำแข็ง แล้วนำเอาไปยัดใส่ไว้บริเวณกลางหน้าผาก ให้เป็นดวงตาที่สามหรือตาทิพย์ (ไม่ใช่ตาเนื้อ) สัญลักษณ์ของการรับรู้ระดับสูงในทางจิตวิญญาณ ความสว่างไสวทางปัญญา ญาณทิพย์พิเศษที่หยั่งรู้ฟ้าดิน และบางลัทธิเชื่อว่าวิญญาณจะเข้าออกร่างกายผ่านทางประตูนี้

หลายคนย่อมครุ่นคิดว่านี่เป็นการกระทำที่ไม่เป็นประโยชน์อันใด เพราะอีกไม่นานฤดูหนาวจักเคลื่อนพานผ่าน พระพุทธรูปหลอมละลาย แล้วสรีระธาตุล่องลอยไปกับสายน้ำ แต่นั่นย่อมคือกุศโลบายสำหรับเสี้ยมสอนไม่ให้หมกมุ่นยึดติดกับรูปลักษณ์ วัตถุภายนอก สิ่งข้าวของ รวมถึงพระพุทธรูป และสรีระธาตุ ทุกสิ่งอย่างล้วนเวียนว่ายตายเกิด น้ำแข็งหลอมละลาย ไม่มีใครสามารถหยุดยับยั้งการเคลื่อนไหลของกระแสธารา

พุทธศาสนานิกายมหายาน (อย่างวัดเส้าหลิน) มีความเชื่อว่าเราควรฝึกฝนทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ นั่นคือเหตุผลที่ผกก. Kim Ki-duk ตื่นเช้าขึ้นมาซ้อมออกกำลังกายท่ามกลางสภาพอากาศหนาวเหน็บ เตะซ้ายที เตะขวาที ก่อนเตะขาทั้งสองข้างขึ้นพร้อมๆกัน … สอดคล้องเข้ากับจังหวะชีวิตที่มีขึ้น-ลง ไม่รู้ประสีประสา-มากด้วยประสบการณ์ ก่อนสามารถค้นพบทางสายกลาง

อีกสิ่งน่าสนใจหนึ่งของการฝึกฝนร่างกาย ผมสังเกตท่าทางการกระโดดโลดเต้นช่างมีความละม้ายคล้ายกับฤดูกาลอื่นๆที่สามเณรน้อย วัยรุ่นหนุ่ม และชายหนุ่ม ต่างเคยลงไปแหวกว่าย ตะเกียกตะกาย เล่นสนุกสนาน รวมถึงระบายอารมณ์กับผืนน้ำ แต่ความแตกต่างคือศิลปะป้องกันตัว (Martial Art) นั้นมีรูปแบบ วิธีการ ท่วงท่าทาง เพื่อจุดประสงค์ของการบรรลุหลุดพ้น (เลยโลดเต้นอยู่บนพื้นผิวน้ำแข็ง)

การมาถึงของหญิงสาวสวมผ้าคลุมปกปิดหน้าตา แล้วทอดทิ้งทารกน้อยไว้ให้หลวงพ่อคนใหม่เลี้ยงดูแล หนังไม่มีการอธิบายเหตุผล เพราะอะไร? ทำไม? เธอคือใคร? หน้าตาเช่นไร? แต่ทุกสิ่งอย่างไม่จำเป็นต้องได้รับคำตอบ เพียงเติมเต็มองค์ประกอบ โครงสร้างหนัง วัฏจักรชีวิต เกิด-ตาย (หลวงพ่อมรณภาพ-ทารกน้อยถูกทิ้งขว้าง) เริ่มต้น-สิ้นสุด ว่ายเวียนวนอยู่ในวัฏฏะสังสาร

ปล. แม้ใช้นักแสดงคนละคน แต่หญิงสาวคนนี้ยังคือภาพสะท้อนเรื่องราวฤดูร้อน (Summer) มารดานำพาบุตรสาวมาฝากหลวงพ่อให้ช่วยรักษาอาการป่วยใจ

หลวงพ่อคนใหม่ขุดหลุมน้ำแข็งสำหรับใช้ชำระล้างหน้าตา ก่อนกลับกลายเป็นหลุมศพของมารดาขณะกำลังทอดทิ้งบุตร ตอนกลางคืนมองอะไรไม่ค่อยเห็นเลยพลัดตกหล่นเสียชีวิต นี่ถือเป็นกรรมสนองกรรมก็ได้กระมัง (ทอดทิ้งบุตรชาย = ทอดทิ้งชีวิตตนเอง)

เปิดหน้าหญิงสาวทำไม? เอาจริงๆไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่ต้องถ่ายให้ผู้ชมเห็นเลยนะ (ไม่เห็นใบหน้า แต่พบเห็นการกระทำ) ทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์ Address Unknown (2001) ที่ผกก. Kim Ki-duk เคยพบเห็นจดหมายตีกลับทิ้งไว้ในตู้มากมาย รับรู้ว่ามันไม่ใช่สิ่งถูกต้อง กลับมิอาจหักห้ามใจตนเองให้เปิดอ่าน การแอบเปิดหน้าหญิงสาวผู้เสียชีวิตก็คงเฉกเช่นเดียวกัน!

แต่สิ่งน่าสนใจคือ(เศียร)พระพุทธรูปบนผ้าคลุมของหญิงสาวคนนั้น เหมือนต้องการจะสื่อถึง ใบหน้าของเธอไม่ว่าจะเป็นใคร มารดาเปรียบดั่งพระอรหันต์ในบ้าน ถึงทอดทิ้งทารกน้อย แต่ยังเป็นผู้ให้กำเนิดชีวิต หวังว่าจะไปสู่สุขคติ ถือกำเนิดในชาติภพภูมิดีกว่านี้

คำภาษาอังกฤษบางทีมันก็คงๆ พระพุทธรูปองค์นี้คือใคร? Maitreya, Metteyya, ไมตรียา ผมหาข้อมูลอยู่นานก่อนตระหนักว่าคือพระศรีอริยเมตไตรย พระโพธิสัตว์ผู้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ ภายหลังจากศาสนาของพระโคตมพุทธเจ้าสิ้นสุดไป โลกล่วงเข้าสู่ยุคแห่งความเสื่อมถอย อายุขัยของมนุษย์ลดลงจนเหลือ 10 ปี, แล้วเข้าสู่ยุคมิคสัญญี ผู้คนสลดใจกับความชั่วเลยหันมารวมกลุ่มกันทำความดี, ทำให้อายุขัยมนุษย์กลับมาเพิ่มขึ้นจนถึง 1 อสงไขยปี, แล้วจึงลดลงอีกจนเหลือ 80,000 ปี ในยุคนี้พระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมีครบ 80 อสงไขยแสนมหากัป จักลงมาตรัสรู้เป็นพระเมตไตรยพุทธเจ้า

ส่วนก้อนหินทรงกลมๆที่มีรูตรงกลาง คือตัวแทนของ Bhavacakra แปลว่าภวจักร กงล้อแห่งชีวิต รูปสัญลักษณ์ของสังสารวัฏ เวียนว่ายตายเกิด พบเจอทั่วไปตามวัดวาอารามในทิเบตและอินเดีย

เช่นนั้นแล้วการที่หลวงพ่อคนใหม่โอบอุ้มพระศรีอริยเมตไตรย พร้อมแบกลากก้อนหินภวจักร แล้วพยายามตะเกียกตะกาย ปีนป่ายขึ้นบนยอดเขา คือสัญลักษณ์ของการฝึกฝน บำเพ็ญตน เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนา บรรลุหลุดพ้น ตรัสรู้มรรคผลนิพพาน ก้าวออกจากวังวนวัฏฏะสังสาร ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด ทนทุกข์ทรมานอยู่ในไตรภพภูมิ

ภาพสุดท้ายของฤดูหนาว (Winter) ตั้งกล้องอยู่บนยอดเขาสูง ซูมลงมาพบเห็นอารามกลางทะเลสาปน้ำแข็ง นี่น่าจะเรียกได้ว่า ‘God’s eye view’ มุมมองจากบุคคลที่เข้าถึงสัจธรรมชีวิต บรรลุจุดสูงสุดของพุทธศาสนา สิ่งที่พบเห็นไม่ใช่จิตวิญญาณตนเอง แต่ยังทุกสรรพสิ่งอย่างรอบข้าง มนุษย์ช่างเล็กกระจิดริดเมื่อเทียบกับจักรวาล

เกร็ด: จักรวาลวิทยาของพุทธศาสนา ไม่ได้อธิบายตามขนาด รูปร่าง กว้างใหญ่โตเพียงใด แต่ใช้การมองด้วยทิพย์ญาณ เฉพาะพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์สามารถมองเห็นสรรพชีวิตเกิดขึ้น (เกิด) และดับไป (ตาย) ในชาติภพใดๆ รวมถึงบอกได้ว่ามาจากไหน และอนาคตจักเป็นเช่นไร

ฤดูใบไม้ผลิตอนต้นเรื่อง (Spring) ดูมีบรรยากาศทะมึน อึมครึม แต่การมาถึงอีกครั้งของฤดูใบไม้ผลิตอนท้ายเรื่อง (…and Spring) กลับมีความสว่างสดใส ดอกไม้กำลังเบ่งบาน สามารถสื่อถึงการเติบโต สามเณรน้อยกลายเป็นหลวงพ่อคนใหม่ เข้าใจสัจธรรมชีวิต ทำให้สามารถมองโลกในมุมที่แตกต่างออกไป

หลวงพ่อคนใหม่วาดภาพเหมือน (Portrait) สามเณรน้อยคนใหม่ นี่คือวัฏจักรแห่งชีวิต เวียนว่ายตายเกิด เริ่มต้น-สิ้นสุด สูงสุดกลับสู่สามัญ ภาพวาดสามเณรน้อยก็คือหลวงพ่อในวัยเด็ก อนาคตของสามเณรน้อยก็คือหลวงพ่อในปัจจุบัน … ภาพวาดราชสีห์บนฝาผนัง เหมือนเป็นการบอกใบ้พฤติกรรมสามเณรคนนี้ที่จักเลวร้ายรุนแรงยิ่งขึ้นกว่าเก่า

ปล. ภาพร่างของเด็กชายนี้คือฝืมือของผกก. Kim Ki-duk ช่วงชีวิตหนึ่งเคยเดินทางไปฝรั่งเศส รับจ้างวาดภาพข้างถนน

สัตว์สัญลักษณ์ประจำฤดูใบไม้ผลิอีกครั้ง (…and Spring) คือเจ้าเต่าผู้โชคร้าย มันคือสัตว์ทรงภูมิปัญญา มักหลบซ่อนตัวในกระดอง ไม่ชอบการเผชิญหน้าต่อสู้ แต่ทว่าสามเณรน้อยคนใหม่กลับพยายามกลั่นแกล้ง ใช้ความรุนแรง ทุบทำลายกระดอง … นี่อาจจะสื่อถึงความรุนแรงที่ซุกซ่อนอยู่ภายในจิตใจคนรุ่นใหม่

แถมสารพัดการกระทำของสามเณรน้อยคนนี้ นำเอาก้อนหินยัดใส่ปากปลา กบ และงู มันช่างโฉดชั่วร้ายยิ่งกว่าสามเณรคนเก่า อาจสื่อถึงการปิดปาก ปิดทวาร ปิดกั้นพุทธศาสนาของคนรุ่นใหม่ มันช่างเป็นเรื่องน่าเศร้าสลดหดหู่ ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยแห่งความเสื่อมถอย

ภาพสุดท้ายของหนัง พระศรีอริยเมตไตรยบนยอดเขามองลงมาเบื้องล่าง ยามท้องฟ้าใกล้ค่ำมืดสะท้อนแสงสีทอง (Golden Hour) สื่อถึงช่วงเวลาเสื่อมถดถอยของพุทธศาสนาในยุคสมัยพระพุทธเจ้าโคตม ซึ่งก็เป็นไปตามวัฏจักร ฤดูกาลผันแปรเปลี่ยน คนรุ่นใหม่เริ่มปิดกั้น ไม่รับรู้ ไม่สนใจ เมื่อไหร่มนุษย์เลิกทำความดี หมดสูญสิ้นพุทธศรัทธา ไร้พุทธศาสนิกชน ถ้าอยากจะบรรลุหลุดพ้นจากวังวนวัฎฎะสังสาร ก็ต้องเฝ้ารอคอยการมาถึงของพระเมตไตรยพุทธเจ้า

ตัดต่อโดย Kim Ki-duk, หนังดำเนินเรื่องโดยมีจุดศูนย์กลาง อารามกลางทะเลสาป Jusanji Pond นำเสนอ 4(+1) เรื่องราว เคลื่อนพานผ่าน 4 ฤดูกาลชีวิต (Time Skip จากสามเณรน้อย, วัยรุ่นหนุ่ม, ชายหนุ่ม, วัยกลางคน) ทุกครั้งจะเริ่มต้นด้วยการปรากฎข้อความ (Spring, Summer, Fall, Winter, … and Spring) ตามด้วยภาพเปิดประตูทางเข้า นำสู่เรื่องราวที่สอดคล้องเข้ากับฤดูกาลนั้นๆ

  • ฤดูใบไม้ผลิ (Spring), สามเณรน้อยกำลังได้รับบทเรียนชีวิต
  • ฤดูร้อน (Summer), ความลุ่มร้อนทางใจของวัยรุ่นหนุ่ม มิอาจต้านทานกิเลสตัณหา
  • ฤดูใบไม้ร่วง (Fall หรือ Autumn), ชายหนุ่มผู้ทุกข์ทรมานต่อความผิดหวัง และชีวิตของอาจารย์ที่กำลังร่วงโรยรา
  • ฤดูหนาว (Winter), ชายวัยกลางคน หวนกลับมาฝึกฝนตนเอง กลายเป็นหลววงพ่อคนใหม่ เรียนรู้จักความอดทน อดกลั้น ท้าพิสูจน์ความเชื่อศรัทธา ตะเกียกตะกาย ปีนป่ายไปให้ถึงจุดสูงสุด ก่อนเข้าถึงสัจธรรมชีวิต
  • ฤดูใบไม้ผลิหวนกลับมาอีกครั้ง (and Spring), จากสามเณรน้อยเติบโตเป็นหลวงพ่อ ให้การดูแลลูกศิษย์ใหม่ คนรุ่นถัดไป

คนส่วนใหญ่มักมองสี่ช่วงวัยในสี่ฤดูกาลคือบุคคลเดียวกัน! แต่มันไม่จำเป็นนะครับ เพราะหนังไม่ได้บอกชื่อแซ่ ไม่ได้อธิบายว่าคือคนเดียวกัน มันอาจจะใช่ ไม่ใช่ หรือใช่-ไม่ใช่ อย่าไปหมกมุ่นยึดติด มองโลกแค่เพียงด้านเดียว ขึ้นอยู่กับความสามารถของเราเองที่จะครุ่นคิดจินตนาการ

ลองมองหนังในมุมหลวงพ่อ (Old Monk) จำพรรษาอยู่อารามกลางทะเลสาป แม้ใช้นักแสดงคนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่ดูชราภาพลงทุกวี่วัน ก่อนเปลี่ยนแปรสภาพจากรูปธรรมสู่นามธรรม ร่างกายสู่จิตวิญญาณ กายหยาบสู่กายละเอียด มรณภาพแล้วถือกำเนิดใหม่

  • ฤดูใบไม้ผลิ (Spring), หลวงพ่อคอยสังเกต พร่ำสอนบทเรียนชีวิตให้สามเณรน้อย
  • ฤดูร้อน (Summer), หลวงพ่อพยายามให้คำแนะวัยรุ่นหนุ่ม แต่เขากลับมิอาจหักห้ามใจ
  • ฤดูใบไม้ร่วง (Fall หรือ Autumn), หลวงพ่อเฝ้ารอคอยให้ลูกศิษย์หนุ่มหวนกลับมา พยายามให้ความช่วยเหลือ บีบบังคับแกะสลักหฤทัยสูตร เมื่อพบเห็นเขาพบเจอความสุขสงบ ตนเองก็ถึงกาลละสังขาร
  • ฤดูหนาว (Winter), แม้ละสังขารไปแล้ว ยังคอยเฝ้ามองลูกศิษย์ผ่านเจ้างูน้อย
  • ฤดูใบไม้ผลิหวนกลับมาอีกครั้ง (and Spring), บทเรียนที่เคยได้รับจากหลวงพ่อ กำลังจะถูกส่งต่อให้คนรุ่นถัดไป

เพลงประกอบโดย Ji Bark, 지박 ชื่อจริง Park Ji-woong, 박지웅 (เกิดปี ค.ศ. 1977) นักแต่งเพลงสัญชาติเกาหลี เกิดที่กรุง Seoul ในครอบครัวศิลปิน ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เดินทางไปเรียนเปียโนและไวโอลินที่สหรัฐอเมริกา Fiorello H. LaGuardia High School of Music & Art ศึกษาต่อคณะแต่งเพลงคลาสสิก Juilliard School ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ John Corigliano (ที่เพิ่งคว้า Oscar: Best Original Score จากภาพยนตร์ The Red Violin (1998)) จึงเปลี่ยนมาเรียนสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ Berklee College of Music, แล้วได้รับชักชวนจากผู้กำกับ Kim Ki-duk ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring (2003), Samarian (2004), Dream (2008) ฯ

งานเพลงในภาพยนตร์ของผกก. Kim Ki-duk สามารถแบ่งออกเป็นสองสไตล์ หนึ่งคือพยายามสร้างความกลมกลืน กลายเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว ผสมคลุกเคล้ากับเสียงประกอบ (Sound Effect) จนผู้ชมส่วนใหญ่ไม่สามารถแยกแยะ หรือจดจำท่วงทำนองเพลงใดๆ มักมีลักษณะเหมือนสร้อยบทกวี สำหรับเติมเต็มช่องว่าง สัมผัสทางอารมณ์

และรูปแบบสองกับ Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring (2003), Samarian (2004) ฯ มักกับภาพยนตร์ที่ไม่ค่อยมีบทสนทนา สื่อสารด้วยภาพ การแสดงออกภาษากาย บทเพลงจะมีความเด่นดังขึ้นอย่างชัดเจน โดยจะสร้างเสียงของธรรมชาติ (Naturalistic Sound) สัมผัสทางจิตวิญญาณ (Spiritual Atmosphere) นำพาผู้ชมล่องลอยเข้าสู่สถานที่ที่ผู้สร้างจัดเตรียมเอาไว้ บังเกิดความผ่อนคลาย สุขสงบขึ้นภายใน และสะท้อนเข้ากับฤดูกาลผันแปรเปลี่ยน

สำหรับ Main Theme ลองสังเกตโน๊ตสามตัว(ต่ำ-สูง-กลาง)จะบรรเลงซ้ำๆ 4 ครั้ง เพื่อสื่อถึง 4 ฤดูกาล ซึ่งจะมีสีสันทางอารมณ์แตกต่างกัน และเมื่อบทเพลงดำเนินไป การบรรเลงตัวโน๊ตก็จะมีลักษณะต่ำ-สูง-กลาง สุข-ทุกข์-ปล่อยวาง เบิกบาน-เศร้าโศก-สุขสงขภายในจิตใจ … ท่วงทำนองอาจไม่ไพเราะตราตรึงเท่า Vivaldi: The Four Seasons แต่ผมรู้สึกว่าจับจิตจับใจผู้ฟังได้ทรงพลังกว่า

แม้บอกว่าบทเพลงมีความเด่นดังขึ้นอย่างชัดเจน แต่ไม่ใช่บรรเลงท่วงทำนองที่เต็มไปด้วยอารมณ์ กรีดกราย สรรพเสียงตัดกันอย่างวุ่นวาย ยกตัวอย่างบทเพลง Dead Fish วินาทีที่สามเณรน้อยพบเห็นเจ้าปลา(ที่กลั่นแกล้งผูกก้อนหินติดไว้)เสียชีวิต เสียงเปียโนเบาๆแต่สร้างความหนักอึ้ง ตามคำสอนหลวงพ่อบอกว่าความตายของมัน จักทำให้เธอต้องแบกหินก้อนอยู่ภายในใจชั่วชีวิต

Farewell บทเพลงเมื่อตอนจากลา วัยรุ่นหนุ่มมิอาจอดกลั้นฝืนทนต่อกิเลสตัณหา เลยตัดสินใจออกเดินทางติดตามหญิงคนรัก ท่วงทำนองมีความโหยหา เศร้าซึม บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีไฟฟ้า สร้างบรรยากาศทะมึน อึมครึม ลางบอกเหตุร้าย (Ominous) สัมผัสอันตราย มันต้องมีหายนะบังเกิดขึ้นในกาลต่อไป

เมื่อครั้งชายหนุ่ม (ฤดูกาล Fall) หวนกลับมาอารามกลางทะเลสาป ยังคงแบกภาระอารมณ์หนักอึ้ง เต็มไปด้วยความเก็บกดอัดอั้น สับสนวุ่นวาย พายเรือว่ายเวียนวนกลม บทเพลง Frustration ใช้เสียงเครื่องดนตรีไฟฟ้าอะไรสักอย่าง มอบสัมผัสทะมึน อึมครึม ราวกับหมอกควัน/ความมืดเคลื่อนเข้าปกคลุมจิตวิญญาณตัวละคร มองไปทางไหนพบเห็นเพียงความมืดครึ้ม หมองหม่น ไร้หนทางออกจากวังวน วัฏฏะสังสาร

หนึ่งในบทเพลงที่ผมชื่นชอบมากๆคือ Last Breath เสียงกีตาร์+เปียโน อาจฟังดูเศร้าๆ ท่วงทำนองแห่งการร่ำจากลา แต่สำหรับหลวงพ่อ (Old Monk) ไม่ได้มีอะไรหลงเหลือติดค้างคาใจ เสี้ยมสอบบทเรียนสุดท้ายให้กับลูกศิษย์ จากนั้นก็ถึงเวลาของตนเองที่จะปล่อยละวางทุกสิ่งอย่าง … ผมชอบท่วงทำนองการเร่งเร้าจนถึงจุดสูงสุด ก่อนเงียบงันในบัดดล (ครั้งแรกขณะจากลาลูกศิษย์ และภายหลังมอดไหม้ในกองเพลิง)

ผมเคยเขียนอธิบายบทเพลงชาติ(อย่างไม่เป็นทางการ)ของชาวเกาหลีใน Arirang (2011) แต่ฉบับที่ใช้ในภาพยนตร์เรื่องนี้คือหนึ่งใน Variation (ที่ว่ากันว่ามีนับหมื่นๆเพลง)ชื่อว่า Jeongseon Arirang, 정선아리랑 ขับร้องโดย Kim Young-im, 김영임 (เกิดปี ค.ศ. 1961) เจ้าแม่แห่งบทเพลงพื้นบ้านเกาหลี (South Koreal Traditional Musician) เสียงร้องของเธอช่างมีความโหยหวน คร่ำครวญ สั่นสะท้านทรวงใน พร้อมกับภาพความล้มลุกคลุกคลาน ตะเกียกตะกาย ปีนป่ายขึ้นเขา ก้าวสู่จุดสูงสุด แล้วมองย้อนกลับลงมาเบื้องล่าง พบเห็นอารามกลางทะเลสาป ก่อนเข้าถึงสัจธรรมชีวิต

ต้นฉบับเกาหลีคำอ่านเกาหลีคำแปลอังกฤษ
아…아…아…
강원도 금강산 일만 이천봉
팔만 구암자 유점사 법당 뒤에
칠성단 도두 뭍고
팔자에 없는 아들 딸 나달라고
석달 열흘 노구에
정성을… 말구…
타관백리 외로이 난 사람
니가 괄세를마라

아리랑 아리랑 아라리요
아리랑 고개 고개로
나를 넘겨 주오

아…아…아…
강원도 금강산 일만 이천봉
팔만 구암자 법당 뒤에
촛불을 밝혀 놓고
아들 딸 나달라고
두 손을 모아 비는 구나
Ah… Ah… Ah…
gangwondo geumgangsan ilman ichunbong
palman gooamja yujeumsa beupdang dwieh
chilseung dodo mootgo
paljaeh eupneun adul ddal nadallago
seukdal yulheul nogooeh
jeungseungul malgoo
tagwanbekri wehroi nan saram
niga gwalsehrul mara

arirang arirang arariyo
arirang gogeh gogehro
nareul neumgyuh joooh

Ah… Ah… Ah…
gangwondo geumgangsan ilman ichunbong
palman gooamja beupdang dwieh
chotboolul balkyuh nohgo
adul ddal nadalago
doo sonul moa bineun goona
Ah… Ah… Ah…
At Mount Geumgang in Gangwon-do, with its twelve thousand peaks,
Behind the Yujeomsa temple, in the Eight Thousand Caves,
I buried a prayer at the Seven Stars Altar,
Begging for a son or a daughter, against all odds,
With the worn-out body of three months and ten days,
I poured my heart and soul into this…
You, a stranger far from home, don’t feel resentful.

Arirang, Arirang, Arariyo
Let me cross over Arirang Pass

Ah… Ah… Ah…
At Mount Geumgang in Gangwon-do, with its twelve thousand peaks,
Behind the Yujeomsa temple, in the Eight Thousand Caves,
I lit a candle,
Begging for a son or a daughter,
With folded hands, I pray.

ทิ้งท้ายกับเมื่อฤดูใบไม้ผลิหวนย้อนกลับมา (… and Spring) สามเณรน้อยคนใหม่ทำการกลั่นแกล้งปลา กบ และงู ด้วยการเอาก้อนหินยัดปาก ได้ยินบทเพลง Mercy เสียงเครื่องดนตรีไฟฟ้าช่างกรีดแหลม บาดแทง แทบมิอาจผ่อนคลายหายใจ ราวกับจะสื่อว่าวัฏจักรชีวิตรอบใหม่ ทุกสิ่งอย่างจะเลวร้ายรุนแรงลงไปกว่าเดิม

In my other films there has been a lot of brutality and cruelty and anger inside them. But with “Spring, Summer…,” I also wanted to show the healing powers of forgiveness and tolerance.

Kim Ki-duk

Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring (2003) เป็นภาพยนตร์ที่มีความผิดแผกแตกต่างจากสไตล์ปกติของผกก. Kim Ki-duk (อีกเรื่องหนึ่งที่ก็แปลกแยกออกมาคือ Arirang (2011)) ไม่ได้มุ่งเน้นนำเสนอภาพความรุนแรง เหี้ยมโหดร้าย จริงๆมันก็ยังพบเห็นอยู่จากการทารุณสัตว์ และอารมณ์เกรี้ยวกราดของชายหนุ่ม (ฤดูกาล Fall) แต่จุดประสงค์แท้จริงเพื่อใช้เป็นบทเรียนชีวิต เรียนรู้จากความผิดพลาด แล้วสามารถปล่อยละวาง พบเจอความสุขสงบแท้จริงภายในจิตวิญญาณ

ฤดูใบไม้ผลิ (Spring) บทเรียนของสามเณรน้อยต่อสรรพสัตว์โลก จับปลา กบ และงู มาผูกมัดก้อนหิน เลยถูกหลวงพ่อสั่งสอนด้วยการให้แบกลากหินก้อนใหญ่ บังเกิดความสำนึกผิดจึงหวนกลับไปปลดปล่อยพวกมัน แต่มีเพียงกบที่รอดชีวิต ปลาและงูไม่โชคดีเช่นนั้น กลายเป็นเวรกรรมของสามเณรน้อย จำต้องแบกก้อนหินอยู่ภายในใจชั่วชีวิต

ฤดูร้อน (Summer) คือช่วงเวลาที่ฮอร์โมนของวัยรุ่นหนุ่มกำลังเดือดพล่าน ทำให้ไม่สามารถควบคุมกิเลสตัณหา ตกหลุมรักหญิงสาวคนหนึ่ง มิอาจทำใจเมื่อเธอต้องจากลา จึงลักขโมยพระพุทธรูปแบกขึ้นหลัง (แบบเดียวกับสามเณรน้อยลากก้อนหิน) แล้วออกเดินทางผจญภัยโลกกว้าง

ฤดูใบไม้ร่วง (Fall หรือ Autumn) ชายหนุ่มหวนกลับมาด้วยอารมณ์หนักอึ้งบนบ่า เต็มไปด้วยความเก็บกดอัดอั้น สับสนวุ่นวาย พยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง จนกระทั่งหลวงพ่อสั่งให้แกะสลักหฤทัยสูตร (The Heart Sūtra) เลยทำให้จิตใจอันลุ่มร้อนสงบลง สามารถปล่อยวางความทุกข์ ยินยอมหวนกลับไปรับโทษทัณฑ์, เฉกเช่นเดียวกับหลวงพ่อที่ก็หมดภาระ หมดห่วง ถึงเวลาละสังขารจากโลกใบนี้

ฤดูหนาว (Winter) หลังหมดสิ้นภาระกรรมทางโลก ชายวัยกลางคนกลายเป็นหลวงพ่อคนใหม่ หวนกลับมาฝึกฝนตนเองท่ามกลางสภาพอากาศหนาวเหน็บ แบกก้อนหินขนาดใหญ่ พร้อมโอบอุ้มพระพุทธรูป ล้มลุกคุกคลาน ตะเกียกตะกาย ปีนป่ายขึ้นเขา ก้าวสู่จุดสูงสุด แล้วมองย้อนกลับลงมาเบื้องล่าง พบเห็นอารามกลางทะเลสาป ก่อนเข้าถึงสัจธรรมชีวิต

สรุปคร่าวๆก็คือ Spring บทเรียนแรกของชีวิตกับสรรพสิ่งรอบข้าง → Summer เรียนรู้จักความเร่าร้อนของกิเลสตัณหา → Fall ล้มลุกคลุกคลานหวนกลับมา เรียนรู้จักการปล่อยละวางความทุกข์ → Winter ฝึกฝนตนเองท่ามกลางสภาพอากาศหนาวเหน็บ ล้มลุกคลุกคลาน ตะเกียกตะกาย ปีนป่ายขึ้นเขา เพื่อเข้าถึงสัจธรรมชีวิต

จากนั้นทุกสิ่งอย่างจักหวนกลับสู่จุดเริ่มต้น (…and Spring) เด็กทารกถูกทิ้งไว้ยังอารามกลางทะเลสาป เติบใหญ่กลายเป็นสามเณรน้อย กำลังจะได้รับบทเรียนแรกของชีวิต!


ความเข้าใจของคนทั่วไป “ธรรมชาติ” มักสื่อถึงต้นไม้ ใบหญ้า ขุนเขา แม่น้ำ ท้องฟ้า รวมถึงสรรพสัตว์ป่าน้อยใหญ่ ฯ แต่ถ้าเป็นความหมายเชิงนามธรรม ธรรมะ, ธรรมชาติ หมายถึงความไม่ปรุงแต่ง หรือคือจิตว่าง เช่นว่าถ้ารับประทานอาหารโดยไม่จับรสชาติ แค่รู้รสแต่ไม่ต้องสนใจ ไม่ให้ค่าความหมาย นั่นก็คือกินอย่างธรรมชาติ ไม่เกิดความคิดปรุงแต่งรสอาหาร ชอบ-ไม่ชอบ อร่อย-ไม่อร่อย

หากเราต้องการเข้าถึงธรรมะ, ธรรมชาติ ก็คือต้องไม่ครุ่นคิดปรุงแต่งอะไรเลย เมื่อนั้นจักสามารถเข้าถึงจิตบริสุทธิ์ ธรรมว่างเปล่า ปราศจากความเป็นวัตถุ บุคคล ตัวตน เราเขา รวมถึงถูก-ผิด ดี-ชอบ ชั่ว-ชัง ล้วนไม่มีรูปลักษณ์ ไม่มีชื่อเรียก ไม่มีอะไรทั้งนั้น! … แบบเดียวกับหฤทัยสูตร (The Heart Sūtra)

โดยหัวใจหลักของหฤทัยสูตรระบุว่า “รูปคือความว่างเปล่า ความว่างเปล่าคือรูป รูปไม่อื่นไปจากความว่างเปล่า ความว่างเปล่าไม่อื่นไปจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็ว่างเปล่า” นี่คือเป็นแก่นแท้ ‘หัวใจ’ ของพุทธศาสนา

  • เห็นแจ้งในรูปเป็นความว่างเปล่า เกิดมหาปัญญา
  • เห็นแจ้งในความว่างเปล่าเป็นรูป เกิดมหากรุณา

เมื่อเห็นแจ้งในรูปเป็นความว่างเปล่า ความยึดมั่นในอัตตาย่อมไม่มี ความหลงในสรรพสิ่งย่อมถูกทำลายไป ธรรมชาติแท้จริงบังเกิดขึ้นภายในจิตใจ และเมื่อได้เห็นแจ้งในความว่างเปล่า ก่อกำเนิดรูป ความเมตตากรุณาในสรรพสิ่งที่เป็นธรรมชาติแท้จริงจักบังเกิดขึ้นด้วยปัญญา

แล้วการที่เรากราบไหว้บูชาพระพุทธรูป นี่ถือว่าเป็นธรรมชาติหรือไม่? ขณะที่กราบไหว้บูชาพระพุทธรูป นั่นหาใช่การอยู่กับธรรมชาติ แต่คือความคิดปรุงแต่งขึ้นมา ก็เหมือนหินก้อนนี้ถ้าไม่ปรุงว่ามันคืออะไร มันก็ไม่ใช่อะไร ไม่มีคำว่าหินออกมาเสียด้วยซ้ำ แต่ถ้าเราไปปรุงว่าหินก้อนนี้คือพระพุทธรูป หินก้อนนี้ก็จักกลายเป็นพระพุทธรูปขึ้นมา ผลดังกล่าวจักก่อเกิดของคู่กันขึ้นมาในจิต ว่าหินก้อนนี้คือตัวแทนของพระพุทธเจ้า-ไม่ใช่ตัวแทนของพระพุทธเจ้า ศักดิ์สิทธิ์-ไม่ศักดิ์สิทธิ์

ถ้าเราปรุงแต่งของคู่กันในทำนองศักดิ์สิทธิ์-ไม่ศักดิ์สิทธิ์ มันคือความลุ่มหลง งมงาย แต่จะแตกต่างกับการปรุงแต่งว่าหินก้อนนี้เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า-ไม่ใช่ตัวแทนของพระพุทธเจ้า กรณีหลังถือเป็นความฟุ้งซ่านของจิต กิเลสคนละตัวกับความงมงาย … เพราะการให้ค่าความหมายกับหินก้อนนี้ ทำให้บุคคลที่แม้ไม่ได้กราบไหว้พระพุทธรูปด้วยความงมงาย แต่ไหว้เพราะคิดว่านั่นคือตัวแทนของพระพุทธเจ้า มันเลยกลายเป็นความฟุ้งซ่านของจิต ไม่ใช่เรื่องอิทธิฤทธิ์ หรือความศักดิ์สิทธิ์


คนที่ไม่เคยศึกษาประวัติ หรือรับชมผลงานเรื่องอื่นๆของผกก. Kim Ki-duk คงครุ่นคิดว่านับถือศาสนาพุทธมาตั้งแต่เกิด สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยความเชื่อมั่น ศรัทธาอันแรงกล้า แต่แท้จริงแล้วพี่แกเคยอาสาสมัครทำงาน Baptist Chruch นานถึงห้าปี และเคยใฝ่ฝันอยากเป็นบาทหลวงนักเทศน์ เรียกได้ว่าคือคริสเตียน (Christian) อย่างเต็มตัว!

เมื่อตอนไปทำงานอยู่ฝรั่งเศส เอาเวลาว่างหลังรับจ้างวาดภาพตามท้องถนน ศึกษาหลักคำสอนศาสนาต่างๆ ผมหาข้อมูลยืนยันไม่ได้ว่าผกก. Kim Ki-duk เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาหรือเปล่า แต่ค้นพบแนวทางที่ตรงกับวิถีความเชื่อของตนเองเกี่ยวกับหลักธรรมชาติ กฎแห่งกรรม ฝึกฝนธรรมะทางจิตใจ เพื่อค้นพบความสุขสงบภายใน

การไม่ได้นับถือพุทธศาสนามาตั้งแต่เกิด ทำให้ผกก. Kim Ki-duk ไม่ถูกกรอบความคิดบางอย่างห้อมล้อมรอบ จึงสามารถรังสรรค์สร้าง Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring (2003) ให้ออกมามีความเป็นสากล (แบบเดียวกับ Pier Paolo Pasolini ที่ก็ไม่ได้นับถือคริสต์ศาสนา แต่รังสรรค์สร้าง The Gospel According to St. Matthew (1964) ชีวประวัติพระเยซูได้ยิ่งใหญ่เหนือใคร) ไม่ยึดติดกับศาสนามากเกินไป!

ผมพยายามมองหนังในมุมของคนที่ไม่ได้นับถือพุทธศาสนา คำสอนกฎแห่งกรรมจะถูกแปรสภาพสู่แนวคิด “เอาใจเขา มาใส่ใจเรา” หรือการแสดงออกอย่างคลุ้มบ้าคลั่งของชายหนุ่ม (ในฤดูกาล Fall) ให้เรียนรู้จักการปล่อยละวาง หากระทำสิ่งเบี่ยงเบนความสนใจ เพื่อสามารถสงบสติอารมณ์ ครุ่นคิดทบทวนตนเอง เผชิญหน้ากับความจริง ยินยอมรับความผิดพลาด และท้ายที่สุดคือบังเกิดความสุขสงบภายในจิตวิญญาณ

มันอาจเป็นความบังเอิญที่ตัวละครในฤดูหนาว (Winter) นำแสดงโดยผกก. Kim Ki-duk (เพราะนักแสดงติดต่อไว้คิวไม่ว่าง) แต่ผมมองว่ามันเป็นโชคชะตา ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือตัวของเขาเอง ให้คำนิยามชีวิต = การฝึกฝน ต่อสู้ดิ้นรน ล้มลุกคลุกคลาน ตะเกียกตะกาย ปีนป่ายไปให้ถึงยอดเขา (ภาพยนตร์เรื่องนี้ = จุดสูงสุดในอาชีพการงาน) แล้วมองย้อนกลับลงมาเบื้องล่าง เพื่อเข้าถึงสัจธรรมชีวิต

การรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้(ในครั้งถัดๆไป)ก็เปรียบเหมือนฤดูกาลผันแปรเปลี่ยน เพราะแต่ละช่วงวัยของคนเรา เด็ก-วัยรุ่น-ผู้ใหญ่-สูงวัย ต่างมีองค์ความรู้ ประสบการณ์ วิวัฒนาการ สามารถทำความเข้าใจสรรพสิ่งอย่างแตกต่างกันไป ผมเองก็ได้ค้นพบอะไรใหม่ๆจากการหวนกลับมารับชมหนังอยู่เป็นประจำ

It’s simple to understand this movie the first time. [But] if you watch it more times, you get a little deeper understanding of what I’m trying to communicate… There are a lot of movies that you can see just once and understand very well, but there are movies that you can see a second or third time, and it changes each time. This is that kind of movie.

Kim Ki-duk

เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลหนัง Locarno International Film Festival ของประเทศ Switzerland ได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม แถมยังคว้ารางวัลมากมาย จนมีโอกาสเดินทางไปฉายตามเทศกาลหนังต่างๆทั่วโลก รวมถึง Bangkok International Film Festival วันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ชื่อไทย วงจรชีวิต กิเลสมนุษย์

ตอนเข้าฉายในประเทศเกาหลีใต้ เห็นว่ามีผู้ชมไม่ถึงหลักพันคน! แต่พอเดินทางไปถึงสหรัฐอเมริกา สามารถทำเงิน $2.38 ล้านเหรียญ รวมรายรับทั่วโลก $8.84-9.52 ล้านเหรียญ กลายเป็นภาพยนตร์สัญชาติเกาหลีใต้ทำเงินต่างประเทศสูงสุดขณะนั้น!

แม้ปัจจุบันยังไม่มีข่าวคราวการบูรณะ สามารถหารับชมช่องทางธรรมชาติทั่วไป (คุณภาพ HD ด้วยนะ!) แต่ถ้าใครสนใจแผ่น Blu-Ray แนะนำฉบับของ Content Zone มีชื่อเรียก Hommage Collection No. 5 วางจำหน่ายเมื่อปี ค.ศ. 2012 หน้าปกสวยมากๆ (แต่มีแต่ซับเกาหลี ไม่มีซับอังกฤษ)

หวนกลับมารับชมคราวนี้ เกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ โปรดปราน Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring (2003) ยิ่งๆขึ้นกว่าเดิมเสียอีก! นั่นเพราะผมสามารถอ่านภาษาภาพยนตร์ได้ละเอียดมากขึ้น รวมถึงเข้าใจตัวตนผกก. Kim Ki-duk และอิทธิพลที่ทำให้เขาพานผ่าน Arirang (2011) ปีนป่ายสู่จุดสูงสุดแห่งอาชีพการงาน

แค่เรื่องราวของสามเณรน้อยกลั่นแกล้งสรรพสัตว์ แล้วถูกหลวงพ่อลงโทษด้วยการผูกมัดกับก้อนหิน เสี้ยมสอนให้เห็นถึงกฎแห่งกรรม กระทำสิ่งใดย่อมได้รับผลนั้นคืนตอบสนอง ก็เพียงพอให้หนังทรงคุณค่าระดับ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ไม่จำเพาะเจาะจงว่าต้องนับถือพุทธศาสนา นิกายไหน ลัทธิไหน ศรัทธาพระเจ้าองค์ใด ล้วนสามารถชื่นชมความงดงามของธรรมชาติชีวิต

จัดเรต 13+ กับการทรมานสัตว์ วังวนแห่งกิเลสตัณหา

คำโปรย | Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring ฤดูกาลผันแปรเปลี่ยน ชีวิตว่ายเวียนวน เพื่อค้นหาหนทางหลุดพ้น
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว |

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
1 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
1 Comment authors
ร.น.ก. Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
ร.น.ก.
Guest
ร.น.ก.

พอลองดูลิสต์หนัง แปลกใจที่เพจนี้เขียนถึงหนังของ Kim Ki-duk แค่เรื่องเดียว ทั้งที่หนังของเค้านี่ดูปุ๊บก็รู้ได้เลยว่าต้องมีสาส์นให้ตีความแน่ๆ อีสเตอร์เอ้กเกี่ยวกับปรัชญา ศาสนาคริสต์ ศิลปะพื้นบ้าน และเพศนี่ชัดๆเลย (ตีได้ตีไม่ได้ ชอบไม่ชอบนั่นอีกเรื่องนึง) เรื่องการกำกับ/ภาพ/ลูกเล่นหลายๆอย่างอันเป็นเอกลักษณ์ลายเซ็นของเค้านี่ก็เยอะ ที่น่าเขียนถึงก็อย่าง …
The Isle (2000),
Address Unknown (2001),
Samaritan Girl (2004),
3-Iron (2004),
The Bow (2005),
Time (2006),
Pietà (2012),
Moebius (2013) เป็นต้น
ไหนๆ Kim Ki-duk ก็พึ่งเสียไป น่าจะถึงคราวเขียนถึงหนังเค้าบ้างแล้ว

ป.ล.ส่วนตัวรู้สึกว่า Kim Ki-duk นี่เหมือน Nagisa Ōshima เลย ในแง่ ผกก.ที่มีเอกลักษณ์ลายเซ็นใน direction เป็นของตัวเอง หนังแทบทุกเรื่องของทั้งคู่จะมีความเหมือนกัน, การสอดแทรกปรัชญา, ศิลปะพื้นบ้านประเทศตัวเอง, เพศกับ sex, แง่มุมมืดๆหรือซ่อนเร้นของมนุษย์ที่มักถูกสังคมเก็บกดไว้, กลุ่มตัวละครมีโลกเฉพาะเป็นการส่วนตัวในแต่ละเรื่อง
และหนังถูกมองว่ารุนแรงจนโดนแอนตี้ในประเทศบ้านเกิด แต่ได้รับการยอมรับในเทศกาลหนังต่างประเทศ (โดยเฉพาะสายยุโรป) คนชอบก็ชอบไปเลย คนเกลียดก็เกลียดขยาดไปเลย เป็นต้น

%d bloggers like this: