Stagecoach (1939) hollywood : John Ford ♥♥♥♥

(6/1/2017) Stagecoach อาจไม่ใช่ภาพยนตร์แนว Western ยอดเยี่ยมที่สุด แต่ถือเป็น’เรื่องแรก’ที่ได้รับการยกย่องว่ายิ่งใหญ่ จุดเริ่มต้นแจ้งเกิด John Wayne และหวนกลับมาโด่งดังอีกครั้งของผู้กำกับ John Ford, เรื่องราวการเดินทางผจญภัยบน Stagecoach ของผู้โดยสาร 9 คน ราวกับ Noah’s Ark แบกความหวังมวลมนุษยชาติให้ไปถึงเป้าหมายปลายทาง

ทีแรกผมตั้งใจที่จะ Revisit เขียนบทความนี้ขึ้นใหม่เลย แต่เมื่อได้อ่านทบทวนของเก่าก็พบว่า ค่อนข้างใช้ได้อยู่แล้ว จึงแค่ปรับปรุงเพิ่มเติมแต่งเสริมส่วนที่ขาดหายไปให้ดูสมบูรณ์ครบถ้วนมากขึ้นเท่านั้น

Stagecoach เป็นภาพยนตร์ที่จัดเต็มด้วยความบันเทิง ตื่นเต้นลุ้นระทึก แต่ก็มีลักษณะ Western Action ทั่วๆไป ก็โคตรสงสัยอยู่นานว่าเพราะเหตุใดถึงได้รับการยกย่องพูดถึงอยู่เรื่อยๆ มาร้องอ๋อเมื่อค้นคว้าข้อมูลได้พบว่า นี่คือ’เรื่องแรก’ ของอะไรหลายๆ ที่กลายเป็น Milestone สำคัญของแนว Western ในยุคหนังพูดนี่เอง

ตามตำนานเล่าว่า Orson Welles มีความชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆ ขนาดว่านั่งดูกว่า 40 รอบ เพื่อศึกษาเทคนิควิธีการนำเสนอโดยละเอียดถี่ถ้วน นำแรงบันดาลใจไปใช้สร้าง Citizen Kane (1941) ก็น่าคิดนะครับว่า Welles มองเห็นนำอะไรจากหนังเรื่องนี้ไปใช้บ้าง

John Ford ชื่อดิม John Martin ‘Jack’ Feeney (1894 – 1973) ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Cape Elizabeth, Maine พ่อและแม่เกิดที่ประเทศ Ireland อพยพย้ายมาอยู่อเมริกาช่วงปี 1872 พบเจอแต่งงานกันปี 1875 มีลูกทั้งหมด 11 คน โดยเขาเป็นลูกคนที่ 10 แต่น้องคนสุดท้องเสียชีวิตตอน 2 ขวบ ทำให้กลายเป็นลูกคนเล็กของครอบครัว หนึ่งในพี่ชาย Francis Feeney มีความสามารถด้านการแสดง ออกเดินทางกับคณะทัวร์ Vaudeville กรุยทางมาถึง Hollywood ใช้ชื่อว่า Francis Ford เป็นหนึ่งในนักแสดงหนังเงียบระดับตำนานเรื่อง The Birth of a Nation (1915), น้องคนเล็กตัดสินใจเดินตามพี่ไปติดๆ เลือกใช้ชื่อการแสดงเปลี่ยนตามเป็น John Ford เริ่มต้นจากเป็นผู้ช่วยพี่ชาย, Stuntman, นักแสดงสมทบ แล้ว Universal จับเซ็นสัญญาให้กลายเป็นผู้กำกับ ผลงานหนังสั้นเรื่องแรก The Tornado (1917) [สูญหายไปแล้ว] ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงกับ The Iron Horse (1924), Three Bad Men (1926) มีผลงานหนังพูดเรื่องแรก Mother Machree (1928) เป็นการร่วมงานครั้งแรกกับ John Wayne แต่ไม่มีชื่อขึ้นเครดิต

Ford เข้าชิง Oscar: Best Director ทั้งหมด 5 ครั้งได้มา 4 รางวัล จาก The Informer (1935), Stagecoach (1939)*ครั้งเดียวที่พลาดรางวัล, The Grapes of Wrath (1940), How Green Was My Valley (1941)**เรื่องเดียวที่คว้า Best Picture, The Quiet Man (1952)

ในยุคหนังเงียบ ผลงานของ Ford ที่ประสบความสำเร็จโด่งดังล้วนมาจากแนว Western แทบทั้งหมด แต่ในทศวรรษ 30s แห่งการเปลี่ยนผ่าน กลับปฏิเสธยืดยื้อที่จะสร้างหนังแนวนี้ ตลอด 10 ปีเอาเวลาไปทดลองสร้างภาพยนตร์หลากหลายแนวมากๆ จนมีนักข่าวตั้งคำถาม ‘ทำไมถึงไม่ยอมสร้างหนัง Western สักที’ เจ้าตัวตอบว่า ‘ยังไม่พร้อม ยังไม่ถึงเวลา ยังไม่มีโอกาส’ ว่ากันว่าด้วย 2 เหตุผลสำคัญคือ
1) หนังแนว Western จำเป็นต้องมีการขี่ควบม้า ไล่ล่า Action ลุ้นระทึกสุดมัน แต่เทคโนโลยีสมัยนั้นในยุคเปลี่ยนผ่าน ยังขาดความพร้อมและยุ่งยาก คิดง่ายๆว่ามันจะบันทึกเสียง Sound-on-Film ได้อย่างไร?
2) Ford กำลังรอคอยให้เพื่อนสนิท John Wayne สะสมประสบการณ์ทำงาน ‘พร้อม’ สำหรับการเป็นนักแสดงเสียก่อน

เกร็ด: ภาพยนตร์ Western เรื่องสุดของของผู้กำกับ Ford ในยุคหนังเงียบคือ 3 Bad Men (1926)

ผู้กำกับ Ford ได้มีโอกาสอ่านเรื่องสั้น The Stage to Lordsburg ของ Ernest Haycox (1899 – 1950) นักเขียนนิยาย Western สัญชาติอเมริกัน ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Collier วันที่ 10 เมษายน 1937 เรื่องราวของกลุ่มคนแปลกหน้าบนรถม้า (Stagecoach) เดินทางผ่านดินแดน Apache ที่แสนอันตราย, มอบหมายให้ Dudley Nichols (1895 – 1960) ขาประจำในทศวรรษนี้ของ Ford ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์

เนื่องจากเรื่องสั้น The Stage to Lordsburg มีเพียงโครงสร้าง แนวคิดหลักๆเท่านั้น สำหรับแรงบันดาลใจอื่นๆ รับอิทธิพลจาก
– เรื่องสั้น Boule de Suif (1880) [แปลว่า Ball of Fat] ของนักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส Guy de Maupassant (1850 – 1893)
– เรื่องสั้น The Outcasts of Poker Flat (1892) ของนักเขียนสัญชาติอเมริกัน Bret Harte (1836 – 1902)

เมื่อพัฒนาบทหนังเสร็จ ส่งให้กับ John Wayne พิจารณาอ่านเพื่อเป็นการลองเชิง ซึ่งเจ้าตัวก็ได้ทำการแนะนำ Lloyd Nolan ให้รับบทนำโดยไม่ได้เอะใจอะไร แต่วันถัดมา Ford เดินเข้าบอกว่า ฉันต้องการให้นายรับบทนำนี้เท่านั้น นี่สร้างความปั่นป่วนให้เขาราวกับ ‘hit in the belly with a baseball bat’

John Wayne ชื่อเดิม Marion Mitchell Morrison  (1907 – 1979) นักแสดงภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา ชอบให้เพื่อนๆเรียกว่า Duke เกิดที่ Winterset, Iowa พ่อเป็นทหารผ่านศึก American Civil War ส่วนแม่มีเชื้อสาย Scottish, Irish โตขึ้นเคยสมัครเป็นทหารเรือแต่สอบไม่ผ่าน ได้ทุนเข้าเรียน University of Southern California สาขากฎหมาย จากการเป็นนักกีฬาทีมฟุตบอล แต่ได้รับบาดเจ็บจนต้องถอนตัวหมดสิทธิ์ได้ทุนจำต้องออกกลางคัน แต่ก็ได้รับการช่วยเหลือจากโค้ช ทำให้ได้รู้จักกับนักแสดง Tom Mix และผู้กำกับ John Ford เข้าสู่วงการภาพยนตร์ เริ่มงานจากเป็น Prop Boy, Stuntman, ตัวประกอบ ฯ มีชื่อขึ้นเครดิตเรื่องแรก Words and Music (1929), ผู้กำกับ Raoul Walsh เห็นแววเลยจับมาแสดงนำใน The Big Trail (1930) ใช้ทุนสร้างมหาศาลแต่ทำเงินไม่ได้ Flop ดับสนิท ทำให้ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาต้องหันไปเล่นหนังเกรด B ส่วนใหญ่เป็น Cowboy Western หลายสิบเรื่อง

เกร็ด: Wayne เข้าชิง Oscar สาขาการแสดง 2 ครั้ง Sands of Iwo Jima (1949), True Grit (1969)**ได้รางวัล

คงเป็นความประทับใจตั้งแต่แรกพบ ผู้กำกับ Ford หมายมั่นปั้นมืออยากที่จะส่งเสริม Wayne ให้กลายเป็นนักแสดงผู้ยิ่งใหญ่ขาประจำ เพราะภาพลักษณ์ของเขามีความสมบูรณ์แบบของผู้ชายทุกคน

“He’ll be the biggest star ever because he is the perfect ‘everyman’.”

กระนั้นชื่อของ Wayne กลับสร้างความขยาดให้กับหลายๆโปรดิวเซอร์ที่ Ford นำโปรเจคนี้ไปเสนอเร่ขาย เพราะความล้มเหลวของ The Big Trail (1930) ช่างตราตรึงฝังใจเสียจริง จนกระทั่งได้พบกับ Walter Wanger ที่แม้ในตอนแรกจะต้องการให้ Gary Cooper กับ Marlene Dietrich รับบทนำ แต่เมื่อผู้กำกับยืนกรานไม่ไหวติง Wanger เลยยอมจ่ายแค่ครึ่งเดียว $250,000 เหรียญ และใช้บริการนักแสดงนำหญิงในสังกัด Claire Trevor

พื้นหลังปี 1880, เรื่องราวของกลุ่มคนแปลกหน้าบนรถม้า ออกเดินทางจาก Tonto, Arizona Territory สู่ปลายทาง Lordsburg, New Mexico ทั้ง 9 คน ประกอบด้วย
– Henry the ‘Ringo Kid’ (รับบทโดย John Wayne) คาวบอยหนุ่มที่ตั้งใจออกเดินทางสู่ Lordsburg เพื่อแก้แค้นให้กับครอบครัวถูกเข่นฆ่าโดย Luke Plummer (รับบทโดย Tom Tyler) แม้ระหว่างทางจะถูกจับใส่กุญแจมือ แต่เมื่อร่วมด้วยช่วยกันเอาตัวรอดจากอินเดียนแดง นายอำเภอเลยยินยอมปลดปล่อยเขาไปให้เป็นเรื่องของโชคชะตา, Ringo เป็นชายวัยกลางคนที่นิสัยดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่สนความแตกต่าง ระหว่างทางพบเห็นสิ่งต่างๆที่หลายคนกระทำต่อ Dallas เลยให้การช่วยปกป้อง ชักชวนให้มาอาศัยอยู่ร่วมกัน ตกหลุมรักไหมนั้นไม่รู้ แต่อยู่ด้วยกันไปสักพักคงไม่แน่

คงเป็นภาพลักษณ์และสายตาของ Wayne ที่ทำให้กลายเป็น Superstar โด่งดังทันทีหลังจากหนังเรื่องนี้, ว่ากันว่าในกองถ่าย ผู้กำกับ Ford ที่ขึ้นชื่อเรื่องความ Tyrant ครั้งหนึ่งกระชากคอ Wayne พ่นคำด่า

“Why are you moving your mouth so much? Don’t you know you don’t act with your mouth in pictures? You act with your eyes.”

นี่ไม่ได้ทำให้ทั้งคู่เกิดความบาดหมางกันเลยนะครับ ถือเป็นจิตวิทยาของผู้กำกับที่คอยกระตุ้นนักแสดง ซึ่ง Wayne ก็ไม่ใช่คนที่จะโมโหโทโส โกรธเคืองใครง่ายๆอยู่แล้ว แต่ก็นำเอาความรู้สึกอึดอัดอั้นในใจนี้แปรสภาพกลายเป็นพลังในการแสดง ที่มีความเข้มข้นสมจริงจังแบบสุดๆ

– Dallas (รับบทโดย Claire Trevor) หญิงสาวโสเภณีที่ถูกขับไล่หนีจาก Tonto เพราะถูกเหยียดยามประณามว่าเป็นต้นเหตุให้ครอบครัวผู้อื่นบ้านแตกสาแหรกขาด เป็นคนมีจิตใจอ่อนโยนชอบช่วยเหลือผู้อื่น ต้องการมีลูกมีครอบครัว แต่ด้วยอาชีพของตนเองใครกันจะไปเห็นคุณค่า กระนั้นเมื่อได้พบเจอกับ Ringo Kid ที่มิได้อยากรับรู้สนใจพื้นหลังอะไรของเธอ ชักชวนไปอาศัยอยู่ด้วยกันที่ฟาร์มชนบท แม้มันอาจจะดูเร่งรีบรวดเร็วเกินไปหน่อย ก็ใช่ว่าคือสิ่งเป็นไปไม่ได้

Claire Trevor (1910 – 2000) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Brooklyn, New York, ต้องถือว่าเป็นที่คู่กัดที่เคมีเข้ากับ Wayne ไม่ด้อยไปกว่า Maureen O’Hara เลยนะ น่าเสียดายที่เธอก็แก่เร็วไปสักหน่อย *-* คว้า Oscar: Best Actress จากเรื่อง Key Largo (1948) เข้าชิง Best Supporting Actress 2 ครั้งจาก Dead End (1937), The High and the Mighty (1954)

– Doc Boone (รับบทโดย Thomas Mitchell) หมอขี้เมา ถือว่าเป็นคนขาดความรับผิดชอบต่อจรรยาบรรณของตนเอง กระนั้นเมื่อถึงเวลาคับขันก็รู้ตัวมีสติ พยายามอย่างยิ่งจะทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด

Thomas Mitchell (1892 – 1962) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Elizabeth, New Jersey นักแสดงชายคนแรกที่คว้า Triple Crown of Acting (Oscar, Emmy, Tony) หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับบท Gerald O’Hara เรื่อง Gone With the Wind (1939), Uncle Billy เรื่อง It’s a Wonderful Life (1946) และ Mayor Jonas Henderson เรื่อง High Noon (1952), ซึ่งภาพยนตร์เรื่องที่ได้ Oscar: Best Supporting Actor ก็คือ Stagecoach ทั้งๆเลิกดื่มเหล้ามา 2 ปีแล้ว (ในหนังนั่นก็ไม่ใช่เหล้านะครับ) แต่สามารถรับบทหมอขี้เมา ตามึนๆ เดินตุปัดตุเป๋ พูดลิ้นพันกันได้อย่างสมจริงมากๆ

– Marshal Curley Wilcox (รับบทโดย George Bancroft) นายอำเภอประจำ Tonto ที่พอได้รับรู้เรื่องราวของ Ringo Kid กับ Luke Plummer จากปากของ Buck ก็ตัดสินใจร่วมออกเดินทางไปด้วย เพื่อจับกุม (จริงๆคือช่วยเหลือปกป้อง) ไม่ให้ลูกชายของเพื่อนเก่าต้องถูกฆ่าตายเหมือนหมูเหมือนหมา แต่ระหว่างทางก็เปลี่ยนใจ เพราะได้เห็นฝีไม้ลายมือ การกระทำที่โคตรฮีโร่ของ Ringo น่าจะสามารถเอาตัวรอดกลับมาได้

– Ellsworth Henry Gatewood (รับบทโดย Berton Churchill) นายธนาคารประจำ Tonto ได้ทำการยักยอกเงิน แอบขึ้นโดยสารรถม้าคันนี้เพื่อหลบหนีเอาตัวรอด การพูดจาของชายคนนี้มีหมาอยู่เต็มปาก ชอบตำหนิต่อว่าผู้อื่นรุนแรงเสียๆหายๆ อะไรๆก็อ้างรัฐ ฟ้องร้อง ดำเนินคดี แต่ทั้งนั้นล้วนดีแต่พูด เพราะความหวาดกลัวเกรงที่จะถูกจับได้

– Samuel Peacock (รับบทโดย Donald Meek) นักขาย Whisky ที่พกพาเหล้าสุรามาด้วย ต้องการเดินทางกลับบ้านไปหาภรรยาและลูกที่ Lordsburg หลายครั้งพยายามจะพูดบอกแสดงความคิดเห็น แต่เพราะเป็นคนตัวเล็กพูดเสียงเบา หน้าเหมือนชาว Jews เลยแทบจะไม่มีสิทธิ์เสียงอะไร แม้แต่ชื่อใครๆก็มักเรียกผิด แทบจะไร้ตัวตนโดยสิ้นเชิง

– Mrs. Lucy Mallory (รับบทโดย Louise Platt) หญิงสาวท้องแก่ใกล้คลอด ออกเดินทางโดยรถม้าเพื่อติดตามสามีที่เป็นทหารม้า ระหว่างทางหมดแรงน้ำคร่่ำไหล (ผู้ชมแทบจะดูไม่ออกด้วยซ้ำว่าเธอท้องแก่) จำต้องคลอดลูกที่จุดพักกลางทาง แม้จงเกลียดจงชังในความชั้นต่ำของโสเภณี Dallas แต่เมื่อพบเห็นความทุ่มเทเสียสละน้ำใจงาม สุดท้ายก็เอ่ยปากขอโทษและยินดีให้การช่วยเหลือถ้ามีปัญหาอะไร

– Hatfield (รับบทโดย John Carradine) นักพนันหน้าหล่อ วางมาดทำตัวสุภาพบุรุษ ให้การช่วยเหลือ Mrs. Mallory ตลอดการเดินทาง น่าจะไม่ใช่เพราะตกหลุมรักแน่ๆ แต่คงเพื่อหวังผลตอบแทนอะไรบางอย่างเป็นแน่

การกระทำของ Hatfield ในช่วงท้าย คงสร้างความฉงนให้กับผู้ชมอย่างมาก ทำไมถึงเอาปืนจ่อหัวตั้งใจจะฆ่า Mrs. Mallory หลายคนคงคิดว่า นี่คงเป็นสถานการณ์คับขันไม่รอดแน่ ตั้งใจยิงเธอตายจะได้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานถูกพวกอินเดียนแดงรุมฉุดกระชากข่มขืน แต่ผมมองการกระทำนี้อาจมีนัยยะอื่นแอบแฝง อาทิเช่น ความเคียดแค้นต่อตระกูล Mallory หรือไม่ก็คาดหวังจะได้มีโอกาสสนิทชิดเชื้อลวงหลอกเอาเงินจากความร่ำรวยของครอบครัวนี้ (คือผมมองว่า พฤติกรรมดีเว่อๆของ Hatfield มันเคลือบแฝงด้วยความไม่บริสุทธิ์ใจหลายๆอย่าง โดยเฉพาะแก้วเงินที่เหมือนจะลักขโมยมามากกว่าชนะพนัน)

– Buck (รับบทโดย Andy Devine) คนขับรถม้าร่างท้วม รู้จักสนิทสนมกับม้าทุกตัวเป็นอย่างดี (มากกว่าคนเสียอีก) เป็นคนขี้ขลาดหวาดกลัว แต่ถูกบีบบังคับให้ต้องทำตามหน้าที่ไปจนกว่าจะถึงจุดหมาย

แถมให้อีกคนกับ Stuntman ที่กลายเป็นตำนาน Yakima Canutt ชื่อเต็ม Enos Edward ‘Yakima’ Canutt (1895 – 1986) เกิดที่ Colfax, Washington ครอบครัวมีทุ่งเลี้ยงสัตว์อยู่ที่ Penawawa Creek ทำให้สนใจขี่ม้า ล่าสัตว์ ยิงปืน พออายุ 16 เริ่มหัดเป็น Bronc Riding (ขี่ม้าพยศ) คว้าแชมป์ Olympics of the West ปี 1917 จนมีชื่อเสียงโด่งดัง ออกทัวร์เปิดการแสดงทั่วประเทศ, ปี 1923 ได้รับการชักชวนให้มาเป็นนักแสดง Hollywood กลายเป็นเพื่อนสนิทสนมกับ Douglas Fairbanks ที่ช่วยผลักดันให้เป็นที่รู้จัก, ร่วมงานกับ John Wayne นักแสดงแทนเรื่อง The Shadow of the Eagle (1932), สำหรับผลงานที่เป็นตำนาน อาทิ Stagecoach (1939), In Old Oklahoma (1943), เป็นผู้เตรียมการ ฝึกซ้อมสอน ฉาก Chariot Race เรื่อง Ben-Hur (1959), El Cid (1961) ฯ

ในตอนแรก Canutt ถูกดึงตัวมาจากคำแนะนำของ Wayne ให้ช่วยครุ่นคิดแก้ปัญหาฉากพารถม้าข้ามแม่น้ำ ที่ต้องถือว่ามีความสร้างสรรค์มากๆ ทำให้ Ford ตัดสินใจว่าจ้างให้เป็น Stuntman คิดฉาก Action ขึ้นทั้งหมด โดดเด่นมากๆกับการกระโดดหลังม้าสู่หลังม้า, ครั้งหนึ่งถูกยิงตกลงพื้น โดนลากไปด้านหลังรถม้า นี่เป็นฉากโคตรอันตราย โชคดีที่ไม่ถูกม้าเหยียบและเทคเดียวผ่าน

“You have to run the horses fast, so they’ll run straight. If they run slow, they move around a lot.”

– Yakima Canutt เล่าถึงฉากสตั๊นที่ถูกลากไปด้านหลังรถม้า

เกร็ด: Canutt ได้รับมอบ Honorary Award เมื่อปี 1967 ด้วยคำกล่าว ‘For achievements as a stunt man and for developing safety devices to protect stunt men everywhere.’

เกร็ด 2: มีผู้ชมตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมอินเดียนแดงไม่ยิงม้าให้ตาย จะมาวิ่งไล่ทำไม คำตอบของผู้กำกับแบบกวนๆ ‘เช่นนั้นหนังก็จบสิ้นลงทันทีสิ!’ อธิบายเหตุผลจริงๆว่า มันเป็นประเพณีของชาวอินเดียนแดงที่จะไม่ยิงม้า เพราะถือว่าเป็นสิ่งมีคุณค่าเทียบเท่ากับนักรบ และยังสามารถขโมยนำไปขายได้

ถ่ายภาพโดย Bert Glennon (1893 – 1967) ตากล้องสัญชาติอเมริกัน ขาประจำของ John Ford เข้าชิง Oscar: Best Cinematography ถึงสามครั้งแต่ไม่เคยได้รางวัล Stagecoach (1939), Drums Along the Mohawk (1939), Dive Bomber (1941)

เพราะความที่ผู้กำกับ Ford ไม่ต้องการถูกชี้นิ้วสั่ง หรือครอบงำโดยโปรดิวเซอร์ จึงมองหาสถานที่ถ่ายทำอื่นนอก Hollywood เรื่องไปเข้าหูพ่อค้าเจ้าของ Trading Post คนหนึ่ง Harry Goulding เดินทางสู่ Los Angeles นำเอาภาพถ่ายของ Monument Valley กว่าร้อยรูป มาดักรอหน้าสตูดิโอเพื่อนำเสนอต่อผู้กำกับ เมื่อครั้นได้เห็นเกิดความชื่นชอบหลงใหลโดยทันที

Monument Valley (ภาษาอินเดียนแดงคือ Tsé Biiʼ Ndzisgaii แปลว่า Valley of the Rocks) ท้องทุ่งทะเลทรายรกร้างว่างเปล่า กินพื้นที่ระหว่าง Arizona-Utah ขณะนั้นยังไม่มีถนนตัดผ่านด้วยซ้ำ

นี่คือครั้งแรกของผู้กำกับ Ford และหนังแนว Western ที่เลือกใช้สถานที่นี้ อันกลายเป็นเทรนด์แฟชั่น ได้รับความนิยมอย่างสูงขึ้นมาโดยพลัน

เทคนิคที่ Ford นิยมใช้มากๆ น่าจะเริ่มต้นจากหนังเรื่องนี้เช่นกัน คือการถ่ายภาพวิวทิวทัศนียภาพ ภูมิทัศน์อันกว้างใหญ่ไพศาล (Landscape Shot) แม้จะเป็นเพียงภาพขาว-ดำ แต่ก็มีความสวยงามตราตรึงอย่างยิ่งทีเดียว

เกร็ด: สำหรับครั้งแรกของ Landscape Shot ในหนัง Western ถ่ายทำด้วยภาพสี Technicolor คือ The Searchers (1956) นี่ก็อีกหนึ่งผลงาน Masterpiece ของผู้กำกับ John Ford และ John Wayne ถ่ายทำที่ Monument Valley

หนึ่งในเทคนิคการถ่ายภาพที่ถือกำเนิดขึ้นรอบ 10 ปีของยุคเปลี่ยนผ่าน คือ Rear Projection (จากหนังเรื่อง King Kong ปี 1933) ฉายภาพที่ถ่ายทำไว้แล้วขึ้นฉากขนาดใหญ่ด้านหลัง นักแสดงสามารถอยู่ในสตูดิโอ ก็ถ่ายทำได้โดยไม่ต้องเดินทางไปสถานที่จริง

Stagecoach มีการนำเทคนิคนี้มาใช้อย่างเยอะ โดยเฉพาะขณะรถม้ากำลังวิ่งแล่นไป ตัวละครมีการพูดคุยสนทนา สมัยนั้นไม่มีทางที่จะถ่ายทำจากสถานที่จริง หรือขณะกำลังเดินทางบนรถม้าแน่ๆ

ฉากเปิดตัว Ringo Kid ช็อตนี้ สังเกตดีๆพื้นหลังก็เป็นการฉายด้วย Rear Projection นะครับ, หมวกที่ Wayne ใส่ในช็อตนี้ เป็นของส่วนตัวที่ใครเป็นแฟนพันธุ์แท้คงรู้ได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ประจำติดตัวสวมมันทุกเรื่องจนถึง Rio Bravo (1959) เปลี่ยนไปใบอื่นเพราะสภาพมันโทรมมากๆแล้ว

สำหรับสถานที่จุดพักริมทาง น่าจะพอสังเกตกันได้ว่าเป็นการสร้างฉากขึ้นมาในสตูดิโอ เพราะพื้นหลังดูไม่เป็นธรรมชาติ คล้ายภาพวาด Glass Painting เสียมากกว่า

ฉากที่เป็นไฮไลท์ให้สัมผัสของ Noir/Expression Landscape คือขณะที่ Ringo Kid เอ่ยปากชักชวน Dallas ให้มาอาศัยอยู่ด้วยกัน การจัดแสงเงามืดในฉากนี้ ค่อนข้างฝืนธรรมชาติพอสมควร ก็ไม่รู้แสงสว่างส่องมาจากไหนยามค่ำคืน ตัวละครเดินเข้ามาเห็นใบหน้ามืดดำสนิท พอมาถึงตรงหน้ากล้องกลับสว่างจ้า แต่นี่สะท้อนนัยยะถึงชีวิตพวกเขาก่อนมาพบเจอกัน ต่างก็มืดมิดสนิท ซึ่งเมื่อได้รู้จักกันแล้ว วินาทีนี้ราวกับโลกมันสดสว่างขึ้น

ความสนใจใน Landscape Shot ของผู้กำกับ Ford ไม่ได้แค่เพื่อให้หนังมีความสวยงามอลังการขึ้นเท่านั้น แต่ยังแฝงนัยยะถึง ‘มนุษย์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ในโลกอันกว้างใหญ่’ ซึ่งกับ Stagecoach ยังมองได้อีกความหมายหนึ่ง คือ ‘การต่อสู้ดิ้นรนของมนุษย์เพื่อเอาตัวรอดในโลกกว้าง’

เกร็ด: ท้องฟ้า ก้อนเมฆสวยๆในหนัง ไม่ได้มาโดยง่ายนะครับ เห็นว่า Ford จ่ายเงินค่าทำขวัญให้กับ Hosteen Tso หมอผี ชาวอินเดียนแดง พยากรณ์ทำพิธีเรียกมาให้ *-*

ตัดต่อโดย Otho Lovering, Dorothy Spencer และ Walter Reynolds ด้วยความยาวเพียง 96 นาที ดำเนินเรื่องตามการเดินทางของรถม้า สามารถแบ่งเรื่องราวทั้งหมดออกเป็น 8 ตอน ประกอบด้วย

1) Prologue: สายโทรเลขถูกตัดขาด ทหารม้ามีความหวั่นวิตกว่าจะเป็นฝีมือของพวกอินเดียนแดง
2) 12 นาทีของการแนะนำตัวละครที่เมือง Tonto
3) เริ่มต้นการเดินทางช่วงแรก
4) จุดหยุดพักแรก Dry Fork รับประทานอาหารเย็น โหวตว่าจะเดินทางกันต่อหรือไม่
5) การเดินทางช่วงสอง
6) จุดหยุดพักสอง The Apache Wells เป็นสถานที่ Lucy คลอดลูกสาว
7) การเดินทางช่วงสาม ถูกโจมตีจากอินเดียนแดงและได้รับการช่วยเหลือโดยทหารม้า
8) ถึงเมือง Lordsburg สถานที่ซึ่ง Ringo Kid ประจันหน้ากับ Luke Plummer

ทุกครั้งที่มีจบตอนแล้วขึ้นเรื่องใหม่ เพลงประกอบจะดังขึ้นจนจดจำทำนองได้ นี่มีลักษณะคล้ายการเกริ่นนำ สร้างจังหวะให้กับหนัง แบ่งแยกแต่ละเรื่องราวออกจากกัน

ไฮไล์ของการตัดต่ออยู่ตอนที่ 7: การโจมตีของอินเดียนแดง นี่น่าจะเป็นสิ่งที่ Orson Welles พยายามศึกษาทำความเข้าใจตลอด 40 กว่าครั้งที่รับชมหนังเรื่องนี้ เพราะลำดับภาษาของการตัดต่อ มีความไหลลื่นต่อเนื่อง ไม่ทำให้อารมณ์ความลุ้นระทึกตื่นเต้น สะดุดชะงักหรือผ่อนลงแม้แต่วินาทีเดียว จากเหตุการณ์หนึ่งไปอีกเหตุการณ์หนึ่ง, ตัดสลับไปมาระหว่างรถม้าเร่งควบ <-> ผู้โดยสาร <-> อินเดียนแดง, ยิงปืน -> เห็นผู้ถูกยิงล้มลมตกหลังม้า ฯ

คงเพราะจัดเต็มไปแล้วกับไคลน์แม็กซ์ตอนที่ 7 การต่อสู้ระหว่าง Ringo Kid กับ Luke Plummer จึงแทบไม่มีอะไรให้น่าลุ้นเลย แถมหนังยังเล่นลีลา คือสร้างบรรยากาศให้เกิดความตื่นเต้นลุ้นระทึกเพียงอย่างเดียว ก่อนที่จะจบลงแบบ ปัง ปัง ปัง เกิดอะไรขึ้นว่ะ! ไม่เห็นอะไรทั้งนั้น

จริงๆนี่ต้องโทษ Hays Code ข้อตกลงร่วมกันของผู้สร้างภาพยนตร์ Hollywood เพื่อธำรงไว้ซึ่งคุณธรรมจริยธรรมของสังคม จะต้องไม่นำเสนอภาพที่มีความรุนแรง อาทิ เห็นคนยิงถูกตาย (แต่ตกจากหลังม้าได้ซะงั้น), ฉากขณะทำคลอด, หรือการพูดถึงโสเภณี ฯ

เกร็ด: ในหนังไม่มีการพูดถึงอาชีพของ Dallas แต่สายตาการแสดงออกของผู้อื่น ไม่บอกก็น่าจะรู้ได้ว่าต้องเป็นโสเภณี

เพลงประกอบโดย Richard Hageman, W. Franke Harling, John Leipold, Leo Shuken และ Louis Gruenberg ผมก็ไม่รู้ทำไมถึงต้องใช้ตั้ง 5 คน (แนวโน้มสูงว่า แต่งกันคนละเพลงสองเพลง) แต่ Gruenberg เป็นคนเดียวที่ถูกตัดสิทธิ์ไม่ได้รางวัล Oscar: Best Original Score

Main Theme ที่ใครๆคงคุ้นหูของหนัง แต่งโดย Richard Hageman มีลักษณะเป็น Impressionist เริ่มต้นด้วยจังหวะสนุกสนานครึกครื้นของการผจญภัย ออกเดินทาง สู่ดินแดนอันรกร้างว่างเปล่า แม้ระหว่างจะเต็มไปด้วยอุปสรรคอันตราย แต่ปลายทางคือเป้าหมายความฝันที่วาดหวังไว้

Stagecoach เปรียบรถม้าขบวนนี้ กับโลกใบเล็กๆ Noah’s Ark ที่ขนบรรทุกตัวแทนของมนุษย์ ออกเดินทาง ต่อสู้ ผจญภัย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายปลายทางแห่งชีวิต

ทั้ง 9 ตัวละครของหนัง ต่างเป็นตัวแทนของระบบชนชั้นฐานะในสังคม (Social Classes) สะท้อนสิ่งที่ปัญหาสังคม แต่กลับมีบางสิ่งอย่างตรงข้ามขัดแย้งกันอยู่
– Ringo Kid ภายนอกดูเป็นคนป่าเถื่อน ถูกออกหมายจับ กำลังจะทำสิ่งผิดกฎหมาย แต่กลับมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่แบ่งแยกกีดกั้น
– Dallas โสเภณีขายตัว แต่รักเด็ก ชอบช่วยเหลือผู้อื่น
– Doc Boone หมอรักษาผู้ป่วย แต่ติดเหล้าขี้เมา
– Marshal Curley Wilcox ด้วนหน้าที่ตั้งใจจะจับ Ringo Kid แต่สุดท้ายกลับปล่อยไป
– Henry Gatewood นายธนาคารดูดีมีชาติตระกูล เชื่อมั่นในรัฐ แต่โป้ปด คอรัปชั่น ขโมยเงินหนีมา
– Samuel Peacock เหมือนจะเป็นคนสำคัญ แต่มักถูกมองข้ามหลงลืม และทำธุรกิจสุรา มอมเมาผู้อื่น
– Lucy Mallory หญิงท้องแก่ ไฮโซชั้นสูง แต่เกลียดคนชนชั้นต่ำ
– Hatfield ภาพนอกดูเป็นสุภาพบุรุษ แต่ในใจอาจคิดแฝงอะไรชั่วร้ายไว้อยู่ และชื่นชอบการเล่นพนัน
– Buck ชายร่างใหญ่ ขับรถคุยกับม้ารู้เรื่อง แต่ขาดเขลาพึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้

ความสัมพันธ์ของตัวละคร สะท้อนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากระบบชนชั้นฐานะในสังคม
– นายอำภอ Marshal Curley Wilcox ไม่ถูกกับคนนอกกฎหมาย Ringo Kid
– Lucy Mallory หญิงชั้นสูงไม่ต้องการพูดคุยกับโสเภณีชั้นต่ำ Dallas
– Hatfield ให้ความสนใจช่วยเหลือแต่ Lucy Mallory เท่านั้น
– Doc Boone พยายามคบหาเป็นพันธมิตรกับ Samuel Peacock เพื่อหวังผลประโยชน์ล้วนๆ
– ขณะที่ Henry Gatewood ไม่มีใครอยากพูดคุย คบหาด้วย เพราะเอาแต่พูดจาหมาเต็มปาก Buck มักเป็นผู้โชคร้ายโดยตลอด
ฯลฯ

สำหรับเหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง ประกอบด้วย
– การเกิด-ได้รับบาดเจ็บ-ความตาย (วัฎจักรชีวิต)
– พบเจอ ประทับใจ ตกหลุมรัก (Ringo Kid กับ Dallas)
– เข้าใจตัวตนของคนอื่น ว่าไม่ได้อยู่ที่ภาพลักษณ์หรือชนชั้น
> Samuel Peacock ยกย่องน้ำใจของ Doc Boone และ Dallas
> Lucy Mallory เอ่ยปากขอโทษ Dallas
> Marshal Curley Wilcox ให้โอกาส Ringo Kid

การมาถึงของเหล่าอินเดียนแดง ทำให้ชีวิตของพวกเขาทั้งหลาย มีความตื่นเต้นลุ้นระทึก สีสันขึ้นมากทีเดียว แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะสนุกไปกันมัน โดยเฉพาะสาวๆ (Dallas กลัวจับใจ, Lucy Mallory นิ่งเฉยมาก สงสัยจิตใจจะลอยไปหาแต่สามี) ขณะที่มีเพียงหนึ่งเดียวของกลุ่มไปไม่ถึงเส้นชัย นั่นน่าจะเพราะการกำลังจะทำบางอย่างของเขา สื่อถึงความชั่วร้ายสิ้นหวังของมวลมนุษยชาติ จึงถูกขจัดขัดขวางโดยปัจจัยภายนอก

เกร็ด: หนังถูกวิพากย์วิจารณ์ประเด็นหนึ่งรุนแรงมากๆ คือทัศนะต่อชาวพื้นเมืองอินเดียนแดง นำเสนอด้วยภาพลักษณ์ของความป่าเถื่อน รุนแรง แถมยังทรยศหักหลัง (เมียหนี) หลอกลวงคนผิวขาว

ชะตากรรมของเหล่าผู้มาถึงเป้าหมายปลายทางนั้นต่างออกไป คนชั่วถูกจับ คนเจ็บได้รับการรักษา คนกลับตัวได้รับโอกาส ซึ่งสิ่งที่ Ringo Kid กระทำนั้น จากที่เคยถูกมองว่าล้างแค้นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ก็กลายเป็น ‘การไถ่โทษ’ ถ้าโชคดีเอาตัวรอดก็เท่ากับพบเจออิสรภาพของชีวิต

ความหวังสุดท้ายของมวลมนุษย์ที่หนังเรื่องนี้นำเสนอออกมา ก็คือ ‘ความรัก’ สามารถเอาชนะทุกสิ่งได้จริงๆ ไม่ใช่เรื่องของชนชั้นฐานะ เงินทอง ดีชั่ว หรือเคยกระทำอะไรมา แค่เพียงชายหญิงพบเจอ เข้าใจกัน ตกหลุมรัก แค่นี้ก็เพียงพอให้โลกหมุนต่อ ชีวิตธำรงอยู่ด้วยความหวัง

ข้อคิดสำคัญที่หนังพยายามนำเสนอ ‘อย่าตัดสินคนที่ภายนอก’ ถึงภาพลักษณ์ชนชั้นฐานะทางสังคมอาจต่ำต้อย เคยกระทำผิดกฎหมาย แต่ตัวจริงอาจบริสุทธิ์ดีงาม ตรงกันข้ามกับชนชั้นสูงผู้มีฐานะยศศักดิ์ศรี แต่จิตใจอาจเลวทรามคอรัปชั่น

ด้วยทุนสร้าง $531,374 เหรียญ (ก็ไม่รู้ Ford ไปหาจากไหนได้อีกเท่าหนึ่ง) หนังทำเงินได้ $1,103,757 เหรียญ กำไรประมาณ $297,690 เหรียญ, เข้าชิง Oscar 7 สาขา คว้ามา 2 รางวัล ประกอบด้วย
– Best Picture
– Best Director
– Best Supporting Actor (Thomas Mitchell) ** ได้รางวัล
– Best Art Direction
– Best Cinematography, Black-and-White
– Best Film Editing
– Best Music (Scoring) ** ได้รางวัล

ปี 1939 คือปีทอง ‘Golden Year’ ของ Hollywood เพราะมีหนังอย่าง Gone With the Wind, The Wizard of Oz, Mr. Smith Goes to Washington, Wuthering Heights โคตรภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน ได้มากระจุกรวมตัวออกฉายปีนี้มากที่สุด นี่ยังไม่รวม Union Pacific ที่ได้รับการยกย่องเคียงคู่กับ Stagecoach ว่าเป็นสองเรื่องปลุกกระแสแนว Western ให้กลับมาตื่นขึ้นอีกครั้ง

ต้นฉบับฟีล์ม Negative ของหนัง ได้สูญหายไประหว่างการโอนย้ายลิขสิทธิ์เปลี่ยนสตูดิโอ แต่โชคดีที่ในคลังของ John Wayne มีฉบับ Positive อยู่ม้วนหนึ่งซึ่งไม่เคยนำมาเปิดใช้ เมื่อปี 1970 อนุญาติให้นำไปสร้าง Negative ฉบับใหม่ คงเหลือถึงปัจจุบัน ได้รับบูรณะ Restoration เมื่อปี 1996

ส่วนตัวผมไม่ชอบ ไม่เกลียด ไม่รู้สึกอะไรมากกับหนังเรื่องนี้นะครับ มันไม่มีอะไรให้น่าตรึงใจเท่าไหร่ แต่ก็รู้ว่าหนังมันยอดเยี่ยม ดู 2-3 ครั้งที่ผ่านมาก็คิดว่ามันเป็นหนังที่ให้ความบันเทิงได้ในระดับหนึ่ง แต่คงเพราะมันเป็นหนังเก่า และ John Wayne ก็ไม่ได้มีอิทธิพลต่อผมมากขนาดนั้น นี่เลยเป็นหนังธรรมดาๆเรื่องหนึ่ง แต่กับแฟนพันธุ์แท้ของ John Ford และ John Wayne หนังเรื่องนี้ “ห้ามพลาด” เลย

ส่วนตัวรับชม Stagecoach มาประมาณ 3-4 รอบแล้ว ไม่ชอบ ไม่เกลียด ไม่รู้สึกอะไรทั้งนั้นกับหนังเรื่องนี้ มองเป็นเพียงความบันเทิงทั่วไป ลุ้นระทึกตื่นเต้นเร้าใจ พบเจอได้บ่อยในยุคสมัยปัจจุบัน ตกยุคเพราะงานภาพขาว-ดำ, แต่การรับชมครานี้อยู่ดีๆก็เกิดความชื่นชอบประทับใจขึ้นเล็กมา เพราะการได้เข้าใจว่าทั้งหมดที่เห็นในหนังคือ ‘ครั้งแรก’ ของแนว Western มันชวนให้ขนลุกซู่ขึ้นมาเลย ยิ่งข้อจำกัดของยุคสมัยนั้น กลับสามารถทำให้เกิดความบันเทิงได้ระดับนี้ นี่มันโคตรแห่งตำนาน คลาสสิกอลังการ ยิ่งใหญ่เหนือกาลเวลาโดยแท้

แนะนำกับคอหนัง Cowboy Western, ชื่นชอบภูมิทัศน์สวยๆ เพลงประกอบเพราะๆ แอ๊คชั่นมันส์ๆ, แฟนๆผู้กำกับ John Ford กับ John Wayne ห้ามพลาดเด็ดขาด

จัดเรต PG ผู้ใหญ่ควรให้คำแนะนำในพฤติกรรมของหลายๆตัวละคร

TAGLINE | “Stagecoach คือจุดเริ่มต้นของตำนานผู้กำกับ John Ford และ John Wayne ที่แม้จะแค่ภาพขาว-ดำ แต่ภูมิทัศน์สวยงามตราตรึง ตื่นเต้นลุ้นระทึกนั่งแทบไม่ติดเก้าอี้”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: