Stalker

Stalker (1979) USSR : Andrei Tarkovsky ♥♥♥♥

Stalker ในบริบทของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือผู้นำทางนักวิทยาศาสตร์ และนักเขียนนวนิยาย (ค้นหาความจริง vs. จินตนาการเพ้อฝัน) มุ่งสู่ Zone ดินแดนอันตรายที่บุคคลทั่วไปไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวข้องแว้ง โดยมีเป้าหมายคือ Room ห้องเล็กๆที่สามารถดลบันดาลได้ทุกสิ่งอย่าง

นี่คือโคตรภาพยนตร์อภิมหาปรัชญา Sci-Fi ชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดตั้งคำถามถึงการเดินทางแห่งชีวิต ก้าวข้ามผ่านกฎกรอบขอบเขตกรงขัง มุ่งสู่เป้าหมายปลายทางฝันใฝ่ และเมื่อได้ไปถึงจุดๆนั้นอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป?

ขณะที่ Solaris (1972) ได้รับการเปรียบเทียบกับ 2001: A Space Odyssey (1968) ของสหภาพโซเวียต, Stalker (1979) ดูมีความใกล้เคียง The Wizard of Oz (1939) ตรงกันข้ามในอุดมคติ Utopian และ Dystopian

สำหรับคนที่ยังไม่เคยผ่านตาผลงานปรมาจารย์ผู้กำกับ Andrei Tarkovsky โปรดจงอย่างเร่งรีบร้อนหาภาพยนตร์เรื่องนี้มารับชมเลยนะครับ ค่อยๆเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิต ครุ่นคิดถึงปรัชญา และหยิบนำเอาหนังสี่เรื่องก่อนหน้า Ivan’s Childhood (1962), Andrei Rublev (1966), Solaris (1972), The Mirror (1975) มาศึกษาเรียนรู้ทำความเข้าใจ ถ้าสามารถปรับตัวต่อทิศทางไดเรคชั่นได้ ค่อยก้าวต่อไปกับสามผลงานหลัง Stalker (1979), Nostalghia (1983) และ The Sacrifice (1986)

สิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์ของ Tarkovsky เลื่องลือชาว่าดูยากยิ่งที่สุดในโลก! นอกจากความนิ่งเชื่องช้า ยังคือการสอดแทรกแนวคิดอภิปรัชญาอยู่ทุกอณูขุมขน และไม่มีคำตอบถูกผิดในปริศนาเรื่องราว เปิดกว้างทางความเห็น มอบอิสรภาพให้ผู้ชม ครุ่นคิดวิเคราะห์ได้อย่างเสรี

หนึ่งในการวิเคราะห์ที่น่าสนใจมากๆคือ The Holy Trinity ในพระเจ้าเดียวมีสามพระบุคคล (ตรีเอกภาพ) ประกอบด้วย พระบิดา (นักวิทยาศาสตร์), พระบุตร (นักเขียน) และพระวิญญาณบริสุทธิ์ (Stalker) กำลังออกเดินทางเพื่อกลับสู่สรวงสวรรค์อีเดน


Andrei Arsenyevich Tarkovsky (1932 – 1986) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Russian เกิดที่ Zavrazhye, Yuryevetsky District บุตรชายของกวีคนสำคัญของรัสเซีย Arseni Tarkovsky (1907-1989) และ Maya Ivanovna Vishnyakova ครอบครัวมีน้องสาว Mariana อีกคน, ช่วงสงครามโลกที่สอง ครอบครัว Tarkovsky อพยพย้ายไปอยู่ทางชนบทของเมือง Yuryevets อาศัยอยู่กับตายายยังบ้านไม้หลังเก่าๆผุพัง ส่วนพ่อไปรบอยู่แนวหน้ากลับมาสูญเสียขาไปข้างหนึ่ง, โตขึ้นสมัครเรียนสาขาผู้กำกับ State Institute of Cinematography (VGIK) สร้างภาพยนตร์นักศึกษาสามเรื่อง The Killers (1956), There Will Be No Leave Today (1959), The Steamroller and the Violin (1961) เรื่องสุดท้ายได้รับคำชมล้นหลามจนมีได้รับโอกาสจาก Mosfilm กำกับหนังเรื่องแรก Ivan’s Childhood (1962) คว้ารางวัล Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice Film Festival

นอกจากกำกับภาพยนตร์ Tarkovsky ยังสรรค์สร้างทฤษฎี Sculpting in Time เวลาคือศูนย์กลางจักรวาล อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต สามารถบรรจบเชื่อมโยง ดำเนินต่อกันได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียงต่อเนื่องแบบเวลาบนโลก ซึ่งก็ได้ประยุกต์ทดลองกับ The Mirror (1975) เป็นเรื่องแรก

สำหรับ Stalker (1979) ได้แรงบันดาลใจจากนวนิยายไซไฟเรื่อง Roadside Picnic (1972) แต่งโดยสองพี่น้อง Strugatsky คนพี่ Arkady (1925–91) และน้อง Boris (1933–2012) เริ่มต้นตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Avrora

Tarkovsky มีความชื่นชอบนวนิยายเรื่องนี้อย่างมาก ติดที่ขณะนั้นกำลังพัวพลันวันกับ Solaris (1972) และ The Mirror (1975) เลยแนะนำต่อให้เพื่อนผู้กำกับ Mikhail Kalatozov ซึ่งก็แสดงความใคร่สนใจ แต่พอไม่สามารถติดต่อขอลิขสิทธิ์ดัดแปลงได้สักทีเลยขอถอนตัวออกไป

Tarkovsky พัฒนาบทหนังขึ้นโดยนำเอาเพียงชื่อ (คำว่า Stalker และ Zone) แนวคิดบางอย่างจากนวนิยายเท่านั้น แล้วต่อยอดเนื้อหา สร้างใจความสำคัญขึ้นใหม่หมด โดยเป้าหมายคือการเผชิญหน้าความสิ้นหวัง

“This, too, is what Stalker is about: the hero goes through moments of despair when his faith is shaken; but every time he comes to a renewed sense of his vocation to serve people who have lost their hopes and illusions”.

– Andrei Tarkovsky

อนาคตอันแสนไกล นำเสนอเรื่องราวของ Stalker (รับบทโดย Alexander Kaidanovsky) นำพานักเขียน (รับบทโดย Anatoly Solonitsyn) และนักวิทยาศาสตร์ (รับบทโดย Nikolai Grinko) ลักลอบเข้าไปใน Zone สถานที่ที่ไร้ซึ่งกฎหมายและกฎธรรมชาติสามารถอธิบายได้ โดยมีเป้าหมายปลายทางคือ Room ห้องเล็กๆที่มีความเชื่อว่า สามารถดลบันดาลทุกสิ่งอย่างได้ดั่งใจ


Alexander Leonidovich Kaidanovsky (1946 – 1995) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติรัสเซีย เกิดที่ Rostov-on-Don, Russian SFSR โตขึ้นเข้าโรงเรียนเพาะช่าง ฝึกหัดเป็นนักเชื่อมเหล็ก แต่ทำงานกรรมกรไม่ค่อยเหมาะกับตนเองสักเท่าไหร่ เลยย้ายมาเรียนการแสดง The Rostov Theatre School ตามด้วย Schukin Institute จนมีโอกาสสมทบภาพยนตร์ The Mysterious Wall (1967), สร้างชื่อกับ At Home Among Strangers (1974), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Bodyguard (1979), Stalker (1979) ฯ

รับบท Stalker ชายผู้เป็นไกด์นำทางบุคคลสนใจลักลอบเข้าไปใน Zone เต็มไปด้วยความใคร่รู้ใคร่สงสัย มันจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อมีคนเดินเข้าห้อง Room แต่ตลอดชีวิต/อาชีพการงาน กลับไม่เคยพานพบเห็นผู้หาญกล้า ซึ่งการเดินทางครั้งนี้กลับกลายเป็นการท้าพิสูจน์ความเชื่อศรัทธา ทุกสิ่งอย่างที่ฉันกระทำมามันสูญค่าเสียเปล่าเลยใช่ไหม

ทั้งๆที่ตัวละครนี้คงเคยเข้ามาใน Zone หลายสิบร้อยครั้ง (เพราะเป็นไกด์นำทาง) แต่สีหน้าท่าทางกลับเต็มไปด้วยความวอกแวก สั่นระแวง ราวกับมีบางสิ่งอย่างน่าหวาดสะพรึงกลัวปกปิดบังซ่อนเร้นอยู่ภายใน ซึ่งภายหลังก็ค้นพบว่าเขากำลังสูญเสียความเชื่อมั่นศรัทธาในอาชีพการงาน กลัวทุกสิ่งอย่างถึงกาลสิ้นสุด/ความตาย

ปกติแล้วภาพลักษณ์เวลาไว้ผมของ Kaidanovsky จะมีความไฮโซ หล่อผู้ดี แต่พอโกนออกแบบในหนัง โหนกหน้าผากนูนเหมือนคนติดยา ป่วยใกล้ตาย ดูไม่น่าพึ่งพาได้สักเท่าไหร่ การแสดงออกก็ดูวอกแวก ลุกรี้ร้อนรน สั่นสะพรึงกลัวอันตราย ซึ่งเมื่อความจริงได้รับการพูดบอก น้ำเสียงอันสั่นสะท้านทำให้รู้สึกน่าสงสารเห็นใจขึ้นมาเล็กๆ


Anatoly Alekseyevich Solonitsyn (1934 – 1982) นักแสดงสัญชาติรัสเซีย เกิดที่ Bogorodsk, ถือเป็นนักแสดงคนโปรดของ Tarkovsky รู้จักร่วมงานตั้งแต่ Andrei Rublev (1966)

รับบทนักเขียน ผู้มีความเพ้อใฝ่ฝันถึง Zone ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ต้องการเดินทางเข้าไปเพื่อค้นหาแรงบันดาลใจให้กับชีวิต แต่ระหว่างทางเกิดความเบื่อหน่ายต่อการกระทำของ Stalker ไม่เข้าใจทำไมต้องทำสิ่งต่างๆให้ยุ่งยากวุ่นวาย ตัดสินใจออกเดินนำตรงไปข้างหน้า ปรากฎว่าไม่เท่าไหร่จำต้องถอยหลังกลับมา ขลาดหวาดสะพรึงกลัวเมื่อได้รับรู้ถึงสิ่งเหนือจินตนาการเข้าใจ

ศีรษะล้านของ Solonitsyn คือจุดสังเกตตัวละครที่สะท้อนความเย่อหยิ่ง ทะนงตน อวดอ้างดี และเพราะเป็นตัวแทนของจินตนาการ/แฟนตาซี เลยค่อยข้างมีอิสรภาพไร้ขอบเขต ครุ่นคิดอะไรก็พูดพร่ำแสดงออกเช่นนั้นแม้ตอนหลับฝัน ราวกับเพื่อปกปิดบังความขลาดหวาดสะพรึงกลัวของตนเอง


Nikolai Grigoryevich Grinko หรือ Mykola Hryhorovych Hrynko (1920 – 1989) นักแสดงสัญชาติ Ukrainian เกิดที่ Kherson, USSR อีกหนึ่งขาประจำร่วมงานผู้กำกับ Tarkovsky ตั้งแต่ Ivan’s Childhood (1962)

รับบทนักวิทยาศาสตร์ ผู้ดื่มด่ำเมามายไปกับภาพลวงตาของโลกใบนี้ โหยหาหาข้อเท็จจริงของ Zone เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นสิ่งโป้ปดหลอกลวง จักได้ระเบิดทำลายล้างเพื่อให้ทุกคนตื่นขึ้นจากความเพ้อฝัน … แต่สุดท้ายนั้นก็มิหาญกล้ากระทำลงมือ เพราะรับรู้ว่าสถานที่แห่งนี้คือหนทางออก/ความหวังของมวลมนุษยชาติแท้จริง!

พบเห็นตัวละครสวมหมวกไหมพรมตลอดเวลา สะท้อนถึงการปกปิดบังบางสิ่งอย่างไว้ภายใน (ก็คือแผนการระเบิดทำลายล้าง Room) ทั้งยังพูดน้อย ไม่ค่อยแสดงความครุ่นคิดเห็น แต่เวลาต้องการอะไรก็กระทำเลย เสียเวลาอธิบายทำไมให้มากความ

ใบหน้าของ Grinko ช่างดูมึนเมามายอยู่ตลอดเวลา แม้หลังจากสุราโดนเททิ้งหมดเกลี้ยงก็แทบไม่ต่างกัน เป็นเช่นนั้นไปจนถึงหน้าห้อง พอรับโทรศัพท์คุยกับใครสักคนจากภายนอก น้ำเสียงท่าทางก็ปรับเปลี่ยนแปลงไปราวกับคนละคน ค้นพบเป้าหมายปลายทาง อยู่ที่ว่าสุดท้ายจะตัดสินใจเฉกเช่นไร


โปรดักชั่นของภาพยนตร์เรื่องนี้เต็มไปด้วยปัญหา เริ่มต้นตากล้องคนแรก Georgy Rerberg แม้เคยร่วมงาน Tarkovsky เรื่อง The Mirror (1975) แต่เพราะต้องการทดลองฟีล์มรุ่นใหม่ พอนำไปล้างภาพไม่ปรากฎ สูญเสียเวลาถ่ายทำเป็นปีๆ สร้างความเกรี้ยวกราดรวดร้าวฉาน จนถูกผู้กำกับขับไล่ไส่ส่งไม่ต้องการร่วมงานกันอีกต่อไป

งบประมาณที่สูญไปมากทำให้ Mosfilm ต้องการยกล้มเลิกโปรเจคนี้ แต่ Tarkovsky ต่อรองจะขอทำเป็นสองภาคแยกฉายเพื่อโอกาสเพิ่มกำไร สตูดิโอเลยยินยอมพร้อมใจเพิ่มเติมงบประมาณส่วนให้ และได้ตากล้องคนใหม่คือ Alexander Knyazhinsky

สถานที่ถ่ายทำหลักๆของ Zone คือโรงงานร้าง Hydropower Plants ตั้งอยู่ติดแม่น้ำ Jägala ณ Tallinn, Estonia ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงงานเคมี Flora Chemical Factory ที่ช่วงนั้นได้ปล่อยน้ำเสีย/สารพิษลงสู่แม่น้ำ โดยไม่รู้ตัวผู้กำกับ Tarkovsky ภรรยา และ Anatoly Solonitsyn ต่างเสียชีวิตด้วยโรงมะเร็งปอดในช่วงเวลาใกล้เคียงกันมากๆ

เพื่อแบ่งแยกโลกสองใบ ฉากภายนอก Zone จึงมีการปรับแต่งล้างฟีล์มให้ออกมาโทนสี Sepia สะท้อนความทุกข์ยากลำบาก หรือกลียุค Dystopian, ตรงกันข้ามภายใน Zone จักมีโทนสีสันปกติ … แต่อธิบายแบบนี้ผมว่าไม่ถูกต้องสักเท่าไหร่นะ เพราะมีสองครั้งช่วงกึ่งกลางและตอนท้ายหนัง ตัวละครอยู่ใน Zone แต่กลับมีภาพ Sepia และช็อตสุดท้ายของหนัง โลกภายนอก Zone กลับมีโทนสีสันปกติ

ด้วยเหตุนี้ข้อสรุปน่าจะใกล้เคียงที่สุด
– โทนสี Sepia ใช้กับภาพเหตุการณ์ที่ตัวละครกำลังรู้สึกตกทุกข์ยากลำบาก ไม่พึงพอใจกับโลกที่อาศัยอยู่
– โทนสีสันปกติ ใช้กับภาพเหตุการณ์ขณะที่ตัวละครราวกับได้รับอิสรภาพ สำเริงราญกับชีวิตที่เป็นอยู่

การค่อยๆเคลื่อนกล้องเข้าไปอย่างเชื่องช้า ให้ลองสังเกตตัวเองดูว่าเหมือนสายตาสมาธิของเราจะจับจ้องจดจ่อเป็นพิเศษ อยากรับรู้เห็นเสียเหลือเกินว่าอะไรอยู่ข้างใน แต่เร่งรีบก็ไม่ได้เพราะมันไม่ถึงสักที … นี่คือเหตุผล/เป้าหมายของผู้กำกับ Tarkovsky จงใจทำให้เชื่อช้าขนาดนี้ มันจะมีความพิเศษบางอย่างเกิดขึ้นกับผู้ชม

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้หนังได้รับการยกย่องคารวะจากนักวิจารณ์/ผู้กำกับระดับปรมาจารย์ ติดชาร์ทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมหลายๆสำนึก คือการใช้ Sound Effect ที่มีความซับซ้อนสมจริงเสียเหลือเกิน อย่างช็อตนี้เริ่มจากถ่ายมุมก้ม (Bird Eye View) เคลื่อนจากโต๊ะข้างเตียงพร้อมเสียงรถไฟดังกระฉักกระฉัก โต๊ะแก้วน้ำสั่น และบทเพลง Beethoven: Symphony No. 9 ล่องลอยๆมาไหลๆ พอภาพไหลมาถึง Stalker ก็ค่อยๆถีบตัวกลับมายังโต๊ะตัวนี้อีกครั้ง

จริงๆเราจะมองเหตุการณ์ทั้งหมดของหนัง เกิดขึ้นในความมโนเพ้อฝันของ Stalker เลยก็ยังได้ เพราะสิ่งของวางเกลื่อนกราดอยู่บนโต๊ะนี้ ชัดเจนเลยว่าหมอนี่เสพติดเล่นยา นั่นคือวิธีการหนีหลุดโลกสู่สรวงสวรรค์ที่ต้องการโหยหา

เกือบๆ 10 นาทีผ่านไป เสียงพูดประโยคแรก

“Why did you take my watch?”

ประโยคดังกล่าวฟังดูเป็นการแซวตัวเองของ Tarkovsky บอกให้ผู้ชมเลิกดูเวลาเสียเถอะ รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ถ้าไม่ปรับตัวเข้ากับ Tarkovsky-time ที่แสนอืดอาดเชื่องช้า พลันแต่จะรู้สึกความเหน็ดเหนื่อยหน่าย ทุกข์ทรมานใจเสียเปล่าๆ

Tarkovsky โปรดปรานผลงานของผู้กำกับ Ingmar Bergman เป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้บ่อยครั้งจึงพบเห็นไดเรคชั่นที่เกี่ยวกับใบหน้า ศีรษะ ตำแหน่งทิศทางตัวละคร มีนัยยะแอบแฝงซ่อนเร้นอย่างลุ่มลึกซึ้ง

ช็อตนี้ Stalker ยืนหันหน้าทิศทางตรงกันข้ามกับภรรยา นั่นคือความคิดเห็นต่าง ไม่สามารถปฏิบัติตามคำร่ำร้องขอของเธอได้

เรื่องราวของหนังมักเป็นอะไรที่เข้าสูตรสาม ตั้งแต่ฉากแรกๆ Stalker + ภรรยา + ลูกสาว หรือแม้แต่ช็อตนี้เดินมายืนตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างสามเหลี่ยมเบอร์มิวด้า เสาสามต้นพอดิบพอดี

สำหรับนักวิทยาศาตร์ vs. นักเขียน ทั้งสองถือว่ามีความคิดเห็น ทัศนคติ วิสัยทัศน์ แตกต่างข้ามโดยสิ้นเชิง เวลาอยู่ร่วมฉากมักพบเห็นใบหน้าหันคนละทิศทางกัน หรืออย่างช็อตนี้คนหนึ่งอยู่ด้านในอีกคนยืนนอกประตู สูง-ต่ำ สวมหมวก-หัวล้าน พูดน้อย-พร่ำมาก ฯ

บริเวณที่คือขอบเขตแดน ร่องรอยต่อระหว่าง โลกมนุษย์-Zone ถูกล้อมรอบด้วยรั้วลวดหนาม พนักงานรักษาความปลอดภัยเข้มงวดกวดขัน มีเพียงเส้นทางขบวนรถไฟเส้นทางเดียวเท่านั้นสามารถเข้า-ออก ไป-กลับ (ก็ไม่รู้ทำไมเหมือนกันนะ)

สังเกตว่าเมื่อตอนรถไฟขบวนนี้กำลังตรงเข้าสู่ Zone แสงไฟจะสาดส่องสว่างเจิดจรัสจร้ากว่าปกติ จะมองว่านั่นคือสัญลักษณ์แห่งความหวังที่สามเกลอโหยหาไขว่คว้า ต้องการออกเดินทางเข้าไปให้ถึงจงได้

ทำไมถึงต้องแบ่งแยก แถมมีความเข้มงวดกวดขันขนาดนี้? เพราะสิ่งที่อยู่ใน Zone เป็นอะไรที่มนุษย์ทั่วไปไม่สามารถกำหนดควบคุมได้ ไร้กฎหมายรวมถึงกฎธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้จึงมองเป็นอันตราย ภัยพิบัติ ไม่สมควรเข้าใกล้หรือให้ใครไปถึง เรียกได้ว่าผืนแผ่นดินแดนอิสรภาพแห่งสุดท้ายบนโลก Dystopian ใบนี้

ทำไมถึงเดินทางด้วยรถไฟ? ก่อนที่มนุษย์จะมีความครุ่นคิดอ่าน สติปัญญาครุ่นคิดวิเคราะห์ ก็ต้องเริ่มจากถือกำเนิด ทารกน้อยไร้เดียงสา ค่อยๆเติบโตขึ้นจนอายุ 15-20 ปี ค่อยกลายเป็นผู้ใหญ่ นั่นเรียกได้ว่า ‘เส้นทาง’ ชีวิตที่ถูกลิขิตกำหนดไว้ ไม่มีใครสามารถปรับเปลี่ยนแปลงได้ เฉกเช่นเดียวกันกับระยะแรกของการเดินทางเข้า Zone ใช้รางรถไฟคือเส้นทางที่วางไว้ จริงๆจะเลือกเดินทางอื่นก็ได้ แต่คงไม่การันตีถึงจุดหมายแรกอย่างความปลอดภัยและรวดเร็วขนาดนี้

ปลายทางแรกของเส้นทางรถไฟ นั่นคือการที่มนุษย์ทั้งสามได้พบเจอกับอิสรภาพแห่งชีวิต (หันหน้าจับจ้องมองไปในทิศทางเดียวกันด้วยนะ) แม้เต็มไปด้วยสิ่งปรักหักพัก แต่ความเขียวขจี ดอกไม้ซ่อนกลิ่น มันช่างสดชื่น กระชุ่มกระชวย อยากลงไปกลิ้งเกลือก โอบกอดรัดโลกกว้างใบนี้เสียเหลือเกิน

การปล่อยให้รถเลื่อนหวนกลับไปจุดตั้งต้น เพราะเส้นทางนี้สามเกลอจะไม่มีโอกาสหวนกลับมา ชีวิตต้องดำเนินไปข้างหน้า ขากลับต้องหาหนทางอื่นเท่านั้นเอง

กฎข้อแรกของ Zone ทั้งสามต้องเริ่มจากโยนหินถามทาง จากนั้นค่อยๆก้าวย่างเดินในรัศมีสายตาของกันและกัน ถ้าไปไกลเกินกว่านั้นเมื่อไหร่ ไม่รับรู้การันตีว่าอาจจะมีอะไรบังเกิดขึ้น

หลายคนคงครุ่นคิดว่า ตัวละครแม้งเพ้อเจ้อป่าวว่ะ! ไม่เห็นมันจะมีอะไรลึกลับซับซ้อนขนาดนั้นเลย ทุกสิ่งอย่างดูเป็นธรรมชาติสามัญไปเสียหมด … นี่เป็นสิ่งที่ผู้ชมต้องครุ่นคิดจินตนาการตามเงื่อนไขของเรื่องราวขึ้นมาเองนะครับ ซึ่งเราสามารถยอมรับ-ไม่ยอมรับ ทั้งหมดขึ้นอยู่คือ’ความเชื่อ’ส่วนบุคคลของคุณเอง ซึ่งมันมีนัยยะเหตุผลของการต้องออกเดินทางแบบนี้อยู่นะครับ

ยังไม่ทันขาดคำที่บอกไป ก็มีตัวละครนักเขียนมากด้วยจินตนาการ ไม่เห็นมันจะมีอะไรทำไมต้องทำตามข้อกำหนดกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดขนาดนี้? เมื่อเขาตัดสินใจไม่ทำตามคำแนะนำ ออกเดินฉายเดี่ยวมุ่งตรงสู่ … จู่ๆมโนทัศน์ของพี่แกก็เริ่มทำงานโดยทันที เพราะอยู่ออกห่างจาก(นัก)วิทยาศาสตร์มากเกินไป เกิดความขลาดหวาดสะพรึงกลัวต่อสิ่งไม่รู้ หูแว่ว และสูญเสียความเชื่อมั่นใจในตนเอง เลยจำต้องหวนกลับมาแล้วออกเดินไปข้างหน้าพร้อมๆกันอีกครั้ง

ฉากนี้คือการอธิบายนัยยะเหตุผลของที่สามตัวละครขาดกันไม่ได้ เพราะถ้านักเขียนผู้มากด้วยจินตนาการ อยู่ห่างจาก(นัก)วิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริง ก็อาจทำให้ไขว้เขวสูญเสียเป้าหมายทิศทางการเดิน ซึ่งวินาทีที่ช็อตศีรษะพร้อมภาพสโลโมชั่นปรากฎขึ้น ผู้ชมจะรับรู้ถึงความผิดปกติของสถานที่แห่งนี้โดยทันที

เริ่มต้นภาคสองของหนังด้วยเรื่องราวของการบรรจบ เมื่อนักวิทยาศาสตร์เรียกร้องขอให้ Stalker หวนกลับไปหยิบข้าวของที่วางหลงลืมไว้ แม้ถูกบอกปัดปฏิเสธแต่ก็ยังดื้อรั้นเดินทางไป ขณะที่สองหนุ่มต้องดำผุดดำว่าย โดยไม่รู้ตัวหวนกลับมายังจุดเริ่มต้น พบเจอพร้อมหน้ากันอีกครั้ง

การตีความหนึ่งของฉากนี้ วิทยาศาสตร์คือความจริงที่อยู่เหนือกว่าจิตวิญญาณและจินตนาการ ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะหวนกลับหรือหลงทาง สุดท้ายทุกคนต้องมาบรรจบพบเจอกันอีกครั้ง

การเดินทางที่แสนเหน็ดเหนื่อย ทำให้ทั้งสามตัดสินใจพักหลับนอนชั่วคราว สังเกตว่าในความฝัน Stalker โทนสีของภาพจะกลับมาเป็นซีเปีย นั่นหมายถึงความฝันคือโลกที่เขาไม่โหยหาต้องการ ความจริงบน Zone ต่างหากที่ค่อสรวงสวรรค์ชั้นเจ็ด

ในห้วงความฝันของ Stalker ภาพจะค่อยๆเคลื่อนไล่ระดับ Tilt Up พบเห็นสิ่งของมากมาย หลอดฉีดยา ปืน เหรียญเงิน ปลาแหวกว่าย รวมถึงรูปพระเยซูคริสต์ที่จมอยู่ใต้น้ำ สะท้อนถึงทุกสิ่งอย่างหมดสิ้นสูญไร้ค่าในยุคสมัย Dystopian ซึ่งกล้องเคลื่อนมาสิ้นสุดที่มือของเขา (จุดจบสิ้นของโลก ล้วนเกิดจากเงื้อมมือของมนุษย์นี่แหละ)

ทุกผลงานของ Tarkovsky ต้องมีสัตว์ตัวหนึ่งปรากฎอยู่เสมอ เรื่องนี้คือสุนัข ไม่เชิงว่าเป็นเพื่อนร่วมเดินทาง แต่มันติดตามมาด้วยตั้งแต่ที่สามเกลอนอนหลับพักผ่อน น่าจะเป็นสัญลักษณ์แห่ง ‘อิสรภาพ’ ที่ได้มาพบปะพวกเขา

การเดินทางเข้าไปในอุโมงค์ลึกลับ ด้วยสภาพเน่าๆขนาดนี้ย่อมไม่มีใครอยากก้าวนำแน่ โชคร้ายตกเป็นของนักเขียน ออกนำไปข้างหน้าด้วยจินตนาการ จากนั้นนักวิทยาศาสตร์และ Stalker ติดตามไปเบื้องหลังอยู่ห่างๆ

เรื่องราวของฉากนี้ สะท้อนถึงบางสิ่งอย่างจินตนาการนำหน้าข้อเท็จจริง/วิทยาศาสตร์อยู่ไกลโข ยกตัวอย่างเช่นมนุษย์เพ้อใฝ่ฝันไปดวงจันทร์ พบเห็นในวรรณกรรม สื่อศิลปะ แม้แต่ภาพยนตร์ก็มี ก่อนหน้าที่ยานอพอลโล่ 11 ส่งก้าวเล็กๆของ Neil Armstrong ไปย่างเหยียบดวงจันทร์สำเร็จเสียอีก!

ฉากที่ได้รับการจดจำสูงสุดของหนัง คือห้องโถงที่เต็มไปด้วยเนินทรายกองเล็กๆลักษณะเหมือนรอยหยักสมอง/ความทรงจำ, นกกำลังบินแล้วหายวับ, บ่อน้ำที่โคตรลึกกว่าจะได้ยินเสียงหินตก, นักเขียนหันมาสบตากล้อง ‘Break the fourth wall’ ระบายถึงประสบการณ์แย่ๆในชีวิต ฯ ทั้งหมดของฉากนี้น่าจะสะท้อนถึง ‘จิตใต้สำนึก’ ของมนุษย์ พื้นฐานไร้ก้นเบื้องไม่มีที่สิ้นสุด ความต้องการให้ทุกสิ่งอย่างเกิดขึ้นสนองตนเอง … แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นไปได้เช่นนั้น

ถ่ายจากด้านนอกเข้าไปในประตู พบเห็นทั้งสามแออัดยัดเยียดในห้องแคบๆ นักวิทยาศาสตร์โทรศัพท์ออกไปข้างนอก … ทั้งหมดนี้สะท้อนมุมมองโลกทัศน์ของพวกเขาที่แสนคับแคบ เมื่อเทียบกับโลกกว้าง ความเป็นไปได้ของจักรวาลแห่งนี้อันไม่มีจุดสิ้นสุด

ชาวคริสต์น่าจะคุ้นเคยกับมงกุฎหนามเป็นอย่างดี พระเยซูคริสต์สวมใส่ระหว่างถูกตรึงไม้กางเขน นี่เป็นการเปรียบเทียบตรงๆถึงนักเขียน=บุตรของพระเจ้า ที่ได้พร่ำคำสอนมาตลอดการเดินทาง พยายามชี้นำผู้ชมให้ครุ่นคิดทบทวนถึงปรัชญาชีวิต

ทั้งสามจับจ้องมอง Room พบเห็นร่างอันหลงเหลือเพียงโครงกระดูกของใครคนหนึ่ง ก่อเกิดความลังเลไม่แน่ใจ นี่นะหรือสถานที่สามารถดลบันดาลได้ทุกสิ่งอย่าง

การสร้างความคลุมเคลือลักษณะนี้ ถือว่าท้าพิสูจน์ศรัทธาความเชื่อของมนุษย์แบบตรงไปตรงมา ระหว่างอุดมคติที่ใครต่อใครกล่าวว่า กับข้อมูลสิ่งที่พบเห็น (และเรื่องเล่าอาจารย์ของ Stalker ที่กระทำอัตวินิบาต อาจเพราะประสบพบเห็นบางสิ่งอย่างเกิดขึ้นในห้องแห่งนี้) เป็นคุณจะตัดสินใจเข้า-ไม่เข้า?

ช็อตทิ้งท้ายถ่ายจากภายใน Room ค่อยๆเคลื่อนถอยหลังซูมออก พบเห็นทั้งสามนั่งอย่างละห้อยเหี่ยหมดอาลัย และอยู่ดีๆสายฝนพรำลงมา ราวกับธารน้ำตาไหลรินมาจากความรู้สึกของพวกเขา

หวนกลับมายังโลกความจริงอันแสนทุกข์ยากทรมาน โถแก้วใสเหนือศีรษะคือความว่างเปล่า ชีวิตของ Stalker แทบจะจบสิ้นไม่หลงเหลืออะไร เพราะการเดินทางที่ผ่านมานั้นคงเป็นครั้งสุดท้าย หมดสิ้นสูญความเชื่อศรัทธาลงโดยสิ้นเชิง

แต่สำหรับลูกสาวของเขา แม้จะอยู่ในโลกความจริงแต่กลับมีสีสันสดใส เพราะเธอยังมิได้ร่ำเรียนรู้ถึงความทุกข์ยากลำบากของโลกใบนี้ จึงไร้ซึ่งทัศนคติอันเจ็บปวดรวดร้าว แต่ความสามารถพิเศษโทรจิตอันน่าทึ่งของเธอ สามารถขยับเคลื่อนแก้วทั้งสองใบ นั่นเป็นการท้าทายผู้ชมอีกเช่นกัน ในเมืองโลกใบนี้สิ่งเหนือธรรมชาติมีจริง แล้วฉะนั้น Room ดังกล่าว มันก็อาจมีมูลความจริงอยู่ได้บ้างเช่นกัน!

มายากลของเด็กหญิง แก้วสองใบที่เธอส่งโทรจิต หนึ่งมีน้ำครึ่งแก้ว อีกใบสูงใหญ่แต่ว่างเปล่า ถึงเธอสามารถผลักดัน แต่มีเพียงใบหลังเท่านั้นตกลงแตก สะท้อนถึงจิตใจอันสิ้นสูญความเชื่อศรัทธา มันช่างเบาบางไร้คุณค่าที่จะธำรงชีวิตต่อไป … สามารถตีความไปไกลได้ถึง ความตายของ Stalker เลยนะครับ

ตัดต่อโดย Lyudmila Feiginova ขาประจำของผู้กำกับ Tarkovsky ร่วมงานกันตั้งแต่ Ivan’s Childhood (1962) ร้อยเรียง 142 ช็อต ในระยะเวลา 163 นาที โดยเฉลี่ย ASL 88 วินาที

นอกจาก Opening/Closing Shot น่าจะปรากฎพบเห็น Stalker อยู่ทุกช็อตฉาก ถือเป็นมุมมองดำเนินเรื่องเกิดขึ้นพบเห็นในระยะสายตา

เอาจริงๆหนังสามารถตัดต่อ ย่นย่อ หลายๆช็อตฉากที่ปล่อยทิ้งเยิ่นยาว Long Take ให้กระชับรวบรัดสั้นลงได้มาก แต่เป้าหมายของ Tarkovsky คือต้องการให้ผู้ชมเกิดความจดจ่อระดับสูงสุด

 “If the regular length of a shot is increased, one becomes bored, but if you keep on making it longer, it piques your interest, and if you make it even longer a new quality emerges, a special intensity of attention”.

– Andrei Tarkovsky

หลายคนอาจรู้สึกไปว่า หนังคงดำเนินเรื่องยาวนานเป็นเดือนๆปีๆ แต่แท้จริงแล้วแค่ 2-3 วันเท่านั้นเองนะ
– วันแรกตื่นเช้ามา พาสองหนุ่มเข้า Zone จบที่หลับนอนริมแม่น้ำ
– วันสองออกเดินทางต่อ เข้าอุโมงค์ มาจนถึง Room
– วันสาม(จะมองว่าเย็นวันสองก็ได้) กลับออกมาจาก Zone ภรรยามารับกลับบ้านเตรียมหลับนอน


เพลงประกอบโดย Eduard Artemyev (เกิดปี 1937) สัญชาติรัสเซีย โดดเด่นกับแนวเพลง Electronic ด้วยเครื่องสังเคราะห์เสียง ทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องแรก Solaris (1972), ผลงานเด่นๆอาทิ The Mirror (1975), Stalker (1979), The Bodyguard (1979), Burnt by the Sun (1994) ฯ

แรกสุดเลย Artemyev เขียนบทเพลงสำหรับประกอบวงออเครสต้า แต่ถูก Tarkovsky บอกปัดไม่เอา ต้องการผสมผสาน Sound Effect เข้ากับเสียงสังเคราะห์ เพื่อมอบสัมผัสธรรมชาติที่เหนือจริง จนผู้ชมไม่ทันสังเกตแยกแยะว่าคืออะไร

สำหรับ Main Theme ของหนัง Artemyev เกิดแนวคิดผสมผสานงานเพลงตะวันตก คลุกเคล้าเข้ากับตะวันออก (Western + Oriental Music) เพื่อสะท้อนความร่องรอยต่อระหว่าง อดีต-อนาคต ความจริง-เพ้อฝัน วิทยาศาสตร์-จินตนาการ ที่ค่อยๆเลือนลางจางหายไปจนสามารถกลายเป็นท่วงทำนองประสานกันได้ ซึ่งสามารถเรียกบทเพลงได้ว่า ‘จิตวิญญาณแห่งโลก’

สำหรับงานเพลงที่ได้รับการจดจำสูงสุด (ผมว่ายิ่งกว่า Main Theme เสียอีกนะ) คือตอนสามหนุ่มขณะขึ้นรถไฟมุ่งสู่ Zone เสียงที่ได้ยินแรกใครๆคงครุ่นคิดว่าแค่กระฉึกกระฉัก/หัวใจเต้น แต่ถ้าตั้งใจฟังดีๆมันจะมีเสียงสังเคราะห์อื่นแทรกดังขึ้นมาเป็นระยะๆ มอบสัมผัสคล้ายการสะกดจิตผู้ชม เพิ่มความตื่นเต้นลุ้นระทึก จดจ่อต่อสิ่งเบื้องหน้า กำลังจะได้พบเจออะไร

Stalker คือเรื่องราวของการเดินทาง ชีวิตต้องพานผ่านปัญหาอุปสรรคมากมาย ต่อสู้ดิ้นรนฟันฝ่า และเมื่อกำลังจะถึงเป้าหมายปลายทาง ชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดตั้งคำถาม เป็นคุณจะตัดสินใจเลือกกระทำสิ่งใด?

มนุษย์ยุคสมัยนั้น-นี้ กำลังตกอยู่ในสภาวะหมดสิ้นสูญความเชื่อศรัทธา(ศาสนา) หรือครุ่นคิดถึงชีวิตหลังความตาย กลายมาเป็นสนเพียงข้อเท็จจริงพิสูจน์อ้างได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ‘เชื่อ’ เฉพาะที่พบเห็นด้วยสายตาตนเองเท่านั้น นี่สามารถเรียกได้เต็มปากเต็มคำว่า กลียุค

สิ่งเกิดขึ้นกับ Stalker และคณะ ถูกโน้มน้าวด้วยคำพูด ข้ออ้างหลักฐาน สายตาพบเห็น ผสมความขลาดหวาดกลัวไม่มีใครกล้าท้าพิสูจน์ข้อเท็จจริง เปลี่ยนกลายเป็น’เชื่อ’ในสิ่งขัดย้อนแย้งกับที่เคยเข้าใจเสมอมา ด้วยเหตุนี้จึงแสดงออกด้วยการนั่งละห่อยเหี่ย อ่อนเปลี้ยเพลียแรง หมดเรี่ยวแรงสิ้นหวังทั้งกายใจ ตระหนักได้ว่าทุกการกระทำที่ผ่านมานั้นสิ้นสูญเปล่า ตนเองกลายเป็นคนไร้ค่าขึ้นมาโดยทันที

จริงอยู่ที่หนังพยายามชี้นำทางให้ Stalker เกิดความเข้าใจใหม่ว่า Room คือห้องจอมปลอมหลอกลวง ภาพลวงตาที่ใครบางคนสรรค์สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่ง ‘ความหวัง’ แต่มันก็ไม่ได้แปลว่าจะหมดสิ้นหวังโดยทีเดียว เพราะการมีตัวตนของเด็กสาวคนนั้น ความสามารถโทรจิตของเธอคือสิ่งเหนือธรรมชาติ นี่เรียกว่าแนวโน้มความเป็นไปได้

Tarkovsky ครุ่นคิดอะไรถึงสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้?
– เราสามารถเปรียบเทียบผู้กำกับ = Stalker สร้างภาพยนตร์เพื่อชี้นำทางผู้ชมสู่ Zone และชักชวนให้เลือกตัดสินใจ เข้า-ไม่เข้า Room
– ขณะเดียวกันถ้าอ้างอิงตามแนวคิดของตรีเอกภาพ ทั้งสามตัวละคร Stalker, นักวิทยาศาสตร์ และนักเขียน สามารถเหมารวมเทียบแทนได้ด้วยผู้กำกับ ซึ่งก็คือการเดินออกเดินทาง ค้นหาพบเจอ ‘เชื่อ’ ในสิ่งที่รับรู้เห็น

กระนั้นความสนใจของ Tarkovsky ไม่ได้อยู่ที่การเข้า-ไม่เข้า Room แต่คือเรื่องราวทั้งหมดระหว่างการเดินทาง ตัวละครพานผ่านพบเจอโน่นนี่นั่น พูดคุยสนทนาตั้งคำถามปรัชญา พฤติกรรมแสดงออกมาที่แตกต่างกันไป และจุดประสงค์แท้จริงของพวกเขาเมื่อพบเจอเป้าหมายเบื้องหน้า

สิ้นหวัง คืออารมณ์ความรู้สึกของ Tarkovsky ที่มีต่อสหภาพโซเวียตยุคสมัยนั้น หมดสูญสิ้นความเชื่อศรัทธา คำกล่าวอ้างผู้นำพาชาติเจริญ แต่แค่ดูจากสถานที่ถ่ายทำเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง โรงงานปล่อยสารพิษน้ำเสีย นี่มันหายนะกลียุค Dystopian ชัดๆเลย

Stalker คือภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่ Tarkovsky สร้างขึ้นในประเทศบ้านเกิดสหภาพโซเวียต จริงๆกำลังจะมีอีกผลงานหนึ่ง The First Day นำเสนอประวัติศาสตร์รัสเซียยุคสมัย Peter the Great แต่ทางการมองว่ามีเนื้อหา Anti-Soviet ถ่ายทำไปแล้วครึ่งหนึ่งถูกนำฟีล์มไปเผาทำลายหมดสิ้น เลยตัดสินใจเนรเทศตนเองอพยพสู่อิตาลีสร้าง Nostalghia (1983) ตามด้วยสวีเดน The Sacrifice (1986) และก่อนเสียชีวิตมีความเชื่อว่าจะได้เป็นอมตะชั่วนิรันดร์


เมื่อตอนออกฉาย หนังได้เสียงตอบรับไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่มียอดจำหน่ายตั๋วในสหภาพโซเวียตสูงถึง 4.3 ล้านใบ ก็น่าจะสามารถคืนทุนได้อยู่กระมัง

ส่วนตัวแม้เบื่อหน่ายกับความเชื่องช้าไปบ้างแต่ก็ค่อนข้างชื่นชอบภาพรวมของหนัง ลุ่มลึกล้ำเรื่องราว ส่วนผสมของ Sound Design สร้างโลกที่เต็มไปด้วยความโหดร้าย และการเลือกที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความเชื่อศรัทธา

แนะนำคอหนังปรัชญา ไซไฟ ชื่นชอบการครุ่นคิดวิเคราะห์ ค้นหาคำตอบของเป้าหมายชีวิต, ตากล้องถ่ายภาพ นักออกแบบเสียง ซาวน์มิกซ์ ซาวน์ดีไซน์, และแฟนๆผู้กำกับ Andrei Tarkovsky ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับกลียุค Dystopian และความเชื่องช้าที่สร้างบรรยากาศอันตึงเครียดกดดัน

คำโปรย | Stalker การนำทางเพื่อพิสูจน์ศรัทธาของผู้กำกับ Andrei Tarkovsky มีความลุ่มลึกตราตรึงยิ่ง
คุณภาพ | ลุ่ลึเชื่องช้า
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: