Steamboat Willie (1928) : Walt Disney, Ub Iwerks ♥♥♥♡
อาจไม่ใช่การ์ตูนใส่เสียง (Synchronized Sound) เรื่องแรกของโลก! แต่ทว่า Steamboat Willie (1928) คือเรื่องแรกที่ประสบความสำเร็จโด่งดัง กลายเป็นรากฐานวงการอนิเมชั่น จุดกำเนิด Mickey Mouse และ Walt Disney
การมาถึงของ The Jazz Singer (1927) ภาพยนตร์ที่ถือกันว่าเป็นหนังพูด (Talkie) เรื่องแรกของโลก! สร้างความเชื่อมั่นให้นาย Walt Disney นั่นย่อมคืออนาคตวงการอนิเมชั่นเฉกเช่นเดียวกัน ทำการลองผิดลองถูก ถ้าไล่เรียงถือว่าเป็นการ์ตูนใส่เสียงเรื่องที่สามถัดจากซีรีย์ Song Car-Tunes (1924-27) และ Dinner Time (1928) [เรื่องหลังออกฉายก่อนหน้า Steamboat Willie แค่เพียงเดือนเดียว] แต่ทั้งสองเรื่องต่างไม่ประสบความสำเร็จ สร้างแรงกระเพื่อมใดๆให้เกิดขึ้น
สิ่งที่ทำให้ Steamboat Willie (1928) ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม! ก็คือวิสัยทัศน์ของนาย Walt Disney กล้าได้กล้าเสี่ยง กล้าทดลองแนวคิดใหม่ๆ พยายามทำออกมาให้ภาพและเสียง (Sound Effect) สอดคล้องตรงกัน (หรือที่เรียกว่า ‘Synchronized Sound’) ไม่เหมือนยุคสมัยนี้ที่มีโปรแกรมตัดต่อ สามารถแทรกใส่ ขยับเคลื่อนย้าย ทดลองผิดลองถูกได้มากมาย ยุคสมัยนั้นทำได้เพียงบันทึกเสียงม้วนเดียวจบ วิธีการก็คือสร้าง Bar Sheet ที่ลงรายละเอียดไม่ใช่แค่ทำนองเพลงประกอบ แต่ยังเสียงประกอบ จับเวลาให้ตรงกันด้วยเครื่องเคาะจังหวะ (Metronome) และเวลาเข้าห้องอัดเสียงจะมีสัญลักษณ์บางอย่างปรากฎขึ้นบนฟีล์ม สำหรับวาทยากรควบคุมช้า-เร็ว รับรู้ว่าขณะนี้ถึงท่อนไหน อะไรยังไงต่อไป
หลายคนที่ได้รับชม Steamboat Willie (1928) คงรู้สึกสนุกสนาน เพลิดเพลิน ในสไตล์ Slapstick Comedy พบเห็นประวัติศาสตร์ จุดเริ่มต้น Mickey Mouse และ Walt Disney, แตกต่างจากผู้ชมสมัยนั้นที่ไม่เคยพบเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน จึงเต็มไปด้วยความน่าตื่นตาตะลึง หัวเราะลั่นโรงภาพยนตร์ … กาลเวลาผ่านมา 95 ปี เพิ่งกลายเป็นสมบัติสาธารณะวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2024
I only hope that we never lose sight of one thing—that it was all started by a mouse.
Walt Disney
Walter Elias Disney (1901-66) นักอนิเมเตอร์ โปรดิวเซอร์ หนึ่งในผู้บุกเบิกวงการอนิเมชั่น เกิดที่ Chicago, Illinois แล้วมาเติบโตยังบ้านฟาร์ม Marceline, Missouri ตั้งแต่เด็กมีความหลงใหลในการวาดภาพ โตขึ้นย้ายกลับเข้าเมือง Kansas City, Missouri เข้าเรียนศิลปะ Kansas City Art Institute ต่อด้วย Chicago Academy of Fine Arts, ปลอมอายุเพื่อเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้เป็นคนขับรถพยาบาลให้กับหน่วยกาชาด (Red Cross) ใช้เวลาว่างวาดการ์ตูนตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ทหาร Star and Stripe, หลังสิ้นสุดสงครามกลายเป็นเด็กฝึกงาน Pesmen-Rubin Commercial Art Studio ออกแบบโฆษณา โปสเตอร์โรงละคอน และกลายเป็นเพื่อนสนิทสนม Ub Iwerks
Ubbe Ert Iwerks (1901-71) นักอนิเมเตอร์ชื่อดัง เกิดที่ Kansas City, Missouri บิดาอพยพมาจาก East Frisia, Germany ทอดทิ้งครอบครัวไปตอนบุตรชายย่างเข้าสู่วัยรุ่น ทำให้ต้องลาออกจากโรงเรียน ช่วยมารดาทำงานหาเงิน ระหว่างฝึกงาน Pesmen-Rubin Commercial Art Studio สนิทสนมกับนาย Walt Disney ร่วมกันเปิดบริษัท Kansas City Slide Newspaper Company (ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น The Kansas City Film Ad Company) ทีแรกรับงานออกแบบโฆษณา แต่ไม่นานความสนใจของ Disney ผันเปลี่ยนมายังอนิเมชั่นเคลื่อนไหว ร่วมกันสรรค์สร้างการ์ตูนซีรีย์ Laugh-O-Grams (1921-23)
แต่หลังจากสดูดิโอล้มละลายนาย Disney ตัดสินใจออกเดินทางสู่ Los Angeles ก่อตั้งสตูดิโอใหม่ร่วมกับพี่ชาย Roy O. Disney ตั้งชื่อว่า Disney Brothers Cartoon Studio เมื่อปี ค.ศ. 1923 เริ่มต้นสรรค์สร้างซีรีย์ Alice Comedies (1923-27) ส่วนผสมระหว่างคนแสดงและอนิเมชั่น, จากนั้น Disney มอบหมายให้ Iwerks ออกแบบตัวละคร Oswald the Lucky Rabbit ตั้งใจให้เป็น ‘Personality Animation’ คล้ายๆแบบ Charlie Chaplin, Buster Keaton, Harold Lloyd ฯ แต่ทำได้เพียงสองปีกลับถูก Universal Pictures ยึดลิขสิทธิ์ตัวละครไปซะงั้น! แถมทีมงาน นักอนิเมเตอร์แทบทั้งหมดยังโดนซื้อตัวไปอีก (ยกเว้นเพียงเพื่อนสนิท Iwerks ปฏิเสธขายวิญญาณให้ปีศาจ)
บทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ได้ทำให้นาย Disney เกิดความย่นย่อท้อแท้ มอบหมายให้ Iwerks ครุ่นคิดออกแบบตัวละครขึ้นใหม่อีกครั้ง พยายามวาดสรรพสัตว์ กบ สุนัข แมว วัวตัวเมีย (Clarabelle Cow) ม้าตัวผู้ (Horace Horsecollar) แต่ก็ยังไม่เป็นที่พึงพอใจ จึงขุดคุ้ยภาพวาด รูปถ่ายเก่าๆ หนึ่งในนั้นมีหนูที่ Disney เคยรับเลี้ยงไว้ระหว่างสรรค์สร้าง Laugh-O-Gram
บางแหล่งข่าวอ้างว่านาย Disney เป็นผู้วาดภาพร่างเจ้าหนูน้อย (Original Sketch) ระหว่างอยู่บนขบวนรถไฟ ขากลับจากไปพูดคุยธุรกิจที่ New York City แล้วนำมาส่งต่อให้ Iwerks ทำการปรับปรุงแก้ไข, สำหรับชื่อตัวละคร ในตอนแรกครุ่นคิดไว้คือ Mortimer Mouse แต่ศรีภรรยา Lillian Disney บอกว่ามันหรูหราเกินไป แนะนำให้เปลี่ยนเป็น Mickey Mouse ฟังดูง่ายๆสไตล์อเมริกัน
เกร็ด: ในขณะที่ Ub Iwerks เป็นคนออกแบบตัวละคร, Walt Disney คือบุคคลแรกที่ให้เสียงพากย์จนถึงปี ค.ศ. 1947 เรียกได้ว่า “Ub designed Mickey’s physical appearance, but Walt gave him his soul.”
Iwerks และ Disney ร่วมกันสรรค์สร้างการ์ตูน Mickey Mouse สองเรื่องแรก Plane Crazy (1928) และ The Gallopin’ Gaucho (1928) แต่อาจเพราะขณะนั้นถูกขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) โดย Universal Pictures จึงไม่สามารถหาผู้จัดจำหน่ายนำออกฉาย จนกระทั่งเมื่อมีโอกาสรับชม The Jazz Singer (1927) ภาพยนตร์ที่ถือกันว่าเป็นหนังพูด (Talkie) เรื่องแรกของโลก! นาย Disney บังเกิดความเชื่อมั่นว่าการ์ตูนเสียงย่อมต้องประสบความสำเร็จไม่แพ้กัน
Plane Crazy (1928): https://www.youtube.com/watch?v=Ll54h-J6dQQ
Gallopin’ Gaucho (1928): https://www.youtube.com/watch?v=1bY6N9Knw3U
แม้ว่าจะมีแรงบันดาลใจจาก The Jazz Singer (1927) แต่ยังไม่มีใครรับรู้ว่าควรต้องเริ่มต้นทำอะไรยังไง จนกระทั่งหนึ่งในนักอนิเมเตอร์ Wilfred Jackson มารดาเป็นครูสอนดนตรี เสนอแนะให้ใช้เครื่องเคาะจังหวะ (Metronome) เริ่มจากเขียนชาร์ทว่าจะให้มีเสียงอะไรดังขึ้นตอนไหน ก่อนพัฒนามาเป็น Bar Sheet (หรือ Exposure Sheet) โดยแต่ละแถว (หกคอลัมน์) คือหนึ่งภาพวาด จุดดำๆในทุกๆแปดแถวแทนด้วย 1 Beat (ไม่ใช่ 1 วินาทีนะครับ แต่คือ 1 ติกของเครื่องเคาะจังหวะ ถ้าตั้งไว้ 60BPM ถึงจะเท่ากับหนึ่งวินาที)
ปล. มันมีการถกเถียงอย่างกว้างขวางว่า ต้นฉบับของ Steamboat Willie (1928) ใช้อัตราเร็ว/เฟรมเรตเท่าไหร่? กี่ภาพต่อวินาที? ที่มันไม่สามารถหาข้อสรุปได้เพราะขึ้นอยู่กับเครื่องฉายด้วยเช่นกัน ยุคสมัยนั้นมีตั้งแต่ 16-18-20-24 fps ไม่ได้มีมาตรฐานเดียวกับฟีล์มสมัยใหม่ (ใครเคยรับชมหนังเงียบมาเยอะจะรับรู้ว่าบางเรื่องมีความเอื่อยเฉื่อย ราวกับภาพสโลโมชั่น เร่งความเร็วสองสามเท่ายังดูรู้เรื่อง) คำตอบอยู่ที่ Bar Sheet ทำให้ค้นพบว่าอนิเมชั่นเรื่องนี้ไม่ได้นับภาพต่อวินาที แต่ใช้ BPM (ฺBeat Per Miniute) ของเครื่องเคาะจังหวะแทน (คาดกันว่าน่าจะประมาณ 90-110 BPM)
งานสร้างอนิเมชั่นเริ่มต้น-เสร็จสิ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1928 ความยาว 7.47 นาที ใช้งบประมาณ $4,986.69 เหรียญ (รวมถึงค่าเช่าฉายโรงภาพยนตร์สัปดาห์ละ $500 เหรียญ) ซึ่งก่อนจะเริ่มบันทึกเสียง มีการทดลองฉายวันที่ 29 กรกฎาคม พร้อมๆสร้างเสียงแบบสดๆ โดยให้ Wilfred Jackson เป่าฮาร์โมนิก้า, Ub Iwerks ตีหม้อ เคาะกระทะ (เสียงเครื่องกระทบ), Johnny Cannon ทำเสียงอื่นๆอย่าง ผิวปาก ถุยน้ำลาย และนาย Walt Disney พากย์เสียงตัวละคร ส่งเสียงหัวเราะ คำรามลั่น ฯ
ผลลัพท์จากการทดลองฉายถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากๆ บรรดาพนักงาน(และภรรยา)ต่างมีปฏิกิริยาตอบสนอง ส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าว ผิวปาก หัวเราะลั่นตลอดการฉาย นั่นสร้างความเชื่อมั่นให้กับนาย Disney ว่าต้องทำสำเร็จได้แน่
The effect on our little audience was nothing less than electric. They responded almost instinctively to this union of sound and motion. I thought they were kidding me. So they put me in the audience and ran the action again. It was terrible, but it was wonderful! And it was something new!
Walt Disney
I’ve never been so thrilled in my life. Nothing since has ever equaled it.
Ub Iwerks
จากนั้นนาย Disney ออกเดินทางสู่ New York City เพื่อมองหาบริษัทสำหรับบันทึกเสียง … ยุคสมัยนั้นพวกบริษัทเครื่องเสียงกระจุกตัวอยู่ New York ยังไม่มีใครมาเปิดกิจการฟากฝั่ง Hollywood, Los Angeles เพราะอยู่ในช่วงหนังเงียบ (Silent Film) กระแสหนังพูด (Talkie) เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น!
หลังจากใช้เวลาสักพักในการค้นหาบริษัทบันทึกเสียง ก็ได้พบเจอกับ Patrick Anthony Powers (1869-1948) โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ตั้งแต่ยุคแรกๆ ผู้ซึ่งเล็งเห็นอนาคตของหนังเสียง (Sound Film) เคยพยายามประมูล/ซื้อต่อบริษัทที่ล้มละลาย DeForest Phonofilm แต่เพราะเงินทุนไม่หนาพอ เลยก่อตั้งบริษัทใหม่ Powers Cinephone ด้วยนำเอาอุปกรณ์ของ DeForest Phonofilm มาลอกเลียน ปรับปรุงให้มีคุณภาพดีขึ้นกว่าเก่า
Powers is a very much respected personage in the film business; he is very shrewd and capable, he is careful and cautious.
Walt Disney
ในส่วนของการบันทึกเสียง (Soundtrack + Sound Effect) ทำกันที่ New York City เพราะนาย Disney ต้องการให้สร้างเสร็จออกฉายยัง Colony Theater ซึ่งตั้งอยู่ละแวก Broadway เชื่อว่าผู้ชมแถบนี้มีความมักคุ้นเคยกับละคอนเวที การแสดงที่ใช้เสียง น่าจะทำให้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
การบันทึกเสียงครั้งแรกวันที่ 15 กันยายน ว่าจ้างวาทยากร Carl Edouarde พร้องกับวงออร์เคสตรา Green Brothers Novelty Band (เครื่องดนตรี 17 ชิ้น) และนักทำเสียง Sound Effect ผู้มีประสบการณ์ แต่ผลลัพท์กลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะวาทยาการไม่สามารถควบคุมจังหวะช้าเร็วให้สอดคล้องเข้ากับอนิเมชั่น
สองสัปดาห์ถัดมา Disney กลับมาพร้อมฟีล์มม้วนใหม่ ที่มีการวาดลูกบอลสีแดงในทุกๆแปดเฟรม (มีคำเรียก Bouncing Ball) เพียงเท่านั้นก็ทำให้วาทยากรสามารถใช้เป็นจุดสังเกต อ้างอิง สำหรับเพิ่มลดความเร็ว ทดลองอยู่ไม่กี่ครั้งก็สามารถบันทึกเสียงได้สำเร็จลุล่วง!
เกร็ด: ว่ากันว่านาย Walt Disney ต้องขายรถยนต์ Moon Roadster เพื่อใช้เป็นทุนสำหรับการบันทึกเสียงครั้งที่สอง ถ้าไม่สำเร็จรอบนี้เห็นแซวกันว่าอาจต้องขายบ้านแล้วละ!
ในส่วนของเพลงประกอบไม่มี Original Score แต่ทำการเรียบเรียงโดย Wilfred Jackson และ Bert Lewis จากสองบทเพลงที่หลายคนน่าจะรับรู้จักกันเป็นอย่างดี
Steamboat Bill (1910) ต้นฉบับแต่งโดย Leighton Brothers คำร้องโดย Ren Shields สำหรับใช้ทำการแสดงละคอนเร่ (Vaudeville) ได้รับการบันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกโดย Arthur Collins เมื่อปี ค.ศ. 1911 กลายเป็นแรงบันดาลใจเรื่องราวหนังเงียบ Steamboat Bill, Jr. (1928) และหนึ่งในเพลงประกอบการ์ตูน Steamboat Willie (1928)
แม้ว่าเรือ Whippoorwill ของกปิตัน Mr. Steamboat Bill จะเป็นชื่อสมมติ แต่อ้างอิงจากเหตุการณ์จริงเมื่อปี ค.ศ. 1870 เคยมีการแข่งขันล่องเรือกลไฟ (Steamboat Race) ในแม่น้ำ Mississippi River ระหว่างเรือ Robert E. Lee (เจ้าของฉายา Monarch of the Mississippi) และ Natchez … ใครเคยรับชม The Jazz Singer (1927) มีบทเพลงชื่อ Waiting For The Robert E. Lee ขับร้องโดย Al Jolson เนื้อคำร้องอ้างอิงถึงเหตุการณ์นี้เช่นกัน!
Down the Mississippi came the Whippoorwill
Commanded by that pilot, Mr. Steamboat Bill
The owners gave him orders on the strict QT
To try and beat the record of the Robert E. Lee
“Just heat up the fire, let the old smoke roll
Burn up all your cargo, if you run out of coal
If we don’t beat that record,” Billy told the mate
“Send the mail and care to Peter at the Golden Gate.”[Chorus]
Oh, Steamboat Bill, steaming down the Mississippi
Steamboat Bill, a mighty man was he
Oh, Steamboat Bill, steaming down the Mississippi
Gonna beat the record of the Robert E. Lee!Up, then, stepped the gambling man from Louisville
Who tried to give a bet against the Whippoorwill
Billy flashed a roll that surely was a bear
The boiler, it exploded, blew them up in the air
The gambler said to Billy as they left the wreck
“I don’t know where we’re going, but we’re neck-and-neck!”
Says Bill to the gambler, “Tell you what I’ll do:
I’ll bet another thousand, I’ll go higher than you!”[Chorus]
The river’s all in mourning, now for Steamboat Bill
No more you’ll hear the pumping of the Whippoorwill
This crane on every steamboat the blows those streams
From Memphis right to next down to New Orleans
The wife of Mr. William was at home in bed
When she got the telegram that Steamboat’s dead
Said she to the children, “Blessed honey lambs
The next papa that you have will be a railroad man!”[Chorus]
แซว: ระหว่างอ่านเนื้อเพลงผมก็ขำกลิ้งกับตอนจบ นึกขึ้นได้ว่านี่คือบทเพลงสำหรับทำการแสดงเร่ (Vaudeville) เลยมักมีการตบมุกให้สนุกสนานประมาณนี้
อีกบทเพลงดังจากเจ้าแกะที่รับประทานโน๊ตเพลงเข้าไป เลยถูกแปรสภาพเป็นเครื่อง Phonograph ชื่อว่า Turkey in the Straw บทเพลงแนว American Folk Song ฉบับแรกเริ่มที่มีการตีพิมพ์ ค.ศ. 1834 ไม่รู้ใครแต่ง แถมไม่มีการตั้งชื่อ เพียงระบุว่าใช้ประกอบการแสดง (Minstrel Show) Zip Coon หลังจากนั้นมีความพยายามปรับแก้ไขเนื้อคำร้อง จนกระทั่งได้ข้อสรุปใช้ชื่อ Turkey in the Straw เมื่อปี ค.ศ. 1861
เกร็ด: การแสดง Minstrel Show หรือ Minstrelsy พัฒนาขึ้นโดยชาวอเมริกันในช่วงต้นศตวรรษที่ 19th โดยให้นักแสดงคนขาว แต่งแต้มทาสีผิวให้กลายเป็นดำ (Blackface) เพื่อล้อเลียนชาว African-American
ด้วยความที่เป็นบทเพลงสำหรับการแสดง Minstrel Show บางฉบับมีการดัดแปลงเนื้อคำร้อง “Nigger Love a Watermelon, Ha! Ha! Ha!” คาดเดาไม่ยากว่ามีลักษณะ Racism จะว่าไปไก่งวงในกองฟาง มันอาจแฝงนัยยะอะไรสักอย่างเกี่ยวกับการหลบซ่อนตัวของคนดำ (ในช่วงระหว่างถูกไล่ล่าโดย KKK)
Turkey in the straw, turkey in the hay,
Turkey in the straw, turkey in the hay
Roll ’em up and twist ’em up a high tuckahaw
And twist ’em up a tune called Turkey in the Straw.
เกร็ด: จากคำกล่าวอ้างของผู้รอดชีวิต Turkey in the Straw คือหนึ่งในบทเพลงได้รับการบรรเลงระหว่างเรือ RMS Titanic จมลงเมื่อปี ค.ศ. 1912
ระหว่างผมไล่ดูฉบับดัดแปลง Turkey in the Straw ค้นพบว่าหนึ่งในนั้นคือบทเพลง Skip To My Lou จากภาพยนตร์ Meet Me in St. Louis (1944) แต่เป็นลักษณะอ้างอิงท่อนสั้นๆผ่านการเล่นฟิดเดิล (Fiddle) เสียงผิวปาก และบางท่อนคำร้อง
เช่นเดียวกับ Back to the Future Part III (1990) เรียบเรียงโดย Alan Silvestri และ ZZ Top ดังขึ้นช่วงระหว่างที่แก๊งค์ย้อนเวลากลับสู่อดีต ยุคสมัย Western เหมาะเจาะดีแท้!
เรื่องราวของ Steamboat Willie (1928) เริ่มต้นด้วย Mickey Mouse กำลังเพลิดเพลินกับควบคุมพวงมาลัยเรือ Steamboat Willie ดำเนินไปตามทิศทางความฝัน แต่แล้วจู่ๆถูกกปิตัน Pete ขึ้นมาขับไล่ให้ลงไปทำความสะอาดชั้นล่าง สร้างความหงุดหงิด แสดงปฏิกิริยาไม่พึงพอใจลับหลัง สาปแช่งให้อีกฝ่ายผลกรรมตามทัน … ซึ่งก็ตามทันเร็วมากหลังจากเคี้ยวยาสูบ ถ่มน้ำลาย ลมหวนพัดโดนใบหน้าตนเอง
จากนั้นเรือกลไฟแวะจอดเทียบท่า รับส่งสินค้า แต่ทว่า Minnie Mouse กลับมาถึงช้า ทำให้ต้องออกวิ่งไล่ล่า โชคดีได้รับความช่วยเหลือจาก Mickey เกี่ยว(กางเกงใน)ขึ้นเรือทันอย่างหวุดหวิด … เสี้ยมสอนให้รู้จักการตรงต่อเวลา รับรู้ภาระหน้าที่ของตนเอง
โน๊ตเพลงที่ Minnie นำขึ้นเรือมา โดยไม่รู้ตัวด้วยถูกเจ้าแกะโง่เคี้ยวเอื้องรับประทาน Mickey จึงแปรสภาพมันเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียง Turkey in the Straw จากนั้นทั้งสองก็เริ่มร้องรำทำเพลง ใช้สิ่งข้าวของต่างๆแทนเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ … นัยยะของการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส คล้ายๆการ์ตูนเรื่องนี้ที่พานผ่านอะไรมาเยอะมากๆ ทำในสิ่งคนส่วนใหญ่มองว่าไม่น่าเป็นไปได้ (Absurdity) ให้ภาพยนตร์สามารถส่งเสียงออกมา
มองผิวเผินเรื่องราวของ Steamboat Willie (1928) ดูไม่ได้มีเนื้อหาสาระอะไร เพียงความสนุกสนาน สร้างเสียงหัวเราะ เพลิดเพลินผ่อนคลาย แต่พฤติกรรมบ้าอำนาจของกปิตัน Pete ชัดเจนมากๆว่าต้องการสื่อถึงโปรดิวเซอร์สตูดิโอ Universal Pictures ที่ลักขโมยผลงาน ทำลายโอกาสของตนเอง แม้มิอาจต่อต้านขัดขืน ก็พร้อมจะทำสิ่งลับหลังเพื่อโต้ตอบเอาคืน (ตัวละคร Mickey Mouse แทบจะคือส่วนย่นย่อของ Oswald the Lucky Rabbit) และท้ายสุดถ้าสมมติว่าถูกจับ ติดคุกเรื่องลิขสิทธิ์ ก็พร้อมเขวี้ยงขว้างมันฝรั่งใส่นกแก้วจนพลัดตกน้ำ “Help! Help! Man overboard!” สักวันฉันต้องได้ล้างแค้นเอาคืนอย่างสาสม!
ถ้าไม่นับการทดลองฉาย Steamboat Willie (1928) เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ ณ โรงภาพยนตร์ Colony Theater, New York City (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Broadway Theatre) วันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1928 เริ่มต้นแค่สองสัปดาห์ปะหน้าหนังเสียง Gang War (1928) [ฟีล์มสูญหายไปแล้ว] แต่ด้วยกระแสตอบรับดียอดเยี่ยม เลยได้ตระเวนออกฉายตามหัวเมืองใหญ่ๆ และส่งออกต่างประเทศ
Not the first animated cartoon to be synchronized with sound effects, but the first to attract favorable attention. This one represents a high order of cartoon ingenuity, cleverly combined with sound effects. The union brought forth laughs galore. Giggles came so fast at the Colony [Theater] they were stumbling over each other. It’s a peach of a synchronization job all the way, bright, snappy, and fit the situation perfectly.
นักวิจารณ์จากนิตยสาร Variety ฉบับวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1928
This is what Steamboat Willie has: First, a clever and amusing treatment; secondly, music and sound effects added via the Cinephone method. The result is a real tidbit of diversion. The maximum has been gotten from the sound effects. Worthy of bookings in any house wired to reproduce sound-on-film. Incidentally, this is the first Cinephone-recorded subject to get a public exhibition and at the Colony [Theater], New York, is being shown over Western Electric equipment.
นักวิจารณ์จากนิตยสาร The Film Daily ฉบับวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1928
ดั้งเดิมนั้นกฎหมายลิขสิทธิ์ Copyright Act of 1909 มีอายุแค่ 28 ปี แต่สามารถยื่นคำร้อง ขอต่อเพิ่มได้ 14-28 ปี รวมระยะเวลามากสุด 56 ปี! ซึ่งการ์ตูน Steamboat Willie ออกฉายปี ค.ศ. 1928 จึงควรต้องสิ้นสุดปี ค.ศ. 1956 แล้วทำเรื่องขอขยายระยะเวลาจนถึงปี ค.ศ. 1984
แต่ระหว่างนั้นมีกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ Copyright Act of 1976 สำหรับผลงานสร้างขึ้นก่อนปี ค.ศ. 1978 จะได้รับการยืดระยะเวลาเพิ่มเป็น 75 ปี ก็เท่ากับว่า Steamboat Willie ได้รับการขยับขยายให้สิ้นสุดปี ค.ศ. 2003 โดยปริยาย
เพราะรับรู้ว่าสิทธิ์การคุ้มครองใกล้หมดสิ้น สตูดิโอ Walt Disney ทำการล็อบบี้นักการเมืองอย่างหนัก จนสามารถออกกฎหมายเพิ่มเติม Copyright Term Extension Act of 1998 หรือที่ใครๆเรียกกันอย่างไม่อ้อมค้อม Mickey Mouse Protection Act โดยเพิ่มข้ออ้างผลงานเกิดจากบริษัทจำกัด (Corporatie Authorship) ให้สามารถถือครองลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้นเป็น 95 ปี ก็เท่ากับว่า Steamboat Willie ต่อลมหายใจเฮือกสุดท้ายจนถึง ค.ศ. 2023 … สิ้นสุดวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2024
จริงอยู่ว่าลิขสิทธิ์ Steamboat Willie (1928) ปัจจุบันได้กลายเป็นสมบัติสาธารณะ (Public Domain) แต่ด้วยลูกเล่ห์ของ Walt Disney ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 ได้ผนวกเอาคลิปจาก Steamboat Willie มาเป็นโลโก้สตูดิโอ Walt Disney Animation ซึ่งนั่นทำให้บางส่วน(ที่ปรากฎบนโลโก้)แปรสภาพกลายเป็นเครื่องหมายการค้า (Trademark) ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายอีกฉบับ Trademark Law ไม่ให้ทำการลอกเลียนแบบ (กฎหมายนี้ไม่มีอายุความ เพราะถือเป็นสัญลักษณ์ของบริษัท ได้รับการคุ้มครองตลอดไป)
หลังจาก Steamboat Willie (1928) กลายเป็นสมบัติสาธารณะ ก็มีความพยายามจัดจำหน่าย NFT (Non-Fungible Token) ค้นหาคลิปใน Youtube พบเจอบูรณะ 4K, ใส่สีสัน (Colorization), ทำเป็นสามมิติ ฯ นั่นเป็นสิ่งที่สตูดิโอ Walt Disney ไม่เคยครุ่นคิดทำมาก่อน ไม่รู้เหมือนกันว่าจะสามารถเอาตัวรอดจากการถูกลบ/ฟ้องร้องได้นานแค่ไหน
ความเรื่องมาก เจ้ากี้เจ้าการของสตูดิโอ Walt Disney เป็นสิ่งเข้าใจไม่ยากเลยนะ! นั่นเพราะ Steamboat Willie (1928) คือผลงานที่เป็นจุดกำเนิด เริ่มต้น ใครกันจะไม่หึงหวงแหน อีกทั้งบริษัทก็ยังประกอบธุรกิจ กิจการมั่งคั่ง ไม่ได้ล่มสลาย สูญหาย เลยมีเงินทุนต่อสู้ พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้พวกอีแร้งกา ฉกฉวย แสวงหาผลประโยชน์จากสิ่งของตน
แซว: จะว่าไปเหตุผลที่นาย Walt Disney ริเริ่มต้นสรรค์สร้าง Steamboat Willie (1928) ก็เนื่องจากปัญหาลิขสิทธิ์ตัวละครกับ Universal Pictures เกือบร้อยปีถัดมาการ์ตูนเรื่องนี้ก็ยังวุ่นๆวายๆ ไม่เลิกรากับปัญหาลิขสิทธิ์เสียที!
ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบการ์ตูนเรื่องนี้ แม้หลายสิ่งอย่างจะดูเฉิ่มเชย ล้าหลัง (โดยเฉพาะพฤติกรรม Bully, Racism และ Animal Cruelty) แต่เพราะมันคือครั้งแรกๆของวงการอนิเมชั่น จึงเต็มไปด้วยการทดลองผิดลองถูก ได้ผลลัพท์อันน่าอึ่งทึ่ง สร้างความสนุกสนาน ครื้นเครง อลเวง เสียงผิวปากและท่าเต้น Mickey Mouse มันคือวินาที ‘Iconic’ ยิ่งใหญ่ไม่ด้อยไปกว่าคำพูดประโยคแรกของ Al Jolson กล่าวว่า “Wait a minute, wait a minute. You ain’t heard nothin’ yet”
จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย
เห็นช่วงนี้แอดเขียนถึง Animation แอดสนใจเรื่อง The tragedy of man 2011 ของผู้กำกับฮังการี มั้ยครับ
เรื่องนี้กับ Son of the White Mare อยู่ในลิสที่อยากดู แต่ยังไม่รู้จะมีโอกาสเมื่อไหร่นะครับ