Steamboy (2004)
: Katsuhiro Otomo ♥♥♡
อนิเมชั่นแนว Steampunk ตื่นตระการตาไปกับยุคสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม จัดเต็มด้วย Visual Effect สุดอลังการ แต่เนื้อเรื่องราวกลับเละเทะไม่เป็นชิ้นดี สิบปีโปรดักชั่นที่น่าผิดหวังทีเดียว
ประมาณสักสิบกว่าปีก่อน เพื่อนคนหนึ่งแนะนำ Steamboy (2004) เพราะรับรู้ว่าผมชื่นชอบคลั่งไคล้ Howl’s Moving Castle (2004) อยากให้วิจารณ์เปรียบเทียบกัน … รับชมตอนนั้นก็รู้สึกตื่นตาไปกับความอลังการ แถมมีปราสาทเดินได้เหมือนกันด้วยนะ เลยตอบไปว่าก็โอเค แต่สนุกสู้อนิเมะของ Hayao Miyazaki ไม่ได้เท่าไหร่
บอกตามตรง ผมเพิ่งมารับรู้ไม่นานมานี้ว่า Steamboy คือผลงานของ Katushiro Otomo ผู้สร้างอนิเมชั่น Masterpiece เรื่อง Akira (1988) เลยค่อนข้างคาดหวังพอสมควร แต่รับชมได้เพียง 10 กว่านาที เริ่มออกอาการหงุดหงิด คับข้องใจ อะไรของมันว่ะ! สวยแต่รูปจูบไม่หอม
Steamboy เป็นอนิเมชั่นแนวย้อนยุคที่ต้องการตั้งคำถามถึงโลกปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไรกันแน่? ความสุขสบาย เสมอภาคเท่าเทียม เจริญก้าวหน้าของมนุษยชาติ หรือหวังกอบโกยผลประโยชน์เงินทอง โหยหาอำนาจ เติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน
ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Steampunk คนในวงการเกมน่าจะมักคุ้นเคยกว่าภาพยนตร์ หมวดหมู่แตกแยกย่อยออกจาก Science Fiction มีกลิ่นอายย้อนยุคที่ทันสมัย (Modern Vintage) พบเห็นเรือเหาะ เครื่องจักรไอน้ำ หุ่นยนต์ล้ำอนาคต สิ่งก่อสร้างยิ่งใหญ่อลังการ แต่ตัวละครสวมชุดยุคสมัย Victoria และพื้นหลังศตวรรษที่ 19 (ช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมของยุโรป)
Steampunk ถือกำเนิดขึ้นช่วงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมของยุโรป โดยนักเขียนนวนิยายไซไฟชื่อดังอย่าง H. G. Wells, Jules Verne ที่ได้จินตนาการโลกอนาคตโดยมีพื้นฐาน/อ้างอิงจากโลกยุคสมัยนั้น แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนผ่านไป เทคโนโลยีปรับเปลี่ยนแปลง อะไรๆไม่ได้เป็นไปตามที่คาดคิดไว้ ผลงานของพวกเขาเลยกลายเป็น ‘อนาคตในอดีต’
เกร็ด: อนิเมะเรื่องแรกที่ถือว่าเป็นแนว Steampunk คือ Laputa: Castle in the Sky (1986) ของ Hayao Miyazaki
Katsuhiro Otomo (เกิดปี 1954) นักวาดการ์ตูน กำกับอนิเมะ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tome, Miyagi ทางตอนเหนือของญี่ปุ่น ช่วงวัยเด็กชื่นชอบอ่านมังงะ แต่ครอบครัวค่อนข้างจะเข้มงวดกวดขัน เดือนหนึ่งอนุญาตให้ซื้อหนังสือการ์ตูนได้เพียงเล่มเดียวเท่านั้น มีความคลั่งไคล้ Astro Boy และ Tetsujin 28-go เอาเวลาว่างๆไปวาดรูปเลียนแบบ, พอขึ้นมัธยมก็เริ่มให้ความสนใจภาพยนตร์ ใฝ่ฝันอยากเป็นผู้กำกับ เรียนจบมุ่งสู่ Tokyo ได้งานเขียนการ์ตูน แรกเริ่มมีผลงานหลากหลาย ขึ้นอยู่กับใครว่าจ้างอะไรก็ทำ จนกระทั่งมังงะ Dōmu: A Child’s Dream (1980-81) คว้ารางวัล Nihon SF Taisho Award เลยมีโอกาสผันตัวสู่วงการอนิเมะ เริ่มจากออกแบบตัวละคร (Character Design) เรื่อง Harmagedon: Genma taisen (1983), กำกับ Neo Tokyo (1987), Akira (1988), Memories (1995)
Otomo เป็นคนชื่นชอบเทคโนโลยีใหม่ๆ ตั้งแต่ Akira (1987) แม้มีเพียงฉากเดียวทั้งเรื่องที่ใช้ CGI แต่หลังจากนั้นก็ทดลองโน่นนี่นั่น โดยเฉพาะ Memories (1995) ตอน Canon Fodder ทำการผสมผสานภาพสามมิติจากคอมพิวเตอร์ กับการวาดมือ/ลงสีสองมิติ ผลลัพท์ออกมาแม้ดูพิลึกพิลั่น แต่มีความลื่นไหล แนบเนียน กลมกลืน ย่นระยะเวลาทำงานได้ไม่น้อย
“After we finished Memories, we thought that maybe we could do a lot more with this kind of CG animation. So for the next movie I thought about using this kind of CG animation more heavily. At this point I tried to figure out what would be the best way to use this technology”.
– Katsuhiro Otomo
ส่วนหนึ่งเพราะความเริ่มเบื่อหน่ายใน Sci-Fi โลกอนาคต (ที่สร้างมาก็หลายเรื่องแล้ว) และหลังจากพัฒนาบทอนิเมะ Metropolis (2001) ให้เพื่อนผู้กำกับร่วมรุ่น Rintaro เลยเกิดความสนใจในพื้นหลังแนวย้อนยุค ได้ข้อสรุปที่ยุคสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมของยุโรป กลางศตวรรษที่ 19 ด้วยลักษณะของ Steampunk คงดูยิ่งใหญ่อลังการไม่น้อย
“So I wanted to do something in the 19th century with steam engines and CG animation, with all these gorgeous effects. All of that brought me to the setting of the British Industrial Revolution and The Great Exhibition in London. I had the idea that crazy steam engine mecha would turn up at the Exhibition. I thought that would be very cool if that were done with CG animation. All of that was the original concept behind Steamboy”.
เรื่องราวเริ่มต้น ค.ศ. 1863, เทคโนโลยีเครื่องจักรไอน้ำกำลังได้รับความนิยมอย่างสูง โดยสองนักประดิษฐ์พ่อ-ลูก Lloyd และ Edward Steam ได้ค้นพบน้ำแร่บริสุทธิ์ที่ประเทศไอซ์แลนด์ สามารถนำมาใช้เป็นพลังงานได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
สามปีถัดมา ณ Manchester, ประเทศอังกฤษ เด็กชายหนุ่ม Ray Steam นักประดิษฐ์ที่ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นจากปู่-พ่อ อาศัยอยู่กับแม่และผองเพื่อนพี่น้อง วันหนึ่งมีพัสดุลึกลับจากปู่ส่งมาหา ข้างในมีสิ่งประดิษฐ์ทรงกลม Steam Balls ได้รับการฝากฝังเก็บรักษาจากชายแปลกหน้า ที่อยู่ดีๆปรากฎตัวขึ้นมาและพยายามแก่งแย่งชิงกลับคืนไป แม้เขาจะได้รับการช่วยเหลือโดยจักรวรรดิอังกฤษ British Empire แต่ไม่วายถูกลักพาตัวไปถึงกรุง London
ที่นั่นทำให้ Ray พานพบเจอ Scarlett O’Hara หลานสาวทายาท The O’Hara Foundation มีนิสัยเห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ และพ่อของตนเองในสภาพดูไม่ได้สักเท่าไหร่ แต่ต้องการให้เขาพบเห็นสิ่งก่อสร้างสุดมหัศจรรย์ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ระหว่างงาน 1866 London Great Exhibition
James Ray Steam (พากย์เสียงโดย Anne Suzuki, ฉบับภาษาอังกฤษโดย Anna Paquin) เด็กชายอายุ 13 ปี มีความสามารถในด้านการประดิษฐ์ติดตามรอยเท้าพ่อและปู่ แต่ความเยาว์วัยไร้เดียงสาต่อโลก ยังมีอะไรๆต้องเรียนรู้อีกมาก ตกอยู่ในสถานการณ์ต้องเลือกระหว่างอุดมการณ์กับความเป็นจริง ไม่ใช่สิ่งง่ายสักนิดจะตัดสินใจ
Scarlett O’Hara St. Jones (พากย์เสียงโดย Manami Konishi, ฉบับภาษาอังกฤษโดย Kari Wahlgren) ลูกคุณหนูอายุ 14 ปี ได้รับการเลี้ยงดูแลอย่างเอาอกเอาใจ เลยมีนิสัยโคตรเห็นแก่ตัว ไม่สนอะไรทั้งนั้นนอกจากความพึงพอใจของตนเอง เมื่อพานพบเจอ Ray Steam บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าชอบ-ไม่ชอบ แต่เพราะเขาเป็นคนเดียวที่ไม่สนฐานะ หรือคอยเอาอกเอาใจ เลยต้องการอยู่ชิดใกล้เผื่อว่าจะได้เจออะไรตื่นเต้นสนุกสนานเร้าใจ
เกร็ด: ตัวละครนี้ได้ทั้งชื่อและแรงบันดาลใจจาก Gone With The Wind (1939) อย่างแน่นอน!
Lloyd Steam (พากย์เสียงโดย Katsuo Nakamura, ฉบับภาษาอังกฤษโดย Patrick Stewart) ปู่ผู้มากด้วยอุดมการณ์ แต่มีความคิดเห็นต่างกับลูกชาย Edward เลยพยายามกีดกั้นขวาง ไม่ให้เขาสามารถสร้าง Steam Tower ได้สำเร็จ ด้วยการฝากฝัง Steam Ball ให้กับหลานชาย Ray คาดหวังว่าจะนำมันไปใช้ประโยชน์เพื่อมวลมนุษยชาติ
Edward Steam (พากย์เสียงโดย Masane Tsukayama, ฉบับภาษาอังกฤษโดย Alfred Molina) พ่อผู้มีความเพ้อใฝ่ฝันทะเยอทะยาน ต้องการประดิษฐ์สิ่งก่อสร้างที่สุดยิ่งใหญ่อลังการ ให้โลกได้จดจำจารึกไว้ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นต่อๆไปเกิดความลุ่มหลงใหล โดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว อะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนั้นขึ้นอยู่ที่ตัวบุคคล ไม่ใช่ผลงานของตนที่สร้างสรรค์มา
(ความต้องการของ Lloyd สร้าง Steam Tower เพื่อให้เป็นสวนสนุกของเด็กๆ ขณะที่ Edward เน้นขายความเพ้อฝันของตนเอง ได้สร้างสิ่งยิ่งใหญ่อลังการที่สุดในโลก)
Robert Stephenson (พากย์เสียงโดย Kiyoshi Kodama, ฉบับภาษาอังกฤษโดย Oliver Cotton) เพื่อนและศัตรูคู่แข่งของ Lloyd และ Edward ปากบอกว่ามีปรารถนาดีที่จะใช้ Steam Ball เพื่อผลประโยชน์แห่งจักรวรรดิอังกฤษ (British Empire) แต่เริ่มต้นกลับนำไปสร้างกองทัพสำหรับปกป้องประเทศชาติ สู้รบศัตรูมหาอำนาจ (ชัดเจนเลยว่าจุดประสงค์เป้าหมายคือ ครองโลก!)
เกร็ด: Robert Stephenson (1803 – 1859) เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงๆในประวัติศาสตร์ บุตรชายเพียงคนเดียวของ George Stephenson ผู้เป็นบิดาแห่งวงการรถไฟ ซึ่งตัวเขาก็ได้สานต่อยอดความยิ่งใหญ่ จนได้รับการยกย่อง ‘วิศวกรเก่งที่สุดในศตวรรษที่ 19’
แม้ว่า Otomo จะมีความสนใจในเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่เขายังคงยึดถือมั่นในวิธีการวาดมือของ Tradition Animation แค่นำเอา CGI เข้ามาช่วยย่นย่อระยะเวลาการทำงาน ซึ่งเรื่องนี้ประมาณกว่า 440+ คัท (25% ของอนิเมะ) น่าจะโดยเฉพาะกรุงลอนดอน และ Steam Tower ที่มีรายละเอียดยิบย่อยปริมาณมากเกินกว่าการวาดด้วยมือจะเสร็จสิ้นในระยะเวลาอันสั้น
ประสบการณ์จาก Canon Fodder ที่ได้สร้างภาพเคลื่อนไหวลวงตาให้กับอนิเมชั่นสองมิติ (ด้วยการผสม CGI สามมิติเข้าไป) พบเห็นบ่อยครั้งในอนิเมะเรื่องนี้ มุมมองบุคคลที่หนึ่งระหว่างปั่นจักรยานล้อเดียว (Monowheel) ตัวละครเดินตรงไปข้างหน้า หรือขณะโบยบินเหินหาว ยุคสมัยนั้นเทคนิคนี้ถือว่าตื่นตระการตา (แต่ปัจจุบันก็พบเห็นได้ทั่วไป)
การลงสีตามสไตล์ของ Steampunk จะเน้นโทนน้ำตาล เพื่อมอบสัมผัสย้อนยุค โบร่ำโบราณ เว้นเสียแต่ Steam Tower ลงขลับดำ ตรงกันข้ามขณะพ่นไอน้ำแข็ง ขาวโพลนไปทั่วกรุงลอนดอนรอบด้าน … ทั้งหมดใช้การลงสีด้วยดิจิตอล ไม่ได้ด้วยมือแล้วนะครับ
สิ่งยากสุดในการทำอนิเมชั่นเรื่องนี้ คือไอน้ำ หมอกควัน โดยเฉพาะช่วงท้ายเมื่อน้ำแข็งแตกละเอียดกลายเป็นเกร็ดอนุภาค (Particle) นี่คงใช้ CGI เข้าช่วยล้วนๆเลยละ วาดมือไม่มีทางออกมาอลังการได้ขนาดนี้!
ตัดต่อโดย Takeshi Seyama, ขาประจำของสตูดิโอ Ghibli, Katsuhiro Otomo และ Satoshi Kon ผลงานเด่นๆ อาทิ My Neighbor Totoro (1988), Grave of the Fireflies (1988), Princess Mononoke (1997), Paprika (2006) ฯ
แม้ส่วนใหญ่จะนำเสนอในมุมมองของ Ray Steam แต่ก็มีตัวละครที่ไม่จำเป็นคือ Scarlett O’Hara แทรกเข้ามาจุ้นจี้วุ่นวายอยู่เรื่อยๆ ถ้าตัดทิ้งไปเลยผมว่าจะทำให้เรื่องราวกระชับรัดกุมขึ้น ไม่ต้องมาห่วงหน้าพะวงหลัง ทนกับความเห็นแก่ตัวเอาแต่ใจของเธออีก (แต่ถ้าทำเช่นนั้น อนิเมะเรื่องนี้ก็จะไม่มีนางเอกเลยนะ!)
เท่าที่ผมอ่านจากหลายๆบทความวิจารณ์ มองอนิเมะเรื่องนี้ไม่มีองก์สาม เพราะเมื่อ Ray ถูกลักพาตัวมาถึงกรุงลอนดอน ก็ดำเนินเรื่องลากยาวไปเลยจนจบเลย … จริงๆอนิเมะมีองก์สามนะครับ นับตั้งแต่เมื่อ Steam Tower เปิดเผยตัวตนแท้จริงออกมา โดยเนื้อหาคือการกอบกู้กรุงลอนดอนให้รอดพ้นหายนะ แต่ปัญหาคือมันดำเนินต่อเนื่องจากองก์ก่อนหน้า กราฟอารมณ์ยังคงพุ่งสูงต่อเนื่องเรื่อยๆ ไม่มีจังหวะหยุดพักผ่อนหายใจ พอถึงไคลน์แม็กซ์เลยหอบแหกๆ เหน็ดเหนื่อยหมดเรี่ยวแรง จนไร้กะจิตกำลังใจ เมื่อไหร่ทุกสิ่งอย่างจะจบสิ้นลงสักที
เพลงประกอบโดย Steve Jablonsky สัญชาติอเมริกัน ขาประจำของ Michael Bay และยังทำเพลงให้เกมดังๆอย่าง Metal Gear Solid 2: Sons of Liberty (2001), Transformers: The Game (2007), The Sims 3 (2009) ฯ
งานเพลงพยายามทำให้มีความยิ่งใหญ่อลังการ แต่กลับเป็นเพียง Subtle คลอประกอบพื้นหลังเท่านั้น เพราะมักถูกกลบด้วย Sound Effect กระหึ่มดังกว่า ช่วยเพิ่มความโกลาหนสับสนวุ่นวาย ฟังในอนิเมะไม่ได้สดับสักเท่าไหร่ แยกออกมาถึงค่อยสัมผัสได้ถึงความไพเราะ กลิ่นอาย Transformers อยู่เล็กๆ
อีกบทเพลงหนึ่งที่พอมาฟังแยกแล้วไพเราะมาก แต่ในอนิเมะไม่รู้สึกว่าโดดเด่นเท่าไหร่คือ Collapse and Rescue ช่วงขณะ Steam Tower ถล่มทลาย และสองเด็กชาย-หญิง เหินฟ้าล่องลอยไป ช่างเป็นภาพที่สวยงามและเศร้าสร้อย
วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ถือเป็นดาบสองคมที่ถ้านำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ย่อมมีคุณมหาศาล ตรงกันข้ามกลายเป็นอาวุธยุทโธปรณ์ สู้รบสงคราม มิอาจประเมินค่าความเสียหายได้
นี่เป็นประเด็นคำถามที่ถกเถียงกันมาช้านาน ยกตัวอย่าง ระเบิดนิวเคลียร์ นั่นเป็นสิ่งที่มนุษย์ควรประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาหรือไม่? คนส่วนใหญ่อาจมองเพียงข้อเสียจากเมื่อครั้นสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ให้ข้อดีมันก็มีนะครับ อาทิ โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ทางการแพทย์สามารถนำรังสีมาใช้ในการตรวจรักษา การเกษตรและสิ่งแวดล้อมสำหรับฆ่าเชื้อ กำจัดแมลงในเมล็ดพืช ฯ
นี่เองแหละที่ผมมองว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ไม่ว่ามันจะคืออะไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับผู้นำไปใช้ต่างหาก ‘คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล’ จะด้วยจุดประสงค์ดี-ชั่ว ผลประโยชน์ส่วนตัว-ประเทศชาติ ไม่มีถูก-ผิด ในความก้าวหน้าของมนุษยชาติ
ต้นทศวรรษ 2000s คือช่วงเปลี่ยนผ่านในวงการอนิเมชั่น อดีตเคยนิยมวาดมือสองมิติ (Tradition Animation) ก้าวสู่ยุคสมัยคอมพิวเตอร์สามมิติ (CGI) ใน Hollywood จะเห่อกันมาก แต่ญี่ปุ่นจะเชื่องช้าล้าหลังกว่าใครเพื่อน และคนส่วนใหญ่ยังคงชื่นชอบอะไรๆแบบเดิมๆ (จนถึงปัจจุบันเฉพาะในญี่ปุ่น อนิเมะสองมิติยังคงขายดีกว่าสามมิติ)
สำหรับผู้กำกับ Katsuhiro Otomo เคยถูกถามถึงความคิดเห็นต่อยุคสมัยอนิเมชั่นที่กำลังปรับเปลี่ยนแปลงไป
“I think the industry in Japan moving toward CGI is not as severe and extreme as in the U.S. The animation industry in the U.S. is firing 2D animators and closing those studios, but I think it’s possibly because the national traits of the U.S. prefer super-realism. Since Japan is a country that prefers plane vision, I don’t think we will leave 2D and substitute hand-drawing with CGI entirely”.
ซึ่งการปรับตัวของญี่ปุ่น ในการมาถึงของยุคสมัย CGI ไม่ใช่นำมาเป็นพื้นฐานในการสรรค์สร้างผลงาน แต่เหมือนอนิเมะเรื่องนี้คือช่วยแต่งเติมเสริมต่อ ย่นย่อระยะเวลา ทำในสิ่งยิ่งยุ่งยากหนักหนากว่า แล้วได้คุณภาพเนื้องานสูงขึ้นกว่าเดิม
“Although all studios are now moving towards digitalization, a foundation in which we draw pictures by hand hasn’t changed, so I foresee that we will continue to keep it in the future. After all, we used the digital method based on a conception of expanding and advancing the expression of the traditional animation cel in Steamboy, so it is not that I prefer it over the other, as there is very little difference between the two in terms of an approach”.
อนิเมะเริ่มต้นโปรดักชั่นปี 1995 แต่ก็ประสบปัญหาด้านการเงินไม่เพียงพอจนต้องยุติลงกลางคันเมื่อปี 1998 ก่อนได้รับความช่วยเหลือกอบกู้โดยสตูดิโอ Production I.G. และ Sunrise ร่วมลงขันจ่าย รวมๆแล้ว 2.127 พันล้านเยน (=20 ล้านดอลลาร์)
แต่เสียงตอบรับเมื่อตอนออกฉายไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แถมฉบับสหรัฐอเมริกาถูกตัดทอนออกไป 15 นาที รายรับทั่วโลกจึงทำได้เพียง $18.9 ล้านเหรียญ ถือว่าขาดทุนย่อยยับเยิน
ส่วนตัวค่อนข้างผิดหวังกับอนิเมะอย่างมาก จริงอยู่ที่งานภาพมีความอลังการ Visual Effect ตื่นตระการใจ แต่เนื้อหาสาระและการดำเนินเรื่องราวเละเทะไม่เป็นสับปะรด อดรนทนดูจบได้ก็เกินความคาดหมายแล้ว!
แนะนำเฉพาะแฟนๆ Steampunk สนใจยุคสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม งานภาพสวยๆ ฉากแอ๊คชั่นอลังการยิ่งใหญ่ เนื้อเรื่องราวไร้สาระไม่เป็นอะไร อยากลองใจผู้กำกับ Katsuhiro Otomo ว่างๆก็ลองหามารับชมดู
จัดเรต 13+ กับความสับสนอลม่าน ขัดแย้งทางศีลธรรม การสงคราม และพ่อยิงลูก
Leave a Reply