Stephen the Great - Vaslui 1475

Stefan cel Mare – Vaslui 1475 (1975) Romanian : Mircea Dragan 

การสงครามที่ทำให้ เจ้าชายสเตฟานที่ 3 แห่งมอลโดวา ได้รับยกย่องว่าเป็นมหาราช (Stephen the Great) คือครั้งที่รบกับชาวเติร์ก (Ottoman Empire) ในสงคราม Battle of Vaslui เมื่อปี 1475, กองกำลังทหาร 40,000 คน ปะทะ 120,000 พระองค์จะใช้กลยุทธ์อะไรในการสู้ศึกครั้งนี้

สำหรับหนังจากประเทศโรมาเนีย ผมเคยดู 4 Months, 3 Weeks and 2 Days (2008) ไปเมื่อหลายปีก่อน [เรื่องนี้ยังไม่ได้เขียนรีวิว แต่ไม่ค่อยอยากดูซ้ำเสียเท่าไหร่] ที่เป็นเรื่องแรกและน่าจะเรื่องเดียวที่เคยดู, กับ Stefan cel Mare เป็นหนังที่พบเจอโดยบังเอิญ ขณะค้นหาภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับ ‘Great King’ คือหนังประวัติศาสตร์ที่ ไม่ได้เล่าชีวประวัติ แต่เป็นเหตุการณ์สงครามครั้งสำคัญ ที่ทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘มหาราช’, ผมยังได้เจอหนังของโรมาเนียอีกเรื่องคือ Michael the Brave (1971) ไม่ใช่ ‘Great King’ แต่เป็น ‘Brave King’ ก็น่าสนใจนะครับ ไว้วันหลังดูแล้วจะมาเล่าให้ฟัง

เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 500 ปีนับจาก Battle of Vaslui ผู้กำกับ Mircea Dragan จึงต้องการสร้างภาพยนตร์เพื่อเฉลิมฉลองและระลึกถึง Stephen the Great (1457-1504) เป็นทวิภาค ประกอบด้วย
– Jderi Brothers (1974)
– Stephen the Great – Vaslui 1475 (1975)

ดัดแปลงมาจากหนังสือนวนิยายประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ 3 เล่ม ชื่อ Fratii Jderi (แปลว่า Jderi Brothers ที่เป็นชื่อหนังภาคแรก) เขียนโดย Mihail Sadoveanu (ซึ่งภาคแรกดัดแปลงมาจากเล่ม 1 ส่วนภาคสองดัดแปลงจากเล่ม 2 และ 3) ในหนังจะไม่มีเครดิตนี้ขึ้นนะครับ เพราะผู้แต่งขอไว้ว่าไม่ให้ปรากฎชื่อของเธอในหนัง

เรื่องราวของ เจ้าชายแห่งมอลโดเวีย สเตฟานที่ 2 (1433 – 1440) หรือ สเตฟานมหาราช (Stefan cel Mare) ขึ้นครองราชย์เมื่อปี 1457, ครั้งหนึ่งประเทศถูกรุกรานโดยชาวเติร์ก จักรวรรดิออตโตมัน จำต้องจัดทัพเกณฑ์ไพร่พล เตรียมพร้อมเพื่อสู้ศึก ต่อต้านการรุกรานของสุลต่านเมห์เหม็ดผู้พิชิต ที่ยังไม่เคยผ่านแพ้ศึกใด

Stephen the Great

Stefan cel Mare รับบทโดย Gheorghe Cozorici ขณะรับบทนี้อายุ 42 ถือว่าเป็นคนที่มีหน้าตา และ Charisma การแสดงสูงมาก ทั้งคำพูด สายตา การวางท่าทาง สมกับที่รับบทผู้นำมหาราชอย่างยิ่ง, Stefan cel Mare พระองค์เปรียบเสมือน ‘สัญลักษณ์ของศรัทธา ศูนย์รวมใจของคนทั้งประเทศ’ อันเกิดขึ้นจากน้ำพระทัยของพระองค์ ที่ทรงห่วงใจประชาชน รักประเทศชาติ เป็นผู้นำที่มีความเฉลียวฉลาด วิสัยทัศน์ เชื่อมั่น และให้ความเกียรติประชาชน นี่จึงเป็นเหตุให้ใครๆต่างก็จงรักภักดี ยอมสละชีวีเพื่อชาติได้

ศัตรูของ Stefan cel Mare ใน  Battle of Vaslui คือ สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 แห่งจักรวรรดิออตโตมัน (Sultan Mahomed II แห่ง Ottoman Empire) รับบทโดย Gheorghe Dinică ตัวจริงเป็นชาว Romanian รับบทเป็นชาวเติร์ก ไว้หนวดไว้เครา โพกหัว ดูไปก็เหมือนคนเอเชีย, สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ครั้นพระชนมายุ 21 พรรษา ทรงยกทัพไปตีกรุงคอนสแตนติโนเปิลแตกเมื่อปี 1453 ซึ่งเป็นการสิ้นสุดของจักรวรรดิไบแซนไทน์ และ Roman Empire, ทั้งชีวิตชอบไปรุกราบประเทศอื่น จนได้รับฉายาว่า เมห์เหม็ดผู้พิชิต (Mehmed the Conqueror) แต่กลับไม่สามารถเอาชนะมอลโดวาได้สำเร็จเลยสักครั้ง

ถ่ายภาพโดย Mircea Mladin ด้วยฟีล์ม Cinemascope, หนังแบ่งออกเป็น 2 องก์ ครึ่งแรกเน้นถ่ายภายใน ปราสาทของมอลโดวาที่ Suceava (ปัจจุบันเป็นเมืองหนึ่งในประเทศ Romania) ของเจ้าชายสเตฟาน และปราสาท Constantinople ที่สุลต่านเมห์เหม็ดเพิ่มยึดครองได้, ครึ่งหลังเน้นถ่ายภายนอก การกรีธาทัพของชาวเติร์ก เตรียมพร้อมวางแผนรับสงครามของชาวมอลโดวา และสงครามไคลน์แม็กซ์ที่ Vaslui

มีความอัศจรรย์หนึ่งของการถ่ายภาพคือ หมอกที่ Vaslui ผมไม่รู้ว่านั่นหมอกธรรมชาติ หรือทีมงานสร้างขึ้นนะครับ, ซึ่งหมอกที่เกิดขึ้นนี้ ถือว่าเป็นอิทธิพลสำคัญนอกเหนือจากชัยภูมิ ที่ทำให้ทหารของ Stefan cel Mare เพียง 40,000 สามารถเอาชนะทหารของชาวเติร์ก ที่มีเรือนแสนได้, การถ่ายภาพ ขณะหมอกลง มันอาจมองไม่เห็นอะไรเท่าไหร่ แต่เมื่อหมอกเริ่มจากลง เราจะเห็นกองทัพชาวเติร์กเรือนแสน ที่ค่อยๆเผยออกมา มันคือความอลังการที่แอบซ่อนอยู่ ที่ค่อยๆทำให้คุณอึ้งและอ้าปากค้าง ผมเลยขอเรียกว่า ความอัศจรรย์อันน่าพิศวง

เกร็ด: Battle of Vaslui ใช้นักแสดงตัวประกอบกว่า 30,000 คน ถ่ายทำกันที่ Vaslui ที่เดียวกับในหนัง

สำหรับฉากสงคราม ดูเหมือนว่าหนังพยายามหลีกเลี่ยงให้เห็นขณะต่อสู้ มีเพียงทหารแต่ละฝั่งวิ่งกรูเข้ามา พอกำลังจะปะทะก็ตัดต่อไปที่อื่น ไม่ให้เห็นเลือด หรือฟันแขนขาขาด ใช้มุมกล้องขณะนักแสดงดิ้นขณะล้มลงตาย ไม่ให้เห็นการแทงเข้าเนื้อเลือดไหลสักฉากเดียว, นี่เป็นอะไรที่น่ายกย่องผู้สร้างนะครับ ไม่รู้เพราะข้อจำกัดของกองเซนเซอร์คอมมิวนิสต์ หรือเพราะคิดหวังให้เด็กๆดูหนังเรื่องนี้ได้ เลยไม่พยายามใส่ความรุนแรงลงไป, นี่เป็นหนังที่มีฉากสู้รบสงคราม นำเสนอแบบ Cinematic ไม่ให้ขณะสู้กัน แต่รู้ว่ามีการสู้กัน และมีคนเสียชีวิต

ไฮไลท์ของฉากสงคราม คือการแพนกล้องหมุน 360 องศา ให้เห็นการต่อสู้รอบทิศ, จากคอนเซ็ปที่ผมบอกไปย่อหน้าที่แล้ว มันคงไม่ตื่นเต้นอะไรถ้าหนังมัวแต่จะหาวิธีหลบมุมกล้อง ดังนั้นแทนที่ผู้กำกับและตากล้องจะใช้ถ่ายตรงไปตรงมา ก็ทำให้เกิดลีลา คือแพนกล้องหมุนรอบตัว (พื้นหลังเป็นหมอกไม่ค่อยเห็นอะไรอยู่แล้ว) ให้เห็นนักแสดงตัวประกอบที่อยู่บริเวณโดยรอบกล้องทำท่าสู้กัน นี่สร้างความระทึกได้อย่างมึนงง สับสน และประหลาดมากๆ เราไม่เห็นการต่อสู้ แต่รู้ว่ามีการสู้กัน

ตัดต่อโดย Lucia Anton, หนังใช้การตัดต่อสลับไปมา ในเหตุการณ์ระหว่าง 2 ประเทศ คือ มอลโดวาและชาวเติร์ก, สเตฟานกับสุลต่านเมห์เหม็ด ที่ทุกสิ่งอย่างแทบจะตรงข้ามกัน อาทิ โทนสี (มอลโดวาจะเน้นสีอุ่น ชาวเติร์กจะเน้นสีเย็น), ขณะกรีธาทัพ มอลโดวาจะอพยพผู้คนหนี ส่วนชาวเติร์กกำลังเดินทัพสู่สงคราม, เสื้อผ้า ชุดเกราะก็คนละสีเด่นชัด ฯ

จุดเด่นของการเล่าเรื่อง คือการค่อยๆเล่นแนวคิด วิธีการของเจ้าชายสเตฟาน, ในตอนที่พระองค์ประกาศทำสงคราม ก็มีความลังเล ไม่มั่นใจในตัวเอง แม้คนสนิทใกล้ชิดจะบอกให้พระองค์เชื่อมั่น แต่เมื่อประชาชนเอ่ยปากความต้องการขึ้นเอง ท่านถึงค่อยมีจิตใจแน่แน่ว ว่าสิ่งที่ตนทำนั้นถูก, ครึ่งหลังช่วงสงคราม หนังนำเสนอวิธีการสู้รบอย่างละเอียด มีการอธิบายให้เห็นภาพ ใช้นิ้วชี้จำลองสถานการณ์ นี่ทำให้เราเห็นถึงความคิดอ่าน ที่ถือเป็นความปรีชาสามารถในการรบทัพจับศึก ที่ใช้ชัยภูมิเป็นที่ตั้ง และฉวยโอกาสจากปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้น, กับตอนจบหลังจากได้รับชัยชนะแล้ว ก็หาได้ทรงทะนงตนว่ายิ่งใหญ่ เพราะสงครามไม่ใช่ของเล่น มีคนแพ้ต้องมีคนชนะ มีคนรอดและมีคนตาย ต้องขอบคุณนักสู้ทุกคนที่ยอมเสียสละเพื่อชาติ

เพลงประกอบโดย Theodor Grigoriu, ช่วงแรกๆจะไม่ค่อยได้ยินเพลงประกอบเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เป็นเสียงสนทนาที่มีความตึงเครียด และยาว… เป็นการประชันอารมณ์กันของนักแสดงอย่างเต็มที่, ไฮไลท์เพลงอยู่ครึ่งหลัง ขณะกองทัพเดินชาวเติร์กพาเหรดกรีธาทัพเข้าสู่สนามรบ และขณะสู้สงคราม ต้องถือว่าจัดเต็ม อลังการ สร้างบรรยากาศให้กับหนัง แม้โดยรวมจะไม่ได้มีความไพเราะต่อเนื่อง แต่ก็ถือว่ามีลูกเล่นที่น่าสนใจ, ผมชอบขณะกองทัพชาวเติร์กเดินทางมายังสนามรบ เสียงกลองที่เหมือนเสียงฝีเท้าก้าวเดิน ซึ่งการตัดต่อสลับกับผู้คนฝั่งมอลโดวาที่กำลังเผาบ้าน ถอยร่น หนีกองทัพเติร์ก เป็นการสร้างจังหวะของหนังที่ลงตัวมากๆ

หนังเรื่องนี้สร้างขึ้นในขณะที่ประเทศโรมาเนีย ยังอยู่ภายใต้การปกครองของคอมมิวนิสต์ (ของสหภาพโซเวียต) ใจความหนังจึงเป็นการใส่แนวคิดของผู้นำ การปกครอง และแฝงไว้ด้วยความรักชาติ, นำเสนอผู้นำเป็นฮีโร่ สัญลักษณ์ของชาติ ผู้ไม่ย่อท้อต่อความทุกข์ยากลำบาก สามารถเอาชนะ พ้นผ่านช่วงเวลาวิกฤตอันเลวร้าย ด้วยความซื่อสัตย์ กล้าหาญ, การสู้รบในสงคราม ไม่ใช่เพื่อยึดครองหรือสร้างความยิ่งใหญ่ แต่เพื่อปกป้อง รักษาดินแดน สร้างความสันติสุขให้เกิดกับชาติบ้านเมือง

เจ้าชายสเตฟานมหาราช ยังได้รับอีกชื่อหนึ่งนะครับว่า Saint Voivode Stephen the Great ถึงขั้นนักบุญ นี่ศาสนจักร Romanian Orthodox Church ยกย่องให้เมื่อปี 1992, ใครเคยไปเที่ยวประเทศโรมาเนีย รูปท่านจะอยู่บนเหรียญ 20 lei (ปัจจุบันหายากหน่อย ไม่มีใช้แล้ว) ส่วนประเทศมอลโดวา จะเป็นรูปในธนบัตรด้านหน้าทุกใบของประเทศ

ผมเห็นความตั้งใจของหนังเรื่องนี้ ไม่ต่างอะไรจากตอนท่านมุ้ยสร้างสุริโยทัย หรือตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช คือมีเป้าหมายเพื่อให้คนในชาติรู้รักสามัคคี เป็นแบบอย่างให้ผู้คนเคารพ ยกย่อง นับถือ ถ้าเป็นในยุคสมัยก่อนอาจมองว่านี่เป็นลักษณะของหนังชวนเชื่อ แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว มันก็แค่หนังประวัติศาสตร์ที่สอนให้คนในชาติรักกัน, ว่าไปนี่เป็นหนังเรื่องแรก (ที่ไม่ใช่หนังไทย) ที่ผมเห็นว่ามีความตั้งใจลักษณะนี้ กับหนังแนว ‘Great King’ ที่ดูมาหลายเรื่อง ส่วนใหญ่จะนำเสนอความปรีชาสามารถของกษัตริย์ หรือไม่ก็เรื่องราวชีวประวัติ มักไม่ค่อยนำเสนอแนวคิดที่ทำให้พระองค์ยิ่งใหญ่ นอกจากหนังไทย 2 เรื่องที่ผมพูดถึงบ่อยๆแล้ว ก็มีเรื่องนี้แหละ ที่คนในชาติดูจบแล้วจะรักประเทศของตนมากขึ้น

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ ผมดูตอนง่วงๆ เลยสัปงกอยู่หลายครั้ง แต่ก็ยังรู้สึกได้ว่ามีดี โดยเฉพาะแนวคิด วิสัยทัศน์ ความปรีชาสามารถของเจ้าชายสเตฟานที่ 3 ทำสงครามไม่ใช่เพื่อแผ่ขยายอำนาจ แต่เพื่อปกป้องดินแดน แผ่นดินบ้านเกิด ชัยชนะของท่านเลยยิ่งใหญ่ เพราะเกิดจากความสมัครสามัคคีของคนในชาติโดยแท้จริง

แนะนำกับคอหนังประวัติศาสตร์/มีกษัตริย์นำทัพผู้ยิ่งใหญ่/สงครามที่มีการวางแผนกลยุทธ์ การสู้รบเป็นอย่างดี, ถ้าคุณมีคนรู้จักเป็นชาวโรมาเนีย ลองถามเขาเกี่ยวกับ Stephen the Great ดูนะครับ เชื่อว่าอย่างน้อยต้องรู้จักแน่

นี่เป็นหนังสงครามที่หลีกเลี่ยงการใช้เลือด หรือฟันกันเห็นแขนขาขาด จัดเรต PG ก็เพียงพอ

TAGLINE | “Stefan cel Mare คือเจ้าชายมหาราชแห่งมอลโดวา ที่หนังสร้างออกมาได้ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: