Still Life

Still Life (1974) Iranian : Sohrab Shahid-Saless ♥♥♥♡

พนักงานรถไฟสูงวัย จู่ๆได้รับจดหมายเกษียณอายุเลิกจ้าง ชีวิตตกอยู่ในความสิ้นหวัง ไม่รู้จะทำอะไรยังไงต่อไป! โคตรหนัง ‘slow cinema’ ต้นแบบอย่าง The Turin Horse (2011) คว้ารางวัล Silver Bear: Best Director จากเทศกาลหนังเมือง Berlin

A journey that is clearly towards nothingness.

นักวิจารณ์ชาวอิหร่าน Daniyal Hashmipour

Still Life (1974) เป็นภาพยนตร์ที่เหมือนจะไม่มีอะไร วิธีการก็แค่ตั้งกล้องทิ้งไว้ (ถ่ายทำแบบ Long Take) บันทึกภาพวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวันอันเรียบง่าย แต่ทุกรายละเอียดล้วนผ่านการครุ่นคิด เพื่อสร้างบรรยากาศท้อแท้สิ้นหวัง ราวกับวันโลกาวินาศ ตัวละครขยับเคลื่อนไหวอย่างคนไร้จิตวิญญาณ

ระหว่างรับชมผมนึกเปรียบเทียบกับภาพยนตร์ Jeanne Dielman, 23, quai du Commerce, 1080 Bruxelles (1975) เพราะต่างนำเสนอกิจวัตรประจำวันอันเรียบง่ายในสไตล์ ‘minimalist’ แต่พอถึงครึ่งชั่วโมงสุดท้ายแห่งความสิ้นหวังก็บังเกิดภาพของ The Turin Horse (2011) ลองเทียบหลายๆช็อตก็รู้สึกว่าละม้ายคล้ายกันไม่น้อย

สำหรับคนรับรู้สถานการณ์การเมืองประเทศอิหร่านช่วงทศวรรษ 70s น่าจะสามารถทำความเข้าใจนัยยะของหนังได้ไม่ยาก สิ่งที่ผู้กำกับ Shahid-Saless ต้องการนำเสนอออกมาก็คือบรรยากาศความสิ้นหวัง ภายใต้การปกครองของสมเด็จพระเจ้าชาห์ ผู้ไม่สนห่าเหวประชาชน แบบเดียวกับเหตุการณ์บังเกิดขึ้นกับพนักงานรถไฟสูงวัย จู่ๆได้รับจดหมายเกษียณอายุเลิกจ้าง แล้วอะไรยังไงต่อ?? ปล่อยให้เป็นเรื่องของโชคชะตากรรมเช่นนั้นหรือ??


Sohrab Shahid-Saless (1944-98), سهراب شهید ثالث นักเขียน/ผู้กำกับสัญชาติ Iranian เกิดที่ Tehran โตขึ้นเดินทางไปร่ำเรียนภาพยนตร์ยังกรุง Vienna ต่อด้วย Conservatoire Libre du Cinéma Français (CLCF) ณ กรุง Paris เมื่อกลับมาอิหร่านได้กำกับสารคดีขนาดสั้นให้กระทรวงศิลปะและวัฒนธรรม, ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก A Simple Event (1973) บันทึกชีวิตประจำวันของเด็กชายสิบขวบ มารดาล้มป่วยหนัก ส่วนบิดาหาเลี้ยงชีพด้วยการลักลอบขนส่งปลาผิดกฎหมาย

A Simple Event has no plot. It is only a report on the daily life of a boy.

Sohrab Shahid-Saless

ผกก. Shahid-Saless ถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิก Iranian New Wave ไม่นิยมสร้างภาพยนตร์ตามตลาด แต่มีทิศทางความต้องการของตนเองที่ผิดแผกแตกต่าง ถ่ายทำในลักษณะเกือบเป็นสารคดี ใช้เพียงนักแสดงสมัครเล่น นำเสนอวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวัน และมักเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่จะทำให้ทุกสิ่งปรับเปลี่ยนแปลงไป

สำหรับผลงานชิ้นเอก طبیعت بی‌جان อ่านว่า Tabiate Bijan แปลตรงตัวคือ Inanimate Character แต่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษ Still Life นำเสนอเรื่องราวของชายสูงวัย Mohamad Sardari (รับบทโดย Zadour Bonyadi) ทำงานการรถไฟมากว่าสามสิบปี มีหน้าที่กดเปิด-ปิด เสากั้น/สัญญาณทางข้ามรถไฟ อาศัยอยู่บ้านพนักงานร่วมกับภรรยา ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่ได้มีความคาดหวัง ไม่ต้องการอะไรไปมากกว่านี้ แต่อยู่มาวันหนึ่งได้รับจดหมายเกษียณอายุเลิกจ้าง ทุกสิ่งอย่างก็จบสิ้นลงแค่นี้นะหรือ?


ถ่ายภาพโดย Houshang Baharlou (เกิดปี 1936), هوشنگ بهارلو ตากล้องระดับสัญชาติอิหร่าน เดินทางไปร่ำเรียนภาพยนตร์ยัง Experimental Cinematography Center ณ กรุง Rome แต่พอกลับมากลายเป็นช่างภาพให้นิตยสาร Setare Cinema ก่อนผันมาทำงานตากล้องภาพยนตร์ ขาประจำผู้กำกับ Dariush Mehrjui ผลงานเด่นๆ อาทิ Mr. Gullible (1970), Still Life (1974), Chess of the Wind (1976), The Cycle (1977), Dead End (1977), Desiderium (1978) ฯลฯ

แม้งานภาพของหนังจะเป็นเพียงตั้งกล้องไว้เฉยๆ ถ่ายภาพ ‘Long Take’ แต่คนช่างสังเกตจะพบเห็นการจัดองค์ประกอบ ทิศทางมุมกล้องระดับสายตา โทนสีสันที่สร้างบรรยากาศสิ้นหวัง รวมถึงการเคลื่อนไหวนักแสดง จะมีความแม่นยำ ตามคำชี้แนะนำของผู้กำกับอย่างค่อยเป็นค่อยไป

The mise-en-scènes are so quiet that the audience realizes the soullessness and stillness of the work when they see a single frame of the film. Quiet and cold but poetic and beautiful.

นักวิจารณ์ชาวอิหร่าน Daniyal Hashmipour

ในส่วนการกำกับนักแสดงนั้น ผมมีความรู้สึกว่าผกก. Shahid-Saless รับอิทธิพลจาก Robert Bresson ไม่ใช่ให้ทำการแสดงซ้ำๆหลายสิบ-ร้อยเทคนะครับ แต่คือพยายามทำให้ตัวละครดูเหมือนคนไร้จิตวิญญาณ ขยับเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้าๆ ไม่มีการแสดงออกทางอารมณ์ คำพูดสนทนาก็แค่ประโยคสั้นๆ ที่เหลือคือกำกับการลุก-นั่ง-ยืน-เดิน สูบบุหรี่ ดื่มชา รับประทานอาหาร กิจวัตรประจำวันทั่วๆไป

ปล. มันก็ไม่เชิงว่าเหมือนเปี๊ยบ แต่ก็มีบางช็อตของ Still Life (1974) ช่างดูละม้ายคล้าย/กลายเป็นอิทธิพล The Turin Horse (2011) ต่างนำเสนอเรื่องราวของบุคคลผู้กำลังตกอยู่ในความท้อแท้สิ้นหวัง ราวกับวันโลกาวินาศใกล้เข้ามาถึง

ตัดต่อโดย Ruhallah Emami (1941-1999) สัญชาติ Iranian ผลานเด่นๆ อาทิ Still Life (1974), Far From Home (1975), Dead End (1977) ฯ

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของชายสูงวัย Mohamad Sardari เดินไปเดินมาระหว่างทางข้ามรถไฟ และบ้านพักพนักงานที่อยู่ไม่ห่างไกล จนกระทั่งวันหนึ่งได้รับจดหมายเกษียณอายุเลิกจ้าง ถึงตัดสินใจโบกรถไฟเข้าเมืองพูดคุยกับหัวหน้า ก่อนหวนกลับมาเก็บข้าวเก็บของ ออกเดินทางไปไหน??

  • ครึ่งชั่วโมงแรก/วันแรก นำเสนอกิจวัตรประจำวันทั่วๆไปของ Mohamad Sardari ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ
  • ครึ่งชั่วโมงถัดมา/วันที่สอง ช่วงเวลาวุ่นๆเมื่อบุตรชายกลับมาเยี่ยมเยียน และมีลูกค้าเข้ามาซื้อพรม
  • ครึ่งชั่วโมงสุดท้าย คือช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง
    • วันหนึ่งจู่ๆได้รับจดหมายเกษียณอายุเลิกจ้าง
    • วันถัดมีพนักงานคนใหม่เดินทางมาถึง
    • อีกวันถัดมาตัดสินใจโบกรถไฟเข้าเมือง เพื่อพูดคุยกับหัวหน้า
    • (วันสุดท้าย) เก็บข้าวเก็บของ แล้วออกเดินทางจากไป

โครงสร้างการดำเนินเรื่องของหนัง ชวนให้ผมระลึกถึง Jeanne Dielman, 23, quai du Commerce, 1080 Bruxelles (1975) ที่ก็แบ่งออกเป็นสามองค์คล้ายๆกัน และครึ่งชั่วโมงสุดท้ายคือช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง ที่จักทำลายกิจวัตร สูญเสียวิถีชีวิต และทุกสรรพสิ่งอย่างพังทลายลงไป

หนังไม่มีการใช้เพลงประกอบใดๆ ส่วนใหญ่จะเป็น ‘Sound Effect’ เสียงขบวนรถไฟ นี่เป็นการสร้างบรรยากาศอันตึงเครียด เงียบงัน และว่างเปล่า ราวกับโลกทั้งใบก็มีกันอยู่แค่ 2-3 ตัวละคร

The film is dominated by complete and deadly silence, which is broken by the passage of a train from time to time. This silence makes the lifeless nature of the film more visible and lethargy dominates the world of the film.

นักวิจารณ์ชาวอิหร่าน Daniyal Hashmipour

Still Life (1974) มองผิวเผินคือเรื่องราวของการสูญเสียอาชีพ วิถีชีวิต กิจวัตรประจำวัน ชายสูงวัยถูกบีบบังคับให้เกษียณอายุ ออกจากงานโดยไม่ทันตั้งตัว ทำให้ไม่สามารถตระเตรียมความพร้อม จำต้องออกเดินทางโดยไม่รู้เป้าหมาย อนาคต โชคชะตาขึ้นอยู่กับฟ้าดินกำหนด

ภาพยนตร์ที่มีความเรียบง่าย บริสุทธิ์ ‘Cinéma Pur’ มักต้องการนำเสนอความรู้สึก ‘มวลรวม’ ของผู้สร้างต่อเหตุการณ์บางสิ่งอย่าง ด้วยการตัดทอดทอนรายละเอียดที่อาจสร้างความขัดแย้ง เสี่ยงถูกแบนจากกองเซนเซอร์ พัฒนาเรื่องราวดูไม่เกี่ยวกับ แต่ซุกซ่อนเร้นความสัมพันธ์ทางอารมณ์ไว้อย่างแนบเนียน

ในกรณีของ Still Life (1974) ก็คือบรรยากาศความท้อแท้สิ้นหวังต่อรัฐจักรวรรดิแห่งอิหร่าน (Imperial State of Iran) หรืออิหร่านปาห์ลาวี (Pahlavi Iran) อันเนื่องจากการปกครองของสมเด็จพระเจ้าชาห์ Mohammad Reza Pahlavi ที่ไม่เคยสนใจใยดีต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ก่อตั้งรัฐบาลที่เต็มไปด้วยความคอรัปชั่น ข้าราชการก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไม่ต่างจากเครื่องยนต์กลไก พอครบอายุก็ปลดเกษียณโยนทิ้งขว้าง ไม่มีแม้แต่เงินบำเน็ดบำนาญ

ตัวละคร Mohamad Sardari ก็คือตัวแทนประชาชนตัวเล็กๆ แม้อุทิศตนทำงานมานานกว่า 30+ ปี แต่กลับไม่เคยได้รับความสนใจ หรือมีใครหันมาเหลียวดูแล เพียงถูกขับไล่ ผลักไส ราวกับไม่มีตัวตน ชีวิตไม่หลงเหลืออะไร สภาพไม่ต่างจากตกตายทั้งเป็น

แซว: ผมรู้สึกว่าชื่อหนังภาษาอังกฤษ Still Life เป็นคำที่ไม่ค่อยเหมาะสมสักเท่าไหร่ (เพราะไม่รู้สึกว่าตัวละครเหมือนยังมีชีวิตอยู่) คำแปลตรงๆจากภาษาเปอร์เซีย Inanimate Character อาจฟังดูแปลกๆ แต่สามารถสื่อถึงสภาพไร้จิตวิญญาณของตัวละครได้ชัดเจนกว่า

ช็อตสุดท้ายของหนังที่ Mohamad Sardari จับจ้องมองภาพสะท้อนตนเองในกระจกเงา คงกำลังครุ่นคิดทบทวนถึงระยะเวลา 30+ กว่าปี ทุกสิ่งอย่างที่ฉันทำลงไป มันไม่คุณค่าอะไรเลยใช่ไหม!

เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Berlin เสียงตอบรับดียอดเยี่ยมมากๆ สามารถคว้ามาถึง 4 รางวัล ขณะที่ Golden Bear ปีนั้นตกเป็นของภาพยนตร์ตลกสัญชาติอังกฤษ The Apprenticeship of Duddy Kravitz (1974) กำกับโดย Ted Kotcheff, นำแสดงโดย Richard Dreyfuss (ในบทบาทที่เจ้าตัวครุ่นคิดว่าเล่นได้แย่สุดๆ)

  • Silver Berlin Bear: Best Director
  • FIPRESCI Prize
  • OCIC Award – Recommendation: Competition
  • Interfilm Award – Otto Dibelius Film Award

ความสำเร็จของ Still Life (1974) ทำให้ผู้กำกับ Shahid-Saless ตัดสินใจลงหลักปักฐานที่เยอรมัน (สมัยนั้นคือ West German) เพราะเชื่อว่าจะได้รับโอกาส และอิสรภาพในการสรรค์สร้างภาพยนตร์มากกว่า ผลงานเด่นๆ อาทิ Far From Home (1975), Coming of Age (1976), Utopia (1983) ฯลฯ

อาจเพราะผมไม่ได้เตรียมตัวจะรับชม ‘slow cinema’ มันเลยเกิดความหงุดหงิด รำคาญใจ คุณภาพที่หาได้ก็ตามมีตามเกิด สุดท้ายเลยไม่ค่อยชอบพอหนังสักเท่าไหร่ แต่ก็ตระหนักถึงวิธีการอันเรียบง่าย สัมผัสบรรยากาศแห่งความสิ้นหวัง ต้องชมว่างดงามระดับมาสเตอร์พีซ (ไม่รู้จะมีโอกาสรับชมฉบับบูรณะหรือเปล่านะ)

แนะนำคอหนัง ‘slow cinema’ บรรยากาศท้อแท้สิ้นหวัง ราวกับวันโลกาวินาศ สำหรับคนชื่นชอบผลงานของ Chantal Akerman, Béla Tarr, เจ้ย อภิชาติพงศ์ ฯลฯ ลองหามารับชมดูนะครับ

จัดเรตทั่วไป แต่เด็กๆคงอดรนทนได้ไม่กับความเชื่องช้าน่าหลับ

คำโปรย | Still Life นำเสนอความหมดสิ้นหวังของชีวิต
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | หมดสิ้นหวัง

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: