Street Angel (1928) : Frank Borzage ♥♥♥♡
สานต่อจากทีมผู้สร้างชุดเดียวกันกับ 7th Heaven (1927) สลับสับเปลี่ยนเรื่องราวจากพระเอก Charles Farrell ต้องออกเดินทางไปสนามรบ เป็นนางเอก Janet Gaynor ติดคุกหัวโตเพราะเคยลักเล็กขโมยน้อย! แต่ก็ไม่มีอะไรสามารถพลัดพรากคู่ขวัญได้ชั่วนิรันดร์
7th Heaven แม้เป็นภาพยนตร์ที่มีความตรงไปตรงมาในเชิงสัญลักษณ์ แต่ส่วนตัวบอกเลยว่าชื่นชอบประทับใจ Street Angel มากกว่า! โดดเด่นในแง่ของโปรดักชั่นงานสร้าง (จริงๆก็พอๆกันแหละนะ) ถ่ายภาพ Long Take จัดวางตำแหน่งสูง-ต่ำ แฝงจริยธรรม และมุขตลกขบขัน ถือว่าผู้กำกับ Frank Borzage มีพัฒนาการเพิ่มขึ้นพอสมควรทีเดียว [ใน IMDB ยังมีอีกเรื่อง Lucky Star (1929) คะแนนสูงกว่าทั้ง 7th Heaven และ Street Angel แต่ผมยังไม่ได้รับชมเลยขอติดไว้ก่อน]
ส่วนหนึ่งอาจเพราะ 7th Heaven เป็นเรื่องสร้างขึ้นก่อนหน้า เปิดประเดิมคู่ขวัญพระ-นาง Charles Farrell และ Janet Gaynor แถมคว้ารางวัล Oscar ถึงสามสาขา เลยได้รับการจดจำมากสุดในผลงานของ Borzage-Farrell-Gaynor
Frank Borzage (1894 – 1962) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Salt Lake, Utha มีพี่น้อง 14 คน โตขึ้นเข้าร่วมกลุ่มเป็นนักแสดงละครเร่ มาจนถึงปักหลักที่ Hollywood ไต่เต้าจากผู้ช่วย กลายเป็นผู้กำกับเรื่องแรก The Pitch o’ Chance (1915) สรรค์สร้างผลงานประสบความสำเร็จทำเงินมากมาย แต่เริ่มได้รับการจดจำหลังการมาถึงของ F. W. Murnau ยังสตูดิโอ Fox รับอิทธิพล ลอกเลียนแบบ (German Expressionism) แล้วสร้างสไตล์ใหม่ของตนเอง เริ่มต้นจาก 7th Heaven (1927), Street Angel (1928), Lucky Star (1929), Bad Girl (1931), No Greater Glory (1934) ฯ
Romanticism คือคำเรียกสไตล์/ความสนใจของผู้กำกับ Borzage มุ่งเน้นนำเสนอเรื่องราวความรักหนุ่ม-สาว ท้าพิสูจน์หัวใจด้วยการต้องพานพบเจอสิ่งทุกข์ยากลำบาก หรือมีเหตุให้พลัดพรากแยกจากชั่วคราว แปรสภาพจากความคิดถึง กลายเป็นเชื่อมั่นศรัทธา สุดท้ายจักไม่มีอะไรสามารถกีดกั้นขวางพวกเขาได้อีก
สำหรับ Street Angel ดัดแปลงจากบทละครเวทีตลกสี่องก์ The Lady Cristilinda (1922) สร้างขึ้นโดย Monckton Hoffe (1880 – 1951) นักเขียนสัญชาติ Irish ที่ต่อมาเป็นผู้พัฒนาบทหนังดั้งเดิม The Lady Eve (1941) ได้เข้าชิง Oscar: Best Writing, Original Story
เรื่องย่อคร่าวๆ, Lady Cristilinda เป็นนักแสดงชื่อเสียงโด่งดัง ตกหลุมรักจิตรกรหนุ่มไร้ชื่อเสียงเรียงนาม ขอวาดภาพเธอแล้วนำไปขาย ตอนแรกได้เงินมาน้อยนิด แต่ภายหลังได้รับการค้นพบว่าระดับยอดฝีมือ ขณะที่หญิงสาวพลัดตกจากหลังม้า ขาพิการ ไม่สามารถขึ้นเวทีได้อีก (ทั้งสองถือว่ามีชีวิตสวนทางกัน)
เกร็ด: The Lady Cristilinda เป็นการแสดงที่เหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ เพียง 24 รอบการแสดง ระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม ถึง 1 มกราคม ค.ศ. 1922-23 ยัง Broadhurst Theatre, Broadway
ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Philip Klein และ Henry Roberts Symonds, แม้หลายๆพล็อตหลักจะยังคงเดิม แต่เนื้อหาสาระมีการปรับเปลี่ยนแปลงไป ให้มีความสอดคล้องสไตล์/เป้าหมาย/ความสนใจผู้กำกับ Borzage
เรื่องราวของ Angela (รับบทโดย Janet Gaynor) สาวตัวเล็กต้องคอยเลี้ยงดูแลมารดาป่วยหนัก ทีแรกตั้งใจขายตัวดันไม่มีใครเอา เห็นเงินทอนวางอยู่แอบเข้าไปลักขโมยเงินโดนจับได้ ถูกตัดสินจำขังคุกหนึ่งปีเต็ม เลยพยายามดิ้นรนหลบหนีแต่ก็สายเกิน แม่เสียชีวิตไปก่อนหน้าแล้ว กระนั้นก็ยังได้รับการสงเคราะห์ช่วยเหลือจากคณะละครเร่ ซ่อนตัวในกลองดุริยางค์รอดพ้นตำรวจสายตรง,
วันหนึ่งมีโอกาสพานพบเจอจิตรกรหนุ่ม Gino (รับบทโดย Charles Farrell) ทีแรกก็มิได้ใคร่สนใจ แต่เพราะเขาทำให้เธอตกกระไดขาหัก พลอยโจรเลยอาสารับผิดชอบ นำวาดภาพเหมือนที่ทุ่มเทตั้งใจไปขาย แม้ได้ราคาน้อยนิดแต่ชีวิตก็ยังมีสุขได้ กระทั่งเมื่อภาพดังกล่าวได้รับยกย่องระดับยอดฝีมือ เงินทองจึงไหลมาเทมา ขณะเดียวกันตำรวจสายตรวจก็ติดตามพบเจอ Angela ต่อรองร้องขอใช้เวลาชั่วโมงสุดท้ายอยู่เคียงข้างคนรัก เชื่อว่าคงไม่มีอะไรสามารถสั่นคลอนจิตใจของเขาได้อีก
Janet Gaynor ชื่อเดิม Laura Augusta Gainor (1906 – 1984) นักแสดงสาวสวยร่างเล็ก สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Germantown, Philadelphia พ่อทำงานเป็นช่างทาสีในโรงละครใกล้บ้าน ซึ่งก็ทำให้เธอมีความสนใจด้านการแสดงนับจากนั้น หลังเรียนจบจาก Polytechnic High School เริ่มต้นแสดงละครเวที ได้เป็นตัวประกอบในหนังเงียบหลายเรื่อง จนกระทั้งเซ็นสัญญากับ Fox Studio เมื่อปี 1926 ประสบความสำเร็จโด่งดัง กลายเป็นหนึ่งในนักแสดงทำเงินสูงสุดแห่งทศวรรษ ซึ่งปี 1927 คือปีทองของเธอโดยแท้ มี 3 ผลงานดังคือ 7th Heaven (1927), Sunrise: A Song of Two Humans (1927), Street Angel (1928) ทำให้คว้า Oscar: Best Actress เป็นคนแรก, หลายปีถัดมามีโอกาสเข้าชิงอีกครั้งจาก A Star is Born (1937)
รับบท Angela สาวน้อยร่างเล็กที่แม้มีจิตใจบริสุทธิ์ผ่องใส แต่มักถูกสังคมกดขี่ข่มเหงให้ตกต่ำไร้ราคา ต้องดิ้นรนเอาตัวรอด กระทำสิ่งผิดต่อกฎหมาย ถึงกระนั้นเธอพยายามยืนหยัดอยู่สูง โบยบินบนฟากฟ้าไกลให้เหนือกว่าผู้อื่นใด … การได้พานพบเจอ Gino ทำให้เธอตกลงมาขาหัก ไม่สามารถเป็นนักแสดงได้อีกต่อไป แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือ เอ็นดูทะนุถนอม ค่อยๆแปรสภาพเป็นรักใคร่ แค่ว่าโชคชะตายังไม่พร้อมใจ ต้องผ่านการพิสูจน์ความเชื่อมั่นก่อนเท่านั้น ถึงได้ครองคู่อยู่ร่วม
ผมพอจะเข้าใจสาเหตุที่เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง Gaynor หลังจากแต่งงานก็ร่ำลาจากวงการภาพยนตร์ไปเลย เพราะบทบาทที่ได้รับของเธอก็มีแต่แบบนี้! หญิงสาวผู้มีความน่ารักสดใสซื่อ อ่อนเยาว์วัย ไร้เดียงสาต่อโลกภายนอก โชคชะตานำพาให้กระทำสิ่งเลวร้ายโดยไม่ตั้งใจ พยายามหลบลี้หนีเอาตัวรอด เมื่อได้คนรักคอยสนับสนุนนำ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งจึงสามารถยินยอมรับ พร้อมเผชิญหน้าความผิดพลาดนั้นได้ เพื่ออนาคตวันข้างหน้าจะได้สว่างสดใส
ใครที่รับชม Seventh Heaven ก่อนหน้า Street Angel น่าจะยังคงได้เคลิบเคลิ้ม ลุ่มหลงใหลไปกับการแสดงของ Gaynor โคลนมาแทบไร้ความแตกต่าง แต่ผมจะชี้ข้อสังเกตที่รู้สึกว่าเรื่องนี้โดดเด่นกว่า นั่นคือชั่วโมงสุดท้ายกับชายคนรัก จิตใจที่เต็มไปด้วยความพะวง ลุกรี้ลุกรน หวาดสะพรึงกลัว ถ่ายทอดออกมาทางสีหน้า การขยับเคลื่อนไหว สมจริงระดับจับต้องได้ ศิโรราบลงแทบเท้า แล้วค่อยๆแก้มัดเชือกถ่วงเวลา มันช่างบีบเค้นคั้น ทรมานใจเสียจริง
Charles Farrell (1900 – 1990) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Walpole, Massachusetts, ครอบครัวเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์ทำให้เกิดความสนใจด้านนี้ตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเข้าเรียนไม่จบ Boston University เลือกมุ่งสู่ Hollywood เริ่มจากเป็นตัวประกอบสตูดิโอ Paramount เพราะความหล่อเหลาไปเข้าตา Fox Studios จับเซ็นสัญญาระยะยาว ประกบคู่ Janet Gaynor โด่งดังแจ้งเกิดกับ 7th Heaven (1927) แสดงหนังร่วมกันอีก 11 เรื่อง จนได้รับฉายา ‘America’s Favorite Lovebirds’ และเห็นว่า Farrell เคยสู่ขอ Gaynor แต่งงานจริงๆด้วยแต่…
“I think we loved each other more than we were ‘in love'”.
รับบท Gino จิตรกรหนุ่มร่างกายสูงใหญ่ ตั้งแต่แรกพบเจอ Angela หลงใหลในความ ‘ตัวเล็กพริกขี้หนู’ กล้าเถียงคำไม่ตกฟ้ากับคนตัวโตกว่าเช่นเขา เลยตัดสินใจออกเดินทางติดตามไปด้วย ร่ำร้องขอให้มาเป็นนางแบบ วาดภาพเหมือนที่สะท้อนถึงจิตวิญญาณตัวตน จนเริ่มเกิดความรักใคร่ชอบพอ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ให้ต้องพลัดพรากจาก มิอาจแบกรับความเจ็บปวดรวดร้าว ทอดทิ้งการงานเคยได้รับมอบหมายไว้ ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยเทเมา เอาแต่โหยหา จนหมดสิ้นหวังอาลัย
แม้ความโดดเด่นด้านการแสดงจะเทียบไม่ได้กับ Gaynor เช่นเคย! แต่เรื่องนี้ถือว่าลดความ Macho ลงพอสมควร คือไม่ทึ่มทือ ซื่อบื้อ ใช้กำลังร่างกายแสดงออกมาเท่านั้น รับบทจิตรกรหนุ่มผู้เต็มไปด้วย Passion ทั้งความลุ่มหลงใหล เคลิบเคลิบใจ ก่อนตกต่ำกลายมาหมดสิ้นหวังอาลัย … กล่าวคือ ตัวละครของ Farrell ดูจับต้องขึ้นได้มากกว่า Seventh Heaven อย่างเยอะๆเลย
ผมค่อนข้างชอบช่วงขณะร้ายๆของ Farrell คือมันเข้ากับขนาดร่างกาย ภาพลักษณ์ภายนอกพี่แกมากกว่าทำตัวใสซื่อไร้เดียงสา ศิโรราบต่อหญิงสาว (เสียชาติชายหมดกัน!) ถึงอย่างนั้นนี่คือบทบาทขายได้ ฝืนตนเองเล่นไป เงินไหลมาเข้ากระเป๋าสบายใจเฉิบ (คือผลงานเรื่องอื่นๆที่ไม่ได้ประกบ Gaynor ล้มเหลวไม่เป็นชิ้นดี เพราะผู้ชมดันจดจำภาพลักษณ์นี้ไปเรียบร้อยแล้ว!)
ไดเรคชั่นการกำกับของ Borzage พยายามสร้างบรรยากาศให้เกิดกับนักแสดง แม้กล้องเริ่มถ่ายทำแล้วก็จะยังพูดบิ้วอารมณ์ต่อไปเรื่อยๆ เห็นว่าบางฉากที่ซาบซึ้งหรือเศร้าเสียใจมากๆ ผู้กำกับก็จะร้องไห้น้ำตาไหลพรากๆก่อนนักแสดงเสียอีก
“I like to penetrate the hearts and souls of my actors and let them live their characters. Make the audience sentimental instead of the player. Make the audience act”.
ถ่ายภาพโดย Ernest Palmer (Blood and Sand, Four Devils, Street Angel, Cavalcade) และ Paul Ivano (The Four Horsemen of the Apocalypse, Queen Kelly, They Live by Night)
การมาถึงของ F. W. Murnau ยัง Hollywood ได้นำเอา German Expressionism เข้ามาแนะนำเผยแพร่ กลายเป็นอิทธิพลแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับ Borzage คัทลอกเลียนแบบตาม เลือกสร้างฉากขนาดใหญ่โตภายในสตูดิโอ ต่อด้วยเครนที่สามารถขยับเคลื่อนไหวกล้อง ทิศทางมุมกล้องก้ม-เงย การจัดแสง และสถาปัตยกรรมพื้นหลัง เรียกว่าทุ่มงบไม่อั้นเพื่อสร้างโลกสะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในตัวละครออกมา
บอกเลยว่าผมมีความประทับใจ Long Take ในฉากแรกๆ เพื่อจัดเก็บภาพโดยรอบของเมือง Naples, Italy พบเห็นผู้คนมากหน้าหลากหลาย แต่สังเกตให้ดีจะพบเห็นการแบ่ง ‘ชนชั้น’ ซึ่งแยกได้ตามความสูง บน-ล่าง และเสื้อผ้า/เครื่องแต่งกาย
มุมกล้องช็อตนี้มีความน่าทึ่งอย่างยิ่ง ถ่ายก้มลงมาจากด้านหลังผู้พิพากษา กำลังจะตัดสินโทษของ Angela ทำให้เธอผู้ตัวกระเปี๊ยกอยู่แล้ว ขนาดเล็กลีบลงไปอีก และเมื่อเดินเข้ามาตรงแท่นประธาน พบเห็นเพียงเศษเสี้ยวครึ่งใบหน้า ช่างไร้คุณค่าความสำคัญใดๆ (ในสายตาคนชั้นสูงเหล่านี้!)
การใช้เงาแทนตัวประกอบ/นักโทษคุมขัง เป็นความเหนือชั้นอย่างหนึ่งของผู้กำกับ Borzage เพื่อสะท้อนความไม่สำคัญ ไร้ตัวตน เหมารวมความโฉดชั่วร้าย สร้างสัมผัสอันน่าหวาดหวั่นสะพรึงกลัวให้ผู้ชมได้อีก (คือถ้าเห็นภาพนักโทษตรงๆอาจไม่มีใครรู้สึก แต่พอหลงเหลือเพียงเงา ราวกับบางสิ่งอย่างเกิดขึ้นภายในใจ)
ทำไมต้องกลองดุริยางค์? อันนี้ผมก็ยังขบคิดเหตุผลไม่ออก น่าจะแค่แก๊กของผู้กำกับที่ตอนเริ่มต้นเล่นมุกกลองพัง และขนาดร่างกายตัวกระเปี๊ยกของ Janet Gaynor สามารถหลบซ่อนตัว พ้นสายตาตำรวจได้สบาย … ฉากนี้มันก็ขบขันจริงๆนะแหละ คล้ายๆการ ‘ซ่อนช้างในป่า ซ่อนปลาในกระชัง’
ท่านั่งของ Angela กลับหัวกลับหาง สะท้อนชีวิตของเธอที่กลับตารปัตร ก็ไม่รู้ก่อนหน้านี้เคยทำอะไร ขณะนี้กลายเป็นนักแสดง เคยตกต่ำ ปัจจุบันปีนป่ายขึ้นอยู่สูง
เช่นกันกับเรื่องความรัก ได้รับการพยากรณ์ว่าจะพบเจอคู่ของตนเอง แรกยินก็ปฏิเสธเสียงขันแข็ง แต่ก็ค่อยๆอ่อนแรงกลับตารปัตรเคยครุ่นคิดไว้
ความสูง-ต่ำ ของตัวละคร ถือว่ามีนัยยะสำคัญต่อตัวละครอย่างมาก ซึ่งช็อตนี้สะท้อนได้ถึงชื่อเสียง ความสำเร็จของ Angela กับการแสดงที่ทำให้เธอสามารถปีนป่ายขึ้นสูง พบเห็นทิวทัศน์อ่าวฝรั่งเศสกว้างไกล แต่เมื่อพลาดพลั้งพลัดตกลงมา แน่นอนว่าขาพลิกแพลง บาดเจ็บสาหัส อาการหนักทีเดียว
สำหรับ Gino เพราะยังไม่พานพบเจอประสบความสำเร็จใดๆ ตัวเขาจึงยังอยู่ต่ำต้อยติดพื้นดิน
เมื่อภาพวาดของ Gino ได้รับการค้นพบ ชื่นชมในฝีมือ จึงได้รับการติดต่อ มอบหมายงาน จ่ายเงินล่วงหน้ามากพอดู ชีวิตกำลังไต่ขึ้นสู่จุดสูงสุด แต่ทั้งนั้นสิ่งแท้จริงต้องการของเขา วินาทีนี้คืออุ้มยก Angela ขึ้นยนบนเก้าอี้ให้ตำแหน่งศีรษะอยู่สูงกว่า แล้วหยิบแหวนขึ้นมาขอแต่งงาน นี่ต่างหากความปรารถนาสูงสุดภายในจิตใจ
เมื่อรับโทษครบกำหนดได้รับการปลดปล่อยตัว บันไดหน้าสถานกักกันมีสองทิศทาง ขณะที่เพื่อนร่วมอพาร์ทเม้นท์กำลังจะเดินลง Angela ต้องการเดินขึ้นเพื่อไปพบเห็นภาพวาดของคนรัก ป่านนี้คงสำเร็จเสร็จสิ้น นี่เป็นการสะท้อนประกายความหวังของหญิงสาว ครุ่นคิดว่าชีวิตวันใหม่นี้จะเจิดจรัสจร้า เหนือกว่าอดีตที่เคยผ่านมา
การหวนกลับมาพบเจอระหว่าง Gino กับ Angela สถานที่คือริมทางเดินเลียบอ่าวยามค่ำคืน พบเห็นเสากระโดงเรือ ผืนน้ำปกคลุมด้วยหมอกควันและความมืดมิดสนิท ถึงขนาดต้องจุดไฟจากไม้ขีดถึงมองเห็นหน้า แค่เพียงชั่ววินาทีก็จดจำได้ว่านั่นคือภาพของอดีตคนเคยรักใคร่ เกิดปฏิกิริยาโกรธเกลียดเคียดแค้นต้องการเข่นฆ่าทำลาย ทำให้หญิงสาวต้องรีบวิ่งหลบหนี ชายหนุ่มไล่ล่าติดตาม
ถึงขนาดทิ้งกายลงกอดขาเขาไว้แบบนี้ เรียกว่าคือที่สุดของการยอมพ่ายแพ้ ศิโรราบ จะทำอะไรกับฉันก็ช่าง ขอโทษทุกสิ่งอย่างได้กระทำผิดใจไว้
เพราะภาพวาดนางฟ้าที่ Gino เคยระบายไว้ ทำให้หวนระลึกคืนสติขึ้นมาได้ โอบกอดเธอขึ้นมาแล้วคุกเข่าร่ำร้องขออภัย ทุกสิ่งอย่างฉันเข้าใจผิดไป นับจากนี้จะไม่มีอะไรมาสั่นคลอนความรัก ศรัทธาของตนได้อีก
ตัดต่อโดย Barney Wolf ขาประจำผู้กำกับ Borzage,
หนังดำเนินเรื่องจากมุมมองของ Angela ตั้งแต่ก่อนหน้าพบเจอ Gino เคยกระทำบางสิ่งอย่างเลวร้ายไว้ ยังไม่ได้รับการชดใช้คืน ซึ่งทำให้เมื่อทั้งสองตกลงปลงใจครองคู่แต่งงาน เป็นเหตุให้พลัดพรากแยกจาก (ช่วงนี้จะจัดสลับเรื่องราวคู่ขนานของทั้งคู่) ก่อนท้ายสุดถึงได้หวนกลับมาพานพบเจอ ปรับเข้าใจความครุ่นคิดเห็นผิด และครองรักตราบชั่วนิรันดร์
การลดปริมาณ Title Card ขึ้นในปริมาณน้อย ข้อความไม่ยาวมาก ในระดับเพียงพอดี นี่ก็รับอิทธิพลจาก F. W. Murnau เฉกเช่นกัน จุดประสงค์เพื่อสร้างความบริสุทธิ์ให้ภาพยนตร์ ‘pure cinema’ ระดับตำนานเลยกับ The Last Laugh (1924)
บางฉบับของ Street Angel จะได้ยิน Sound Effect รวมไปถึงเสียงผิวปาก เพลงประกอบ ซึ่งคือความตั้งใจของผู้กำกับเพื่อนำออกฉาย Re-Release เมื่อการมาถึงของยุคสมัยหนังพูด, ซึ่ง Main Theme ของหนังชื่อ Angela Mia (My Angel) ทำนองโดย Erno Rapee, คำร้องโดย Lew Pollack, นำฉบับที่ใช้จริงของ Emil Velasco มาให้รับฟังกัน
เมือง Naples ในลักษณะ German Expressionism ช่างเต็มไปด้วยความบิดเบี้ยว มืดหมองหม่น ทำให้หญิงสาวผู้มีจิตใสบริสุทธิ์ขาวสะอาดต้องแปดเปื้อนมลทิน ตกเป็นเหยื่ออธรรม กระทำสิ่งผิดกฎหมาย และถูกพิพากษาปริมาณเกินเลยความจริง
แต่ถึงมีเบื้องหลังชีวิตที่หมดสิ้นหวัง ก็ใช่ว่ายังหมดโอกาสไร้หนทาง เมื่อถึงวันหนึ่งทุกสิ่งอย่างได้กลับตารปัตร พานพบเจอชายหนุ่มกลายเป็นว่าที่คนรัก อะไรๆเหมือนกำลังค่อยๆพัฒนาดีขึ้น แต่กรงกรรมเก่าหวนกลับเรียกร้องให้ชดใช้คืน
ความเชื่อมั่นศรัทธาในรัก ทำให้หญิงสาวพร้อมเผชิญหน้า ยินยอมรับกรงกรรมเก่าที่เคยกระทำผิดพลาดพลั้งไว้ เพราะครุ่นคิดว่าวันหน้าฟ้าใหม่ เมื่อหมดโทษได้รับการปล่อยตัวออกมา ทุกสิ่งอย่างคงเพรียบพร้อมสมบูรณ์ ความเพ้อใฝ่ฝันพลันสมหวังกลายเป็นจริงทุกสิ่งอย่าง!
ช่วงเวลาระหว่างการพลัดพรากแยกจากของหนุ่ม-สาว ทำให้พบเห็นธาตุแท้ของ ‘ความรัก’ สามารถแปรสภาพสู่สองทิศทางตรงกันข้าม
– Angela แม้พานผ่านอะไรร้ายๆมามาก แต่เมื่อพบเจอ ตกหลุมรัก ทำให้มองโลกในแง่ดีทุกสิ่งอย่าง แปรสภาพสู่ศรัทธาเชื่อมั่นแรงกล้า
– เพราะไม่เคยพานผ่านความผิดหวังมาก่อน ทำให้จิตใจ Gino เลยปกคลุมด้วยความทุกข์เศร้าโศก เจ็บปวดรวดร้าว มองโลกแง่ร้ายสุดๆ แปรสภาพสู่ความโกรธเกลียดเคียดแค้น เมื่อถึงจุดๆหนึ่งกำลังจะทำบางสิ่งอย่างขาดสติ!
ทิศทางความรักของสองตัวละครที่แตกต่างตรงกันข้าม สะท้อนถึงความไม่เข้าใจ ไร้ความเชื่อมั่นศรัทธาต่อกัน ทำให้ครุ่นคิด จินตนาการ มโนภาพการกระทำของอีกฝ่ายด้วยความทรงจำเปลือกนอก หาได้เรียนรู้จักธาตุแท้จริงภายในเลยสักนิด!
ที่ผมมองเช่นนั้น เพราะ
– จิตใจของ Angela เต็มไปด้วยความบริสุทธิ์สดใสร่าเริง ภาพวาดของ Gino ก็สะท้อนตัวตนนั้นออกมา แต่เขากลับหมดสิ้นหวังอาลัยเมื่อต้องพลัดพรากจาก … นี่นะหรือเข้าใจกันอย่างถ่องแท้
– Gino แสดงความรักที่มาจากการกระทำต่อ Angela ทำให้เธอครุ่นคิดว่าจิตใจเขาคงเข้มแข็งพอ อยู่ดีๆหายตัวไม่บอกกล่าว คาดหวังว่าคงจะยังเฝ้ารอวันหวนกลับมาพบกัน … แสดงถึงเธอไม่เข้าใจตัวตนแท้จริงของคนรัก ยินยอมรับไม่ได้แน่เมื่อต้องพลัดพรากจาก
ปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขด้วยการเผชิญหน้า มองเข้าไปในดวงตา ทำความเข้าใจเหตุผลอีกฝ่าย เรียนรู้จัก ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ และการยกโทษให้อภัย แค่นี้ไม่ว่าอะไรจะบังเกิดขึ้น ความเชื่อมั่นแปรสภาพกลายเป็นอะไร สุดท้ายเมื่อข้อเท็จจริงกระจ่าง ย่อมไม่มีอะไรกีดกั้นขวางความรักระหว่างคนสอง
สำหรับผู้กำกับ Borzage นอกจากเนื้อหาสาระสอนใจคนหนุ่มสาว เรื่องนี้ยังสอดแทรกเรื่องราวของคณะละครเร่ ซึ่งเจ้าตัวเคยใช้ชีวิต ออกเดินทาง ร่วมการแสดง ก่อนผันสู่วงการภาพยนตร์ Hollywood … ส่วนหนึ่งคงจะอัตชีวประวัติตนเองเลยก็ว่าได้
ในงานประกาศรางวัล Oscar ครั้งแรก เป็นผลพลอยได้ของ Janet Gaynor ถือว่าคว้าสาขา Best Actress ร่วมกับอีกสองผลงาน 7th Heaven และ Sunrise: A Song of Two Humans (ถ้าเทียบสามผลงานนี้ เล่นดีสุดแบบอมตะกินขนาดคือ Sunrise รองลงมาผมให้ Street Angel ชื่นชอบกว่า 7th Heaven)
ความพิลึกพิลั่นเกิดขึ้นปีถัดมา เพราะหนังออกฉายใหม่แบบที่เพิ่มเสียง Sound Effect และ Soundtrack ปรากฎว่าได้เข้าชิง Oscar เพิ่มอีกสองสาขา
– Best Cinematography
– Best Art Direction
(แม้ไม่ได้มีการประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงอย่างเป็นทางการสู่สาธารณะ แต่ปรากฎในเอกสาร และใบรายการที่ใช้ลงคะแนนโหวตของคณะกรรมการปีนั้น)
ถ้าไม่นับภาพยนตร์ต่างประเทศที่บางเรื่องได้เข้าชิง 2 ปี (เพราะสาขา Best Foreign Language Film ไม่จำเป็นต้องเข้าโรงในสหรัฐอเมริกาปีเดียวกัน ถ้าฉายอีกปีก็มีสิทธิ์ลุ้นเข้าชิงสาขาอื่นได้) ก็มีอีกเรื่องคือสารคดีสัญชาติอเมริกัน The Quiet One (1948) ทีแรกลุ้นรางวัล Best Documentary Feature ปีถัดมายังอีกสาขา Best Writing, Story and Screenplay
สิ่งที่ทำให้ผมชื่นชอบ Street Angel มากกว่า Seventh Heaven เพราะทิศทางเรื่องราวที่มีขึ้น-ลง กลับตารปัตร สวนทาง นำเสนอธาตุแท้ ‘ความรัก’ สามารถแปรสภาพจากมโนทัศน์ ความไม่เข้าใจ … มันช่างเป็นสิ่งว้าวุ่นวาย น่าเหน็ดเหนื่อยหน่ายใจ แต่มนุษย์กลับยังโหยหาใคร่ครวญ พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ
จัดเรต PG กับความพยายามขายตัว คอรัปชั่นทางการ ติดคุกหัวโต และอาการสิ้นหวังของพระเอก
Leave a Reply