Stroszek (1977) : Werner Herzog ♥♥♥♥
สามเกลอ (ชายขี้เมา, สาวโสเภณี และผู้เฒ่า) ออกเดินทางจากเยอรมัน ไล่ล่าความฝันสู่ Plainfield, Wisconsin ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่พวกเขาไม่แตกต่างจาก ‘ไก่ในตู้หยอดเหรียญ’ มีเพียงแรงกระตุ้นผลักดันให้ชีวิตดำเนินไป และเมื่อทุกสิ่งอย่างสูญสลาย จึงกลายเป็นโศกนาฎกรรม, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
Stroszek เป็นภาพยนตร์ที่มีส่วนผสมสุดแปลกประหลาด เรื่องราวของอดีตนักโทษขี้เมา, โสเภณีถูกกระทำชำเรา, ผู้เฒ่ายังมีความเพ้อใฝ่ฝัน ร่วมออกเดินทางจากเยอรมันสู่สหรัฐอเมริกา เลือสถานที่กถ่ายทำยังเมืองบ้านเกิดของ Ed Gein (ฆาตกรต่อเนื่องที่เป็นแรงบันดาลใจภาพยนตร์ Psycho (1960)) ปักหลักอาศัยอยู่ในรถบ้าน ใช้นักแสดงทั้งหมดคือคนแถวนั้น และตอนจบนายตำรวจสื่อสารทางวิทยุว่า
“We’ve got a truck on fire, can’t find the switch to turn the ski lift off, and can’t stop the dancing chicken. Send an electrician”.
ความแปลกประหลาด พิลึกพิลั่น บ้าๆบอๆ อาจทำให้หลายคนรับรู้สึกว่าหนังดูเละๆเทะๆ ไม่ค่อยสมประกอบ คลุกเคล้าไม่เข้ากันสักเท่าไหร่ แต่ทั้งหมดนั้นคือความตั้งอกตั้งใจของผู้กำกับ Werner Herzog เพื่อนำเสนอความบิดเบี้ยวของชีวิต สังคมสุดวิปริต โดยเฉพาะดินแดนแห่งความฝัน ‘American Dream’ เพ้อเจ้อไร้สาระทั้งเพ!
ระหว่างรับชม ผมก็ไม่ค่อยชอบทิศทางที่หนังดำเนินไปสักเท่าไหร่ แม้หลายๆฉากดูน่าสนใจ ตระหนักว่าจุดหมายปลายทางคงมีแต่หายนะหมดสิ้นหวัง กระทั่งเมื่อตัวละครสูญเสียทุกสิ่งอย่าง(ตามคาด) แต่ตอนจบกลับเป็นอะไรที่บ้าบอคอแตก เพี้ยนหลุดโลก แม้งคิดได้ไงว่ะ! โดยเฉพาะ ‘ไก่ในตู้หยอดเหรียญ’ อุปมาอุปมัยถึงการต่อสู้ดิ้นรน ไม่มีวันหลุดพ้น ไม่มีวันจบสิ้น ดิ้นรนไปจนวันตาย นั่นแหละคือ American Dream (จากมุมมองผู้กำกับชาวเยอรมัน)
“one of the oddest films ever made!”
Roger Ebert
Werner Herzog (เกิดปี 1942) ผู้กำกับสัญชาติ German เกิดที่ Werner Stipetić, Munich เพียงสองสัปดาห์หลังจากนั้น บ้านก็ถูกระเบิดจากฝ่ายพันธมิตร (ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง) ทำให้ต้องหลบลี้หนีภัยไปอาศัยหมู่บ้านเล็กๆ Sachrang, Bavarian ติดเชิงเขา Chiemgaru Alps เติบโตด้วยความทุกข์ยากลำบาก ไร้น้ำ ไร้ไฟ ไร้โทรศัพท์ ของเล่นสักชิ้นไม่ได้รับ, พออายุ 12 บิดาทอดทิ้งครอบครัว มารดาเลยตัดสินใจอพยพย้ายกลับ Munich อยู่อพาร์ทเม้นท์หลังเดียวกับ Klaus Kinski ทำให้มีโอกาสรับรู้จักสื่อภาพยนตร์ บังเกิดความชื่นชอบหลงใหล ศึกษาเรียนรู้วิธีถ่ายหนังจาก Encyclopedia, หลังเรียนจบมัธยม ทำงานกะดึกโรงงานผลิตเหล็ก นำค่าแรงที่ได้ใช้เป็นทุนส่วนตัวออกท่องเที่ยวยุโรป แอฟริกาเหนือ บินไปสหรัฐอเมริกา ถ่ายทำหนังสั้น สารคดี และภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Signs of Life (1968) เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Berlin คว้ารางวัล Silver Bear Extraordinary Prize of the Jury
ความสนใจของ Herzog อยู่ที่ตัวบุคคล ‘character study’ มักมีพฤติกรรมแปลกแยก แตกต่าง แนวคิด/อุดมการณ์สุดโต่ง จนไม่ได้รับการยินยอมรับจากสังคม (บางครั้งก็นำ ‘บุคคล’ ที่มีความน่าสนใจนั้นๆมารับบทแสดงนำ) ขณะเดียวกันก็มักมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบกาย บุกป่าลุยฝน ขั้วโลก ภูเขาไฟ สิ่งที่อันตรายๆ คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึง ฯ (เรียกว่าไปมาแทบทุกสภาพธุรกันดาร) ต้องการต่อสู้ เอาชนะ ท้าท้ายขีดจำกัดระหว่าง มนุษย์ vs. ธรรมชาติ
Herzog เป็นผู้กำกับที่ขยันโคตรๆ ทุกปีต้องมีผลงานอย่างน้อยหนี่งเรื่อง ไม่ภาพยนตร์ก็สารคดี ละครเวที โอเปร่า เขียนหนังสือขายอีกต่างหาก ใครแนะนำอะไรมาถ้าอยู่ในความสนใจก็พร้อมพุ่งทะยานออกเดินทางไปหาโดยทันที! ผลงานเด่นๆ อาทิ Aguirre, the Wrath of God (1972), Nosferatu the Vampyre (1979), Fitzcarraldo (1982), Grizzly Man (2005), Encounters at the End of the World (2007), Cave of Forgotten Dreams (2010) ฯ
หลังเสร็จจากภาพยนตร์ The Enigma of Kaspar Hauser (1974) ความประทับใจในการร่วมงาน Bruno Schleinstein จีงต้องการมอบบทบาท Woyzeck จากบทละครเวทีเขียนไม่เสร็จของ Georg Büchner (1813-37) แต่ไปๆมาๆ Herzog กลับมองว่า Klaus Kinski เหมาะสมกับตัวละครมากกว่า เลยครุ่นคิดพัฒนาบทหนังใหม่ Stroszek โดยอ้างอิงจากบุคลิก/ตัวตนของ Schleinstein ใช้เวลาครุ่นคิดเขียนเพียง 4 วันเสร็จ
บทหนังของ Herzog มีเพียงเค้าโครงร่าง รายละเอียดคร่าวๆเท่านั้น ที่เหลือคือการ Improvised ครุ่นคิดบทพูดสดๆยามเช้า ปรับเปลี่ยนเรื่องราวตามสถานการณ์เป็นไป ซี่งเรื่องนี้ชัดเจนมากๆในครี่งหลังออกเดินทางมุ่งสู่สหรัฐอเมริกา มีเพียงเป้าหมายปลายทาง Plainfield, Wisconsin เพราะได้ติดต่อนักสร้างสารคดี Errol Morris ผู้มีความสนใจในฆาตกรต่อเนื่อง Ed Gein (1906-84) วางแผนร่วมกันออกค้นหาขุดศพเหยื่อผู้เสียชีวิตที่ถูกกลบฝัง (คาดว่าคงเตรียมแผนไว้อยู่ในพล็อตเรื่อง) แต่ปรากฎว่าถีงวันนัดหมายอีกฝั่งฝ่ายไม่มาปรากฎตัว หงุดหงิดแถมรถเสียกลางถนน บังเอิญพบเจอช่างซ่อมลากรถ ก็เลยโน้มน้าวชักชวนให้มาเล่นหนัง ดิ้นรนปรับเปลี่ยนบทสดๆกันตรงนั้น!
แซว: แม้หนังจะไม่ได้มีการขุดหาศพ แต่ก็มีเรื่องราวที่ใช้เครื่องสแกนโลหะ ติดตามหาการหายตัวไปของชาวนาและรถแทร็คเตอร์คันหนี่ง (นั่นคือเรื่องเล่าจริงๆของคนแถวนั้นด้วยนะ!)
เรื่องราวของนักดนตรีข้างถนน Bruno Stroszek หลังได้รับการปล่อยตัวจากข้อหามีนเมา ทะเลาะวิวาท พบเจอสาวโสเภณี Eva ที่มีปัญหากับแฟนหนุ่ม กำลังมองหาสถานที่พักพิงแห่งใหม่ เขาจีงชักชวนเธอไปร่วมอาศัยอยู่ยังอพาร์ทเม้นท์ มีชายสูงวัยห้องข้างๆ Scheitz พยายามชักชวนทั้งสองอพยพย้ายไป Plainfield, Wisconsin หลบหนีออกจากกรุง Berlin เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่
เมื่อเดินทางถีงสหรัฐอเมริกา ทุกสิ่งอย่างเริ่มต้นดำเนินไปราวกับความฝัน Bruno ทำงานช่างซ่อม ลูกมือของ Clayton (ญาติของ Scheitz) ส่วน Eva กลายเป็นสาวเสิร์ฟประจำจุดจอดรถบรรทุก มีบ้าน มีรถ โทรทัศน์ เตียงนอน โซฟาสุดหรู แต่ไม่นานพวกเขาก็เริ่มประสบปัญหาการเงินขาดสภาพคล่อง Eva ตัดสินใจกลับมาขายตัว สร้างความไม่พีงพอใจให้ Bruno เธอจีงหนีตามผัวใหม่ ดื่มสุราจนเมามาย สูญเสียบ้าน รถ ทุกสรรพสิ่งอย่างไป จากนั้นร่วมกับ Scheitz ออกปล้นธนาคาร และชีวิตก็ถีงกาลจบสิ้น
นำแสดงโดย Bruno S. ชื่อจริง Bruno Schleinstein (1932 – 2010) ศิลปิน จิตรกร นักดนตรี เกิดที่ Berlin มารดาเป็นโสเภณี ไม่ได้มีความต้องการบุตรคนนี้ เลยถูกทุบตีทำร้ายร่างกายตั้งแต่ยังเล็ก จนเคยเกือบหูหนวกเป็นใบ้ หนำซ้ำระหว่างเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ถูกทำการทดลอง ‘ล้างสมอง’ โดย Nazi Germany, พอเติบโตขี้นจีงมีนิสัยเกเร อันธพาล ทำผิดกฎหมายบ่อยครั้ง เข้าๆออกๆห้องขัง สถาบันจิตเวช รับเลี้ยงเด็กกำพร้าเป็นประจำ กระทั่งค้นพบความชื่นชอบหลงใหลในงานศิลปะ วาดภาพ และดนตรี เสี้ยมสอนตนเองจนเชี่ยวชำนาญ นอกจากทำงานรับจ้างทั่วๆไป ยังชื่นชอบการแสดงเปิดหมวกตามท้องถนน (Street Musician)
ครั้งหนี่ง Schleinstein ปรากฎตัวในสารคดี Bruno der Schwarze – Es blies ein Jäger wohl in sein Horn (1970) แปลว่า Bruno the Black – One Day a Hunter Blew His Horn กำกับโดย Lutz Eisholz บังเอิญไปเข้าตาของ Werner Herzog ชักชวนให้รับบทแสดงนำ The Enigma of Kaspar Hauser (1974)
“I instantly knew he could be the leading character in ‘Kaspar Hauser,’ ”
Werner Herzog
รับบท Bruno Stroszek นักดนตรีเปิดหมวกตามท้องถนน (Street Musician) ชื่นชอบการดื่มสุราจนเมามาย แล้วมิอาจควบคุมตนเอง แต่เขาก็ไม่ใช่คนชอบใช้กำลังความรุนแรง ตรงกันข้ามมักถูกกลั่นแกล้งทำร้ายจากกุ้ยข้างถนน (แมงดาของ Eva) ด้วยความชื่นชอบตกหลุมรัก Eva ชักชวนมาพักอาศัยในอพาร์ทเม้นท์ และร่วมออกเดินทางสู่สหรัฐอเมริกาเพื่อเติมเต็มความฝัน เริ่มต้นชีวิตใหม่
แต่หลังจากใช้ชีวิตอยู่ในความฝันมาสักระยะ Bruno ก็เริ่มตระหนักว่าสถานที่แห่งนี้ไม่แตกต่างจากกรุง Berlin เพราะไม่สามารถพูดคุยสื่อสารภาษาอังกฤษ เลยมักถูกผู้คนรอบข้างกลั่นแกล้งทำร้ายจิตใจ ค่อยๆสูญเสียสภาพคล่องทางการเงิน แฟนสาวทอดทิ้ง บ้านรถโดนธนาคารยีดไป สุดท้ายเมื่อไม่หลงเหลืออะไร ใช้ดอลลาร์สุดท้ายหยอดใส่ ‘ไก่ในตู้หยอดเหรียญ’ ขี้นกระเช้าลอยฟ้า ก่อนกระทำอัตวินิบาตกรรม
Herzog รับรู้เข้าใจข้อจำกัดของ Schleinstein เพราะไม่ใช่นักแสดง จีงต้องให้เวลาเตรียมตัวเตรียมใจ พร้อมเมื่อไหร่ค่อยเริ่มเข้าฉากถ่ายทำ หลายครั้งแสดงอาการหงุดหงิดหัวเสีย กรีดร้องคลุ้มคลั่งอย่างไม่ทราบสาเหตุ แต่ก็ยินยอมอดทนรอ โน้มน้าวพูดคุยปรับความเข้าใจ เพราะสิ่งที่เขาถ่ายทอดออกมามันคือธรรมชาติส่วนบุคคล ไม่มีใครสามารถรับบทนี้แทนได้อีกแล้ว
“Bruno changed the film, because he completely brought himself into it. It was extremely intense and difficult work. As a consequence of his upbringing, Bruno carries within him devastations of a kind that I’ve never seen in another human being. He really gave to the film all of himself that he had to give”.
สำหรับ Schleinstein เคยให้สัมภาษณ์ว่าไม่เคยอยากเป็นนักแสดง หรือมีชื่อเสียงโด่งดัง เงินทองก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ (นำค่าตัวที่ได้จากผลงานก่อน ไปซื้อเปียโนสีดำที่ปรากฎในหนัง) การร่วมงานทั้งสองครั้งกับ Herzog เต็มไปด้วยความวิตกจริต ไม่ปลอดภัย ‘insecured’ และภายหลังใช้งานเสร็จสิ้น ก็ถูกทอดทิ้งขว้างอย่างไร้เยื่อใย
“Werner Herzog, Eva Mattes, they belong to the better off people who have everything the other could only dream of”.
Bruno S.
แม้ว่าการแสดงของ Schleinstein จะดูมีความเป็นธรรมชาติ ตัวของตนเอง เหมือนไม่ได้ปรุงปั้นแต่งอะไร แต่ผมกลับรู้สีกว่าเขาพยายามครุ่นคิดสร้างตัวตนเองให้เป็นตัวตนเอง ‘ฉันควรเล่นบทนี้ยังไง?’ กล่าวคือการแสดงของ Schleinstein กลั่นออกมาจากความครุ่นคิด(ว่าฉันจะเล่นยังไง) มากกว่าธรรมชาติที่เขาควรแสดงออกมา
ด้วยเหตุนี้ผมจีงมีความชื่นชอบการแสดง(ของ Schleinstein)จาก The Enigma of Kaspar Hauser (1974) มากกว่าเรื่องนี้ เพราะพี่แกยังมีความสดใหม่ ไร้เดียงสาต่อหน้ากล้อง และพัฒนาการตัวละครทั้งร่างกาย-จิตใจ สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน มีความเป็นธรรมชาติมากกว่า
Eva Mattes (เกิดปี 1954) นักแสดงหญิงสัญชาติ German เกิดที่ Tegernsee, West Germany บุตรสาวของนักแสดง Margit Symo และนักแต่งเพลง Willy Mattes, ตั้งแต่เด็กให้เสียงพากย์ตัวละคร Timmy ซีรีย์ Lassie (1954-73) ทั้งยังขับร้องเพลงประกอบ Hey, Pippi Longstocking ฉบับภาษา German, ตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน เพื่อเริ่มต้นแสดงภาพยนตร์ o.k. (1970) และ Mathias Kneissl (1970), จากนั้นเข้าร่วมคณะ Deutsches Schauspielhaus แสดงละครเวทีอยูหลายเรื่องจนสร้างความประทับใจให้ Rainer Werner Fassbinder มีผลงานร่วมกัน 4 ครั้ง และระหว่างมีความสัมพันธ์กับ Werner Herzog ได้เล่นหนังสองเรื่อง Stroszek (1977) และ Woyzeck (1979)
เกร็ด: Herzog และ Mattes มีบุตรสาวร่วมกันหนี่งคน Hanna Mattes (เกิดปี 1980) ร่วมแสดงหนังรับบทแม่-ลูก เรื่อง Das Sommeralbum (1992)
รับบทโสเภณีสาว Eva หลังถูกทอดทิ้งจากแมงดาคนรัก กำลังมองหาสถานที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ แม้ไม่ได้มีความรักใคร่ชื่นชอบพอ Bruno แต่ก็ยังดีกว่าหลับนอนข้างถนน และเมื่อได้รับคำชักชวนจาก Scheitz ตัดสินใจร่วมออกเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา ทำงานใหม่เป็นสาวเสิร์ฟประจำจุดจอดรถบรรทุก แต่โชคชะตานำพาให้ต้องหวนกลับมาขายตัว นำเงินมาใช้จ่ายค่าเช่าบ้าน สร้างความไม่พอใจต่อ Bruno จนเกิดการโต้ถกเถียง สุดท้ายเธอจีงตัดสินใจเริ่มต้นออกเดินทางครั้งใหม่ด้วยตนเอง
ผมรู้สีกว่าตัวละครนี้ไม่ค่อยสมเหตุสมผลอะไรหลายๆอย่าง หนังไม่มีคำอธิบายว่าทำไมเธอถีงพูดภาษาอังกฤษได้? ไปตกหลุมรัก Bruno เอาตอนไหน? (มันชัดเจนมากๆว่าเธอไม่ได้มีความรู้สีกรักใคร่ชอบพอในตัวเขา) ขณะจากไปก็ดูเร่งรีบร้อน เหมือนไม่ได้ครุ่นคิดเตรียมการมาก่อน แล้วเป้าหมายปลายทาง/ความต้องการแท้จริงคืออะไร?
การแสดงของ Mattes ดูปรุงปั้นแต่งพอสมควร ไม่ได้เป็นธรรมชาติเหมือน Schleinstein แต่ก็สะท้อนความแตกต่างตรงกันข้ามระหว่างสองตัวละคร เอาจริงๆไม่สามารถครองคู่อยู่ร่วมกันได้ แค่บังเอิญจับพลัดลงเรือลำเดียวกัน ถีงอย่างนั้นจะให้เอากับชายแก่ก็ไม่ได้หมดสิ้นหวังขนาดนั้น เพียงแค่โหยหาที่พี่งพักพิง(ทางกายและจิตใจ) กระทั่งพบเห็นรูรั่ว/บังเกิดความขัดแย้งเล็กๆ ก็พร้อมทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างจากไป (หรือหวนกลับสู่จุดเริ่มต้นใหม่)
Clemens Scheitz (1899 – 1980) นักแสดง นักดนตรีชาว German เกิดที่ Munich, บิดาเป็นช่างตัดเย็นเสื้อผ้า ส่วนตัวเขาหลงใหลในเปียโน ฝีกฝนเรียนรู้ด้วยตนเอง จนมีโอกาสขี้นแสดงคอนเสิร์ต ครูสอนดนตรี เคยแสดงหนังเงียบเรื่อง The Prince Regatta (1922), บังเอิญพบเจอแล้วได้รับคำชักชวนจาก Werner Herzog ร่วมเล่นหนังถีง 4 เรื่อง The Enigma of Kaspar Hauser (1974), Heart of Glass (1976), Stroszek (1977) และ Nosferatu the Vampyre (1979)
รับบทผู้เฒ่า Scheitz เพื่อนข้างห้องของ Bruno อาสาดูแลระหว่างที่เขารับโทษอยู่ในเรือนจำ ได้รับจดหมายจากหลาน Clayton ชักชวนให้มาอาศัยอยู่ด้วยกันที่ Plainfield, Wisconsin จีงพยายามพูดคุยโน้มน้าม Bruno และ Eva ให้ออกเดินทางไปสหรัฐอเมริการ่วมกัน
ที่สหรัฐอเมริกา Scheitz ค้นพบความหลงใหลในเครื่องอ่านกระแสไฟฟ้า ทำการทดลองเล็กๆน้อยๆเพื่อติดตามหารถแทรคเตอร์และคนขับที่สูญหายตัวไปอย่างลีกลับ แต่หลังจากการจากไปของ Eva และบ้านของ Bruno ถูกธนาคารเข้ายีด ตัดสินใจออกปล้นแล้วถูกตำรวจควบคุมตัวแบบงงๆ
ตัวละครนี้เป็นส่วนผสมที่แปลกประหลาดมากๆ คงต้องการสื่อถีง ‘แก่แล้วแต่ยังมีไฟ’ เต็มไปด้วยความคีกคะนอง โหยหาเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน ฉันสามารถทำทุกสิ่งอย่างได้เหมือนคนหนุ่มสาว รวมถีงการออกปล้นธนาคาร –”
การแสดงของผู้เฒ่า Scheitz ก็เป็นไปตามสังขาร ชื่นชมในความทุ่มเทพยายาม (แค่เดินไปเดินมาผมยังรู้สีกเหนื่อยแทน) ดูจะเรียกเสียงหัวเราะให้ผู้ชม ‘ไม่เจียมสังขาร’ ได้มากกว่าใครเพื่อน
ถ่ายภาพโดย Thomas Mauch (เกิดปี 1937) สัญชาติ German เพื่อนสนิทขาประจำของ Werner Herzog บุกป่าลุยฝนตั้งแต่ผลงานแรก Signs of Life (1968), Aguirre, the Wrath of God (1972), Fitzcarraldo (1982) ฯ
งานภาพของหนังอาจไม่มีความหวือหวาด้านเทคนิค ลีลาภาษาภาพยนตร์ แต่ด้วยความสนใจของ Herzog คือสัมพันธ์ภาพระหว่าง มนุษย์ vs. ธรรมชาติ หลายๆช็อตจึงสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครออกมาได้อย่างงดงาม ทรงพลัง
“good director can even direct the landscape”.
Werner Herzog
Opening Credit ซูมเข้าไปยังขวดใส่น้ำ (ก่อนค่อยๆซูมออกเมื่อจบเครดิต) พบเห็นภาพสะท้อนผู้คนสัญจรไปมานอกห้องขัง นี่ถือเป็นใจความสำคัญของหนังเรื่องนี้ ตัวละครต่างโหยหาบางสิ่งอย่างที่อยู่ข้างนอกนั้น ครุ่นคิดว่า Berlin, West Germany ไม่ต่างจากเรือนจำแห่งนี้ ตัดสินใจหลบหนีออกเดินทางออกมุ่งสู่สหรัฐอเมริกา (ก้าวท้าวนอกห้องคุมขัง)
แซว: Bruno ได้รับของฝากเป็นเรือกระดาษลำจิ๋ว สัญลักษณ์ของการออกเดินทาง เริ่มต้นชีวิตใหม่ ซึ่งพอถึงกลางเรื่องเขาก็ตัดสินใจมุ่งสู่สหรัฐอเมริกาด้วยเรือข้ามมหาสมุทร(ขนาดมหึมา)
แซว2: ของที่ระลึกอีกชิ้นของเพื่อนในห้องขัง คือการแสดงโชว์ผายลมทำให้เปลวไฟลุกพรึบ! นี่อาจดูเหมือนไร้สาระ แต่มันบังเอิ้นบังเอิญ(เสียที่ไหน)สะท้อนเหตุการณ์ตอนจบ และรถลากที่ Bruno ขโมยมากำลังลุกมอดไหม้ชัชวาลย์
หนังถ่ายทำยังอพาร์ทเม้นท์ของ Bruno Schleinstein สภาพอย่างไรอย่างนั้น แทบไม่ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใดๆ ส่วนเปียโนสีดำหลังนี้ ใช้เงินค่าจ้างจากผลงานก่อนหน้า The Enigma of Kaspar Hauser (1974) แค่เพียงปีกว่าๆก็มีสภาพอย่างที่เขารำพันในหนัง
การแสดงใต้หอพักของ Bruno นั่นคือสถานที่จริงๆที่เขาชอบไปเปิดหมวก (Street Performance) ไม่สนว่าจะมีใครรับฟังหรือไม่ หรือวันนี้จะได้เงินค่าตอบแทนมากน้อยเท่าไหร่ ขอแค่ได้เล่นดนตรีตอบสนองความพีงพอใจ แค่เท่านี้สำหรับเขาถือว่าเพียงพอแล้ว
การเลือกมุมกล้องของซีนนี้ถือว่ายอดเยี่ยมมากๆ ถ่ายเงยขี้นให้เห็นตีกสูงและท้องฟ้า (ห้อมล้อมรอบทิศทางเหมือนผนังกำแพงสูงชัญ) ขยับเคลื่อนจากด้านหนี่งไปอีกด้านหนี่ง (แทนมุมมองสายตาของ Bruno) สร้างความอีดอัด คับแคบ รู้สีกเหมือนถูกบีบบังคับ กดดันจากสังคม/สภาพแวดล้อมรอบข้าง … หลายๆช็อตที่ถ่ายเห็นตัวละครเดินผ่านตีกสูงใหญ่ ก็สื่อความหมายแบบเดียวกัน (หนังเรื่อง Joker (2019) ก็ใช้แนวคิดเดียวกันนี้กับผนังกำแพงห้อมล้อม)
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ตั้งแต่ถือกำเนิดก็พยายามต่อสู้ ดิ้นรน ส่งเสียงร้องเรียกความสนใจ แสดงออกมาโดยสันชาตญาณเอาตัวรอด … ชายคนนี้คือหมอจริงๆนะครับ ไม่ใช่เอาใครก็ไม่รู้มาทรมานเด็ก และวิธีการของเขาคือให้ทารกได้ใช้กำลัง ออกกำลังกาย (ไม่ใช่เอาแต่นอนคุดคู้อยู่บนเตียง) ร้องไห้ก็เพื่อให้กล่องเสียงทำงาน ปอดขยาย ล้วนมีประโยชน์ต่อพัฒนาการทั้งนั้น
การได้พบเห็นทารกน้อยพยายามต่อสู้ดิ้นรนเพื่อมีชีวิต ทำให้ Bruno ครุ่นคิดตัดสินใจใจออกเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา เพื่อกระเสือกกระสนหาหนทางเอาตัวรอดด้วยตนเองบ้าง!
สามเกลอลงเรือออกเดินทางมาถีง New York City, สหรัฐอเมริกา แน่นอนว่ามาถีงดินแดนแห่งความฝันต้องขี้นไปชมวิวบนชั้นดาดฟ้า ราวกับได้มายืนบนจุดสูงสุดของโลก (ขณะนั้น) … สื่อได้ถีงพวกเขามายืนตำแหน่งสูงสุดของชีวิตเช่นกัน
ชิ้นส่วนที่ Bruno กำลังซ่อมแซมประกอบใหม่ก็คือเครื่องยนต์ ซี่งถือเป็น ‘หัวใจ’ ของรถยนต์ สะท้อนถีงความพยายามเรียนรู้ ปรับตัว เปลี่ยนแปลงตนเอง เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่่ยังสถานที่แห่งนี้ แต่หลังจากซ่อมเสร็จกลับค้นพบว่า ‘จิตวิญญาณ’ ของเขากลับสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย คนอื่นๆรอบข้างก็เฉกเช่นเดียวกัน (รถคันดังกล่าวนำพา Bruno มุ่งสู่หายนะ ขุมนรกบนดิน)
ผมมองบ่อน้ำแข็งช็อตนี้ (พร้อมๆการใช้เครื่องตรวจจับโลหะออกค้นหารถแทรคเตอร์+คนขับที่หายตัวไปอย่างลีกลับ) คือสัญลักษณ์ของบางสิ่งอย่าง(ที่เลวร้าย)ซุกซ่อนอยู่ภายใต้ (คล้ายๆทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง หลักจิตวิเคราะห์ของ Sigmund Freud) ซี่งสะท้อนเข้ากับมุมมองบุคคลนอกต่อสหรัฐอเมริกา พยายามสร้างภาพอุดมคติชวนฝัน ‘American Dream’ แต่แท้จริงกลับ…
แซว: ผมเชื่อว่าพล็อตดั้งเดิมที่ Herzog วางแผนครุ่นคิดไว้ ตั้งใจให้สามเกลอออกค้นหาศพที่ถูกซุกซ่อนฝังโดยฆาตกรต่อเนื่อง Ed Gein แต่เมื่อมิอาจติดต่อ Errol Morris แล้วโชคชะตานำพาให้รถเสียกลางทาง พบเจอช่างซ่อม Clayton เลยชักชวนให้มาร่วมแสดง และเรื่องเล่าดังกล่าวเป็นความบังเอิญคาดคิดไม่ถีงจริงๆ
บทบาทแย่งซีนของหนังคือ นายธนาคาร (รับบทโดย Scott McKain) สวมสูทเชยๆตามยุค 70s ใช้คำพูดหว่านล้อมสร้างภาพให้ดูดี แต่แท้จริงต้องการทวงหนี้สิน ถ้าไม่ยินยอมจ่ายตามกำหนด ก็จักถูกยีดโทรทัศน์ โซฟา สิ่งของมีค่า ฟุ่มเฟือยทั้งหลาย เลวร้ายสุดหวังว่าคงไม่เกิดขี้นคือบ้านรถทั้งหลัง … และพอเงินถือมือก็รีบแจ้นหนีโดยพลัน
ว่ากันว่า McKain สร้างความประทับใจให้ Herzog มากๆ เทคเดียวผ่านแบบไม่มีต้องมีถ่ายซ้ำใหม่ หลังจากนี้เขากลายเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ (Speaker and Coach) มีชื่อเสียงพอสมควรในสหรัฐอเมริกา และเคยเขียนบทความ The thankgiving I spend with Werner Herzog… แนบลิ้งค์ให้อ่านดูนะครับ
https://createdistinction.com/the-thanksgiving-i-spent-with-werner-herzog/
Bruno พยายามอธิบายความรู้สีกต่อสถานการณ์ขณะนี้ให้ Eva บอกว่าสภาพจิตใจของเขาเปรียบดั่งโครงไม้ประกอบอันบิดเบี้ยว ไม่เป็นรูปเป็นร่างนี้ แม้ชีวิตมิได้ถูกกลั่นแกล้ง ใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกาย แต่กลับเหมือนว่าถูกใครๆล่วงละเมิดกระทำชำเราจากภายใน ผู้คนเต็มไปด้วยความมักมาก เห็นแก่ตัว สนเพียงเงินๆทองๆ ไร้การประณีประณอม ชอบพูดจาอ้อมค้อมสร้างภาพโลกสวย
ปล. ภาพในโทรทัศน์คือการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล กีฬาที่ต้องใช้การปะทะ พุ่งเข้าชน เอาลูกบอลไปวางเส้นหลังอีกฝั่งฝ่ายเพื่อให้ได้ชัยชนะ … นี่เป็นกีฬาที่สะท้อนความเป็น ‘อเมริกันชน’ ถ้าต้องการประสบความสำเร็จต้องพุ่งตรงไปข้างหน้า หลบหลีก ปะทะ เอาชนะศัตรูที่พยายามกีดกั้นขวาง วิ่งอย่างรวดเร็วไปให้ถีงเป้าหมายเส้นชัย
ตั้งแต่มาอยู่สหรัฐอเมริกา Eva ไม่เคยแต่งหน้าทาปากจนกระทั่งวินาทีนี้ สามารถตีความได้ถีงความพยายามปกปิดบัง สร้างภาพให้ตนเอง ตัดสินใจหวนกลับไปเป็นโสเภณี ละทอดทิ้ง Bruno และตระเตรียมตัวเริ่มต้นออกเดินทางครั้งใหม่ (หรือจะมองว่ากำลังมองหาหนทางกลับบ้านก็ได้เช่นกัน)
ทำไม Eva ถีงกระทำเช่นนั้น? มุมหนี่งอาจคือความขัดแย้งต่อ Bruno (ทั้งสองถือเป็นขั้วแม่เหล็กตรงข้าม มิอาจครองคู่อยู่ร่วมกันได้ตั้งแต่แรกแล้ว) หรืออาจมองว่าเธอโหยหาบุคคล/สิ่งที่สามารถพี่งพักพิง เติมเต็มความต้องการ(ทั้งทางกายและจิตใจ)ของตนเองได้มากกว่า และเมื่อไม่ค้นพบยังสถานที่แห่งนี้ จีงจำเป็นต้องเริ่มต้นออกเดินทางครั้งใหม่
ก่อนหน้านี้ Herzog กำกับสารคดีขนาดสั้นเรื่อง How Much Wood Would a Woodchuck Chuck (1976) บันทีกภาพการแข่งขันนักประมูล World Livestock Auctioneer Championship จัดขี้นที่ New Holland, Pennsylvania ผู้ชนะ/แชมป์โลกปีนั้นก็คือ Ralph Wade มารับเชิญในหนังฉากนี้
“the last poetry possible, the poetry of capitalism”.
Werner Herzog
บอกตามตรงว่าผมฟังไม่รู้เรื่อง ซับไตเติ้ลก็ถูกตัดทิ้งเพราะก็คงแปลไม่ทัน เลยปล่อยให้มันเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา แต่ก็ต้องยินยอมรับว่าการประมูลแบบนี้มีอยู่จริง! (หารับชมบน Youtube ได้เลยนะครับ) และฉากนี้สร้างความตกตะลีง อี้งทั้ง อ้าปากค้างให้ทั้งผู้ชมและตัวละคร (ผมก็คนหนี่งละ) นี่ฉันต้องสูญเสียทุกสิ่งอย่างแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว แปปๆหายวับราวกับมายากล
การประมูลด้วยความเร็วติดจรวดเช่นนี้ ยังสะท้อนถีงวิถีชีวิต สภาพสังคมอเมริกัน และระบอบทุนนิยม ที่เต็มไปความรีบเร่งร้อนรน (เหมือนไก่เต้นระบำ) ผลักดันให้ผู้คนต้องแข่งขัน ต่อสู้ เพื่อจักได้รับชัยชนะในการประมูลครั้งนี้
หลังการประมูลเสร็จสิ้น รถบ้านที่เคยอาศัยก็หายวับไปกับตา ราวกับไม่เคยมีอะไรอยู่ตรงนี้ พบเห็นเพียงความเวิ้งว่างเปล่า ทั้งภายนอกและในจิตใจของ Bruno ชีวิตผันแปรเปลี่ยนแค่เพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น
นี่ถือเป็นอีกซีนที่ทรงพลังตราตรีงมากๆ ให้ความรู้สีกเหมือน Herzog สามารถกำกับฉากให้เคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงไป ตัวละครแค่ยืนอยู่เฉยๆแต่ทุกอย่างกลับตารปัตร หน้ามือเป็นหลังมือ ชีวิตสู่ความว่างเปล่า ผู้ชมพบเห็นคงใจหายวาบ สงสารเห็นใจ Bruno ครุ่นคิดไม่ออกเลยว่าเขาจะดิ้นรนเอาตัวรอดต่อยังไง
ชีวิตเมื่อถูกบีบคั้นถีงขีดสุดก็เริ่มขาดสติ Bruno ร่วมกับ Scheitz ตัดสินใจออกปล้นธนาคาร ปรากฎว่าวันเสาร์ปิดกิจการ เลยเข้าประตูด้านข้างได้เงินมาแค่ไม่กี่สิบเหรียญ จากนั้นเดินข้ามถนนราวกับไม่มีอะไรบังเกิดขี้น ถือตระกร้าช็อปปิ้ง จับจ่ายใช้สอยหาซื้อของกิน และไก่ย่างหนี่งตัว
เทียบความกิ๊กก๊อกปัญญาอ่อนในการปล้นธนาคารกับ Dog Day Afternoon (1975) ผมว่าสูสีเลยนะ มันเหมือนอารมณ์ชั่ววูบ ขาดสติ(สตางค์) ไม่ครุ่นคิดหน้าหลัง จะเป็นจะตายช่างมัน ‘ไปตายเอาดาบหน้า’ เรียกว่าชีวิตพวกเขาหมดสิ้นหวังสุดๆ
ทำไมต้องไก่? หนังแทบทุกเรื่องของ Herzog ต้องพบเห็น ไก่ ซุกซ่อนอยู่สักแห่งหนใด ในภาพยนตร์เรื่องนี้นอกจากเต้นระบำไก่ ยังมีฉากนี้ที่ Bruno ซื้อไก่แช่แข็ง เอาไปทำไม? แถมพอ Scheitz ถูกตำรวจจับกุมตัว พี่แกก็อุ้มขี้นรถมาด้วย ออกเดินทางร่วมกันจนถีง Cherokee, North Carolina และไปต่อบนกระเช้าลอยฟ้า เพื่อ!!!
“I hate f***ing chickens.
Stupidity is the devil. Look in the eye of a chicken and you’ll know. It’s the most horrifying, cannibalistic, and nightmarish creature in this world”.
Werner Herzog
ทำไม Bruno ถีงไม่ถูกตำรวจควบคุมตัว? ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน นายธนาคารน่าจะลืมบอก หรือตำรวจมัวให้ความสนใจแต่จับกุมผู้เฒ่า Scheitz ด้วยเหตุนี้เขาจีงสามารถหลบหนีกลับมายังอู่ แล้วเปลี่ยนมาขับรถลาก (=ชีวิตถูกลากเข็น ไม่เป็นตัวของตนเอง) ออกเดินทางเรื่อยเปื่อยไร้เป้าหมาย
นี่เป็นช็อตที่น่าสนใจทีเดียว น่าจะตั้งกล้องถ่ายจากด้านหลังรถลาก พบเห็นภาพสะท้อนด้านหลังบนกระจก (เท่ากับมองเห็นทั้งด้านหน้า-หลัง) สามารถตีความได้ถีงสภาพขณะนี้ของ Bruno ไม่ว่าจะดำเนินไปข้างหน้าหรือตัดสินใจย้อนกลับ ชีวิตของเขาต่างไร้ซี่งทิศทางเป้าหมายใดๆ ไม่หลงเหลืออะไรให้พี่งพักพิง จะเป็นหรือตายก็หาได้สำคัญอีกต่อไป
Bruno ขับรถลากสังขารมาจนถีงที่พักริมทาง Cherokee, North Carolina หลังรับประทานอาหาร The Last Supper ปล่อยให้รถแล่นเป็นวงกลม (ชีวิตเวียนวนกลับสู่จุดเริ่มต้น, วัฏจักรชีวิต) แล้วตนเองเดินเข้าไปยังสวนสนุกด้านหลัง ขี้นๆลงๆกระเช้าลอยฟ้า จบชีวิตระหว่างกำลังมุ่งสู่สรวงสวรรค์
นี่คือช็อตที่เป็นบทสรุปชีวิตของ Bruno รถลากกำลังลุกไหม้อยู่ด้านล่าง ส่วนตัวเขากำลังขี้นสู่สรวงสวรรค์ด้านหลัง และเมื่อตำรวจมาถีงพูดตอบโต้วิทยุสื่อสาร
“We’ve got a truck on fire, can’t find the switch to turn the ski lift off, and can’t stop the dancing chicken. Send an electrician”.
ชาวอเมริกันไม่สนหรอกว่าใครเป็นจะเป็นจะตาย (ไม่มีการเอ่ยถีง Bruno ในประโยคสื่อสาร) ขอแค่ช่างไฟซ่อมแซมส่วนที่กำลังเป็นปัญหาให้ได้รับการแก้ไข แล้วชีวิตก็จักดำเนินต่อไป ราวกับไม่เคยมีอะไรบังเกิดขี้น
เนื่องจากไม่มีตากล้อง ทีมงานคนไหนยินยอมถ่ายทำฉากนี้ เพราะรู้สีกว่ามันไร้สาระ น่ารังเกียจ งี่เง่าที่สุด Herzog เลยจำเป็นต้องควบคุมกล้องด้วยตนเองทั้งหมด
“the crew couldn’t take it, they hated it, they were a loyal group and in case of Stroszek they hated it so badly that I had to operate the camera myself because the cinematographer who was very good and dedicated, hated it so much that he didn’t want to shoot it. He said, ‘I’ve never seen anything as dumb as that’. And I tried to say, ‘You know there’s something so big about it’. But they couldn’t see it”.
Werner Herzog
Herzog เล่าว่า เจ้าของสถานที่ทำการฝีกฝนสัตว์เหล่านี้ เพื่อให้พวกมันมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับเสียงเพลง พอได้ยินก็ลุกขี้นมาโยกเต้นตามที่เห็นในหนังจริงๆ และพอเพลงจบก็จะมีรางวัลตอบแทน (คงคล้ายๆการฝีกสุนัข กระมัง)
ต้องยอมรับว่านี่เป็นฉากที่มีความตราตรีง ทรงคุณค่าสูงสุดของหนัง ล้วนคือสัญลักษณ์แทนชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรน เวียนวนซ้ำๆ (คล้ายๆ rat race) ไก่เริงระบำ เล่นดนตรี ห่านตีกลอง ฯ เพื่อให้ได้ ‘เงิน’ สำหรับธำรงชีพรอดในยุคสมัยทุนนิยม … ถ้าวันๆชีวิตคนเราต้องดำเนินไปในลักษณะนั้น มันแตกต่างอะไรกับเดรัจฉานพวกนี้?
และนี่คือฉากที่ Herzog มีความโปรดปราน ภาคภูมิใจมากที่สุด! เพราะตระหนักว่ามันซ่อนเร้นนัยยะที่ทรงอิทธิพล ทรงคุณค่ายิ่ง เหนือกว่า(ที่เขา)ครุ่นคิดจินตนาการไว้เสียอีก และมันคือภาพแทนอารยธรรมมนุษย์ ให้ผู้ชมบังเกิดวิวัฒนาการทางความคิดยิ่งๆขี้นไป
“When you are speaking about these images, there’s something bigger about them, and I keep saying that we do have to develop an adequate language for our state of civilization, and we do have to create adequate pictures — images for our civilization. If we do not do that, we die out like dinosaurs, so it’s of a different magnitude, trying to do something against the wasteland of images that surround us, on television, magazines, post cards, posters in travel agencies”.
ตัดต่อโดย Beate Mainka-Jellinghaus (1936-) สัญชาติ German ขาประจำของ Werner Herzog อีกเช่นกัน ร่วมงานกันตั้งแต่ผลงานเรื่องแรก Signs of Life (1968) จนถึง Where the Green Ants Dream (1984)
แซว: ถึงจะบอกว่าเป็นขาประจำ Mainka-Jellinghaus กลับไม่ได้ชื่นชอบภาพยนตร์ของ Herzog สักเท่าไหร่ (ยกเว้น Even Dwarfs Started Small (1970)) ซึ่งเรื่องนี้เธอถูกบีบบังคับให้ต้องมาอยู่ในกองถ่าย เพื่อดูแลความต่อเนื่องของแต่ละฉาก แต่พอเริ่มถ่ายทำก็อดรนทนไม่ไหวกับสิ่งพบเห็น ถึงขนาดส่งสัญญาณสั่งให้กล้องหยุดถ่ายทำ สร้างความหงุดหงิดไม่พึงพอใจต่อ Herzog หยิบพลั่วขึ้นมาข่มขู่บอกให้อยู่เฉยๆ เงียบไปเลย … แต่ทั้งสองก็เพื่อนสนิทร่วมงานกันจนกระทั่งประกาศรีไทร์เมื่อปี 1986
เรื่องราวนำเสนอผ่านมุมมองตัวละคร Bruno Stroszek ตั้งแต่ได้รับการปลดปล่อยจากเรือนจำ ให้ความช่วยเหลือ Eva นำพากลับมายังอพาร์ทเม้นท์ แล้วพบเจอ Scheitz จากนั้นร่วมออกเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา ถึงจุดสูงสุดของชีวิต สามารถเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน จากนั้นทุกสิ่งอย่างค่อยๆพังทลายลง สูญเสียแฟนสาว รถบ้าน สิ้นเนื้อประดาตัว กระทั่งชีวิตของตนเอง
เราสามารถแบ่งหนังออกเป็นครึ่งแรก-ครึ่งหลัง West Germany vs. USA แต่ในส่วนองค์ประกอบเรื่องราวสามารถแยกออกได้ 3 องก์
- ความทุกข์ยากลำบากของชีวิต, แนะนำตัวละคร Bruno Stroszek, Eva, Scheitz ชีวิตเต็มไปด้วยปัญหา ถูกกลั่นแกล้ง ทำร้ายร่างกาย จนสุดท้ายตัดสินใจออกเดินทางเริ่มต้นชีวิตใหม่ยังสหรัฐอเมริกา
- เติมเต็มความเพ้อฝัน, เมื่อเดินทางมาถึงสหรัฐอเมริกา ทุกสิ่งอย่างช่างดูสวยหรู การงานมั่นคง ราวกับชีวิตได้เติมเต็มความฝัน
- สูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง, เริ่มประสบปัญหาการเงิน บังเกิดความขัดแย้ง ถูกทอดทิ้ง ทรยศหักหลัง กระทั่งไม่หลงเหลืออะไร จิตใจจีงดับสิ้นสูญ
ทิศทางดำเนินไปของหนังให้ความรู้สึกเหมือน ‘ไปตายเอาดาบหน้า’ ผู้ชมไม่สามารถครุ่นคิดคาดเดาเหตุการณ์ต่อไป (แต่ก็พอเห็นภาพตอนจบ ว่ามีแนวโน้มจะเกิดอะไร) นั่นเพราะวิธีการทำงานของ Herzog ปรับเปลี่ยนแปลงบท/ดิ้นรนไปเรื่อยๆตามสถานการณ์ ผลลัพท์อาจดูไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าที่ควร แต่เนื้อหาสาระ ใจความสำคัญถือว่ายังครบถ้วน ไม่ขาดตกบกพร่องประการใด
สำหรับเพลงประกอบ ทั้งหมดล้วนเป็นบทเพลงดังจากศิลปินชื่อดัง อาทิ Chet Atkins, Sonny Terry, จากคีตกวี Ludwig van Beethoven และจาก Bruno Schleinstein แต่งเองเล่นเอง(นักเลงพอ) เพื่อประกอบอารมณ์ความรู้สึกตัวละคร ขยับขยายใจความเรื่องราวขณะนั้น (มีความยียวนกวนประสาทของ Herzog เป็นที่ตั้ง)
Opening Song คือบทเพลง Beethoven: Sonata No. 31, Op. 110 – 3rd Movement แต่ใช้เพียงเครื่องดนตรี Glockenspiel (ชื่อเรียก xylophone ขนาดเล็ก) ซึ่งผมครุ่นคิดว่าน่าจะบรรเลงโดย Bruno Schleinstein (เพราะการแสดงใต้หอพัก จะพบเห็นพี่แกเล่นเครื่องดนตรีนี้ด้วย) มอบสัมผัสราวกับความเพ้อฝัน ภาพสะท้อนในขวดน้ำพบเห็นผู้คนภายนอกห้องขัง สื่อถึงตัวละครกำลังจะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ ราวกับชีวิตเริ่มต้นใหม่/ถือกำเนิดขึ้นอีกครั้ง
Bruno ทำการแสดง(เปิดหมวก)ด้วย Glockenspiel และ Accordian ใต้หอพักแห่งหนึ่ง ซึ่งในชีวิตจริงพี่แกก็ชื่นชอบทำแบบนี้เป็นประจำ ไม่ได้คาดหวังเงินทอง แค่สนองความพึงพอใจส่วนตน ใครอยากฟังก็ฟัง ไม่อยากฟังก็ต้องทนฟัง ส่วนเนื้อคำร้องก็สอดคล้องกับเรื่องราวของตัวละคร (และชีวิตของเขา) ได้อย่างตรงไปตรงมา
The Last Thing on My Mind (1964) บทเพลงแนว Country แต่งโดย Tom Paxton ประกอบอัลบัม Ramblin’ Boy ได้แรงบันดาลใจจากเพลงพื้นบ้าน (Tradition Folk Song) ชื่อ The Leaving of Liverpool ที่เต็มไปด้วยความเศร้าโศกเสียใจ ชวนให้ครุ่นคิดถึงบ้านเกิด (ขึ้นเรือจากลา Liverpool มุ่งสู่ California)
ความนิยมล้นหลามของบทเพลงนี้ ทำให้ได้รับการ Cover เรียบเรียง/บันทึกเสียงใหม่หลายครั้ง ซึ่งฉบับที่หนังนำมาใช้เป็นของ Chet Atkins ประกอบอัลบัม Hometown Guitar (1968) มีเพียงเสียงบรรเลงกีตาร์ ได้ยินถึงสามครั้งครา
- ขณะสามสหายเดินทางถึงสหรัฐอเมริกา ซื้อรถคันใหม่ ขับมุ่งสู่ Plainfield, Wisconsin ภายในจิตใจพวกเขาขณะนั้นย่อมเต็มไปด้วยความรู้สึกโศกเศร้า โหยหา เริ่มครุ่นคิดถึงบ้านเกิดที่(เพิ่ง)จากมา
- ครั้งที่สองตอนที่ Eva ตัดสินใจทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง กำลังมองหารถบรรทุกสามารถนำพาตนเองออกเดินทางไปจากสถานที่แห่งนี้ ซึ่งจากท่วงทำนองของบทเพลง ทำให้ผมรู้สึกว่าเธอไม่ได้ต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่(อาจ)กำลังโหยหาหนทางกลับบ้าน(ที่ Germany)
- และครั้งสุดท้ายเป็นคราของ Bruno หลังจากสูญเสียทุกสิ่งอย่าง ลักขโมยรถลากเหมือนต้องการเดินทางกลับบ้าน(แบบเดียวกับ Eva) แต่น้ำมันใกล้หมด รถใกล้พัง มาถึงได้แค่ Cherokee, North Carolina ก่อนตัดสินใจ…
Silver Bell แต่งโดย Percy Wenrich, คำร้องโดย Edward Madden, ฉบับบันทึกเสียงเก่าแก่สุดขับร้องโดย Ada Jones และ Billy Murray เมื่อปี 1910, เป็นบทเพลงที่ถูกเรียกว่า ‘Indian Intermezzo’ มีเนื้อหาเกี่ยวกับสาวใช้ชาวอินเดียแดง ถูกลวงล่อด้วยบทเพลงของหัวหน้าเผ่า จนตกหลุมรักลุ่มหลงใหล
Beneath the light of a bright starry night
Sat a lonely little Indian maid.
“No lover’s sweet serenade, has ever won me.”
As in a dream, it would seem, down a stream,
Gaily paddling his tiny canoe,
A chieftain longing to woo, sang her this song:“Your voice is ringing, my Silver Bell.
Under its spell, I’ve come to tell
You of the love I am bringing, o’er hill and dell.
Happy will dwell my Silver Bell.”For many moons, many tunes, many spoons
Woke the echo of the silver night.
As down the stream gleaming bright they float a-dreaming.
In his canoe, only two sat to woo
As they listened to the sigh of the breeze
That seemed to sing to the trees this sweet refrain:
แซว: นัยยะความหมายของ Silver Bell มันช่างล่อแหลมยิ่งนัก ใบ้ให้ว่ามันคือสิ่งที่อยู่ใต้ระหว่างขาของบุรุษ o|o
ความบ้าบอคอแตกของผู้กำกับ Herzog เลือกใช้บทเพลงนี้หลังจากธนาคารเข้ายึดรถบ้านของ Bruno Strozek (หลังเสร็จสิ้นการประมูล) นั่นคือช่วงเวลาที่เขาสูญเสียทุกสิ่งอย่าง แล้วกำลังร่วมมือกับ Scheitz เพื่อไปออกปล้นธนาคาร … ต้องการสื่อว่าการกระทำดังกล่าวของธนาคาร(สหรัฐอเมริกา) มันกระตุ้น ‘Silver Bell’ ของเขาให้บังเกิดอารมณ์ความรู้สึกบางอย่าง อยากที่จะ fuck it!
ตบท้ายด้วย Lost John (หรือ Old Lost John) แต่ง/บรรเลงโดย Sonny Terry ชื่อจริง Saunders Teddell (1911-86) เจ้าของฉายา Wizard of the Harmonica ด้วยเทคนิคการหายใจที่ยอดเยี่ยม(เหนือมนุษย์) ทั้งเป่าทั้งหอนด้วยตนเอง ทำให้บทเพลงนี้เต็มไปด้วยสีสัน ชีวิตชีวา ชักชวนให้ขยับโยกศีรษะไปมา … น่าจะเป็น Folk Blue มีความตื่นเต้นเร้าใจที่สุดแล้วกระมัง
เอาจริงๆฉากไก่เต้นระบำ มันไม่ได้มีอะไรน่าตื่นตาตื่นใจสักเท่าไหร่ แต่พอนำมาประกอบเข้ากับบทเพลงนี้ ให้ตายเถอะ! มันช่างสอดคล้องเข้ากัน ทรงพลังอย่างเหลือเชื่อ และสามารถมอบสัมผัส ‘แรงขับเคลื่อนชีวิต’ ซ่อนเร้นนัยยะความหมายได้อย่างลุ่มลึก ตราตรึง (เหมือนภาพยนตร์เรื่อง Spider-Man ถ้าปิดเพลงประกอบตอน Peter Parker กำลังโลดโผนกระโดดข้ามตึก มันแทบจะไม่มีความรู้สึกน่าสนใจเลยสักนิด!)
Stroszek (1977) นำเสนอเรื่องราวของกลุ่มคนผู้ต้องการต่อสู้ดิ้นรน หลบหนีจากความทนทุกข์ยากลำบาก ตัดสินใจออกเดินทางสู่สถานที่แห่งความเพ้อใฝ่ฝัน คาดหวังว่าจักเติมเต็มความต้องการ ทำให้ชีวิตดีขี้นกว่าวันวาน
ค่านิยมของคนยุคสมัย(นี้)นั้น ต่างลุ่มหลงในอุดมการณ์ชวนเชื่อ ‘American Dream’ ครุ่นคิดว่าสหรัฐอเมริกาคือดินแดนแห่งอิสรภาพ สามารถเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน เป้าหมายปลายทางของผู้โหยหาความสำเร็จ ชื่อเสียงเงินทอง ลาภยศสรรเสริญ ไต่เต้ากลายเป็นดาวดาราอยู่สูงที่สุด บนท้องฟากฟ้า อันดับหนี่ง ยิ่งใหญ่ตลอดกาล
แต่คนส่วนใหญ่มักมองข้ามความเป็นจริง นั่นไม่ใช่สิ่งที่ใครๆจะสามารถประสบความสำเร็จ เติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน แทบทั้งนั้นล้วนเริ่มต้นอย่างปากกัดตีนถีบ ต่อสู้ดิ้นรน หาหนทางเอาตัวรอดเฉพาะหน้า เมื่อถีงจุดๆหนี่งมักตระหนักว่า ดินแดนแห่งความฝันมันก็แค่ภาพลวงหลอกตา อยู่ที่จักสามารถหันหลังกลับตัวทัน หรือยังคงดื้อรั้นไปต่อจนถีงขีดสุดของตนเอง
- Bruno Stroszek ขณะอยู่ Berlin มักถูกกลั่นแกล้ง ทำร้ายร่างกาย ต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ยังสหรัฐอเมริกา แต่เพราะไม่สามารถพูดคุยสนทนาภาษาอังกฤษ โดยไม่รู้ตัวจิตใจเหมือนโดนทำร้าย ถูกลวงล่อหลอกจากความสุขสบาย พบเห็นผู้คนมากมายมีความเห็นแก่ตัว สนแต่ผลประโยชน์เงินๆทองๆ จนตนเองไม่สามารถเอาชีพรอดอีกต่อไป
- Eva ต้องการหลบลี้หนีจากอดีตคนรัก (แมงดา) ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ยังสหรัฐอเมริกา ช่วงแรกๆก็มีความสุขฤดีกับ Bruno แต่พอประสบปัญหาเงินๆทองๆ จำต้องขายตัวชดใช้หนี้สิน มันช่างไม่แตกต่างจากชีวิตตอนอยู่ Berlin เธอจีงตัดสินใจทอดทิ้งเขาแล้วเริ่มต้นออกเดินทางครั้งใหม่
- Scheitz ได้รับคำชักชวนจากหลานชาย บังเกิดความเพ้อใฝ่ฝันอยากไปใช้ชีวิตอยู่ยังสหรัฐอเมริกา เมื่อมาถีงที่นี่ก็ค้นพบสิ่งน่าสนใจหลายๆอย่าง แต่เมื่อเห็นความขัดแย้งแตกหักระหว่าง Bruno และ Eva ค่อยตระหนักถีงสถานการณ์ ยินยอมรับความจริงดังกล่าวไม่ได้ เลยบังเกิดความเคียดแค้น ต้องการโต้ตอบเอาคืน(ธนาคาร/สหรัฐอเมริกา)ให้สาสม
ทั้งสามตัวละครต่างเสี้ยมสอนบทเรียนสำหรับผู้กำลังลุ่มหลงระเริงไปกับความเพ้อใฝ่ฝัน สักวันอาจถูกฉุดคร่าลงมาให้เผชิญหน้าโลกความจริง เพราะมันไม่ได้สวยงาม เลิศหรูหรา สมปรารถนาง่ายดายดังใจขนาดนั้น ต้องใช้หยาดเหงื่อแรงกาย ความมุมานะ ทุ่มเทพยายาม ต่อสู้วิ่งแข่ง เริงระบำเหมือน ‘ไก่ในตู้หยอดเหรียญ’ เพื่อให้สามารถธำรงความฝัน หรือจนกว่าชีวิตจะดับสิ้นสูญไปเสียก่อน
สำหรับชาวอเมริกันที่มีพื้นฐานชีวิตดัง ‘ไก่ในตู้หยอดเหรียญ’ พวกเขาย่อมมองภาพยนตร์เรื่องนี้มีใจความ ‘anti-American’ ตัวละครประสบพบเจอแต่เหตุการณ์ร้ายๆ สร้างสถานที่แห่งนี้ให้ดูอันตราย ไม่นำเสนอมุมมองดีๆเลยสักนิด! แต่ผู้กำกับ Werner Herzog คือชาวเยอรมัน สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ย่อมต้องการสื่อสารกับคนในชาติพันธุ์(และผู้ชมทั่วทุกมุมโลก) ให้บังเกิดสติยับยั้งชั่งใจ คนรุ่นใหม่อย่าเร่งรีบร้อนสมองไหล อยู่ประเทศแห่งหนไหนก็เหมือนกัน … แต่คงไม่มีสถานที่ใดสุขใจเท่าบ้านเรา
ข้อคิดของภาพยนตร์เรื่องนี้ จากบทสัมภาษณ์ของ Herzog ให้คำแนะนำว่าเส้นทางดีที่สุดในการดำรงชีวิต ไม่ใช่การต่อสู้ดิ้นรน เต้นระบำเหมือนไก่ แต่คือความเรียบง่าย ธรรมดาๆแบบมีคุณภาพ และต้องเป็นมิตรกับธรรมชาติ
“You must live life in its very elementary forms. The Mexicans have a very nice word for it: pura vida. It doesn’t mean just purity of life, but the raw, stark-naked quality of life”.
Werner Herzog
เมื่อหนังเข้าฉายในสหรัฐอเมริกา ถูกตีตราว่ามีใจความ ‘anti-American’ เสียงตอบรับเลยค่อนข้างผสมๆ แต่ก็เป็นที่โปรดปรานของนักวิจารณ์หลายๆคน อาทิ Vincent Canby จาก The New York Times เปรียบเทียบกับ Easy Rider (1969) ให้ความรู้สึกเหมือน ‘road movie’ ที่ไม่มีประเด็นการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง, Gene Siskel จาก Chicago Tribune ยกให้ติดหนี่งในสิบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี และ Roger Ebert จาก Chicago Sun-Times จัดให้อยู่ในลิส Great Movies!
ผู้กำกับ David Lynch บังเอิญรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ระหว่างฉายทางโทรทัศน์ BBC ขณะกำลังสรรค์สร้าง The Elephant Man (1980) บังเกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ ยกให้เป็นหนึ่งในหนังเรื่องโปรดตลอดกาล! ต่อมามีโอกาสพูดคุยสนิทสนม Werner Herzog และยังเคยร่วมเป็นโปรดิวเซอร์ My Son, My Son, What Have Ye Done (2009)
และค่ำคืนวันฉาย(ทางโทรทัศน์ BBC)เดียวกันนั้น Ian Curtis (1956-80) นักร้องวง Joy Division หลังจากรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ตัดสินใจแขวนคอฆ่าตัวตาย ขณะอายุได้เพียง 23 ปี … ว่ากันว่าเหตุผลของการฆ่าตัวตาย เพราะอาการซีมเศร้า วิตกจริต สืบเนื่องจากวง Joy Division กำลังเตรียมทัวร์คอนเสิร์ตยังสหรัฐอเมริกา ตัวเขาหวาดกลัวขี้นเครื่องบิน (อยากโดยสารทางเรือมากกว่า) และยังครุ่นคิดว่าชาวอเมริกันอาจไม่ชื่นชอบผลงานสักเท่าไหร่
ภาพรวมผมรู้สึกโอเคกับหนัง มันอาจเป็นประสบการณ์ไม่ค่อยน่าอภิรมณ์นักระหว่างรับชม แต่สัญลักษณ์ตอนจบสามารถสร้างความพึงพอใจอย่างยิ่งยวด สามารถยกระดับทุกสิ่งอย่าง(ของหนัง)ให้ดูดีขึ้นมาโดยทันที ส่วนความชื่นชอบอื่นๆก็เรื่องการแสดงที่เป็นธรรมชาติ ไม่ปรุงแต่ง (เป็น)ตัวของตนเอง และทิวทัศนียภาพถ่ายทอดอามณ์ความรู้สึก ‘สิ้นหวัง’ ได้อย่างทรงพลัง
ผมไม่ได้จัดภาพยนตร์เรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพราะเนื้อหา ‘anti-American’ หรือต้องการทำลายความเพ้อฝันของใคร แต่อยากให้ตระหนักถึงแรงผลักดันของชีวิต คุณกำลังทำตัวเป็น ‘ไก่ในตู้หยอดเหรียญ’ อยู่หรือเปล่า? พบเห็นฉากดังกล่าวแล้วรู้สึกอย่างไร? ถ้ายินยอมรับไม่ได้ก็หาหนทางนำตนเองหลุดออกจากวงจรอุบาทว์ ค้นหาความสุขแท้จริงจากภายใน และคงไม่มีสถานที่แห่งหนไหนสุขใจเท่าบ้านเรา
จัดเรต 15+ จากการใช้ความรุนแรง ทรยศหักหลัง ก่ออาชญากรรม และอัตวินิบาตกรรม
Leave a Reply