Sullivan's Travels

Sullivan’s Travels (1941) hollywood : Preston Sturges ♥♥♥♡

ผู้กำกับชื่อดังปลอมตัวเป็นคนจรจัด (The Tramp) เพื่อเรียนรู้จักวิถีชีวิตของคนจน จักได้นำมาเป็นแรงบันดาลใจสร้างภาพยนตร์เรื่องใหม่ แต่กว่าที่เขาจะรับรู้เข้าถึงความจริงเบื้องลึก ก็เมื่อเกิดความผิดพลาดจับพลัดจับพลู เกือบเอาชีวิตไม่รอด, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

Sullivan’s Travels อาจไม่ใช่ภาพยนตร์ที่โดดเด่นล้ำด้านเทคนิค พบเจอปัญหาเล็กๆกับวิธีการเล่าเรื่อง แต่จะมีบางสิ่งอย่างที่ผู้ชมอาจคาดคิดไม่ถึง และไดเรคชั่นของผู้กำกับ Preston Sturges ผสมผสาน Screwball + Satire Comedy เข้ากับการสะท้อนปัญหาสังคม (Social Issues) ยุคสมัยนั้นได้อย่างลงตัว

ผมไม่เคยรับชมผลงานของ Preston Sturges มาก่อน แต่ระหว่างรับชมเรื่องนี้แทบจะรู้ได้โดนทันที ว่าผู้กำกับคนนี้คือหนึ่งในโคตรศิลปิน น่าจะยิ่งใหญ่ไม่ด้อยไปกว่า Frank Capra, Ernst Lubitsch หรือ Howard Hawks มีสไตล์ความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และ Sullivan’s Travels นำเสนอการออกเดินทาง ค้นหาพบ ‘ปรัชญา’ ในการสร้างภาพยนตร์ของ Sturges เองเลย

เกร็ด: หลายคนอาจคุ้นเคยกับ Gulliver’s Travels (1726) วรรณกรรมเชิงเสียดสี (Satire) ของ Jonathan Swift นักเขียนสัญชาติ Irish ที่ตัวละคร Gulliver ออกเดินทางค้นพบเจอบางสิ่งอย่าง (โลกของคนแคระ) ทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง (Self-Discovery), ซึ่ง Sullivan’s Travels คัทลอกชื่อ พล็อตและแนวคิดบางส่วนมา ปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นกึ่งอัตชีวประวัติของผู้กำกับเอง

เกร็ด 2: โปสเตอร์ภาพด้านบนนี้ของหนัง ติดอันดับ 19 จาก The 25 Best Movie Posters Ever โดยนิตยสาร Premiere.

Preston Sturges ชื่อเดิม Edmund Preston Biden (1898 – 1959) ผู้กำกับ นักเขียน สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Chicago, Illinois, ตอนอายุได้สามขวบ แม่เลิกกับพ่อเพื่อเดินตามฝันเป็นนักร้องที่ Paris อาศัยอยู่ฝรั่งเศสจนเสมือนบ้านหลังที่สอง โตขึ้นหวนกลับมาอเมริกันเริ่มจากเป็น Stock Broker สมัครเป็นทหารอากาศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ตำแหน่งผู้หมวดแต่ไม่เคยมีโอกาสเข้าร่วมต่อสู้รบจริงๆ เวลาว่างเขียนบทความ ‘Three Hundred Words of Humor’ ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ของค่ายฝึก ปลดประจำการออกมาได้งานผู้จัดการ Desti Emporium, New York

ปี 1928 มีโอกาสจับพลัดจับพลูเป็นนักแสดง Broadway เขียนบทละครเองเรื่องเรื่องแรก The Guinea Pig ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง นี่กลายเป็นจุดเปลี่ยนชีวิต เขียนบทละครเรื่องที่สอง Strictly Dishonorable ใช้เวลาเพียง 6 วัน เปิดการแสดงต่อเนื่องยาวนานถึง 16 เดือน ได้เงินกว่า $300,000 เหรียญ และถูกซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โดย Paramount Picture,

เริ่มเห็นช่องทางใน Hollywood พัฒนาบทหนังเรื่อง The Power and the Glory (1933) ขายให้สตูดิโอ Fox นำแสดงโดย Spencer Tracy ว่ากันว่าเป็นแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งให้ภาพยนตร์ Citizen Kane (1941)

ขายบทภาพยนตร์ The Great McGinty (1940) ในราคาเพียง $1 เหรียญ แลกกับการได้เป็นผู้กำกับครั้งแรก เข้าชิง Oscar สามสาขา คว้ารางวัล Best Writing, Original Screenplay, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Lady Eve (1941), Sullivan’s Travels (1941), The Miracle of Morgan’s Creek (1943), Hail the Conquering Hero (1944) ฯ

จุดเริ่มต้นของ Sullivan’s Travels คือความต้องการเทศนา ตอบโต้ค่านิยมภาพยนตร์แนว Comedy ในช่วงทศวรรษดังกล่าว ที่เหมือนว่าผู้กำกับหลายๆคนกำลังทอดทิ้งบางสิ่งอย่างที่เป็นใจความสำคัญไป

“which seemed to have abandoned the fun in favor of the message.”

ได้แรงบันดาลใจจากชายชื่อ John Garfield ผู้มีชีวิตแบบ Hobo อาศัยแอบขึ้นไปหลับนอน เดินทางสัญจรอยู่บนตู้รถไฟ ไปแทบจะทั่วประเทศในช่วงทศวรรษ 30s, นำบทหนังไปเสนอให้สตูดิโอ Paramount จ่ายค่าลิขสิทธิ์มูลค่า $6,000 เหรียญ

เกร็ด: Hobo แปลว่า คนจรจัด, พเนจร, ร่อนเร่

เรื่องราวของ John L. Sullivan (รับบทโดย Joel McCrea) ผู้กำกับหนังตลกชื่อดังของ Hollywood มีความต้องการสร้างผลงานเรื่องถัดไปเป็นแนวจริงจังซีเรียส สะท้อนปัญหาสังคม ดัดแปลงนิยาย O Brother, Where Art Thou? แต่เหล่าโปรดิวเซอร์กลับต้องการให้เขาสร้างภาพยนตร์ Comedy อีกเรื่อง พอเจ้าตัวไม่ยินยอมจึงออกคำท้า ตัดสินใจปลอมตัวเป็นคนจรจัด เพื่อออกหาประสบการณ์ให้เกิดความเข้าใจปัญหาจริงๆของสังคม

สิ่งใกล้ตัวแรกสุดที่ Sullivan ประสบพบเจอ คือโชคชะตาชีวิตของเขาเวียนวนให้การเดินทางครั้งนี้หวนกลับคืนสู่ Hollywood พบเจอหญิงสาวไร้นาม (รับบทโดย Veronica Lake) เพ้อฝันอยากเป็นนักแสดงแต่ยังตกอับเอาตัวเองไม่รอด จับพลัดจับพลูช่วยเหลือกันและกัน ปลอมตัวร่วมออกเดินทางแอบขึ้นรถไฟมาถึง Las Vegas แต่สิ่งต่างๆที่พวกเขาพบเจอเป็นเพียงภาพฉาบหน้า หาได้รับทราบเกิดความเข้าใจจริงถึงปัญหาสังคมแต่ประการใด จนกระทั่งครั้งหนึ่ง…

Joel Albert McCrea (1905 – 1990) นักแสดงยอดฝีมือสัญชาติอเมริกา เกิดที่ South Pasadena, California, เคยเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ Los Angeles Times ให้กับดารา/ผู้กำกับดังหลายคนใน Hollywood เคยเป็นหนึ่งในตัวประกอบหนังเรื่อง Intolerance (1916) ทำให้เขาสนใจการแสดงมาตั้งแต่นั้น รับบทนำครั้งแรก The Jazz Age (1929) และ The Silver Horde (1929), ผลงานเป็นที่รู้จัก อาทิ The Most Dangerous Game (1932), Bird of Paradise (1932), Sullivan’s Travels (1941), The More the Merrier (1941), Ride the High Country (1962) ฯ

รับบท John L. Sullivan ผู้กำกับหนุ่มแน่น กำลังฮิตฮอตได้รับความนิยม สร้างภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่ยังถือว่าอ่อนต่อโลกไร้ประสบการณ์ชีวิต ถูกชี้ชักนำรับคำท้าจากเหล่าโปรดิวเซอร์เพื่อเปิดโลกทัศน์ของตนเอง พยายามค้นหาคำตอบจนคิดว่าน่าพึงพอใจแล้วจึงหวนกลับมา หลงคิดเข้าใจว่าแนวทางแก้ปัญหาคือการให้โปรยทาน แต่กลับถูกชายคนหนึ่งโลภมากลาภหาย ทุบหัวจับโยนขึ้นรถไฟ ตื่นขึ้นมาจดจำอะไรแทบไม่ได้ ก่ออาชญากรรมโดยไม่รู้ตัว ถูกตัดสินใช้แรงงานหนักหกปี นั่นทำให้เขาค้นพบปัญหาเบื้องลึกที่แท้จริงของสังคมสักที … แต่ Sullivan จะสามารถเอาตัวรอดออกมาจากโลกใบนั้นได้อย่างไรกัน!

นี่เป็นบทบาทที่ผู้กำกับ Sturges เขียนขึ้นโดยมีภาพของ McCrea อยู่ในใจ แม้ตัวละครจะค่อนข้าง ‘Stereotype’ โหยหาต้องการความสำเร็จแบบไม่ค่อยแคร์อะไร แต่เพราะนี่ยังคือตัวตายตัวแทนของผู้กำกับ ทำให้ได้พบเจอหลายสิ่งอย่างน้อยคนจะคาดคิดถึง

ใครๆคงคาดเดาได้ว่าภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไปของตัวละครนี้ รับอิทธิพลแรงบันดาลใจจาก The Trump ของ Charlie Chaplin เห็นว่าฉากช่วงท้ายฉายหนังในโบสถ์ ผู้กำกับติดต่อขอใช้ฟีล์มภาพยนตร์จากหนังสักเรื่องของ Chaplin แต่กลับถูกปัดปฏิเสธ ทำให้ต้องมาลงเอยอนิเมชั่นของ Disney เรื่อง Playful Pluto (1934)

McCrea พูดถึงการร่วมงานกับ Sturges ปฏิบัติกับเขาราวกับนักแสดงชื่อดังกว่า Clark Gable

“I have to say the money I got for it was unnecessary, I don’t know any other director where I had so much fun. I really felt like I’d do it for nothing.”

Veronica Lake ชื่อเดิม Constance Frances Marie Ockelman (1922 – 1973) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Brooklyn, New York, มีเชื้อสาย German-Irish เป็นเด็กมีปัญหา เข้าเรียนที่ไหนก็ถูกไล่ออกเพราะมีพฤติกรรมแย่ๆ ถูกวินิจฉัยว่ามีอากาศจิตเภท (Schizophrenia) โตขึ้นเดินทางสู่ Beverly Hills เข้าเรียน Bliss-Hayden School of Acting (ปัจจุบันคือ Beverly Hills Playhouse) เป็นตัวประกอบในภาพยนตร์หลายเรื่องก่อนมีชื่อขึ้นเครดิตครั้งแรก Sorority House (1939) [แต่ภายหลังถูกตัดฉากออกไปหมด] เริ่มมีชื่อเสียงจาก I Wanted Wings (1940) และผ่านการคัดเลือกเป็นนักแสดงนำใน Sullivan’s Travel (1941) ทำให้กลายเป็นดาราดังขึ้นทันที

รับบทหญิงสาวนิรนาม (เรียกว่า The Girl) เพราะความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เพียงครั้งเดียว เลี้ยงข้าว-กาแฟ ให้กับ Sullivan ขณะที่เขาไม่มีเงินติดตัวสักบาท พูดคุยกันถูกคอเลยหลงคารมตามติดไปด้วย พอรับรู้ว่าเขาเป็นผู้กำกับดังก็เลยกัดไม่ปล่อย ถึงไหนถึงกัน ไปไหนไปด้วย เพราะความกล้าบ้าบิ่นของเธอทำให้เขาค่อยๆตกหลุมรักเธอทีละนิด

Sturges ไม่ได้มีนักแสดงคนไหนในใจเป็นพิเศษ ขอให้ทั้ง Barbara Stanwyck, Frances Farmer มาคัดเลือกนักแสดงอย่างเท่าเทียม ก่อนลงเอยที่ Lake เพราะผู้กำกับประทับใจในผลงาน I Wanted Wings (1941)

ความกร้าน แก่นแก้ว ร่านลึกๆของ Lake ตอนยั่วสวาทเรียวขาสุดแสนเซ็กซี่เร้าใจ แต่พอกลายร่างเป็นเด็กจรจัด รู้สึกเธอน่ารักเกินไปเสียหน่อย ลำบากยากเข็นกันเกิ้น ช่วงนั้นช่างไม่น่าจดจำเอาเสียเลย

Lake จงใจปกปิดทีมงานจนกระทั่งเริ่มโปรดักชั่น ว่าขณะนั้นเธอกำลังท้องแก่ 6-8 เดือน นี่สร้างความหัวเสียให้กับทีมงานแทบทุกคน ขนาดว่า McCrea ไม่ยินยอมร่วมงานกับเธออีก ส่วนผู้กำกับ Sturges ต้องมีคนห้ามเพราะกำลังจะใช้ความรุนแรงตบตีทำร้าย ปรึกษาแพทย์ว่าเล่นฉากไหนได้บ้าง ติดต่อหานักแสดงแทนในฉากสตั๊น และขอให้ Edith Head นักออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าชื่อดัง เลือกชุดที่สามารถปกปิดท้องตั้งครรภ์ได้ (แต่มันจะไปแนบเนียนเสียที่ไหนกัน ย่อมสังเกตเห็นได้ในหลายๆช็อต)

ถ่ายภาพโดย John F. Seitz ตากล้องสัญชาติอเมริกัน ตั้งแต่ยุคสมัยหนังเงียบโด่งดังกับ The Four Horsemen of the Apocalypse (1921), เข้าชิง Oscar: Best Cinematography ถึง 7 ครั้งแต่กลับไม่เคยได้สักรางวัล อาทิ Double Indemnity (1944), The Lost Weekend (1945), Sunset Boulevard (1951) ฯ

ส่วนใหญ่ของหนังถ่ายทำในสตูดิโอ แต่ก็มีบางส่วนยังสถานที่จริง อาทิ Canoga Park, San Marino, Castaic, Lockheed Air Terminal ฯ ใช้เวลาถ่ายทำประมาณ 2 เดือนเศษๆ

คำท้าแรกของผู้กำกับ Sturges ต่อตากล้อง Seitz ฉากแรกกับบทสนทนาประมาณ 4 นาทีครึ่ง วางแผนถ่ายทำสองวัน หลายเทคหลายมุมกล้อง สามารถทำให้กลายเป็น Long Take ต่อเนื่องได้เลยหรือเปล่า? … นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตัวละครต้องเคลื่อนไหวไปมาด้วย ไม่ได้แค่หยุดนิ่งอยู่เฉยเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อรับคำท้ามีหรือจะไม่กล้าเสี่ยง รวมๆแล้วประมาณ 3-4 เทค ยังไม่ทันพักเที่ยงของการถ่ายทำวันแรก ก็เสร็จสิ้นถ่ายฉากนี้แล้ว!

หนังมีความโดดเด่นในการจัดแสงฉากยามค่ำคืนมีความมืดมิดสนิท หลายครั้งมองไม่เห็นใบหน้าหรือเงาใดๆ ทั้งในการจัดองค์ประกอบมีสองช็อตที่โดดเด่นมาก, การตายของชายหัวขโมยบนรางรถไฟ และฉากการเดินเข้าสู่โบสถ์ของเหล่าคนคุก (ถ่ายภาพ Foot Shot เห็นเท้าที่ถูกล่ามโซ่เดินเข้ามานั่ง)

ตัดต่อโดย Stuart Gilmore สัญชาติอเมริกัน เข้าชิง Oscar: Best Edited สามครั้งแต่ไม่เคยได้รางวัล อาทิ The Alamo (1960), Airport (1970), The Andromeda Strain (1971) ฯ

หนังใช้มุมมองของ John L. Sullivan แทบทั้งหมดในการเล่าเรื่อง เว้นแต่ช่วงขณะหนึ่งที่เขาถูกทุบหัว จะหายตัวไปสักพัก เปลี่ยนมาใช้ในมุมของเหล่าโปรดิวเซอร์ที่สตูดิโอ ตีพิมพ์ข่าวใหญ่ ก่อนตัดกลับไปหา Sullivan พบเจอสิ่งไม่คาดฝัน

ฉากที่ผมขำหนักสุดในหนัง คือตอนขับรถติดตามไม่มีละ ใช้การตัดสลับไปมาอย่างรวดเร็วอลม่านระหว่างรถซึ่งคันหน้า (ขับโดยเด็กอายุ 13) กับฝูงชนที่กระเด็นกระดอนโลดโผนไปมาในรถคันหลัง เป็นสองสามนาที Non-Stop ที่น่าจะทำให้ใครต่อใครหัวเราะจนท้องแข็ง เหยียบมิดคันเร่งกลัวตามไม่ทัน บ้าคลั่งเร้าใจดีแท้

ช่วงกึ่งกลางเรื่อง มีขณะหนึ่งของหนังใช้การตัดต่อเพื่อรวบรัดตัดตอนเหตุการณ์ มีลักษณะ ‘ภาพประกอบเพลง’ โดยไม่มีคำพูดอธิบายใดๆ, โดยส่วนตัวมองว่าไดเรคชั่นช่วงขณะนี้ ผิดที่ผิดทางไม่เข้ากับหนังอย่างยิ่ง แม้นัยยะจะเป็นการสะท้อนความฉาบหน้าที่ Sullivan และหญิงสาว สัมผัสได้จากการออกท่องล่องไปในโลกของคนจรจัด แต่มันทำให้อารมณ์ของผู้ชมล่องลอยออกไปไกล ไม่รู้สึกถึงการผจญภัยเสียเท่าไหร่

ถือว่ามีปริมาณพอๆกัน ระหว่างฉากที่ตัวละครพูดน้ำไหลไฟดับแบบ Screwball Comedy และฉากที่ใช้ภาพเล่าเรื่อง ไร้บทพูดสนทนาใดๆ นี่น่าจะเป็นสไตล์ลายเซ็นต์หนึ่งของผู้กำกับ Sturges เพื่อสร้างความสมดุลให้กับมุขตลกที่ปรากฎอยู่ในหนัง ให้เพียงพอดีไม่มากหรือน้อยเกินไป

ไฮไลท์การตัดต่อคือ Montage ฉากรับชมภาพยนตร์ในโบสถ์ ระหว่างภาพการ์ตูนที่ฉายบนจอ ตัดสลับกับปฏิกิริยาหัวเราะร่าของผู้คน ทั้งๆที่ก็ไม่ได้มีความหวือหวาอะไร คลาสสิกธรรมดาทั่วไป แต่กลับคือช่วงเวลาสำคัญของหนังที่ทำให้ Sullivan หลุดหัวเราะออกมา ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับฝูงชน ค้นพบเกิดความเข้าใจเหตุผลของการสร้างภาพยนตร์ อิทธิพล แรงบันดาลใจ และนั่นกลายเป็น ‘ปรัชญา’ ตัวตนใหม่ของเขาเอง

เพลงประกอบโดย Charles Bradshaw และ Leo Shuken มีความคลาสสิกที่ล่องลอยจับต้องไม่ได้สักเท่าไหร่ แต่สะท้อนเรื่องราว และมอบสัมผัสของการออกเดินทาง ผจญภัย ค้นหาบางสิ่งอย่างที่สำคัญยิ่งในชีวิต

ฉากแรกของหนังที่เป็นการไล่ล่าบทรถไฟ เรียบเรียงดัดแปลงจาก Beethoven: Moonlight Sonata Op. 27 No.2 3rd Movement ‘Presto Agitato’ นี่ให้สัมผัสคล้ายๆกับกำลังรับชมหนังเงียบ แล้วมีบทเพลงบรรเลงประกอบ

หลายคนอาจรู้จัก Moonlight Sonata แต่ไม่ยักกะรู้ว่ามีท่อนอื่นด้วย เลยขอนำทั้งบทเพลง 3 Mvt. มาให้ฟังกัน

บทเพลงที่กลายเป็นไฮไลท์ของหนังคือ Go Down Moses ขับร้องโดย Jess Lee Brooks เป็นฉากเทศนาในโบสถ์ ดังขึ้นในช่วงเวลาที่พระเอกกลายเป็นนักโทษ เหมือนกับชาว Hebrew ของ Moses ที่ถูก Ramses ใช้แรงงานเยี่ยงทาส อย่างกดขี่ข่มเหง

Sullivan’s Travels คือเรื่องราวการออกผจญภัย เพื่อค้นหาตนเองของชายชื่อ Sullivan แรกเริ่มสิ่งที่เขาพบเห็นเป็นเพียงสิ่งใกล้ตัว ฉาบหน้า มุมมองที่เคยรับรู้เข้าใจอยู่แล้ว แต่โชคชะตาก็พลิกผันนำพาให้เขาพบเจอกับข้อเท็จแท้จริง อันทำให้เขาเข้าถึงสัจธรรมแห่งชีวิต พัฒนาต่อยอดกลายเป็นอุดมการณ์ ปรัชญา เป้าหมายชีวิตของตนเอง

คงไม่ผิดอะไรจะบอกว่า สิ่งที่ตัวละคร Sullivan ค้นหาพบเจอ นั่นคือแนวคิด อุดมการณ์ ปรัชญาของผู้กำกับ Preston Sturges เองเลย ผลงาน/ภาพยนตร์แทบทุกเรื่อง วนเวียนอยู่กับแนว Comedy แน่ๆแบบไม่จำเป็นต้องค้นคว้าหาข้อมูลใดๆ เพราะหนังเรื่องนี้ได้อธิบาย ‘จิตวิญญาณ’ ทุกสิ่งอย่างของตัวเขาออกมาจนหมดสิ้นแล้ว จะมีก็แต่ ‘ศิลปิน’ เท่านั้นแหละที่สามารถถ่ายทอดตัวตนออกมาผ่านผลงานของตนเองได้

ขอพูดถึงประเด็นอื่นของหนังบ้าง ในด้านปัญหาสังคมที่ถูกสะท้อนออกมามี 3-4 เรื่องใหญ่ๆ,

ยุคสมัยนั้นคนรวยกับคนจนมีความแตกต่างราวฟ้ากับเหว สะท้อนให้เห็นผ่านเรื่องราวของหญิงสาวนิรนาม (ตัวแทนของใครก็ได้ในโลก) ผู้มีความหลงใหลเพ้อฝัน อยากประสบความสำเร็จร่ำรวย ขณะที่กำลังจะยินยอมแพ้ แต่เมื่อจับพลัดจับพลูมีโอกาสพบเจอ Sullivan ณ บ้านคฤหาสถ์มีสระน้ำ สนามเทนนิส พร้อมคนใช้ ก็พยายามอย่างสุดเหวี่ยงเหนี่ยวรั้งรวบรัดเขาไว้ ขอให้ฉันได้ครอบครองสักสิ่งอย่างเล็กน้อยก็ยังดี

ความชั่วร้ายที่น่าจะรุนแรงสุดคือ ความละโมบโลภมากที่แก้ไม่หายของมนุษย์, ชายแก่คนหนึ่งได้รับเงินก้อนเล็กๆเป็นสินน้ำใจจากชายแปลกหน้า เงยหน้าขึ้นสังเกตเห็นเขาโปรยทานก็แอบตามติดไม่ลดละ หามุมมืดดักตีทุบหัว ทิ้งร่างเขาไว้ในโบกี้รถไฟ ตัวเองกอบโกยแต่ไม่รู้จักพอ สุดท้ายถูกรถไฟแห่งโชคชะตา ชนสับรางหน้าเละไม่เห็นหัว หลงเหลือเพียงรองเท้าที่ก็ดันขโมยคนอื่นมาเช่นกัน, นี่ยังสะท้อนถึงการแก้ปัญหาความยากจน วิธีการย่อมไม่ใช่การโปรยทาน มอบเงินให้พวกเขาอย่างแน่นอน

ความคอรัปชั่นในสังคม, ประเด็นนี้ไม่ต้องมองไกล ความสัมพันธ์ระหว่างโปรดิวเซอร์กับผู้กำกับ ขึ้นชื่อลือชาอย่างมากในทศวรรษนั้นของ Hollywood เลวร้ายยิ่งกว่าที่พบเห็นในหนังเสียง ไม่ใช่แค่บีบบังคับ แต่ยังครอบงำทุกกระบวนการ ขั้นตอน โปรดักชั่น เมื่อไหร่ไม่ถูกใจก็สามารถไล่ผู้กำกับออกได้โดยไม่สนใจใยดี

เช่นเดียวกันกับความแตกต่างในสังคม (จะเหมารวมว่าเป็นความคอรัปชั่นก็ยังได้) แม้บทเพลง Go Down Moses ขับร้องโดยชุมชนคนผิวสี จะพยายามพูดบอกว่า ‘มนุษย์ทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียม’ แต่ยุคสมัยนั้นนี่ยังคงเป็นเรื่องไม่ได้รับการยินยอมรับ ก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง สะท้อนผ่านสิ่งที่ Sullivan บังเอิญโชคร้ายได้พบเจอ ถูกกดขี่ข่มเหงเพราะถูกมองว่าเป็นผู้กระทำความผิด บทเรียนนี้ค่อนข้างเจ็บปวดทุกข์ทรมานแสนสาหัสเลยละ

เกร็ด: ฉากในโบสถ์ น่าจะเป็นครั้งแรกๆในวงการภาพยนตร์ ที่ทำให้ภาพลักษณ์คนผิวสีดูดีได้รับการยอมรับอย่างยิ่งยวด ถึงขนาด Walter White เลขาธิการของ NAACP (National Association for the Advancement of Colored People) เขียนจดหมายขอบคุณผู้กำกับ Sturges

“I want to congratulate and thank you for the church sequence in Sullivan’s Travels. This is one of the most moving scenes I have seen in a moving picture for a long time. But I am particularly grateful to you, as are a number of my friends, both white and colored, for the dignified and decent treatment of Negroes in this scene. I was in Hollywood recently and am to return there soon for conferences with production heads, writers, directors, and actors and actresses in an effort to induce broader and more decent picturization of the Negro instead of limiting him to menial or comic roles. The sequence in Sullivan’s Travels is a step in that direction and I want you to know how grateful we are.”

ยังมีประเด็นอื่นอีกมากที่ผู้กำกับ Sturges แทรกใส่ไว้ในหนัง อาจจะโดยที่หลายคนไม่รับรู้ตัวเสียด้วยซ้ำ เพราะหลงคิดเข้าใจว่าเป็นหนังตลกดาดๆทั่วไป คงหาความลึกล้ำซับซ้อนไม่ได้มาก นี่ถือเป็นการผสมผสานที่ไม่น่าเชื่อว่าจะค่อนข้างลงตัว แม้ยังขาดความกลมกล่อมไปบ้างก็ตามเถอะ

ด้วยทุนสร้างประมาณ $670,000 เหรียญ ทำเงินได้ในอเมริกา $1.150 ล้านเหรียญ ไม่ประสบความสำเร็จเท่าเรื่องก่อนๆ แถมคำวิจารณ์ตอนออกฉายยังก้ำกึ่ง ‘anyone can make a mistake’

และหนังไม่ได้รับการอนุญาตให้นำฉายต่างประเทศ เพราะช่วงเวลานั้นทั่วโลก(เว้นอเมริกา) กำลังพัวพันวุ่นวายอยู่กับสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งฉากนักโทษล่ามโซ่ ดูมีความรุนแรงโหดเหี้ยมผิดมนุษยมนามากเกินไป

กาลเวลาทำให้หนังเรื่องนี้ดูดีมากขึ้น แม้ตำหนิข้อผิดพลาดยังมีอยู่บ้าง แต่ความยิ่งใหญ่ของครึ่งชั่วโมงสุดท้ายกลบแทบทุกข้อบกพร่อง เพราะแฝงนัยยะ สะท้อนความหมาย ปรัชญาชีวิต แนวคิด ความตั้งใจของผู้กำกับ ออกมาได้อย่างเฉลียวฉลาด หลักแหลม

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบประทับใจหนังเรื่องนี้ในแนวคิด ปรัชญา เป้าหมาย ความตั้งใจในการนำเสนอของผู้กำกับ ถือว่ามีอุดมการณ์ วิสัยทัศน์ ความเฉลียวฉลาดที่มากล้น น่านับถือฝีมือและจิตใจของเขาอย่างยิ่งยวดเลยละ

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ถ้าเราต้องการรับรู้ทำความเข้าใจอะไรสักอย่าง จงอย่างแค่สนใจในสิ่งที่พบเจอมองเห็นฉาบหน้า ควรต้องรู้ลึกถึงภายในจิตวิญญาณของสิ่งๆนั้น นั่นถึงจะเรียกว่าของจริงไม่ได้โม้

แนะนำอย่างยิ่งกับคอหนัง Screwball/Satire Comedy สะท้อนปัญหาสังคมในทศวรรษนั้น, รู้จักผู้กำกับ Preston Sturges และนักแสดงนำ Joel McCrea, Veronica Lake ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับทัศนคติ และภาพปัญหาของสังคมที่ถูกสะท้อนออกมาด้วยความรุนแรงและยากจน

TAGLINE | “Sullivan’s Travels ออกเดินทางเพื่อค้นหาตัวตน จิตวิญญาณของผู้กำกับ Preston Sturges และเสียดสีทุกสิ่งอย่างรอบข้างได้อย่างเจ็บแสบ”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: