Summertime

Summertime (1955) British : David Lean ♥♥♥♥

ร่วมออกเดินทางพร้อมกับ Katharine Hepburn ขึ้นรถไฟมุ่งสู่ Venice, Italy เมืองแห่งสายน้ำที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ ความโรแมนติกน่าหลงใหล พบเจอ-ตกหลุมรัก-พลัดพรากจาก แม้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ จักตราตรึงอยู่ในความทรงจำชั่วนิรันดร์

Summertime (1955) ภาพยนตร์ที่แทบไม่ต่างจากโปรโมทการท่องเที่ยว Venice, Italy (หลังออกฉาย เห็นว่านักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว!) ครั้งแรกของผู้กำกับ David Lean ก้าวออกมาทำงานนอกเกาะอังกฤษ ถ่ายทำด้วยฟีล์มสี (Technicolor) ยังสถานที่ที่เขาตกหลุมรักแรกพบโดยทันที ถึงขนาดยกให้เป็นบ้านหลังที่สอง แถมบอกว่านี่คือผลงานมีความเป็นส่วนตัว และโปรดปรานมากที่สุด

I’ve put more of myself in that film than any other I’ve ever made.

David Lean

และยังรวมถึงนักแสดงคนโปรด Katharine Hepburn ไม่เพียงเป็นตัวตายตัวแทน พวกเขายังมองตารู้ใจ ค้นพบอุปนิสัยละม้ายคล้ายกันหลายๆอย่าง ถึงขนาดว่า Hepburn เอ่ยปากชื่นชม รู้สึกโชคดีที่มีโอกาสร่วมงานครั้งนี้

It made a very deep and definite impression on me, and he was one of the most interesting directors I ever worked with. Wasn’t I lucky to work with him?

Katharine Hepburn

ความทรงจำแรกของผมเกี่ยวกับ Venice คุ้นๆว่าน่าจะเกิดจากภาพยนตร์เรื่องนี้ Summertime (1955) เคยรับชมครั้งแรกๆตั้งแต่สมัยวัยรุ่น แล้วก็ตกหลุมรักแรกพบโดยไม่รับรู้ตัวเองด้วยซ้ำว่าเพราะอะไร, หวนกลับมาคราวนี้รู้สึกว่าเรื่องราวคาดเดาง่ายไปนิด แต่ก็ค้นพบความซับซ้อนบางอย่างซุกซ่อนเร้นไว้ ไฮไลท์คือการแสดงของขุ่นแม่ Hepburn น่าประทับใจยิ่งๆกว่าตอน The African Queen (1951) เสียอีกนะ!


Sir David Lean (1908-91) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Croydon, Surrey วัยเด็กเป็นคนช่างฝัน ออกจากโรงเรียนกลางคัน ช่วยเหลือบิดาทำงานบัญชี แต่ก็อดรนทนได้ไม่นานจึงออกไปดำเนินตามความฝัน, เมื่อตอน 10 ขวบ คุณลุงมอบกล้อง Brownie Camera (เป็นชื่อเรียกกล้องสมัยก่อน ที่มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยม ราคาไม่แพงมาก) กลายเป็นงานอดิเรกคลั่งไคล้ เลยตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์, เริ่มต้นจากทำงานเด็กรับใช้ในสตูดิโอ Gaumont ยกของ เสิร์ฟชา ตอกสเลท ผู้ช่วยผู้กำกับ เลื่อนขั้นเป็นนักตัดต่อเมื่อปี ค.ศ. 1930 มีผลงานดังๆอย่าง Pygmalion (1938), 49th Parallel (1941), One of Our Aircraft Is Missing (1942), ก่อนได้รับโอกาสจาก Noël Coward ร่วมกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก In Which We Serve (1942)

ช่วงทศวรรษ 50s, ผู้กำกับ Lean เกิดความเบื่อหน่ายที่จะสรรค์สร้างภาพยนตร์ภายในสตูดิโอ รู้สึกอึดอัดไม่ต่างจากนกในกรงขัง พยายามมองหาโปรเจคที่สามารถออกเดินทางไปถ่ายทำยังต่างประเทศ/นอกเกาะอังกฤษ

วันหนึ่งได้รับการติดต่อจากโปรดิวเซอร์ Ilya Lopert ชักชวนให้ดัดแปลงละครเวที The Time of the Cuckcoo แต่งโดย Arthur Laurents นำแสดงโดย Shirley Booth ทำการแสดงรอบปฐมทัศน์ยัง Empire Theater วันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1952 จำนวน 263 รอบการแสดง

เกร็ด: ก่อนที่โปรเจคนี้จะมาถึงผกก. Lean โปรดิวเซอร์ Lopert เคยทำการติดต่อ Anatole Litvak (วิสัยทัศน์ไม่ตรงกัน), Daniel Mann (ดัดแปลงบทโดย Arthur Laurents แต่ผลลัพท์ไม่น่าประทับใจ), Vittorio De Sica (ต้องการกำกับ-แสดงนำ) และ Roberto Rossellini (ต้องการให้ศรีภรรยาแสดงนำ Ingmar Bergman)

ผู้กำกับ Lean ไม่ได้มีความชื่นชอบพล็อตโดยรวมของ The Time of the Cuckcoo แต่สนใจแนวคิดเกี่ยวกับหญิงชาวอเมริกัน เดินทางไปพักร้อนยังทวีปยุโรป แล้วติดกับความโรแมนติกพ่อค้าของเก่าที่เมือง Venice จึงต่อรองโปรดิวเซอร์ Lopert ขอปรับแก้ไขเรื่องราวให้หลงเหลือเพียงเมืองแห่งสายน้ำ Venice, Italy

ในส่วนของบทดัดแปลง ผู้กำกับ Lean พยายามขอความช่วยเหลือจาก Norman Spencer, Donald Ogden Stewart, S.N. Behrman ผลลัพท์กลับยังไม่เป็นที่พึงพอใจ ก่อนจะว่าจ้างนักเขียนนวนิยาย Herbert Ernest Bates (1905-74) แม้ไม่เคยมีผลงานดัดแปลงภาพยนตร์ แต่โด่งดังจากหนังสือเกี่ยวกับชนบทอังกฤษ (English countryside) มีความเข้าใจเกี่ยวกับการเดินทาง ท่องเที่ยวพักผ่อน และยังแนะนำตั้งชื่อหนัง Summertime (บางประเทศออกฉายในชื่อ Summer Madness)


เรื่องราวของ Jane Hudson (รับบทโดย Katharine Hepburn) หญิงสาวโสดวัยกลางคน สัญชาติอเมริกัน ทำงานเลขานุการ ตัดสินใจใช้เวลาช่วงวันหยุดฤดูร้อน ออกเดินทางท่องเที่ยวยุโรป โดยมีเป้าหมายปลายทางคือเมืองแห่งสายน้ำ Venice, Italy สถานที่แห่งความเพ้อใฝ่ฝัน เข้าพักยังโรงแรม Pensione Fiorini

ช่วงวันแรกๆของ Jane ก็เต็มไปด้วยความตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจที่ได้เดินทางมาถึงเมือง Venice แต่ไม่นานก็เริ่มเกิดความโดดเดี่ยวอ้างว้าง มองไปทางไหนพบเห็นแต่คนหนุ่ม-สาว กำลังควงแขนพรอดรัก แอบคาดหวังว่าตนเองจะมีโอกาสพบเจอใครสักคนบ้าง จนกระทั่งได้รับการทักทายจาก Renato de Rossi (รับบทโดย Rossano Brazzi) ทีแรกก็เกิดอาการกลัวๆกล้าๆ พะว้าพะวัง แล้วโชคชะตาก็นำพาให้พวกเขามาพบเจอกันอีกครั้งที่สอง-สาม รับรู้ว่าอีกฝ่ายคือเจ้าของร้านขายของเก่า เคยแต่งงานมีบุตร ปัจจุบันยังไม่ได้หย่าร้างแต่แยกกันอยู่ ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นความขัดแย้งภายใน เพราะยุคสมัยนั้นยังมองว่าขัดต่อหลักศีลธรรมจรรยา


Katharine Houghton Hepburn (1907 – 2003) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Hartford, Connecticut สมัยเด็กตัดผมสั้นเรียกตัวเองว่า Jimmy มีนิสัยทอมบอย ชื่นชอบว่างน้ำ ขี่ม้า ตีกอล์ฟ เล่นเทนนิส แต่ไม่ค่อยชอบเรียนหนังสือเท่าไหร่ สนใจการแสดงเพราะจะได้ไม่ต้องเข้าโรงเรียน กลายเป็นนักแสดงละครเวทีจนไปเข้าตาแมวมองของ Hollywood จับมาเซ็นสัญญากับ RKO ภาพยนตร์เรื่องแรก A Bill of Divorcement (1932), ยังไม่ทันไรก็คว้า Oscar: Best Actress ตัวแรกจากเรื่อง Morning Glory (1933)

สิ่งที่ทำให้ Hepburn กลายเป็นอมตะค้างฟ้า ติดอันดับหนึ่ง AFI’s 100 Years…100 Stars: Female Legends ก็เพราะเธอผ่านช่วงเวลาทั้งประสบความสำเร็จ-ล้มเหลว ช่วงปี 1934-38 ได้รับฉายา ‘box office poison’ ก็นึกว่าอาชีพการงานคงจบสิ้นแล้ว แต่สามารถหวนกลับมาโด่งดังเรื่อง The Philadelphia Story (1940), ใช้เวลา 34 ปี ถึงคว้า Oscar: Best Actress ตัวที่สอง Guess Who’s Coming to Dinner (1967) และสามในปีถัดไป The Lion in Winter (1968) ก่อนปิดท้ายกลายเป็นสถิติครั้งที่สี่กับ On Golden Pond (1981)

รับบท Jane Hudson หญิงสาวโสดวัยกลางคน สัญชาติอเมริกัน แรกเริ่มเต็มไปด้วยความตื่นเต้น ระริกระรี้ ดีใจอย่างเอ่อล้นระหว่างกำลังโดยสารรถไฟ เดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อนยัง Venice, Italy ต้องการบันทึกภาพ จดจำทุกวินาทีขณะอาศัยอยู่ยังสถานที่แห่งความเพ้อใฝ่ฝันแห่งนี้ แต่หลังจากอารมณ์สงบลง สังเกตเห็นผู้คนรอบข้าง บังเกิดความโดดเดี่ยวอ้างว้าง ใครอยากมีใครสักคนเคียงข้างกาย

ความโสดจนถึงวัยกลางคน ทำให้ Jane เต็มไปด้วยอาการหวาดกังวล ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ปฏิเสธบุคคลที่พยายามเข้าหาชิดใกล้ สรรหาสรรพข้ออ้าง จนกระทั่งโชคชะตานำพาเธอให้พบรักที่มิอาจหักห้ามใจ ก่อนจะถึงวันร่ำจากลา จักขอจดจำทุกวินาทีที่มีโอกาสอยู่เคียงข้างเธอตลอดไป

เมื่อตอนที่ Arthur Laurents ขายลิขสิทธิ์ดัดแปลงภาพยนตร์ พยายามต่อรองให้ Shirley Booth ซึ่งคว้ารางวัล Tony Award: Leading Actress in a Play ได้รับบทแสดงนำ ทีแรกโปรดิวเซอร์ Lopert ก็ตบปากรับคำ แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนใจเพราะอีกครุ่นคิดว่าฝ่ายอายุมากเกินไป ได้รับคำร้องขอจากผกก. Lean อยากร่วมงาน Katharine Hepburn แม้ขณะนั้นไม่ได้รับงานแสดงมาสามปี (เพื่อใช้ชีวิตอยู่เคียงข้างคู่ขา/สามี Spencer Tracy) ยินยอมตอบตกลงโดยทันที

เกร็ด: เห็นว่า Hepburn เคยพูดคุยสอบถาม Booth ว่าอยากแสดงบทบาทนี้ในภาพยนตร์หรือไม่ ได้รับคำตอบว่า “Not a chance” เพราะขณะนั้นกำลังติดพันละครเวทีเรื่องใหม่ เลยตอบปฏิเสธโปรเจคนี้ไป

แม้เรื่องราวอาจดูธรรมดาๆทั่วไป แต่การแสดงของ Hepburn คือไฮไลท์ที่เต็มไปด้วยมิติอันสลับซับซ้อน ภายนอกที่ดูตื่นเต้น ท่าทางระริกระรี้ อ้างว่ารักอิสระ ‘free spirit’ แท้จริงแล้วเป็นการพยายามปกปิดบังความโดดเดี่ยวอ้างว้างภายใน เพราะยุคสมัยนั้นการเป็นสาวโสด/ขึ้นคานไม่ใช่สิ่งน่าประทับใจ อิทธิพลทางสังคมกดทับจนทำให้เธอสูญเสียความเชื่อมั่นต่อตนเอง กลัวๆกล้าๆ พะว้าพะพัง สรรหาสรรพข้ออ้าง ไม่ต้องการเปิดเผยตัวตนแท้จริงออกไป

นอกจากเรื่องการแสดง ผมยังรู้สึกว่ารูปร่างอันผอมเพียวของ Hepburn สามารถแทรกซึมท่ามกลางฝูงชนได้อย่างแนบเนียล พริ้วไหวดั่งขนนก ปลิดปลิวลอยละล่อง หรือจิตวิญญาณรักอิสระ ‘free spirit’ สะท้อนตัวตนจริงๆของเธอที่แทบไม่แตกต่างจากตัวละคร

Hepburn made a career out of playing vibrant heroines with a vulnerable side and it’s her portrayal of Jane’s insecurity and loneliness that give the film its substance.

นักวิจารณ์ Laura Bushell จาก Channel 4

Hepburn turns in a feverish acting chore of proud loneliness.

นักวิจารณ์จากนิตยสาร Vareity

[Hepburn]’s probably the greatest actress of the sound era.

นักวิจารณ์ Pauline Kael

Hepburn มีความประทับใจอย่างมากๆในการร่วมงานผกก. Lean ไม่ใช่เพราะอีกฝ่ายหน้าตาหล่อเหลา แต่คือความมุ่งมั่น ทุ่มเท ใส่ใจในทุกรายละเอียด ต่างฝ่ายต่างพยายามท้าทายศักยภาพของกันและกัน

(Summertime) was told with great simplicity in the streets, in the Piazza San Marco. We would shoot in tiny streets only a few feet wide. The sun would come and go in a matter of minutes. It was a very emotional part, and I tell you I had to be on my toes to give David enough of what he wanted practically on call. But it was thrilling… He seemed to me to simply absorb Venice. It was his. He had a real photographic gift. He thought in a descriptive way. His shots tell the story. He was capable of a sort of super concentration. It made a very deep and definite impression on me, and he was one of the most interesting directors I ever worked with.

Wasn’t I lucky to work with him?

Katharine Hepburn เขียนเล่าในหนังสืออัตชีวประวัติ

Rossano Brazzi (1916-94) นักแสดงสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Bologna, Kingdom of Italy โตขึ้นร่ำเรียนกฎหมายยัง San Marco University จบออกมาเป็นทนายความ ก่อนเปลี่ยนมาเป็นนักแสดงเมื่อปี ค.ศ. 1938, หลังสงครามโลกครั้งที่สองอพยพสู่ Hollywood เริ่มมีชื่อเสียงจาก Three Coins in the Fountain (1954), โด่งดังกับ Summertime (1955), South Pacific (1958), The Barefoot Contessa (1954), The Story of Esther Costello (1957), Count Your Blessings (1959), Light in the Piazza (1962), The Italian Job (1969) ฯ

รับบท Renato de Rossi ชายวัยกลางคนชาวอิตาเลี่ยน เจ้าของร้านขายของเก่าใน Venice บังเอิญพบเจอ Jane Hudson เกิดความชื่นชอบประทับใจ แถมโชคชะตายังชี้นำทางพวกเขา จนก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดทางศีลธรรม แต่สุดท้ายกลับต้องพลัดพรากจากเพราะเธอเป็นนักท่องเที่ยว แวะเวียนมาแล้วก็กลับไป ‘Brief Encounter’ หลงเหลือเพียงความทรงจำดีๆที่ได้อยู่เคียงข้างกัน

น่าเสียดายที่บทบาทนี้ไม่มีอะไรให้พูดถึงนัก เรียกได้ว่าเป็น ‘stereotype’ ของชายอิตาเลี่ยน หล่อเซ็กซี่ ยิ่งอายุมากยิ่งดูดี เลื่องลือเรื่องความโรแมนติก รอยยิ้มชวนฝัน วัตถุทางเพศเติมเต็มแฟนตาซีหญิงชาวอเมริกัน ดินแดนแห่งคาสโนว่า ไม่ยี่หร่าศีลธรรมทางสังคม

แม้ว่า Brazzi อยู่ในวงการภาพยนตร์มานาน แต่ก็ไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดัง ถึงอย่างนั้นการร่วมงานกับ Hepburn ก็สร้างความประทับใจอยู่ไม่น้อย จึงต่อรองโปรดิวเซอร์ให้ขึ้นเครดิตร่วม ‘Top Bill’ นั่นถือว่าเป็นการสร้างโอกาสให้อีกฝ่ายไม่น้อยเลยละ


ถ่ายภาพโดย Jack Hildyard (1908-1990) ตากล้องสัญชาติอังกฤษ เข้าสู่วงการเมื่อปี ค.ศ. 1934 เริ่มจาก Focus Puller มาเป็นผู้ควบคุมกล้อง (Camera Operator) อาทิ Pygmalion (1938), ได้รับเครดิตถ่ายภาพครั้งแรก Henry V (1944), ผลงานเด่นๆ อาทิ Caesar and Cleopatra (1945), Hobson’s Choice (1954), The Bridge on the River Kwai (1957)**คว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography, The Sundowners (1960), Battle of the Bulge (1965), Casino Royale (1967) ฯลฯ

ครั้งแรกของผู้กำกับ Lean ถ่ายทำด้วยฟีล์มสี (Technicolor) แต่ก็ไม่ได้ต้องลองผิดลองถูกอะไรมากมาย เพราะ Venice เป็นดินแดนที่มีความหลากหลาย เต็มไปด้วยสีสันสดใส ส่วนใหญ่ใช้เพียงแสงธรรมชาติ บันทึกภาพท่ามกลางฝูงชน เลยไม่ค่อยมีลูกเล่นทางภาพยนตร์มากนัก

หนังมีการละเล่นกับสีแดง ใช้เป็นสัญลักษณ์แทน ‘passion’ ความต้องการ(ราคะ)ของตัวละคร มักพบเห็นกับสิ่งของสำคัญๆ อาทิ ลิปสติก, แก้วสีแดง, ชุดสีแดง, รองเท้าแดง, แสงอาทิตย์ใกล้ตกดิน ฯลฯ (ยกเว้นเพียงดอกไม้ขาว Gardenia)

ในตอนแรกหนังได้รับการปฏิเสธจากรัฐบาลอิตาลี ไม่ต้องการให้ถ่ายทำในเมือง Venice ช่วงฤดูร้อน/หน้าท่องเที่ยว โดยเฉพาะการขอใช้เรือ Gondola เพราะกลัวสูญเสียรายได้มหาศาล ซึ่งผู้กำกับ Lean ต่อรองด้วยการบริจาคเงินค่าบูรณะซ่อมแซม St Mark’s Basilica และจะมีภาพสถานที่สำคัญๆสำหรับโปรโมทการท่องเที่ยว

เกร็ด: Summertime (1955) คือภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษเรื่องแรกๆ ถ่ายทำนอกประเทศทั้งเรื่อง และด้วยฟีล์มสี (Technicolor)


อาจมีหลายคนสงสัยว่าทำไม Venise สะกดด้วยตัวอักษร s แทนที่จะเป็น c นั่นเพราะขบวนรถไฟสายนี้เป็นของประเทศฝรั่งเศส Paris → Venise ถ้าเป็นภาษาอิตาเลี่ยนจะเรียกว่า Venezia ส่วนภาษาไทยอ่านว่า เวนิส, เวเน็ตเซีย เมืองหลักของแคว้น Veneto ทางตอนเหนือของอิตาลี ถูกสร้างขึ้นจากการเชื่อมเกาะเล็กๆ ในบริเวณทะเลสาบ Venetian Lagoon ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทะเล Adriatic อาณาบริเวณ 414 ตารางกิโลเมตร ผู้อยู่อาศัยประมาณสองแสนห้าหมื่นคน

เกร็ด: เมือง Venice ได้รับฉายาว่า ราชินีแห่งทะเลเอเดรียติก (Queen of the Adriatic), เมืองแห่งสายน้ำ (City of Water), เมืองแห่งสะพาน (City of Bridges) และเมืองแห่งแสงสว่าง (The City of Light)

Pensione Fiorini คือโรงแรมสมมติ ไม่ได้มีอยู่จริง แต่ประกอบขึ้นจากหลากหลายสถานที่ถ่ายทำ อาทิ

  • ฉากภายนอก/ทางเข้าโรงแรม ถ่ายทำยังบริเวณ Rio dei Bareteri
  • ทิวทัศน์ตรงระเบียงนอกหน้าต่าง ถ่ายทำยัง Rio de la Salute มองออกไปพบเห็นโบสถ์ Santa María della Salute (ฝั่งเมือง) และอีกมุมเกาะ San Giorgio Maggiore (กลางทะเลสาป)
  • ลานนั่งเล่นภายนอกและฉากภายใน ก่อสร้างขึ้นกลางลาน Campo San Vio, Dorsoduro

LINK: http://www.aloverofvenice.com/summertime/Summertime.htm

จัตุรัส Piazza San Marco ลานกว้างด้านหน้ามหาวิหาร Saint Mark’s Basilica (โบสถ์หลังแรกสร้างปี ค.ศ. 819-836 จัตุรัสแห่งนี้ก็น่าจะถือกำเนิดขึ้นพร้อมๆกัน) คนส่วนใหญ่มักเรียกโดยย่อว่า La Piazza ถือเป็นศูนย์ใจกลาง/จิตวิญญาณของเมือง Venice เลยทำให้ Jane ได้มีโอกาสพบเจอ-ตกหลุมรัก-และบอกลากับ Renato (ถือเป็นตัวแทนของ Venice/ชาว Italian)

เกร็ด: จักรพรรดินโปเลียนเคยย่างเหยียบจัตุรัสแห่งนี้ แล้วให้การยกย่องเป็น “the drawing room of Europe” สถานที่ที่เหมาะแก่การสรรค์สร้างงานศิลปะ อย่างภาพวาดที่นำมาเป็นผลงานของ Canaletto (1697-1768) จิตรกรจาก Venetian School ตั้งชื่อว่า Piazza San Marco with the Basilica (1720)

Hepburn เขียนเล่าไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติ ถึงภารกิจค้นหาแก้วสีแดง ‘Ultimate Glass Goblet’ ของผู้กำกับ Lean ถึงขนาดว่าจ้างนักเป่าแก้ว ทดลองผิดลองถูก ทดลองหลายเฉดสีสัน กว่าจะได้แดงสดๆตรงกับความพึงพอใจ

he finally had a glassblower blow about six in slightly different shades of red to get exactly what he had in mind

Katharine Hepburn

ไม่เชิงว่าแก้วสีแดงนี้เป็นสัญลักษณ์แทนเมือง Venice (แต่ก็มีคำเรียกในหมู่นักสะสมว่า ‘Summertime Goblet’ ราคา 10,000 Lire สมัยนั้นเทียบเท่า $16 ดอลลาร์) ผมมองว่าคือสิ่งที่ใช้สำหรับตักตวง ในที่นี้ก็คือ Jane กำลังมองหาบางอย่างที่สามารถเติมเต็มความต้องการ ซึ่งเมื่อเธอพบเจอเจ้าของร้าน Renato ไม่คิดต่อรองราคา เท่าไหร่เท่านั้น พอใจในสิ่งที่พึงมี แต่ไม่ใช่สำหรับชาวอิตาเลี่ยน ตั้งมูลค่าสินค้าไว้สูงๆ แต่ราคาแท้จริงนั้นแสนถูก (ลองตีความเข้าใจในเชิงนามธรรมดูนะครับ ภายนอกสร้างภาพให้หรูหรา แต่ตัวตนแท้จริงนั้นราคาแสนถูก)

เกร็ด: ร้านขายของเก่า Antichita De Rossi ถ่ายทำยัง Campo San Barnaba ปัจจุบันยังไม่ได้ถูกทุบทิ้ง แต่เปิดเป็นร้านขายของทั่วไป

จริงๆภาพนี้ผมอยากอธิบายถึงชุดสีแดง แสดงถึงความต้องการเป็นจุดเด่น เฝ้ารอคอยให้ใครบางคนหาพบเจอ เข้ามาพูดคุยทักทาย (ว่าง่ายๆก็คือ อ่อยเหยื่อ) แต่จู่ๆเขากลับเดินผ่านมาแล้วจากไป ใบหน้าของ Hepburn บิดเบี้ยวเสียจนผู้ชมรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวทรวงใน เสียงไวโอลินยังช่วยบีบเค้นคั้น แทบจะกลั้นหลั่งน้ำตาไม่ไหว และกล้องค่อยๆเคลื่อนถอยออกห่าง รักครั้งนี้จบสิ้นลงแล้วใช่ไหม??

หลังความผิดหวังที่ไม่ได้พบเจอชายคนนั้น Jane เปลี่ยนกลับมาสวมใส่ชุดสีขาว แทนจิตใจอันบริสุทธิ์ เวิ้งว่างเปล่า เลิกคาดหวังอะไรอีกต่อไป แค่บังเอิญพานผ่านร้านขายของเก่าแห่งนี้อีกครั้ง เลยต้องการบันทึกภาพเก็บไว้ในความทรงจำ และขณะกำลังเดินถอยหลังก็พลัดตกคูคลอง … ตรงกับสำนวนไทย ถอยหลังเข้าคลอง หมายถึงการย้อนกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม ไม่พัฒนาแล้วแถมยังตกต่ำลงเรื่อยๆ

ในตอนแรก Hepburn ไม่ต้องการพลัดตกลงในคลอง เพราะมันโคตรสกปรก! (ก่อนหน้านี้มีภาพที่ชาวบ้านทิ้งขยะลงแม่น้ำ นั่นเหตุการณ์จริงไม่ได้เตี๊ยมใคร) แต่ผู้กำกับ Lean ยืนกรานว่าถ้าใช้นักแสดงแทนผู้ชมย่อมสังเกตได้ จึงมีการเทน้ำยาฆ่าเชื้อ และทาวาสลีนปกป้องผิวหนัง ถ่ายทำอยู่สี่เทค แล้วค่ำคืนนั้นดวงตาข้างหนึ่งของ Hepburn ทั้งคันทั้งแดงกล่ำ ได้รับการวินิจฉัยโรคอะไรสักอย่าง ไม่มีทางรักษาหาย ติดตัวจนวันตาย … แต่เธอไม่ได้โกรธเคืองอะไรผกก. Lean นะครับ เพราะนี่คือการทุ่มเทเสียสละเพื่อศิลปะภาพยนตร์

แซว: สำหรับนัยยะของการเดินตกคลอง มันน่าจะสอดคล้องคำภาษาอังกฤษ ‘falling in love’ กระมัง –“

Renato ล่อหลอก Jane ว่าร้านของตนเองมีแก้วสีแดงแค่เพียงใบเดียว (ล่อหลอกเธอให้รักเดียวใจเดียว) แต่ในความจริงแก้วใบนี้หาซื้อไม่ยาก คำโกหกดังกล่าวสามารถเหมารวมทุกสิ่งอย่างที่เขาพยายามปกปิดบัง (ว่าเคยแต่งงานมีบุตร ปัจจุบันแยกกันอยู่กับภรรยา) … แก้วหลายใบ ช่างดูเหมือนผู้ชายหลายใจ

ผมพยายามจับจ้องมองช็อตนี้อยู่สักพักใหญ่ๆ รู้สึกว่ามันดูแปลกประหลาด เหมือนเกิดจากการซ้อนภาพวาด (จะมีบางส่วนที่ขยับเคลื่อนไหว แต่ส่วนใหญ่หยุดแน่นิ่งเฉยๆ) ซึ่งเหตุผลที่ต้องใช้เทคนิคภาพยนตร์ดังกล่าว อาจเพราะข้อจำกัดของการถ่ายทำตอนกลางคืน ฟีล์มสีต้องใช้ปริมาณแสงค่อนข้างมาก ผลลัพท์อาจไม่เป็นที่พึงพอใจ เลยต้องหาวิธีอื่นทำออกมาใหมันแนบเนียน

Gardenia ดอกไม้ขาว สัญลักษณ์ของความรักที่เป็นความลับ มอบให้คนรักสื่อว่าคุณน่ารักสำหรับฉัน และยังหมายถึงการวิวาห์ ความบริสุทธิ์ และปิติยินดี

ในบริบทของหนัง Jane ได้ครอบครองดอก Gardenia เพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ จากนั้นก็ทำมันพลัดตกลงคูคลอง พยายามเอื้อมมือแต่ไม่สามารถไขว่คว้า รวมถึงไคลน์แม็กซ์ที่ Renato ต้องการมอบดอกไม้นี้เป็นของขวัญร่ำลา แต่ก็มาไม่ถึงมือเธออยู่ดี … กลายเป็นสัญลักษณ์แทนความรักที่ Jane ได้ครอบครองเพียงระยะเวลาสั้นๆ

You are like a hungry child who is given ravioli to eat. ‘No’ you say, ‘I want beefsteak!’ My dear girl, you are hungry. Eat the ravioli.

Renato de Rossi

นี่เป็นประโยคที่มีความโรแมนติก สองแง่สองง่าม เห็นว่าบางประเทศมีการเซนเซอร์คำว่า beefsteak! เพราะมันมีความล่อแหลม … ยังไงผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน

ความหมายของคำพูดประโยคนี้ก็คือ เวลาหิว(หื่น)กระหายบางทีมันก็เลือกไม่ได้ มีอะไรก็กินอย่างนั้น ถ้ามัวเรื่องมาก เจ้ากี้เจ้าการ คนนี้ไม่ใช่เจ้าชายในฝัน (beefsteak?) สุดท้ายก็อาจแห้วรับประทาน อยู่เป็นโสดซิงจนวันตาย

เกร็ด: Ravioli เป็นพาสตาชนิดหนึ่ง มีลักษณะแป้งแผ่นบางประกบห่อไส้ข้างใน คล้ายๆเกี๊ยวของประเทศจีน แต่ไม่จำกัดรูปทรง สามารถใช้แทนเส้นสปาเก็ตตี้ ทำอาหารอิตาเลี่ยนได้หลากหลายเมนู

ยุคสมัยนั้นการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไม่ใช่สามี-ภรรยา ยังเป็นเรื่องต้องห้าม สังคมไม่ให้การยินยอมรับ จึงมีหลายประเทศสั่งหั่นฉากนี้ออกไป ทั้งๆพบเห็นเพียงรองเท้าแดง ตัดสลับกับภาพการจุดพลุ จินตนาการกันออกหรือเปล่าว่ามันมีความสัมพันธ์กันอย่างไร? … เมื่อถึงจุดสูงสุดก็ปะทุ ระเบิด แตกกระจาย

แซว: เมื่อตอนสรรค์สร้าง Brief Encounter (1945) ผู้กำกับ Lean ยังมีความยึกยัก ไม่สามารถแทรกใส่ฉากที่สื่อถึงเพศสัมพันธ์ระหว่างชายโฉดหญิงชู้ แต่พออีกทศวรรษถัดมา Summertime (1955) อะไรๆก็เริ่มปรับเปลี่ยนแปลงไป

แซว2: วันก่อนผมเพิ่งรับชมภาพยนตร์ The Red Shoes (1948) มันเลยเกิดความครุ่นคิดเชื่อมโยงถึงความหมกมุ่น ลุ่มหลงใหล (Obsession) แต่ก็ตระหนักว่าไม่ได้เกี่ยวอะไรกัน มันจะไปคล้ายๆรองเท้าแก้วของ Cinderella เสียมากกว่า

Renato พา Jane ไปท่องเที่ยวยัง Burano เกาะเล็กๆทางตอนเหนือ ขึ้นเรือห่างออกไป 11 กิโลเมตรจากเมือง Venice เพื่อรับชมพระอาทิตย์ตกดิน ซึ่งสอดคล้องกับความสัมพันธ์ของพวกเขา ดำเนินมาใกล้ถึงจุดจบ โดยไม่รู้ตัวนี่คือค่ำคืนสุดท้ายที่จักได้ครองคู่อยู่ร่วม

ตัดต่อโดย Peter Taylor (1922-97) สัญชาติอังกฤษ ผลงานเด่นๆ อาทิ Hobson’s Choice (1954), Summertime (1955), The Bridge on the River Kwai (1957), This Sporting Life (1963), La Traviata (1983), Otello (1986) ฯลฯ

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองตัวละคร Jane Hudson ตั้งแต่โดยสารรถไฟมาถึงยัง Venice, Italy เข้าพักยังโรงแรม Pensione Fiorini แล้วออกเตร็ดเตร่ เร่รอน จนกระทั่งโชคชะตานำพาให้พบเจอกับ Renato de Rossi แม้พยายามปฏิเสธต่อต้าน แต่ก็มิอาจหักห้ามความต้องการของหัวใจ จนกระทั่งครบกำหนดวันหยุดพักผ่อน จำต้องร่ำลาจากยังสถานีรถไฟ

  • อารัมบท, Jane Hudson เดินทางมาถึง Venice
    • Jane Hudson โดยสารขบวนรถไฟมาถึงยัง Venice
    • ขึ้นเรือโดยสาร ออกเดินทางไปยังโรงแรม Pensione Fiorini
    • ระหว่างเข้าพัก สนทนากับเจ้าของ และนักท่องเที่ยวในโรงแรม
  • เตร็ดเตร่เร่รอนในเมือง Venice
    • ระหว่าง Jane กำลังเตร็ดเตร่ในเมือง Venice พบเจอกับเด็กชาย Mauro
    • ยามเย็นมานั่งเล่นยัง Piazza San Marco แรกพบเจอ Renato de Rossi
    • วันถัดมาระหว่างกำลังช้อปปิ้ง เกิดความชื่นชอบแก้วสีแดง บังเอิญเจ้าของร้านคือชายที่พบเจอเมื่อเย็นวาน Renato de Rossi
    • อีกวันถัดมาแวะเวียนมายังร้านขายเก่านี้อีกครั้ง ต้องการบันทึกภาพเก็บไว้ในความทรงจำ แต่ดันเดินถอยหลังตกลงคูคลอง
    • เมื่อกลับมาถึงโรงแรม พบเจอกับ Renato de Rossi ที่แวะมาเยี่ยมเยียน และชักชวนไปร่วมชมการแสดงยามค่ำคืน
  • ช่วงเวลา(ค่ำคืน)แห่งรัก
    • ยามค่ำคืนรับชมการแสดงดนตรีที่ Piazza San Marco
    • วันถัดมา Jane อุตส่าห์เฝ้ารอคอย Renato แต่กว่าจะว่างมาหาก็ยามค่ำคืน
    • พาไปท่องเที่ยวยามดึกดื่น พร้อมสารภาพความจริงว่าเคยแต่งงาน ปัจจุบันแยกกันอยู่กับภรรยา
    • และหลังจากนี้พวกเขาก็ได้เติมเต็มความต้องการของกันและกัน
    • Renato พา Jane ไปท่องเที่ยวยัง Burano รับชมพระอาทิตย์ตกดิน
  • วันสุดท้ายแห่งการร่ำลา
    • จู่ๆ Jane ก็ตัดสินใจบอกร่ำลา Renato ถึงเวลาเดินทางกลับบ้าน
    • และการร่ำจากลายังสถานีรถไฟ

บ่อยครั้งที่หนังมีการแทรกชุดภาพสถานที่ท่องเที่ยว ร้อยเรียงมุมมองเมือง Venice จากทิศทางต่างๆ (ส่วนใหญ่ถ่ายทำบนชั้นดาดฟ้า มองลงมาเบื้องล่าง) นี่ไม่ใช่แค่ทำตามคำเรียกร้องขอรัฐบาลอิตาลี แต่ยังเป็นวิธีให้ผู้ชมซึมซับบรรยากาศ ราวกับต้องมนต์ขลัง พบเห็นดินแดนแห่งสายน้ำ(ในมุมมอง)ที่แตกต่างออกไป


เพลงประกอบโดย Alessandro Cicognini (1906-95) คีตกวีสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Pescara, สำเร็จการศึกษาด้านการแต่งเพลงจาก Milan Conservatory โด่งดังจากอุปรากร Donna Lombarda (1933), จากนั้นผันตัวมาทำเพลงประกอบภาพยนตร์ ขาประจำ Vittorio de Sica และ Alessandro Blasetti ผลงานเด่นๆ อาทิ Shoeshime (1946), Bicycle Thieve (1948), Miracle in Milan (1951), Umberto D. (1952), Stazione Termini (1953), Summertime (1955) ฯลฯ

งานเพลงของหนังมีความหลากหลายอรรถรส เริ่มต้นด้วยท่วงทำนองแห่งการผจญภัย (ระหว่างออกเดินทางมุ่งสู่ Venice) ตื่นเต้นสนุกสนาน หวานแหววโรแมนติก รวมถึงเศร้าโศกเสียใจเมื่อต้องพลัดพรากจากลา ส่วนใหญ่เป็น ‘Diegetic Music’ (ได้ยินจากแหล่งกำเนิดเสียง) ซึ่งจะมีกลิ่นอายเมืองแห่งสายน้ำ Venice/ดนตรีสไตล์ Italian สำหรับสร้างบรรยากาศพอหอมปากหอมคอ

สำหรับ Title Sequence พื้นหลังรูปภาพวาด เพราะไม่ได้ขึ้นเครดิตจึงกลายเป็นปริศนาว่าผลงานศิลปินใด ทำการร้อยเรียงภาพการออกเดินทางของ Jane Hudson ตั้งแต่ขึ้นเรือสำราญ มาถึงทวีปยุโรป ท่องเที่ยวอังกฤษ ฝรั่งเศส ทิ้งท้ายด้วยภาพขบวนรถไฟจาก Paris สู่ Venice เต็มไปด้วยเสียง ‘Sound Effect’ หวูดรถ หวูดเรือ ผู้คนขวักไขว่ คลุกเคล้าเข้ามาเพื่อสร้างบรรยากาศการผจญภัยที่น่าตื่นเต้น และเต็มไปด้วยความวุ่นๆวายๆ

ช่วงกลางเรื่อง Renato ชักชวน Jane มารับชมการแสดงคอนเสิร์ต La gazza ladra (1817) (แปลว่า The Thieving Magpie) มีลักษณะเป็น Melodramma หรือ Opera Semiseria ความยาวสององก์ ประพันธ์โดยคีตกวีชาวอิตาเลียน Giovanni Gherardini (1792-1868)

ท่อนโด่งดังและได้ยินในหนังคือ Overtune ไม่เพียงแค่อารัมบทเสียงรัวกลอง (Snare Drums) นำเข้าสู่งานเลี้ยงเฉลิมฉลอง แต่ช่วงกลางๆยังมีความพริ้วไหวของเครื่องเป่าที่ให้ความรู้สึกเหมือนเจ้าสาลิกาขี้ขโมย (Magpie) บินโฉบลงมาเอาบางสิ่งอย่าง สร้างความสูญเสียหายจนกลายเป็นเรื่องใหญ่โตอย่างไม่มีใครคาดคิดถึง!

สำหรับบทเพลงโรแมนติกที่ได้ยินระหว่างเต้นรำชื่อว่า Summertime in Venice ดั้งเดิมมีเพียงท่วงทำนอง แต่เพราะหนังได้รับความนิยมอย่างมากๆ จึงมีการใส่คำร้องภาษาอังกฤษโดย Carl Sigman และแปลอีกหลายภาษา รวมถึงบันทึกเสียงนับครั้งไม่ถ้วน

เท่าที่ผมลองรับฟังบทเพลงนี้จากหลายๆศิลปินชื่อดัง ขอเลือกนำฉบับของ Buddy Greco บันทึกเสียงเมื่อปี ค.ศ. 1964 ซึ่งมีทั้งภาษาอิตาเลี่ยนและอังกฤษในบทเพลงเดียว รู้สึกน่าสนใจเลยเอาคลิปมาให้รับฟัง

Un sogno romantico
Venezia e il sole splendido
Dovunque saro, no li potro dimenticar
Di questa estate sul mar non potran morir
In me, i dolce baci ed I sopir

I dream all the winter long
Of mandolins that played our song
The dream is so real, I almost feel your lips on mine
And though I know we have to be an ocean apart
There’s Venice and you and summertime, deep in my heart

แถมให้สำหรับคนไม่อยากรับฟังฉบับคำร้องของบทเพลง Summertime in Venice คลิปที่ผมนำมานี้เป็นของ Mantovani & His Orchestra บันทึกเสียงเมื่อปี ค.ศ. 1958 เต็มไปด้วยกลิ่นอาย Venice ดนตรีสไตล์ Italian มีความไพเราะเพราะพริ้งกว่าที่ได้ยินในหนังเสียอีกนะ!

เอาจริงๆเพลงนี้น่าจะถือเป็น Main Theme ของหนังด้วยซ้ำนะ! ท่วงทำนองมีความพริ้วไหวเหมือนดั่ง(เมืองแห่ง)สายน้ำ จิตวิญญาณล่องลอยไป ไม่สามารถหยุดอยู่นิ่ง นั่นรวมถึงเรื่องราวความรัก แม้ต้องการครองคู่อยู่เคียงข้าง แต่ก็มิอาจหยุดยับยั้งหักห้ามตนเอง ทำได้เพียงพบเจอ-พรากจาก ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป จดจำช่วงเวลาที่เราได้พบเจอครั้งนี้ เก็บฝังไว้ในความทรงจำชั่วนิรันดร์

Cuckoo นกชนิดหนึ่งทางยุโรปที่ชอบวางไข่ไว้ในรังนกชนิดอื่น, นี่น่าจะคือความตั้งใจของ Arthur Laurents ผู้เขียนบทละครเวที The Time of the Cuckoo ที่ต้องการสื่อถึงช่วงเวลาคบชู้สู่ชาย หญิงสาวสานสัมพันธ์กับบุรุษมีคู่ครองอยู่แล้ว ยุคสมัยนั้นยังเป็นสิ่งขัดแย้งต่อศีลธรรมอันดีงาม สังคมไม่ให้การยินยอมรับ แม้ด้วยข้อตกลงแยกกันอยู่(ของฝ่ายชายกับอดีตภรรยา)ก็ตามที

แซว: ใครเคยรับชม One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975) ก็น่าจะเข้าใจอีกความหมายศัพท์แสลงของ Cuckoo ที่แปลว่า คนบ้า วิกลจริต สูญเสียสติแตก

ผู้กำกับ Lean ไม่ได้ใคร่สนใจในเรื่องราวรักต้องห้าม คบชู้นอกใจ กระทำสิ่งขัดแย้งศีลธรรมทางสังคม -เพราะเคยตั้งคำถามนั้นมาแล้วกับ Brief Encounter (1945)- เราสามารถเปรียบเทียบในเชิงสัญลักษณ์ระหว่าง Renato de Rossi กับเมือง Venice ตกหลุมรักชายคนนี้=เมืองแห่งนี้ (แน่นอนว่าต้องมีคนอื่นเคยตกหลุมรัก Renato/Venice เช่นเดียวกัน) แต่เพราะฉันเป็นแค่นักท่องเที่ยว พบเจอ-จากลา ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ทำได้เพียงจดจำทุกสิ่งอย่างเก็ยฝังไว้ในความทรงจำ/ฟีล์มภาพยนตร์ (ทั้งจากกล้องของตัวละคร และภาพยนตร์เรื่องนี้)

ความสนใจของผู้กำกับ Lean สังเกตจากการแสดงของ Katharine Hepburn พยายามสะท้อนสภาพจิตวิทยาของ(ตนเอง)บุคคลอ้างว่ารักอิสระ ‘free spirit’ แม้ทำให้ชีวิตไม่อยู่ภายใต้กฎกรอบ การควบคุมครอบงำ หรือต้องคอยติดตามงอนง้อใคร แต่มันก็ทำให้เขา/เธอทนอยู่กับความโดดเดี่ยวอ้างว้าง เหงาหงอยเศร้าซึม ขาดที่พึ่งพักพิงทางใจ

What appealed to me in the idea of Summertime? Loneliness. It is a more common emotion than love, but we speak less about it. We are ashamed of it. We think perhaps that it shows a deficiency in ourselves. That if we were more attractive, more entertaining, and less ordinary we would not be lonely.

David Lean

ในเว็บไซด์ Wikipedia เขียนว่าผู้กำกับ Lean แต่งงานถึง 6 ครั้ง เลื่องลือเรื่องความเจ้าชู้ประตูดิน คบหาหญิงสาวนับร้อยพัน นั่นสามารถสะท้อนความรักอิสระ ‘free spirit’ ไม่ชอบความผูกพันธ์ ปฏิเสธยึดติดกับบุคคลใด น้ำแตกแล้วแยกทางไป สนเพียงเรื่องราวและความทรงจำดีๆ แต่มันจะมีสักกี่ครั้งที่เขายังจดจำเธอคนนั้นฝังใจ

เมื่อตอน Brief Encounter (1945) ผมพบเจอเรื่องราวของอดีตแฟนสาว(ของผกก. Lean)ชื่อ Josephine Kirby คบหากันเมื่อปี ค.ศ. 1935 รู้ทั้งรู้ว่าเธอมีคู่หมั้นอยู่แล้ว แต่เขากลับยังพาเธอไปออกเดทยังอิตาลี (น่าจะคือ Venice) แล้วปีถัดมาถึงค่อยยุติความสัมพันธ์ … นี่ก็น่าจะคือส่วนหนึ่งของความทรงจำฝังใจไม่รู้ลืมของผู้กำกับ Lean อย่างแน่แท้!

สำหรับ Hepburn เมื่อสมัยยังสาวๆก็เลื่องชื่อในความแก่นแก้ว คบหาผู้คน(ทั้งชาย-หญิง)มากมาย แต่เมื่ออายุมากขึ้นก็ตัดสินใจลงหลักปักฐานกับ Spencer Tracy ที่ไม่ได้แต่งงานเพราะอีกฝ่ายปฏิเสธหย่าร้างภรรยาเก่า (แต่ก็แยกกันอยู่ถาวร) ความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาไม่แตกต่างจาก Jane & Renato เลยสักนิด!

ทั้งผู้กำกับ Lean (ขณะนั้นแต่งงานกับนักแสดง Ann Todd) และ Hepburn (ครองรักกับ Tracy) ต่างฝ่ายต่างยังโหยหาชีวิตอิสระ การสรรค์สร้าง Summertime (1955) ต่างเป็นช่วงเวลาพักร้อน ห่างไกลจากครอบครัว แต่ความสัมพันธ์ของพวกเขามีความเป็นมืออาชีพ ไม่มีอะไรเกินเลยเถิด ให้ความเคารพ และท้าทายศักยภาพของกันจนถึงขีดสุด!

ความลึกลับต้องมนต์ขลังของเมือง Venice เกิดจากกระแสน้ำเคลื่อนไหล จิตวิญญาณล่องลอยไป ชีวิตที่ไม่สามารถหยุดอยู่นิ่ง เฉกเช่นเดียวกับเรื่องความรัก พัดผ่านมาแล้วก็พรากจากไป มิอาจลงหลักปักฐาน อยู่เคียงข้างกันได้ยาวนาน นี่คือดินแดนสำหรับบุคคลแสร้งว่าโสด พร้อมเปลี่ยนคู่ครองไม่ซ้ำหน้า


หนังสร้างที่ Venice ก็ต้องเข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยัง Venice’s Palace Theatre (แต่ไม่ใช่ในเทศกาลหนัง Venice นะครับ) ด้วยทุนสร้าง $1.1 ล้านเหรียญ จนถึงสิ้นปีทำเงินในสหรัฐอเมริกา $2 ล้านเหรียญ รวมรายรับทั่วโลกประมาณ $4-5 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ทวีคูณนักท่องเที่ยวปีถัดๆมา

หนังโดนแบนห้ามฉายในอินเดีย รวมถึงหลายๆฉากถูกตัดออกที่เยอรมัน เพราะความล่อแหลมของการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไม่ใช่สามี-ภรรยา แม้เรื่องราวพยายามอธิบายว่าฝ่ายชายไม่ได้อยู่กับอดีตคนรัก แต่ยุคสมัยนั้นยังถือว่าเป็นประเด็นอ่อนไหว … ผมจัดเรตหนังทั่วไปเพราะความชัดเจนในประเด็นนี้ ทำให้ไม่รู้สึกว่าขัดแย้งต่อหลักศีลธรรมสักเท่าไหร่

ช่วงปลายปีหนังได้เข้าชิง Oscar และ BAFTA Award อย่างละสองสาขา น่าเสียดายไม่ได้รางวัลอะไรติดไม้ติดมือกลับมา ประกอบด้วย

  • Academy Award
    • Best Director
    • Best Actress (Katharine Hepburn)
  • BAFTA Award
    • Best Film from any Source
    • Best Foreign Actress (Katharine Hepburn)

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ คุณภาพ 4K โดย Criterion Collection วางขายเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2022 ใครชื่นชอบ Venice เป็นของสะสมที่ห้ามพลาดโดยเด็ดขาด!

เอาจริงๆผมรู้สึกว่าความชื่นชอบต่อ Summertime (1955) ลดลงกว่าแต่ก่อนพอสมควร อาจเพราะหลังจากรับชมอนิเมะ Aria the Animation (2005-) ทำให้โลกทัศน์ต่อเมืองแห่งสายน้ำ Venice ปรับเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง! ถึงอย่างนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มีลักษณะพิเศษด้วยสไตล์ลายเซ็นต์ ความเป็นส่วนตัวของผู้กำกับ Lean และฝีไม้ลายมือด้านการแสดงของขุ่นแม่ Katharine Hepburn แพรวพราว พริ้วไหว ได้อย่างเป็นธรรมชาติ

ถ้าคุณชื่นชอบ Venice แล้วยังไม่เคยรับชม Summertime (1955) ถือว่าเสียxxxมากๆ โดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยว สามารถใช้เป็นไกด์ เรียนรู้จักจุดเช็คอิน สถานที่สำคัญๆ, แฟนๆผู้กำกับ David Lean และนักแสดง Kathrine Hepburn ก็ไม่ควรพลาดเช่นเดียวกัน

จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย

คำโปรย | ท่องเที่ยวฤดูร้อน ‘Summertime’ ไปกับ David Lean ชื่นชมความงดงาม เพลิดเพลินมนต์เสน่ห์ และความโรแมนติกของ Venice
คุณภาพ | ซ์
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
1 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
1 Comment authors
ร.น.ก. Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
ร.น.ก.
Guest
ร.น.ก.

เพลงประกอบหนังเรื่องนี้ ในไทยถูกวงสุนทราภรณ์นำทำนองมาใส่คำร้องภาษาไทยโดยแก้ว อัจฉริยะกุล ด้วย 2 เพลง 2 จังหวะ ในชื่อเดียวกัน คือ “เวนิสพิศวาส” ผู้ขับร้อง 2 เวอร์ชั่น คือ

ชวลี ช่วงวิทย์ (จังหวะบีกิน)

รวงทอง ทองลั่นทม (จังหวะสโลว์)

%d bloggers like this: