Sunrise: A Song of Two Humans (1927) : F. W. Murnau ♥♥♥♥♡
(21/7/2017) ชีวิตคู่ ไม่ว่าจะเคยคิดทำอะไรผิดพลาด เกิดความคับข้องขัดแย้งผิดใจกัน แต่เมื่อรุ่งอรุณฟ้าสางตะวันตื่น ทุกสิ่งอย่างสามารถเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ ด้วยความเข้าใจและการให้อภัย นี่คือความไพเราะสวยงามของบทเพลงแห่งชีวิตมนุษย์, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ในยุคสมัยที่กล้องถ่ายภาพมีขนาดใหญ่เทอะทะ แม้จะสามารถยกเคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนได้ แต่มีข้อจำกัดอย่างหนึ่งคือ ตากล้อง/ช่างถ่ายภาพ ต้องยืนหมุนฟีล์มอยู่ตลอดเวลา [อยากเห็นว่ากล้องสมัยก่อนเป็นอย่างไร แนะนำให้ไปหา The Cameraman (1928) และ Man with a Movie Camera (1929) มารับชมดูนะครับ] ทำให้ส่วนใหญ่แล้วกล้องมักตั้งอยู่กับที่ เต็มที่คือเห็นภาพหมุนไปมาหรือที่เรียกว่าแพนนิ่ง (Panning) แต่สำหรับ Sunrise: A Song of Two Humans จะเห็นว่าภาพมีการเคลื่อนไหวเข้า-ออก เดินฝ่าฝูงชน โบยบินล่องลอย เรียกว่ามีอิสระเสรีอย่างที่สุด ราวกับความฝันที่กลายเป็นจริง
มีนักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ เรียก ค.ศ. 1927 ว่าคือ ‘ปียิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ Hollywood’ ไม่ใช่แค่จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคสมัยหนังพูด แต่ยังคือจุดสูงสุดของหนังเงียบ ที่ได้พบความสมบูรณ์แบบและค่อยๆสูญหายไป ‘when silent films reached perfection and then disappeared’
Sunrise: A Song of Two Humans คือหนึ่งในภาพยนตร์ที่ได้รับการยกย่องว่า หนังเงียบเรื่องยิ่งใหญ่ที่สุด สมบูรณ์แบบในด้านเทคนิคศิลปะ สวยงามทั้งภาพและเรื่องราว แม้จะไม่ได้ยินเสียง (ตัวหนังก็มี Original Soundtrack บรรเลงประกอบนะครับ) แต่เสมือนมีความไพเราะเพราะพริ้ง เกาะติดตาจับหัวใจผู้ชม ขนาดกาลเวลาก็มิอาจทำลายความยิ่งใหญ่นี้ลงได้
Friedrich Wilhelm Murnau (1888-1931) ผู้กำกับหนังสัญชาติเยอรมัน ที่ทรงอิทธิพลมากสุดคนหนึ่งแห่งยุคหนังเงียบ, เกิดที่ Bielefeld, German Empire มีความหลงใหลในวรรณกรรมของ Schopenhauer, Nietzsche, Shakespeare, Ibsen ตั้งแต่ตอนอายุ 12 เข้าเรียนภาษาศาสตร์ (Philology) ที่ University in Berlin มีความสนใจในประวัติศาสตร์ศิลปะ และวรรณกรรม เคยเป็นนักแสดงในงานของโรงเรียนเข้าตาผู้กำกับ Max Reinhardt ชักชวนให้เข้าโรงเรียนการแสดงของตน, ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 รับใช้ชาติตำแหน่งผู้บังคับบัญชา (Commander) ที่ Eastern Front ต่อมาเข้าร่วมทหารอากาศ ขับเครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิดตอนเหนือของฝรั่งเศส รอดชีวิตจากเครื่องตก 8 ครั้งโดยไม่เคยบาดเจ็บสาหัส
สิ้นสุดสงครามโลก ร่วมกับ Conrad Veidt ก่อตั้งสตูดิโอของตนเอง สร้างภาพยนตร์เรื่องแรกคือ The Boy in Blue (1919) น่าเสียดายฟีล์มสูญหายไปแล้ว, สำหรับผลงานสร้างชื่อเสียงของ Murnau เป็นที่รู้จักทั่วโลกคือ Nosferatu (1922) ที่ดัดแปลงลอกเลียนมาจากนิยาย Dracula (แต่เพราะติดเรื่องลิขสิทธิ์ จึงไม่มีปรากฎคำว่า Dracula ในหนังสักคำ) และ The Last Laugh (1925) ได้รับการยกย่องว่า ‘หนังเงียบสนิท’
ปี 1926 ได้รับการชักชวนจาก William Fox โปรดิวเซอร์ของ Fox Studio (ปัจจุบันคือ 20th Century Fox) ให้มาสร้างหนังที่ Hollywood เซ็นสัญญาสร้างหนัง 3 เรื่อง ประกอบด้วย Sunrise: A Song of Two Humans (1927), 4 Devils (1928) [ฟีล์มสูญหายไปแล้ว แต่นักวิจารณ์สมัยนั้นยกย่องว่านี่คือ ผลงานยอดเยี่ยมที่สุดของ Murnau] และ City Girl (1930) แต่เพราะการมาถึงของยุคหนังพูด ทำให้ทั้ง 3 เรื่องนี้ไม่ทำเงินแม้แต่น้อย
หนังเรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องสั้นตอนหนึ่งของหนังสือ Litauische Geschichten (1917) [แปลว่า Lithuanian Stories หรือ The Excursion to Tilsit] แต่งโดย Hermann Sudermann นักเขียนสัญชาติ German มีลักษณะเป็นบันทึกความทรงจำ (memoir) ของผู้แต่งที่เคยอาศัย/เรียนหนังสือ ในเมือง Tilsit ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ Russia
มอบหมายให้ Carl Mayer นักเขียนบทสัญชาติ Austrian-Jewish ที่ Murnau เหน็บมาด้วยจาก German ผลงานเด่น อาทิ The Cabinet of Dr. Caligari (1920), The Haunted Castle (1921), The Last Laugh (1924), Tartuffe (1926) ฯ
เรื่องราวโดยย่อ: ชายหนุ่ม (รับบทโดย George O’Brien) อาศัยอยู่กับภรรยา (รับบทโดย Janet Gaynor) ช่วงแต่งงานก็มีความสุขรักกันดี แต่พอเวลาผ่านไปคงด้วยความเบื่อหน่ายในการใช้ชีวิต จึงลักลอบมีชู้กับ หญิงสาวจากเมืองใหญ่ (รับบทโดย Margaret Livingston) พรอดรักกันริมทะเลสาบ, ค่ำคืนหนึ่งเธอยื่นคำขาด ขอให้ชู้รักกระทำบางอย่าง ละทิ้งคนรักเก่าไปอาศัยอยู่ด้วยกันในเมืองใหญ่ ชายหนุ่มจะสามารถทำตามคำขอนี้ได้หรือไม่
หนังจงใจไม่ใส่ชื่อของตัวละคร เพราะต้องการให้แทนด้วยใครก็ได้ เป็นสากล (Universal Symbol) ประกอบด้วย ชายหนุ่ม, หญิงสาว และชู้รัก
George O’Brien (1899 – 1985) นักแสดงหนุ่มสัญชาติอเมริกา เกิดที่ San Francisco, California ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สมัครเป็นทหารเรือ รับใช้ชาติในในเรือดำน้ำ ปลดประจำการมาเป็นนักมวยรุ่น Light Heavyweight ผันตัวสู่วงการช่วงต้นทศวรรษ 20s มีความตั้งใจเป็นตากล้อง แต่ไปๆมาๆจับพลัดจับพลูกลายเป็น Stuntman ไม่นานก็ได้ออกหน้ากล้อง ค่อยๆมีชื่อเสียงขึ้นเรื่องๆ โด่งดังสุดก็กับหนังเรื่องนี้, ในยุคเปลี่ยนผ่านสู่หนังพูด ยังมีผลงานอยู่เรื่อยๆ เป็นขาประจำของผู้กำกับ David Howard พอถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็อาสาสมัครกลับไปเป็นทหารอีก
ถึงหนังจะไม่ได้บอกเหตุผลที่ชายหนุ่มนอกใจภรรยาสาว ลักลอบคบชู้กับหญิงสาวจากเมืองใหญ่ แต่ลึกๆแล้วเขายังมีจิตสำนึกที่ดี ลังเลหวาดหวั่นกลัวในสิ่งที่คิดจะทำ ภายหลังรู้สึกสำนึกในความผิด ‘เข้าใจ’ตนเอง จึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อไถ่โทษ
ภาพลักษณ์ของตัวละครนี้ ช่วงแรกผมเผ้ากะเซอะกะเซิง หนวดเครารุงรัง สะท้อนถึงความว้าวุ่นวายที่อยู่ในจิตใจ แต่พอเมื่อความตั้งใจของตนเองเปลี่ยนไป เดินเข้าร้านตัดผม โกนหนวดหวีผม ดูหล่อเหลาผุดผ่องขึ้นเชียว
Janet Gaynor (1906 – 1984) นักแสดงสาวสวยร่างเล็ก สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Germantown, Philadelphia ชื่อเล่น Lolly พ่อทำงานเป็นช่างทาสีในโรงละครใกล้บ้าน ซึ่งก็ได้สอนให้เธอร้องเล่น กระโดดโลดเต้น จึงเริ่มมีความสนใจด้านการแสดงนับจากนั้น, เริ่มจากมีผลงานละครเวที ได้เป็นตัวประกอบในหนังเงียบหลายเรื่อง จนกระทั้งเซ็นสัญญากับ Fox Studio เมื่อปี 1926 ประสบความสำเร็จโด่งดัง กลายเป็นหนึ่งในนักแสดงทำเงินสูงสุดแห่งทศวรรษ ซึ่งปี 1927 คือปีทองของเธอโดยแท้ มี 3 ผลงานดังคือ 7th Heaven (1927), Sunrise: A Song of Two Humans (1927), Street Angel (1928) และคว้า Oscar: Best Actress เป็นคนแรก
ผลงานเด่นอีกเรื่องของ Gaynor คือ A Star Is Born (1937) ที่ทำให้เธอได้เข้าชิง Best Actress อีกครั้ง แต่ไม่นานก็รีไทร์ออกจากวงการหลังแต่งงาน คงไม่ค่อยชอบ Hollywood ยุคใหม่นี้เท่าไหร่ (ว่าไปก็สะท้อนกับตัวละครของเธอใน A Star Is Born เลยนะครับ)
ภรรยาสาว เรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้ (หวีผมเนี๊ยบมาก) เธอไม่รู้อะไรเกิดขึ้นกับคนรักทำให้ดูเหินห่างไกลไม่สุขใจเหมือนแต่ก่อน แต่ก็ไม่เคยคาดคิดว่าเขาจะกล้าทำอะไรบ้าบิ่นขนาดนั้น ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นศรัทธาต่อสามีสิ้นสูญลงทันที กลายเป็นความหวาดกลัวจนตัวสั่นหมดเรี่ยวแรง พยายามหนีดิ้นให้หลุด แต่เพราะความตื้อไม่เลิกเพื่อขอให้ยกโทษ นี่จึงเป็นโอกาสทำให้เธอรู้จักการ’ให้อภัย’
Margaret Livingston (1895 – 1984) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Salt Lake City, Utah เป็นดาราหนังเงียบที่ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง แต่พอถึงยุคหนังพูดก็ค่อยๆเงียบหายไป รีไทร์หลังจากได้แต่งงาน
หญิงสาวจากเมืองใหญ่ มีความระเริงรื่นหลงใหลในแสงเสียงโลกยุคใหม่ บริโภคแต่สิ่งเลิศหรูโดยมิได้ย้อนมองดูสถานะตัวเอง เลวร้ายสุดคือจิตใจที่คิดคิด หวังแต่แสวงหาผลประโยชน์เข้าตัว ความสุข ณ ปัจจุบัน สำคัญกว่าอนาคตเป็นไหนๆ
ถ่ายภาพโดย Charles Rosher และ Karl Struss ทั้งสองก่อนหน้านี้ถือว่าเป็นตากล้องยอดฝีมือ แต่หลังจากถ่ายทำหนังเรื่องนี้ก็ได้กลายเป็นตำนานโดยทันที, โดดเด่นอย่างยิ่งกับการเคลื่อนไหว (Tracking Shots), ซ้อนภาพ และภาพหลอกตาด้วยขนาดของฉากที่บิดเบี้ยว
“I think films of the future will use more and more of these camera angles, or, as I prefer to call them, these dramatic angles, They help photograph thought.”
– F. W. Murnau ปี 1928
Murnau เป็นผู้กำกับที่มีความโดดเด่นใน German Expressionism นี่จึงถือเป็นครั้งแรกของ Hollywood ที่มีการสร้างภาพยนตร์ลักษณะนี้ ทำให้ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณในการสร้างฉากอย่างมหาศาล มีรายงานว่าใช้งบไปถึง $200,000 เหรียญ (เทียบกับปัจจุบันน่าจะเกือบๆ $10 ล้านเหรียญ) แต่ใช่ว่าถ่ายทำเสร็จแล้วจะรื้อทิ้งทันที มีหนังอีกหลายเรื่องที่ขอมาใช้ฉากนี้ซ้ำ (re-used) อาทิ Four Sons (1928) ของผู้กำกับ John Ford
อย่างฉากริมทะเลสาบ ชายหนุ่มกับชู้รักจากเมืองใหญ่กอดจูบพรอดรัก นี่เป็นฉากที่มีความสวยงามและและเป็น Expressionist แสดงความรู้สึกด้านมืดของจิตใจมนุษย์
การซ้อนภาพ ไม่ใช่แค่สื่อความหมาย แต่ยังเกิดสัมผัสทางอารมณ์ความรู้สึก, ช็อตที่ได้รับการกล่าวถึงมากสุดก็คือ บนเตียงของชายหนุ่มยามเช้า จิตใจกำลังครุ่นคิดใคร่ครวญพิจารณา นี่ฉันจะทำยังไงดี ภาพซ้อนของหญิงสาวจากเมืองใหญ่ ราวกับวิญญาณเกาะติด เหนี่ยวรั้ง ล่อหลอกให้ตายใจ ผมเห็นภาพนี้แล้วเกิดความหลอกหลอน ขนหัวลุกซู่ สั่นสะท้านทุกที
สมัยนั้นยังไม่มีเทคนิค Blue/Green Screen (หนังขาว-ดำ ใช้เทคนิคนี้ไม่ได้) หรือ Rear Projection เกิดขึ้น แต่มีฉากหนึ่งน่าพิศวงอย่างยิ่ง, ขณะที่ชายหนุ่มและภรรยาเดินออกจากโบสถ์ หลังจากได้ปรับความเข้าใจกันแล้ว ราวกับว่าพวกเขาได้แต่งงานใหม่ (คู่ใหม่ปลามัน) ออกเดินแบบไม่สนอะไรทั้งนั้น ภาพสองข้างทางจากท้องถนนเปลี่ยนเป็นทุ่งดอกไม้ แล้วมาหยุดเดินตรงกลาง นี่เป็น Long-Take ที่อยู่ดีๆภาพพื้นหลังก็เฟดเปลี่ยนไปเอง แต่ถ้าสังเกตกันหน่อย รอบตัวนักแสดงทั้งสองเหมือนจะมีสีขาวๆ นี่น่าจะเกิดจากการตัดฟีล์มแล้วนำมาซ้อนกันแน่ๆ
แต่คงไม่มีฉากไหนของหนังตราตะลึงได้เท่ากับช็อตนี้อีกแล้ว ผมขอเรียกว่า ‘สวนสนุก’ (เพราะเต็มไปด้วยเครื่องเล่นต่างๆมากมาย) ช็อตแรกของฉากนี้ (Establish Shot) เป็นภาพหลอกตาให้ผู้ชมหลงคิดว่ามีการสร้างฉากขนาดใหญ่ขึ้นจริง แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นแค่โมเดลขนาดไม่ใหญ่มาก ถ่ายในระยะ Close-Up ใกล้ๆ ให้ดูเหมือนว่ามีขนาดใหญ่ แล้วทำการซ้อนภาพกับฝูงชนด้านล่าง ที่ใช้การถ่ายระยะไกลๆให้มองเห็นเป็นคนตัวเล็กๆขนาดเท่ามด
นี่เป็นเทคนิคที่ Murnau ใช้บ่อย หลอกตาผู้ชมสมัยนั้นได้อย่างเนียน (และอาจจะผู้ชมสมัยนี้หลายคนได้ด้วย)
ช็อตสุดท้ายที่ผมนำมา ก็คือ Sunrise พระอาทิตย์กำลังขึ้นช่วงเช้า สังเกตบ้านเรือนจะมีลักษณะบิดเบี้ยวแปลกๆตามสไตล์ Expressionist พื้นหลังใช้การวาดภาพลงบนกระจก (Glass Painting) จึงเห็นเหมือนมีมิติความลึกเข้าไป
ภาพมุมนี้จะมีตอนกลางคืน พระจันทร์ขึ้นด้วยนะครับ ไม่สวยเท่านี้แต่ก็งดงามไม่แพ้กัน
ตัดต่อโดย Harold D. Schuster, สังเกตว่าหนังมี Title Card ไม่เยอะเท่าไหร่ ข้อความที่ขึ้นก็ไม่ยาวมาก เพราะถ้าใครเคยรับชม The Last Laugh (1924) จะรู้ว่า Murnau ไม่ชอบการแทรก Title Card เข้ามาเลย เพราะทำให้เสียอรรถรสในการรับชม ซึ่งหนังเรื่องนั้นทั้งเรื่องมีข้อความขึ้นแค่ประโยคเดียว (จะถือว่าไม่มีขึ้นเลยก็ยังได้)
มี Title Card อยู่ใบหนึ่ง คำว่า “Couldn’t she get drowned?” ปรากฎว่าตัวอักษรค่อยๆไหลลง ราวกับว่ากำลังจมลงน้ำจริงๆ นี่ผมก็ไม่รู้ว่าทำยังไงนะครับ น่าพิศวงจริงๆ
มุมมองของหนัง ใช้สายตาของพระเอกทั้งหมด เพราะเป็นผู้ประสบพบเจอ ครุ่นคิดตัดสินใจ และกระทำการทุกสิ่งอย่าง, เราจะเห็นเขาแอบย่องหนีภรรยาตอนกลางคืนไปหาชู้ หรือช่วงท้ายที่ภรรยาหายตัวไปก็เป็นในมุมของเขาที่ออกค้นหา เมื่อไม่พบก็แสดงความเศร้าโศกเสียใจ
ภาษาของการตัดต่อ มีหลายครั้งเพื่อสร้างอารมณ์ร่วมให้กับหนัง เช่น ฉากพายเรือข้ามฟาก ตัดสลับไปมาระหว่างการพาย/สายน้ำไหล/สีหน้าของตัวละคร เร่งความเร็วเพื่อให้เกิดความรู้สึกรีบเร่งรุ่มร้อนใจ, ฉากสองหนุ่มสาวเต้นรำหลังจากจับหมูได้ มีการตัดให้เห็นชาย-หญิง อีกคู่หนึ่งสลับไปมา ฝ่ายชายพยายามดึงแขนเสื้อของฝ่ายหญิงขึ้น นี่ไม่ใช่แค่ gag ของหนังนะครับ แต่ยังสะท้อนความรักของคู่หนุ่มสาวด้วย
เพลงประกอบต้นฉบับ ประพันธ์โดย Hugo Riesenfeld คีตกวีสัญชาติ Austrian-American ที่แต่งเพลงให้กับหนังเงียบในตำนานหลายเรื่อง อาทิ The Ten Commandments (1923), The King of Kings (1927), Hell’s Angels (1930) ฯ
อาจมีหลายคนสงสัย หนังเงียบมีเพลงประกอบได้อย่างไร?, สมัยนั้นในโรงภาพยนตร์หนังเงียบ มักมีการจ้างวง Orchestra มาบรรเลงเพื่อไม่ให้หนังเครียดเกินไป ซึ่งก็มีหนังหลายเรื่อง ผู้กำกับต้องการให้บทเพลงมีความเข้ากับหนังโดยเฉพาะ จึงได้ว่าจ้างนักแต่งเพลงเพื่อเขียนโน๊ต (Sheet) สำหรับเป็นต้นแบบอย่างในการแสดงทุกรอบ ด้วยเหตุนี้หนังเงียบบางเรื่องจึงมีเพลงประกอบ แต่… ใช่ว่าจะมีโน๊ตเพลงต้นฉบับหลงเหลือถึงปัจจุบันนะครับ
ซึ่งหนังเรื่องนี้ถือว่าโคตรโชคดีมากๆ ยังมีอยู่กับโน๊ตเพลงฉบับ Orchestra ที่ Riesenfeld ประพันธ์ไว้ น่าจะเป็นฉบับ Criterion ที่ผมได้รับชม ถ้ามีโอกาสก็ขอแนะนำเลยนะครับ ต้องบอกว่างดงามลงตัวกับหนังมากๆ แถมด้วย Sound Effect บางอย่าง ทำให้หนังมีความสมจริงจับตั้งได้มากขึ้นทีเดียว
Sunrise: A Song of Two Human เป็นเรื่องราวความรักของคนสองคน ที่อาจเคยเข้าใจผิด มีความขัดแย้ง เลยเถิดถึงขนาดวางแผนคิดร้ายต่อกัน แต่นั่นก็หาได้มีความหมายสำคัญอะไรถ้าพวกเขาเรียนรู้จักการให้อภัย ให้โอกาส ยินยอมแก้ไขปรับตัว ทำความเข้าใจกันและกัน นี่คือสิ่งที่ทำให้’ความรัก’มีความสวยงามอย่างล้นพ้น
ภาพกลางวัน/กลางคืน, พระจันทร์/พระอาทิตย์, เมือง/ชนบท นี่เป็นลักษณะของการสะท้อนช่วงเวลาและสถานที่ ต่อความรู้สึก อารมณ์ จิตใจของมนุษย์
– ชนบท แทนด้วยความเรียบง่าย สงบสันติสุข
– ชุมชนเมือง สับสนวุ่นวายอลม่านบ้าคลั่ง เร่งรีบเร่าร้อน
- กลางคืนมีความมืดมิด ก็ดั่งจิตใจที่หมองมัว ถึงพระจันทร์ส่องแสงสว่างเต็มดวง แต่ก็ใช่ว่าจะมองเห็นทุกสิ่งอย่าง
- ฝนตกพายุคลั่ง คือความสั่นสะเทือน สับสน ว้าวุ่นในจิตใจ
- พระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า คือการเริ่มต้นใหม่ อะไรที่ผ่านไปแล้วก็ให้มันจบสิ้นไป จะหลงลืมให้อภัยเพื่อชีวิตจะได้เดินหน้าต่อ
ชื่อหนังจริงๆ ผมว่ามันควรจะเป็น A Story of Two Human เพราะเป็นเรื่องราวของมนุษย์สองคน แต่การใช้ Song แทน Story เป็นการเล่นคำที่สื่อความหมายได้ใกล้เคียงแต่มีความไพเราะกว่ามาก ซึ่งข้อความแรกสุดที่ขึ้น ประหนึ่งคำจำกัดความของหนังเรื่องนี้
“This song of the man and his wife is of no place and every place; you might hear it anywhere, at any time.”
ในงานประกาศรางวัล Oscar ครั้งที่ 1 หนังสามารถคว้ามาได้ 3 รางวัล
– Best Unique and Artistic Picture
– Best Actress (Janet Gaynor)
– Best Cinematography
รางวัล Best Unique and Artistic Picture คนส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมลำดับ 2 รองจาก Outstanding Picture (ที่ปีนั้น Wings เป็นเจ้าของรางวัล) แต่ผมแนะนำให้มองสองรางวัลนี้เท่าเทียมกันนะครับ เพราะมีแค่งานประกาศรางวัลครั้งนี้ครั้งเดียวที่ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมี 2 เรื่อง ก็ให้มันเป็นไฮไลท์ของ Oscar ไปเลย
สำหรับ Janet Gaynor เหมือนว่า Academy ไม่ได้เจาะจงรางวัลที่มอบนี้จากหนังเรื่องใด ระหว่าง Seventh Heaven (1927), Sunrise: A Song of Two Humans (1927), Street Angel (1928) ถือเป็นการมอบให้กับความโดดเด่นทุ่มเทต่อวงการภาพยนตร์ปีนั้นก็ยังได้, และด้วยอายุ 22 ปี เธอคือนักแสดงหญิงอายุน้อยสุดที่คว้ารางวัลนี้ จนกระทั่งปี 1986 โดย Marlee Matlin อายุ 21 ปี จากหนังเรื่อง Children of a Lesser God
นี่เป็นหนังที่ผมตกหลุมรักตั้งแต่แรกพบ ก็ไม่รู้ผ่านมากี่ครั้งยังคงหลงใหลคลั่งไคล้ในความสวยงาม ซาบซึ้ง กินใจ ไม่เคยเสื่อมคลายลงแม้แต่น้อย แต่ไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกันทำไมถึงไม่กลายหนังเรื่องโปรด
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” กับคู่รักหนุ่มสาวที่กำลังเริ่มต้นใช้ชีวิตคู่ นี่เป็นหนังที่จะทำให้พวกคุณเรียนรู้จักการให้อภัย และความสวยงามของการกระทำนี้, สำหรับคนที่ยังไม่มีคู่ คุณอาจเกิดความรู้สึกโหยหาต้องการครอบครอง แต่จงซึมซับเรียนรู้จากหนังว่า ความรักที่สวยงามเกิดจากความเข้าใจ
แนะนำทั่วไปกับคอหนังเงียบ, ศิลปินผู้หลงใหล German Expressionist, แฟนๆผู้กำกับ F. W. Murnau และนักแสดงนำ Janet Gaynor ไม่ควรพลาด
จัดเรต PG กับความคิดร้าย การกระทำที่เห็นแก่ตัว
TAGLINE | “Sunrise: A Song of Two Humans คือหนังเงียบที่มีความไพเราะที่สุด”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE
Sunrise: A Song of Two Humans (1927)
(26/12/2015) หนังเงียบที่ได้ Best Picture จาก Oscar มี 2 เรื่อง คือ Wings (1927), The Artist (2011) แต่มีหนังอีกเรื่องหนึ่งในปี 1927 ที่ถ้าเทียบแล้วผมก็มองว่าเป็นหนังเงียบอีกเรื่องที่ได้ Best Picture นั่นคือ Sunrise: A Song of Two Humans ได้ในสาขาชื่อ Unique and Artistic Production ซึ่งสาขานี้มีการมอบรางวัลตอน Oscar ครั้งแรกและครั้งเดียวเท่านั้น เนื่องจากรางวัลนี้มอบเป็นรางวัลรองสุดท้าย จึงมองเหมือนว่า Sunrise ได้รางวัลที่สอง แต่ผมว่าสองรางวัลนี้มีค่าเท่ากันนะ เหมือนเป็นผู้ชนะร่วมแต่แค่ชื่อคนละสาขาเท่านั้น ซึ่งในปีต่อมาก็ยุบรวมเหลือแค่ Outstanding Picture ที่กลายเป็น Best Picture ในปัจจุบัน เหลือสาขาเดียวไม่ให้สับสน
นอกจากรางวัล Unique and Artistic Production แล้ว Sunrise ยังได้อีก 2 รางวัล Best Actress in a Leading Role จากการแสดงของ Janet Gayno ซึ่งถือว่าเธอเป็นนักแสดงหญิงคนแรกที่ได้รางวัล Oscar คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักเธอนัก แต่ถ้ารู้จักหนังเรื่อง A Star is Born ละก็ Janet Gayno เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่เล่นบทนี้เมื่อปี 1937 ก่อนที่หนังจะถูก remake อีกรอบนำแสดงโดย Judy Garland จะดังพลุแตกในปี 1954
F. W. Murnau เป็นผู้กำกับชาวเยอรมันที่ได้รับฉายาว่าเป็นบิดาแห่ง Dracula เขาเป็นผู้กำกับในยุคหนังเงียบคนสำคัญมากๆคนหนึ่ง เขากำกับ Nosferatu (1922) ดัดแปลงมาจากนิยายเรื่อง Dracula ของ Bram Stoker แม้หนังจะไม่ประสบความสำเร็จในขณะนั้น แต่ได้รับการยอมรับมากๆในยุคถัดมา เป็นหนัง Horror เรื่องแรกของโลก ที่สร้างความหวาดกลัวให้กับคนดู น่าเสียดายที่ Murnau เสียชีวิตเร็วไปหน่อย เมื่อปี 1931 หลังจากยุคเริ่มต้นของหนังมีเสียงไม่กี่ปีเท่านั้น
Sunrise ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นชื่อ “The Excursion to Tilsit” ของ Hermann Sudermann ดัดแปลงโดย Carl Mayer มีหนังของ Murnau หลายเรื่องที่ดัดแปลงโดย Mayer ผมชอบชื่อหนังนะ A Song of Two Human นี่เป็นหนังเงียบ ขาว-ดำ แต่กลับใช้คำว่า Song ชื่อหนังจริงๆควรจะเป็น A Story of Two Human เพราะเป็นเรื่องราวของมนุษย์สองคน แต่การใช้ Song แทนคำว่า Story เป็นการเล่นคำที่มีความหมายใกล้เคียงแต่มีความไพเราะกว่ามาก ข้อความที่ขึ้นตอนเปิดหนังก็เจ๋งมากๆ เป็นเหมือนคำจำกัดความของหนังเรื่องนี้ “This song of the man and his wife is of no place and every place; you might hear it anywhere, at any time.”
หนังเรื่องนี้ใช้เทคนิคภาพซ้อนบ่อยครั้งมาก ซึ่งการซ้อนภาพแต่ละฉาก ก็เท่ห์มากๆ (อารมณ์เหมือนถ่ายภาพติดวิญญาณ) ฉากที่พระเอกหลับตา แล้วจินตนาการเหมือนมีหญิงสาวในความฝันมากอดเขา ภาพที่ซ้อนคือหญิงคนนั้นกำลังกอดอยู่จริงๆ นี่เป็นเทคนิคที่ต้องเปะมากๆ ผมละอึ้งเลยละครับทำได้ยังไง ความยากในการถ่ายยังไม่เท่าไหร่ แต่คิดได้ยังไง นี่เป็นหนังที่มีการใช้ฟีล์มได้อย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่ผมเคยดูมาเลย (เทคนิคการถ่ายภาพซ้อน คนเล่นกล้องฟีล์มน่าจะพอรู้นะครับ คือถ่ายไปให้จนหมดฟีล์ม แล้วใช้ฟีล์มเดิมถ่ายใหม่ จะได้ภาพซ้อน ฟีล์มหนังก็ไม่ต่างกัน) หนังกำกับภาพโดย Charles Rosher และ Karl Struss ทั้งสองทำงานร่วมกันแทบจะทุกเรื่อง แน่นอนว่างานภาพของหนังเรื่องนี้ได้ Oscar แน่นอน และเป็น Best Cinematography แรกของ Oscar ด้วย
ผู้ออกแบบฉาก Rochus Gliese ผมเชื่อว่าคนที่ดูหนังเรื่องนี้คงคิดว่า นี่ถ่ายสถานที่จริงเหรอ คำตอบคือ ไม่ใช่ครับ ทุกฉากหนังถ่ายในโรงถ่ายทั้งหมด อย่างฉากในเมืองก็เซตฉากขึ้นมาหมด ไม่มีถ่ายสถานที่จริงแม้แต่น้อย เห็นว่าค่าก่อสร้างเป็นเงินในสมัยนั้นร่วม $200,000 เยอะมากนะครับ ในปีนั้น Gliese ก็ได้เข้าชิง Oscar ครั้งแรกด้วยในสาขา Best Art Direction แต่เป็นหนังเรื่อง The Dove ที่ได้ไป
การตัดต่อ Harold D. Schuster ขาประจำของ Murnau หนังขาวดำ ถึงตัวละครจะมีบทพูด แต่ก็ไม่จำเป็นที่ต้องขึ้นข้อความบอกว่าตัวละครพูดอะไร เพราะการตัดไปมาบ่อยๆจะทำให้หนังยาวขึ้นเรื่อยๆ ช่วง 10 นาทีแรกผมลองนับๆดู หนังขึ้นข้อความน้อยครั้งมากๆ คือต้องเป็นประโยคที่มีความสำคัญจริงๆถึงจะขึ้นมา เน้นให้ตัวละครแสดงการกระทำหรืออารมณ์ออกมามากกว่า
ผมชอบการแสดงของ Janet Gayno เธอถ่ายทอดความรู้สึกของตัวละครออกมาได้น่าเห็นใจมากๆ สำหรับนักแสดงนำชาย George O’Brien ถือว่าเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง แต่ผลงานที่ได้รับการจดจำมักจะเป็นผลงานในยุคแรกๆที่เล่นหนังเงียบ ตัวละครของเขาเป็นชายที่มีความฝัน ความต้องการ แต่เมื่อต้องเลือกระหว่างสิ่งที่อยากทำ กับสิ่งที่ถูกต้อง นี่เป็นตัวละครแรกๆบนแผ่นฟีล์มที่แสดงความขัดแย้งทางศีลธรรมในตัวเอง เกือบครึ่งแรกของหนัง O’Brien ถือว่าแบกหนังไว้ เพราะความไม่มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองต้องการ จึงเกิดอาการกระอักกระอ่วนมากมาย คนดูลุ้นไปกับตัวละครนี้ครับว่าเขาจะตัดสินใจอย่างไร ณ จุดกลางเรื่องเมื่อการตัดสินใจเกิดขึ้น ครึ่งหลังเป็นของ Gayno ที่แบกหนังไว้เลย ตัวละครของเธอแสดงถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของพระเอก เราจะเห็นว่าพระเอกทำทุกอย่างเพื่อขอให้ได้เธอคืนมา ณ จังหวะนี้เป็นอะไรที่เหมาะเจาะกับชื่อหนังมาก และเหตุการณ์ครึ่งหลังเกิดขึ้นในเมือง (ที่มีการสร้างแบบแฟนตาซีมากๆ) ช่วงท้ายๆของหนัง ผมละอยากให้มันจบแบบ tragedy จริงๆเลย แต่หนังเลือกจบแบบสวยงาม ที่ผมลองคิดดูแล้ว จบแบบนี้นี่แหละสวยมากๆ คนดูรู้สึกอิ่มเอมไปกับความสุขของตัวละคร
ใน youtube มีหนังเรื่องนี้นะครับ ค้นหาดูได้เลย แนะนำให้ดูเลยนะครับสำหรับคู่รักที่มีความลังเล ไม่แน่ใจในชีวิตคู่ ดูหนังเรื่องนี้ด้วยกัน (น่าจะคิดอะไรได้บ้าง) หนังเรื่องนี้ติดโพล Sight & Sound ด้วย ถ้า The Passion of Joan Arc คือหนังที่คุณต้องดูเพื่อรู้จักกับหนังเงียบ Sunrise คือหนังที่คุณดูแล้วจะหลงรักหนังเงียบ
คำโปรย : “Sunrise A Song of Two Humans กำกับโดย F.W. Murnau การันตีด้วยรางวัล Academy Award ครั้งแรก นี่คือหนังที่คุณดูแล้วจะหลงรักหนังเงียบ”
คุณภาพ : LEGENDARY
ความชอบ : LOVE
Leave a Reply