Sunset Boulevard

Sunset Boulevard (1950) hollywood : Billy Wilder 

ชื่อเสียง เงินทอง เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เสียสติได้, Sunset Blvd. ของผู้กำกับ Billy Wilder สร้างขึ้นเพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจ สำหรับคนหลงใหลคลั่งไคล้ ต้องการเป็นดวงดาราจรัสแสงแห่งวงการมายา Hollywood แต่จะกลายเป็นตำนานค้างฟ้าหรือดาวตกดิน ล้วนเป็นสิ่งขึ้นอยู่กับตัวคุณเอง, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

Sunset Boulevard ถือเป็นหนังที่มีคุณค่าสูงมากๆ ต่อคนที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับวงการภาพยนตร์, ตอนผมดูครั้งแรกเมื่อครั้นยังเด็ก อึ้งทึ่งช็อค คาดคิดไม่ถึงทีเดียวว่า เบื้องหลังของวงการจะมีอะไรพิลึกพิลั่น แปลกพิศดารแบบนี้เกิดขึ้นด้วย เป็นการเปิดโลกทัศน์ เปลี่ยนทัศนคติต่อภาพมายาของผมไปโดยสิ้นเชิง, โตขึ้นอีกหน่อยได้รับชมอีกครั้ง มุมมองต่อหนังเปลี่ยนไปเล็กน้อย เห็นเป็นวัฏจักรที่คล้ายกับชีวิต เกิดแก่เจ็บตาย มีชื่อเสียงโด่งดังก็ต้องมีวันดับสูญ เหมือนพระอาทิตย์ขึ้น/ตกดิน ฯ รับชมครั้งล่าสุดนี้ ความประทับใจเริ่มคงที่ แต่ความสนใจได้เปลี่ยนไป ทำให้ขณะดูหนังมองหาว่า อะไรคือต้นสายปลายเหตุ ทำไมถึงเกิดเรื่องราวลักษณะนี้ขึ้น จะมีวิธีการอะไรช่วยเหลือ แก้ไขได้หรือเปล่า?

แต่ก่อนจะเข้าเรื่อง ขอพูดถึงประวัติศาสตร์ของ Hollywood สักหน่อยแล้วกัน

เริ่มต้นในปี 1886 Hobart Johnstone Whitley หรือ H.J. Whitley นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กับภรรยา Margaret Virginia Whitley ได้เดินทางมาฮันนีมูนที่ Los Angeles, California ยืนอยู่บนเทือกเขาทิวทัศน์สวยงาม มองลงมาเห็นหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่ง ขณะนั้นมีชายชาวจีนกำลังลากรถบรรทุกไม้เดินผ่าน Whitley ถามว่าเขาทำอะไร ชายคนนั้นตอบ ‘I holly-wood’ (ได้ยินเพี้ยนมาจาก hauling wood) Whitley เกิดความประทับใจในชื่อ จึงตัดสินใจซื้อที่ดินบริเวณนี้กว่า 500 เอเคอร์ แล้วเรียกเมืองแห่งใหม่นี้ว่า Hollywood

เกร็ด: H.J. Whitley ต่อมาได้ฉายาเรียกว่า ‘Father of Hollywood’

Whitley ได้ลงทุนสร้างโรงแรม Hollywood Hotel เปิดให้บริการเมื่อปี 1902 จนมีชื่อเสียงโด่งดังระดับนานาชาติ (ปัจจุบันถูกทุบทำลายไปแล้ว) ดึงดูดนักลงทุนมากมายให้เข้ามาจับจอง ทำธุรกิจใหม่ๆ

สำหรับธุรกิจภาพยนตร์ ในช่วงต้นยุค 1900s เริ่มต้นจาก Thomas Edison’s Motion Picture Patents Company (ของ Thomas Edison) ตั้งอยู่ที่ New Jersey แต่ที่นั่นมีเหมือนว่าประชาชน/ทางการจะไม่ค่อยชอบใจธุรกิจนี้เสียเท่าไหร่ มีการฟ้องร้องผู้สร้างภาพยนตร์เกิดขึ้นมากมาย จนบรรดาผู้สร้างวางแผนที่จะหาสถานที่อยู่แห่งใหม่ อันจะเป็นศูนย์กลางเมืองหลวงของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยพวกเขาเล็ง Los Angeles เพราะถือเป็นดินแดนใหม่ กว้างขวาง และยังไม่ค่อยมีผู้คนอาศัยมากนัก

ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถ่ายทำใน Hollywood เป็นเรื่องสั้นความยาว 17 นาที In Old California (1910) โดยผู้กำกับ D.W. Griffith แต่ไม่ได้ฉายที่นั่น (เพราะยังไม่มีโรงภาพยนตร์เกิดขึ้นใน Hollywood)

สำหรับสตูดิโอภาพยนตร์แรกที่ตั้งอยู่ใน Sunset Boulevard คือ Nestor Motion Picture Company เมื่อเดือนตุลาคม 1911 (จริงๆถือเป็นสตูดิโอสาขาสองของ Nestor Company ที่มีสาขาหลักอยู่ที่ New Jersey)

Nestor Studio

นับจากนั้นก็เริ่มทะยอยมีเพื่อนบ้านเกิดขึ้นมากมาย รวมถึง 4 สตูดิโอใหญ่แห่งยุค 20s ประกอบด้วย Paramount, Warner Bros., RKO และ Columbia ล้วนตั้งสตูดิโอสาขาที่ Hollywood ไม่นานก็ขยับขยายกลายเป็นสาขาหลัก, ในทศวรรษนั้น อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ณ สถานที่แห่งนี้ ทำรายได้สูงเป็นอันดับ 5 ของประเทศ

สำหรับป้าย Hollywood ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 1923 โดยขึ้นคำว่า “HOLLYWOODLAND” เพื่อใช้เป็นป้ายโฆษณาขายที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ในบริเวณแห่งนี้ แต่ต่อมากลายเป็นภาพติดตาของผู้คน จนจำต้องปล่อยทิ้งไว้แบบนั้น, ในปี 1949 คณะกรรมการของเมือง Hollywood Chamber of Commerce ได้ลงมติซ่อมแซมและสร้างป้าย Hollywood ขึ้นใหม่ ให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเมือง โดยตัดคำว่า “LAND” ทิ้งไป ซึ่งคือป้ายที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

Hollywoodland

Samuel Wilder ชายชาว Austria-Hungary เกิดในครอบครัวชาว Jews ที่ Sucha Beskidzka (ในอดีตคือ Germany ปัจจุบันคือประเทศ Poland) มีความชื่นชอบสนใจในวัฒนธรรมอเมริกัน โตขึ้นอพยพย้ายมาอยู่อเมริกาในปี 1933 เปลี่ยนชื่อเป็น Billy เริ่มต้นทำงานใน Hollywood ด้วยการเป็นนักเขียน มีผลงานดังคือ Ninotchka (1939) หนังแนว Screwball Comedy โดยผู้กำกับชาวเยอรมัน Ernst Lubitsch นำแสดงโดย Greta Garbo, สำหรับผลงานกำกับเรื่องแรกคือ The Major and the Minor (1942) อีกสองปีถัดมามีผลงานฮิตเรื่องแรก Double Indemnity (1944) ตามมาด้วย The Lost Weekend (1945)

นับตั้งแต่ที่วงการภาพยนตร์เปลี่ยนผ่านจากยุคหนังเงียบ มาเป็นหนังพูดในช่วงต้นทศวรรษที่ 30s ล่วงเลยมาถึงยุค 40s ทศวรรษถัดมา บรรดานักแสดงชื่อดังแห่งยุคหนังเงียบหายไปกันไหนหมด? คำตอบคือไม่ได้หายไปไหน หลายคนยังอาศัยอยู่ใน Los Angeles แต่ว่าพวกเขาส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วมกับธุรกิจภาพยนตร์อีกแล้ว นั่นทำให้ Wilder ใคร่สงสัย อยากรู้ว่าพวกเขาใช้เวลาว่างทำอะไร

เรื่องราวของ Joe Gillis นักเขียนบทที่เหมือนจะมีความสามารถ แต่ยังไม่สามารถเอาตัวรอดใน Hollywood จับพลัดจับพลูได้พบเจอกับ Norma Desmond อดีตดาราหญิงชื่อดังค้างฟ้าในยุคหนังเงียบ ที่ปัจจุบันเก็บตัวอยู่ในคฤหาสถ์หลังใหญ่ มีแค่เธอกับคนใช้ Max เพียงสองคนเท่านั้น, เธออาสาเป็นสปอนเซอร์ให้เขาช่วยปรับปรุงบทหนังที่ตนเขียน เพื่อที่ตนเองจะได้กลับไปแสดงหนัง เป็นดาราดังอีกครั้ง

นำแสดงโดย William Holden รับบท Joseph C. ‘Joe’ Gillis ชายหนุ่มผู้ใฝ่ฝันถึงชื่อเสียง เงินทอง เข้ามาแสวงโชคใน Hollywood แต่เพราะชีวิตไม่ง่ายดั่งฝัน เมื่อได้พบเห็นความจริง จึงตัดสินใจคว้าโอกาสที่ต้องกลายเป็นสามีเก็บของหญิงหม้าย อดีตดาราดังค้างฟ้า ยินยอมให้ตัวเองมีชีวิตอยู่บนถังข้าวสาร (สำนวน หนูตกถังข้าวสาร) เพราะหลงคิดว่านั่นคือเป้าหมายสูงสุดในชีวิต … แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาก็ตระหนักรู้ได้ ถึงความต้องการแท้จริงในใจของตนเอง พยายามหนีออกมา แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ

เดิมทีบทนี้ Paramount ยื่นข้อเสนอให้ Montgomery Clift ซึ่งได้เซ็นต์สัญญาค่าตัว $5,000 เหรียญต่อสัปดาห์ไปแล้ว แต่ก่อนหนังจะเริ่มถ่ายทำ Clift ถอนตัวเพื่อไปเล่นหนังเรื่อง The Heiress (1949) บทจึงมาตกที่ William Holden ที่มีเคยมีผลงานก่อนหน้า Golden Boy (1939) และ Our Town (1940) ที่สร้างชื่อให้เขา ก่อนหายหน้าไปเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่สอง

William Holden (1918 – 1981) นักแสดงสัญชาติอเมริกา ผู้มากด้วยฝีมือและชื่อเสียง เป็นดาราทำเงินในยุค 50s-70s ผลงานดังๆ อาทิ Sabrina (1954), The Bridge on the River Kwai (1957), The Wild Bunch (1969), Network (1976) ฯ เคยได้ Oscar: Best Actor จากหนังเรื่อง Stalag 17 (1953)

การแสดงของ Holden ถือว่ามีความโดดเด่นมาก ภายนอกดูหยาบกระด้าง แต่จิตใจอ่อนไหวอ่อนโยน แทบจะไม่เคยปฏิเสธใครเลย ผู้ชมจะรู้สึกสงสาร เห็นใจ เข้าใจความรู้สึกของตัวละครนี้ และลุ้นให้ตอนจบได้ทำตามที่ใจหวัง

Gloria Swanson รับบท Norma Desmond หญิงหม้ายสูงวัย ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นดาราหนังเงียบ มีชื่อเสียงโด่งดังค้างฟ้า ร่ำรวยเงินทองเป็นมหาเศรษฐี มีเท่าไหร่ก็ใช้ไม่หมด แต่เพราะกาลเวลา ยุคสมัยได้เปลี่ยนผ่านไปแล้ว ปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่อ้างว้างโดดเดี่ยวลำพังในคฤหาสถ์หลังใหญ่ มีเพื่อนรู้ใจที่เพิ่งเสียชีวิตไปคือลิง และคนใช้อดีตสามีชื่อ Max, การได้พบ Gillis ตกหลุมรัก ทำให้เธอรู้สึกกระชุ่มกระชวย กลับมามีชีวิตชีวา มีความต้องการหวนคืนสู่โลกแห่งดวงดาราอีกสักครั้งหนึ่งในชีวิต

Swanson คือนักแสดงที่อยู่ในใจของโปรดิวเซอร์ และผู้กำกับ Wilder ตั้งแต่แรก ครั้งหนึ่งเคยไปปรึกษา George Cukor ซึ่งก็แนะนำ Swanson เช่นกัน บอกว่าเธอเป็นนักแสดงหญิงมีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในยุคหนังเงียบ ทั้งความสวย ความสามารถ และความฟุ่มเฟือยในการใช้ชีวิต, ว่ากันว่าจุดสูงสุดของเธอในปี 1925 เคยได้จดหมายจากแฟนๆถึง 10,000 ฉบับ อาศัยอยู่ใน Sunset Boulevard ที่ Italianate Palace แต่พอวงการภาพยนตร์เปลี่ยนมาเป็นหนังพูด เธอไม่สามารถปรับตัวได้ จึงตัดสินใจยุติชีวิตการแสดงลงตอนต้นยุค 30s ย้ายไป New York ทำงานวิทยุ, โทรทัศน์ และละครเวที

ตอนที่ Wilder เข้าไปคุยกับ Swanson เธอไม่ได้คิดต้องการกลับมาแสดงหนังอีก แต่รู้สึกทึ่งในสิ่งที่ Wilder นำเสนอ, กระนั้น Paramount ต้องการให้เธอมาทดสอบหน้ากล้อง Swanson ออกอาการผิดหวังที่ต้องมาทดสอบหน้ากล้อง พูดว่า ‘ฉันเล่นหนังกว่า 20 เรื่องให้ Paramount แล้วทำไมยังต้องมาให้ทดสอบหน้ากล้องอีก’ ประโยคนี้ในหนังกลายเป็น ‘ถ้าไม่มีฉัน ก็คงไม่มี Paramount’ (Without me there wouldn’t be any Paramount.)

สำหรับผลงานที่ดังๆของ Swanson ในอดีต อาทิ Sadie Thompson (1928), The Trespasser (1929) สองเรื่องนี้ทำให้เธอได้เข้าชิง Oscar: Best Actress แม้ไม่ได้รางวัลทั้งคู่ แต่คือนักแสดงหญิงคนแรกที่ได้ชิง Oscar 2 ครั้ง, นอกจากนี้ยังมี Queen Kelly (1929) กำกับโดย Erich von Stroheim ที่จะได้เห็นฟุตเทจในหนังด้วย

การแสดงของ Swanson ผมว่าเธอไม่ได้แสดงนะครับ ถ่ายทอดออกมาจากตัวตน ประสบการณ์ของตัวเองแน่ๆ และมีส่วนผสมของการแสดงแบบหนังเงียบติดมาด้วย (ชอบพูดกับตัวเอง ท่าทางมือไม้ออก ตาเหม่อลอย ชอบมองสิ่งอื่น), หญิงหม้ายผู้หลงใหล ยึดติดในชื่อเสียงของตน จนไม่สามารถกลับลงมาได้ คิดว่าตัวเองเป็นดาวค้างฟ้า แต่แท้จริงตกดินดับไปนานแล้ว, ผู้กำกับ Wilder เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า ‘There was a lot of Norma in her, you know.’

หลังจากเล่นหนังเรื่องนี้ Swanson ได้รับการติดต่อให้เล่นหนัง Hollywood อีกหลายเรื่อง แต่ส่วนใหญ่เธอจะปฏิเสธ เพราะเหมือนว่าพวกเขาพยายามเอาภาพลักษณ์ของ Norman Desmond ไปใช้, มีที่ตกลงรับเล่นหนังอีกเพียง 3 เรื่อง แล้วเอาเวลาไปรับงานแสดงโทรทัศน์ ละครเวทีมากกว่า

Erich von Stroheim อดีตผู้กำกับชื่อดังในยุคหนังเงียบ รับบท Maximillian ‘Max’ von Mayerling อดีตผู้กำกับชื่อดัง และอดีตสามีของ Norma Desmond เพราะรักมาก (หรือหลงมากก็ไม่รู้) ปัจจุบันกลายมาเป็นคนใช้ส่วนตัว ยอมตามใจเธอทุกอย่าง แม้กระทั่งต้องหลอกลวงว่ายังคงเป็นดาวค้างฟ้า

Stroheim ในยุคหนังเงียบคือผู้กำกับอนาคตไกล เรียกว่าคือ 1 ใน 3 ผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค (ที่ไม่ใช่ผู้กำกับหนังตลก) ร่วมกับ D. W. Griffith และ Cecil B. DeMille, แต่พอเข้าสู่ยุคหนังพูด Stroheim ไม่ประทับใจในเทคโนโลยีใหม่ ผันตัวมาเป็นนักแสดง มีผลงานดังๆอย่าง La Grande Illusion (1937) และ Sunset Boulevard ที่ได้ทำให้ชื่อของเขาได้รับการกล่าวถึงอีกครั้ง

ผมจดจำภาพของ Stroheim ใน The Grand Illusion ได้เป็นอย่างดี นายพลเข้าเฝือกหลังแข็ง สภาพทนทุกข์ทรมาน ถ้าตายไปตอนสงครามก็ยังดี มีชีวิตอยู่บนความอัปยศของตนเอง, กับหนังเรื่องนี้แทบไม่ต่างกัน ตัวละครมีชีวิตกล้ำกลืนด้วยความผิดพลาดของตนเอง หลงใหลคลั่งไคล้ ยินยอมเป็นคนรับใช้ เพื่อปกป้องหญิงที่ตนรัก ไม่ให้ได้รับอันตรายจากโลกภายนอก

Nancy Olson รับบท Betty Schaefer หญิงสาวที่มีความใฝ่ฝัน เพ้อฝัน ต้องการมีชื่อเสียง ร่ำรวย คล้ายๆกับ Joe Gillis เหตุนี้กระมังที่ทำให้เธอตกหลุมรักเขา เพราะความทะเยอทะยานที่คล้ายกัน ทำให้เข้าใจตัวตนของอีกฝ่ายได้เป็นอย่างดี, การแสดงของ Olson เหมือนสาวน้อยไร้เดียงสาบริสุทธิ์ ตรงข้ามกับภาพของ Norma Desmond ที่หลงตัวเอง กร้านโลก และขี้อิจฉา น่าเสียดายที่ Olson นอกจากหนังเรื่องนี้แล้ว ไม่มีผลงานอื่นให้น่าพูดถึงเลย

4 นักแสดงหลักของหนัง ถือว่าบทส่งทุกคน มีความโดดเด่น เกินหน้าเกินตา จนได้เข้าชิง Oscar สาขาการแสดงครบทั้ง 4 คน 4 สาขา ในประวัติศาสตร์มีหนังเพียง 3 เรื่องเท่านั้นที่ได้เข้าชิงสาขาการแสดงครบทั้งหมด อีกสองเรื่องคือ My Man Godfrey (1936) และ American Hustle (2013)

สำหรับนักแสดงรับเชิญอื่นๆ ที่มีชื่อเสียง รับบทเป็นตัวเอง ประกอบด้วย Cecil B. DeMille, Hedda Hopper, Buster Keaton, Anna Q. Nilsson, H. B. Warner ฯ ถ้าคุณไม่ใช่คอหนังเก่าๆ อาจจดจำใบหน้าพวกเขาไม่ได้ ตอนผมดูได้อารมณ์ Nostalgia เวลาผมเห็น DeMille กับ Keaton คนสมัยนั้นก็คงเช่นกัน บุคคลเหล่านี้ได้กลายเป็นตัวละครลับของ hollywood ไปแล้ว

ถ่ายภาพโดย John F. Seitz ขาประจำของ Wilder, นี่ถือเป็นหนังนัวร์ (film noir) ประเภทหนึ่ง เน้นสร้างบรรยากาศผ่านแสง/เงา และตีแผ่ด้านมืดของจิตใจมนุษย์, แต่หนังแหวกธรรมเนียมหนึ่ง ที่ว่านักแสดงนำไม่ได้ปรากฎตัวทุกฉาก (แต่เราจะได้ยินเสียงบรรยายของเขาทุกฉากแทน)

ความโดดเด่นคือการสร้างบรรยากาศ ที่โคตรจะหลอน โดยเฉพาะในคฤหาสถ์ของ Norma Desmond ที่ผสมผสานการออกแบบ Gothic มีความหรูหรา อลังการ อะไรก็ไม่รู้รกรุงรัง สะท้อนแสงแวววับ แต่มีความมืดหม่น มัวหมอง หลอนๆราวกับบ้านผีสิงไฮโซ, Hans Dreier นักออกแบบภายในตั้งแต่สมัยหนังเงียบ ผู้ตกแต่งคฤหาสถ์ของ Norma บอกว่า สมัยก่อนดาราดัง อาทิ Bebe Daniels, Norma Shearer, Pola Negri ก็ชอบจัดบ้านให้มีความแปลก ลึกลับแบบหนังเรื่องนี้แหละ

การจัดแสงไม่ได้เพียงแค่สร้างบรรยากาศให้กับหนังเท่านั้น, มีฉากหนึ่ง ในโรงถ่ายหนังที่ Paramount มี Spotlight ส่องมาหา Norma Desmond เมื่อใครๆเห็น ต่างก็กรูกันเข้ามารุมล้อม จดจำเธอได้ว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นนักแสดงที่ยิ่งใหญ่ นี่เป็นฉากที่ผมซึ้งน้ำตาซึม ประมาณว่าชื่อเสียงความค้างฟ้าของเธอ เป็นสิ่งที่อมตะเหนือกาลเวลาจริงๆ ยังคงเจิดจรัสแสง จับต้องได้แม้กาลเวลาผ่านไป

สำหรับไฮไลท์อยู่ที่ตอนจบของหนัง เมื่อเสียง Action ดังขึ้น Norma เดินลงจากบ้านชั้นสอง นักข่าว/ตำรวจ ทุกคนที่อยู่ในนั้น ยืนนิ่งไม่กล้าไหวติง (คงอึ้งแบบคาดไม่ถึง) เธอเดินลงด้วยท่วงท่าของดวงดาราเจิดจรัสจร้าผู้ไม่เคยตกลับฟ้า กล้องแพนติดตามเธอลงมา จนมาถึงวินาทีที่พูดว่า ‘All right, Mr. DeMille, I’m ready for my close-up.’ นี่ทำให้ผมขนลุกทุกที เพราะรู้ว่าดาวดวงนี้มันดับแสงไปแล้ว แต่เธอกลับไม่รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่

ตัดต่อโดย Doane Harrison กับ Arthur Schmidt, หนังใช้มุมมองของ Joe Gillis เล่าเรื่องผ่านเสียงบรรยายตั้งแต่ต้นจนจบ (เหมือนเขาเป็นพระเจ้าหรืออะไรสักอย่าง ตายแล้วก็ยังพูดบรรยายได้) เริ่มต้นจากเหตุการณ์การเสียชีวิตของชายคนหนึ่ง แล้วเล่าย้อนอดีต เป็น Flashback ตั้งแต่ต้นจนมาบรรจบถึงปัจจุบัน

จุดเด่นของการตัดต่อ คือความต่อเนื่องในการเล่าเรื่อง ที่ค่อยๆสร้างบรรยากาศ เปิดเผยเรื่องราว รายละเอียดทีละเล็กๆน้อยๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่รีบร้อน ซึ่งมีความพอดีต่อเนื่องลงตัว ไม่มีขาดเกินแม้แต่น้อย ซึ่งพอถึงช่วงไคลน์แม็กซ์ ทุกสิ่งอย่างก็คลี่คลาย ไม่มีอะไรให้เกิดข้อสงสัยต่อไปอีก

ช่วงการตัดต่อเด่นที่สุด คงเป็นขณะ Norma Desmond ไปเยือนโรงถ่าย Paramount และ Cecil B. DeMille ออกมารับ, การเล่าเรื่องของฉากนี้มีความเปะ ต่อเนื่อง ไหลลื่นเป็นอย่างมาก คงลีลาการเคลื่อนกล้องด้วยส่วนหนึ่ง (ตั้งแต่ตอนที่ รปภ. โทรบอกคนในกองว่า Norma Desmond มาหา DeMille ลำดับการบอกต่อ และการเคลื่อนกล้อง สร้างจังหวะได้ลงตัวสุดๆ) ซึ่งพอเรื่องราวส่วนนี้หมดความสำคัญลงไป หนังตัดไปที่ Joe Gillis ที่นั่งรออยู่ข้างนอก บังเอิญได้พบเห็น Betty Schaefer จึงติดตามขึ้นไปหาเธอ ซึ่งนี่ถือเป็นเรื่องราวที่มีความน่าสนใจกว่า, จะเห็นว่าหนังไม่ได้ตัดสลับกันไปมา แต่เป็นเหตุการณ์หนึ่งหมดความน่าสนใจลงไป ก็ทำการเปลี่ยนมุมมองของตัวละคร โดยทันที ที่บางคนอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ เพราะมีความต่อเนื่อง ไหลลื่นสุดๆเลย

เพลงประกอบโดย Franz Waxman มีความหลอนหลายรูปแบบ บางครั้งมาเนิบๆนาบๆ หลอนแบบสยิวกาย บางครั้งทรงพลัง ขนหัวลุกซู่, มีการใช้เพลงประจำตัว (Character Song) อาทิ เพลงของ Norma Desmond จะมีลักษณะอิงมาจากสไตล์ Tango สนุกสนานครึกครื้น, Joe Gillis มีลักษณะ Bebop Theme (เป็น Jazz ลักษณะหนึ่ง) มีความเศร้าๆ อมทุกข์ ฯ ซึ่งเพลงประจำตัว จะใช้เพื่อสะท้อนจิตวิทยา ความรู้สึกข้างในของตัวละคร (state of mind)

สำหรับเพลงที่ดังขึ้นตอนจบ จะทำให้คุณขนลุกซู่ ออเครสต้าจัดเต็มวง กระหึ่มสองลำโพง เพื่อสะท้อนตัวตนข้างในของ Norma Desmond มุมหนึ่งมองได้คือความยิ่งใหญ่ของดาวค้างฟ้า แต่อีกอารมณ์หนึ่งคือความเจ็บปวดรวดร้าว ของดาวตกดินลับขอบฟ้าไปแล้ว คุณจะรู้สึกสงสารเห็นใจ จดจำภาพความหลอกหลอนตราตรึไว้ไม่ลืมเลือน

เพลงประกอบของหนังเรื่องนี้ ยิ่งใหญ่ติดอันดับ 16 AFI’s 100 Years of Film Scores (แค่ติดอันดับก็ถือว่าไม่ธรรมดาแล้ว)

เรื่องราวของหนัง คือบทเรียนที่เกิดขึ้นกับคนที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับโลกมายา, ผมแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มที่พบเห็นในหนัง
1) กลุ่มคนที่มีชีวิตผ่านมา (Veteran) เคยเกี่ยวข้องกับวงการมายา
– ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคใหม่ได้ (อาทิ Cecil B. DeMille)
– คนที่ไม่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง จมอยู่กับความยิ่งใหญ่ในอดีตของตน (Norma Desmond)

2) กลุ่มคนรุ่นใหม่ (Newbie) ที่ยังเต็มไปด้วยความเพ้อฝัน กำลังต่อสู้เอาตัวรอด
– เคยประสบความสำเร็จ แล้วล้มเหลว ดิ้นรนต่อไป (Joe Gillis)
– ต้องการเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ แต่ใจยังกล้าๆกลัวๆ (Betty Schaefer)

ใจความคือนำเสนอ ตีแผ่ ความจริงเบื้องหลังฉากของโลกมายา Hollywood แม้ตัวละครในหนังจะมองไม่เห็น แต่เธอสามารถเข้าใจว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงไป, ตอนที่ Gillis พบกับ Norma ครั้งแรก จดจำเธอได้ ‘You used to be big’ เธอตอบว่า ‘I am big. It’s the pictures that got small.’ นั่นสิ นี่แปลว่า’I knew there was something wrong with them.’

จริงๆมันไม่ใช่โลกของภาพยนตร์ที่เล็กลงนะครับ แต่เป็นการเข้าถึงสื่อภาพยนตร์ที่มีความหลากหลาย สะดวกมากขึ้น ทำให้ความสำคัญของสื่อภาพยนตร์ลดลง, อธิบายให้เห็นภาพ สมัยก่อนโรงภาพยนตร์มีจำนวนจำกัด หนังดังๆเข้าฉายเรื่องหนึ่ง ความนิยมสังเกตได้เลยจากผู้คนต่อแถวหน้าโรงหนัง ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการรับชมหนังเรื่องหนึ่ง พวกเราจึงเห็นคุณค่าของหนัง เช่นกันกับผู้สร้าง ที่กว่าจะสร้างสำเร็จสักเรื่องในสมัยก่อน ยากลำบากทั้งกายใจ, มาดูสมัยปัจจุบัน โรงภาพยนตร์มีเกลื่อนกลาด โทรทัศน์มีอยู่แทบทุกบ้าน การเข้าถึงสื่อภาพยนตร์ค่อนข้างง่าย ส่วนผู้สร้าง… สมัยนี้มีมือถือ Smartphone สักเครื่องก็สามารถสร้างหนังเองได้แล้ว สะดวก รวดเร็ว ทันใจ, นี่แหละครับคือเหตุผลที่ว่า ทำไมดาราสมัยก่อนดังคับฟ้า เพราะปริมาณไม่มาก พอมีชื่อเสียงก็เจิดจรัสแสง โดดเด่นไม่มีใครมาเทียบเคียง ผิดกับสมัยนี้ ดวงดารามากมายเต็มไปหมด แต่ละดวงส่องแสงริบหรี่ ไม่นานเดี๋ยวคงดับ

อะไรที่เป็นสาเหตุให้ Norma Desmond กลายเป็นโรคจิตหลงผิด (Delusional Disorder)? ทุกอย่างเริ่มต้นจากการประสบความสำเร็จ วินาทีที่คนธรรมดากลายเป็นดาราบนฟากฟ้า ความสุขล้น ดีใจ ภาคภูมิ ที่ได้ทำตามความฝันสำเร็จ ไปสู่สถานที่เรียกว่าโลกมายาประดับอยู่บนท้องฟ้า สรวงสวรรค์ บนนั้นมองลงมามันช่างสวยงามระยิบระยับ แตกต่างตรงกันข้ามจากการมองขึ้นไป หลายคนคลั้งไคล้หลงใหล ยึดติดอยู่กับสิ่งนั้น เชื่อว่ามันคือสิ่งจีรังยั่งยืน ชื่อเสียง เงินทอง ชีวิต ทุกสิ่งอย่าง, สิ่งที่ทำให้ Norma กลายเป็นเช่นนั้น เพราะเธอไม่สามารถหาทางกลับลงมาด้วยตนเองได้ เชื่อว่าคงเคยลงมาแหละ แต่ไม่สามารถยอมรับกับโลกความเป็นจริงนี้ได้ ซึ่งพอ Max เห็นเช่นนั้น ด้วยความที่เป็นหนึ่งในคนปลุกปั้นเธอขึ้นไป รู้สึกทุกข์ทรมานอย่างหนัก จึงเสแสร้งพยายามบอกกับเธอ ว่ายังคงเป็นดารารายอยู่บนนั้น นี่ทำให้อาการของเธอแย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อถึงวินาทีที่เธอต้องเผชิญหน้ากับความจริง ทุกครั้งเลยยอมรับไม่ได้ ที่สุดกลายเป็นเสียสติ หลงไปไกลแล้ว ว่าตัวเองเป็นอมตะ

Hollywood สอนอะไรพวกเรา? ไม่มีอะไรในโลกที่ยั่งยืน มั่นคงถาวร มีรุ่งโรจน์ก็ต้องร่วงโรย เกิดขึ้นต้องดับสูญ นี่เป็นประโยคที่พูดง่าย แต่ในทางปฏิบัติคงยากมากๆ ยิ่งปัจจุบันสิ่งล่อตาล่อใจมีเยอะ หายากแล้วคนที่จะประสบความสำเร็จ ยิ่งใหญ่จริงๆ เพราะดวงดารายมีอยู่เต็มฟ้า มองไปทางไหนก็เห็นแต่แสงสว่าง แต่ผู้คนยังคงไขว่คว้าหา เพื่อว่าสักวันจะได้ทอจรัสแสง

ถ้าคุณมีความฝัน ต้องการไปให้ได้ถึงจุดนั้น มีสิ่งหนึ่งที่ผมอยากฝากไว้ คือ อุดมการณ์, การจะเป็นดวงดารา จำต้องเสียสละแลกด้วยสิ่งต่างๆมากมาย บางครั้งเจอทางแยกที่ ‘ท้าทายอุดมการณ์ของคุณ’ ในวงการนี้มันมีมิจฉาชีพอยู่เยอะ คุณยอมที่จะสละอุดมการณ์แลกกับสิ่งที่ทำให้ตัวเองถึงเป้าหมายเร็วกว่า แบบนั้นคุ้มหรือเปล่า? เหมือนดั่งที่ Joe Gillis ตัดสินใจกลายเป็นเมียเก็บ ตกถังข้าวสารของ Norma Desmond จริงอยู่ที่คุณอาจจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายดั่งตั้งใจ แต่อุดมการณ์ ความฝันของคุณจะป่นปี้ไม่เหลือเยื่อใย และมันไม่มีทางนะครับ ที่เมื่อคุณสละอุดมการณ์ แล้วจะมีโอกาสแก้ตัวใหม่ … ชีวิตพลาดครั้งหนึ่งก็จะเป็นแบบ น็อตกราบรถ หรือนาธาน โอมาน ฯ มีแต่จะเหยียบซ้ำย่ำจมดิน, จดจำบทเรียนจากหนัง/เรื่องลักษณะนี้ไว้ อย่าละทิ้งอุดมการณ์ไม่ว่าจะเกิดอะไร แล้วสักวันเส้นชัยจะตามหาคุณเอง

หนังมีประโยคฮิตติดปากหลายประโยคมาก ที่ติดอันดับ AFI’s 100 Years… 100 Movie Quotes มี 2 ประโยค
– “All right, Mr. DeMille, I’m ready for my close-up.” ติดอันดับ 7
– “I am big, it’s the pictures that got small!” ติดอันดับ 24

ด้วยทุนสร้าง $1.75 ล้านเหรียญ หนังทำเงิน $5 ล้านเหรียญ เข้าชิง Oscar 11 สาขา ได้มา 3 รางวัล
– Best Picture พ่ายให้กับ All About Eve (1950)
– Best Director
– Best Actor (William Holden)
– Best Actress (Gloria Swanson)
– Best Supporting Actor (Erich von Stroheim)
– Best Supporting Actress (Nancy Olson)
– Best Writing, Story and Screenplay ** ได้รางวัล
– Best Art Direction-Set Decoration (Black-and-White) ** ได้รางวัล
– Best Cinematography (Black-and-White)
– Best Film Editing
– Best Music (Score of a Dramatic or Comedy Picture) ** ได้รางวัล

ส่วนตัวหลงรักหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ดู มันเหมือนเป็นเรื่องบังคับของคนรักหนัง ที่เมื่อดู Sunset Blvd. แล้วต้องหลงใหลคลั่งไคล้ เพราะนี่คือการกระชากหน้ากาก จิตวิญญาณของวงการมายา ตีแผ่ นำเสนอออกมาให้เห็นถึงความจริง, โลกมันไม่ได้สวยงาม เบื้องหลังของทุกความยิ่งใหญ่ ต้องมีบางสิ่งชั่วร้ายแอบแฝงเสมอ

แนะนำกับคนรักหนังทุกคน ไม่จำกัดเพศวัย “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เรียนรู้ จดจำ และต้องไม่ทำให้ชีวิตตนกลายเป็นอย่างนั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ดารานักแสดง เด็กหนุ่มสาวที่วาดฝัน ต้องการมีชื่อเสียง เงินทอง เป็นดาราดัง นี่คือตัวตน โลกที่แท้จริงแห่งวงการมายา ที่ไม่ว่ายุคสมัยไหนก็ยังพบเห็นได้อยู่เรื่อยๆ

จัดเรต 13+ กับบรรยากาศหนังนัวร์

TAGLINE | “Sunset Blvd. ของ Billy Wilder สร้างขึ้นเพื่อคนรักหนังโดยเฉพาะ สำหรับเป็นอุทาหรณ์สอนใจ เบื้องหน้าวงการมายาที่ยิ่งใหญ่ ข้างหลังนั้นไซร้ ใช่ว่าจะสวยงาม”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
0 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
0 Comment authors
Top 11 Ingmar Bergman Favorite Films | RAREMEAT BLOG Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…] Sunset Boulevard (1950)  : Billy Wilder ♥♥♥♥♡ […]

%d bloggers like this: