Suspiria

Suspiria (1977) Italian : Dario Argento ♥♥♥♥

หนัง Horror เรื่องนี้คือ Masterpiece ที่อาจไม่ได้มีเนื้อเรื่องสาระอะไรเลย นักแสดงก็ซื่อบื้อไรเดียงสาขั้นรุนแรง แต่งานออกแบบศิลป์ ความสยดสยอง การตาย และเพลงประกอบ คือความพยายามทำให้คุณเกิดอาการหลอกหลอนสั่นประสาท ขี้เยี่ยวเล็ดราด, ผมไม่ได้รู้สึกกลัวเท่าไหร่ แต่เห็นความตั้งใจของผู้กำกับ Dario Argento ก็อดยกย่องไม่ได้

หนังแนวสยองขวัญ ต้องบอกไว้ก่อนว่าไม่ใช่แนวถนัดของผมเท่าไหร่ คือไม่ได้มีความชื่นชอบหลงใหลต่อการตายไร้สาระ เลือดพุ่งสาดเต็มจอ สยดสยองขยะแขยง ขนหัวลุกพอง แต่ถ้าหนังมีการใช้ภาษาภาพยนตร์อย่างมีศาสตร์ และความสวยงามระดับงานศิลป์ ก็พร้อมเปิดใจรับความรุนแรงนั้นเข้ามา, ซึ่งกับ Suspiria ถือว่าได้เปิดโลกทัศน์ภาพยนตร์แนวนี้สำหรับผมเลย แม้ไม่ได้ทำให้เกิดความรู้สึกหลงใหลคลั่งไคล้มากขึ้น แต่ก็พบว่ามีความน่าสนใจอย่างมากทีเดียว

อิตาลี เป็นประเทศที่ผมเห็นมากกว่า 2-3 ครั้งแล้ว มักทำหนังเกรด B ออกมาได้ยอดเยี่ยมเทียบเท่าหนังเกรด A อาทิ
– Peplum หรือ Maciste (หนังแนวบ้าพลัง ผู้ชายร่างกายกำยำใหญ่โต มีพละกำลังราวกับ Hercules),
– Spaghetti Western (หนังคาวบอยสัญชาติอิตาเลี่ยน),
– Polizieschi (หนังอาชญากรรม Action ในสไตล์สัญชาติอิตาเลี่ยน),
– Giallo (ชื่อหนังแนว Horror, Slasher สัญชาติอิตาเลี่ยน)

คงเพราะ The Good The Bad and the Ugly (1966) หนังแนว Spaghetti Western ของผู้กำกับ Sergio Leone ได้เคยเปิดโลกทัศน์ต่อชาวโลกว่า หนังเกรด B จากประเทศอิตาลี ที่พวกคุณมักหลงคิดกันว่าคงไม่ได้มีอะไรมากมาย แต่กลับแอบซ่อนความสวยงามลึกล้ำทางศิลปะ จนภายหลังได้รับการยกย่องเป็นอมตะเหนือกาลเวลา มีหรือหนังแนวอื่นที่ผมยกมาจะไม่ถูกพิจารณาซ้ำใหม่

แม้ Suspiria หลายคนจะไม่ถือว่าเป็นหนังแนว Giallo แต่คือวิวัฒนาการต่อยอด (Evolve) ของผู้กำกับ Dario Argento ที่เริ่มต้นอาชีพจากการสร้างหนังแนวนี้จนประสบความสำเร็จ พอมาถึง Suspiria ได้ทำการยกระดับตัวเองและหนังขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง จนกลายเป็น Masterpiece ไม่ใช่แค่ต่อหนังแนว Giallo แต่ทั้ง Thriller/Horror ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ ผมยกย่องเทียบเท่าไม่ยิ่งหย่อนกว่า The Good The Bad and the Ugly (1966) ที่มีต่อแนว Spaghetti Western เลยละ

Giallo คือแนวหนังประเภทหนึ่ง เป็น sub-genre อยู่ภายใต้แนว Thriller/Horror เรียกเฉพาะที่สร้างในอิตาลี มักมีส่วนผสมของความลึกลับ (Mystery), ฟันฉับ (Slasher), อาชญากรรม (Crime Fiction), บางครั้งเรื่องเหนือธรรมชาติ (Supernatural) ฯ เป็นแนวหนังได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงปลายทศวรรษ 60s ถึงต้นศตวรรษ 80s

เกร็ด: Giallo ภาษาอิตาเลี่ยนแปลว่า สีเหลือง, เป็นคำเรียก/ชื่อเล่น ของนิยาย Mystery ราคาถูก ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วง Post-Fascist อิตาลี มักตีพิมพ์ด้วยปกสีเหลือง และใช้กระดาษเก่าๆ ราคาถูก (ที่มีสีเหลือง)

สำหรับคนที่สนใจหนังแนว Giallo ลองไปหา Black Sunday (1960), Castle of Blood (1964), Blood and Black Lace (1964), The Bird with the Crystal Plumage (1970), A Bay of Blood (1971), Deep Red (1975) ฯ

Dario Argento (เกิดปี 1940) ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติอิตาเลี่ยน เจ้าของฉายา ‘the Italian Hitchcock’ มีความชื่นชอบหนังแนว Mystery/Thriller Horror โดยเฉพาะแนว Giallo ถึงขนาดมีนักวิจารณ์เอ่ยว่า ‘พูดถึง Giallo คือพูดถึง Argento หรือ พูดถึง Argento ก็คือ Giallo’, เกิดที่กรุง Rome ลูกชายของโปรดิวเซอร์ Salvatore Argento ตั้งแต่เด็กมีความสนใจหลงใหลในเทพนิยาย Brothers Grimm และ Edgar Allan Poe สมัยเรียนมัธยมทำงานไปด้วยเป็นนักวิจารณ์ เขียนบทความลงนิตยสาร/หนังสือพิมพ์ เลือกไม่เข้าเรียนต่อมหาลัยเพราะได้งานเป็นนักเขียนบท ร่วมกับ Bernardo Bertolucci พัฒนาบทภาพยนตร์หนังเรื่อง Once Upon a Time in the West (1968) ให้กับผู้กำกับ Sergio Leone

ในยุคสมัยรุ่งเรืองของภาพยนตร์แนว Giallo, Argento มีผลงาน debut เรื่องแรก The Bird with the Crystal Plumage (1970) ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี จึงตัดสินใจเดินทางสายนี้ กับอีกสองผลงานถัดมา The Cat o’ Nine Tails (1971), Four Flies on Grey Velvet (1972) กลายเป็นไตรภาค Animal Trilogy, พักงานภาพยนตร์ไปทำละครโทรทัศน์ Spaghetti Western กลับมาสร้าง Masterpiece เรื่องแรก Deep Red (1975) [ที่ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้หนังเรื่อง Halloween]

ความสนใจสไตล์ของ Argento คือการนำขุมนรกมาสู่โลก เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า ‘Paradise is too perfect for humanity’ ผสมผสานหลักจิตวิเคราะห์ของ Sigmund Freud ด้วยสีสัน มืดหม่น ปนเปความจริงและความฝันเข้าด้วยกันจนแยกไม่ออก

“Cinema is essentially Freudian; occurring between the dark and dreams, between reality and what we can no longer recall. For me, cinema, even more than real-life, is pure Freud.”

– Dario Argento

สำหรับ Suspiria ดัดแปลงจากบทความ (Essay) ชื่อ Suspiria de Profundis [ภาษาละติน แปลว่า Sighs from the Depths] โดยนักเขียนสัญชาติอังกฤษ Thomas De Quincey ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Blackwood Magazine ตั้งแต่ปี 1845 มีลักษณะแบ่งเป็นตอนสั้นๆทั้งหมด 32 ตอน [เห็นว่ามี 18 ตอนได้สูญหายไปแล้วตลอดกาล] โดยเรื่องราวคือส่วนผสมของจิตวิทยา-แฟนตาซี (Psychological Fantasy) ของผู้เขียนเอง ซึ่งได้ให้นิยามว่าคือ ‘บทกวีร้อยแก้ว’ (Prose Poetry) ถือเป็นภาคต่อจาก Confessions of an English Opium-Eater (1821) ผลงานชิ้นเอกของ De Quincey

สำหรับตอนที่ Argento นำมาเป็นแรงบันดาลใจสร้างหนังคือ Levana and Our Ladies of Sorrow เรื่องราวของ Levana เทพีแห่งการเกิด และสามสหายที่เป็นเพื่อนแห่งโชคชะตาของเธอ ประกอบด้วย
– Mater Lachrymarum, Ours Lady of Tears
– Mater Suspiriorum, Ours Lady of Sighs
– Mater Tenebrarum, Ours Lady of Darkness

เทพีทั้ง 3 ถูกว่า ‘The Three Mothers’ ผู้กำกับตั้งใจแบ่งสร้างหนังออกเป็น 3 ภาค 3 เรื่องราว แต่กว่าจะครบสำเร็จก็เกือบ 3 ทศวรรษถัดมา
– Suspiria (1977) [นำมาจาก Ours Lady of Sighs]
– Inferno (1980) [นำมาจาก Ours Lady of Darkness]
– The Mother of Tears (2007) [นำมาจาก Ours Lady of Tears]

เริ่มต้นว่ากันว่าตั้งแต่ก่อนบทภาพยนตร์จะเขียนเสร็จเสียอีกคือบทเพลง แต่งโดย Goblin วงดนตรี progressive rock สัญชาติ Italian ที่เคยร่วมงานกับ Argento มาแล้วจากเรื่อง Deep Red (1975), ใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้า สร้างเสียงอันราวกับมาจากขุมนรก ดีดตีอย่างบ้างคลั่ง พยายามฟังก็ไม่รู้เสียงอะไรต่อมิอะไรผสมกันปนเปโคตรหนวกหู แถมด้วยเสียงคราง พึมพัง โหยหวนประกอบเป็นพื้นหลัง (แต่อาจเป็นแค่เสียง Sound Effect เฉยๆก็ได้) แค่ฟังบทเพลงของหนังเรื่องนี้เพียงอย่างเดียว ก็หลอนเข้ากระดูกดำแล้ว

เริ่มต้นจากบทเพลงแรกของหนังก่อนแล้วกัน Suspiria (ภาษาอิตาลี แปลว่า เสียงคราง, ถอนหายใจ) เริ่มต้นด้วยเสียง Bells กับ Celesta เหมือนการกล่อมเด็กเข้านอน เสียงกระซิบซาบพึมพัมราวกับกำลังเล่านิทานก่อนนอน จากนั้นเสียงกลองเคาะเป็นจังหวะ และรัวดีดกีตาร์ไฟฟ้า … เด็กๆฟังเพลงนี้เชื่อว่าคงหลับฝันร้ายมากกว่าฝันดีแน่

สไตล์การแต่งเพลงประกอบขึ้นก่อนหน้าหนังทั้งปวง เริ่มต้นน่าจะมาจาก Ennio Morricone คีตกวีสัญชาติอิตาเลี่ยน ที่หลังจากได้ฟังเรื่องย่อ ความตั้งใจของผู้กำกับที่ต้องการนำเสนอภาพยนตร์ออกมาเช่นไร ก็จะประพันธ์เพลงตามคำขอนั้น โดยไม่สนว่าอะไรจะเกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงแตกต่างไป ซึ่งทั้งหมดที่แต่งขึ้น จะนำไปใช้ยังไงตอนไหน ก็สุดแล้วแต่ผู้กำกับ นักตัดต่อจะปู้ยี่ปู้ยำนำไปใช้เองเลย

เพลงประกอบดีมีชัยไปกว่าขึ้น ผมเชื่อว่าใครก็ตามที่ได้ยินบทเพลงของ Goblin นี้ จะเกิดอาการสยิวกาย ขนหัวลุก หัวใจสั่นหวิวๆ ช่วงแรกทำความเข้าใจอารมณ์เพลงก่อน รับชมหนังเรื่องนี้จะสยองขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว

พื้นหลังของหนัง Freiburg, Germany (คิดว่าที่เลือกประเทศนี้ เพราะคือดินแดนของ Nazi, นรกบนดิน) เด็กหญิงสาว Suzy Bannion (รับบทโดย Jessica Harper) นักเต้นบัลเล่ต์สัญชาติอเมริกัน ได้ทุนเข้าเรียนต่อที่ Tanz Dance Academy ในวันแรกที่มาถึงก็พบเรื่องชวนสยดสยอง เมื่อเพื่อนนักเรียน Pat Hingle พบศพถูกฆาตกรรมอย่างเลือดเย็น เรื่องวุ่นๆร่วมกับ Sara (รับบทโดย Stefania Casini) เพื่อค้นหาพื้นหลังความจริงของสถาบันนี้จึงได้เริ่มต้นขึ้น

ความตั้งใจแรกของ Argento ต้องการให้โรงเรียนบัลเล่ต์นี้ สอนเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 12 แต่พ่อของเขาที่เป็นโปรดิวเซอร์ให้หนังด้วย ยืนกรานปฏิเสธหัวแข็ง เพราะความรุนแรงของหนังจะการันตีโดนแบนห้ามฉายแน่นอน เลยได้ข้อสรุปนักแสดงต้องอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี แค่คำพูดการกระทำของพวกเธอจะใสซื่อไร้เดียงสาเหมือนกับเด็กๆ และสังเกตลูกบิดประตูจะอยู่สูงระดับศีรษะของพวกเธอ (เพื่อให้ดูเหมือนเป็นเด็กตัวเล็กๆ ที่ต้องยกมือขึ้นสูงเพื่อเปิดประตู)

Jessica Harper (เกิดปี 1949) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Chicago, Illinois มีผลงาน debut เป็นตัวประกอบเรื่อง Inserts (1974) ต่อมาได้รับบทนำในหนังของ Brian De Palma เรื่อง Phantom of the Paradise (1974) ที่ได้รับการจดจำมากสุดคือ Suspiria (1977) ผลงานเรื่องอื่นๆอาทิ Shock Treatment (1981), The Blue Iguana (1988), Safe (1995), Minority Report (2002)

Harper ไม่ใช่นักแสดงที่มีฝีมือเก่งกาจอะไร ถือได้ว่าเกรด B ใน Hollywood เว้นแต่ใบหน้าที่น่ารักจิ้มลิ้ม หุ่นดี เป็นที่ชื่นชอบหลงใหล รสนิยมของผู้กำกับ Argento เคยให้สัมภาษณ์ประมาณว่า

“I like women, especially beautiful ones. If they have a good face and figure, I would much prefer to watch them being murdered than an ugly girl or man. I certainly don’t have to justify myself to anyone about this. I don’t care what anyone thinks or reads into it. I have often had journalists walk out of interviews when I say what I feel about this subject.”

รับบท Suzy Bannion เด็กหญิงสาวที่มีความใคร่สอดรู้สอดเห็น (ชอบเสือกเรื่องชาวบ้าน) เมื่อมีบางสิ่งอย่างติดค้างในใจ ก็จะครุ่นคิดจนกว่าแสวงหาได้รับคำตอบ, เริ่มตั้งแต่การตายของ Pat Hingle กับคำพูดสุดท้ายที่พยายามอ่านปากระลึกให้ออก และเพื่อนสนิท Sara การจากไปของเธอ สั่งให้ตัวเองต้องออกค้นหาความจริงด้วยตนเอง

ผมคิดว่าปัญหาของ Harper อาจมาจากความไม่สนใจใน direction การกำกับนักแสดงของ Argento ด้วยก็เป็นได้ เขาปล่อยอิสระให้เธอทำอะไรก็ได้ในกรอบเกณฑ์ที่กำหนด ทำให้หลายครั้งมีความเก้งก้างกัง มือสองข้างไม่รู้จะทำยังไงกับมันดี การเคลื่อนไหว เดิน โยกไปมา ไม่มีอะไรเลยที่ดูเป็นธรรมชาติ ทุกอย่างฝืนปั้นแต่ง โดยเฉพาะสีหน้าความหวาดกลัว คือก็เห็นว่ากลัวนะครับ แต่จิตใจของเธอรู้สึกแบบนั้นหรือเปล่า … คิดว่าน่าจะไม่นะ

สำหรับนักแสดงแย่งซีน มี 2 คน
– Alida Valli (1921 – 2006) นักแสดงสัญชาติอิตาเลี่ยน ที่รับบท Miss Tanner หนึ่งในครูผู้สอนที่มาดเข้ม โหดเนียบ สวมชุดในเครื่องแบบเต็มยศ ใบหน้าเคร่งเครียดตลอดเวลา (เหมือนตัวละครนี้ ได้แรงบันดาลใจจาก Lotte Lenya ที่รับบทเบอร์สาม Rosa Klebb จากหนังเจมส์ บอนด์ From Russia With Love), ผมจดจำ Valli ได้จากการแสดงหลายบทบาท อาทิ The Third Man (1949), Senso (1954), Eyes Without a Face (1960), 1900 (1976) ฯ เธอคือนักแสดงยอดฝีมือ ที่คว้ารางวัล Honorary Golden Lion เมื่อปี 1997 เคียงคู่กับ Gérard Depardieu และ Stanley Kubrick

– Joan Bennett (1910 – 1990) นักแสดงสัญชาติอเมริกา ที่ได้รับการกล่าวถึงว่า ‘one of the most underrated actresses of her time.’ รับบท Madame Blanc รองครูใหญ่ของโรงเรียน ที่มีกิริยาท่าทางเรียบร้อย วางมาดเป็นผู้ดี รักเด็ก ไม่มีโกรธเกรี้ยว แต่ในใจโคตรชั่วร้าย หน้าไหว้หลังหลอกโดยสิ้นเชิง, ผลงานเด่นของ Bennett อาทิ The Woman in the Window (1944), Scarlet Street (1945) ฯ เห็นว่า Suspiria คือผลงานภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของเธอ ก่อนผันตัวไปเล่นละครโทรทัศน์

ถือเป็น Common Sense ของหนังอิตาเลี่ยนเลยว่า จะต้องใช้การ dubbing พากย์เสียงทับให้กับตัวละครภายหลังการถ่ายทำ, ก็ไม่รู้สาเหตุทำไมเหมือนกันนะครับ เป็นแบบนี้มานานมากๆแล้ว (ปัจจุบันก็ยังพอมีอยู่บ้าง ที่ใช้การพากย์ทีหลัง) อาจเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการบันทึก sound-on-film หรือตัดปัญหาเสียงรบกวน ก็ใช้การอัดเสียงใหม่ไปเลย ทำให้หลายครั้งคำพูดไม่ตรงกับปากตัวละคร ในหนังของประเทศนี้ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร (อาร์ทไปอีกแนว) ซึ่งนักแสดงคนไหนที่พูดภาษาอังกฤษได้ ก็จะพากย์ด้วยเสียงตนเอง ถ้าสำเนียงไม่ชัดพูดไม่ได้ ถึงจะว่าจ้างนักพากย์อื่น

ถ่ายภาพโดย Luciano Tovoli ตากล้องสัญชาติอิตาเลี่ยนยอดฝีมือ ที่เคยมีผลงานกับ Michelangelo Antonioni, Francis Veber, Dario Argento, Ettore Scola, Julie Taymor ฯ นี่เป็นหนึ่งในหลังเรื่องสุดท้ายที่ถ่ายทำด้วยฟีล์ม Technicolor ทำให้สีแดงมีความสดโดดเด่นเห็นชัดที่สุด

Technicolor ในทศวรรษ 70s ถือเป็นฟีล์มรุ่นเก่าที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมอีกต่อไป ราคาเริ่มแพง มีความยุ่งยากละเอียดอ่อนในการล้าง จัดเก็บ ฯ แต่จะมีจุดเด่นหนึ่งซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของฟีล์มสีชนิดนี้เลย คือความสดของ’สีแดง’ ซึ่งการที่หนังดื้อด้านต้องใช้ Technicolor เท่านั้น ถือเป็นตัวเลือกที่เยี่ยมยอด เพราะแดงคือสีของเลือด อันทำให้ภาพที่ล้างออกมามีความสด สวยงาม สมจริงที่สุด แถมหนังยังมีการจัดแสงที่พยายามเน้นโทนสีแดงเป็นสำคัญ ผลลัพท์จึงสามารถสะท้อนอารมณ์ความรู้สึก จิตวิทยาของตัวละคร สร้างบรรยากาศความขนลุกขนพองได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด

แต่หนังไม่ได้มีแค่แดงนะครับ แสงสีอื่นก็มีอาทิ น้ำเงิน (เยอะพอๆกับแดง), เขียว , เหลือง ฯ ผมก็ไม่รู้จะวิเคราะห์นัยยะของแต่ละสียังไงดี คงจะสะท้อนจิตวิทยาอารมณ์ของตัวละคร/สถานที่นั้นๆออกมา … ผมขอเรียกหนังเรื่องนี้ว่า House of Color ‘บ้านแห่งสี’ ถึงวิเคราะห์ไม่ออกว่าแต่ละสีมีนัยยะสื่อถึงอะไร แต่ให้เอาอารมณ์สัมผัสจับแสงที่เห็น ก็น่าจะพอรับรู้เข้าใจความรู้สึกของตัวละครได้

บางครั้งการเห็นแสงบางสี มันทำให้เกิดความระแวดระมัดระวังภัย (โดยสันชาติญาณ) เช่นว่า เมื่อเห็นแสงสีแดงปรากฎ ก็จะคิดว่ากำลังมีเหตุการณ์อะไรบางอย่าง อุบัติเหตุ ความตายเกิดขึ้น ฯ ซึ่งมันจะพอดีสอดคล้องกับบทเพลงทำนองขนลุกขนพองที่นำร่องมาก่อน กอปรกันสองเทคนิคนี้ คือการสร้าง’บรรยากาศ’ หรือ’เตรียมความพร้อม’ ให้กับผู้ชมได้เตรียมตัว คาดการณ์ จินตนาการล่วงหน้า มันต้องกำลังจะมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นแน่, แต่จะเกิดหรือไม่ก็ต้องไปลุ้นเอง?

จะมีช็อตล้ำๆ อาทิ ถ่ายภาพผ่านหลอดไฟ ทำให้เห็นภาพนูนเบลอมัว มันคือการมองเห็นอีกโลกที่แตกต่าง/ซ่อนอยู่, แล้วทันใดนั้นไฟดับ ภาพเปลี่ยนเป็นโทนสีเขียว ราวกลับหลุดไปอีกโลกหนึ่ง (สีเขียว=โลกแห่งความชั่วร้าย)

ในฉากเดียวกัน บางครั้งอาจจะมีหลายแสงสีบังเกิดขึ้นพร้อมกัน อย่างช็อตนี้
– สีน้ำเงินฝั่งซ้าย: แทน Suzy ที่กำลังจะหลับ สงบเย็น ไม่รู้หนาวร้อน
– แสงไฟสีขาวกึ่งกลาง: แทนความสัมพันธ์ระหว่าง Suzy และ Sara
– สีแดงพื้นหลังฝั่งขวา: แทนจิตใจของ Sara ที่กำลังรุ่มร้อนคิดไม่ตก ต้องการค้นหาความจริงของโรงเรียนแห่งนี้

เห็นว่าความตั้งใจเรื่องการใช้แสงสีสันที่โดดเด่นฉูดฉาด ได้แรงบันดาลใจจากหนังเรื่อง Snow White and the Seven Dwarfs (1937) และ The Wizard of Oz (1939) หนังสี Technicolor เรื่องแรกๆ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบสังเกตให้ดีๆไม่ใช่แค่เรื่องการจัดแสงสี จะพบว่ามีหลายอย่างที่คล้ายคลึงกับ Suspiria มากทีเดียว (ซึ่งผมจะพูดถึงในลำดับต่อไป)

มุมกล้องและทิศทางก็ถือว่ามีนัยยะสำคัญเช่นกัน, ผมชอบฉากที่ Suzy หลังจากสูญเสีย Sara ก็ออกค้นหาความจริง ไปพบกับพี่ชายและศาสตราจารย์ผู้มีความรู้เกี่ยวกับแม่มด (นี่จะเป็นการเฉลยปริศนาเรื่องราวเหนือธรรมชาติทั้งหลายของหนัง) จะมีช็อตมุมเงย พื้นหลังเห็นแต่ท้องฟ้า (ความว่างเปล่า) และช็อตที่เคลื่อนเข้าไปเห็นภาพสะท้อนกับกระจก เป็นสองช็อตที่สวยมากทีเดียว

ในโรงเรียนสอนบัลเล่ต์ก็จะมีอย่างเยอะเลย ช็อตที่มีลักษณะเป็นมุมก้มมุมเงย ดูแล้วคงเพื่อแสดงตำแหน่ง มุมมอง แทนวิทยฐานะของตัวละครขณะนั้น ว่ามีความสูงต่ำเช่นไร, บางทีอาจมองได้ว่าเป็นมุมมองของพลังลึกลับ เหนือธรรมชาติ หรือวิญญาณ (ถึงมองมุมสูงต่ำระดับนี้ได้)

การออกแบบฉาก Production Design โดย Giuseppe Bassan ขาประจำของ Argento, สำหรับหนังเรื่องนี้ ถือว่าเป็นส่วนผสมของ Gothic และ German Expressionist อาทิ ด้านหน้าของโรงเรียนสอนบัลเล่ต์ นั่นคือสถาปัตยกรรมแบบ Gothic ได้แรงบันดาลใจจาก Haus zum Walfisch (Whale House) ปรากฎตั้งอยู่ที่ Freiburg im Breisgau, Germany

สำหรับงานออกแบบภายใน โดดเด่นในลวดลาย Wallpaper ที่มีความหลากหลายมาก (เท่าที่เห็น ส่วนใหญ่จะเป็นลายดอกไม้) ผมคงไม่วิเคราะห์ลงลึกถึงรายละเอียด แต่จะชี้ให้เห็นว่า มีนัยยะสำคัญบ่งบอกถึงจิตวิทยาของตัวละครนั้นๆที่เป็นเจ้าของสถานที่ อาทิ ห้องของ Olga เห็นดอกไม้สองสีขาวดำตัดกันลายตาเหลือเกิน แสดงถึงความสุดโต่งขั้วตรงข้ามของตัวละคร ซึ่งขณะที่เธอรู้ว่า Suzy เป็นลมล้มพับไม่สบาย ก็รีบส่งข้าวของขับไล่ไม่ให้อาศัยอยู่ร่วมกันทันที (เพราะไม่อยากมีปัญหา)

ห้องทำงาน Madame Blanc รองครูใหญ่ของโรงเรียน ก็เช่นกัน สังเกตว่าพื้นหลังเป็นภาพวาดเมืองที่มีลักษณะบิดเบี้ยวแปลกๆ ไม่สมส่วน นี่คือ German Expressionist แสดงถึงจิตใจของเธอ มีความซับซ้อนเหมือนตึกรูปทรงแปลกๆ เก็บหลบซ่อนความลับบางอย่างเอาไว้, ฉากนี้มีความลับบางอย่างซ่อนอยู่ด้วย มองเห็นกันหรือเปล่า?

ตัดต่อโดย Franco Fraticelli สัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำช่วงแรกของผู้กำกับ Dario Argento, ไม่เชิงว่าหนังใช้มุมมองของ Suzy เป็นหลัก แต่ถือว่าเธอเป็นจุดหมุนของเรื่องราว ซึ่งขณะที่ตัวละครหนึ่งใดกำลังจะตาย ก็ล้วนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเธอ (ทางใดก็ทางหนึ่ง)

– Pat Hingle การตายของเธอถูกแทงยับ จากนั้นแขวนคอหัก ห้อยต่องแต่งลงมาจากเพดาน
– เพื่อนของ Pat Hingle ถูกลูกหลงจากเศษกระจก/กระเบื้อง ที่ตกลงมาจากเพดาน ทิ่มศีรษะทะลุคอ
– นักเปียโนตาบอด Daniel ถูกสุนัข German Shepherd ของตัวเองกัดคอเสียชีวิต
– Sara ตกลงไปบนลวดหนาม (โง่เอง) ไม่สามารถดิ้นหลุดได้ และถูกใครสักคนกรีดคอ

ขณะที่ฝั่งแม่มด
– Mather Suspiriorum ถูกแทงที่คอเสียชีวิต
– คนอื่นๆ ร้องกรีดกราย กุมคอ/บีบคอตัวเอง

การตายของตัวละครมีนัยยะอะไรไหม? ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่แทบทั้งนั้นต้องเกี่ยวกับคอ (ที่ตั้งของศีรษะ/ความทะเยอทะยาน) การถูกทำให้สิ้นชีพ ณ ตำแหน่งนี้ ถือเป็นการหยุดยับยั่งไม่ให้สำเร็จสมหวังตามเป้าหมายที่คาดหวังไว้

อย่างการตายของ Daniel ที่แสนโดดเดี่ยว ผมไปบังเอิญอ่านเจอใจความแฝงที่ผู้กำกับ Argento อาจจงใจแทรกมา สืบเนื่องจากภาพวาดของ Arthur Kampf ในวันที่ 30 มกราคม 1933 การเดินพาเรดฉลองชัยการยึดอำนาจได้สำเร็จของ Nazi

เทียบกับสถานที่ตายของ Daniel จะพบว่าพื้นหลังมีความใกล้เคียงกันมาก ซึ่งการตายด้วยสุนัขรับใช้ (บุคคล/สิ่งมีชีวิตที่ต่ำต้อยกว่า) มีนัยยะสื่อถึงการล่มสลายของนาซี ที่ต่อให้มีความทะเยอทะยานยิ่งใหญ่แค่ไหน แต่เมื่อแสดงความเลวร้ายปานนั้นออกมา ก็หาได้มีใครอยากสนใจจดจำ

เอะ … หรือว่าหนังเรื่องนี้ Mater Suspiriorum, Ours Lady of Sighs จะมีนัยยะแฝงสื่อถึง Adolf Hitler เลยหรือเปล่า (นี่ผมมโนขึ้นมานะครับ)

มาต่อกับบทเพลง Witch เริ่มต้นด้วยเสียงรัวกลอง (เสียงนี้คือไฮไลท์ของเพลงเลย) จากนั้นเป็นเสียงร้องครวญครางโหยหวน ราวกับอยู่ในขุมนรกดิ้นรนเพื่อหาทางเอาตัวรอด, นี่เป็นบทเพลงฟังแล้วราวกับอยู่ในลัทธินอกรีต หมอผี หรือแม่มด The Witch ตามชื่อเพลง ซึ่งกิจกรรมการกระทำของคนเหล่านี้ เต็มไปด้วยความบ้าคลั่ง วิปริต สิ่งโฉดชั่วร้าย เป้าหมายคือเพื่อต่ออายุของตนเอง ให้ยืนยาวนานเป็นอมตะนิรันดร์

บทเพลง Markos ดัดแปลงเรียบเรียงใหม่จาก Music in Similar Motion ของ Philip Glass นักแต่งเพลง/นักดนตรีสไตล์ minimalist, ผมนำต้นฉบับมาให้ฟังก่อน ชื่อเพลงก็บอกอยู่แล้ว ‘เหมือนกันในท้วงทำนอง’ คุณอาจจะเกาหัว นี่เป็นบทเพลงที่ไม่มีอะไรเลยนอกจากการเล่นวนซ้ำๆไปมา แต่ให้ลองจินตนาการ ภาพความรู้สึกของบทเพลงไปตามด้วย มันจะมีอะไรบางอย่างหวิวๆเกิดขึ้นในใจของคุณ

ซึ่งเมื่อพอได้รับการดัดแปลงโดย Goblin ก็กลายเป็น … หลอนระทึกสุดขั้วไปเลยละ

ผมไม่รู้ Argento ไปพบเจอกับ Goblin ได้อย่างไร แต่ต้องถือว่าทั้งสองเป็นคู่สร้างคู่สมที่เติมเต็มซึ่งกันและกันได้อย่างลงตัวสมบูรณ์แบบ เฉกเช่นเดียวกับ Werner Herzog คู่กับ Popol Vuh, Hiroshi Teshigahara คู่กับ Toru Takemitsu หนังแนวประหลาดก็ต้องคู่กับบทเพลงสุดโต่งแบบนี้แหละ

ความตั้งใจของ Argento ต่อหนังเรื่องนี้ เหมือนว่าต้องการให้ Suzy เป็นตัวแทนของ Dorothy Gale จาก The Wizard of Oz (1939) แต่แทนที่จะเดินทางสู่ดินแดนสุดมหัศจรรย์แห่ง Oz กลับมาถึงนรกบนดินของ Tanz Dance Academy พบเจอเรื่องราวผจญภัย แทนที่จะได้พบเพื่อนใหม่กลับมีแต่สูญเสีย และตัวร้ายสุดท้าย ท้าสู้กับ The Wicked Witch of the West เรื่องนี้ก็สู้กับ Mater Suspiriorum เอาชนะแล้วก็เดินทางกลับบ้าน

ซึ่งเรื่องราวในดินแดนสุดมหัศจรรย์แห่ง Oz สามารถมองได้ว่า ทั้งหมดเป็นสิ่งเกิดขึ้นในจินตนาการความคิดของเด็กหญิง Dorothy ก็ถือว่ายังคล้ายกับโลกของ Suspiria ที่มีการนำเสนอพื้นหลังด้วยรูปแบบ Expressionist สะท้อนจิตวิทยาความรู้สึกของตัวละครออกมา, ไม่ใช่ในจินตนาการและเป็นความต้องการในจิตใจเลยละ

บทเรียนหนึ่งที่ผมได้รับรู้จาก Suspiria คือหนังแนว Horror อย่าไปสนเรื่องราว ใจความหนัง และการแสดงมากนัก คล้ายๆกับ Screwball Comedy ที่ไม่ต้องไปสนเนื้อเรื่องราวอะไรเลย ต่อให้มีความตั้งใจขนาดไหนก็อาจดูไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ หรือพบว่าไร้สาระ ขาดตรรกะ ความสมเหตุสมผลโดยสิ้นเชิง, คือถ้าผู้ชมสามารถมองข้ามจุดนี้ไปได้ ก็จะสามารถเผชิญหน้าพบเจอกับเป้าหมาย ใจความสำคัญที่แท้จริงของแนวหนังประเภทนี้ ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศ เกิดอาการอกสั่นไหว ระทึกทุกข์ทรมาน สยองขวัญขยะแขยง และสำคัญที่สุดคืนนี้นอนไม่หลับฝันเป็นแน่

กับหนังเรื่องไหนสามารถพิสูจน์ตัวเองได้ระดับนี้ ต้องถือว่าระดับยอดเยี่ยมเลยทีเดียว แต่สิ่งที่ทำให้ Suspiria เหนือไปกว่าเรื่องอื่นใดของแนว Giallo ด้วยกันก็คือ การผสมผสานเรื่องราวเหนือธรรมชาติเข้าไป นี่ทำให้หนังมีความแปลก พิศดารลึกล้ำเหนือจินตนาการ เป็นสิ่งที่ผู้ชมสมัยนั้นคาดคิดไม่ถึง (เพราะก่อนหน้านั้น หนังแนว Giallo มักมาจากมนุษย์/ฆาตกร/สัตว์ สิ่งมีชีวิตที่มองเห็นเท่านั้น)

ในอิตาลี ดินแดนถิ่นบ้านเกิดของ Giallo ปรากฏว่าผู้ชมมึนตึบ สับสน งงงวย หนังบ้าอะไรว่ะ! พวกเขาดูไม่เข้าใจโดยสิ้นเชิงตอนออกฉาย ทำเงินไม่ได้เท่าไหร่ แต่พอส่งออกฉายต่างประเทศ ความยิ่งใหญ่ของหนังจึงเริ่มปรากฎขึ้น อังกฤษ, ฝรั่งเศส โดยเฉพาะที่ญี่ปุ่น เห็นว่าต้องปิดสนามฟุตบอล ตั๋วเต็มเพื่อฉายหนังเรื่องนี้

ถ้าให้วิเคราะห์กับสิ่งที่เกิดขึ้นคงเพราะ เรื่องราวเหนือธรรมชาติจะเข้าถึงผู้ชมชาวตะวันออก (เอเชีย) มากกว่าชาวยุโรป และกับประเทศที่ตำนานแม่มดได้รับการกล่าวถึงจดจำมากกว่า น่าจะทำให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งในประเทศอิตาลีเหมือนพวกเขาจะไม่ค่อยเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติกันสักเท่าไหร่

การมาถึงของ Home Video ส่งผลให้ Suspiria ได้แปรสภาพกลายเป็น Cult Culture กระแสฮิตเงียบ เห็นว่าเป็นหนึ่งในหนังที่ขาย VHS, Laser Disc ยอดสูงสุดเรื่องหนึ่งแห่งยุค

ผมค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้นะ แม้ส่วนตัวจะเป็นคนต่อต้านเรื่องความรุนแรง การตายที่บ้าคลั่งไร้สาระ แต่หลงใหลคือเทคนิควิธีการสร้างบรรยากาศ และความพยายาม ทะเยอทะยานของผู้กำกับ เห็นได้ชัดมากว่า เขาทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกหวาดกลัว ขนลุกขนพอง คือถ้าเราไม่แสดงออกว่าเกิดความรู้สึกนั้นเลย ก็เหมือนเป็นการหยาบคาย เห็นแก่ตัวเกินไปหน่อยหรือเปล่า

แต่ถ้าคุณดูหนังไม่รู้สึกอะไร ฟังเพลงประกอบ อ่านบทความถึงจุดนี้แล้วก็ดี นิ่งสนิทไม่รับรู้อารมณ์ใดๆ แบบนี้เรียกว่าตายด้านได้แล้วละ

แนะนำกับคอหนัง Horror บรรยากาศสยดสยองขวัญ เขย่าระทึกประสาทสัมผัส, ชื่นชอบเรื่องราวเหนือธรรมชาติ แม่มด มีเวทย์มนต์อาคม (Witchcraft), รู้จักผู้กำกับ Dario Argento และนักแสดง Jessica Harper ไม่ควรพลาด

ไม่แนะนำกับคนกำลังท้อง ป่วยไข้ไม่สบาย จิตใจอ่อนแอไม่อยู่กับเนื้อกับตัว หรือเพิ่งอกหักผิดหวังในรัก หนังเรื่องนี้ถือว่ามีความเสี่ยงอาจทำให้คิดสั้น หรือกระทำการชั่วร้ายอะไรบางอย่างได้

จัดเรต 18+ บรรยากาศ ความตาย เลือดสาด

TAGLINE | “Suspiria ของผู้กำกับ Dario Argento ได้พยายามทำทุกอย่างให้เกิดความหวาดกลัว สยองขวัญ สั่นประสาท แต่ถ้าคุณไม่รู้สึกอะไรเลย เหมือนเป็นการหยาบคายเกินไปหน่อยหรือเปล่า”
QUALITY | RARE
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: