Suspiria

Suspiria (2018) : Luca Guadagnino ♥♥♥♥

Suspiria ภาษาอิตาลี แปลว่า เสียงคราง, ทอดถอนหายใจ คงเป็นอาการของใครหลายๆคนเมื่อรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ชอบไม่ชอบอยู่ที่สามารถเข้าถึงนามธรรมซ่อนเร้นมากน้อยแค่ไหน เพราะทุกสิ่งอย่างคือกระจกสะท้อนกันได้ เกิด-ตาย ชาย-หญิง อดีต-ปัจจุบัน ความจริง-ความฝัน ภาพหลอน-เวทย์มนต์ เยอรมันตะวันออก-ตะวันตก เคลื่อนไหวทางการเมือง-พิธีกรรมแม่มด สุดท้ายอยู่ที่เราจะเรียนรู้การอยู่ร่วมกันได้อย่างไร

กับภาพยนตร์ที่มีความสลับซับซ้อนขนาดนี้ ให้พยายามทำความเข้าใจเพียงเส้นเรื่องเดียวก่อน จากนั้นคุณอาจสามารถมองเห็นภาพรวมทั้งหมด ซึ่งมักดำเนินเดินไปในทิศทางเดียวกันอย่างสอดคล้องจอง และเมื่อถึงจุดๆนั้นจักมองเห็นใจความสำคัญ เป้าหมายของผู้กำกับ ประสงค์ต้องการนำเสนออะไรกันแน่

ก่อนอื่นจะขอไล่เรียงเส้นเรื่องราวเท่าที่จับใจความได้เสียก่อน แล้วช่วงท้ายของบทความนี้ถึงค่อยสรุปว่า ทุกสิ่งอย่างพุ่งเป้าไปทางไหน
– เรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่ง เข้าสถาบันสอนเต้น Markos Dance Academy ไต่เต้าขึ้นเป็นนักเต้นนำ แสดงศักยภาพกระโดดให้ถึงจุดสูงสุดแห่งความว่างเปล่า ขณะที่ปัญหาการเมืองใน คณะครูแบ่งออกเป็นสองฝั่งฝ่าย Markos และ Madame Blanc (ว่าไปก็เหมือน เยอรมันตะวันออก-ตะวันตก)
– ชายสูงวัยคนหนึ่งชาวเยอรมัน ทำงานเป็นจิตแพทย์ ภรรยาสูญหายตัวในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เดินทางไปๆกลับๆเยอรมันตะวันออก-ตะวันตก หวังว่าสักวันเธอคงกลับมาเยี่ยมเยือนบ้านหลังเก่าอีกครั้ง พบเห็นหญิงสาว(จากสถาบันสอนเต้น)ที่มาขอคำปรึกษาสูญหายตัวไป อดไม่ได้ต้องให้การช่วยเหลือติดตามหา
– German Autumn กลุ่มของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 1977 เกี่ยวข้องกับการลักพาตัว ลอบสังหาร จี้เที่ยวบิน โดยกองทัพฝ่ายแดง (RAF) ร่วมกับแนวร่วมประชาชนเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ เพื่อต่อต้านรัฐบาลเยอรมันตะวันตก

Luca Guadagnino (เกิดปี 1971) ผู้กำกับสัญชาติ Italian เกิดที่ Palermo พ่อเป็นชาว Sicilian สอนวิชาประวัติศาสตร์, โตขึ้นเข้าเรียนที่ University of Palermo สาขาวรรณกรรม ตามด้วยปริญญาโท Sapienza University of Rome สาขาประวัติศาสตร์และการวิจารณ์ภาพยนตร์ ทำ Thesis เกี่ยวกับผู้กำกับสัญชาติอเมริกัน Jonathan Demme, กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Protagonists (1999), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Melissa P. (2005) ทำเงินอันดับ 1 ใน Box-Office ของ Italy, ตามด้วย I Am Love (2009) เข้าชิง Gloden Globe: Best Foreign Film และ Oscar: Best Costume, A Bigger Splash (2015) คว้าสองรางวัลจากเทศกาลหนังเมือง Venice และล่าสุด Call Me by Your Name (2017) เข้าชิง Oscar 4 สาขา คว้ามา 1 รางวัล

Guadagnino ได้ติดต่อพูดคุยกับสองผู้สร้างต้นฉบับ Suspiria (1977) คือ Dario Argento และ Daria Nicolodi [ตอนสร้างทั้งสองคือสามี-ภรรยา ปัจจุบันนี้อย่าร้างแต่ก็ยังสามารถร่วมงานกันได้อยู่] มอบลิขสิทธิ์สร้างใหม่ให้หลังจากพวกเขาปิดไตรภาค The Three Mothers ได้สำเร็จกับ The Mother of Tears (2007) ชักชวน David Gordon Green ให้พัฒนาบทพร้อมข้อเสนอเป็นผู้กำกับ คัดเลือกนักแสดงยอดฝีมืออย่าง Isabelle Huppert, Janet McTeer และ Isabelle Fuhrman แต่ต่อมาเกิดความขัดแย้งไม่ลงรอยกับสตูดิโอให้ทุน โปรเจคเลยถูกเก็บขึ้นหิ้งไว้ก่อน

“I love Argento’s film and we wrote a very faithful, extremely elegant opera … I don’t mean musical opera, but it would be incredibly heightened music, and heightened and very operatic and elegant sets”.

– David Gordon Green

เพราะความที่เป็นโปรเจคในฝันของ Guadagnino หลังเสร็จจากสร้าง A Bigger Splash (2015) ประกาศว่าตนเองจะกำกับ Suspiria โดยใช้นักแสดงหลักๆที่ร่วมงานกันครั้งนี้ ประกอบด้วย Tilda Swinton และ Dakota Johnson

“I was so terrified, but as always with something that terrifies you, I was completely pulled in. I think the process of how that movie influenced my psyche probably has yet to stop, which is something that happens often when you bump into a serious work of art like Suspiria. I think the movie I made, in a way, [represents] some of the layers of [my] upbringing, watching the movie for the first time and thinking of it and being obsessed by it”.

– Luca Guadagnino

ก็ไม่รู้เสียเวลาตระเตรียมการอะไร ระหว่างนั้น Guadagnino เลยกระโดดไปกำกับ Call Me by Your Name (2017) สร้างชื่อเสียงให้ตนเองโด่งดังทั่วโลก โปรเจคนี้เลยถูกจับตามองอย่างกว้าง มอบหมายหน้าที่พัฒนาบทภาพยนตร์ให้ David Kajganich (เกิดปี 1969) นักเขียนสัญชาติอเมริกัน เลื่องลือชากับแนว Horror อาทิ The Invasion (2007), Blood Creek (2009), Pet Sematary (2019) ฯ เคยร่วมงานกันตอน A Bigger Splash (2015)

“Horror often loses me when it starts to no longer regard real people in a real world. And so, I said to Luca when he asked me would I ever be interested in joining him in this, I did say ‘I will take quite a practical approach if you’re okay with that. I would want to know how something like this could happen, how it would work, what the hierarchy of the coven would be, you know, all of those practical questions that normally aren’t maybe of interest to a typical horror film, whatever that is,’ and he was all for it”.

– David Kajganich

แม้จะมิได้โปรดปรานต้นฉบับ Suspiria (1977) แต่ก็ได้ยื่นข้อเสนอพัฒนาบทหนังโดยมุ่งเน้นสร้างความสัมพันธ์เรื่องราวกับประวัติศาสตร์จริงๆ ทำการศึกษาค้นคว้าช่วงเวลาที่เหมาะสม ศาสตร์แม่มด เวทย์มนต์คาถา เรื่องเหนือธรรมชาติ รวมถึงภาพยนตร์ของผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder เพื่อจับวิถีชาวเยอรมันในยุคสมัยนั้น และบทบาท Feminist ในแง่ของการเมืองและศิลปะ

“The witchcraft that I’m interested in also has a lot to do with what, psychoanalytically, is called the concept of the terrible mother, which you can see also in some religions, particularly in the Kali goddess. Then it makes total sense why a coven would hide in a dance company, because they could wield their influence in public ways, without the public realizing”.

ความเห็นของ Guadagnino ต่อบทหนังของ Kajganich ประทับใจมากๆในการเลือกพื้นหลังกรุง Berlin ปี 1977 ช่วงขณะเหตุการณ์ German Autumn เริ่มต้นจี้เครื่องบิน Lufthansa Flight 181 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ซึ่งตรงกับปีที่ต้นฉบับ Suspiria ออกฉากเสียด้วย

“Dario’s movie was a sort of self-contained box of fleshy delicacies, which was not in relationship with the moment it was made. It was too much of an opportunity for me and David to actually say, ‘It’s 1977 – deal with it, let’s make it the center of the story’.”

เรื่องราวของ Susie Bannion (รับบทโดย Dakota Johnson) นักเต้นสาวจาก Ohio, สหรัฐอเมริกา ได้รับโอกาสเข้าเรียนยัง Markos Dance Academy ภายหลังการสูญหายไปอย่างลึกลับของ Patricia Hingle (รับบทโดย Chloë Grace Moretz) เติบเต็มความฝันที่จะได้เป็นลูกศิษย์ของ Madame Blanc (รับบทโดย Tilda Swinton) แสดงศักยภาพอันน่าเหลือเชื่อจนได้รับโอกาสเต้นนำ Volk (ภาษาเยอรมัน แปลว่า people, ผู้คน) แต่เบื้องหลังของสถาบันนี้กำลังค่อยๆได้รับการเปิดเผย ว่าแท้จริงแล้วถูกควบคุมดำเนินกิจการโดยแม่มด นำโดย Mater Suspiriorum, Mater Tenebrarum และ Mater Lachrymarum

Dakota Mayi Johnson (เกิดปี 1989) นักแสดงหญิง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Austin, Texas ลูกสองสองนักแสดง Melanie Griffith กับ Don Johnson เลยไม่แปลกเท่าไหร่ที่ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น วัยเด็กได้รับการวินิจฉัยป่วยเป็นโรค Hyperactivity (ADHD) ปัจจุบันก็ยังต้องทานยาอยู่เรื่อยๆ เริ่มเข้าสู่วงการตั้งแต่อายุ 12 ถ่ายแบบโมเดลลิ่ง Teen Vogue, ภาพยนตร์เรื่องแรก Crazy in Alabama (1999), โด่งดับกับแฟนไชร์ Fifty Shades, ส่วนผลงานเด่นจริงๆคือ A Bigger Splash (2015), Suspiria (2018) ฯ

รับบท Susie Bannion สาวอเมริกันหัวก้าวหน้า ผู้เต็มเปี่ยมด้วยความเพ้อฝันทะเยอทะยาน คงเพราะศักยภาพถึงด้วยกระมังเลยกล้าแบบไม่กลัวเกรงใคร นอกจากลีลาท่าเต้นอันสุดเหวี่ยง ยังสามารถสัมผัสถึงพลังลึกลับที่หลบซ่อนอยู่ภายใต้สถาบันแห่งนี้

เกร็ด: Johnson ยังรับบทพี่สาวของ Susie พบเห็นแวบๆในฉากย้อนอดีต/ความฝัน สถานะปัจจุบันนั้นไม่รู้เป็นตายร้ายดีเช่นไร

ตัวตนแท้จริงของ Susie (หลังจากตัดผมสั้น) คือ Mater Suspiriorum คงรับรู้ตัวตนเองตั้งแต่เด็ก (จะมีช็อตในความฝันที่เด็กสาวลอยขึ้นจากพื้น) หลังรับชมลีลาการเต้นของ Madame Blanc สนใจในศักยภาพความสามารถของเธอ โตขึ้นถึงวัยเข้าเรียนสถาบันแห่งนี้เพื่อค้นหาบุคคลผู้พร้อมเคียงข้าง จงใจเต้นผิดพลาดสร้างสรรค์ท่วงท่าใหม่ในการแสดง Volk จนพบเห็นฝั่งฝ่ายพรรคพวกพ้องภายใน ลงทัณฑ์ศัตรูพวกเห็นผิด ให้โอกาสบุคคลผู้โชคร้าย ก้าวขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่แห่ง Markos Dance Academy

หลังจาก Johnson มีโอกาสทำงานกับ Guadagnino เรื่อง A Bigger Splash (2015) เกิดความสนใจอยากร่วมด้วยกับโปรเจคในอนาคตอีก เมื่อได้รับการติดต่อมาก็ตอบตกลงแทบโดยทันที ใช้เวลาเตรียมตัวเรียนเต้นบัลเล่ต์ถึงเกือบๆ 2 ปี ระหว่างถ่ายทำภาคสาม Fifty Shades Freed (2018) [หนึ่งในอาจารย์ที่สอนบัลเล่ต์คือ Mary Helen Bowers ผู้สอน Natalie Portman เรื่อง Black Swan (2010)]

“I was obviously really invested – really invested in Luca as a person, collaborator, artist. You just want to go on any adventure with him”.

กับคนที่ตราติดภาพของ Johnson จากแฟนไชร์ Fifty Shades คงคาดคิดไม่ถึงทีเดียวว่าหลังจากย้อมผมแดง จะสามารถเปลี่ยนแปลงไปคนละคน เล่นบทบาทดราม่าเข้มข้น จริงจัง มืดหม่น ลงไปลึกมากๆ กระโดดสูงสุดๆ ไม่ใช่แค่ศักยภาพทางกาย แต่ยังต้องตระเตรียมจิตใจมาให้เข้มแข็งแกร่งมากๆ

“When you pay attention to your body and you really move more, things feel differently. It’s like you open yourself and you really feel like you’re alive in your body. I don’t know how to explain it. It was just so enlightening”.

เพราะความมืดหม่นของตัวละคร เห็นว่าหลังการถ่ายทำสิ้นสุดต้องพึ่งพาจิตแพทย์ ให้ช่วยถอนรากถอนโคนตัวละครนี้ออกไปจากความทรงจำของตนเอง

“Not that it was hard to shake her off, but more that, once it was over, looking back on it, it was just like a blur. Like, what just happened? What did we just do? Was that even real? Because it really felt like we were just out of time, completely. And I don’t really struggle with shaking off characters”.

ดูแล้วโอกาสที่ Johnson จะได้ลุ้นเข้าชิงหรือคว้ารางวัลอะไรปลายปีคงเป็นสิ่งยากยิ่งทีเดียว ทั้งๆที่อาจเป็นการแสดงยอดเยี่ยมสุดในชีวิต(ถึงขณะนี้) แบบเดียวกับ Jennifer Lawrence ถูกมองข้ามโดยสิ้นเชิงกับ mother! (2017)

Katherine Matilda Swinton (เกิดปี 1960) นักแสดงหญิงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ London พ่อเป็นทหารบก ยศพลตรี Sir John Swinton of Kimmerghame (1925 – 2018), ตอนเด็กเรียนร่วมห้องกับว่าที่เจ้าหญิงแห่งเวลส์ Diana Frances Spencer, โตขึ้นศึกษาต่อยัง New Hall (ปัจจุบันคือ Murray Edwards College) ณ University of Cambridge สาขาสังคมและรัฐศาสตร์ ให้ความสนใจเลือกเข้าฝั่งพรรคคอมมิวนิสต์ ต่อมาสังกัด Scottish Socialist Party

ความสนใจด้านการแสดงในรั้วมหาวิทยาลัย หลังเรียนจบเลือกเข้าร่วม Royal Shakespeare Company กลายเป็นนักแสดงละครเวที ตามด้วยมินิซีรีย์ ภาพยนตร์เรื่องแรก Caravaggio (1986), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Edward II (1991) คว้ารางวัล Volpi Cup for Best Actress จากเทศกาลหนังเมือง Venice, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Beach (2000), Vanilla Sky (2001), The Chronicles of Narnia: The Lion, the Witch and the Wardrobe (2005), Michael Clayton (2007)**คว้า Oscar: Best Supporting Actress, Burn After Reading (2008), Doctor Strange (2016) ฯ

Madame Blanc อดีตนักเต้น Volk ที่กลายมาเป็นครูผู้สอน ความสนใจของเธอไม่ใช่แค่ทักษะลีลาท่าเต้น แต่ยังคือจิตวิญญาณที่อยู่ภายใน ระหว่างทำการแสดงสวมบทบาท จินตนาการถึงผู้สร้าง และความว่างเปล่าเมื่อกระโดดถึงจุดสูงสุด ครั้นพบเห็นศักยภาพสุดมหัศจรรย์ของ Susie ลึกๆรู้สึกเสียดายถ้าหญิงสาวต้องกลายเป็นร่างใหม่ของ Mother Markos วินาทีสุดท้ายร้องขอให้ครุ่นคิดตัดสินใจใหม่ ถูกตัดหัวเกือบขาดไม่รู้ตายหรือเปล่า แต่สะท้อนถึงสูญเสียสิ้นความทะเยอทะยาน

ให้ข้อสังเกต: เรื่องราวพื้นหลังของ Madame Blanc น่าจะไม่แตกต่างจากปัจจุบันของ Mother Helena Markos อาจเคยเป็นร่างเน่าๆที่สามารถสวมเข้าเรือนร่างของเด็กหญิงสาวไร้เดียงสาคนหนึ่งในอดีต หลังจากเต้นท่วงท่า Volk กระโดดถึงจุดสูงสุดแห่งความว่างเปล่า

Mother Helena Markos ฝั่งฝ่ายตรงกันข้ามกับ Madame Blanc มีชีวิตยืนยาวคงไม่ต่ำกว่าร้อยปี ยึดถือมั่นในขนบวิถีประเพณีดั้งเดิม เฝ้ารอคอยวันจักได้เรือนร่างใหม่ สวยสาว นงคราญ สานต่อสถาบันแห่งนี้ที่ตนเองคงเป็นผู้สืบทอดมา

Dr. Josef Klemperer (ในเครดิตใช้ชื่อ Lutz Ebersdorf) ชายสูงวัย นักจิตวิทยา ผู้ยังจมปลักอยู่กับความหลัง ครุ่นคิดถึงภรรยาที่สูญหายตัวไปในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และเมื่อพบเห็นการหายตัวไปของ Patricia Hingle อดรนทนไม่ได้จนต้องการเสาะแสวงหาความจริงด้วยตนเอง

“After I got her the script, it was an ongoing conversation I had with David about these three roles. I felt it had to be Tilda for all of them, because this is a film that deals a lot with the uncanny and unconscious. I thought it would be good to have Tilda playing all the three aspects of a human psyche – the id, the ego, and the superego.”

– Luca Guadagnino

ในเมื่อผู้กำกับพูดบอกออกมาเองเช่นนี้ คงเลิกถกเถียงกันเสียทีว่า Swinton แสดงสามบทบาทจริงหรือเปล่า นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรจะให้นักแสดงคนเดียวหลายตัวละคร สิ่งน่าสงสัยคือเพราะอะไรเสียมากกว่า?

สำหรับ Madame Blanc กับ Mother Helena Markos ชัดเจนมากๆตั้งแต่แรกถึงความแตกต่างคนละขั้ว เทียบแล้วก็เหมือนเยอรมันตะวันออก-ตะวันตก เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็มิอาจลงรอยความเห็นต่าง แต่สำหรับตัวละคร Dr. Josef Klemperer น่าพิศวงงงงวยอย่างยิ่งว่าจะอยู่ตำแหน่ง ซึ่งความเป็นไปได้เดียวเท่านั้นคืออยู่กึ่งกลาง (เป็นคนเดียวที่พบเห็นเดินทางไปมาระหว่าง เบอร์ลินตะวันออก-ตะวันตก)

ถ้าวิเคราะห์ตามมุมมองของผู้กำกับ
– Mother Helena Markos เทียบแทนด้วย Id สนใจเพียงสิ่งพื้นฐาน ตอบสนองสัญชาติญาณความต้องการต่อตนเองเท่านั้น
– Dr. Josef Klemperer ผู้อยู่กึ่งกลาง Ego ไม่ได้มีส่วนล่วงรับรู้เห็นอะไรด้วยกับฝั่งฝ่ายไหนเลย แต่ประสบพบเห็น ตัดสินใจเลือกเข้าข้างฝั่งฝ่ายไหน
– Madame Blanc วินาทีสุดท้ายแสดงความประณีประณอม Super Ego ต้องการสิ่งที่คือความเต็มใจของหญิงสาวเท่านั้น

พอมันเป็นสามบทบาท ก็จะไม่พบเห็นสามตัวละครนี้อยู่ร่วมช็อตเดียวกันเลย
– Madame Blanc เริด เชิด หยิ่งยโสโอหัง ด้วยการแสดงอันลุ่มลึก พริ้วไหว เอ่อล้นด้วย Passion เทียบแทนด้วยหญิงแกร่ง มองคนที่จิตใจไม่ใช่ภาพลักษณ์หรือลีลาท่วงท่าภายนอก
– สวมใส่หน้ากาก Dr. Josef Klemperer ชายสูงวัยผู้อ่อนแอปวกเปียก ร่อๆแร่ๆ กว่าจะก้าวย่างเดิน เชื่องช้าจนรู้สึกเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า แต่ความตั้งใจมั่น ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเขาได้
– ขณะที่ Mother Helena Markos ร่างทรงผู้เอ่อล้นด้วยความเกรี้ยวกราด พูดจาฉะฉาน ตรงไปตรงมา สะท้อนสันดานเข้ากับภาพลักษณ์ สนเพียงความพึงพอใจส่วนตัวตนเองเท่านั้น

Swinton เป็นนักแสดงที่มีภาพลักษณ์ ท่วงท่าเคลื่อนไหว การแสดงอันเฉพาะตัว ไม่ค่อยพบเห็นรอยยิ้ม (หน้านิ่งคือลายเซ็นต์ของเธอ) ยากนักที่ใครๆจะเข้าถึงสิ่งที่อยู่ภายใน ราวกับว่าเป็นคนผ่านอะไรๆประสบการชีวิตเยอะ หนักหน่วง ตึงเครียด ซีเรียสจริงจังตลอดเวลา ทั้งนี้ทั้งนั้นมองอีกมุมจักพบเห็นความติ๊งต้องชวนหัว [ผลงานของ Swinton ถ้าไม่เครียดคลั่ง ก็จะบ้าบอคอแตกกับสองพี่น้อง Coens]

เกร็ด: Jessica Harper นักแสดงผู้รับบท Susie ในต้นฉบับ Suspiria (1977) มารับเชิญบทเล็กๆ Anke ภรรยาของ Dr. Klemperer ช่วงท้ายเรื่องที่ราวกับวิญญาณ/ภาพหลอน ชี้ชักนำพาเขาสู่ Markos Dance Academy

ถ่ายภาพโดยตากล้องชาวไทย สยมภู มุกดีพร้อม คงเป็นความประทับใจหลังร่วมงาน Call Me by Your Name (2017) เลือกถ่ายทำด้วยระบบฟีล์ม (ไปทำ Digital หลังการถ่ายทำ) ใช้หลายๆเทคนิคจากยุคสมัย 70s อาทิ ซูมเข้า-ออก และการจัดแสงไม่เน้นโทนสีเฉพาะหรือเฉดฉูดฉาด แต่เพื่อมอบสัมผัสอันเย็นยะเยือก (ของยุคสมัยสงครามเย็น)

การค่อยๆซูมเข้าไป เปรียบได้กับสายตาของคนที่พยายามจับจ้องโฟกัสมองอะไรบางอย่าง ซึ่งทุกขณะที่พบเห็นเทคนิคนี้ในหนัง มันก็ราวกับว่ามีใครสักคน (แม่มด/ผี) กำลังเพ่งพินิจ แอบด้อม ให้ความสนใจสิ่งของ/ตัวละครที่กำลังซูมเข้าไป

บทเล็กๆของ Chloë Grace Moretz ดูคลุ้มคลั่ง กำลังใกล้สูญเสียสติสัมปชัญญะ ปล่อยเส้นผมโชกๆให้ปกคลุมบดบังใบหน้าตลอดการสนทนากับ Dr. Josef Klemperer [แบบเดียวกับตอน Let Me In (2010)], เชื่อว่าใครเคยรับชมต้นฉบับ Suspiria คงกำลังจินตนาการว่าเธอจะตายยังไง ปรากฎว่า … เก็บเอาความอัดอั้นคับข้องใจ ไปพบเห็นอีกทีก็ช่วงพิธีกรรมองก์ 6 โน่นเลย

แทนที่จะออกแบบตึก TANZ ของ Markos Dance Academy ให้เป็นแนว Gothic ผสม German Expressionist แบบต้นฉบับ Suspiria แปรสภาพตึกร้าง The Grand Hotel Campo dei Fiori, Varese, ประเทศอิตาลี (ก่อสร้างเมื่อปี 1912) ในสไตล์ Liberty ที่ดูเก่าเครอะ สะท้อนสภาพทรุดโทรมอันเป็นผลสืบเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่สอง ตามต่อเนื่องมาถึงสงครามเย็น

ลักษณะภายในตึกชั้นล่าง มีเพดานสูงใหญ่ (สะท้อนความมักใหญ่ใฝ่สูง ทะเยอทะยานของสาวๆกลุ่มนี้) ทาสีผนังกำแพงนกเป็ดน้ำ (Teal) และพื้นมักปูด้วยไม้เรียงทรงเรขาคณิต (มีรากฐานที่มั่นคง หยั่งรากลึกแน่น)

เกร็ด: แม้ว่าโรงแรมร้างแห่งนี้จะอยู่ค่อนข้างห่างไกลชุมชน น้ำไฟยังคงใช้งานได้ปกติ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาให้ทีมงานคือเสาสัญญาณโทรศัพท์บนดาดฟ้า ส่งคลื่นเสียงและกระแสไฟรั่วรบกวนสมาธิทำงานอย่างยิ่งยวด

ห้องซ้อมเต้นที่เต็มไปด้วยกระจกติดเรียงต่อๆกัน เป็นการสะท้อนอัตลักษณ์ตัวตนของมนุษย์/แม่มด/นักแสดง/นักเต้น ว่าสามารถพบเห็นเปลี่ยนแปลง’รูป’ได้ไม่รู้จักจบสิ้น สวมใส่หน้ากากหลายสิบร้อยซ้อนกัน จนแทบไม่มีวันมองเห็นตัวตนแท้จริง หลบอยู่ตรงไหนกัน??

ความโชคร้ายของ Olga ไม่ใช่เพราะเธอล่วงรู้ว่าสถาบันแห่งนี้คือรังแม่มด (ตอนนั้นแค่พูดในเชิงประชดเสียดสี) แต่ยินยอมรับไม่ได้กับการสูญหายตัวไปอย่างลึกลับไร้ร่องลอยของเพื่อนสนิท Patricia ปฏิเสธในการเป็นนักเต้นตัวตายตัวแทน ผลลัพท์ของการซื่อตรงต่อจิตใจตนเอง เลยถูกทำให้บูดบิดเบี้ยว หักงอแขนขา ซวยสนิทเพราะยังไม่ตาย ทุกข์ทรมานรวดร้าวแทบขาดใจ ฆ่ากันให้ตายเสียยังดีกว่า

ประตูลับที่หลบซ่อนเร้นอยู่หลังกระจก [ในต้นฉบับ Suspiria ก็มีเหมือนกัน แต่อยู่ในห้องของครูใหญ่] ก็ย่อมสะท้อนถึงตัวตนแท้จริง สิ่งปรากฎอยู่ภายใต้หน้ากากครูสอนบัลเล่ต์ สถาบัน Markos Dance Academy

อีกห้องซ้อมหนึ่งบานกระจกมีน้อยกว่า พื้นปูด้วยไม้ลวดลายทรงเรขาคณิต บางสิ่งอย่างหลบซ่อนเร้นอยู่ภายใต้

แซว: ฉากนี้คงเป็น Tilda Swinton ถือกล้องเองเลย ไม่ได้ต้องใช้เทคนิคอะไรเข้าช่วย และภายในดวงตาของ Johnson ยังพบเห็นดวงไฟส่องสว่าง

ในบรรดา Montage ร้อยเรียงภาพฝันร้ายของ Susie นี่เป็นช็อตน่าพิศวงงงงวยสุดๆแล้ว เธอลอยตัวเกาะผนังเช่นนี้ได้อย่างไร ซึ่งข้อสรุปในความเข้าใจของผมเอง คือสิ่งบ่งชี้ถึงความสามารถพิเศษ วินาทีที่หญิงสาวรับรู้จักตัวตนแท้จริงครั้งแรกๆ ว่าฉันเป็น …

สิ่งที่ Dr. Josef Klemperer ออกติดตามหามีทั้งหมดสามสิ่ง
– Patricia Hingle ที่สูญหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย
– Anke Meier ภรรยาผู้ล่วงลับ
– และความสุขแห่งชีวิต หมดสิ้นไปตั้งแต่รับรู้ความจริงแห่งสงครามโลกครั้งที่สอง

การหายตัวไปของ Patricia กระตุ้นความทรงจำของเขาเกี่ยวภรรยา Anke ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งความบังเอิญได้พบเจอภรรยา แม้นั่นจะเป็นเพียงภาพหลอน/วิญญาณปีศาจ ชักจูงนำพาลงขุมนรก นั่นก็อาจเพียงพอแล้วให้เขารู้สึกเป็นสุขใจ หลงลืมความทุกข์ยากในปัจจุบัน ชีวิตไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่านี้

การกระทำของ Susie เพื่อลบเลือนอดีตให้กับ Dr. Klemperer สะท้อนความเพ้อฝันของชาวเยอรมันรุ่นใหม่ (หลังสงครามโลกสิ้นสุด) เลือกได้ฉันคงไม่มาเกิดเป็นลูกหลานเผ่าพันธุ์นาซี มีบรรพบุรุษเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนตายนับไม่ถ้วน … จริงๆแล้วทุกประเทศชาติบนโลกล้วนมีสงครามขัดแย้ง ต่อสู้แก่งแย่งชิงดินแดน ผ่านประวัติศาสตร์ด้านมืดลักษณะนี้มานับครั้งไม่ถ้วน แต่กาลเวลาทำให้ผู้คนค่อยๆหลงลืมเลือนไปเองมากกว่า แค่ว่า WW2 ถือว่าใกล้ปัจจุบันอยู่มากไม่ถึงร้อยปี มันเลยยังคงได้รับการพูดถึงกล่าวขานอยู่อีกนานหลายทศวรรษ

ตลกที่ต้นฉบับ Suspiria (1977) ดำเนินเรื่องในสถาบันสอนเต้นรำ แต่กลับแทบไม่มี Dance Sequence พบเห็นมากสุดแค่นางเอกกำลังโยกไปโยกมา แล้วเป็นลมล้มพับหมดเรี่ยวแรงและสติ ด้วยเหตุนี้ฉบับสร้างใหม่ Suspiria (2018) จำเป็นมากๆต้องใส่การเต้นมาอย่างสุดเหวี่ยงเต็มพิกัด

ออกแบบท่าเต้นโดย Damien Jalet สัญชาติ Belgo-French ที่ Guadagnino ประทับใจจากการเห็นผลงาน Les Médusées ที่ Louvre Museum ซึ่งบังเอิญว่าการเต้นชุดนี้ Jalet บอกได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ Suspiria (1977) พอดิบพอดี

“We wanted to go from something pretty technical, mathematical, with a certain sense of elegance to something where the body becomes wilder and more and more distorted. The scene described something very chaotic, but I felt we needed to create something still very ritualized”.

– Damien Jalet

ส่วนผสมที่ออกมาประกอบด้วย การเต้นด้วยลีลา German Expressionist, Shadowed Choreographer, Indonesian Dance, อิทธิพลจากนักเต้นชื่อดัง Pina Bausch (เจ้าของวลี I’m not interested in how people move, but what moves them.), Isadora Duncan, Sasha Waltz ฯ

นักแสดงที่เข้าฉากนี้ล้วนเป็นนักเต้นมืออาชีพ เว้นเพียง Dakota Johnson กับ Mia Goth (รับบท Sara Simms) ต้องตระเตรียมตัวฝึกซักซ้อมอยู่เป็นปีๆ ไม่ใช่แค่เต้นบัลเล่ต์ แต่ยังผสมผสานกับ Contemporary Dance ให้เรียนรู้จักความหลากหลาย ก่อนสามารถออกท่วงท่าลีลา ตามการออกแบบของ Jalet ได้อย่างสุดเหวี่ยง

สำหรับการออกแบบชุดเชือกสีแดง รับแรงบันดาลใจจากผลงานชุดการแสดงของ Pina Bausch เรื่อง Viktor (1986) ที่ใช้เชือกเป็นอุปกรณ์หลักสำหรับเล่นลีลาท่วงท่า ในการตีความบางว่าคือสัญลักษณ์ของ Fetishistic (Fetish-Style) แทนการผูกมัด/พันธการยึดติด ซึ่งเป้าหมายของการเต้นบทเพลง Volk กระโดดให้สูงที่สุด หลุดพ้นจากแรงดึงดูดโน้มถ่วง ณ เทือกเขาสูงสิ่งที่พบเจอจักคือความว่างเปล่า ไร้ซึ่งวิญญาณตัวตนเอก (และวินาทีนั้น จิตของ Mother Markos จักสามารถพุ่งเข้าสิงสถิตย์ร่างใหม่ได้)

เพราะความที่หนังปกปิดความลับเกี่ยวกับ Mater Suspiriorum ทำให้ใครๆมองการเต้นนอกคิวของ Susie ไม่น่าให้อภัยอย่างรุนแรง (จนต้องมีรอบซ่อมวันถัดมา) แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้รับการเปิดเผย นี่จึงเป็นการจงใจเต้นนอกท่วงท่า ข้ออ้างไม่ได้ต้องการเป็นร่างสิงสถิตย์ของ Mother Markos ต้องการยื้อเวลาออกไปอีกสักพัก เพื่อครุ่นคิดพิจารณาบางสิ่งอย่าง

Last Supper ของคณะครู Markos Dance Academy ก่อนที่กว่าครึ่งจะถูก Thanos สำเร็จโทษ แทบทุกคนมีความสนุกสนานครึกครื้นเครงหรรษา เพียงสองคนเท่านั้นละฝั่งหัวโต๊ะ จับจ้องมองตาเขม็งเคร่งเครียด ฉันจะเอายังไงกับเธอดี? มองว่าเป็นสิ่งที่ทั้งสองกำลังครุ่นคิดต่อกันและกันได้เลยนะ
– Madame Blanc เกิดความลังเลใจสุดๆ ไม่อยากให้ลูกศิษย์เอกของตนเองต้องกลายเป็นที่สิงสถิตย์วิญญาณของ Mother Markos
– Mater Suspiriorum กำลังครุ่นคิดพิจารณา Madame Blanc ว่าคือบุคคลผู้เป็นดั่งที่ตนเข้าใจหรือเปล่า จะไว้ชีวิตเธอดีไหม คนอื่นๆช่างหัวมันเถอะ ไม่ได้มีความสลักสำคัญใดๆ

ชุดสีดำของ Susie มีความคล้ายคลึงลวดลายผนังกำแพง ประตูทางเข้าห้องลับในต้นฉบับ Suspiria (1977) ซึ่งนี่คงเป็นการสื่อความหมายให้กับตัวละครนี้ บ่งบอกเป็นนัยว่าแท้จริงแล้วฉันคือ … ซึ่งก็จะได้รับการเปิดเผยในอีกไม่กี่ช็อตฉากต่อจากนี้

ฉากนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า ‘Sabbath Scene’ วันอาทิตย์ที่พระผู้เป็นเจ้าให้ฝูงแกะของพระองค์พักผ่อน ไปโบสถ์ฟังธรรมเสร็จสิ้นกลับบ้านห้ามทำงาน นั่นจึงเป็นเหตุให้ซาตานสามารถลูกขึ้นมาหายใจได้ชั่วขณะหนึ่ง

เพราะผมเพิ่งดูหนังได้เพียงครั้งเดียว พอถึงฉากนี้เกิดอาการมึนตึบ ทุกอย่างมันหมุนติ้วๆ สร้างความปั่นป่วนให้เกิดขึ้นภายใน ราวกับถูกสะกดจิตจนไม่ทันสังเกตเห็นอะไรหลายๆอย่าง แต่เท่าที่จับใจความได้ประกอบด้วย
– สังเกตว่า Madame Blanc กับ Mother Helena Markos อยู่คนละฝั่งด้านซ้าย-ขวา และ Dr. Josef Klemperer ร่วมกับอีกสามสาวผู้โชคร้ายอยู่ตรงปรัมพิธีกึ่งกลางห้อง แสงไฟสองจากโคมซ้ายขวา ว่าไปเหมือนดวงตา และภาพช็อตนี้เหมือนใบหน้าอะไรซักอย่าง (ซาตาน?)
– นักแสดงโป๊เปลือยกาย เพื่อสะท้อนความนอกรีต ไร้ยางอายของแม่มด/คนนอกศาสนา, อีกนัยยะหนึ่งคือ การเปิดเผยตัวตนแท้จริง (ห้องนี้ไม่มีกระจกสักบาน รอบข้างมืดมิดสนิท)
– เรือนร่างอันแก่หง่อม บูดบวมเหมือนเนื้องอกของ Mother Helena Markos สะท้อนความเป็นส่วนเกิน โรคร้าย ภัยพิบัติ และการแทนด้วย Ego ทำทุกอย่างเพื่อสนองตัวตนเอง เดรัจฉานเช่นนี้ เลยมีความอัปลักษณ์พิศดารไม่น่าดูชม
– Madame Blanc ไม่ยอมโป๊เปลือยตนเอง สวมชุดสีแดงเลือด หวีผมเรียบ สะท้อนความศิวิไลซ์ มีอารยธรรมมนุษย์ SuperEgo จิตใจสูงส่งกว่า ยินยอมมอบทางเลือกให้ Susie หวังว่าเธอจะยินยอมเปลี่ยนใจ
– เปิดอกควักหัวใจ สัญลักษณ์ของการมอบจิตวิญญาณ ทุ่มเทกายใจทุกสิ่งอย่างมอบให้กับพิธีกรรมนี้ เพื่อสานต่อหลักการ อุดมการณ์ ความคิด ไปสู่อนาคตที่สดใส (แทบจะความหมายเดียวกับ mother! เลยนะ)
– ทำไมสามสาว Patricia, Olga, Sara ถึงขอยอมตายดีกว่าทุกข์ทรมานหรือเกินใหม่? คงเพราะทนยินยอมรับสิ่งที่พบเห็น ความคลุ้มบ้าคลั่งนี้ไม่ได้ ชีวิตที่ถูกทรมานทรกรรมเช่นนี้ ไม่มีทางก้าวข้ามผ่านปม Trauma ไปได้อย่างแน่นอน
– การเต้นที่เอาแต่หมุนๆๆ แทนด้วยวัฏจักรชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนกับไป หยุดไม่ได้ นิ่งเมื่อไหร่คือตาย (นัยยความหมายสุดคลาสสิก)

นัยยะของทั้ง Sequence นี้ มองสะท้อนได้กับเหตุการณ์ Holocaust, สงครามโลกครั้งที่สอง หรือแม้แต่ผลลัพท์ของเหตุการณ์ German Autumn (ความพ่ายแพ้ของกลุ่มผู้ก่อการร้าย) กล่าวคือ เมื่อเกิดความขัดแย้งไม่ลงรอยระหว่างสองฝั่งฝ่ายทางหลักการ โลกทัศนคติ ซ้าย-ขวา ประชาธิบไตย-คอมมิวนิสต์ วิธีการง่ายสุดที่สามารถใช้จัดการ คืนความสุขสู่มวลมหาชน นั่นคือฝั่งไหนใครมีอำนาจเหนือกว่า ก็จัดการเข่นฆ่าทำลายล้างเผ่าพันธุ์ของอีกฝั่งฝ่ายให้หมดสูญสิ้น เมื่อใดไร้ผู้ต่อต้านเห็นต่าง โลกใบนี้คงจักสงบสุขได้อีกครา

ตัดต่อโดย Walter Fasano ขาประจำของ Guadagnino ร่วมงานกันตั้งแต่ I Am Love (2009), หนังแบ่งออกเป็น 6 องก์+Epilogue ประกอบด้วย

องก์ 1: 1977, นำเสนอการมาถึงของสามตัวละครหลัก
– Patricia Hingle มาหาจิตแพทย์ Dr. Josef Klemperer เล่าให้ฟังถึงความเชื่อ/โลกทัศนคติของตนเองต่อสถาบัน Markos Dance Academy
– Susie Bannion เดินทางมาถึง Markos Dance Academy เข้าทดสอบความสามารถ ผ่านฉลุย
– Sara Simmons เพื่อนร่วมชั้นได้รับมอบหมายให้ช่วยเหลือ Susie ขนย้ายข้าวของออกจากโรงแรม ประจวบกับข่าวในโทรทัศน์ เหตุการณ์จี้เครื่องบิน Lufthansa Flight 181 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม

องก์ 2: Palaces of Tears, วันแรกในสถาบัน Markos Dance Academy ของ Susie ตั้งแต่เช้าจรดเย็นยันค่ำคืน ทั้งเบื้องหน้า-เบื้องหลัง
– เริ่มต้นที่ในห้องครัว ครูผู้สอนทั้งหลายกำลังโหวตหาผู้นำสถาบันคนใหม่ ได้ข้อสรุปเป็น Helena Markos ชนะไปสามเสียง และนโยบายของเธอคือให้กระทำพิธีกรรมต่อไป สั่งให้ Miss Tanner และ Madame Blanc ค้นหาความเป็นไปได้ระหว่าง Sara หรือ Susie
– ในห้องเรียน Madame Blanc แนะนำ Susie ให้เพื่อนร่วมชั้น ส่งไม้ต่อการเต้นจาก Patricia ให้กับ Olga ปฏิเสธเสียงขันแข็งไม่ยอมซ้อมทำให้ต้องหาอาสาสมัครเต้นนำคนใหม่ กลายเป็น Susie เด็กใหม่ ขันอาสา
– ตัดสลับไปมาระหว่างการเต้นของ Susie ส่งไปถึงร่างของ Olga ให้เกิดการบิดเบี้ยวผิดรูปร่าง แต่ไม่ยักกะเสียชีวิต ต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัสจนร่ำน้ำตาออกมาเพราะไม่ยอมทำตามคำสั่งของคนอื่นๆ
– Dr. Klemperer กำลังอ่านบันทึกของ Patricia บรรยายถึงทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับ Three Mother
– ร่างของ Olga ถูกบรรดาครูใช้เคียวเกี่ยวแขนขา อุ้มออกจากห้อง
– จบที่ในค่ำคืนแห่งความฝัน Susie ร้อยเรียงภาพความทรงจำจากอดีต

องก์ 3: Borrowing, วันถัดๆมาในสถาบัน Markos Dance Academy
– Sara ขอให้ Susie ช่วยเหลือในการแอบเข้าในห้องพักครู เพื่อค้นหาเบอร์โทรศัพท์ติดต่อของเพื่อนๆนักเต้นที่หายตัวไป แต่ไม่ค้นพบทั้งของ Patricia และ Olga ระหว่างนั้น Susie แอบหยิบลิปสติกยืมไปใช้ และพบเห็นครูทั้งหลายกำลังสะกดจิตนายตำรวจสองคน
– Madame Blanc ซักซ้อมท่าเต้นชื่อ Open Again ดึงดูดพลังจากพื้นดินสู่เบื้องบน โดยไม่รู้ตัว Susie สัมผัสได้ถึงพลังของ Markos ที่อยู่เบื้องล่าง โหยหาต้องการหยิบยืมเรือนร่างของเธอ
– Madame Blanc ส่งฝันร้ายให้ Susie กรีดร้องดังลั่นจนทุกคนสะดุ้งตื่น ทำให้ Sara ร่วมหลับนอนเตียงเดียวกับเธอ

องก์ 4: Taking, เมื่อ Sara กำลังได้รับล่วงรู้ความจริงของสถาบันแห่งนี้
– Dr. Klemperer เดินทางไปหาตำรวจเพื่อสอบถามคดีแต่ไม่คืบหน้า ออกเดินทางสู่ East Berlin หวนกลับไปทำความสะอาดบ้านเก่า คาดหวังว่าภรรยาจะสามารถเดินทางกลับมาได้ถูก (ถ้าเธอยังไม่เสียชีวิต)
– การซักซ้อมถัดมา Madame Blanc สอนให้ Susie กระโดดสูงแต่เธอไม่อยากทำ Caroline เลยถูกขอให้กลายเป็นแบบ ซึ่งหลังจากเลิกเรียน ทำให้หญิงสาวล้มลงไปชักดิ้นชักงอ (คงถูก Markos ดูดพลังวิญญาณไปไม่น้อย)
– Dr. Klemperer เดินทางมาดักรอ Sara ถึงหน้าสถาบัน พาเธอไปรับประทานขนมหวาน พูดคุยเล่าสิ่งที่ Patricia บอกกล่าว แต่เธอปฏิเสธไม่ยินยอมเชื่อ
– Susie ได้รับการสอนพิเศษตัวต่อตัวกับ Madame Blanc จนสามารถกระโดดสูง
– ค่ำคืนนั้น ครูแว่น Miss Griffith ฆ่าตัวตายแบบไม่รู้อีโน่อีเน่ ปลุก Sara ให้ตื่นขึ้นมา นับก้าวเท้าออกสำรวจค้นพบเจอทางลับ เห็นของเก่าโบราณ ภาพวาดของ Madame Blanc กับ Helena Markos รวมถึงพิธีกรรมบางอย่าง
– เช้าวันถัดมาเธอรีบหวนกลับไปหา Dr. Klemperer พร้อมกับเคียวเงินที่หยิบยืนขโมยมา เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงต่างๆที่เกิดขึ้น ขณะกำลังกลับพบเห็นเหมือนอาจารย์คนหนึ่งกำลังจับจ้องมองเธอ
– ความฝันในความทรงจำของ Susie แม่ของเธอกำลังจะเสียชีวิต ไหว้วอนร้องขอให้อภัยตนที่ได้ถือกำเนิดลูกสาวคนนี้

องก์ 5: In the Mutterhaus (All the floor are darkness), การแสดง Volk และนัยยะความหมายของมัน
– Dr. Klemperer เดินทางมาถึง Markos Dance Academy เพื่อรับชมการแสดง Volk
– การเต้น Volk ตัดสลับกับ Sara ค้นพบความจริงที่ชั้นใต้ดิน
– ภายพลังการเต้น Madame Blanc ต่อว่า Susie ที่เต้นผิดพลาดระหว่างการแสดง และตัดสินใจไม่ส่งฝันร้ายให้เธออีกต่อไป

องก์ 6: Suspiriorum, เสียงโหยหวนครวญคราง
– รับประทานอาหารมื้อเย็น (Last Supper) Madame Blanc กับ Susie นั่งอยู่ฝั่งตรงข้าม จับจ้องมองตาแทบไม่กระพริบ
– Dr. Klemperer โยนฮุคเงินทิ้งแม่น้ำ ขณะเดินทางกลับบ้านที่ East Berlin พบเจอภรรยาผู้สูญหายไปกว่า 35 ปี พวกเขาพากันสนทนา ออกเดินไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัวมาถึงสถาบัน Markos Dance Academy แล้วโดนฉุดกระชากเข้าไปข้างใน
– พิธีกรรมแม่มด เปิดเผยความจริงทั้งหมด
– Dr. Klemperer ได้รับการปลดปล่อยตัวกลับบ้าน

Epilogue: A Sliced-up Pear, ส่วนแบ่งของความจริง
– เก็บกวาดทำความสะอาด Madame Blanc เหมือนจะยังคงมีชีวิตอยู่
– Susie ไปเยี่ยมบ้าน Dr. Klemperer ขณะกำลังจะกินลูกแพร์ที่พยาบาลหั่นไว้ พูดขออภัยทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้น เล่าความจริงอันน่าเศร้าเกี่ยวกับภรรยาของเขา จากนั้นลบความทรงจำที่เกี่ยวกับผู้หญิงทั้งหมด

Sequence ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากสุด คงหนีไม่พ้นตัดสลับไปมาระหว่างการเต้นของ Susie ส่งผลกระทบไปถึงร่างของ Olga (ขยับเขยื้อนเหมือนตุ๊กตาวูดู) ทุกท่วงท่าลีลาสะบัดอย่างเต็มเหนี่ยวสุดแรงเหวี่ยงเห็นถึงโครงกระดูก คนทั่วไปย่อมไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวระดับดังกล่าวได้แน่

ฝันร้ายของ Susie พบเห็นอยู่สองสามครั้ง มีหน้าที่ค่อยๆเปิดเผยบางสิ่งอย่างจากอดีตของเธอ ซึ่งมักเป็นการเรียงร้อยภาพ Montage ตัดต่อฉับไวเสียจนแทบประติดประต่ออะไรไม่ได้เท่าไหร่

เพลงประกอบโดย Thom Yorke นักร้องนำ-แต่งเพลงประจำวง Radiohead หลงใหลแนว Alternative, Electronic และ Experimental Rock เพราะความไม่เคยทำเพลงประกอบภาพยนตร์มาก่อน (แต่เพื่อนๆในกลุ่มอย่าง Jonny Greenwood กลายเป็นขาประจำของ Paul Thomas Anderson, หรืออย่าง Phil Selway ก็เป็นนักดนตรีให้หนังหลายๆเรื่อง) เมื่อได้รับคำชักชวนทีแรกบอกปัดปฏิเสธ ถูกตามตื้อจนเดือนหนึ่งให้หลังเลยยอมตอบตกลง

หนึ่งในตำนานของต้นฉบับ Suspiria (1977) คือบทเพลงของ Goblin ที่ตราติดหูใครหลายๆคน (ผมเองด้วย) ผู้เคยชมคงต้องล้างสมองกันเลยละ อย่าไปคาดหวังได้ยินอะไรที่ตื่นตระการติดหูขนาดนั้น แล้วจะรู้สึกพึงพอใจกับผลงานของ Yorke อย่างสุดๆเลย ประกอบทั้งบทเพลงขับร้อง และแนวทดลองที่สามารถสะกดจิตผู้ชมให้หมุนติ้วๆๆไปกับภาพที่พบเห็น

“There’s a way of repeating in music that can hypnotize. I kept thinking to myself that it’s a form of making spells. So when I was working in my studio I was making spells. I know it sounds really stupid, but that’s how I was thinking about it”.

– Thom Yorke

บทเพลง Suspirium มีเพียงเปียโนกับเสียงร้องอันครางครวญของ Yorke และช่วงท้ายฟลุตดังขึ้นมาประสานสำเนียง, ใจความเป็นการตั้งคำถามกับชีวิต อะไรคือจุดสิ้นสุด หนทางรอดพ้นจากหายนะทั้งปวง

This is a waltz thinking about our bodies. What they mean for our salvation ??

Masterpiece ของเพลงประกอบคือ Volk ได้ยินอยู่เรื่อยๆ แต่โดดเด่นเต็มเพลงสองครั้งคือ ขณะการแสดง (องก์ 5) และพิธีกรรม (องก์ 6), เสียงออร์แกนอันกึกก้องกังวานราวกับก้อนเมฆดำทะมึน กำลังค่อยๆคืบเคลื่อนคลานเข้ามาปกคลุมบิดบังแสงสว่าง เวียนวนซ้ำ ดัง-เบา สลับซ้ำไปมาจนหูเริ่มชินชา สะกดจิตตระเตรียมพร้อมผู้ชมให้ตกอยู่ในภวังค์อันหลอกหลอน แล้วอยู่ดีๆเสียงฉาบดังขึ้น กรีดกรายด้วยสัมผัสของเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ สร้างความปั่นป่วนคลุ้มคลั่ง หวนกลับมาออร์แกนเวียนวนไปมาอีกครั้ง และจากนั้นอะไรไม่รู้ก็จักถามโถมเข้าใส่ (อารมณ์ประมาณ Blade Runner) เผชิญหน้าตราตะลึงกับความจริง หมุนติ้วๆจนวิงเวียน หัวใจสั่นเต้นระริกรัว การตัดต่อรวดเร็วฉับไว และภาพที่เห็นมันอาจทำให้ลมหายใจจุกแน่นอยู่ตรงคอหอย

Suspiria ภาษาอิตาลี แปลว่า เสียงครวญคราง, ทอดถอนหายใจ สามารถเทียบแทนได้ถึง
– เสียงร้องของหญิงสาวผู้ถูกจับมาทรมาน ร่างกายบิดเบี้ยว โดนตัดแขนขาไปไหนไม่ได้ ต้องคอยเป็นข้าทาสรับใช้ Mother Helena Markos
– เสียงร้องความพ่ายแพ้ของกลุ่มผู้ก่อการร้าย ถูกยิงตายไปหลายศพ ในเหตุการณ์ German Autumn
– เสียงร้องของชาวยิว ที่ถูกเหล่านาซี กวาดต้อนใส่เตาเผา รมควันฆ่าให้ตายทั้งเป็น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ชาวเยอรมันเป็นชนชาติที่น่าสงสารอย่างยิ่งยวด ส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนรับรู้เห็นเกี่ยวพันอะไรกับการกระทำอันโหดโฉดชั่วร้ายของนาซี แต่ถูกเหมารวมไปหมดว่าคือฆาตกรเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ให้ลองครุ่นคิดตามดูสิว่า
– ชาวเยอรมันที่สามารถดิ้นรนเอาตัวรอดผ่านช่วงเวลานั้นมา จะมีความรู้สึกนึกคิดเช่นไรกับความชั่วร้ายตกต่ำทรามของชนชาติตนเอง
– คนรุ่นใหม่ถัดจากนั้น เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้นอายุมากเพียงพอรับรู้ข้อเท็จจริงของบรรพบุรุษ จะรู้สึกกับตนเอง ครอบครัว ประเทศชาติเช่นไร

มันแน่นอนอยู่แล้วว่าต้องมีทั้งคนรับได้-รับไม่ได้ แยกแยะออกเป็นสองฝั่งฝ่ายอย่างชัดเจน นี่เหมารวมถึงอุดมการณ์ ระบอบการปกครอง อันเป็นชนวนเหตุให้เกิดการสร้างกำแพงเบอร์ลิน แบ่งเยอรมันออกเป็น West Germany และ East Germany กระนั้นการแบ่งดินแดนก็หาได้สะท้อนถึงตัวตนของคน เพราะบางทีผู้เชื่อในประชาธิปไตย กลับมีบ้านอยู่ฝั่ง East Germany ที่ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ แล้วเช่นนี้จะยังไงกันละเนี่ย!

เกร็ด:
– ในเยอรมนีตะวันออก กำแพงเบอร์ลิน คือแนวเขตแดนที่เป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านทุนนิยม ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการคือ ‘แนวป้องกันการต่อต้านฟาสซิตส์’
– แต่สำหรับโลกเสรี มันคือ สัญลักษณ์ความขัดแย้งระหว่างระบบทุนนิยมของยุโรปตะวันตก ภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา กับระบบคอมมิวนิสต์ของยุโรปตะวันออก ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต หรือที่เรียกกันว่า สงครามเย็น

คำตอบ/ทัศนะของผู้กำกับ Luca Guadagnino สะท้อนออกมากับภาพยนตร์เรื่องนี้ คือสองฝ่ายไม่มีทางอยู่ร่วมกันได้ จำต้องเกิดเหตุการณ์เข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ให้อีกฝั่งดับสิ้นสูญไป แล้วบุคคลที่เหลือจึงค่อยเรียนรู้อาศัยอยู่ร่วมกับมัน ถ้าทนไม่ได้ก็ไปตายซะ!

นี่สะท้อนเข้ากับ #MeToo Movement และประเด็น Feminist ที่ตัวละครแทบทั้งหมด (ยกเว้นตำรวจสองคน) ล้วนเป็นผู้หญิง ตั้งคำถามสอดไส้ให้ผู้ชายที่ยังวางตัวตนเองเป็นใหญ่ในสังคม ชื่นชอบกดขี่ข่มเหงอิสตรีเพศ ปฏิเสธให้สิทธิเสมอภาคเท่าเทียม เพราะความจริงกำลังได้รับการเปิดโปงเผยออก เหมือนการไล่ล่าแม่มดจับเผาฆ่าให้ตายทั้งเป็น นี่ทำให้บุรุษทั้งหลายต้องเรียนรู้ที่จักยินยอมรับ อาศัยอยู่ร่วมกัน ถ้าทนไม่ได้ก็ไปตายซะ! แค่นั้นเอง

เมื่อศิลปะภาพยนตร์ก้าวมาถึงจุดสูงสุด High Art มันไม่ใช่เรื่องของถูก-ผิด เหมาะสม-ไม่เหมาะสม ควรค่า-ไม่ควรค่า รับได้-ไม่ได้ แต่คือศักยภาพของคนในการครุ่นคิดวิเคราะห์ตีความ แต่ก่อนผมก็เคยมีอคติตั้งคำถาม เพื่ออะไร? คำตอบที่ปัจจุบันครุ่นคิดได้ คือการกระโดดสูงสู่บรรทัดฐานใหม่ จนสามารถเป็นพื้นรากฐาน/แรงบันดาลใจสำหรับคนรุ่นต่อไป นี่ถือเป็นใจความหนึ่งของหนังด้วยนะ

แม้สุดท้ายมันจะมาลงเอยที่ชอบไม่ชอบซึ่งเป็นเรื่องของ ‘รสนิยม’ โดยส่วนตัวรู้สึกโอเคกับหนังมากๆ หมุนติ้วๆราวกับถูกสะกดจิต ตัดอคติออกไปที่เหลือคือความชื่นชอบ ซับซ้อนเรื่องราว เย็นยะเยือกบรรยากาศ บ้าคลั่งตัดต่อ ฉีดยาชาเพลงประกอบ หายใจไม่ออกคือความสมบูรณ์แบบ

น่าเสียดายที่หนังเรื่องนี้คงได้รับการปฏิบัติเหมือน mother! (2017) ถูกสังคมเฉดส่งมองข้าม แบ่งฝั่งฝ่ายออกเป็นสองพวก (เหมือนเรื่องราวในหนังเปี๊ยบๆ) กาลเวลาเท่านั้นถึงจะสะท้อนคุณค่าของงานศิลปะชั้นสูง เข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์พวกเห็นต่าง มุ่งสู่โลกใบใหม่ที่ก็ไม่รู้คือสรวงสวรรค์หรือขุมนรก

ผมไปอ่านเจอคำวิจารณ์หนึ่งของ Anthony Lane จาก The New Yorker การได้มีโอกาสรับชมหนังครั้งที่สอง ทำให้มุมมองโลกทัศน์ของเขาเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ไม่ใช่ความขยะแขยง หวาดสะพรึง แต่กลับกลายเป็นความเศร้าสลด

“The first time I saw Guadagnino’s Suspiria, I came out pretty much covered in gore, and confounded by the surfeit of stories. Can a splash be so big that it drowns the senses? How does such a film cohere? The second time around, I followed the flow, and found that what it led to was not terror, or disgust, but an unexpected sadness”.

ในโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง เมื่อไหร่ที่ฝั่งฝ่ายหนึ่งใดมีพละพลังอำนาจทำลายล้างสูงกว่า (อาทิ สหรัฐอเมริกาส่งระเบิดนิวเคลียร์ถล่มญี่ปุ่น) ย่อมสามารถถืออภิสิทธิ์ชนกำหนดควบคุมชี้ชะตากรรมผู้แพ้ ขณะเดียวกันถ้ามองในมุมของอีกฝั่งฝ่าย นั่นคือเหตุการณ์โศกนาฎกรรม ถ้ายังหลงเหลือลมหายใจ ก็ต้องเรียนรู้จักมีชีวิตอยู่ร่วมกับมัน

Guadagnino ครุ่นคิดถึงภาคต่อไว้แล้ว มีทั้ง Sequel เรื่องราวของ Madame Blanc, Helena Markos, Susie Bannion และยังจะ Prequel ภาคต้นวัยยังสาวของ Madame Blanc แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับมูลค่าทำเงินซึ่งผมว่าคงไม่น่าได้เยอะเท่าไหร่ เว้นเสียแต่ดัชนีชี้วัดผลของ Amazon Studios อาจจะคล้ายๆ Netflix คือเน้นปริมาณผู้ชมใน Platform ของตนเองมากกว่า นั่นคงเป็นเรื่องอนาคตค่อยว่ากัน … ไม่รู้จะเดินตามรอย The Three Mothers ของ Argento หรือเปล่านะ กว่าจะครบสามภาคก็ลากยาวไปกว่าสามทศวรรษ

แนะนำคอหนัง Cult Horror บรรยากาศยุค 70s, เกี่ยวกับแม่มด ศาสตร์มืด เรื่องราวเหนือธรรมชาติ, ชื่นชอบการเต้นสุดเหวี่ยง Expressionist Dance, สนใจประวัติศาสตร์เยอรมันในช่วงสงครามเย็น, นักคิด นักปรัชญา วิเคราะห์ตีความงานศิลป์ High-Art, แฟนๆผู้กำกับ Luca Guadagnino และนักแสดงนำ Dakota Johnson, Tilda Swinton ไม่ควรพลาด

จัดเรต NC-17 กับความสุดโต่งเหนือเกินคำบรรยาย

TAGLINE | “Suspiria ของผู้กำกับ Luca Guadagnino คือ High-Art ที่เต็มไปด้วยแนวคิดนามธรรม ตั้งคำถามการอยู่ร่วมกันให้เกิดความสงบสุขสันติได้เช่นไร”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
6 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
0 Comment authors
Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…] ขอขอบคุณเนื้อหารีวิวหนังจาก raremeat […]

%d bloggers like this: