Swing Time (1936)
: George Stevens ♥♥♥♡
การร่วมงานครั้งที่ 6 ของคู่ขวัญพระนาง Fred Astaire กับ Ginger Rogers ในการเต้น Swing ที่มีความหลากหลาย ตื่นเต้น เร้าใจ จนได้รับยกย่องว่าเป็นการเต้นสมบูรณ์แบบที่สุดของทั้งคู่
Fred Astaire กับ Ginger Rogers ร่วมงานกันทั้งหมด 10 ครั้ง ได้รับการยกย่องว่าเป็นคู่ขวัญพระนางที่ยิ่งใหญ่สุดในยุคหนังเพลง, ผมเคยรับชมหนังของทั้งคู่มาประมาณ 3-4 เรื่อง ถึงจะไม่ใช่ทั้งหมดแต่ก็รู้สึกคล้ายๆกับนักวิจารณ์ที่ยกย่องว่า Swing Time น่าจะคือเรื่องที่ทั้งสองเต้นเข้าขา ประชันกันได้สวยงาม ลื่นไหล พร้อมเพรียงเป็นที่สุด
แต่เรื่องราวของหนัง … เอาว่าไม่มีอะไรน่าพูดถึงเลย คิดว่าอาจจะเลวร้ายกว่า Top Hat (1935) เสียอีก แต่หนังประเภทนี้อย่าดูเอาเนื้อเรื่องให้เสียเวลานะครับ ดูผ่านๆไปให้เห็นฉากเต้นของทั้งสองก็เพียงพอ คุ้มค่าการเสียเวลาแล้ว
ว่าไปก็คล้ายๆหนัง Action สมัยนี้ที่มี CG ล้นๆ บางเรื่องเนื้อหาเละเทะไม่เป็นสับปะรด แต่ความสวยงามของ Special/Visual Effect ตระการตราตรึงเกินหลงใหล สำหรับหลายๆคน แค่นี้ก็เพียงพอแก่ความบันเทิงเริงใจแล้ว
สร้างโดย George Stevens หนึ่งในผู้กำกับที่ประสบความสำเร็จที่สุดในยุค 50s มีผลงานดังอย่าง The More the Merrier (1943), A Place in the Sun (1951)*, Shane (1953), Giant (1956)*, The Diary of Anne Frank (1959) ทั้ง 5 เรื่องนี้เข้าชิง Oscar: Best Director ได้มา 2 รางวัล (เรื่องที่ *)
เข้าสู่วงการต้นยุค 30s เริ่มต้นจากการเป็นผู้กำกับหนังสั้นให้กับ Hal Roach Studios ต่อมา Universal จนได้เซ็นสัญญากับ RKO มีผลงานที่สร้างชื่อยุคแรกๆ อาทิ Alice Adams (1935) นำแสดงโดย Katharine Hepburn กับ Fred MacMurray, Annie Oakley (1935) นำแสดงโดย Barbara Stanwyck ฯ
สำหรับหนังเรื่องนี้ Stevens เคยให้สัมภาษณ์ถูกถามว่า มีแนวทางการกำกับ (direction) อย่างไร เขาตอบว่า ‘I simply ask myself–what would Fred Astaire have done?’ นี่ชัดเจนว่า คือหนังที่มีความเป็น Fred Astaire & Ginger Rogers มากกว่าที่จะมีลายเซ็นต์ของผู้กำกับ จึงขอยกการวิเคราะห์สไตล์ของของ Stevens ไว้ครั้งหน้านะครับ
ดัดแปลงมาจากบทหนังเรื่อง Portrait of John Garnett เขียนโดย Erwin Gelsey ที่ตั้งใจให้กลายเป็นภาพยนตร์โดยเฉพาะ ซึ่งหลังจาก RKO ซื้อลิขสิทธิ์มา ได้ทำการแก้ไขดัดแปลง เห็นว่าเคยว่าจ้าง Gelsey ให้ปรับปรุงบทภาพยนตร์ แต่ไปๆมาๆกลับไม่ได้ใช้ ในเครดิตขึ้นว่า Howard Lindsay กับ Allan Scott คือผู้เขียนบทภาพยนตร์
เรื่องราวของ John ‘Lucky’ Garnett (รับบทโดย Fred Astaire) นักพนันและนักเต้น เดินทางสู่เมือง New York เพื่อหาเงิน $25,000 ไปแต่งงานกับ Margaret (รับบทโดย Betty Furness) แต่จับพลัดจับพลูได้พบเจอ ตกหลุมรักกับนักเต้นสาวสวย Penelope ‘Penny’ Carroll (รับบทโดย Ginger Rogers) เรื่องราววุ่นๆจึงได้เกิดขึ้น
เกร็ด: ก่อนที่หนังจะชื่อ Swing Time เคยจะใช้ชื่อ I Won’t Dance, Never Gonna Dance (ที่ล้อกับฉากเต้นท้ายๆ) นอกจากนี้ยังมี Pick Yourself Up และชื่อนิยาย Portrait of John Garnet สุดท้ายลงเอยที่ Swing Time ชื่อเพลงที่ Lucky กับ Penny เต้นด้วยกัน
สำหรับคนที่ดูหนังของ Astaire & Rogers มาแล้วหลายเรื่อง น่าจะจับทางเรื่องราวของหนังได้ คล้ายกับสูตรสำเร็จ ประมาณว่า ตัวละครของ Astaire จะต้องตกหลุมรักแรกพบตัวละครของ Rogers แต่หญิงสาวจะยังไม่เกิดความประทับใจใดๆ แต่เมื่อถูกตามตื้อเรื่อยๆจนเริ่มตกหลุมรัก จากนั้นมักต้องพบกับการเข้าใจผิด เช่น คิดว่าชายหนุ่มมีภรรยา/คู่มั่นอยู่แล้ว, เป็นคนเจ้าชู้, คิดว่าเป็นคนอื่น ฯ ซึ่งตอนจบเมื่อความจริงทุกอย่างเปิดเผย คู่พระนางจึงได้ลงเอยกันอย่างมีความสุข
ถ่ายภาพโดย David Abel ทุก Sequence ของการเต้น จะถ่ายตั้งแต่หัวจรดเท้า long-take ไม่มีตัด (ตามสไตล์ของ Fred Astaire)
ตัดต่อโดย Henry Berman
เพลงประกอบโดย Jerome Kern แต่งเนื้อร้องโดย Dorothy Fields และออกแบบท่าเต้นโดย Hermes Pan
Polka: เพลง Pick Yourself Up ขับร้องและเต้นโดย Fred Astaire และ Ginger Rogers ตอนพบกันครั้งแรกในโรงเรียนสอนดนตรี, เพลงนี้มีความสนุกสนานรื่นเริง เป็นการผสมผสานระหว่าง Tap Dance กับการเต้น Polka
Quickstep: เพลง A Fine Romance ที่กระท่อมนอกเมืองขณะหิมะกำลังตก นี่เป็นอารมณ์แม่งอนของ Rogers ที่ขับร้องประชดประชันเสียดสี
Waltz & Swing: เพลง Waltz in Swing Time นี่ถือเป็นบทเพลงที่มีท่าเต้นสนุกสนาน เร้าใจ สวยงามที่สุดในหนัง เป็นส่วนผสมของดนตรีจังหวะ Waltz และ Swing ที่ปกติมักจะตรงข้ามกัน แต่กลับเข้ากันได้อย่างไม่น่าเชื่อ จุดประสงค์ของการเต้น เพื่อเฉลิมฉลองความรักของทั้งสอง ที่ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างเป็นตัวเป็นตนจับต้องได้ ลักษณะท่าทางจึงออกมาเต้นประสานพร้อมเพรียง หมุนหมุนหมุน สุขใจเป็นที่สุด, นี่ต้องชมทั้ง Astaire และ Rogers ที่สามารถเต้นเข้าขากันได้อย่างพอดิบพอดี เรียกว่า Astaire นำอะไรมา Rogers สามารถตามได้ไม่ลดละ นี่คือวินาทียิ่งใหญ่ที่สุดของคู่ขวัญ Astaire & Rogers
Foxtrot: บทเพลง The Way You Look Tonight ขับร้องโดย Fred Astaire นั่งอยู่เล่นเปียโนอยู่ด้วย ส่วน Rogers กำลังวุ่นอยู่กับการสระผมอยู่ห้องข้างๆ, นี่เป็นบทเพลงที่สร้างบรรยากาศ Nostalgic Romance มีความอ่อนหวาน ฟังแล้วรู้สึกหลงใหล กำลังตกหลุมรัก
The Way You Look Tonight ติดอันดับ 43 จัดอันดับ AFI’s 100 Years…100 Songs
African-American Tap Dancer: เพลง Bojangles of Harlem ที่ Fred Astaire ทาหน้าดำเต้น Tap Dance แล้วมีเงา 3 เงาฉายอยู่ด้านหลัง นี่เป็นการอุทิศให้กับ Bill ‘Bojangles’ Robinson นักเต้น Tab Dance ผิวสีสัญชาติอเมริกัน ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในต้นศตวรรษที่ 20, นี่เป็นการใช้เทคนิคมุมกล้องที่เหมือนว่าจะมีนักแสดงอีก 3 คนอยู่ข้างหลังฉายเงาขึ้นมา (หรืออาจจะแค่คนเดียว แล้วใช้กระจกสะท้อนเงาให้เห็นเป็น 3 คน) ซึ่งสุดท้าย ขนาดว่า เงา เต้นตามไม่ทัน Astaire จึงขอยอมแพ้
ผู้คิดถ่ายฉากนี้คือ Hermes Pan ที่ได้เข้าชิง Oscar: Best Dance Direction
Mixed Dance: เพลง Never Gonna Dance … ถึงเพลงจะชื่อ จะไม่เต้นอีก แต่ทั้งสองก็เต้นนะครับ ราวกับนี่คือบทเพลงสุดท้ายของพวกเขา, เริ่มต้นจากคำร้อง Never Gonna Dance บรรยายเหตุผลว่าทำไม จากนั้นพอเริ่มเต้น นำทำนองของเพลงต่างๆในหนัง ไล่เรียงเหมือนเพื่อทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เริ่มต้นจาก The Way You Look Tonight ที่เป็นการเต้นช้าๆ จากนั้น Waltz In Swing Time ที่เร็วๆขึ้น จากนั้นทั้งสองแยกจากกัน เดินขึ้นบันไดคนละฝั่งสู่ชั้นบน บทเพลงกลับมาที่ Never Gonna Dance อีกครั้งแต่จังหวะเร็วขึ้น หมุนหมุนหมุน Rogers ยังคงเง้างอน (หมุนคราวนี้คือไม่ยอมรับ) แต่ Astaire ก็สุดตื้อดื้อดึง จนสุดท้ายหญิงสาวเดินหนีไป ทิ้งไว้เพียงชายหนุ่มที่ไม่เหลือใคร
เพลงนี้จะสังเกตว่าไม่มีการตัดต่อเลย เป็น long-take กล้องตั้งอยู่บนเครนที่มีการเคลื่อนไหวยกขึ้นสองระดับ, ได้ยินว่าฉากนี้ถ่ายทำ 47 เทค Astaire ถึงพอใจ ทำให้ Rogers เป็นแผลระบมที่เท้าเลือดไหล แต่ก็ยังฝืนเต้นต่อจนถ่ายเสร็จ
ด้วยทุนสร้าง $886,000 เหรียญ ทำเงิน $2.618 ล้านเหรียญ ได้กำไรพอสมควรแต่ถือว่าน้อยกว่าผลงานก่อนหน้า, นี่ถือเป็นจุดขาลงในความนิยมของ Fred Astaire & Ginger Rogers ก็แน่ละเห็นคู่กันมาหลายเรื่องแล้ว จะไม่ให้ผู้ชมเริ่มเบื่อได้ยังไง
หนังได้เข้าชิง Oscar 2 สาขา ได้มา 1 รางวัล
– Best Music, Original Song เพลง The Way You Look Tonight **ได้รางวัล
– Best Dance Direction เพลง Bojangles of Harlem
ส่วนตัวแค่ชอบหนังเรื่องนี้ หลงใหลในการเต้นของ Rogers ว่าไปมากกว่า Astaire เสียอีก (คงเพราะรู้อยู่แล้วว่า Astaire เต้นเก่ง แต่เห็นว่า Rogers สู้ยิบตา) ชื่นชม ประทับใจ และเรื่องนี้เธอร้องเพลงเองด้วย สิ่งใดที่ผู้ชายทำได้ ทำไมผู้หญิงอย่างฉันถึงจะทำไม่ได้!
เกร็ด: นี่เป็นหนังเรื่องที่ Ginger Rogers ชื่นชอบที่สุดในการได้ร่วมงานกับ Fred Astaire
กับคนที่รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ไม่เห็นสนุกเลย ผมแนะนำให้สังเกตภาษาการเต้นของนักแสดงนำทั้งสองนะครับ ถือว่ามีความสากล สามารถทำความเข้าใจได้ว่าพวกเขาสื่อสารภาษากายอะไรขณะเต้น ถ้ารับรู้เข้าใจได้ ก็แปลว่า คุณเห็นความสวยงามของหนังแล้วละ
แนะนำกับคอหนังเพลง ชื่นชอบ Swing & Jazz, นักเต้น และแฟนๆของคู่ขวัญ Fred Astaire กับ Ginger Rogers
จัดเรตทั่วไป
Leave a Reply