Sword Art Online

Sword Art Online (2012-) Japanese : Tomohiko Itō ♥♥♥♥

ความเพ้อฝันของนักเล่นเกมออนไลน์ ประกอบด้วย วันๆไม่ต้องทำอะไรอื่น ใช้ชีวิตอยู่แต่ในนั้น เก่งสุดเป็นที่หนึ่ง และสาวๆติดตรึม, Sword Art Online คือเรื่องราวในอุดมคติของเด็กหนุ่ม ในโลกของเทคโนโลยีเสมือนล้ำยุค ที่ทำให้สามารถใช้ชีวิตในความเพ้อฝันนั้นได้

อนิเมะซีรีย์ Sword Art Online (SAO) เป็นเรื่องที่ผมติดตามมาตั้งแต่ครั้งแรกที่ออกฉายปี 2012 แล้วก็ติดงอมแงมตามต่อด้วย SS2 เมื่อปี 2014 ฉบับภาพยนตร์ปี 2017 (และ SS3 ที่ประกาศแล้วแต่ยังไม่รู้เมื่อไหร่) ถือว่าเป็นเรื่องในกระแสนิยมของทศวรรษนี้ที่ไม่ตกลงเลย

SAO เป็นอนิเมะที่ดูสนุก ฉากแอ็คชั่นโปรดักชั่นอลังตระการตา โดยเฉพาะเพลงประกอบของ Yuki Kajiura ระดับ Masterpiece แต่มีปัญหาหนึ่งน่ารำคาญมาก คือเป็นอนิเมะที่ดูไม่เต็มอิ่มเอาเสียเลย เรื่องราวแต่ละภาคมีความรวบรัด กระชับสั้นเกินไป มันทำให้เกิดความกระหาย อยากเห็นอีก ต้องการรับชมอีก แม้จะไม่มีภาคไหนสนุกสู้ภาคแรกได้อีกแล้ว แต่ถ้าเผลอตัวเผลอใจหลงใหลเข้าเมื่อไหร่ ก็แทบจะถอนตัวไม่ขึ้น

Reki Kawahara เกิดปี 1974 ในเขต Gunma Prefecture จังหวัด Kawahara, สมัยเรียน ม.ปลาย เป็นสมาชิกของชมรมเขียนการ์ตูน (Manga Studies Club) เคยตั้งใจว่าจบมาแล้วจะเป็นนักเขียนการ์ตูน ถอดใจเพราะรู้สึกว่ายากและเหนื่อยเกินไป, ปี 1998 เป็นยุคที่เกมออนไลน์เริ่มแพร่หลาย Kawahara กลายเป็นคนติดเกมโดยพลัน มีโอกาสได้สัมผัส Ultima Online, Ragnarok Online, World of Warcraft (เกมโปรดที่เล่นบ่อยสุด) และ Phantasy Star Online ปัจจุบันยังคงเล่นเกมอยู่ แต่ได้แบ่งเวลาทำอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย

เกร็ด: ทำอย่างอื่นที่ว่านี้ อาทิ ตื่นเช้าไปปั่นจักรยาน, ดูหนัง/ซีรีย์, เขียนหนังสือ ฯ ไม่ได้จดจ่ออยู่หน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวันอีกต่อไปแล้ว

เมื่อปี 2001, Kawahara ได้เริ่มต้นหัดเขียนนิยายเรื่องแรก Sword Art Online เพื่อส่งเข้าแข่งขัน Dengeki Game Novel Grand Prix แต่ถูกตัดสิทธิ์เพราะเขียนเกิน 120 หน้า จึงตัดสินใจโพสขึ้นเว็บไซต์ของตัวเอง มีคนติดตามอ่านจำนวนมาก ให้แรงเชียร์จนมีกำลังใจเขียนต่อไปเรื่อยๆ

ปี 2008, อีกครั้ง Kawahara ทดลองส่งนิยายเรื่องใหม่ Kyouzetsu Kasoku Burst Linker (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Accel World) เข้าแข่งขัน Dengeki Light Novel Award ผลลัพท์ครานี้ได้รางวัล Grand Prize อันดับ 1 มีโอกาสเซ็นสัญญากับ ASCII Media Works กลายเป็นนักเขียนอาชีพเต็มตัวเมื่อตอนอายุ 34 ปี

และภายหลัง Editor ของ Kawahara ได้มีโอกาสอ่านนิยาย SAO ที่อยู่บนเว็บ จึงให้ความสนใจนำมารวมเล่มตีพิมพ์เป็น Light Novel วางจำหน่ายครั้งแรกวันที่ 10 เมษายน 2009

Aincrad

Sword Art Online เป็นชื่อเกม Virtual Reality Massively Multiplayer Online Role (VR-MMORPG) สร้างขึ้นโดย Akihiko Kayaba เมื่อปี 2022 ด้วยอุปกรณ์ที่ชื่อ NerveGear สวมใส่แล้วจะทำให้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้รับประสบการณ์เสมือนจริง สามารถสัมผัส รับรู้ ควบคุมตัวละครได้ด้วยความคิดเพียงอย่างเดียว (ร่างกายไม่ต้องขยับเคลื่อนไหว)

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2022 เกม SAO ได้ฤกษ์เปิดให้บริการเป็นครั้งแรก มีผู้เล่น 10,000 คน Login เข้าใช้ แต่ปรากฎว่าไม่มีใครสามารถ Log Out ออกจากเกมได้, Akihiko Kayaba ปรากฎตัวขึ้นและอธิบายต่อผู้เล่นทุกคนว่า ต้องเอาชนะสัตว์ประหลาดใหญ่ (Boss) ของเกมนี้ให้ครบทั้งหมด 100 ชั่น ถึงจะสามารถออกจากเกมได้ แต่ระหว่างนั้นถ้ามีการตายเกิดขึ้นในเกมหรือคนภายนอกใช้กำลังถอด NerveGear ออก สมองจะถูกทำลายทำให้เสียชีวิตทันที

Kazuto ‘Kirito’ Kirigaya หนึ่งในผู้เล่น Beta-Test เมื่อต้องติดอยู่ในโลก SAO ราวกับฝันที่เป็นจริง เขามิได้เกิดความท้อแท้สิ้นหวัง แต่กระหยิ่มยิ้มอยู่ในใจ เกมมันจะสนุกอะไรถ้าไม่มีความท้าทาย และการแลกมาด้วยชีวิตหมายความว่า นี่แหละคือโลกความจริงของพวกเขา, Kirito ชื่อชอบใส่ชุดสีดำและมีดาบสีดำในครอบครอง ทำให้ได้รับฉายา นักดาบสีดำ (The Black Swordsman)

Kirito เป็นตัวละครที่ Kawahara อธิบายว่าคืออุดมคติของเขาเอง เพ้อฝันอยากที่จะเป็น เก่ง หล่อ สาวติด เป็นที่พึ่งได้เสมอ, ส่วนตัวจริงของผู้เขียน กับคนที่เคยอ่านหรือดู Accel World ตัวละครที่เป็นตัวแทนตัวตนของเขาคือ Haruyuki (แต่ตัวจริงไม่ได้อ้วนป้อมแบบนั้นนะครับ นิสัย/ความคิด คล้ายๆกันมากกว่า)

เหตุที่ Kazuto กลายเป็นเด็กติดเกม และทุ่มเททุกสิ่งอย่างให้ เพราะพ่อแม่เขาไม่อยู่แล้ว (ไม่แน่ใจว่าเสียชีวิตหรือยังไง) ปัจจุบันอาศัยอยู่กับป้า (ที่เป็นแม่ของ Suguha) เล่นเกมก็เพื่อหลีกหนีจากโลกความจริง ให้หลงลืมความทุกข์โศกเศร้า โดดเดี่ยวอ้างว้าง เบื่อหน่ายในชีวิต, ต้องถือว่าเกมคือสิ่งช่วยชีวิต Kazuto ไว้เลย เมื่อติดอยู่ใน SAO ตอนแรกเต็มไปด้วยความกล้าบ้าบิ่นท้าความตาย จิตใจของฉันจะต่อสู้กับมันได้แค่ไหน ต่อมาได้พบเจอเพื่อนใหม่ เรียนรู้เข้าใจคุณค่าของชีวิต/ความตาย ความคิดจึงค่อยๆเปลี่ยนไป หัวใจเริ่มเปิดกว้างออก, ความทุ่มเทสุดตัวทั้งกายและใจของ Kazuto ทำให้คนรอบข้างตระหนักได้ว่า ถ้าฉันไม่ช่วยหมอนี่ไว้ มันต้องพ่ายแพ้/ตายแน่ๆ นันทำให้ชีวิตเขาก็เต็มไปด้วยสหาย มิตรแท้ คนรัก ถือว่าโชคดีไปเลยที่สามารถหลุดจากวงจรของคนหนีโลกได้

ให้เสียงโดย Yoshitsugu Matsuoka ที่เพิ่งเข้าวงการเมื่อปี 2009-2010 เริ่มได้รับการจดจำในปี 2011 จนได้รางวัล Seiyu Awards: Best Rookie Actor เสียงพากย์ Kirito ถือว่าทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด, ผลงานอื่น อาทิ No Game No Life (2014) พากย์เสียง Sora, Is It Wrong to Try to Pick Up Girls in a Dungeon? (2015) พากย์เสียง Bell Cranel, Shokugeki no Soma พากย์เป็น Soma Yukihira

น้ำเสียงของ Matsuoka มีความนุ่มนวลอ่อนหวานเหมือนเสียงผู้หญิง (คนพากย์เป็นผู้ชายนะครับ) เวลาพูดคำหวาน จีบสาว แทบทำให้หัวใจละลาย แต่เวลาเครียดจริงจัง มีความหนักแน่นมั่นคง เต็มเปี่ยมด้วยความเชื่อมั่น ฟังแล้วรู้สึกเหมือนเพื่อนที่พึ่งพาได้ทุกสถานการณ์

Asuna Yūki หญิงสาวที่ติดอยู่ในโลกของ SAO ช่วงแรกเป็นคนปิดตัวเอง แต่ด้วยความแหลมคมในฝัก และได้แรงบันดาลใจจาก Kirito ทำให้เติบโตขึ้นกลายเป็นหญิงแกร่ง เจ้าของฉายา ประกายแสง (The Flash) มีตำแหน่งรองหัวหน้ากิลกองทัพอัศวินโลหิต (Knights of the Blood Oath) และได้แต่งงาน(ในเกม) กลายเป็นคนรักของ Kirito

ตัวละครนี้ Kawahara อ้างว่าไม่ได้แรงบันดาลใจมาจากอะไรทั้งนั้น แต่ยากที่จะเชื่อ, ผมคิดว่า Asuna ย่อมต้องคือหญิงสาวในอุดมคติของของผู้เขียน (แบบเดียวกับ Kirito)

ให้เสียงโดย Haruka Tomatsu ที่มีผลงานดังอย่าง To Love-Ru (2008) พากย์เสียง Lala Satalin Deviluke, Magi: The Labyrinth of Magic (2012) พากย์เสียง Morgiana, Valvrave the Liberator (2013) พากย์เสียง Saki Rukino ฯ เธอเคยให้สัมภาษณ์ถึงตัวละครนี้ว่า มีลักษณะเป็นบุคคลในอุดมคติของตนเอง

“rather than having something similar to her, I feel that to me, she is the ideal person that I would want to become. After all, she can cook, she’s smart… I think that she’s the type of woman I wanted to become and admired. Leaving aside if I can cook well, though, I really like to cook. I don’t really know if I can say if we are alike because of that, though.”

น้ำเสียงของ Tomatsu มีความแหลมเข้ม หนักแน่นจริงจัง ห้าวหาญดั่งหญิงแกร่ง เป็นตัวของตนเองสูง (ว่าไปโดดเด่นกว่า Matsuoka ที่พากย์ Kirito เสียอีก) แต่เพราะตัวจริงของ Asuna เป็นลูกคุณหนูดั่งนกในกรง ชีวิตแทบไม่เคยทำอะไรด้วยตนเอง นั่นทำให้ในโลก SAO พฤติกรรมของเธอมองได้คือ การแสดงความต้องการที่อยู่ในใจแท้จริงออกมา

ผลลัพท์ของการแต่งงานของ Kirito กับ Asuna ในเกม ก่อให้เกิด Yui ที่เป็น AI ปริศนา ได้รับการช่วยเหลือจากทั้งสอง จากนั้นก็ตามติดพวกเขาโดยตลอด เรียกว่า Papa, Mama เป็นดั่งลูกสาวตัวเล็กที่ให้การช่วยเหลือด้านเทคนิคของเกมนานัปประการ

ให้เสียงโดย Kanae Itō นักพากย์สาวเสียงเด็ก ที่มีผลงานดังอย่าง The World God Only Knows (2010) พากย์เสียง Elsie de Lute Ima, To Love-Ru (2008) พากย์เสียง Nana Astar Deviluke

ศัตรูตลอดกาลของผู้เล่น SAO คือผู้สร้างเกม Akihiko Kayaba วิศวกรอัจฉริยะ ความต้องการของเขา คือค้นหาความเป็นไปได้ของมนุษย์ ที่นอกเหนือสมการและการคำนวณ ในโลกที่แม้แต่ความคิด/ความรู้สึก สามารถแปรสภาพเป็นตัวเลขได้ ยังจะเหลืออะไรที่เขายังค้นไม่พบ

ให้เสียงโดย Kōichi Yamadera ที่มีผลงานดังอย่าง Ninja Scroll (1993) พากย์เสียง Jūbei Kibagami, Cowboy Bebop (1998) พากย์เสียง Spike Spiegel, Dragon Ball Super (2014) พากย์เสียง Beerus, Ghost in the Shell (1995) พากย์เสียง Togusa ฯ

คงเพราะผู้เขียน Matsuoka ไม่ได้คาดหวังว่านิยายของเขาจะประสบความสำเร็จมากมาย จึงเขียนเรื่องราวของ SAO ให้จบเพียงเล่มเดียว (คือตอนจบเล่มนั้น Kirito และพรรคพวกก็สามารถเอาชนะออกมาจากเกมได้) เล่มสองถือว่าเป็น Side Story เพิ่มเติมเรื่องราวใน Aincrad เข้าไปอีก 2-3 เรื่องก็น่าจะเต็มอิ่มสำหรับแฟนๆ แต่กลายเป็นว่ายังไม่พอ ทำให้ Matsuoka ต้องคิดอะไรขึ้นมาใหม่ จบลงที่

Fairy Dance

เขียนเล่ม 3 ด้วยการคิดเกมขึ้นใหม่เลย โดยให้เรื่องราวต่อเนื่องจากตอนจบของ SAO ที่เมื่อ Kirito กับ Asuna พบเจอกันในชีวิตจริง

ซึ่งพอเริ่มเกมใหม่ มันก็ควรมีอะไรใหม่ๆเพิ่มขึ้นมาด้วย จึงเกิดตัวละครชุดใหม่ขึ้นด้วย อาทิ ตัวร้าย, เพื่อนใหม่, ผู้ช่วย (แน่นอนต้องเป็นหญิงสาว) แต่มันคงจะมากไปถ้าให้แฟนใหม่กับ Kirito เลย ในภาคนี้จึงใส่ตัวละครน้องสาวเข้ามา

Leafa หรือ Suguha Kirigaya น้องสาวที่มีปม ‘Big Brother Complex’ (ไม่ใช่น้องแท้ๆ แต่เป็นลูกของน้องสาวแม่) ไม่ได้ร่วมเล่น SAO แต่ตลอดระยะเวลาที่พี่อยู่ในโคม่า คงเป็นผู้ดูแลเอาใจใส่จนค่อยๆตกหลุมรัก แต่ความอ้างว้างโดดเดี่ยวเรียนเคนโด้ก็แล้ว ไม่สามารถเติมเต็มความรู้สึกที่ขาดหายได้ ต้องการทำความเข้าใจพี่ชาย จึงกลายเป็นเด็กติดเกม Alfheim Online (ALO) ขึ้นมาอีกคน

ความรักของ Leafa ต่อ Kirito เป็นไปในทางแอบๆ (ที่ก็แอบน่ารำคาญ) ชื่นชอบหลงใหลแต่ยึกยักปกปิดไว้ ยิ่งพอรู้ว่าตัวจริงคือพี่ของตน ก็มิอาจสมหวังในรักได้ แต่ชีวิตรู้สึกกระชุมกระชวย มีสุขขึ้นกว่าแต่ก่อน (แต่เชื่อว่าหลายคนยังแอบหวังอยู่)

ให้เสียงโดย Ayana Taketatsu มีผลงานดังอาทิ K-On! พากย์เสียง Azusa Nakano, Oreimo พากย์เสียง Kirino Kōsaka เธอคือนักพากย์เสียงน้องสาวโดยแท้

Matsuoka มีน้องสาวน่ารักสองคน (ปัจจุบันคงโตขึ้นเป็นสาวหมดแล้ว) คงไม่แปลกอะไรถ้าจะเขียนตัวละครลักษณะนี้ใส่เข้ามา ซึ่งกลุ่มเป้าหมายค่อนข้างชัด โอตาคุที่มีความแฟนตาซีชื่นชอบประเด็นความรักล่อแหลมระหว่างพี่ชายกับน้องสาว แถมใส่ประเด็นเรื่องข่มขืนเข้ามาด้วย สายโรคจิตคงคลั่งสมใจอยาก

ตัวร้ายของภาคนี้ Oberon the Fairy King ตัวจริงคือ Nobuyuki Sugō เป็นวิศวกรที่ฉวยโอกาส หาผลประโยชน์จากกลุ่มคนที่ติดอยู่ในโลก SAO ต่อยอดเพื่อการทดลองบางอย่าง, แท้จริงเป็นคนขี้ขลาดตาขาว มโนหลงคิดว่าตัวเองเป็นดั่งพระเจ้า ชื่นชอบการทรมานผู้อื่น (Sadist) แถมยังข่มขู่จะข่มขื่น Asuna ทั้งในเกมและชีวิตจริง

ให้เสียงโดย Takehito Koyasu เจ้าของเสียงพากย์ Shinsuke Takasugi จากเรื่อง Gintama, Aokiji จาก One Piece, Shigeru Aoba จาก Neon Genesis Evangelion, เสียงของ Takasugi มีความเท่ห์แบบกวนประสาท ถ้าพากย์ตัวละครบ้าๆ ถือว่าคลั่งจิตหลุดเลยละ

นี่เป็นตัวร้ายที่ทั้งน่ารังเกียจและน่าสมเพศ ความผิดปกตินี้น่าจะเป็นปมตั้งแต่วัยเด็กถูกพ่อ-แม่กดขี่ข่มเหง (คล้ายๆกับ Asuna ที่ถูกพ่อแม่บังคับโน่นนี่) แต่เพราะไม่ได้รับการปรับความเข้าใจที่ถูกต้อง ทำให้โตขึ้นกลายเป็นคนเก็บกด และเลือกระบายลงกับผู้ที่เป็นศัตรู สร้างบาดแผลในใจของเขามากที่สุด

ส่วนตัวนี่เป็นภาคที่ผมชอบน้อยสุด เพราะประเด็นความรุนแรงของตัวร้าย มันเกินจะรับได้ไปเสียหน่อย แถม Asuna ก็กลายเป็นนกในกรงไปเลย ไม่ได้แสดงฝีมือ รอวันพระเอกมาช่วยสถานเดียว (พล็อตน้ำเน่าเกิ้น!)

Phantom Bullet

Kirito ได้รับมอบหมายจาก Seijirō Kikuoka (สมาชิกของ Ministry of Internal Affairs ที่เป็นผู้สืบสวนคดี SAO) เพื่อเข้าไปสืบสวนเรื่องราวบางอย่างที่เกิดขึ้นกับ Gun Gale Online (GGO) ที่การตายของคนในเกมส่งผลให้ตัวจริงเสียชีวิตด้วย

ในภาคนี้ Kirito ปลอมตัวกลายเป็นผู้หญิง (Gender Swap) เข้าไปในเกมเพื่อสืบสวนตัวละครที่อาจเป็นสาเหตุ, ได้พบกับ Shino Asada/Sinon นักแม่นปืนสาวที่ภายนอกเข้มแข็ง แต่ในใจมีปมความหวาดกลัวต่ออาวุธปืนจริงๆ (แต่สามารถจับปืนในเกมได้)

อาการของ Sinon มีชื่อเรียกว่า Post-Traumatic Stress Disorder (PSTD) ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ, เกม GGO ได้กลายเป็นเครื่องมือที่ใช้บำบัดรักษา ลดความตึงเครียดที่เกิดจากการจับสัมผัสอาวุธปืนจริงๆลงของเธอ นี่ฟังดูแปลกแต่ก็มีความเป็นไปได้สูงในอนาคต เพราะบนโลกเสมือน จิตใจมนุษย์ย่อมสามารถรับรู้ได้ว่า การจับปืนมันไม่มีอันตรายฆ่าคนตายไม่ได้ ความยากอยู่ที่จะแปรสภาพความเข้าใจจากตรงนั้นสู่โลกความเป็นจริง จับปืนแล้วไม่กลัวได้เช่นไร

ให้เสียงโดย Miyuki Sawashiro สาวห้าวเสียงใหญ่ เจ้าของน้ำเสียง Suruga Kanbaru จาก Monogatari Series,  Kurapika จาก Hunter × Hunter (2011), Celty Sturluson จาก Durarara!! Series, Shion Karanomori จาก Psycho-Pass Series ฯ

Sinon เป็นตัวละครที่ผมชอบสุดรองจาก Asuna ด้วยพัฒนาการและมิติของตัวละคร ถ้าไม่ติดเรื่องปมในอดีต ผมว่าเธอเข็มแข็งแกร่งกว่า Kirito เสียงอีก แต่ความห้าวที่เหมือนผู้ชายมากไปเสียนิด คนส่วนใหญ่คงหลงใหลในตัว Asuna มากกว่า

สำหรับตัวร้ายในภาคนี้ Sterben/Death Gun เป็นอดีตสมาชิกของกิลนักฆ่าผู้เล่น Laughing Coffin ขณะติดอยู่ในโลกของเกม SAO ชื่นชอบการฆ่าผู้อื่นจนถูกจับคุมขังไว้ในเกม เมื่อ SAO ได้รับการพิชิต คนกลุ่มนี้จึงกลับออกมาสู่โลกความเป็นจริง และได้เริ่มต้นสร้างปัญหาใหม่, พวกเขาถือว่าเป็นกลุ่มคนมีปัญหาทางจิต (ไม่ต่างกับ Sinon) ฆ่าคนอื่นเพื่อเป็นการบำบัดความต้องการของตนเอง แต่ก็ไม่รู้ปมที่อยู่ในใจของพวกเขาคืออะไรนะครับ

Spiegel/Kyōji Shinkawa เพื่อนสนิทของ Shino เป็นคนแนะนำเธอให้รู้จักกับ GGO, มีพ่อเป็นเจ้าของโรงพยาบาล และกึ่งๆบังคับให้เป็นทายาทสานต่อกิจการ สร้างความเครียดกดดันให้กับเขาอย่างมาก กระนั้น Kyōji ก็มีแผนการอื่น เพื่อที่จะไม่ต้องทนทุกข์อยู่ในโลกอันโหดร้ายนี้

ให้เสียงโดย Natsuki Hanae มีผลงานดังอย่าง Kōsei Arima จาก Your Lie in April, Ken Kaneki จาก Tokyo Ghoul, Inaho Kaizuka จาก Aldnoah.Zero ฯ

นี่เป็นภาคที่ผมชอบรองจาก Aincard เพราะพัฒนาการของ Sinon มีความน่าสนใจมากๆ เสียงพากย์ของ Sawashiro ก็ติดหูเสียเหลือเกิน แม้เรื่องราวจะค่อนข้างสั้นไปหน่อย แต่มีความสมจริงจับต้องได้มากกว่าสองเกมก่อนหน้าที่เป็นแฟนตาซี

Mother’s Rosario

ประโยชน์หนึ่งของ VR เมื่อนำไปใช้ได้กับการแพทย์, เด็กหญิงคนหนึ่งป่วยหนัก มีชีวิตอยู่ได้แค่บนเตียงไม่สามารถไปไหนมาไหนได้ หมอแนะนำให้เธอรู้จักกับเกมออนไลน์หนึ่ง ทำให้ได้พบเพื่อนใหม่มากมาย สามารถใช้ชีวิตอยู่ในนั้นทั้งวันทั้งคืนได้ไม่เบื่อ แต่จะมีหรือความสุขนั้นจะอยู่ได้นาน เธอจึงอยากทำอะไรบางอย่างเพื่อจารึกว่าครั้งหนึ่งฉันก็เคยมีตัวตนบนโลกใบนี้

Yuuki ให้เสียงโดย Aoi Yūki นักร้อง นักพากย์ Idol ที่มีผลงานดังคือ Madoka Kaname จาก Puella Magi Madoka Magica (2011), Victorique de Blois จาก Gosick (2011) ฯ เสียงของเธอมีความห้าวเป้งเหมือนผู้ชาย ขณะเดียวกันก็อมทุกข์ในความเจ็บปวดที่เก็บแอบซ่อนไว้ในส่วนลึก

Mother’s Rosario คือท่าไม้ตายของ Yuuki มอบให้กับ Asuna หลังจากได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ร่วมกันจนสำเร็จ

ต้องถือว่านี่เป็นภาคเรียกน้ำตาที่ทำออกมาได้ซาบซึ้งตรึงใจ เตรียมทิชชู่ไว้ให้พร้อมแล้วกัน เพราะมันจะทำให้คุณหลงรัก Asuna และ Yuuki เพิ่มขึ้นมากๆ แม้รายหลังจะไม่ได้เจอกันอีกแล้ว แต่จิตวิญญาณของเธอยังคงอยู่ทุกครั้งที่ Asuna ใช้ท่าไม้ตายนี้

อนิเมชั่น SAO ถูกประกาศสร้างครั้งแรกในงาน Dengeki Bunko Autumn Festival เมื่อปี 2011 พร้อมๆกับ Accel World (ที่ได้ฉายก่อน) โดยสตูดิโอ A-1 Pictures ผู้กำกับ Tomohiko Itō ที่เคยเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ/เขียนบท/Storyboard อนิเมะซีรีย์เรื่อง Death Note (2006), Blue Exorcist (2011), Anohana: The Flower We Saw That Day (2011) ฯ สำหรับ SAO เป็นการขึ้นมารับหน้าที่กำกับเต็มตัวเป็นครั้งแรก

หลังเสร็จจากภาคแรก Itō แวบไปทำ Silver Spoon (2013) แล้วมีการฉายตอนพิเศษ Sword Art Online Extra Edition ในวันที่ 31 ธันวาคม 2013 โดยท้ายเครดิตมีการประกาศอนิเมะ SS2 ฉายปีถัดมา

SAO เป็นอนิเมชั่นที่เน้นการโชว์ของมากกว่าขายเทคนิคต่อสู้ ในฉากแอ็คชั่นผลแพ้ชนะอยู่ที่ลีลาและความสะใจ (ของผู้กำกับ) ตัวละครวิ่งเข้าไปประจันฟันฉับๆ, กระโดดหลบ, Tank, Switch ฯ มีการเคลื่อนไหวรวดเร็ว เต็มไปด้วย Special Effect ประกอบฉากตระการตา นานๆจะมีพูดถึงแผนการต่อสู้ขึ้นมาสักครั้ง ซึ่งอยู่ดีๆ Kirito ก็เก่งก้าวกระโดดขึ้นมาแบบไม่มีเหตุผลยอมรับ นี่คือเหตุผลที่คนไทยมักเรียกเขาว่า เทพทรู

เกร็ด: ทรู คือชื่อบัตรเงินสด True Money เป็นคำวัยรุ่นที่ใช้เรียก คนเล่นเกมประเภทที่อยู่ดีๆก็เก่งขึ้นมา เพราะใช้การเติมเงินจากบัตรทรู ซื้อของเพิ่มความเก่งของตนเอง (แต่ไม่ได้แปลว่า เติมทรูแล้วฝีมือจะเก่งขึ้นนะครับ แค่มีของใช้ดีกว่าคนอื่นเท่านั้น)

‘หนังที่มีเพลงเพราะ มีชัยไปกว่าครึ่ง’ จำไม่ได้ว่าใครกล่าวไว้ ซึ่ง SAO เป็นอนิเมะที่จัดว่าเพลงประกอบมีความไพเราะโดดเด่นมากๆ, ประพันธ์โดย Yuki Kajiura ที่มีผลงานดังอย่าง .hack//Sign (2002), Puella Magi Madoka Magica (2011), Fate/Zero (2011-2012) ฯ แต่ต้องบอกว่า เพลงประกอบ SAO มีกลิ่นอายคล้ายคลึงกับ Fate/Zero อยู่พอสมควร (คงเพราะเขียนขึ้นในช่วงเวลาใกล้ๆกัน จึงมีแรงบันดาลใจคล้ายๆกัน)

บทเพลง Swordland ฟังแล้วขนลุกทุกที มีความยิ่งใหญ่อลังการ โดยเฉพาะท่อนเสียงร้องคลอรัส (ไม่ใช่ภาษาละตินนะครับ เป็นคำที่ Kajiura เรียบเรียงเขียนขึ้นเอง ไม่ได้มีความหมายอะไร)

ตรงข้ามกับความอลังการ แนะนำอีกเพลงหนึ่งที่มีความธรรมดาแสนเรียบง่าย มีเพียงกีตาร์ดีดเบาๆและเสียงเป่าฟลุตที่ล่องลอยตามสายลม นี่คือชีวิตประจำวันของชาว SAO ในบทเพลง Everyday Life ให้สัมผัสบรรยากาศสบายๆ ผ่อนคลาย เรื่อยเปื่อย, ถึงสถานที่แห่งนี้จะเป็นโลกอันโหดร้าย แต่ใช่ว่าจะไม่มีช่วงเวลาสันติสุขเกิดขึ้นเลย

 

สำหรับบทเพลงที่มีความไพเราะที่สุดในอนิเมะ At Nightfall บรรเลงไวโอลินคู่กับเปียโน ในค่ำคืนที่ท้องฟ้าเต็มไปด้วยดาวดารา ห่างไกลจากฝูงมอนสเตอร์ และความวุ่นวาย นี่เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขสันต์ สลัดทิ้งความเหน็ดเหนื่อย เจ็บปวด โศกเศร้าไว้ข้างหลัง

ขออีกเพลงกับ SS2 ก่อนเข้าสู่ Gun Gale Online (GGO) ทำนองของ Swordland แต่ปรับเปลี่ยนอะไรหลายๆอย่าง อาทิ ใช้กลอง, กีตาร์ ทำเป็นแนว Rock, ผสมกับเสียงคาริเน็ต (เพลงนี้คล้ายๆ Naruto Shippuden พอสมควรนะ)

สำหรับเพลงเปิด/ปิด มีนักร้องรับเชิญหลายคนทีเดียว ทั้ง LiSA, Eir Aoi, Luna Haruna และ Haruka Tomatsu ผมขอเลือกมาแค่ 2 เพลงพอนะครับ

เพลงเปิดแรก Crossing Field ขับร้องโดย LiSA ประกอบ SS1 เคยขึ้นถึงอันดับ 10 ชาร์ท Billboard Japan Hot 100 มียอดขาย Oricon Singles Chart สัปดาห์แรกอันดับ 15

Shirushi ขับร้องโดย LiSA เป็น Ending ประกอบ SS2 ภาค Mother’s Rosario ที่อาจเรียกน้ำตาใครหลายๆคนได้

SAO เป็นเรื่องราวของการเอาชนะขีดจำกัดของตนเอง ในตอนแรกสิ่งที่ Kirito ทำนั้นล้วนเพื่อตนเองเท่านั้น แต่ต่อมาเมื่อได้เรียนรู้จัก เข้าใจอะไรต่างๆมากมาย ทำให้เริ่มรู้จักคำว่าแบ่งปันและปกป้องผู้อื่น, ซึ่งคนที่เขาต้องการปกป้องที่สุดคือเหล่าบรรดา Harem ทั้งหลายที่ได้มา Asuna, Suguha, Shino รวมถึงเพื่อนคนอื่นๆทุกคนของเขาด้วย ไม่เคยสนว่าตัวเองต้องทุกข์ทรมานเจ็บปวดขนาดไหน ขอแค่ให้พวกเขาเป็นสุขปลอดภัย แค่นี้ก็เหลือเฟือแล้ว

สิ่งที่ Akihiko Kayaba (หรือผู้แต่ง Reki Kawahara) ค้นหาเป็นเป้าหมายสูงสุด และได้ค้นพบคือ วินาทีแห่งการกระทำเพื่อเอาชนะของ Kirito ที่เรียกว่า ‘จิตวิญญาณของการไม่ยอมแพ้’ นี่เป็นสิ่งที่มีไม่มีอะไรในโลกสามารถคาดการณ์คำนวณได้ เหนือกว่าทุกสมการ คือความต้องการของจิตใจ

บรรดาอนิเมะซีรีย์เกี่ยวกับเกมออนไลน์ มีอีก 2 เรื่องที่ขอแนะนำ มีโอกาสเมื่อไหร่จะมาเขียนถึงแน่นอน
– .Hack (dot Hack) ในโลกเสมือนจริงของเกม แฝงปรัชญาการมีตัวตน การค้นหา(เป้าหมาย) และความหมายของชีวิต
– Log Horizon เป็นเรื่องราว Slice-Of-Life ชีวิตแมวๆของกลุ่มคนติดเกม ผสมผสานโลกความจริงกับโลกที่อยู่ในเกม และ(พยายาม)ค้นหาทางกลับบ้าน

ผมไม่ได้เชียร์เรื่องไหนเป็นพิเศษ แต่ต้องบอกว่า SAO เทียบชั้นกับสองเรื่องนี้ไม่ได้เลย เหตุที่กลับได้รับความนิยมสูงกว่า คิดว่าเพราะสามารถเข้าถึงผู้ชมได้ง่ายและกว้างกว่า โดยเฉพาะความเท่ห์น่ารักของ Kirito, Asuna และบรรยากาศรักโรแมนติกกุ๊กกิ๊ก ที่ใครๆก็อยากตามลุ้นตามเชียร์ อิ่มเอิบหัวใจสุขล้น ดูจบแล้วฟินกันถ้วนหน้า

สิ่งที่ผมชอบสุดใน SAO คือบรรยากาศ อันกอปรด้วย ความเรื่อยเปื่อยของตัวละคร บางช่วงมีเรื่องราวผ่อนคลาย งานภาพดูสบาย และบทเพลงขับกล่อมไพเราะ, กับตอนที่ผมชอบสุดทั้งซีรีย์ คือขณะไปตกปลา ถ้าชีวิตจริงในเกมสามารถผ่อนคลายเป็นอย่างนั้นได้ก็ดี

ก่อนหน้าที่ผมจะเริ่มเขียนบล็อคนี้ ก็เคยเป็นเด็กติดเกมหนักๆมาก่อน แต่จะบอกว่าไม่เคยมีวินาทีไหนในทุกเกมที่เล่นมา จะมีความรู้สึกผ่อนคลายแบบนี้เลยนะครับ นี่ต่างจากชีวิตจริงมากที่ผมชอบปั่นจักรยานขึ้นเขา นั่งชมวิว หรือนอนเล่นริมชายหาด แบบนี้ให้ความรู้สึกผ่อนคลายกว่าเป็นไหนๆ, การเล่นเกมเหมือนว่ามันต้องมีเป้าหมายทำอะไรสักอย่าง นั่งชมวิวอยู่เฉยๆไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร มองไปรอบๆต่อให้ภาพจะสวยขนาด GTA, The Witcher, Skyrim ก็ไม่เกิดความรู้สึกผ่อนคลายแม้แต่น้อย ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม

ส่วนข้อเสียก็อย่างที่บอกไปตอนต้น เรื่องราวแต่ละภาคสั้นเกินไปจนไม่เต็มอิ่ม มันมีเฉพาะภาคแรกเท่านั้นที่สามารถเรียกเต็มปากเต็มคำได้ว่า Sword Art Online เรื่องราวจากนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจาก โดย Kirito จำต้องเข้าร่วมในฐานะ SAO Survival และมีอ้างอิงบางอย่างจากเกมเก่าเท่านั้น (จริงๆมันควรเปลี่ยนชื่อเรียก เป็นตามชื่อเกมของแต่ละภาค ยังจะดูดีกว่ามาก)

กระนั้นผมยังมีความหวังหนึ่งคือ Sword Art Online: Progressive ภาคแยกของ SAO ที่ผู้แต่ง Reki Kawahara เขียนขึ้นเพื่อขยายเรื่องราวของ Aincrad ทีละชั้นสองชั้น หวังว่าเมื่อซีรีย์หลักถึงทางตันเมื่อไหร่ จะกลับมา remake สร้างภาคแยกนี้ ค่อยๆเล่าเรื่องทีละชั้นของ Sword Art Online มันน่าจะเวิร์คและเกิดขึ้นแน่ๆ รอแค่เมื่อไหร่เท่านั้น

เชื่อว่าคงจะกลายเป็นความฝันของหลายๆคน หวังว่าเทคโนโลยีของโลกจะทันสร้าง NerveGear ได้สำเร็จ แต่มันมีความเป็นไปได้หรือเปล่า? ผมเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ในศตวรรษนี้แน่ๆ เพราะสมองมนุษย์ลึกล้ำเกินกว่าที่จะหาอุปกรณ์ใดๆมารับส่งสื่อสารทำความเข้าใจกันได้ ปัจจุบันแม้จะมี VR ที่สามารถโยกหัวเคลื่อนไหวตามได้ แต่มันยังห่างไกลการใช้สมองสั่งการเคลื่อนไหวอยู่มาก

แต่สิ่งที่ผมเชื่อว่าเกิดขึ้นแน่คือ AR (Augmented Reality) เป็นเทคโนโลยีที่ผสานเอาโลกแห่งความเป็นจริง (Real) เข้ากับโลกเสมือน (Virtual) แบบในฉบับภาพยนตร์ Sword Art Online The Movie: Ordinal Scale (2016) ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า มีความใกล้เคียงเป็นไปได้ที่สุดแล้ว ตั้งหน้าตั้งตาเฝ้ารอได้เลย

แนะนำกับคออนิเมะญี่ปุ่น ภาพสวย แอ็คชั่นโปรดักชั่นอลังการ เพลงเพราะ, ผู้ชื่นชอบการเล่นเกม มีความเพ้อฝัน ชื่นชอบการผจญภัย, และคอไซไฟ สนใจเทคโนโลยีในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้

จัดเรต PG กับสถานการณ์ และความรุนแรงกระแทกกระทั้นจิตใจ

TAGLINE | “Sword Art Online อาจคือความเพ้อฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง แต่มันผิดอะไรที่จะฝัน เพราะโลกใบนั้นมันช่างงดงาม โรแมนติก และมีความน่าหลงใหลเหนือกว่าสิ่งอื่นใด”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: