Sword of the Stranger (2007) : Masahiro Andō ♥♥♥♥♡
น่าจะเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่น แอ๊คชั่น ผจญภัย ซามูไรยุคสมัย Sengoku ที่มีความครบเครื่องกลมกล่อมระดับ Blockbuster ยอดเยี่ยมที่สุดถัดจาก Ninja Scroll (1993) การันตีความมันส์โดยสตูดิโอ BONES
จริงๆถ้านับรวมอนิเมะซีรีย์จะมีเยอะเลยนะ อาทิ Rurouni Kenshin (1996-98), Samurai Champloo (2004), Samurai 7 (2004), Afro Samurai (2007) ฯ แต่พอใส่คำว่า ‘ภาพยนตร์’ ลงไป กลับไม่ค่อยพบเห็นหรือได้รับความนิยมสักเท่าไหร่
มาครุ่นคิดดูผมว่าเหตุผลง่ายๆเลยนะ เพราะภาพยนตร์แนว Samurai หรือ Jidai-Geki สามารถพบเห็นฉบับคนแสดง ‘Live-Action’ เกลื่อนเมืองทุกยุคทุกสมัย สร้างได้ในราคาแสนถูก จะมาสิ้นเปลืองงบประมาณกับการทำอนิเมชั่นก็ใช่เรื่อง นอกเสียจากต้องการใส่แฟนตาซี แอ๊คชั่นบู๊ระห่ำ หรือเลือดสาดแบบไม่ต้องห่วงเรตติ้ง 18+
Sword of the Stranger อาจเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นที่ไม่ได้มีนัยยะ สาสน์สาระ ตื้นลึกหนาบาง เนื้อเรื่องราวก็ไม่ได้แปลกใหม่สักเท่าไหร่ แต่ในแง่ความบันเทิงถือว่าระดับ ‘Blockbuster’ โดยเฉพาะอนิเมชั่นในส่วนการต่อสู้ สร้างมาตรฐานให้กับวงการไว้สูงมากๆทีเดียว
ก่อนอื่นขอพูดถึง Bones Inc. สตูดิโออนิเมชั่นสัญชาติญี่ปุ่น เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 1998 โดยพนักงานส่วนหนึ่งแยกตัวจากสตูดิโอ Sunrise ประกอบด้วย Masahiko Minami, Hiroshi Ōsaka และ Toshihiro Kawamoto โดยในช่วงแรกๆรับงาน Sub-Contact อนิเมชั่นเรื่อง Cowboy Bebop: Knockin’ on Heaven’s Door (2001), ส่วนโปรเจคแรกแท้ๆของสตูดิโอคือ Hiwou War Chronicles (2000-2001), ค่อยๆสะสมชื่อเสียงจาก RahXephon (2002), Wolf’s Rain (2003), Fullmetal Alchemist (2003-04), Eureka Seven (2005-06) ฯ
ผลงานส่วนใหญ่ของ Bones ในช่วงแรกๆมักเป็น Original ครุ่นคิดขึ้นใหม่ ก็มีบ้างดัดแปลงมังงะ ไลท์โนเวล แต่ส่วนใหญ่จะคืออนิเมะซีรีย์ ขณะที่ภาพยนตร์มักสานต่อยอดความสำเร็จของฉบับฉายโทรทัศน์ อาทิ
– Escaflowne (2000)
– Cowboy Bebop: The Movie (2001)
– RahXephon: Pluralitas Concentio (2003)
– Fullmetal Alchemist the Movie: Conqueror of Shamballa (2005)
จนถึงปีปัจจุบัน 2019 สตูดิโอ Bones มีภาพยนตร์อนิเมชั่นที่เป็น Original เพียงเรื่องเดียวเท่านั้นคือ Sword of the Stranger (2007)
Masahiro Andou (เกิดปี 1967) ผู้กำกับ อนิเมเตอร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Hokkaido คร่ำหวอดในวงการมานานจากเป็น Key Animator ให้กับ Sailor Moon (1993-97), Crayon Shin-chan Movie ภาค 2-8, ต่อมาเข้าร่วมสตูดิโอ BONES ไต่เต้าจนมีโอกาสกำกับบางตอนของ Fullmetal Alchemist (2003-04), Wolf’s Rain (2003), และกลายเป็นผู้กำกับเต็มตัว Sword of the Stranger (2007)
ผลงานเด่นอื่นๆของ Andou อาทิ Canaan (2009), Hanasaku Iroha (2011), Zetsuen no Tempest (2012-13), Akagami no Shirayuki-hime (2015-16) ฯ
สำหรับบทอนิเมะ ได้รับการพัฒนาขึ้นโดย Fumihiko Takayama นักเขียนฟรีแลนซ์ที่กลายเป็นขาประจำของสตูดิโอ Bones ผลงานเด่นๆ อาทิ Mobile Suit Gundam 0080: War in the Pocket (1989), Choujikuu Seiki Orguss 02 (1993-95), RahXephon: Pluralitas Concentio (2003), Alice to Zouroku (2017) ฯ
พื้นหลังยุคสมัย Sengoku, เด็กชายชื่อ Kotaro ร่วมกับสุนัขตัวโปรด Tobimaru หลบหนีจากการติดตามล่าของนักรบราชวงศ์หมิง วันหนึ่งจับพลัดจับพลูพบเจอโรนินหนุ่มนิรนาม ให้ความช่วยเหลือแบบมิได้เต็มใจสักเท่าไหร่ เลยยื่นข้อเสนอให้พาตัวไปส่งยังวัดแห่งหนึ่ง ถึงรู้ว่าอาจโดนหลอกแต่ก็สมยินยอม
เมื่อการเดินทางมาถึงเป้าหมาย ขณะกำลังแยกจาก Tobimaru ได้ถูกนักรบราชวงศ์หมิงลักพาตัวไป โรนินนิรนามจึงรีบเร่งไล่ล่าติดตาม หลังจากรับทราบว่าเด็กชายกำลังจะถูกสังเวยเข่นฆ่าตาย แต่ก็มีศัตรูตัวร้ายกาจ Luo-Lang ทั้งชีวิตไม่เคยต่อสู้พ่ายแพ้ใคร เป็นก้างขวางคอชิ้นใหญ่คอยขัดขวางการช่วยเหลือเพื่อนต่างวัยนี้
Nanashi (แปลว่า No Name, Nameless, นิรนาม) (พากย์เสียงโดยนักร้อง/นักแสดง Tomoya Nagase) โรนินผู้มีฝีมือดาบระดับพระเจ้า แต่เลือกเร่รอนเพราะอดีตความหลังยังตามมาหลอกหลอน ให้สัตย์สาบานตนเองว่าจะไม่ชักดาบออกจากฝักเข่นฆ่าใครอีก กระทั่งการพบเจอ Kotaro ทีแรกก็ไม่อยากจะยุ่งวุ่นวาย แต่ภายหลังเมื่อเด็กชายถูกลักพาตัว จึงตัดสินใจเสี่ยงชีวิต ให้การช่วยเหลือแบบไม่ครุ่นคิดถึงตนเอง
ความหลังของ Nanashi เป็นเพื่อนสนิทของ Shogen Itadori เคยรับใช้โชกุนเดียวกัน แต่ครั้งหนึ่งถูกบีบบังคับให้ต้องเข่นฆาตกรรมเด็กชาย-หญิง ทายาทของอีกโชกุนหนึ่งเพื่อมิให้เป็นเสี้ยนหนามหวนกลับมาล้างแค้น แม้ตัวเขาวันนั้นจะยินยอมกระทำตาม แต่หลังจากนั้นตัดสินใจทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง
ยังไม่หมดเท่านี้ ความหลังไกลกว่านั้นของ Nanashi คือตัวเขาเป็นชาวต่างชาติ คาดว่าเรืออัปปางแล้วรอดชีวิตเกยขึ้นฝั่ง ความที่ทรงผมสีแดง ใครๆมองด้วยความแปลกแยก จึงย้อมผมดำด้วยลูกไม้ ‘เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม’ หลังจากนั้นจึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่รู้สึกผิดแผกประการใด
Kotaro (พากย์เสียงโดย Yuuri Chinen) เด็กหนุ่มกำพร้า ถูกไล่ล่าติดตามตัวโดยนักรบราชวงศ์หมิง สาเหตุเพราะได้รับคำทำนาย/พยากรณ์ ว่ามีเลือดที่กระทำพิธีสังเวยบูชายันต์ จะสามารถสร้างยาอายุวัฒนะ ดื่มกินแล้วกลายเป็นอมตะ
วัยเด็กของ Kotaro เคยอาศัยอยู่ประเทศจีน แต่ลักลอบหนีกลับมาด้วยความช่วยเหลือของพระ Shouan เลยเต็มไปด้วยความหวาดระแวงว่าจะถูกจับกุมตัว เลยไม่ไว้ใจใครแปลกหน้า แม้จะได้รับการช่วยเหลือจาก Nanashi กลับยังพูดจาเสียดสี ถากถาง จินตนาการบรรเจิดไปไกลว่าเขาคงคิดคดทรยศหักหลัง แต่เมื่อเริ่มสนิทชิดเชื้อก็เกิดความไว้วางใจต่อกัน กลายเป็นมิตรภาพลูกผู้ชาย ไม่มีสิ่งข้าวของราคาใดจะทดแทนกันได้
Tobimaru สุนัขตัวโปรดของ Kotaro สายพันธุ์ Shiba เป็นสัตว์ที่มีความเฉลียวฉลาด ซื่อสัตย์ แถมยังไหวพริบ สันชาตญาณดีเลิศ สามารถใช้ปากคาบอาวุธลับนินจา (คุไน) จนตัวเองได้รับพิษอาการสาหัส โชคดียังสามารถรักษาหาย และช่วงท้ายออกติดตามเพื่อช่วยเหลือเจ้านายถูกลักพาตัวไป
Luo-Lang (พากย์เสียงโดย Kōichi Yamadera) รูปร่างสูงใหญ่ ตาสีน้ำเงิน และผมบลอนด์ แลดูราวกับเทพเจ้าในสายตาชาวญี่ปุ่น เป็นรองผู้บัญชาการนักรบราชวงศ์หมิง ทั้งชีวิตสนเพียงค้นหาคู่ต่อสู้ประลองฝีมือได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ อะไรอย่างอื่นไม่ใคร่สนใจสักเท่าไหร่
Shogen Itadori (พากย์เสียงโดย Akio Ōtsuka) หัวหน้าซามูไรในสังกัด Akaike ฝีมือการต่อสู้ถือว่ายอดเยี่ยม (แต่ยังห่างชั้นกับ Lou-Lang) แต่ที่โดดเด่นกว่าคือความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง เมื่อพบเห็นโชกุนถูกจับเป็นเชลย ปฏิเสธให้ใช้เป็นข้อต่อรอง สั่งให้ลูกน้องคนสนิทยิงเสียชีวิต แล้วตนเองก้าวขึ้นเป็นผู้นำ ทำสงครามครั้งนี้ชนะเมื่อไหร่ ทุกสิ่งอย่างคงสมหวังดั่งปรารถนา
ในส่วนของการพากย์อนิเมะ มีความพิลึกพิลั่นประการหนึ่ง เพราะตัวละครแบ่งออกเป็นญี่ปุ่น-จีน ซึ่งถ้าใครสามารถฟังทั้งสองภาษาออก หลายครั้งตัวละครจีนพูดจีน แต่เวลาคุยกันเองกลับเสียงญี่ปุ่น … คนอ่านซับไตเติ้ลคงไม่มีปัญหาอะไร แต่คนญี่ปุ่นอาจได้หงุดหงิดหัวเสียอยู่ไม่น้อย!
สตูดิโอ Bones เลื่องลือชาในการทำอนิเมชั่นให้มีความตื่นตระการ ซึ่งเรื่องนี้โดดเด่นในการเลือกโทนสีเข้มๆ สร้างบรรยากาศหม่นๆ สภาพอากาศฝนตก และหิมะ สัมผัสได่ถึงความหนาวเหน็บเย็นยะเยือก
อะไรที่ทำให้ฉากต่อสู้มีความตื่นเต้นเร้าใจได้เพียงนี้? นอกจากการตัดต่อรวดเร็วฉับไว ลองสังเกตเวลาตัวละครกวัดแกว่งอาวุธ -นึกว่าไลท์เซเบอร์จาก Star Wars- มันจะมีความลวงตาขณะกวาดดาบ ดูเหมือนมีขนาดกว้างยาวขึ้น และขณะปะทะเกิดประกายขึ้นระยิบระยับ
ช็อตเจ๋งสุดในอนิเมะคงต้องยกให้ขณะที่ Nanashi เลือกที่จะผิดคำสัตย์สัญญาตนเอง ดึงดาบออกจากฝักพร้อมๆผ้าพันไว้ค่อยๆขาดกระจุย แต่เด็ดกว่านั้นคือจังหวะสโลโมชั่น หิมะตก และเลือดศัตรูพุ่งสาดกระเซ็น
ตัดต่อโดย Hiroaki Itabe ขาประจำสตูดิโอ Bones, อนิเมะมีสามเรื่องราวดำเนินคู่ขนานกัน
– การเดินทางของ Nanashi, Kotaro และ Tobimaru
– Luo-Lang และคณะราชวงศ์หมิง ก่อสร้างหอคอยลึกลับ และออกติดตามล่า Kotaro
– Shogen Itadori กับแผนไต่เต้าสู่การล้มอำนาจ Lord Akaike แต่งตั้งตนเองเป็นโชกุน และขับไล่ราชวงศ์หมิงออกจากดินแดนญี่ปุ่น
สำหรับมวยคู่เอก Nanashi vs Lou-Lang มีลำดับเรื่องราวการพบเจอ-ต่อสู้ ถือว่าเจ๋งอยู่ไม่น้อย
– เริ่มต้นแนะนำ Lou-Lang คนเดียวสามารถเข่นฆ่าโจร
– Nanashi อยู่นิ่งๆในวัดร้าง มีศัตรูจากราชวงศ์หมิงมาให้ต้องแสดงความสามารถ
– แรกพบสบตาก็ชวนหาเรื่อง พานพบเจอกันตรงสะพาน ลองเชิงกันสักเล็กน้อยแต่มีเรื่องให้ต้องรีบเร่งออกเดินทาง
– จากนั้นก็ได้ยินเพียงเสียงลือเสียงอ้างของกันและกัน
– ฉากไคลน์แม็กซ์ เริ่มจากทำหน้าที่ของตนเอง Lou-Lang กำจัด Shogen Itadori, Nanashi ให้ความช่วยเหลือ Kotaro
– ท้ายสุดเผชิญหน้าตัวต่อตัว โดยไม่มีใครอื่นเข้ามาขัดขวางกั้น
ฉากแรกพบสบตาก็ชวนหาเรื่อง มีการลำดับเรื่องราวที่เจ๋งมากๆเลยนะ กล่าวคือไม่ได้แค่ตัดสลับไปมาระหว่าง Nanashi กับ Lou-Lang แต่ยังมีเด็กๆกำลังเล่นลูกข่าง และชายแก่นั่งตกปลาอยู่ริมตลิ่ง แทรกเข้ามาเพื่อสร้างจังหวะ อารมณ์ พบเห็นปฏิกิริยาของผู้พบเห็นรอบข้าง และล้อรับกับการต่อสู้ (ทุกคนต่างมีความสนุกเล็กๆน้อยๆ ‘little fun’ ในมุมของตนเอง)
เพลงประกอบโดย Naoki Satō ไม่ได้มีผลงานแค่อนิเมะอย่างเดียวนะ ที่เด่นๆอาทิ Pretty Cure (2004-09), Always Sunset on Third Street (2005) ** คว้า Japan Academy Prize: Best Score, Eureka Seven (2005-06), Live-Action ของ Rurouni Kenshin (2012), Stand By Me Doraemon (2014), Parasyte (2014-15) ฯ
เสียงขลุ่ยมอบสัมผัสอันโหยหวนสั่นสะท้าน จิตวิญญาณล่องลอย การเดินทางที่ไร้เป้าหมาย ชีวิตกลายเป็นสิ่งแปลกหน้า ชายนิรนามต้องการกระทำบางสิ่งอย่าง แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าคืออะไร แล้วจะมีโอกาสนั้นไหม
ฉากการต่อสู้ที่ตื่นตื่นตระการตา เกินกว่าครึ่งได้อารมณ์จากจังหวะดนตรี Rasatsu No En เสียงกลองรุกเร้า ท่วงทำนองรุกไล่ ดั่งเสียงตุบ-ตับของหัวใจ มันเลยเกิดการสั่นพ้อง คล้องจอง มันส์ชิบหายวายป่วน
ถึงจะเป็นสูตรสำเร็จของภาพยนตร์ยุคสมัยนี้ ที่ฉากแรกๆมักเริ่มต้นด้วยแอ๊คชั่นเรียกน้ำย่อย ซึ่งอนิเมะเรื่องนี้ถือว่าสร้างความประทับใจให้ผู้ชมได้สำเร็จ โหยกระหายอยากติดตามรับชมสิ่งที่ตื่นเต้นรุกเร้าใจยิ่งกว่านี้
แถมท้ายกับ Ihojin No Yaiba หรือ Battle Theme ซึ่งก็คือนำเอา Main Theme มาเรียบเรียงเป็นท่วงทำนองการต่อสู้ระหว่าง Nanashi vs. Lou-Lang เพิ่มความตื่นเต้นรุกเร้าใจ และใส่จิตวิญญาณตัวละครเข้าไป (คือถ้าเป็น Rasatsu No En จะมีแค่จังหวะกลองต่อสู้)
การต่อสู้ครั้งนี้ของ Nanashi เป็นมากกว่าแค่ปะมือประลองดาบ แต่เพื่อช่วยเหลือ/ปกป้องเพื่อนต่างวัย และก้าวข้ามผ่านปมร้ายๆ ไถ่โทษการกระทำจากอดีต ซึ่งชัยชนะอย่างหวุดหวิดของเขา เพราะมิตรภาพที่ได้จาก Kotaro หยกคือสัญลักษณ์แห่งโชคลาภ ความสงบสุข ร่ำรวย และอายุยืนนาน
มิตรภาพ เป็นสิ่งไม่สามารถซื้อหาได้ตามท้องตลาดทั่วไป แต่เกิดจากความสัมพันธ์ที่ค่อยๆพัฒนาสู่การไว้เนื้อเชื่อใจ ไม่คิดคดทรยศหักหลัง โกหกหลอกลวง ยินยอมพร้อมให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน และเสียสละตนเองแม้ไร้ซึ่งผลประโยชน์ตอบแทนใดๆ
ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ญี่ปุ่น ก็ไม่รู้ตั้งแต่ยุคสมัยนั้นที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งเห็นต่าง พูดคนละภาษาปาก แม้หน้าตาละม้ายคล้ายคลึง แต่วิถีความเชื่อ วัฒนธรรม ทุกสิ่งอย่างกลับตรงกันข้ามกัน ถ้าไม่เพราะผลประโยชน์ทับซ้อนบางอย่าง ย่อมมิอาจวางตนเสมอภาคเท่าเทียม
แต่พระเอก vs. ตัวร้าย ของอนิเมะต่างไม่ใช่ทั้งจีนหรือญี่ปุ่น แต่คือชาวยุโรปที่มีความแตกต่าง
– ขณะที่ Luo-Lang เลือกที่จะไม่ปกปิด ปรับตัว หรือเรียนรู้สนทนาภาษาญี่ปุ่น
– Nanashi สามารถปรับตัวเปลี่ยนแปลง ย้อมผมดำ สื่อสารภาษาญี่ปุ่น และยังโอบรับวัฒนธรรมซามูไร เคยรับใช้โชกุนสู้รบทำสงคราม
ดาบของคนแปลกหน้า/ชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยในผืนแผ่นดินแดนญี่ปุ่น แทบทั้งนั้นสนเพียงกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตน น้อยคนจะเรียนรู้จักปรับตัวเปลี่ยนแปลงเข้าหา ด้วยเหตุนี้จากมิตรจึงแปรสภาพสู่ศัตรูโดยง่ายกว่า ลุกลามบานปลายขัดแย้ง หายนะย่อมเกิดขึ้นทั้งสองฝั่งฝ่าย
“เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” นี่น่าจะเป็นใจความหลักของอนิเมะ ที่สะท้อนถึง Nanashi ซามูไรหัวแดงเรียนรู้จักปรับตัวเปลี่ยนแปลง แม้แต่คำสัตย์เคยให้ไว้ว่าจะไม่ชักดาบออกจากฝักอีก เมื่อเกิดเหตุการณ์ชี้เป็นชี้ตาย ตระหนักได้ถึงมิตรภาพสำคัญเหนือกว่าสิ่งอื่นใด และถือเป็นการไถ่โทษให้กับอดีตของตนเอง มันจึงไม่มีอะไร/ใครหน้าไหนสามารถฉุดเหนี่ยวรั้ง การกระทำสิ่งถูกต้องดีงาม ทรงคุณค่าสูงสุดแห่งมนุษยธรรม
“Breaking an oath, for a greater cause”.
ไม่ว่าโลกจะเหี้ยมโหดร้าย เต็มไปด้วยความภยันตราย น่าเบื่อหน่ายประการใด แต่เราก็ไม่ควรหลอกตนเอง ทะเยอทะยานในสิ่งไกลเกินเอื้อมมือไขว่คว้า (ยาอายุวัฒนะ, Shogen Itadori ต้องการเป็นโชกุน, Shouan ตกหลุมรักเจ้าหญิง ฯ) หรือลิ้มลองยาเสพติด (คาดว่าน่าจะเป็นฝื่น) การเผชิญหน้าต่อสู้กับความจริง แพ้ชนะอยู่ที่เราจะมองเห็นสิ่งสำคัญสูงสุดในชีวิตได้ด้วย ‘ใจ’ หรือเปล่า
ด้วยเสียงตอบรับดีล้นหลาม ทำให้อนิเมะได้ออกฉายตามเทศกาลอนิเมะทั่วโลก แถมคว้ารางวัลมาก็เยอะ เลยติด 1 ใน 14 เรื่องลุ้น Oscar: Best Animated Feature แต่ไม่ได้ผ่านเข้ารอบใดๆ (สามเรื่องที่เข้ารอบสุดท้ายคือ Wall-E, Bolt, Kung Fu Panda มีแต่อเมริกัน!)
ไม่มีอะไรในอนิเมะเรื่องนี้ที่ผมโปรดปรานเป็นพิเศษ แต่ประเด็นคือชื่นชอบทุกสิ่งอย่าง! ถือว่าเกิดจากการผสมผสานคลุกเคล้าได้อย่างกลมกล่อมลงตัว เพลิดเพลินกายใจแบบไม่ต้องครุ่นคิดอะไร บางทีแค่นั้นก็เหลือเฟือเพียงพอแล้ว
จัดเรต 18+ กับภาพความรุนแรง การทรยศหักหลัง ฆ่ากันตายเลือดสาด
Leave a Reply