Synecdoche New York

Synecdoche, New York (2008) hollywood : Charlie Kaufman ♥♥♥♥

การกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของ Charlie Kaufman ได้รับมอบหมายจากสตูดิโอให้สรรค์สร้างหนังสยองขวัญ สั่นประสาท (Horror) แต่สิ่งที่เขาครุ่นคิด น่าหวาดสะพรึงกลัวที่สุดในชีวิต คือการต้องเผชิญหน้า ‘ความตาย’ ไม่มีมนุษย์คนไหนสามารถหลบหนีพ้น

Synecdoche, สัมพจนัย หมายถึงการสร้างความเข้าเกี่ยวกับสิ่งหนึ่ง ด้วยการอ้างถึงสิ่งอื่นที่เป็นส่วนประกอบ ยกตัวอย่าง สวมสูทหมายถึงนักธุรกิจ, ค้าแข้งนักฟุตบอล, ดอยอินทนนท์อยู่จังหวัดเชียงใหม่, New York คือมหานครแห่งสหรัฐอเมริกา

เกร็ด: Synecdoche (สัมพจนัย) เป็นกลุ่มย่อยหนึ่งของ Metonymy (คำนามนัย) ซึ่งเป็นภาพพจน์ประเภทที่ใช้ชื่อเฉพาะ เพื่อสื่อถึงสิ่งที่ใหญ่กว่า

เชื่อว่าหลายคนอ่านแล้วอาจยังไม่สามารถทำความเข้าใจ ขอขยายความเพิ่มเติมอีกสักหน่อย Synecdoche (สัมพจนัย) คือการกล่าวถึงสิ่งที่เป็นองค์ประกอบขนาดเล็ก แล้วทำให้คนส่วนใหญ่เกิดความเข้าใจว่าต้องการสื่อความถึงอะไร

  • สวมสูท, บุคคลที่สวมสูท ผูกไทด์ มักเป็นพนักงานบริษัท ทำงานองค์กร สามารถเหมารวมถึงนักธุรกิจ
  • ค้าแข้ง, แม้มีกิจกรรม/กีฬามากมายที่ใช้เท้า ลำแข้งในการแข่งขัน แต่ใครๆต่างรับรู้จักกันดีว่าหมายถึงฟุตบอล
  • ดอยอินทนนท์, ดอยสุเทพ เวลามีการกล่าวถึง คนไทยย่อมตระหนักได้ว่าคือส่วนหนึ่งของภาคเหนือ/จังหวัดเชียงใหม่

สำหรับ Synecdoche, New York มันอาจเป็นสัมพจนัยที่ฟังงงๆ เพราะมหานคร New York มันมีความใหญ่โต เป็นมหภาคอยู่แล้ว? แต่คนที่รับชมหนังน่าจะตระหนักว่า New York จะมีการย่นย่อระดับจุลภาค ‘New York ใน New York’ คล้ายๆแบบหนังซ้อนหนัง ‘film within film’

เกร็ด: ภาพใบปิดของหนังก็คือตึกระฟ้าสูงใหญ่ของมหานคร New York ถูกสร้างขึ้นในโกดังขนาดใหญ่ (พบเห็นหลังคาเบื้องบน) หรือก็คือ ‘New York within New York’

เชื่อว่าหลายคนก็ยังอาจไม่เข้าใจอยู่ดี ให้ลองทำความเรื่องย่อของหนังดูนะครับ, Philip Seymour Hoffman รับบทเป็นผู้กำกับละครเวทีชื่อดัง Caden Cotard ครุ่นคิดสรรค์สร้างผลงานเรื่องใหม่ ด้วยการจำลองมหานคร New York สร้างฉากขึ้นภายในโกดังขนาดใหญ่หลังหนึ่ง แล้วนำเหตุการณ์บังเกิดขึ้นในชีวิตจริง (รวมถึงตัวตนเอง) มาเป็นต้นแบบเรื่องราวทั้งหมด … ลักษณะคล้าย ‘play within play’ แต่คำอธิบายชัดเจนสุดก็คือ ‘ชีวิตจริงไม่ต่างจากการแสดง’

ถ้าอ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้วยังไม่เข้าใจอะไร แนะนำว่าอย่าเสียเวลารับชมเลยนะครับ เพราะเรื่องราวยังมีความสลับซับซ้อนยิ่งๆไปกว่านี้อีก ต้องชื่นชมในอัจฉริยภาพนักเขียน/ผู้กำกับ Charlie Kaufman หลังจากพัฒนาบทขึ้นหิ้งมาหลายเรื่อง ผันตัวมากำกับหนังครั้งแรก โดดเด่นในวิสัยทัศน์ ความทะเยอทะยาน ออกแบบงานสร้างได้ตื่นตระการตา ต้องเรียกว่าหนึ่งในภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่สุดแห่งทศวรรษ 2000s


Charles Stuart Kaufman (เกิดปี 1958) นักเขียน/ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เชื้อสาย Jewish เกิดที่ Massapequa, New York City แล้วมาเติบโตยัง West Hartford, Connecticut ตั้งแต่เด็กเพ้อฝันอยากเป็นนักแสดง สมัยเรียนมัธยมเคยรับบทนำโปรดักชั่น Play It Again, Sam, โตขึ้นศึกษาต่อด้านการแสดง Boston University ก่อนย้ายมาเรียนโปรดักชั่นภาพยนตร์ New York University Film School ทำให้มีโอกาสรับรู้จัก Paul Proch ร่วมกันเขียนบทความตลก, Spec Scripts, Sketch Comedy, Pilot Scripts, โด่งดังจากเป็นผู้เขียนบท Being John Malkovich (1999), Adapation (2002), Eternal Sunshine of the Spotless Mind (2004) ฯ

จุดเริ่มต้นของ Synecdoche, New York (2008) เกิดจากสตูดิโอ Sony Pictures ติดต่อหา Spike Jonze และ Charlie Kaufman ให้ร่วมกันสรรค์สร้างภาพยนตร์แนว Horror ซึ่งพวกเขาก็ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ค้นหาสิ่งน่าหวาดสะพรึงที่สุดในชีวิต … ก่อนได้ข้อสรุปว่านั่นคือ “ความตาย”

Spike Jonze and I were approached by Sony to do a horror movie. We talked about things that we thought were really scary in the world, as opposed to horror movie conventions. We talked about things like mortality and illness and time passing and loneliness and regret. We kinda went in with that, and we got assigned to go off and write it, and I spent a couple years trying to explore those notions, and that’s what the movie is.

Charlie Kaufman

ดั้งเดิมนั้น Jonze ตั้งใจจะกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยตนเอง ตระเตรียมงานสร้างไปแล้วพอสมควร แต่พอกำลังจะเริ่มโปรดักชั่น ดันติดคิวเดินทางสู่ Melbourne, Australia เพื่อถ่ายทำ Where the Wild Things Are (2009) ไม่รู้จะกลับมาเมื่อไหร่ Kaufman เลยตัดสินใจกำกับหนังด้วยตนเองเป็นครั้งแรก

Well initially Spike Jonze was going to direct it but he wanted to do it after “Where the Wild Things are” and I didn’t want to wait five years and I asked if I could do it and he said ok. Suddenly I was doing it.

I guess was at the point where I was ready to take the plunge. So I was ready to do it and thought if the film finished on schedule I would turn 50. So I wanted get over my fears and do it. Also I thought this was a personal thing and if Spike wouldn’t do it, I couldn’t trust anybody else with it. You know I didn’t want to go out and hire directors since I knew the script better than anybody. I was ready and I did it.

I think directing and writing are very different jobs, and that is very apparent to me now. It probably was before, but now I understand more so why they’re different. Obviously, directing is a more social and managerial job. The other thing about directing is that it’s a very, very pragmatic job, and writing isn’t. You spend most of your time as a director trying to move forward with the movie. It happens on a daily basis, if not more than once a day, that you are struggling with budgetary constraints. Whereas when you’re writing, the limitation that you have is your imagination. So it’s decidedly non-pragmatic.

Charlie Kaufman เล่าถึงความแตกต่างระหว่างการเขียนบท vs. กำกับภาพยนตร์

ผู้กำกับละครเวทีชื่อดัง Caden Cotard (รับบทโดย Philip Seymour Hoffman) อาศัยอยู่ยัง Schenectady, New York แม้ผลงานละคอนเรื่องล่าสุด Death of a Salesman ได้รับคำยกย่องสรรเสริญ ประสบความสำเร็จล้นหลาม แต่ชีวิตครอบครัวกลับใกล้ถึงจุดแตกหัก ถูกภรรยาที่เป็นจิตรกร Adele Lack (รับบทโดย Catherine Keener) ทอดทิ้งจากไปพร้อมบุตรสาววัยสี่ขวบ

ความสำเร็จของ Death of a Salesman ทำให้ Cotard ได้รับรางวัล MacArthur Fellowship มอบทุนสร้างไม่อั้นให้สรรค์สร้างผลงานชิ้นใหม่ ให้คำนิยามโลกความเป็นจริงที่เลวร้าย (brutal realism) พยายามนำเสนออกมาอย่างซื่อตรง (honesty) และมีความเป็นตัวของตนเอง (whole self)

เริ่มต้นด้วยการเช่าโกดังขนาดใหญ่ย่าน Theater District จากนั้นก่อสร้างฉากเล็กฉากน้อย ว่าจ้างตัวประกอบมากมาย หลายปีถัดไปค่อยๆปรับปรุงพัฒนา พอถึงปีที่ยี่สิบก็สามารถลอกเลียนแบบ/จำลองมหานคร New York ขณะที่เรื่องราวนำจากประสบการณ์ชีวิต (ของ Cotard) ความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง และยังคัดเลือกนักแสดงให้มาเป็น Doppelgängers ตัวตายตัวแทนของตนเอง (และบุคคลรอบข้าง) … ลบเลือนเส้นแบ่งบางๆระหว่างโลกความจริง-การแสดงละคอน


Philip Seymour Hoffman (1967-2014) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Fairport, New York ครอบครัวหย่าร้างเมื่อตอนอายุ 9 ขวบ อาศัยอยู่กับมารดา ช่วงวัยเด็กมีความหลงใหลกีฬา มวยปล้ำ เบสบอล พออายุ 12 ได้ขึ้นแสดงละครเวที Arthur Miller: All My Sons ทำให้ค้นพบเป้าหมายชีวิต โตขึ้นสามารถสอบเข้าเรียนการแสดง Tisch School of the Arts หลังเรียนจบเริ่มมีผลงาน Off-Broadway, ซีรีย์โทรทัศน์, ภาพยนตร์เรื่องแรก Triple Bogey on a Par Five Hole (1991), เริ่มมีชื่อเสียงจากบทสมทบ Scent of a Woman (1992), Hard Eight (1996), Boogie Nights (1997), The Big Lebowski (1998), Magnolia (1999), The Talented Mr. Ripley (1999), Almost Famous (2000), คว้ารางวัล Oscar: Best Actor จากภาพยนตร์ Capote (2005)

รับบทผู้กำกับละครเวที Caden Cotard มีสีหน้าเหน็ดเหนื่อย ท่าทางเบื่อหน่าย พูดน้ำเสียงกระซิบซาบ ล้มป่วยสารพัดโรค (ขาสั่น, ผมร่วง, สูญเสียประสาทสัมผัส) ไม่เพียงประสบปัญหา ‘midlife crisis’ ยังหมกมุ่นครุ่นคิดถึงแต่ความตาย พยายามค้นหาวิธีเผชิญหน้า ด้วยการจำลองสร้างมหานคร New York ปรับเปลี่ยนแก้ไขซ้ำแล้วซ้ำอีก โหยหาความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) ยี่สิบปีให้หลังถึงสามารถค้นพบตัวตนเอง ยินยอมรับความเป็น-ตายได้ในที่สุด

แม้ตอนเขียนบท Kaufman ไม่เคยมีภาพนักแสดงคนใดอยู่ภายในจิตใจ แต่เมื่อต้องกลายมาเป็นผู้กำกับ กลับบังเกิดภาพของ Hoffman ราวกับตนเองเขียนบทบาทนี้มาเพื่อเขาโดยเฉพาะ โชคดีที่อีกฝ่ายตอบตกลง ไม่เช่นนั้นก็ไม่รู้จะลงเอยกับใคร

He can’t do anything that isn’t truthful. He won’t allow himself. He works really hard. His commitment is complete. If he doesn’t understand something, he won’t do it. When he’s crying in a scene, which he does a lot in this movie, it’s like he’s going through it, and of course the camera records that. It hurts. And that’s what I needed for this character, and I got it.

Charlie Kaufman กล่าวถึงการแสดงของ Philip Seymour Hoffman

การแสดงของ Hoffman สามารถสร้างความน่าสมเพศเวทนาให้ตัวละคร มีชีวิตที่เปราะบาง ล่องลอยไปอย่างไร้จิตวิญญาณ แทบไม่เคยพบเห็นรอยยิ้ม เพียงความหดหู่ ท้อแท้สิ้นหวัง สัมผัสความตายอยู่ใกล้แค่เอื้อม อาการป่วยแต่ละอย่างช่างแสนสาหัส หลายคนอาจหายใจติดๆขัดๆ ท้องไส้ปั่นป่วน เจ็บปวดรวดร้าวทรวงใน เป็นการแสดงที่ซึมเข้ามาในจิตวิญญาณผู้ชม ผมรู้สึกว่าอาจลุ่มลึกยิ่งกว่า Truman Capote ด้วยซ้ำไป

Hoffman was an analyst of human frailty, and he showed us men, puffed-up and broken-down alike, who lived their lives half-hypnotised by their own drives and desires. But in person he was stodgy, almost bear-like, with a shaggy beard that came and went as the roles required it, and the ambling physicality of a man who, you were sure, was here for the long haul.

นักวิจารณ์ Robbie Collin จาก The Telegraph

แน่นอนว่าตัวละครนี้คืออวตารของ Charlie Hoffman ชายวัยกลางคนที่เต็มไปด้วยปัญหาชีวิต อุปนิสัยเห็นแก่ตัว ดื้อรั้น เอาแต่ใจ โหยหาความสมบูรณ์แบบ ระหว่างสรรค์สร้างผลงานศิลปิน (เรื่องนี้เป็นผู้กำกับละครเวที=ภาพยนตร์) แม้ครานี้จะไม่ได้มุดเข้าใจหัวสมอง แต่สิ่งที่หนังนำเสนอออกมา สามารถเรียกว่า ‘สถาปัตยกรรมทางความคิด’ ออกแบบงานสร้างที่โคตรๆตื่นตระการตา

เกร็ด: ชื่อตัวละคร Caden Cotard จงใจให้ตรงกับ Cotard’s syndrome โรคทางจิตที่ผู้ป่วยมีอาการหลงผิด ครุ่นคิดว่าตนเองตายแล้ว (ไม่ว่าจะโดยตรงหรืออุปไมย) กำลังเน่าเปื่อยผุผอง สูญเสียเลือด/อวัยวะภายใน ฉันอยู่ในร่างไร้ชีวิต บ้างเรียกว่า Walking Corpse Syndrome ไม่ต่างจากซอมบี้ ศพเดินได้ หมกมุ่นยึดติดกับความตาย … โรคดังกล่าวได้รับการวินิจฉัยโดยจิตแพทย์ชื่อ Jules Cotard เมื่อปี ค.ศ. 1880


ถ่ายภาพโดย Frederick Elmes (เกิดปี 1946) ตากล้องสัญชาติอเมริกัน ร่ำเรียนการถ่ายภาพจาก Rochester Institute of Technology ตามด้วยสถาบัน American Film Institute ทำให้มีโอกาสรับรู้จักเพื่อนร่วมรุ่น David Lynch ร่วมกันถ่ายทำภาพยนตร์แจ้งเกิด Eraserhead (1977), รวมถึง Blue Velvet (1986), Wild at Heart (1990), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Hulk (2003), Broken Flower (2005), The Namesake (2006), Synecdoche, New York (2008) ฯ

งานภาพของหนังไม่ได้เน้นเทคนิคภาพยนตร์อะไรหวือหวา เพียงกล้องขยับเคลื่อนไหวช้าๆ (เพื่อสร้างความเอื่อเฉื่อย เหนื่อยหน่าย) แต่ภายในแต่ละช็อต-ฉาก ล้วนเต็มไปด้วยรายละเอียดมากมาย ออกแบบงานสร้างนำทีมโดย Mark Friedberg (Production Design), Adam Stockhausen (Art Direction) และ Lydia Marks (Set Designer) ไม่รู้พลาดเข้าชิง Oscar ได้อย่างไร??

หนังปักหลักถ่ายทำยัง New York City, Younker และ Schenectady (เป็นเมืองที่ล้อกับชื่อหนัง Synecdoche, New York) ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าโกดังขนาดใหญ่ตั้งอยู่แห่งหนไหน แต่ทิวทัศน์เมืองภายในมีทั้งสร้างขนาดเท่าของจริง, โมเดลจำลอง (Miniature), บางครั้งเทคนิค Matte Painting (ภาพวาดบนกระจก), และใช้ VFX แต่งแต้มให้แนบเนียน


หนังเริ่มต้นด้วยเสียงเด็กหญิงกำลังขับร้องเพลงไม่ได้สดับ ฟังไม่รู้เรื่อง (แต่เขียนคำร้องโดยผกก. Kaufman) ปลุกตื่นบิดา Cotard ลุกขึ้นมาจับจ้องมองกระจกบานแคบๆ

การจับจ้องมองภาพในกระจกของ Cotard ถือว่าบอกใบ้เรื่องราวของหนัง เกี่ยวข้องกับการค้นหาอัตลักษณ์ ภาพสะท้อนตัวตนของชายคนนี้ เหมือนกำลังมีสิ่งผิดปกติบางอย่างบังเกิดขึ้นภายใน (บุตรสาวอุจจาระสีเขียว ไม่ได้แปลว่าเธอล้มป่วยอะไรนะครับ ผมมองว่าคือสัญลักษณ์ความผิดปกติที่บังเกิดขึ้นภายใน(ร่างกายและจิตวิญญาณ)ของ Cotard)

ซึ่งระหว่างที่ Cotard กำลังโกนหนวดในห้องน้ำ กล้องถ่ายภาพสะท้อนในกระจก ก็บังเกิดอุบัติเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ทำให้ได้รับบาดเจ็บศีรษะ นี่สามารถสื่อถึงความผิดปกติทั้งทางร่างกายและจิตใจได้ด้วยเช่นกัน

หลายคนอาจไม่ทันสังเกตว่า Sammy Barnathan (รับบทโดย Tom Noonan) บุคคลที่มาทดสอบหน้ากล้องแล้วได้แสดงเป็น Caden Cotard ด้วยการอ้างว่าตนเองแอบจับจ้อง ถ้ำมอง ติดตามเขามาตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน จะหลบซ่อนอยู่ตรงเสาไฟด้านหลัง ตั้งแต่ฉากแรกๆนี้แล้ว!

หลายคนอาจไม่รับรู้จัก Harold Pinter (1930-2008) นักเขียนสัญชาติอังกฤษ เจ้าของรางวัล Nobel Prize สาขาวรรณกรรม เคยดัดแปลงบทภาพยนตร์ดังๆอย่าง The Servant (1963), The Go-Between (1971), The French Lieutenant’s Woman (1981), The Trial (1993), Sleuth (2007) ฯ

แซว: Harold Pinter เสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 2008 แต่หนังสือพิมพ์กลับขึ้นวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 2005

ส่วน Vivian Malone Jones (1942-2005) คือนักศึกษาผิวสี หนึ่งในสองคนแรกสามารถเข้าศึกษามหาวิทยาลัย University of Alabama เมื่อปี ค.ศ. 1963 … แนะนำให้ลองหารับชมสารคดีเรื่อง Crisis: Behind a Presidential Commitment (1963)

ละครเวทีโศกนาฎกรรม Death of a Salesman (1949) สร้างโดย Arthur Miller สามารถคว้ารางวัล Pulitzer Prize for Drama และ Tony Award: Best Play

แค่ชื่อก็บอกใบ้เกี่ยวกับความตาย ความล้มเหลวของ American Dream เนื่องจากผมขี้เกียจอธิบายเนื้อเรื่องย่อ แต่ให้สังเกตเรื่องราวที่หนังนำเสนอ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเซลล์แมนกับภรรยา สามารถสะท้อนถึง Cotard และ Adele ใกล้ถึงจุดเลิกราหย่าร้าง

ในขณะที่โปรดักชั่นงานสร้างละครเวทีของ Cotard มีขนาดมโหฬารขึ้นเรื่อยๆ (จากภายในโรงละคอนเล็กๆ กลายเป็นโกดังขนาดใหญ่) ผลงานภาพวาดศิลปะของภรรยา Adele Lack กลับมีขนาดเล็กจิ๋วลงเรื่อยๆ จนถึงขนาดต้องสวมแว่นขยายเพื่อเชยชม ซึ่งมักเป็นภาพเปลือยเปล่าของตนเอง/บุตรสาว (ดูราวกับจิตวิญญาณของพวกเธอ)

ทิศทางตรงข้ามในการสรรค์สร้างผลงานของทั้งคู่ ฟังดูมันอาจเติมเต็มกันและกันเหมือน Eternal Sunshine of the Spotless Mind (2004) ผมมองความตั้งใจของผกก. Kaufman ต้องการนำเสนอความแตกต่างที่ทำให้มิอาจครองคู่อยู่ร่วมกัน … เป็นการนำเสนอเหตุผลเชิงนามธรรมว่าทำไมพวกเขาถึงเลิกราหย่าร้าง มองหน้ากันไม่ติดอีกต่อไป

My understanding of those two was that this was the end of their relationship and, in my mind, they were probably less fully-formed as artists at the beginning of their relationship and—as I think people do in relationships—from there they went into different directions. You try to find out what your common ground is even as you move further and further apart. We caught them at that point.

If you look at the progression of Adele’s work in the movie, it gets smaller and smaller. In her studio at the beginning of the movie you can see some small but regular-sized paintings that you could see without a magnifying glass. The painting we first see her working on when Caden comes into her studio to pee in the sink is about an inch. By the time he goes to the gallery to look at her work, which is many years later, you can’t see them at all. They’re getting really tiny.

Part of it for me is the impossibility of both of those things, which again goes to the dream reality. The type of paintings that she does is not possible. I know people do tiny paintings and there’s even a sculptor who does tiny sculptures; but, to do something painterly—which is what these things look like when you see them with the magnifying glasses—at that scale is impossible. As a dream image it appeals to me. Her work is in a way much more effective than Caden’s work. Caden’s goal in his attempt to do his sprawling theater piece is to impress Adele because he feels so lacking next to her in terms of his work.

Charlie Kaufman

The Burning House, บ้านที่ลุกไหม้ ควันไฟคุกรุ่น (แต่มันก็เคยไม่พังทลายกลายเป็นจุลสักที) ผมมองนัยยะถึงการใช้ชีวิตบนความเสี่ยง (เหมือนการที่ Cotard สัมผัสถึงความตายใกล้เข้ามา) ทุกคนรับรู้ว่าสักวันความตายต้องมาถึง แต่เรายังดำเนิน(ชีวิต)ต่อไป โดยไม่หวาดหวั่นกลัวเกรงอันตราย

Well, she made the choice to live there. In fact, she says in the scene just before she dies that the end is built into the beginning. That’s exactly what happens there. She chooses to live in this house. She’s afraid it’s going to kill her but she stays there and it does. That is the truth about any choice that we make. We make choices that resonate throughout our lives.

Charlie Kaufman

นี่น่าจะไม่ใช่รายการโทรทัศน์ แต่เป็นอนิเมชั่นที่สะท้อนเหตุการณ์ขณะนั้น Cotard นั่งเพ้อฝันกลางวันอย่างไร้เป้าหมาย จนมีสุนัขจิ้งจอกย่องเข้ามาจะแย่งเหยื่อ (น่าจะสื่อถึงชีวิตครอบครัวที่กำลังจะสูญเสียภรรยา ถูกแก่งแย่งโดยใครบางคน), นาฬิกานับถอยหลัง (ความสัมพันธ์กับ Adele) และโดยเฉพาะ Sammy แอบถ้ำมองอยู่หลังต้นไม้

หลังถูกภรรยาทอดทิ้งขว้าง ปฏิกิริยาของ Cotard แสดงอาการย้ำคิดย้ำทำ พบเห็นภาพ(หลอน)ตนเองในรายการโทรทัศน์ อนิเมชั่นด่ำดิ่งลงสู่ก้นเบื้องมหาสมุทร (สื่อถึงจุดตกต่ำสุดในชีวิต) และอาการชักกะตุก (เหมือนทำการเคารพคารวะภาพยนตร์ Possession (1981))

คนเราจะขาสั่นเมื่อไหร่? เมื่อขึ้นไปอยู่บนที่สูง สภาพอากาศหนาวเหน็บ เป็นตะคริว หรือเกิดอาการหวาดกลัวต่อบางสิ่งอย่างจนไม่สามารถควบคุมตนเอง นั่นคืออิทธิพลของจิตใจที่ส่งผลกระทบต่อระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System, ANS)

ด้วยเหตุนี้ผมจึงมองอาการขาสั่นไม่หยุดจนต้องเดินกะโผลกกะเผลกของ Cotard คือสัญลักษณ์แทนความหวาดกลัว(ความตาย)ที่แสดงออกทางกายภาพ

วิวัฒนาการจำลองสร้างเมือง New York ในโกดังขนาดใหญ่ เริ่มต้นจากนามธรรม (Abstract/Surreal) พัฒนาสู่รูปแบบโครงสร้าง (Structure) จนกระทั่งกลายเป็นเสมือนจริง (Realist) ค่อยๆทำลายเส้นแบ่งระหว่างการละคอน vs. ชีวิตจริง จนสามารถซ้อนทับ กลายเป็นอันหนึ่งเดียวกัน

  • เริ่มต้นจะมีการแบ่งพื้นออกเป็นบล็อคๆ แทนห้องหับ มีเพียงเฟอร์นิเจอร์ สิ่งข้าวของไม่กี่ชิ้น แล้วจำลองสถานการณ์บังเกิดขึ้น
  • ทำการก่อสร้างอาคาร 2-3 ชั้น โดยยังมีการเปิดฝาผนังด้านหนึ่ง สำหรับรับชมการแสดงจากภายนอก
  • จากนั้นก่ออิฐปิดฝาผนังที่เปิดออก ทำให้อาคารต่างๆมีความเสมือนจริง ‘New York ใน New York’

ความล้มเหลวในชีวิตคู่ครั้งที่สองระหว่าง Cotard กับนักแสดง Claire Elizabeth Keen (รับบทโดย Michelle Williams) เริ่มต้นจากสามีสร้างฉากห้องพักในโกดังแบบเดียวกันเปี๊ยบกับอพาร์ทเม้นท์พักอาศัย แล้วคัดเลือกนักแสดงแทน Sammy ทำให้เธอไม่สามารถแยะระหว่างชีวิตจริง-การแสดง เส้นแบ่งระหว่างสองสิ่งกำลังเลือนลาง เจือจาง สร้างความสับสน จนถึงจุดยินยอมรับไม่ได้!

ผมเหมารวมเรื่องราวของบุตรสาว Olive ไว้ตรงนี้เลยก็แล้วกัน หนังจงใจทำให้ผู้ชมคาดเคลื่อนเรื่องเวลา หลังถูกมารดาพาไปอยู่ด้วยตั้งแต่อายุ 4 ปี แต่ Cotard กลับพูดบอกว่าแค่แยกจากกันไม่กี่สัปดาห์ เลยส่งกล่องของขวัญโดยครุ่นคิดว่าบุตรสาวยังตัวเล็กอยู่ … เหมือนว่า Cotard ขณะนี้จะสูญเสียประสาทสัมผัสทางร่างกาย แต่เพราะเกิดความเจ็บปวดรวดร้าวทรวงใน จึงทำการหยอดน้ำตาเทียม แล้วร่ำร้องไห้ปลอมๆออกมา

เพราะไม่ได้อยู่เคียงข้าง Olive จึงถูกมารดา Adele และชู้รัก Maria (รับบทโดย Jennifer Jason Leigh) ปลูกฝัง เสี้ยมสอนสั่ง (ให้ครุ่นคิดเข้าใจว่าบิดาเป็นเกย์ แต่จริงๆแล้วไม่น่าจะใช่) แถมยังกลายเป็นนางแบบรอยสัก โชว์เรือนร่างงานศิลปะ ไม่สามารถพูดคุยสื่อสารภาษาอังกฤษ พบเจอหน้ากันก่อนตายเลยไม่สามารถยกโทษให้อภัย … การที่ Olive ได้พบเจอหน้าบิดาก่อนตาย ล้อกับตอนจบของหนังที่ Cotard สิ้นลมหายใจในอ้อมอกมารดาของ Ellen

รอยสักรูปดอกกุหลาบ เต็มไปด้วยหนามแหลมคอยทิ่มแทงผู้ไม่รู้จักระวัง มักสื่อถึงความรักที่มีทั้งความงดงามและเจ็บปวด แต่ท้ายที่สุดก็แห้งเหี่ยว (ตอนที่ Olive สิ้นลมหายใจ มีการทำให้ดอกกุหลาบในรอยสักแห้งเหี่ยว ร่วงหล่นออกมาเป็นใบจริงๆ)

Cotard เคยครุ่นคิดจะกระโดดตึกฆ่าตัวตาย (เพราะผิดหวังในรักกับ Hanzel) แต่ครั้งนั้นทำไม่สำเร็จ มีใครบางคนช่วยชีวิตเขาไว้ แต่สำหรับ Sammy ที่เป็นตัวตายตัวแทน (Doppelgängers) ด้วยเหตุผลเดียวกัน (ผิดหวังในรักกับ Hanzel) กลับไม่มีใครคอยหยุดยับยั้ง ทำให้ตกตึกลงมาเสียชีวิต … ผมแอบรู้สึกว่าซีนนี้ต้องการให้ผู้ชมตระหนักถึงความแตกต่าง “ชีวิตจริงไม่ใช่การแสดง” ต่อให้เป็นตัวตายตัวแทน ก็มีความครุ่นคิดอ่านของตนเอง

ความตายของ Sammy ทำให้เกิดงานศพสองครั้ง, ครั้งแรกคือเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง ยังสุสาน มีญาติพี่น้องมาร่วมไว้อาลัย (Cotard คือหนึ่งในผู้เข้าร่วมงาน) ส่วนอีกครั้งมีการจำลองพิธีศพในโกดังหลังใหญ่ ประกอบด้วยนักแสดง ตัวประกอบ และกำกับโดย Cotard

จุดเริ่มต้นเกิดจาก Cotard เพ้อรำพัน ต้องการหวนกลับหาอดีตภรรยา Adele ขณะกำลังจะเคาะประตูหน้าอพาร์ทเม้นท์ แล้วเกิดความเข้าใจผิดว่าคือแม่บ้าน Ellen จากนั้นเขาก็จำลองสร้างฉากนี้ขึ้นมาในโกดัง กลายเป็นแม่บ้านทำความสะอาด ปัดกวาดเช็คถูก อาศัยใช้ชีวิตอยู่ในนั้น

ขณะที่แม่บ้านตัวจริง Ellen Bascomb (รับบทโดย Dianne Wiest) ในตอนแรกมาทดสอบหน้ากล้อง แล้วได้รับเล่นเป็นตัวตนเอง หลังมีประสบการณ์สักพักใหญ่ๆ จากนั้นเธอก็อาสารับบทผู้กำกับ Cotard คอยชี้นิ้วสั่งนักแสดง ก่อนสลับบทกันในชีวิตจริง ด้วยการมอบหูฟังไร้สาย ชี้นำการแสดง(ของ Cotard)สู่จุดจบของหนัง

หลังการเสียชีวิตของ Hazel สังเกตว่าตัวประกอบด้านหลังจะยืนสงบนิ่งอยู่เฉยๆ ไม่มีการขยับเคลื่อนไหวใดๆ ระหว่างนั้น Ellen ที่ยังรับบทแม่บ้าน เข้ามาอาสารับบท Cotard พร้อมให้คำอธิบายจำกัดความ “He lives in a half world between stasis and antistasis.” มันช่างตรงกันความหยุดนิ่ง-เคลื่อนไหวของซีนนี้เสียจริง!

พิธีศพของ Hanzel จะเป็นการผสมผสาน (ครั้งแรก-สองจากพิธีศพ Sammy) ระหว่างการสร้างฉากในโกดัง นักแสดงไว้อาลัยหน้าหลุมฝังศพ และฉายภาพที่บันทึกจากงานศพจริงๆด้านหลัง แต่ทั้งหมดจะกำกับโดย Ellen (แม่บ้านที่รับบทเป็น Cotard) ซึ่งหลังจบพิธีจะมีฝนตกทั้งในโกดังและโปรเจคเตอร์ด้านหลัง … เรื่องราวดำเนินมาจนถึงจุดที่ไม่สามารถแยกแยะระหว่างการแสดง vs. เหตุการณ์จริง ได้อีกต่อไป!

Cotard ก้าวออกเดินจากอพาร์ทเม้นท์ไปตามท้องถนนหนทางมหานคร New York รวมถึงเมืองจำลอง Synecdoche, New York ที่ก่อสร้างขึ้น สองข้างทางไม่หลงเหลือผู้คน เพียงความเวิ้งว่างเปล่า เพียงเศษซากปรักหักพัง เสียงบรรยายชี้นำ(จากหูฟัง)ของ Ellen พูดบอกว่านี่คือประสบการณ์ของทุกสรรพสิ่ง และทุกสรรพชีวิตได้กลายมาเป็น Cotard

This is everyone’s experience. Every single one. The specifics hardly matter. Everyone is everyone. So you are Adele, Hazel, Claire, Olive. You are Ellen. All her meager sadnesses are yours.

ทีแรกผมเข้าใจผิดจากประโยค “You are Ellen.” ครุ่นคิดแค่ว่า Cotard สวมบทบาทเป็น Ellen ในห้วงสุดท้ายของชีวิต (แถมสิ้นลมหายใจในอ้อมอกมารดาของ Ellen) แต่ประโยคก่อนหน้านี้ “Everyone is everyone.” ต้องการสื่อว่า Cotard เมื่อดำเนินมาถึงจุดนี้สามารถกลายเป็นทุกคน เข้าใจความหมายชีวิต และทุกสรรพสิ่งอย่าง

นาฬิกาตอนต้นเรื่องปลุกตื่น Cotard เวลา 7:44 ขณะที่ช่วงท้ายแม้เป็นเพียงภาพวาดนาฬิกาบนฝาผนัง ยังพบเห็นเข็มสั้นยาวชี้ตัวเลข 7:45 นี่เป็นการสะท้อนคำพูด “The end is built into the beginning” เริ่มต้น=สิ้นสุด, ตื่นขึ้นมา=หลับนิรันดร์, ความตายคือจุดเริ่มต้น

ทำไม Cotard ถึงมาพบเจอมารดาของ Ellen? นั่นเพราะขณะนี้ Cotard สามารถกลายเป็นทุกคนรวมถึง Ellen ซึ่งในความทรงจำวัยเด็ก (ของ Ellen) เคยพูดกล่าวตอนไปปิคนิคว่า “I’m going to remember this moment for the rest of my life.” นั่นคือเหตุผลให้เธอยังคงจดจำมารดา (แม้เสียชีวิตไปนานแล้ว) รู้สึกผิดหวังที่ตนเองไม่เคยไปปิคนิกกับบุตรสาว เลยหวนระลึกถึงคำสัญญา(เคยให้ไว้มารดา)ในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต

แต่คำกล่าวสุดท้ายของหนังนั้นเป็นของ Cotard เองนะครับ บังเกิดความครุ่นคิด พูดทีละประโยคสั้นๆ พร้อมภาพค่อยๆ Fade-to-White (แล้วตลอด Closing Credit จะมีการ Fade-to-Black) กล่าวว่า “I have an idea. I think if everyone … Die.” ความตายจุดเริ่มต้น ว่ายเวียนวนสู่ความเป็นนิรันดร์

ตัดต่อโดย Robert Frazen สัญชาติอเมริกัน เข้าวงการจากเป็นผู้ช่วยตัดต่อ The River (1984), Glory (1989), Point Break (1991), ได้รับเครดิตตัดต่อ อาทิ Synecdoche, New York (2008), The Founder (2016) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Caden Cotard ชายวัยกลางคนอายุประมาณ 40 ปี แม้ประสบความสำเร็จกับละครเวที Death of a Salesman แต่ชีวิตครอบครัวกลับกำลังย่ำแย่ แถมร่างกายเจ็บปวดอิดๆออดๆ สัมผัสความตายใกล้เข้ามา จึงครุ่นคิดสรรค์สร้างผลงานเรื่องใหม่ เพื่อพิสูจน์/ค้นหาตัวตนเอง … ผมไม่แน่ใจว่าเรื่องราวดำเนินไปนานเท่าไหร่ มีกล่าวถึงเวลาพานผ่านไป 20 ปี แต่กว่าจะถึงวันเสียชีวิตคาดว่าอาจถึง 40 ปี (อ้างอิงจากบทความนักวิจารณ์ Roger Ebert)

การแบ่งองก์ของหนังทำได้ค่อนข้างยากทีเดียว แต่ผมจะใช้การดำเนินไปของเวลาเป็นจุดหมุน แบ่งออกเป็นครึ่งแรก-ครึ่งหลัง

  • ครึ่งแรก Caden Cotard เผชิญหน้ากับปัญหา ‘midlife crisis’
    • ร้อยเรียงปัญหาชีวิต ครอบครัว รวมถึงอาชีพการงานของ Caden Cotard
    • การแสดงละครเวที Death of a Salesman ระหว่างซักซ้อม และรอบปฐมทัศน์
    • Cotard กับภรรยา เข้าปรึกษาจิตแพทย์ พยายามรักษาความสัมพันธ์
    • แต่ภรรยาก็ตัดสินใจเลิกราหย่าร้างกับ Cotard พร้อมพาบุตรสาวเดินทางสู่ Berlin
    • ด้วยความโดดเดี่ยวอ้างว้าง Cotard เลยตัดสินใจเข้าหา เกี้ยวพาราสี Hazel (พนักงานสาว Boxoffice) แต่กลับล่มปากอ่าว
  • ครึ่งหลัง Caden Cotard พยายามค้นหาคำตอบชีวิตในระยะเวลา 40 ปี
    • Cotard ครุ่นคิดพัฒนาโปรเจคเรื่องใหม่ ติดต่อสถานที่โกดังขนาดใหญ่ รวมรวมทีมงานและนักแสดง
    • เพราะความเหงาหงอย Cotard เลยสานสัมพันธ์ แต่งงานกับนักแสดงนำ Claire Elizabeth Keen และมีบุตรสาวร่วมกัน
    • Cotard เริ่มนำเอาเหตุการณ์ในชีวิตจริง มาถ่ายทอดผ่านการแสดง
    • หลายปีถัดมาคัดเลือกนักแสดงที่จะมารับบทเป็น Doppelgängers ตัวตายตัวแทนของตนเอง
    • Cotard หย่าร้างกับ Keen แล้วเปลี่ยนมาสานสัมพันธ์กับ Hazel
    • หลังการเสียชีวิตของ Doppelgängers ทำให้ Cotard ปรับเปลี่ยนมาใช้นักแสดงหญิงรับบทบาทแทน
    • ความตายของบุตรสาว ทำให้ Cotard ตัดสินใจปักหลักอาศัยอยู่ในห้องพักของ Adele (ที่สร้างขึ้นในโกดัง)
    • และหลายปีถัดมาเมื่อใครต่อใครตายจากไป Cotard ก้าวเดินผ่านสถานที่ไร้ซึ่งผู้คน ก่อนมาสิ้นลมหายใจในอ้อมอกหญิงสาวคนหนึ่ง

การดำเนินเรื่องในระยะเวลา 40 ปี มันช่างมีความเยิ่นยาวนาน ทำให้ต้องใช้ ‘Time Skip’ รวมถึง ‘Jump Cut’ อยู่บ่อยครั้ง บังเกิดสัมผัสล่องลอยเหมือนฝัน ชีวิตดำเนินไปอย่างไร้เป้าหมาย เฝ้ารอคอยความตาย เหมือนไม่เคยมีอะไรบังเกิดขึ้น


เพลงประกอบโดย Jon Brion (เกิดปี 1963) นักร้อง/นักแต่งเพลง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New Jersey ในครอบครัวนักดนตรี บิดาเป็นผู้กำกับวง (Band Director) Yale University ลูกไม้เลยหล่นไม่ไกลต้น, โตขึ้นตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน เข้าร่วมวงดนตรี The Bats จากนั้นเริ่มเขียนเพลง เล่นกีตาร์ ออกอัลบัม ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ Hard Eight (1996), Magnolia (1999), Punch-Drunk Love (2002), Eternal Sunshine of the Spotless Mind (2004), Synecdoche, New York (2008), Lady Bird (2017) ฯ

งานเพลงของหนังมีทั้งท่วงทำนองเศร้าๆ เหงาๆ แต่ฟังไปฟังมากลับค่อยๆบิดๆเบี้ยวๆ สัมผัสความตาย อันตรายใกล้เข้ามา ซึ่งความผิดแผกแปลกประหลาดนั้น สามารถสะท้อนถึง ‘สถาปัตยกรรมทางความคิด’ สร้างสิ่งที่ไม่มีใครเหมือน และไม่มีทางเหมือนใคร

Dmi Thing From When She Was The Kitchen เริ่มต้นด้วยการประสานเสียงไวโอลิน พื้นหลังคลอประกอบด้วยเสียงตื้ดๆ ตื้ดๆ (เหมือนเครื่องส่งสัญญาณรหัสมอร์ส) มีความโหยหวน สั่นสยิวผิวกาล จากนั้นจะมีการบรรเลงสรรพเสียงแห่งความสับสนวุ่นวาย (เปรียบเทียบถึง ‘midlife crisis’) แล้วเปลี่ยนมาเป็นการดีดกีตาร์ไฟฟ้า ล่องลอย เคลื่อนคล้อยดำเนินไป จนถึงความตาย/จุดสิ้นสุดบทเพลง

แซว: มีหลายบทเพลงในอัลบัมตั้งชื่อว่า Dmi แต่ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าต้องการสื่อถึงใครหรืออะไร

All Plays Out (Fire Sale Version) ดังขึ้นระหว่าง Hazel ตัดสินใจซื้อบ้านที่กำลังลุกไหม้ ควันไฟคุกรุ่น อย่างที่ตีความไปแล้วว่าเป็นการสื่อถึง ความเสี่ยงชีวิต ใกล้ชิดความตาย แต่มนุษย์เรายังลงเลือกก้าวดำเนิน(ชีวิต)ต่อไป ไม่หวาดกลัวเกรงอันตราย เสียงดนตรีหลักจึงบรรเลงเสียงสูงแห่งความหวัง ตรงกันข้ามกับท่วงทำนองพื้นหลัง เล่นทุ้มต่ำ สัมผัสความตาย

แซว: บทเพลงนี้แม้มีวงเล็บ (Fire Sale Version) แต่มันก็ไม่มีเวอร์ชั่นอื่นในอัลบัมนะครับ

Something You Can’t Return To แค่ชื่อก็บ่งบอกถึงความเศร้าโศกเสียใจ บางสิ่งอย่างในชีวิตไม่สามารถหวนย้อนกลับไป ใช้เพียงการบรรเลงกีตาร์ไฟฟ้า ฟังแล้วใจหายวูบวาบ สั่นสะท้านทรวงใน โหยหาอาลัย อยากร่ำร้องไห้ออกมา ช่วงท้ายบทเพลงเหมือนมีการใช้ไวโอลิน-เชลโล่ร่วมด้วย เลยยิ่งบีบเค้นคั้นอารมณ์ขึ้นๆไปอีก

แต่บทเพลงที่ทำให้ผมเสียน้ำตาจริงๆนั้นชื่อว่า Ok ดังขึ้นช่วงท้ายของหนัง เมื่อแทบทุกคน(ตาย)จากไป โกดังแห่งนี้จึงหลงเหลือเพียงสถาปัตยกรรมสูงใหญ่ Caden Cotard ก้าวเดิน ขับรถ ดำเนินไปอย่างไร้จุดมุ่งหมาย เฝ้ารอคอยความตาย ลมหายใจเฮือกสุดท้าย ก่อนได้พบเจอหญิงสาวแปลกหน้าคนหนึ่ง

บทเพลง Transposition เริ่มต้นด้วยเสียงสัญญาณรหัสมอร์ส (ไม่รู้เหมือนกันว่าส่งข้อความอะไร) ราวกับพินัยกรรมสื่อสารกับผู้ชม คำพูดสุดท้ายในชีวิตของ Caden Cotard ร้องขอหญิงสาวแปลกหน้าคนนั้น ซบลงอ้อมอก เพื่อพักผ่อนคลาย ก่อนสิ้นลมหายใจเฮือกสุดท้าย

Ending Credit บทเพลง I’m Just a Little Person หรือสั้นๆ Little Person ฉันก็แค่มนุษย์ตัวเล็กๆบนโลกใบนี้ แต่งโดย Charlie Kaufman, Jon Brion, ขับร้องโดย Deanna Storey

[Verse 1]
I’m just a little person
One person in a sea
Of many little people
Who are not aware of me
I do my little job
And live my little life
Eat my little meals
Miss my little kid and wife

[Verse 2]
And somewhere, maybe someday
Maybe somewhere far away
I’ll find a second little person
Who will look at me and say—
I know you
You’re the one I’ve waited for
Let’s have some fun

Life is precious, every minute
And more precious with you in it
So let’s have some fun

[Verse 3]
We’ll take a road trip way out west
You’re the one I like the best
I’m glad I found you, like hangin’ ’round you
You’re the one I like the best

Somewhere, maybe someday
Maybe somewhere far away
Somewhere, maybe someday
Maybe somewhere far away
Somewhere, maybe someday
Maybe somewhere far away
I’ll meet a second little person
And we’ll go out and play

I have no interest in making a genre horror movie. So I keep trying to make sure that’s not what I am doing, so I keep trying to figure out what’s really scary, not what’s scary in movies because that is too easy, and it’s a real struggle, but it’s a struggle that I choose.

Charlie Kaufman

แม้ได้รับมอบหมายจากสตูดิโอ Sony Pictures ให้สรรค์สร้างภาพยนตร์แนว Horror แต่ Charlie Kaufman (และ Spike Jonze) หาได้สนใจทำหนังสยองขวัญ สั่นประสาท เสียวสันหลัง ผีตุ้งแช่ ตามสไตล์ Hollywood พยายามมองหาสิ่งที่พวกเขารับรู้สึกว่าน่าหวาดสะพรึงกลัวที่สุดในชีวิต … ก่อนค้นพบเจอ ‘ความตาย’ ปลายทางของทุกสรรพชีวิต ไม่มีใครสามารถดิ้นหลบหนี สักวันทุกคนต้องเผชิญหน้ากับมัน

“The end is built into the beginning”

Synecdoche, New York (2008) นำเสนอเรื่องราวของชายวัยกลางคน (midlife crisis) เคยประสบความสำเร็จถึงจุดสูงสุด (ละครเวที Death of a Salesman ได้รับรางวัล MacArthur Fellowship) แล้วตกต่ำลงถึงขีดสุด (ถูกภรรยาทอดทิ้ง เสี้ยมสอนบุตรสาวให้เข้าใจอะไรผิดๆ) แถมร่างกายเจ็บปวดอิดๆออดๆ ล้มป่วยสารพัดโรค จึงทำให้เขาเกิดความตระหนัก สัมผัสถึงความตายใกล้เข้ามาเยือน เกิดอาการหวาดกลัว ท้อแท้สิ้นหวัง พยายามค้นหาวิถีทางทำให้ตนเองมีชีวิตยืนยาว และกลายเป็นอมตะ

When you approach middle age, lots of stuff happens. Your body is aging, you’re watching people around you get sick, you’re watching people die, your mortality becomes very present at that point in your life. I’ve always been fearful of things like that, but as you get older, you have to deal with it more.

มนุษย์เราเริ่มตระหนักถึงความตายเมื่อไหร่กัน? นี่เป็นสิ่งที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางคนอาจรับรู้ตัวแต่เด็กเพราะเคยพานผ่านประสบการณ์เฉียดเป็น-เฉียดตาย พบเห็นคนใกล้ตัวจากไป บางคนอาจต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ร่างกายเจ็บป่วยอิดๆออดๆ ผมหงอก ศีรษะล้าน ผิวหนังแห้งเหี่ยว สูญเสียอะไรต่อมิอะไรมากมาย

โลกยุคสมัยใหม่ไม่เคยเสี้ยมสอนอะไรเกี่ยวกับการเผชิญหน้าความตาย! เอาแต่สร้างภาพมายาคติ กินโน่นกินนี่แล้วจะมีอายุยืนยาว เชื่อมั่นในระบบสาธารณสุข สามสิบบาทรักษาทุกโรค ทำให้คนสมัยนี้ใช้ชีวิตอย่างเอ้อละเหยลอยชาย เต็มไปด้วยความประมาท ปล่อยตัวปล่อยใจ แทบจะไม่มีใครครุ่นคิดถึงมรณานุสติอย่างจริงจัง!

มรณานุสติ คือการเจริญสติที่ระลึกถึงความตาย (นี่ไม่ใช่การหมกมุ่นเอาแต่ครุ่นคิดถึงความตายนะครับ) เป็นการพัฒนาจิตให้รับรู้สภาพแท้จริงของโลก สังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมสำหรับวันนั้น เห็นความตายเป็นเรื่องปกติสามัญ เวลาใครหรือตัวเราเสียชีวิตจักไม่เกิดอาการเศร้าโศกเสียใจ สามารถปล่อยละวางสิ่งต่างๆทางโลก จากไปอย่างสงบสุข หรืออาจบรรลุธรรมขั้นสูง

วันหนึ่งพระองค์ตรัสถามพระอานนท์ว่า “อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เธอนึกถึง ความตายวันละกี่ครั้ง”
พระอานนท์กราบทูลตอบว่า “นึกถึงความตายวันละเจ็ดครั้งพระเจ้าข้า”
พระองค์ตรัสว่า “ยังห่างมากอานนท์ ตถาคตนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก”

(ผมหาอ้างอิงในพระไตรปิฏกไม่ได้ว่าอยู่เล่มไหน ฉบับอะไร แต่เป็นคำสอนที่ใครต่อใครมักอ้างอิงถึง)

ชาวตะวันตกมีมุมมองต่อ ‘ความตาย’ แตกต่างจากฝากฝั่งตะวันออก บางศาสนาเชื่อว่าตายแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์(หรือลงนรก) หวนกลับสู่อ้อมอกพระเป็นเจ้า บางศาสนาเชื่อว่าตายแล้วสูญ จึงเสี้ยมสอนให้มนุษย์ใช้ชีวิตที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า จะได้ไม่ต้องมาสูญเสียใจเอาภายหลัง

สำหรับนักเขียน/ผู้กำกับ Charlie Kaufman (รวมถึงตัวละคร Caden Cotard) เมื่อถึงวัยกลางคน (Kaufman ขณะนั้นอายุกำลังย่างเข้า 50 ปี) ร่างกายเจ็บป่วยอิดๆออดๆ ก็เริ่มตระหนักถึงความตายใกล้เข้ามา จึงครุ่นคิดหาวิธีการที่จะพิสูจน์การมีตัวตน ให้มีชีวิตยืนยาว และกลายเป็นอมตะ ด้วยการสรรค์สร้างผลงานที่นำเสนอความเป็น ‘ส่วนตัว’ นำเอาโลกทั้งใบ(ของตนเอง)ยัดใส่งานศิลปะ … ในศาสตร์ภาพยนตร์มีคำเรียกผู้กำกับประเภทนี้ว่า ‘auteur’

ซึ่งการค้นหาตัวตนเองของผกก. Kaufman และตัวละคร Cotard ไม่ใช่แค่จำลองสร้างโลกส่วนตัว ‘New York ใน New York’ ขึ้นมาในโกดังหลังใหญ่เท่านั้น แต่ยังมีกระบวนการ ลำดับขั้นตอน เพื่อให้เกิดความตระหนักถึง (Self-Realization) โดยอ้างอิงตามหลังจิตวิเคราะห์ของ Carl Jung (Jungian Psychology)

  1. แปรสภาพตนเองให้กลายเป็นเหมือนเงา (Shadow) หรือคือ Cotard ทำงานกำกับอยู่เบื้องหลัง
    • ทำให้สามารถสังเกตเห็นสิ่งต่างๆรอบข้าง
  2. ค้นหาตัวตายตัวแทน (Doppelgängers) คัดเลือกนักแสดงชาย-หญิงมารับบทเป็นตนเอง (Anima and Animus)
    • ทำให้พบเห็นตัวตนเองจากมุมมองภายนอก ในความเป็นชายและหญิง
  3. จากนั้นกลายเป็นบุคคลอื่น (Archetypal Spirit) ช่วงท้าย Cotard ไม่ได้กลายเป็นแค่ Ellen เท่านั้นนะครับ แต่เขากลายเป็นตัวตายตัวแทนของทุกบุคคลอื่น
    • ทำให้เกิดความเข้าใจมุมมองบุคคลอื่น
  4. ขั้นสุดท้ายก็คือเกิดความตระหนักถึงตัวตนเอง (Self-Realization)

การได้ค้นพบตัวตนเอง (Self-Realization) นั่นคือสิ่งที่ผกก. Kaufman เชื่อว่าจักทำให้เข้าใจความหมายชีวิต ยินยอมรับความตาย ฉันเกิดมาทำไม ซึ่งคำตอบที่เขาได้รับ สะท้อนอุดมคติชาวตะวันตก เรียนรู้จักความรัก การสูญเสีย และเข้าใกล้ชิดพระเป็นเจ้า (การสร้างโลกทั้งใบขึ้นมา ก็ทำให้เขาไม่ต่างจากพระเจ้าแล้วละ!)

I think that people create the world that they live in. Your existence is very subjective, and you tell stories and organize the world outside of you into these stories to help you understand it. I don’t think the world objectively exists the way we think it exists, you know? There’s a constant sort of storytelling process. So in that sense, what Caden is doing in this movie is larger than the issue of the creative process in the arts. It’s the creative process of existence. He’s trying to sort through — like everybody is — his life, and trying to assign meaning to it, and aging in the process, and trying to deal with the issues that come up in his life, and trying to understand them.

หลังจากที่ทุกคนล้มหายจากไป หลงเหลือเพียงสิ่งก่อสร้างภายในโกดังหลังใหญ่ ผมเรียกว่า ‘สถาปัตยกรรมทางความคิด’ หรือคือสิ่งที่ทำให้ Cotard กลายเป็นอมตะนิรันดร์ (ในเชิงรูปธรรม) … รวมถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ Synecdoche, New York (2008) และผกก. Kaufman อนาคตย่อมได้รับการยกย่องเหนือกาลเวลา

คำว่าอมตะนิรันดร์ (Immortal) ในความหมายของผกก. Kaufman รวมถึงศิลปินผู้สรรค์สร้างผลงานศิลปะ ไม่ใช่การมีชีวิตยืนยาว หรือบรรลุมรรคผลนิพพาน แต่เมื่อกายเนื้อสูญสลายไป ยังมีบางสิ่งหลงเหลือให้ได้รับการพูดกล่าวถึง ยกย่องสรรเสริญ (หรือตำหนิด่าทอ) นั่นก็เหมือนกับการยังมีตัวอยู่บนโลกใบนี้ (ในเชิงนามธรรม) … แต่สุดท้ายแล้วมันก็ไม่มีอะไรที่เป็นอมตะนิรันดร์อย่างแท้จริงนะครับ ไม่กี่ร้อย-พัน-หมื่นปี ทุกสิ่งอย่างย่อมถึงกาลดับสูญสลาย เป็นไปตามวัฏจักรชีวิต ว่ายเวียนวนในวัฏฏะสังสาร

What was once before you, an exciting and mysterious future is now behind you, lived, understood, disappointing. You realize you are not special. You have struggled into existence and are now slipping silently out of it.


ด้วยทุนสร้าง $20 ล้านเหรียญ เสียงตอบรับเมื่อออกฉายรอบปฐมทัศน์เทศกาลหนังเมือง Cannes ออกไปทางผสมๆ ถ้าไม่ตำหนิต่อว่า ก็ชื่นชมยกย่องระดับมาสเตอร์พีซ น่าเสียดายทำเงินในสหรัฐอเมริกาได้เพียง $3 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $4.47 ล้านเหรียญ ถือว่าขาดทุนย่อยยับเยิน

I watched it the first time and knew it was a great film and that I had not mastered it. The second time because I needed to. The third time because I will want to. It will open to confused audiences and live indefinitely.

The subject of “Synecdoche, New York” is nothing less than human life and how it works. Using a neurotic theater director from upstate New York, it encompasses every life and how it copes and fails. Think about it a little and, my god, it’s about you. Whoever you are.

นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนน 4/4 และได้รับการจัดอันดับ The Best Films of the Decade

ล่าสุดหนังได้รับการสแกนดิจิตอล 4K Ultra HD รวบรวมอยู่ในคอลเลคชั่นครบรอบสามสิบปี Sony Pictures Classics 30th Anniversary Collection (2023) มีทั้งหมดจำนวน 11 เรื่อง (Orlando, The City of Lost Children, The Celluloid Closet, Run Lola Run, Slc Punk, The Devil’s Backbone, Volver, Synecdoche, New York, Still Alice, Call Me By Your Name, Crouching Tiger, Hidden Dragon)

การรับชม Synecdoche, New York (2008) มีความท้าทายอย่างมากๆ (ความยากระดับ Veteran) ผมเองดูรอบแรกก็ไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่ แต่เชื่อว่าบทความนี้น่าจะเพียงพอให้พบเห็นภาพรวม และเมื่อย้อนกลับไปชมรอบสอง-สาม ก็น่าจะเข้าถึงความเหนือจริงระดับมาสเตอร์พีซ

ส่วนตัวรู้สึกชื่นชอบหนังมากๆ แม้ดูไม่รู้เรื่องในรอบแรก แต่สัมผัสถึงความลึกล้ำ ซับซ้อน ‘New York ใน New York’ รวมถึงออกแบบงานสร้าง ‘สถาปัตยกรรมทางความคิด’ ผมละอยากเข้าไปในหัวสมองของ Charlie Kaufman สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาได้อย่างไรกัน!

ในบรรดาหลากหลายบทหนัง/กำกับภาพยนตร์ของ Charlie Kaufman ผมครุ่นคิดว่า Synecdoche, New York (2008) คือผลงานชิ้นเอก! ลุ่มลึกล้ำ สลับซับซ้อน คลุ้มบ้าคลั่ง หนึ่งในภาพยนตร์ ‘Post-Modern’ น่าจะยอดเยี่ยมที่สุดแล้วกระมัง

จัดเรต 18+ กับบรรยากาศทะมึนๆ ทนทุกข์ทรมาน มุ่งสู่ความตาย

คำโปรย | Synecdoche, New York ความตายคือจุดเริ่มต้นของ Charlie Kaufman ผสมผสานทุกสิ่งอย่างในกลายเป็นอันหนึ่งเดียวกัน
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: