The Round-Up

The Round-Up (1966) Hungarian : Miklós Jancsó ♥♥♥♥

ภายหลังจาก Hungarian Revolution of 1848 เมื่อคณะปฏิวัติไม่สามารถโค่นล้มระบอบกษัตริย์ บรรดาผู้ต้องสงสัยจึงถูกจับกุม ควบคุมขัง ส่งไปยังเรือนจำตั้งอยู่กลางพื้นที่ราบกว้างใหญ่ ผู้คุมทั้งหลายก็พยายามสรรหาวิธีให้คนเหล่านี้คายความลับ ทรยศหักหลังพรรคพวกพ้อง เพื่อโอกาสในการเอาตัวรอดชีวิต สามารถเปรียบเทียบอย่างตรงไปตรงมาถึงสิ่งบังเกิดขึ้นหลังจาก Hungarian Revolution of 1956

คำถามแรกที่ผมโคตรฉงนสงสัย หนังเรื่องนี้ผ่านกองเซนเซอร์ประเทศฮังการีได้อย่างไร? ผมยังอ่านเจออีกว่าเมื่อผู้กำกับ Jancsó นำไปฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes ทางการสั่งให้พูดว่า ‘ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้มีความสัมพันธ์อันใดกับ Hungarian Revolution of 1956’ แต่ใครกันจะพยักหน้าหลงเชื่อ

The Round-Up (1966) คือภาพยนตร์แนว Political Drama ที่ใช้เหตุการณ์เคยบังเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ Hungarian Revolution of 1848 ราวกับมันเวียนวน วงกลม หวนกลับมาสร้างความหลอกหลอนอีกครั้ง ภายหลังความล้มเหลวของ Hungarian Revolution of 1956 เมื่อคณะปฏิวัติไม่สามารถปลดแอกฮังการีจากสหภาพโซเวียต/รัฐบาลคอมมิวนิสต์ พวกเขาจึงถูกไล่ล่า ตั้งค่าหัว จับกุมตัว แต่ครานี้ไม่ใช่แค่ผู้ต้องสงสัยถูกควบคุมขัง ยังเหมารวมถึงชาวฮังกาเรียนทั้งหมดราวกับอาศัยอยู่ในเรือนจำ ไร้หนทางหลบหนีเอาตัวรอดอีกต่อไป

เนื่องจากผมไม่ค่อยมีโอกาสรับชมหนังจากประเทศฮังการีสักเท่าไหร่ เลยบอกไม่ได้ว่า The Round-Up (1966) มีความสำคัญระดับไหนในประเทศนี้ แต่สมาชิก Alliance of Hungarian Filmmakers ได้ร่วมกันคัดเลือก Budapest Twelve สิบสองภาพยนตร์สัญชาติ Hungarian ถือว่ายอดเยี่ยมที่สุด ปัจจุบันมีการโหวตครั้งที่สองแล้วด้วยนะ

  • Budapest Twelve เมื่อปี 1968 ติดอันดับสอง รองจาก Treasured Earth (1948)
  • New Budapest Twelve เมื่อปี 2000 ติดอันดับหนึ่ง

นอกจากนี้ The Round-Up (1966) ยังเป็นภาพยนตร์เรื่องโปรดของปรมาจารย์ผู้กำกับ Béla Tarr และเคยกล่าวยกย่อง Miklós Jancsó ว่าคือ “the greatest Hungarian film director of all time” แค่ในประเทศฮังการีนะครับ

I have never really been exposed to such a sensibility in the camera movements before (…) and the ending of The Round-Up is one of the greatest summations of a picture ever created.

Martin Scorsese, Cannes Film Festival, 2010

Miklós Jancsó (1921-2014) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติ Hungarian เกิดที่ Vác, Kingdom of Hungary ตั้งแต่เด็กครุ่นคิดอยากเป็นกำกับละครเวที แต่สำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายจาก University of Cluj-Napoca แล้วช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองถูกเกณฑ์เป็นทหาร เคยโดนควบคุมตัวอาศัยอยู่ค่ายกักกันสงคราม (Prisoner of War) หลังเอาตัวรอดมาได้สมัครเข้าเรียนสาขาผู้กำกับ Színház- és Filmművészeti Egyetem (SZFE) จบออกมาเริ่มจากกำกับสารคดีข่าว (Newsreel) สะสมประสบการณ์จนมีโอกาสสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก The Bells Have Gone to Rome (1958), เริ่มมีชื่อเสียงจาก My Way Home (1964), โด่งดังระดับนานาชาติกับ The Round-Up (1966), The Red and the White (1968), พัฒนาสไตล์ลายเซ็นต์เรียกว่า ‘political musical’ ตั้งแต่ Winter Wind (1969), Electra, My Love (1974), Red Psalm (1972) ** คว้ารางวัล Best Director จากเทศกาลหนังเมือง Cannes

ความสนใจในช่วงแรกๆของ Jancsó มักเกี่ยวข้องประเด็นการเมือง การใช้อำนาจในทางมิชอบ (abuse of power) โดยอ้างอิงเรื่องราวจากประวัติศาสตร์ สะท้อนเหตุการณ์บังเกิดขึ้นในปัจจุบัน(นั้น) เพื่อกล่าวถึงความคอรัปชั่นของฮังการีช่วงการปกครองพรรคคอมมิวนิสต์ ภายใต้การหนุนหลังสหภาพโซเวียต

สไตล์ของ Jancsó มักถ่ายทำยังพื้นที่ราบ/ชุมชนบทห่างไกล เพียงนำเสนอเหตุการณ์ ไม่ใคร่สนใจจิตวิเคราะห์ตัวละคร นักแสดงต้องซักซ้อมท่วงท่าขยับเคลื่อนไหว ตำแหน่งก้าวเดินไป ให้สอดคล้องการถ่ายทำแบบ Long Take กล้องเคลื่อนเลื่อน หมุนเวียนวน ซึ่งจะมีความยาว Average Shot Length เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (Winter Wind (1969) มีเพียง 12 ช็อตใน 80 นาที) ก่อนพัฒนามาเป็นลักษณะที่เจ้าตัวเรียกกว่า ‘political musical’

I used long takes because I wanted films without cuts. I’m simply inept at cutting. I always hated flashbacks, empty passages and cuts. Each shot took as long as there was material in the camera—ten minutes. All my films were made up of eight, ten, maximum sixteen shots.

Miklós Jancsó

หนึ่งในสมาชิก/ทีมงานคนสำคัญของผู้กำกับ Jancsó ก็คือ Gyula Hernádi (1926-2005) นักเขียนนวนิยาย/บทภาพยนตร์ รับรู้จักกันมาตั้งแต่ปี 1959 จากนั้นก็กลายเป็นเพื่อนสนิท ร่วมงานขาประจำตั้งแต่ My Way Home (1964) จนถึงผลงานสุดท้าย

สำหรับ The Round-Up (1966) จุดเริ่มต้นเกิดจากบทสนทนาระหว่างผู้กำกับ Jancsó และ Hernádi พยายามครุ่นคิดหาว่าเราจะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกนี้อย่างไร? ก่อนค้นพบว่าไม่ทางเป็นไปได้ นั่นเพราะบริบทของสังคมไม่เว้นแม้แต่ระบอบสังคมนิยม (อ้างอิงถึงฮังการียุคสมัยนั้น) ผู้มีอำนาจมักกดขี่ข่มเหงคนยากจน/ชนชั้นต่ำกว่า คือสิ่งบังเกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่นานมา

We thought about the world together, and about how we could change it. We didn’t think we could, since the world was always the same the poor were always defenceless, and those subdued by the powerful were always humiliated. Even in this society, a society that called itself ‘socialist’, it was the same.

ช่วงทศวรรษ 50s-60s ภาพยนตร์ทุกเรื่องในประเทศฮังการี ต้องผ่านการตรวจสอบ อนุมัติ ได้รับทุนสร้างจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะนำเสนอเรื่องราวการกดขี่ข่มเหงของผู้มีอำนาจอย่างตรงไปตรงมา (เพราะถือเป็นการวิพากย์วิจารณ์การใช้อำนาจของหน่วยงานรัฐ) วิธีการที่ผู้กำกับ Jancsó และ Hernádi ครุ่นคิดได้ก็คือยื่นเสนอดัดแปลงเนื้อหาประวัติศาสตร์ Hungarian Revolution of 1848 ลวงล่อหลอกกองเซนเซอร์ว่าช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ได้มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องอะไรกับปัจจุบัน

To talk directly about humiliation and defencelessness would have proved very difficult. We talked about this indirectly. The Round-Up talks indirectly about defencelessness.


เรื่องราวเริ่มต้น 20 ปีภายหลังเหตุการณ์ Hungarian Revolution of 1848, จักรพรรดิ Ferenc József I แห่ง Austro-Hungarian Empire ยังคงเชื่อว่าลูกน้องคนสนิท Sándor Rózsa ของผู้นำกลุ่มปฏิวัติ Lajos Kossuth (ที่หลบลี้ภัยออกนอกประเทศไปแล้ว) ยังคงมีชีวิตอยู่! จึงมอบหมายให้ Count Gedeon Raday สั่งสร้างค่ายกักกันนักโทษยังพื้นที่ราบกว้างใหญ่ ส่งตัวบรรดาผู้ต้องสงสัย คาดว่าคือสมาชิก/คนใกล้ชิด เพื่อหวังชี้ตัวหัวหน้าให้มารับผิด

วิธีการที่ผู้คุมใช้จัดการกับนักโทษเหล่านี้ คือการพูดข่มขู่ เล่นเกมจิตวิทยา จากนั้นแนะนำว่าถ้าอยากรอดชีวิต จักต้องมองหาใครอื่นมีความผิด/ฆ่าคนตายมากกว่า นั่นทำให้ János Gajdar (รับบทโดย János Görbe) เกิดอาการหวาดกลัวตัวสั่น หลังรับสารภาพผิด ยินยอมทรยศหักหลังพวกพ้อง ชี้ตัวบุคคลเคยเป็นสมาชิกกลุ่มปฏิวัติ นั่นทำให้เขาถูกลอบเข่นฆาตกรรม แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็นการซ้อนแผนล่อเสือออกจากถ้ำได้สำเร็จ

อีกแผนการที่ต้องถือว่ามาเหนือเมฆ โคตรเหนือชั้น คือการลวงล่อหลอกนักโทษ อ้างว่ากำลังจะมีการทำสงครามครั้งใหม่ จักรพรรดิ Franz Joseph I ต้องการทุกบุรุษผู้มีประสบการณ์สำหรับรับใช้ชาติ แล้วจู่ๆหนึ่งในผู้ต้องสงสัยได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นหัวหน้าทหารม้าหน่วยใหม่ คัดเลือกบุคคลที่เคยร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ (ล้วนคืออดีตสมาชิกกลุ่มปฏิวัติ) ซึ่งพอพระราชโองการมาถึง ประกาศอภัยโทษให้แก่ Sándor Rózsa สร้างความบันเทิงเริงใจให้กับทุกคน แต่แล้วทันใดนั้นเอง …


János Görbe (1912-68) นักแสดงระดับตำนานสัญชาติ Hungarian เกิดที่ Jászárokszállás, เริ่มมีชื่อเสียงทางฝั่งละครเวที ก้าวสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 1940 มีโอกาสร่วมงานผู้กำกับดังๆอย่าง Károly Makk, Miklós Jancsó, Zoltán Fábri ผลงานเด่นๆ อาทิ People of the Mountains (1942), The Sea Has Risen (1953), The House Under the Rocks (1959), The Round-Up (1965), Twenty Hours (1965) ฯลฯ

รับบท János Gajdar หนึ่งในสมาชิกกองโจร Sándor Rózsa ถูกชี้ตัวโดยหญิงชราคนหนึ่ง ทีแรกปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่หลังจากโดนขังอยู่กับศพผู้เสียชีวิต ตัดสินใจสารภาพผิดทุกสิ่งอย่าง แล้วถูกลวงล่อหลอกโดยผู้คุม ถ้าสามารถมองหาบุคคลอื่นฆ่าคนมากกว่าจะได้รับการปล่อยตัว นั่นทำให้เขายินยอมทรยศหักหลังพวกพ้อง เพื่อให้ตนเองสามารถเอาตัวรอดชีวิต

แม้หนังจะแทบไม่ให้เวลาสำหรับการแสดงออกทางอารมณ์ แต่ต้องชมว่า Görbe กลับยังสามารถถ่ายทอดความรู้สึกหวาดหวั่นสั่นสะพรึงกลัวออกมาได้อย่างเอ่อล้น ลุกรี้รุกรน ทรงพลังระดับที่ผู้ชมสามารถสัมผัสจับต้องได้ ใครว่าอะไรฉันไม่สน ขอแค่สามารถเอาชีพรอดไปจากสถานที่แห่งนี้ … สมกับการได้รับยกย่องนักแสดงระดับตำนานจริงๆ

โดยปกติแล้วสไตล์ของผู้กำกับ Jancsó ไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรนักแสดงมากนัก ราวกับแค่ตัวประกอบเดิน-เต้น เข้า-ออก เพียงอุปกรณ์ประกอบฉากที่มีชีวิต จากนักแสดงคนหนึ่งสู่นักแสดงอีกคนหนึ่ง แต่ผลงานช่วงแรกๆยังคงยึดติดการดำเนินเรื่องแบบ ‘narrative film’ อย่าง The Round-Up (1966) ก็มีตัวละครนี้ให้ผู้ชมติดตามอยู่สักพักใหญ่ๆ ลุ้นระทึก เป็นกำลังใจว่าจะสามารถเอาตัวรอดปลอดภัยหรือไม่? ก่อนส่งไม้ผลัดต่อให้นักโทษคนอื่น เผชิญหน้าโชคชะตากรรมที่คาดไม่ถึง!


ถ่ายภาพโดย Tamás Somló (1929-93) สัญชาติ Hungarian สำเร็จการศึกษาจาก Színház- és Filmművészeti Egyetem (SZFE) น่าจะรุ่นเดียวกับผู้กำกับ Miklós Jancsó ร่วมงานกันตั้งแต่ถ่ายทำสารคดีข่าว ภาพยนตร์เรื่องแรก The Bells Have Gone to Rome (1959) เป็นขาประจำกันจนถึง The Confrontation (1969)

แม้ว่า ‘สไตล์ Jancsó’ กำลังอยู่ในขั้นเพาะบ่ม ทดลองผิดลองถูก แต่เราสามารถพบเห็นพัฒนาการ แนวคิด โดยเฉพาะการใช้เทคนิคเคลื่อนเลื่อนกล้องที่มักหมุนเวียนวนไปวนมา บางครั้งก็วงกลม 360 องศา ขณะที่นักแสดงถ้าไม่ยืนเข้าแถวก็ต้องขยับเคลื่อนไหว ก้าวเดินวนเวียนวนไป เดี๋ยวซ้าย-เดี๋ยวขวา เดี๋ยววกกลับมาที่เก่า เฉกเช่นเดียวกัน! ซึ่งนั่นแสดงถึงการซักซ้อมเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี แลดูมีลักษณะละม้ายคล้ายการเริงระบำ เลยได้รับการตั้งชื่อเรียก ‘political musical’

แซว: แวบแรกที่ผมรับชมแอบรู้สึกละม้ายคล้าย ‘สไตล์ Fellini’ แต่พอกล้องเคลื่อนเลื่อนเวียนวนไปวนมาก็ตระหนักว่ามันคือ ‘สไตล์ Tarr’ ที่รับอิทธิพลอย่างมหาศาลจากผู้กำกับ Jancsó

สิ่งที่ถือเป็นเอกลักษณ์ ‘สไตล์ Jancsó’ คือการดำเนินไปของหนังมีความลื่นไหลเหมือนกระแสน้ำ ทั้งจากการเคลื่อนเลื่อนกล้อง นักแสดงเดินวนไปวนมา การสนทนาเดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย พูดบอกปล่อยตัว-ประเดี๋ยวเรียกให้กลับมา นี่ให้ความรู้สึกละม้ายคล้ายหนังของ Robert Bresson ที่ผู้ชมแทบจับต้องอะไรไม่ได้ เพียงพบเห็นใคร-ทำอะไร-ที่ไหน-อย่างไร ตัวละครราวกับหุ่นยนต์/อุปกรณ์ประกอบฉาก ไร้ซึ่งอารมณ์ร่วม จับต้องปฏิกิริยาความรู้สึก นอกเสียจากสามัญสำนึกของผู้ชมต่อเหตุการณ์ต่างๆบังเกิดขึ้น

What makes [Jancsó] stand out from his contemporaries is an exact and unerring sense of timing and situation (both dramatic and locational), a seemingly instinctive knowledge – like that of Bresson – of where to make one shot last an eternity and another a mere instant, and a complete understanding of the points at which narrative can be at its most explicit by what is not shown and not said.

Philip Strick นักวิจารณ์จาก Monthly Film Bulletin

งบประมาณส่วนใหญ่คงหมดไปกับค่าก่อสร้างค่ายกักกันนักโทษกลางพื้นที่ราบกว้างใหญ่ (ชาวฮังการีมีคำเรียกว่า Puszta คือบริเวณท้องทุ่งหญ้าที่อยู่ใน Alföld หรือ Great Hungarian Plain) ซึ่งเหมือนจะมีต้นแบบมาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์จริงๆ โดยหนังได้นำเอาภาพร่างพิมพ์เขียวทั้งสถานที่ เครื่องแบบทหาร อาวุธ อุปกรณ์ทัณฑ์ทรมาน ฯลฯ มาทำการร้อยเรียงเป็นอารัมบท พร้อมเสียงบรรยายเล่าเหตุการณ์เคยบังเกิดขึ้นในอดีต

แม้งานสร้างดูเหมือนอลังการใหญ่โต แต่คนช่างสังเกตน่าจะพบว่าไม่เคยมีมุมกล้อง (Establishing Shot) ที่ถ่ายให้เห็นสถานที่แห่งนี้ทั้งหมด นั่นคาดเดาไม่ยากว่างบประมาณคงไม่เพียงพอ เลยล่อหลอกผู้ชมเห็นเพียงผนังกำแพง ประตูเข้า-ออก แยกโซนห้องขังเดี่ยว และภายนอกคือสำนักงาน/ที่อยู่อาศัยของผู้คุม (แต่ผมขอเรียกว่าโรงเชือดก็แล้วกัน!)

กำแพงอาจดูไม่สูงใหญ่ แต่ถึงปืนป่ายออกไปก็ใช่ว่าจะสามารถหลบหนีเอาตัวรอด เพราะสถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่กลางท้องทุ่งราบกว้างใหญ่ (Great Hungarian Plain) ไร้ผู้คน บ้านเรือน ต้นไม้สักต้นยังไม่มี (คือมันมีแต่ทุ่งหญ้าจริงๆ) เช่นนั้นแล้วจะไปหลบซ่อนตัวตรงไหน? นั่นถือเป็นป้อมปราการทางธรรมชาติโดยแท้

ผู้กำกับ Jancsó มีความชื่นชอบถ่ายทำภาพยนตร์ยังท้องทุ่งราบกว้างใหญ่แห่งนี้ ถือเป็นสัญลักษณ์ผืนแผ่นดินฮังการี มีความเวิ้งว้างว่างเปล่า ผู้คน/ประชาชนต้องต่อสู้ดิ้นรนภายใต้กฎกรอบ วิถีธรรมชาติ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ไม่มีทางหลบหนีเอาตัวรอดไปจากดินแดนแห่งนี้

แน่นอนว่าผู้คุมไม่มีทางอาศัยอยู่ร่วมกับนักโทษ เฉกเช่นเดียวกับชนชั้นผู้นำ/รัฐบาลคอมมิวนิสต์ ย่อมได้รับอภิสิทธิ์ชนในการมีถิ่นที่อยู่อาศัย บ้านพักของตนเอง แต่ขณะเดียวกันสถานที่แห่งนี้ไม่ต่างจาก ‘โรงเชือด’ เพราะเมื่อนำผู้ต้องสงสัยรายใดออกมา ล้วนมีเหตุให้บุคคลนั้นต้องตกตาย หรือสูญเสียความเข้มแข็งทางจิตใจ ได้รับการโน้มน้าว/เล่นเกมจิตวิทยา จนยินยอมทรยศหักหลังพรรคพวกพ้อง เผื่อว่าฉันจักสามารถเอาตัวรอดไปจากสถานที่แห่งนี้

ก็ตั้งแต่ชายนิรนามคนแรกนี้ถูกพาตัวมายังโรงเชือด หัวหน้าผู้คุมพูดเหมือนยินยอมปล่อยตัวเขาไป ระหว่างกำลังก้าวเดิน รู้สึกแช่มชื่นหัวใจ ทันใดนั้นเองเสียงปืนดังลั่น คงไม่ต้องอธิบายว่าบังเกิดเหตุการณ์อะไร! นี่คือทิศทางของหนังตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุด เต็มไปด้วยการลวงล่อหลอก กลับกลอกปอกลอก เล่นเกมจิตวิทยาให้นักโทษเกิดความไขว้เขว โล้เล้ลังเล เมื่อรู้สึกผ่อนคลาย ตายใจ จุดประสงค์(ของผู้คุม)แท้จริงก็จักได้รับการเปิดเผยออกมา

ภาษาภาพยนตร์ก็มีความสอดคล้องกับทิศทางดังกล่าวด้วยนะครับ! สังเกตว่าแทบทุกครั้งที่ถ่ายทำ Long-Take จะต้องมีการเคลื่อนเข้า-เลื่อนออก ไปทางซ้ายแล้วหวนกลับมาทางขวา เวียนวน วงกลม 360 องศา ซึ่งสามารถสื่อถึงพฤติกรรมกลับกลอกปอกลอก พูดอย่างทำอย่าง สลับสับเปลี่ยนคำสั่งไปมา ลวงล่อหลอกตัวละคร/ผู้ชมให้เกิดความเข้าใจผิดๆอยู่บ่อยครั้ง

เห็นนักโทษถูกจับคลุมศีรษะแล้วเดินเวียนวนวงกลม ชวนให้ผมระลึกภาพวาด Prisoners’ Round (after Gustave Doré) (1890) ผลงานสีน้ำมันของ Vincent van Gogh ขณะอาศัยอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวช Saint-Paul Asylum, Saint-Rémy ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากภาพแกะสลักบนไม้ (Wood-Engravings) ชื่อว่า Newgate Prison Exercise (1872) ของ Gustave Doré

เกร็ด: Newgate Prison ตั้งอยู่กรุง London ก่อสร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1188 และถูกทุบทำลายมื่อ ค.ศ. 1904

Convicts walking in a circle surrounded by high prison walls, a canvas inspired by Doré of a terrifying ferocity and which is also symbolic of his end. Wasn’t life like that for him, a high prison like this with such high walls – so high … and these people walking endlessly round this pit, weren’t they the poor artists, the poor damned souls walking past under the whip of Destiny?

Émile Bernard วิจารณ์ถึงภาพวาดของ Van Gogh

ขณะที่ János Gajdar พยายามทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ตนเองมีโอกาสเอาชีวิตรอด เรื่องราวของ Béla Varjú หลังจากถูกควบคุมขังในห้องมืด บังเกิดความท้อแท้หมดสิ้นหวัง เมื่อมีโอกาสก้าวออกมายังพื้นที่ราบกว้างใหญ่ก็ดิ้นรนวิ่งหลบหนี แต่ก็มิอาจไปไหนได้ไกล ปลายทางสุดท้ายก็คือ … เอิ่ม ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคืออะไร? แขวนคอ? (คานแค่นั้นมันจะรับน้ำหนักไหวเหรอ?) หรือปีนบันไดขึ้นไปแล้วทิ้งตัวลงมาให้คอหัก? (แต่มันก็ไม่สูงเท่าไหร่นะ) หรือมัดกับเสาแล้วยิงเป้า (จะมีบันไดทำไม?)

ผมว่าหนังน่าจะต้องการให้ผู้ชมครุ่นคิดจินตนาการเองเสียมากกว่า เพื่อสร้างความหลอกหลอน สั่นสะพรึง ไม่รับรู้ว่าชายคนนี้จะถูกประหารอย่างไร แค่เข้าใจว่าต้องตายแน่ๆก็เพียงพอแล้วละ!

หนึ่งในลายเซ็นต์ของผู้กำกับ Jancsó คือแนวคิด “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” แม้แต่พวกเดียวกันก็ไม่ละเว้น! สำหรับ The Round-Up (1966) นำเสนอฉากเล็กๆผ่านมาแล้วก็ผ่านไป พบเห็นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งถูกหัวหน้าสั่งลดขั้น ดึงเอาเครื่องประดับยศออกหมดสิ้น แล้วส่งตัวเข้าเรือนจำ กลายเป็นนักโทษ/ผู้ต้องหา เพราะเคยกระทำการฉ้อฉลอะไรสักสิ่งอย่าง

ผมแนะนำให้ลองหา The Red and the White (1967) นอกจากมีลักษณะ “แมวไล่จับหนู” ถ้ากับพวกเดียวกันเองจะดูเหมือน “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” แม้แต่พวกเดียวกันเองก็ไม่ยกโทษ ไม่ละเว้น กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมคืนตอบสนอง

Imre Veszelka ดูแล้วน่าจะเป็นหนึ่งในแกนนำคนสำคัญ จึงแสดงออกด้วยความสุขุมเยือกเย็น แต่หลังจาก János Gajdar ชี้เป้าหญิงสาวที่นำเสบียงมาส่ง Juli (มีแนวโน้มสูงอาจเป็นแฟนสาวของ Veszelka) เลยแสดงความเกรี้ยวกราดไม่พึงพอใจ ทำให้เธอถูกจับมาประจานต่อหน้าสาธารณะ สั่งให้ถอดเสื้อผ้า แล้ววิ่งวนไปวนมาระหว่างผู้คุม ได้รับการเฆี่ยนตี จนกระทั่งล้มลงเสียชีวิต … สังเกตว่าช็อตนี้ผู้คุมยืนตั้งแถวยาว ราวกับเส้นทางสู่อิสรภาพ แต่แท้จริงแล้วมันคือการล่วงล่อหลอกให้ตายใจ เพราะไม่มีทางที่ใครจะสามารถหลบหนีวงล้อมออกไปไหน

Veszelka ที่ถูกผู้คุมพามารับชมการประจานนี้บนป้อมปราการเรือนจำ มิอาจอดรนทนต่อภาพพบเห็น เลยตัดสินใจกระโดดลงมาฆ่าตัวตาย ดีกว่าต้องทนอับอายขายขี้หน้าประชาชี (พร้อมกับพรรคพวกอีก 2-3 คน ที่มีความหาญกล้า อุดมการณ์แน่วแน่ ตกตายตอนนี้เสียยังดีกว่าทรยศหักหลังพรรคพวกพ้อง!)

คนสมัยก่อนมีทัศนคติที่รุนแรงต่อการทรยศหักหลัง เมื่อไม่ใช่มิตรสหายก็ต้องเป็นศัตรูเท่านั้น (เอาจริงๆปัจจุบันก็ไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่) พวกผู้คุมเลยครุ่นคิดแผนการล่อเสือออกจากถ้ำ จงใจไม่ลงกลอนสองห้องขัง แทนที่สองพ่อลูก Mihály Kabai Lovas จะตัดสินใจหลบหนี (แต่ก็คงรู้ว่าไม่มีทางเอาตัวรอดพ้น) กลับใช้มันเข่นฆาตกรรมรัดคอ János Gajdar เพียงเพราะต้องการล้างแค้นต่อ Imre Veszelka … นี่คือจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่หายนะตอบจบ อันเกิดจากความหมกมุ่น เลือดขึ้นหน้า ครุ่นคิดแต่จะเข่นฆ่าล้างแค้น ราวกับมันคือพื้นฐานสามัญสำนึกของผู้คนยุคสมัยนั้น ที่ไม่สามารถต่อต้านขัดขืน เลยตกเป็นเหยื่อของผู้มีอำนาจ บุคคลเฉลียวฉลาดกว่า

กับภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศตึงเครียด ท้อแท้หมดสิ้นหวัง การมาถึงของวงดุริยางค์ เสียงดนตรีนำพาความสดชื่น รื่นเริง ชีวิตชีวา มันช่างเต็มไปด้วยข้อกังขา ‘death flag’ ล่อหลอกให้ทั้งตัวละครและผู้ชมรู้สึกตายใจ โดยเฉพาะคอหนัง Hollywood ย่อมครุ่นคิดว่านี่อาจคือหนทางออก วิธีแก้ปัญหา จะได้จบลงอย่าง Happy Ending

แต่สำหรับผู้ชมที่สามารถตระหนักได้ว่านั่นไม่มีทางบังเกิดขึ้น ย่อมรู้สึกปั่นป่วนท้องไส้ ขยะแขยงกับเกมจิตวิทยา การสร้างภาพลวงหลอกตา หงุดหงิดรำคาญใจ เฝ้ารอคอยเมื่อไหร่จะเกมโอเวอร์ (Game Over) ความจริงได้รับการไขกระจ่าง … แต่ก็ต้องชมเลยว่าหนังสร้างความสั่นคลอนให้ผมอย่างมากๆ ถ้าไม่สังเกตภาษาภาพยนตร์ตั้งแต่ซีเควนซ์แรกๆ ก็คงหลงเชื่อสนิทใจไปแล้วจริงๆ

เมื่อตอนที่ผู้คุมอนุญาตให้นักโทษแสดงความสามารถในการขับขี่ม้า แถมยินยอมให้เลือกตัวที่ชื่นชอบได้เองอีกต่างหาก นั่นเป็นการทำลายกำแพง ละลายน้ำแข็ง (Ice Breaking) ให้เหล่านักโทษบังเกิดความเชื่อมั่นใจว่านี่ไม่ใช่แผนการชั่วร้าย (สามารถควบหลบหนีออกจากสถานที่แห่งนี้เมื่อไหร่ก็ได้) แต่คือความจริงใจที่จะให้อภัยโทษพวกเขา

มันจะมีเนินดินเล็กๆที่ทั้งสองควบคู่ขี่ม้า แล้ววิ่งลงมาประจัญบาน ทำการต่อสู้ด้วยแส้ คาดว่าพวกเขาคงยังโกรธแค้นกันและกัน (ที่ทำการชี้ตัวอีกฝั่งฝ่าย) แต่หลังจากถูกจับแยกก็สามารถจับมือคืนดี เหมือนว่าต้องการเปรียบเทียบความขัดแย้งระหว่างจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี vs. กลุ่มปฏิวัติ ในที่สุด(ขณะนี้)สามารถปล่อยละวางความเป็นศัตรูต่อกัน

ใครได้รับชมฉบับบูรณะน่าจะทันสังเกตเห็นก้อนเมฆที่เคลื่อนผ่านระหว่างกำลังตั้งกองทหารม้าหน่วยใหม่ ทำให้จากเงาสลัวๆกลายเป็นแดดจร้า นี่แอบทำให้ผมระลึกถึงคำพูดของ Howard Hawks เมื่อตอนสรรค์สร้าง Red River (1948) ที่สามารถเก็บภาพก้อนเมฆกำลังเคลื่อนพาดผ่านภูเขาด้านหลัง เสร็จแล้วไปพูดโอ้อวดผู้กำกับ John Ford (ที่มีความหลงใหลการถ่ายทำก้อนเมฆมากๆ)

Hey, I’ve got one almost as good as you can do–you better go and see it.

Howard Hawks พูดโอ้อวดกับ John Ford ว่าได้ถ่ายทำช็อตที่ก้อนเมฆเคลื่อนพานผ่านทิวเขา

ช็อตนี้ต้องคือความตั้งใจของผู้กำกับ Jancsó แน่ๆนะครับ เฝ้ารอคอยก้อนเมฆเคลื่อนพานผ่านดวงอาทิตย์ เพื่อสื่อถึงช่วงเวลาร้ายๆของเหล่านักโทษกำลังจะพานผ่านไป แต่ขณะเดียวกันสำหรับคนที่รับรู้ตอนจบแล้ว สามารถมองว่าหลังจากนี้ข้อเท็จจริงทั้งหมดกำลังจะเปิดเผยออกมา!

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้สังเกตก็คือด้านหลังลิบๆ มีกองทัพ (หรือนักโทษก็ไม่รู้) กำลังซ้อมเดินสวนสนาม เวียนวนไปวนมา นี่ก็ล้อกับการเดินของนักโทษในเรือนจำ เพื่อบอกใบ้ถึงความกลับกลอก ปอกลอก ไม่มีทางที่พวกผู้คุมจะปลดปล่อยผู้ต้องสงสัยเหล่านี้ (แถมมีทหารไม่รู้กี่กองร้อยรายล้อมรอบ ปิดกั้นทุกทิศทางไม่ให้พวกเขาดิ้นหลบหนี)

ตัดต่อโดย Zoltán Farkas (1913-80) สัญชาติ Hungarian ในสังกัดสตูดิโอ Mafilm เริ่มมีผลงานตั้งแต่ปี 1935, ร่วมงานผู้กำกับ Miklós Jancsó ตั้งแต่ Cantata (1963) จนกระทั่ง Electra, My Love (1974)

หนังมีจุดศูนย์กลางคือค่ายกักกันนักโทษ ตั้งอยู่ยังพื้นที่ราบกว้างใหญ่ ดำเนินเรื่องโดยใช้วิธีการส่งต่อไม้ผลัด เริ่มต้นจากนักโทษคนหนึ่งชี้ตัวนักโทษอีกคนหนึ่งต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเป้าหมายแท้จริง(ของผู้คุม)ก็คือเปิดโปงสมาชิกทั้งหมดของ Sándor Rózsa

  • อารัมบท, แนะนำรายละเอียดพื้นหลัง สถานที่ค่ายกักกันนักโทษ และบุคคลผู้โชคร้ายคนแรก
  • เรื่องราวของ János Gajdar
    • แม้ในตอนแรกจะปฏิเสธหัวชนฝา แต่หลังจากถูกขังอยู่กับศพคนตาย บังเกิดความหวาดกลัวตัวสั่น ยินยอมรับสารภาพผิด และพร้อมทำตามข้อตกลงหาบุคคลที่เคยกระทำสิ่งชั่วร้ายกว่าตน
    • ชี้ตัว Béla Varjú แต่ต่อมาเขาพยายามหลบหนีจึงถูกตัดสินโทษประหาร ไร้ซึ่งหลักฐานยืนยันว่าชายคนนี้มีความผิดมากกว่าตนเอง
    • ชี้ตัว Imre Veszelka และหญิงสาวที่นำเสบียงมาส่ง Juli ทำให้เธอถูกรุมประชาทัณฑ์จนเสียชีวิต และเขาก็ตัดสินใจกระโดดจากที่สูงฆ่าตัวตาย
    • Gajdar เริ่มรู้สึกว่าชีวิตไม่ปลอดภัย ถูกรุมกระทำร้ายร่างกาย เลยร้องขอผู้คุมให้แยกขังเดี่ยว แต่เช้าวันถัดมาพบเห็นศพเสียชีวิต
  • เรื่องราวของสองพ่อ-ลูก Mihály Kabai Lovas
    • การเสียชีวิตของ Gajdar คือแผนการของผู้คุมเพื่อล่อเสือออกจากถ้ำ เพราะมีเพียงสองห้องขังที่จงใจไม่ล็อกกุญแจ นั่นคือสองพ่อ-ลูก Mihály Kabai Lovas ตอนแรกทั้งคู่ต่างปฏิเสธเสียงขันแข็ง
    • ต่อมาบิดาชี้ตัวชายคนหนึ่ง (ไม่ได้ระบุชื่อ) ทั้งสามถูกล่ามโซ่ตรวนอยู่ภายนอก ระหว่างกำลังตระเตรียมการซ้อมรบ
    • โดยไม่รู้ตัวมีเจ้าหน้าที่มาเรียกตัวทั้งสาม ทำเหมือนถ้ายินยอมอาสาสมัครทหารจักได้รับอภัยโทษ หลังพบเห็นทักษะความสามารถด้านการขับขี่ม้า ถึงขนาดจะก่อตั้งกองทัพหน่วยใหม่ จึงทำการชี้ตัวอดีตพรรคพวกพ้องทั้งหมด
    • และเมื่อพระราชโองการจักรพรรดิ Ferenc József I เดินทางมาถึง

ความที่หนังเรื่องนี้ยังอยู่ในช่วงพัฒนาลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Jancsó’ จึงพบเห็นการตัดต่อ สลับมุมมอง ภายนอก-ใน ยังไม่ใช่ Long-Take ยาวๆหลายนาทีแบบผลงานหลังๆ แต่ถ้าใครช่างสังเกตย่อมพบว่าหลายครั้งก็มีลักษณะ 1 ช็อต 1 ฉาก ถ้าซีเควนซ์ไม่ได้มีความสลับซับซ้อนเกินไป

และในช่วงแรกๆ ‘สไตล์ Jancsó’ จะไม่มีการใช้บทเพลงประกอบ (Soundtrack) นอกเสียจาก ‘diegetic music’ ซึ่งมักพบเห็นวงดุริยางค์ หรือนักแสดงขับร้อง-เล่น-เต้น ประสานเสียง (บทเพลงคณะปฏิวัติ) ยกเว้นเพียงตอนจบ Closing-Credit เสียงออร์แกนดังขึ้นคือบทเพลงที่ใช้ในงานศพ Funeral March แทนด้วยโศกนาฎกรรมคาดว่าคงบังเกิดขึ้นกับตัวละครทั้งหมด … เป็นตอนจบที่หลอนลงลงโลงจริงๆ


Hungarian Revolution of 1848 แม้คณะปฏิวัตินำโดย Lajos Kossuth จักสามารถทำให้จักรพรรดิแฟร์ดีนันท์ที่ 1 แห่งออสเตรีย (Ferdinand I of Austria) ทรงสละราชบัลลังก์เมื่อ ค.ศ. 1848 แต่การก้าวขึ้นมาครองราชย์ของจักรพรรดิฟรันทซ์ โยเซ็ฟที่ 1 แห่งออสเตรีย (Ferenc József I) ต้องบอกเลยว่าเหี้ยมโหดโฉดชั่วร้ายยิ่งกว่า!

ในตอนแรกทรงใช้ยุทธวิธีประณีประณอม ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก เจรจากับผู้นำกลุ่มปฏิวัติให้เกิดความเชื่อมั่นใจว่าออสเตรียจะยินยอมทำตามข้อเรียกร้องมอบอิสรภาพแก่ฮังการี แต่แท้จริงแล้วนั่นคือการจุดชนวนให้เกิดการแทรกแซงทางทหาร โดยเฉพาะเมื่อพระองค์ติดต่อขอความช่วยเหลือจากจักรพรรดินีโคลัสที่ 1 แห่งรัสเซีย (Nicholas I of Russia) ส่งกองกำลังทหารกว่า 200,000 คน บุกเข้ามาจัดการกับสมาชิกกลุ่มปฏิวัติโดยไม่ทันตั้งตัว เป็นเหตุให้ Lajos Kossuth ต้องหลบหนีหัวซุกหัวซุน ลี้ภัยสู่อังกฤษและสหรัฐอเมริกา ส่วน Ferenc József I ก็หวนกลับมาประกาศกฎอัยการศึก ฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง … ครองราชย์ยาวนานถึง 67 ปี 355 วัน (ค.ศ. 1848-1916)

ที่ผมอธิบายมานี้เป็นเพียงมุมมองคร่าวๆที่ไม่ตรงตามรายละเอียดทางประวัติศาสตร์นัก แต่ต้องการเปรียบเทียบให้เห็นภาพกับเรื่องราวของ The Round-Up (1966) ที่พวกผู้คุมชอบเล่นเกมจิตวิทยากับบรรดานักโทษ/ผู้ต้องสงสัย ทำให้เกิดความเชื่อมั่น/ตายใจ ว่าจะยินยอมปล่อยตัวถ้าสามารถสรรหาบุคคลโฉดชั่วร้ายกว่า หรือได้รับการอภัยโทษถ้าอาสาเข้าร่วมสู้รบทำสงครามที่กำลังจะมาถึง แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั่นคือแผนการ ‘ล่อเสือออกจากถ้ำ’ แล้วจับกุมกวาดล้างกลุ่มกบฎให้หมดสูญสิ้นในคราเดียว!

The Round-Up talks indirectly about defencelessness. When we made this film, I made it in 1965, everyone know then that this film was not simply a historical movie, but that it was about Hungarian history and the recent past. It was also about the 1956 revolution, and it was also about 1849, when another Hungarian revolution was defeated, the Austrians and Russians did that together in 1849.

Miklós Jancsó

ผู้กำกับ Jancsó แสดงความจงใจอย่างชัดเจนในการสรรค์สร้าง The Round-Up (1966) ไม่ใช่แค่นำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ Hungarian Revolution of 1848 แต่ต้องการสะท้อนเหตุการณ์บังเกิดขึ้นเมื่อครั้น Hungarian Revolution of 1956 ราวกับมันเวียนวน วงกลม แทบจะไม่มีความแตกต่างจากอดีตเลยสักนิด!

การปฏิวัติฮังการี ค.ศ. 1956 (Hungarian Revolution of 1956) เริ่มต้นจากการประท้วงของกลุ่มนักศึกษา แล้วจู่ๆมีกระสุนปืนยิงออกมาทำให้มีผู้เสียชีวิต เมื่อข่าวแพร่กระจายก็นำสู่ความวุ่นวายขึ้นทั่วประเทศ ชาวฮังการีหลายพันคนร่วมกันก่อตั้งกองกำลังทหาร ต่อสู้กับกลุ่มตำรวจความมั่นคงแห่งรัฐ รวมถึงสภาแรงงานหัวรุนแรงเข้าควบคุมการปกครองหน่วยงานเทศบาลต่างๆ เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ในตอนแรกรัฐบาลใหม่ประกาศยกเลิกตำรวจความมั่นคงแห่งรัฐอย่างเป็นทางการ แสดงความตั้งใจจะถอนตัวออกจากสนธิสัญญาวอร์ซอ และสัญญาจะจัดการเลือกตั้งอย่างเสรีขึ้นอีกครั้ง แต่แล้วจู่ๆระหว่างที่สหภาพโซเวียตกำลังถอนทหารออกไป กลับบุกเข้ายึดครอง Budapest และพื้นที่สำคัญอื่นๆของประเทศอีกครั้ง!

ในวันที่ 4 พฤศจิกายน ชาวฮังการีจึงลุกขึ้นมาต่อสู้ขัดขืน แต่ด้วยความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้เกิดการสูญเสียทั้งสองฝ่าย ชาวฮังการีมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,500+ คน ทหารโซเวียต 700+ นาย และประชาชนอีกกว่า 200,000+ คน ตัดสินใจหลบหนีออกนอกประเทศ จากนั้นมีการไล่ล่าจับกุม ประณามกลุ่มมวลชนชาวฮังการีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว กระทั่งเดือนมกราคม ค.ศ. 1957 จึงสามารถจัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิด(ของสหภาพโซเวียต)ชุดใหม่ได้สำเร็จ

เกร็ด: รัฐบาลฮังการีสั่งห้ามมิให้มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการปฏิวัติครั้งนี้ในที่สาธารณะเป็นเวลามากกว่า 30 ปี

จริงๆแล้วเรายังสามารถมองในมุมกลับตารปัตรได้ด้วยนะครับ เหตุผลที่รัฐบาลฮังกาเรียนอนุมัติสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เพราะเห็นว่าเป็นการนำเสนอความเฉลียวฉลาดหลักแหลมของผู้คุม วิธีที่สามารถจัดการกลุ่มกบฎ/คณะปฏิวัติได้อย่างอยู่หมัด ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ ใช้เป็นบทเรียนเสี้ยมสอนบุคคลครุ่นคิดเห็นต่าง ต่อต้านรัฐบาล ไม่มีทางที่คนเหล่านั้นจะต่อสู้เอาชนะความยิ่งใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ (ฮังการี) ได้อย่างเด็ดขาด!

ชื่อหนังภาษาฮังกาเรียน Szegénylegények แปลว่า Poor Young Man หรือ The Hopeless Ones ไม่เพียงสื่อถึงโชคชะตากรรมของตัวละครที่โดนลวงล่อหลอกให้หลงเชื่อ/ตายใจ ก่อนถูกทรยศหักหลังจากพรรคพวกพ้องและศัตรูคู่อาฆาต แต่ยังสามารถเหมารวมถึงประชาชนชาวฮังกาเรียนในปัจจุบัน(นั้น) ต้องมีชีวิตอยู่บนความหวาดกลัวและหมดสิ้นหวัง


นอกจากความพยายามเปรียบเทียบให้เห็นถึงสภาพของฮังการียุคสมัยปัจจุบัน(นั้น) ที่ไม่ได้ผิดแผกแตกต่างไปจากอดีต ผู้กำกับ Jancsó ยังแทรกใส่ประสบการณ์ชีวิตของตนเอง (มองเป็นกึ่งๆชีวประวัติก็ยังได้) เมื่อครั้นโดนเกณฑ์ทหารเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง แล้วถูกควบคุม จับกุมตัว อาศัยอยู่ในค่ายกักกัน (Prisoner-of-war) ระหว่างเดือนเมษายน-พฤศจิกายน 1945

แม้ประสบการณ์ในค่ายกักกัน อาจไม่ได้เลวร้ายระดับเดียวกับที่นำเสนอออกมาในหนัง แต่เชื่อว่าสภาพจิตใจของเขาขณะนั้นคงเต็มไปด้วยความหวาดหวั่น สั่นสะพรึงกลัว เพราะไม่สามารถคาดเดาโชคชะตาชีวิต พรุ่งนี้จักยังมีลมหายใจอยู่อีกไหม เลยจำต้องก้มหัวศิโรราบ ยินยอมกระทำตามคำสั่งผู้คุม มิอาจต่อต้านขัดขืน ได้รับความขมขื่น อับอายขายหน้านับครั้งไม่ถ้วน

แม้หลังสงครามสิ้นสุดผู้กำกับ Jancsó จะตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ แสดงความคิดเห็นต่อต้าน Socialist (สังคมนิยม) เลยถูกตีตราว่าเป็นพวก Nationalism (ชาตินิยม) แต่ใครก็ตามรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะตระหนักว่าเขาไม่มีทางเข้าข้างคอมมิวนิสต์ (Communist) และภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ได้กลายเป็นกระบอกเสียงพรรคเสรีนิยม (Hungarian Liberal Party) ให้การสนับสนุนประชาธิปไตยอย่างออกนอกหน้า!

นั่นเพราะว่าบทเรียนจากการเป็นนักโทษเชลยสงคราม ทำให้เข้าใจวิถีของอำนาจ/เผด็จการ ตัวเขาก็แค่มนุษย์ตัวเล็กๆ ไร้ช่องทางหลบหนีเอาตัวรอดออกนอกประเทศฮังการี เมื่อไม่มีทางดิ้นรนขัดขืนก็ต้องก้มหัวศิโรราบ สมัครเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อโอกาสในการเรียนรู้ สรรค์สร้างภาพยนตร์ ยินยอมขายวิญญาณเพื่อกระทำตามความเพ้อใฝ่ฝัน (เพราะยุคสมัยนั้นในฮังการี สตูดิโอภาพยนตร์อยู่ใต้อาณัติของรัฐบาลเท่านั้น)

เกร็ด: ช่วงทศวรรษ 70s หลังจากผู้กำกับ Jancsó มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เก็บสะสมเงินทองซื้อบ้านที่อิตาลี แล้วย้ายสำมะโนครัว แต่ก็ยังไปๆกลับๆ สรรค์สร้างภาพยนตร์ทั้งอิตาเลี่ยนและฮังกาเรียน … นี่ก็ค่อนข้างชัดเจนว่า เขาไม่ได้อยากอาศัยอยู่ภายใต้ร่มเงาเผด็จการ/คอมมิวนิสต์สักเท่าไหร่

ระหว่างเขียนบทความนี้ ผมได้รับชมภาพยนตร์ของผู้กำกับ Jancsó มาสองสามเรื่องแล้ว ตระหนักว่าเนื้อหาสาระที่พบเห็นอยู่ในทุกๆผลงาน คือพยายามนำเสนอการใช้อำนาจในทางมิชอบ (abuse of power) แสดงออกโดยขาดสามัญสำนึก ไร้มนุษยธรรม สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองความต้องการ พึงพอใจส่วนบุคคล มองเพื่อนร่วมโลกไม่ต่างจากสรรพสัตว์ เข่นฆ่าเหมือนเชือดหมูหั่นผัก ก็แค่เบื้ยหมากในกระดาน ตัวประกอบ อุปกรณ์ประกอบฉาก (Prop) ใครกระทำอะไรมาก็พร้อมเอาคืนโต้ตอบกลับ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” แม้แต่พวกพ้องชาติเดียวกันก็ไม่ละเว้น

ในบรรดาผลงานของผู้กำกับ Jancsó แม้โดยส่วนตัวรู้สึกว่า The Red and the White (1967) มีความยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบกว่า The Round-Up (1966) แต่ถ้ามองในมุมชาวฮังกาเรียน และผลงานเรื่องนี้ถือว่าคือครั้งแรก(ของวงการภาพยนตร์ฮังกาเรียน)ที่มีใครสักคนหาญกล้าใช้เรื่องราวจากประวัติศาสตร์ สะท้อนเหตุการณ์บังเกิดขึ้นในปัจจุบัน(นั้น) มันจึงสมควรค่าแก่การเป็นอันดับหนึ่ง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลของประเทศฮังการี!


หนังได้รับทุนจากสตูดิโอของรัฐบาล Mafilm จำนวน 17 ล้านโฟรินต์ฮังการี (ประมาณ $500,000 เหรียญ) ไม่มีรายงานรายรับ แต่คาดการณ์จำนวนผู้ชมในประเทศน่าจะเกินกว่าล้านคน (จากจำนวนประชากรขณะนั้นประมาณ 10 ล้านคน)

แม้เสียงตอบรับจากเทศกาลหนังเมือง Cannes จะดีล้นหลาม กลับไม่สามารถคว้ารางวัลใดๆติดไม้ติดมือกลับมา ถึงอย่างนั้นยังได้เป็นตัวแทนประเทศฮังการี ส่งเข้าชิงชัย Oscar: Best Foreign Language Film แต่ก็ไม่ผ่านเข้ารอบใดๆเช่นกัน

หนังเคยได้รับการบูรณะครั้งแรกเมื่อปี 2014-15 แล้วปรับปรุงคุณภาพ 4K เสร็จสิ้นปี 2021 ภายใต้การดูแลของ National Film Institute Hungary กลายเป็น Blu-Ray โดย Kino Lorber รวมอยู่ในคอลเลคชั่น MASTER SHOT: The Films of Miklós Jancsó ประกอบด้วย The Round-Up (1966), The Red and the White (1967), The Confrontation (1969), Winter Wind (1969), Red Psalm (1972), Electra, My Love (1974)

น่าเสียดายที่ผมไม่ค่อยอินกับหนังสักเท่าไหร่ (น่าจะเพราะเพิ่งรับชมผลงานของผู้กำกับ Béla Tarr ที่นำเสนอความสิ้นหวังระดับสิ้นโลกาวินาศ) แต่ก็เข้าใจนัยยะเชิงสัญลักษณ์ สภาวะทางอารมณ์ สภาพจิตใจของชาวฮังกาเรียน ภายใต้การปกครองรัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้อย่างชัดเจน รวมถึงลีลาการนำเสนอของผู้กำกับ Jancsó มีความน่าทึ่งไม่น้อยทีเดียว

แนะนำคอหนังดราม่า-การเมือง (Political Drama), บรรยากาศเครียดๆ สิ้นหวัง (Tragedy), แนวเรือนจำ/ค่ายกักกัน (Prisoner Camp), สนใจประวัติศาสตร์ประเทศฮังการี (Historical), นักคิด นักปรัชญา ชื่นชอบขบค้นหานัยยะเชิงสัญลักษณ์, โดยเฉพาะตากล้อง ช่างภาพ และผู้คลั่งไคล้ Béla Tarr มาเรียนรู้จักผู้กำกับคนโปรด Miklós Jancsó ไปด้วยกัน

จัดเรต 18+ บรรยากาศสิ้นหวังในเรือนจำ ความคอรัปชั่นของผู้คุม

คำโปรย | The Round-Up ของ Miklós Jancsó นำเสนอประวัติศาสตร์สุดเหี้ยมโหด เวียนวนกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งอย่างทรมานใจ
คุณภาพ | หี้
ส่วนตัว | ทรมานใจ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: