Taare Zameen Par (2007) : Bollywood – Aamir Khan
เด็กทุกคนมีความพิเศษในตัว Taare Zameen Par (Like Stars on Earth) กำกับและนำแสดงโดย Aamir Khan หน้าหนังอาจดูไม่น่าสนใจนัก แต่นี่เป็นหนังที่สวยงามมากที่สุดเรื่องหนึ่งของ Bollywood, เด็กที่มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร หรือ Dyslexia สามารถรักษาให้หายได้ ถ้าเพียงมีคนเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา, แนะนำหนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
Aamir Khan เป็นหนึ่งในนักแสดงสุดยอดฝีมือของ bollywood ที่เชื่อว่าใครๆคงรู้จัก (ถ้าคุณยังไม่รู้จักก็จดจำชื่อเขาไว้นะครับ) กระนั้นไม่คิดมาก่อนจะสามารถกำกับหนังได้ดีด้วย (มีไม่เยอะที่นักแสดงเก่งๆ จะกลายเป็นผู้กำกับระดับยอดเยี่ยมได้) นี่ถือเป็นเรื่อง debut ของเขา, Taare Zameen Par จัดว่าเป็นหนังน้ำดี ภาพสวย เนื้อเรื่องเยี่ยม และ Aamir ยังร่วมแสดงสมทบ (ที่ถือว่าเป็นตัวเอกของหนัง) เมื่อปรากฏตัวออกมา ก็สามารถแบกหนังทั้งเรื่องไว้ได้สบายๆ, ผมมองหานักแสดงฝั่ง hollywood ที่สามารถเปรียบเทียบกับ Aamir คิดว่าที่ใกล้ที่สุดในปัจจุบันคือ Ben Affleck ด้วยหน้าตา แนวคิด รวมถึงสามารถที่เป็นได้ทั้งนักแสดง ผู้กำกับ เขียนบท แต่จะว่า Aamir Khan คือ Ben Affleck แห่ง bollywood หรือ Ben Affleck คือ Aamir Khan แห่ง hollywood กันละนี่!
Dyslexia (dys แปลว่า ผิดปกติ, lexicon แปลว่า การอ่าน) เป็นโรคของผู้ที่บกพร่องในการอ่านหนังสือ การสะกดคำและการเขียน ผู้ป่วยอาจเป็นผู้มีสติปัญญาเป็นเลิศ มีทักษะทางด้านกีฬาสูง ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ทั้งนั้น, มันอาจจะขัดกับความเชื่อที่ว่า “คนฉลาดคือคนเรียนเก่งต้องอ่านหนังสือออก เขียนหนังสือได้ ส่วนคนที่อ่านผิดๆถูกๆ จับใจความไม่ได้ เขียนหนังสือไม่ได้ คือคนโง่” นี่ถือเป็นความเชื่อที่ผิดมหันต์เลยนะครับ มีอัจฉริยะมากมายที่ได้รับการตรวจพบว่าเป็น Dyslexia อาทิ Albert Einstein, Thomas Edison, Leonardo da Vinci, Pablo Ruiz Picasso, John Lennon,Walt Disney นักแสดงดังๆก็อย่าง Tom Cruise, Jack Nicholson, Keanu Reeves, Jim Carrey ฯ คนไทยก็มีอาทิ พุ่มพวง ดวงจันทร์, อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่เป็นอัจฉริยะมีถมไป!
การสังเกตโรคนี้ของเด็ก เขาจะเขียนตัวหนังสือไม่ได้ หรือบางทีเขียนกลับหน้าหลัง อ่านหนังสือผิดๆถูก โดยเฉพาะคำที่มีตัวอักษรสลับซ้ายขวา, สำหรับเด็กโตขึ้นหน่อยก็มักจะชอบทะเลาะกับเพื่อน เข้ากันไม่ได้ เรียนไม่ทัน จนอาจกลายเป็นเด็กมีปัญหา
สาเหตุของโรคนี้เกิดจากสมองส่วน cerebellum ทำงานผิดปกติ แต่ก็ไม่ได้มีความรุนแรงต่อระบบอื่นของร่างกาย ซึ่งถ้าผู้ป่วยได้รับการตรวจพบ รักษา และได้รับความเข้าใจจากครอบครัวที่อบอุ่น ก็มีโอกาสสามารถหายขาดได้, จากมีการสำรวจพบว่า มีเด็กอเมริกันที่เป็นโรค dyslexia มีประมาณ 5-6% (สำหรับในประเทศไทย ไม่มีการบันทึกเอาไว้ แต่สถิติของกระทรวงศึกษาธิการไทยในปี 2556 จำนวนเด็กไทยที่อ่านหนังสือไม่ออกมีมากถึง 4 แสนราย)
อ้างอิงจาก http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?newsid=9570000022330
จุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้ เกิดจาก Amole Gupte ร่วมกับภรรยา Deepa Bhatia หลังจากได้อ่านหนังสือชีวประวัติของ Akira Kurosawa -ชีวิตวัยเด็กไม่สามารถเข้ากับเพื่อน เรียนในโรงเรียนปกติได้ ผลการเรียนไม่ดี สอบไม่ผ่าน แต่มีความชื่นชอบในศิลปะและการวาดภาพจึงมุ่งไปทางนั้น- เรื่องราวของผู้กำกับคนดังสร้างความสนอกสนใจให้ Gupte ตั้งคำถาม ‘ทำไมถึงมีเด็กกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่สามารถปรับตัวกับการเรียนหนังสือได้?’ ทำการศึกษาค้นคว้าและได้พบกับองค์กร Maharashtra Dyslexia Association และคำตอบคือโรค Dyslexia ที่ได้กลายมาเป็นใจความหลักของหนัง
Aamir Khan รู้จักกับ Gupte มาตั้งแต่สมัยเรียน ชื่นชอบเขาในฐานะนักแสดง นักเขียน และฝีมือการวาดภาพ, ตอนแรกที่นำโปรเจคนี้ไปพูดคุยกับ Aamir เขามีความตั้งใจจะกำกับหนังเองด้วย แต่หลังจากที่มีการทดสอบหน้ากล้อง Aamir ผิดหวังกับแนวทางการกำกับของ Gupte ที่ไม่สามารถถ่ายทอดความสวยงามของบทหนังออกมาได้ Gupte จึงก้าวลงจากตำแหน่งผู้กำกับ, แต่การจะแสวงหาผู้กำกับคนใหม่ อาจทำให้งานสร้างต้องเลื่อนออกไป เกิดผลกระทบต่อการเตรียมงานที่ดำเนินไปมากแล้ว Aamir จึงอาสาเป็นผู้กำกับหนังด้วยตัวเอง, นี่ถือเป็นความตั้งใจของ Aamir มาสักพักใหญ่แล้วว่าอยากลองเป็นผู้กำกับหนัง แต่ยังไม่มีโอกาสเสียที นี่เป็นช่วงเวลาประจวบเหมาะ ได้บทหนังเรื่องราวที่ตนสนใจ จึงตัดสินใจขอลองกำกับหนังเรื่องนี้ดู, สำหรับ Gupte ได้เปลี่ยนบทบาทมาเป็น Creative Director เพื่อชี้แนะและให้คำแนะนำเรื่องบทหนังกับ Aamir
บท Ishaan มีเด็กหลายคนที่เข้ามาทดสอบหน้ากล้อง และคนที่ได้รับบทคือ Darsheel Safary, Aamir ให้ความเห็นว่า ‘เพราะสายตาของ Safary แสดงออกซึ่งความผิดปกติ (mischief) แบบเดียวกับตัวละคร Ishaan’
การถ่ายหนังกับเด็กไม่ง่ายนะครับ ผมเคยไปอ่านเจอบทสัมภาษณ์ของท่านมุ้ย พูดถึงการสร้างหนังที่ใช้นักแสดงเด็ก ที่ควบคุมให้ทำตามที่บอกยากมาก ท่านมุ้ยชื่นชมคุณเรียว กิตติกร เลียวศิริกุล ที่สามารถสร้างหนังเรื่อง ดรีมทีม (พ.ศ.2551) ด้วยการกำกับเด็กๆให้ทำตามที่เขาขอได้ นั่นเป็นสิ่งที่ท่านมุ้ยบอกเลยว่า ตัวเองอาจทำไม่ได้
สำหรับวิธีการของ Aamir ที่ใช้เชื่องเด็กๆ คือเขาให้ทีมงานทำให้เด็กๆ ‘ไม่ว่าง’ ตลอดเวลา คือหากิจกรรม พูดคุย มีอะไรได้ทำได้เล่นอยู่เรื่อยๆ ไม่ให้เบื่อ แม้ตอนที่ว่างจากการถ่ายทำ เหตุผลหนึ่งคือเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับเด็กๆ สองคือไม่ทำให้พวกเขาเบื่อ และสามทำให้พวกเขาไม่เกร็งขณะถ่ายหนัง, ตัว Aamir เองก็จะมีกิจวัตรที่ถือปฏิบัติต้องทำทุกวัน คือเข้าไปร่วมกิจกรรม พูดคุย หยอกล้อ เล่นกับพวกเขาทุกครั้งที่มีโอกาส, แน่นอนว่า Aamir ได้กลายเป็นเพื่อนสนิทกับเด็กกลุ่มที่มาแสดงหนังเรื่องนี้มากๆ หลายคนถึงกับขอพ่อแม่ไม่ไปเที่ยวช่วงปิดเทอมเพื่อมาร่วมแสดงในหนัง, กับฉากวาดรูปตอนท้าย เห็นว่ามีเด็กๆมาเข้าร่วมถึง 400 คน ใช้ตัวประกอบเด็กทั้งหมด 1,500 คน
ตัวละคร Ram Shankar Nikumbh ทีแรก Aamir ไม่ได้ตั้งใจจะเล่นเอง คุยกับ Akshaye Khanna ไว้ให้รับบท แต่คงติดงานอื่น Aamir จึงรับเล่นเอง, ตอนที่ตัวละครนี้ปรากฏตัวครั้งแรกในหนัง ได้ทำให้บรรยากาศเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง นี่ต้องชม Charisma ของ Aamir Khan ที่สามารถสร้างความโดดเด่น ไม่ว่าจะรับบทอะไร ก็ดึงความสนใจของผู้ชมไปไว้ที่ตัวเขาได้หมด
สังเกตให้ดี สายตาของ Mr.Perfectionist จะเปร่งประกายในความเศร้าหมอง ดูพร้อมจะร้องไห้หลั่งน้ำตาออกมาได้ตลอดเวลา, นี่สะท้อนความรู้สึกข้างในจิตใจตัวละครออกมาได้ชัดเจนมากๆ เพราะในหนังเราจะรู้ว่า Nikumbh ครั้งหนึ่งก็เคยเป็น Dyslexic มาก่อน ซึ่งการได้เห็น Ishaan เหมือนการได้เห็นภาพสะท้อนของตัวเอง มันอาจไม่น่าอภิรมย์นัก แต่จักเข้าใจความรู้สึกทุกสิ่งอย่าง
ถ่ายภาพโดย Setu เนื่องจากนักแสดงส่วนใหญ่ในหนังเป็นเด็ก จึงมีหลายครั้งที่พวกเขาอาจจะตื่นเต้นเกินไป จนไม่เป็นธรรมชาติ, Aamir ต้องสรรหาเทคนิคมากมาย เพื่อให้การถ่ายทำแต่ละฉากผ่านไปได้ด้วยดี อาทิ ฉากประชุมโรงเรียน สายตาของเด็กๆจะวอกแวก ลุกรี้ลุกรนตลอดเวลา Aamir ให้ขอให้นักแสดงที่รับบทครูใหญ่พูดบนเวที บรรยายปากเปียกปากแฉะ ไปเรื่อยๆนานเท่าไหร่ไม่รู้จนเด็กๆรู้สึกเบื่อ หายตื่นเต้น ณ ขณะนั้นทีมงานจึงเริ่มถ่ายภาพพวกเขา, ฉากที่ Nikumbh เล่าเรื่องคนที่เป็น Dyslexic ให้เด็กๆในชั้นเรียนฟัง Aamir เริ่มการถ่ายปฏิกิริยา (reaction) ของเด็กๆหลังสุดเลย และเป็นการแสดงออกจากเรื่องเล่าที่ไม่ได้ตรงกับเรื่องเล่าในหนัง (เทคนิค off-screen story) เพราะปฏิกิริยาของเด็กๆต่อเรื่องที่เล่ามันอาจไม่เป็นไปตามที่ ผู้กำกับต้องการ Aamir จึงต้องสรรหาเรื่องราวอื่นๆ เพื่อให้เด็กตอบสนอง แสดงการโต้ตอบที่ต่างออกไป
ตัดต่อโดย Deepa Bhatia ภรรยาของ Amole Gupte, เริ่มต้นหนังใช้มุมองการเล่าเรื่องของ Ishaan ผ่านการกระทำแสดงออกที่ผิดปกติ พ่อแม่ที่ไม่พยายามทำความเข้าใจ และผลักไสไล่ส่งให้ไปอยู่โรงเรียนประจำ, หลังจากเมื่อตัวละคร Nikumbh ปรากฎตัวออกมาแล้ว (Ishaan เข้าเรียนโรงเรียนประจำ) หนังเปลี่ยนมาใช้การเล่าเรื่องผ่านมุมมองตัวละครนี้ทั้งหมดไปจนจบ
การตัดต่อ จะมีการนำเอาภาพธรรมชาติใส่เข้าไปหนังด้วย อาทิ นกพ่อแม่กำลังให้อาหารลูก ฯ เห็นว่าภาพพวกนี้ Aamir นำมาจาก Archive Footage ที่มีการถ่ายบันทึกเก็บสะสมเอาไว้ น่าเสียดายที่คุณภาพไม่ดีเท่าไหร่ และด้วยความกระชั้นชิดในเวลาตัดต่อ ทำให้ไม่สามารถหาภาพที่คุณภาพดีกว่านี้ได้ทัน ทำให้ต้องใส่มาทั้งๆแบบนั้น ถ้าสังเกตกันหน่อย จะพบว่า หลายฉากที่เป็น Archive Footage ภาพจะดูเก่าๆ สีตก โทนสีขาดความต่อเนื่อง, Aamir บอกว่าทุกครั้งที่เขาเห็นฉากนี้ในหนังจะรู้สึกหวั่นวิตก (cringes) ทุกที
เพลงประกอบโดย Shankar–Ehsaan–Loy นักดนตรี Trio ปกติแล้วการแต่งเพลงประกอบหนัง จะทำในสตูดิโอมีเครื่องมีพร้อม แต่ Aamir ขอให้ทั้งสามมาทำงาน อาศัยอยู่ที่บ้านของเขาใน Panchgani เพื่อสร้างบรรยากาศไม่ให้ติดภาพของเมืองใหญ่ สัมผัสกับธรรมชาติ และเรื่องราวของหนังได้อย่างเต็มที่, ส่วนตัวผมคิดว่า เพลงประกอบหนังเรื่องนี้ชิลไปเสียหน่อย ไม่ค่อยเพราะเท่าไหร่ …นี่ไม่ใช่หนังแนวรักๆใคร่ๆ ที่ใครๆจะออกมาวาดลีลาเต้นๆ สะบัดแบบธรรมเนียมหนัง bollywood ทั่วไป ซึ่งความตั้งใจของผู้กำกับ ต้องการดนตรีที่มีความไพเราะ ฟังง่าย รื่นหู
บรรยากาศเพลงช่วงแรกๆออกหดหู่อยู่บ้าง เพราะเหมือน Ishaan ได้จมอยู่ในโลกที่มืดมิดไร้ทางออก, ส่วนช่วงหลังๆเมื่อได้รับการช่วยเหลือ และสามารถเอาตัวรอดได้แล้ว บรรยากาศเพลงจะเบาๆ ฟังสบาย ผ่อนคลาย
ผมชอบเพลง Kholo Kholo (แปลว่า เปิดประตู, Open the doors) ในฉากวาดรูปช่วงท้ายนะครับ ไม่หนักหัวมาก ดนตรีกีตาร์เบาๆ เข้ากับบรรยากาศของหนังได้อย่างลงตัว, ขับร้องโดย Raman Mahadevan เตือนไว้ก่อน ตอนผมได้ยินเพลงนี้ในหนังนี่น้ำตาคลอเบ้าเลย ถ้าคุณฟังภาษา Hindi ออก เนื้อร้องของเพลงอาจเรียกน้ำตาคุณได้
ในฉากเทศกาลวาดภาพ ทำไม Nikumbh ถึงวาดภาพของ Ishaan แล้วทำไม Ishaan ถึงทำท่าจะร้องไห้เมื่อเห็นภาพนี้ ? … เวลามีคนให้ความสำคัญกับเรา ทำอะไรเพื่อเรา ย่อมเป็นธรรมดาที่เราจะรู้สึกตื้นตัน และขอบคุณในความหวังดี, Ishaan มีพ่อแม่ที่ไม่เข้าใจเขา เพื่อนพี่น้องไม่มีใครเข้าใจ จนกระทั่งได้มาเจอกับ Nikumbh ที่ช่วยสอนให้เข้าใจตัวเอง และร่วมกันต่อสู้เอาชนะอุปสรรคปัญหา, ภาพวาดของ Aamir เป็นการบอกถึง ‘นายคือคนสำคัญของฉันนะ’ และเมื่อ Ishaan เห็นก็รู้สึกตื้นตันอย่างที่สุด เมื่อค้นพบว่าตัวเองมีคนที่รักและเข้าใจถึงขนาดวาดภาพเขาออกมา
เดิมทีหนังใช้ชื่อว่า High Jump เพราะตัวละคร Ishaan ไม่สามารถกระโดดสูงในคราบเรียนพละได้ และในตอนจบ เมื่อ Ishaan หายจาก Dyslexia แล้วจะสามารถกระโดดสูงได้ครั้งแรก แต่พล็อตนี้ถูกตัดออกไป ทำให้หนังต้องตั้งชื่อใหม่, สำหรับ Taare Zameen Par แปลได้ว่า ดาวที่อยู่บนพื้น (Stars on the Ground) หรือ แสงดาวที่สุกสว่างบนโลก (Stars on Earth), Aamir ให้คำจำกัดความว่า Taare Zameen Par เป็นหนังเกี่ยวกับเด็กๆ พวกเขาเป็นคนพิเศษ เหมือนกับดวงดาวที่ส่องสว่างอยู่บนโลก “All the kids are special and wonderful. They are like stars on earth.”
การดูหนังเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงหนังของ François Truffaut เรื่อง The 400 Blows (1959) จะว่า Taare Zameen Par เป็นอีกด้านหนึ่งของ The 400 Blows ก็ว่าได้ ทั้งสองเรื่องพ่อแม่ไม่สามารถเข้าใจเหตุผลการกระทำของลูกได้เลย จึงต้องส่งให้พวกเขาไปอยู่ที่ห่างไกล เพื่อให้เรียนรู้จักโลกด้วยตัวเอง, Taare Zameen Par ถือว่าเด็กชายโชคดีที่มีคนสามารถเข้าใจว่าเขาเป็นอะไรและช่วยแก้ไขได้ แต่กับ The 400 Blows คือเรื่องราวของเด็กที่ไม่มีใครเข้าใจและช่วยเหลือ ทำให้เขากลายเป็นเด็กมีปัญหา, หนังทั้งสองเรื่องจบด้วย Freeze Shot เหมือนกันเปะ ไม่แน่ว่า Aamir อาจจะเคยดู The 400 Blows มาก่อน
หนังเรื่องนี้ได้เป็นตัวแทนของ India ส่งชิง Oscar ในปี 2008 แต่ไม่ผ่านเลยสักรอบเลย ซึ่งปีนั้นถือว่าเป็นปีทองของหนังเรื่อง Slumdog Millionaire ที่สร้างโดยชาว British ถ่ายทำในประเทศ India จึงไม่แปลกที่หนังทั้งสองจะถูกเปรียบเทียบกัน, เป็นข้อครหาของชาวอินเดียมานานแล้ว ว่าหนัง bollywood ยังไม่เคยได้รับการยอมรับจาก hollywood ถูกมองว่าเน้นแต่ความบันเทิงเริงรมย์ หาได้มีความเป็นศิลปะไม่ (เหมือนครั้งหนึ่งที่ hollywood มองหนัง Spargetti Western เป็นหนังเกรด B)
ส่วนตัวก็รู้สึกเห็นใจเหมือนกันนะครับ จริงอยู่ที่หนัง bollywood ส่วนมากจะเน้นขายความบันเทิงมากกว่าความเป็นศิลปะ แต่มันก็มีหนังดีๆ มีคุณค่าหลายเรื่องที่การันตีคุณภาพ กวาดรางวัลนานาชาติมานักต่อนัก แต่กับ Oscar และ hollywood ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน ถึงถูกมองข้ามโดยสิ้นเชิง … อาจเป็นเหตุผลเรื่องเชื้อชาติ (ไม่ขอพูดถึงดีกว่า)
ให้เทียบระหว่าง Taare Zameen Par กับ Slumdog Millionaire ผมกล้าพูดว่า Taare Zameen Par โดดเด่น ยอดเยี่ยม ดีมีสาระกว่า Slumdog Millionaire เป็นไหนๆ
เหตุที่ผมจัดหนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพราะความรู้สึกหลังดูหนังจบ หัวใจพองโต จิตใจอิ่มเอิบ รอยคราบน้ำตาอาบแก้มสองข้าง ทั้งๆที่นี่ไม่ใช่หนังโรแมนติก ไม่มีใครตาย แต่ความสุขที่ได้รับ เหมือนชีวิตได้เติมเต็ม เห็นความสวยงามของอะไรบางอย่าง, หนังเรื่องนี้ถือว่ามีประโยชน์ต่อโลกมากๆ ไม่ใช่แค่กับเด็กที่เป็น Dyslexic เท่านั้น แต่หมายรวมถึงเด็กทุกคน และคนทั่วโลก, ใจความของหนังคือ ‘ความเข้าใจ’ นี่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของครอบครัว มันอาจมีบางสิ่งบางอย่างที่ไม่เข้าใจกัน เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง โต้เถียง ฯ วิธีแก้ปัญหานั้นแสนง่าย ไม่ใช่การปัดภาระ แต่คือพูดคุย ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ มากที่สุด, ผมเห็นคนในยุโรป อเมริกา พ่อแม่ที่เห็นว่าลูกไม่สามารถทำอะไรบางอย่างได้ (ไม่จำเป็นว่าต้องเป็น Dyslexic นะครับ) พวกเขาจะให้ลูกๆได้ทำสิ่งอื่นที่เขามีความสนใจมากกว่า มักจะไม่ใช่กีดกัด ขับไสไล่ส่ง ผมจะเห็นแถบเอเชียแถวบ้านเราจะเจอเยอะ ผู้ใหญ่ที่ชอบดูถูก มองว่าเด็กๆที่ทำอะไรไม่ได้เป็นคนไร้ค่า แล้วแบบนี้โตขึ้นเขาจะเห็นคุณค่าของตนเองได้อย่างไร
กับคนไทยก็ยังมีความคิดแบบเดิมๆนี้อยู่ ‘เด็กที่เรียนหนังสือไม่ได้คือคนโง่’ ลองหาหนังเรื่องนี้มาดูนะครับ เชื่อว่าแนวคิดของท่านอาจจะเปลี่ยนไป ไม่มากก็น้อย
แนะนำหนังเรื่องนี้กับทุกคน จัดเรต G มีฉากทะเลาะเบาะแว้งนิดหน่อย แต่ไม่ถือว่ามีความรุนแรงอะไรมาก, แนะนำอย่างยิ่งกับผู้ใหญ่ที่กำลังจะมีครอบครัว มีลูกที่นิสัยดื้อรั้น หรือพบว่าลูกมีปัญหากับการเรียน ลองให้เวลากับเขา แล้วเรามองหา สังเกตทำความเข้าใจปัญหา หนังเรื่องนี้อาจจะเป็นทางออก หรือเป็นที่ปรึกษาให้กับพวกท่านได้
คำโปรย : “เด็กทุกคนมีความพิเศษในตัว Taare Zameen Par (Like Stars on Earth) กำกับและนำแสดงโดย Aamir Khan หน้าหนังอาจดูไม่น่าสนใจนัก แต่นี่เป็นหนังที่สวยงามมากๆที่สุดเรื่องหนึ่งของ Bollywood”
คุณภาพ : SUPERB
ความชอบ : LOVE
[…] Taare Zameen Par (2007) : Aamir Khan ♥♥♥♥ เด็กทุกคนมีความพิเศษในตัว ภาพวาดเด็กชายคนหนึ่งที่เป็น Dyslexia และภาพวาดของเด็กชายเกี่ยวกับภาพในความฝันของเขา พรสวรรค์ที่โดดเด่นอาจปรากฏขึ้นกับใครก็ได้ ไม่เว้นแม้แต่เด็กที่มีความผิดปกติทางร่างกาย […]